dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา ๔ - เริ่มธนบุรีสมัย

 

 อยุธยายศล่มแล้ว   ลอยสวรรค์ ลงฤา ๔

เริ่มธนบุรีสมัย 

สถานการณ์เดิม

 

 เจ้าตากลงมาตั้งที่เมืองธนบุรีทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์    ณ วันพุธ  เดือนอ้าย  แรม ๔ ค่ำ  จุลศักราช  ๑๑๓๐  ปีชวด  สัมฤทธิศก     ตรงกับวันที่  ๒๘  ธันวาคม  พ.ศ.๒๓๑๑     ทรงพระนาม  พระศรีสรรเพชญ์ หรือ สมเด็จพระบรมราชาที่ ๔        

ทรงพระนาม

 

 

 

 

พระศรีสรรเพชร  สมเด็จบรมธรรมิกราชาธิราช  รามาธิบดี  บรมจักรพรรดิ

 บวรราชาบดินทร์  หริหรินทร์ธาดาธิบดี  ศรีสุวิบูลย์   คุณรุจิตร  ฤทธิราเมศวร

บรมธรรมิกราชเดโชชัย  พรหมเทพาดิเทพ  ตรีภูวนาธิเบศร์  โลกเชษฏวิสุทธิ์

มกุฏประเทศคตา  มหาพุทธังกูร  บรมนาถบพิตร

พระพุทธเจ้าอยู่หัว  ณ กรุงเทพมหานคร  บวรทวาราวดีศรีอยุธยา

มหาดิลกนพรัฐ  ราชธานีบุรีรมย์

อุดมพระราชนิเวศมหาสถาม

 

แต่ประชาชนมักจะเรียกขานพระนามของพระองค์อย่างคุ้นเคย และติดปากว่า

สมเด็จพระเจ้าตากสิน  หรือ  สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

 

          พระยามหานุภาพ จินตกวี ผู้หนึ่งในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อคราวโปรดให้ไปในกองราชทูตเจริญพระราชไมตรีครั้งสำคัญกับประเทศจีน ในปีฉลู พ.ศ.๒๓๒๔ นั้น ได้ประพันธ์กระแสพระราชปรารภในการสร้างพระมหานครไว้ในกลอนนิราสว่าดังนี้

          แรกราชดำริตริตรองถวิล                             จะเหยียบพื้นปัถพินให้งามสนาม 
       จะสร้างสรรค์ดั่งสวรรค์ที่เรืองนาม               จึงจะงามมงกุฎอยุธยา

  จาก  The Last Year Of KING TAKSIN THE GREAT
 นิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๒๔
 

 

 

ธนบุรี  สมัยก่อร่างสร้างกรุง

        ในยุคก่อร่างสร้างอาณาจักรกรุงธนบุรีนั้น   น่าจะเต็มไปด้วยความยากลำบากนานัปการ   พลังอำนาจของชาติถูกทำลายย่อยับไป  แม้จะทรง "กู้กรุงไกรเกรียงยศ" ได้แต่พลังอำนาจทั้งหลายที่สูญเสียไป  ไม่สามารถกลับคืนได้เพียงชั่วข้ามคืน   เราลองพิจารณาพลังอำนาจของชาติที่หลงเหลืออยู่ในยุคนั้น  นะครับ

 

พลังอำนาจทางการเมือง

               การเมืองภายในประเทศ      มีผู้ตั้งตนเป็นใหญ่ในพื้นที่ครอบครองของตน  มาตั้งแต่ก่อนกรุงแตก  ตามที่ได้เคยกล่าวไว ในตอน อยุธยาวสาน แล้ว

               การเมืองระหว่างประเทศ    ในระยะแรก  ยังไม่เรียบร้อย  เนื่องจาพเจ้านายชี้นสูงของราชวงศ์บ้านพลูหลวง    คือ  "เจ้าศรีสังข์" โอรสเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์   เมื่อกรุงแตกได้หนีไปอยู่กับพม่าก่อน   แล้วหนีพม่าเข้าป่า   ออกจากป่าไปอยู่ที่บางปลาสร้อย    เมื่อทรงทราบว่าเจ้าตากส่งเรือมารับก็หวาดกลัว   อาศัยพวกคริสต์ให้พาหนีไปเมืองเขมร     พระเจ้ากรุงกัมพูชาทรงดีพระทัยมาก  สร้างวังไม้ใผ่ให้เป็นที่ประทับ  ด้วยหวังเอาเจ้าศรีสังข์เป็นประโยชน์ทางการเมืองต่อไป


          อีกพระองค์หนึ่ง คือ "เจ้าจุ้ย" หนีไปอยู่เมืองพุทไธมาศ  หรือ ฮาเตียน (ญวน) หรือ เปียม (เขมร)  ซึ่งเป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา  พระยาราชาเศรษฐีเป็นเจ้าเมือง   ตำแหน่งในทำเนียบกัมพูชาเรียก "สมเด็จพระโสร์ทศ"  แต่ก็ขึ้นกับญวนด้วย  ญวนเรียก มักเทียนดู  หรือ  ม่อเทียนซื่อ / ม่อซื่อหลิน  ในภาษาจีน    และพยายามแผ่อิทธิพลเข้าไปในเขมรด้วย  เพราะเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าแล้ว


        (พระยาราชาเศรษฐีนี้   เจ้าตากได้มีหนังสือขอให้ร่วมกันต่อสู้ช่วยกรุงศรีอยุธยา เมื่อตั้งตัวได้ที่เมืองระยองแล้ว ก็ได้รับตอบว่า  ขอให้พ้นฤดูมรสุมเสียก่อน  แต่ก็ไม่ได้ช่วยเหลืออะไร ) 

 

           พระยาราชาเศรษฐี/ม่อซื่อหลิน   มีหนังสือในนามเจ้าจุ้ยไปถึงจักรพรรดิเฉินหลง พระเจ้ากรุงจีน กล่าวโทษสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี  ว่าพยายามตั้งตนเป็นกษัตริย์  ไม่นับถือราชวงศ์บ้านพลูหลวง    พระเจ้ากรุงกัมพูชาสัญญาว่าจะช่วยตน (เจ้าจุ้ย) และเจ้าศรีสังข์เอากรุงศรีอยุธยาคืน   


          เมื่อตั้งกรุงธนบุรีได้แล้ว  ทรงแจ้งไปยังพระยาราชาเศรษฐีขอให้ส่งตัวเจ้าจุ้ยมาให้  แต่พระยาราชาเศรษฐีกลับส่งบุตรเขยคุมกองเรือทำเป็นว่าส่งข้าวมาถวาย  และจะคอยจับพระองค์    แต่ข่าวรั่วเสียก่อน   จึงทรงนำทัพเรือตีกองเรือเมืองพุทไธมาศแตกกลับไป

กรุงธนบุรีกับเมืองพุทไธมาศจึงเป็นอริกันอย่างเปิดเผย

 

 

พลังอำนาจทางเศรษฐกิจ

          ตั้งแต่ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาราษฎรไม่สามารถทำไร่นาได้เป็นปรกติเนื่องจากภัยสงคราม  อย่างน้อย   ๒  ปีติดต่อ   และเมื่อเสียกรุง  ราษฎรถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยจำนวนมาก    บ้างก็หลบหนีภัยพม่าเข้าป่า    ระบบเศรษฐกิจของกรุงศรีอยุธยาถูกทำลายลงแทบจะเรียกได้ว่าอย่างสิ้นเชิง      เกิดภาวะข้าวยากหมากแพงทั่วไป    อดหยากยากแค้น   ขาดแคลนอาหาร และ เครื่องอุปโภคบริโภค ต่างๆ   เป็นปัญหาเร่งด่วนที่เผชิญอยู่

          เมื่อทรงกู้กรุงไกรเกรียงยศ   และ  สร้างอาณาจักรกรุงธนบุรีนั้น   ผู้คนก็เริ่มอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงธนบุรี   และทรงเกลี้ยกล่อมชักชวนผู้คนที่กระจัดกระจายอยู้ให้เข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงธนบุรีเพื่อจะได้เป็นกำลังในการสร้างชาติต่อไป    แต่เมื่อผู้คนเข้ามาอยู่ในเมืองมากขึ้น  ก็ยิ่งขาดแคลนมากขึ้น    

          พระองค์ทรงแก้ปัญหาเร่งด่วนนี้ด้วยการสละพระราชทรัพย์  ให้การซื้อข้าวสาร  อาหาร  เสื้อผ้า แจกจ่ายราษฎร   นอกจากนี้   ยังโปรดให้ทำนานอกฤดูกาลอีกเพื่อให้ได้ข้าวเพิ่มขึ้น ให้เพียงพอต่อความต้องการ  และสะสมไว้เป็นเสบียงในกองทัพกรณีต้องทำสงครามเมื่อพม่า มารุกรานอีก

         พระราชทรัพย์ที่ทรงนำมาจับจ่าย ในการซื้อข้าวสารเสื้อผ้า พระราชทานแก่บรรดาข้าราชการและประชาชนที่กำลังเดือดร้อนอย่างหนักอยู่ในเวลานั้น  สมเด็จพระปิยมหาราชทรงสันนิษฐานว่า “ซื้อข้าวเลี้ยงคนโซ คงจะได้เงินจากค่ายโพธิ์สามต้น”

 

พลังอำนาจทางสังคมจิตวิทยา

                 อาณาประชาราษฎรทั่วไปต่างตื่นตระหนก  เสียขวัญ  และกำลังใจ เป็นอย่างยิ่ง      แต่เมื่อได้เปลี่ยนถิ่นที่อยู่ใหม่   กาลเวลา  และการที่ต้องเร่งก่อร่างสร้างกรุง  ก็เป็นผลดีในด้านจิตใจได้ระดับหนึ่ง      

 

พลังอำนาจทางทหาร

               ในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อสิ้นรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ  พ.ศ.๒๒๗๕  มีการช่วงชิงราชบัลลังก์ระหว่าง  "เจ้าฟ้าพร"  พระอนุชา  กับ    เจ้าฟ้าอภัย และ เจ้าฟ้าปรเมศร์   พระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ  (ในที่สุด "เจ้าฟ้าพร" ได้ราชสมบัติทรงพระนามว่า "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ"  เนื่องจากทหาร กลายเป็นทหารของบุคคล  และใช้ช่วงชิงอำนาจ ประหัตประหารกันเอง   เป็นเหตุให้ต้องสูญเสียกำลังพล  และผู้คนไม่อยากเป็นทหาร  มีการจ้างให้ผู้อื่นเป็นทหารแทนตน   พลังอำนาจทางทหารของกรุงศรีอยุธยา จึงอ่อนแอมากในช่วงปลาย

          ในธนบุรีสมัย     พลังอำนาจทางทหาร  ด้านการฝึก  ขวัญ  กำลังใจของกำลังพลค่อยๆ พัฒนาขึ้นตามองค์จอมทัพ  แต่ด้านการจัดหน่วย    จำนวนกำลังพล  และอาวุธยุทโธปกรณ์  จำเป็นต้องพัฒนาไปตามลำดับ

          แต่สิ่งที่ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์คือ   "หลักนิยม"  ซึ่งเปลี่ยนจากการตั้งมั่นอยู่ในกรุง  เป็นการรุกเข้าหา และทำลายข้าศึกเสียแต่ไกลกรุง  เช่นเดียวกับหลักนิยมของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช   

          ในด้านการสนับสนุนการรบ    ได้จัดให้รวมการปืนใหญ่ไว้ในมือแม่ทัพเพื่อจัดสบับสนุนแก่ด้านที่จำเป็นตามความเร่งด่วนในการรบ    (น่าจะเป็นเพราะมีปืนใหญ่ในกองทัพจำนวนไม่มากพอที่จะให้ประจำแต่ละหน่วยตามต้องการได้   ซึ่งการจัดปืนใหญ่ไว้ในมือแม่ทัพผู้บัญชาการให้มากที่สุดนี้  เป็นหลักนิยมในการจัดปืนใหญ่ทำการรบ ที่ทุกประเทศยังคงถือปฏิบัติตราบในยุคปัจจุบัน)

          นอกจากนี้    ยังได้มีการกำหนดให้มีที่ตั้ง คลังสำหรับส่งกำลังเสบียง และอาวุธเพิ่มเติมให้กองทัพซึ่งทำการรบในแนวหน้า    คล้ายการกำหนดเขตหน้า  เขตหลัง  ในปัจจุบัน

          พลังอำนาจทางทหารดูเหมือนจะเป็นพลังอำนาจที่ปกป้องคุ้มครองให้พลังอำนาจอื่นๆ ค่อยๆ ฟื้นฟู และแข็งแกร่งขึ้นตามลำดับ    . . .  เราลองดูการใช้พลังอำนาจทางทหารของกรุงธนบุรีกัน  นะครับ

 

สงครามครั้งที่ ๑     รบพม่าที่บางกุ้ง   ปีกุน  พ.ศ.๒๓๑๐  

          นับเป็นการประเดิมศึกในสมัยกรุงธนบุรี   (ได้กล่าวไว้ใน "กู้กรุงไกรเกรียงยศ")

 

การสร้างความมั่นคงภายในพระราชอาณาจักร

ทางเหนือ - พิษณุโลก

         ฤดูฝน  ปีชวด  พ.ศ.๒๓๑๑    ว่างศึกพม่า    สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระดำริที่จะสร้างความมั่นคงภายในพระราชอาณาจักรด้วยการปราบเมืองพิษณุโลก    สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จยกทัพไปทางเรือ    ฝ่ายเจ้าพระยาพิษณุโลกทราบข่าวก่อน  จึงให้หลวงโกษา  (ยัง)  คุมกำลังมาตั้งรับที่ตำบลเกยชัย  แขวงเมืองนครสวรรค์  อยู่เหนือปากน้ำโพ ไปไม่มากนัก    ได้รบพุ่งกันเป็นสามารถ    ฝ่ายพิษณุโลกยิงปืนมาอยู่ที่พระชงฆ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี  จึงต้องเลิกทัพกลับพระนคร

          เจ้าพระยาพิษณุโลกทราบข่าวว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีต้องทรงถอยทัพกลับเพราะต้องปืน  ก็กระหยิ่มใจว่าเป็นบุญบารมีของตน  จึงตั้งพิธีราชาภิเษกตั้งตัวเป็นพระมหากษัตริย์   ทำพิธีแล้ว  ๗  วัน เกิดฝีขึ้นในลำคอถึงแก่ความตาย    พระอินทร์อากรน้องชายครองเมืองแทน  แต่ไม่กล้าตั้งตัวเป็นเจ้า   ประชาก็ไม่นิยม   เมืองพิษณุโลกอ่อนแอลง   

          เจ้าพระฝางได้ข่าวความอ่อนแอของเมืองพิษณุโลก   จึงยกไพร่พลมาล้มเมืองพิษณุโลกไว้  ล้อมอยู่ได้สองเดือน    เนื่องจากประชาไม่นิยม  ไม่ช่วยกันต่อสู้  ซ้ำยังเปิดประตูเมืองรับไพร่พลของเจ้าพระฝางให่เข้าเมืองได้เสียอีก    เจ้าพระฝางได้เมืองพิษณุโลก  จับพระอินทร์อากรมาประหารชีวิต   รวบรวมทรัพย์สมบัติ  และศาสตราวุธในเมืองพิษณุโลก กลับไปสวางคบุรี    ชาวเมืองพิจิตร พิษณุโลกที่หนีได้  ต่างก็พาครอบครัวลงมาเข้ากับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นจำนวนมาก

 เจ้าพิษณุโลกจึงสลายไปด้วยประการ  ฉะนี้

 

ทางอิสาน - นครราชสีมา

          สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีรักษาพระองค์หายเป็นปรกติแล้ว  จึงเตรียมไปสร้างความมั่นคงภายในทางเมืองนครราชสีมา

          คงยังจำกรมหมื่นเทพพิพิธได้อยู่นะครับ . . . กรมหมื่นเทพพิพิธพระโอรสสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ   แต่คิดร้ายต่อพระเจ้าเอกทัศ  จึงถูกส่งไปอยู่ลังกา    ได้ข่าวว่าเสียกรุง  ครั้งสงครามอลองพญา   จึงกลับมากรุงศรีอยุธยา   มาถึงเมื่อพม่าเลิกทัพกลับไปแล้ว     พระเจ้าเอกทัศจึงส่งไปไว้ที่เมืองมะริด   เมื่อพม่าตีเมืองมะริด  ก็หนีไปเมืองเพชรบุรี    จึงถูกคุมไปไว้ที่เมืองจันทบุรี    ว่าจะมาช่วยกู้ชาติ  ได้รวบรวมผู้คนตั้งกองกำลังมาตั้งอยู่ที่เมืองปราจีนบุรี  แต่กรุง ฯ  ยังไม่แตก     กองกำลังกรมหมื่นเทพพิพิธจึงถูกพม่าตีแตกเสียก่อน       กรมหมื่นเทพพิพิธจึงพาครอบครัวหนีไปทางเมืองนครราชสีมา    ไปตั้งอยู่ที่ด่านโคกพระยา   เกลี้ยกล่อมพระยานครราชสีมาให้ร่วมมือ  แต่พระยานครราชสีมาไม่ร่วมด้วย  ซ้ำจะจับตัวส่งเข้ากรุงศรีอยุธยา    จึงสังหารพระยานครราชสีมาแล้วชิงเอาเมือง    นั่งเมืองได้สักสี่ซ้าห้าวัน  หลวงแพ่งน้องพระยานครราชสีมานำกำลังมาจากเมืองพิมาย  ตีเอาเมืองนครราชสีมาคืนได้  และจับ กรมหมื่น ฯ และครอบครัวกับบริวารทั้งหลาย    ทีแรกหลวงแพ่งจะประหารชีวิตทั้งหมด    แต่พระพิมายขอชีวิตกรมหมื่นฯ ไว้ และขอนำไปคุมไว้ที่เมืองพิมาย   หลวงแพ่งนั่งเมืองนครราชสีมา ต่อไป

           ครั้นเสียกรุงฯ แล้ว  พระพิมายจึงยกกรมหมื่นเทพพิพิธขึ้นเป็นใหญ่  กรมหมื่นเทพพิพิธก็ตั้งพระพิมายเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์  เป็นผู้สำเร็จราชการบ้านเมืองทั้งสิ้น    ฝ่ายหลวงแพ่งก็คิดเป็นใหญ่    แต่ต่อมาก็ถูกพระพิมาย  (เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์)  กำจัดเสีย    กรมหมื่นเทพพิพิธจึงนับว่าได้เป็นใหญ่ในเมืองนครราชสีมา  แต่คงตั้งอยู่ที่เมืองพิมาย    ผู้คนส่วนมากจีงเรียกกันทั่วไปว่า "เจ้าพิมาย"

          เมื่อสิ้นฤดูฝน  ปีชวด พ.ศ.๒๓๑๑    ทรงจัดกองทัพยกไปนครราชสีมาเป็นสองกอง  สองทาง  คือ พระมหามนตรี (น้อง) และพระราชวรินทร์ (พี่) คุมกองทัพน้อยยกไปทางหนึ่ง    พระองค์ทรงคุมกองทัพหลวงเสด็จยกไปอีกทางหนึ่ง    สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า  กองทัพน้อยน่าจะยกไปทางเมืองนครนายก  ขึ้นเขาไปทางช่องเรือแตก  ด้านทิศใต้เมืองนครราชสีมา  และกองทัพหลวงไปทางเมืองสระบุรีขึ้นเขาทางช่องพระยาไฟ  ด้านทิศตะวันตกเมืองนครราชสีมา

          ทางฝ่ายเมืองนครราชสีมาเมื่อทราบว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียกทัพขึ้นมา  เห็นว่ามีกำลังน้อยไม่พอรักษาเมืองนครราชสีมา    เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ และบุตรชายคนโต จึงจัดกำลังตั้งค่ายสกัดที่ด่านจอหอ  ด้านเหนือเมือง   และมีมองย่า ปลัดทัพพม่าของสุกี้ซึ่งหนีมาจากค่ายโพธิ์สามต้นร่วมอยู่ด้วย   และให้พระยาวรวงศาธิราช  บุตรชายคนเล็กนำกำลังมาตั้งที่ด่านกระโทกข้างใต้เมืองนครราชสีมา    

          กองทัพหลวงเข้าตีค่ายที่ด่านจอหอ  ได้รบพุ่งกันเป็นสามารถ    กองทัพกรุงธนบุรียึดค่ายได้   สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงทรงให้ประหารชีวิตเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ผู้เป็นหัวหน้า  บุตรชายคนโต  และมองย่า  ส่วนทางกองทัพน้อยของพระมหามนตรี และพระราชวรินทร์ ได้เข้าตีค่ายทหารเมืองนครราชสีมาที่ด่านกระโทก  รบกันอยู่หลายวันจึงตีได้สำเร็จ    แต่พระยาวรวงศาธิราช หนีไปอยู่ที่เมืองเสียมราฐ  อาณาจักรกัมพูชา

          กรมหมื่นเทพพิพิธ  หรือ "เจ้าพิมาย" ทราบข่าวความพ่ายแพ้ของฝ่ายตน   จึงรีบพาครอบครัวหนี  ตั้งใจจะไปอาศัยพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต  (เวียงจันทน์)   ขุนชนะกรมการเมืองนครราชสีมา   เป็นฝ่ายพระยาเจ้าเมืองเดิมที่ถูกกรมหมื่นฯ สังหารรับอาสานำกำลังตามไปจับตัวมาถวายสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ๆ  จึงทรงตั้งขุนชนะให้เป็นพระยานครราชสีมา     แล้วโปรดให้เลิกทัพกลับกรุงธนบุรี    ปูนบำเหน็จความชอบแก่ทหารกล้าถ้วนทั่วกัน  พระราชวรินทร์ ผู้พี่ ได้เป็น  พระยาอภัยรณฤทธิ์    พระมหามนตรี  ผู้น้อง  ได้เป็น พระยาอนุชิตราชา


ปีชวด พ.ศ.๒๓๑๑   ก็นับว่าได้จัดการเรื่องการเมืองทางอิสานได้เรียบร้อยแล้ว

 

 ทางใต้ - นครศรีธรรมราช         

           ปีฉลู  พ.ศ.๒๓๑๒     สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเตรียมจัดการเรื่องการเมืองทางใต้    แต่มีใบบอกมาจากเมืองจันทบุรี ว่า  ญวนยกกองทัพทางเรือมาที่เมืองบันทายมาศ  คาดว่าจะมาตีกรุงธนบุรี   สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงให้เตรียมรักษาปากน้ำทั้ง   ๔ ทาง  และให้พระยาพิชัยนายทหารจีนข้าหลวงเดิม  เลื่อนขึ้นเป็นพระยาโกษาธิบดี  มีหน้าที่รักษาปากน้ำ       แต่ต่อมาได้ทราบความว่า  ที่ญวนยกมาครั้งนี้มิใช่มาตีเมืองไทย  แต่มาด้วยเหตุภายในของกัมพูชา    เนื่องจากนักองโนน  (พระรามราชา) กับ  นักองตน  (พระนารายณ์ราชา) พระเจ้ากรุงกัมพูชา  ชิงราชสมบัติกัน     พระนารายณ์ราชาขอกำลังญวนมาช่วย  นักองโนนสู้ไม่ได้  จึงหนีมาพึ่งพระบารมี ขอให้ช่วยในฐานะที่เป็นข้าขอบขันฑสีมาเหมือนครั้งกรุงศรีอยุธยา  

         ครั้นกองทัพที่จะยกไปจัดระเบียบการเมืองที่นครศรีธรรมราชพร้อม แล้ว  จึงโปรดให้เจ้าพระยาจักรี (แขก - หลวงนายศักดิ์ครั้งกรุงเก่า) เป็นแม่ทัพใหญ่   พระยายมราช  พระยาศรีพิพัฒน์  พระยาเพชรบุรี  เป็นนายกอง  นำกองทัพ  จำนวน  ๕ พัน  ยกไป   ในเดือน  ๕  ปีฉลู  พ.ศ.๒๓๑๒ 

 

ด้านเขมร

           สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงมีศุภอักษรไปยังสมเด็จพระนารายณ์ราชาว่า   กรุงศรีอยุธยาได้เป็นปกติเช่นเดิมแล้ว ให้ทางกรุงกัมพูชา  ส่งต้นไม้ทอง ต้นไม้เงิน กับเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวาย ตามราชประเพณีดังแต่ก่อน

           พระนารายณ์ราชาตอบมาว่า  พระเจ้ากรุงธนบุรีมิใช่เชื้อพระวงศ์ของพระมหากษัตริย์ซึ่งครองกรุงศรีอยุธยา     จึงไม่ยอมถวายต้นไม้ทองเงิน

          สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี    จึงมีรับสั่งให้จัดกำลัง ยกไปเมืองเขมร โดยแบ่งออกเป็นสองกองทัพ   ให้พระยาอภัยรณฤทธิ์ กับ พระยาอนุชิตราชา   คุมกำลัง   ๒,๐๐๐  คน  ยกไปจากเมืองนครราชสีมาลงทางช่องเสม็ดไปตีเมืองเสียมราฐทางหนึ่ง      และให้พระยาโกษาธิบดีคุมพล  ๒,๐๐๐   ยกไปทางเมืองปราจีนบุรี  เพื่อไปตีเมืองพระตะบองอีกทางหนึ่ง  ทั้งสองเมืองนี้อยู่คนละฝั่งของทะเลสาบเขมร  และสามารถเดินทางต่อไปถึงกรุงกัมพูชาได้ทั้งสองทาง 

          การทำศึกครั้งนี้ จะเห็นว่ากำลังที่ยกไปไม่มาก   ด้วยมีดำริว่าเมื่อ ยึดเมืองทั้งสองได้แล้วก็จะดูทีท่าของสมเด็จพระนารายณ์ราชา ว่าจะยอมอ่อนน้อมหรือไม่ ถ้าไม่ยอมอ่อนน้อม    ก็รอกองทัพหลวง ที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจะได้เสด็จยกตามลงไปตีกรุงกัมพูชาในฤดูแล้ง     เนื่องจากเวลานั้น ต้องรอกองทัพที่ส่งไปจัดระเบียบการเมืองที่นครศรีธรรมราช กลับมาเสียก่อน 

          ดังนั้น พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงต้องรอผลการปราบปรามชุมนุมเจ้านครอยู่ที่กรุงธนบุรี  ก่อนที่จะให้มีการปฏิบัติการขั้นต่อไป

           พระยาอภัยรณฤทธิ์ กับ พระยาอนุชิตราชา  ตีได้เมืองเสียมราฐ ตั้งแต่ค้นฤดูฝน    พระนารายณ์ราชาให้ออกญากลาโหมคุมกองทัพมาจะตีเอาคืน แต่กลับถูกกองทัพไทยตีแตกพ่ายยับเยินจนออกญากลาโหม ต้องตายในที่รบ    กองทัพไทยคงตั้งคอยองค์จอมทัพ  อยู่ที่เมืองเสียมราฐนั้น

 

ด้านนครศรีธรรมราช

         กองทัพที่ยกไปเมืองนครศรีธรรมราชนั้น    ปรากฏว่า  แม่ทัพใหญ่ และนายกองชั้นรองไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน    เมื่อข้ามแม่น้ำหลวง (ตาปี)  พบทหารเมืองนครศรีธรรมราชตั้งค่ายสกัดอยู่  กองทัพกรุงธนบุรีจึงเข้าโจมตี  แต่ไม่พรักพร้อมกัน    พระยาศรีพิพัฒน์  พระยาเพชรบุรี  ตายในที่รบ    บุตรเจ้าพระยาจักรีถูกจับได้    กองทัพกรุงธนบุรี  จึงต้องถอยมาตั้งที่เมืองไชยา

          เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบว่า   เจ้าพระยาจักรีถอยทัพกลับมาตั้งอยู่ที่เมืองไชยา  ทรงพระดำริเห็นว่าลำพังกองทัพ เจ้าพระยาจักรีคงจะตีเอาเมืองนครศรีธรรมราชไม่ได้  และมีโอกาสที่จะตีเมืองนครศรีธรรมราชสำเร็จได้ในฤดูฝน     และเมื่อถึงฤดูแล้ง   จะได้เสด็จกรีธาทัพไปกรุงกัมพูชา ต่อไป     ดังนั้น  เมื่อทราบว่าทางกองทัพที่ยกไปตีกรุงกัมพูชา ยึดได้เมืองเสียมราฐ  และพระตะบองได้แล้ว   พระองค์จึงเสด็จทางเรือนำกองทัพหลวง  จำนวน  ๑๐,๐๐๐    จากกรุงธนบุรีลงไปเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อ เดือน   ๘  ปีฉลู   พ.ศ.๒๓๑๒       เมื่อถึงเมืองไชยาแล้ว  จึงปรับกองทัพให้ยกไปทั้งทางบก  และทางน้ำ     กองทัพหลวงยกไปถึงปากพญา (ปากน้ำเมืองนครศรีธรรมราช) เมื่อ  เดือน  ๑๐   แรม  ๖  ค่ำ      ฝ่ายเจ้านครศรีธรรมราชทราบก็ตกใจ  สั่งให้อุปราชจันทร์รวบรวมคนตั้งค่ายเตรียมต่อสู้ที่ท่าโพธิ์  ห่างจากเมืองนคร ฯ  ประมาณ  ๓๐  เส้น (ประมาณ  ๑ - ๑.๕  กม.)    กองทัพหลวงตีค่ายท่าโพธิ์แตก จับอุปราชจันทร์ได้     เจ้านคร จึงพาญาติวงศ์ทิ้งเมืองหนีไปเมืองสงขลา

 

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงได้เมืองนครศรีธรรมราชโดยง่าย

 

          ฝ่ายกองทัพพระยาจักรีซึ่งยกไปทางบก  ถูกต้านทานบ้างเล็กน้อย    ไปถึงกรุงธนบุรีหลังสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้เมืองนครศรีธรรมราชแล้ว  ๘  วัน    จึงโปรดให้พระยาจักรี กับพระยาพิชัยราชา  คุมกองทัพบก ทัพเรือไปตามจับเจ้านคร  เป็นการไถ่โทษ

          เมื่อพระยาจักรี กับพระยาพิชัยราชานำกองทัพออกไปแล้ว    สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ยกกองทัพออกจากเมืองนครฯ เมื่อ  วันศุกร์   เดือน  ๑๑  ขึ้น  ๖  ค่ำ  ไปตั้งที่เมืองสงขลา

        เจ้านครซึ่งหนึไปเมืองสงขลานั้นพระยาพัทลุง กับหลวงสงขลา  ช่วยเหลือพาหนีต่อไปถึงเมืองเทพา  และไปอาศัยพระยาปัตตานีศรีสุลต่าน     พระยาจักรีมีหนังสือถึงพระยาปัตตานี ให้ส่งตัวเจ้านครกับพรรคพวกมาถวาย    พระยาปัตตานีศรีสุลต่านจึงจับเจ้านคร  เจ้าพัด บุตรเขย  เจ้ากลาง  พร้อมทั้ง พระยาพัทลุงและหลวงสงขลา  กับสมัตรพรรดพวก  ส่งให้กองทัพพระยาจักรี ๆ  ก็นำมาเฝ้าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี  ที่เมืองสงขลา

           สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงจัดการเมืองสงขลา  และเมืองพัทลุงเรียบร้อย  ก็เสด็จกลับถึงเมืองนครศรีธรรมราช   เมื่อ  วันศุกร์  เดือน  ๑๒   ขึ้น  ๒  ค่ำ   เนื่องจากเป็นฤดูมรสุม    จึงต้องทรงยั้งทัพอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราชจนถึง เดือน   ๔   ปีฉลู   (ศักราชใหม่ เริ่มตั้งแต่  เดือน  ๕)

          ระหว่างยั้งทัพอยู่ ได้ทรงให้กองทัพปฏิสังขรณ์พระอาราม ต่างๆ เช่น วัดพระมหาธาตุ   เป็นต้น

          ครั้นสิ้นฤดูมรสุมแล้ว   ทรงตั้งเจ้านราสุริยวงศ์  หลานเธอให้ครองเมืองนครศรีธรรมราข

 การเมืองภายในพระราชอาณาจักรทางใต้จึงเรียบร้อย   ด้วยประการ ฉะนี้

 

การต่างประเทศ


ด้านจีน

            พ.ศ.๒๓๑๒    ราชสำนักชิงเริ่มรู้สึกถึงเบื้องหลังรายงานที่ไม่เป็นความจริงของม่อซื่อหลิน และไม่ให้ความเชื่อถือ   ดังนั้น    พระเจ้ากรุงจีนจึงเริ่มยอมรับว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี  คือพระมหากษัตริย์ที่แท้จริงของพระราขอาณาจักรไทย       

 

ด้านเขมร

          พระยาอภัยรณฤทธิ์ กับ พระยาอนุชิตราชา     ซึ่งตีได้เมืองเสียมราฐและตั้งคอยองค์จอมทัพ  อยู่ที่เมืองเสียมราฐนั้น    ได้ข่าว(ลือ) ว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีสิ้นพระชนม์ที่เมืองนครศรีธรรมราช  ก็ตกใจ  เกรงว่าจะเกิดจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรี    จึงเลิกทัพกลับมาทางเมืองนครราชสีมา     ทางด้านพระยาโกษาธิบดี ซึ่งตั้งทัพอยู่ที่พระตะบอง  เกรงว่าจะเป็นอันตรายแก่กองทัพ  จึงรายงานเข้ากรุงธนบุรีว่า  พระยาทั้งสอง หนีตาทัพ  และก็ถอนทัพกลับทางเมืองปราจีนบุรี

 

เจ้าพระฝาง

           เดือน  ๖  ปีขาล  พ.ศ.๒๓๑๓    เจ้าพระฝางส่งกองกำลังลงมาถึงเมืองอุทัยธานี  และเมืองชัยนาท    สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงรับสั่งให้เตรียมกองทัพไปจัดระเบียบทางเมืองเหนือ  ก็พอดี เจ้าเมืองตรังกานู ก็ถวายปืนคาบศิลา  จำนวน  ๒,๒๐๐  กระบอก  

          สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จนำทัพหลวงโดยกระบวนเรือ  จากกรุงธนบุรี  เมื่อ  วันเสาร์  เดือน  ๘  แรม  ๑๔  ค่ำ     พร้อมรี้พลสกลไกร  ๑๒,๐๐๐    พระยายมราช  (พระยาอนุชิตราชา  ได้เลื่อนแทนพระยายมราชท่านเดิมซึ่งถึงแก่อสัญกรรม) คุมกองทัพที่  ๒  จำนวน  ๕,๐๐๐  เดินทัพทางตะวันออกลำน้ำแควใหญ่   และพระยาพิชัยราชา  คุมกองทัพที่  ๓  จำนวน  ๕,๐๐๐  เดินทัพทางตะวันตกของลำน้ำ

 

 

แนวกำแพงเมืองพิษณุโลก  บริเวณพระราชวังจันทน์  (โรงเรียนพิษณูโลกพิทยาคม เดิม)

 

 

          ณ  วันเสาร์  เดือน  ๙  แรม  ๒  ค่ำ   ประทับ  ณ  ปากน้ำพิง     ฝ่ายพระฝาง  เมื่อทราบเหตุ  ก็ให้หลวงโกศา  (ยัง) เมืองพิษณุโลก   ลงมาคั้งรับอยู่   ณ  เมืองพิษณุโลก    จึงโปรดให้กองหน้ายกเข้าตีเมืองพิษณุโลก  และก็เข้าเมืองได้ในคืนนั้น

 

 

 

 

   

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

       ครั้น  วันจันทร์  แรม  ๔  ค่ำ   เวลาเช้า    จึงเสด็จเข้าเมืองพิษณุโลก  ทรงนมัสการพระพุทธชินราช  พระพุทธชินสีห์   แล้วประทับแรมอยู่ในเมืองเมื่อกองทัพพระยายมราชมาถึง   ให้รีบไปติดเมืองสวางคบุรี  และอีกสองวัน  กองทัพพระยาพิชัยราชามาถึง ก็โปรดให้รีบยกขึ้นไปให้ทันกองทัพพระยายมราช     กองทัพทั้งสองเมื่อถึงเมืองสวางคบุรี  ก็ให้ล้อมเมืองไว้   ทางในเมืองก็เกณฑ์ผู้คนขึ้นรักษาหน้าที่รอบเมือง  ยิงปืนใหญ่น้อยเพื่อป้องกันเมือง    ระหว่างนี้  ช้างพังเชือกหนึ่งได้ตกลูกเป็นช้างเผือก

            สภาพเมืองสวางคบุรี ที่มั่นเจ้าพระฝาง ไม่มีกำแพง มีแต่ระเนียดไม้ขอนสักถมเชิงเทินดิน    (ปัจจุบัน คือ บ้านพระฝาง  ตำบลผาจุก  อำเภอเมืองอุตรดิตถ์)
 

 

 

  (ซ้าย)  วิหารใหญ่ สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย

(ขวา)  พระธาตุพระฝาง เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ  แต่เดิมสันนิษฐานว่าเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบสุโขทัย คาดว่าเปลี่ยนมาเป็นทรงลังกาในสมัยพระเจ้าบรมโกศ และได้บูรณะอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ ๔

 


 

 

หาดแม่น้ำน่าน หน้าวัดพระฝาง ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่  ๕

 

        ครั้นสู้รบกันได้  ๓  วัน    เจ้าพระฝางก็แตกพ่ายหนีพาสมัครพรรคพวกหนีออกจากเมืองไปทางเหนือ  ในเวลากลางคืน   และนำลูกช้างเผือกและแม่ช้างไปด้วย    กองทัพกรุงธนบุรีก็เข้าเมืองฯ ได้ 

           สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จนำทัพหลวงจากเมืองพิษณุโลก   ไปถึงเมืองสวางคบุรีประทับที่ค่ายหาดสูงซึ่งกองหน้าได้จัดสร้างถวาย    และกองทัพได้ติดตามช้างเผือกมาถวายได้


          เดือน  ๑๑  ขึ้น  ๒  ค่ำ   กรุงธนบุรีมีใบบอกขึ้นไปว่าเมืองตานีเข้ามาถวายดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง  และ  ชาวฮอลันดาที่เมืองจาร์กาตาได้ส่งปืนใหญ่มาถวาย (ขาย)  หนึ่งร้อย  กระบอก  


          (ชาวฮอลันดาได้มาถึงหมู่เกาะในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้  ตั้งแต่ พ.ศ.๒๑๔๕ (ค.ศ.๑๖๐๒) พร้อมๆ กับพ่อค้าอังกฤษ  ภายหลังพ่อค้าโปรตุเกส     ได้ตั้ง   Dutch East India Company ขึ้น และได้สถาปนา Dutch East Indies  เป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ ในพ.ศ.๒๓๔๓ /ค.ศ.๑๘๐๐)

 

 

 

 

 

(ซ้าย)  วัดพระแท่นศิลาอาศน์   เมืองศรีพนมมาศ  -  อำเภอลับแล  อุตรดิตถ์  ในปัจจุบัน 

(ขวา)    พระมหาธาตุเมืองสวรรคโลก  (วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ  ตั้งอยู่ในเขตตำบลศรีสัชนาลัย)

 

         ทรงฟื้นฟูบำรุงพระพุทธศาสนาในภาคเหนือ   โดยนิมนต์พระราชาคณะ และพระสงฆ์อันดับจากกรุงธนบุรี  ขึ้นไปอุปสมบทพระสงฆ์ไว้ทุกๆ หัวเมืองเหนือ   แล้วให้พระพิมลธรรม  อยู่เมืองสวางคบุรี    พระธรรมโคดม  อยู่เมืองพิชัย    พระพระธรรมเจดีย์  อยู่เมืองพิษณุโลก    พระพรหมมุนี  อยู่เมืองสุโขทัย    พระเทพกวี  อยู่เมืองสวรรคโลก    พระโพธิวงศ์  อยู่เมืองศรีพนมมาศ  ทุ่งยั้ง    ทรงบูรณปฏิสังขรณ์พระอาราม และพระมหาธาตุเมืองสวางคบุรีให้บริบูรณ์ดังเดิม    ทรงสมโภชพระแท่นศิลาอาสน์เมืองศรีพนมมาศ   และพระมหาธาตุเมืองสวรรคโลก  แห่งละสามวัน    ครั้น  เดือน  ๑๒  ขึ้น  ๓  ค่ำ  เสด็จกลับเมืองพิษณุโลกทรงสมโภชพระมหาธาตุ และพระพุทธชินราช  พระพุทธชินสีห์สามวัน  แล้ว    ทรงแต่งตั้งข้าหลวงเดิมให้อยู่ครองเมืองหัวเมืองฝ่ายเหนือ  คือ    พระยายมราช  เป็นเจ้าพระยาสุรสีห์พิษณวาธิราช  ครองเมืองพิษณุโลก    พระยาพิชัยราชา  เป็นเจ้าพระยาสวรรคโลก    พระยาสีหราชเดโช  เป็นพระยาพิไชย    พระยาท้ายน้ำ  เป็นพระยาสุโขทัย    พระยาสุรบดินทร์  เป็นพระยากำแพงเพชร    พระยาอนุรักษ์ภูธร  เป็นพระยานครสวรรค์    ส่วนหัวเมืองเล็กน้อยทั้งปวง  ก็โปรดให้ขุนนางผู้น้อยไปครองทุกๆ เมือง    แต่เจ้าพระยาจักรีแขกนั้นมิได้แกล้วกล้าในการสงคราม  จึงโปรดตั้งให้พระยาอภัยรณฤทธิ์ เป็นที่พระยายมราช  บัญชาการกระทรวงมหาดไทย  ว่าราชการที่สมุหนายก  แทน           

          สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงจัดระเบียบการเมืองการปกครองเมืองเหนือ     ตลอดฤดูน้ำ  ปีขาล  พ.ศ.๒๓๑๓  แล้วจึงเสด็จกรีธาทัพ  กลับกรุงธนบุรี    และโปรดให้รับนางพระยาเศวตกิริณีลงมาด้วย  เมื่อถึงกรุงธนบุรีแล้ว  ให้มีงานสมโภชสามวัน

 

ครับ . . . การเมืองภายในทางเหนือก็เรียบร้อย

 

 

เจ้าพระฝางหนีไปพากองทัพเชียงใหม่มา

สงครามครั้งที่ ๒       พม่าตีเมืองสวรรคโลก   พ.ศ.๒๓๑๓

          เมื่อครั้งกองทัพกรุงธนบุรีจัดระเบียบเมืองสวางคบุรีและ  เจ้าพระฝางก็พาสมัครพรรคพวกหนีออกจากเมืองไปทางเหนือ  ในเวลากลางคืน  นั้น    ได้ไปถึงเมืองเชียงใหม่  ซึ่งพระเจ้าอังวะให้อภัยคามณี  หรืออาปรกามณี  หรือ โปมะยิหวุ่น  หรือ โปมะยุง่วน ครองเมืองอยู่    เจ้าพระฝางจึงได้ชักชวนโปมะยุง่วนให้จัดกองทัพเชียงใหม่ยกไปตีเมืองสวรรคโลกในเดือน  ๓   ปีขาล  พ.ศ.๒๓๑๓  นั้น    แต่ทางเมืองสวรรคโลกได้รักษาเมืองไว้มั่นคง  และมีกองทัพจากเมืองพิษณุโลก  เมืองสุโขทัย  และเมืองพิชัย  ยกขึ้นไปตีกระหนาบกองทัพเชียงใหม่ แตกพ่ายไป

 

สงครามครั้งที่  ๓

ไทยตีเมืองเชียงใหม่ครั้งแรก พ.ศ. ๒๓๑๓ - พ.ศ. ๒๓๑๔

           สืบเนื่องมาจากสงครามครั้งที่ ๒   เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบข่าศึก และยกจากกรุงธนบุรีในเดือน   ๔    ปีขาลนั้น    เมื่อเสด็จไปเกือบถึงนครสวรรค์ก็ทรงทราบว่า    กองทัพเชียงใหม่แตกพ่ายไปแล้ว  จึงทรงพระดำริที่จะไปตีเอาเมืองเชียงใหม่  เป็นการขยายผลชัยชนะกองทัพไทย    ประกอบกับ  ขณะนั้นพม่ากำลังทำศึกกับมณฑลยูนนานของจีน จึงไม่น่าจะส่งกองทัพมาช่วยป้องกันเมืองเชียงใหม่ได้    หากได้เมืองเชียงใหม่ก็จะเป็นการตัดกำลังพม่าไม่ให้ใช้เชียงใหม่เป็นฐานในการโจมตีไทยได้  แม้ว่าตีไม่ได้ ก็ถือเป็นการศึกษาภูมิประเทศ สร้างความคุ้นเคย สร้างขวัญกำลังใจให้กองทัพ    

          ทรงตั้งทัพหลวง  ณ  เมืองพิชัย   พระยาแพร่มังชัย  เจ้าเมืองแพร่เข้ามาสวามิภักดิ์   ทรงรวบรวมรี้พลสกลไกรได้   ๑๕,๐๐๐      โปรดให้เจ้าพระยาสุรสีห์ฯ เจ้าเมืองพิษณุโลก    เป็นแม่ทัพหน้า  นำกำลังจากหัวเมืองยกไปก่อน       สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงนำกองทัพหลวง   ไปทางเมืองสวรรคโลก  เมืองเถิน  เมืองลี้     กองทัพหลวงไปถึงเมืองลำพูน  โดยไม่มีการต้านทาน   

          โปมะยุง่วนจัดกองทัพมาตั้งป้องกันนอกเมืองเชียงใหม่  แต่ถูกกองทัพเจ้าพระยาสุรสีห์ฯ ตีแตก    จึงตั้งรับมั่นคงอยู่ในเมือง   

 

 

 

 

ประตูกำแพงเมืองและป้อมมุมเมืองเชียงใหม่   ประมาณ พ.ศ.๒๕๐๘

(ซ้าย)  ประตูท่าแพ ประตูกำแพงเมืองด้านตะวันออก

(ขวา)  แจ่งหัวริน  ป้อมมุมเมืองด้าตะวันตกเฉียงเหนือ

 

 

          กองทัพกรุงธนบุรี เข้าในกำแพงดินซึ่งเป็นกำแพงชั้นนอก  ตั้งค่ายล้อมกำแพงเมืองชั้นในไว้    และพยายามเข้าตีเมืองครั้งหนึ่ง  ตั้งแต่เวลา  ๓  นาฬิกา  จนรุ่งเช้ายังไม่สามารถเข้าเมืองได้  เพราะเมืองเชียงใหม่มีกำแพงและปราการแข็งแรง จึงถอยกลับเข้าค่าย    สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีประทับอยู่  ๙  วัน  ก็โปรดให้เลิกทัพ   กลับกรุงธนบุรี

 

ลาว รบ ลาว    เอาพม่ามาช่วย

          ในระหว่างทำศึกกับเชียงใหม่อยู่นี้    ทางเจ้าวงศ์ครองเมืองหลวงพระบาง    นำกองทัพมาตีเมืองศรีสัตนคนหุต  (เวียงจันทน์)  รบกันอยู่สองเดือน   เจ้าบุญสารพระเจ้ากรุงศรีสัตนคนหุตจึงขอกองทัพจากพระเจ้ามังระกรุงอังวะมาช่วย    พระเจ้ามังระจึงให้โปสุพลายกพลจำนวน  ๕,๐๐๐  มารบเมืองหลวงพระบาง  จนเจ้าวงศ์หลวงพระบางยอมขึ้นกรุงอังวะ    เมื่อจัดการหลวงพระบาง  กับ  ศรีสัตนคนหุตเรียบร้อยแล้ว  พระเจ้ามังระจึงให้โปสุพลานำกำลัง  ๓,๐๐๐  ไปรักษาเมืองเชียงใหม่      แต่กองทัพกรุงธนบุรีได้เลิกทัพ เสียก่อนแล้ว

 

ฐาปนาพระนครขึ้นใหม่

          ในปีเถาะ  พ.ศ.๒๓๑๔   สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระดำริว่า   .  .  .  

 

          .  .  .  กรุงธนบุรียังไม่มีกำแพงเป็นที่มั่นสำหรับป้องกันอริราชศัตรูหมู่ปัจจามิตร   ยังไม่เป็นภูมิราชธานี    จึงโปรดให้ตั้งค่ายด้วยไม้ทองหลางทั้งต้น   ล้อมพระนครทั้งสองฟากน้ำตั้งแต่มุมกำแพงเมืองเก่า  ไปจดวัดบางหว้าน้อย  วงลงไปริมแม่น้ำใหญ่  ตลอดลงมาจนถึงกำแพงเมืองเก่าที่ตั้งเป็นพระราชวัง   แล้วให้ขุดคลองเป็นคูข้างหลังเมืองแต่คลองบางกอกน้อย   มาออกดลองบางกอกใหญ่    เอามูลดินขึ้นถมเป็นเชิงเทินข้างในทั้งสามด้าน   เว้นแต่ด้านริมแม่น้ำ    และฟากตะวันออกก็ให้ตั้งค่ายรอบเหมือนกัน    ให้ขุดคลองเป็นคูข้างหลังเมือง  ตั้งแต่กำแพงเก่าท้ายป้อมวิไชเยนทร์   วงขึ้นไปจนถึงศาลเทพารักษ์หัวโขด   ออกแม่น้ำทั้งสองข้าง    เอามูลดินขึ้นถมเป็นเชิงเทินทั้งสามด้าน  เว้นแต่ด้านริมแม่น้ำดุจกัน    แล้วให้เกณฑ์คนขึ้นไปรื้อเอาอิฐกำแพงเก่า   ณ  เมืองพระประแดง   และกำแพงค่ายพม่า   ณ  โพธิ์สามต้น  และสีกุก   บางไทร  ทั้งสามค่าย    ขนบรรทุกเรือมาก่อกำแพงและป้อม    ตามที่ถมเชิงเทินดินสามด้านทั้งสองฟาก    เอาแม่น้ำไว้กลางอย่างเมืองพระพิษณุโลก     และแม่น้ำตรงหน้าเมืองทั้งสองฟากนั้น   เป็นที่ขุดลัดแต่ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ

 

  

        อนึ่ง  ป้อมวิไชเยนทร์ท้ายพระราชวังนั้น  ให้ชื่อป้อมวิชัยประสิทธิ์    แล้วให้ขุดที่สวนเดิม เป็นที่ท้องนานอกคูเทืองทั้งสองฟาก  ให้เรียกว่าทะเลตม    ไว้สำหรับจะได้ทำนานอกพระนคร    แม้นมาตรว่าจะมีทัพศึกการสงครามมา  จะได้ไว้เป็นที่ทำเลตั้งค่ายต่อรบข้าศึกถนัด    และกระทำการฐาปนาพระนครขึ้นใหม่ครั้งนั้น   หกเดือนก็สำเร็จบริบูรณ์  .  .  .

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 วัดแจ้ง

วัดคู่บ้านคู่เมืองสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี   เป็นวัดโบราณ สร้างมาแต่ครั้งสมัยอยุธยา

 

 

 

 

 

 อนึ่ง  ป้อมวิไชเยนทร์ท้ายพระราชวังนั้นให้ชื่อ

ป้อมวิชัยประสิทธิ์     

 

 

ด้านตะวันออก    เขมรกำเริบ

          พระนารายณ์ราชาพระเจ้ากรุงกัมพูชา เมื่อเห็นกองทัพของพระยาอภัยรณฤทธิ์ กับ พระยาอนุชิตราชา  ถอนกลับกรุงธนบุรี    เมื่อต้นปีขาล  พ.ศ.๒๓๑๓ นั้น  ก็ติดตามข่าวทางเมืองไทย    เมื่อทราบว่ามีกองทัพจากเชียงใหม่มาตีเมืองเหนือ  ให้ดีใจเป็นกำลัง     ก็ช่วยพม่าซ้ำเติมไทยด้วยการให้  มาตีเมืองจันทบุรี และเมืองตราดเมื่อ  ปลายปี  พ.ศ.๒๓๑๓   ขณะที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงนำกองทัพไปเมืองเชียงใหม่    แต่พระยาจันทบุรีสามารถตีกองทัพเขมรแตกกลับไป  รักษาเมืองไว้ได้

           ครั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จถึงกรุงธนบุรีแล้ว  จึงทรงพระดำริการเมืองเรื่องเขมร    ในปลายฤดูฝน  พ.ศ.๒๓๑๔    ได้เตรียมทัพไปจัดระเบียบพอดีเจ้าพระยาจักรี (แขก) ถึงแก่อสัญกรรม  จึงทรงให้พระยายมราชซึ่งบัญชาการกระทรวงมหาดไทย  ว่าราชการที่สมุหนายก อยู่นั้น  เป็นเจ้าพระยาจักรี และให้พระยาราชบังสันบุตรเจ้าพระยาจักรี (แขก) เป็นพระยายมราช

          เมื่อจัดทัพเรียบร้อยแล้ว  โปรดให้เจ้าพระยาจักรี เป็นแม่ทัพหน้า  คุมพล  ๑๐,๐๐๐   ยกไปเมืองเขมร ทางเมืองปราจีนบุรี   ภารกิจตีเมืองพระตะบอง  เมืองโพธิสัตว์  ลงไปจนตลอดถึงเมืองพุทไธเพชร/บันทายเพชร  ราชธานีกัมพูชา      และโปรดให้พระรามราชาซึ่งหนีมาพึ่งพระบารมี  ตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๑๒  ร่วมไปในกองทัพด้วย

 

          สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จนำทัพหลวง ตามไปทางน้ำ    ออกจากกรุงธนยุรี  เมื่อ  แรม  เดือน  ๑๑    ประทับที่ปากน้ำเมืองจันทบุรี   โปรดให้พระยาโกษาธิบดีเป็นกองหน้า  จำนวนพล   ๑๕,๐๐๐    เรือรบ  ๑๐๐   และ  เรือทะเล  ๑๐๐  ลำ    ตีเมืองกำพงโสมก่อน     สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จถึงปากน้ำเมืองบันทายมาศ  เมื่อเดือน  ๑๒  ขึ้น  ๘  ค่ำ  

