dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



Valkyrie : ยุทธการดับจอมอหังการ์อินทรีเหล็ก

webmaster@iseehistory.com

เวลาเราพูดถึงระบอบเผด็จการ เรามักนึกถึง "ทหาร" ควบคู่ไปด้วย ไม่ว่าจะหมายถึง "กองทัพ" หรือเฉพาะนายทหารระดับสูงที่คุมกำลังพล  แต่สำหรับ "ฮิตเลอร์" ที่ดูเหมือนจะเป็นต้นตำรับหรือสัญลักษณ์ของเผด็จการแล้ว เขากลับมีอดีตเป็นทหารเพียงยศสิบโท ระหว่างเล่นการเมืองเคยพยายามใช้กำลังเข้ายึดอำนาจรัฐในบาวาเรีย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 1923/พ.ศ.2466 โดยมีกองกำลังส่วนตัวจำนวนหนึ่งและมีนายทหารที่ไม่ได้คุมกำลังเข้าร่วมบ้าง แล้วผลก็คือล้มเหลวไม่เป็นท่าจนถูกจองจำอยู่ระยะหนึ่ง จากนั้นบันไดสู่อำนาจของเขาก็มาจากการเลือกตั้งเป็นหลัก เมื่อมีคะแนนเสียงในรัฐสภามากพอแล้ว จึงเริ่มแก้กฎหมายให้อำนาจตนเอง โดยมีกองกำลังส่วนตัวคือพวกเอสเอและเอสเอสสนับสนุนบ้าง ไม่ใช่ "กองทัพ" หรือกำลังทหารประจำการอย่างเช่นการยึดอำนาจในอีกหลายๆ ประเทศ  เมื่อได้อำนาจแล้ว แม้ว่ารัฐบาลนาซีจะได้มีส่วนในการฟื้นฟูกองทัพเยอรมันให้กลับเข้มแข็งขึ้นมาอีก แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างฮิตเลอร์กับกองทัพเป็นไปโดยราบรื่น  หน่วยเอสเอสที่เขาจัดตั้งขึ้นมาได้กลายมาเป็น "กองทัพซ้อนกองทัพ" และ "รัฐซ้อนรัฐ" สงครามที่ฮิตเลอร์ก่อขึ้นสร้างความโหดร้ายต่อประเทศที่ถูกรุกรานอย่างเกินกว่าเหตุ และกำลังเข้าสู่ความเพลี่ยงพล้ำ จึงมีผู้ที่คิดจะโค่นล้มเขา ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจาก "กองทัพ" นั่นเอง

ความพยายามลอบสังหารฮิตเลอร์และกระทำรัฐประหารรัฐบาลนาซีครั้งสำคัญ คือ แผนการเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 1944/พ.ศ.2487 เมื่อนายพันเอกสเตาเฟนแบร์ก (Claus Schenk Graf von Stauffenberg ) ได้ลงมือวางระเบิดเพื่อพยายามสังหารฮิตเลอร์และร่วมกับสมัครพรรคพวกกระทำรัฐประหารซึ่งถ้าหากประสบความสำเร็จ อาจช่วยให้เยอรมันบอบช้ำน้อยกว่าที่เราทราบกันดีก็เป็นได้ ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดที่กล่าวถึงวีรกรรมของสเตาเฟนแบร์ก คือ เรื่อง Valkyrie ที่นำแสดงโดย Tom Cruise เริ่มฉายเมื่อปี 2008/พ.ศ.2551 และฉายในเมืองไทยเมื่อต้นปี 2552 ที่ผ่านมานี้เอง


ภาพจาก http://en.wikipedia.org/wiki/Valkyrie_%28film%29 
เปรียบเทียบ Stauffenberg ตัวจริง (ซ้าย) กับ Tom Cruise (ขวา)

(เมื่อตอนที่ผมเขียนบทความหลังจากดูภาพยนตร์เรื่อง Valkyrie ผมได้เขียนชื่อภาษาไทยของเขาว่า "สเตาเฟนแบร์ก" ในที่นี้ขอใช้ว่า "สตอฟเฟนเบอร์ก" ตามบทความของพันโทศนิโรจน์ ธรรมยศ ไปพลางก่อน แม้จะยังไม่แน่ใจว่าเขียนแบบไหนจะถูกต้องที่สุด)

ด้านประวัติของสเตาเฟนแบร์กนั้น มีเรียบเรียงเป็นภาษาไทยไว้เป็นอย่างดีแล้ว โดย พันโทศนิโรจน์ ธรรมยศ ตามลิงค์ข้างท้าย ในที่นี้คงขอเน้นในบางประเด็นที่สำคัญคือ เขาเป็นนายทหารเชื้อสายขุนนางเก่า (คำว่า Graf นั้นเทียบเท่าตำแหน่ง Count ของอังกฤษ) เข้ารีบราชการทหารในปี 1926 ในกรมทหารม้าที่ 17 (17th Cavalry Regiment) ใน Bamberg มียศเป็นร้อยตรี และติดยศร้อยโทในปี 1930 ในช่วงแรกที่นาซีมีอำนาจ เขาก็ดูเหมือนจะคล้อยตามนโยบายการขยายอำนาจของนาซี ในการบุกเข้ายึดครองโปแลนด์ แต่ด้วยความเป็นแคทอลิคที่เคร่งครัด เขาไม่เห็นด้วยกับนโยบายหลายประการของพรรคนาซี และไม่เคยเข้าร่วมเป็นสมาชิกของพรรคนาซีเลยจนกระทั่งเสียชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายการกำจัดชาวยิว เคยได้รับการทาบทามจากลุงของเขา Nikolaus Graf von Uxkull ตั้งแต่ปี 1939 ให้เข้าร่วมขบวนการต่อต้านฮิตเลอร์ แต่สเตาเฟนแบร์กปฏิเสธ ครั้นเมื่อสงครามขยายตัวมากขึ้น เขาจึงเริ่มเห็นความเลวร้ายของนาซีในการสังหารเชลยศึกชาวรัสเซีย ยิว และชนชาติอื่นเป็นจำนวนมาก ความไม่พอใจต่อฮิตเลอร์และนาซีได้สะสมมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเมื่อเขาได้รับบาดเจ็บจนพิการเสียตาซ้าย มือขวา และนิ้วมือซ้ายอีกสองนิ้วในสมรภูมิอาฟริกาเหนือเมื่อ 7 เมษายน 1943 เขาจึงได้เข้าร่วมขบวนการต่อต้านฮิตเลอร์ จนเกิดเป็นวีรกรรมในภาพยนตร์เรื่อง Valkyrie ที่เรากำลังจะคุยกันในครั้งนี้


ปฏิบัติการในตูนิเซีย ทะเลทรายอาฟริกาเหนือ ก่อนได้รับบาดเจ็บ

ฉากแรกเริ่มที่สมรภูมิทะเลทรายอาฟริกาเหนือ สเตาเฟนแบร์ก อยู่ในสังกัดกองพลพานเซอร์ที่ 10 ตูนิเซีย เขาได้เขียนจดหมายถึงภรรยาบ่นเรื่องอาชญากรรมของนาซี จากนั้นได้พบกับนายพลอะไรก็ไม่ทราบ (แต่งตัวสไตล์เดียวกับจอมพลรอมเมลเด๊ะ แต่หน้าตาไม่ใช่แน่) เจรจาขอให้ถอนกำลังทหารไป Mezzouna และกลับไปปกป้องเยอรมัน แทนการปะทะกับสัมพันธมิตร ซึ่งท่านนายพลก็ยอมฟัง แต่ยังไม่ทันจะดำเนินการใดๆ พอดีเครื่องบินข้าศึกบุกเข้ามาโจมตี ทำให้ท่านนายพลเสียชีวิต ส่วนสเตาเฟนแบร์กได้รับบาดเจ็บสาหัส และถูกส่งตัวกลับมารักษาที่เยอรมัน


จากซ้ายไปขวา
แถวบน : von Tresckow, Dr. Goerdeler, Ludwig Beck และ von Witzleben
แถวล่าง : Olbricht, von Quirnheim, von Haeften และ Fellgiebel

