The Guns of August ปืนแตกเมื่อเดือนสิงหาฯ
avatar
หมาป่าดำ


user image

 The Guns of August

ปืนแตกเมื่อเดือนสิงหาฯ

Barbara W. Tuchman เขียน

สมพงษ์ สุวรรณจิตกุล แปล

สนพ. MRG360  กุมภาพันธ์ 2555

22 บท  368 หน้า

เรื่องราวเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 1  บทแรกเริ่มจากงานพระศพพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 แห่งอังกฤษที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ของกษัตริย์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างๆ ในยุโรป ทั้งที่มีมิตรภาพที่ดีต่อกันหรือไม่ลงรอยกัน การดูถูกดูแคลนถือดี หวาดระแวง การเลือกข้าง จนนำมาสู่การทำสงครามกัน ซึ่งจะมีรายละเอียดในการเจรจาการฑูตก่อนสงครามจะเกิด สภาพกองทัพ การวางแผนเตรียมการตั้งรับและการบุก การประเมินรูปแบบระยะเวลาและผลของสงครามที่จะเกิดขึ้นของแต่ละประเทศ มีการพูดถึงแนวคิด ปรัชญาการทำสงคราม ประวัติและผลการรบของแม่ทัพนายพลแต่ละฝ่ายที่สำคัญ บรรยากาศการเมืองอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนในแต่ละประเทศ

เมื่อสงครามเริ่มขึ้นได้บรรยายถึงการเคลื่อนทัพและการรบแต่ละสมรภูมิที่สำคัญตามลำดับ ความแปลกใหม่ของสงครามครั้งนี้ที่แตกต่างจากสงครามแบบเดิม อานุภาพของอาวุธแบบใหม่ๆ  นอกจากการรบภาคพื้นดินแล้วยังมีการรบในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและการวางตัวเป็นกลางของอเมริกาด้วย หนังสือเขียนมาถึงเมื่อเยอรมันใกล้จะบุกถึงปารีสแต่ก็มาพ่ายการรบที่ Marne เสียก่อน ซึ่งรวมเป็นเวลาสามสิบวันหลังเสียงปืนแตกในเดือนสิงหา 1914

หนังสือเล่มนี้เขียนได้ยอดเยี่ยมมาก สมกับที่ผู้เขียนได้รับรางวัล Pulitzer Prize บรรยายเหตุการณ์ต่างได้ละเอียดและเชื่อมโยงกันได้อย่างสอดคล้อง ส่วนผู้แปลสามารถถ่ายทอดเป็นภาษาไทยได้ดีมากเช่นกัน 

หนังสือสงครามโลกครั้งที่ 1 ภาษาไทยมีน้อยมากเมื่อเทียบกับสงครามโลกครั้งที่ 2 บางเล่มแปลมาจากภาษาต่างประเทศอีกทีหนึ่งแต่อ่านแล้วงงกับสำนวนภาษา อาจด้วยหนังสือต้นฉบับเขียนกันมาเกือบร้อยปีสำนวนภาษาสมัยนั้นอาจต่างจากสมัยนี้และต้องแปลเป็นภาษาไทยอีกเลยทำให้การแปลความหมายยากขึ้นไปอีก



ผู้ตั้งกระทู้ หมาป่าดำ (mistiest-at-hotmail-dot-com) กระทู้ตั้งโดยสมาชิก โพสต์และแสดงความเห็นเฉพาะสมาชิกเท่านั้น :: วันที่ลงประกาศ 2012-07-10 09:08:17 IP : 171.4.179.176


1

ความคิดเห็นที่ 1 (2980557)
avatar
หมาป่าดำ

 ถ้อยคำน่าสนใจจากหนังสือ

สงครามโลกครั้งที่ 1 ที่เรียกกันว่ามหาสงคราม (The Great War) ที่เชื่อกันว่าจะเป็นสงครามที่จะจบสงครามทุกสงครามจากนี้ไป (The war that will end of wars) จากอดีตมาถึงปัจจุบันโดยทั้งสองฝ่ายต่างเชื่อกันว่าพวกเขามีความพร้อม มีอาวุธที่ดีดกว่ากัน มีแผนยุทธศาสตร์ที่ดีกว่ากัน มีขวัญกำลังใจที่ดีกว่าและต่างฝ่ายต่างก็เชื่อว่าพวกตนนั้นอยู่ฝ่ายธรรมะ มากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง ความคิดอันยะโสเช่นนี้ ทำให้ทหารต้องตายไปถึง 13 ล้านคนอย่างน่าเสียดาย (VII)
 