(จากการตรวจสอบของ  http://www.payakorn.com/moondate.php - ขึ้น   ๘ ค่ำ เดือน   ๑๒  ปีขาล  จ.ศ.๑๑๓๒  ตรงกับ  วันศุกร์    วันที่   ๒๖  ตุลาคม  พ.ศ.๒๓๑๓)

         เสด็จถึงปากน้ำเมืองบันทายมาศแล้ว  ให้เกลี้ยกล่อมพระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองมาอ่อนน้อมโดยดี  แต่พระยาราชาเศรษฐีไม่ยอม      จึงมีรับสั่งให้ตีเมืองและ  ตีได้เมื่อ   ขึ้น  ๑๐  ค่ำ  เดือน  ๑๒  นั้น   พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองหนีออกทะเลไปได้    เมื่อได้เมืองบันทายมาศแล้ว  ทรงประกาศแก่รี้พลทั้งปวง   ห้าม อย่าให้ข่มเหงราษฎร  ให้ค้าขายอยู่ตามภูมิลำเนาเหมือนแต่ก่อน  แล้วเสด็จยกกระบวนกองเรือเข้าคลองขุดไปเมืองพนมเปญ

          (พระยาราชาเศรษฐีตำแหน่งในทำเนียบกัมพูชาเรียก "สมเด็จพระโสร์ทศ"  แต่ก็ขึ้นกับญวนด้วย  ญวนเรียก มักเทียนดู  หรือ  ม่อเทียนซื่อ/ม่อซื่อหลิน  ในภาษาจีน    และพยายามแผ่อิทธิพลเข้าไปในเขมรด้วย  เพราะเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าแล้ว)

 

          ด้านกองทัพบกของเจ้าพระยาจักรี   ตีได้เมืองพระตะบอง  เมืองโพธิสัตว์   และเมืองบริบูรณ์  ตามลำดับ   ยังไม่ถึงเมือง เมืองพุทไธเพชร/บันทายเพชรพระนารายณ์ราชา เห็นว่าจะสู้ไม่ได้จึงพาครอบครัวเสด็จหนีไปเมืองบาพนม      กองทัพเจ้าพระยาจักรีจึงได้เมืองบันทายเพชร   และให้พระรามราชาอยู่เกลี้ยกล่อมผู้คนที่เมืองบันทายเพชร    แล้วลงไปเฝ้าที่เมืองพนมเปญ    จึงมีรับสั่งให้เจ้าพระยาจักรียกกองทัพตามไปเมืองบาพนม  แล้วเสด็จยกกองทัพหลวงตามไป

          พระนารายณ์ราชาจึงหนีต่อไปเมืองญวน   ขอให้ญวนช่วย  แล้วกลับมาอยู่เมืองแพรกปรักปรัต  (ไม่ยอมอยู่ที่บันทายเพชรดังเดิม)    กองทัพหลวงจึงยกกลับเมืองพนมเปญ

          ส่วนกองทัพของพระยาโกษาธิบดี   ตีได้เมืองกำพงโสมก่อน   แล้วจะไปตีเมืองกำปอด  แต่พระยาปังกลิมาเจ้าเมืองกำปอดมาขออ่อนน้อม   ณ  เมืองพนมเปญ    เจ้าพระยาจักรีเมื่อจัดระเบียบที่เมืองบาพนมแล้ว  ก็ยกมาเมืองพนมเปญ 

 

          สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมอบกรุงกัมพูชาให้พระรามราชาแล้ว  ก็ยกทัพกลับคืนพระนครในเดือนอ้าย  ปีเถาะ  พ.ศ.๒๓๑๔

 

เขมรสองฝ่าย    ไม่พ้น ไทย - ญวน    ไทยได้เขมรเป็นประเทศราช

          เมื่อกองทัพไทยกลับกรุงธนบุรีแล้ว  พระนารายณ์ราชาก็ขอกำลังญวนมาคุ้มครอง   และเขมรก็แบ่งเป็นสองฝ่าย    ฝ่ายเหนือ  ขึ้นกับพระรามราชา  ทางไทยสนับสนุน   และฝ่ายใต้  ขึ้นกับพระนารายณ์ราชา ทางญวนสนับสนุน   ต่อมาเมื่อราชวงศ์ญวนเสียบ้านเมืองแก่พวกไกเซิน  พระนารายณ์ราชาไม่ทีที่พึ่ง  จึงประนีประนอม ยอมให้พระรามราชาครองกรุงกัมพูชา  ตนเองลดลงเป็นที่สอง     พระรามราชาถวายรายงานเข้ามากรุงธนบุรี   สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงทรงอภิเษกนักองโนน (พระรามราชา) เป็นสมเด็จพระรามราชา ครองกรุงกัมพูชา   ณ เมืองกำปอด   ทรงตั้งนักองตน (พระนารายณ์ราชา) เป็นสมเด็จพระนารายณ์   พระมหาอุปโยราช    และนักองธรรม  เจ้านายอีกองค์หนึ่ง เป็นที่มหาอุปราช    ทำให้ได้กรุงกัมพูชาไว้เป็นประเทศราชตามเดิม 

        การเมืองเรื่องเขมรก็เป็นไป  ดังนี้

 

 

 

 

 

 

*   *   *   *   *   *   *   *   *

 

 

                 ครับ    ธนบุรีสมัย  ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์   ท่ามกลางความพินาศของกรุงศรีอยุธยา        ท่ามกลางความสูญเสีย ทุกสิ่งทุกอย่างของพี่น้องไทย   หลังจากที่ได้ทรงกู้กรุงไกรเกรียงยศ ได้ในเวลาอันรวดเร็ว     และทรงสร้างความมั่นคงภายในพระราชอาณาจักร    ในขณะที่พม่าก็คอยกระหน่ำซ้ำเติมมิให้ตั้งตัวได้    แต่ก็ทรงสามารถรวบรวมพระราชอาณาจักรให้เป็นปึกแผ่นได้    และเพียงสามปี ก็ได้เขมรมาเป็นประเทศราชได้  ด้งเดิม     

           ธนบุรี  สมัยต่อไป   ยังต้องขับเคี่ยวกับพม่า และต้องแก้ป้ญหาการเมืองกับญวน  การขยายพระราชอาณาเขตรเข้าไปในลาว  ความไม่สงบในเขมรและในที่สุด  . . .  ใน  ธนบุรีสมัย (๒)  ครับ
                                  

 

 

       *   *   *   *   *   *   *   *   *

 

 

 สถานการณ์ต่อไป  -  ธนบุรีสมัย (๒)

 สถานการณ์ต่อไป  -  ธนบุรีสมัย (๒)

 สถานการณ์ต่อไป  -  ธนบุรีสมัย (๒)

 

 

 

บรรณานุกรม      -  ไทยรบพม่า    พระนิพนธ์     สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพ 

                         -  พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี   ฉบับหมอบรัลเล    พิมพ์ครั้งที่  ๓  พ.ศ.๒๕๕๑    สำนักพิมพ์โฆษิต    บางแค  กรุงเทพฯ

                       -  สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช    พลตรี  จรรยา  ประชิตโรมรัน    โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย    กันยายน ๒๕๔๓

                       -  ประวัติศาสตร์พม่า    หม่องทินอ่อง    เพ็ชรี  สุมิตร    แปล    พิมพ์ครั้งที่  ๒   มิถุนายน  ๒๕๔๘    โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 




ประวัติศาสตร์สงคราม กรีก โดย สัมพันธ์

อเล็กซานเดอร์มหาราช : สู่ตะวันออก
อเล็กซานเดอร์มหาราช : เริ่มลมเหนือ
สงคราม กรีก - กรีก
สงคราม กรีก - เปอร์เซีย



แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker