(เผยแพร่ครั้งแรกที่ rojn.blogth.com/HistoryMovies/ Wed-12-Jul-2006)

การทำสงครามนั้น เป็นปกติที่จะมีแพ้มีชนะบ้าง อย่างใน สงครามโลกครั้งที่สอง นั้น กว่าสัมพันธมิตรจะชนะเยอรมันได้ ก็ใช้เวลาและกำลังคนไปมาก และเป็นธรรมดาที่จะแพ้ในการรบบางครั้งบ้าง
การจะพ่ายแพ้เพราะเหตุสุดวิสัย เช่น ถูกจู่โจมโดยไม่รู้ตัว การขาดแคลนอาวุธยุทธปัจจัย ฯลฯ ก็คงเป็นเรื่องปกติที่น่าเห็นใจจริงๆ แต่หากจะต้องพ่ายแพ้เพราะการวางแผนที่ผิดพลาด การละเลยข้อมูลข่าวสารที่สำคัญ เห็นๆ ย่อมเป็นความพ่ายแพ้ที่น่าอัปยศอดสู ที่แย่คือเหตุแห่งความพ่ายแพ้มักมาจากความผิดพลาดของผู้บัญชาการระดับบิ๊กๆ แต่ผู้รับกรรมย่อมไม่พ้นทหารชั้นผู้น้อยทั้งหลายทั้งปวง
Operation Market Garden ที่เป็นเหตุการณ์ในภาพยนตร์เรื่อง A Bridge Too Far ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้มีบรรยากาศที่แตกต่างจากชัยชนะของสัมพันธมิตรในเรื่อง The Longest Day อย่างสิ้นเชิง (ทั้งสองเรื่องนี้ เดิมเป็นหนังสือสารคดีสงคราม เขียนโดย Cornelius Ryan ) ยุทธการครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากทีสัมพันธมิตรประสบความสำเร็จจากการยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดี ในเดือนมิถุนายน 1944 (พ.ศ.2487) และรุกคืบเข้าปลดปล่อยฝรั่งเศสได้เป็นที่เรียบร้อย แต่ปัญหาก็ตามมาเนื่องจากเส้นทางส่งกำลังบำรุงที่ยาวขึ้น ความขัดแย้งระหว่างนายพลคนสำคัญของนายคือ มอนต์โกเมอร์รี่ที่นำทัพอยู่ทางเหนือ และนายพลแพตตัน ที่คุมกำลังทางใต้ และความปรารถนาที่หาทางเผด็จศึกโดยเร็วเพื่อให้ทหารได้กลับบ้านในวันคริสมาสต์ ในเดือนกันยายน 1944 นายพลมอนต์โกเมอรรี่จึงหารือกับนายพลไอเซนฮาวร์ในการที่จะเปิดฉากการรุกเข้าไปในฮอลแลนด์ ตามแผนยุทธการ Market Garden
ยุทธการดังกล่าว ประกอบด้วยกำลังสองส่วนใหญ่ คือ
- กำลังพลร่ม 3 กองพล จะไปกระโดดร่มหลังแนวข้าศึกเพื่อ ยึดสะพานสำคัญ 3 สะพานพร้อมกันจากใต้ไปเหนือ คือ กองพลพลร่มสหรัฐฯ ที่ 101 ยึดสะพานไอฮูเวน กองพลพลร่มสหรัฐฯ ที่ 82 ยึดสะพานไมนีเกน และกองพลพลร่มอังกฤษที่ 1 ยึดสะพานอาร์นเฮม หน่วยทั้งสามจะต้องยึดเป้าหมายไว้ท่ามกลางวงล้อมข้าศึกจนกว่ากำลังหนุนจะมาถึง
- ทหารม้ากองพลน้อยที่ 30 ของอังกฤษ จะฝ่าแนวป้องกันของเยอรมันจากทางใต้เข้าไปช่วยเหลือทหารพลร่มทั้งสามหน่วยจากใต้ไปเหนือตามลำดับ


(แผนที่แสดงแนวการบุก และจุดที่พลร่มแต่ละหน่วยจะลงสู่พื้น ภาพจาก www.marketgarden.com)
จากแผนการนี้ เป้าหมายสำคัญที่สุดคือการยึดสะพานอาร์เฮม เพื่อที่จะรุกต่อโดยข้ามแม่น้ำไรน์เข้าไปยังเขตอุตสาหกรรมของเยอรมัน และหากการดำเนินการตามแผนล่าช้ากว่ากำหนด ผู้ที่จะลำบากที่สุดก็ไม่พ้นกองพลพลร่มอังกฤษที่ยึดอยู่ ณ สะพานอาร์นเฮมนั่นเอง
ดังคำกล่าวของซุนวูที่ว่า "รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง" การข่าวที่ควรจะเป็นหัวใจสำคัญของการรบกลับถูกละเลยในประเด็นสำคัญที่สุด นั่นคือการที่ฝ่ายเยอรมันได้นำกองพลรถถังไปไว้บริเวณเมืองอาร์นเฮม โดยเจตนาเพื่อจะให้ทหารหน่วยนี้ได้พักผ่อนออมกำลังไว้รอรรับการบุกใหญ่ที่คาดว่าจะมาจากทางาด้านของ นายพลแพตตัน ทางหน่วยใต้ดินของฮอลแลนด์ก็ได้รายงานเรื่องหน่วยรถถังนี้ให้ฝ่ายสัมพันธมิตรทราบ อีกทั้งเครื่องบินลาดตระเวณของสัมพันธมิตรเองก็สามารถถ่ายภาพรถถังในบริเวณเป้าหมายไว้ได้ แต่ทางพลโทบราวนิ่งผู้บัญชาการอังกฤษกลับปฏิเสธที่จะเชื่อถือข่าวดังกล่าว และยืนยันที่จะให้มีปฏิบัติการ Market Garden ให้ได้
สำหรับทหารชั้นผู้น้อยแล้ว ดูเหมือนจะมีแต่โชคซ้ำกรรมซัด อุปสรรคต่างๆ เกิดขึ้นตลอดแผนปฏิบัติการ ด้วยสาเหตุจาก
- ความบกพร่องในการวางแผนและเตรียมการของฝ่ายสัมพันธมิตรเอง นอกจากการไม่สนใจข่าวกองพลรถถังเยอรมันแล้ว การกำหนดจุดลงสู่พื้นของหน่วยพลร่มอังกฤษก็มีปัญหา โดยมีเพียงทหารส่วนหนึ่งเท่านั้นที่จะกระโดดร่มลงในบริเวณใกล้สะพาน กำลังส่วนใหญ่ซึ่งบรรทุกเครื่องร่อน จะลงสู่พื้นดินห่างจากสะพานไปถึง 8 ไมล์ โดยจะลำเลียงรถจี๊บให้กำลังพลใช้เดินทางไปยังจุดหมาย แต่เมื่อถึงเวลาจริง เครื่องร่อนที่ลำเลียงรถจี๊บก็ถูกยิงตก เครื่องมือสื่อสารที่เตรียมไปก็ใช้การไม่ได้
- ทางฝ่ายเยอรมัน แม้ว่าจะเป็นฝ่ายได้เปรียบ และมีนายทหารที่รู้เท่าทันแผนการของสัมพันธมิตรว่าต้องการยึดสะพาน แต่จอมพลโมเดลกลับไม่เชื่อแม้กระทั่งเอกสารแผนปฏิบัติการที่ยึดได้จากเครื่องร่อนที่ถูกยิงตก และปฏิเสธคำขอของผู้ใต้บังคับบัญชาที่จะให้ระเบิดสะพานทั้งสามแห่งทิ้ง
- ด้านธรรมชาติ ได้เกิดหมอกในอังกฤษอยู่หลายวัน ทำให้การลำเลียงพลร่มโปแลนด์ไปเสริมกำลังที่อาร์นเฮมล่าช้ากว่ากำหนด ทหารโปแลนด์ที่กระโดดร่มลงมาก็ถูกระดมยิงเสียชีวิตไปจำนวนไม่น้อย และไม่สามารถข้ามแม่น้ำไปช่วยพลร่มอังกฤษได้
- ระหว่างทาง บรรดาพลเรือนชาวฮอลแลนด์ที่กำลังดีใจต่อการมาของทหารสัมพันธมิตร ต่างกรูกันออกมาร้องเพลงเต้นรำเฉลิมฉลองกันเอิกเกริก ทำให้การเดินทัพของสัมพันธมิตรต้องล่าช้าลงไปไม่น้อย
- ฯลฯ
ไม่บอกก็คงเดาได้ ว่าผลที่สุดทหารสัมพันธมิตรก็ไม่สามารถไปช่วยทหารพลร่มอังกฤษที่อาร์นเฮมได้ทันเวลา แม้ว่าจะสามารถยึดสะพานไอฮูเวนและไมนีเกนได้ แต่ก็ล่าช้ากว่ากำหนดและสูญเสียกำลังพลและยุทธปัจจัยไปไม่น้อย ทหารพลร่มส่วนแรกที่เข้าไปยึดสะพานอาร์นเฮมฝั่งเหนือสู้รบจนหมดกระสุน ทหารส่วนหนึ่งต้องถอนกำลังออกมา ทิ้งผู้บาดเจ็บจำนวนไม่น้อยให้ตกเป็นเชลยศึก กำลังส่วนใหญ่ที่มาโดยเครื่องร่อนและไม่สามารถเข้าไปสมทบได้ก็ประสบชะตากรรมคล้ายกัน คือในที่สุด นายพลเออร์ควาดก็ได้รับคำสั่งให้ถอนกำลังโดยการข้ามแม่น้ำ ทิ้งให้ทหารที่บาดเจ็บอีกจำนวนไม่น้อยตกเป็นเชลยศึกเช่นกัน
ที่เจ็บปวดคือ กำลังทหารสัมพันธมิตรที่ตามเข้ามาเพื่อหวังช่วยการยึดสะพานอาร์นเฮมนั้น อยู่ห่างจากที่ตั้งของนายพลเออร์ควาดเพียง 1 ไมล์ หรือกิโลเมตรเศษๆ เท่านั้น แต่ไม่สามารถข้ามน้ำไปได้ สุดท้ายมีคำพูดปลอบใจเพียงว่า ยุทธการครั้งนี้ประสบความสำเร็จถึง 90 เปอร์เซนต์ ส่วนที่เหลือที่ไม่ประสบความสำเร็จนั้นก็เพราะว่า "สะพานนั้นอยู่ไกลเกิน"
คำคมชวนคิด
เรื่องนี้ส่วนใหญ่จะมีแต่คำคมทางลบ เช่น ที่ฉากที่เจ้าหน้าที่พลเรือนคนหนึ่งกำลังอธิบายจุดลงสู่พื้นของพลร่มอังกฤษต่อนายพลเออร์ควาด นายพลโซซาบาวสกี้ผู้บัญชาการพลร่มโปแลนด์ได้เดินเข้ามาดูแผนที่ใกล้ๆ และพูดแดกดันว่า "แค่อยากมาดูว่าคุณอยู่ฝ่ายไหนกันแน่" และฉากที่นายพลโนายพลอังกฤษเห็นภาพรถถังที่เครื่องบินลาดตระเวณถ่ายมาได้ แล้วบอกว่า "จะให้ภาพรถถังสามภาพนี้มาล้มปฏิบัติการขนาดใหญ่เชียวหรือ" เป็นต้น ในทัศนะผม คำคมที่น่าสนใจที่สุดคือคำพูดของนายพลโซซาบาวสกี้ตอนเกือบสุดท้าย เมื่อสัมพันธมิตรตัดสินใจยุติปฏิบัติการและให้พลร่มอังกฤษถอนกำลังออกมา นายทหารสัมพันธมิตรหลายคนต่างออกตัวว่าปฏิบัติการต้องล้มเหลวเพราะเหตุนั้นเหตุนี้ นายพลโปแลนด์ผู้นี้ได้กล่าวเป็นเชิงสรุปว่า
"มันไม่สำคัญหรอกว่าเพราะอะไร แค่ใครสักคนบอกว่าเรามาเล่นทำสงครามกันเถอะ แค่นี้พวกเราก็แย่แล้ว"
เนื่องจากบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์อัน ชอบธรรมของผู้เขียน และอาจะมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลบ้างตามความเหมาะสม ในการนำบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่นๆ จึงขอความร่วมมือให้ใช้วิธีการคัดลอกเฉพาะ Link หรือ URL Address แทนการคัดลอกบทความทั้งหมด หากมีการคัดลอกไปในลักษณะแอบอ้างเป็นผู้เขียน หรือมีเจตนาอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทางเว็บ iseehistory.com แล้ว จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย
ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ : A Bridge Too Far
ชื่อภาษาไทย : สะพานนรก
เรื่องเดิม : A Bridge Too Far by Cornelius Ryan
ผู้สร้าง : Joseph E. Levine, Richard Levine
ผู้กำกำกับ : Richard Attenborough
ผู้เขียนบท : William Goldman
ผู้แสดง : Dirk Bogarde, James Caan, Michael Caine, Sean Connery, Edward Fox, Elliott Gould, Gene Hackman, Anthony Hopkins, Hardy Krüger, Ryan O'Neal, Laurence Olivier, Robert Redford, Maximilian Schell, Liv Ullmann, etc.
ควรอ่านเพิ่มเติม
กระทู้ที่เกี่ยวข้อง
เรียนเชิญสมาชิกร่วมแสดงความคิดเห็นที่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บ (ต้องสมัครและ Login ก่อน) ผู้ชมทั่วไปหรือสมาชิกที่ต้องการโพสต์รูป เชิญร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บบอร์ด "คุยกันหลังฉาก" ในกระทู้ที่มีอยู่แล้ว หรือ สร้างกระทู้ใหม่ (คลิกที่นี่) ครับ
หากเป็นสมาชิก Facebook แสดงความเห็นได้ในฟอร์มข้างล่างนี้ครับ
ภาพยนตร์ตัวอย่าง (Trailer) จาก www.youtube.com
ทางเว็บไม่มีนโยบายนำภาพยนตร์ฉบับ เต็มมาให้ดูออนไลน์หรือให้ดาวน์โหลดเนื่องจากเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และไม่ มีพื้นที่สำหรับเก็บไฟล์ภาพยนตร์