(เผยแพร่ครั้งแรกที่ rojn.blogth.com/HistoryMovies/ Wed-8-Nov-2006)

คอลัมน์ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ เมื่อวานนี้ได้พักการพูดเรื่องภาพยนตร์โดยตรงไปพูดเรื่องแนวคิดแทน วันนี้ก็ขอกลับมาพูดเรื่องภาพยนตร์ต่อ แต่ขอสลับจากเรื่องสงครามโลกที่โปรดปราน มายังเรื่องธรรมะเย็นๆ ใจบ้าง
พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น กล่าวกันว่าเป็น อกาลิโก คือไม่เคยล้าสมัย ส่วนวิธีการถ่ายทอดพระธรรมคำสั่งสอนนั้น ว่าที่จริง พุทธบริษัท ทั้งหลายก็น่าจะได้พยายามพัฒนาวิธีการหรือสื่อที่จะถ่ายทอดกันมาตลอดเช่นกัน ไม่ว่าจะในรูปตำรับตำราแบบใหม่ เทปธรรมะ เรื่อยมาจนถึงยุคดิจิตอลเรานี้ที่มีทั้ง พระไตรปิฎกซีดีรอม เว็บไซต์ธรรมะและเสียงธรรมะ MP3 และรูปแบบอื่นๆ ตามแต่จะเลือกใช้กัน
แต่สื่อเหล่านี้จะสามารถแพร่หลายได้เพียงใด และมีเนื้อหาที่โดนใจคนยุคใหม่เพียงใด
สารคดีชุด ตามรอยพระพุทธเจ้า ซึ่งผลิตโดยบริษัท Panorama WorldWide เคยนำออกอากาศมาแล้วครั้งหนึ่งทางสถานีโทรทัศน์ช่อง ๙ อสมท. นับเป็นผลงานอีกชิ้นที่ต้องจารึกไว้ทั้งในวงการพระพุทธศาสนาและวงการสื่อ
ลำพังการใช้รูปแบบภาพยนตร์สารคดี การออกอากาศทางโทรทัศน์ หรือการนำมาบันทึกลงในรูปแบบดิจิตอลอย่าง DVD หรือ VCD อาจเป็นเพียงความทันสมัยที่ไม่ได้แปลกใหม่อะไร
แต่วิธีการดำเนินเรื่องในแนวโบราณคดีและมานุษยวิทยาที่อันเป็นการมองหาอดีตจากร่องรอยหลักฐานที่ยังหลงเหลือในปัจจุบัน เป็นวิธีการที่เป็นเหตุเป็นผลทางวิทยาศาสตร์ที่โดนใจคนรุ่นใหม่เป็นอย่างยิ่ง
ผู้สร้างได้ลงทุนเดินทางไปถ่ายทำในประเทศอินเดียและเนปาล นับเป็นสิบๆ เมือง ซึ่งต้องมีการเตรียมการล่วงหน้าถึง 6 ปี และคงต้องศึกษาค้นคว้าล่วงหน้าจากตำราต่างๆ นับเป็นสิบเป็นร้อยเล่ม
เล่าเรื่องนับตั้งแต่แรกกำเนิดพระพุทธศาสนา ยุคต่างๆ ของพุทธศาสนาในชมพูทวีป ที่มีทั้งรุ่งเรือง เปลี่ยนแปลง ตกต่ำ จนถึงขั้นที่ในสารคดีใช้คำทำนองว่าสาปสูญหรือสูญหายไป แต่ใจผมอยากจะยืมศัพท์การเมืองในหนังสือพิมพ์ช่วงหนึ่งมาใช้ว่า "เว้นวรรค" มากกว่า เพราะเป็นเพียงการหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์อินเดียในช่วงหนึ่ง แล้วก็กลับมาได้อย่างสง่างามยิ่งนัก
ในด้านกำเนิดของพระพุทธศาสนา และพุทธประวัติ นั้น เป็นเรื่องที่ผมพอจะทราบเป็นอย่างดีเช่นเดียวกับพวกเราชาวไทยพุทธหลายท่าน เรื่องความเจริญของพทธศาสนาในช่วงหลังพระปรินิพพานก็เคยได้ศึกษามาบ้าง คงมีเรื่องการเว้นวรรคของศาสนาพุทธในอินเดียและการกลับมาใหม่นี่แหละที่รู้สึกว่าจำได้กระท่อนกระแท่นจนเหมือนไม่รู้เอาเลย เมื่อได้ชมภาพยนตร์สารคดีชุดนี้จนจบนี่แหละ จึงได้กลับมาทบทวนความรู้ทั้งหมด ทั้งที่เคยทราบดีและที่ไม่ค่อยได้ทราบ ด้วยความประทับใจตามแนวการเล่าเรื่องในแนวโบราณคดี-มานุษยวิทยาดังที่กล่าว ตลอดจนวิวทิวทัศน์ที่สวยงามในอินเดียได้สร้างความตื่นตาตื่นใจไม่ใช่น้อย
พุทธศาสนาในปริบทของประวัติศาสตร์อินเดียและชมพูทวีปนั้น มีคุณค่าในฐานะที่เป็นศาสนาที่พยายามปลดปล่อยประชาชนให้พ้นจากสังคมที่ผูกขาดจิตวิญญาณคนไว้กับการบูชาเทพเจ้าและระบบชนชั้นวรรณะ ครั้นต่อมาเมื่อเกิดการแบ่งแยกเป็นนิกายใหม่ๆ ซึ่งบางทีก็เป็นปรัชญาที่ประชาชนเข้าไม่ถึง บางทีก็ไปเอาหลักการของพราหมณ์มาสอดแทรกจนแทบไม่เห็นหลักการเดิม ขณะที่ทางศาสนาพราหมณ์ได้มีการปรับตัวอย่างขนานใหญ่ให้เข้าถึงประชาชนมากขึ้น มีการแอบอ้างเอาพระพุทธเจ้าไปเป็นปางหนึ่งของพระนายรายณ์ ตลอดจนถึงการรุกรานของชนชาวเตอร์กและมองโกล ทำให้ศาสนาพุทธต้องเว้นวรรคไปเป็นเวลานับร้อยปี แต่แล้วหลังสงครามโลกครั้งที่สองและอินเดียได้รับเอกราช ศาสนาพุทธได้กลับมาทำหน้าที่เดิมในสังคมอินเดียอีกครั้ง คือการปลดปล่อยคนจากระบบวรรณะนั่นเอง
ส่วนในสังคมไทยปัจจุบันนั้น โจทย์มันต่างกันออกไป คือไม่ได้มีระบบชนชั้นวรรณะอย่างชัดเจน แต่ก็คล้ายกันในแง่ที่ความเจริญทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมได้ผูกขาดความร่ำรวยให้กับคนส่วนน้อย ขณะที่คนส่วนใหญ่ยังชักหน้าไม่ถึงหลัง วัดต่างๆ เองก็ถูกทุนนิยมครอบงำไปไม่น้อย แล้วเราจะนำพุทธธรรมดั้งเดิมมาตอบโจทย์นี้อย่างไร คงเป็นหน้าที่ที่เราต้องขบคิดพิจารณากันเอาเอง
ประเด็นที่คงต้องตั้งข้อสังเกตไว้บ้าง คือในยุคโบราณนั้น เรายังไม่มีสิ่งที่เรียกกันว่าประเทศตามแนวคิดปัจจุบัน การบอกว่าพุทธศาสนาเคยสูญไปจากอินเดีย แต่ยังมีคนบางส่วนนับถือพุทธอยู่ที่ลาดั๊ก แคว้นแคชเมียร์ กับที่จิตตะกอง ในเขตบังคลาเทศปัจจุบันนั้น พอคิดลึกๆ แล้วพาให้งงได้เหมือนกัน ว่าคุณหมายถึงประเทศอินเดียตามแผนที่ปัจจุบัน หรืออินเดียโบราณที่อาณาเขตครอบคลุมเพียงไหน อย่างไร ตกลงเราควรใช้คำว่า "ประเทศอินเดีย" หรือ "อินเดีย" เฉยๆ หรือ "ชมพูทวีป" แต่ละคำควรใช้ในกรณีไหน อย่างไร หรือที่ว่าสูญหายนั้น หายหมดเกลี้ยง หรือเพียงแต่ห่างไปจากศูนย์กลางอำนาจและประชาชนส่วนใหญ่
แต่โดยภาพรวมแล้ว ต้องถือว่าภาพยนตร์สารคดีชุดนี้ทรงคุณค่าเป็นอย่างยิ่งครับ พุทธบริษัททั้งหลาย และสุจริตชนทุกศาสนา ไม่ควรพลาดครับ
เนื่องจากบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์อัน ชอบธรรมของผู้เขียน และอาจะมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลบ้างตามความเหมาะสม ในการนำบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่นๆ จึงขอความร่วมมือให้ใช้วิธีการคัดลอกเฉพาะ Link หรือ URL Address แทนการคัดลอกบทความทั้งหมด หากมีการคัดลอกไปในลักษณะแอบอ้างเป็นผู้เขียน หรือมีเจตนาอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทางเว็บ iseehistory.com แล้ว จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย
ผู้ผลิต บริษัท พาโนรามา เวิรลด์ไวด์ http://www.panoramaworldwide.com/
ควรอ่านเพิ่มเติม
กระทู้ที่เกี่ยวข้อง
เรียนเชิญสมาชิกร่วมแสดงความคิดเห็นที่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บ (ต้องสมัครและ Login ก่อน) ผู้ชมทั่วไปหรือสมาชิกที่ต้องการโพสต์รูป เชิญร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บบอร์ด "คุยกันหลังฉาก" ในกระทู้ที่มีอยู่แล้ว หรือ สร้างกระทู้ใหม่ (คลิกที่นี่) ครับ
หากเป็นสมาชิก Facebook แสดงความเห็นได้ในฟอร์มข้างล่างนี้ครับ
ทางเว็บไม่มีนโยบายนำภาพยนตร์ฉบับ เต็มมาให้ดูออนไลน์หรือให้ดาวน์โหลดเนื่องจากเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และไม่ มีพื้นที่สำหรับเก็บไฟล์ภาพยนตร์