
สำหรับคนรุ่นผมแล้ว นักประพันธ์อเมริกันที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ที่ผมเคยได้ยินชื่อตั้งแต่ก่อนจะเรียนวิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ (ซึ่งรวมถึงวรรณคดีอเมริกันและชาติอื่นด้วย) คือ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway: July 21, 1899 – July 2, 1961 ) ซึ่งมีบทประพันธ์เรื่องเอกหลายเรื่อง เช่น The Old Man and the Sea, A Farewell to Arms เป็นต้น ไม่ทราบว่าคนรุ่นหลังที่อ่านการ์ตูนญี่ปุ่นดูหนังเกาหลีจะยังคงรู้จักท่านผู้นี้หรือไม่ เอาเป็นว่าท่านผู้นี้เป็นนักประพันธ์เอกของวรรณกรรมอเมริกันยุคใหม่ ที่นักวรรณกรรมทั่วโลกควรรู้จัก
และภาพยนตร์ที่นำมาคุยกันในครั้งนี้ ไม่ใช่แนวแอคชั่นยิงสนั่นหวั่นไหว และไม่ใช่แนวต่อต้านสงครามซะทีเดียว แต่มาจากชีวิตรักเรื่องจริงของท่านนักประพันธ์เอกผู้นี้ คือเรื่อง In Love and War เหตุการณ์ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ที่โชคชะตาดลบันดาลให้เขาพบรักครั้งแรกอันยากจะลืมเลือน

เรื่องเริ่มขึ้นในปี 1918 (พ.ศ.2461) เฮมิงเวย์ ซึ่งเดิมทำงานเป็นผู้สื่อข่าว ไม่สามารถอาสาเป็นทหารในหน่วยรบได้เนื่องจากปัญหาทางสายตาจากการชกมวย ได้อาสามาทำหน้าที่ในเหล่ากาชาดแทน เฮมิงเวย์ ถูกส่งมาประจำการในอิตาลีซึ่งกำลังรบกับออสเตรีย ในขณะที่กองทหารอเมริกันยังรบติดพันในสมรภูมิอื่นอยู่ ด้วยความเป็นหนุ่มที่ปรารถนาจะเห็นสงครามอย่างใกล้ชิด ในคืนหนึ่ง (วันที่ 8 กรกฎาคม) จึงได้เดินทางไปยังสนามเพลาะแห่งหนึ่งใกล้แม่น้ำเพียฟ ขณะที่กำลังคุยกับทหารอิตาเลียนอยู่นั้น ก็มีกระสุนเครื่องยิงลูกระเบิด (Mortar หรือที่ชาวบ้านไทยชอบเรียกว่า "ปืนครก" นั่นแหละครับ) ตกลงมากลางวงสนทนาทำให้ เฮมิงเวย์ ได้รับบาดเจ็บ แม้กระนั้นยังได้พยายามแบกเพื่อนทหารอิตาเลียนคนหนึ่งออกจากสนามเพลาะแห่งนั้น จนตัวเองได้รับบาดเจ็บเพิ่มเติมจากกระสุนปืนกลที่ขา และถูกส่งตัวเข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลในเมืองที่เหล่ากาชาดพยาบาลอเมริกันปฏิบัติงานอยู่ โดยอยู่ในความดูแลของนางพยาบาลอเมริกันเชื้อสายเยอรมัน นามว่า แอกเนส ฟอน คูโรว์สกี้ (Agnes von Kurowsky) ซึ่งมีอายุ 26 ปี แก่กว่า เฮมิงเวย์ ประมาณ 7 ปี (ต่อไปจะขอเรียกเธอสั้นๆ ว่า "แอกเนส")

แอกเนส พบว่าบาดแผลของ เฮมิงเวย์ มีเนื้อตาย ซึ่งในยุคนั้นมีวิธีเดียวที่เธอจะช่วยได้คือการชะล้างแผล (VCD ที่ผมใช้เป็นพากย์ไทย จึงไม่แน่ใจว่าผู้ทำบทแปลมาจากศัพท์ทางการแพทย์ว่าอะไร) ซึ่งเธอได้เรียนรู้มาจากโรงพยาบาลจอห์ ฮอฟกิน เข้าใจว่าการรักษาแบบนี้ยังค่อนข้างใหม่ และตามระเบียบพยาบาลจะต้องได้รับอนุญาตจากแพทย์ก่อน แต่เธอได้ยอมเสี่ยงเพื่อช่วยเฮมิงเวย์ หรือที่ต่อมาเรียกกันว่าเจ้าน้องเออร์นี่ ให้รอดพ้นจากการถูกตัดขา และอธิบายเหตุผลให้กับนายแพทย์โดมินิโกชาวอิตาเลียนจน เออร์นี่รอดพ้นจากการถูกตัดขา นี่ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของรักสามเส้าระหว่าง เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ คนไข้หนุ่มอายุประมาณ 18-19 ปี แอกเนสต์ ฟอน คูโรวสกี้ พยาบาลสาวอายุ 26 ปี และนายแพทย์อิตาเลียนหนุ่มใหญ่อายุราว 40 กว่าปี ไม่นับเพื่อนของเออร์นี่อีกคน ชื่อ แฮรรี่ (Henry S. Villard) ซึ่งเข้าโรงพยาบาลเพราะป่วยเป็นดีซ่าน และเป็นผู้บันทึกเรื่องดังกล่าว
ในระหว่างรับการรักษาพยาบาลในบรรยากาศสงครามและรักสามเส้าดังกล่าว เฮมิงเวย์ ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ the Silver Medal of Military Valor (medaglia d'argento) จากรัฐบาลอิตาลี และต่อมาได้ถูกส่งตัวกลับอเมริกาในช่วงใกล้เคียงกับที่แอกเนสถูกสั่งย้ายไปปฏิบัติการภาคสนามใกล้แนวรบยิ่งขึ้น เฮมิงเวย์ ได้นัดให้แอกเนสไปพบที่โรงแรมใกล้สถานีรถไฟที่เขาจะต้องออกเดินทาง จนได้เสียกัน และสัญญาว่าจะแต่งงานกันหลังสงครามสงบ แต่เมื่อ เฮมิงเวย์ จากไป หมอโดมินิโก ยังคงติดพันแอกเนส และสร้างความสัมพันธ์ด้วยการพาไปเที่ยวบ้านในยามลาพักผ่อน พาไปชมสถานที่ที่กำลังเตรียมเปิดกิจการโรงพยาบาลหลังสงคราม จนแอกเนสไขว้เขว และเขียนจดหมายไปขอเลิกกับเฮมิงเวย์ ทำให้เฮมิงเวย์ผิดหวังเป็นอย่างมาก หลังสงคราม แอกเนส เกือบจะแต่งงานกับ โดมินิโก แต่พบว่าตนเองไม่อาจลืม "น้องเออร์นี่" ได้ จึงได้เดินทางกลับสหรัฐอเมริกา และตามไปจนพบเฮมิงเวย์ แต่ความผิดหวังได้ทำให้ "น้องเออร์นี่" ผู้เคยเป็น "เด็ก" ในสายตาใครต่อใครได้กลายเป็นผู้ใหญ่ที่เจ็บแล้วจำจนไม่อาจคืนดีกับเธอได้แล้ว ทั้งสองได้จากกัน โดยแอกเนสยังคงทำงานให้กาชาดจนสิ้นสงครามโลก อยู่เป็นโสดจนอายุ 36 และอายุยืนถึง 92 ปี ส่วนเฮมิงเวย์ ประสบความสำเร็จในงานด้านการประพันธ์อย่างมาก แต่ชีวิตส่วนตัวนั้น แต่งงานถึง 4 ครั้ง และจบชีวิตลงด้วยการฆ่าตัวตาย

ภาพยนตร์เรื่องนี้ นับเป็น ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ที่ต่างจากหนังสงครามทั่วไป ที่ใช้ความรักสามเส้าเป็นตัวดำเนินเรื่องแทนเหตุการณ์การรบ ที่มักจะมีการสอดแทรกพล็อตเรื่องพลิกไปพลิกมาจนเกินจริง แล้วกลายเป็นปัญหาความคลาดเคลื่อนจากประวัติศาสตร์ น่าเสียดายที่ในวิกิพีเดียกล่าวถึงตัวภาพยนตร์น้อยมาก ทั้งที่มีองค์ประกอบสำคัญที่น่าจะเป็นที่สนใจ ไม่ว่าการสร้างจากชีวิตจริงของเฮมิงเวย์ กำกับโดย ริชาร์ด แอทเทนโบโร หรือดาราอย่าง แซนดรา บูลล็อค ฯลฯ เครื่องแต่งกาย และเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ในภาพยนตร์ดูสมจริงตามเหตุการณ์สมัยนั้น และเต็มไปด้วยฉากที่สวยงามทั้งฉากสนามรบและฉากในเมืองที่เก่าแก่และสวยงามตามแบบยุโรปโบราณ
ตามชีวประวัติ เฮมิงเวย์ได้นำประสบการณ์ในช่วงนี้ มาประพันธ์เป็นนวนิยายชื่อดังเรื่องหนึ่ง คือ A Farewell to Arms โดยเนื้อเรื่องมีความแตกต่างออกไปบ้าง คือเป็นความรักระหว่างทหารในหน่วยรบกับพยาบาล ที่ได้พากันหนีความโหดร้ายของสงครามเข้าไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นวนิยายเรื่องนี้ได้นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์สองครั้ง คือในปี 1932 (พ.ศ.2475) และ 1957 (พ.ศ.2500) หากจะรวมเรื่อง In Love and War (1996 - พ.ศ.2539) นี้ด้วยก็นับเป็นครั้งที่ 3

นอกจากในเชิงประวัติศาสตร์แล้ว อยากเชิญชวนให้ลองสังเกตด้วยว่า ในเชิงจิตวิทยานั้น คนเราในช่วงอายุประมาณ 18-19 นี้จะเป็นอีกช่วงหนึ่งที่สำคัญต่อชีวิต หากมีเหตุการณ์สำคัญไม่ว่าดีร้ายประการใดอาจมีผลต่อพฤติกรรมเราไปชั่วชีวิต ดังกรณีของเฮมิงเวย์นี้ ลองสังเกตจากตัวท่านเองหรือคนใกล้ชิดดูนะครับ
เนื่องจากบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์อัน ชอบธรรมของผู้เขียน และอาจะมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลบ้างตามความเหมาะสม ในการนำบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่นๆ จึงขอความร่วมมือให้ใช้วิธีการคัดลอกเฉพาะ Link หรือ URL Address แทนการคัดลอกบทความทั้งหมด หากมีการคัดลอกไปในลักษณะแอบอ้างเป็นผู้เขียน หรือมีเจตนาอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทางเว็บ iseehistory.com แล้ว จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย
ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ : In Love and War
ชื่อภาษาไทย : รักนี้ไม่มีวันลืม
เรื่องเดิม : Hemingway in Love and War by Henry S. Villard and James Nagel
ผู้กำกำกับ : Richard Attenborough
ผู้เขียนบท :
Allan Scott (screen story) and
Dimitri Villard (screen story)
Allan Scott (screenplay) and
Clancy Sigal (screenplay) and
Anna Hamilton Phelan (screenplay)
ผู้แสดง :
- Mackenzie Astin ... Henry Villard
- Chris O'Donnell ... Ernest 'Ernie' Hemingway
- Sandra Bullock ... Agnes 'Aggie/Ag' von Kurowsky
- Margot Steinberg ... Mabel 'Rosie' Rose
- Ingrid Lacey ... Elsie 'Mac' MacDonald
- Rocco Quarzell ... Roberto Zardini
- Emilio Bonucci ... Dr. Domenico Caracciolo
- etc.
ควรอ่านเพิ่มเติม
กระทู้ที่เกี่ยวข้อง
เรียนเชิญสมาชิกร่วมแสดงความคิดเห็นที่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บ (ต้องสมัครและ Login ก่อน) ผู้ชมทั่วไปหรือสมาชิกที่ต้องการโพสต์รูป เชิญร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บบอร์ด "คุยกันหลังฉาก" ในกระทู้ที่มีอยู่แล้ว หรือ สร้างกระทู้ใหม่ (คลิกที่นี่) ครับ
หากเป็นสมาชิก Facebook แสดงความเห็นได้ในฟอร์มข้างล่างนี้ครับ
ภาพยนตร์ตัวอย่างจาก www.youtube.com
ทางเว็บไม่มีนโยบายนำภาพยนตร์ฉบับ เต็มมาให้ดูออนไลน์หรือให้ดาวน์โหลดเนื่องจากเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และไม่ มีพื้นที่สำหรับเก็บไฟล์ภาพยนตร์