วาน นาท จิตกรผู้ถ่ายทอดความโหดร้ายเขมรแดง
avatar
หมาป่าดำ


user image
          เมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมานี้ วาน นาท (Vann Nath) จิตรกรชาวเขมรได้จากโลกนี้ไปด้วยวัย 65 ปี ข่าวการเสียชีวิตของวาน นาท เป็นข่าวดังไปทั่วโลก เช่นเดียวกับการเสียชีวิตของ ดิธ พราน ผู้สื่อข่าวชาวเขมรของนิวยอร์กไทม์สเมื่อ 3 ปีก่อน ด้วยวัย 65 ปีเท่ากัน คนไทยเรารู้จักดิธ พราน อยู่บ้างจากภาพยนตร์เรื่อง “ทุ่งสังหาร” (The Killing Field) แต่วาน นาท คนไทยกลับรู้จักน้อยมาก ทั้งที่เหตุการณ์ที่เกิดกับสองท่านนี้เกิดขึ้นในกัมพูชา ห่างจากบ้านเราแค่คืบนี่เอง คอลัมน์ไทยรัฐซันเดย์สเปเชียล โดยทีมงานนิตยสารต่วย’ตูน พิเศษ จึงขอนำเรื่องของเขามานำเสนอให้เห็นถึงความโหดร้ายของสงครามอันเกิดจากความแตกแยกของคนในชาติเดียวกัน
 
             ปี 2518 เขมรแดงรุกเข้ายึดกรุงพนมเปญ 13 เมษายน วันปีใหม่เขมร เป็นวันที่ชาวเขมรพากันโล่งอก จะชอบหรือไม่ชอบคอมมิวนิสต์พวกเขาก็พอใจที่สงครามยุติ มีฝ่ายหนึ่งแพ้อีกฝ่ายชนะ เขาเชื่อด้วยใจจริงว่าสงครามหยุดแล้วต่อไปบ้านเมืองจะสงบ ชนชั้นสูง ชั้นกลาง กับคนจนรากหญ้าเสมอภาคกันแล้ว แต่ในที่สุด ดิธ พราน และชาวพนมเปญก็ถูกต้อนออกจากเมืองหลวง วาน นาท เองก็ถูกต้อนออกจากเมืองพระตะบองวาน นาท เกิดปี 2489 ที่พระตะบอง ครอบครัวยากจนไม่มีเงินเรียนหนังสือ พออายุ 16 ปี ก็บวชให้พ่อแม่ พอพี่สาวเสียชีวิตก็สึกออกมาช่วยครอบครัว ตัวเขาประทับใจภาพบนผนังโบสถ์จึงเข้าเรียนวาดภาพในโรงเรียนเอกชน ตอนหลังไม่มีเงินเรียนต้องช่วยงานวาดภาพเป็นการแลกเปลี่ยน
 
           ตอนเขมรแดงยึดอำนาจเขามีอาชีพเขียนโปสเตอร์ภาพยนตร์ มีชีวิตอยู่อย่างคนจนรากหญ้าธรรมดา ไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง มีภรรยา และลูกสาวหนึ่งคน อุ้มท้องอยู่อีกหนึ่งคน (ทั้งสองเสียชีวิตในยุคเขมรแดง) เขมรแดงไล่คนออกจากเมืองหมด กลายเป็นเมืองร้าง วาน นาท กลับสู่ชนบทไปเป็นชาวนา เป็นสมาชิกสหกรณ์หมายเลข5 ประมาณต้นปี 2521 เคราะห์ร้ายมาเยือนขณะแบกข้าวจากท้องนามารวมกอง เขมรแดงที่เขารู้จักเรียกให้เขาขึ้นเกวียนบอกว่าถูกเกณฑ์ไปตัดหวาย เขาถูกนำตัวไปที่สหกรณ์อีกแห่ง กลางดึกคืนนั้นเขมรแดงอีกคนที่เขารู้จักจับเขามัด อิสรภาพสิ้นสุดลงตั้งแต่บัดนั้น ข้อสังเกตคือ คนที่ไปตามเขามาและคนที่มัดเขาเป็นคนที่เขารู้จัก เพราะสังคมเขมรไม่ใช่สังคมใหญ่
 
