
หากไม่นับทางรถไฟสายมรณะอันขึ้นชื่อในเมืองไทยแล้ว เมื่อกล่าวถึ งรถไฟ กับ สงครามโลกครั้งที่สอง คุณจะนึกถึงอะไรบ้าง? แม้ในสมัยนั้นจะเริ่มมียวดยานพาหนะที่ทันสมัยมากขึ้น แต่การขนคนหรือสิ่งของอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากๆ หรืออะไรที่ขนาดใหญ่ๆ ยังต้องใช้รถไฟที่ลากได้ทีละหลายๆ โบกี้ แม้กระทั่งสมัยนี้ก็เถอะครับ คนที่เคยดูภาพยนตร์เกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิวคงเคยเห็นพวกนาซีในหนังขนชาวยิวใส่รถไฟเป็นขบวนๆ ส่วนเรื่อง Von Ryan's Express (1965 - พ.ศ.2508) ที่จะคุยกันในวันนี้ เดิมทีพระเอกกับพรรคพวกเชลยศึกถูกพวกนาซีจับใส่รถไฟจะขนไปไหนก็ไม่ทราบ แต่ด้วยความสามารถของบรรดาเชลยก็สามารถยึดรถไฟขบวนดังกล่าวมาใช้เป็นพาหนะในการหลบหนีได้ แต่(อีกที)ก็ต้องแลกด้วยการเสียสละชีวิตของใครต่อใคร รวมถึงตัวพระเอกเอง
คุยเรื่องย่อกันพอสังเขปนะครับ เรื่องเริ่มในเดือนสิงหาคม 1943 (พ.ศ.2486) ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของอิตาลีในสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อสัมพันธมิตรเริ่มการบุกทางตอนใต้ของประเทศแล้ว ฝ่ายเยอรมันก็ได้เข้ามายึดครองทางเหนือ พระเอกของเรามีนามเต็มว่า พันเอก โจเซฟ แอล. ไรอัน (Colonel Joseph L. Ryan) นักบินทหารบกของกองทัพสหรัฐ เครื่องบินของเขาถูกยิงตกในอิตาลี เมืองอะไรไม่ระบุ แต่อยู่ทางตอนใต้ และถูกทหารอิตาลีจับกุมไปยังค่ายเชลยศึก ผู้ถูกจับกุมอยู่ที่นี่ส่วนใหญ่เป็นทหารอังกฤษจากกรมทหารที่ 9 กับทหารอเมริกันไม่กี่คน ผู้บัญชาการค่ายมีนามว่า ผู้พันบาทาเลีย (Major Battaglia) มีล่ามภาษาอังกฤษซึ่งปิดตาข้างหนึ่งชื่อ ร้อยเอก โอริอานี่ (Captain Oriani) คนสำคัญทางฝ่ายเชลยอังกฤษ เช่น ผู้พันฟินแชม (Major Eric Fincham) ร้อยเอกคอสแตนโซ (Captain Costanzo) ทหารฝ่ายอนุศาสนาจารย์หรือที่บรรดาเชลยเรียกว่า "หลวงพี่" เป็นต้น

เชลยอังกฤษประท้วงการตายของนายทหารยศสูงสุดของพวกตน
เรื่องยุ่งๆ เริ่มตั้งแต่ผู้การไรอันยังไม่ทันจะเข้าค่าย ผู้พันฟินแซมกับพวกกำลังทำพิธีฝังศพผู้พันล็อคฮาร์ด นายทหารเชลยที่มียศสูงสุดที่พึ่งเสียชีวิต เสร็จพิธีก็ยังคงประท้วงผู้พันบาทาเลีย เมื่อเข้าไปในค่าย ผู้การไรอันพบปัญหาว่าบรรดาเชลยไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร เช่น ถูกลดอาหารและยา เสื้อผ้าสกปรกมอมแมม มีทหารเจ็บป่วยเป็นมาลาเรียไม่ได้รับการรักษา ฯลฯ เนื่องจากผู้พันบาทาเลียลงโทษบรรดาเชลยที่พยายามหนี ในกลุ่มเชลยเอง พวกอังกฤษได้พยายามหนีจากค่ายด้วยการแอบขุดอุโมงค์และกักตุนอาหารและยารักษาโรคไว้เพื่อใช้ระหว่างการหนี ขณะที่เชลยอเมริกันไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าในเร็วๆ นี้ เมื่อสัมพันธมิตรบุกมาถึง ทหารอิตาลีก็ต้องปล่อยเชลยทั้งหมดอยู่แล้ว ซึ่งไรอันก็เห็นด้วย ไรอันจึงได้ใช้สิทธิในฐานะเชลยที่ยศสูงสุดสั่งให้นำอาหารและยาไปไว้ในหน่วยพยาบาล และนำผู้พันบาทาเลียมาดูอุโมงค์ เพื่อแลกกับสวัสดิการต่างๆ ของเชลย ตอนนี้ฉายา "Von Ryan" ได้เกิดขึ้นจากการประชดของบรรดาเชลยอังกฤษ เป็นเชิงตำหนิว่าไรอันเป็นพวกเดียวกับเยอรมันอิตาลีอะไรประมาณนั้น อย่างไรก็ตาม ไรอัน ก็ยังถูกบาทาเลียสั่งขังเดี่ยวในห้องที่เป็นคล้ายกล่องเล็กๆ เนื่องจากเป็นผู้สั่งให้เชลยแก้ผ้าเอาเสื้อผ้ามาเผาเพื่อบีบให้บาทาเลียนำเสื้อผ้าใหม่มาให้
ไรอันถูกขังเดี่ยวได้คืนเดียว รุ่งขึ้นก็ได้รับการช่วยเหลือจากเชลยด้วยกัน เนื่องจากบรรดาทหารอิตาลีได้หนีไปหมด เหลือแต่ผู้พันบาทาเลีย ซึ่งพวกเชลยอังกฤษกำลังจับขึ้นศาลที่พวกเขาตั้งกันเอง กับผู้กองโอริอานี ที่ต้องรับบททนายให้บาทาเลีย ไรอันไม่เห็นด้วยกับการตั้งศาลทหาร พวกเชลยจึงเพียงแค่จับบาทาเลียไปขังเดี่ยวไว้เช่นเดียวกับที่ไรอันพึ่งโดนมา จากนั้น บรรดาเชลยรวมทั้งผู้กองโอริอานีได้ยกขบวนกันหลบหนีออกมานอกค่าย โอริอานีแนะให้เชลยไปหลบค้างคืนที่ซากอาคารเก่าแห่งหนึ่ง ตนเองอาสาจะไปติดต่อกับทหารเรือให้ แต่โชคร้ายทหารเยอรมันมาที่ค่ายแล้วช่วยผู้พันบาทาเลียออกมาได้ แล้วตามไปจับโอริอานีกับบรรดาเชลยได้ทั้งหมด แล้วกวาดต้อนไปขึ้นขบวนรถไฟที่รออยู่ นี่คือจุดเริ่มต้นของการผจญภัยทางรถไฟของบรรดาเชลย

หลวงพี่คอสแตนโซ่ปลอมเป็นผู้พันเคล็มเมนต์ ส่วนไรอันเป็นจ่าทหารอยู่ข้างหลัง

กองบัญชาการในโบกี้สุดท้าย
ไรอัน โอริอานี กับบรรดาเชลยนายทหารถูกขังรวมกันในรถไฟโบกี้แรก แยกจากเชลยอื่นๆ ทางฝ่ายเยอรมัน มีพันตรีเคลมเมนต์ เป็นผู้ควบคุมอยู่โบกี้สุดท้าย ตามโบกี้ต่างๆ จะมีทหารเยอรมันเป็นการ์ดอยู่บนหลังคาแต่ละโบกี้ ตอนแรกๆ ไรอันกับพวกเหมือนไม่รู้จะทำยังไง รู้แต่ว่ารถไฟมันขึ้นเหนือไปเรื่อยๆ แต่แล้วคนแต่งเรื่องก็อุตส่าโม้นิ่มๆ ให้ไรอันกับพวกหาวิธีการที่จะเลาะพื้นไม้ของตู้โบกี้ ลงมาจากขบวนแล้วปีนกลับขึ้นไปเก็บยามคนหนึ่งได้ แล้วเมื่อขบวนรถจอดก็สามารถยึดรถฆ่ายามทั้งหมดได้ เหลือแต่ผู้พันเคล็มเมนต์กับนางบำเรอสาวชาวอิตาลีคนหนึ่งเท่านั้น ตอนนี้ไรอันกับพรรคพวกจำนวนหนึ่งต้องปลอมเป็นทหารเยอรมันผู้ควบคุมขบวนรถ และมอบให้หลวงพี่คอสแตนโซผู้เก่งภาษาเยอรมันสวมรอยเป็นผู้พันเคล็มเม็นต์ เหตุการณ์ช่วงนี้ออกแนวขำๆ กับการที่ไรอันกับพวกต้องใช้ไหวพริบแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตลอด เช่น พอหลวงพี่หรือผู้พันเคล็มเมนต์ปลอมถูกผู้กองเยอรมันที่สถานีฟลอเรนซ์ขอดูเอกสาร ก็แกล้งเฉไฉไปดุผู้กองเรื่องไม่ติดกระดุมคอเสื้อ พอถึงเมืองโบโลญญ่า เจ้าเกสตาโป (Gestapo) รายหนึ่งช่างติดใจสงสัยนาฬิกานักบินอเมริกันของไรอันที่ปลอมเป็นจ่าทหารเยอรมันเหลือเกิน รถไฟจะออกอยู่แล้วยังอุตส่าตามเข้ามาในโบกี้บัญชาการอย่างจะเอาเรื่อง จนผู้พันฟินแชมเตรียมจะเก็บหมอนี่อยู่แล้ว การณ์กลับเป็นว่าเจ้าเกสตาโปมาดโหดคนนี้ต้องการจะเอาของมาแลกกับเจ้านาฬิกาเท่านั้น เฮ้อ!

เกสตาโป (ขวา) เข้ามาในโบกี้บัญชาการด้วยท่าทีขึงขัง เพียงเพราะอยากได้นาฬิกานักบินอเมริกันของไรอัน!
คณะเชลยได้พยายามปลอมแปลงเอกสารเพื่อเปลี่ยนเส้นทางหลบการตรวจสอบของทหารเยอรมัน โดยจะหลบไปทางเมืองมิลาน แต่ปัญหาก็ยังเกิดขึ้นจากความพยายามหลบหนีของเคล็มเมนต์กับกิ๊กสาวชาวอิตาลี จนถูกไรอันสังหารเองกับมือทั้งคู่ด้วยความรู้สึกสะเทือนใจ ทางฝ่ายทหารเยอรมันเองเริ่มจับพิรุธได้ ต่อมาตั้งใจจะทิ้งขบวนรถไฟก่อนถึงเมืองมิลานตามแผนก็ไม่ได้ เลยตกลงใจจะเดินทางไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์กัน แม้จะผ่านเมืองมิลานไปได้ แต่ฝ่ายเยอรมันก็ยังตามจองเวรไม่ลดละ โดยส่งทหารกลุ่มเบ้อเริ่มขึ้นรถไฟอีกขบวนออกติดตาม พร้อมกันนั้นยังได้ส่งเครื่องบินอีก 3 ลำ ล่วงหน้าไปสกัดขบวนของไรอัน ซึ่งทำได้เพียงแค่ถล่มทางข้างหน้าให้รางขาดไปท่อนหนึ่ง เชลยส่วนหนึ่งต้องดำเนินการซ่อมรางดังกล่าว ขณะที่ไรอันกับพรรคพวกอีกส่วนหนึ่งต้องไปสกัดทหารเยอรมันที่กำลังตามมา ผลคือไรอันต้องจบชีวิตลงขณะกำลังวิ่งตามรถไฟที่พร้อมออกเดินทางแล้ว


แต่ในนวนิยายเรื่องเดิมที่ประพันธ์โดย David Westheimer เมื่อปี 1964 (พ.ศ.2507) นั้น ไรอันสามารถรอดชีวิตนำพรรคพวกเข้าไปยังสวิตเซอร์แลนด์ได้พร้อมกัน เมื่อถึงที่หมาย ไรอันต้องปล่อยก๊ากออกมาเมื่อพบว่ามีเชลยมือซนคนใดไม่ทราบแอบไปทาสีที่ด้านนอกขบวนรถว่า "VON RYAN'S EXPRESS" อันเป็นที่มาของชื่อนิยายเรื่องนี้ ซึ่งตลอดเหตุการณ์ในหนังเราจะไม่เห็นตัวหนังสือดังกล่าวเลย ยิ่งไปกว่านั้น ในรายชื่อนวนิยายของ Westheimer ยังปรากฏว่ามีเรื่อง Von Ryan's Return ประพันธ์ในปี 1980 (พ.ศ.2523) อีกด้วย ก็น่าเห็นใจอยู่ หนังสร้างหลังจากนิยายปีเดียวโดยไม่รู้ว่าผู้ประพันธ์จะมีภาคต่อ ไม่งั้นผู้การฟอนไรอันในหนังของเราคงไม่ต้องเท่งทึงเป็นแน่แท้ จะได้สร้างภาคสองมาเก็บตังค์เราอีกไงครับ

โธ่! ไม่น่าเลย แล้วใครจะเป็นพระเอกภาคสองล่ะเนี่ย?
ถ้าพูดถึงคุณค่าในด้านประวัติศาสตร์ของหนังเรื่องนี้อาจจะไม่มากนัก เป็นแค่พอรู้ว่าสภาพของอิตาลีใน สงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากสัมพันธมิตรขึ้นบกทางใต้และถูกเยอรมันยึดครองทางเหนือนั้น น่าอึดอัดเพียงใด กับพอได้รู้ภูมิศาสตร์แถวๆ อิตาลีกับสวิตเซอร์แลนด์กันพอหอมปากหอมคอ ด้านการดำเนินเรื่อง จัดว่าเป็น Action Comedy รุ่นเก๋าที่น่าศึกษา คือใช้ขบวนรถไฟเป็นตัวเดินเรื่อง บางตอนอาจจะโม้ไปบ้างอย่างเช่น การเลาะพื้นโบกี้ออกมายึดขบวนรถ หรือตอนยิงเครื่องบินเยอรมันตกไปหนึ่งลำ แต่ก็ไม่ใช่แอคชั่นหวือหวาพลิกไปพลิกมาแล้วก็ระเบิดวินาศสันตะโรแบบเว่อๆ อย่างหนังแอคชั่นรุ่นใหม่หลายๆ เรื่อง ถ้าเรื่องจบแบบ Happy Ending อย่างในนิยาย จะเป็น Action Comedy ที่สมบูรณ์แบบเลยครับ
เนื่องจากบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์อัน ชอบธรรมของผู้เขียน และอาจะมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลบ้างตามความเหมาะสม ในการนำบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่นๆ จึงขอความร่วมมือให้ใช้วิธีการคัดลอกเฉพาะ Link หรือ URL Address แทนการคัดลอกบทความทั้งหมด หากมีการคัดลอกไปในลักษณะแอบอ้างเป็นผู้เขียน หรือมีเจตนาอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทางเว็บ iseehistory.com แล้ว จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย
ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ : Von Ryan's Express
ชื่อภาษาไทย : ด่วนนรกเชลยศึก
เรื่องเดิม : นวนิยาย โดย David Westheimer
ผู้สร้าง : Saul David
ผู้กำกำกับ : Mark Robson
ผู้เขียนบท : Wendell Mayes, Joseph Landon
ผู้แสดง : Frank Sinatra, Trevor Howard, Raffaella Carra, Brad Dexter, Sergio Fantoni, John Leyton, Edward Mulhare, Wolfgang Preiss, James Brolin, John van Dreelen, Adolfo Celi, Vito Scotti, Michael Goodliffe
ควรอ่านเพิ่มเติม
กระทู้ที่เกี่ยวข้อง
เรียนเชิญสมาชิกร่วมแสดงความคิดเห็นที่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บ (ต้องสมัครและ Login ก่อน) ผู้ชมทั่วไปหรือสมาชิกที่ต้องการโพสต์รูป เชิญร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บบอร์ด "คุยกันหลังฉาก" ในกระทู้ที่มีอยู่แล้ว หรือ สร้างกระทู้ใหม่ (คลิกที่นี่) ครับ
หากเป็นสมาชิก Facebook แสดงความเห็นได้ในฟอร์มข้างล่างนี้ครับ
ภาพยนตร์ตัวอย่างจาก www.youtube.com
ทางเว็บไม่มีนโยบายนำภาพยนตร์ฉบับ เต็มมาให้ดูออนไลน์หรือให้ดาวน์โหลดเนื่องจากเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และไม่ มีพื้นที่สำหรับเก็บไฟล์ภาพยนตร์