|
![]() |
|
***ห้างฝรั่งเศสแห่งแรกในกรุงศรีอยุธยา*** | |
![]() ปติตันขุนทด | ***ห้างฝรั่งเศสแห่งแรกในกรุงศรีอยุธยา*** บริษัทฮอลันดา ที่ทำการค้าขายในฝ่ายอินเดียตะวันออกนั้น ได้ตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.๑๖๐๒ ( พ.ศ. ๒๑๔๕ ) ได้ทำการค้าขายมีกำไรมากอย่างที่สุด เงินกำไรที่แบ่งกันประจำปี ภายใน ๔๓ ปี คือตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๖๐๕ ถึง ค.ศ. ๑๖๔๘ ( พ.ศ. ๒๑๔๘ - พ.ศ. ๒๑๙๑ ) นั้น ได้แบ่งกำไรถัวปีหนึ่งถึง ๒๒ เปอร์เซ็นต์ และตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๖๔๙ ๔ง ค.ศ. ๑๖๘๔ ( พ.ศ. ๒๑๙๒ ถึง พ.ศ. ๒๒๒๗ ) ซึ่งในระหว่างนั้น พวกฮอลันดาต้องทำสงครามอันเปลืองทรัพย์อย่างยิ่งถึง ๓ ครั้ง ก็ยังได้แบ่งกำไรอยู่เสมอ ไม่ต่ำกว่าปีละ ๑๗ เปอร์เซ็นต์สักปีเดียว และในเวลาที่พวกฮอลันดาได้ค้าขายมีกำไรมากที่สุด ก็ได้เคยแบ่งกำไรถึงปีละ ๖๒ เปอร์เซ้นต์ก็มี การที่พวกฮอลันดาได้ทำการค้าได้ประโยชน์มากมายอันน่าพิศวงเช่นนี้ ทำให้พวกฝรั่งเศสริษยา ครั้นพวกผู้อำนวยการของบริษัทฝรั่งเศส ได้ทราบข่าวว่าพระเจ้าแผ่นดินสยามได้ต้อนรับพวกมิชชันนารีอย่างดี ผู้อำนวยการบริษัทจึงตกลงจะไปตั้งห้างในประเทศสยาม มองสิเออร์ บารอง ผู้แทนมองสิเออร์ คารอง ที่เมืองสุรัต จึงได้จัดให้มองสิเออร์ เดลานต์ บูโร ซึ่งเป็นคนมีความชำนาญและซื่อตรง ไปเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ มองสิเออร์ เดลานต์ ได้รับคำสั่งให้นำจดหมาย และของต่าง ๆ ไปถวายพระเจ้ากรุงสยาม ในนามของบริษัท และให้ไปทูลขอสิทธิต่าง ๆ สำหรับทำการค้าขายในประเทศนั้น เรือ เลอ โวตูร์ ซึ่งมีนายเรือชื่อ คอนูเอล นั้น ได้ไปถึงสันดอนประเทศสยาม เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๖๘๐ ( พ.ศ. ๒๒๒๓ ) สมเด็จพระเจากรุงสยามได้ทรงทราบว่า เรือบริษัทได้ไปถึงเมืองไทย ก็ทรงปิติยินดีเป็นอันมาก จึงได้มีรับสั่งให้ผู้รักษาป้อมที่บางกอก ซึ่งเป็นคชาติตุรกี ได้ยิงสลุตต้อนรับเรือโวตูร์ และการยิงสลุตนี้ ก็เป็นการผิดประเพณีของเมืองไทยอยู่แล้ว แต่ในเวลานั้น เรือไทยยังหาได้มีธงสำหรับชาติไม่ เคยชักแต่ธงฮอลันดา ซึ่งเป็นธงที่ใช้กันมากในทะเลแถบนั้น ผู้รักษาป้อมเข้าใจว่า จะให้เกียรติยศต่อเรือฝรั่งเศส จึงได้ชักธงฮอลันดาขึ้น นายเรือฝรั่งเศสก็ชักธงขึ้นรับ แต่คัดค้านในการที่ไทยชักธงฮอลันดา และบอกว่า จะไม่ยอมยิงสลุตให้แก่ธงชาติใด ๆ ในทวีปยุโรปเป็นอันขาด ผู้รักษาป้อมก้ตามใจเรือ ได้ชักธงฮอลันดาลง และได้ชักธงอันเป็นธงที่ไม่มีใครรู้จักว่าจะเป็นชาติใดขึ้น เรือโวตูร์ก็ได้ยิงสลุตเป็นคำนับ ที่ป้อมก็ได้ยิงสลุตตอบนัดต่อนัด จนสิ้นสลุตของเรือฝรั่งเศสแล้ว แต่ข้างป้อมไทยจะต้องการให้เกียรติยศแก่เรือฝรั่งเศสยิ้งขึ้นไปอีก จึงได้ยิงสลุตต่อไปอีหลายนัด พระยาพระคลัง หรืออัครมหาเสนาบดี ได้ออกรับผู้แทนของบริษัทฝรั่งเศส และได้นั่งสนทนากันเป็นเวลาช้านาน หนังสือและของต่าง ๆ ที่บริษัทฝากมานั้น ก็ได้ส่งเข้าไปถวายสมเด็จพระนารายณ์ สมเด็จพระนารายณ์ก็โปรดเหล่านั้นเป็นอันมาก แต่โปรดโคมกิ่ง และเชิงเทินมากกว่าของอย่างอื่น แล้วสมเด็จพระนารายณ์ก็โปรดเสด็จออกมา ให้มองสิเออร์ เดลานต์ กับมองสิเออร์ คอนูเอล เฝ้า ที่ที่เสด็จออกนั้น เป็นชลาใหญ่ มีทหารล้อมอยู่รอบชลา ๖๐๐ คน ได้รับสั่งกับมองสิเออร์ เดลานต์ สัก ๒ - ๓ นาที และได้พระราชทานเสื้อเข้มขาบ มาจากเมืองเปอร์เซีย ให้มองสิเออรื เดลานต์ กับมองสิเออร์ คอนูเอล คนละเสื้อ ห้างฝรั่งเศส เป็นอันตกลงได้ตั้งเป็นห้างแรกในกรุงสยามในครั้งนั้นเอง สมเด็จพระนารายณ์ จึงรับสั่งให้มาบอกว่า จะทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชานุญาตให้พวกฝรั่งเศสได้ทำการค้าขาย ไดยไม่มีขีดขั้น ได้ทั่วพระราชอาณาจักร และจะโปรดพระราชทานท่าเรือแห่งหนึ่งแห่งใด ให้แก่ฝรั่งเศส แล้วแต่ฝรั่งเสสจะเลือกเอาที่ใดก็ได้ นอกจากนี้ จะได้โปรดพระราชทานไม้ และเครื่องสำหรับสร้างบ้านเรือนให้แก่พวกฝรั่งเศสด้วย ครั้นได้ทรงทราบว่า มีเรือของบริษัทได้แวะเข้าไปที่เมืองตะนาวศรีลำหนึ่ง จึงโปรดพระราชทาน ยกเว้นการเก็บภาษีแก่เรือลำนั้น
(หลวงวิจิตรวาทการ พงศาวดารฉบับความสำคัญ เล่ม ๕ สำนักพิมพ์เพลินจิตต์ 2494)
|
ผู้ตั้งกระทู้ ปติตันขุนทด (suchati2495-at-yahoo-dot-com) ![]() ![]() |
Copyright © 2010 All Rights Reserved. |
Visitors : 1171365 |