dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

*  *  *

 

 

 

สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ  เจ้าฟ้าอิศเรศจุฑามณี  ตรีพิธเพ็ชรรัตนาลงกฎ  อรรคราโชรสวรสศวิบุลย  อดุลยเดชมหาสุขุมาลย์  วงศวโรดม  บรมราชกุมาร

คือ 

พระบาทสมเด็จพระปวเรนทราเมศร  มหิศเรศรังสรรค์  พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว   

ซึ่งเสด็จเฉลิมพระราชมณเฑียรในพระบวรราชวัง  นับตามพระราชวงศ์นี้ นั้น    พระองค์เป็นพระราชบุตร  ทึ่  ๕๐    หรืออีกอย่างหนึ่ง  เป็นที่  ๒๗  ตามจำนวน    นับแต่พระองค์ที่เป็นพระราชกุมารของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ที่  ๒ ในบรมราชวงศ์นี้    และเป็นพระโอรสที่  ๓    ตามจำนวนซึ่งประสูติเป็นพระองค์    หรือเป็นที่  ๕  ตามจำนวนซึ่งตั้งพระครรภ์  ในกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์    ตั้งพระครรภ์มาตั้งแต่เดือนอ้าย  ปีเถาะ  นักษัตร   นพศก   จุลศักราช  ๑๑๖๙   เป็นปีที่  ๒๖  ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

 

          ครั้งนั้น    พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยซึ่งเป็นสมเด็จพระบรมชนกนาถ    ยังเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ  เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร  ในแผ่นดินนั้นอยู่    ครั้นเมื่อพระราชบุตรพระองค์นี้ตั้งพระครรภ์ขึ้น  ๔  เดือน    ก็ได้เสด็จเลื่อนถานันดรราชอิสริยยศ  อุปราชาภิเษกเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลในแผ่นดินนั้น

 

          ครั้นพระครรภ์ถ้วนทศมาส  ก็ประสูติในวันอาทิตย์  เดือน  ๑๐    ขึ้น  ๑๕  ค่ำ  ปีมะโรง    นักษัตรสัมฤทธิศก  จุลศักราช  ๑๑๗๐    เป็นปีที่  ๒๗  ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก    เวลา  ๕  นาฬิกา  แต่เที่ยงคืนวันนั้น    พระอาทิตย์สถิตราศีสิงห์    พระพุธ  พระเสาร์  พระลักขณา  อยู่ราศีสิงห์     พระเคราะห์ทั้ง  ๓  อยู่ร่วมราศีกัน      พระจันทร์  พระพฤหัสบดี    ๒  พระเคราะห็  อยู่ราศีกุมภ์  เล็งพระลักขณา    พระอังคาร  พระราหู   ๒  พระเคราะห็  อยู่ราศีตุลย  เป็นโยค แก่พระลักขณา  แต่พระเสาร์  อยู่ราศี    การประสูติครั้งนี้ เป็นไปตามกาลตามสมัย    ที่พระราชวังเดิมปากคลองบางกอกใหญ่     ครั้งนั้น  เรียกว่าพระบวรราชวังใหม่  อยู่ในกำแพงกรุงธนบุรีโบราณ 

 

          ตรงกับ วันที่   ๔  กันยายน  พ.ศ.๒๓๕๑    ทรงพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าจุฑามณี หรือเป็นที่รู้จักอย่างดีคือ เจ้าฟ้าน้อย    คุณหญิงนก   เป็นพระพี่เลี้ยง 

 

 

  

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 ป้อมวิไชยประสิทธิ์                                                                                                                  ท้องพระโรงพระราชวังเดิม


 

          พระราชวังเดิม เป็นพระราชวังหลวงของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ ในพื้นที่ ป้อมวิไชยประสิทธิ์  ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช    ตำแหน่งที่ตั้งของพระราชวังหลวงนี้มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์   เนื่องจากมีป้อมปราการที่มั่นคง  และสามารถตรวจการณ์ได้ในระยะไกล     อีกทั้งยังใกล้กับเส้นทางคมนาคมและเส้นทางการเดินทัพที่สำคัญด้วย
 
       อาณาเขตของพระราชวังเดิมในสมัยของพระเจ้าตากสินมหาราชนั้น มีพื้นที่ตั้งแต่ป้อมวิไชยประสิทธิ์ขึ้นมาจนถึงคลองเหนือวัดอรุณราชวราราม (คลองนครบาล) โดยรวมวัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) และวัดท้ายตลาด (วัดโมลีโลกยาราม) เข้าไปในเขตพระราชวัง    
 
         ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ  ทรงย้ายราชธานีมาอยู่ฝั่งพระนคร  โดยสร้างพระบรมมหาราชวังขึ้น   พระราชวังกรุงธนบุรีจึงได้ชื่อว่า พระราชวังเดิม  ตั้งแต่บัดนั้น  และทรงกำหนดเขตวังให้แคบกว่าเดิม  โดยให้วัดทั้งสองดังกล่าวแล้วอยู่นอกเขตพระราชวัง   

          เนื่องจากพระราชวังกรุงธนบุรี   มีความสำคัญในทำเลที่ตั้ง   จึงทรงแต่งตั้งพระราชวงศ์ชั้นสูงที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยมาประทับ    พระราชดำรินี้ได้สืบทอดมาทุกรัชกาล

 

 ปัจจุบันเป็นที่ตั้งกองบัญชาการกองทัพเรือ

 

 

 

 

 

 

  ป้อมวิไชยประสิทธิ์  (ปัจจุบัน)

 

 

           ป้อมวิไชยประสิทธิ์  เดิมชื่อ  ป้อมวิไชยเยนทร์ หรือป้อมบางกอก  สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยเจ้าพระยาวิไชยเยนทร์กราบบังคมทูลแนะนำให้สร้างป้อมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งทางฝั่งตะวันออก คือ บริเวณ  ระหว่างวัดพระเชตุพนกับปากคลองตลาดในปัจจุบัน   และฝั่งตะวันตก คือ  บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ ที่เป็นป้อมอยู่ในปัจจุบัน    แล้วให้ขึงสายโซ่อันใหญ่ขวางลำน้ำตลอดถึงกันทั้งสองฟากลำน้ำ เพื่อป้องกันข้าศึกที่มาทางทะเล     สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเห็นชอบด้วยและได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์เป็นแม่กองก่อป้อมจนแล้วเสร็จในระหว่างปีพุทธศักราช  ๒๑๙๙ - ๒๒๓๑    การขึงโซ่กั้นเรือได้ถูกกล่าวถึงในเหตุการณ์กบฏมักกะสัน  ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช 

          ในสมัยสมเด็จพระเพทราชา มีการรบระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เนื่องจากทางไทยต้องการขับไล่ฝรั่งเศสออกจากประเทศไทย   ในการรบครั้งนี้ป้อมทางฝั่งตะวันออกได้รับความเสียหายมาก จึงโปรดให้รื้อลง

           เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกู้เอกราชให้ชาติไทยและสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีทรงสร้างพระราชวังหลวงในบริเวณป้อมวิไชยเยนทร์   พร้อมกับทรงปรับปรุงป้อมนี้   และพระราชทานนามใหม่ว่า  ป้อมวิไชยประสิทธิ์   ในปี พ.ศ.๒๓๑๔ 

 

๐   ๐   ๐   ๐   ๐

 

        เมื่อพระชนมายุพระราชกุมารได้  ๑๓  เดือน  หย่อนอยู่  ๗  วัน  สมเด็จพระบรมชนกนาถซึ่งเป็น  กรมพระราชวังบวรสถานมงคลอยู่ในเวลานั้น   ก็ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชบรมราชาภิเษกในวันอาทิตย์  เดือน  ๑๐    ขึ้น  ๙  ค่ำ  ปีมะเส็ง  เอกศก  จุลศักราช  ๑๑๗๑   พระราชกุมารพระองค์นี้ราชบริพารก็ได้เชิญตามเสด็จสมเด็จพระบรมชนกนาถมาในพระบรมมหาราชวัง      แต่วันพฤหัสบดี    เดือน  ๙   แรม  ๑๓  ค่ำ      ก่อนแต่วันพระบรมราชาภิเษกขึ้นไปได้  ๑๐  วัน    ทรงพระเจริญอยู่ในพระบรมมหาราชวังจนพระชนมายุได้  ๑๒  ขวบ กับ  ๖  เดือน    ก็ได้รับมงคลการโสกันต์ในพระราชพิธีใหญ่อย่างสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้า 

 

เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ 

          พระราชกุมารพระองค์นี้  มีพระชนมายุได้  ๑๖  ปี หย่อนอยู่เดือนหนึ่ง   ได้เสด็จกลับคืนไปสู่พระราชวังเดิมได้ทำราชการในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความชอบ    จึงได้โปรดทรงตั้งให้เป็นเจ้าฟ้าต่างกรม  ปรากฏพระนามว่า  สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ  เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์    (เมื่อวันที่  ๑๐  พฤษภาคม  ๒๓๗๕   พระชนมายุ   ๒๔ พรรษา)  ได้บังคับบัญชาว่ากล่าวกรมทหารแม่นปืนหน้า  ปืนหลัง   และญวนอาสารบแขกอาสาจาม    เป็นแม่ทัพออกไปรบเมืองญวนครั้งหนึ่ง  เมื่อปีฉลูนักษัตร  ตรีศก  จุลศักราช  ๑๑๒๓*   เป็นปีที่  ๑๙  ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  

     * พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงครองราชย์ตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๖๗  หรือ จ.ศ.๑๑๘๖    ปีที่  ๑๙ ในแผ่นดิน  คือ พ.ศ.๒๓๘๖  หรือ  จ.ศ.๑๒๐๕    ดังนั้น  จ.ศ.๑๑๒๓  น่าจะไม่ถูกต้อง    เพราะพระราชกุมารประสูติในวันอาทิตย์  เดือน  ๑๐    ขึ้น  ๑๕  ค่ำ  ปีมะโรง    นักษัตรสัมฤทธิศก  จุลศักราช  ๑๑๗๐

 

                  อาคารตำหนักเก๋ง   ที่ประทับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว   ในพระราชวังเดิม   เมื่อครั้งทรงทำราชการในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  และทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนอิศเรศรังสรรค์  ในระหว่างปีพุทธศักราช  ๒๓๖๗ - ๒๓๙๔   ก่อนที่จะทรงรับบวรราชาภิเษก

 

          อาคารตำหนักเก๋ง  เป็นสถาปัตยกรรมที่มีรูปแบบตะวันตกหรือเรียกว่า ตึกแบบอเมริกัน    อาจถือได้ว่าอาคารนี้เป็น ตำหนักแบบตะวันตกหลังแรกที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์   รูปแบบโดยทั่วไป  เป็นตึกก่ออิฐถือปูน   ๒  ชั้น  หลังคาทรงปั้นหยา มีหน้าจั่วปีกนก  ๒ ด้าน   บริเวณชั้นบนของตำหนักเป็นส่วนที่ประทับ กั้นเป็นห้องต่าง ๆ  ด้วยผนังไม้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 ปืนใหญ่    ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าพระตำหนักพระบาทสมเด็จพระปิ่เกล้าเจ้าอยู่หัว  ภายในพระราชวังเดิม

สร้างเมื่อ  พ.ศ.๒๓๐๕  ค.ศ.๑๘๖๒

 

 พ.ศ.๒๓๖๘   พระราชทานขนานชื่อปืนใหญ่  

          ศุภมัศดุ    ศักราช  ๑๑๘๗  ปีระกา    นักสัตว์สัพศก    ณ  วันเสาร์  เดือนอ้าย  ขึ้น  ๗  ค่ำ  เวลาเช้า  ๒  โมง    พระบาทบรมนารถบรมบพิต  สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จออก  ณ  พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาณ  ทรงพระราชทานขนานชื่อปืนใหญ่เก่า,ใหม่  จาฤกชื่อเป็นอักษรพจประจำบอกไว้สำหรับพระนคร  ๒๗๗  บอก   ดังนี้

 ฯลฯ


          การปืนใหญ่นั้นได้ต่อสู้รักษาพระนคร และขอบขัณฑสีมา  มาตั้งแต่อดีตกาล  สามารถสืบสาวได้ว่ากองทัพไทยได้เริ่มนำปืนใหญ่มาใช้ตั้งแต่ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา   เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพระกรุณาพระราชทานขนานชื่อปืนใหญ่เก่า, ใหม่   จาฤกชื่อเป็นอักษรประจำบอกไว้  สำหรับพระนคร  ๒๗๗  บอก   ณ  วันเสาร์  เดือนอ้าย  ขึ้น  ๗  ค่ำ    ปีระกา   จุลศักราช  ๑๑๘๗  นั้น   นับได้ว่า ทรงเห็นความสำคัญ และคุณค่าของการปืนใหญ่  เป็นพระมหากรุณาธิคุณ และศิริมงคล  แก่การปืนใหญ่ และรี้พลสกลไกรที่ใช้สอยและทำงานปืนใหญ่ ทั่วกัน       ก็วันนี้แล  ท่านผู้รู้ได้ตรวจสอบแล้ว  ปรากฏว่า  ตรงกับวันที่  ๑๗  ธันวาคม       ทางการทหารบกจึงนับเอา

 

วันที่  ๑๗   ธันวาคม  เป็นวันทหารปืนใหญ่    

 

 

 ป้อมพิฆาตข้าศึก

        ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์  และป้อมปราการเพื่อป้องกันพระนครและปากน้ำสำคัญขึ้นหลายแห่ง  

          พ.ศ.๒๓๗๔    พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ  เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ทรงนำกองกำลังทหารบก สร้าง "ป้อมพิฆาตข้าศึก" ขึ้น เพื่อรักษาปากน้ำแม่กลอง    เมืองสมุทรสงคราม    นับเป็นพระราชกิจจานุกิจแรก เกี่ยวกับราชการบ้านเมืองที่ได้บันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ

 

           "ป้อมพิฆาตข้าศึก"  ตั้งอยู่ที่ปากคลองแม่กลองฝั่งตะวันออก ต่อจากวัดบ้านแหลม และสถานีรถไฟแม่กลอง ในปัจจุบัน

           พ.ศ.๒๔๔๙    ทางราชการได้รื้อป้อมดังกล่าว  ตั้งเป็นกองโรงเรียนพลทหารเรือที่ ๑    

          พ.ศ.๒๔๖๕    กระทรวงทหารเรือในเวลานั้น ได้ยุบเลิกกองโรงเรียนพลทหารเรือ ที่ ๑   และ ยกสถานที่ให้กระทรวงมหาดไทย  สำหรับเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม  เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๘   ดังปรากฎในปัจจุบัน

 

 ป้อมพิฆาตข้าศึก    >   

 

การทหารเรือ . . . เข้าสู่ยุคสมัยใหม่

       การทหารเรือ ของไทยเรานั้น เริ่มมีเค้าเปลี่ยนจากสมัยโบราณเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ในสมัยรัชกาลที่  ๓  นี้  และผู้ที่เป็นกำลังสำคัญ ในกิจการด้านทหารเรือในสมัยนั้น คือ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ และ จมื่นไวยวรนาถ  (ช่วง บุนนาค   ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น  สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์)   ด้วยทั้งสองท่านนี้มีความรู้ในวิชาการต่อเรือเป็นอย่างดี    จึงได้รับหน้าที่ปกครอง บังคับบัญชาการทหารเรือในสมัยนั้น

 

เรือที่สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  (เฉพาะลำที่สำคัญ)

 

                   ๑.เรือเทพโกสินทร    สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๓๗๔   เป็นเรือกำปั่นหลวง   เคยใช้ออกไปค้าขายยังต่างประเทศ เมื่อ พ.ศ.๒๓๘๔ ใช้เป็นเรือแม่ทัพหน้า คือเจ้าหมื่นไวยวรนารถ  ยกทัพไปรบกับญวน
 
                   ๒.เรืออมรแมนสวรรค์   สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๓๗๕ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) เป็นผู้สร้างถวาย สำหรับเป็นเรือพระที่นั่ง สร้างที่นครศรีธรรมราช เป็นเรือกำปั่นแปลง   ปากกว้าง ๓ วา  สร้างอย่างประณีตวิจิตรงดงามใช้เวลาเกือบ ๗ ปี จึงแล้วเสร็จ เมื่อ พ.ศ.๒๓๘๒ ใช้เป็นเรือสำหรับ พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี ผู้เป็นแม่ทัพยกทัพเรือ ไปปราบพวกเจ้าแขก ที่ก่อจลาจลทางปักษ์ใต้
 
                   ๓.เรือปักหลั่น และ เรือมัจฉาณุ (ลำที่หนึ่ง) ไม่ปรากฏว่าสร้างในปีใด   เป็นเรือใบขนาดใหญ่ สำหรับบรรทุกทหาร และ เสบียงไปส่งกองทัพ เรือทั้งสองลำนี้ ได้ใช้ในราชการทัพเรือ พ.ศ.๒๓๘๒ คราวปราบพวกเจ้าแขก ที่ก่อการจลาจลทางปักษ์ใต้ และ  เมื่อ พ.ศ.๒๓๘๔ คราวยกทัพไปรบกับญวน
 
                   ๔.เรือแกล้วกลางสมุทร (Ariel)   สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๓๗๘ ที่จันทบุรี   เป็นเรือกำปั่นใบ ลำแรกที่สร้างโดยคนไทย คือหลวงนายสิทธิ์ (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์) เมื่อคราวไปช่วยบิดาของท่านสร้างเมืองใหม่ ที่จันทบุรี เป็นเรือชนิดบริกขนาด ๑๑๐ ตัน มีอาวุธปืนใหญ่ ๖ กระบอก  เมื่อ พ.ศ.๒๓๘๒ ไปราชการทัพปราบเจ้าแขก ที่ก่อการจลาจลทางปักษ์ใต้
 
                   ๕.เรือพุทธอำนาจ  (Fairy)   สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๓๗๙   เป็นเรือชนิดบาร์ก  (Barque)    ขนาด ๒๐๐ ตัน มีอาวุธปืนใหญ่ ๑๐ กระบอก เรือลำนี้เป็นของ กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เมื่อ พ.ศ.๒๓๘๔   ทรงเป็นแม่ทัพเสด็จไปราชการทัพรบกับญวณ   ตีเมืองบันทายมาศ (ฮาเตียน) ทรงใช้เป็นเรือพระที่นั่งของแม่ทัพ

 

