อาวุธ สงคราม และสังคม : จิตวิญญาณการต่อสู้ของญี่ปุ่น
avatar
หมาป่าดำ


 อาวุธ สงคราม และสังคม : จิตวิญญาณการต่อสู้ของญี่ปุ่น

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์
 
 
 
ผมได้รับเกียรติเชิญให้ไปแสดงความคิดเห็นในงานนิทรรศการ “ จิตวิญญาณแห่งการต่อสู้ : ประวัติศาสตร์ศิลปะการต่อสู้ของญี่ปุ่น ”ซึ่งจัดโดยเจแปนฟาวน์เดชั่น (The Japan Foundation ) ร่วมกับพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ความที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นส่วนที่ผมคิดว่าหลังจากพูดเสร็จแล้วก็น่าจะนำมาเล่าสู่กันครับ
 
 
 
คนไทยจำนวนมากรับรู้เรื่องราวและนิยายการต่อสู้ของคนญี่ปุ่นจากภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นวิถีแห่งซามูไร  สงครามระหว่างเมือง หรือศิลปะการต่อสู้ที่นำเข้ามาสู่ชีวิตประจำวันในยุคร่วมสมัย ( คนแก่รุ่นผมส่วนใหญ่จะจดจำภาพยนตร์โทรทัศน์เรื่อง “เคนโด้ ” ได้เป็นอย่างดี)    และเราถูกทำให้นึกถึงภาพการต่อสู้ของคนญี่ปุ่นเพียงไม่กี่ภาพ เช่น เวลาคนไทยคิดถึง “ซามูไร”ของญี่ปุ่นก็มักจะมีภาพสองภาพซ้อนทับกันอยู่ได้แก่ อาวุธดาบที่คมกริบ กับจิตวิญญาณของการต่อสู้เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อนายจนตัวตาย
 
 
 
การที่เรารับรู้เพียงบางด้านของการต่อสู้/สงครามเช่นนี้  ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเรื่องเล่าของนักรบและสงครามจะถูกทำให้เป็น “เรื่องเล่าราวกับนิยาย” (Fictionalized) เสมอ เพราะการตายของผู้คนในสงครามย่อมทำให้เกิดความรู้สึกสูญเสียอย่างรุนแรง ดังนั้นจึงจะต้องสร้างการตายให้บรรจุไว้ด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่/สะเทือนใจมากกว่าความเศร้าโศกเสียใจของการสูญเสียส่วนบุคคล ภาพของนักรบและสงครามถูกทำให้กลายเป็นเรื่องเกียรติยศ/ศักดิ์ศรีที่สูงส่งที่มนุษย์พึงเสียสละแม้ชีวิตตนเองเพื่อสิ่งที่สูงส่งและงดงามกว่าเสมอมา
 
 
 
ด้วยเหตุนี้ เราจึงถูกทำให้จดจำเรื่อง “สงคราม” ได้ดีกว่า ชัดเจนกว่ายุคสมัยของความสงบสุขที่ไร้สีสันของการเสียสละเพื่อสิ่งที่สูงส่งกว่า (ลองนึกถึงความทรงจำของคนไทยเรื่องชาวบ้านบ้านบางระจันนะครับ)
 
 
 
การจัดนิทรรศการเรื่อง“ จิตวิญญาณแห่งการต่อสู้ : ประวัติศาสตร์ศิลปะการต่อสู้ของญี่ปุ่น” แบ่งออกเป็นสองส่วน ซึ่งการแบ่งเช่นนี้มีความหมายอย่างมากในการทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคมญี่ปุ่น
 
 
 
ส่วนแรกเป็นการแสดงอาวุธในประวัติศาสตร์ (ที่ทำขึ้นใหม่โดยช่างผู้เชี่ยวชาญและใช้เทคนิคแบบโบราณ)   เช่น ดาบ ธนูและลูกธนู ชุดเกราะและหมวกเกราะ อาวุธจริง ต้นแบบของชิ้นงานเหล่านี้เก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑ์และปราสาทในประเทศญี่ปุ่น
 
 
 
ส่วนที่สองของนิทรรศการ เป็นส่วนที่เกี่ยวกับการฝึกฝนศิลปะการต่อสู้ในปัจจุบัน เน้นการเปลี่ยนจากบุจุทซึ (วิถีแห่งการต่อสู้) มาสู่บุโด (วิถีแห่งความกล้า) ซึ่งการฝึกฝนร่างกาย มีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับจิตวิญญาณและการควบคุมตนเป็นหลัก และได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบจนกลายเป็นการต่อสู้ป้องกันตนเองและกีฬาในหลายประเภท
 
 
 
การแสดงอาวุธในประวัติศาสตร์ไม่ใช่เพียงแค่การแสดงความสวยงามของประดิษฐ์กรรมทางอาวุธ แต่จะทำให้เรามองลึกเข้าไปถึง “สภาพ” ของสงคราม  และลึกลงไปสู่สภาพของสังคมด้วย เพราะการสร้างอาวุธแต่ละประเภทแต่ละชนิดย่อมถูกเลือกสร้างขึ้นมาให้เหมาะสมต่อการทำสงคราม และการทำสงครามในรูปแบบต่างๆ ก็จะสะท้อนให้เห็นได้ว่าสังคมที่ทำสงครามแบบนั้นๆ มีการจัดตั้งทางสังคมอย่างไร
 
 
 
หากเปรียบเทียบกรณีอาวุธของสังคมไทย เราจะเห็นว่ามีความแตกต่างกันอย่างมาก เพราะสังคมไทยไม่ค่อยเหลือความทรงจำเกี่ยวกับอาวุธ  และอาวุธที่เรามีอยู่ก็จำกัดมากเมื่อเปรียบเทียบกับญี่ปุ่น เช่น ธนูของเราก็ไม่ได้ถูกเน้นว่าเป็นอาวุธในการทำสงคราม เสื้อเกราะของเราก็ไม่ปรากฏในหลักฐานว่ามีใช้ในการรบพุ่ง (หากไม่นับเสื้อลงยันต์หรือเสื้อประเจียดเป็นเสื้อเกราะ)  ดาบเหล็กของเราก็ไม่ได้มีชื่อเสียงที่พอจะมีการกล่าวอยู่บ้างก็เพียงดาบที่ทำจากแหล่งเหล็กคุณภาพดี คือดาบอรัญญิกเท่านั้น
 
 
 
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะสงครามของไทยแตกต่างจากสงครามภายในสังคมญี่ปุ่นอย่างมาก สงครามของไทยส่วนใหญ่แล้วเป็นสงครามระหว่างสองรัฐ ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยมากนัก (รัฐประหารในสมัยอยุธยาเกิดขึ้นบ่อย แต่ก็ไม่จำเป็นต้องพัฒนาอาวุธแต่อย่างใด เพราะเป็นการรัฐประหาร/ฆ่าฟันกันระหว่างชนชั้นสูงจำนวนไม่มากนัก ใช้แค่ดาบหรือยาพิษก็เพียงพอแล้ว)
 
 
 
สงครามระหว่างรัฐของไทยก็เป็นสงครามที่เน้นการตั้งรับ และใช้ธรรมชาติเป็นเงื่อนไขในการรบ   ราชอาณาจักรอยุธยามักจะรอให้น้ำหลากท่วมกองทัพพม่าจนต้องล่าถอยไป เป็นต้น อาวุธที่ไทยเราใช้บ่อยก็ได้แก่ปืนใหญ่ เพื่อคอยยิงป้อมค่ายของพม่าเท่านั้น ซึ่งก็อยู่ไกลจนธนูยิงไม่ถึง หากพม่าจะเข้ามาประชิดกำแพงเมืองได้ก็หมายความว่าทางไทยอ่อนแอ ไพร่พลหนีตายออกไปนอกกำแพงเมืองหมดแล้ว การต่อสู้ในการรบแบบประชิดจึงมีไม่มากนัก ซึ่งแตกต่างจากญี่ปุ่นโดยสิ้นเชิง
 
 
 
แม้ว่าญี่ปุ่นในสมัยจารีตนั้นจะมีทั้งสงครามภายในและสงครามภายนอกขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญทำให้เกิดการพัฒนาอาวุธต่างๆ ขึ้นมา แต่โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นสงครามภายในรัฐเสียมากกว่า จนอาจจะกล่าวได้ว่าสงครามในสังคมญี่ปุ่นเป็นเสมือนสงครามส่วนตัวของชนชั้นนำ/เครือข่ายชนชั้นนำ และที่สำคัญ   สงครามภายในนี้เองส่งผลอย่างสำคัญต่อการพัฒนาอาวุธยุทธภัณฑ์ทั้งหลายที่ปรากฏหลงเหลืออยู่มาจนถึงทุกวันนี้
 
 
 
กล่าวได้ว่า สงครามภายในของญี่ปุ่นเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดการสร้างอาวุธและการใช้อาวุธอย่างที่เห็นกันอยู่ในพิพิธภัณฑ์ทุกวันนี้ สงครามที่มีมากในหลังสมัยเฮฮันจนถึงสงครามเซกิกาฮาร่าที่ทำให้เกิดยุคสมัยเอโด ( 1185-1600) เป็นสงครามที่ได้สร้างเครื่องมือของสงคราม ที่สำคัญ ได้แก่ ธนู/ดาบ/ม้า//เสื้อเกราะ จนกล่าวกันว่าเป็นวิถีแห่งนักรบ คือ วิถีการรบของม้าและธนู (Way of Horse and Bow) การฝึกยิงธนูบนหลังม้าเป็นเรื่องที่นักรบทุกคนจะต้องฝึกฝน
 
 
 
ในช่วงแรกของยุคกลาง เป้าหมายหลักของการสงครามคือการฆ่าหัวหน้าหรือกลุ่มผู้นำของอีกฝ่ายหนึ่งเท่านั้น ต่อมาจึงค่อยๆ เปลี่ยนมาสู่การรบกันระหว่างแคว้น กล่าวได้ว่าสงครามในสมัยต้นเฮอันเป็นสงครามขนาดเล็กที่อาจจะมีคนรบกันจำนวนหลักร้อยเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการรัฐประหารของ Taira Masakado (935-941) Taira Tadasone (1028-1031) ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญได้เริ่มเกิดขึ้นในปลายสมัยเฮอัน เมื่อเจ้าเมืองท้องถิ่นเริ่มสะสมอำนาจมากขึ้นและเริ่มเกาะกลุ่มสร้างเครือข่ายเจ้าเมือง จึงเริ่มที่จะพัฒนาอาวุธและยุทธศาสตร์ยุทธวิธีการสงคราม ความขัดแย้งที่นำไปสู่สงครามภายในจึงเกิดบ่อมมากขึ้น จนกระทั้งเกิดสงครามใหญ่ระหว่างเครือข่ายเจ้าเมืองเก่า Taira กับกลุ่มอำนาจใหม่ Minamoto ในนามสงครามที่รบกันยามนานห้าปี เรียกกันว่าสงคราม Gempi (1180-1185 ) อาวุธต่างๆ และเทคนิคการรบได้จึงถูกพัฒนาขึ้นอย่างชัดเจน การรบเพื่อต่อต้านผู้รุกรานมองโกลของญี่ปุ่นหลังยุคเฮอันได้เป็นสงครามใหญ่ครั้งหนึ่งที่ญี่ปุ่นได้ใช้อาวุธที่ได้พัฒนาขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ
 
 
 
เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าสงครามภายในต้องการการรุกรบที่รวดเร็ว เพื่อที่จะไม้ให้ความสูญเสียขยายวงกว้างออกไป เพราะหากขยายวงกว้างก็จะกระทบกับฐานทางเศรษฐกิจของเมืองหรือแคว้นตนเองไปด้วย  การรบด้วยกองกำลังนักรบบนหลังม้าจะสามารถเผด็จศึกได้รวดเร็วขึ้น
 
 
 
พร้อมกันนั้นการสร้างดาบและสร้างเสื้อเกราะพร้อมหมวกที่ประดับให้น่ากลัวมากที่สุดเพื่อจะใช้ข่มขวัญอีกฝ่ายหนึ่ง ดาบจะถูกสร้างอย่างพิถีพิถันโดยช่วงมีฝีมือที่สามารถนำเหล็กอย่างดีมาซ้อนทับประกอบกันมากกว่าหนึ่งชนิด เพราะความคมและความเหนียวของดาบจะเป็นเครื่องมือที่สร้างความน่าสะพรึงกลัวด้วย
 
 
 
ไม่ใช่เพียงแค่ ธนู/ดาบ /ม้า/เสื้อเกราะ เท่านั้น สงครามภายในยังได้สร้างวัฒนธรรมการสู้รบที่มุ่งเน้นให้สามารถยุติศึกได้โดยเร็ว สองประการ ประการแรก ได้แก่ การทำให้การรบระหว่างผู้นำศึกเป็นเรื่องสำคัญ  เพราะการรบแต่ละครั้งจะต้องมีการประกาศชื่อตนเองในฐานะขุนศึกของแต่ละฝ่าย การประกาศชื่อก่อนการรบถือเป็นเกียรติยศและศักดิศรีอย่างสำคัญ หากผู้นำพลาดท่าพ่ายแพ้ การรบก็ยุติลง ประการที่สอง  ได้แก่ การตัดศีรษะประจาน ซึ่งเป็นการข่มขู่ศัตรูคนอื่นที่ยังไม่ยอมจำนน ให้ยอมเสียแต่เนิ่นๆ
 
 
 
จนถึงช่วงก่อนเข้าสู่สมัยเอโด การรบค่อยๆเปลี่ยนมาสู่การใช้กำลังไพร่พลมากขึ้น เพราะแต่ละเครือข่ายผนึกกำลังแนบแน่นมากขึ้น  การเคลื่อนพลด้วยกำลังทหารเดินเท่าเริ่มมีมากขึ้น จึงได้พัฒนาอาวุธยาวขึ้นมาใช้ ได้แก่ หอก/ง้าว และได้สร่างโล่สำหรับทหารเดินเท้าไว้ใช้ป้องกันลูกธนูของอีกฝ่ายหนึ่ง
 
 
 
สงครามภายในนอกจากจะเป็นปัจจัยก่อให้เกิดการพัฒนาอาวุธยุทธภัณฑ์และอำนาจทางการเมืองแล้ว  ยังได้ทำให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจอาวุธอีกด้วย
 
 
 
การขยายตัวของเศรษฐกิจอาวุธเป็นส่วนหนึ่งที่หล่อเลี้ยงการทำสงครามภายในของญี่ปุ่น กล่าวคือ การอาวุธที่ดีกว่าย่อมจะทำให้โอกาสของการชนะศึกมีมากกว่า ดังนั้นจึงเกิดการแข่งขันกันของช่างฝีมือในการสร้างอาวุธให้ดีกว่าคนอื่น เพราะการสร้างอาวุธที่ดีกว่าก็ย่อมถึงการมีชื่อเสียงและมีลูกค้ามากขึ้นตามไปด้วย
 
 
 
กลุ่มตระกูลตีเหล็กทำอาวุธต่างจึงพยายามพัฒนาความรู้ทางด้านวัสดุศาสตร์และความรู้ด้านเทคนิดการถลุงเหล็กเพื่อที่จะสร้าง “ดาบ”, “ธนู” รวมไปถึง “เกราะ” ให้มีคุณภาพสูงที่สุด ความรู้เรื่อง “เหล็ก” และความรู้ในการถลุงเหล็กในญี่ปุ่นจึงมีพื้นฐานมาเนิ่นนานและสั่งสมความรู้พัฒนาอย่างต่อเนื่องจนมาประยุกต์ใช้ในการประดิษฐ์เครื่องยนต์กลไกในสมัยต่อๆ มา
 
 
 
กลุ่มตระกูลตีเหล็กทำอาวุธนั้นเดิมกระจุกตัวอยู่ในเมืองหลวง แต่ต่อมาเมื่อมีสงครามบ่อยมากขึ้น ก็ได้เกิดการกระจายของตระกูลตีเหล็กทำอาวุธไปทั่วทุกแค้วน  การกระจายของการตีเหล็กนี้ได้ทำให้การค้าขายขยายตัวตามไปด้วย  เพราะการถลุงเหล็กต้องการการแร่เหล็กจากที่อื่นๆ จึงทำให้เกิดการค้าเหล็กเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันก็กระตุ้นการผลิตเฉพาะอย่างด้านอื่นๆให้ขยายตัวตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นถ่านไม้และอาหาร
 
