dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



Alexander มหาราชชาตินักรบ
วันที่ 19/05/2013   21:45:44

 

webmaster@iseehistory.com

คราวก่อนได้แนะนำภาพยนตร์เกี่ยวกับพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ที่เป็นสารคดีโดย National Geographic และภาพยนตร์รุ่นลายครามที่ Richard Burton แสดงนำมาแล้ว คราวนี้เราจะมาคุยกันถึงภาพยนตร์เรื่อง Alexander ที่สร้างโดย Oliver Stone ซึ่งเริ่มฉายในปี 2004 หรือพ.ศ.2547 และถ่ายทำในประเทศไทยราว 1 ใน 3 ของเรื่อง ให้ครบชุดของประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับพระมหาราชองค์นี้ซะที

ภาพยนตร์ดำเนินเรื่องโดยใช้การบอกเล่าของฟาโรห์ปโตเลมี (Ptolemy I Soter - สมัยเรียนเคยมีอาจารย์ท่านหนึ่งบอกว่าชื่อนี้ต้องอ่านว่า ทอลีมี ที่ถูกคงต้องฝากผู้รู้ท่านอื่นช่วยออกความเห็น) แห่งอิยิปต์ ผู้มีอดีตเป็นทหารเอกคนหนึ่งของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช เล่าเรื่องให้อาลักษณ์จด ย้อนไปที่ชีวิตวัยเยาว์ของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ โอรสของพระเจ้าฟิลลิป กษัตริย์แห่งมาซีโดเนียผู้รวบรวมนครรัฐต่างๆ ของกรีกเข้าด้วยกัน กับพระนางโอลิมเปียส สาวกของเทพไดโอนิซุส เจ้าชายอเล็กซานเดอร์เจริญพระชันษาท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างพระราชบิดาและพระราชมารดา และการศึกษาทั้งด้านบุ๋นและด้านบู๊ โดยมีพระอาจารย์สำคัญด้านวิชาการคืออริสโตเติล พระราชประวัติที่แสดงในภาพยนตร์ก็คล้ายๆ กับที่เคยกล่าวในภาพยนตร์สารคดี และภาพยนตร์ในปี 1956 (พ.ศ.2499) ที่กล่าวถึงมาแล้ว ซึ่งจะกล่าวถึงเฉพาะในประเด็นสำคัญๆ คือ

พระประวัติช่วงแรก

เป็นภาพยนตร์ที่แสดงถึงความขัดแย้งระหว่างพระเจ้าฟิลลิปกับพระนางโอลิปเปียสได้กระชับ แต่สะใจดีจริงๆ เปิดฉากมาก็จะเห็นพระนางซึ่งรับบทโดย Angelina Jolie ของคุณ Bratt Pitt นำงูมาเล่นกับพระโอรสน้อยอย่างน่าเสียวไส้ ไม่กี่นาทีถัดมา พระเจ้าฟิลลิป ซึ่งในเรื่องนี้มีพระเนตรเดียวตามประวัติศาสตร์ ก็โผล่เข้ามาข่มเหงพระนาง (การกระทำแบบนี้ ในสังคมไทยปัจจุบันกำลังมีการเรียกร้องให้บัญญัติเป็นความผิดทางกฎหมายฐาน "ข่มขืนภรรยา" จะสมควรหรือไม่คงดูได้จากหนังเรื่องนี้กระมัง?) จากนี้ดูเหมือนเราจะไม่เห็นสองพระองค์นี้อยู่เคียงข้างหรือเผชิญพระพักตร์ในเฟรมเดียวกันอีกเลย เมื่ออเล็กซานเดอร์ขึ้นครองราชย์แล้ว พระนางโอลิมเปียสยังวางพระองค์เป็นคุณแม่จอมจุ้นผ่านทางสาส์นหรือจดหมายที่ส่งไปถวายพระโอรสในแดนไกลอยู่เสมอ

ด้านการอบรมสั่งสอน ทั้งสองพระองค์ก็สอนพระโอรสไปคนละทาง พระนางโอลิมเปียสสอนว่าอเล็กซานเดอร์ทรงเป็นโอรสของเทพ ที่จะมีความยิ่งใหญ่ในภายหน้า พระเจ้าฟิลลิปด้านหนึ่งเหมือนจะเป็นแบบอย่างด้านความเป็นนักรบ แต่ในฉากที่พาอเล็กซานเดอร์ไปดูภาพวาดตำนานต่างๆ ของกรีกในถ้ำ ได้ทรงปรามๆ พระโอรสไว้กลายๆ ว่าความยิ่งใหญ่ของบรรดาวีรบุรุษในตำนานเหล่านี้ ล้วนต้องแลกมาด้วยความเจ็บปวดในรูปแบบต่างๆ กัน ส่วนบทบาทการถวายพระอักษรของอริสโตเติลแด่เจ้าชายอเล็กซานเดอร์ ก็ถือว่ากระชับพอสมควร แต่ดูเหมือนการกล่าวถึงความประทับใจของเจ้าชายอเล็กซานเดอร์ ต่ออะคิลิสแห่งตำนานเมืองทรอยอาจจะน้อยไปบ้าง

และมีบางประเด็นที่ในภาพยนตร์กล่าวแต่เพียงย่นย่อในคำบอกเล่าของปโตเลมี เช่น การที่พระเจ้าฟิลลิปอภัยโทษอเล็กซานเดอร์ให้เสด็จกลับจากการถูกเนรเทศ เหตุการลอบปลงพระชนม์พระเจ้าฟิลลิปถูกโยกไปเล่าในตอนเกือบท้ายเรื่อง แต่กลับมีเรื่องที่ทรงกล่อมม้าพยศได้ในตอนวัยเยาว์ ซึ่งผมไม่แน่ใจว่ามีจริงในประวัติศาสตร์หรือเปล่า แต่สำหรับการเดินเรื่องในตอนต่อไปแล้ว ม้าตัวนี้กลายเป็นม้าทรงคู่พระทัยในการทำศึกที่สำคัญๆ ในภายหลัง

พิชิตเปอร์เซีย

ด้วยเวลาในภาพยนตร์ที่จำกัด ทำให้การสงครามหลายครั้งของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช นับตั้งแต่การปราบปรามกบฏเมืองต่างๆ ในกรีกหลังครองราชย์ และการสงครามต่างๆ ในเอเชียไมเนอร์ รวมถึงการรบกับพระเจ้า Darius ครั้งแรก และการปลอดปล่อยอิยิปต์ กลายเป็นเพียงคำบอกเล่าไม่กี่ประโยคของปโตเลมี (ตกลงชื่อพระเจ้า Darius นี้จะอ่านอย่างไรแน่ ในภาพยนตร์เรื่องนี้อ่านว่า ดาไรอัส ครับ) จะคุ้มหรือไม่ก็ไม่ทราบเมื่อผู้สร้างประหยัดเวลาไว้เพื่อทุ่มเทให้กับการศึกครั้งสำคัญ คือการรบกับพระเจ้า Darius ครั้งที่สองที่เมืองกัวกาเมล่า (Gaugamela) ซึ่งในตอนแนะนำสารคดีโดย National Geographic ผมให้ข้อมูลว่ากองทัพกรีกน้อยกว่าเปอร์เซีย 1 ต่อ 3 แต่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ให้ข้อมูลว่าเป็นการต่อกรกันระหว่างกองทัพกรีกประมาณ 4 หมื่น กับกองทัพเปอร์เซียราว 2 แสน 5 หมื่น เอาเป็นว่ากรีกมีน้อยกว่าชนิดที่ต้องใช้สมองกันหลายหยักถึงจะชนะได้ ซึ่งภาพยนตร์ก็แสดงให้เห็นพระอัจฉริยภาพตั้งแต่การวางแผนการรบ จนกระทั่งได้ชัยชนะ แผนการโดยย่อคือพระองค์จะนำกองทัพม้าล่อหลอกกองทัพม้าเปอร์เซียออกไปทางหนึ่ง จากนั้นเมื่อกองทัพเปอร์เซียที่เหลือเข้าโจมตีทหารราบกรีก แถวทหารจะเปิดช่องให้ทหารพลรถเปอร์เซียวิ่งเลยไปให้ทหารราบอีกส่วนหนึ่งที่รออยู่ข้างหลังโจมตี จากนั้นทหารราบจะยันการบุกของทหารเปอร์เซียให้นานที่สุด ทหารราบอีกส่วนหนึ่งที่ซุ่มรออยู่จะจัดการกับทหารม้าเปอร์เซียที่ทรงล่อมาตั้งแต่แรก ถึงตอนนี้กองทัพเปอร์เซียจะเปิดช่องว่างให้กองทัพม้าของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์โจมตีเข้าหาพระเจ้า Darius ผลเป็นไปตามประวัติศาสตร์ คือพระเจ้า Darius ต้องเสด็จหนี พระเจ้าอเล็กซานเดอร์จำเป็นต้องละการไล่ตามพระองค์เพื่อนำทัพม้ากลับไปช่วยทหารราบที่กำลังถูกกระหนาบ ในที่สุดพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ก็เสด็จเข้ากรุงบาบิลอนได้

ฉากการรบอันมโหฬารระหว่าง Alexander กับ Darius ครั้งที่ 2 ที่ Gaugamela

ที่กรุงบาบิลอน พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ได้รับการต้อนรับจากประชาชนเป็นอย่างดี ฉากตอนนี้นับว่ามโหฬารตระการตาไม่น้อยหน้าฉากสงครามเลย พระองค์ได้ตรัสกับ Stateira พระธิดาของ Darius ว่าจะทรงกับปฏิบัติกับพระธิดาและพระญาติเสมือนคนในครอบครัว อเล็กซานเดอร์ประทับในบาบิลอนได้ไม่นานก็ต้องเสด็จออกตามล่าพระเจ้า Darius เป็นปีกว่าจะทรงพบพระศพของ Darius ที่ถูกทหารของตนเองสังหาร จากนั้นยังทรงขยายอาณาเขตไปยังตอนเหนือจนได้แต่งงานกับหญิงชาวเขาชื่อ Roxana ซึ่งเป็นอีกผู้หนึ่งที่จะมีบทบาทสำคัญในเรื่อง แต่ผมจะไม่ขอกล่าวในรายละเอียดครับ

Alexander เข้ากรุง Babylon

บุกอินเดีย

พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ยังทรงมีความทะเยอทะยานในการพิชิตโลก โดยทรงนำทหารกว่า 150,000 นายข้ามเขาฮินดูกุชมาทางใต้ในประเทศอินเดีย ซึ่งต้องทรงทำศึกกับชาวอินเดียแคว้นต่างๆ ซึ่งในช่วงแรกภาพยนตร์จะเล่าแต่เพียงปัญหาสภาพอากาศกับความขัดแย้งระหว่างพระองค์กับบรรดาทหารที่รุนแรงจนถึงกับต้องทรงสังหารไคลตัส ทหารคนสำคัญที่พระบิดาเคยฝากฝัง และเป็นผู้ที่ช่วยชีวิตพระองค์ในการรบที่ Gaugamela แล้วก็ต้องมาเสียพระทัยภายหลัง ในช่วงเหตุการณ์ในอินเดียนี้เอง ที่ผู้สร้างได้ใช้สถานที่ในประเทศไทยในการถ่ายทำ ทั้งในฉากค่ายพักแรม ฉากอเล็กซานเดอร์ทรงขัดแย้งกับบรรดาทหารที่ฝั่งแม่น้ำ และฉากรบครั้งสำคัญกับกองทัพช้างครับ

จักรวรรดิ์เคลื่อนที่ของ Alexander ข้ามเขาฮินดูกูชไปยังอินเดีย

ตามประวัติศาสตร์กล่าวว่าการรบระหว่างพระเจ้าอเล็กซานเดอร์กับกองทัพช้างเกิดขึ้นที่เมือง Jhelum มีช้างเข้าร่วมรบกว่า 200 เชือก เป็นการรบที่นับว่านองเลือดครั้งหนึ่งในพระประวัติของพระองค์ ตามเรื่องนั้นได้ทรงดำเนินกลยุทธโดยปล่อยให้ทหารราบยันกองทัพข้าศึกด้านหน้า แล้วทรงนำกองทัพม้าอ้อมไปตึอีกด้านหนึ่ง อุปสรรคสำคัญคือกองทัพของพระองค์พึ่งรบกับช้างเป็นครั้งแรก โดยเฉพาะม้าในกองทัพม้าของพระองค์ได้หยุดไม่ยอมเดินหน้าเมื่อใกล้จะถึงที่หมาย อเล็กซานเดอร์ต้องกล่อมม้าทรงคู่ชีพอยู่พักหนึ่งจึงออกรบได้ขณะที่ม้าของผู้อื่นยังชงักอยู่ ทำให้พระองค์ได้รับบาดเจ็บสาหัส กว่ากองทัพม้าที่เหลือจะสามารถตามมาช่วยจนได้รับชัยชนะ แต่ก็ต้องสูญเสียทหารไปมาก รวมถึงเฮฟาอีสเตียน ขุนศึกคู่พระทัยและคู่ขาก็ได้รับบาดเจ็บสาหัสเช่นกัน

ฉากการรบกับกองทัพช้างที่ถ่ายทำในเมืองไทย ภาพขวาล่างจำได้ไหมครับว่าใคร?

เสร็จสงครามกับกองทัพช้างแล้ว พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ประกาศนำทหารกลับบ้าน อีกครั้งที่ภาพยนตร์จำต้องประหยัดเวลาด้วยการเล่าเรื่องการเดินทางผ่านทะเลทรายอย่างยากลำบากแต่เพียงย่นย่อ โดยไม่ได้อธิบายว่าทำไมจึงเดินทางเส้นทางอื่น เช่น ทางเรือดังที่ทรงให้สัญญาไว้ก่อนหน้านั้น และไม่ได้กล่าวถึงพระบัญชาให้มีการสมรสหมู่ระหว่างทหารกรีกกับหญิงเปอร์เซียกว่าร้อยคู่ที่เมือง Susa เลย กล่าวเพียงว่าทรงมีพระมเหสีอีกสองพระองค์ เมื่อเสด็จถึงบาบิลอนได้ไม่นาน เฮฟาอีสเตียนก็ถึงแก่ความตายซึ่งหมอบอกว่าเป็นเพราะโรคจากอินเดีย แต่ทรงเข้าพระทัยว่ามีการวางยา แล้วต่อมาพระองค์ก็เข้าร่วมงานเลี้ยงครั้งใหญ่ ทรงดื่มจัดจนทรงพระประชวรแล้วสิ้นพระชนม์ในวัย 33 พรรษา ประมาณ 3 เดือนก่อนที่พระโอรสที่ทรงมีกับพระนางโรซานจะประสูติ จากนั้นปโตเลมีเล่าว่าอาณาจักรของพระองค์ถูกบรรดาขุนศึกแบ่งแยกเป็น 4 ส่วน คือ คาสซานเดอร์ครองกรีซ เครเตอรอสและแอนติโกนัสครองเอเซียตะวันตก โซลูคัสกับเพอร์ดิคคัสครองทางตะวันออก และปโตเลมีเองครองอิยิปต์

อื่นๆ และสรุปรวม

ผมเคยกล่าวไว้แล้วว่า การจะถ่ายทอดพระประวัติของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ให้ละเอียดนั้น บางทีอาจจะต้องใช้เวลามากเกินกว่าภาพยนตร์ในโรงหรือใน VCD/DVD ปกติได้ ภาพยนตร์เรื่องนี้แม้จะต้องย่อหรือต้องตัดหลายประเด็นหรือหลายเหตุการณ์ไปมาก หากเทียบกับเวอร์ชันปี 1956 แล้ว ถือว่าใช้ความได้เปรียบของการสร้างทีหลังได้อย่างคุ้มค่า

เรื่องการเป็นเกย์หรือไบเซ็กส์ชวลของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์นั้น เป็นประเด็นที่หลายคนที่นิยมชายจริงหญิงแท้อาจรับไม่ได้ เคยมีคนเล่าให้ฟังว่าตอนออกจากโรงแล้วได้ยินคนอื่นบ่นเรื่องนี้อยู่ แต่ก็เป็นความจริงของพระองค์และของกรีกสมัยนั้น ผมเองก็แทบจะคลื่นไส้ในบางฉาก แต่ก็ต้องเปิดใจพิจารณาความเป็นจริง อย่างเฮฟาอีสเตียนนั้น นอกจากจะเป็นคู่รักของพระองค์แล้ว ยังเป็นเป็นผู้เตือนพระสติขณะทรงเสียพระทัยหลังการสังหารไคลตัส และเป็นทหารคู่พระทัยตลอดพระชนม์ชีพ ดีกว่าเจ้าอีกคนที่ผมยาวหน้าหวานซะอีก

อเล็กซานเดอร์ กับ เฮฟาอีสเตียน ขุนพลคู่ใจและคู่ขาในคืนก่อนการรบที่ Gaugamela

ความขัดแย้งระหว่างพระองค์กับบรรดาแม่ทัพนายกองทั้งหลาย นับเป็นหัวใจสำคัญของเรื่องที่ค่อยๆ ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ภายหลังการยึดครองกรุงบาบิลอน เมื่อทหารรู้สึกว่าประสบความสำเร็จมากพอและอยากกลับบ้าน แต่พระองค์ยังทรงฝันที่จะพิชิตดินแดนมากขึ้นเรื่อยๆ และพยายามเผยแผ่วัฒนธรรมกรีกให้ผสมกลมกลืนกับวัฒนธรรมในดินแดนที่ทรงพิชิตได้ ที่ทรงกล่าวถึงอยู่ตลอด อีกครั้งที่ต้องบอกว่าเสียดายที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่กล่าวถึงการสมรสหมู่ที่เมือง Susa ซึ่งน่าจะเป็นอีกหนึ่งความไม่พอใจของบรรดาแม่ทัพนายกอง จนอาจเป็นเหตุให้ต้องวางยาเพื่อปลงพระชนม์ดังที่ปโตเลมีหลุดปากออกมาในตอนท้ายเรื่องนั่นเอง

สุดท้ายคงเป็นเรื่องความภาคภูมิใจที่ประเทศไทยได้มีส่วนร่วมในภาพยนตร์ประวัติศาสตร์สำคัญเรื่องนี้ ในอดีตเราคงเคยได้ยินข่าวการที่รัฐบาลเคยอนุญาตและปฏิเสธการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทยมาหลายเรื่องด้วยเหตุผลต่างๆ กัน สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ ใน DVD แผ่นสองที่เป็นเบื้องหลังการถ่ายทำ คุณ Oliver Stone ได้กล่าวขอบคุณคนไทยอย่างเพราะพริ้ง นอกจากนี้ก่อนเขียนได้คุยกับคุณ countryboy ซึ่งอยู่สระบุรี และเล่าว่าส่วนหนึ่งก็ถ่ายทำกันแถวๆ บ้านท่านเอง ยังมีเพื่อนท่านรายหนึ่งชนะประมูลการส่งอาหารให้กับกองถ่ายด้วย (ไม่รู้พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ได้เสวยน้ำพริกปลาทูบ้างหรือเปล่า - นอกเรื่องซะแล้ว) คือถ้าเราเลือกถูกว่าเรื่องไหนควรอนุมัติแล้ว ก็จะเป็นทั้งผลดีเฉพาะหน้าด้านการสร้างงานให้กับคนไทยส่วนที่เกี่ยวกับกองถ่าย และผลระยะยาวต่อการท่องเที่ยวและภาพลักษณ์ของประเทศ รวมถึงการมีส่วนร่วมในสังคมโลกต่อการถ่ายทอดประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ลงบนแผ่นฟิล์มครับ

คำคมชวนคิด

  • "โชคย่อมเข้าข้างผู้กล้า" Virgil ผู้แต่งมหากาพย์ The Aeneid
  • "ความยิ่งใหญ่ทั้งปวงมาจากการสูญเสีย ... กษัตริย์มิได้เป็นโดยกำเนิด ทว่าถูกสร้างขึ้นมาด้วยความยากลำบากและทุกข์ทรมาน" พระเจ้าฟิลลิปตรัสสอนอเล็กซานเดอร์
  • "พิชิตความกลัว แล้วข้าจะสัญญาว่าท่านจะพิชิตความตายได้" (Conquer your fear and I promise that you conquer death) พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ตรัสกับทหารก่อนออกรบกับพระเจ้า Darius ที่ Gaugamela
  • "อริสโตเติลเรียกพวกเขาว่าคนเถื่อน แต่เขาไม่เคยเห็นบาบิลอน" ทหารผู้หนึ่งกล่าวขณะอเล็กซานเดอร์เข้ากรุงบาบิลอนหลังจากชนะ Darius
  • "เกียรติประวัติเกิดด้วยน้ำมือ ผู้ที่กระทำแล้วไม่เคยเสียใจ" และ "บางครั้งการคาดหวังสิ่งสุดยอดจากทุกคนก็คือความทะนง" เฮฟาอีสเตียน ทูล พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ขณะพระองค์กำลังเสียพระทัยหลังจากที่ได้สังหารไคลตัส

เนื่องจากบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์อัน ชอบธรรมของผู้เขียน และอาจะมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลบ้างตามความเหมาะสม ในการนำบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่นๆ จึงขอความร่วมมือให้ใช้วิธีการคัดลอกเฉพาะ Link หรือ URL Address แทนการคัดลอกบทความทั้งหมด  หากมีการคัดลอกไปในลักษณะแอบอ้างเป็นผู้เขียน หรือมีเจตนาอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทางเว็บ iseehistory.com แล้ว จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย

ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ : Alexander

ชื่อภาษาไทย : อเล็กซานเดอร์ มหาราชชาตินักรบ

ผู้สร้าง : Moritz Borman, Thomas Schuehly, Jon Kilik, Iain Smith

ผู้กำกำกับ : Oliver Stone

ผู้เขียนบท : Oliver Stone, Christopher Kyle, Laeta Kalogridis (screenplay)

ผู้แสดง : Colin Farrell, Angelina Jolie, Val Kilmer, Rosario Dawson, Jared Leto, Anthony Hopkins, etc. (นักแสดงไทยที่แสดงเป็นฝ่ายอินเดียได้แก่ บิณฑ์ บันลือฤทธิ์ และ จรัญ งามดี)

ควรอ่านเพิ่มเติม

กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

  • (ยังไม่มี)

 
เรียนเชิญสมาชิกร่วมแสดงความคิดเห็นที่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บ (ต้องสมัครและ Login ก่อน) ผู้ชมทั่วไปหรือสมาชิกที่ต้องการโพสต์รูป เชิญร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บบอร์ด "คุยกันหลังฉาก" ในกระทู้ที่มีอยู่แล้ว หรือ สร้างกระทู้ใหม่ (คลิกที่นี่) ครับ

หากเป็นสมาชิก Facebook แสดงความเห็นได้ในฟอร์มข้างล่างนี้ครับ

Bookmark and Share

ภาพยนตร์ตัวอย่าง (Trailer) จาก www.youtube.com

ทางเว็บไม่มีนโยบายนำภาพยนตร์ฉบับ เต็มมาให้ดูออนไลน์หรือให้ดาวน์โหลดเนื่องจากเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และไม่ มีพื้นที่สำหรับเก็บไฟล์ภาพยนตร์

 



ตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)

สปาร์ตาคัส เกิดอย่างทาส สู้อย่างทาส ตายอย่างทาส วันที่ 19/05/2013   21:36:29
Helen of Troy (1956) The face that launched a thousand ships (เฮเลน แห่ง ทรอย , ความงามที่เคลื่อนทัพเรือพันลำ) วันที่ 19/05/2013   21:37:57
คลีโอพัตรา ตอนที่ 3 คลีโอพัตรา นางพญาไอยคุปต์ (1999) วันที่ 19/05/2013   21:39:06
คลีโอพัตรา ตอนที่สอง เวอร์ชั่นปี 1963 วันที่ 19/05/2013   21:40:09
สารคดี Nefertiti and the Lost Dynasty: เนเฟอตีติ อมตะราชินี จาก NATIONAL GEOGRAPHIC วันที่ 19/05/2013   21:41:09
300 ขุนศึกพันธุ์สะท้านโลก วันที่ 19/05/2013   21:42:04
Hannibal (1959) "มีเมียแล้วไม่บอก!" วันที่ 19/05/2013   21:43:44
สารคดี Hannibal จาก BBC : เพราะเขาไม่ใช่คนเถื่อน? วันที่ 19/05/2013   21:44:49
Alexander the Great (1956) วันที่ 19/05/2013   21:46:41
แกะรอย อเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) วันที่ 19/05/2013   21:47:37
Taras Bulba (1962 film) (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   21:48:19 article
1612 (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   21:48:44 article
นักรบหญิง กวนอหังการ Gladiatress (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   21:49:12 article
Braveheart (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   21:49:41 article
Attila 2001 (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 07/04/2014   21:10:33 article



1

ความคิดเห็นที่ 1 (57118)
avatar
AttilaTheHun

เรื่องชื่อของ Ptolemy น่าจะออกเสียงแบบนั้นหล่ะ่ครับ จริงๆแล้วใน Wiki ก็มี IPA ให้เทียบดูเหมือนกัน แต่ผมก็ไม่แน่ใจเลยลองค้นดูอีก เลยพบว่าออกเสียงแบบนี้ครับ

"The p is silent so it is pronounced Tole-emy. The meaning is warlike."

The name Ptolemy is pronounced:

TOHL-ə-mee

Please note that the ə symbol stands for a neutral vowel, the same sound the A makes in 'about'.

Alternately, I have heard some Americans pronounce the name as TAL-a-may... though this may just be how I hear their accent. You can hear someone pronouncing the name here. Like I've already mentioned, be mindful of their accent: http://www.thefreedictionary.com/Ptolemy

No matter what accent is used, the name Ptolemy is always pronounced without the P. This is similar to other words such as psychology.


ผู้แสดงความคิดเห็น AttilaTheHun ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2009-05-11 06:09:28


ความคิดเห็นที่ 2 (63862)
avatar
adisorn

ใคร หรอ ครับ ไอที่ถาม ภาพขวา ล่าง อะ คับ

ผู้แสดงความคิดเห็น adisorn ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2009-05-24 12:49:03


ความคิดเห็นที่ 3 (63989)
avatar
โรจน์ (Webmaster)

ดูรายชื่อผู้แสดงไทยซีครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น โรจน์ (Webmaster) (webmaster-at-iseehistory-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2009-05-24 18:31:30



1


Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker