dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



มังกรระห่ำ ดาบปราบพยัคฆ์ (Sino Dutch war 1661) แบบฉบับของการต้านชิงกู้หมิง
วันที่ 19/05/2013   18:58:36

โดย "คนเล่าเรื่อง"

“แผ่นดินสูญสิ้นอธิปไตย ฟันฝ่าหลุดพ้นได้เป็นไท ด้วยน้ำใจพวกพ้องน้องพี่ แลกผืนแผ่นดินด้วยชีวี”

ต้นปี ค.ศ. 1644 ราชวงศ์หมิงซึ่งปกครองแผ่นดินจีนมาเป็นเวลา 276 ปี และมีฮ่องเต้ปกครองจำนวน 16 รัชกาล ได้ถึงกาลล่มสลายโดยการรุกรานและยึดครองของเผ่าแมนจูโดยราชวงศ์ชิง โดยในเดือนพฤษภาคม อ๋องตัวเอ๋อกุนผู้สำเร็จราชการของราชสำนักชิงได้นำทัพเข้ายึดครองกรุงปักกิ่งซึ่งเป็นเมืองหลวงไว้ได้  วันที่ 1 ตุลาคม ฮ่องเต้ซุนจื่อขึ้นครองราชย์และมีพระบรมราชโองการให้ประชาชนทุกคนต้องโกนผมไว้เปียเพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงถึงการยอมจำนนต่อแมนจู  จากนั้น จึงให้เคลื่อนทัพลงใต้เพื่อกำจัดกลุ่มที่ยังจงรักภักดีต่อราชวงศ์หมิงและเชื้อสายราชวงศ์หมิงและยึดครองดินแดนที่เหลืออยู่ทั้งหมด

จากนั้นในปี ค.ศ. 1645 ที่มณฑลฟุเจี้ยนซึ่งยังไม่ได้สวามิภักดิ์ต่อราชวงศ์ชิงได้สถาปนาองค์ชายถังซึ่งเป็นโอรสองค์หนึ่งในจักรพรรดิว่านลี่ขึ้นเป็นฮ่องเต้หลงอู่ที่ฟุเจี้ยน ตั้งฟุโจวเป็นราชธานีของราชวงศ์หมิงใต้ 


  เจิ้นเฉินกง

 
  เซี้ยะเหลียง

 
  เจิ้นจื่อหลง

 
  แม่ของเจิ้นเฉินกง

 
  ภรรยาของเจิ้นเฉินกง

ที่ด่านตรวจชายแดนนานกิง นายด่านได้พบกับ ชาย 3 คน ซึ่งไม่โกนผมติดเปีย ซึ่งทั้ง 3 คือ หลินคุน แม่ทัพขวาแห่งมณฑลฟุเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) หลีเว่ยแม่ทัพซ้าย และเจิ้นเซินลูกชายของเจิ้นจื่อหลง ข้าหลวงใหญ่แห่งมณฑลฟุเจี้ยน ซึ่งกำลังเดินทางไปยังฟุเจี้ยน จึงไม่อนุญาตให้ผ่านและยังข่มขู่แต่ก็ถูกตีหักออกไปพร้อมทั้งประกาศไม่ยอมโกนผมแบบแมนจูเด็ดขาด เมื่อเจิ้นเซินกลับมาถึงฟุเจี้ยนจึงได้ปรึกษาราชการกับบิดาคือ เจิ้นจื่อหลงซึ่งวิตกกังวลกับศัตรูทางฝั่งตะวันตกคือทหารดัทช์ที่ยึดครองเกาะไต้หวันมากกว่าการรุกรานของแมนจู และในขณะนั้น แม่ของเจิ้นเซินซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่นได้เดินทางกลับมา ระหว่างทาง  เรือที่นางโดยสารมาได้พบกับซากเรือที่มีผู้รอดชีวิตเกาะลอยอยู่ จึงได้ช่วยเหลือทุก ๆ คนไว้


เจิ้นเฉินกง หลี่เว่ย และหลินคุนผ่านด่านโดยไม่ยอมโกนผมติดเปีย


  แม่ของเจิ้นเฉินกงช่วยเหลือคนเรือแตกระหว่างทาง


ครอบครัวสกุลเจิ้นได้อยู่กันพร้อมหน้า

ที่พระราชวัง ฮ่องเต้หลงอู่ได้พระราชทานรางวัลและลาภยศแก่สกุลเจิ้น รวมทั้งพระราชทานราชทินนามเฉินกง องค์ชายภักดี (ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกเขาว่า เจิ้นเฉินกง) แก่เจิ้นเซินทำหน้าที่ควบคุมกองทหารองครักษ์รักษาพระองค์ และฮ่องเต้ได้มีพระประสงค์ให้เจิ้นจื่อหลงนำทัพไปต่อรบกับกองทัพแมนจูที่กำลังบุกประชิดเข้ามา  แต่เจิ้นจื่อหลงกล่าวว่าไม่กังวลภัยจากกองทัพแมนจูเพราะฟุเจี้ยนมีภูเขาอันหนาแน่นซับซ้อนที่เป็นปราการป้องกันทางบกได้เป็นอย่างดี  แต่ต้องรักษาผลปะโยชน์ทับซ้อนจากการถือหุ้นลมในกิจการค้า อุ๊บพิมพ์ผิด จำเป็นต้องระวังรักษาน่านน้ำจากกองทหารดัทช์ที่ยึดครองไต้หวันอยู่ในขณะนั้น เสริมสร้างเศรษฐกิจการค้าให้เข้มแข็ง แล้วชิงเอาไต้หวันคืนมา แล้วจึงคิดการใหญ่ต่อไป  ซึ่งเป็นความขัดแย้งและความคับข้องใจกับฮ่องเต้เป็นอย่างยิ่ง

ที่ภัตตาคารแห่งหนึ่ง  เจิ้นเฉินกงกับภรรยาและแม่ได้ไปรับประทานอาหารและชมการแสดง ซึ่งได้มีหญิงสาวนางหนึ่งเล่นผีผาและขับร้องเพลงที่ชวนให้สะเทือนใจจากการสูญเสียเอกราชบ้านเมืองเป็นอย่างยิ่ง  แม่ของเจิ้นเฉินกงเกิดความเอ็นดูและรักใคร่หญิงสาวนางนั้นมากจนรับนางเป็นบุตรบุญธรรม และนางก็คือเซี้ยะเหลียง คนที่แม่ของเจิ้นเฉินกงได้ช่วยเหลือไว้จากกลางทะเล และนางเองมาจากเกาะไต้หวันเพราะต้องหนีจากการปราบปรามของทหารดัทช์นั่นเอง และได้มีประชาชนกลุ่มใหญ่พากันนำแผ่นผ้าขนาดใหญ่แสดงรายชื่อผู้สนับสนุนเจิ้นเฉินกงเป็นจำนวนมากมากางออก

ที่ป้อมปราการของฟุเจี้ยน ได้มีคณะจากหลี่เว่ยเข้ามาพบกับเจิ้นจื่อหลงซึ่งได้ถูกสั่งให้ปิดเป็นความลับสูงสุด  แต่แท้จริงแล้ว พวกเขาคือคณะทูตจากราชวงศ์ชิงมาเพื่อแสดงราชโองการแต่งตั้งให้เจิ้นจื่อหลงเป็นข้าหลวงของทั้งฟุเจี้ยนและกวางตุ้งรวมทั้งเกลี้ยกล่อมให้เจิ้นจื่อหลงยอมสวามิภักดิ์และยึดไต้หวันคืนให้ได้    ซึ่งเจิ้นจื่อหลงได้พิจารณาด้วยความหนักใจ

ต่อมา ฮ่องเต้ได้พยายามกดดันเจิ้นจื่อหลงออกไปทำศึกเพื่อต้านชิงกู้หมิงให้ได้  และได้ลอบมีรับสั่งให้เจิ้นเฉินกงออกไปที่ด่านเซียนเสียเพื่อยึดตราแม่ทัพคืนจากหลี่เว่ยซึ่งมีข่าวว่าได้เปลี่ยนขั้ว ย้ายพรรค เอ๊ย แปรพักตร์ไปเข้ากับแมนจูแล้ว และสามารถฆ่าได้ ถ้าหากว่าจำเป็น  เมื่อเจิ้นจื่อหลงทราบเรื่องนี้จึงมีความร้อนใจเป็นอย่างยิ่งแต่เขาถูกกองทหารของฮ่องเต้ล้อมบ้านเอาไว้ เขาได้สั่งให้เซี้ยะเหลียงออกเดินทางไปตามเจิ้นเฉินกงกลับมาแต่ถ้าเจิ้นเฉินกงไม่กลับก็ให้มอบเกราะหนังประจำตัวของเขาไปด้วยและสั่งให้สามารถฆ่าหลี่เว่ยได้เมื่อจำเป็น เมื่อเซี้ยะเหลียงได้พบกับเจิ้นเฉินกงและถ่ายทอดความทั้งหมดซึ่งเขายังคงยืนกรานที่จะไปให้ได้

ที่เซียนเสีย กองทหารสอดแนมของหลี่เว่ยสืบรู้การมาของเจิ้นเฉินกง หลี่เว่ยซึ่งในเวลานี้ได้สวามิภักดิ์ต่อแมนจูเรียบร้อยแล้วจึงสั่งให้ทุก ๆ คนใส่หมวกซ่อนศีรษะและผมเปียไว้ให้มิดชิด และเมื่อเจิ้นเฉินกงมาถึง เขาจึงได้จัดงานเลี้ยงต้อนรับเป็นอย่างดี แต่ได้กักตัวเซี้ยะเหลียงเอาไว้  เขาได้พยายามเกลี้ยกล่อมเจิ้นเฉินกงให้เอาใจออกห่างจากราชวงศ์หมิงจนเกิดการทะเลาะกันขึ้น และเมื่อเซี้ยะเหลียงได้ทราบถึงแผนการของหลี่เว่ยแล้วจึงแอบเล่นผีผาในที่กักกัน  หลี่เว่ยจึงนำตัวออกมาที่งานเลี้ยงแล้ว นางจึงบอกเจิ้นเฉินกงว่าหลี่เว่ยแปรพักตร์แล้ว  เขาจึงสั่งให้กองทหารเข้ากุ้มรุมทำร้ายเจิ้นเฉินกงจนเซี้ยะเหลียงต้องธนูได้รับบาดเจ็บและต้องปะทะกับเจิ้นเฉินกง ในที่สุดเขาก็ถูกเจิ้นเฉินกงฆ่าตาย แต่ก่อนตายได้บอกว่า เจิ้นจื่อหลงเองต่างหากที่เป็นต้นตอและสั่งการให้แปรพักตร์   แล้วเจิ้นเฉินกงจึงมอบอำนาจการบังคับบัญชากองทหารแก่แม่ทัพว่านหลี่แล้วจากมาด้วยความคับข้องใจ

 
  ประชาชนลงชื่อสนับสนุนเจิ้นเฉินกง

 
  หลี่เว่ยพยายามเกลี้ยกล่อมเจิ้นเฉินกง

 
  เจิ้นเฉินกงทุ่มเถียงกับพ่อเรื่องความจงรักภักดี

ที่ฟุเจี้ยน เจิ้นเฉินกงได้ทุ่มเถียงกับบิดาที่กำลังจะออกเดินทางไปสวามิภักดิ์ต่อแมนจูที่ปักกิ่งอย่างรุนแรงถึงอุดมการณ์ความจงรักภักดีต่อราชวงศ์หมิงอย่างรุนแรง แต่เจิ้นจื่อหลงก็ยังออกเดินทางไปสวามิภักดิ์จนได้ โดยเจิ้นเฉินกงได้แต่มาส่งพ่อด้วยความโศกเศร้าและเจ็บปวด (เจิ้นจื่อหลงก็ไม่ได้กลับมายังฟุเจี้ยนอีกและยังถูกประหารในปี ค.ศ. 1662)  ในที่สุด เดือนสิงหาคม ปี ค.ศ. 1646 กองทัพแมนจูก็ยังบุกเข้าโจมตีฟุเจี้ยนจนได้ แล้วจึงเกิดการรบอย่างดุเดือดซึ่งกองกำลังของเจิ้นเฉินกงและบรรดาผู้ภักดีไม่สามารถต้านทานได้ต้องพ่ายแพ้อย่างย่อยยับจนต้องหนีออกมาพร้อมกับเมียและลูกกับกองกำลังบางส่วน แต่แม่ของเขาต้องถูกฆ่าตายในสมรภูมิ ส่วนฮ่องเต้หลงอู่ถูกจับได้ที่ติงโจวและเสด็จสวรรคตในขณะถูกอารักขาตัวไปฟุโจว (คล้าย ๆ กับกรณีของพระมหินทร์ที่เสด็จสวรรคตระหว่างถูกกองทัพพม่าส่งตัวไปเป็นเชลยที่หงสาวดีเลยครับ)

เจิ้นเฉินกงพร้อมด้ยกองกำลังที่เหลือได้พยายามรวบรวมสมัครพรรคพวกทำการต้านชิงกู้หมิงต่อมาอีก 14 ปี แต่ก็ได้พ่ายแพ้ที่นานกิงและต้องถอยร่นไปยังเมืองเซี่ยะเหมินในมณฑลฟุเจี้ยนและยังถูกกองทัพเรือฮอลแลนด์โจมตีกระหนาบ อย่างไรก็ตาม เขามีทั้งภรรยาที่ดีและน้องสาวบุญธรรมช่วยบางเบาภาระงานจัดการต่าง ๆ อย่างเต็มที่ เขาได้ตัดสินใจที่จะบุกยึดไต้หวันคืนจากฮอลแลนด์และใช้เป็นฐานที่มั่นในการต้านชิงกู้หมิงต่อไปซึ่งต้องใช้การวางแผนที่รัดกุม  โดยภรรยาของเขาตั้งใจที่จะลักลอบเดินทางไปไต้หวันเพื่อติดต่อกับเหอปิงอดีตลูกน้องของเจิ้นจื่อหลงผู้รอบรู้ภูมิศาสตร์ของไต้หวันเป็นอย่างดีเพื่อให้คำชี้แนะในด้านยุทธวิธี  และนางได้ขอให้เซี้ยะเหลียงช่วยดูแลเจิ้นเฉินกงแทนด้วยเพราะนางอาจไม่กลับมา (พิจารณาแล้ว นางน่าจะเป็นพวกชอบสลากกินแบ่ง ไม่นิยมสลากกินรวบนะครับ) แต่เซี้ยะเหลียงได้ตัดสินใจที่จะขออาสาเดินทางไปแทนโดยยังคงดึงดันที่จะแลกด้วยชีวิตของนางเอง 


  ทหารชิงรุกเข้าตีเมืองฟุโจว

 
  เจิ้นเฉินกงระบายความในใจกับเซี้ยะเหลียง

 
  กองกำลังของเจิ้นเฉินกงที่ผ่านการฝึกฝนมาอย่างดี


  เซี้ยะเหลียงขออาสาเดินทางไปไต้หวันแทนภรรยาของเจิ้นเฉินกง

ที่เมืองเชอะกาน เมืองหลวงของเกาะไต้หวัน ขณะนั้นถูกยึดครองโดยอาณาจักรฮอลแลนด์ผ่านทางข้าหลวงและกองทหารชาวดัทช์ (คล้าย ๆ กับเมืองหลวงของประเทศสารขัณฑ์ที่กำลังถูกปกครองโดยพวกดัทช์ คือ ดัทช์สาระแผก) และกลุ่มชนเผ่าต่าง ๆ ได้ถูกกดขี่ข่มเหงจากการขูดรีดภาษีอย่างหนักเพื่อเอาไปสร้างทางเดินลอยฟ้า เอ๊ย ผิดครับ ไปส่งเสริมความอู้ฟู่ให้กับอาณาจักรฮอลแลนด์  เซี้ยะเหลียงเดินทางมาถึงเกาะไต้หวันแล้วถูกทหารดัทช์ตั้งข้อสงสัยและจับกุมตัว  แต่ก็ได้พบกับเหอปิงแล้วแจ้งแก่ข้าหลวงว่าเหอปิงเป็นอาของนาง  เหอปิงจึงได้ขอออกเดินทางจากเกาะไต้หวันไปยังมัลดีฟ เอ๊ยไม่ใช่ ฟุเจี้ยน โดยอ้างว่าเพื่อไปปรึกษาเรื่องการจัดการน้ำ อุ๊บ ผิดอีกแล้ว เยี่ยมพี่ชายที่กำลังป่วยหนัก โดยแม่ทัพดัทช์ได้อนุญาตแต่ได้กักกันตัวเซี้ยะเหลียงเอาไว้

เหอปิงเดินทางมาพบกับเจิ้นเฉินกงแล้วจึงอธิบายสภาพภูมิประเทศของไต้หวันและกำหนดยุทธวิธีโดยให้กองทัพเรือล่องเข้าไปยังอ่าวลู่เอ๋อเหมินซึ่งอยู่ระหว่างเกาะลู่เอ๋อและเกาะเป่ยเซี่ยนเหว่ยแต่ก็มีหินโสโครกที่กีดขวางการเดินเรือและตัวอ่าวก็ตื้นเกินไป  แต่เหอปิงได้บอกว่าใน 1 ปีจะเกิดคลื่นยักษ์ซัดเข้ามาในอ่าว 2 ครั้งโดยจะเกิดในวันที่ 1 เดือนพฤษภาคมซึ่งเจิ้นเฉินกงได้กำหนดให้นำกองเรือออกเดินทางผ่านในวันนั้น

 
  พวกดัทช์ทำการปกครองชาวไต้หวันอย่างกดขี่

 
  เซี้ยะหลียงได้พบกับเหอปิงที่ไต้หวัน

 
  เหอปิงอธิบายสภาพภูมิศาสตร์ของไต้หวันแก่เจิ้นเฉินกง

วันที่ 1 เดือนพฤษภาคม  กองเรือของเจิ้นเฉินกงเดินทางผ่านอ่าวลู่เอ๋อเหมินได้อย่างสะดวก แล้วเกิดการปะทะกับกองทัพเรือฮอลแลนด์ แต่เขาได้ใช้เรือเล็กบรรทุกระเบิดพุ่งเข้าชนทำลายกองเรือฮอลแลนด์ได้  จากนั้น จึงนำกองเรือเข้ายกพลขึ้นบก  กองทหารได้พยายามต่อต้านและเกิดการรบกันอย่างดุเดือด กองกำลังของเจิ้นเฉินกงบุกตะลุยเข้าไปได้เรื่อย ๆ จนถึงประตูของป้อมปราการ  แต่แม่ทัพดัทช์ได้จับตัวเซี้ยะเหลียงจากที่คุมขังมาที่หอคอยของป้อมปราการมาขู่ให้เจิ้นเฉินกงถอนทัพกลับไป  ซึ่งหมายความว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ฝ่าฟันมาต้องสูญเปล่า เหอปิงได้พยายามขอต่อรองแต่ก็ถูกยิงตาย  เจิ้นเฉินกงตัดสินใจเลือกที่จะปะทะและเซี้ยะเหลียงตัดสินใจพลีชีพโดยกระโดดลงจากกำแพงป้อม  กองกำลังของเจิ้นเฉินกงจึงบุกเข้าไปยังป้อมและทำการรบพุ่งต่อไปแบบเลือดทาแผ่นดิน เขาได้ต่อสู้กับแม่ทัพดัทช์อย่างดุเดือดและฆ่าแม่ทัพตาย  แล้วจึงได้รับชัยชนะในที่สุด

และแล้ว ในวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ. 1661 ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของฮอลแลนด์ กุยยี ได้ลงนามยอมแพ้ต่อเจิ้นเฉินกงแล้วถอยทัพเดินทางต่อไปยังปัตตาเวีย (หรือเมืองจาร์กาต้าของอินโดนีเซียในปัจจุบัน) หลังจากเจิ้นเฉินกงได้นำไต้หวันกลับสู่การปกครอง เขาได้จัดตั้งเมืองที่อันผิงเพื่อเป็นศูนย์กลางการปกครอง สร้างพระราชวังเจิ้งเทียน และเขตการปกครองเทียนซิงและว่านเหนียน เขาได้กล่าวว่า “ข้าได้พิสูจน์ความจงรักภักดีต่อประเทศของข้าแล้ว”  แต่เขาได้ล้มป่วยและถึงแก่อนิจกรรมในปี ค.ศ. 1662 ที่อันผิง ในขณะที่อายุได้ 39 ปี ต่อมา ในปี ค.ศ. 1683 หรือ 22 ปีต่อมาในรัชสมัยของคังซีฮ่องเต้ของราชวงศ์ชิง เจิ้นเคอะชวงหลานของเจิ้นเฉินกงได้ยอมสวามิภักดิ์ต่อราชวงศ์ชิงในที่สุด


  กองเรือของเจิ้นเฉนกงปะทะกับกองเรือของดัทช์อย่างดุเดือด


  กองกำลังของเจิ้นเฉินกงยกพลขึ้นบก


  กองกำลังของเจิ้นเฉินกงบุกเข้าจู่โจมป้อมปราการอย่างแข็งขัน


  ชัยชนะหลังการกรำศึกและการเสียสละของทุก ๆ คน


  เจิ้นเฉินกงรับการยอมแพ้ของข้าหลวงฮอลแลนด์

หนังเรื่องนี้เป็นการนำประวัติศาสตร์และอัตชีวประวัติของวีรบุรุษเจิ้นเฉินกงผู้อุทิศชีวิตให้กับการกอบกู้ชาติจีนอย่างเข้มแข็ง แม้จะไม่สำเร็จก็ตาม  โดยเนื้อหาแล้ว หนังเรื่องนี้น่าจะจัดเป็นหนังประวัติศาสตร์มากกว่าอิงประวัติศาสตร์ เพราะเนื้อเรื่องจะเป็นไปตามประวัติศาสตร์เสียเป็นส่วนใหญ่  และยังให้ความสำคัญกับเหตุและผลของการเดินเรื่องมากกว่าการแต่งเติมเรื่องราวเข้าไป (แต่ก็มีอยู่บ้างครับเกี่ยวกับเซี้ยะเหลียง)

เนื้อหาสำคัญ ๆ ของหนังเรื่องนี้คือการสะท้อนภาพการต่อสู้และต่อต้านของบรรดาผู้รักชาติต่อราชวงศ์ชิงของแมนจูซึ่งเป็นชนต่างเชื้อชาติและวัฒนธรรมผู้รุกรานและยึดครองโดยสกุลเจิ้นผู้จงรักภักดี  แต่ก็ดูเหมือนว่าแผ่นดินจีนและราชวงศ์หมิงที่เหลืออยู่ในเวลานั้นได้มาถึงจุดอิ่มตัวและจุดเสื่อมเต็มทีแล้วหลังจากผ่านความรุ่งโรจน์ในยุคต้นราชวงศ์และฮ่องเต้องค์ต่าง ๆ มาไม่ต่างจากราชวงศ์อื่น ๆ ในประวัติศาสตร์จีนตามหลักอนิจจัง  การเชิดชูราชวงศ์หมิงและการต่อต้านราชวงศ์ชิงในช่วงนั้นจึงกลายเป็นเสมือนไฟไหม้ฟางกองสุดท้ายก่อนที่จะดับลง 


  อนุสาวรีย์เจิ้นเฉินกงที่ริมฝั่งเกาะไต้หวัน

เกี่ยวกับชีวประวัติของเจิ้นเฉินกงที่แท้จริง เป็นดังนี้ เจิ้นเฉินกงเป็นวีรชนผู้ยิ่งใหญ่ในการนำกองทัพต่อต้านราชวงศ์ชิง ขับไล่การรุกรานของฮอลันดาและเป็นผู้กอบกู้ไต้หวันคืนสู่ประเทศจีนในตอนปลายยุคสมัยราชวงศ์ชิง

เขาเป็นชาวอำเภอหนานอาน มณฑลฮกเกี้ยน มารดาเป็นชาวญี่ปุ่น เจิ้นเฉินกงเกิดเมื่อปี ค.ศ.1642  ประเทศญี่ปุ่น เมื่ออายุ 7 ขวบ กลับมาอยู่ที่อำเภอหนานอาน ชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เล็ก และชอบฝึกฝนศิลปะป้องกันตัว อายุ  15 ปี เขาสามารถสอบได้บัณฑิตของอำเภอหนานอาน

สมัยหนุ่ม ๆ เจิ้นเฉินกงมีความสนใจเรื่องราวของบ้านเมืองอย่างมาก เมื่อคราวที่ทหารชิงยึดครองทางเหนือนั้น เขาตัดสินใจต่อต้านราชวงศ์ชิง ฟื้นฟูราชวงศ์หมิง บิดาของเขาจำนนให้แก่ราชสำนักราชวงศ์ชิง และได้เขียนจดหมายชักชวนให้เขายอมสวามิภักดิ์ แต่เขาตอบจดหมายไปว่า "แต่ไหนแต่ไรมาได้ยินแต่ว่าบิดาผู้ซึ่งสั่งสอนให้ลูกจงรักภักดีต่อประเทศชาติ ไม่เคยได้ยินมาก่อนว่าพ่อสอนลูกให้ยอมแพ้ สวามิภักดิ์ต่อศัตรู" ขณะนั้นเขาได้ยินว่าทหารชิงยึดครองบ้านเกิดอำเภอหนานอาน และเข้าไปรื้อค้นที่บ้านเขา มารดาของเขาถูกย่ำยีจนในที่สุดได้ฆ่าตัวตาย ด้วยความโกรธแค้นและตั้งปณิธานโดยยกธงใหญ่ที่มีคำว่า "ฆ่าพ่อตอบแทนประเทศ" เรียกตนเองว่า "ขุนพลใหญ่ผู้ปราบปรามและนำการปฏิบัติ" แต่ทว่าเพียงไม่กี่วันเท่านั้น ได้มีผู้คนจำนวนมากที่เข้ามาร่วมกับเขา จำนวนพลในกองทัพมีมากถึง 5,000 คน ซึ่งเวลานั้นเจิ้นเฉินกงมีอายุเพียง 22 ปีเท่านั้น

เจิ้นเฉินกงทำสงครามอยู่บริเวณฝั่งทะเลตะวันออกเฉียงใต้สิบกว่าปี และในปี ค.ศ.1659 เขาได้ออกเดินทางจากโจวซานรุกไปทางเหนือ รุกเข้าไปถึงเกาะฉงหมิง ปากแม่น้ำแยงซี ได้อย่างราบรื่น มีเรือรบหลายร้อยลำ ยิ่งใหญ่มาก ครั้นแล้วได้รุกเข้าไปทางตะวันตกของแม่น้ำแยงซี เขามีความองอาจกล้าหาญยิ่งนัก และต่อมาได้รุกต่อเข้าไปถึงเมื่อเจียงอิน กวาโจว (ปัจจุบันคือทางใต้ของเมืองหยางโจว) และบริเวณเมืองเจิ้งเจียง เนื่องจากเขาได้รับชัยชนะจากการรบมาโดยตลอด เจิ้นเฉินกงจึงชะล่าใจต่อศัตรู ไม่ฟังการทัดทานจากขุนพลในกองทัพ เสนอให้บุกตีเมืองหนานกิง อีกทั้งยังหลงเชื่อในการแกล้งยอมแพ้ของแม่ทัพอารักเมืองหนานกิง ภายใต้การไม่มีการเตรียมป้องกันต่อสู้ ได้รับการโจมตีของศัตรูอย่างฉับพลัน ผลก็คือตกอยู่ในสภาพที่แพ้ย่อยยับ พวกเขาได้แต่เก็บศพเหล่าทหารมากมาย และถอยกลับไปรักษาจินเหมินและเซี่ยเหมิน

หลังจากที่เจิ้นเฉินกงได้ถอยทัพกลับมารักษาจินเหมินและเซี่ยเหมินสองเกาะนี้แล้ว เขาวางแผนจะขับไล่เหล่าอาณานิคมฮอลันดาเพื่อกอบกู้แผ่นดินไต้หวัน ขณะนั้นประจวบเหมาะกับมีคน ๆ หนึ่งซึ่งมาจากไต้หวันนามว่า เหอปิน ได้เข้าพบกับเจิ้นเฉินกง เหอปินเป็นคนหนานอาน มณฑลฮกเกี้ยนเช่นกัน เขาทำหน้าที่เป็นล่ามให้แก่ชาวฮอลันดาที่ไต้หวัน เมื่อเขาขอพบเจิ้นเฉินกงก็ได้มอบแผนที่ของเกาะไต้หวันให้แก่เจิ้นเฉินกง และเสนอให้กอบกู้ไต้หวันคืนมา     เจิ้นเฉินกงดีใจมาก รีบสร้างเรือรบที่จินเหมิน เตรียมโจมตีไต้หวัน เหอปินได้บอกวิธีการขึ้นบกไปโจมตีเกาะไต้หวัน เจิ้นเฉินกงได้ทำตามที่เหอปินบอกโดยขึ้นบกที่ไต้หวันอย่างราบรื่น ได้กำจัดทหารฮอลันดาที่เมืองเชอะกานอย่างราบคาบ จากนั้น ได้ฆ่าทหารฮอลันดาตายไปราว 1,700  คน  เมื่อปี ค.ศ.1662 เหล่าทหารฮอลันดาได้หลบหนีไปอย่างไม่คิดชีวิต เจิ้นเฉินกงจึงกอบกู้ดินแดนไต้หวันคืนมา ไต้หวันเดิมทีนั้นเป็นดินแดนของประเทศจีนมาตั้งแต่โบราณ ปี ค.ศ.1624  ถูกยึดครองจากการล่าอาณานิคมของฮอลแลนด์ ประชาชนชาวไต้หวันได้รับความทุกข์ทรมานถึง 38 ปี บัดนี้ได้รับการกอบกู้อิสรภาพเพราะเจิ้นเฉินกงโดยแท้

แม้ว่าเกาะไต้หวันเป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ แต่เนื่องจากเวลานั้นยังมีพื้นดินอีกมากมายที่ยังไม่ได้บุกเบิกแผ้วถาง เจิ้นเฉินกงจึงสั่งการให้กองทัพทหารบางส่วนปักหลักรักษาที่นั่น ส่วนทหารที่เหลือให้ทำการแผ้วถางบุกเบิกที่ดินทำการเพาะปลูก ไม่กี่ปีต่อมา ที่ดินที่นี่ จากที่รกร้างกลายเป็นที่ที่นำมาใช้ในการเพาะปลูก ทหารก็มีเสบียงอาหารกินกันอย่างเหลือเฟือ

เจิ้นเฉินกงมีความเคารพต่อชนกลุ่มน้อยเกาซานอย่างมาก ออกคำสั่งไม่ให้ทหารยึดครองที่ดินทำนาของชาวเกาซาน (ชาวเขา)  การทำการเกษตรของชาวเขาเหล่านี้ยังล้าหลัง ไม่รู้จักวิธีการใช้วัวไถนา และไม่รู้จักใช้เครื่องมือในการเกษตร เช่น จอบและเคียว เป็นต้น  เจิ้นเฉินกงจึงได้จัดกลุ่มชาวฮั่นไปช่วยพัฒนาเทคนิคในการผลิตให้แก่พวกเขา ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผลิตผลทางเกษตรกรรมของไต้หวันได้เจริญก้าวหน้าไปกว่าก่อนมาก

เจิ้นเฉินกงได้ทำงานตรากตรำเกินตัวหลายปี ในที่สุดได้สิ้นชีวิตลงในปีที่กอบกู้ไต้หวันคืนจากฮอลันดา ขณะนั้นเขามีอายุได้เพียง 38 ปีเท่านั้น เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของเขาที่ได้กอบกู้ไต้หวันคืนมา  ชาวจีนจึงได้สร้างหอรำลึกเจิ้นเฉินกงขึ้นที่บ้านเกิดเมืองหนานอาน มณฑลฮกเกี้ยน และที่เมืองเซี่ยเหมินก็ได้มีการสร้างรูปปั้นและหอรำลึกขึ้นเช่นกัน เพื่อให้ผู้คนได้เข้าไปเยี่ยมชมและรำลึกถึงวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของเขา

ที่มา ดร.นริศ วศินานนท์ naris_wasinanon@yahoo.co.th


  รูปปั้นเจิ้นเฉินกงที่วัดมาซุ ไต้หวัน ในปัจจุบัน

คุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของหนังเรื่องนี้ คือ ความจงรักภักดี ซื่อสัตย์ต่อแผ่นดิน ชาติ และราชบัลลังค์ของกลุ่มขุนศึกแห่งฟุเจี้ยน ความกล้าหาญของวีรบุรุษ คือ สมาชิกของสกุลเจิ้นผู้เผชิญศึกกับกองทัพแมนจูเพื่อการต้านชิงกู้หมิงในช่วงครึ่งแรกของเรื่อง และนำไปสู่ความพยายามดำรงไว้ซึ่งกองกำลัง ดินแดน และทรัพยากรคือ เกาะไต้หวันเพื่อการกอบกู้ชาติในครึ่งหลังของเรื่องโดยต้องต่อตีกับศัตรูหน้าใหม่ที่จะได้เข้ามามีบทบาทในการรุกรานแผ่นดินจีนในเวลาต่อมา คือ กองทหารชาวดัทช์ซึ่งเป็นชาติตะวันตกพวกแรก ๆ ที่เริ่มเข้ามามีอิทธิพลในตะวันออกไกล

ประเด็นสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกประการหนึ่งในช่วงต้นของหนังก็คือ การยอมสวามิภักดิ์ของบรรดาขุนศึกต่อฮ่องเต้แมนจูเพื่อแลกกับการคงผลประโยชน์และสถานะของพวกเขาต่อไป ซึ่งเป็นการใช้กุศโลบายในการสยบบรรดาชาวฮั่นที่แยบคายให้ตกอยู่ภายใต้อำนาจการปกครอง  แต่สิ่งที่แตกต่างจากการยึดครองของแมนจูกับมองโกลก็คือการครอบงำทางวัฒนธรรมของชาติ นั่นคือ การโกนผมครึ่งศีรษะและถักเปีย ซึ่งไม่ได้รับการยอมรับจากชาวฮั่นเพราะยึดคติว่า เส้นผมเป็นสิ่งที่ได้รับจากพ่อแม่ติดตัว ไม่สมควรตัด (เรื่องนี้ มีข้อสังเกตแบบกันเองสมัยเรียนมหาวิทยาลัยว่า พวกแมนจูและพวกซามูไรที่โกนหัวตัวเองให้โล้นเลี่ยนเป็นบางส่วนแบบนี้   หัวหน้าของคนพวกนี้ซึ่งได้ออกแบบทรงผมแบบโกนหัวให้โล้นจะต้องเป็นคนหัวล้านแน่ๆ เลย  จึงออกแบบทรงผมดังกล่าวแล้วมาบังคับให้ลูกน้องทำทรงเดียวกันให้หมด  เพื่อว่าจะได้ไม่ต้องเกิดปมด้อยกันขึ้นมา ตรงนี้  ผมและพรรคพวกคิดทฤษฎีนี้ขึ้นเอง  ไม่ขอยืนยันนะครับว่า จริงเท็จแค่ไหน)

ข้อปลีกย่อยทางประวัติศาสตร์อีกประการในหนังก็คือ  ความอ่อนแอและความเสื่อมของราชวงศ์หมิงในช่วงปลายที่ปล่อยให้เกาะไต้หวันถูกยึดครองโดยอาณาจักรฮอลแลนด์ที่มีแผ่นกะจิ๋วหลิวและอยู่ไกลแสนไกล  แต่ก็ยังสามารถมารุกรานและยึดครองส่วนหนึ่งของแผ่นดินจีน และทำการกดขี่ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นต่อชาวไต้หวันอย่างแสนสาหัสในเวลานั้นด้วย

สำหรับตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นมาให้มีบทบาทสำคัญในเรื่อง คือ เซี้ยะหลียงนั้น คาดว่าผู้สร้างคงต้องการให้คุณค่าและความสำคัญแก่สตรีต่อประวัติศาสตร์จีนในช่วงนั้นและต่อเจิ้นเฉินกง  เพราะสังเกตได้ว่าทั้งแม่ ภรรยา และน้องสาวบุญธรรม (หรืออาจเรียกอีกอย่างว่า กิ๊กบุญธรรม)  ต่างก็มีความเข้มแข็ง กล้าหาญ เสียสละ และมีจิตใจโอบอ้อมอารี  เห็นแก่ส่วนรวมต่างจากลักษณะของผู้หญิงทั่ว ๆ ไป

งานโปรดักชั่นของหนังในระดับนี้ถือว่าสมศักดิ์ศรีและผ่านการทำวิจัยมาอย่างดี โดยเฉพาะชุดทหารแมนจูที่ดูเป็นจริงเป็นจังมากกว่าทุก ๆ เรื่อง (คือเรื่องเก่า ๆ มักให้ทหารแมนจูใส่หมวกกุยเล้ย  สวมเสื้อกางเกงยังกับชาวนาทั่ว ๆ ไป) ความอลังการและสมจริงสมจังของฉากรบแต่ละฉาก  รวมทั้งฉากภูมิประเทศต่าง ๆ ที่งดงาม  สำหรับเจ้าเหวินจั๋วผู้รับบท เจิ้นเฉินกง ก็นับได้ว่าตีบทบาทและบุคลิกของจอมคนผู้นี้อย่างทะลุปรุโปร่ง  ส่วนเจียงจิงชิง  ผู้รับบทเซี้ยะหลียงก็ทำบทบาทได้อย่างมีชีวิตชีวาและน่าสะเทือนใจในฐานะผู้เสียสละต่อแผ่นดินแบบปิดทองหลังพระอย่างแท้จริง  แต่สำหรับ ชิมาดะ โยโกะ ผู้รับบทแม่ของเจิ้นเฉินกงก็ได้ช่วยสร้างบุคลิกความอ่อนโยนและความรักแบบแม่ลูกต่อเจิ้นเฉินกงได้เป็นอย่างดี

ข้อสังเกตอีกอย่าง การลำดับภาพในบางฉากบางตอนของหนังเรื่องนี้คล้าย ๆ กับการลำดับภาพในหนังเรื่อง Saving private Ryan ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่าได้รับอิทธิพลมา เพราะหนังเรื่องนี้ออกฉายในปี พ.ศ. 2543 ครับ

 

กำกับโดย  อู๋จื้อหนิว (ผู้กำกับ Don’t cry Nanjing)
อำนวยการสร้างโดย  หลี่หนิง
เขียนบทโดย  จางจื่อผิง
เจิ้นเฉินกง 
แสดงโดย จ้าวจื่อเหวิน
เซี้ยะเหลียง
แสดงโดย เจียงจิงชิง
เจิ้นจื่อหลง
แสดงโดย ตู้จื่อเกา
ดนตรีโดย จางเส้าถง
ปีที่ออกฉาย 
ค.ศ. 2000

คำพูดจากภาพยนตร์

  • “ราชวงศ์หมิงแพ้จากปักกิ่งมาถึงฟุเจี้ยน เสียฟุเจี้ยนแล้ว เราจะไปไหนกัน รักษาไว้จะมีประโยชน์อะไร”
    (หลี่เว่ยกล่าวเกลี้ยกล่อมเจิ้นเฉินกงให้เอาใจออกห่างจากราชวงศ์หมิง)
     
  • “ราชวงศ์หมิงสิ้นแล้ว นับจากราชวงศ์โจวจนถึงขณะนี้ เมืองจีนมีประวัติ 2,700 ปี มาถึงสมัยหมิงปล่อยให้ไต้หวันถูกต่างชาติยึดครองอย่างเมามัน ราชวงศ์อย่างนี้ภักดีด้วยมีประโยชน์อะไร”
    (เจิ้นจื่อหลงกล่าวชักจูงเจิ้นเฉินกงให้เลิกจงรักภักดีต่อราชวงศ์หมิง)
     
  • “นับแต่โบราณ มีแต่พ่อสอนให้ลูกจงรักภักดี มิเคยได้ยินพ่อสอนให้ลูกขายชาติเลย”
    (เจิ้นเฉินกงโต้เถียงเรื่องการจงรักภักดีกับเจิ้นจื่อหลง)
     
  • “สิบกว่าปีมานี้ ข้าได้สาบานว่าจะพาเจ้ากลับบ้านเกิดที่ไต้หวัน  ข้าได้เห็นความหวังที่ริบหรี่ ข้าเจ็บปวดหัวใจยิ่งนัก”
    (เจิ้นเฉินกงระบายความในใจเรื่องการกู้ชาติแก่เซี้ยะเหลียง)
  • “เพียงแต่ท่านเอาชนะฮอลแลนด์ เอาไต้หวันคืนได้ ถึงร่างเซี้ยะเหลียงแหลกเหลวก็ไม่เสียดาย”
    (เซี้ยะเหลียงกล่าวอาสาไปไต้หวันแทนภรรยาของเจิ้นเฉินกง)


เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจในสภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของสถานที่ต่าง ๆ ในหนังเรื่องนี้ ผมจึงขอนำเอารายละเอียดที่สำคัญบางประการมานำเสนอดังนี้

มณฑลฟุเจี้ยน (Fujian) หรือ มณฑลฮกเกี้ยน เป็นมณฑลชายฝั่งทะเลที่อยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน อาณาเขตทางภาคเหนือติดกับมณฑลเจ้อเจียง ภาคใต้ติดกับมณฑลกวางตุ้ง ภาคตะวันออกติดกับช่องแคบไต้หวัน ชื่อฟุเจี้ยนมาจากอักษรนำหน้าชื่อเมืองสองเมืองรวมกันคือฟุโจวและเจี้ยนโอว ชื่อนี้ได้รับการตั้งในสมัยราชวงศ์ถัง

ที่ตั้งและอาณาเขต มณฑลฟุเจี้ยน มีพื้นที่ติดต่อดังนี้

ทิศเหนือ ติดต่อกับ มณฑลเจียงซี และมณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน

ทิศใต้ ติดต่อกับ ทะเลจีนใต้

ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ทะเลจีนตะวันออก

ทิศตะวันตก ติดต่อกับ มณฑลเจ้อเจียง และมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน

ภาษาถิ่น เนื่องจากฟุเจี้ยน เป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน ภาษาราชการจึงเป็นภาษาจีนกลางโดยใช้ตัวอักษรจีนแบบย่อ อย่างไรก็ดี ฟุเจี้ยน มีภาษาถิ่นมากมาย เช่นเดียวกับมณฑลอื่น ๆ ในจีนใต้ ภาษาถิ่นของมณฑลฝูเจี้ยนเป็นภาษาในกลุ่มหมิ่นทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วยภาษาจีนท้องถิ่น 7 ภาษาคือ ภาษาหมิ่นเบ่ย ภาษาหมิ่นตง ภาษาหมิ่นจง ภาษาหมิ่นหนาน ภาษาผู่เสี้ยน ภาษาส่าวเจี้ยง และภาษาฉุงเหวิน 6 ภาษาแรกใช้ในมณฑลฟุเจี้ยน ส่วนภาษาฉุงเหวินนั้นไม่ได้ใช้ในมณฑลฟุเจี้ยน แต่ใช้ในมณฑลไห่หนานแทน

คนไทยมักจะเรียกภาษาหมิ่นหนานว่าภาษาจีนฮกเกี้ยน ส่วนภาษาฉุงเหวินนั้นคนไทยมักจะเรียกว่าภาษาไหหลำ

เมืองสำคัญ เมืองหลวงคือเมืองฟุโจว ซึ่งอยู่บนฝั่งแม่น้ำหมินเจียง เมืองที่สำคัญอื่นๆได้แก่

เมืองเซี่ยเหมิน เป็นเมืองใหญ่ที่สุด ถูกยกระดับเป็นเมืองใหญ่ตั้งแต่ ค.ศ. 1387  เคยเป็นที่ที่ผู้ภักดีต่อราชวงศ์หมิงหนีพวกแมนจูมาหลบซ่อน

เมืองฉานโจว เป็นเมืองท่าสำคัญในสมัยราชวงศ์ซ่ง ตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 700

 

เนื่อง จากบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์อัน ชอบธรรมของผู้เขียน และอาจะมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลบ้างตามความเหมาะสม ในการนำบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่นๆ จึงขอความร่วมมือให้ใช้วิธีการคัดลอกเฉพาะ Link หรือ URL Address แทนการคัดลอกบทความทั้งหมด  หากมีการคัดลอกไปในลักษณะแอบอ้างเป็นผู้เขียน หรือมีเจตนาอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทางเว็บ iseehistory.com แล้ว จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย

กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

  • (ยังไม่มี)

เรียนเชิญสมาชิกร่วมแสดงความคิดเห็นที่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บ (ต้องสมัครและ Login ก่อน) ผู้ชมทั่วไปหรือสมาชิกที่ต้องการโพสต์รูป เชิญร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บบอร์ด "คุยกันหลังฉาก" ในกระทู้ที่มีอยู่แล้ว หรือ สร้างกระทู้ใหม่ (คลิกที่นี่) ครับ

Bookmark and Share

ทางเว็บไม่มีนโยบายนำภาพยนตร์ฉบับ เต็มมาให้ดูออนไลน์หรือให้ดาวน์โหลดเนื่องจากเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และไม่ มีพื้นที่สำหรับเก็บไฟล์ภาพยนตร์

 

 

 



เอเชียโบราณ

Jodhaa Akbar ภาพยนตร์เพื่อความสมานฉันท์ทางศาสนา วันที่ 19/05/2013   19:00:10
ฌ้อปาอ๋อง ขุนศึกลำน้ำเลือด วันที่ 19/05/2013   19:01:17
ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเขาเหลียงซาน ภาค 1-2 (The Water Margin/All Men are Brothers) วันที่ 19/05/2013   19:02:10
ฤทธิ์จักรพญายม ภาค 1-2 วันที่ 19/05/2013   19:03:07
ทัชมาฮาล รักเราเป็นนิรันดร์ วันที่ 19/05/2013   19:09:43
สามก๊ก ตอน โจโฉ แตกทัพเรือ มหากาพย์แห่งภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์สามก๊กอีก 1 เรื่อง วันที่ 19/05/2013   19:10:42
Mongol แต่งประวัติศาสตร์ใหม่กันอีกแล้ว! วันที่ 19/05/2013   19:11:32
Genghis Khan เวอร์ชันญี่ปุ่น : สงคราม กับ ผู้หญิง และ ครอบครัว วันที่ 19/05/2013   19:12:31
Genghis Khan BBC "จอมโหด" หรือ "ผู้พิชิต" วันที่ 19/05/2013   19:13:25
Marco Polo 2007 เมื่อครั้งตะวันออกยังเจริญกว่าฝรั่ง วันที่ 19/05/2013   19:14:31
Marco Polo ฉบับบู๊ลิ้ม วันที่ 19/05/2013   19:15:27
สารคดี The True Story of Marco Polo : มาร์โค โปโล ไม่เคยไปเมืองจีนจริงๆ ? วันที่ 19/05/2013   19:17:46
อโศกมหาราช (Asoka) จาก ทรราชย์ สู่ ธรรมราชา วันที่ 19/05/2013   19:18:37
ตามรอยพระพุทธเจ้า : คู่มือชาวพุทธฉบับ DVD วันที่ 19/05/2013   19:19:44
ขุนศึกหญิงตระกูลหยาง (Legendary Amazons) (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   19:20:26 article
Genghis Khan (2004 TV series) (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   19:21:12 article



1

ความคิดเห็นที่ 1 (101925)
avatar
โรจน์ (Webmaster)

รู้สึกกลุ้มใจแทนจักรพรรดิ์หลงอู่เหมือนกันครับว่าทำไมเจิ้นจื่อหลง ผู้เป็น "พ่อพระเอก" ถึงมาทรยศกันทีหลัง ถ้าตะแกจะภักดีแมนจูซะแต่แรกก็ไม่ต้องหอบหิ้วกันมาครองเมืองกันที่นี่ให้เสียเวลา  หรือว่าช่วงแรกๆ นั้นได้แรงเชียร์จากพระเอกแล้วพอห่างสายตาลูกก็มาฝ่อตอนหลัง  แล้วเลยพลอยสงสัยด้วยว่าที่พ่อพระเอกเอาเรื่องการเตรียมบุกไต้หวันมาเป็นข้ออ้างไม่ยอมรบกับแมนจูนั่นเป็นความจริงใจหรือเปล่า

ไม่ว่าเซียะเหลียงจะมีตัวจริงในประวัติศาสตร์หรือไม่  รู้สึกว่าผู้เขียนบทได้วางตัวเธอไว้เป็นกุญแจสำคัญของเรื่องได้อย่างเหมาะเหม็งลงตัวมาก  การอาสาตัวของเธอโดยอ้างว่าฮูหยินอยู่กับกองทัพมาเป็นปีจนบุคลิกไม่เหมือนชาวบ้านทั่วไปก็สมเหตุสมผลอย่างมาก

อีกประเด็นชวนคิดคือในสมัยหลังเกาะไต้หวันได้กลายเป็นที่ลงหลักปักฐานของนายพลเจียงไคเช็กและพรรคก๊กมินตั๋งที่พ่ายแพ้ตีอจีนคอมมิวนิสต์บนแผ่นดินใหญ่คล้ายกับที่พระเอกของเรื่องนี้ใช้ไต้หวันเป็นฐานต่อต้านแมนจู  ที่ยังไม่ซ้ำรอยคืนผู้ปกครองไต้หวันในยุคนี้ยังไม่ยอมจำนนต่อแผ่นดินใหญ่เพราะการหนุนหลังของอเมริกา

ผู้แสดงความคิดเห็น โรจน์ (Webmaster) (webmaster-at-iseehistory-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-12-06 21:28:31


ความคิดเห็นที่ 2 (101956)
avatar
คนเล่าเรื่อง

จริงครับอาจารย์โรจน์  ฮ่องเต้อาภัพองค์นี้กลายเป็นเพียงเบี้ยทางการเมืองของเจิ้นจื่อหลงเท่านั้น  อย่างไรก็ตาม  ถ้าตั้งข้อสังเกตดี ๆ ว่า ทำไม ทั้ง ๆ ที่เจิ้นจื่อหลงยอมสวามิภักดิ์แล้วกองทัพแมนจูยังต้องเข้าโจมตีฟุเจี้ยนอีก  หรือว่าเจิ้นจื่อหลงไปยอมสวามิภักดิ์เพียงคนเดียวโดยที่กองทหารและข้าราชการของเขาไม่เอาด้วย  สุดท้าย เขาก็ต้องตายอยู่ดี

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือ เจิ้นเฉินกงมีผู้หญิงรอบกายที่เป็นคนดี เสียสละ และกล้าหาญทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นแม่ซึ่งเป็นชาวต่างชาติ ภรรยาผู้ทำศึกสงครามได้เท่ากับชายอกสามศอก (แต่ศึกกับฮอลแลนด์ไม่รู้ว่าบทของนางหายไปได้อย่างไร) และน้องสาวบุญธรรม (หรือกิ๊กบุญธรรม) แสดงว่าผู้สร้างคงต้องการยกย่องบทบาทของสตรีไว้ในหนังเรื่องนี้ด้วยแน่นอนครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น คนเล่าเรื่อง ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2012-01-11 16:47:49



1


Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker