แสนยานุภาพกัมพูชา
avatar
หมาป่าดำ


 

ส่องแสนยานุภาพกัมพูชา : ตะลุยกองทัพโดยทีมข่าวความมั่นคง

 


              “อุบัติเหตุ” ชายแดนไทย-กัมพูชา สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อโดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ต่างฝ่ายต่างก็ยืนยันว่า ดินแดนที่เป็นข้อพิพาทนั้นเป็นของตน ทำให้ไม่ว่า ศาลโลกจะตัดสินออกมาอย่างไร การประเมินของหน่วยงานด้านความมั่นคงก็ยังชี้ว่า แทบจะทุกมิติ แทบจะทุกประตูที่ศาลชี้มีแนวโน้มที่จะนำไปสู่สงคราม

              สัญญาณจากกัมพูชานั้น แน่นอนว่า จะต้องจับตาดูท่าทีของ สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เป็นหลัก ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่ได้รุนแรงจนผิดสังเกต แต่ใครจะรู้ว่า เมื่อศาลโลกฟันธงลงมาแล้ว สมเด็จฮุน เซน จะทำอย่างไร

              ถ้ากัมพูชาได้เปรียบ แน่นอนว่า กำลังรบจะต้องถูกเสริมเข้ามาอย่างเต็มที่ เพื่อปกป้องอธิปไตยของกัมพูชา แต่ถามว่า แล้วกองทัพไทยจะยินยอมตามนั้นหรือ?

              หากศาลโลกเชื่อในหลักฐานและเหตุผลของไทย ถามว่า กัมพูชาที่เพียรหาช่องทางเพื่อให้มีสิทธิเหนือดินแดนทั้งปราสาทพระวิหารและพื้นที่โดยรอบทั้งหมดมากว่า 10 ปี จะยอมรามือกลับพนมเปญกระนั้นหรือ ในเมื่อ ฮอร์ นัม ฮง รองนายกฯ ของกัมพูชาพูดชัดแล้วว่า หากศาลไม่ตัดสินให้ฝ่ายกัมพูชา ก็ยากจะเกิดสันติภาพในดินแดนแถบนี้

              นั่นคือสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น แต่ถ้าถามว่าถ้ารบกันอีกครั้ง กัมพูชาซึ่งได้บทเรียนรับความเสียหายไปครั้งล่าสุด มาวันนี้ยังมีแสนยานุภาพอะไรมาต่อกรกับไทย

              เริ่มที่กองทัพบก สำหรับกัมพูชาแล้วนับเป็นเหล่าทัพที่สำคัญที่สุดในจำนวน 3 เหล่าทัพ อาวุธส่วนใหญ่ของจะมาจากค่ายสังคมนิยมเดิมอย่างรัสเซียและจีน

              ประกอบด้วย กรมทหารราบ 9 กรม, กองพันยานเกราะ 3 กองพัน, กรมทหารช่าง 4 กรม และกองพลน้อยต่อต้านการก่อการร้าย 3 กองพล มีกำลังทหาร 124,000 นาย งบประมาณกลาโหม 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีโดยประมาณ

              อาวุธส่วนมากเป็นอาวุธในยุคสงครามเย็นที่เคยใช้ในสงครามกลางเมือง ปัจจุบันอาวุธหลายรายการได้รับการช่วยเหลือจากจีน รัสเซีย และสหรัฐ

- รถถังหลัก T-55 จากรัสเซีย ราว 100 คัน
- รถถังหลัก Type-59 จากจีน ราว 200 คัน
- รถถังเบา PT-76 จากรัสเซีย, รถถังเบา Type-62/63 จากจีนและรถถังเบา AMX-13 จากฝรั่งเศส ราว 50 คัน
- รถรบทหารราบ BMP-1 จากรัสเซีย 10 คัน
- รถเกราะสายพาน M113A1/A3 จากสหรัฐ 20 คัน
- รถเกราะล้อยาง BTR-60 จากรัสเซีย 120 คัน
- รถเกราะล้อยาง BTR-152 จากรัสเซีย 100 คัน
- รถเกราะล้อยาง OT-64 จากโปแลนด์ 26 คัน

ปืนใหญ่/ปืนต่อสู้อากาศยาน/จรวดต่อสู้อากาศยาน

              กองทัพบกกัมพูชามีปืนใหญ่ทั้งจากสหรัฐและรัสเซียประจำการหลายรายการเช่นปืนใหญ่ขนาด 105 มม. แบบ M101, ขนาด 155 มม. แบบ M114 จากสหรัฐ หรือปืนใหญ่สนามขนาด 130 มม. แบบ M1954 และปืนใหญ่วิถีโค้งขนาด 152 มม. แบบ M1955

              สำหรับปืนต่อสู้อากาศยานนั้น ได้จากรัสเซียและจีนเป็นกำลังหลัก ส่วนจรวดต่อสู้อากาศยานเคยมีจรวด SA-3 แต่ได้ทำลายทิ้งไปตามข้อเสนอของสหรัฐเพื่อแลกเปลี่ยนกับความช่วยเหลือด้านอื่นเนื่องจากสหรัฐกลัวว่า SA-3 จะตกไปอยู่ในมือของผู้ก่อการร้าย

              กองทัพเรือกัมพูชายังมีสถานการณ์เป็นกองทัพเรือใกล้ฝั่ง (Green Navy) โดยมีเรือตรวจการณ์ลำน้ำชั้น Kaoh จำนวน 2 ลำ และเรือเร็วโจมตี (ปืน) อีก 2 ลำ

              ปี 2548 รัฐบาลจีนได้บริจาคเรือตรวจการณ์ขนาด 46 เมตร 4 ลำ เรือตรวจการณ์ขนาด 20 เมตร 3 ลำ และเรือลำเลียงสัมภาระอีก 1 ลำ
กองทัพอากาศ กัมพูชามีฐานบินอยู่สองแห่งคือ ฐานทัพอากาศพระตะบองและฐานทัพอากาศพนมเปญ แต่มีเครื่องบินประจำการที่ฐานทัพอากาศพนมเปญเพียงแห่งเดียว

              กัมพูชาเคยจัดหาเครื่องบินขับไล่แบบ MiG-21 จำนวน 22 ลำจากรัสเซียในปี 2529 แต่เครื่องบินถูกสั่งกราวน์ (จอด) ทั้งหมดในปี 2535 เนื่องจากขาดงบประมาณ ต่อมาในปี 2539 ได้ว่าจ้างบริษัท Israel Aircraft Industry ปรับปรุง MiG-21 จำนวน 12 ลำ และจัดหา L-39C มือสองที่ได้รับการปรับปรุงอีก 6 ลำ โดยได้รับมอบ L-39C ทั้งหมดเมื่อปี 2540 แต่จากการที่สมเด็จฮุน เซน ขับเจ้านโรดม รณฤทธิ์ ออกจากการร่วมรัฐบาล ทำให้ธนาคารโลกและสหรัฐตัดความช่วยเหลือ ส่งผลกระทบกับโครงการปรับปรุง MiG-21 ทำให้อิสราเอลส่งมอบ MiG-21 คืนให้กัมพูชา 2 ลำ ปัจจุบันไม่ทราบสถานะของเครื่องบินทั้ง 2 ลำนี้ แต่คาดว่าไม่สามารถทำการบินได้เนื่องจากขาดงบประมาณและขาดนักบินที่มีความชำนาญ

แสนยานุภาพของกองทัพอากาศ

              เครื่องบินขับไล่ MiG-21 Bis และ MiG-21UM จากรัสเซียอย่างละ 1 ลำ

- เครื่องบินขับไล่ฝึก L-39C จากสาธารณรัฐเช็ก 6 ลำ
- เครื่องบินลำเลียง Y-12 จากจีน 2 ลำ
- เครื่องบินลำเลียง An-24RV จากรัสเซีย 2 ลำ (รับโอนจากกัมพูชาแอร์ไลน์)
- เครื่องบินลำเลียงเบา BN-2A Islander จากอังกฤษ 2 ลำ
- เครื่องบินรับส่งบุคคลสำคัญ Falcon 20E จากฝรั่งเศส 1 ลำ (ได้รับบริจาคจากฝรั่งเศส)
- เฮลิคอปเตอร์ AS350 Ecureuil 2 ลำ (ได้รับบริจาคจากฝรั่งเศส)
- เฮลิคอปเตอร์ SA365 Dauphin 1 ลำ (ได้รับบริจาคจากฝรั่งเศส)
- เฮลิคอปเตอร์ Mi-8/Mi-17 จำนวน 6 ลำ
- เฮลิคอปเตอร์ Mi-26 จำนวน 2 ลำ

              การรับรู้แสนยานุภาพของอีกฝ่ายแล้วมาปรับปรุงในส่วนของตนเอง ก็อาจเป็นแนวทางหนึ่งที่จะยับยั้ง "สงคราม" ที่ไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้นได้

 

ส่องแสนยานุภาพกัมพูชา คมชัดลึก : การเมือง : ข่าวทั่วไป



ผู้ตั้งกระทู้ หมาป่าดำ (mistiest-at-hotmail-dot-com) กระทู้ตั้งโดยสมาชิก โพสต์และแสดงความเห็นเฉพาะสมาชิกเท่านั้น :: วันที่ลงประกาศ 2013-05-09 08:41:38 IP : 171.4.176.143


Copyright © 2010 All Rights Reserved.