
หลายๆ คนอาจมอง "หนังสงคราม" เป็นเพียง "หนังแอคชั่น" ที่มาอาศัยฉากในประวัติศาสตร์ แต่ยังคงมีหนังสงครามจำนวนไม่น้อยที่สะท้อนภาพความลำบากของมนุษย์ในยามสงคราม ทั้งที่เป็นทหารและพลเรือน และความยากลำบากที่ว่านั้น บ่อยครั้งมิได้มาจากฝ่ายข้าศึกศัตรูที่ประจันหน้ากันอยู่ แต่กลับเป็นความอิจฉาริษยาแก่งแย่งแข่งดีจากฝ่ายเดียวกันเอง
ในบรรดาหนังสงครามรุ่นเก่า เรื่องที่น่าจะอยู่ในใจของใครหลายๆ คนรวมทั้งผมเอง คือ เรื่อง Cross of Iron หรือ "ยุทธภูมิกางเขนเหล็ก" การที่มีคำว่า "ยุทธภูมิ" ติดเข้ามาในชื่อภาษาไทยก็เนื่องจากการเข้าฉายในช่วงไล่เรี่ยกับเรื่อง "ยุทธภูมิมิดเวย์" (Midway) กำลังดัง ก็เลยต้องใส่คำนี้เข้ามาด้วย ทั้งที่ตัวภาพยนตร์เองก็มีดีพอที่จะไม่ต้องอาศัยความดังของภาพยนตร์เรื่องอื่นมาช่วยเลย เคยอ่านเจอในกระทู้ของเว็บบอร์ดแห่งหนึ่ง บอกว่าเรื่องนี้ทำให้เขาร้องไห้ได้ทั้งที่เป็นหนังสงคราม
ภาพยนตร์เรื่อง Cross of Iron สร้างในปี 1977 (พ.ศ.2520) กำกับโดย Sam Peckinpah สร้างจากนวนิยายเรื่อง The Willing Flesh (Das Geduldige Fleisch) บทประพันธ์ของ Willi Heinrich ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1956 (พ.ศ.2499) และปรากฏว่าในฉบับตีพิมพ์ครั้งหลังๆ ได้เปลี่ยนชื่อเรื่องมาเป็น Cross of Iron ให้ตรงกับภาพยนตร์ เคยมีผู้แปลเป็นฉบับภาษาไทยด้วย แต่ตอนนั้นผมยังเป็นเด็กไม่มีตังค์ซื้อ ต่อมาจับพลัดจับผลูได้ซื้อฉบับภาษาอังกฤษมา แต่พยายามอ่านทีไรหลับทุกทีทั้งที่ภาษาอังกฤษก็ใช่ว่าจะไม่แข็งแรงซะทีเดียว หลายปีผ่านไปจนถึงตอนนี้ไม่แน่ใจว่าตัวหนังสือยังอยู่หรือไม่

มาเข้าเรื่องภาพยนตร์ซะที เนื้อเรื่องโดยสังเขปอาศัยฉากสงครามระหว่างเยอรมันกับรัสเซียในสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1943 (พ.ศ.2486) บริเวณแหลมทามาน แถบคาบสมุทรไครเมีย (the Taman Peninsula in the Crimea) เรื่องเริ่มขึ้นเมื่อพระเอกของเรื่อง คือ สิบโทสไตเนอร์ (Corporal Rolf Steiner ในซาวด์แทร็คกลับออกเสียงเป็น "สไตน่า") นำกำลังออกลาดตระเวณ และทำลายที่ตั้งปืนครกของข้าศึก และจับเชลยทหารเด็กกลับมายังฐานทัพ ในเวลาเดียวกับที่ร้อยเอกสทรานสกี้ (Captain Stransky) พึ่งเดินทางจากปารีสมารับตำแหน่งผู้บังคับกองร้อยที่สไตเนอร์สังกัดอยู่ ด้วยจุดประสงค์ที่จะหาโอกาสสร้างความชอบเพื่อให้ได้รับเหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กกลับไปอวดครอบครัวซึ่งเป็นตระกูลผู้ดีเก่า สทรานสกี้กับสไตเนอร์เจอหน้ากันครั้งแรกก็เกิดอาการศรศิลป์ไม่กินกัน เนื่องจากสไตเนอร์ขัดใจผู้กองทั้งในเรื่องไม่ยอมยิงเชลยเด็กทิ้ง และรายงานผลการลาดตระเวณด้วยน้ำเสียงห้วนๆ และเย็นชา ไม่ยินดียินร้ายกับการได้เลื่อนยศเป็นสิบเอก เป็นต้น
ขอข้ามเหตุการณ์เล็กๆ น้อยๆ มายังตอนสำคัญเมื่อทหารรัสเซียกลุ่มหนึ่งเปิดฉากการโจมตีฐานทัพด้านที่กองร้อยของสไตเนอร์ประจำอยู่ เป็นผลให้ทหารเชลยเด็กที่สไตเนอร์พยายามปล่อยตัวก่อนการโจมตีเสียชีวิตลง ผู้หมวดเมเยอร์ (Meyer หรือไมย์ในซาวด์แทร็ก) ผู้บังคับหมวดซึ่งเป็นที่รักเคารพของสไตเนอร์ได้บัญชาการรบอย่างห้าวหาญได้เสียชีวิตลง ตัวสไตเนอร์เองก็ได้รับบาดเจ็บถูกส่งเข้าโรงพยาบาลทหาร จนพบรักกับพยาบาลผู้หนึ่ง แต่เมื่ออาการดีขึ้น ด้วยความรักในหน้าที่จึงได้ตามเพื่อนกลับไปยังฐานทัพ คราวนี้ ผู้กองสทรานสกี้ได้พยายามขอให้สไตเนอร์เป็นพยานร่วมกับร้อยโททริบิก (Leutnant Triebig) ว่าผู้กองเป็นผู้นำในการป้องกันการบุกของรัสเซีย แต่สไตเนอร์ปฏิเสธ ครั้นพอผู้การแบรนท์ (Colonel Brandt) ผู้บังคับการกรม พยายามจะเอาเรื่องสทรานสกี้ที่คิดจะโกงความดีความชอบของผู้ตาย คือ ผู้หมวดเมเยอร์ สไตเนอร์กลับไม่ร่วมมือเช่นกัน

วิธีหนึ่งในการต่อสู้รถถังของยุคนั้น คือลอบนำทุ่นระเบิดไปวางบนสายพานรถถังขณะกำลังจอด เมื่อรถวิ่งจะทับทุ่นระเบิดพังพินาศไปเอง
เมื่อทางกรมได้รับคำสั่งให้ล่าถอยจากที่ตั้ง ผู้การแบรนท์ ออกคำสั่งผ่านผู้กองสทรานสกี้ไปยังสไตเนอร์ซึ่งทำหน้าที่รักษาการผู้บังคับหมวดและเป็นกองระวังหลังของกรมถอนตัวกลับด้วย แต่สทรานสกี้ฉวยโอกาสแก้แค้นโดยไม่แจ้งคำสั่งดังกล่าว ทำให้หมวดของสไตเนอร์ถูกโจมตีข้าศึกอย่างหนัก ต้องผ่านอุปสรรคมากมายกว่าจะฝ่ามาจนใกล้ถึงที่ตั้งของฝ่ายเดียวกัน แต่ขณะที่สไตเนอร์กับพรรคพวกพยายามฝ่าแนวรบกลับไปสมทบกับทางกรมโดยมีการแจ้งล่วงหน้าแล้ว ผู้กองสทรานสกี้กลับสั่งผู้หมวดทริบิกให้สังหารสไตเนอร์กับพรรคพวก แต่สไตเนอร์กับลูกน้องสองคนสามารถรอดห่ากระสุนมาได้ และสังหารทริบิกทันที พอดีกองทหารัสเซียได้บุกเข้าโจมตีครั้งใหญ่ สไตเนอร์ตามหาสทรานสกี้จนพบ แต่แทนที่จะยิงทิ้งเช่นเดียวกับทริบิก กลับท้าให้สทรานสกี้ออกไปรบด้วยกัน เพื่อพิสูจน์ว่าผู้กองแกสมควรจะได้รับเหรียญกล้าหาญกาางเขนเหล็กหรือไม่ ผู้ที่ยังไม่เคยชมภาพยนตร์ลองหามาชมดูนะครับว่าผู้กองแกจะเป็นอย่างที่คุณจินตนาการไว้หรือเปล่า

ฉากร้อยโททริบิกสั่งยิงสไตเนอร์กับพรรคพวก ตามคำสั่งสทรานสกี้
ด้านข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ในวิกิพีเดียกล่าวว่า Willi Heinrich สร้างตัวละครสไตเนอร์ขึ้นจากตัวจริงในประวัติศาสตร์ คือ Johann Schwerdfeger ซึ่งเป็นเพียงนายทหารชั้นประทวนที่มีวีรกรรมจนได้รับเหรียญกล้าหาญชั้นสูง และได้ทำหน้าที่เป็นผู้บังคับหมวดด้วย ส่วนตัวละครอื่นๆ นั้นไม่ได้มีการกล่าวถึง ฉากในภาพยนตร์ก็มีความสมจริง บรรดาอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ก็เป็นของสมัยสงครามโลกจริงๆ เช่น รถถัง T34/85 ของรัสเซีย ไม่มีการติ๊งต่างเอาของสมัยใหม่มาใช้อย่างหนังบางเรื่องที่สร้างในยุคนั้น
ด้านบทภาษาไทยก็เกือบจะใช้ได้ อุตส่ารู้ว่า Platoon คือ "หมวด" แต่พอถึง Company กลับไปแปลว่า "เพื่อนร่วมงาน" แทนที่จะเป็น "กองร้อย" และ Führer ไปแปลว่า "หัวหน้า" แทนที่จะเป็น "ท่านผู้นำ" ซึ่งหมายถึง ฮิตเลอร์ คำนี้แม้จะเป็นภาษาเยอรมัน แต่เป็นคำที่คนรู้เรื่องสงครามโลกครั้งที่สองควรจะทราบ
ความเป็นอมตะของนวนิยายและภาพยนตร์เรื่องนี้น่าจะอยู่ตรงที่ ความต้องการของสทรานสกี้ที่จะคว้าเหรียญกล้าหาญมาครองทั้งที่ตัวไม่มีคุณสมบัติ และยอมกระทั่งโกงความดีความชอบคนที่เสียชีวิต และการกลั่นแกล้งผู้ที่ขวางผลประโยชน์ อันเป็นเรื่องที่อาจพบเห็นได้ในองค์กรทั่วไป ไม่ว่าหน่วยทหารยามสงคราม หรือองค์กรใดๆ ในยามสงบ ตอนท้ายภาพยนตร์เมื่อสไตเนอร์ท้าให้สทรานสกี้ออกไปรบด้วยกัน เป็นการสะท้อนถึงกฏที่ควรจะเป็นว่า อยากได้อะไรก็ต้องทำตามกฎที่เขาวางไว้ ในโลกแห่งความเป็นจริง อาจจะมีคนโกงอย่างสทราสกี้ที่กระทำการสำเร็จ แต่ก็ไม่ได้รับเกียรติที่แท้จริงดังเช่นผู้ที่มีคุณสมบัติ
เนื่องจากบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์อัน ชอบธรรมของผู้เขียน และอาจะมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลบ้างตามความเหมาะสม ในการนำบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่นๆ จึงขอความร่วมมือให้ใช้วิธีการคัดลอกเฉพาะ Link หรือ URL Address แทนการคัดลอกบทความทั้งหมด หากมีการคัดลอกไปในลักษณะแอบอ้างเป็นผู้เขียน หรือมีเจตนาอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทางเว็บ iseehistory.com แล้ว จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย
ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ : Cross of Iron
ชื่อภาษาไทย : ยุทธภูมิกางเขนเหล็ก
เรื่องเดิม : นวนิยายเรื่อง The Willing Flesh (Das Geduldige Fleisch) บทประพันธ์ของ Willi Heinrich
ผู้สร้าง : Wolf C. Hartwig, Arlene Sellers, Alex Winitsky
ผู้กำกำกับ : Sam Peckinpah
ผู้เขียนบท : Julius J. Epstein, James Hamilton, Walter Kelley
ผู้แสดง : James Coburn, Maximilian Schell, James Mason, David Warner, Slavko Štimac, Senta Berger
ควรอ่านเพิ่มเติม
กระทู้ที่เกี่ยวข้อง
เรียนเชิญสมาชิกร่วมแสดงความคิดเห็นที่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บ (ต้องสมัครและ Login ก่อน) ผู้ชมทั่วไปหรือสมาชิกที่ต้องการโพสต์รูป เชิญร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บบอร์ด "คุยกันหลังฉาก" ในกระทู้ที่มีอยู่แล้ว หรือ สร้างกระทู้ใหม่ (คลิกที่นี่) ครับ
หากเป็นสมาชิก Facebook แสดงความเห็นได้ในฟอร์มข้างล่างนี้ครับ
ภาพยนตร์ตัวอย่าง (Trailer) จาก www.youtube.com
ทางเว็บไม่มีนโยบายนำภาพยนตร์ฉบับ เต็มมาให้ดูออนไลน์หรือให้ดาวน์โหลดเนื่องจากเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และไม่ มีพื้นที่สำหรับเก็บไฟล์ภาพยนตร์