ระลึกทหารอาสาไทยในสงครามโลกครั้งที่ 1 วันที่ 11 พ.ย. 2555
avatar
หมาป่าดำ


user image

 ถึงแม้คำว่า “สงคราม” จะเป็นคำที่ฟังดูแล้วโหดร้าย สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างมากมาย แต่ในความโหดร้ายนั้นก็มักมีความภาคภูมิใจตามมาด้วยเสมอ ดังเช่นในสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ทหารกล้าทุกนายอาสาร่วมทำสงครามครั้งใหญ่ในทวีปยุโรปเพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศของตนเอง รวมทั้งทหารอาสาของประเทศไทย โดย วันที่ 11 พฤศจิกายนของทุกปี ได้กำหนดให้เป็นวันที่ระลึกถึงทหารอาสาที่เข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1
   
ย้อนกลับไปศึกษาประวัติความเป็นมาของสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2457 โดยแบ่งผู้ขัดแย้งออกเป็น  2 ฝ่าย คือ ฝ่ายเยอรมัน มีพันธมิตรผู้หนุนหลัง ประกอบด้วย ออสเตรีย ฮังการี บัลแกเรีย ตุรกี และฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งประกอบด้วย รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และประเทศอื่น ๆ รวม 25 ประเทศ สำหรับประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตัดสินพระทัยส่งกองทหารอาสาเข้าร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตร โดยประกาศสงครามกับประเทศเยอรมัน และออสเตรีย-ฮังการี โดยทรงลงพระปรมาภิไธยในประกาศสงคราม เมื่อเวลา 24.00 น.ของวันที่ 21 กรกฎาคม 2460 หลังจากที่ประเทศไทยประกาศสงคราม กระทรวงกลาโหมจึงได้ประกาศรับสมัครทหารอาสา โดยคัดเลือกไว้ 1,385 นาย ผ่านการอบรมและทดสอบเหลือกองทหารอาสาจำนวน 1,285 นาย โดยมีพันเอก พระยาเฉลิมอากาศ (สุณี สุวรรณประทีป) เป็นผู้บังคับการกองทหารอาสา แบ่งเป็น 3 หน่วย คือ กองทหารบกรถยนต์ กองบินทหารบก และกองพยาบาล
   
ทหารอาสาทั้งหมดได้ร่วมกระทำพิธีสาบานตนต่อธงไชยเฉลิมพล ณ บริเวณหน้าวังสราญรมย์ และในวันที่ 19 มิถุนายน 2461 กองทหารอาสาได้ออกเดินทางจากท่าราชวรดิฐ โดยเรือกล้าทะเลและเรือศรีสมุทรไปขึ้นเรือแอมไพร์ ซึ่งฝรั่งเศสส่งมารับที่เกาะสีชัง เพื่อเดินทางต่อไปยังสิงคโปร์ ลังกา สุเอซ ถึงเมืองมาร์แซลล์ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2461 และเดินทางไปเข้าที่ตั้งรับการฝึกก่อนส่งเข้าปฏิบัติการรบ อย่างไรก็ตามสงครามได้ยืดเยื้อมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานถึง 4 ปี จนกระทั่งในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2461 เยอรมันได้ติดต่อฝ่ายสัมพันธมิตรขอเจรจาสงบศึก จากนั้นในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2461 ฝ่ายสัมพันธมิตรและฝ่ายเยอรมันจึงได้ลงนามในสัญญาสงบศึกบนรถไฟ ณ เมืองคองเปียน ประเทศฝรั่งเศส
   
ถึงแม้ว่ากองทหารอาสาของไทยจะเดินทางไปถึงประเทศฝรั่งเศสได้ไม่นานสงครามก็ยุติลง แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวก็ได้สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศ เช่น เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2461 กองทหารบกรถยนต์ได้ยกพลไปสู่เขตหน้าแห่งยุทธบริเวณได้ทำการลำเลียงกำลังพลแก่กองทัพบกฝรั่งเศสภายในย่านกระสุนตกด้วยความกล้าหาญ รัฐบาลฝรั่งเศสจึงได้มอบตราครัวซ์เดอแกร์ (Croix de Guerre) ประดับธงไชยเฉลิมพลของกองทหารบกรถยนต์เพื่อเป็นเกียรติยศ
   
สำหรับทหารอาสาของไทยเดินทางกลับมาสู่มาตุภูมิอย่างอบอุ่นและสมเกียรติ เมื่อวันที่  21 กันยายน 2463 โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกล่าวต้อนรับทหารอาสาเสร็จแล้วทรงผูกเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันมีศักดิ์รามาธิบดีพระราชทานแก่ธงไชยเฉลิมพล และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่ทหารอาสา นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานระลึกถึงเกียรติประวัติทหารอาสาของไทยที่เดินทางไปร่วมปฏิบัติการรบในทวีปยุโรป รวมทั้งเป็นที่บรรจุอัฐิทหารที่เสียชีวิตขณะปฏิบัติการรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 จำนวน 19 คน โดยมีพิธีบรรจุอัฐิเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2462 และพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางพวงมาลาคารวะดวงวิญญาณของทหารกล้าของชาติเป็นครั้งแรกในวันเดียวกัน 
   
การตัดสินใจเข้าร่วมรบในฝ่ายสัมพันธมิตรของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎ
เกล้าเจ้าอยู่หัวได้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศหลายประการ ซึ่งการรบในครั้งนั้นทำให้ประเทศต่าง ๆ ในโลกโดยเฉพาะชาติสัมพันธมิตร ยุโรป และอเมริกาได้รู้จักประเทศไทย เนื่องจากทหารอาสาของไทยที่ไปร่วมรบได้สร้างชื่อเสียงด้วยความมีระเบียบวินัยที่ดี มีความกล้าหาญและเด็ดเดี่ยว ตลอดจนมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีสามารถสร้างความประทับใจให้เกิดแก่บรรดาสัมพันธมิตร ทำให้เกิดความชื่นชมประเทศไทยและทหารไทยเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังส่งผลให้ชาติต่าง ๆ ในยุโรป 13 ประเทศที่เคยทำสัญญาผูกมัดประเทศไทยยอมแก้ไขสัญญาที่ทำไว้เดิมโดยเฉพาะการยกเลิกอำนาจศาลกงสุล โดยให้ชาวต่างชาติที่กระทำผิดในประเทศมาขึ้นศาลไทยและยังได้อิสรภาพในการกำหนดพิกัดอัตราภาษีศุลกากรและได้มีการเปลี่ยนจากธงช้างมาเป็นธงไตรรงค์ ด้านกองทหารอาสาได้ประโยชน์จากการนำความรู้จากการฝึกฝนและการปฏิบัติทางยุทธวิธีมาปรับปรุงใช้ในกองทัพ ส่วนกองบินทหารบกได้จัดตั้งเป็นกรมอากาศยานขึ้นเป็นครั้งแรกและต่อมาได้วิวัฒนาการเป็นกองทัพอากาศในปัจจุบัน สำหรับกองทหารบกรถยนต์ได้พัฒนาเป็นกรมการขนส่งทหารบก
   
นอกจากการตัดสินใจเข้าร่วมรบในฝ่ายสัมพันธมิตรของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ต่อประเทศไทยแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุด คือความภาคภูมิใจของบรรดาทายาทของทหารอาสาไทยในสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ถึงแม้วันนี้เหล่าทหารกล้าจะเสียชีวิตไปหมดแล้ว แต่ชื่อเสียงเกียรติยศที่สร้างสมไว้ให้ลูกหลานยังคงกึกก้องอยู่ในใจพวกเขาตลอดมา และพร้อมที่จะถ่ายทอดให้คนไทยรุ่นหลังทราบถึงความเก่งกล้าสามารถของบรรพบุรุษ
   
โดย นาวาอากาศเอก (พิเศษ) ภิเปรย ธูปพลทัพ วัย 77 ปี ลูกชาย ส.อ.เปล่ง ธูปพลทัพ หนึ่งในทหารอาสาที่ไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 เล่าว่า บิดาของตนเล่าให้ฟังว่าเป็นทหารอาสาที่ไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่อายุน้อยที่สุด คือ 19 ปี เนื่องจากเมื่ออายุ 17 ปี ได้ออกจากโรงเรียนมาทำงานที่บริษัทเดินเรือ จากนั้นทราบว่าจะมีสงครามและมีการประกาศรับสมัครทหารอาสาไปร่วมรบที่ประเทศฝรั่งเศส ด้วยความที่รักชาติและต้องการจะรับใช้ชาติจึงได้ไปสมัคร และถูกคัดเลือกเดินทางไปทางเรือ เมื่อถึงท่าเรือมาร์แซลล์ ประเทศฝรั่งเศส เดินทางต่อไปยังกรุงปารีสโดยการเดินสวนสนามไปที่ประตูชัย แต่ขณะนั้นเป็นช่วงที่สงครามใกล้จะสิ้นสุดแล้ว จึงไม่ได้รบแต่ไปช่วยงานอื่นแทน ซึ่งบิดาของตนถือว่าเป็นทหารไทยคนเดียวที่ได้ไปเรียนทางด้านถ่ายภาพทั้งทางอากาศและทางบกที่นั่น
   
หลังสงครามสงบบิดาได้เดินทางกลับมาประจำที่กองบินทหารบก ดอนเมือง โดยใช้ห้องร้างเป็นห้องถ่ายภาพ ล้างรูป และมีการขึ้นเครื่องบินไปถ่ายภาพทางอากาศอยู่บ่อย ๆ ซึ่งตอนแรกตนคิดว่าการถ่ายภาพไม่สำคัญ แต่บิดาของตนมองว่าการถ่ายรูปทางอากาศเป็นหัวใจของกองทัพอากาศ เพราะว่าก่อนที่เครื่องบินจะเข้าไปใช้อาวุธทางอากาศจะต้องให้หน่วยถ่ายรูปเข้าไปลาดตระเวนถ่ายรูปมาก่อน และนำมาวิเคราะห์เพื่อตีความว่าจะต้องใช้อาวุธอะไรในการเข้าโจมตี จึงถือว่ามีความจำเป็นอย่างมาก ซึ่งบิดาของตนถือเป็นคนแรกของกองทัพอากาศที่เป็นช่างถ่ายรูปบนอากาศจึงรู้สึกภูมิใจมาก แต่ด้วยความที่คุณพ่อมีลูกถึง 7 คน ตนเป็นคนที่ 6 เงินเดือนข้าราชการไม่พอส่งลูก ๆ เรียน และคุณยายก็มีที่นา จึงตัดสินใจทิ้งอาชีพทหารมาทำนา ค้าขาย รับเหมาก่อสร้างเพื่อส่งเสียลูก ๆ ทุกคนให้ได้เรียนหนังสือ 
   
เนื่องจากคุณพ่อเป็นคนที่มีความรักชาติมาก ทำให้ความใฝ่ฝันของตนคืออยากเป็นทหารเหมือนพ่อ แต่ก็ไม่นึกว่าจะกลายมาเป็นช่างเครื่องบินออกแบบเครื่องบินมากมาย เพราะมีแรงบันดาลใจจากคำสอนของคุณพ่อที่ยังก้องอยู่ในใจ คือให้มีความมุ่งมั่น และคุณพ่อมักพูดอยู่เสมอว่าการเรียนรู้ต้องเรียนรู้ไปตลอดไม่มีวันจบสิ้น ต้องศึกษาไปเรื่อย ๆ ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ รวมทั้งมีความขยัน
หมั่นเพียรซึ่งตนรับใช้ชาติจนเกษียณอายุราชการและมาสานต่องานของครอบครัวต่อคือธุรกิจก่อสร้างด้านการออกแบบ โดยทุกวันนี้ตนเชื่อว่าถึงแม้คุณพ่อจะไม่ได้เป็นทหารจนเกษียณอายุราชการ แต่การได้เป็นทหารอาสาไปร่วมรบสร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติก็ถือว่าเป็นสิ่งที่สูงสุดแล้ว
   
ด้าน ร.อ.เชาวฤทธิ์ ปรีชามาตย์ วัย 73 ปี บุตรชายของ ส.ต.บุญเชิด ปรีชามาตย์ เล่าว่า สมัยก่อนบิดาของตนเรียนที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง พอเรียนจบ ม.8 ก็เกิดสงครามพอดี และมีการประกาศรับทหารอาสาไปร่วมรบที่ประเทศฝรั่งเศส ด้วยความที่คุณพ่อเรียนภาษาฝรั่งเศสมาสามารถอ่านออกเขียนได้ จึงอาสาสมัครไปเป็นทหารเพื่อช่วยเหลือประเทศชาติ ระหว่างที่ไปอยู่ที่ฝรั่งเศสบิดาเล่าว่าต้องไปฝึกขับเครื่องบินก่อน โดยมีครูฝึกมาคอยช่วยสอน แต่สงครามก็สงบเสียก่อนที่จะจบหลักสูตร เมื่อเดินทางกลับมาเมืองไทย สิ่งที่คุณพ่อนำกลับมาด้วยคือแว่นตานักบินที่นำมาสะสมที่บ้านหลายอันมาก แต่น่าเสียดายที่สมัยนั้นไม่เปิดรับสมัคร คุณพ่อจึงไปสมัครเป็นกะลาสีเรือ และได้เป็นกัปตันเรือจนได้รับประกาศนีย บัตรเดินเรือได้ทั่วอ่าวไทย
   
ตนรู้สึกภูมิใจในตัวคุณพ่อมากที่เก่งทั้งขับเครื่องบิน เก่งภาษาไม่ว่าจะเป็นภาษาฝรั่งเศส อังกฤษ จีน และที่สำคัญเป็นคนขยันทำมาหากินไม่ย่อท้อต่อความลำบาก จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ตนอยากเป็นทหารอากาศเหมือนคุณพ่อและจากความพยายามจึงได้เป็นทหารสมใจ แต่ไม่มีโอกาสไปร่วมรบแบบคุณพ่อเพราะสมัครแล้วแต่คัดเลือกไม่ผ่าน ไม่ว่าจะเป็นสงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม เพราะตนเป็นคนรูปร่างเล็ก แต่คำสอนของคุณพ่อก็ก้องอยู่ในหัวใจตนตลอดเวลาคือ เมื่อผู้บังคับบัญชาสั่งให้ทำอะไรก็ทำทันที อย่าผัดวันประกันพรุ่ง และทำด้วยท่าทางแข็งแรง ถึงแม้คุณพ่อจะไม่ได้เป็นทหารต่อแต่ส่วนตัวตนรู้สึกได้ว่าคุณพ่อทำความดีเอาไว้ยอดเยี่ยมแล้ว
   
นี่เป็นเพียงเสียงส่วนหนึ่งของทายาทของทหารอาสาที่เสียสละอุทิศตน สร้าง
ชื่อเสียงและคุณประโยชน์นานัปการเพื่อประเทศชาติในสงครามโลกครั้งที่ 1 ถึงแม้เวลาจะผ่านมายาวนานแล้ว แต่ลูกหลานของเหล่าทหารกล้าก็ยังคงถ่ายทอดเรื่องราวของบรรพบุรุษอย่างภาคภูมิใจ และเชื่อว่าคนไทยทุกคนก็ภาคภูมิใจด้วยเช่นกัน จึงขอร่วมกันระลึกถึงทหารอาสาไทยที่ไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 เนื่องในวันที่ระลึกทหารอาสา สงครามโลกครั้งที่ 1 ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2555 นี้โดยพร้อมเพรียงกัน
   
และในโอกาสนี้ผู้มีจิตศรัทธาท่านใดสนใจบริจาคทุนทรัพย์เพื่อการจัดสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา โรงพยาบาลทหารผ่านศึก โดยยังขาดงบประมาณในการจัดซื้อเครื่องมือ อุปกรณ์และครุภัณฑ์ทางการแพทย์ สามารถติดต่อได้ที่สำนักผู้อำนวยการโรงพยาบาลทหารผ่านศึก โทร.0-2246-5558 และ 0-2644-9400 โดยสามารถนำใบเสร็จรับเงินไปประกอบการลดหย่อนภาษีประจำปีได้.

ทีมวาไรตี้



http://www.dailynews.co.th/article/224/166035


ผู้ตั้งกระทู้ หมาป่าดำ (mistiest-at-hotmail-dot-com) กระทู้ตั้งโดยสมาชิก โพสต์และแสดงความเห็นเฉพาะสมาชิกเท่านั้น :: วันที่ลงประกาศ 2012-11-12 07:59:32 IP : 171.4.176.163


Copyright © 2010 All Rights Reserved.