ประธานาธิบดีเคนเนดี้ได้อ่านหนังสือเล่มนี้เป็นเครื่องเตือนใจเพื่อเป็นอุทาหรณ์ต่อความอหังการ มนังการของทั้งสองฝ่าย ทำให้สามารถอ่านสถานการณ์วิกฤติคิวบาได้อย่างลุ่มลึกไม่หุนหันพลันแล่นไม่มีความอหังการในการที่จะรีบเข้าไปจัดการกับคิวบาโดยคำแนะนำของเหล่าเสนาธิการและทางฝ่ายกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ โดยเฉพาะทางฝ่ายกองทัพอากาศของสหรัฐต้องการที่จะรีบเข้าไปจัดการกับคิวบา ความลุ่มลึกของเคนเนดี้ทำให้โลกไม่ต้องเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 และโลกก็สามารถหายใจได้เต็มปอดอีกครั้ง หนังสือ The Guns of August จึงเป็นหนังสือที่ท่านประธานาธิบดีชอบมาก เรียกได้ว่า เป็นหนึ่งในตำราพิชัยสงครามให้กับเคนเนดี้เลยทีเดียว (VII)
 
จิตวิญญาณของเยอรมันนั้นคือ "เลือดกับเหล็ก" และ "โลห์แห่งความเจิดจรัส" (24)
 
ความคิดของประธานาธิบดีโรสเวลท์ในนโยบายที่ว่า "พูดให้ดังและแกว่งอาวุธไปมาด้วยปืนขนาดโต" (24)
 
นโปเลียนแพ้สงครามที่วอเตอร์ลู ไม่ใช่ที่ทราฟาลการ์ (คือนโปเลียนแพ้อย่างราบคราบบนบก ไม่ใช่ทางทะเล) (25)
 
วอน เบอร์ฮาร์ดิกล่าวนิยามของสงครามว่า "สงครามคือความจำเป็นของสิ่งมีชีวิต เป็นตัวพาหนะให้กับมวลมนุษยชาติ หรือเป็นกฎธรรมชาติ โดยที่กฎธรรมชาตินั้นเป็นกฎของการต่อสู้ระหว่างสิ่งมีชีวิตด้วยกัน และนิยามของคำว่าชาตินั้น ในที่สุดจะต้องเจริญไปสู่ความเสื่อม ไม่มีอะไรที่อยู่นิ่งได้ และเยอรมันจะต้องเลือกระหว่าง การเป็นมหาอำนาจหรือจะต้องพบกับความหายนะ..." (31)
 
เมื่อยาจกตายดาวหางไม่เคยปรากฎให้เห็น สวรรค์ได้เปล่งแสงให้แก่ความตายของเจ้าชายเท่านั้น (34)
 
เฟรเดอริคมหาราช "ยอมเสียเขตบางส่วนเพื่อเป้าหมายชัยชนะสูงสุดคือสิ่งที่ปราถนา" (40)
 
หนังสือของจอมพลวอน เดอ โกล์ซ์ ชื่อ The Nation in Arms ก็ได้เขียนไว้ว่า "เราได้ตำแหน่งในการทำสงครามจากคมดาบของกระบี่ของเรา ไม่ใช่มาจากความคมของหัวใจเรา" (41)
 
อุปนิสัยของคนเราจะบ่งไปถึงชะตากรรมของมนุษย์ นี่เป็นสิ่งที่่ชาวกรีกโบราณเชื่อ ปรัชญาของเยอรมันที่ถูกสะสมมาเป็นระยะเวลาร้อยๆ ปีนั้น นำมาซึ่งการตัดสินใจที่สร้างเม็ดพันธุ์ของความหายนะให้กับเยอรมันต่อมา ทั้งชลิฟเฟนและฟิก์ช และนักปราชญ์ของเยอรมันอย่างเฮเกิล นิชเช่ ต่างก็เชื่อในความเป็นยอดมนุษย์ของชาวเยอรมันว่าพวกเขามีหน้าที่ปกครองโลก หรืออย่างทริเชค ที่มองว่าเยอรมันมีหน้าที่อันสูงส่งต่อโลก และรวมถึงชาวเยอรมันที่เรียกผู้นำตนเองว่าเป็น "ท่านผู้สูงสุด ดังนั้น ความคิดของชลิฟเฟนจึงไม่ใช่แค่การอ่านงานของ Clausewitz ที่เขียนตำราพิชัยสงครามให้กับยุโรปหรือให้กับชาวเยอรมัน แต่ทั้งหมดนั้น มาจากอัตตาของชาวเยอรมันต่างหากที่ต้องการสร้างภาพลวงตาว่าตนเองนั้นคืออภิมนุษย์ ที่มีเป้าหมายอันสูงส่ง" (41)
 
นายทหารเยอรมัน ได้ถูกอบรมให้เตรียมรับมือต่อสิ่งที่คาดไม่ถึงไว้ สิ่งเดียวที่ทหารเยอรมันไม่ได้ทำก็คือ ความยืดหยุ่นในการทำศึก (48)
 
อย่าได้พูดถึงมัน แต่ให้คิดถึงมันเสมอ (51)
 
ในเดือนตุลาคม ปี 1913 ฝรั่งเศสได้ทำการจัดกองทัพใหม่ โดยมีคำปฏิญาณว่า "กองทัพของฝรั่งเศส โดยตามธรรมเนียมประเพณีแล้ว
จะไม่รับกฎใดๆ ในการรบ นอกเสียจากการรุกไปข้างหน้าเท่านั้น" และตามด้วยบัญญัติอีก 8 ข้อ เช่น "ศึกสงครามแบบเบ็ดเสร็จ"
"การรุกไปข้างหน้าอย่างไม่ลังเล" "ดุดันและดุดัน" "ทำลายขวัญของศัตรูให้หมด" เลือดเย็นและไม่หยุดยั้ง" (57)
 
ภูมิอากาศอันหนาวจัดของรัสเซียที่เป็นตัวแปรที่สำคัญในการรบชนะศัตรูผู้รุกรานมากกว่าความสามารถของทหารรัสเซียเสียอีก  (82)
 
หนังสือพิมพ์ชื่อ Punch ได้ลงบทกลอน ที่แสดงถึงความรู้สึกของชาวสหราชอาณาจักรทั่วไปไว้ดังนี้ว่า  
ทำไมผมถึงต้องออกไปร่วมรบ  
ให้กับคนที่ผมไม่เคยคบ
 ผมจะตายคาที่  
ที่ยุโรปกลางออกมาเป็นแผนที่  
ต้องถูกลากให้เข้าทำสงครามของผู้อื่น  
ในจิตใจที่มันเหลืออดสุดฝืน (120)
 
สงครามนั้นก็คือการเมืองนั่นเองแต่คราวนี้เป็นการเมืองที่ต้องทำสงครามต่อกัน(War is a continuation of politics by other means ซึ่งเป็นคำกล่าวโดยปราชญ์แห่งพิชัยสงครามของยุโรป คือ Clausewitz) (124)
 
ชาวเยอรมันมากมายไปตะโกนต่อว่าอังกฤษ ว่าเป็นชาติที่ทิ้งเผ่าพันธุ์ตนเอง แต่กลับไปช่วยฝรั่งเศสที่เป็นพวกลาติน (164)
 
"เยอรมันมีศัตรูอยู่สามกลุ่มด้วยกันคือ กลุ่มลาติน(ฝรั่งเศส) กลุ่มสลาฟ(รัสเซีย) และกลุ่มแองโก-แซกซั่น(อังกฤษ) แต่บัดนี้ สามกลุ่มนี้ต่างรวมหัวที่จะสู้กับเยอรมัน" (165)
 
ความเชื่อในเรื่องการนำกองทัพม้าเข้าใส่กัน โดยใช้ดาบแกว่งเข้าหากันอย่างที่เคยทำมาในอดีต เหมือนอย่างที่การสู้รบกันในช่วงสงครามกลางเมืองของสหรัฐอเมริกาที่ทั้งฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ ปะทะกันด้วยดาบปลายปืนและดาบยาว แต่เวลาได้เปลี่ยนไปแล้ว แม้ขนาดในช่วงสงครามระหว่างญี่ปุ่น และรัสเซีย ทหารม้าท้้งสองฝ่ายมีหน้าที่ทำกับข้าวให้ทหารกินเท่านั้น เพราะแรงอานุภาพของปืนกลย่อมไม่สามารถทำให้กองทหารม้าทำอะไรได้อีกต่อไป และกองทัพเยอรมันย่อมรู้ดีว่า ปืนกลของเยอรมันย่อมเป็นวิธีที่ดีที่สุด (230)
 
 
 
เกอเธ่ เคยกล่าวว่า ถ้าให้เยอรมันเลือกระหว่างความไม่ยุติธรรมกับความมีระเบียบแล้ว เยอรมันก็จะเลือกความมีระเบียบมากกว่าความยุติธรรม (320)

ผู้แสดงความคิดเห็น หมาป่าดำ (mistiest-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-07-10 09:14:47 IP : 171.4.179.176



1


Copyright © 2010 All Rights Reserved.