(เผยแพร่ครั้งแรกที่ rojn.blogth.com/HistoryMovies/ Tue-21-Nov-2006)
คำกล่าวที่ว่า "ชนะเป็นเจ้า แพ้เป็นโจร" นี้ จำไม่ได้เสียแล้วว่าเป็นคำกล่าวโบราณหรือมาจากหนังกำลังภายในเรื่องไหน ในด้านหนึ่งก็คล้ายกับว่าถ้าเป็นฝ่ายชนะแล้ว ไม่ว่าชนะสงครามหรือชนะการยึดอำนาจใดๆ ก็ตาม จะอ้างความชอบธรรมใดๆ ก็ได้ตามใจชอบ
แต่การอ้างความชอบธรรมหลังจากได้ชัยชนะนั้น อาจไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป ตัวอย่างหนึ่งอาจดูได้จากเหตุการณ์บ้านเมืองเราในขณะนี้นี่เอง แต่ในที่นี้ผมกำลังกล่าวถึงภาพยนตร์ที่สร้างจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ภายหลังจากที่ ฝ่ายสัมพันธมิตร ใน สงครามโลกครั้งที่สอง มีชัยเหนือกองทัพนาซีแล้ว
รวบรวมผู้ถูกกล่าวหาเข้าสู่การพิจารณา
ภาพยนตร์เรื่อง Nuremberg ซึ่งเดิมเป็นมินิซีรี่ส์ทางโทรทัศน์ความยาวสี่ชั่วโมง เริ่มต้นกล่าวถึงฝ่ายสัมพันธมิตรที่ยึดครองประเทศเยอรมัน เริ่มการรวบรวมและคัดเลือกบรรดาบิ๊กๆ ของพรรคนาซี พร้อมๆ กับการจัดตั้งศาลพิเศษประกอบด้วยผู้พิพากษาและอัยการจากชาติสัมพันธมิตรทั้ง 4 คือ อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส และ รัสเซีย ขึ้นมาเพื่อพิจารณาความผิดของบรรดาบิ๊กๆ นาซีเหล่านั้น ด้วยเหตุผลทำนองว่า "ถ้าเราจับเขายิงเป้าเลย เราก็คงไม่ต่างอะไรจากพวกเขา"
กระบวนการในการจัดตั้งศาลพิเศษนี้ ดูเหมือนราบรื่น แต่กว่าจะลงตัวได้ ต้องขบคิดแก้ปัญหาหยุมหยิมต่างๆ ไม่ใช่น้อย อาทิ
3 ใน 4 ผู้พิพากษา บังเอิญหารูปเรียงกันทั้ง 4 ท่านสวยๆ ไม่ได้จริงๆ
- การเมืองระหว่างชาติสัมพันธมิตรทั้งสี่ ทำให้ต้องมีผู้พิพากษาถึงสี่คน เวลาตัดสินก็ต้องใช้การโหวต
- ปัญหาว่าจะเลือกบิ๊กนาซีรายใดเข้ามาเป็นจำเลย เนื่องจากพรรคนาซีนั้น ไม่ได้มีแต่ ฮิตเลอร์ ที่ชิงฆ่าตัวตายไปตั้งแต่ตอนเบอร์ลินใกล้จะแตก แต่ตะแกช่างมีพลพรรคเครือข่ายมากมาย มีรายละเอียดในการร่วมกันกระทำผิดหลากหลายด้าน ผลการพิจารณาได้คัดเลือกจำเลยไว้ทั้งหมด 22 คน (แต่ได้ชิงฆ่าตัวตายในที่ขุมขังไปเสียก่อน 1 คน ก่อนที่จะได้เริ่มพิจารณาคดี) โดยพยายามคัดเลือกคนที่เป็นตัวแทนของการกระทำผิดในด้านต่างๆ คำถามที่ไม่มีคำตอบชัดคือทำไมจึงเป็น 22 คนนี้ ทำไมไม่มากหรือน้อยกว่านี้ หรือทำไมไม่ใช่คนอื่น ฉากหนึ่งในห้องเอกสาร เจ้าหน้าที่คนหนึ่งกล่าวว่าเอกสารเหล่านี้มีมากพอที่จะเอาผิดคนเยอรมันได้ถึงครึ่งประเทศ อีกฉากหนึ่งระหว่างการพิจารณาคดี ได้มีการนำผู้บัญชาการค่ายกักกันออสวิตช์ (Auschwitz) มาเป็นพยานความผิดของจำเลยรายหนึ่ง ทั้งที่หมอนี่น่าจะตกเป็นจำเลยกะเขาด้วยซ้ำ ฯลฯ
บรรดาผู้ถูกกล่าวหาเป็นอาชญากรสงครามในคอกจำเลย
- ปัญหาที่ว่าจะใช้กฎหมายใดมาเป็นเครื่องตัดสินความผิดของจำเลยเหล่านี้ จำได้ว่าในภาพยนตร์กล่าวถึงเพียงว่าจะใช้บรรดาสนธิสัญญาระหว่างประเทศและกฎหมายที่มีอยู่ก่อนเกิดสงคราม ตรงนี้ขอนอกเรื่องมายังประวัติศาสตร์ของไทยเราว่า หลังสงครามได้มีความพยายามที่จะตั้งศาลอาชญากรสงครามในลักษณะนี้เช่นกัน แต่ดูเหมือนจะไม่ได้มีการอ้างอิงถึงกฎหมายที่มีอยู่ก่อน ในที่สุดศาลไทยได้มีความเห็นว่า ตามหลักกฎหมายอาญาของไทยนั้น กฎหมายอาชกรสงครามที่พึ่งบัญญัติขึ้นนั้น ไม่สามารถนำมาใช้ลงโทษผู้กระทำผิดย้อนหลังได้ ทำให้ผู้นำยุคสงครามอย่าง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไม่ต้องประสบชะตากรรมดังเช่นผู้นำนาซีหรือผู้นำรัฐบาลญี่ปุ่น
- ด้านสถานที่ ได้ตกลงใช้เมือง Nuremberg อันเป็นเมืองที่ฮิตเลอร์เริ่มการก่อตั้งพรรคนาซี และได้เลือกอาคารศาลแห่งหนึ่งที่ใหญโตกว้างขวางพอ และสภาพตึกไม่เสียหายมากนัก มาใช้เป็นสถานที่พิจารณาคดี
สภาพตึกภายนอกและภายในก่อนและหลังการซ่อมแซมให้เป็นสถานที่พิจารณาคดี
เมื่อเริ่มพิจารณาคดี บรรดาจำเลยทั้งหลายก็ไม่ใช่ลูกไก่ในกำมือที่จะยอมจำนนต่อการกล่าวหาโดยง่าย ต่างคนต่างอ้างแต่ว่าตนเองต้องทำตามคำสั่ง มีหัวโจกคนสำคัญคือ แฮร์มาน เกอริง (Hermann Göring) ผู้มียศเป็นจอมพลแห่งไรช์ หรือไรช์มาแชล (Reichsmarschall) ซึ่งเป็นเสมือน มือขวาฮิตเลอร์ เกอริงเป็นทั้งทหารที่หยิ่งในศักดิ์ศรี และนักการเมืองเขี้ยวลากดิน ที่ปฏิเสธมาตลอดว่าสัมพันธมิตรไม่มีความชอบธรรมในการพิจารณาคดีเขาและพรรคพวก และดูเหมือนเขาพยายามใช้การพิจารณาคดีเป็นการประกาศความชอบธรรมของตัวเองเสียอีก ทำเอานายแจ๊คสันพระเอกของเรื่องซึ่งเป็นอัยการใหญ่จากสหรัฐฯ หัวปั่นจนเกือบจะลาออกจากตำแหน่งอัยการใหญ่ในศาลนี้เลย
เกอริง อดีตมือขวาฮิตเลอร์ เผชิญหน้าอัยการแจ๊คสัน
ตัวละครอีกตัวหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องคือนายทหารนักจิตวิทยาชาวอังกฤษเชื้อสายยิว ซึ่งปรากฏตัวด้วยหน้าที่ในการให้คำแนะนำต่อนายทหารที่ทำควบคุมตัวจำเลยเพื่อไม่ให้เกิดการฆ่าตัวตายก่อนกระบวนการยุติธรรมจะสิ้นสุดลง แต่หน้าที่โดยอ้อมของเขาคือการพูดคุยกับบรราดจำเลยเพื่อหาความจริงว่าอะไรคือแรงจูงใจเบื้องหลังในการกระทำทารุณกรรมต่างๆ ตลอดจน "ล็อบบี้" ทางอ้อมให้จำเลยยอมรับความผิด
ถึงตรงนี้ขอย้อนกลับมากล่าวถึงตัวละครอีกตัวหนึ่งในกลุ่มจำเลย คือ อัลเบิร์ต เสปียร์ (Albert Speer) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสรรพาวุธ (Ministry of Armaments) และสถาปนิกคนโปรดของฮิตเลอร์ สเปียร์นั้นเป็นผู้ที่ละอายต่อการเป็นนาซี ในเรื่องกล่าวว่าตอนปลายสงคราม เขาเป็นผู้ที่คัดค้านฮิตเลอร์ในหลายเรื่อง ได้แก่ การขัดคำสั่งที่จะให้ทำลายบ้านเมืองและทรัพยากรต่างๆ ของเยอรมันเพื่อให้สัมพันธมิตรยึดได้แต่ที่ดินเปล่าๆ และกระทำการถึงขนาดวางแผนสังหารฮิตเลอร์ด้วย ในระหว่างการพิจารณาคดีเขาจึงเป็นผู้ที่ดำเนินบทบาทตรงข้ามกับเกอริงด้วยการประสานงานกับร้อยเอกนักจิตวิทยาชาวอังกฤษในการเกลี้ยกล่อมให้จำเลยบางคนสารภาพผิดด้วยเช่นกัน
เตรียมนำจำเลยออกจากที่คุมขังไปสู่ห้องพิจารณาคดี
(สเปียร์ ได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อ Inside the third Reich บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของเขาในการไปเข้าร่วมกับ ฮิตเลอร์ จนกระทั่งจบสงคราม และเคยสร้างเป็นภาพยนตร์มินิซีรีส์ทางโทรทัศน์มาฉายในเมืองไทยเมื่อหลายปีก่อน)
การขับเคี่ยวกันระหว่างฝ่ายอัยการ นายทหารนักจิตวิทยาและอัลเบิร์ต เสปียร์ กับฝ่ายของจอมพลเกอริง นับเป็นหัวใจสำคัญของเรื่อง และกรณีศึกษาที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
วันตัดสินคดี
เมื่อถึงวันตัดสิน (1 ตุลาคม 1946 หรือ พ.ศ. 2489) ทางผู้พิพากษาพึ่งจะได้ระบุว่าการพิจารณาคดีครั้งนี้มีทั้งหมดสี่กระทงด้วยกัน ในเรื่องจริงเขาอาจแจ้งตั้งแต่วันแรก แต่ในหนังเขาพึ่งแจ้งตอนจะตัดสินจริงๆ ครับ ข้อกล่าวหาทั้ง 4 คือ
- สมคบคิดเพื่อก่อความรุนแรง (Participation in a common plan or conspiracy for the accomplishment of crime against peace)
- การก่อให้เกิดความรุนแรง (Planning, initiating and waging wars of aggression and other crime against peace)
- อาชญากรรมในการทำสงคราม (War crimes)
- อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Crimes against humanity)
ภาษาอังกฤษในวงเล็บผมนำจากวิกิพีเดียมาเปรียบเทียบกับภาษาไทยในภาพยนตร์ ครับ ผลสุดท้ายจอมพลเกอริงกับจำเลยส่วนหนึ่งถูกตัดสินประหารชีวิต (แต่เกอริงได้ชิงกินยาพิษฆ่าตัวตายเสียก่อน) อัลเบิร์ต เสปียร์ ถูกตัดสินจำคุก 20 ปี นอกนั้น ถูกจำคุกบ้าง รอดพ้นข้อหาบ้าง รายละเอียดว่าใครเป็นใคร ได้รับโทษสถานไหน สามารถดูได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Nuremberg_Trial ครับ
ตะแลงแกงที่ใช้ประหารด้วยการแขวนคอ
ภาพยนตร์เรื่องนี้ แน่นอนว่าอิงกับมุมมองของทางฝ่ายอเมริกันเป็นอย่างมาก แม้กระนั้นก็มีหลายตอนที่ตอกอเมริกันเองอยู่บ้าง เช่น ที่นายพลรัสเซียกล่าวว่า คนรัสเซียตายไปร่วม 20 ล้าน แต่สหรัฐไม่มีเมืองไหนโดนถล่มเลย และฉากที่เกอริงวิจารณ์ว่าอเมริกันเองก็ร้งเกียจญี่ปุ่นแบบเดียวกับที่เยอรมันรังเกียจยิว
และในส่วนที่พระเอกอัยการคนเก่งของเราซึ่งมีภรรยาอยู่แล้ว แต่ไม่ได้นำมาเยอรมันด้วย ลงท้ายไปกุ๊กกิ๊กกับนางเอกซึ่งเป็นเลขาสาว บอกว่ากลับบ้านแล้วจะต้องตกลงเรื่องส่วนตัวกันนั้น ค่อนข้างขัดความรู้สึกอยู่ แต่ไม่ทราบว่าตัวจริงในประวัติศาสตร์เป็นคนอย่างนั้นหรือเปล่า
โดยสรุปแล้ว ผู้สนใจประวัติศาสตร์และการเมืองระหว่างประเทศ ไม่ควรพลาดครับ
เนื่องจากบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์อัน ชอบธรรมของผู้เขียน และอาจะมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลบ้างตามความเหมาะสม ในการนำบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่นๆ จึงขอความร่วมมือให้ใช้วิธีการคัดลอกเฉพาะ Link หรือ URL Address แทนการคัดลอกบทความทั้งหมด หากมีการคัดลอกไปในลักษณะแอบอ้างเป็นผู้เขียน หรือมีเจตนาอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทางเว็บ iseehistory.com แล้ว จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย
ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ : Nuremberg
ชื่อภาษาไทย : ผ่าโลกแฉคดีสงครามโหด
เรื่องเดิม : หนังสือของ Joseph E. Persico
ผู้กำกำกับ : Yves Simoneau
ผู้เขียนบท : David W. Rintels
ผู้แสดง :
- Alec Baldwin ... Justice Robert H. Jackson
- Brian Cox ... Reichsmarschall Hermann Göring
- Christopher Plummer ... Sir David Maxwell-Fyfe
- Jill Hennessy ... Elsie Douglas
- Christopher Heyerdahl ... Ernst Kaltenbrunner
- Roger Dunn ... Col. Robert Storey
- David McIlwraith ... Col. John Harlan Amen
- Christopher Shyer ... Gen. Telford Taylor
- Hrothgar Mathews ... Thomas J. Dodd
- Herbert Knaup ... Albert Speer
- Frank Moore ... Hans Frank
- Frank Fontaine ... Generalfeldmarschall Wilhelm Keitel
- Raymond Cloutier ... Großadmiral Karl Dönitz
- Bill Corday ... Generaloberst Alfred Jodl
- Ken Kramer ... Fritz Sauckel
ควรอ่านเพิ่มเติม
กระทู้ที่เกี่ยวข้อง
เรียนเชิญสมาชิกร่วมแสดงความคิดเห็นที่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บ (ต้องสมัครและ Login ก่อน) ผู้ชมทั่วไปหรือสมาชิกที่ต้องการโพสต์รูป เชิญร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บบอร์ด "คุยกันหลังฉาก" ในกระทู้ที่มีอยู่แล้ว หรือ สร้างกระทู้ใหม่ (คลิกที่นี่) ครับ
หากเป็นสมาชิก Facebook แสดงความเห็นได้ในฟอร์มข้างล่างนี้ครับ
ภาพยนตร์ตัวอย่าง (Trailer) จาก YouTube
ทางเว็บไม่มีนโยบายนำภาพยนตร์ฉบับ เต็มมาให้ดูออนไลน์หรือให้ดาวน์โหลดเนื่องจากเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และไม่ มีพื้นที่สำหรับเก็บไฟล์ภาพยนตร์