ทองปาน หนังต้องห้ามของไทยยุค 6 ตุลา
avatar
mink


user image
ขอแนะนำหนังหน่อยครับ บังเอิญวันก่อนไปเจอเรื่องนี้ในเว็บ bit torrent ลอง load มาดูแล้วเห็นว่าดีมาก ใครสนใจก็ลองหามาดูนะครับ ส่วนรายละเอียด ขอให้ดูที่ http://http://www.muangboranjournal.com/modules.php?name=News&file=article&sid=1064


ผู้ตั้งกระทู้ mink กระทู้ตั้งโดยสมาชิก โพสต์และแสดงความเห็นเฉพาะสมาชิกเท่านั้น :: วันที่ลงประกาศ 2007-08-20 00:07:31 IP : 124.121.185.88


1

ความคิดเห็นที่ 1 (2974868)
avatar
โรจน์ (Webmaster)

ไม่ทราบในปัจจุบันยังต้องห้ามแค่ไหนอย่างไร พอดีใช้อินเตอร์เน็ตที่ทำงานไม่สามารถเข้าเว็บตามลิงค์ที่ให้ไว้ได้

ผมมีหนังวีซีดีเกี่ยวกับเหตุการณ์เดือนตุลาฯ เก็บไว้บ้างนิดหน่อย การเมืองช่วงนั้นมองต่างมุมกันรุนแรง เอามาเขียนเมื่อไหร่คงต้องระวังมากเหมือนกันครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น โรจน์ (Webmaster) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2007-08-21 10:02:22 IP : 61.7.253.227


ความคิดเห็นที่ 2 (2974869)
avatar
mink

ท อ ง ป า น

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บรรณาธิการ

จัดพิมพ์โดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

มกราคม ๒๕๔๙, ๕๒ หน้า ราคา ๑๐๐ บาท (พร้อมซีดีภาพยนตร์)

หลังเหตุการณ์ "๑๔ ตุลา ๑๖" พลังของปัญญาชนและนักศึกษาเข้มแข็งมาก นโยบายของรัฐถูกตั้งคำถามและตรวจสอบ หนึ่งในนั้นคือ "การสร้างเขื่อน" มีงานสัมมนางานหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ ในชื่อ "เขื่อนผามอง ปัญหาการตั้งรกรากใหม่และการเคลื่อนย้ายประชากร" จัดขึ้นที่เขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ โดยผู้ร่วมสัมมนามีทั้งตัวแทนจากภาครัฐ ชาวบ้าน นักวิชาการ นักศึกษา นักข่าว และผู้สนใจ ได้มาร่วมพูดคุยกัน เสียงส่วนใหญ่ "ไม่เอาเขื่อน" ด้วยคิดว่าเขื่อนเป็นปัญหา



ในการสัมมนาเรื่องเขื่อนผามอง ลาว คำหอม หรือคำสิงห์ ศรีนอก นักเขียนชั้นครูผู้สะท้อนปัญหาชนบทอีสานได้พักร่วมห้องกับองอาจ โพนทอง หรือทองปานในเวลาต่อมา คำสิงห์จึงได้รับรู้ถึงชะตากรรมของผู้ด้อยโอกาสในสังคมผู้นี้ หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อชนชั้นกลางคณะหนึ่งที่เรียกตัวว่าเป็นผู้รักความเป็นธรรมได้รวมตัวกันแบบสมัครเล่น เพื่อสร้าง "ภาพยนตร์สะท้อนปัญหาการพัฒนาชนบท" ได้ติดต่อมาที่คำสิงห์ ศรีนอกเพื่อขอเรื่องสั้นมาสร้าง กลับได้รับฟังเรื่องราวของทองปานและตัดสินใจสร้างภาพยนตร์กึ่งสารคดีเรื่องนี้ขึ้นจากเค้าโครงชีวิตจริงของเขาบวกกับเหตุการณ์ในวงสัมมนาเรื่องเขื่อนผามอง

