
แม้ว่าโดยส่วนตัวผมจะเป็นคนชอบหนังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อมาเปิดเว็บไซต์แห่งนี้แล้ว ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง ก็อดไม่ได้ที่จะต้องกล่าวถึงภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ของไทยบ้าง โดยเฉพาะภาพยนตร์เรื่องยิ่งใหญ่อย่าง "สุริโยไท" ที่ หม่อมเจ้า ชาตรีเฉลิม ยุคล ทรงสร้างออกฉายเมื่อ พ.ศ.2544 ที่สร้างประวัติศาสตร์ให้กับวงการภาพยนตร์ไทยอย่างมากมาย
ภาพยนตร์เรื่องนี้ เดิมทีเมื่อสร้างเสร็จได้ตัดฉากหลายฉากออกเพื่อความเหมาะสมในการฉายในโรงภาพยนตร์จนเหลือ 3 ชั่วโมง และเมื่อจัดทำเป็น VCD/DVD ออกจำหน่ายครั้งแรกก็เป็นชุดความยาว 3 ชั่วโมงเช่นเดียวกับในโรงภาพยนตร์ ต่อมา ในปี พ.ศ. 2547 ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา ผู้กำกับชาวอเมริกัน ได้ตัดต่อและเพิ่มฉากใหม่เข้าไป เป็นฉบับใหม่สำหรับฉายในต่างประเทศ โดยใช้ชื่อว่า " The Legend of Suriyothai " (เวอร์ชันนี้มีวางขายทั่วไป แต่ผมยังไม่ได้ดู) แล้วอยู่มาวันหนึ่งไม่ทราบว่าเมื่อไหร่จึงได้มี "สุริโยไท ฉบับสมบูรณ์ ๕ ชั่วโมง" ทำให้มีเสียงบ่นจากคอหนังไทยกันอยู่พอประมาณว่าทำราวกับซีดีเพลงบางอัลบั้มที่พอขายดีแล้วมาออกเวอร์ชันเพิ่มเพลงเอาเงินเราเป็นรอบที่สอง เฮ้อ!
ว่าที่จริงแล้วทั้งเวอร์ชัน 3 ชั่วโมงและ 5 ชั่วโมงก็มีข้อดีกันไปคนละอย่าง เวอร์ชัน 3 ชั่วโมงเรื่องกระชับกำลังพอดี ส่วนเวอร์ชัน 5 ชั่วโมงก็ได้ใจความที่สมบูรณ์ ในปัจจุบันคงมีแต่เวอร์ชัน 5 ชั่วโมงเท่านั้นที่วางขายอยู่

ฉาก พระสุริโยไท ทรงอภิเษกกับ พระเยาวราช
ในเรื่องย่อภาพยนตร์ที่เป็นทางการมักจะบอกว่า "ดำเนินเรื่องผ่านคำบอกเล่าของ โดมิงโก ดือ ซีซัส (Domingos De Seixas) ทหารรับจ้างของชาวโปรตุเกส ผู้ซึ่งเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรอโยธยาช่วงพุทธศักราช ๒๐๖๗ ถึง ๒๐๙๒" แต่ในหนังเท่าที่ดูไม่เห็นมีใครแสดงเป็น ดือ ซีซัส เลย เอาเป็นว่าภาพยนตร์ได้เล่าเรื่องตั้งแต่ สมเด็จพระสุริโยไท (ที่ในหนังสือประวัติศาสตร์เดิมมักเขียนกันว่า "สุริโยทัย") ยังทรงพระเยาว์ การสมรสกับ พระเยาวราช หรือ พระเฑียรราชา ที่ต่อมาได้เสด็จเสวยราชย์เป็น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ เหตุการณ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยารัชสมัยต่างๆ ที่สำคัญคือการล้มราชบัลลังก์ของ ขุนวรวงศา และ ท้าวศรีสุดาจันทร์ จนกระทั่งพม่าเข้ามารุกราน สมเด็จพระสุริโยไท ได้สร้างวีรกรรมปกป้องพระชนม์ชีพของ พระมหาจักรพรรดิ์ จนเสด็จสวรรคตด้วยน้ำมือของพระเจ้าแปร
วีรกรรมของ สมเด็จพระสุริโยไท เท่าที่มีปรากฏในประวัติศาสตร์นั้น มีแต่เพียงการสละพระชนม์ชีพปกป้องพระสวามีเท่านั้น ไม่ว่าประเด็นนี้หรือประเด็นไหนๆ มีกล่าวถึงในประวัติศาสตร์เพียงไม่กี่บรรทัด และเอกสารหลักฐานแต่ละฉบับยังมีความขัดแย้งกันด้วย เรื่องของการโค่นล้ม ขุนวรวงศา และ แม่หยัวศรีสุดาจันทร์ นั้น เป็นเพียงการจินตนาการว่า ทรงเป็นคนในยุคเดียวกัน น่าจะทรงมีบทบาทเกี่ยวข้องกันด้วย แม้ว่าพงศาวดารในช่วงแผ่นดินขุนวรวงศา จะไม่ได้เอ่ยพระนาม สมเด็จพระสุริโยทัย เลย
ปัญหาของภาพยนตร์ในทัศนะของผมคือ ...
ประการแรก ทั้ง "พระศรีสุริโยไท" และ "ท้าวศรีสุดาจันทร์" หรือ "แม่หยัวศรีสุดาจันทร์" รวมถึงชื่ออื่นอีกหลายชื่อนั้น เป็นเพียงชื่อตำแหน่ง ไม่ใช่ชื่อตัวบุคคล แต่นี่ยังไม่ใช่เรื่องซีเรียสอะไร ในยุคก่อนนี้และยุคต่อๆ มา ก็ไม่ปรากฏว่ามีผู้ดำรงตำแหน่งนี้ที่มีบทบาทสำคัญจนถูกจารึกในประวัติศาสตร์ ผิดกับบางชื่อตำแหน่ง เช่น พระยาสีหราชเดโช พระยาราชวังสัน พระยาโชฎึกราชเศรษฐี ฯลฯ ที่มีผู้ดำรงตำแหน่งหลายคน จนบางทีหนังสือประวัติศาสตร์ต้องมีวงเล็บชื่อเดิมกำกับไว้ข้างท้าย

พันบุตรศรีเทพ เข้าเฝ้า สมเด็จพระชัยราชา เพื่อขับกล่อมกลอนเสภา
ถัดมาคือการที่ในภาพยนตร์กล่าวตามข้อสันนิษฐานของ "ท่านมุ้ย" ว่า ท้าวศรีสุดาจันทร์ และ ขุนวรวงศา น่าจะมีเชื้อสาย "ราชวงศ์สุพรรณภูมิ" "ราชวงศ์อู่ทอง" แล้วเลยเถิดไปว่า การลอบวางยาพิษ สมเด็จพระชัยราชา (ราชวงศ์อู่ทอง) (ราชวงศ์สุพรรณภูมิ) เป็นเรื่องของการชิงบัลลังก์ระหว่างสองราชวงศ์ แทนที่จะเป็นเพียงการปกปิดความผิดจากการที่ทรงพระครรภ์กับ ขุนวรวงศา แต่ปัญหาคือ คนในยุคนั้นเขารู้จักและจริงจังกับแนวคิด "ราชวงศ์" เพียงใด ในฐานะคนเคยเรียนประวัติศาสตร์ ผมยังไม่แน่ใจว่า "ราชวงศ์" ต่างๆ นั้น มีอยู่อย่างจริงจังเพียงใด หรือเป็นเพียงการเรียกขานของนักประวัติศาสตร์ยุคหลังเพื่อความสะดวกในการศึกษา อย่างน้อยในหนังสือ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเลย์ ที่ผมพึ่งซื้อได้ไม่นาน เท่าที่อ่านผ่านๆ ยังไม่เห็นการกล่าวถึง "ราชวงศ์" อย่างชัดเจน
ท้าวศรีสุดาจันทร์ อาจมีสำนึกว่าตนมีเชื้อสายของคนราชวงศ์ก่อน แต่จะชัดเจนขนาดว่าฉันราชวงศ์นั้นเธอราชวงศ์นี้ อาจจะขัดความจริงอยู่บ้าง แต่คงต้องยกประโยชน์ให้ทำนองเดียวกับเรื่องขื่อตำแหน่งนั้นเอง

ฉากการรบทางเรือเพื่อปลงพระชนม์ ขุนวรวงศา และ ท้าวศรีสุดาจันทร์
ในเรื่องของฉากความรุนแรงนั้น เกณฑ์ว่าอะไรรุนแรงเกินไปหรือไม่เป็นเรื่องที่น่าจะพิจารณากำหนดให้เหมือนกันทั้งเรื่อง ในตอนเข้าฉายใหม่ๆ จำได้ว่าฉากที่มาการกล่าวขวัญกันมากคือฉากที่ ท้าวศรีสุดาจันทร์ วางยาพิษ สมเด็จพระชัยราชา แล้วทรงคว้าพระแสงดาบเชือคอนางวิเสทที่เป็น "แพะ" ในบัดเดี๋ยวนั้น (ขอใช้ภาษาเลียนแบบในเรื่องหน่อยนะครับ) และฉากประหารตัดคออีเหมือนนางวิเสทที่ให้การซัดทอดพระเฑียรราชา ก็ดูแล้วชวนสะดุ้งพอๆ กัน แต่พอถึงฉากที่ หมื่นราชเสน่หา(นอกราชการ) ประหารพระมหาอุปราช (จัน) กลับเพียงแค่ทำท่าเงื้อดาบจะตัดคอร่างที่ล้มนอนอยู่แล้วตัดภาพออกไป และในฉากการสิ้นพระชนม์ของ สมเด็จพระสุริโยไท นั้น ในการยุทธหัตถีจริงผู้ถูกฟันด้วยของ้าวในลักษณะนั้นจะต้อง "ขาดสะพายแล่ง" แต่ในภาพยนตร์กลับเป็นแค่ทรงถูกฟันตกจากหลังช้างพระที่นั่ง
ถ้าอย่างนั้นทำไมไม่ใช้เทคนิคทำนองนี้กับการตายของ "อีไพร่" ด้วยเล่า จะได้เป็นหนังประวัติศาสตร์ที่ "เด็กดูได้ผู้ใหญ่ดูดี" ไม่มีขวัญผวา

ฉาก สมเด็จพระศรีสุริโยไท ถูก พระเจ้าแปร ฟันด้วยพระแสงของ้าว
พูดถึงฉากยุทธหัตถีแล้ว ก็ต้องเห็นใจว่าการกำกับช้างไม่ใช่เรื่องง่ายๆ การยุทธหัตถีที่เราเห็นในหนังประวัติศาสตร์จึงยังเป็นเพียง "การดวลง้าวบนหลังช้าง" มากกว่า "การชนช้าง" ที่มีหลักการโดยสังเขปว่า จะต้องชนช้างฝ่ายตรงข้ามให้เสียหลัก ขาหน้าทั้งสองลอยขึ้นไปจนเหลือยืนแต่ขาหลัง ฝ่ายที่ได้เปรียบเรียกว่า "ได้ล่าง" คือช้างยังยืนอยู่ข้างล่างด้วยขาสี่ขา ผู้ขี่ก็จะสามารถฟันได้ถนัดๆ ในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามเสียหลักป้องกันตัวลำบาก
ขอตั้งข้อสังเกตแต่เพียงเท่านี้นะครับ เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ได้ออกฉายและมีการวิพากษ์วิจารณ์กันมาพอสมควรแล้ว โดยรวมก็ถือว่าเป็นภาพยนตร์ที่ควรค่าแก่การชมและการศึกษา ในข้อแม้ว่าควรศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม เพราะข้อจำกัดบางประการในการถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ทำให้เราต้องศึกษาเพื่อแยกแยะว่าอะไรควรเชื่อหรือจริงจังแค่ไหนครับ
เนื่องจากบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์อัน ชอบธรรมของผู้เขียน และอาจะมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลบ้างตามความเหมาะสม ในการนำบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่นๆ จึงขอความร่วมมือให้ใช้วิธีการคัดลอกเฉพาะ Link หรือ URL Address แทนการคัดลอกบทความทั้งหมด หากมีการคัดลอกไปในลักษณะแอบอ้างเป็นผู้เขียน หรือมีเจตนาอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทางเว็บ iseehistory.com แล้ว จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย
ชื่อเรื่องภาษาไทย : สุริโยไท ฉบับสมบูรณ์
เรื่องเดิม : พงศาวดารไทยและเอกสารประวัติศาสตร์อื่นๆ
ผู้กำกำกับ : หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล
ผู้กำกับกอง 2 : เปี๊ยก โปสเตอร์
ผู้ช่วยผู้กำกับ : สุรศักดิ์ วงษ์ไทย, ปิยะลักษณ์ มหาธนทรัพย์
ผู้อำนวยการสร้าง : หม่อมกมลา ยุคล
ผู้เขียนบท : หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล
ผู้แสดง :
- สมเด็จพระสุริโยทัย แสดงโดย คุณหญิง ม.ล.ปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี
- สมเด็จพระเฑียรราชา (พระเยาวราช, พระมหาจักรพรรดิ) แสดงโดย ศรัณยู วงษ์กระจ่าง
- ขุนพิเรนทรเทพ (สมเด็จพระมหาธรรมราชา) แสดงโดย ฉัตรชัย เปล่งพานิช
- ท้าวศรีสุดาจันทร์ แสดงโดย ใหม่ เจริญปุระ
- พันบุตรศรีเทพ (ขุนชินราช, ขุนวรวงศาธิราช) แสดงโดย จอนนี่ แอนโฟเน่
- สมเด็จพระไชยราชาธิราช แสดงโดย พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง
- ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ แสดงโดย สินจัย เปล่งพานิช
- หมื่นราชเสน่หา แสดงโดย สรพงษ์ ชาตรี
- สมเด็จพระหน่อพุทธางกูร แสดงโดย สุเชาว์ พงษ์วิไล
- พระอัครชายา แสดงโดย วรรณษา ทองวิเศษ
- ขุนอินทรเทพ แสดงโดย อำพล ลำพูน
- หลวงศรียศ แสดงโดย ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ
- สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แสดงโดย พิศาล อัครเศรณี
- ออกญาสวรรคโลก แสดงโดย มานพ อัศวเทพ
- พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ แสดงโดย ศุภกิจ ตังทัตสวัสดิ์
- พระมหาอุปราชาบุเรงนอง (พระเจ้าบุเรงนอง) แสดงโดย สหรัถ สังคปรีชา
- พระเจ้าแปร แสดงโดย รณฤทธิชัย คานเขตุ
- เมงเยสีหตู แสดงโดย สมบัติ เมทะนี
ฯลฯ
ควรอ่านเพิ่มเติม
กระทู้ที่เกี่ยวข้อง
เรียนเชิญสมาชิกร่วมแสดงความคิดเห็นที่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บ (ต้องสมัครและ Login ก่อน) ผู้ชมทั่วไปหรือสมาชิกที่ต้องการโพสต์รูป เชิญร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บบอร์ด "คุยกันหลังฉาก" ในกระทู้ที่มีอยู่แล้ว หรือ สร้างกระทู้ใหม่ (คลิกที่นี่) ครับ
หากเป็นสมาชิก Facebook แสดงความเห็นได้ในฟอร์มข้างล่างนี้ครับ
ภาพยนตร์ตัวอย่าง (Trailer) จาก www.youtube.com
ทางเว็บไม่มีนโยบายนำภาพยนตร์ฉบับ เต็มมาให้ดูออนไลน์หรือให้ดาวน์โหลดเนื่องจากเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และไม่ มีพื้นที่สำหรับเก็บไฟล์ภาพยนตร์