         ต่อมา  ได้แบ่งหน้าที่กันโดยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ ทรงบังคับบัญชาทหารเรือวังหน้า   ส่วนทหารเรือบ้านสมเด็จอยู่ในปกครองบังคับบัญชาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ในยามปกติทั้งสองฝ่ายนี้ไม่ขึ้นแก่กัน  ต่างขึ้นตรงต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

          พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ ทรงฝึกฝนทหารของพระองค์ โดยใช้ทั้งความรู้และความสามารถ และ ยังทรงมุ่งพระราชหฤทัยในเรื่องการค้าขายให้มีกำไรสู่แผ่นดินด้วย    เพราะได้ทรงสร้างเรือเดินทะเล เพื่อการค้าระหว่างประเทศ  มิใช่สร้างแต่เรือรบ

          เมื่อได้มีพวกญวนเข้ารีตอพยพเข้ามาสวามิภักดิ์     จึงโปรดเกล้าฯ ให้   เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์  ทรงฝึกหัดพวกญวนเหล่านี้    ซึ่งได้ทรงจัดให้เป็นพลประจำการ  และกำหนดให้มีหน้าที่ประจำป้อม   จึงได้ทรงแปลตำราทหารปืนใหญ่ภาษาอังกฤษมาใช้เป็นหลักฐานเล่มหนึ่ง   เรียกว่า  "ตำราปืนใหญ่" ขึ้น      ทั้งนี้  ทรงได้ศึกษาวิชาการทหารปืนใหญ่จากครูชาวฝรั่งเศส  มาก่อนแล้ว   และได้ทรงเพิ่มเติม  วิชาของไทยลงไปด้วย  เช่นการเขียนยันต์  และพระคาถาต่างๆ กำกับ

          นอกจากนี้    พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บังคับว่ากล่าว  ทหารปืนใหญ่    กรมทหารแม่นปืนหน้า    กรมทหารแม่นปืนหลัง  และกองทหารญวนอาสารบ  แขกอาสาจาม    ซึ่งเป็นกองทหารที่สำคัญ และมีกำลังพลมาก

         "กรมทหารแม่นปืน"  มีหน้าที่เก็บรักษาปืนใหญ่  ควบคุมปืนประจำป้อม และฝึกซ้อมการยิงปืนใหญ่    เมื่อมีการเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค   มีหน้าที่ควบคุมปืนหัวเรือพระที่นั่ง      นอกจากนี้   ยังมีหน้าที่เฝ้าพระบรมมหาราชวัง  เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกหัวเมือง    เดิมมีอยู่แล้ว  ๑  กรม    พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งเพิ่มอีก  ๑  กรม    บรรจุคนที่อยู่บ้าญวนสามเสน  เรียก "กรมทหารฝรั่งแม่นปืนหลัง"  ส่วนกรมที่มีอยู่เดิม  ให้เรียก "กรมทหารฝรั่งแม่นปืนหน้า"

 

ผู้บัญชาการทหารปืนใหญ่

 

พ.ศ.๒๓๘๓  ทรงเป็นผู้บัญชาการทหารปืนใหญ่และทหารญวนต่างด้าว

          ทรงพระราชนิพนธ์ตำราปืนใหญ่ขึ้น โดยทรงแปลจากตำราภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย    กล่าวถึงความเป็นมาของปืนใหญ่ตั้งแต่ยังไม่มีลำกล้อง และ ทรงนำชื่อปืนใหญ่ ทั้ง  ๒๗๗  กระบอก  ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานขนานชื่อไว้  เมื่อ  พ.ศ.๒๓๖๘  มารวบรวมไว้    รวมทั้งตำราทำดินปืนของไทยแต่เดิม  ซึ่งนอกจากส่วนผสมดินปืนแล้ว  ยังต้องมียันต์ และคาถากำกับด้วย    ส่วนการฝึกหัดพลประจำปืนนั้น   อยู่ในตอนที่  ๔  และ ตอนที่  ๕  

             ผมขอนำเสนอเฉพาะตอนต้นของแต่ละตอน  พอเป็นตัวอย่าง  หากมีท่านใดสนใจ  จะนำมาเผยแพร่ให้ศึกษากัน  หมดทั้งเล่ม ต่อไป

 

ตอนที่  ๑

ตำนานปืนใหญ่

- - - - -

         จะกล่าวเล่มต้นพงศาวดารปืนใหญ่  และตำราปืน ตำราดิน    ตั้งแต่ครั้งศักราชฝรั่ง  ๑๒๘๐  ปี   คิดเป็นจุลศักราชไทยได้  ๖๔๒  ปี   มาจนถึงทุกวันนี้    ได้แปลออกจากภาษาอังกฤษ  เป็นคำไทย  ณ  วันศุกร์เดือนยี่   ขึ้น  ๕  ค่ำ  ปีฉลู   ตรินิศก  จุลศักราช  ๑๒๐๓    ใจความว่า  . . .

ฯลฯ

 

ตอนที่  ๒

ทำเนียบนามปืนใหญ่
 
ฯลฯ

 

ตอนที่  ๓

ตำราทำดินปืน และยิงปืนใหญ่

- - - - -

ตำราดินสำหรับพระพิไชยสงครามจะให้ศัตรูพ่ายแพ้  ท่านให้ประสมยาดิน  ดังนี้

 ฯลฯ

ตอนที่  ๔

การหัดปืนใหญ่รบกลางแปลง

- - - - -

วิธีหัด

          ปืนใหญ่รบกลางแปลงคราวนี้    จะว่าด้วยอย่างธรรมเนียมที่จะหัดปืนใหญ่รบกลางแปลง  และบอกให้ทหารยืนฝึกหัดในกระบวนรบต่างๆ  ตามอย่างใหม่ที่ได้ใช้มา  ตั้งแต่ศักราชฝรั่งได้   ๑๘๓๑  ปี    คิดเป็นจุลศักราชไทย  ตั้งแต่  ๑๑๙๓  โทศก    มาจนถึงทุกวันนี้    และตำรานี้ได้แปลออกจากภาษาอังกฤษ  ภาษามะลิกัน  ภาษาฝรั่งเศส    ชาติอื่นๆอีกหลายภาษา    ในใจความนั้น  ว่าด้วยธรรมเนียมทหารจะยืนประจำที่ตามตำแหน่ง    เมื่อเพลาจะยิง  จะใช้ปืนสำหรับจะได้เป็นคติร่ำเรียน  แห่งข้าราชการฝ่ายทหารปืนใหญ่ต่อๆ ไป    หวังจะให้เข้าใจชำนิชำนาญในการที่จะใช้สอนฝึกหัดทหาร และทำงานปืนใหญ่

ฯลฯ

 

ตอนที่  ๕

การหัดปืนป้อม และปืนเรือรบ

- - - - -

           เล่มนี้จะว่าด้วยฝึกหัดทหารให้รู้ในทำนองที่จะยิงปืน กระสุนโตตั้งแต่  ๗  นิ้ว   ๘  นิ้ว   ๙  นิ้ว   ๑๐  นิ้ว   ๑๑  นิ้ว    ใจความว่าด้วยธารมเนียมซึ่งทหารจะยืนประจำที่ตามตำแหน่ง    เมื่อเพลาจะยิงปืนรบในป้อม ในค่าย และในกำปั่นรบหลวง    จะให้นายทหารร่ำเรียนวิชาการปืนใหญ่ต่อๆ ไป  จะได้เข้าใจชำนิชำนาญในการจะใช้สอยและทำงานปืนใหญ่   คราวนี้จะว่าด้วยการฝึกหัดยิงปืนบนป้อมก่อน

 ฯลฯ

 

วิธีการฝึกทหารแบบตะวันตก

          ได้ทรงจัดวิธีการฝึกทหารแบบตะวันตกทั้งด้านยุทธศาสตร์ และยุทธวิธี  แต่เนื่องจากเป็นวิชาใหม่ในประเทศ  ยังไม่มีคำบอก คำสั่งมาก่อน  จึงต้องใช้คำบอก คำสั่งเป็นภาษาอังกฤษ  (ลิ้นไทย)  เช่น  . . .
  
          ประการหนึ่ง  คนในสำรับที่จะยิงปืนใหญ่นี้ต้องเปลี่ยนการทำไปให้รอบ  จำต้องหัดให้เป็นจนครบท่าทุกๆ คน  เมื่อไรคำบอกว่า "แจนจะฟะโรน"  คนยืนข้างขวาปืน นั้น   ถอยหลังลงมา  ยืนที่คนตรงหลัง   และคนข้างซ้ายปืนนั้น เดินขึ้นไปข้างหน้า  แล้วยืนที่ๆ คนตรงหน้า    

          "แจนจะฟะโรน"   ท่านว่าคือ   Change Front  ครับ    ลองดูอีกตัวอย่างนะครับ 

          . . . และเมื่อไรจะออกเดินเข้าไปยืนในที่ยิงปืนนั้น    คนที่เป็นเลข  ๑   เขาบอกว่า  "เรกเฟ เตกโปษ แอดเกิน กวิกมาจ์"  ทหารปืนใหญ่ยุคคอมพิวเตอร์    แน่ๆ มาจากสำนักประเทศไหน  ช่วยแปลหน่อยครับ          ท่านว่า  คือ    Right Face, Take Post At Gun, Quick March   ครับ


 
แม่ทัพปราบกบฏญวน
 

          พ.ศ.๒๓๘๔    ทรงเป็นแม่ทัพใหญ่นำกองทัพเรือจากกรุงเทพฯ ยกทัพไปตี "เมืองบันทายมาศ" เพื่อปราบกบฏญวน อยู่เป็นเวลาถึง  ๑๖  เดือน   เพื่อถ่วงเวลาให้กองทัพบกถมคลอง  ตัดเส้นทางส่งเสบียงและการคมนาคมทางน้ำ   เป็นการป้องกันไม่ให้กองทัพญวนเข้ามาตั้งในเขมรได้   

                ทรงใช้เรือพุทธอำนาจ  (Fairy) สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๓๗๙   ซึ่งเป็นเรือชนิดบาร์ก   ขนาด ๒๐๐ ตัน มีอาวุธปืนใหญ่ ๑๐ กระบอก  เป็นเรือพระที่นั่ง
 

สงคราม ไทย - ญวน   พ.ศ.๒๓๘๕

           พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริที่จะถมคลองขุดวิญเต ซึ่งญวนใช้เป็นเส้นทางยกกองทัพเรือมาเมืองบันทายมาศได้ราดเร็ว  แต่จะต้องทำลายกำลังของญวนที่รักษาปากคลอง เสียก่อน  จึงทรงพระกรุณาให้เจ้าพระยายมราชเป็นแม่ทัพใหญ่อยู่ที่พนมเปญ  (เจ้าพระยาบดินทร์เดชา ป่วย  รักษาตัวอยู่ที่พระตะบอง)  พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เป็นแม่ทัพ    จมื่นไวยวรนาถ เป็นแม่ทัพหน้ายกทัพเรือออกไปก่อน     

          กองทัพเรือไทยโจมตีทหารญวนที่รักษาป้อมปากน้ำเมืองบันทายมาศ  ญวนสู้ไม่ได้  ต้องส่งกำลังจากไซง่อนมาช่วย   กองทัพเรือไทยต้องถอยกลับมา  ญวนจึงสามารถรวมกำลังที่มีอยู่เข้าตีกองทัพบกของเจ้าพระยายมราชจนต้องถอยไป

          เจ้าพระยาบดินทร์เดชาเห็นว่าจะรักษาพนมเปญไว้ไม่ได้ต่อไป  เพราะอยู่ใกล้ญวนเกินไป  จึงให้นักองด้วงกลับมาตั้งมั่นที่อุดงฤาชัยอีก  แต่ก็จัดกำลังส่วนหนึ่งไว้รักษาพนมเปญ  ก็พอดีเกิดความไม่สงบขึ้นในตังเกี๋ย  พระเจ้าเทียวตรีจึงต้องถอนกำลังส่วนใหญ่จากเขมรกลับไป     ไทยจึงส่งกำลังเข้าครอบครองดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงไปจนถึงบริเวณเทือกเขาต่อแดนญวน  ยึดได้เมืองตะโปน  เมืองวัง  เมืองคำน้อย  เมืองพิน  เมืองคำม่วน (ในลาว)  และรวบรวมผู้คนมาอยู่แถบเมืองกาฬสินธุ์  และสกลนคร  จำนวนหนึ่ง

 

Second  King  of  Siam

        พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว    ทรงประชวรตั้งแต่  เดือนอ้าย  ปีจอ  โทศก  จุลศักราช  ๑๒๑๒    มาเสด็จสวรรคตในวันพุธ  เดือน  ๕   ขึ้นค่ำ  ๑    ปีกุน    ยังเป็นโทศก    พระบรมวงศานุวงศ์  และท่านเสนาบดี  และข้าราชการเป็นอันมาก    ปรึกษาพร้อมยอมถวายราชสมบัติและแผ่นดิน   แด่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าทั้ง  ๒  พระองค์   เพื่อว่าพระองค์ใหญ่จะได้พระบรมราชาภิเษกในพระบรมมหาราชวัง   และพระองค์น้อยจะได้พระบวรราชาภิเษกในพระบวรราชวัง

 

           พระองค์ใหญ่นั้น  คือ  สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ     พระองค์น้อยนั้น  คือ  สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์    ท่านทั้งปวงพร้อมกันเชิญเสด็จพระองค์ใหญ่เข้ามารักษาพระบรมมหาราชวัง   อยู่แต่  ณ  วันพฤหัสบดี  เดือน  ๕  ขึ้น  ๒  ค่ำ  ปีกุน  ยังเป็น โทศก

 

สมภารวัดร้าง

          . . . และคงเป็นด้วยเหตุที่วังหน้ารกร้างทรุดโทรมลงนี้เอง    จึงมีหมายรับสั่งปรากฏอยู่ว่าเมื่อก่อนพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จขึ้นไปประทับที่วังหน้านั้น   ให้ทำพิธีฝังอาถรรพ์  เมื่อเดือน  ๖  ขึ้นค่ำ  ๑    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดให้แห่พระพุทธสิหิงค์กลับไปสถิตประดิษฐานในพระราชวังบวร ฯ  และในวันนั้น  เวลาบ่าย  พระสงฆ์  ๒๐  รูปสวดมนต์ในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย      รุ่งขึ้น  วันขึ้น  ๒  ค่ำ  เวลาเช้า   พราหมณ์ฝังหลักอาถรรพ์ทุกป้อม และทุกประตูพระราชวังบวร ฯ   รวม  ๘๐  หลัก  

  

 

 

    
 พระพุทธสิหิงค์ภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์  (ปัจจุบัน)

 

          พระองค์น้อยได้เสด็จเข้าไปอยู่ในพระบวรราชวังแต่  ณ  วันศุกร์    เดือน  ๖  ขึ้น  ๒  ค่ำ    ปีกุน  ตรีศก  จุลศักราช  ๑๒๑๓     แต่ก่อนงานพระราชพิธีบวรราชาภิเศก   เสด็จประทับแรมอยู่ในพระฉาก ที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย  เสด็จขึ้นไปประทับที่พระบวรราชวังเวลากำลังปรัก หักพังทรุดโทรมทั่วไปทั้งวัง   ข้าราชการวังน่าที่ได้ตามเสด็จไปแต่แรก เล่ากันว่า   ถึงพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวออกพระโอษฐ์ว่า  "เออ อยู่ดีดีก็ให้มาเปนสมภารวัดร้าง"

         เมื่อเสด็จประทับพระบวรราชวังแล้ว  ก็โปรดให้ตั้งเสาธงสำหรับพระบวรราชวังขึ้น    ได้ชักธงพระจุฑามณีเป็นประจำ

           . . . ฉันมาทราบในภายหลังว่า การทำเสาธงนั้น เกี่ยวกับการเมือง เป็นข้อสำคัญ ควรจะเล่าให้ปรากฏ คือในเมืองไทยแต่ก่อนมา การตั้งเสาธงมีแต่ในเรือกำปั่น  บนบกหามีประเพณีเช่นนั้นไม่     มีคำเล่ากันมาว่า เมื่อในรัชกาลที่  ๓  พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดขนบธรรมเนียมฝรั่ง ให้ทำเสาธงขึ้น ณ พระราชวังเดิม  อันเป็นที่เสด็จประทับ  และชักธงบริวารเป็นเครื่องบูชาในเวลาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จ ไปทอดพระกฐิน     เมื่อสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทอดพระเนตรเห็น ตรัสถามผู้อยู่ใกล้พระองค์ว่า     “นั่น ท่านฟ้าน้อย เอาผ้าขี้ริ้วขึ้นตากทำไม?”

          พิเคราะห์เห็นว่า มิใช่เพราะไม่ทรงทราบว่า ทำโดยเคารพตามธรรมเนียมฝรั่ง ที่มีพระราชดำรัสเช่นนั้น เพราะไม่โปรดที่ไปเอาอย่างฝรั่งมาตั้งเสาชักธงเท่านั้นเอง

                                            "ความทรงจำ" พระนิพนธ์ สมเด็จฯกรมพระยา ดำรงราชานุภาพ

 

       พระองค์ใหญ่เสด็จเถลิงถวัลยราช  รับพระบรมราชาภิเษก    ในวันพฤหัสบดี  เดือน  ๖  ขึ้น   ๑๕  ค่ำ  ปีกุน  ตรีศก  จุลศักราช  ๑๒๑๓    ทรงพระนามในพระสุพรรณบัตรว่า  สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ  สุทธสมมติเทพยพงศ  วงศาอิศวรกระษัตริย  วรขัติยราชนิกโรดม  จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ  บรมธรรมิกมหาราชาธิราช  บรมนาถบพิตร  พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     เป็นพระเจ้าแผ่นดินสยามใหญ่  ที่  ๔  ในพระบรมราชวงศ์นี้

จึงโปรดให้ตั้งการ พระบวรราชาภิเษก มีพระนามในพระสุพรรณบัตรว่า

สมเด็จพระปวเรนทราเมศ  มหิศเรศรังสรรค์  มหันตวรเดโชไชย

มโหฬารคุณอดุลยพิเศษ  สรรพเทเวศรานุรักษ์  บวรจักรพรรดิราช

บวรนาถบพิตร

พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  

 

โปรดให้รับพระบวรราชโองการ  อย่างสมเด็จพระเจ้าเอกาทศรถ  ในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเจ้า  เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา

 