ที่แนวหน้าของเยอรมัน เมือง Smolensk ในรัสเซีย 13 มีนาคม 1943/พ.ศ.2486 ฮิตเลอร์กับคณะนั่งเครื่องบินมาตรวจเยี่ยมกำลังพล นายพลเทรสโคว (Major-General Henning von Tresckow) พยายามสังหารฮิตเลอร์โดยวางระเบิดในขวดเหล้าที่นำไปมอบให้ผู้การบรันท์ (Colonel Brandt) นายทหารคนหนึ่งในคณะโดยอ้างว่าฝากไปให้ผู้การสตีฟ (Colonel Stieff) ที่เบอร์ลิน ผลปรากฏว่าระเบิดไม่ทำงาน เครื่องบินของคณะฮิตเลอร์เดินทางถึงเบอร์ลินโดยสวัสดิภาพ เทรสโควซึ่งกำลังจะไปเบอร์ลินโทรไปขอรับขวดเหล้าคืนจากบรันท์อ้างว่าส่งให้ผิดขวด รุ่งขึ้นเมื่อเทรสโควไปรับขวดเหล้าคืนที่บก.สูงสุด บรันท์ซึ่งอาจระแวงอยู่แล้วขอให้เทรสโควเปิดขวด แต่เทรสโควอ้างว่าฮิตเลอร์คงไม่ชอบให้ทหารดื่มเหล้าขณะปฏิบัติหน้าที่ นายพล Olbricht รองผู้บัญชาการกำลังสำรองซึ่งอยู่ในฝ่ายผู้ต่อต้านฮิตเลอร์เช่นกันแจ้งแก่เทรสโครวว่าสมาชิกคนสำคัญคือ Oster ถูกเกสตาโปจับไปแล้ว ต้องรีบหาคนมาแทน ทางด้านของสเตาเฟนแบร์ก นีน่าหรือเคาน์เตสฟอนสเตาเฟนแบร์กผู้ภรรยาได้มาเยี่ยมที่โรงพยาบาล พบว่าเขาต้องพิการสูญเสียตาซ้าย มือขวา และนิ้วนางนิ้วก้อยข้างซ้าย ขณะที่นายพลโอลบริคท์ก็บังเอิญมาเป็นแมวมองที่นี่แล้วเกิดถูกโฉลกสเตาเฟนแบร์กด้วยเหตุใดไม่ทราบ จึงได้ทาบทามให้เขาเข้าร่วมก่อการด้วยกัน  แต่เมื่อนายพลโอลบริคท์พาสเตาเฟนแบร์กมาเข้าร่วมประชุมกับระดับแกนนำ อันได้แก่  ดร.กอร์เดเลอร์ (Dr. Carl Goerdeler) นายพลเบ็ค (Ludwig Beck) ฯลฯ สเตาเฟนแบร์กพบว่าคณะผู้ก่อการไม่มีแผนการรองรับว่าเมื่อกำจัดฮิตเลอร์แล้วจะทำอะไรต่อไป เขาเห็นว่าบุคคลในรัฐบาลและพวกเอสเอสจะยังคงเป็นมีอำนาจต่อไป 


General Friedrich Fromm ผบ.กองกำลังสำรอง ผู้อ้างว่าจะอยู่ข้างฮิตเลอร์ตราบเท่าที่ท่านผู้นำยังมีชีวิต


Stauffenberg กับภรรยา

เมื่อสเตาเฟนแบร์กกลับมาที่บ้านเพลง Valkyrie ของ Wagner ที่ลูกๆ ของเขาเปิดเป็นแบ็คกราวด์ขณะเล่นซนกันตามประสาเด็กๆ ได้ทำให้เขานึกถึงแผนการชื่อเดียวกับเพลงนี้ได้ แผนการวัลคีรีนี้เป็นแผนการระดมกำลังสำรองขึ้นมาปกป้องรัฐบาลในยามฉุกเฉินเช่นยามฮิตเลอร์หายไปถูกสังหาร สเตาเฟนแบร์กเสนอให้นำเอาแผนนี้มาใช้ป้องกันการรัฐประหารของพวกเอสเอสหลังการสังหารฮิตเลอร์ ซึ่งจะต้องแก้ไขรายละเอียดบางประการก่อน กับจะต้องขอความร่วมมือจากนายพลฟรอมม์ (General Friedrich Fromm) ผู้บัญชาการกำลังสำรอง ซึ่งเป็นคนเดียวที่มีอำนาจสั่งใช้แผนวัลคีรี สเตาเฟนแบร์กกับโอลบริคท์พยายามเกลี้ยกล่อมนายพลฟรอมม์ แต่อีตาผบ.เจ้าเล่ห์คนนี้ แทนที่จะ "เลือกข้าง" (คือถ้าเห็นด้วยก็โอเคไปเลย ไม่เห็นด้วยก็สั่งจับตาสองคนนี้ซะ) หรือเป็นกลางในเชิงสมานฉันท์ (ซึ่งคงยากสำหรับเยอรมันยุคนั้น) กลับปฏิเสธเป็นเชิงแทงกั๊กว่าถ้าท่านผู้นำยังอยู่คงรู้นะว่าฉันจะอยู่ข้างไหน สเตาเฟนแบร์กยังคงเดินหน้าด้วยการไปทาบทามให้นายพล Fellgiebel ซึ่งคงจะเคยเป็นเพื่อนสนิท และมีความใกล้ชิดกับฮิตเลอร์มาเข้าร่วม จากนั้นสเตาเฟนแบร์กได้ปรับแผนปฏิบัติการวัลคีรีให้เน้นที่การยึดอำนาจที่เบอร์ลิน ทางด้านนายพลเทรสโควได้ถูกย้ายไปแนวหน้าโดยได้มอบหมายให้สเตาเฟนแบร์กเป็นผู้รับผิดชอบแผนการนี้ต่อไป นายพลโอลบริคท์ได้จัดการให้สเตาเฟนแบร์กได้เลื่อนตำแหน่งเป็น Chief of Staff for the Reserve Army (ในบทพากย์ไทยใช้คำว่า "หัวหน้าเจ้าหน้าที่กองกำลังสำรอง" แต่ผมเสนอว่าน่าจะหมายถึง "หัวหน้าคณะเสนาธิการกองกำลังสำรอง" ครับ) เพื่อให้มีตำแหน่งสูงพอที่จะเข้าถึงฮิตเลอร์ และโอลบริคท์ยังได้นำผู้หมวดฟอนเฮฟเทน (Lieutenant Werner von Haeften) มาทำหน้าที่ท.ส.ของสเตาเฟนแบร์กด้วย


นำแผน Valkyrie ที่ปรับปรุงไปให้ฮิตเลอร์เซ็นที่ The Berghof

7 มิ.ย.1944/พ.ศ.2487 สเตาเฟนแบร์กเอาแผนวัลคีรีที่ปรับปรุงใหม่มาให้เซ็น ที่ The Berghof นายพลฟรอมม์มีท่าทีสงสัยอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้แสดงท่าทีอะไรมาก สเตาเฟนแบร์กกลับมาประชุมผู้ก่อการเพื่อศึกษาเรียนวิธีการวางระเบิดจากพันเอกฟอนเคินไฮม์ (Colonel Mertz von Quirnheim) ท.ส.ของนายพลโอลเบรคท์ โอลเบรคท์ย้ำแนวคิดของกอร์เดเลอร์ที่ว่าควรลงมือเมื่อฮิมเลอร์ (Heinrich Himmler หัวหน้าหน่วยเอสเอส) ร่วมประชุมด้วย (ซึ่งดูเหมือนจะถูกในแง่หนึ่ง แต่ ณ เวลานี้ก็มีแผนการวัลคีรีรองรับอยู่แล้วนี่นา) ซึ่งสเตาเฟนแบร์กไม่ค่อยพอใจนัก จากนั้น สเตาเฟนแบร์กได้ส่งครอบครัวออกจากเบอร์ลินไปเมือง Bamberg


ฟังบรรยายการเตรียมระเบิด


"รังหมาป่า" อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ที่ผู้ก่อการหวังว่าการวางระเบิดภายในนี้จะประสบความสำเร็จ
แต่ถึงเวลาจริงกลับต้องไปลงมือที่หอประชุมซึ่งเป็นอาคารธรรมดา

15 ก.ค. 1944 (ไหงช้ามาร่วมเดือนก็ไม่ทราบ) คณะผู้ก่อการได้พยายามลงมือเป็นครั้งแรก โดยนายพลโอลบริคท์ได้สั่งให้กำลังสำรองเตรียมพร้อมตั้งแต่ 8.30 น.  ด้านสเตาเฟนแบร์กได้ขึ้นเครื่องบินจากเบอร์ลินเมื่อ 9.00 น. มาลงสนามบินที่ เมือง Rastenburg แคว้นปรัสเซียตะวันออกเมื่อ 12.00 น. แล้วไปถึงบก.ของฮิตเลอร์ที่นั่นซึ่งเรียกว่า "รังหมาป่า" (The Wolf's Lair) เวลา 12.45 น. นำกระเป๋าเอกสารที่บรรจุระเบิดไปจนถึงตัวฮิตเลอร์ที่กำลังเข้าประชุมกับบรรดาขุนศึกทั้งหลายแล้ว แต่ปัญหาสำคัญตามใบสั่งคือฮิมเลอร์ไม่อยู่ในที่ประชุมด้วย สเตาเฟนแบร์กจึงติดต่อกลับไปยังแกนนำด้วยความกระตือรือล้นจะลงมือให้ได้ ปรากฏว่าดร.กอร์เดเลอร์ไม่อนุมัติ นายพลโอลบริคท์ก็ไม่ตัดสินใจ พอดีเลิกประชุมซะก่อน การระดมพลกำลังสำรองจึงถูกยกเลิกอ้างว่าเป็นการฝึกซ้อม เมื่อสเตาเฟนแบร์กกลับมาเบอร์ลิน นายพลฟรอมม์ตำหนิเขากับโอลบริคท์อย่างรุนแรง ตกกลางคืนประชุมกับผู้ก่อการ สเตาเฟนแบร์กก็มีปากเสียงกับดร.กอร์เดเลอร์ที่เขาปฏิเสธการลงมือ ดร.กอร์เดเลอร์จะขอปลดสเตาเฟนแบร์ก แต่เบ็ครายงานว่าฮิมเลอร์ได้สั่งจับตัวดร.กอร์เดเลอร์แล้ว ดร.กอร์เดเลอร์จึงต้องหลบหนีจากเยอรมันไป ทางด้านเบ็คจึงให้อำนาจเต็มแก่สเตาเฟนแบร์กในการปฏิบัติงานครั้งต่อไป


ตูม!!!

20 ก.ค. 1944 เริ่มลงมืออีกครั้ง สเตาเฟนแบร์กแสร้งโกนหนวดให้มีดบาดที่คอให้มีเลือดออกเปื้อนคอเสื้อ 6.00 น. ขึ้นรถออกจากที่พัก ภาพยนตร์ตัดมาเมื่อเขาเดินทางมาจนถึงรังหมาป่าเวลา 12.15 น. สเตาเฟนแบร์กขอเข้าไปเปลี่ยนเสื้อผ้า แต่ที่จริงคือจะเข้าไปเตรียมลูกระเบิดใส่ในกระเป๋าเอกสาร ทางฝ่ายนายพลโอลบริคท์กลับไม่ยอมสั่งระดมกำลังสำรองจนกว่าจะแน่ใจว่าทำสำเร็จ การประชุมของฮิตเลอร์ได้เลื่อนให้เร็วขึ้นเป็นเวลา 12.30 น. เพราะฮิตเลอร์ต้องการรับประทานมื้อเที่ยงกับมุสโสลินีที่จะมาถึงตอนบ่าย ขณะที่สเตาเฟนแบร์กเตรียมระเบิดในห้องเปลี่ยนเสื้อก็มีเหตุให้ลุ้นกันนิดหน่อยเนื่องจากตาผู้พันคนหนึ่ง ชื่อ Major Ernst John von Freyend แกก็หวังดีอยากให้สเตาเฟนแบร์กรีบแต่งตัวให้ทันประชุม ทางฝ่ายสเตาเฟนแบร์กกับท.ส.ก็กลัวโดนจับได้ พอเสร็จเรียบร้อยปรากฏว่าการประชุมย้ายจากรังหมาป่าไปหอประชุม เพราะอากาศร้อนเกินไป ตรงนี้นับเป็นประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งเหมือนกันครับ เพราะตามแผนเขากะไว้ว่า ผนังอาคารของ "รังหมาป่า" ที่ปิดทึบด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กไม่มีหน้าต่างนั้น จะช่วยเสริมอานุภาพของแรงระเบิดให้สังหารทุกคนในห้องประชุมอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม สเตาเฟนแบร์กยังคงเดินเข้าสู่ที่ประชุม แล้วเอากระเป๋าระเบิดเข้าไปวางข้างๆ ฮิตเลอร์ จากนั้นพอนายพลเฟกีเบลโทรศัพท์มาหาก็หลบออกไปนอกหอประชุมเลย โดยลืมหมวกทิ้งไว้ที่นั่นเอง จังหวะนี้ผู้การบรันท์เกิดนึกยังไงไม่ทราบ มาย้ายกระเป๋าเอกสารที่ซ่อนระเบิดของสเตาเฟนแบร์ก ให้ห่างตัวฮิตเลอร์ออกไปหน่อย สักพักก็เกิดระเบิดขึ้น สเตาเฟนแบร์กก็สั่งให้คนขับรถรีบพาตนเองกับท.ส.รีบไปสนามบินท่ามกลางความอลหม่าน และความตกใจปนระแวงของคนขับ ทางด้านนายพลเฟกีเบลก็รีบโทรไปแจ้งข่าวนายพลโอลบริคท์แล้วตัดการสื่อสารระหว่างรังหมาป่ากับโลกภายนอกทันที

แต่ปัญหาของทางฝ่ายก่อการคือ ท.ส.ของนายพลโอลบริคท์ได้ฟังนายพลเฟกีเบลยังไม่ทันเข้าใจ จะโทรกลับไปเช็คข่าวทางนู้นก็ตัดการสื่อสารแล้ว นายพลโอลบริคท์จึงยังไม่ยอมดำเนินการใดๆ จนกว่าจะได้รับการยืนยันจากสเตาเฟนแบร์ก ทางด้านสเตาเฟนแบร์ก เวลา 12.47 น. รถถูกสกัดโดยสิบเอก Kolbe  ต้องแสร้งทำเป็นว่าโทรไปเคลียร์กับจอมพลไคเตล จึงผ่านออกไปได้ ระหว่างทางไปสนามบิน ท.ส.ก็แอบโยนระเบิดลูกที่สองและอุปกรณ์ทิ้งข้างทาง 13.55 น. ท.ส.ของนายพลโอลบริคท์อดรนทนไม่ไหวจัดการสวมรอยออกคำสั่งระดมพลกองกำลังสำรองซะเอง 15.30 น. เครื่องบินของสเตาเฟนแบร์กมาถึงเบอร์ลิน สเตาเฟนแบร์กเห็นสภาพเงียบๆ และไม่มีรถมารับ จึงโทรไปต่อว่านายพลโอลบริคท์ แล้วสั่งให้ลงมือตามแผนวัลคีรีต่อไปรวมทั้งติดต่อนายพลฟรอมม์ทันที นายพลโอลบริคท์ จึงเริ่มดำเนินการตามแผนโดยส่งข่าวไปยังศูนย์ข่าวอ้างว่าฮิตเลอร์ตายแล้ว เอสเอสจะยึดอำนาจ ให้กำลังสำรองดำเนินการเข้ายึดสถานที่ราชการต่างๆ ตามแผนวับคีรีทันที โอลบริคท์ไปหาฟรอมม์ ๆ โทรเช็ครังหมาป่าซึ่งขณะนี้การสื่อสารเป็นปกติแล้ว จึงได้ทราบจากจอมพลไคเตลว่าฮิตเลอร์รอดชีวิตจากระเบิดมาได้ จังหวะนี้สเตาเฟนแบร์กเข้ามาพอดีและยืนยันว่าฮิตเลอร์ตายแน่ๆ  ฟรอมม์ไม่เชื่อจึงถูกจับไปขังในห้องหนึ่ง


รัฐประหารที่เกือบจะสำเร็จ

ในระยะแรกการยึดอำนาจทำท่าจะราบรื่น เช่น ตำรวจเบอร์ลินให้ความร่วมมือ ทหารกำลังสำรองสามารถเข้ายึดสถานที่ต่างๆ ทั้งทำเนียบรัฐบาล กระทรวงมหาดไทย บก.หน่วยเอสเอส ฯลฯ กระทั่งสามารถจับกุมหน่วยเอสเอส ทั้งในปารีสและเวียนนาได้เป็นจำนวนมาก แต่เหตุการณ์ก็เริ่มพลิกเมื่อฮิตเลอร์เริ่มออกคำสั่งจากรังหมาป่ามาเหมือนกัน ทางศูนย์ข่าวและพันตรีเรเมอร์ (Major Otto Ernst Remer) ถึงกับงุนงงเมื่อมีทั้งคำสั่งจับดร.เกิบเบลส์ รมว.กระทรวงโฆษณาการ จากสเตาเฟนแบร์กพร้อมๆ กับคำสั่งจับสเตาเฟนแบร์กจากฮิตเลอร์ และแล้วเมื่อพันตรีเรเมอร์ไปจับกุมดร.เกิบเบลส์ ๆ ได้ให้เรเมอร์พูดสายกับฮิตเลอร์ๆ สั่งให้จับผู้ทรยศเป็นๆ เรเมอร์จึงเชื่อว่าฮิตเลอร์ยังไม่ตาย ทางด้านศูนย์ข่าวก็เริ่มตัดสินใจเลือกส่งแต่คำสั่งของฮิตเลอร์ฝ่ายเดียว ทำให้ทหารกำลังสำรองที่ยึดสถานที่ต่างๆ ถอนตัวกลับ วิทยุเริ่มออกข่าวฝ่ายฮิตเลอร์ สุดท้ายพันตรีเรเมอร์นำทหารเข้ามาจับกุมผู้ก่อการจนสามารถจับตัวสเตาเฟนแบร์กและคณะในกองบัญชาการได้ทั้งหมด ด้านนายพลฟรอมม์พอหลุดออกมาได้ ก็จัดการสั่งตัดสินประหารคณะผู้ก่อการทันทีโดยไม่สนใจคำท้วงของพันตรีเรเมอร์ว่าฮิตเลอร์สั่งให้ตนจับคนเหล่านี้เป็นๆ  นายพลเบ็คขอปืนมายิงตัวตายเอง ซึ่งฟรอมม์อนุญาต คนอื่นๆ ถูกนำตัวมายิงเป้า โอลเบรคท์ถูกยิงเป็นคนแรก ครั้นพอจะยิงสเตาเฟนแบร์กเป็นคนถัดมา ผู้หมวดฟอนเฮฟเทนผู้เป็นท.ส.ได้แสดงความจงรักภักดีเป็นครั้งสุดท้ายโดยวิ่งออกมารับกระสุนตายไปก่อน จากนั้นสเตาเฟนแบร์กได้ตะโกนก่อนตายว่า "เยอรมันจงเจริญ!" บุคคลอื่นๆ ที่ร่วมก่อการก็ไม่อาจหนีความผิดได้พ้น นายพลเทรสโควซึ่งอยู่แนวหน้าได้ฆ่าตัวตายด้วยระเบิดมือ อีกหลายคนถูกตัดสินประหารในภายหลังหลัง เช่น ผบ.ตำรวจเบอร์ลิน นายพลเฟกีเบล ดร.คาร์ล กอร์เดเลอร์ รวมทั้งนายพลฟรอมม์ก็ถูกประหารเมื่อ 12 มี.ค.1945/พ.ศ.2488 แม้ในภาพยนตร์ไม่บอกก็พอเดาได้ว่าโทษฐานที่รู้ความเคลื่อนไหวของโอลบริคท์และสเตาเฟนแบร์กแต่แรกแล้วไม่ดำเนินการขัดขวาง แล้วยังมาสั่งฆ่าคนปิดปากโดยขัดคำสั่งฮิตเลอร์อีกต่างหาก


พันตรี Otto Ernst Remer นายทหารกำลังสำรองที่ถูกคณะผู้ต่อต้านฮิตเลอร์หลอกใช้
รับบทโดย Thomas Kretschmann ซึ่งเกือบจะได้แสดงเป็น Stauffenberg ถ้าไม่มี Tom Cruise


นายพลฟรอมม์ออกคำสั่งประหารผู้ก่อการที่ถูกจับได้โดยพลการ

การลอบสังหารฮิตเลอร์ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายในจำนวน 15 ครั้งที่ลงมือโดยคนเยอรมันเองที่เกิดขึ้น 9 เดือนก่อนที่เบอร์ลินจะแตก นีน่ากับลูกๆ รอดชีวิต ตาย 2 เม.ย.2006/พ.ศ.2549  ผลจากการลอบสังหารครั้งนี้ยังมีมากกว่าที่ในภาพยนตร์กล่าว นั่นคือหนึ่งในจำนวนผู้ต้องสงสัยที่ถูกกวาดล้างในภายหลังนั้น มีจอมพลรอมเมลขุนศึกคนสำคัญผู้หนึ่งที่เรารู้จักกันดีรวมอยู่ด้วย เนื่องจากความที่เคยเป็นคนโปรดคนหนึ่ง ฮิตเลอร์จึงบีบให้รอมเมลกินยาพิษฆ่าตัวตายแทนการตัดสินประหารชีวิตซึ่งจะมีผลต่อครอบครัวของเขาด้วย  ผลอีกประการหนึ่งคือแต่เดิมแม้พรรคนาซีจะมีอำนาจแล้ว กองทัพเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 2 (ที่ไม่ใช่ Waffen SS) ยังคงใช้การเคารพด้วยการวันทยาหัตถ์แบบที่ชาวบ้านเราเรียกว่า "ตะเบ๊ะ" นั่นแหละครับ แต่พอหลังเหตุการณ์นี้ฮิตเลอร์จึงเข้มงวดกับกองทัพมากขึ้นโดยให้ทำความเคารพตามแบบพรรคนาซี คือ ชูแขนขวาขึ้นเฉียงๆ แล้วเปล่งเสียง "ไฮล์ฮิตเลอร์!" แต่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ จะด้วยความไม่เข้าใจของผู้สร้างหรือเป็นเพราะหน่วยกำลังสำรองนี้มันใกล้ชิดฮิตเลอร์มากหรือไงไม่ทราบ จึงมีแต่การเคารพแบบ "ไฮล์ฮิตเลอร์!" ตลอดทั้งเรื่อง


วาระสุดท้ายของ Stauffenberg

ภาพยนตร์เรื่องนี้จัดว่าเป็นภาพยนตร์ในแนวที่สร้างตามประวัติศาสตร์ได้อย่างละเอียดละออ ทั้งในแง่ของลำดับเหตุการณ์ การสร้างฉาก และเครื่องแต่งกาย ขาดแต่ไม่ได้พูดภาษาเยอรมันเท่านั้นเองมั๊ง ผมได้ดูครั้งแรกในโรงภาพยนตร์ Digital SF ชั้น 7 มาบุญครอง เมื่อวันที่ 22 ก.พ.2552 รู้สึกตื่นเต้นทั้งกับเทคโนโลยีของการฉายภาพยนตร์และเนื้อเรื่องที่ตื่นเต้นชวนติดตามตลอด ชนิดที่ว่าถ้าใครหลับคงต้องมีอะไรผิดปกติสักอย่าง  แม้ในยามที่กลับมาดูจากฉบับ DVD กับคอมพิวเตอร์จอขนาดเพียง 17 นิ้ว กับระบบเสียงสเตริโอระดับปานกลาง เพื่อเขียนบทความนี้ ก็ยังไม่รู้สึกว่าความเข้มข้นของเรื่องนี้แทบจะไม่เกี่ยงขนาดจอหรือระบบเสียงเอาเลย (ถ้าคอมพิวเตอร์ใครแย่กว่าผมก็อีกเรื่องหนึ่ง)

ประเด็นหลักของเรื่องที่ต้องย้ำอีกครั้งเช่นเดียวกับเมื่อตอนได้ดูจากโรงภาพยนตร์คือเรื่องความกล้าหาญทางจริยธรรมของพระเอกและพรรคพวกที่พยายามลอบสังหารฮิตเลอร์และโค่นล้มระบอบนาซีเพื่อให้ชาติอยู่ รอด แทนที่จะเอาแต่อ้างการทำตามคำสั่งอย่างพวกที่ขึ้นศาลอาชญากรสงครามในภายหลัง แต่ก็น่าเสียดายที่ความพยายามของพวกเขาต้องล้มเหลว ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ ซึ่งตอนที่ผมดูครั้งแรกในโรงภาพยนตร์สรุปว่าเป็นเรื่องของการสื่อสาร กับความบังเอิญที่อาจจะเรียกว่า "ดวง" หรืออะไรก็แล้วแต่  เมื่อกลับมาดูใหม่ครั้งนี้ ได้เห็นชัดขึ้นว่ามีปัญหาในหลายเสต็บการทำงาน นับตั้งแต่ การเล่นแทงกั๊กของนายพลฟรอมม์ ผบ.กำลังสำรอง การไประงับการลงมือครั้งแรกเพราะไปติดว่าต้องให้ฮิมเลอร์อยู่กับฮิตเลอร์ด้วย ในครั้งที่สอง โอลบริคท์ไม่ยอมที่จะสั่งระดมพลตามแผนตั้งแต่แรก การย้ายสถานที่ประชุมจาก "รังหมาป่า" ที่น่าจะช่วยเสริมแรงระเบิดมาเป็นหอประชุมที่เป็นอาคารธรรมดา การไม่มีแนวคิด "ระเบิดพลีชีพ" เหมือนสมัยนี้ กระเป๋าบรรจุระเบิดที่ถูกย้ายตำแหน่ง ความรีบร้อนตัดการสื่อสารขณะที่ยังคุยกับพวกเดียวกันไม่รู้เรื่องว่าการลอบสังหารสำเร็จหรือไม่ และอาจจะรวมถึงการที่ไม่ได้ไปยึดศูนย์รวมข่าวซะก่อน การลำดับเรื่องราวอย่างละเอียด  ประกอบกับความสมจริงในหลายๆ จุด สามารถเรียกความสะเทือนใจในตอนสุดท้ายได้เป็นอย่างดี


ภาพจาก http://en.wikipedia.org/wiki/July_20_Plot ผังการประชุมในวันที่ 20 กรกฎาคม 1944
แสดงให้เห็นว่าทำไมการย้ายตำแหน่งกระเป๋าระเบิดจึงทำให้ฮิตเลอร์รอดชีวิต

แม้จะเป็นเรื่องราวการลอบสังหารฮิตเลอร์  แต่สำหรับความเลวร้ายของฮิตเลอร์และพรรคนาซีนั้น ดูเหมือนเป็นเรื่องที่ผู้ชมต้องทราบเป็นอย่างดีมาก่อน  ในภาพยนตร์จะมีเพียงการกล่าวถึงด้วยคำพูดบางตอนเท่านั้น  บทบาทของผู้แสดงเป็นฮิตเลอร์นั้น โดยส่วนใหญ่จะดูเรียบเฉย มีเพียงครั้งเดียวที่ออกอาการยั๊วะจนทุบโต๊ะในการประชุมครั้งที่ 2 ก่อนจะเกิดระเบิดสักพักหนึ่ง โดยรวมแล้วดูไม่ได้แย่อย่างในภาพยนตร์เรื่องอื่นเลย  บทบาทตัวร้ายจริงๆ จึงกลับไปตกอยู่ที่นายพลฟรอมม์จอมแทงกั๊กดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นๆ

วีรกรรของสเตาเฟนแบร์กนั้นเคยสร้างเป็นภาพยนตร์โดยผู้สร้างเยอรมันมาก่อนแล้วครั้งหนึ่ง แม้จะมีรายละเอียดโดยรวมจะน้อยกว่า แต่มีบางจุดที่น่าจะลองเปรียบเทียบกัน ซึ่งจะได้นำเสนอในลำดับต่อไปครับ

คำคมชวนคิด

  • หน้าที่ของผมในฐานะนายทหารไม่ใช่การปกป้องประเทศอีกต่อไป   แต่เป็นการปกป้องชีวิตมนุษย์ (My duty as and officer is no longer to save my country, but to save human lives.) สเตาเฟนแบร์กเขียนจดหมายถึงภรรยา
  • ฮิตเลอร์ไม่ใช่แค่ศัตรูตัวร้ายของคนทั้งโลก แต่เป็นศัตรูตัวร้ายของเยอรมัน (Hitler is not only the archenemy of the entire world but the archenemy of Germany.) สเตาเฟนแบร์กเขียนจดหมายถึงภรรยา
  • เราต้องแสดงให้โลกเห็นว่าเราไม่ได้เหมือนเขา (ฮิตเลอร์) ไปหมดทุกคน (Well, we have to show the world that not all of us were like him.) นายพลเทรสโควพูดกับสเตาเฟนแบร์ก
  • ผมตัดสินใจแล้วครับ ผมมาที่นี่เพื่อช่วยให้คนอื่นตัดสินใจได้บ้าง (I've already made my decision. I'm here to help others make theirs.) สเตาเฟนแบร์กพูดเกลี้ยกล่อมนายพลฟรอมม์
  • เอาล่ะ คุณบอกเพื่อนๆ คุณด้วยนะผู้การ ว่าผมตัดสินใจเลือกข้างได้ถูกต้องเสมอ และตราบใดที่ท่านผู้นำยังมีชีวิตอยู่ คุณคงรู้ว่าผมอยู่ข้างไหน (Now, you can tell your friends, Colonel, that I always come down on the right side. And as long as the Fuehrer is alive, you know what side that is.) นายพลฟรอมม์กล่าวกับสเตาเฟนแบร์กและโอลเบรคท์ 
  • รู้ไหม พระเจ้าทรงสัญญากับอับราฮัมว่าจะไม่ทรงทำลายเมืองโซดอม(ที่ชั่วช้า)หากเขาสามารถคนดีๆ ได้ 10 คน ผมรู้สึกเช่นนั้นกับเยอรมัน งานนี้หวังพึ่งคนเดียว (You know, God promised Abraham he would not destroy Sodom if he could find just 10 righteous man. I have a feeling that, for Germany, it may come down to one.) นายพลเทรสโควกล่าวเป็นเชิงมอบหมายภารกิจให้กับสเตาเฟนแบร์กก่อนตนเองถูกย้ายไปแนวหน้า
  • รู้ไหมว่าสงครามจะจบลงยังไงผู้หมวด? รูปนี้จะถูกปลดออก และคนในภาพ(ฮิตเลอร์)จะถูกแขวนคอ (Do you know how this war will end, Lieutenant? The portrait will be unhung, and the man will be hung.) สเตาเฟนแบร์กกล่าวกับร้อยโทฟอนเฮฟเทน
  • ผม(ฮิตเลอร์)ขอบอกว่ารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้พบนายทหารที่เสียสละอย่างมากมายเพื่อเยอรมัน ผมน่ามีคนอย่างคุณมากกว่านี้ (หันจากสเตาเฟนแบร์กไปพูดกับคนอื่นๆ) ขอให้ทุกคนดูคนผู้นี้เป็นตัวอย่าง เขาคือนายทหารเยอรมันในอุดมคติ (May I say what an honor it is to meet an officer who has sacrificed so much for Germany. If only more of my men were like you. Let this man stand as an example to all of you. He is the ideal German officer.) ฮิตเลอร์กล่าวชื่นชมสเตาเฟนแบร์กต่อหน้าแกนนำพรรคนาซีที่ The Berghof
  • จะกำจัดคนบ้าไปทำไมถ้าได้คนโรคจิตมาแทน? (Why remove a madman just to have a lunatic take his place?) ดร.กอร์เดเลอร์ กล่าวกับสมาชิกผู้ต่อต้านฮิตเลอร์

เนื่องจากบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์อันชอบธรรมของผู้เขียน และอาจะมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลบ้างตามความเหมาะสม ในการนำบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่นๆ จึงขอความร่วมมือให้ใช้วิธีการคัดลอกเฉพาะ Link หรือ URL Address แทนการคัดลอกบทความทั้งหมด  หากมีการคัดลอกไปในลักษณะแอบอ้างเป็นผู้เขียน หรือมีเจตนาอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทางเว็บ iseehistory.com แล้ว จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย

ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ : Valkyrie

ชื่อภาษาไทย :  ยุทธการดับจอมอหังการ์อินทรีเหล็ก

ผู้กำกำกับ : Bryan Singer

ผู้สร้าง : Christopher McQuarrie, Bryan Singer, Gilbert Adler, Chris Lee

ผู้เขียนบท :  Christopher McQuarrie & Nathan Alexander

ผู้แสดง :

  • Tom Cruise ...  Colonel Claus von Stauffenberg
  • Kenneth Branagh ...  Major-General Henning von Tresckow
  • Bill Nighy ...  General Friedrich Olbricht
  • Tom Wilkinson ...  General Friedrich Fromm
  • Carice van Houten ...  Nina von Stauffenberg
  • Thomas Kretschmann ...  Major Otto Ernst Remer
  • Terence Stamp ...  Ludwig Beck
  • Eddie Izzard ...  General Erich Fellgiebel
  • Kevin McNally ...  Dr. Carl Goerdeler (as Kevin R. McNally)
  • Christian Berkel ...  Colonel Mertz von Quirnheim
  • Jamie Parker ...  Lieutenant Werner von Haeften
  • David Bamber ...  Adolf Hitler
  • Tom Hollander ...  Colonel Heinz Brandt
  • David Schofield ...  Erwin von Witzleben
  • Kenneth Cranham ...  Field Marshal Wilhelm Keitel
  • Halina Reijn ...  Margarethe von Oven
  • Werner Daehn ...  Major Ernst John von Freyend
  • Harvey Friedman ...  Dr. Joseph Goebbels
  • Matthias Schweighöfer ...  Lieutenant Herber
  • Waldemar Kobus ...  Police Chief Wolf-Heinrich von Helldorf
  • Florian Panzner ...  Second Lieutenant Hagen
  • Ian McNeice ...  Pompous General
  • Danny Webb ...  Captain Haans
  • Chris Larkin ...  Sergeant Helm
  • Matthew Burton ...  Lieutenant-General Adolf Heusinger
  • Philipp von Schulthess ...  Tresckow's Aide
  • Wotan Wilke Möhring ...  Sergeant Kolbe
  • Christian Oliver ...  Sergeant-Major Adam

ควรอ่านเพิ่มเติม

กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

 
เรียนเชิญสมาชิกร่วมแสดงความคิดเห็นที่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บ (ต้องสมัครและ Login ก่อน) ผู้ชมทั่วไปหรือสมาชิกที่ต้องการโพสต์รูป เชิญร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บบอร์ด "คุยกันหลังฉาก" ในกระทู้ที่มีอยู่แล้ว หรือ สร้างกระทู้ใหม่ (คลิกที่นี่) ครับ

หากเป็นสมาชิก Facebook แสดงความเห็นได้ในฟอร์มข้างล่างนี้ครับ

Bookmark and Share

ภาพยนตร์ตัวอย่าง (Trailer) จาก www.youtube.com

ทางเว็บไม่มีนโยบายนำภาพยนตร์ฉบับ เต็มมาให้ดูออนไลน์หรือให้ดาวน์โหลดเนื่องจากเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และไม่ มีพื้นที่สำหรับเก็บไฟล์ภาพยนตร์

 






1

ความคิดเห็นที่ 1 (88446)
avatar
คนเล่าเรื่อง

สวัสดีครับ อาจารย์โรจน์  ผมยังไม่ได้ดูหนังเรื่องนี้เลย  เพราะต้องทุ่มเวลาไปกับงานทั้งหมด  แล้วไหนจะต้องตะลอนไปทั่วโดยแทบไม่ได้พักอีกต่างหาก ก็เพราะงานนั่นแหละ  หนังเรื่องนี้ก็คงเป็นไปตามสูตรของฝ่ายชนะสงครามครับ  ผู้ใดที่ขัดขวาง  ต่อต้าน  ฝ่ายนาซี และช่วยงานของผู้ชนะ  ก็จะเป็นพระเอก และวีรบุรุษไปตามเรื่องครับ  ประเด็นการลอบสังหารฮิตเลอร์ที่ไม่สำเร็จครั้งแล้วครั้งเล่านี้เองที่เป็นที่มาเกี่ยวกับความเชื่อของตัวเขาว่า ไม่มีใครฆ่าเขาได้ นอกจากตัวเขาเอง และถ้าเขายังมีชีวิตอยู่ อาณาจักรไรช์ที่ 3 ก็ยังอยู่  ดังนั้น ฮิตเลอร์จึงไม่ยอมแพ้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตรจนถึงวาระสุดท้ายในชีวิตที่เกิดจากน้ำมือของเขาเอง  หลังจากนั้น  พวกทหารที่เหลือจึงได้ยอมแพ้สงครามครับ

เรื่องการออกเสียงภาษาเยอรมันนี่ ตามที่ผมได้เคยคุยกับผู้สันทัดกรณีด้านภาษาเยอรมัน  เขาบอกว่า คำที่สะกดด้วย aut หรือ aus ในภาษาเยอรมัน ต้องออกเสียง เอ๊า  ไม่ใช่ ออท หรือ ออส อย่างที่เราพูดกัน ดังนั้น stauffenberg ต้องอ่านว่า สเตาเฟนแบร์ก ครับ  เช่นเดียวกับคำว่า  austria ต้องอ่าน เอาสเตรีย  audi ต้องอ่านว่า เอาดี้ ครับ   ข้อนี้  อาจารย์โรจน์ลองถามผู้รู้ท่านอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ครับ

เดี๋ยวพอผมมีเวลาบ้างจะเริ่มเขียนถึงหนังเรื่องสามก๊กตอนยุทธนาวีผาแดง ของจอห์น วูให้ครับ  ตอนนี้ จำเป็นต้องหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สามก๊กอีกมากครับ

แล้วค่อยพบกันสักครั้งนะครับ อาจารย์โรจน์ครับ  ขอบคุณครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น คนเล่าเรื่อง ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2009-08-14 22:58:22 IP : 202.28.78.134


ความคิดเห็นที่ 2 (88463)
avatar
โรจน์ (Webmaster)

อย่าพึ่งด่วนสรุปซีครับว่าหนังเรื่องนี้จะเหมือนกับหนังฮอลลีวู้ดเรื่องอื่นที่เราเคยดูกัน  ลองหามาดูให้ได้สักครั้งเถอะครับ จะเห็นว่าหนังเรื่องนี้มีอะไรมากกว่า "สูตรสำเร็จ" และมีรายละเอียดอย่างที่ผมบรรยายมายืดยาวนี่หรือเปล่า?

เรื่องภาษาเยอรมันนี่ความจริงผมก็เคยเรียนตอนมัธยมปลายกับในมหาวิทยาลัยอีกนิดหน่อย ตัว au นั้นส่วนใหญ่โดยเฉพาะเวลาไม่มีตัวสะกดข้างหลังออกเสียงเป็นสระเอาก็จริง แต่มีบางคำที่พอมีตัวสะกดบางตัว คล้ายจะเป็นสระออ เช่น Baum ที่แปลว่าต้นไม้ ออกเสียงจะกระเดียดไปทาง "บอม" มากกว่า "บาวมฺ" ถ้าผมฟังมาไม่ผิดนะครับ ใครที่กำลังเรียนหรือเคยเรียนภาษาเยอรมันนานกว่าผมช่วยออกความเห็นสักนิดนะครับ ปกติบทความในวิกิภาษาอังกฤษเวลาเขียนถึงคนสำคัญหลายๆ คนจะมีไฟล์เสียงให้เราฟังด้วยว่าออกเสียงยังไง แต่ของ Stauffenberg ตอนนี้ยังไม่มีให้ฟัง ถึงได้ไม่ค่อยแน่ใจครับ อ้อ! คำว่า Berg ที่แปลว่าภูเขานั้น ที่จริงออกเสียงว่า "แบร์ก" ส่วนประเทศ Austria เขียนเป็นภาษาเยอรมันว่า Österreich อ่านว่า "เอิสเตอร์ไร้ช" แปลว่า "อาณาจักรทางตะวันออก" ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น โรจน์ (Webmaster) (webmaster-at-iseehistory-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2009-08-14 20:56:41 IP : 124.122.185.187


ความคิดเห็นที่ 3 (88704)
avatar
kungfuboxing

อ่านรีวิวจากเวบนี้แล้วมั่นใจขึ้นเยอะ เดี๋ยวคงไปเช่ามาดุค่ะ

ผู้แสดงความคิดเห็น kungfuboxing (kungfuboxing-at-gmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2009-08-21 14:06:10 IP : 58.137.7.101


ความคิดเห็นที่ 4 (88948)
avatar
GIJod

เรื่อง Wolfsschanze โวฟซัลเซน คือคำเรียก ของกองบัญชาการในแนวรบฝั่งบรูพาครับ  ซึ่งฝ่าย สพธ.แปลเป็นภาษาสากลว่า รังหมาป่า เป็นสถานที่เต็มไปด้วย ยุง และต้นไม้หนาทึบ ส่วนบังเกอร์ ซีเม้นท์ นั่นก็คือส่วนหนึ่งของ Wolfsschanze ครับที่สร้างไว้อย่างแข็งแรง ลึกลงไปใต้พื้นดิน หลายสิบชั้น เพื่อป้องกันการโจมตีทางอากาศ

 

ทอม ครูซ์ เกือบเอาตัวไม่รอด เมื่อฝ่าย คัดเลือกนักแสดง ขนเอาดารา ดัง ๆ ในสายหนังสงครามยุโรปมา โดยเฉพาะ ปรมจารย์อย่าง  Kenneth Branagh ผู้กำกับ นักเขียนบท และดังแสดงระดับ อ๋อง ผู้รู้ถึงกระดูด ของกองทัพเยอรมันในยุคสงครามโลกเป็นอย่างดี ฉากปลิดชีพตัวเองด้วยระเบิดมือ โดยกำไว้แล้วจ่อที่คอ โชว์กึ๋นของผู้ช่ำชองรายละเอียด

 

อีกคนก็คือ Thomas Kretschmann ที่ผมเรียกเค้าว่า ฟีเกอร์ไลน์ น้องเขยของ อีวา บราวน์ ในเรื่อง Downfall และยังรับบทในเรื่องดัง ๆ อีกหลายเรื่อง อย่าง สตาลินการ์ด และ อู 571 จนเป็นตัวแทนของ นายทหารเยอรมันไปเสียแล้ว หมอนี้โผล่ออกมาแค่ ฉากจะไปจับ ดร โจเซฟ เกิบเปิคร์ ก็เพียงพอแล้วครับ กลับประสบการณ์แสดงระดับนี้

 

คนที่ถูกนำมาแสดงอย่างเสียของคือ Christian Berkel พี่เหม่งทีผมแทบจะไม่เห็นบทบาทใด ๆ ในเรื่องนี้เลย ( เด่วคงต้อง รอ ดีวีดี อีกสักรอบ ) ทั้งที่ เค้าก็ผ่านการแสดงมาอย่างไม่น้อยหน้าใคร

 

ส่วนเรื่อง กองกำลังรักษาดินแดนนั้น ในความเป็นจริงก็คือหน่วย กร็อสด็อช์ลั่น ครับ ( ตามคำบอกเล่าของ คุณย่า เทราเดล ยุงเงอะ เลขา AH ที่อยู่ในเหตุการณ์วันนี้น ) ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องครับ เพราะเป็นเหล่าทัพบกที่แกร่ง และพอจะรบ กับพวก เอส เอส ได้ มีความพร้อม  ทั้งยุทธวิธีและอาวุธ ไม่ได้ด้อยกว่าหน่วยใดในกองทัพเลย การเลือกของกลุ่มผู้อภิวัตน์ทำถูกทาง แต่ไปไม่สุดเท่านั้น

 

ส่วนในภาพยนตร์ ใช้คำว่า กองกำลังรักษาดินแดน นั้น เดี๋ยวจะไปสับสนกับ หน่วย ทหารอาสารักษาดินแดน เบอร์ลิน  ของ ดร. เกิบเบิคร์ ที่เรียกว่า โวคฟสตูม Volkssturm ครับ

 

ในภาพยนตร์ พยายามใส่รายละเอียดให้ดูสมจริง บางอย่างก็ลงตัว เช่น บาดแผลที่สร้างโดยตั้งใจเพื่อที่จะ หาเรื่องแก้ตัวในการเปลี่ยนเสื้อ ฤ อย่าง ตะข่ายกันยุง ที่เหล่าทหารใช้กัน ที่กองบัญชาการ

 

ส่วนที่เสริมเข้ามาแล้วดูย่ำแย่ ก็เป็น เรื่องของ ปืนพก พี 38 ที่ สตอฟเฟนเบิคร์ ขึ้นลำโดยใช้ ไถไปกับขอบโต๊ะ ออกจะดูเท่ห์นะครับ แต่มันทำแบบนั้นไม่ได้ ลำพังสองมือยังต้องออกแรงกัน ปวดข้อนิ้ว

 

อีกทั้งเรื่องที่ บังคับให้ สตอฟเฟนเบิคร์ ทำความเคารพ (เพื่อให้เห็นมือด้วนนั้น )  ก็เป็นไปไม่ได้อีกเช่นกันครับ เพราะทัพบก ถูกบังคับให้แสดงความเคารพ แบบ เอส เอส ก็ต่อเมื่อ หลังเกิดเหตุการณ์ลอบสังหารไปแล้ว เพื่อลด ศักดิ์ศรีของเหล่าทัพบก ลง แทนการ จรดปลายนิ้วที่ หางคิ้ว

 

การเข้าจับตัว ดร. เกิบเบิอคร์ นั้น ดูตื่นเต้น แต่...การที่ เอาไซยาไนซ์ ใส่เข้าปากนั้น เล่นเอา ละอ่อน งง กันเป็นแถบ ว่าจะเตรียมตัวตายทำไม ทั้งที่ความเป็นจริง คนแรกที่รู้เรื่อง ว่า AH ยังไม่ตายนั้นคือ ดร. เกิบเบิคร์ และช่วงเวลาที่ เหล่าผู้ก่อการจะมาจับกุมตัว  ทางฝั่งที่ โวฟซัลเซน AH ก็ออกไปเดิน ปร๋อ รอรับ มุโสลินี ที่มาเยี่ยมตอนบ่ายสอง

 

เมื่อดูจนจบเรื่อง ผมก็ไม่แปลกใจ ที่เรื่องนี้ไม่ หวือหวา กว่าที่คิดเท่าไหร่ ทำครูซ์ ทำไม่สำเร็จ เหมือนกับแผน วัลคี่รี่ นั่นเอง ที่ดูน่าตื่นเต้นเมื่อเตรียมการ แต่พอลงมือ กับนิ่งสนิท

 

ผมวาดฝันว่า หนังจะออกมาดีว่านี้  ต้นเรื่อง น่าจะบอกถึง น้ำขุ่นที่เกิดขึ้นกับกองทัพบก ตั้งแต่ โดนบังคับให้สาบานตนเพื่อ ภัคดีต่อ AH และพรรคนาซี ที่เรา ขเด็จยุค ไกเซอร์ ต่าง ไม่พอใจกว่าค่อนกองทัพ

 

เติมภาพ ป๋ารอมเมิล ณ ดังเคิร์ค ที่ AH สั่งให้หยุดกองทัพรถถังไว้ วัดใจกับเหล่านายทหารทัพบก ว่าจะเชื่อฟังผู้นำกองทัพ ฤ ไม่

เสียงสนธนา ทางลับ ระหว่าง รอมเมิล กับ นายพลคนสนิท เรื่องการยอมแพ้ กับภาพ ยกพลขึ้นบกที่ นอร์มังดี จบด้วย คำขาดของ ป๋า ว่าจะยอมแพ้ ต่อเมือสิ้นลมเท่านั้น

 

หลังจากประหารชีวิต สตอฟเฟนเบิคร์ แล้ว ขึ้น ตัวหนังสือ การตายของ ป๋ารอมเมิล อย่างปริศนา ในเดือนตุลาคม ปีเดียวกัน สร้างความรู้สึก ง้างเหนี่ยว ว่ารู้งี้ รวมขบวนด้วยดีกว่า.....

ผู้แสดงความคิดเห็น GIJod (lavaloma-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2009-08-31 19:13:32 IP : 124.122.253.68


ความคิดเห็นที่ 5 (101604)
avatar
รอมเมล

 หนังนี้  Tom Cruise สังสัยจะร่วมมือกับทีมผุ้สร้าง Downfallแน่เลย ยอมรับว่าผมดูมาหลายเวอ่ร์ชั่น แต่แปลกไม่ค่อยซ้ำกันเลย ทั้งนี้อาจเพราะเอกสารการพิจาณาความโดยทำลายไป ดูข้อมูลจากหนังเรื่องนี้จึง น่าจะสมบูรณ์แบบกว่ากว่าเวอร์ชั่นเก่าๆ ตรงที่เวอร์ชั่นนี้ มันไม่ช่ายการลอบสังหารฮิตเลอร์ธรรมดา แต่มันเป็นการยึดอำนาจฮิตเลอร์ที่น่าทึ่ง และเป็นไปได้มากที่สุด 

จากเวอร์ชั่นเก่าๆ มันดุสับสน รวบรัดเกินไป แผนก็เสี่ยงจนเสียว แต่ในเวอร์ชั่นของ  Tom Cruise แผนดูน่าเสี่ยง น่าลุ้นกว่า ที่น่าชมคือคือ ตัวครูซ์ต้องแสดงStauffenberg ให้มีการพูดชักจูงใจให้ได้ ท่าทางต้องจริงจัง ตัวเองต้องไม่สั่นส่ะเอง อันนี้ต้องยอมรับว่าหนังเรื่องนี้เน้นมาอย่างได้อารมณ์  น่าสังเกตเรื่องนึง ทหารยามน่าจะเป็นทหารเอสเอสหมดนะ  ในเวอรชั่นเก่าเองก็เป็นทหารเอสเอสหมด  เพราะฮิตเลอรืไว้ใจแต่ทหารเอสเอส ยิ่งในสารคดีจะเห็นทหารเอสเอสในชุดดำรอบตัวเสมอๆ ดังนั้นการระเบิดน่าจะเกิดหลัง Stauffenberg เลยด่านสุดท้ายแล้ว นั่นคือสาเหตุว่า Stauffenberg เข้าใจผิดว่าฮิตเลอรืตายแล้ว ไม่งั้น Stauffenbergไม่มีทางออกจากด่านได้แน่นอนไม่ว่าข้ออ้างใดๆ

การดำเนินแผนเป็นไปอย่างมีระบบที่น่าเชื่อถือมาก ดูมาหลายเวอร์ชั่นไม่เป็นแบบนี้ เพียงแต่เพราะบารมีฮิตเลอร์นั่นเองทำให้เจ้าหน้าที่หลายๆหน่วยไม่กล้าเชื่อเรื่องฮิตเลอร์ตายแล้ว  ดร. เกิบเบิคร์เขาเตรียมพร้อมกินยาพิษ น่าคิดมาก โดยส่วนมากคนบ้าลัทธิ จะไม่อยากตายด้วยการดูหมิ่นจากศัตรู การกลืนยาคงจะเริ่มเมื่อ  ดร. เกิบเบิคร์ เจรจาไม่สำเร็จ และเขาก็ไม่ยอมเป็นเชลยแน่นอน แถมยาพิษที่เตรียมจะกลืน มีข้อมูลว่าตายอย่างไม่ทรมาณมากนัก แถมใช้เวลาเป็นวินาทีด้วย แต่ก้ไม่รู้ว่ากี่วินาที

แผนการนี้น่าเจ็บใจที่พันตรี Otto Ernst Remer ใจประซิว นั่นอาจเพราะดันเจอเสียงของฮิตเลอร์จะๆๆ เป็นใครก็สั่นไปหมด ซึ่งน่าแปลกที่ Stauffenberg ไม่ได้ชักชวนให้เข้าร่วม กลับไว้ใจว่าเขาต้องหลงชื่อกับคำสั่งปลอม นั่นเพราะStauffenbergได้วางแผนไว้อย่างดีเยี่ยมอันนี้ยอมรับและคงเพราะนิสัยการทำงานอันไม่ไว้หน้าใครของ ของพันตรี Otto Ernst Remer อันนี้มั้งที่ Stauffenberg เชื่อว่าเขาจะไม่ทำอะไรนอกเหนือคำสั่ง

บทสรุปของเรื่องจบไวมาก นั่นเพราะกองกำลังรักษาดินแดน ไม่ได้เป็นคนของStauffenbergโดยตรง ดังนั้นพันตรี Otto Ernst Remer  เมื่อบุกเล่นงาน ดร.เกิบเบิคร์ก็ทำงานไว ดังนั้นเมื่อต้องมาจับStauffenberg พันตรี Otto Ernst Remer ก้ทำงานไวไม่แพ้กันเลย เรื่องเลยจบไว

คนที่โดนหางเลขคือรอมเมลและนายพลกรุเกอร์ ซึ่งเป็นเพื่อนกับหลายคนในกลุ่มโค่นล้มฮิตเลอร์ นายพลกลูเกอร์ติดพันรบในนอร์มังดีเพราะต้องรับหน้าที่แทนจากการที่รอมเมลบาดเจ็บจากการโดนโจมตีทางอากาศ นายพลกลูเกอร์โดนระบุโดยตรง ในหนังมีการพุดถึงด้วยว่าผู้ร่วมขบวนการณ์ขาดไปคนนึง เพราะโดนเรียกไปสงคราม นายพลกลุเกอร์จึงได้ฆ่าตัวตายในป่า ส่วนรอมเมลจากที่เคยอ่านจากคำให้การของคนในครอบครัวว่า รอมเมลโดนให้การชักทอดจากคนแค่คนเดียว ทำให้สรุปไม่ได้ว่ารอมเมลร่วมขบวนการหรือป่าว แต่นั่นทำให้ฮิตเลอร์เกิดความระแวงได้แล้ว ในหนังเองก็ไม่ได้ชี้ชัดว่ารอมเมลร่วมหรือป่าว แต่ในหนังStauffenberg เล่นบอกจะว่าถ้าแผนสำเร็จจะให้รอมเมลขึ้นเป็นผู้นำประเทศแทน แค่นั้นฮิตเลอร์ก็ไม่ไว้ใจรอมเมลอีกต่อไปแล้ว

*มีการให้ความเห็นถึงการสอบสวนของพวกเกสตาโป หรือพวกเอสเอสว่าโหดมาก ดังนั้นการชักทอดถึงชื่อรอมเมลจึงอาจ เพราะเกสตาโปพยายามถามว่ามีรอมเมลร่วมขบวนการไหมและทรมาณจนมีคนนึงอาจละเมอยอมรับว่ามีรอมเมลร่วมด้วย เหตุเพราะStauffenberg เป็นลุกน้องของรอมเมลในอาฟริกาโดยตรง ในหนังฉากStauffenbergเดินกับนายพลในทะเลทรายก็คงเป็นรอมเมล จากแว่นกันฝุ่นที่หมวกอันเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวของรอมเมลที่ได้จากเชลยอังกฤษ แม้จะมีนายทหารเยอรมันหาใส่มั้ง แต่เท่าที่ดูในภาพของนายพลที่รบในทะเลทรายกลับมีแค่รอมเมลคนเดียวที่ใส่แว่นแบบนั้น ดังนั้นในฉากนั้นคือรอมเมลแน่นอน*

เคยดูสารคดีนึง เขาจำลองการระเบิดว่าโต๊ะของฮิตเลอร์ช่วยชีวิตไว้ได้จริงหรือป่าวและการย้ายกระเป๋าทำให้แรงระเบิดไม่สามารถฆ่าฮิตเอลณืได้จริงหรือป่าว ผลออกมาหุ่นที่สมมุติเป็นฮิตเลอร์บาดเจ็บเล้กน้อย นั่นทำให้ ความสงสัยว่าฮิตเลอร์รอดตายได้ยังไงนั้นมีข้อสรุปเรียบร้อย

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น รอมเมล (goh_17-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-06-06 06:14:17 IP : 58.9.39.96


ความคิดเห็นที่ 6 (101607)
avatar
โรจน์ (Webmaster)

เรื่องของจอมพลรอมเมล (ไม่ใช่คุณ "รอมเมล") นั้น  ไม่ว่าในภาพยนตร์จะเจตนาให้นายพลคนที่ใส่แว่นกันฝุ่นเหมือนจอมพลรอมเมลในตอนต้นเรื่องเป็นจอมพลรอมเมลหรือไม่ก็ตาม  ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์คือในระหว่างการบในทะเลทรายท่านจอมพลไม่เคยได้รับบาดเจ็บใดๆ จากการโจมตีทางอากาศแบบนั้น  จนกระทั่งกลับมายุโรปจนยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดีแล้วนั่นแหละ  จึงได้ประสบเหตุ  จนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลระยะหนึ่ง  แล้วออกมาพักฟื้นอยู่ที่บ้าน  จำไม่ได้ว่าตอนเกิดเหตุลอบสังหารฮิตเลอร์ตัวท่านจอมพลออกจากโรงพยาบาลหรือยัง  แล้วสุดท้ายก็มาถูกเกสตาโปกดดันให้กินยาพิษฆ่าตัวตายครับ

อีกประการหนึ่ง จากหนังสือ Patton, Montgomery, Rommel: Masters of War ของ Terry Brighton อ้างปากคำของคนในครอบครัวจอมพลรอมเมล และอื่นๆ  สรุปว่าจอมพลรอมเมลไม่ได้คิดที่จะสังหารฮิตเลอร์  เขามีความต้องการแค่จะบีบให้ฮิตเลอร์ลงจากอำนาจและเปิดทางให้สัมพันธมิตรทางตะวันตกเข้าสู่กรุงเบอร์ลินก่อนกองทัพรัสเซีย  และเขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับกลุ่มของ Stauffenberg มีแต่เพียงความพยายามติดต่อจากตัวแทนกลุ่มมายังรอมเมล  ความที่ต่างฝ่ายต่างยังไม่คุ้นกันและต้องระวังหูตาของพวกนาซีเลยสื่อกันไม่ได้มาก  กลุ่มของ Stauffenberg เหมาเอาเองว่าท่านจอมพลตกลงเข้าร่วมแล้ว

ผู้แสดงความคิดเห็น โรจน์ (Webmaster) (webmaster-at-iseehistory-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-06-06 21:07:41 IP : 124.121.224.34



1


Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker