วิวาห์ฟิกาโร The Marriage of Figaro
avatar
Mrs.William Pitt!


เรื่องย่อของอุปรากร

http://www.metoperabkk.com/summarythai.html

วิวาห์ฟิกาโร (The Marriage of Figaro) เป็นอุปรากรชวนหัวซึ่ง โมซาร์ท (W.A.Mozart) ประพันธ์ขึ้นจากบทละครไตรภาคของ ปิแอร์ บัวมาเช่ (Pierre Beaumarchais) อุปรากรนี้แสดงรอบปฐมทัศน์เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ปี1786 ณ กรุงเวียนนา

 

ในช่วงเวลา 2-3 ปีก่อนหน้าที่โมซาร์ทจะประพันธ์โอเปร่าเรื่องนี้ โมซาร์ทได้อุทิศเวลาให้กับการประพันธ์โอเปร่าภาษาเยอรมัน (Singspiel) ด้วยความตั้งใจที่จะเชิดชูศิลปะและวัฒนธรรมของชาติตน แต่พระจักรพรรดิ์โจเซฟที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ปกครองออสเตรียและจักรวรรดิ์โรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire) ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อความคิดของโมซาร์ทในแง่การสร้างความเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมมากเท่าความเป็นคงและความเป็นหนึ่งเดียวทางการเมือง ดังนั้นโอเปร่าภาษาเยอมันที่องค์จักรพรรดิ์ต้องการจึงเป็นโอเปร่าที่ช่วยส่งเสริมความนิยมต่อราชวงศ์มากกว่าโอเปร่าในแบบที่โมซร์ทต้องการ นอกจากนี้ปัญหาการขาดแคลนโรงละครที่จะรองรับโอเปร่าภาษาเยอรมันนั้นก็นับว่าเป็นปัญหาใหญ่อีกข้อหนึ่ง ด้วยความยุ่งยากเหล่านี้ โมซาร์ทจึงหันกลับมาประพันธ์โอเปร่าชวนหัว ภาษาอิตาเลียนอีกครั้ง

 

หลังจากที่ละทิ้ง Lo sposo deluso ซึ่งประพันธ์ไม่เสร็จสมบูรณ์ โมซาร์ทก็ได้เริ่มประพันธ์ วิวาห์ฟิกาโร แต่อุปรากรเรื่องใหม่ที่สร้่างขึ้นจากบทประพันธ์ซึี่งกำลังเป็นที่กล่าวขานถึงในหลายประเทศในยุโรปว่าเป็นบทประพันธ์อันตรายที่มีเนื้อหาเสียดสีความเหลื่อมล้ำในฐานะทางสังคมในยุคนั้น ก็ทำให้โมซาร์ทถูกจับตามองจากราชสำนัก ถึงแม้ว่า ลอเรนโซ่ ดา ปอนเต้ (Lorenzo Da Ponte) ผู้เรียบเรียงเรียงคำร้องอุปรากร จะได้ตัดเนื้อหาในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ต่อความไม่เสมอภาคออกไป แต่ วิวาห์ฟิกาโร ก็ยังจัดว่าผิดแผกไปจากอุปรากรเรื่องอื่นๆในเวลานั้น

 

นับตั้งแตอุปรากรก่อตัวขึ้นในราวคริสศรรตวรรษที่ 16 กระทั่งถึงยุคที่โมซาร์ทประพันธ์โอเปร่าเรื่องนี้ เนื้อหาของบทละครที่นำมาประพันธ์อุปรากรนั้นล้วนแต่เป็นเรื่องของเทพเจ้า วีรบุรุษ กษัตริย์ และชนชั้นสูง และถึงแม้ว่าอุปรากรชวนหัวในศตวรรษที่ 18 นั้นจะมีตัวละครที่เป็นสามัญชนและข้ารับใช้รวมอยู่ด้วย แต่ตัวละครเหล่านั้นก็ไม่ได้มีบทบาทโดดเด่น และเป็นไปได้ยากที่จะมีบทร้องในเพลงเดียวกันกับตัวละครหลักซึ่งเป็นชนชั้นสูง ในทางกลับกัน ตัวละครเอกซึ่งได้รับบทร้องที่สำคัญและไพเราะในอุปราการเรื่อง วิวาห์ ฟิกาโรนี้กลับเป็นเพียงคนรับใช้ และตัวละครเหล่านี้ยังมีบทร้องร่วมกับผู้เป็นนายโดยเท่าเทียมอีกด้วย นอกจากนี้เนื้อเรื่องของอุปรากรยังเป็นการนำเสนอความเฉลียวฉลาด มีปฏิภาของคนรับใช้ ในขณะที่ขุนนาง ผู้เป็นนาย ถูกนำเสนอในภาพของภิสิทธิชนที่ใช้อำนาจเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น

 

อย่างไรก็ตาม ชนชั้นสูงทั้งหมดในเรื่องนี้ก็ไม่ได้รับการนำเสนอในแง่ของผู้ร้ายเสมอไป เพราะในขณะที่ เคาต์ อัลมาวิ​ว่า (Count Almaviva) ถูกนำเสนอในภาพของอภิสิทธิ์ชนนอกศีลธรรมที่น่าขัน เคาน์เตส อัลมาวิว่า ผู้เป็นภรรยากลับถูกเปลี่ยนแปลงบุคลิกลักษณะจากบทละครดั้งเดิมใหกลายเป็นสตรีที่อ่อนหวาน สง่างาม และไร้เดียงสามากกว่าตัวละครจากต้นฉบับ  

 

เนื้อเรื่องของ วิวาห์ฟิกาโร ซึ่งเป็นภาคที่สองของบทละครฟิกาโร ไตรภาค เป็นเวลาสามปี นับจากที่โรซีนน่า สมรสกับ เคาน์อัลมาวิว่า ในตอนจบของ กัลบกแห่งเมืองเซวิล (The Barber of Seville) โรซีนน่าซึ่งในภาคนี้คือ เคาน์เตส อัลาวิว่ากำลังทุกข์ใจจากการถูกหมางเมินโดยผู้เป็นสามี  ไม่ได้มีบทบาทในเนื้อเรื่องอันสับสนอลหม่านในองก์แรกของอุปรากร บทของเคาร์เตสนั้นเริ่มขึ้นในตอนเริ่มแรกขององก์ที่สองหลังจากที่ม่านเปิดขึ้น ด้วยการขับร้องบทร้องรำรำพึงรำพันที่มีเนื้อหาว่าด้วยการวิงวินต่อเทพแห่งความรักให้ช่วยนำความรักของผู้เป็นสามีกลับคืนมา หรือมิฉนั้นก็โปรดประทานความตายให้แก่เธอเสีย

 

http://www.youtube.com/embed/PPbMDLo7JFY" frameborder="0" allowfullscreen>

http://www.youtube.com/watch?v=PPbMDLo7JFY

 

(บทร้อง Porgi amor ขับร้องโดย เรอเน่ เฟลมิ่ง ที่โรงละครกลินเดอบอร์น ปี 1994)

บทร้อง ‘Porgi amor’ อยู่ในบันไดเสียง E flat Major ซึ่งในบางครั้งมีความหมายถึงความโศกเศร้า โมซาร์ทใช้บันไดเสียงนี้ในบทประพันธ์หลายชิ้น โดยเฉพาะในบทร้อง ‘In quali eccessi, o Numi,’  จากอุปรากรเรื่อง Don Giovanni ซึ่งมีเนื้อหาพรรณนาถึงความรักของ Donna Elvira ที่ทำให้เธอสามารถอุทิศตนเพื่อ Don Giovanni ได้ ถึงแม้ว่าจะไม่เคยได้ความรักตอบกับมา 

 

อัตราจังหวะที่ระบุไว้ในบทประพันธ์สำหรับบทร้องนี้คือ Larghetto (จังหวะช้า) แต่ในเชิงปฏิบัติมักอยู่ในอัตราจังหวะปานกลาง (Andante) ดนตรีบรรเลงช่วงต้นก่อนเข้าเนื้อร้องมีความยาวมากกว่าบทร้องอื่นๆในองก์แรก ประการแรกเป็นเพราะบทร้องนี้เป็นบทเพลงแรกขององก์ที่สอง และ อาจเป็นไปได้ว่าโมซาร์ทมีวัตถุประสงค์ที่จะให้ผู้ชมผ่อนคลายจากความสับสนวุ่นวายในองก์แรกเพื่อที่จะสร้างอารมณ์ร่วมต่อความเศร้าโศกของตัวละครใหม่ซึ่งปรากฏอยู่บนเวที บทนำนี้เริ่มขึ้นด้วยท่วงทำนองล่องลอยของเครื่องสาย และ เครื่องลมไม้ซึ่งบรรยายถึงเช้าอันเงียบสงบ ลักษณะช้าเนิบของดนตรีเป็นตัวแทนของอาการครุ่นคิด และ ความว้าเหว่ของเคาน์เตสที่ตื่นขึ้นเพียงลำพังภายในห้องนอน หลังจากที่บาซูนและ คลาริเน็ทเร่งจังหวะขึ้นในช่วงปลายบทนำ กระแสเสียงซึ่งแสดงท่วงทำนองอันโศกเศร้าของเคาน์เตสก็ปรากฏขึ้นโดยมีเครื่องสายบรรเลงคลออยู่ในแนวล่าง และรับช่วงโดยคลาริเน็ทและบาซูนอีกครั้งในตอนจบของแทบทุกๆววรคเพลง แต่สิ่งที่น่าสังเกตในบทเพลงนี้คือ ในขณะที่คลาริเน็ท และ บาซูน มีบทบาทสำคัญ ฟลุทกลับปราศจากบทบาทใดๆทั้งในทำนองและเสียงประสาน และที่น่าสนใจไปว่านั้นคือ ในบทร้อง ‘Dove sono’ ของเคาน์เตสในองก์ที่ 3 บทบาทของฟลุทก็ไม่เป็นที่ปรากฏเช่นกัน หากแต่ในบทร้องของ ‘Deh vieni non tardar’ โซซานน่า และ ‘Voi che sapete’ ของเชอรูบิโน่นั้นกลับมีเสียงฟลุทตามปกติ ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าโมซาร์ทจงใจที่จะตัดฟลุท ซึ่งมีลักษณะเสียงสดใสออกไปจากบทร้องของเคาน์เตสผู้เศร้าโศก

 

 

ถึงแม้จะมีข้อสันนิษฐาณว่าโมซาร์ทนั้นเป็นหนึ่งในสมาชิกขององกรณ์ ฟรีเมสัน (Freemason) แต่ก็ไม่มีหลักฐานปรากฏเป็นที่แน่ชัด อย่างไรก็ตาม ในผลงานหลายชิ้นของโมซาร์ทนั้นก็ได้แสดงให้เห็นถึงแนวคิดในยุคแห่งความเรืองปัญญา (The Age of Enlightenment) เช่น เสรีภาพ, ความเหลื่อมล้ำทางสังคม และ ศีลธรรม ปรากฏอยู่ ซึ่ง วิวาห์ฟิกาโรเองก็เป็นหนึ่งในผลงานที่สามารถเห็นได้ชัด

 

ถึงแม้ว่าวิวาห์ฟิกาโรจะสร้างขึ้นจากบทประพันธ์ของปิแอร์ บัวมาร์เช่ แต่ก็มีรายละเอียดบางประการที่ถูกปรับเปลี่ยนไป โมซาร์ทนั้นเห็นพ้องกับบัวร์มาเช่ในแง่ของความเหลื่อมลำ้ทางสังคม แต่ดูคล้ายว่าเขาจะมีความคิดเห็นขัดแย้งในเชิงของความรัก เพราะ โมซาร์ทไม่ได้นำเสนอเคาท์ และ เคาน์เตส อัลมาวิว่าในแง่ของอภิสิทธิชนที่ผิดศีลธรรม แต่เลือกที่จะนำเสนอในแง่ของคู่สมรสทั่วไปที่เกิดความผิดพลาดทางความสัมพันธ์ โดยโมซาร์ทคล้ายจะแยก วิวาห์ฟิกาโรออกจาก ภาคที่เหลือในไตรภาค และ เพิกเฉยต่อความประพฤติอันน่าอับอายของเคาน์เตสในภาคสุดท้าย  โมซาร์ทได้นำเสนอความรักอันลึกซึ้งที่เคาน์เตสมีต่อสามีผ่านท่วงทำนองอันโศกเศร้า สะเทือนอารมณ์ในบทร้องทั้งสองของเธอ โดยเฉพาะ ‘Porgi Amor’ ที่เธอแสดงให้เห็นว่าไม่มีสิ่งใดในโลกที่จะสำคัญต่อเธอมากไปว่าความรักของผู้เป็นสามี

 

จอร์จ ดังตง (Georges Danton) นักปฏิวัติที่มีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติฝรั่งเศสได้กล่าวไว้ว่า ฟิกาโร นั้นเป็นมือสังหารอภิสิทธิชนชั้นดี ทว่าดนตรีของโมซาร์ทนั้นไม่เคยทำร้ายผู้ใด เพราะในขณะที่บทละคร ฟิกาโร ไตรภาค ได้จุดชนวนการปฏิวัตินองเลือดขึ้น ดนตรีของโมซาร์ทนั้นกลับเป็นตัวแทนแห่งความรัก และนำสันติสุขมาสู่มนุษยชาติ

 

 

บรรณานุกรม

 

Grabsky, P. (Director). (2006). In Search of Mozart [DVD]. Brighton: Seventh Art

            Productions.

 

Kaiser, J. (1984)Who’s  who in Mozart’s operas: from Alfonso to Zerlina (C.

            Kessler,Trans.). London:  George Weidenfeld & Nicolson Limited.

 

Landon, H.C.R. (Eds.). (1990). The Mozart Compendium A Guide to Mozart’s Life and

            Music. London: Butler & Tanner ***

 

Mann, W. (1977). The Operas of Mozart. London: Cassell & Company LTD.

 

Mozart, W.A. (1994). Le Nozze Di Figaro [Produced by Derek Baily] [DVD]. West Long

            Branch, NJ: Kultur.

 

Rice, J.A. (2009). Mozart on the Stage. Cambridge: Cambridge University Press.

 

Sadie, S. (Eds.). (2000). Mozart and his Operas. New York: St.Martin’s Press,Inc.

 

Till, N. (1992). Mozart and The Enlightenment : Truth, virtue and beauty in Mozart’s operas.

            London: W.W.Norton & Company ***

 

Todorovic, N. (1987). An Examination of Social Values and Context in The Marriage of

            Figaro and The Magic Flute. Unpublished Diploma Thesis, Griffith University,

            Brisbane.

 

Tommasini, A. (2010). Opera translation : A puzzle of words, wit and rhythms. International

            Herald Tribune. Retrieved March 28, 2011,from ProQuest database.

 

 

 

 



ผู้ตั้งกระทู้ Mrs.William Pitt! กระทู้ตั้งโดยสมาชิก โพสต์และแสดงความเห็นเฉพาะสมาชิกเท่านั้น :: วันที่ลงประกาศ 2011-10-15 15:32:57 IP : 123.243.145.204


1

ความคิดเห็นที่ 1 (2979515)
avatar
โรจน์ (Webmaster)

นำคลิปที่โพสต์แล้วไม่ขึ้นมาให้ดูกันครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น โรจน์ (Webmaster) ตอบโดยเว็บมาสเตอร์วันที่ตอบ 2011-10-15 15:55:58 IP : 124.122.163.252



1


Copyright © 2010 All Rights Reserved.