'อนุสรณ์สถานแห่งชาติ'จารึกสยาม
avatar
หมาป่าดำ


user image

  "อนุสรณ์สถานแห่งชาติ" ถูกจัดสร้างให้เป็นส่วนหนึ่งในงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี เมื่อปี 2525 เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแก่ผู้ที่สละชีพเพื่อชาติ ทั้งยังเป็นสถานที่จัดแสดงเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทย และสถานที่ประกอบพิธี “วันกองทัพไทย” ในวันที่ 18 มกราคม ของทุกปี


               พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานชื่อ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2526 และเสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไปทรงเป็นประธานพิธีเปิด เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2537

               พล.ต.นเรนทร์ สิริภูบาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย กล่าวย้ำว่า อนุสรณ์สถานแห่งชาติถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ผู้เสียสละชีวิตเพื่อประเทศชาติ รวมถึงเหตุการณ์รบครั้งสำคัญๆ เพื่อเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนให้ประชาชนตระหนักถึงภัยที่เกิดขึ้นในอดีต อันเป็นผลกระทบต่อความมั่นคงของสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

               โดย พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้สั่งการให้มีการปรับปรุงสถานที่เพื่อให้ประชาชนเกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งด้านการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ และเป็นสถานที่พักผ่อน และอยากให้เป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อเปิดให้ประชาชนได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ไม่ใช่มากันเฉพาะทหารในวันกองทัพไทยทุกวันที่ 18 มกราคม เพียงวันเดียวเท่านั้น

               ภายในอนุสรณ์แห่งชาติประกอบด้วยส่วนสำคัญ 5 ส่วน คือ 1.ลานประกอบพิธี 2.อาคารประกอบพิธี 3.อาคารประวัติศาสตร์ และพิพิธภัณฑ์ทหาร 4.อาคารภาพปริทัศน์ และ 5.ภูมิสถาปัตยกรรมและพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง

               พื้นที่จัดแสดงแต่ละส่วนสะท้อนถึงประวัติศาสตร์ชาติไทยโดยได้จารึกนามผู้กล้าหาญที่สละชีพจากการรบเพื่อชาติไว้บนกำแพงรอบนอกอาคารชั้นที่ 2 รวมทั้งสิ้น 7,654 รายชื่อ รวมถึงรายนามทหารที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ตามแนวชายแดน และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย

               1.ลานประกอบพิธี เป็นลานกว้างหน้าอาคารประกอบพิธีสามารถตั้งแถวทหารกองเกียรติได้ จำนวน 3 กองร้อย เป็นสถานที่สำหรับพิธีต้อนรับประมุข หรือบุคคลสำคัญของประเทศและต่างประเทศที่มาเยือน รวมถึงการประกอบพิธีวางพวงมาลาในโอกาสสำคัญต่างๆ ทั้งวันกองทัพไทย และวันทหารผ่านศึก

               นอกจากนี้ ด้านหน้าลานประกอบพิธียังประดับด้วย ธงกองบัญชาการกองทัพไทย ธงกองทัพบก ธงกองทัพเรือ ธงกองทัพอากาศ ธงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และธงกองอาสารักษาดินแดน

               2.อาคารประกอบพิธี เป็นอาคารชั้นเดียวหลังคาทรงไทยใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา และพิธีสำคัญของประเทศ ทั้งวันกองทัพไทย และวันทหารผ่านศึก เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลแก่ดวงพระวิญญาณของบุรพกษัตราธิราชเจ้า และดวงวิญญาณวีรชน

               อาคารประกอบพิธี ประกอบด้วยส่วนสำคัญ อาทิ ดวงโคมนิรันดร์ประภา พระบรมรูปพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นมหาราช 9 พระองค์ ภาพเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ภาพมงคลแปด ภาพจำหลักนูนต่ำบนแผ่นไม้สักทองแสดงเหตุการณ์ก่อตั้งราชธานีของไทยสมัยสุโขทัย

               3.อาคารประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์ทหาร เป็นอาคารทางแปดเหลี่ยมสูง 5 ชั้น ลักษณะคล้ายป้อมค่ายหอรบสมัยโบราณ ด้านหน้าทางเข้าอาคารประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยืน แกะสลักจากหินอ่อนขนาดหนึ่งเท่าครึ่งของพระองค์จริง

               ชั้นที่ 1 เป็นส่วนโถงต้อนรับ เป็นจุดรวมเพื่อชมวีดิทัศน์ รวมถึงการจัดนิทรรศการเพื่อเชิดชูเกียรติ และวีรกรรมของบุคคลสำคัญ และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานด้านการรบ ทั้งยุทธภูมิทุ่งช้าง และยุทธภูมิเขาค้อ, การจัดแสดงเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 1, กรณีพิพาทอินโดจีนไทย-ฝรั่งเศส, เหตุการณ์สงครามมหาเอเชียบูรพา, สงครามเกาหลี และสงครามเวียดนาม

               ชั้นที่ 2 เป็นห้องพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติจอมทัพไทย จัดแสดงออกเป็น 5 ห้อง คือ ห้องใต้ร่วมพระบารมี พระภูมีนฤบดินทร์ ห้อง ธ พลังของแผ่นดิน สยามินทราชา ห้องทวยราษฎร์และทวยหาญ ประณตกรานเหนือเกศา อัครกษัตรา พระจักรา จอมทัพไทย ห้องกองทัพสนองบาทเฉลิมราชรักษ์ไผท และห้องน้อมคำพระทรงชัยดำริไว้เพื่อแผ่นดิน

               ชั้นที่ 3 มีการจัดแสดงหุ่นจำลองขนาดย่อของวีรกรรมบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย 14 เหตุการณ์ ทั้งพระวีรกรรมสมเด็จพระสุริโยทัย พระวีรกรรมสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงคาบพระแสงดาบปีนค่ายพม่า, วีรกรรมท้าวสุรนารี, วีรกรรมยุวชนทหารที่ จ.ชุมพร

               ชั้นที่ 4-5 เป็นวิวัฒนาการเครื่องแบบทั้งเครื่องหมายยศ และส่วนประกอบของเครื่องแบบทหาร ตำรวจ สมัยต่างๆ ตั้งแต่สมัยก่อนสุโขทัย สมัยอยุธยา สมัยธนบุรี สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งเครื่องราชอิสริยาภรณ์

               4.อาคารภาพปริทัศน์ เป็นภาพวาดจิตรกรรมเฉพาะเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ ตั้งแต่การก่อตั้งบ้านเมือง การเสียเอกราช และการกู้เอกราช ความรุ่งเรืองของราชอาณาจักรไทย การก่อตั้งกรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์ สงครามเก้าทัพ การรอดพ้นจากการล่าอาณานิคม รวมถึงการเข้าสู่ยุคใหม่

               5.ภูมิสถาปัตยกรรมและพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง เป็นพื้นที่ภายนอกอนุสรณ์สถานที่เป็นพิพิธภัณฑ์แสดงยุทโธปกรณ์ขนาดใหญ่ที่เคยปฏิบัติการในสมรภูมิรบต่างๆ ที่ได้ปลดประจำการแล้ว
ประกอบด้วย รถสะเทินน้ำสะเทินบก, เครื่องบินโจมตีทิ้งระเบิด และฝึกแบบ 13, เรือยนต์เร็วตรวจการณ์ลำน้ำ, รถถังแบบต่างๆ รวมถึงพิพิธภัณฑ์การปฏิบัติการรบของกองทัพพายัพด้วย

               อนุสรณ์สถานแห่งชาติ เปิดให้บริการสำหรับประชาชน นักเรียน นักศึกษา หรือผู้ที่สนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยสามารถเข้ามาใช้บริการได้ตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-15.30 น. และวันเสาร์-อาทิตย์ เปิดบริการเวลา 09.30-15.00 น.

.................

(หมายเหตุ : "อนุสรณ์สถานแห่งชาติ"  จารึกประวัติศาสตร์สยาม : ตะลุยกองทัพ โดยทีมข่าวความมั่นคง)

 

คมชัดลึก



ผู้ตั้งกระทู้ หมาป่าดำ (mistiest-at-hotmail-dot-com) กระทู้ตั้งโดยสมาชิก โพสต์และแสดงความเห็นเฉพาะสมาชิกเท่านั้น :: วันที่ลงประกาศ 2013-01-08 12:46:35 IP : 49.49.159.64


Copyright © 2010 All Rights Reserved.