สงสัยเกี่ยวกับการปฎิวัติรัฐประหารของ คณะราษฎร
avatar
ช่างไม่รู้อะไรบ้างเลย


 เรื่องนี้เป็นข้อสงสัยในใจของผมอยู่พักใหญ่ครับ ว่า คณะราษฏร ปฎิวัติรัฐประหารไปเพื่ออะไร  ผมคิดว่าประชาชนไทยสมัยนั้น ส่วนใหญ่ (ยังไม่รู้จักประชาธิปไตยด้วยซ้ำ เห็นในสารคดีก็บ่อยที่บอกว่า ตอนที่ในหลวง ร.7 พระราชทานรัฐธรรมนูญมาให้ประชาชนไทย  คนไทยยังไม่รู้เลยคืออะไร)  

และอาจารย์ผมเล่าว่าตอนที่คณะราษฎรเอาทหารออกมาปฏิวัตินั้น บางกองยังไม่รู้เลยว่ามีการปฎิวัติเพราะนึกว่าโดนเรียกออกมาซ้อมรบ

และเมื่อเทียบกับ การเปลี่ยนแปลงการปกครองของต่างประเทศ(ที่เปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยหรือคอมมิวนิส) หลายประเทศและส่วนใหญ่ต่างก็เปลี่ยนแปลงกันโดยประชาชน  แต่กับไทยนี้เป็นการวางแผนกันโดนคนกลุ่มๆหนึ่ง 

เมื่อผมเอาเรื่องต่างๆมาปะติดปะต่อกัน จึงสันนิฐานได้ว่า คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองเพื่อตนเองจะได้ครองอำนาจไม่ได้เปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง เพราะดูหลังจากที่รัฐประหารสำเร็จก็มามีปัญหากันเองอีก  แล้วถ้าเป็นอย่างที่ผมว่าจริง แปลว่า ในตำราเรียนก็หลอกเรานะสิ ใช่ไหมครับบบ !!!



ผู้ตั้งกระทู้ ช่างไม่รู้อะไรบ้างเลย (probook-_-008-at-hotmail-dot-com) กระทู้ตั้งโดยสมาชิก โพสต์และแสดงความเห็นเฉพาะสมาชิกเท่านั้น :: วันที่ลงประกาศ 2012-04-13 01:14:27 IP : 125.24.198.229


1

ความคิดเห็นที่ 1 (2980329)
avatar
โรจน์ (Webmaster)

ต้องตอบช้าอีกตามเคยเนื่องจากกำลังเกร็งกับการเขียนบทความใหม่ที่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่เสร็จ

อ่านคำถามแล้วก็นึกถึงคำพูดในหนังเรื่อง 1911 ของเฉินหลงที่ "คนเล่าเรื่อง" พึ่งนำเสนอไปไม่นาน  ที่ว่าอีกกี่ร้อยปีผ่านไปก็จะยังคงมีคนสงสัยว่าการปฏิวัติคืออะไร

เรื่องที่จะให้ตอบแบบฟันธงว่าใช่หรือไม่ใช่นี่บางทีพูดยาก  สังเกตว่าคนทั่วไปมักวิจารณ์ประวัติศาสตร์กันเพียงแค่ความผิดถูกดีเลวของบุคคลหรือตัวบุคคลโดยอาจจะไม่ได้มองปัจจัยเกี่ยวข้องในมุมมองที่กว้างขึ้นไปอีก

อย่างเรื่องที่คนยุคนั้นส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจประชาธิปไตย  ผมว่าจนถึงสมัยนี้ ตัวผมเองและใครอีกหลายคนก็คงต้องยอมรับว่า  ไม่แน่ใจว่าประชาธิปไตยคืออะไร  ประชาธิปไตยแท้ๆ มีจริงหรือไม่ 

ในช่วงนั้นก็พอดีเป็นยุคที่ลัทธิฟาสซิสต์นาซีกำลังรุ่งเรือง  คนที่จะวอกแว่กไปทางนั้นย่อมมีเยอะ

อีกประเด็นคือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในเวลานั้น "สอบตก" กับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจครับ  ในยุคที่มีความเป็นประชาธิปไตยอยู่บ้าง  รัฐบาลไหนแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ยังมีกลไกที่จะให้รัฐบาลนั้นต้องหลีกทางให้คนอื่นเข้ามาแก้ปัญหาแทนโดยสันติ  แต่ในระบอกที่ผู้นำมีอำนาจเบ็ดเสร็จ  หนทางเปลี่ยนแปลงสถานเดียวคือยึดอำนาจครับ 

ไม่รู้จะ้เขียนอะไรต่อดี  เรื่องแบบนี้ในสภาพการเมืองแบบนี้  บางทีเราแสดงความเห็นโดยสุจริตใจ  แต่อาจจะมีคนลากไปเข้าเรื่องอื่นที่เป็นปัญหาได้เสมอ

ผู้แสดงความคิดเห็น โรจน์ (Webmaster) (webmaster-at-iseehistory-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-04-16 21:31:33 IP : 124.120.175.79


ความคิดเห็นที่ 2 (2980335)
avatar
คนเล่าเรื่อง

ในฐานะของคนชอบศึกษาประวัติศาสตร์ ก็ขอบอกถึงทัศนะเกี่ยวกับการอภิวัฒน์ 2475 ไว้ดังนี้ครับ

1. สังคมไทยในเวลานั้น บรรดาชนชั้นสูง และชนชั้นปกครองต่างรู้จักและยอมรับระบอบประชาธิปไตยมานานแล้ว  ขุนทหารหลาย ๆ คนที่มีหัวก้าวหน้าก่อการใน ปี พ.ศ. 2455 สมัยรัชกาลที่ 6 แต่ไม่สำเร็จจึงกลายเป็นกบฎต้องอาญาไปทั้งหมด  แล้วทุก ๆ อย่างจึงมาสุกงอมในสมัยรัชกาลที่ 7 นั่นเอง ในเวลานั้น ประชาชนคนไทยก็ตื่นตัวกับเรื่องประชาธิปไตยกันไม่น้อย เพียงแต่โอกาสและการสื่อสารมันไม่ก้าวหน้าเท่านั้นเองครับ

2. อย่างที่อาจารย์โรจน์บอก การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัชกาลที่ 7 นั้นล้มเหลว  ก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่บรรดาชนชั้นนำ และขุนทหารมากมาย การอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือยื่นถอดถอนย่อมทำไม่ได้ไม่ระบอบแบบนั้น  การเปลี่ยนระบอบจึงเป็นหนทางเดียวที่่จะทำได้

3. พวกทหารหลาย ๆ ในพระนครต่างก็เห็นชอบกับการก่อการนี้ และทหารที่ถูกนำกระทำการนี้ บางส่วนก็รู้ดี บางส่วนก็เหมือนถูกหลอกมาให้ทำการ แต่ก็ไม่ได้คิดขัดขืนหรือแปรพักตร์แต่อย่างใด เพราะต้องยึดถือคำสั่ง และเชื่อว่าการก่อการครั้งนี้เป็นไปเพื่อบ้านเมือง

4. คณะราษฏรกระทำการแบบนุ่มนวลและรักษาพระเกียรติยศมากที่สุด เพราะต้องการแสวงจุดร่วมกับทหารสายเจ้าที่เอาด้วย  อย่างไรก็ตามครับ เมื่อก่อการสำเร็จ ก็ต้องตัดไม้ข่มนามไม่ให้เกิดการเอาคืนได้ แต่ก็มีอาฟเตอร์ช็อกตามมาด้วย กรณีกบฎบวรเดช อันเป็นเหตุให้ ความสัมพันธ์ของรัชกาลที่ 7 กับคณะราษฏรต้องขาดสะบั้นลง แล้วตามมาด้วยการสละราชสมบัติ

5. หลังการอภิวัฒน์ 2475 บรรดาคณะราษฏรต่างก็ไม่พ้นปุถุชนที่ยังคงเวียนว่ายอยู่กับการแก่งแย่ง ช่วงชิงอำนาจและผลประโยชน์ตามความคิดของตัวเอง อันนำมาซึ่งการขาดตอนของประชาธิปไตยไปนานมาก