             เขาถูกส่งให้ชุดสอบสวนจอมโหด ก่อนหน้านั้นเขาได้รับการบอกกล่าวว่า  ถูกผู้หญิงร้องว่าเขาทำผิดจริยธรรมชู้สาว และบอกว่าไม่ต้องกังวล ถ้าหญิงนั้นยืนยันว่าคนทำไม่ใช่เขาก็จะปล่อยตัว แต่พอสอบสวนจริง ผู้สอบสวนนอกจากไม่แจ้งว่าเขามีความผิดอะไร กลับข่มขู่ทรมานให้เขาบอกว่าเขาทำผิดอะไรมา เมื่อเขายืนยันว่าเขาไม่ทราบ ก็ถูกทรมานและลงโทษ “องค์การไม่โง่ องค์การไม่เคยจับคนผิดพลาด คิดใหม่อีกทีว่าทำผิดอะไรมา” คือคำข่มขู่ของผู้สอบสวน แนวคิดนี้เป็นแนวคิดถาวรขององค์การ (เขมรแดงเรียกรัฐและพรรครวมว่าองค์การ) การสอบ สวนที่คุกตุลเสลงทั้งหมดก็ยึดถือหลักนี้ นี่คือหนึ่งในหลายแนวคิดผิดๆที่ทำให้มีคนตายร่วม 2 ล้านคน แนวคิดแรกคือคุณถูกจับแปลว่าคุณทำผิด ไม่ใช่คุณทำผิดจึงถูกจับ อีกแนวคิดคือ “การลงโทษ (สังหาร) ผิดคน ดีกว่าปล่อยศัตรูรอดไปได้” อีกแนวคิดที่โหดพอกันคือ “มีคุณอยู่ก็ไม่มีประโยชน์ต่อองค์การ ขาดคุณไปองค์การก็ไม่เดือดร้อน” องค์การบอกว่าให้สังหารคนเช่นนี้ทิ้งได้
 
             วาน นาท ถูกส่งต่อมาที่คุก S21หรือคุกตุลเสลงในพนมเปญ เดิมเป็นโรงเรียนมัธยมแล้วแปลงเป็นคุกและสำนักงานใหญ่สันติบาลทำหน้าที่สืบสวนหาข่าว ทรมาน และกำจัดศัตรูขององค์การ เป็นที่คุมขังนำนักโทษมาถ่ายรูปทำประวัติแล้วสอบสวนทรมานจนกว่าจะสารภาพ คุกนี้มี เก่ง เก็ก เอียฟ หรือชื่อจัดตั้งว่า สหายดุช เป็นผู้บัญชาการหัวหน้าสันติบาล ขึ้นตรงต่อ พอลพต เป็นคนที่พอลพตไว้วางใจที่สุดทำงานถูกใจพอลพตมาก สิ่งที่สหายดุชทำคือ ทุกคนที่ถูกส่งเข้าคุกต้องสารภาพเท่านั้น หากไม่สารภาพจะต้องถูกทรมานหลากหลายรูปแบบจนตาย มีตั้งแต่การเฆี่ยนตี การช็อตไฟฟ้า การจับกดน้ำ การบังคับให้ดื่มปัสสาวะ การบังคับให้ทานอุจจาระ คำสารภาพต้องเป็นที่พอใจของสหายดุชเท่านั้น คำสารภาพที่สหายดุชอยากได้มากคือ  การเป็นไส้ศึกสายลับให้กับซีไอเอหรือเคจีบี  ตอนหลังเพิ่มสายลับเวียดนาม หรือการจารกรรม อะไรประมาณนี้ เมื่อพอใจแล้ว สหายดุชจะบังคับให้แจ้งรายชื่อผู้สมรู้ร่วมคิดจำนวนหนึ่ง  เพื่อองค์การจะได้จับตัวมาเพิ่มและรีดเอาคำสารภาพต่อไป
 
             มีคนทุกเพศทุกวัยถูกจับเข้าคุกนี้ประมาณ 15,000คน ทุกคนตายหมด มีชาวยุโรปด้วยอย่างน้อย 2 คนตามที่วาน นาท เห็นด้วยตาตนเอง มี ผู้รอดชีวิตจากคุกนี้เพียง 7 คน ทั้ง 7 รอดมาได้เพราะเป็นช่างที่เขมรแดงจำเป็นต้องใช้ประโยชน์ รวมทั้งวาน นาท ด้วย ภายใต้เงื้อมมือมัจจุราช วาน นาท อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้คุมที่เข้มงวด  ผู้คุมทั้งหมดเป็นเด็กหรืออย่างเก่งก็วัยรุ่น ไร้ความเมตตา นักโทษต้องนอนเรียงกันอยู่ในห้องตีตรวนติดกันและติดกับพื้นตลอดเวลา  แค่จะลุกจากนอนมานั่งเพื่อขจัดความเมื่อยก็ต้องขออนุญาต ได้รับอาหารวันละมื้อเดียวเป็นข้าวต้มมีแต่น้ำข้าวสองสามช้อน มีข้าวสองสามเม็ด นักโทษส่วนหนึ่งทยอยตายก่อนถึงนาทีมรณะ เมื่อเวลาแห่งความตายมาถึง  นักโทษทั้งห้องจะถูกนำตัวออกจากคุกไปในเวลากลางคืน พวกเขาถูกนำไปสังหารที่ลานสังหารช่องเอก การสังหารมักจะเป็นการทุบด้วยพลั่ว เชือดด้วยมีด หรือคลุมหัวด้วยถุงพลาสติกให้ขาดอากาศ ทั้งหมดถูกสั่งตายโดยสหายดุชซึ่งจะลงนามสั่งประหารด้วยลายมือตนเอง วาน นาท ก็ถูกสั่งตายไว้แล้ว
 
              ก่อนการประหาร สหายดุชสั่งให้ไว้ชีวิตวาน นาท เขาถูกแยกจากนักโทษอื่นด้วยสภาพที่แทบจะเดินไม่ได้ เขาได้รับอาหารเป็นข้าวสวยครั้งแรกในชีวิตหลังถูกจับ เขากินข้าวไม่ได้เพราะขากรรไกรแข็งและคอกลืนไม่ลง ต้องค่อยๆกินทีละนิด สหายดุชทราบจากทะเบียนประวัติว่าเขาเป็นนักวาด เขาจึงรอดตาย และได้ร่วมทีมช่างฝีมือประมาณ 10 คน ได้รับมอบหมายให้วาดภาพท่านผู้นำเขมรแดงพอลพต และร่วมในทีมปั้นรูปหล่อผู้นำพอลพต ที่ต้องการให้ประชาชนเห็นเป็นเทพ ช่วงปลายยุคเขมรแดง  พวกเขมรแดงเริ่มฆ่ากันเอง ทหารเขมรจับพวกกันเองเข้าคุกแบบเข้าวันนี้ฆ่าทิ้งวันนี้โดยไม่สอบสวนเพราะไม่มีเวลา พวกเขมรแดงภาคตะวันออกถูกกวาดจับหมด รวมทั้งเขมรแดงชั้นผู้น้อย (ยังเป็นเด็ก) ด้วยข้อหาสมคบคิดกับเวียดนาม ซึ่งต่อมากองทัพเวียดนามก็ยกมาบุกเขมร เมื่อเวียดนามบุกถึงพนมเปญ สหายดุชให้ผู้คุมสังหารคนในคุกทิ้งหมด พวกเจ้าหน้าที่คุกได้รับคำสั่งให้อพยพและควบคุมพวกช่างไปด้วย ระหว่างถอยมีการสู้รบชุลมุน เขากับพวกฉวยโอกาสหลบหนีและกระจายกันไปคนละทิศ หลังสงครามจึงสำรวจพบว่ามีผู้รอดชีวิตจากคุกสังหารเพียง 7 คน
 
             สหายดุชถอยร่นไปกับกองกำลังเขมรแดง ตอนหลังทำตัวหายสาบสูญ จน นิค ดันลอป นักข่าวต่างชาติพบว่าเขาเปลี่ยนชื่อเป็น หังปิน เป็นล่ามอยู่ในค่ายอพยพของสหประชาชาติในประเทศไทย ในภายหลังเขาถูกนำขึ้นศาลคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของสหประชาชาติในกรุงพนมเปญ เมื่อ 30 มีนาคม 2554 ต้นปีนี้เองศาลได้พิพากษาให้จำคุก 35 ปี นับว่าช่างยุติธรรมเหลือเกินกับหญิงชายเด็กผู้ใหญ่รวมทั้งทารกร่วม 15,000 คน ที่เสียชีวิตโดยส่วนใหญ่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตนทำผิดอะไร พอลพตไม่ต้องขึ้นศาลระหว่างประเทศ เพราะเขมรแดงตั้งศาลเอง  พิจารณาเอง  และสั่งควบคุมเอง เขาตายในที่ควบคุมเมื่อ 15 เมษายน 2541 เกือบจะเรียกได้ว่าไม่ได้รับโทษอะไรเลยปี 2523 และต่อจากนั้น กระทรวงข่าวสารและวัฒนธรรมขอให้วาน  นาท  วาดภาพการทรมานและความเจ็บปวดรวดร้าวที่เขาและเพื่อนร่วมคุกประสบออกมาเป็นภาพมีชีวิตบนผืนผ้าใบเพื่อแสดงในพิพิธภัณฑ์ ปี  2541  หนังสือของเขาชื่อ  “A  Cambodian Prison Portrait : One Year in the Khmer Rouge’s S21” ได้รับการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ White  Lotus  ของไทย  และเขาได้แสดงในภาพยนตร์ชื่อ  “S21  :  Khmer  Rouge  Killing  Machine” ภาพยนตร์กำกับโดยฤทธี พาน ชาวเขมร เป็นภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัล “Francois  Chalais” จากเมืองคานส์ในปี 2546 ด้วยเขาบอกว่า ช่วงที่เขารู้สึกดีที่สุดคือเมื่อได้เป็นพยานในศาลในคดีประวัติศาสตร์นี้ สำหรับเหยื่อทุ่งสังหารทั้งหลาย ถือว่าเป็นเวลานานมากที่ต้องรอคอยความยุติธรรม ในปี 2552 เมื่อศาลเปิดพิจารณาคดี เขาบอกว่า “ผมรอเรื่องนี้มานานถึง 30 ปี ผมไม่เคยคิดว่าวันนี้จะได้มานั่งในศาลเพื่อบอกกล่าวถึงประสบการณ์เลวร้าย ผมหวังว่าในที่สุดแล้วความยุติธรรมจะเป็นสิ่งที่ทุกคนสัมผัสได้ เห็นได้”.
 
 
 ทีมงานนิตยสารต่วย"ตูน
 
 

 
 
 
 

 

 
ตัวอย่างภาพยนตร์ S21 The Khmer Rouge Killing Machine
 
เมื่อไม่นานมานี้มีภาพยนตร์เกี่ยวกับเขมรแดง "The  Enemy of  The People" มาฉายในบ้านเราอีกเรื่องเหมือนกัน แต่เข้าแค่โรงเดียวที่เซ็นทรัลเวิร์ด ผมก็เสียดายไม่มีเวลาไปชม 

 

 ตัวอย่างภาพยนตร์ The Enemy of The People

http://www.youtube.com/watch?v=KiO-kcYlgLs

 


ผู้ตั้งกระทู้ หมาป่าดำ (mistiest-at-hotmail-dot-com) กระทู้ตั้งโดยสมาชิก โพสต์และแสดงความเห็นเฉพาะสมาชิกเท่านั้น :: วันที่ลงประกาศ 2011-09-18 14:27:08 IP : 223.206.92.15


1

ความคิดเห็นที่ 1 (2979364)
avatar
หมาป่าดำ
image

หนังสือ A  Cambodian Prison Portrait : One Year in the khmer Rouge"s S21

ไม่ทราบว่ามีแปลเป็นภาษาไทยไหมครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น หมาป่าดำ (mistiest-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-09-18 14:40:54 IP : 223.206.92.15



1


Copyright © 2010 All Rights Reserved.