(เผยแพร่ครั้งแรกที่ rojn.blogth.com/HistoryMovies/ Tue-16-May-2006)

ในช่วงที่ผมเรียนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำได้ว่ามีอยู่ครั้งหนึ่งที่เข้าไปในห้องวารสารหอสมุดธรรมศาสตร์ แล้วไปหยิบเอาวารสารของสถานทูตสหภาพโซเวียตเล่มหนึ่งมาอ่าน บทความหนึ่ง เล่าเรื่องของวีรบุรุษคนหนึ่งในสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเป็นพลแม่นปืนหรือพลซุ่มยิง (Sniper) แม้จะเป็นเพียงพลทหารก็ได้สร้างวีรกรรมในการสงครามต่อต้านการรุกรานของกองทัพนาซี ไว้อย่างมากมาย ถึงขนาดที่ว่าทางเยอรมันได้อุตส่าลงทุนส่งนายทหารระดับนายพันที่มีตำแหน่งเป็นถึงผู้อำนวยการโรงเรียนพลแม่นปืนมาเพื่อจัดการเขาโดยเฉพาะ ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

ฉากรบดุเดือดในช่วงแรก

วาซิลีเริ่มแสดงฝีมือต่อหน้าสหายดานิลอฟ

ดานิลอฟพาวาซิลีมาดูเอกสารโฆษณาชวนเชื่อที่ "โปรโมท" ให้เขาเป็นพระเอก
หลายปีผ่านมา ผมได้ซื้อหนัง VCD เรื่อง "Enemy at the Gates" มาโดยทีแรกทราบเพียงว่าเป็นหนังฮอลลีวู้ดที่สร้างโดยอาศัยฉากสงครามระหว่างนาซีกับรัสเซีย เมื่อได้ดูจึงทราบว่าเป็นเรื่องของพลทหารรัสเซียผู้นี้ ผู้มีนามว่า วาซิลี ไซต์เซป และเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมรภูมิสตาลินกราด การรบที่พลิกประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่สองให้เยอรมันเริ่มรู้จักคำว่าแพ้ ฉากเดียวกับหนังเรื่อง Stalingrad ที่ผมกล่าวถึงในครั้งก่อน

ดานิลอฟเสนอความเห็นต่อสหายครุสชอฟในการนำวีรกรรมของวาซิลีมาสร้างกำลังใจให้กองทัพ

เริ่มเกิดรักสามเส้า (ขออภัยที่ไม่ได้เลือกภาพที่เห็นหน้านางเอกชัดๆ)

พันตรีโคนิก (ขวา) มารายงานตัวกับนายพลเพาลุส แม่ทัพกองทัพที่ 6 ของเยอรมัน

สหายครุสชอฟจัดงานเลี้ยงให้เกียรติวาซิลี
เรื่องในภาพยนตร์โดยย่อคือ วาซิลี หนุ่มชาวรัสเซียในเทือกเขาอูราล ถูกเกณฑ์มารบเพื่อป้องกันเมืองสตาลินกราดจากการรุกรานของกองทัพนาซี เขาได้มีโอกาสแสดงฝีมือในการยิงปืนช่วยเหลือให้นายทหารการเมืองคนหนึ่ง(ร้อยโทดานิลอฟ)รอดจากทหารนาซีมาได้ ต่อมาเมื่อสหายครุสเชฟ ผู้แทนของสตาลินเดินทางมาบัญชาการรบที่สตาลินกราด ดานิลอฟได้มีโอกาสเสนอความคิดของเขาในการที่จะส่งวาซิลีไปเป็นพลแม่นปืนแล้วปั้นให้เป็นวีรบุรุษเพื่อการโฆษณาชวนเชื่อให้บรรดาทหารรัสเซียมีกำลังใจในการต่อต้านกองทัพนาซี แต่คนซื่อๆ อย่างวาซิลีไม่ได้รู้สึกสนุกกับการถูกยกยอปอปั้นของสหายดานิลอฟเท่าไหร่นัก และปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างสหายทั้งสองค่อยๆ บานปลายมากขึ้นเมื่อทั้งสองคนหลงรักผู้หญิงคนเดียวกันคือ ทันย่า และเมื่อทางฝ่ายเยอรมันส่งพันตรีโคนิกมาเพื่อจัดการกับวาซิลี การขับเคี่ยวกันระหว่างพลทหารแม่นปืนชาวรัสเซียและนายพันผอ.โรงเรียนแม่นปืนนี้ น่าจะมีเค้าความจริงในประวัติศาสตร์ค่อนข้างมากดังที่ผมเกริ่นไว้แล้ว แต่ในส่วนรักสามเส้าระหว่างวาซิลี-ทันย่า-ดานิลอฟนี้น่าจะเป็นส่วนที่จินตนาการเสริมขึ้นมาเพื่อสร้างสีสันให้ภาพยนตร์
น่าสังเกตด้วยว่า วาซิลี เป็นคนจากเทือกเขาอูราล ซึ่งผมได้กล่าวถึงในเรื่อง Stalingrad แล้วว่า รัสเซียสามารถโต้กลับการรุกรานของนาซีได้ เพราะการนำกำลังคนจากทางแถบไซบีเรียมารบ อันเป็นผลจากการที่รัสเซียและญี่ปุ่นลงนามในสนธิสัญญาไม่รุกรานกัน
(23 ม.ค. 2550 ย่อหน้าข้างบนนี้มีผู้ทักท้วงว่าเทือกเขาอูราลอยู่ในคาซัคสถานปัจจุบัน ไม่ใช่ไซบีเรีย รายละเอียดดูที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Ural_Mountains ส่วนสนธิสัญญาระหว่างรัสเซียกับญี่ปุ่นขอเช็คข้อมูลอีกทีครับ)
การชิงไหวชิงพริบกันระหว่างพลแม่นปืนสองฝ่าย นับเป็นการฉีกแนวหนังแอคชั่นโดยทั่วไปที่มักจะไปเน้นการกราดปืนกลและซัดระเบิดเข้าใส่กัน

หุ่นที่พันตรีโคนิกนำมาใช้ล่อเป้าฝ่ายรัสเซีย

นี่ก็เคยเรียนพลแม่นปืนจากพันตรีโคนิก พยายามล่อเป้าอดีตอาจารย์ แต่ไม่ได้ผล

วาซิลีใช้กล้องเปอริสโคปขนาดเล็กสังเกตการณ์หลังที่กำบัง

สมาชิกในทีมนักแม่นปืนรัสเซียกำลังใช้กล้องเปอริสโคปขนาดเล็กสังเกตการณ์หลังที่กำบัง

พระเอกเกือบเสียท่าทั้งที่พยายามซ่อนพรางอย่างดี
"การข่าว" ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจในเรื่องนี้ ความคิดของดานิลอฟ ในการโปรโมตวาซีลีขึ้นเป็นฮีโร่นั้น เป็นความฉลาดของเขาที่มาทดแทนการใช้อำนาจจากปากกระบอกปืนของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ปรากฏในตอนต้นเรื่อง การที่เขาขอให้ทันย่าย้ายมาทำงานด้านการแปลข่าวในกองบัญชาการก็เพราะการเห็นความสำคัญของงานด้านนี้ด้วย ไม่ใช่เพียงแค่เพราะความหลงรักเธอ แต่ปัญหารักสามเส้าที่เกิดขึ้น กับการที่เขายอมลงทุนให้เด็กน้อยซาช่า เข้าไปเป็นเด็กรับใช้ของพันตรีโคนิกเพื่อหาข่าว ทำให้เขากลายเป็นคนเห็นแก่ตัวมากกว่าที่จะเป็นวีรบุรุษทางบุ๋น

ดานิลอฟใช้ซาช่าหาข่าวจากผู้พันโคนิก

การดำเนินเรื่องนั้น หลายส่วนดูเหมือนจะเอามันเข้าว่าและอ่อนเหตุผลอยู่บ้าง เช่น ฉากเรือลำเลียงพลขนทหารจำนวนมากเข้าสู่เมืองแล้วถูกเครื่องบินข้าศึกโจมตีโดยปราศจากเครื่องบินหรือปตอ.ฝ่ายเดียวกันคุ้มกัน การรบครั้งแรกของวาซิลีก่อนเป็นพลซุ่มยิง ที่ทหารจะได้รับปืนหนึ่งกระบอกต่อทหารสองคน ตอนเกือบท้ายๆ มีเรื่องที่คาใจว่าเมื่อกองทัพเยอรมันเข้าใจว่าวาซิลีตายแล้ว และมีคำสั่งให้โคนิกเดินทางกลับ ทำไมแกยังอุตส่ายึกยักอยู่ต่อได้ กับตอนที่ดานิลอฟหึงทันย่าสุดขีด ได้บอกให้เสมียนพิมพ์ข้อความใส่ร้ายวาซิลีว่าได้กลายเป็นผู้ทรยศแล้ว แต่หลังจากนั้นก็ไม่เห็นเกิดอะไรขึ้น และตอนจบที่รวบรัดให้ดานิลอฟนึกว่าทันย่าตายแล้วจนเซ็งชีวิตแล้วตัดสินใจไปล่อเป้าพันตรีโคนิกจนวาซิลีเช็คบิลโคนิกได้ เหล่านี้ ดูเหมือนเป็นอะไรที่เราต้องทำใจว่าหนังก็คือหนังทั้งนั้น
ด้านบทภาษาไทย มีศัพท์บางคำที่ต้องท้วงติง (อีกแล้ว) ได้แก่ คำว่า "สหายผู้กอง" ที่วาซิลีใช้เรียกดานิลอฟนั้น มาจากคำว่า "Comrade Commissar" นั้น เอาเข้าจริงดานิลอฟเป็นแค่ "ร้อยโท" (lieutenant) ไม่ใช่ร้อยเอกหรือผู้กอง แต่ก็ต้องเห็นใจว่าคอมมิสซาร์นี่จะเทียบกับภาษาไทยว่าอะไรได้ คำว่า "ท่านแม่ทัพ" นั้น ในเสียงภาษาอังกฤษเขาทับศัพท์ภาษาเยอรมันว่า "ฟือเร่อร์" ซึ่งคนที่ไม่รู้ภาษาเยอรมันแต่พอรู้ประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่สองสักหน่อยย่อมทราบดีว่าเป็นตำแหน่งของฮิตเลอร์ ซึ่งในภาษาไทยมักจะแปลว่า "ท่านผู้นำ" แบบเดียวกับที่หลายคนใช้เรียกประชดท่านนายกฯทักษิณอยู่ในช่วงนี้นั่นแหละ ที่เชยหนักไปกว่านั้น คือการแปลคำว่า "Head Quarter" ว่า "สำนักงานใหญ่" ตรงตามดิคชันนารีไทย-อังกฤษเป๊ะแทนที่จะเป็น "กองบัญชาการ(ใหญ่)" ฝากให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องนำไปพิจารณาด้วยนะครับ
(23 ม.ค.2550 มีผู้อ่านท่านหนึ่งได้ช่วยอธิบายคำว่า Commissar เพิ่มเติม ไว้ดังนี้
Commissar ในหนัง มาจากคำเต็มว่า Political Commissar เป็นชื่อตำแหน่ง ในการจัดองค์กรของคอมมิวนิสต์ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเมือง หรือนายทหารฝ่ายการเมือง หมายถึงคนของพรรคคอมมิวนิสต์ ที่ประจำในองค์กร หรือหน่วยนั้น เพื่อดูแล จัดการให้ทุกอย่างเป็นไปตามแนวทางของพรรค เช่นในระบบการจัดของ พคท ก็มีฝ่ายการทหารและฝ่ายการเมือง ทั้งสองฝ่ายจะทำงานร่วมกัน)

มาดผู้ร้าย

มาดพระเอก

ผลการรบที่สตาลินกราดที่วาซิลีมีส่วนอยู่ด้วย
คำคมชวนคิด
"ทุกข่าวสารที่คุณแปล ช่วยชีวิตคนได้นับร้อย ทุกข้อความที่คุณถอดรหัสฆ่าพวกมันได้นับพัน" (ดานิลอฟ พูดกับ ทันย่า เมื่อตอนที่ทันย่าจะไปร่วมรบเพื่อแก้แค้นแทนพ่อแม่ที่ถูกนาซีฆ่า)
"เอ็งทำสิ่งที่กล้าหาญมาก เอ็งเลือกฝ่ายของเอ็ง ข้านับถือ แต่มันไม่ใช่ฝ่ายของข้า" พันตรีโคนิกพูดกับซาช่า ก่อนจะนำตัวไปแขวนคอเพราะรู้ความจริงว่าซาช่าเป็นสปาย ไม่ทราบว่าคำพูดนี้จะทำให้ภาพลักษณ์ของโคนิกในสายตาท่านดีขึ้นบ้างหรือเปล่า สำหรับผมแล้ว มันกินใจกว่าการแต่งเรื่องให้มีนายทหารเยอรมันเห็นใจคนรัสเซียที่ถูกรุกรานและเบื่อหน่ายสงครามอย่างในเรื่อง Stalingrad หลายเท่าเลยทีเดียว)
เนื่องจากบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์อัน ชอบธรรมของผู้เขียน และอาจะมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลบ้างตามความเหมาะสม ในการนำบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่นๆ จึงขอความร่วมมือให้ใช้วิธีการคัดลอกเฉพาะ Link หรือ URL Address แทนการคัดลอกบทความทั้งหมด หากมีการคัดลอกไปในลักษณะแอบอ้างเป็นผู้เขียน หรือมีเจตนาอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทางเว็บ iseehistory.com แล้ว จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย
ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ : Enemy at the Gates
ชื่อภาษาไทย : กระสุนสังหารพลิกโลก
ผู้สร้าง : Jean-Jacques Annaud, John D. Schofield
ผู้กำกำกับ : Jean-Jacques Annaud
ผู้เขียนบท : Jean-Jacques Annaud, Alain Godard
ผู้แสดง :
- Jude Law ... Vassili Zaitsev
- Ed Harris ... Major König
- Rachel Weisz ... Tania Chernova
- Joseph Fiennes ... Commisar Danilov
- Bob Hoskins ... Nikita Khrushchev
- Ron Perlman ... Koulikov
- Eva Mattes ... Mother Filipov
- Gabriel Thomson ... Sacha Filipov
- Matthias Habich ... General Paulus
- Sophie Rois ... Ludmilla
- Ivan Shvedoff ... Volodya
- Mario Bandi ... Anton
- Hans Martin Stier ... Red Army General
- Clemens Schick ... German NCO
- Mikhail N. Matveev ... Grandfather
ควรอ่านเพิ่มเติม
กระทู้ที่เกี่ยวข้อง
เรียนเชิญสมาชิกร่วมแสดงความคิดเห็นที่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บ (ต้องสมัครและ Login ก่อน) ผู้ชมทั่วไปหรือสมาชิกที่ต้องการโพสต์รูป เชิญร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บบอร์ด "คุยกันหลังฉาก" ในกระทู้ที่มีอยู่แล้ว หรือ สร้างกระทู้ใหม่ (คลิกที่นี่) ครับ
หากเป็นสมาชิก Facebook แสดงความเห็นได้ในฟอร์มข้างล่างนี้ครับ
ภาพยนตร์ตัวอย่าง (Trailer) จาก www.youtube.com
ทางเว็บไม่มีนโยบายนำภาพยนตร์ฉบับ เต็มมาให้ดูออนไลน์หรือให้ดาวน์โหลดเนื่องจากเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และไม่ มีพื้นที่สำหรับเก็บไฟล์ภาพยนตร์