
ณ เวลานี้ (3 กุมภาพันธ์ 2550) เป็นช่วงที่ภาพยนตร์เรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กำลังเริ่มฉายภาคที่สองแล้ว แต่ตัวผมเองยังไม่มีโอกาสได้ชมสักภาค ไม่ว่าจะด้วยเรื่องงานหรือปัญหาแพ้อากาศที่ปรวนแปรในช่วงนี้ กว่าภาคสุดท้ายจะได้ฉายในโรง กว่าจะทำเป็น VCD/DVD ให้ได้ผมได้นั่งดูอยู่กับบ้านตามถนัดคงจะอีกนาน จึงขอนำภาพยนตร์โปรโมทหนังเรื่องนี้มาพูดคุยกันก่อนครับ
ภาพยนตร์เรื่อง เบื้องหลังตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับเบื้องหลังการสร้างภาพยนตร์ชุด ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยแบ่งออกเป็น 4 บท คือ
บทที่ 1 การเก็บข้อมูลเพื่อการสร้างฉากสุดอลังการ

กล่าวถึงการค้นคว้าของท่านมุ้ย (ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล) และอาจารย์ สุเนตร ชุตินธรานนท์ ทั้งทางด้านเอกสารและการเดินทางไปดูสถานที่จริงทั้งในประเทศไทย ได้แก่ อยุธยา พิษณุโลก สุโขทัย กาญจนบุรี และในประเทศสหภาพเมียนม่าหรือพม่า เพื่อดูเมือง พุกาม อังวะ แปร หงสาวดี และตามหาเมืองแครงที่ไม่มีในแผนที่ปัจจุบัน จากนั้นจึงได้ลงมือสร้างฉากกึ่งถาวรขึ้นในพื้นที่เมืองกาญจนบุรี ในเขตของกองพลที่ 9 ค่ายสุรสีห์ ทั้งฉากเมืองหงสาวดี และฉากเมืองอยุธยา


บทที่ 2 นักรบและม้าศึก

กล่าวถึง พันตรี วันชนะ สวัสดี ผู้รับบทเป็น สมเด็จพระนเรศวรฯ พร้อมบทสัมภาษณ์ (น่าเสียดายที่ไม่ได้กล่าวถึงการคัดเลือกดารามารับบทอื่นๆ ด้วย) และการนำม้าจากประเทศออสเตรเลียที่เคยเข้าฉากหนัง The Lord of the Rings มาฝึกและร่วมแสดงในฉากรบต่างๆ

บทที่ 3 องค์ประกอบศิลป์ในงานสร้าง

กล่าวถึงการสร้างรายละเอียดของฉากภายในต่างๆ การสร้างอุปกรณ์ประกอบฉาก ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลง จากเดิมที่เคยใช้เกราะที่เป็นโลหะจริง และใช้เรซิ่นในการผลิตอุปกรณ์ต่างๆ ในภาพยนตร์เรื่อง สุริโยไท มาเป็นการใช้ โพลิเมอร์ ซึ่งคล้ายยาง ผลิตได้ง่ายและรวดเร็วกว่า รายละเอียดเรื่องเครื่องแต่งกาย การแต่งหน้าและทำผม ซึ่งมีรายละเอียดมาก เนื่องจากในภาพยนตร์เรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กล่าวถึงชนชาติต่างๆ หลายชนชาติ ทั้ง ไทย พม่า มอญ ไทยใหญ่ โปรตุเกส ญี่ปุ่น ฯลฯ น่าเสียดายที่ไม่ค่อยได้กล่าวถึงเหตุผลรายละเอียดที่ที่หลายคนสงสัยกันนักว่าทำไมนักรบในยุคนั้นต้องใส่ชุดเกราะด้วย ประเด็นนี้ ผมเคยตอบผู้สงสัยรายหนึ่งที่ rojn.blogth.com แบบไม่เต็มปากว่า คงต้องเชื่อการค้นคว้าของท่านมุ้ยไปก่อน และยุคนั้นมีการคบหากับชาติที่ใส่ชุดเกราะอยู่ เมื่อมีการสั่งซื้อปืนไฟจากชาติเหล่านั้นมาใช้ ก็อาจมีการสั่งทำชุดเกราะมาด้วยเช่นกัน เท็จจริงอย่างไร คงต้องหาโอกาสค้นคว้ามานำเสนอต่อไปครับ


บทที่ 4 การกำกับหัวใจของภาพยนตร์

กล่าวถึงรายละเอียดในการถ่ายทำ ได้แก่ การกำกับภาพ การจัดแสง การบันทึกเสียง การจัดทำเพลงประกอบ การตัดต่อและการตกแต่งภาพยนตร์ด้วย คอมพิวเตอร์กราฟิก

Mr. Richard Harvey ขณะบันทึกเสียงเพลงประกอบภาพยนตร์ที่ประเทศสโลวาเกีย

โดยสรุป น่าเสียดายที่ยังขาดรายละเอียดที่อยากรู้อีกมาก แต่อย่างน้อยสารคดีชุดนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของคนไทยในการสร้าง ภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ ที่คงจะสร้างความรักและความภูมิใจในชาติได้ไม่น้อยไปกว่าตัวภาพยนตร์จริง
เนื่องจากบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์อัน ชอบธรรมของผู้เขียน และอาจะมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลบ้างตามความเหมาะสม ในการนำบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่นๆ จึงขอความร่วมมือให้ใช้วิธีการคัดลอกเฉพาะ Link หรือ URL Address แทนการคัดลอกบทความทั้งหมด หากมีการคัดลอกไปในลักษณะแอบอ้างเป็นผู้เขียน หรือมีเจตนาอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทางเว็บ iseehistory.com แล้ว จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย
กระทู้ที่เกี่ยวข้อง
เรียนเชิญสมาชิกร่วมแสดงความคิดเห็นที่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บ (ต้องสมัครและ Login ก่อน) ผู้ชมทั่วไปหรือสมาชิกที่ต้องการโพสต์รูป เชิญร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บบอร์ด "คุยกันหลังฉาก" ในกระทู้ที่มีอยู่แล้ว หรือ สร้างกระทู้ใหม่ (คลิกที่นี่) ครับ
หากเป็นสมาชิก Facebook แสดงความเห็นได้ในฟอร์มข้างล่างนี้ครับ
ทางเว็บไม่มีนโยบายนำภาพยนตร์ฉบับ เต็มมาให้ดูออนไลน์หรือให้ดาวน์โหลดเนื่องจากเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และไม่ มีพื้นที่สำหรับเก็บไฟล์ภาพยนตร์