ภาพยนตร์เกี่ยวกับเรือประจัญบาน (Battleship)
avatar
หมาป่าดำ


 เรือประจัญบาน หรือแบทเทิลชิป (Battleship) คือเรือรบที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ติดอาวุธหนักและอุปกรณ์สงครามครบครัน จัดว่าทรงอานุภาพ ที่สุดในบรรดาเรือสงครามด้วยกัน ซึ่งคอลัมน์ไทยรัฐซันเดย์สเปเชียลโดยทีมงานนิตยสารต่วย’ตูนหนนี้จะได้นำเอาเรื่องของเรือประจัญบานมาเสนอให้อ่านกันครับ

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสอง เรือประจัญบาน เป็นเรือที่ทรงอำนาจสูงสุดด้วยอำนาจการยิงที่รุนแรง ปืนใหญ่นานาขนาดถูกบรรจุลงไปในเรือจนแทบจะไม่มีที่ว่าง ปืนใหญ่หลักของเรือประจัญบานจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางสิบสี่นิ้วขึ้นไป ปืนใหญ่เรือที่ใหญ่ที่สุดเป็นของจักรพรรดินาวีญี่ปุ่น เส้นผ่าศูนย์กลางสิบแปดนิ้ว ปืนใหญ่รองมีขนาดลดหลั่นลงมานับสิบกระบอก เสริมด้วยปืนใหญ่ที่มีขนาดเล็กลงมาอีกจนถึงขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางสามนิ้ว ซึ่งถือว่าเป็นปืนใหญ่ที่สามารถยิงต่อสู้อากาศยานได้ด้วย ส่วนปืนที่มีขนาดเล็กกว่านี้ถือว่าเป็นปืนต่อสู้อากาศยานโดยตรง
 
ข้อเสียเพียงหนึ่งเดียวของเรือชนิดนี้คือมีราคาแพงมาก แพงทั้งค่าต่อเรือ อัตราสิ้นเปลือง และค่าเบี้ยเลี้ยงกำลังพล ทำให้บางครั้งและหลายครั้งเรือประจัญบานไม่เหมาะที่เอาไปปฏิบัติภารกิจที่มีความสำคัญน้อย ไม่ควรขี่ช้างจับตั๊กแตนว่าอย่างนั้นเถอะ
 
นอกจากเรือประจัญบานแล้ว ในกองเรือของชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ยังมีเรือที่ทรงอานุภาพอีกมาก ซึ่งจะขอยกตัวอย่างบางส่วนมาให้ทัศนากันพอได้ตื่นตาตื่นใจ
 
 เรือลาดตระเวน (Cruiser) ขนาดเล็กกว่าเรือประจัญบานลงมาหน่อยหนึ่ง ทำหน้าที่ได้เหมือนเรือประจัญบานในราคาเพียงครึ่งเดียว มีปืนใหญ่พอที่จะทำลายเรือของฝ่ายตรงข้ามได้ทุกประเภท ยกเว้นแต่เรือประจัญบาน นักแปลไทยมักสับสนกับเรือตรวจการณ์ ( Patrol Boat) ซึ่งมีขนาดเล็กกว่ามาก เรือประเภทหลังนี้ปฏิบัติงานไม่ห่างจากฝั่งมากนัก
 
เรือพิฆาต (Destroyer) มีขนาดย่อมลงมาจากเรือลาดตระเวน แต่ยังมีขนาดใหญ่พอที่จะเดินสมุทรได้ เรือประเภทนี้ถือได้ว่าเป็นม้างานของกองเรือ ออกแบบให้เหมาะกับงานแต่ละประเภท เช่น พิฆาตปราบเรือดำน้ำ พิฆาตคุ้มกัน
 
เรือฟริเกต (Frigate) ขนาดย่อมลงมากว่าเรือพิฆาตเล็กน้อย ออกแบบมาเพื่อใช้งานเช่นเดียวกับเรือพิฆาต แต่ลำเล็กกว่า จึงลดต้นทุนในการรบได้มากกว่า
 
เรือปืน (Gun Ship หรือ Gun Boat) ขนาดอาจจะใหญ่กว่าหรือเล็กกว่าเรือฟริเกตเล็กน้อย มีปืนเป็นอาวุธหลัก ซึ่งเป็นอาวุธที่มีต้นทุนน้อยกว่าอาวุธชนิดอื่นๆ เหมาะสมในการระดมยิงชายฝั่ง
 
ในยุคสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง หน้าที่ของเรือประจัญบานคือทำลายเรือฝ่ายตรงข้ามทุกชนิด ข้าศึกที่ทัดเทียมมีแต่เรือประจัญบานด้วยกันเท่านั้น เรียกได้ว่าเป็นเจ้าทะเลแห่งยุคโดยแท้จริง
แต่เมื่อมาถึงสงครามแปซิฟิก (นักการทหารจะแยกสงครามที่รบกับญี่ปุ่นออกจากสงครามที่รบกับเยอรมันและอิตาลีเป็นอีกสงครามหนึ่ง เพียงแต่เป็นสงครามที่ต่อเนื่องกัน) ญี่ปุ่นได้เป็นผู้เปิดฉากการรบแบบใหม่ขึ้น เป็นการรบที่เรือของทั้ง 2 ฝ่ายไม่เห็นตัวกัน แต่สามารถส่งอาวุธไปทำลายกันได้ อาวุธนั้นคือเครื่องบิน
ในการศึกครั้ง นั้น เรือรีพัลล์และปรินซ์ ออฟ เวลล์ของอังกฤษจมลงด้วยการโจมตีของเครื่องบินจากเรือบรรทุกเครื่องบิน ทางตอนใต้ของอ่าวไทยโดยที่ไม่มีทหารบนเรือคนใดเห็นเรือรบของญี่ปุ่นเลย
จากนั้นรูปแบบของสงครามทางเรือก็เปลี่ยนไป ทั้งสหรัฐฯและญี่ปุ่นต่างให้ความสำคัญกับเรือบรรทุกเครื่องบิน ชิงโจมตีฝ่ายตรงข้ามตั้งแต่ระยะไกล ความสำคัญของเรือประจัญบานจึงลดลงไป แม้ว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะนำเรือประจัญบานออกมาปฏิบัติการรบ แต่ผู้ยิ่งใหญ่แห่งท้องทะเลก็กลายเป็นอดีตเมื่อไม่สามารถป้องกันตนเองจากเครื่องบินที่แห่แหนกันมารุมโจมตีได้
 
ปัจจุบันมีเพียงสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียวเท่านั้นที่ยังมีเรือประจัญบานประจำการอยู่ในกองทัพ แต่กระนั้นก็ยังต้องซีลเก็บไว้ 2 ลำ นำออกมาใช้งานเพียง 2 ลำ ซึ่งทั้ง 2 ลำนี้ได้รับการปรับปรุงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และอาวุธใหม่เพื่อให้เป็นเรือที่ทันสมัยพอที่จะเข้าสู่สงครามยุคใหม่
อาวุธที่เพิ่มเข้ามามีทั้งขีปนาวุธระยะไกล ปืนต่อสู้อากาศยานที่มีความถี่ในการยิงสูงกว่าอาวุธต่อสู้อากาศยานแบบเก่าถึงร้อยเท่า แต่ดูเหมือนว่าภารกิจหลักของเรือประจัญบานจะเป็นเพียงอวดความน่าเกรงขามเก่าๆ เท่านั้น เพราะสงครามในปัจจุบันแตกต่างไปจากสงครามโลกครั้งที่สองมากมาย เรือใหญ่เกราะหนักไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป เรือที่ยิงแม่นและเอาตัวรอดจากการโดนยิงได้ดีต่างหากที่มีความเหมาะสมมากกว่า ดังนั้น เรือรบในปัจจุบันจึงไม่ใหญ่ไปกว่าเรือลาดตระเวนเบา (เรือลาดตระเวนที่ไม่ติดตั้งเกราะ)   เรือรบขนาดเรือพิฆาตกลายเป็นเรือที่มีความเหมาะสมทั้งด้านความทนทะเลและราคา แต่กระนั้นก็มีกองทัพเรือไม่กี่ชาติเท่านั้นที่มีเรือระดับนี้ใช้  อาวุธหลักของเรือพิฆาตในปัจจุบันมีจำนวนน้อยกว่าสมัยสงครามโลกหลายเท่า แต่กลับมีอัตราการยิงที่สูงกว่าและแม่นยำกว่าหลายเท่าเช่นกัน เช่น ระบบต่อสู้อากาศยานระยะไกล เอจีส สามารถยิงเครื่องบินข้าศึกที่ระยะมากกว่าสองร้อยไมล์ให้ร่วงลงมาก่อนที่นักบินจะเห็นเรือด้วยซ้ำ
 หากเครื่องบินข้าศึกยังฝ่าแนวป้องกันเข้ามาได้อีกก็จะเจอกับขีปนาวุธต่อต้านอากาศยานระยะกลาง และถ้าหากยังฝ่าเข้ามาได้อีกก็จะเจอกับระบบต่อสู้อากาศยานระยะประชิดที่ไม่ได้มีไว้ต่อสู้เครื่องบินเหมือนเมื่อสมัยก่อน แต่ถูกออกแบบมาให้ยิงใส่ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงที่พุ่งตรงมาที่เรือต่างหาก โดยใช้เรดาร์ควบคุมปืนหลายลำกล้องที่มีอัตราการยิงถึงหกพันนัดต่อนาที จากการทดลอง สามารถยิงหัวกระสุนปืนใหญ่ที่ยิงมายังเรือตกก่อนที่จะถึงเรือด้วยซ้ำ
ปืนใหญ่เรือก็ไม่ได้ใหญ่โตเหมือนก่อน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางลำกล้องเพียง 5 นิ้ว แต่มีความแม่นยำชนิดนัดเดียวจอด และมีความเร็วในการยิงถึงสี่สิบนัดต่อนาที เพื่อต่อสู้กับเป้าหมายมากกว่าห้าเป้าพร้อมกันทั้งเป้าผิวน้ำและอากาศยาน โดยคอมพิวเตอร์จะเลือกยิงเป้าหมายที่เป็นอันตรายต่อเรือมากกว่าก่อนโดยอัตโนมัติ
 เรื่องของเรือประจัญบานที่ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์นั้นก็มีอยู่หลายเรื่อง
 
เรื่องแรกได้แก่“เรือรบโปเต็มกิน (Potemkin Battleship)” เป็นหนังเงียบ โดยผู้กำกับและนักเขียนบทรัสเซีย สร้าง จากเรื่องราวการแข็งข้อของลูกเรือบนเรือประจัญบานโปเต็มกินในปี 1905 ผนวกกับเหตุการณ์สังหารหมู่ราษฎรรัสเซียที่เมืองโอเดสสา (Odessa)
 ด้วยเหตุที่หนังเรื่องนี้มีเรื่องราวที่สนับสนุนการปฏิวัติ ก็เลยโดนห้ามฉายในยุโรปเกือบทุกประเทศนานหลายปี แม้แต่จะฉายดูกันเองในบ้านก็ต้องขออนุญาตทางการเสียก่อน กว่าจะเข้าฉายที่กรุงลอนดอนได้ก็โน่น...ปลายปี 1929
 
ส่วนเรื่องที่ 2 สร้างในปี ค.ศ.1960 แม้จะเป็นระบบเสียงในฟิล์มแล้ว แต่ก็ยังเป็นหนังขาว-ดำในชื่อ “Sink the Bismarck” เป็นหนังสงครามที่อังกฤษสร้างขึ้นจากบทประพันธ์เรื่อง “เก้าวันสุดท้ายของบิสมาร์ค” ของ ซี.เอส.ฟอเรสเทอร์
 ฉากสำคัญของเรื่องนี้คือการปะทะระหว่างกองเรือเยอรมันกับอังกฤษ ซึ่งมีที่มาจากเรื่องจริง “บิสมาร์ค (Bismarck)” เรือประจัญบานลำใหญ่ที่สุดและทรงอานุภาพที่สุดในสงครามโลกครั้งที่ 2 ใช้ปืนเรือขนาดยักษ์ยิงเรือรบหลวงฮูด (HMS Hood) จมลงอย่างง่ายดายจนกองทัพเรืออังกฤษตกตะลึงพรึงเพริด จากนั้นบิสมาร์คก็แล่นอ้าวมุ่งไปยังชายฝั่งฝรั่งเศสที่เยอรมันยึดครอง อังกฤษส่งเรือบินรบโจมตีด้วยมุ่งหวังจะทำให้บิสมาร์คเสียหายและแล่นช้าลง ซึ่งก็สำเร็จ เมื่อตอร์ปิโดลูกหนึ่งพุ่งชนหางเสือบิสมาร์คจนไม่สามารถบังคับทิศทางได้ ทำให้เรือประจัญบานทางอานุภาพลำนี้พิการ ได้แต่แล่นเป็นวงกลมวนเวียนอยู่กับที่ จากนั้นหมู่เรือพิฆาตของอังกฤษก็รุม “กินโต๊ะ” บิส-มาร์คด้วยตอร์ปิโดท่ามกลางความมืดยามราตรี แต่บิส-มาร์คก็สู้แหลก และยิงเรือพิฆาตลำหนึ่งจมลง หากทว่าน้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ หลังถูกระดมยิงอย่างหนัก ในที่สุดบิสมาร์คก็ถึงกาลอวสาน
 
ในปี 1992 มีภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับประจัญบานอีกเรื่องหนึ่งชื่อ Under Siege ยุทธการยึดเรือนรก แสดงโดยนักหักกระดูก สตีเวน ซีกัล เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้ก่อการร้ายยึดเรือประจัญบานมิสซูรีเพื่อนำไปใช้เป็นอาวุธก่อนที่จะทำลายทิ้ง ซึ่งก็แน่นอนว่าพระเอกกับนางเอกของเราได้ช่วยกันยึดเรือลำนี้คืนจากผู้ก่อการร้ายได้
 เรือยูเอสเอส มิสซูรี (USS Missouri) ลำนี้มีประวัติน่าสนใจครับ เพราะเป็นเรือประจัญบานลำสุดท้ายที่สร้างขึ้นโดยสหรัฐฯ ได้ผ่านสมรภูมิมาแล้วหลายครั้ง ทั้งสงครามโลกครั้งที่ 2, สงครามเกาหลี, สงครามอ่าวเปอร์เซีย ที่ต้องบันทึกไว้ก็คือเรือลำนี้เคยถูกเครื่องบินจากฝูงบินคามิคาเซพุ่งชนมาแล้ว แต่ก็รอดมาได้ และเคยใช้เป็นสถานที่ที่ญี่ปุ่นลงนามยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตรในปี 1945 อันเป็นจุดสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2
ปัจจุบันเรือมิสซูรีได้บริจาคให้กับสมาคมอนุสรณ์ ยูเอสเอส มิสซูรี และกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ลอยน้ำอยู่ที่เพิร์ล ฮาร์เบอร์ ในฮาวาย กระทั่งในปี 2012 นี้แหละครับที่เราจะได้เห็นเรือมิสซูรีได้แล่นทะยานอีกครั้งในภาพยนตร์เรื่อง 
 
โดย อุดร จารุรัตน์, พัฒนพงศ์ พ่วงลาภหลาย และ ทีมงาน นิตยสาร ต่วย"ตูน
 
http://www.thairath.co.th/column/life/sundayspecial/251415
 


ผู้ตั้งกระทู้ หมาป่าดำ (mistiest-at-hotmail-dot-com) กระทู้ตั้งโดยสมาชิก โพสต์และแสดงความเห็นเฉพาะสมาชิกเท่านั้น :: วันที่ลงประกาศ 2012-04-10 13:33:44 IP : 223.204.162.96


1

ความคิดเห็นที่ 1 (2980324)
avatar
countryboy
image

ขอบคุณท่านหมาป่าดำครับผม สำหรับเรื่องราวดี ๆ เช่นนี้

และขอสวัสดีปีใหม่ไทยเรามายังท่าน เว็บมาสเตอร์ และเพื่อน ๆ สมาชิกทุก ๆ ท่านครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น countryboy (fromcountryboy-at-yahoo-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-04-14 11:17:08 IP : 110.49.243.27


ความคิดเห็นที่ 2 (2980327)
avatar
หมาป่าดำ
image

 

 

สุขสันต์วันสงกรานต์สมาชิกทุกท่านและเว็บมาสเตอร์ เช่นกันครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น หมาป่าดำ (mistiest-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-04-15 21:04:54 IP : 223.206.25.228


ความคิดเห็นที่ 3 (2980604)
avatar
คนเล่าเรื่อง

พึ่งจะได้มาอ่านบทความชิ้นนี้ซึ่งเป็นประโยชน์มากต่อความรู้เกี่ยวกับอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพเรือของชาติมหาอำนาจตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

แน่นอนครับ เทคโนโลยีด้านอาวุธได้ทำให้รูปโฉมของเรือรบและการยุทธนาวีเปลี่ยนแปลงไป  และได้กลายเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการช่วยยับยั้งการสงครามทางเรือแบบเต็มรูปไม่ให้เกิดขึ้นได้  เพราะความหวาดเกรงจากการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นนั่นเองครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น คนเล่าเรื่อง วันที่ตอบ 2012-08-07 13:38:40 IP : 202.28.78.24



1


Copyright © 2010 All Rights Reserved.