ราชพงศาวดารพม่า (กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์) ได้เพิ่มเติมส่วนของบางระจันในภายหลังหรือไม่ ???
avatar
วังเหนือ


ราชพงศาวดารพม่า (กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์) ได้เพิ่มเติมส่วนของบางระจันในภายหลังหรือไม่  ???

เท่าที่ผมดู ราชพงศาวดารพม่า (กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์) พิมพ์ครั้งที่ 2 ที่บอกว่าแปลมาจาก พงศาวดารฉบับหอแก้ว
ก็พบเหตุการณ์ค่ายบางระจันนี้ 

แต่ใน wiki ในวีรกรรมบางระจันกลับบอกว่า

เรื่องราวของชาวบ้านบางระจัน มีบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เท่านั้น ไม่ปรากฏในพงศาวดารหรือบันทึกทางประวัติศาสตร์ฉบับอื่น แม้แต่พงศาวดารร่วมสมัยคราวสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เช่น คำให้การชาวกรุงเก่า หรือแม้แต่ในพงศาวดารของฝ่ายพม่าเองด้วย

แสดงว่า
 ราชพงศาวดารพม่า (กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์) ได้เพิ่มเติมส่วนของบางระจันในภายหลังใช่หรือไม่  ????
และพงศาสดารพม่าฉบับหอแก้วต้นฉบับนั้น ได้พูดถึงเหตุการณ์บ้านบางระจันหรือไม่ ?????

ขอบคุณครับ



ผู้ตั้งกระทู้ วังเหนือ กระทู้ตั้งโดยสมาชิก โพสต์และแสดงความเห็นเฉพาะสมาชิกเท่านั้น :: วันที่ลงประกาศ 2010-05-23 10:57:38 IP : 124.120.191.232


1

ความคิดเห็นที่ 1 (2977125)
avatar
โรจน์ (Webmaster)

คำถามนี้ผมคงไม่รู้ลึกเรื่องพงศาวดารไทย-พม่าฉบับไหนๆ หรือพระนิพนธ์ของกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ พอที่จะฟันธงอะไรได้  พอดีได้ลองไปหยิบเอา "พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเล" พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ.2549 โดยสำนักพิมพ์โฆษิต ในตอนท้ายๆ เล่มก็มีกล่าวถึงชาวบ้านบางระจันนิดหน่อย   ในคำนำของสำนักพิมพ์เล่าความเป็นมาของพระราชพงศาวดารฉบับนี้อย่างย่อๆ ว่า ชำระในสมัยร.1โดยสมเด็จพระพนรัตน์แห่งวัดพระเชตุพน แล้วหมอบรัดเลเอามาพิมพ์ครั้งแรกเมื่อพ.ศ.2407 ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น โรจน์ (Webmaster) (webmaster-at-iseehistory-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2010-05-23 15:48:50 IP : 124.121.225.212


ความคิดเห็นที่ 2 (2977129)
avatar
วังเหนือ

ขอบพระคุณครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น วังเหนือ ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2010-05-23 19:19:07 IP : 124.120.191.232


ความคิดเห็นที่ 3 (2977131)
avatar
กรุสงคราม

 ในหนังสือ ศิลปวัฒนธรรม ของ อ.สุจิตต์ วงษ์เทศ นั้นหน่ะ ..!!

 ไม่ได้ เขียนบอกตรงๆ เพราะ มันขัดกับ ความรู้สึก ของ คนไทย ที่ยึดถือกันต่อมายาวนาน....

  แต่ ในหนังสือ นั้น สอนให้ คนรุ่นใหม่ รู้จักคิด ... และ พิจารณา ด้วย หลักฐาน หลายๆเล่มประกอบกัน

 

 แต่ ผม มัน พวกใจร้อน มืออยู่ไม่สุขครับ .. 

  สรุป... ตำรา ของคนรุ่นใหม่ เรื่อง บางระจัน นั้นหน่ะ ... เขาเปรียบเทียบไว้ครับว่า

  เหตุการณ์ นี้ จำลอง มาจาก ป้อมอลาโม่ ของสหรัฐ ที่รบกับ เม็กซิกัน

  รวมทั้ง เรื่อง นางนพมาศ ... ลอยกระทง 

 เรื่อง คุณย่าโม ..(เรื่องนี้ โรงพิมพ์ มติชน จะโดนเผา เอาแล้วด้วย ตอนนั้น) 

ฯลฯ และอีกหลายเหตุการณ์ ครับ

 

 แต่ เขาสรุปไว้ว่า ที่เรื่องราว เหล่านี้เกิดขึ้น เพราะ พระเจ้าแผ่นดิน ในสมัยนั้น ท่านมองการณ์ไกล 

 ในขณะที่ ต่างชาติ จากยุโรป ทั้งอังกฤษ และฝรั่งเศส กำลัง ล่าเมืองขึ้น และวางแผนจะแบ่ง ดินแดน "สยาม"

ประเทศกัน...  ดังนั้น เพื่อให้เกิดความสามัคคี ในชาติ ... ว่าเรา มีความเป็นมา มีความเป็น "สยาม" กันมาหลายร้อยปี

จึงต้องเน้น ประวัติศาสตร์ ตัวบุคคล วีรชน เพื่อปลุกใจ ให้สำนึก ในความเป็น ชาติไทย ...

 ว่าแต่ พูดแค่... เดี๋ยว ผม ก็จะโดน บางท่าน ด่า ยับ..... เข้ามา ในเว็ป นะซิครับ ..!!

 แล้ว คุณหล่ะ ... เชื่อ ว่า จริงหรือไม่ ..!?? 

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น กรุสงคราม (sroimungmee-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-05-24 19:53:10 IP : 119.46.107.69


ความคิดเห็นที่ 4 (2977132)
avatar
โรจน์ (Webmaster)

ผมเองเว้นการอ่านศิลปวัฒนธรรมมาหลายปีด้วยเหตุอะไรหลายๆ อย่างแต่ไม่ได้อคติอะไรกับเขานะครับ พึ่งได้กลับมาอ่านเมื่อไม่นานมานี้โดยอาศัยห้องสมุดที่ทำงาน  เมื่อได้อ่านคำถามของผู้ตั้งกระทู้ก็พอจะเดาได้ว่าข้อความในวิกิคงเอาแนวคิดมาจากบทความในศิลปวัฒนธรรมเล่มใดเล่มหนึ่ง  แต่ก็ไม่ยักให้เครดิตเขาเป็นเรื่องเป็นราว

ถ้าวีกรรมบ้านบางระจันไม่เป็นความจริงแม้แต่นิดเดียว ก็จะมีคำถามตามมาอีกเยอะ เช่น ทำไมต้องเป็นที่บางระจันเมืองสิงห์บุรี ทำไมไม่เป็นที่อื่น ชื่อหัวหน้าบางระจันตั้งหลายคนเอามาจากไหน  ตัวผู้เขียนบทความได้สำรวจเอกสารครบถ้วนจริงๆ หรือไม่  อย่างพระราชพงศาวดารฯหมอบรัดเลที่ผมอ้างก็พึ่งพิมพ์ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2549  สำนักพิมพ์โฆษิตหรือหมอบรัดเลคงไม่ได้เป็นคนเติมเรื่องเข้ามาแน่ๆ  แล้วราชพงศาวดารพม่า ของ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ใครเติมเข้ามาเมื่อไหร่ ทั้ง 2 เรื่องในฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 เหมือนกับในครั้งที่ 1 หรือไม่ ฯลฯ

ณ เวลานี้ผมยังเห็นว่าเรื่องวีรกรรมชาวบ้านบางระจันไม่ได้อาการหนักถึงขนาดจะไม่มีความจริงอะไรเลย  ส่วนจะมีความจริงกี่เปอร์เซนต์แน่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง  อย่างน้อยน่าจะเป็นเรื่องที่รับรู้กันในกลุ่มผู้นำยุคต้นรัตนโกสินทร์ซึ่งก็คือกลุ่มคนที่รอดมาจากกรุงเแตกนั้นเอง  แต่ที่ไม่ปรากฎในหลักฐานบางฉบับ  เปรียบเทียบกันเล่นๆ ว่าคนเขียนพงศาวดารในยุคก่อนก็คงเหมือนคนในยุคนี้ที่ดูทีวีคนละช่องคนละสีกันมั๊ง?

เรื่องนี้เห็นต่างกันได้ คงไม่จำเป็นต้องถึงกับต้อง "ด่า" กันหรอกครับ  แต่ที่จำเป็นคือการหาหลักฐานมาอ้างอิงสนับสนุนความคิดของตนต่างหาก

ผู้แสดงความคิดเห็น โรจน์ (Webmaster) (webmaster-at-iseehistory-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2010-05-24 20:16:13 IP : 124.120.168.65


ความคิดเห็นที่ 5 (2977139)
avatar
คนเล่าเรื่อง

อาจารย์โรจน์ครับ นักวิชาการประวัติศาสตร์บางท่านไดบอกว่า ประวัติศาสตร์คือการถกเถียงและอภิปรายกันด้วยเหตุและผลที่ไม่มีวันจบสิ้น ดังนั้น ถ้าเราเข้าใจในหลักการนี้  การถกเถียงในเชิงวิชาการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในประเด็นใด ๆ ก็นับว่าทำได้ครับ

เรื่องบางระจันนี่  เป็นที่น่าสงสัยอยู่ครับว่า  ยังไม่เคยมีรายงานว่าพบหลักฐานทางโบราณคดีเกีjยวกับค่ายบางระจันหรือมีเบาะแสเกี่ยวกับเชื้อสายของคนบางระจันรุ่นนั้นที่สืบตระกูลมาจนถึงปัจจุบัน  แล้วก็ยังมีความคลุมเครืออีกหลายด้านที่ยังต้องค้นคว้าและถกเถียงกันต่อไปครับ  แต่คงไม่ค่อยใครกล้าแย้งหรือวิพากษ์นักหรอกครับ  เพราะลำพังแค่สันนิษฐานอะไรบางเรื่องก็จะไม่มีแผ่นดินอยู่กันแล้วครับ

แต่อย่างว่าแหละ  ประวัติศาสตร์เมืองไทยเราไม่ค่อยเปิดโอกาสให้ศึกษาเพื่อการวิพากษ์ การค้นหาเหตุผลของเหตุการณ์ตลอดจนพฤติกรรมของบุคคลในประวัติศาสตร์  ส่วนใหญ่จะเอาแค่บอกเล่า สั่งให้เชื่อ ให้ยึดถือ หรือท่องจำไว้ในสมอง  แทนการคิดหรือพิจารณาอย่างมีสติและใช้ความเข้าใจ  โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ของกรุงรัตนโกสินทร์สมัยใหม่ที่ยังคงเป็นแบบนี้อยู่ต่อไปครับ 

ผู้แสดงความคิดเห็น คนเล่าเรื่อง ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2010-05-25 22:49:22 IP : 202.28.78.134


ความคิดเห็นที่ 6 (2977140)
avatar
โรจน์ (Webmaster)

ผมก็ไม่ได้ไปปกป้องความเชื่อเดิมแบบหัวชนฝานี่ครับ  เพียงแต่เห็นว่ามันยังคงมีความจริงอยู่บ้าง  จะกี่เปอร์เซนต์ หรือตรงไหนเชื่อได้ตรงไหนเชื่อไม่ได้เท่านั้นเอง

วกกลับมาที่คำถามของผู้ตั้งกระทู้  ผมยังไม่มีโอกาสได้อ่าน "ราชพงศาวดารพม่า" และยังไม่ทราบว่าบทความในศิลปะวัฒนธรรมที่คุณกรุสงครามพูดถึงนั้น เป็นบทความเรื่องอะไร ใครเขียน ลงในฉบับไหน  หากท่านผู้เขียนบทความมีข้อสรุปดังกล่าวโดย "พลาด" ไม่ได้อ่าน "ราชพงศาวดารพม่า" กับ "พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเล" จะโดยเหตุสุดวิสัยหรืออะไรก็ตามแต่  แล้วพอใครพบเรื่องบางระจันใน 2 เล่มนี้จะมาบอกว่ามีการแต่งเติมทีหลังคงไม่ยุติธรรมกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตหนังสือทั้งสองเล่มเอามากๆ  แต่ในทางกลับกัน การที่มีเอกสารกล่าวถึงชาวบ้านบางระจันเพิ่มขึ้นอีก 2 เล่ม ก็ไม่ได้แปลว่าใครจะค้านความเชื่อเดิมไม่ได้เลย  อย่างที่คุณบอกว่ายังไม่มีหลักฐานโบราณคดีหรือยังไม่มีเบาะแสการสืบเชื้อสายใดๆ นั้น ก็เป็นข้อเท็จจริงที่ทุกฝ่ายควรรับฟังเช่นกันครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น โรจน์ (Webmaster) (webmaster-at-iseehistory-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2010-05-25 23:51:04 IP : 124.122.184.223


ความคิดเห็นที่ 7 (2977141)
avatar
วังเหนือ

อ่ะ เข้าท่าแหะ .... ผมก็คิดคล้าย ๆ กับอาจารย์ โรจน์ นะครับที่ว่าน่าจะเป็นเรื่องจริงบ้างแต่ก็คงไม่อลังการเหมือนกับที่รับทราบกันแบบปัจจุบันครับ 
........... แต่มันก็น่าคิดเหมือนกันว่าทำไมชาวบ้านต้องสู้ทหารพม่าด้วยเพราะว่ามันดูจะเกินกำลัง และไม่น่าจะมีเหตุผลเท่าใด
ชาวบ้านที่ไหน ๆ เมื่อมีภัยก็หนีเอาตัวรอดกันทั้งนั้น

สำหรับในพงศาวดารที่กล่าวเรื่องของบ้านบางระจันนั้น ผมลองไปเปิดพงศาวดารเท่าที่พอจะมีที่บ้านนะครับดังนี้

1. พงศาวดารพม่า  พระนิพนธ์:กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์  สำนักพิมพ์ศรีปัญญา พิมพ์ครั้งที่ 2  2550 พงศาวดารฉบับนี้แปลมาจาก  พงศาวดารพม่าฉบับหอแก้ว
ซึ่งหลวงไพรสณฑ์ สาลารักษ์ (เทียน สุพินทุ :U Aung Thein)  แปลจากภาษาพม่าเป็นภาษาอังกฤษ และกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์  แปลเป็นภาษาไทยอีกทีหนึ่ง
ดังนั้นหากจะทราบว่าเนื้อหาของบ้านบางระจันนี้ต้องไปดูฉบับ หลวงไพรสณฑ์สาลารักษ์ หรือฉบับหอแก้วครับ

2. ฉบับหมอบรัดเลนี้พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2407 จากนั้นก็มาชำระอีกทีเมื่อปี 2434 โดยเพิ่มเนื้อหาพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ซึ่งผมคิดว่าฉบับที่ใช้กันอยู่นี้น่าจะเป็นฉบับพิมพ์เมื่อปี 2434 ครับ ซึ่งพระยาดำรงอาจจะเพิ่มเติมในส่วนของบางระจันในช่วงเวลานี้ก็ได้ 
ดังนั้นเราต้องเอาฉบับพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2407 ครับว่ามีเรื่องราวของบ้านบางระจันหรือไม่

3. ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ก็มีการชำระหลายครั้ง เพิ่มเติมจากหลาย ๆ พงศาวดาร ตั้งแต่สมัย ร.1 แล้ว

........ผมไม่รู้ว่าฉบับดั้งเดิมก่อนที่จะชำระในช่วงของพระยาดำรงนั้น   ที่หอสมุดแห่งชาติจะให้บุคคลเข้าไปดูหรือเปล่า
หรือพงศาวดารพม่า ภาษาอังกฤษ ฉบับ หลวงไพรสณฑ์ สาลารักษ์ ก็น่าจะมีขายนะครับ
ถ้าดูพงศาวดารฉบับต้นฉบับแล้วก็น่าจะทราบว่าเพิ่มเติมวีรกรรมบ้านบางระจันหรือไม่

ผมดีใจมากครับที่ได้สนทนากับอาจารย์ โรจน์ และเพื่อน ๆ สมาชิกครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น วังเหนือ ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2010-05-26 00:41:52 IP : 124.120.187.165


ความคิดเห็นที่ 8 (2977142)
avatar
โรจน์ (Webmaster)

ดูเหมือนคุณวังเหนือยังติดใจเรื่องการ "เติม" อยู่  แต่ต้องไม่ลืมนะครับว่าคงไม่มีใครอยากถูกกล่าวหาว่าเอาอะไรเข้ามาเติมในสิ่งที่ของเดิมเขาไม่มี  และเราอาจไปมุ่งแต่ประเด็นที่เราสนใจคือบางระจันจนลืมไปหรือเปล่าว่าพงศาวดารทั้งเล่มกล่าวถึงอะไรตั้งมากมายหลายสมัย  ถ้ายังเชื่อเรื่องการเติมจริงๆ อาจจะหลีกเลี่ยงการระบุตัวบุคคลที่เติมไว้หน่อย  และคำนึงถึงพงศาวดารทั้งเล่มกับการชำระพงศาวดารกันทั้งกระบวนการนะครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น โรจน์ (Webmaster) (webmaster-at-iseehistory-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2010-05-26 07:26:08 IP : 124.120.163.71


ความคิดเห็นที่ 9 (2977143)
avatar
วังเหนือ

 

คือผมเห็นว่าเรื่องประเด็นการ "เติม" นี้เป็นประเด็นที่ถูกกล่าวหามากที่สุดครับ

รวมถึงมีบางท่านบอกว่าพงศาวดารพม่ามหายาเซวิน (เข้าใจว่าไม่ใช่ฉบับหอแก้วนะครับ)  นั้นก็ไม่ได้พูดเรื่องบางระจันไว้เลย

ถ้าผมจำไม่ผิดรู้สึก พงศวดารมอญพม่า ฉบับที่สุนทรภู่แปลในช่วงบันปลายชีวิตนั้นก็ไม่ได้พูดถึง เรื่องบ้านบางระจันเช่นกันครับ

(พงศาวดารมอญพม่าสิ้นสุดในตอนที่อังกฤษรบกับพม่า)

.

.

ดังนั้นจึงอยากจะให้ชัดกับข้อความในพงศาวดารนะครับ ทั้ง ๆ ที่หลักฐานก็น่าจะพอหาพิสูจน์ได้ง่าย ครับ

แต่จากเหตุผลของอาจารย์ผมก็เข้าใจนะครับ 

 

...อืมม์ ....ถ้ามีโอกาส ผมก็จะลองหา พงศาวดารพม่าฉบับภาษาอังกฤษ ของ เทียน สุพินทุ ก็น่าจะได้คำตอบในเรื่องนี้

ได้ความยังไงจะมา update ให้อาจารย์ทราบครับ  

ผู้แสดงความคิดเห็น วังเหนือ ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2010-05-26 08:00:05 IP : 124.120.182.140


ความคิดเห็นที่ 10 (2977148)
avatar
โรจน์ (Webmaster)

วันนี้รู้สึกคลับคล้ายคลับคลาว่าเคยมีใครสักคนกล่าวถึงเรื่องบางระจันกับพงศาวดารฯ ฉบับบริติชมิวเซียม  เลยลองไปหยิบเอานวนิยายเรื่อง "บางระจัน" ของ "ไม้ เมืองเดิม" มาดู เป็นเล่มที่เสริมวิทย์บรรณาคารพิมพ์ไว้เมื่อไหร่ไม่ทราบ คือไม่มีปีที่พิมพ์  แต่มีโฆษณาละครช่อง 3 ที่ รัตนาภรณ์ อินทรกำแหง เป็นผู้สร้างและระบุว่าเริ่มออกอากาศเมื่อ 4 ตุลาคม 2523 และมีคำนำของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ซึ่งลงวันที่ 18 สิงหาคม 2521 ในคำนำนี้เองที่ขึ้นต้นมาก็บอกว่า วีรกรรมของชาวค่ายบางระจันมีปรากฏอยู่ในหนังสือเก่าเท่าที่พอจะสอบค้นได้ในเวลานั้นอย่างน้อย 9 เล่ม คือ

1. พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา
2. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน
3. พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
4. พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับบริติชมิวเซียม
5. คำให้การชาวกรุงเก่า
6. คำให้การขุนหลวงหาวัด
7. จดหมายเหตุโหร
8. จดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนริทรเทวี
9.
เรื่องไทยรบพม่า ของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

สำหรับ "ไทยรบพม่า" นี่ต้องถือว่ากรมดำรงท่านไม่ใช่บุคคลร่วมสมัย และย่อมจะทรงพระนิพนธ์โดยอาศัยพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาเป็นหลัก ว่าแต่ใครอ่านครบทุกเล่มที่กล่าวนี้แล้วบ้างยกมือขึ้น!

ผู้แสดงความคิดเห็น โรจน์ (Webmaster) (webmaster-at-iseehistory-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2010-05-27 21:16:58 IP : 124.120.169.163


ความคิดเห็นที่ 11 (2977152)
avatar
โรจน์ (Webmaster)

อัพเดทอีกนิดนึงว่าได้นำกระทู้นี้ไปต่อยอดไว้เป็นบทความ "บางระจัน่" จากพระราชพงศาวดาร 2 ฉบับ เชิญคลิกอ่านประกอบได้ครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น โรจน์ (Webmaster) (webmaster-at-iseehistory-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2010-05-30 22:22:42 IP : 124.120.253.43


ความคิดเห็นที่ 12 (2977155)
avatar
โกศล

สวัสดีครับ.

บังเอิญ ได้อ่านบทความเกี่ยวกับเรื่องบางระจันมี่จริงหรือไม่   โดยส่วนตัวผมได้ศึกษาค้นคว้าแบบเจาะลึก ในพื้นที่เกิดเหตุที่ถูกบันทืกไว้ในประวัติศาสตร์  ไม่ว่าพื้นที่ทำการรบ และบ้านที่อยู่อาศัยของวีรบุรุษตามบันทึก  ซึ่งตรงบ้างไม่ตรงบ้าง

เอาเป็นว่าจากการศึกษามา10กว่าปี ผมพบบ้านที่อยู่อาศัยของนายจัน หนวดเขี้ยว  และได้พบปะพูดคุยกับกลุ่มเครือญาติของนายจัน  ซึ่งไม่เหมือนกับที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์  ทั้งนี้อาจเป็นเพราะในการรบครั้งสุดท้าย ไม่มีใครรู้เห็น ทั้งนี้เพราะได้มีการอพยพออกจากค่ายไปหลังจากการรบครั้งที่ 7  ซึ่งผมจะนำเสนอต่อไป

ผู้แสดงความคิดเห็น โกศล วันที่ตอบ 2010-06-04 16:49:22 IP : 125.26.46.24


ความคิดเห็นที่ 13 (2977156)
avatar
โกศล

จากการสืบค้นข้อมูล  ทำให้ผมสามารถเข้าไปถึงบ้านของนายจัน หนวดเขี้ยว  ซี่งปัจจุบันลูกหลานได้รื้อตัวเรือนออกไปบางส่วน และขยายเรือนให้ใหญ่โตขึ้น  ถ้าดูจากภายนอกก็จะไม่ทราบ  แต่ถ้าขึ้นไปบนเรือนก็จะเห็นความเก่าแก่ของตัวเรือน  และที่สำคัญที่สุด  ที่บ้านหลังนี้ได้เก็บหลักฐานสำคัญเอาไว้ คือ กระดูกของนายจันเอาไว้ในโกฏ ซึ่งตัวโกฏทำขึ้นจากไม้แกะสลักลงรักปิดทองฝีมือดีลวดลายเป็นแบบอยุธยาตอนปลาย  ภายในโกฏเป็นที่รวมของบรรพบุรุษของรุ่นต่อๆ มา 

กระดูกของนายจัน  เป็นสีดำเงาคล้ายเหล็ก  ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของคนเล่นของแบบฉบับคนโบราณ

เท่านี้คงไม่สามารถยืนยันได้ว่านายจัน เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์จริงหรือไม่...

ผมได้พบกับญาติ่ของนายจัน ถ้าลำดับญาติแล้ว น่าจะรุ่นโหลน  ราว 5 ชั่วอายุคน เพราะคุณตาที่ผมได้พูดคุยนั้น ท่านเกิดทันที่ลูกสะใภ้ของนายจัน  และเลี้ยงดูคุณตายุ้ย  ซึ่งคุณตายุ้ยเรียกสะใภ้นายจันว่า "ทวดแจ่ม"  ไม่ใช่เฉพาะคุณตายุ้ย่ท่านเดี่ยวที่เล่าให้ผมฟัง  ยังมีน้องอีก 3 คน  แต่เป็นที่น่าเสียดาย  ทั้ง 3 คน เสียชีวติหมดแล้ว หลังผมเก็บข้อมูลได้ไม่นาน

เรื่องของนายจันนั้น  คุณตายุ้ยเล่าให้ฟังว่า  เหตุที่ทวดแจ่มมาเป็นสะใภ้นายจัน เพราะ เมียของนายจันเป็นง่อยเนื่องมาจากถูกทางการจับ เมื้อคราวที่  ทางการสืบได้ว่านายจันเป็นผู้ที่ขโมยช้างมา และได้เดินทางมายังบ้านของนายจัน ที่บ้านองครักษ์  แต่ไม่พ่บตัวนายจัน พบแต่เมียของนายจัน  ทางการจึงจับตัวไป่ลงโทษเพื่อให้สารภาพ เกี่ยวกับช้างและนายจัน  แต่เมียนายจันไม่บอก จึงถูกตอกเล็บมือเล็บเท้าจนพิการเป็นง่อย   จากนั้นนายจันเองจึงได้ไปสู่ขอทวดแจ่มที่วัดเขานางบวช ให้กับลูกชายคนเล็ก "นายเกด" วัตถุประสงค์เพื่อดูแลแม่สามี 

ผู้แสดงความคิดเห็น โกศล วันที่ตอบ 2010-06-04 17:08:54 IP : 125.26.46.24


ความคิดเห็นที่ 14 (2977157)
avatar
โกศล

นอกจากเรื่องของนายจันแล้ว  ทายาทของนายจันเองก็ได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับนายทองเหม็นด้วย ซึ่งเป็นคนบ้านเดียวกัน "บ้านองครักษ์" ปัจจุบัน อยู่ในอำเภอโพธิ์ทอง  จ.อ่างทอง  มีเขตติดต่อกับ อ.ท่าช้าง จ.สิงห์บุรี ในปัจจุบัน  แต่ถ้าในอดีตก็มีเขตติดต่อกับเมืองพรหมนั่นเอง

สำหรับเรื่องของนายทองเหม็นนั้น  หลังจากศึกครั้งที่ 7 แล้ว ที่วัดขุนโลก (ปั่จจุบันคือวัดประดับ อ.ค่ายบางระจัน จ.สิงห์บุรี)  แม้ว่าชาวค่ายบางระจันจะได้ชัยชนะ  แต่ก็เสียไพร่พลไปเป็น่จำนวนมาก และบาดเจ็บอีกจำนวนมากเช่นกัน       นายทองเหม็นได้ประกาศให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ภายในค่ายเร่งรีบอพยพออกจากค่ายเสีย  เนื่องจากประเมินการศึกแล้วชาวค่ายคงไม่สามารถเอาชนะพม่าได้  เพราะไม่มีกำลังพลพอที่จะออกไปสู้ศึกได้  จากการประกาศของนายทองเหม็น ทำให้คนแก่ เด็ก คนเจ็บ และชายหนุ่มส่วนใหญ่ อพยพออกจากค่ายไป  เหตุที่ชายหนุ่มออกจากค่ายไปด้วย เนื่องด้วย่จะต้องขนสัมภาระ พาคนเจ็บ และคุ้มกันชาวบ้านขณะหลบหนีออกจากค่าย

ส่วนกลุ่มคนที่เหลืออยู่ ประกอบด้วยนายทองเหม็นเป็นผู้นำ  สตรี่จำนวนมาก และชายบางคน

จุดจบของค่ายบางระจัน ก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว  แต่ที่น่าสนใจคือ  นายทองเหม็น ไม่ใช่คนขี้เมาตามหนังครับ    นายทองเหม็นดื่นเหล่าเพื่อย้อมใจเสียมากกว่า  เพราะการที่จะออกไปตายนั้น  จะต้องดื่มเหล่าเพื่อให้หีกเหิม   ทุกคนที่อยู่เฝ้าค่ายตายหมด  นายทองเหม็นก็เช่นกัน ถูกพม่าจับได้  ถูกทุบตีก็ไม่ตาย  สุดท้ายพม่าจึงล้มต้นตาลและใช้ไม้ตาลแทงทวาร จนนายทองเหม็นตาย ณ ที่แห่งนั้น.

ส่วนเรื่องของนายจัน รอดชีวิตมาได้อย่างไรนั้น  ผมไม่ทราบว่าครั้งไหน  แต่จากการเล่าของทายาทบอกแต่เพียงว่า นายจันลอยคอมาเกยที่ริมตลิ่งบริเวณต้นไทร ใกล้กับบ้านนายจัน  ชาวบ้านเห็นจึงช่วยกันนำขึ้นเรือน  รักษาอาการเจ็บป่วยไม่เท่าไหร่นายจันก็เสียชีวิต  ญาติพี่น้องจึงเผาศพนายจัน  และได้เก็บอัฐิใส่ในหม้อทะนน แขวนไว้บนขื่อกลางเรือน  ต่อมาเชือกที่มัดหม้อเอาไว้ขาด  ทำให้หม้อทะนนหล่นลงมา  แต่เป็นที่น่าแปลก คือ หม้อทะนนไม่แตกหรือบิ่นเลย  ญาติพี่น้องจึงได้ประชุมกันและทำบุญกระดูก และแจกจ่ายกระดูกนายจันให้กับญาติของนายจันทุกคน    คุณตายุ้ยก็เป็นบุคคลหนึ่งที่ยังคงเก็บรักษาอัฐิของนายจันเอาไว้

เรื่องราวที่ผมได้กล่าวมานั้น คงมีหลายท่านไม่เชื่อ ผมก็ไม่ว่าอะไร   เอาเป็นว่ามันเป็นข้อมูลแบบลงพื้นที่  ซึ่งการศึกษาหรือค้นคว้าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ จะมัววิเคราะห์กันไปวิเคราะห์กันมา  แล้วหาแต่เอกสารก็คงย่ำอยู่กับที่  วันนี้มี่ข้อมูลเพิ่มเติมให้หลายๆ ท่านที่สนใจ ได้ศึกษากันต่อครับ

ต้องขออภัยด้วยถ้าข้อมูลข้ามไปข้ามมา   

ผู้แสดงความคิดเห็น โกศล (kosol-dot-toi-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-06-04 17:39:36 IP : 125.26.46.24


ความคิดเห็นที่ 15 (2977158)
avatar
โรจน์ (Webmaster)

เอาเป็นว่ารับทราบไว้ก่อนและขอบคุณอย่างยิ่ง  แม้จะยังไม่มีหลักฐานอื่นมายืนยันชัดๆ  ก็พอเชื่อได้ว่าเป็นคำบอกเล่าโดยบริสุทธิ์ใจของชาวบ้านครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น โรจน์ (Webmaster) (webmaster-at-iseehistory-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2010-06-04 19:39:36 IP : 124.122.124.239


ความคิดเห็นที่ 16 (2977165)
avatar
วังเหนือ

ชอบคำนี้ครับ "การศึกษาหรือค้นคว้าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ จะมัววิเคราะห์กันไปวิเคราะห์กันมาแล้วหาแต่เอกสาร

ก็คงย่ำอยู่กับที่"    55555 โดนใจ

 

ขอบคุณคุณ โกศล มากนะครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น วังเหนือ ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2010-06-06 23:05:02 IP : 124.122.80.45


ความคิดเห็นที่ 17 (2977168)
avatar
โรจน์ (Webmaster)

ไม่อยากให้บางคนเข้าใจเลยเถิดไปว่าการศึกษา "เอกสาร" จะมีแต่ด้านลบ  เอกสารและหลักฐานทุกอย่างก็มีจุดเด่นและข้อจำกัดของมัน  และควรที่จะนำมาศึกษาประกอบกันเพื่อยืนยันซึ่งกันและกันครับ เราจึงควรทำอะไรหลายๆ อย่าง ตั้งแต่อ่านเอกสารเก่าให้แตก  ติดตามค้นคว้าเอกสารใหม่ และศึกษาหลักฐานอื่น เช่น โบราณคดี สังคมวิทยา (เช่น การสัมภาษณ์ชาวบ้าน ตามที่คุณโกศลเล่า) จนกระทั่งสมัยนี้ศึกษากระทั่งดีเอ็นเอแล้ว  ตัวผมเองพร้อมจะรับฟังแนวคิดทุกอย่างทั้งเก่าและใหม่ที่ผ่านการวิเคราะห์ยืนยันกันมาพอสมควรครับ  ฝรั่งเขามีคำพูดประมาณว่า เราสามารถจะละเมิดกฎเกณฑ์หรือความเชื่อใดๆ ก็ได้ แต่ในข้อแม้ว่าเราต้องทำความเข้าใจมันให้ดีก่อน

ระหว่างยังไม่มีใครคอมเม้นต์อะไรเพิ่มขอเติมข้อเสนอแนะกลับไปยังคุณโกศลว่า น่าจะนำผลการสัมภาษณ์มาเรียบเรียงเป็นบทความวิชาการเผยแพร่ เช่น ลงในวารสารศิลปวัฒนธรรม ทั้งนี้ไม่ใช่การท้าทายหรืออย่าหาว่าโยนเผือกร้อนกลับไปให้นะครับ  อยากให้ข้อเสนอของคุณได้เผยแพร่สู่วงกว้างอย่างเป็นหลักเป็นฐานน่ะครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น โรจน์ (Webmaster) (webmaster-at-iseehistory-dot-com)ตอบโดยเว็บมาสเตอร์วันที่ตอบ 2010-06-07 06:52:04 IP : 203.114.104.116


ความคิดเห็นที่ 18 (2978463)
avatar
ม้าศึก

no war . no kill.

ผู้แสดงความคิดเห็น ม้าศึก (zeez-d-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2011-05-13 12:33:29 IP : 118.173.114.211


ความคิดเห็นที่ 19 (2979241)
avatar
เด็กงง

 หนูอยากอ่านค่ะ!!!  (ชูมือขึ้นโบกสูงมาก)

ผู้แสดงความคิดเห็น เด็กงง (ungot-at-live-dot-com)วันที่ตอบ 2011-08-27 14:26:34 IP : 182.53.227.218


ความคิดเห็นที่ 20 (2979851)
avatar
จุติศร

 

ทำไม ชาวบ้านบางระจัน จึงลุกขึ้นมาต่อสู้กับพม่า  ลองมองในแง่เศรษฐกิจดูนะคะ   เพราะบางระจันเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผา ที่เป็นสินค้าส่งออกของอยุธยามาเป็นเวลานาน  ฉะนั้น จึงมีเหตุผลว่า  น่าจะมีจำเป็นต้องป้องกันเขตเศรษฐกิจนี้ไว้

ผู้แสดงความคิดเห็น จุติศร วันที่ตอบ 2012-01-06 09:51:30 IP : 118.172.137.14


ความคิดเห็นที่ 21 (2979853)
avatar
โรจน์ (Webmaster)

ไม่เคยทราบเลยว่าบางระจันเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผา  ถ้าจริงแล้วเครื่องปั้นดินเผาจะเป็นความสำคัญต่อเศรษฐกิจขนาดนั้นเชียวหรือครับ ท่านเจ้าของความเห็นที่ 20 หรือใครก็ได้ช่วยขยายความอีกนิดจะได้ไหมครับ  คือถ้าบอกว่าอาณาบริเวณนั้นเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญยังจะพอฟังขึ้นมากกว่า

ผู้แสดงความคิดเห็น โรจน์ (Webmaster) (webmaster-at-iseehistory-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-01-06 13:33:09 IP : 124.120.230.185


ความคิดเห็นที่ 22 (2979886)
avatar
คนอ่างทอง

การต่อต้านพม่าในยุคนั้นย่อมมีแน่อาจเป็นการต้านเป็นกลุ่มเล็กๆ เพราะชุมชนในละแวกอำเภอโพธ์ทอง วิเศษ ไชโย แสวงหา จะมีการซ่องสุมกำลังจากทหารกรุงศรีอยุธยายุคที่เจ้าฟ้าอุทุมพรหลบภัยมาวางแผนที่ตึกคำหยาดซึ่งเป็นกองอำนวยการ เพื่อคอยจังหวะและโอกาสไปแย่งชิงอำนาจกับพี่ชายทหารเหล่านั้นมีฝีมือ ปลอมเป็นชาวบ้าน เป็นนายบ้าน เป็นหัวหน้าชุมขน มีการสร้างวัดสร้างหมู่บ้าน ศิลปะที่ปรากฏหลายแห่งเป็นฝีมือช่างหลวง ทหารเล่านั้นบางคนก็ฝังตัวเป็นชาวบ้านถิ่นนั้นเมือเกิดศึก นายใหญ่หายตัวไป เขามีฝีมือและรักชาติจึงมีการต่อต้านพม่าบ้างแต่คงไม่เป็นศึกใหญ่โตอะไร แล้วจะเล่าต่อ

ผู้แสดงความคิดเห็น คนอ่างทอง วันที่ตอบ 2012-01-10 21:16:52 IP : 125.26.7.230


ความคิดเห็นที่ 23 (2979963)
avatar
โรจน์ (Webmaster)
image

คุณ "คนอ่างทอง" ยังไม่กลับมาเล่าต่อซะที  หลายปีก่อนตอนอ่านเรื่อง "บางระจัน" ของ ไม้เมืองเดิม ก็ได้รู้จัก "ไอ้ทัพ บ้านคำหยาด" พระเอกของเรื่องที่เป็นนายกองทหารม้าของบ้านคำหยาดโดยไม่ได้เข้าใจอะไรลึกๆ   มาอ่านความเห็นที่ 22 ของคุณเข้าก็ได้แต่คลับคล้ายคลับคลา  เมื่อไม่กี่วันก่อนได้ดูหนังเรื่อง "กู ขุนรองปลัดชู" ก็ติดใจสงสัยคำพูดของตัวละครในเรื่องขึ้นมาอีก  ตรงที่เขาบอกว่าทั้งเจ้าฟ้าอุทุมพร (เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ) กับเจ้าฟ้าเอกทัศต่างก็มีเชื้อสายบ้านคำหยาด  วันนี้ค้นไปค้นมาจนได้เจอหน้าเว็บนี้เข้าครับ "ประวัติพระตำหนักคำหยาด" http://seashore.buu.ac.th/~52020826/mobile/articles.php?lng=th&pg=14 กล่าวถึง หลวงทรงบาศ นายกองช้างซึ่งมีลูกสาวที่งดงามมาก 2 คน  ต่อมาทั้งสองได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าบรมโกศ คือ องค์พี่ คือ กรมหลวงอภัยนุชิต เป็นพระมารดาของเจ้าฟ้าธรรธิเบศร์ และองค์น้อง กรมหลวงพิพิธมนตรี เป็นพระราชมารดาของเจ้าฟ้าเอกทัศ และเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ

ทีนี้เมื่อได้เป็นพ่อตาพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ขุนทรงบาศกับบรรดาญาติๆ ย่อมตระหนักดีว่าเลือดเนื้อเชื้อไขของตนย่อมมีโอกาสได้สืบทอดบัลลังก์ แต่จะต้องแย่งชิงกับพระโอรสที่เกิดจากพระมเหสี/พระสนมพระองค์อื่นๆ จึงเป็นไปได้ที่จะมีการซ่องสุมกำลังคนในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งทั้งที่บ้านคำหยาดเองและบริเวณใกล้เคียงเพื่อเตรียมรับทั้งศึกชิงบัลลังก์และศึกสงครามภายนอก  ประเด็นที่ "คนอ่างทอง" ว่ามีการเอาทหารไปปลอมเป็นชาวบ้านนั้นคงไม่เชิง  เพราะผู้ชายย่อมมีหน้าที่เป็นทหารอยู่แล้วไม่ว่าสมัยไหน

ในแง่ภูมิศาสตร์ ผมลองใช้ฟังก์ชันการหาเส้นทางการเดินปัจจุบันของ Google Map โดยจุด A คือ อำเภอพระนครศรีอยุธยา  จุด B คือ บ้านคำหยาด อำเภอโพทอง จังหวัดอ่างทอง  ส่วนจุด C คือ อำเภอค่ายบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี  ระยะทางจาก A ไป B ตามถนนปัจจุบัน ประมาณ 57 กิโลเมตร และจาก B ไป C ประมาณ 22 กิโลเมตรกว่า รวมประมาณ 79 กิโลเมตรเศษ  ถ้าคนกรุงเทพฯ นึกไม่ออกเหมือนผมทีแรก  เอาเป็นว่าระยะทางจากบ้านคำหยาดไปค่ายบางระจัน (จาก B ไป C) ใกล้เคียงกับระยะทางจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปยังดอนเมืองครับ

โดยส่วนตัวผมจึงยังเชื่อว่าวีรกรรมของชาวบ้านบางระจันยังมีเค้าความจริงอยู่ค่อนข้างสูง  และที่น่าตื่นเต้นคือ ได้เห็นเค้าลางความเชื่อมโยงระหว่างราชวงศ์บ้านพลูหลวงที่นักประวัติศาสตร์รุ่นเก่าประณามนักหนาว่าทำให้บ้านเมืองอ่อนแอจากการแย่งชิงบัลลังก์กันเอง กับวีรกรรมของ "ชาวบ้าน" ที่ได้รับการจารึกไว้ใน "พระราชพงศาวดาร"

ผู้แสดงความคิดเห็น โรจน์ (Webmaster) (webmaster-at-iseehistory-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-01-24 22:31:15 IP : 110.169.203.60


ความคิดเห็นที่ 24 (2979979)
avatar
คนอ่างทอง

เรียน อาจารย์โรจน์

    ก่อนอื่นผมต้องแนะนำตัวเองก่อนว่า ชอบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ รักแผ่นดินถิ่นเกิด เคารพบูรพมหากษัตริย์ทุกพระองค์ ไม่มีอคติในการเรียนรู้ มีซากโบสถ์  วัดร้าง ผ่านไป ต้องแวะเข้าไปดูไปสัมผัส วัดขุนอินทประมูลที่พระเจ้าบรมโกศทรงบูรณะ วัดบ้านป่า และวัดโกรกกรากในเขตอำเภอไชโยลวดลายปูนปั้นยังมีให้เห็นและบ่งบอกว่าชาวบ้านธรรมดาไม่ได้สร้าง วัดที่สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลายที่ไม่ใช่ฝีมือชาวบ้านน่าจะมีเป็นหลักร้อย ตรงที่ผมอยู่ซากโบสถ์ฐานเรือสำเภาโค้ง ห่างกันแค่ ๒๐๐ เมตร มีถึง ๔ วัด

    กรณีค่ายบางระจันนี้ ผมเองไปอยู่บ่อยๆ ครั้งหนึ่งได้ไปทำงานอยู่ใกล้ๆ  เดินจนทั่ว เริ่มมองจุดที่ตั้งของค่ายตรงนั้นไม่น่าเป็นไปได้ ห่างมาทางทิศตะวันตกราว ๑ กิโลเมตร ตามลำน้ำ(คาดว่าเป็นแม่น้ำน้อยเส้นเดิมเมื่อราว ๒๐๐ กว่าปี ไหลไปผ่านบ้านศรีบัวทองไปออกทางแขวงเมืองวิเศษชัยชาญลำน้ำนี้สามารถเชื่อมต่อกับบ้านคำหยาดได้ไม่ไกลนัก) มีบ้านคูเมืองซึ่งอยู่ด้านฝั่งใต้ลำน้ำ เป็นทำเลที่เหมาะสมกว่า บ้านคูเมืองนี้เป็นเมืองในสมัยยุคทวาราวดีซึ่งมีการขุดค้นโบราณวัตถุที่บ่งบอกชัดเจน หากไปตั้งค่ายที่บางระจันตรงนั้น บ้านคูเมืองจะเป็นค่ายของพม่าได้เป็นอย่างดี เพราะทำเลดีกว่า ผมจึงเชื่อว่าหากมีค่ายบางระจันจริงคงไม่ใช่ตรงนั้นแน่ๆ

   

....

บ้านคูเมืองตั้งอยู่บนเนินดินสี่เหลี่ยมมุมมน กว้างยาวด้านละ ประมาณ ๓๐๐ - ๔๐๐ เมตร รอบเมืองพื้นที่บริเวณเมืองโบราณจัดเป็นประเภทลานตะพัก ลำน้ำระดับต่ำ เกิดจากการทับถมของตะกอน ลำน้ำกลางเก่า กลางใหม่ ดินบริเวณนี้เป็นดินชุดนครปฐม และดินชุดกำแพงแสน มีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างสูงบ้านคูเมือง เป็นเมืองที่มีคูน้ำล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมมน มีคูคลองขุดเชื่อมโยงกับคูเมือง และลำน้ำธรรมชาติ คูน้ำนั้นมีขนาดกว้างประมาณ ๒๐ เมตร ด้านพื้นที่ภายในประมาณ ๒๕๐,๐๐๐ ตารางเมตร เมืองโบราณที่บ้านคูเมืองนี้มีร่องรอยของการอยู่อาศัยตั้งแต่สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ไปจนถึงสมัยทวาราวดี......

 

ผู้แสดงความคิดเห็น คนอ่างทอง วันที่ตอบ 2012-01-28 21:07:33 IP : 125.26.8.120



1


Copyright © 2010 All Rights Reserved.