แต่ก็ยังมีผู้สรุปว่า การอภิวัฒน์ 2475 คือ สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นตามลำดับเวลาและพัฒนาการของประวัติศาสตร์อย่างที่จะต้องเป็นไปนั้นเองครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น คนเล่าเรื่อง ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-04-19 21:23:29 IP : 49.49.82.164


ความคิดเห็นที่ 3 (2980342)
avatar
ช่างไม่รู้อะไรบ้างเลย

 ดูแล้วยังไงประชาชนส่้วนใหญ่ก็ยังไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเลยครับ

มีแต่ชนชั้นสูง กับ ชนชั้นปกครองเท่านั้นและเหตุผลการปฏิวัติคงนี้ไม่พ้นปัญหาเรื่องอำนาจและผลประโยชน์อย่างแน่นอน

ผมไม่เชื่อว่าจะมีคนทำเพื่อประชาชนตาดำๆ จริงๆ หรอกครับ ถ้ากระทำการโดยชนชั้นปกครองยังไงซะ คนระดับนี้ก็ต้องการรักษาอำนาจไว้กับตัวก็

ขึ้นชื่อว่า ชนชั้นปกครอง ก็ทำเพื่อให้ตนเองได้ปกครองอยู่แล้ว 

แล้วทำไปก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรขึ้นมาจริงๆ สู้ให้ในหลวง ร.7 พระราชทานรัฐธรรมนูญยังจะดีกว่า แบบว่า ระหว่างรอการประกาศก็ให้ประชาชนได้

ศึกษากับระบอบนี้ ซึ่งผมว่ายังเห็นผลดีกว่าอีก ซึ่งพอประชาชนฉลาดเขาก็จะรู้เองว่าจะต้องทำยังไง เพื่อให้ประเทศมีความเป็นประชาธิปไตย

 

ในตอนปัจจุบันผมเห็นแล้วไม่ชอบการเมืองไทยเลยจริงๆ ด่ากันไปมาอยู่นั้น ไม่จบไม่สิ้น เลือกกันอยู่แค่สองพรรคนั้นแหละ เชื่อกันอยู่แค่นั้น

แล้วก็เละกันอยู่อย่างนี้ไม่ไปไหนซักทีประเทศเรา 

ผมเลยอยากจะโทษ คณะราษฎร ที่ทำให้เราแย่อยู่ทุกวันนี้ 

ประเทศไทยก็เลยเหมือนกับเกวียนตกล่มโคลนไม่ขึ้นซักที  ผู้โดยสารก็เกี่ยงกันว่าใครควรจะลงไปเข็นเกวียนขึ้นมาเพราะ

กลัวว่าถ้าลงไปเข็นขึ้ึ้นมาแล้วจะโดนทิ้งเอาไว้ สุดท้ายก็ยังไม่มีใครกล้าเสียสละลงไปเข็นซักที

ผู้แสดงความคิดเห็น ช่างไม่รู้อะไรบ้างเลย (probook-_-008-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-04-22 01:48:19 IP : 125.25.188.240


ความคิดเห็นที่ 4 (2980344)
avatar
โรจน์ (Webmaster)

ผมเกรงว่าจะกลายเป็นการเอาคณะราษฎรมาเป็นแพะน่ะครับ

ไม่ใช่แต่ชนชั้นนำหรอกที่จะทำเพื่อประโยชน์ของตน  คนเราตราบเท่าที่ยังมีกิเลสก็ย่อมทำเพื่อตนเองแล้วโบ้ยให้คนอื่นเสียสละกันทั้งนั้น

ทึ่จริงการปฏิวัติหรืออภิวัฒน์ของสยามยังดีกว่าที่ซุนยัตเซ็นปฏิวัติจีนและเลนินปฏิวัติรัสเซียด้วยซ้ำ  คือ ทั้งสองชาติกลายไปเป็นเผด็จการคอมมิวนิสต์ไป  เมืองไทยเวลานี้บ้าบอคอแตกยังไงยังพอจะมีปากเสียงวิจารณ์ได้

อีกอย่างคือจาก 2475 มาจนถึงปัจจุบันนี้ก็ 80 ปีแล้ว  ประชาธิปไตยวันนี้ดีชั่วประการใดไม่ได้มากจากคณะราษฎรเท่านั้นนะครับ  พอใจ-ไม่พอใจอะไรจะมองไปที่คนกลุ่มเดียวเหตุการณ์เดียวเมื่อ 80 ปีก่อน  มันไม่ยุติธรรม  คือถ้าจะบอกว่าการเมืองช่วงหลัง 2475 มันเละเทะแล้วตำหนิคณะราษฎรนี่ยังพอฟัง  แต่ถ้าบอกว่าเบื่อการทะเลาะกันของพวกเสื้อสีฉูดฉาดคนละสีหรือเบื่อการทะเลาะกันของพรรคเพื่อนายใหญ่กับพรรคประชาที่ปดนี่  มันเป็นเรื่องนอกเหนือการคาดการณ์ ณ เวลาที่เปลี่ยนแปลงการปกครองครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น โรจน์ (Webmaster) (webmaster-at-iseehistory-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-04-22 10:09:25 IP : 124.122.108.108


ความคิดเห็นที่ 5 (2980377)
avatar
หมาป่าดำ

 

คำบอกเล่าจากปาก สวัสดิ์ คำประกอบ บุรุษ 4 แผ่นดิน เล่าเรื่องปฎิวัติ 2475 เห็นกับตาได้ยินกับหู...

 

ปัจจุบัน สวัสดิ์ คำประกอบ นักการเมืองรุ่นแรกๆ ของประเทศไทย อายุเฉียด 93 ปีแล้ว (เกิด 23 ตุลาคม 2462)   
 

 

นักการเมืองรุ่นเดียวกับเขา ลากลับบ้านเก่าไปหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็น บุญเท่ง ทองสวัสดิ์   ,  ใหญ่ ศวิตชาติ , เลียง ไชยกาล , นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ,ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช 
 

 

แต่ สวัสดิ์ คำประกอบ ยังอยู่ และยังประกาศว่า จะรับใช้พี่น้องชาวนครสวรรค์ไปอีก 10 ปี
 

 

สวัสดิ์ เล่าว่า เขาเห็นการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง มาตลอด 4 รัชกาล  เกิดในสมัยรัชกาลที่ 6 และจะครบ 100 ปีในรัชกาลที่ 9 
 

 

ในหนังสือ จดหมายเหตุ จังหวัดนครสวรรค์ หนังสือที่จัดพิมพ์ขึ้นในโอกาสเขาอายุครบ 90 ปี  ระบุว่า

  

 

"การครบ 90 ปี ของผม  ดูเหมือนว่า เวลา 90 ปี ไม่ได้นานมากนัก แต่ก็ได้มีโอกาสเห็นความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง ตั้งแต่รัชกาลที่ 6 และมีโอกาสเข้าเฝ้ารัชกาลที่ 7 และที่ 8 และรัชกาลที่ 9 องค์ปัจจุบัน บางช่วงก็เห็นความรุ่งโรจน์ สดใสความเป็นสุข ของประชาชน บางครั้งก็มีวิกฤต ความตกต่ำ และความทุกข์ของผู้คน อันเป็นความไม่แน่นอนของโลก ผันแปรไปตามกาลเวลา ซึ่งก็เป็นเช่นเดียวกับชีวิตของเรา "

  

 

"ผมขอขอบพระคุณประชาชนชาวนครสวรรค์ ทุกท่านที่ได้ให้คะแนนเสียงแก่กระผมมาทุกสมัย ตั้งแต่ผมสมัครผู้แทน ครั้งแรกในปี 2489 จวบจน การสมัครวุฒิสมาชิกในปี 2542 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตการเมืองของผม ที่ทำให้ผมได้มีโอกาสทำคุณแก่แผ่นดิน รับใช้แผ่นดินเกิด นับแต่ พ.ศ. 2487 ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองนครสวรรค์ จวบจนถึงปัจจุบัน ที่ยังคงรับใช้ท่านทั้งหลายเป็นเวลากว่า 65 ปี"

 

 

" วันที่ผมอายุ 90 ปี คงจะอยู่รับใช้ท่านได้อีกประมาณ 15 ปี มีอะไรก็ขอให้รีบมาใช้นะครับ เพราะเกินจาก 15 ปี ไปแล้ว ผมก็จะขอลาจากท่านละครับ"

 

 

"สวัสดิ์ คำประกอบ" เห็นการเมืองไทยมาอย่างยาวนาน  แต่บันทึกประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งที่น่าสนใจมากคือ ฉากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475   นักการเมืองอาวุโส เล่าผ่าน"วีระกร  คำประกอบ"ว่า

 

 

"  ผมเรียน ม.4 วัดราชบพิธเพียงคนเดียว พวกพี่กลับบ้านไปหมดแล้ว ในปี 2475 เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผมไปโรงเรียนตอนเช้าเห็นรถถังเล็ก(เรียกว่า ไอ้แอ๊ด) เป็นรถถังของเก่าจากฝรั่งเศส (พูดกันว่าตอนจัดซื้อมีการโกงกันมาก) 2 คัน มาวิ่งซ้อมโชว์ที่สนามหลวง วิ่งไปก็เสียไป (ปกติจะเห็นตอนกลับจากโรงเรียน) วิ่งตามกันไปบนถนนอัษฎางค์ เลี้ยวเข้ากรมที่ดิน ผมก็ยังสงสัยว่า ทำไมเอารถถังมาวิ่งบนถนน ไม่ไปฝึกซ้อมที่ท้องสนามหลวงอย่างทุกวัน

   

 

จนมาถึงโรงเรียน 8.30 น. ตาเสาภารโรงก็ยังไม่ตีระฆัง จนเวลา 9.00 น. นักเรียนยืนคุยกันเฮฮาไม่เข้าแถว พอเวลา 09.30 น. ครูใหญ่ ตีระฆังรัวไปหมด นักเรียนก็มาเข้าแถวรวมตัวกันที่สนามแล้ว ครูใหญ่ขุนรหัสบรรทัดฐาน ก็พูดว่า ขณะนี้มีการปฎิวัติ ทหารยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบบประชาธิปไตย ใครอยากรู้ว่าการปฎิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นอย่างไรให้ไปที่พระบรมรูปทรงม้า แล้วจะรู้เรื่องได้ดี วันนี้โรงเรียนปิดพรุ่งนี้ให้มาเรียน พวกเราวิ่งบ้าง เดินบ้างไปเสาชิงช้า เพื่อไปต่อที่พระบรมรูปทรงม้า มีชาวบ้านมารวมตัวกันที่พระบรมรูปทรงม้าเป็นหมื่นพูดกันให้แซด วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของพระองค์ท่าน และมีการแจกใบปลิว มีรูปพระยาพหลพลพยุหเสนา,พระยาทรงสุรเดช,พระยาฤทธิอัคเนย์,พระประสาทพิทยายุทธ เป็น 4 ทหารเสือที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

   

 

มีข้อความในใบปลิว 2 แผ่นใหญ่ อธิบายเรื่องการเปลี่ยนแปลง และพูดถึงผู้ริเริ่ม คือหลวงประดิษฐ์มนูธรรมด้วย พอเวลาประมาณ 10.00 น.โมงเช้า คนที่พูดเหมือนในรูปใบปลิว จึงยืนฟังอยู่ ท่านพูดว่า พวกเราคณะทหารและพลเรือง ทำการปฏิวัติยึดอำนาจจากในหลวง เพื่อเอาอำนาจในการปกครองประเทศมาให้ประชาชน ตามอย่างอารยประเทศ ที่ปกครองระบอบประชาธิปไตย คณะปฎิวัติ ได้กำลังไปเชิญตัวกรมพระนครสวรรค์วรพินิต และอีกสามท่าน มีกรมพระกำแพงเพชร ซึ่งเป็นผู้ดูแลพระนครขณะนั้น คณะราษฎรกำลังให้เจ้าหน้าที่ไปเชิญท่านมาปรึกษาหารือคณะของเราเรียกว่าคณะกรรมการปกครองประเทศตามระบอบประชาธิปไตย

 

ผมอยู่ที่พระบรมรูปทรงม้าถึงเที่ยงวัน ฟังชาวบ้านที่มาชุมนุมนับหมื่นคนพูดวิจารณ์รัฐบาลของในหลวงและทราบว่านักเรียนนายร้อยทหารบกทั้งหมดก็เข้ากับคณะราษฎรด้วย ผมกลับมาวัดมหาธาตุไปบอกหลวงพี่ หลวงพี่บอกว่า เจ้าคุณใหญ่เรียกประชุม แจ้งให้ทราบแล้ว

   

 

รุ่งขึ้นไปโรงเรียนวัดราชบพิธตามปกติ ครูบุญยัง ทรวดทรวง ครูประจำชั้น ม.4 ก็อธิบายเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงให้ฟัง เล่าให้ฟังว่าในฝรั่งเศสมีการปฏิวัติ คนตายเป็นพันๆคน เมื่อ 100 ปี มาแล้ว"
    
    

วันนี้ สวัสดิ์ คำประกอบ ยังมีสุขภาพแข็งแรง และยังสนใจการเมือง โดยขอให้  ดัสทัต และ วีระกร คำประกอบ  ลูกชายที่อยู่ในวงการเมืองเล่าให้ฟัง
      
     

จากการปฎิวัติครั้งแรก 24 มิถุนายน 2475 จนถึง 19 กันยายน 2549   ไม่น่าเชื่อว่า เรื่องราวถูกบันทึกผ่านสายตา นักการเมืองอาวุโส อย่างแจ่มชัด !!!



http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1335513858&grpid=01&catid=&subcatid=

 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น หมาป่าดำ (mistiest-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-04-28 08:42:35 IP : 171.4.156.202


ความคิดเห็นที่ 6 (2980382)
avatar
หมาป่าดำ
image

 การเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร์ เป็นไปด้วยความหวังดีต่อประเทศชาติ แต่มีข้อเสีย คือ

กระทำไวไป โดยหวังให้มีการเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ได้มองถึงความพร้อมประชาชนทั้งประเทศ มีเรื่องล้อเลียนไว้ว่า

"ในงานวันรัฐธรรมนูญ มีคนไปถามชาวบ้านทั่วไปว่า รัฐธรรมนูญ คืออะไร ชาวบ้านตอบว่า สงสัยจะเป็นลูกท่านพระยาสักคนหนึ่ง"

คือถ้ายึดเวลาไปอีกสักนิดทำการเจรจากับผู้ปกครองสมัยนั้นให้เร่งทำความเข้าใจและฝึกฝนวิถีประชาธิปไตยให้กับประชาชนทั้งประเทศให้ดีก่อน แล้วค่อยมีการถ่ายอำนาจสู่ประชาชน เช่นเดียวกับการเลิกทาส อาจจะใช้เวลาสักหน่อย แต่ก็จะเกิดประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

และเมื่อหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ไม่ได้มีการคืนอำนาจสู่ประชาชนอย่างแท้จริง ทำให้อำนาจตกอยู่ในกลุ่มคนเพียงกลุ่มเดียวและตามมาด้วยการแย่งชิงอำนาจกัน จนทหารต้องเข้ามา อำนาจการปกครองสมัยนั้นจึงเป็นเรื่องของชนชั้นผู้ปกครอง รวมศูนย์อยู่ส่วนกลาง ประชาชนตาสีตาสาก็ต่อสู้ชีวิตกันเองต่อไป เพราะการเมืองไม่ได้ให้อะไรกับเขาเลย

 

จากความตั้งใจดีที่อยากให้ประเทศชาติเป็นประชาธิปไตยตามแบบอารยประเทศแต่ก็ไม่สำเร็จตามที่หวัง เพราะว่าการเปลี่ยนแปลงไม่ได้มาจากมติมหาชนอย่างแท้จริง

 

ปัจจุบันการเมืองไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก จากที่เคยเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรมักเกิดที่ส่วนกลางคือกรุงเทพฯ คนต่างจังหวัดแทบไม่ได้มารับรู้สนใจอะไรด้วยเลย แต่ทุกวันนี้ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น การสื่อสาร การเดินทาง นโยบายการบริหารงานของบางรัฐบาล ก่อให้ประชาชนตื่นตัวและมีส่วนทางการเมืองมากขึ้น เหลือแต่เพียงทำอย่างไรให้ประชาธิปไตยไทยมีความบริสุทธิ์ ถูกต้อง เป็นธรรม กันต่อไป

ผู้แสดงความคิดเห็น หมาป่าดำ (mistiest-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-04-28 23:42:08 IP : 171.4.161.7


ความคิดเห็นที่ 7 (2980394)
avatar
โรจน์ (Webmaster)

พอดีวันนี้ช่วงเช้าได้ไปสัมมนาข้างนอก  วิทยากรท่านหนึ่งบอกว่าตอนไปเวียดนามสงสัยว่าทำไมเขาถึงไม่ขยายถนนซะที  คนที่นั่นเขาว่าก็รัฐบาลเขายังเป็นชุดเดิมนี่  ถ้ามีการเลือกตั้งเปลี่ยนรัฐบาลได้  มีพรรคการเมืองแข่งขันกันเป็นรัฐบาล  ก็จะมีการแข่งกันสร้างผลงานรวมทั้งการขยายถนน  คนเวียดนามเขาอิจฉาคนไทยที่สามารถเลือกตั้งเปลี่ยนรัฐบาลได้  ถ้าเรายังอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือระบอบ "เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย" แล้ว  เราจะไม่สามารถเปลี่ยนรัฐบาลเป็นว่าเล่นให้คนเวียดนามอิจฉาได้

ผู้แสดงความคิดเห็น โรจน์ (Webmaster) (webmaster-at-iseehistory-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-05-04 14:14:00 IP : 203.114.104.114


ความคิดเห็นที่ 8 (2980398)
avatar
Cher_Ami

 " คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า " วลีนี้ใช้ได้ทุกยุค ทุกสมัย ทุกชนชาติ ทุกระบอบการปกครอง  ได้ดีที่สุดครับ  กระผมว่าขึ้นอยู่กับผู้นำ ผู้มีอำนาจ จะปฎิบัติกับพลเมืองอย่างไร  ทุกระบบทุกระบอบการปกครองมีข้อดี และข้อเสียทั้งนั้น อยู่ที่นักปกครองจะนำไปใช้อย่างไร

 

กระผมขอนำคำพูดในหนังภาพยนต์เรื่องหนึ่งมากล่าว จำไม่ได้ว่าเรื่องไหน กระผมว่าน่าจะมีหลายเรื่องที่ชอบกล่าวแบบนี้  " เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปนี้ พวกเราจะไม่รู้ว่าทำถูกหรือผิด แต่ประวัติศาสตร์จะต้องจดจำและบันทึกพวกเราเอาไว้ ต่อจากนั้นให้ประวัติศาสตร์กับชนรุ่นหลังตัดสิน  "

ผู้แสดงความคิดเห็น Cher_Ami (easycafe102-at-hotmail-dot-co-dot-th) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-05-05 10:17:41 IP : 171.98.122.94


ความคิดเห็นที่ 9 (2980447)
avatar
soontorn1

 ระบอบการปกครองที่ดีสำหรับผม คือระบอบบที่ทุกๆคนต้องมีสิทธิ ในการดูแลตนเองเท่านั้น เพราะทุกๆกลุ่มที่ขึ้นมามีอำนาจก็ต้องการมาใช้เงินภาษีที่เก็บจากประชาชน ถ้าลองไม่มีการเก็บภาษี ผมว่าคงไม่มีใครมารับสมัครเลือกตั้งแน่นอน สำหรับผมยังไงการเลือกตั้ง ก็ดีกว่าการแต่งตั้ง เพราะประชาชนยังมีสิทธิเปลี่ยนได้ถ้าไม่ถูกใจ

ผู้แสดงความคิดเห็น soontorn1 (soontorn1-at-sanook-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-05-26 22:40:57 IP : 110.77.238.179



1


Copyright © 2010 All Rights Reserved.