
Nancy Wake
ในเดือนสิงหาคมของทุกปีเรามักจะได้อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่สองในหน้าหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารอยู่เสมอ ทั้งนี้ เนื่องจากวันที่ 6 สิงหาคม 1945 เป็นวันที่ชาวฮิโรชิมา 140,000 คน และชาวนางาซากิอีก 74,000 คน ในวันที่ 9 สิงหาคม เสียชีวิตด้วยระเบิดปรมาณู และ 15 สิงหาคม 1945 คือวันที่ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงคราม ดังนั้น จึงมักมีการระลึกถึงเหตุการณ์เหล่านั้นที่เกิดขึ้นในอดีต
ในเดือนสิงหาคมปีนี้มีเรื่องที่บังเอิญเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่สองที่มีการพูดถึงกันมาก แต่มิได้เกี่ยวกับความตายหรือการแพ้ชนะ นั่นก็คือการจากไปของสายลับหญิงที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งจากสงครามครั้งนั้นในวัย 99 ปี
เธอคือ Nancy Wake วีรสตรีของสงครามโลกครั้งที่สองชาวออสเตรเลีย
เธอเกิดที่นิวซีแลนด์ ใน ค.ศ.1912 เมื่อมีอายุ 20 เดือน พ่อแม่เธอก็อพยพไปอยู่ซิดนีย์ เธอจึงกลายเป็นคนออสเตรเลียไป โดยสายเลือดเธอมีเชื้อสายฝรั่งเศส (พวก Huguenots คือ French Protestants ที่หนีออกจากฝรั่งเศสซึ่งเป็นประเทศโรมันคาทอลิกเพื่อหาเสรีภาพทางศาสนา) เชื้อสาย Maori (ทวดด้านแม่ของเธอ) และเชื้อสายอังกฤษ
พ่อทิ้งเธอไปแต่เด็กๆ เมื่ออายุได้ 16 ปี เธอก็หนีออกจากบ้านไปทำงานเป็นพยาบาลและเมื่อป้าที่นิวซีแลนด์ส่งเงินให้เธอ 200 ปอนด์ เธอก็ใช้เงินจำนวนนั้นเป็นเครื่องมือสู่โลกตามความฝัน คือ อังกฤษ ยุโรป และฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศที่เธอรัก
ในทศวรรษ 1930 ขณะที่เธอเป็นนักหนังสือพิมพ์ในยุโรป ได้สัมผัสกระแส ชื่นชมนาซี กระแสต่อต้านยิว และความนิยมในตัวฮิตเลอร์ สิ่งที่เธอจำได้ไม่ลืมที่เวียนนาก็คือภาพที่นาซีเอายิวผูกกับล้อและกลิ้งล้อไปพร้อมกับเฆี่ยนเหยื่ออย่างทารุณ
เธอบอกว่าเธอเกลียดนาซีและฮิตเลอร์อย่างจับใจนับแต่วินาทีนั้น และรู้ว่าต้องช่วยกำจัดไปจากโลกเพราะเป็นสิ่งชั่วร้าย
เธอเป็นผู้หญิงที่สวยมาก ใน ค.ศ.1939 เธอแต่งงานกับเศรษฐีฝรั่งเศส Henri Fiocca ทั้งสองมีชีวิตที่สนุกสนานกับการท่องเที่ยวและดื่มกินอย่างมีความสุข แต่ทว่าหลังจากแต่งงานได้ 6 เดือน เยอรมันก็บุกฝรั่งเศส
จากการเป็นคนนั่งดู เธอก็กลายเป็นผู้เล่นในที่สุด ใน ค.ศ.1940 เธอร่วมขบวนการใต้ดินของฝรั่งเศสต่อต้านนาซีซึ่งเพิ่งก่อร่างขึ้น เธอทำหน้าที่นำสารและอาหารไปให้พรรคพวกทางตอนใต้ของฝรั่งเศสนับครั้งไม่ถ้วน การเป็นภรรยาเศรษฐีทำให้เธอสามารถเดินทางไปที่ต่างๆ ได้อย่างไม่มีคนสงสัย
Nancy Wake ร่วมงานต่อต้านนาซีหนักมือขึ้นทุกที เธอซื้อรถพยาบาลช่วยขนผู้คนที่อพยพหนีการบุกของเยอรมัน ช่วยนักโทษสงคราม และช่วยนักบินฝ่ายพันธมิตรที่ถูกยิงตกให้หนีออกจากฝรั่งเศสผ่านทางสเปน
ชีวิตเธอเสี่ยงตลอดเวลาแต่เธอก็ไม่ย่อท้อ ในปี 1943 เกสตาโปของเยอรมันก็รู้ว่ามีผู้หญิงที่ทำงานต่อต้านใต้ดินอย่างได้ผล เธอได้รับสมญาจากเยอรมันว่า "White Mouse" เนื่องจากความสามารถในการหลบหนีรอดมืออยู่ได้บ่อยครั้ง
ชื่อเธออยู่ใน Wanted List อันดับ 1 และมีค่าหัว 5 ล้านฟรังค์
สามีของเธอบังคับให้เธอหนีไปอังกฤษเพราะมีสัญญาณว่าเกสตาโปต้องการตัวเธอมาก เธอไม่ยอมหนีอยู่นานจนในที่สุดวันหนึ่งเธอก็ต้องยอม และต้องจากสามีที่เธอรักมากที่สุด ("He is the love of my life" เธอบอกในหนังสือชีวประวัติของเธอ) อย่างไม่มีวันได้พบกันอีก เธอไม่รู้ว่าหลังจากที่เธอหนีไปนั้นสามีเธอถูกจับ ถูกทรมาน ไม่ยอมให้ข้อมูลใดๆ เพราะเกรงว่าเธอจะเป็นอันตรายจนต้องเสียชีวิตไปในที่สุด
ในเวลาต่อมาเธอก็ได้รับการฝึกฝนจากอังกฤษประเทศที่เธอจงรักภักดีอย่างที่สุดและได้เป็นสมาชิกของ British Special Operations Executive (SOE) ซึ่งมีจำนวนหญิง 39 คน ชาย 430 คน ที่ถูกส่งไปทำงานร่วมกับกลุ่มใต้ดินฝรั่งเศสเพื่อก่อจลาจลและทำลายขุมกำลังของนาซีในทุกรูปแบบ
เธอทำงานอย่างไม่กลัวตาย เคยถูกกลุ่มฝรั่งเศสที่อยู่ฝ่ายเยอรมันจับไป 4 วัน ถูกทรมาน ถูกซ้อม แต่เธอก็ไม่ปริปาก ต้องรบในป่านับเป็นเดือน เคียงบ่าเคียงไหล่ผู้ชายอย่างไม่สะทกสะท้าน
ก่อนหน้าวัน D-Day (วันยกพลขึ้นบกครั้งใหญ่ของกองทัพพันธมิตรซึ่งนำไปสู่การบุกเบอร์ลินและความพ่ายแพ้ของกองทัพนาซีในที่สุด) ประมาณ 4 อาทิตย์ เธอโดดร่มลงในภาคกลางของฝรั่งเศส โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะจัดการรวมตัวกลุ่มต่อต้าน ป่วนกองทัพนาซี เพื่อให้อ่อนแอและพร้อมต่อการบุกโจมตีของกองทัพพันธมิตรเมื่อยกพลขึ้นบกแล้ว
ร้อยเอก Wake กับพวกร่วมกับกลุ่มต่อต้าน 7,000 คน สู้กับกองทัพเยอรมัน 22,000 คน อย่างได้ผล ตัวเธอเองรอดมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ เพราะในกลุ่มผู้หญิง 39 คนนั้นตายไป 11 คน ในค่ายกักขัง
หลังสงครามโลกเธอได้รับเหรียญกล้าหาญมากมายจากสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อังกฤษ รวมแล้วกว่า 10 เหรียญ จนได้ชื่อว่าเป็นสายลับหญิงที่มีชื่อเสียงที่สุด อย่างไรก็ดี สองประเทศที่ไม่ได้ให้เหรียญกล้าหาญหรือให้การยอมรับการเสียสละของเธอก็คือออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ถึงแม้ว่าจะอยู่ในกลุ่มประเทศพันธมิตรด้วยกันก็ตาม
จนกระทั่งปี 2004 เมื่อเธอมีอายุ 92 ปี ออสเตรเลียจึงให้รางวัลและตามด้วยนิวซีแลนด์ในปี 2006
เธอได้กลับบ้านหลังสงครามโลก ลงสมัครรับเลือกตั้งในออสเตรเลียใน ค.ศ.1949 แต่ก็ไม่ได้รับเลือก เธอเดินทางไปมาระหว่างออสเตรเลีย อังกฤษ และฝรั่งเศส และลงเลือกตั้งอีกครั้งใน ค.ศ.1966 แต่ก็ไม่ได้รับเลือกตั้งอีก ในปี 2001 เธอเดินทางกลับอังกฤษเพื่อใช้ชีวิตที่เหลือด้วยเงินกว่า 60,000 ปอนด์ ที่ได้จากการขายเหรียญกล้าหาญทั้งหมด และอยู่บ้านพักคนชราที่มีคนดูแลเป็นอย่างดี ในตอนต้นเดือนสิงหาคม 2011 เธอก็จากไปใน วัย 99 ปี
Nancy Wake เป็นผู้หญิงที่มีชีวิตชีวา กล้าหาญชนิดที่ชายไม่กล้าสู้ เต็มไปด้วยอุดมการณ์และความเสียสละเพื่อความเชื่อของตนเอง ถึงแม้ว่าจะถูกปฏิเสธโดยบ้านสองหลังของเธอเกือบตลอดชีวิตก็ตาม
เธอทิ้งประวัติอันเลื่องลือไว้ให้ลูกหลานชาวโลกได้จดจำและเลียนแบบในอนาคต
โดย วรากรณ์ สามโกเศศ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1314272446&grpid=&catid=02&subcatid=0207 |