ภาพยนตร์ทองปาน เป็นภาพยนตร์กึ่งสารคดีขาวดำ พูดภาษาไทยและลาว พร้อมอักษรบรรยายภาษาอังกฤษ ความยาว ๖๐ นาที ว่าด้วยชีวิตของทองปาน ชาวนาฐานะยากจนที่เคยถูกไล่ที่จากการสร้างเขื่อนแห่งหนึ่งต้องอพยพครอบครัวมารับจ้างทำนาอยู่ในอีกถิ่นหนึ่ง แต่แล้วก็ถูกไล่ที่เพื่อสร้างเขื่อนซ้ำอีก วันหนึ่งมีนักศึกษามาชวนให้ชาวบ้านไปร่วมสัมมนาเรื่องสร้างเขื่อน ทองปานจึงได้ไปเข้าร่วมด้วย เขามีเงินติดตัวอยู่เพียงยี่สิบบาทซึ่งเป็นเงินทั้งหมดของครอบครัว ที่ก่อนหน้านี้ตั้งใจจะเอาไปซื้อยารักษาวัณโรคให้เมีย เขาเข้าไปนั่งฟังบุคคลต่างๆ ถกเถียงกันในวงสัมมนาถึงผลดีผลเสียของการสร้างเขื่อน และเมื่อเขากลับไปบ้านก็พบว่าเมียได้เสียชีวิตลงด้วยวัณโรค แต่เขาก็ยังต้องเข้มแข็งดิ้นรนเพื่อหาเลี้ยงลูกเล็กๆ อีกสองคนต่อไป แล้วในท้ายที่สุดชีวิตของเขาก็จะสูญหายไปจากสังคมตามประสาคนตัวเล็กตัวน้อยที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา

ภาพยนตร์เรื่องนี้ผลิตสร้างและแสดงโดยคณะบุคคลซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักของคนในสังคมอย่างกว้างขวาง อาทิ ไพจง ไหลสกุล สุรชัย จันทิมธร ยุทธนา มุกดาสนิท รัศมี เผ่าเหลืองทอง วิทยากร เชียงกูล เสน่ห์ จามริก สุลักษณ์ ศิวรักษ์ พัทยา สายหู เทพศิริ สุขโสภา ทรงยศ แววหงษ์ ฯลฯ โดยมีไมล์ มอร์โรว์ เป็นผู้อำนวยการสร้าง

เมื่อภาพยนตร์เรื่องนี้ใกล้เสร็จสมบูรณ์ก็เกิดเหตุการณ์นองเลือดและรัฐประหาร "๖ ตุลา ๑๙"ภาพผู้เข้าร่วมสัมมนาในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ซึ่งมีอาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์รวมอยู่ด้วย ถูกหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งนำไปลงข่าวว่าเป็นการประชุมของพรรคคอมมิวนิสต์ ภาพยนตร์เรื่อง "ทองปาน" กลายเป็น "หนังต้องห้าม" ทีมงานและนักแสดงต้องระหกระเหินแยกกันไปคนละทิศทาง แต่โชคดีที่ฟิลม์ภาพยนตร์รอดไปได้และตัดต่อจนเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. ๒๕๒๐

ต่อมา "ทองปาน" ได้ออกอากาศที่ต่างประเทศเป็นครั้งแรก และได้รางวัลเกียรติยศ "Outstanding Film of Southeast Asia" ด้วย กลายเป็นภาพยนตร์ที่ชาวต่างประเทศที่สนใจเอเชียอาคเนย์ "ต้องดู"

แม้ "ทองปาน" จะเคยฉายในเกอเธ่ กรุงเทพฯ ครั้งแรกในราวปลายปี พ.ศ. ๒๕๒๐ และฉายที่สยามสมาคมในเวลาไล่เลี่ยกัน แต่ก็ไม่ได้หาดูได้ทั่วไป คงอยู่เฉพาะในวงจำกัดเท่านั้น

สามสิบปีผ่านไป ภาพยนตร์เรื่องทองปานได้เผยแพร่สู่สาธารณชนอีกครั้ง มีซีดีภาพยนตร์วางขายพร้อมหนังสืออย่างเต็มภาคภูมิในงานสัมมนาทางวิชาการเรื่อง "ลุ่มน้ำโขง : วิกฤต การพัฒนา และทางออก" เมื่อวันที่ ๒๕ - ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙ และต่อมาได้เริ่มมีวางจำหน่ายในร้านหนังสือทั่วไป

ในส่วนของหนังสือ ทองปาน ประกอบไปด้วย คำนำ "ทองปาน" ภาพยนตร์ "ประหลาด" ของไทย เขียนโดย ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ มีบทความภาษาไทยสองบทความคือ บอกเล่าความเป็นมาของหนังเรื่องทองปาน โดย คำสิงห์ ศรีนอก (เคยตีพิมพ์ในนิตยสารไรเตอร์เมื่อเมษายน พ.ศ. ๒๕๓๖) และ ทองปานหนังต้องห้าม บทสัมภาษณ์ไพจง ไหลสกุล ในฐานะโปรดิวเซอร์และผู้กำกับร่วมของหนังกึ่งสารคดีเรื่องนี้ (เคยตีพิมพ์ในวารสารหนังไทย มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๗) นอกจากนี้ยังมีบทความภาษาอังกฤษจากคอลัมน์แนะนำภาพยนตร์ที่เคยตีพิมพ์ใน Bulletin of Concerned Asian Scholars เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒ อีกสองบทความ คือ Tongpan เขียนโดย Norman Peagam และ "Tongpan"An Important Event in Thai Cinema เขียนโดย Baljit Malik

สิ่งที่น่าสนใจในหนังสือเล่มนี้อีกส่วนหนึ่งคือภาพประกอบจากภาพยนตร์ และจากการสัมมนาที่เขื่อนผามอง ภาพข่าวหนังสือพิมพ์ที่เคยใส่ร้ายผู้เข้าร่วมสัมมนาเมื่อกาลก่อน และแผนที่บริเวณแม่น้ำโขงที่เคยมีโครงการสร้างเขื่อนกั้นหลายต่อหลายจุด

นับจากซีดีภาพยนตร์และหนังสือทองปานเล่มนี้ได้เผยแพร่ออกสู่สาธารณชนเมื่อต้นปีนี้ ก็มีเสียงชื่นชมและตอบรับเป็นอย่างดี มีผู้นำภาพยนตร์เรื่องนี้ไปฉายในที่ชุมชนและวงสัมมนาต่างๆ อีกหลายครั้ง รวมถึงงาน "๓๐ ปี ทองปาน : คน เขื่อน น้ำ และดิน" ที่จะจัดขึ้นในปลายเดือนกันยายนศกนี้ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แต่สิ่งที่น่าเศร้าใจก็คือปัญหาของคนชายขอบและปัญหาในการพัฒนาชนบทยังคงอยู่ หนำซ้ำยังแผ่ขยายออกไปในภูมิภาคนี้ เขื่อนอีกจำนวนไม่น้อยกำลังจะเกิดขึ้น! ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้หลุดพ้นจากภาวะ "ต้องห้าม" แล้ว แต่ยังคง "ต้องดู"

ผู้แสดงความคิดเห็น mink ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2007-08-23 22:10:55 IP : 124.121.186.75


ความคิดเห็นที่ 3 (2975746)
avatar
กิติ

ผมเคยซื้อ อันนี้มีที่ศูนย์หนังสือจุฬา

ผู้แสดงความคิดเห็น กิติ วันที่ตอบ 2008-11-20 16:23:48 IP : 115.67.173.232



1


Copyright © 2010 All Rights Reserved.