พระราชพิธีบวรราชาภิเศก

           พระราชพิธีบวรราชาภิเศก ตั้งสวดเมื่อ  ณ วันอาทิตย์  เดือน  ๖   แรม  ๑๐ ค่ำ เปนวันแรก    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จ โดยกระบวนพยุหยาตราแห่สี่สายขึ้นไปยังพระบวรราชวังในเวลาบ่าย ทั้ง  ๓ วัน    ครั้น  ณ วันพุฒ  เดือน  ๖   แรม  ๑๓ ค่ำ  เปนพระฤกษ์บวรราชาภิเศก   เสด็จขึ้นไปในเวลาเช้า   พระราชทานน้ำอภิเศกแลพระสุพรรณบัตร  กับทั้งเครื่องราชูปโภคแก่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว   ครั้นเสด็จกลับแล้ว  (ในจดหมายเหตุของเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ว่า)   พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จลงมาถวายดอกไม้ ธูป เทียนที่ในพระบรมมหาราชวัง    และวันรุ่งขึ้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นไปพระราชทานต้นไม้เงินทองของขวัญในการเฉลิมพระราชมณเฑียรที่พระบวรราชวังอิกครั้งหนึ่ง    และในการพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรครั้งนั้น โปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์  เสนาอำมาตย์  ราชเสวกทั้งฝ่ายวังหลวงวังน่าถวายดอกไม้ ธูป เทียน พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว    แต่ส่วนพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ทรงประพฤติตามแบบอย่างเจ้านายรับกรม คือ ถวายดอกไม้ธูปเทียนแก่พระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งเจริญพระชนมายุยิ่งกว่าพระองค์ทุกๆ พระองค์    ครั้นเสร็จการพระราชพิธีเฉลิมพระราชมนเทียรแล้ว โปรดให้แห่เสด็จพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเลียบพระนครทางสถลมารคอีกวันหนึ่ง   จึงเสด็จพระราชพิธีบวรราชาภิเศก

          สิ่งซึ่งสร้างขึ้นเฉลิมพระเกียรติยศพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว    เล่ากันมาว่า  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริเกือบจะทั้งนั้น    ทั้งพระราชมนเทียรสถาน และเครื่องราชูปโภคทั้งปวง  ตลอดจนตำแหน่งขุนนาง  . . . ฯลฯ . . . จะกล่าวแต่เฉพาะพระราชมนเทียรก่อน  คือ

          ข้อสำคัญ    ปราสาทไม่เคยมีในพระราชวังบวรสถานมงคล  จึงโปรดให้สร้างปราสาทขึ้นข้างหน้ามุขพระที่นั่งพุทไธสวรรค์องค์ ๑    ขนาดและรูปสัณฐานอย่างพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ ในพระบรมมหาราชวัง  ขนานนามว่า "พระที่นั่งคชกรรมประเวศ" มีเกยสำหรับขึ้นทรงช้างอยู่ข้างหน้า   

 

 

 

 

 "พระที่นั่งคชกรรมประเวศ" 

 

 

 

 

 

 

 

ซ้าย  พระที่นั่งคชกรรมประเวศก่อนรื้อ

ขวา  ฐานพระที่นั่งและที่เกยช้างของพระที่นั่งคชกรรมประเวศบริเวณหน้าพระที่นั่งพุทธไธสวรรย์ในปัจจุบัน

 

 

 

 

 

พระราชลัญจกร

 

 ฯลฯ
 

          พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อได้พระบวรราชาภิเษกแล้วได้ทรงปฏิสังขรณ์พระบวรราชวัง  ซึ่งชำรุดทรุดโทรมอยู่แต่ก่อน  แก้ไขให้งามดี เป็นปรกติดังเก่าบ้าง  ยิ่งกว่าเก่าบ้าง   ได้จัดการทหาร และเครื่องศัตราวุธสรรพรณยุทโธปการขึ้น  สำหรับแผ่นดินเป็นอันมาก

 

 

 

 

           ทรงจัดตั้งทหารวังหน้าขึ้น  ทั้งทหารบก และทหารเรือและทรงฝึกหัดทหารปืนใหญ่ต่อไป    ทรงเป็นธุระจัดการฝึกหัด และจัดการทหารด้วยพระองค์เอง    มีร้อยเอก น็อกซ์      (Thomas George Knox) นายทหารอังกฤษ  เป็นครูฝึกตามแบบฉบับทหารอังกฤษ    ทรงสะสมปืนใหญ่ปืนน้อย และเครื่องศาสตราวุธ  และ ยุทธภัณฑ์สำหรับกิจการทหารมากมาย  มีการก่อสร้างโรงนอนทหาร   โรงเก็บปืนใหญ่  และคลังสรรพาวุธ   ภายในพระบวรราชวังกิจการทหารในพระบวรราชวังจึงคึกคักมีชีวิตชีวา

           ทหารปืนใหญ่ญวนรุ่นแรก  (กองปืนใหญ่อาสาญวน)  นั้นมี  ๒ กอง    กองหนึ่งเป็นทหารวังหน้าของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  ตั้งเมื่อ  พ.ศ.๒๓๙๕   เป็นพวกญวนเข้ารึตนับถือคริสตศาสนา  ซึ่งเข้ามาสวามิภักดิ์ต่อกองทัพเรือเมื่อคราวสงคราม ไทยกับญวน  (พ.ศ.๒๓๗๗ - ๒๓๙๐)

           ส่วนอีกกองหนึ่งเป็นทหารปืนใหญ่ญวนนับถือพุทธศาสนา ซึ่งเป็นทหารวังหลวง    ตั้งขึ้นทีหลัง   เป็นหน่วยเดิมของทหารปืนใหญ่หลวง    

          กองปืนใหญ่อาสาญวน  (คริสตศาสนา)    เป็นปืนประจำป้อม  หรือปืนเรือ

          กองปืนใหญ่อาสาญวน  (พุทธศาสนา)    เป็นปืนใหญ่สนาม

 

         พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงจัดตั้ง “กรมทหารเรือวังหน้า” ขึ้น และทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือเป็นพระองค์แรก พระองค์ทรงวางรากฐานกิจการทหารเรือให้เข้าสู่ระบบสากลตามแบบอย่างประเทศตะวันตกทรงสร้างโรงทหารเรือขึ้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศใต้ของวังหน้า  โดยทรงต่อ "เรือกลไฟ"  ขึ้นเป็นครั้งแรกในสยาม

          ได้ทรงแปลงกำปั่นไทยให้เป็นเรือกลไฟรบ  ๒  ลำ  ชื่ออาสาวดีรส ลำหนึ่ง  ชื่อยงยศอโยชฌิยา ลำหนึ่ง    สำหรับพระนคร    เป็นความชอบแก่แผ่นดิน

 

 

 

เรืออาสาวดีรส    (SHERRY WINE)  ประเภท เรือยอช์ท (ตัวเรือไม้)
ระวางขับน้ำ เต็มที่  ๑๕๐ ตัน
ขนาด  ยาว  ๑๒๐ ฟุต   กว้าง  ๑๘ ฟุต 
เครื่องจักรท้าย กำลัง   ๔๐ แรงม้า
ขึ้นระวางประจำการ  พุทธศักราช  ๒๔๐๑ 

 

 

 

 

 

เรือยงยศอโยชฌิยา   (IMPREGNABLE หรือ JONG JOT) ประเภท เรือรบแบบสกูนเนอร์  (ตัวเรือไม้)
ระวางขับน้ำ เต็มที่  ๓๐๐ ตัน
ขนาด  ยาว  ๑๔๐ ฟุต   กว้าง ๒๙ ฟุต
อาวุธ ปืนใหญ่   ๖ กระบอก
เครื่องจักรท้าย กำลัง  ๖๐ แรงม้า
ขึ้นระวางประจำการ  พุทธศักราช  ๒๔๐๖

 

 

 

 

 

 

 

 

 

            ทรงรอบรู้ทางด้านการต่างประเทศ โดยทรงศึกษาภาษาอังกฤษจากมิชชันนารีอเมริกันจนเชี่ยวชาญ และทรงมีพระสหายชาวต่างประเทศเป็นจำนวนมาก พระองค์จึงทรงเป็นกำลังสำคัญยิ่งของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในด้านการต่างประเทศโดยทรงเป็นที่ปรึกษาในการทำสนธิสัญญาต่างๆ กับประเทศตะวันตก ในยุคเริ่มต้นการเข้ามาล่าอาณานิคมในประเทศสยาม

 

 

 

 

 

          ทรงเป็นหนึ่งในกลุ่มบุคคลแรกที่เริ่มใช้บัตรพระปรมาภิไธยอย่างฝรั่ง (นามบัตร)  ตามแบบชาติตะวันตกขึ้นครั้งแรกในสยาม

 

 

 

 

 

การวางผังถนนเจริญกรุง

 

         เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีความเชี่ยวชาญในเรื่องปืนใหญ่   จึงทรงทักท้วงการวางผังตัดถนนเจริญกรุงตรงจากสามแยกพุ่งเข้ามายังพระนคร เพราะทรงเห็นว่าหากข้าศึกนำปืนใหญ่มาตั้งที่ถนน จะยิงพระบรมมหาราชวังได้ง่าย

          ดังนั้น  จึงได้ตัดถนนเจริญกรุงโค้งอ้อมมาทางสะพานเหล็ก  (สะพานดำรงสถิต)    ซึ่งจะเห็นว่าถนนตอนนี้เลี้ยวหักมุมอยู่

 

 

 ราชธานีสำรอง 

           ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว    ชาติตะวันตกพยายามแสวงหาอาณานิคม  อยู่เสมอๆ  นับเป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรง    ในปี พ.ศ.๒๓๙๙    พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นไปตรวจเมืองนครราชสีมา เพื่อตั้งเป็นเมืองราชธานีสำรองหรือ “เมืองหลวงที่ ๒”  ไว้รองรับการรุกรานของชาติตะวันตก ทางทะเล

          ครั้นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จไปตรวจแล้วทรงเห็นว่าไม่เหมาะสมเพราะกันดารน้ำ   จึงได้เสด็จมาที่เมืองสระบุรีและโปรดเลือกบริเวณที่ "เขาคอก" ซึ่งมีที่ราบเป็นบริเวณกว้าง มีแนวภูเขาล้อมรอบเปรียบเสมือนป้อมปราการธรรมชาติ . . . ทรงสร้างที่ประทับขึ้น   ณ  บ้านสีทา   ริมแม่น้ำป่าสัก เพื่อเป็นที่เสด็จแปรพระราชฐาน และทรงควบคุมดูแลการก่อสร้างปรับปรุงตกแต่งเขาคอก ไว้เป็นป้อมปราการสำหรับป้องกันข้าศึกนักล่าอาณานิคมชาวตะวันตกในสมัยนั้น  . . .

 

ไม่โปรดที่จะแสดงยศศักดิ์  . . .  "เจ้าใหญ่นี่และต่อไปจะเปนที่พึ่งของญาติได้ "

 

 

         พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น    เล่ากันมาว่า  พระอัธยาศัยไม่โปรดที่จะแสดงยศศักดิ์    โดยปรกติเสด็จออกให้ข้าราชการเฝ้า  ก็เสด็จออกที่โรงรถ    ต่อเวลามีการพิธีจึงเสด็จออกท้องพระโรง    จะเสด็จที่ใด  ถ้ามิได้เป็นราชการงานเมือง  ก็มักจะเสด็จแต่โดยลำพังพระองค์    บางทีทรงม้าไปกับคนตามเสด็จคนหนึ่ง สองคน    โดยพอพระราชหฤทัยที่จะเที่ยวประพาสมิให้ใครรู้ว่าพระองค์เสด็จ     แม้จะเสด็จไปตามวังเจ้านายก็ไม่ให้ใครรู้พระองค์ก่อน . . . อันเรื่องทรงม้า    เล่ากันว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดนัก    ประทับอยู่พระบวรราชวังเสด็จทรงม้าเล่นในสนามไม่ขาด  บางทีก็ทรงคลี  บางทีเวลากลางคืน ให้ขี่ม้าเล่นซ่อนหา . . . เล่ากันว่าสนุกนัก   บางทีก็ถึงทรงม้าเข้าล่อช้างน้ำมัน    ครั้งหนึ่ง  ว่าทรงม้าผ่านตัวโปรด  ขึ้นระวางเป็นเจ้าพระยาสายฟ้าฟาด  เข้าล่อช้างพลายแก้ว  ซึ่งขึ้นระวางเป็นพลายไฟภัทกัล์ป  เวลาตกน้ำมัน    พอช้างไล่  ทรงกระทบแผงข้างจะให้ม้าวิ่ง    ม้าตัวนั้นเป็นเต้นน้อย ดี ไปเต้นน้อนเสีย    เล่ากันว่าวันนั้น  หากหมออาจ  ซึ่งเป็นหมอตัวดีขี่พลายแก้ว    เอาขอฟันที่สำคัญเหนี่ยวพลายแก้วไว้อยู่โดยฝีมือ    อีกนัยหนึ่งว่า  ปิดตาช้าง แล้วเบนไปเสียทางอื่นทัน   พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงไม่เป็นอันตราย     เห็นจะเป็นเพราะเหตุที่โปรดการทแกล้วทหาร และสนุกคะนองต่างๆ ดังกล่าวมานี้    จึงเกิดเสียงกระซิบลือกันว่า  พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวิชาอาคม  บางคนว่าหายพระองค์ได้  บ้างว่าเสด็จลงเหยียบเรือกำปั่นฝรั่งเอียงก็มี    กระบวนทรงช้างก็ว่าแข็งนัก    ของที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดทรงเล่น   ที่เล่าลือกันอีกอย่างหนึ่ง ก็แอ่วลาว  ว่าทรงได้สันทัดทั้งแคนทั้งแอ่ว     คำแอ่วเป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมีปรากฏอยู่จนบัดนี้หลายเล่มสมุด     เซอร์  ยอน เบาริง  ราชฑูตอังกฤษ เข้ามากรุงเทพฯ  แต่งหนังสือกล่าวไว้ว่า    เมื่อวันพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเลี้ยงนั้น    เมื่อเสร็จการเลี้ยงแล้ว  ทรงแคนให้ฟัง     เซอร์  ยอนเบาริง ชมไว้ในหนังสือว่า   ทรงเพราะนัก.

 

ฯลฯ

          . . . และในเดือนยี่ ปีฉลูสัปตศกนั้น  (จุลศักราช ๑๒๒๗ พ.ศ.๒๓๐๘)  เป็นกำหนดพระฤกษ์จะได้ทำการพระราชพิธีโสกันต์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริห์ว่าสมเด็จพระอนุชาธิราชประชวรมากอยู่ จะโปรดให้เลื่อนงานโสกันต์ไป ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กราบทูลขออย่าให้เลื่อนงาน ว่าพระองค์ประชวรมากอยู่แล้ว จะไม่ได้มีโอกาสสมโภช จึงต้องโปรดให้คงงานไว้ตามพระฤกษ์เดิม   ครั้นถึงงาน  พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสสั่งให้เจ้าพนักงานเตรียมกระบวนจะเสด็จลงมาจรดพระกันไกรพระราชทาน   พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ก็ต้องรับสั่งให้ทอดที่ราชอาศน์เตรียมไว้รับเสด็จตามเคย  ทั้งทรงทราบอยู่ว่าพระอาการมากจะไม่เสด็จลงมาได้ โดยจะมิให้สมเด็จพระอนุชาธิราชโทมนัศน้อยพระไทย   ด้วยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระเมตตาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาก    ข้าพเจ้าเคยได้ยินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   รับสั่งเล่าว่า เมื่อยังทรงพระเยาว์อยู่นั้น เสด็จขึ้นไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อใด   มักดำรัสเรียกเข้าไปให้ใกล้  แล้วยกพระหัตถ์ลูบ   รับสั่งว่า  "เจ้าใหญ่นี่และต่อไปจะเปนที่พึ่งของญาติได้"

 

ทรงพระประชวร -  เสด็จสวรรคต

        พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว   ตั้งแต่ทรงพระเจริญวัย  มาจนถึงปีวอก  โทศก  จุลศักราช  ๑๒๒๒    มีพระราชบุตรพระราชธิดาเป็นอันมาก  นับถึง  ๖๓  พระองค์  แต่สิ้พระชนม์เสียแต่ยังพระเยาว์  ๓๓  พระองค์      ยังคงอยู่  ๓๐  พระองค์   พระองค์เจ้าชาย  ๑๖  พระองค์    พระองค์เจ้าหญิง   ๑๔  พระองค์     ตั้งแต่ปลายปีระกา    ตรีศก  จุลศักราช  ๑๒๒๓    พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรมีพระอาการต่างๆ ไป  ไม่เป็นปรกติ    ไม่สบายพระองค์สืบๆ มา   จนถึงเดือน  ๖  ปีฉลู  สัปตศก  จุลศักราช  ๑๒๒๗    ทรงพระประชวรมาก   พระกายทรุดโทรม  พระกำลังหย่อนลง    แพทย์หมอหลายพวกหลายเหล่าถวายพระโอสถแก้ไข    พระอาการคลายบ้าง แล้วทรุดไปเล่า    จนถึง  วันอาทิตย์  เดือน  ๒  แรม  ๖  ค่ำ  ปีฉลู  สัปตศก    เวลาเช้า  ๓  โมง  คือ  ๙  นาฬิกา แต่เที่ยงคืน  เสด็จสวรรคต    เมื่อเวลาพระอาทิตย์  สถิตราศีธนู  องศา  ๒๕  สิริพระชนมายุตามจันทรคติอย่างชาวสยามใช้    ได้  ๕๗  ปี   กับ  ๕  เดือน  กับ  ๕  วัน    นับเป็นวันได้  ๒๐๙๔๓  กับเศษอีก  ๔  ชั่วโมง

        เมื่อทรงพระประชวรหนักใกล้จะเสด็จสวรรคต    ไม่ได้ทรงสั่งการอันหนึ่งอันใดให้ลำบากพระราชหฤทัย    ไว้วางพระราชอัธยาศัยแสดงการทรงเชื่อถือเป็นหนึ่งว่า  สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชซึ่งทรงดำรงยุติธรรมจะทรงพระราชดำริ  แล้วดำรัสการทุกสิ่งทุกอย่าง     สมควรแก่เหตุผลโดยยุติธรรม  และราชการแผ่นดินไม่ต้องทรงพระวิตกเพราะเคยเห็นการที่ชอบเป็นมาแล้วแต่หนหลังนั้น เป็นอันมาก

           พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  เสด็จสวรรคต ในวันอาทิตย์ที่  ๗  มกราคม  พ.ศ.๒๔๐๘   เวลา  ๐๙๐๐   ณ พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ รวมพระชนมายุได้  ๕๘ พรรษา  ครองราชสมบัติอยู่ประมาณ ๑๕ ปี     พระองค์ไม่ได้ทรงสถาปนาพระอัครมเหสี  ทรงมีแต่พระสนมเอกคือ เจ้าคุณจอมมารดาเอม  นับโดยรวมพระองค์ทรงมีเจ้าจอมหม่อมห้าม   ทั้งสิ้น ๓๑ ท่าน     พระราชโอรสธิดารวม   ๕๘ พระองค์

 

 

 

 

 

 

 

 

 

พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์

 

 

 

 

           . . . การพระศพโปรดให้เรียกว่า พระบรมศพจัดเหมือนอย่างพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทุกอย่าง  เว้นแต่มิได้มีพระลองเงิน  กับประกาศให้คนโกนหัวไว้ทุกข์แต่ที่มีสังกัดในพระบวรราชวัง  เหมือนอย่างกรมพระราชวังบวรฯ   มิได้ให้โกนหัวทั้งแผ่นดิน

 

          ครั้นถึง  ปีขาล  พ.ศ.๒๔๐๙  โปรดให้ทำพระเมรุที่ท้องสนามหลวง    ตามแบบอย่างพระเมรุพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน   และจัดการแห่พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทำนองครั้งกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ในรัชกาลที่  ๒    แต่เพิ่มเติมพระเกียรติยศพิเศษขึ้นเป็นหลายประการ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

          ปรากฏรายการงานพระเมรุครั้งนั้นว่า   ณ  เดือน ๓  ขึ้น ๔ ค่ำ   เชิญพระบรมธาตุแห่แต่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยในพระบวรราชวัง ออกประตูมหาโภคราช และประตูบวรยาตรา ด้านตะวันออก มาสมโภชที่พระเมรุวันกับคืนหนึ่ง แห่พระบรมธาตุกลับแล้ว   ถึงเดือน  ๓  ขึ้น  ๖ ค่ำ    เพลาบ่าย ๒ โมง  เชิญพระบรมศพแห่ออกประตูโอภาสพิมานชั้นกลางด้านเหนือ  และประตูพิจิตรเจษฎา ด้านตะวันตกพระบวรราชวัง ไปถึงตำหนักแพ   เชิญพระบรมโกศประดิษฐานเหนือพระแท่นแว่นฟ้าในเรือพระที่นั่งกิ่งไกรสรมุข   แห่ล่องลงมาประทับที่พระราชวังเดิม   ด้วยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประทับอยู่ตลอดในรัชกาลที่ ๓   มีมหรสพสมโภชคืนหนึ่ง    ครั้นเวลาดึกเคลื่อนเรือพระบรมศพประทับที่ท่าฉนวนวัดพระเชตุพน   รุ่งขึ้น   ขึ้น ๖ ค่ำ  เวลาเช้าแห่กระบวนน้อยไปยังที่ตั้งกระบวนใหญ่ที่ถนนสนามไชย   เชิญพระบรมโกศขึ้น พระมหาพิไชยราชรถ  แห่ไปยังพระเมรุมาศ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล   และมีมหรสพสมโภช  ๗ วัน   แล้วพระราชทานเพลิงเมื่อขึ้น  ๑๔ ค่ำ

 เมื่อเสร็จการสมโภชพระบรมอัฐิแล้ว โปรดให้เชิญไปประดิษฐานไว้ที่พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์  ที่ในพระบวรราชวัง.

 

 

 

 

 


 

พระป้าย  ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว   (กลาง)

 ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  (ซ้าย)      และของสมเด็จพระศรีสุริเยนทรา  บรมราชชนนี  (ขวา)

 

 

วังสีทา   บ้านสีทา   ต.สองคอน   อ.แก่งคอย   จ.สระบุรี

         เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้รื้อพระตำหนักและพลับพลาที่ประทับต่างๆ ที่วังสีทา  ขนเครื่องไม้ และรื้อนำเอาอิฐบางส่วนนำมาสร้างวังต่างๆในกรุงเทพฯ...

 

"สถานที่แห่งนี้จึงถูกปล่อยทิ้งให้รกร้างไปตามกาลเวลา มีชาวบ้านเข้ามาจับจองทำพื้นที่เกษตรกรรมอยู่หลายชั่วอายุคน โดยไม่รู้ว่าใต้พื้นดินนั้นมีส่วนฐานของวังสีทาในอดีตหลงเหลืออยู่ "

 

 

 

 

 

 

 

 

 

พระบวรราชานุสาวรีย์

พระบาทสมเด็จพระปวเรนทราเมศ  มหิศเรศรังสรรค์

มหันตวรเดโชไชย  มโหฬารคุณอดุลยพิเศษ

สรรพเทเวศรานุรักษ์  บวรจักรพรรดิราช  บวรนาถบพิตร

พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว 

 

ณ  หน้าโรงละครแห่งชาติ  เชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า  กรุงเทพมหานคร

 

๗  มกราคม  ๒๕๕๓  

วันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

ปีที่  ๑๔๕ 

 

ข้าพระพุทธเจ้าขออัญเชิญดวงพระวิญญาณของพระองค์ท่าน

ทรงสถิตเสวยสุข  ณ  ทิพยสถานชั่วนิรันดร์ เทอญ.

 

 

 

 

 

ปกิณกะ

 

การแต่งกายของทหารปืนใหญ่

 

           การแต่งกายของทหารปืนใหญ่ญวนรุ่นหลังซึ่งพ้นสมัยแล้ว    ถ่ายในกระทรวงกลาโหม เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๒  "ปืนใหญ่เป็นแบบ อาร์สตรอง  ขนาด  ๓  นิ้ว"  ซึ่งเป็นปืนชนิดบรรจุทางปากลำกล้อง  ได้สั่งเข้ามาใช้ราชการเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๕

     ทหารปืนใหญ่ญวนรุ่นแรก  (กองปืนใหญ่อาสาญวน)  นั้นมี  ๒ กอง

          กองหนึ่งเป็นทหารวังหน้าของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว    ตั้งเมื่อ  พ.ศ.๒๓๙๕    เป็นพวกญวนเข้ารึตนับถือคริสตศาสนา  ซึ่งเข้ามาสวามิภักดิ์ต่อกองทัพเรือเมื่อคราวสงคราม ไทยกับญวน  (พ.ศ.๒๓๗๗ - ๒๓๙๐)    แล้วได้ยุบมารวมกับทหารวังหลวงเมื่อ พ.ศ.๒๔๒๘   

 

          ส่วนอีกกองหนึ่งเป็นทหารปืนใหญ่ญวนนับถือพุทธศาสนา ซึ่งเป็นทหารวังหลวง    ตั้งขึ้นทีหลัง    เป็นหน่วยเดิมของทหารปืนใหญ่หลวง   หรือกองพันทหารปืนใหญ่ที่  ๑

 

 

          กองปืนใหญ่อาสาญวน  (เข้ารีต)    เป็นปืนประจำป้อม  หรือปืนเรือ

          กองปืนใหญ่อาสาญวน  (พุทธศาสนา)    เป็นปืนใหญ่สนาม
         

 

กองอาสาญวน

          กองอาสาญวน   สมัยรัชกาลที่ ๓ ได้มีพวกญวนอพยพเข้ามาอยู่ในเมืองไทย  ๓ คราว ด้วยกันคือ

          คราวที่ ๑   เมื่อ พ.ศ.๒๓๗๖

            ญวนที่นับถือพระพุทธศาสนา โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งบ้านเรือนที่เมืองกาญจนบุรี สำหรับรักษาป้อมเมืองใหม่ซึ่งทรงตั้งขึ้นที่ปากแพรก

            ส่วนญวนที่ถือคริสตังโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลสามเสนในกรุงเทพ และให้ขึ้นกับเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ทรงฝึกหัดเป็นทหารปืนใหญ่

          คราวที่ ๒    เมื่อ พ.ศ.๒๓๘๓

            เป็นพวกญวนที่นับถือศาสนาพุทธ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งบ้านเรือนที่บางโพ  และขึ้นอยู่กับเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์   สังกัดกรมอาสาญวน เป็นพลทหารปืนใหญ่ประจำป้อม

          ในรัชกาลที่ ๔   พวกญวนคริสตังย้ายไปเป็นทหารปืนใหญ่ฝ่ายพระบวรราชวัง   รัชกาลที่ ๔ ทรงทราบว่า พวกญวนส่วนมากที่อยู่เมืองกาญจนบุรี มีความประสงค์จะมาอยู่กรุงเทพ ฯ  เหมือนกับญวนพวกอื่น     ดังนั้น  จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่คลองผดุงกรุงเกษม   ซึ่งโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ขุดใหม่  แล้วให้จัดเป็นทหารปืนใหญ่ฝ่ายวังหลวงสืบมา

 

 

 

ปืนใหญ่ทองเหลืองปากบาง  BrassArty

ทหารสวมเสื้อทูนิคดำ ข้อมือแดง กับปืนใหญ่ทองเหลืองปากบาง ซึ่งเป็นปืนบรรจุทางปากลำกล้อง

 

 

 

 

ปืนใหญ่ภูเขาบรอดเวล  Broadwel

ปืนใหญ่ภูเขา"บรอดเวล" ขนาดกว้างปากลำกล้อง ๗ ซม. เป็นปืนบรรจุกระสุนทางปากลำกล้อง

 

 

 

 

ปืนใหญ่ภูเขาแบบ  ๓๐  " อุลเคเชียส " หรือ "สตีลบรอนซ์" 

 

          ปืนใหญ่ภูเขาแบบ  ๓๐  ขนาดปากลำกล้องกว้าง  ๗ ซม.    สั่งเข้ามาในปี พ.ศ. ๒๔๓๐  ระยะยิง ๒,๕๐๐ เมตร  ปืนชนิดนี้มีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า ปืน " อุลเคเชียส " หรือ "สตีลบรอนซ์"

 ข้อมูลจาก  พิพิธภัณฑ์สรรพาวุธทหารบก 

 

 

 

พระราชวังเดิม

 

           พระราชวังเดิมนี้เคยเป็นสถานที่ ๆ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว   เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่  ๓๑ มีนาคม พุทธศักราช  ๒๓๓๐   วันที่  ๑๘  ตุลาคม พุทธศักราช  ๒๓๔๗   และวันที่  ๔  กันยายน  พุทธศักราช  ๒๓๕๑   ตามลำดับ

          เนื่องจากพระราชวังนี้   มีความสำคัญในทำเลที่ตั้ง   จึงทรงแต่งตั้งพระราชวงศ์ชั้นสูงที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยมาประทับ    พระราชดำรินี้ได้สืบทอดมาทุกรัชกาล 

 

         พระราชวงศ์ชั้นสูงที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้มาประทับที่พระราชวังเดิมเรียงตามรัชกาลตั้งแต่รัชกาลที่ ๑   มีดังนี้

 

รัชกาลที่  ๑

     - เจ้าฟ้ากรมหลวงธิเบศร์บดินทร์ ระหว่างปีพุทธศักราช   ๒๓๒๕ - ๒๓๒๘

     - สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ระหว่างปีพุทธศักราช  ๒๓๒๘- ๒๓๕๒

 

รัชกาลที่  ๒

     - สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี ระหว่างปีพุทธศักราช  ๒๓๕๔ - ๒๓๖๕ 

     - สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฏ ระหว่างปีพุทธศักราช  ๒๓๖๖ - ๒๓๖๗

 

รัชกาลที่  ๓

     - สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศเรศรังสรรค์ ระหว่างปีพุทธศักราช  ๒๓๖๔ - ๒๓๙๔

 

รัชกาลที่  ๔

     - พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวาษาธิราชสนิท  ระหว่างปีพุทธศักราช  ๒๓๙๔ - ๒๔๑๓

 

รัชกาลที่  ๕

     - สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ  เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี  กรมพระจักรพรรดิพงศ์ ระหว่างปีพุทธศักราช  ๒๔๒๔ - ๒๔๔๓

           ภายหลังจากที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี  กรมพระจักรพรรดิพงศ์สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทาน พระราชวังเดิมให้เป็นที่ตั้งโรงเรียนนายเรือ  ตั้งแต่วันที่  ๒๓  กุมภาพันธ์  พ.ศ.๒๔๔๓

 

วังสีทา   บ้านสีทา   ต.สองคอน   อ.แก่งคอย   จ.สระบุรี

          กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่งและขุดค้นทางโบราณคดี เมื่อ  พ.ศ.๒๕๔๖ - ๒๕๔๗ และขึ้นทะเบียนไว้เป็นโบราณสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของชาติ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

วังสีทา   เมื่อกรมศิลปากรได้ขุดแต่งแล้ว

 

 

ร.ล.ปิ่นเกล้า      413

 

 

 

 

 

ประเภทเรือ              เรือฟริเกต 

เดิมชื่อ                   USS.HEMMINGER (DE 746)    ของนาวีสหรัฐอเมริกา 

วางกระดูกงูเมื่อ       ๘  พฤษภาคม  ๒๔๘๖        

          ได้รับภารกิจ  "เรือพิฆาตคุ้มกัน" ขบวนเรือสินค้า ในมหาสมุทรแอตแลนติค    ต่อมาได้ปฏิบัติการในแนวรบด้านแปซิฟิก โดยมีภารกิจหลักคือเป็น "เรือปราบเรือดำน้ำ" ด้วยระบบโซนาร์และตอร์ปิโด ที่มีสมรรถนะสูงลิ่วในยุคนั้น

ขึ้นระวางประจำการ       ๓๑ สิงหาคม  ๒๕๐๒

ได้รับนามเรียกขานเสียใหม่ว่า   "ร.ล.ปิ่นเกล้า"    เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว   ตามหลักการตั้งชื่อเรือของกองทัพเรือไทย   เรือพิฆาต ตั้งตามชื่อตัว ชื่อบรรดาศักดิ์ หรือชื่อสกุลของบุคคลที่เป็นวีรบุรุษของชาติ 

ระวางขับน้ำ              ปกติ ๑,๒๔๐ ตัน เต็มที่ ๑,๙๓๐ ตัน  

ขนาด                     ความยาว ๙๑.๘ เมตร  (๓๐๖ ฟุต) 

                              ความกว้าง ๑๑.๒๒ เมตร(๓๖ ฟุต ๗.๒๕ นิ้ว)

กินน้ำลึก                ๔.๕  เมตร 

ความเร็ว               สูงสุด ๑๔ นอต   มัธยัสถ์ ๑๐  นอต

รัศมีทำการ           ๘,๓๔๐ไมล์ ที่ความเร็วมัธยัสถ์ 

ระบบอาวุธ

          ปืน  ๗๖/๕๐ มม.   จำนวน  ๓ กระบอก  

          ปืน  ๔๐/๖๐ มม. แท่นคู่    จำนวน  ๓ แท่น

          ปืนกล  .๕๐ นิ้ว   จำนวน  ๔ กระบอก 

          ตอร์ปิโด PMW-49A   แบบแท่นเดี่ยวแฝดสาม    จำนวน   ๒  แท่น  (ยิงตอร์ปิโดว์ Mk.44 และ Stingray)

          แท่นยิงระเบิดลึก         ๘  แท่น 

          อาวุธปราบเรือดำน้ำ Mortar      1 แท่น

          รางปล่อยระเบิดลึก        ๒  ราง 

          ได้รับภารกิจ "เรือพิฆาตคุ้มกัน" ขบวนเรือสินค้าอังกฤษที่ถูกเรือดำน้ำของนาซีเยอรมันไล่จมลงลำแล้วลำเล่า     แต่ภายหลังเมื่อกองทัพฝ่ายอักษะอ่อนแรงลง เรือรบพิฆาตสัญชาติอเมริกันจึงย้ายมาอยู่ในแนวรบด้านแปซิฟิกแทน โดยมีภารกิจหลักคือเป็น  "เรือปราบเรือดำน้ำ" ด้วยระบบโซนาร์และตอร์ปิโด ที่มีสมรรถนะสูงลิ่วในยุคนั้น

 

 

 

 

 

แสตมป์ชุด   "พระราชวังเดิม"     ๒  เมษายน  ๒๕๔๙

 

 

   บนซ้าย    ท้องพระโรง

     บนขวา    ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

 

     ล่างซ้าย    พระตำหนักเก๋งหลังเล็ก  หลังใหญ่

     ล่างขวา    พระตำหนักเก๋งพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว 

 

 

 

๐    ๐    ๐    ๐    ๐

 

 

บรรณานุกรม

          - พระราชประวัติสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว    พระราชนิพนธ์รัชกาลที่  ๔,  พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว    คัดจากตำนานวังหน้า    พระนิพนธ์สมเด็จ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ    พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ    หม่อมเจ้า  ขจรศุภสวัสดิ์  นันทวัน    ณ  เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม   วันที่  ๒๐  กรกฎาคม   ๒๔๙๖

          - พระราชนิพนธ์  ตำราปืนใหญ่  ของ  พระบาทสมเด็จพระปวเรนทราเมศ  มหิศเรศรังสรรค์  พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว   พิมพ์ที่โรงพิมพ์พานิชศุภผล   ถนนวานิช  ๑    พระนคร    ๒๐  กุมภาพันธ์  พ.ศ.๒๕๐๕

          - "ความทรงจำ"   พระนิพนธ์  สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

          - ประวัติกองทัพไทยในรอบ  ๒๐๐  ปี    พ.ศ.๒๓๒๕ - ๒๕๒๕      โรงพิมพ์กรมแผนที่ทหาร    กรุงเทพมหานคร    พ.ศ.๒๕๒๕

          - พระราชประวัติสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว    จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองพระเกียรติคุณฯ    บริษัท  สำนักพิมพ์สมาพันธ์  จำกัด    ถนนพิชัย  เขตดุสิต  กรุงเทพฯ    ธันวาคม  ๒๕๔๕

 

 

 




ประวัติศาสตร์สงคราม กรีก โดย สัมพันธ์

อเล็กซานเดอร์มหาราช : สู่ตะวันออก
อเล็กซานเดอร์มหาราช : เริ่มลมเหนือ
สงคราม กรีก - กรีก
สงคราม กรีก - เปอร์เซีย



แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker