
การสร้าง ภาพยนตร์สงคราม ใน ประวัติศาสตร์ ปัญหาที่มักพบในด้านของการดำเนินเรื่องคือ หากดำเนินเรื่องเล่าไปตามประวัติศาสตร์เป๊ะๆ อาจไม่ได้ภาพยนตร์ที่ดูสนุก เนื่องจากไม่มีโครงเรื่องที่พลิกไปพลิกมาให้ลุ้น และโดยมากมักจะสร้างโดยประเทศใดประเทศหนึ่งที่เคยร่วมรบ ซึ่งก็จะได้มุมมองทางประวัติศาสตร์เพียงด้านเดียว ตัวอย่างภาพยนตร์ที่มีปัญหาทั้งสองด้านนี้ ได้แก่ภาพยนตร์สงครามเรื่อง ยุทธภูมิโหด โอกินาว่า (Battle of Okinawa) ที่สร้างโดยบริษัท Toho แห่งญี่ปุ่น ในปี 1971 (พ.ศ.2514)

แผนที่เกาะ Okinawa ภาพจาก http://de.wikipedia.org/wiki/Schlacht_um_Okinawa
ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการรบใน สงครามโลกครั้งที่สอง ด้านเอเชียแปซิฟิก ในตอนปลายสงคราม ที่ เกาะโอกินาวา อันเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดใน หมู่เกาะริวกิว ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญก่อนที่กองทัพสัมพันธมิตรจะขึ้นสู่เกาะใหญ่ของญี่ปุ่น

ทหารญี่ปุ่นที่แตกพ่ายจากดินแดนอื่นมาร่วมสมทบที่เกาะ Okinawa
เรื่องราวเริ่มขึ้นเมื่อกองทหารญี่ปุ่นที่ถอนกำลังมาจากเกาะต่างๆ ในฟิลิปปินส์ที่เคยยึดได้ มาร่วมสมทบกันที่ เกาะโอกินาวา ต่อมาในราวเดือนกรกฎาคม 1944 (พ.ศ.2487) ทางการญี่ปุ่นได้ส่ง นายพลวาตานาเบ้ มาปลุกระดมประชาชนชาวเกาะโอกินาวาให้ร่วมใจกันต่อสู้ จากนั้นได้ส่งนายพล Mitsuru Ushijima (ในหนังซึ่งพากย์ไทยเรียกว่า มิสึชิม่า) มาเป็นผู้บัญชาการ กำลังสำคัญคือกองทัพที่ 32 กำลังพลประมาณแสนกว่านาย ในการเตรียมตั้งรับยังได้มีการเกณฑ์นักเรียนมัธยมชายมาเป็นทหารเพิ่มเติม และนักเรียนหญิงมาทำหน้าที่พยาบาลและทำอาหารด้วย

ทหารญี่ปุ่นต่อสู้รถถังด้วยการวิ่งฝ่ากระสุนนำระเบิดไปวางไว้ใต้ท้องรถ
ในภาพยนตร์ได้กล่าวถึงการโจมตีทางเรือและทางอากาศตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 1945 (พ.ศ.2488) แต่การรบบนเกาะได้เริ่มอย่างแท้จริงตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน เป็นต้นไป เมื่อสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตรได้ยกพลขึ้นบกทางเหนือของเกาะ ทำให้ญี่ปุ่นค่อยๆ ถอยร่นไปสู่ทางตอนใต้ของเกาะ ซึ่งเต็มไปด้วยภูเขา และอาศัยถ้ำต่างๆ เป็นที่ซ่อนตัวต่อสู้กับข้าศึก เรื่องราวตอนนี้ก็ยังมีแต่การเล่าเรื่องฝ่ายญี่ปุ่นที่ค่อยๆ สูญเสียถูกฆ่าไปเรื่อยๆ ทั้งทหารและพลเรือน รวมถึงการที่พลเรือนบางกลุ่มฆ่าตัวตายหมู่เพื่อไม่ให้เป็นภาระของทหาร มีเหตุที่เหมือนจะพลิกล็อคนิดหน่อย มีเพียงการใช้เรือลำเลียงพลไปลอบโจมตีข้าศึกบ้าง กับตอนที่มีเครื่องบินลำเลียงอาสาสมัครจากเกาะใหญ่มาช่วยโอกินาวาจำนวน 6 ลำ มีหนึ่งลำรอดพ้นการสกัดกั้นของสัมพันธมิตร และทหารรอดมาได้สามารถทำการรบได้ถึง 25 สร้างความเสียหายให้กับข้าศึกได้มาก แต่ในที่สุดก็ถูกฆ่าตายหมด สัมพันธมิตรยังคงรุกต่อไปเรื่อยๆ จนได้ชัยชนะ ตามประวัติศาสตร์ระบุว่าเป็นวันที่ 21 มิถุนายน 1945 (พ.ศ.2488)

กองทัพรถถังสหรัฐฯ กำลังบุกเข้าหาฝ่ายญี่ปุ่น
นับเป็น ภาพยนตร์สงคราม ที่เรียกว่าดูแล้วน่าอึดอัด (จะบอกว่าน่าเบื่อก็เกินไป) เพราะเดินเรื่องตามเหตุการณ์ไปเรื่อยๆ โดยไม่สามารถที่จะหาวิธีเล่าให้เร้าใจได้ บทบรรยายค่อนข้างจะขาดๆ เกินๆ บทสนทนาของทหารไม่ว่าในตอนวางแผนหรือในสนามรบบ่อยครั้งที่มีแต่การเถียงกันดุกับแบบไม่เป็นเรื่อง
และปัญหาที่สำคัญคือการมองจากมุมมองของญี่ปุ่นฝ่ายเดียว และมองแต่การรบบนภาคพื้นดินเป็นส่วนใหญ่ด้วย
รายละเอียดที่ถูกทอนลงไปมากคือเรื่องการรบทางอากาศและการรบทางเรือ ในการรบที่ เกาะโอกินาวา นี้ เป็นสมรภูมิที่ญี่ปุ่นใช้ ฝูงบินคามิคาเซ่ (Kamikaze) สร้างความเสียหายให้กับกองทัพเรืออเมริกันเป็นอย่างมาก ในเรื่องก็แทบไม่ได้กล่าวถึง ด้านการรบทางเรือ ยุทธการครั้งนี้เป็นเหตุให้เรือรบที่ใหญ่ที่สุดในโลกของญี่ปุ่น คือ ยามาโต (Yamato) จมลงด้วย ในภาพยนตร์แม้จะกล่าวถึงกองเรือที่ถูกฝูงบินสหรัฐฯ จมลง แต่ผมแน่ใจว่าตลอดทั้งเรื่อง ไม่ได้ยินชื่อเรือยามาโตแม้แต่ครั้งเดียว

กองเรือรบที่ไปช่วยเกาะ Okinawa แต่ถูกสัมพันธมิตรจมลงทั้งหมด
การรบทางบกนั้น แม้ทางสัมพันธมิตรจะมีกำลังมากกว่าหลายเท่า แต่ด้วยความดื้อดึงของทหารญี่ปุ่นที่รบจนตัวตาย นั้นก็สร้างความลำบากในการรบไม่ใช่น้อย ยิ่งในระยะหลังที่รบกันทางตอนใต้ของเกาะนั้น ญี่ปุ่นสามารถใช้ถ้ำต่างๆ ในการซุ่มโจมตีทหารข้าศึกได้เป็นอย่างดี และในประวัติศาสตร์ยังจารึกไว้ด้วยว่า นายพลโท Simon Bolivar Buckner, Jr. ผู้บัญชาการกองทัพที่ 10 ของสหรัฐได้เสียชีวิตจากกระสุนปืนใหญ่ของญี่ปุ่นขณะตรวจแนวหน้า ในเวลาไม่กี่วันก่อนที่ยุทธการครั้งนี้จะสิ้นสุดลง

ทหารและพลเรือนใช้ถ้ำทางตอนใต้ของเกาะเป็นที่หลบซ่อน
แต่ภาพที่ออกมาในหนังมันเหมือนกับว่าญี่ปุ่นถูกมหาอำนาจรังแกอยู่ฝ่ายเดียวตลอด ซึ่งไม่ค่อยยุติธรรมกับฝ่ายตรงข้ามสักเท่าไหร่ นี่ยังไม่รวมถึงว่าในตอนต้นของสงครามญี่ปุ่นทำกับชาติอื่นไว้อย่างไรบ้าง
เชื่อกันว่า ความสูญเสียอย่างหนักของสัมพันธมิตรใน การรบที่โอกินาวา นี้ เป็นเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ ประธานาธิบดีทรูแมน (Harry S.Truman) ต้องตัดสินใจใช้ระเบิดปรมาณูกับญี่ปุ่น แทนการส่งนายพลแมคอาเธอร์ขึ้นไปรบบนแผ่นดินญี่ปุ่นตามแผน Operation Downfall
ภาพยนตร์เรื่องนี้จะดูเพื่อความสนุกก็ไม่ได้ จะดูเอาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ก็ไม่ค่อยจะสมบูรณ์ แต่กับคนที่สนใจประวัติศาสตร์ด้านนี้จริงๆ แล้ว จะไม่ดูเลยก็ไม่ได้ ก็คงต้องดูเพื่อไปต่อจิ๊กซอว์ความรู้กับเรื่องอื่นๆ ก็แล้วกันครับ
เนื่องจากบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์อัน ชอบธรรมของผู้เขียน และอาจะมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลบ้างตามความเหมาะสม ในการนำบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่นๆ จึงขอความร่วมมือให้ใช้วิธีการคัดลอกเฉพาะ Link หรือ URL Address แทนการคัดลอกบทความทั้งหมด หากมีการคัดลอกไปในลักษณะแอบอ้างเป็นผู้เขียน หรือมีเจตนาอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทางเว็บ iseehistory.com แล้ว จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย
ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ : Battle of Okinawa
ชื่อภาษาไทย : ยุทธภูมิโหด โอกินาว่า
ผู้สร้าง : บริษัท Toho
ผู้กำกำกับ : Kihachi Okamoto
ผู้เขียนบท : Ryozo Kasahara, Kaneto Shindo
ผู้แสดง :
- Keiju Kobayashi as Ushijima, General
- Tetsuro Tamba as Long, Chief of Staff
- Katsuhiko Sasaki as Miyake, Communication Staff
- Ryo Ikebe as Ota, Rear Admiral
- Ichiro Nakaya as Ueno, Chief of Staff
- Ren Yamamoto as Omori, Sergeantetc.
ควรอ่านเพิ่มเติม
กระทู้ที่เกี่ยวข้อง
เรียนเชิญสมาชิกร่วมแสดงความคิดเห็นที่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บ (ต้องสมัครและ Login ก่อน) ผู้ชมทั่วไปหรือสมาชิกที่ต้องการโพสต์รูป เชิญร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บบอร์ด "คุยกันหลังฉาก" ในกระทู้ที่มีอยู่แล้ว หรือ สร้างกระทู้ใหม่ (คลิกที่นี่) ครับ
หากเป็นสมาชิก Facebook แสดงความเห็นได้ในฟอร์มข้างล่างนี้ครับ
ภาพยนตร์ตัวอย่าง (Trailer) จาก YouTube
ทางเว็บไม่มีนโยบายนำภาพยนตร์ฉบับ เต็มมาให้ดูออนไลน์หรือให้ดาวน์โหลดเนื่องจากเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และไม่ มีพื้นที่สำหรับเก็บไฟล์ภาพยนตร์