 
 
สงครามภายในที่เป็นส่วนสำคัญในการสร้างอาวุธวางอยู่บนพื้นฐานการตั้งทางสังคมที่เป็นหน่วยทางการเมืองที่ไม่ใหญ่มากนัก และสร้างสายสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นภายในกลุ่มหรือเมืองของตนเอง เพื่อที่จะสามารถระดมทรัพยากรมาใช้ในการธำรงรักษาความเข้มแข็งของเมืองเอาไว้
 
 
 
การจัดตั้งทางสังคมของ “กลุ่ม” จึงเป็นรากฐานที่สำคัญของสังคมญี่ปุ่น และเพื่อที่จะรักษาความมั่นคงของ” กลุ่ม” เอาไว้ให้เข้มแข็งที่สุด ก็จำต้องแยกแยะแบ่ง “ กลุ่ม”  อกอย่างน้อยสองระดับ ได้แก่ กลุ่มแกนที่จะทำหน้าที่หลักในการรักษาความเข้มแข็งของ “กลุ่ม” กลุ่มนี้ได้แก่ กลุ่มนักรบที่จะต้องอุทิศทุกอย่างให้แก่ “กลุ่ม” กลุ่มอีกระดับหนึ่งเป็นส่วนที่อยู่วงนอกออกไปแต่ก็มีความจำเป็นในการสนับสนุนความเข้มแข็งของกลุ่มแกน กลุ่มนี้ได้แก่ ชาวนาและคนทั่วไป (ต่อมาคือพ่อค้า)
 
 
 
จากที่กล่าวมาทั้งหมดต้องการจะชี้ให้เห็นว่าอาวุธทั้งหลายที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นภาพสะท้อนให้เราเห็นสภาพของสงคราม และสภาพสงครามก็จะสะท้อนให้เราเข้าใจลักษณะของการจัดตั้งทางเศรษฐกิจ-สังคมของญี่ปุ่นชัดเจนขึ้น
 
 
 
จิตวิญญาณการต่อสู้ของญี่ปุ่นได้เริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ เมื่อเข้าสู่สมัยเอโดะซึ่งเป็นยุคสมัยของความสงบ เพราะสงครามภายในระหว่างแคว้นต่างๆ ได้ยุติลง ความจำเป็นที่จะต้องฆ่าฟันกันนั้นหมดไป  แต่ขณะเดียวกัน ความรู้ความชำนาญของ “การรบ” ยังคงเป็นสิ่งที่มีค่าและมีราคา จึงได้ถูกแปลงให้เหมาะสมกับยุคสมัย
 
 
 
การกล่าวว่าความรู้ความชำนาญของ “การรบ” ยังคงเป็นสิ่งที่มีค่าและมีราคา ก็เพราะว่าในยุคสมัยเอโดะ  เศรษฐกิจของญี่ปุ่นขยายตัวอย่างมาก ตลาดภายในประเทศเติบโตขึ้นอย่างกว้างขวาง ภาพพิมพ์จากการแกะสลักไม้ของฮิโระชิเงะ ( Hiroshige) ได้แสดงให้เห็นถึงความคึกคักของการค้าขายในหลายระดับ “ชนชั้นกลาง”รุ่นโบราณซึ่งเป็นพ่อค้าในระดับต่างๆ ของญี่ปุ่นที่ได้ถือกำเนิดขึ้นมา คนชั้นกลางกลุ่มใหม่ที่ไม่ได้มีสถานะทางสังคมเป็นซามูไรหรือขุนนาง แต่ก็ไม่ได้เป็นชาวนานี้ ได้กลายเป็นพลังของ “ตลาด” ที่สนับสนุนให้กลุ่มนักรบและผู้ชำนาญการต่อสู้หันมาแสวงหาแนวทางในการธำรงรักษาความรู้ความชำนาญด้าน “การรบ” จากตลาดใหม่ที่เกิดขึ้น
 
 
 
“ชนชั้นกลาง”รุ่นแรกในญี่ปุ่นมีพลังทางเศรษฐกิจอย่างมากจนสามารกกำหนดสร้าง “รสนิยม” ทางสังคมได้อย่างกว้างขวาง  รวมทั้งความปรารถนาที่จะเลื่อนสถานะทางสังคมของตนด้วยการมีทักษะระดับสูงเฉกเช่น ชนชั้นสูงและซามูไรมีไว้ประดับตนเอง อันได้แก่ ศิลปะการสู้รบ ความปรารถนานี้จึงสอดคล้องไปกับความต้องการแสวงหาทางออกทางเศรษฐกิจของนักรบและผู้ชำนาญการต่อสู้หลายกลุ่มด้วยกันที่ยากลำบากมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจการตลาดในยุคสมัยแห่งความสงบสุขนี้
 
 
 
ตลาดชนชั้นกลางที่กว้างขวางและการแสวงหาทางออกทางเศรษฐกิจของกลุ่มนักรบและผู้ชำนาญการต่อสู้จึงทำให้สังคมญี่ปุ่นในสมัยเอโดเต็มไปด้วยสำนักสอนศิลปะการต่อสู้  จนมีผู้กล่าวไว้ว่าในยุคนี้เป็นยุคสมัยที่ศิลปะการต่อสู้นั้น “บานสะพรั่ง”  อันหมายถึงมีความหลากหลายและได้รับความนิยมอย่างสูง
 
 
 
แต่อย่างไรก็ตาม ความรู้ความชำนาญด้านการรบก็ต้องเปลี่ยนแปลงรูปลักษณะ เพราะรัฐในสมัยเอโดะสามารถรักษาความสงบเรียบร้อยไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่อนุญาตให้เกิดการฆ่าฟันกัน กลุ่มนักรบและผู้ชำนาญการต่อสู้จึงได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการสอบความรู้ของตนมาสู่แนวทางการฝึกศิลปะการต่อสู้เชิงสันติวิธีขึ้นมา  โดยเน้นการเรียนศิลปะการต่อสู้เพื่อเป้าหมายที่สูงกว่าการทำร้ายและการทำลายชีวิตผู้อื่น ที่สำคัญได้แก่ การเรียนรู้ศิลปะการต่อสู้เพื่อควบคุมจิตใจ
 
 
 
เมื่อญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ได้แก่ ยุคการปฏิรูปเมจิ ด้วยการที่คนในสังคมล้วนแล้วแต่คิดคำนึงถึงเฉพาะ “ความเป็นสมัยใหม่” จึงให้ศิลปะการต่อสู้ของญี่ปุ่นได้รับความนิยมน้อยลงในช่วงแรก เพราะนอกจากจะถูกมองว่าคร่ำครึแล้ว ยังถูกเพ่งเล็งจากรัฐว่าเป็นเครื่องมือของกลุ่มนักรบรุ่นเก่า (ซามูไร) ที่จะใช้ต่อต้านรัฐบาลสมเด็จพระจักรพรรดิ ดังที่ประสบในการสงครามกลางเมืองโบชิน (ในภาพยนตร์เรื่องThe Last Samurai นั้นแหละครับ) ดังนั้น จึงทำให้บรรดาสำนักการต่อสู้ต่างก็ต้องตกอับกันอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง
 
 
 
ก่อนเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง ศิลปะการต่อสู้ได้เริ่มกลับมีบทบาทมากขึ้นเมื่อรัฐทหารพยายามจะดึงเอาศิลปะการต่อสู้นี้เข้าไปในกองทัพ  และกำลังจะเปลี่ยนแปลงศิลปะการต่อสู้ให้กลับคืนสู่ความรุนแรงระดับทำลายชีวิตมาแทนที่การฝึกเพื่อฝึกฝนจิตใจอีกครั้งหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลทหารยังไม่ทันได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากนักก็แพ้สงครามเสียก่อน
 
 
 
เมื่อสหรัฐอเมริกาเข้ายึดครองญี่ปุ่นก็ได้สั่งห้ามการฝึกศิลปะการต่อสู้นี้เป็นเวลาหลายปี เพราะเข้าใจว่าเป็นเครื่องมือในการจรรโลงรัฐบาลทหาร จนเมื่อสหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องปล่อยให้ญี่ปุ่นมีอิสระมากขึ้น เพราะต้องการใช้ญี่ปุ่นเป็นฐานในการต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศเกาหลี ความเป็นอิสระที่เพิ่มขึ้นนี้จึงได้เปิดโอกาสให้สำนักฝึกศิลปะการต่อสู้ฟื้นตัวขึ้นมา โดยกลับไปเน้นที่การฝึกฝนจิตใจอีกครั้งหนึ่ง
 
 
 
ความเปลี่ยนแปลงในศิลปะการต่อสู้ของญี่ปุ่นได้เกิดอีกครั้งหนึ่งหลังสงครามโลก  อันเกิดจากเงื่อนไขสองประการด้วยกัน ประการแรก ได้แก่ การที่ญี่ปุ่นสามารถฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วหลังสงครามโลก ทำให้คนทั่วโลกต่างทึ่งและอยากจะเรียนรู้ว่าทำไมญี่ปุ่นถึงทำได้ขนาดนั้น และมองหาความพิเศษบางอย่างที่คนและสังคมญี่ปุ่นต้องมีอยู่ ไม่อย่างนั้นก็คงไม่สามารถฟื้นประเทศได้รวดเร็วอย่างที่เห็นกัน
 
 
 
ประการที่สอง ได้แก่ ความต้องการที่จะต้องให้แก่ตนเองของสังคมญี่ปุ่นที่ผ่านความโหดร้ายของสงครามมาอย่างหนักหน่วง สังคมญี่ปุ่นจะต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าตนคือใครเพื่อที่จะก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างภาคภูมิ
 
 
 
ทั้งสองเงื่อนไขนี้จึงทำให้เกิดการสร้าง “ความเฉพาะของความเป็นญี่ปุ่น”  ขึ้นมา และศิลปะการต่อสู้ที่เน้นการฝึกฝนจิตใจก็ได้ถูกเลือกสรรให้กลายมาเป็นส่วนที่สำคัญของลักษณะเฉพาะของสังคมญี่ปุ่น ด้วยเหตุนี้  ศิลปะการต่อสู้ของญี่ปุ่นจึงแพร่กระจายออกไปทั่วโลก
 
 
 
ท่ามกลางการสร้างความพิเศษเฉพาะชาติของญี่ปุ่นและการส่งออกศิลปะการต่อสู้ของญี่ปุ่นไปทั่วโลก ก็ได้ทำให้เกิดกระบวนการทำให้ศิลปะการต่อสู้ของญี่ปุ่นกลายเป็นกีฬาที่คนทั้งโลกสามารถเข้ามาร่วมฝึกและแข่งขันกันได้ ด้วยการลดทอนความรุนแรงลงและสร้างกฎเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันของศิลปะการต่อสู้แต่ละประเภท ศิลปะการต่อสู้ของญี่ปุ่นที่เคยเป็นส่วนเฉพาะของสังคมญี่ปุ่นก็ได้กลายเป็นสมบัติร่วมกันของคนทั้งโลก
 
 
 
จากที่กล่าวมาทั้งหมด ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่าปรากฏการณ์หนึ่งปรากฏการณ์ใดไม่ได้เกิดขึ้นในสุญญากาศ  หากแต่ต้องเกิดขึ้นในบริบทของสังคมนั้นๆ อาวุธถูกสร้างขึ้นบนเงื่อนไขของยุทธศาสตร์ยุทธวิธีของการสงคราม และยุทธศาสตร์ยุทธวิธีของสงครามก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของสังคม หากเราเข้าใจและมองทุกอย่างอย่างมีบริบท เราก็จะเข้าใจอะไรมากขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน
 
 
http://www.midnightuniv.org


ผู้ตั้งกระทู้ หมาป่าดำ (mistiest-at-hotmail-dot-com) กระทู้ตั้งโดยสมาชิก โพสต์และแสดงความเห็นเฉพาะสมาชิกเท่านั้น :: วันที่ลงประกาศ 2012-09-09 14:13:46 IP : 223.206.26.1


Copyright © 2010 All Rights Reserved.