ค้นพบพระบรมอัฐิ ‘สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร’เตรียมปฏิสังขรณ์ตั้งอนุสรณ์สถานในพม่า
avatar
หมาป่าดำ


user image

 จากกรณีที่ประเทศพม่าประกาศจะพัฒนาพื้นที่รกร้างในเมืองมัณฑะเลย์ซึ่งเป็นสุสานเก่า จึงส่งหนังสือแจ้งหลายประเทศเพื่อให้มาขุดศพของบรรพบุรุษที่ฝังไว้กลับไปรวมทั้งประเทศไทยด้วย เพราะทางพม่าเชื่อว่าในอดีตเคยเป็นสถานที่ประกอบพิธีถวายพระเพลิงของพระมหากษัตริย์ไทย เนื่องจากมีหลักฐานจารึกไว้ ทางทีมผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ สถาปนิกของไทยและพม่าจึงได้เดินทางไปตรวจสอบ จนล่าสุดได้ขุดพบพระบรมอัฐิของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร พร้อมเตรียมดำเนินโครงการปฏิสังขรณ์ไว้เป็นอนุสรณ์สถานที่ประเทศพม่า

ทั้งนี้ คณะทำงานฝ่ายไทย ประกอบด้วย วิจิตร ชินาลัย สถาปนิกอำนวยการและนักอนุรักษ์ ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา ศิลปินแห่งชาติ สถาปนิกอาวุโส นักอนุรักษ์ นักเขียน และนักประวัติศาสตร์ ปองขวัญ ลาซูส สถาปนิกและนักอนุรักษ์ ออท.ประดาป พิบูลสงคราม ที่ปรึกษา ชาตรี รัตนสังข์ วิศวกรอาวุโส และพัทธมน นิยมค้า สถาปนิกประสานงาน ซึ่งทางคณะเปิดเผยว่า “สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร” มีพระนามเดิมว่า “เจ้าฟ้าดอกเดื่อ” (อุทุมพร หมายถึง มะเดื่อ) เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 32 แห่งกรุงศรีอยุธยา เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

ก่อนที่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจะสวรรคตได้มอบพระราชสมบัติให้สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จากการที่พระองค์ฝักใฝ่ในการศึกษาธรรมะ จึงทรงออกผนวชหลังขึ้นครองราชย์ได้ระยะหนึ่ง และยกพระราชสมบัติให้พระเจ้าเอกทัศน์ ซึ่งเป็นพระเชษฐา หลังจากนั้นได้เกิดสงครามขึ้น พระเจ้าเอกทัศน์ทรงงานปกป้องบ้านเมืองมาโดยตลอด แต่พอข้าศึกมากขึ้นทหารจึงนิมนต์พระเจ้าอุทุมพรมาช่วยรบ ท่านจึงทรงลาสิกขาออกมานำรบอีกแรงหนึ่งจนสามารถป้องกันเมืองไว้ได้ แต่หลังจากนั้นก็มีสงครามเรื่อย ๆ จนกระทั่งกรุงแตก ซึ่งในสมัยที่กรุงแตกนั้นท่านกลับไปผนวชแล้ว

สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรได้ถูกกวาดต้อนไปที่พม่าพร้อมกับชาวอยุธยาประมาณแสนกว่าคน ประกอบด้วยผู้ที่เป็นช่างฝีมือ และเชื้อพระวงศ์ต่าง ๆ ซึ่งพม่ามีบันทึกไว้ในพงศาวดารทั้งฉบับหอแก้วและคอง
บอง สำหรับสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร สมัยที่เสด็จไปนั้นท่านไปในฐานะสมณเพศ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าพม่านับถือพระพุทธศาสนา ให้ความศรัทธาและทำนุบำรุงพุทธศาสนาเป็นอย่างดี จึงให้ความเคารพว่าทรงเป็นพระมหาเถระ เพราะสมัยที่ท่านเสด็จไปทรงมีพระพรรษามากแล้ว ส่วนเชื้อพระวงศ์ของไทยที่สมรสกับกษัตริย์พม่าก็อยู่ในวัง และผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นชาวอยุธยาคนอื่น ๆ พม่าจัดสรรที่อยู่ให้
รอบ ๆ เมือง เช่น ช่างทำทอง ช่างทำไม้ ช่างทำเงิน ช่างฝีมือ โดยจะกระจัดกระจายกันอยู่ตามโซนต่าง ๆ

ขณะที่สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรทรงอยู่ที่พม่าได้ทรงจำวัด 2 วัด คือ วัดมะเดื่อ ซึ่งพระเจ้าปดุง กษัตริย์พม่าในสมัยนั้นสร้างถวาย หลังจากจำพรรษาได้ 16 ปี พระเจ้าปดุงได้มาตั้งอาณาจักรอมรปุระใหม่จึงนิมนต์ท่านเสด็จมาอยู่ที่ วัดเปาแลหรือปงแล ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรสวรรคตพระเจ้าปดุง ได้พระราชทานพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพอย่างสมพระเกียรติ ที่ สุสานลินซินกง ซึ่งเป็นภาษาสันสกฤตแปลว่า ล้านช้าง ในเมืองอมรปุระติดทะเลสาบตองตะมัน สุสานนี้เป็นสุสานของคนชาติอื่น ๆ ที่ไม่ใช่กษัตริย์หรือเชื้อพระวงศ์พม่า โดยตัวสุสานมีการจารึกไว้ว่ามีพิธีถวายพระเพลิงอย่างสมพระเกียรติ

หลังจากหมดยุคของพระเจ้าปดุงแล้ว สุสานแห่งนี้ก็กลายเป็นสถานที่รกร้างเป็นที่ทิ้งขยะ และเสื่อมโทรมลงอย่างมาก จนกระทั่งปัจจุบันรัฐบาลท้องถิ่นมัณฑะเลย์มีโครงการจะทำการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งพบว่ามีองค์สถูปที่เชื่อได้ว่าเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระเจ้าอุทุมพรตั้งอยู่ ทางคณะจึงได้ประสานติดต่อขอพบผู้ว่าการรัฐมัณฑะเลย์เพื่อทราบนโยบายการดำเนินการของโครงการก็พบว่าจะมีการพัฒนาพื้นที่จริง จึงขออนุญาตรื้อเองเพื่อค้นหาหลักฐานภายในสถูป ทางการพม่าตอบตกลง และต่อมาเดือนกันยายนปีที่แล้วรัฐบาลไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางไปประชุมระดับรัฐบาลของพม่า และขออนุญาตกับภาครัฐบาลของพม่า 2 ข้อ คือ 1.ขอให้พม่าชะลอการรื้อถอนสถูปออกไประยะหนึ่ง เพื่อให้ฝ่ายไทยได้มีการสำรวจเพิ่มเติม ในการขุดค้นพบหลักฐานโบราณคดี ที่เกี่ยวโยงกับสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ภายในองค์สถูป ซึ่งทางการพม่าอนุมัติ และขอให้ไทยดำเนินการด้วยความรวดเร็ว

2. ขอให้มีโครงการสำรวจภายในองค์เจดีย์ร่วมกันระหว่างไทยกับพม่า เพื่อหาหลักฐานภายในองค์เจดีย์ที่เชื่อว่าเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ทางพม่าจึงอนุมัติเป็นชื่อโครงการว่า ’Joint development of Thai government and Myanmar government for fact finding Archaeological of the stupa believed to be that of King Udumbara (Dok Dua)” ซึ่งมีระยะเวลาการทำงาน 1 เดือน โดยมีมาตรฐานในการปฏิบัติทุกขั้นตอน

ถึงแม้พื้นที่สุสานจะกว้างใหญ่มาก แต่เราก็ไม่ได้ขุดแบบไร้ทิศทาง เพราะตัวสถูปไม่ได้ฝังอยู่ในดินด้วยความสูงโผล่พ้นป่าหญ้ารกร้างทำให้เรารู้จุดที่จะสำรวจ รวมทั้งมีฐานเจดีย์ให้เห็น จึงเริ่มสำรวจบริเวณนั้นก่อน ชิ้นแรกที่ขุดพบคือ ชิ้นส่วนของบาตร ซึ่งเป็นบาตรพระราชทานที่พระเจ้าแผ่นดินโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิและบรรจุไว้ในเจดีย์ พม่าเรียกว่า “บาตรแก้วมรกต” ประดับประดาด้วยกระจกสีฉาบปรอท มีเส้นทอง นอกเหนือจากนี้บาตรดังกล่าวยังตั้งอยู่บนพานแก้วแว่นฟ้า ซึ่งเป็นกระจกเขียนสีลายเทวดาและลายต่าง ๆ สวยงามมาก

จากข้อสังเกตที่เชื่อว่าเป็นของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร คือ เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญของพม่าที่มาทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ไทย กล่าวถึง 3 ประเด็นสำคัญ คือข้อที่ 1 พระเถระธรรมดาไม่สามารถใช้บาตรลักษณะนี้ตั้งอยู่บนพานแก้วแว่นฟ้าได้ ต้องเป็นของที่พระราชทานเท่านั้น ข้อที่ 2 เจ้าประเทศราชที่บรรจุพระศพหรือบรรจุอัฐิอยู่บริเวณสุสานล้านช้างทั้งหมดมีการตรวจสอบแล้วพบว่าไม่มีหัวหน้าวงศ์ตระกูลหรือเจ้าประเทศราชที่เป็นลำดับพระมหากษัตริย์ที่เป็นระดับมหาเถระ ดังนั้นบาตรนี้จึงเป็นสมณศักดิ์ของพระเถระเท่านั้น ข้อที่ 3 สายวงศ์สกุลของชาวต่างชาติประเทศราชทั้งหลายไม่มีสายสกุลไหนที่เดินทางไปพม่าทั้งพระบรมวงศานุวงศ์มากเท่ากับสายสกุลอยุธยา

อย่างไรก็ตาม คณะเจ้าหน้าที่ไม่ได้ขุดลงไปแค่เจดีย์ 2 องค์ที่เห็นเท่านั้น ก่อนจะขุดเราต้องทราบโครงสร้างก่อนโดยเริ่มดายหญ้านำแปรงค่อย ๆ ปัด บันทึกวาดภาพ วัดขนาดและวิเคราะห์ร่วมกันกับนักวิชาการพม่า เราพบต้นโพธิ์ขนาดใหญ่อายุประมาณหลายร้อยปีที่โอบอุ้มเจดีย์ทรงโกศไว้ด้วย จากนั้นค่อย ๆ เปิดหน้าดินก็เจอโครงสร้างค่อนข้างใหญ่ซึ่งคาดว่าจะเป็นวิหาร แต่ด้านบนพังไปหมดแล้ว เพราะในสมัยนั้นน่าจะใช้เครื่องไม้ เสาไม้ ซึ่งเป็นที่นิยมของพม่า ทำให้ไม้ผุพังไปตามกาลเวลา แต่พื้นเป็นอิฐยังคงอยู่ นอกจากนี้ยังเจอกำแพงแก้วและฐานเจดีย์มากมาย

เจดีย์องค์หนึ่งอยู่ตรงทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อขุดลงไปไม่ลึกมากก็เจอบาตร ตัวพานซึ่งเป็นไม้ไม่ได้อยู่แล้ว เพราะไม้อยู่ในดินโดนความชื้นปลวกก็กิน แต่กระจกอยู่ได้ตลอดและมีดินโอบอุ้มไว้ ส่วนตัวบาตรฝังไว้ในดิน ทำจากดินเผาประดับกระจก จากการศึกษาของที่นิยมทำในสมัยราชวงศ์พระเจ้าปดุงก็เป็นบาตรดินเผาเคลือบแต่ลายซึ่งประดับกระจกไม่เหมือนกับของคนอื่น เพราะเป็นบาตรที่ทำมาเพื่อพระองค์เท่าที่ทางนักวิชาการพม่าไปดูมาบอกว่าไม่เคยเจอลายที่สวยขนาดนี้ แต่รูปแบบการติดกระจก และบาตรดินเผาเคลือบเป็นสมัยนิยมก็จริง แต่ฝีมือขนาดนี้ชาวบ้านทำหรือใช้เองไม่ได้ต้องเป็นการสั่งทำเฉพาะกษัตริย์ และจากการเชิญผู้เชี่ยวชาญมาเปิดบาตรพบพระบรมอัฐิ ประกอบด้วย พระเศียร กราม และชิ้นส่วนอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก เพราะในสมัยก่อนจะใช้ไฟต่ำตอนถวายพระเพลิง จึงเหลือเศษพระอัฐิหลายชิ้น ที่สำคัญพระอัฐิทั้งหมดห่ออยู่ในผ้าเหลืองซึ่งเป็นผ้าจีวร จึงเน้นย้ำได้ว่าเป็นสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร

ต่อมาทางการพม่าประกาศว่าไม่สามารถรื้อถอนสุสานได้แล้ว เพราะเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญของเมืองอมรปุระ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีการประท้วงจากหลายฝ่ายจนเป็นข่าวอยู่เรื่อย ๆ เราจึงไปขออนุญาตที่จะปฏิสังขรณ์หรืออนุรักษ์ไว้จากซากโบราณสถานที่มีอยู่เดิม และนำสิ่งของที่ค้นพบไปบรรจุและตั้งชื่อโครงการว่า “โครงการอนุสรณ์สถานมหาเถระสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร สุสานล้านช้าง อมรปุระ” (Mahatera King Udumbara Memorial Ground) โดยการรวบรวมกลุ่มนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญของพม่าซึ่งเป็นคนเชื้อสายอยุธยามาร่วมโครงการด้วย

ทันทีที่ได้รับคำตอบอนุญาตจากพม่า ขั้นตอนต่อไปเราจะทำการอนุรักษ์บริเวณสุสานหลวงแห่งนี้ไว้ โดยเป็นโครงการที่ทำร่วมกับนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญของพม่า เพื่อให้เป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ของพม่าที่แสดงถึงความสำคัญระหว่างพระมหากษัตริย์พม่ากับพระมหากษัตริย์ไทย เป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนชาวพม่าเชื้อสายไทยที่อยู่ที่พม่า เพราะว่าอีก 2 ปีข้างหน้าเราจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โครงการนี้จึงถือเป็นโครงการดี ๆ ที่พม่าเห็นชอบด้วย

อีกไม่นานเราจะได้เห็นอุทยานประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นพื้นที่โบราณสถาน ที่เป็นอนุสรณ์สถานที่สำคัญของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร กษัตริย์ไทยองค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยาตั้งเด่นตระหง่านอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่าเพื่อให้ชาวไทย ชาวพม่า และชาวไทยเชื้อสายพม่าได้ร่วมกันรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน เพราะขณะที่อยู่ที่พม่า พระองค์ทรงเป็นมิ่งขวัญของชาวไทยกว่าหนึ่งแสนคน หากคนไทยมีโอกาสเดินทางไปสามารถเดินทางไปสักการะได้ .

ชมรูปเพิ่มเติมได้ตามลิงก์ครับ




ผู้ตั้งกระทู้ หมาป่าดำ (mistiest-at-hotmail-dot-com) กระทู้ตั้งโดยสมาชิก โพสต์และแสดงความเห็นเฉพาะสมาชิกเท่านั้น :: วันที่ลงประกาศ 2013-07-09 13:45:16 IP : 171.4.151.182


Copyright © 2010 All Rights Reserved.