
webmaster@iseehistory.com
ครั้งก่อนนู้น ตั้งแต่ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยังเป็นเพียงคอลัมน์หนึ่งใน Blog เคยแนะนำ สารคดี เกี่ยวกับ D-Day จาก National Geographic เรื่อง D-Day: Men and Machines มาแล้ว คราวนี้ถึงคิวของ สำนักข่าว BBC อันมีชื่อเสียงของอังกฤษบ้าง ซึ่งเป็น สารคดี ที่สร้างในโอกาสครบรอบ 60 ปี ของ การยกพลขึ้นบกที่ชายหาดนอร์มังดี หรือ D-Day ในปี 2004 (พ.ศ.2547) ในชื่อเรื่องว่า D-Day 6.6.44
สารคดีเรื่องนี้เริ่มท้าวความเมื่อเดือนมกราคม 1944 (พ.ศ.2487) เมื่อ นายพลไอเซนฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower) เข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดของฝ่ายสัมพันธมิตร รับผิดชอบการวางแผนบุกยุโรปเพื่อปลดปล่อยประเทศต่างๆ จากการยึดครองของนาซี ขณะที่ จอมพลรอมเมล (Erwin Rommel) แห่งเยอรมัน กำลังตรวจสอบและปรับปรุง กำแพงแอตแลนติค หรือ แนวป้องกันชายฝั่งยุโรปตะวันตก อย่างมาดมั่น แต่แฝงไว้ด้วยความหวาดหวั่นอยู่ลึกๆ ว่าเยอรมันไม่สามารถชนะสงครามได้หรอก แต่ถ้าสามารถยันการบุกของข้าศึกได้ ช่องทางที่จะเกิดการเจรจาสงบศึกก็จะเป็นไปได้

ผู้แสดงเป็น ไอเซนฮาวร์ (ซ้าย) และ รอมเมล (ขวา) ขุนศึกของแต่ละฝ่าย
ทั้งสองฝ่ายตระหนักดีว่าชายฝั่งยุโรปอันแสนยาวเหยียดนั้นเป็นปัญหาสำคัญ ด้านฝ่ายรับคือเยอรมันก็ได้แต่คาดการณ์ว่าสัมพันธมิตรน่าจะยกกำลังขึ้นฝั่งที่ Pas-de-Calais ซึ่งเป็นส่วนแคบสุดของช่องแคบอังกฤษ ด้านสัมพันธมิตรซึ่งกำลังตัดสินใจบุกที่ นอร์มังดี ก็ไม่อยากให้เยอรมันล่วงรู้แผนการโจมตี นี่จึงเป็นที่มาของปฏิบัติการสร้างข่าวลวงที่เรียกว่า Operation Fortitude โดยการสร้างที่ตั้งกำลังทหารปลอมที่อังกฤษฝั่งตรงข้าม Pas-de-Calais ประกอบกับการใช้สายลับสองหน้าในการส่งข่าวลวง
ด้านการเตรียมการของทหารหน่วยต่างๆ ทั้งฝ่ายรุกและฝ่ายรับ สารคดีเรื่องนี้ได้ให้รายละเอียดของหน่วยต่างๆ ที่ต่างไปจากที่ผมได้เคยเห็นในภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ อยู่บ้าง ได้แก่

ฉาก จอมพลรอมเมล สอบสวน คอมมานโด ที่จับได้
- การซ้อมปฏิบัติการของกองพันพลร่มที่ 9 ของอังกฤษ หน่วยกองร้อยปืนใหญ่ของเยอรมันที่ เมอร์วิลล์ (Merville)
- ปฏิบัติการ Exercise Tiger (28 เมษายน 1944/พ.ศ.2487) หรือการซ้อมยกพลขึ้นบกของทหารสหรัฐฯ ที่กลายเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่เมื่อเรืออี (E-Boat) ของเยอรมันหลุดเข้ามาโจมตีขบวนเรือ จนต้องสูญเสียทหารไปมากมาย
- ปฏิบัติการของหน่วยคอมมานโดที่เข้ามาตรวจสอบทุ่นระเบิดชายหาดจนถูกเยอรมันจับได้ เชลยได้ถูกนำตัวมาให้ จอมพลรอมเมล สอบสวนด้วยตนเอง ด้วยความรู้จักใช้ไหวพริบในการพูดจา ทำให้คอมมานโดผู้ตกเป็นเชลยรายนี้รักษาความลับไว้ได้โดยที่ รอมเมล ไม่ติดใจสงสัย แถมคุยกันถูกคออีกต่างหาก
- ปฏิบัติการทางอากาศของ สัมพันธมิตร ในฝรั่งเศสเพื่อตัดเส้นทางลำเลียงของเยอรมัน ที่ทำให้ประชาชนฝรั่งเศสต้องเสียชีวิตไปนับพันคน
เมื่อถึงเหตุการณ์วันดีเดย์ สารคดี ของ BBC เรื่องนี้ก็ให้รายละเอียดของการรบที่ทั้งที่คล้ายคลึงและแตกต่างไปจากภาพยนตร์เรื่องอื่น เช่น
- อุปสรรคจากสภาพอากาศก่อนกำหนดการบุก จนเกือบจะต้องเลื่อนกำหนดออกไปอย่างน้อยสองสัปดาห์ แต่ในที่สุด ไอเซนฮาวร์ ก็ตัดสินใจเสี่ยงบุกในกลางดึกคืนวันที่ 5 โดยได้มีการเตรียมแถลงการณ์เผื่อในกรณีที่การบุกล้มเหลวไว้ด้วย
- ด้านเยอรมัน จอมพลรอมเมล ได้ตัดสินใจเดินทางไปเยอรมันเพื่อเข้าพบ ฮิตเลอร์ และฉลองวันเกิดภรรยา ด้วยความชะล่าใจว่าสัมพันธมิตรจะยังไม่บุกในสภาพอากาศเลวร้าย ครั้นพอทราบข่าวการบุก ในช่วงแรกได้พยายามสั่งการต่างๆ ทางโทรศัพท์ เมื่อไม่ได้อย่างใจจึงต้องสั่งสารถีควบรถออกเดินทางกลับมาบก.ในฝรั่งเศส แต่ไม่ทันการณ์ด้วยระยะทางอันไกล
- การเริ่มโจมตีของพลร่มอังกฤษโดยเครื่องร่อน ของกองพันพลร่มที่ 9 ของอังกฤษ ต่อหน่วยปืนใหญ่เมอร์วิลล์

ฉากการรบที่ หาดโอมาฮ่า (Omaha Beach)
- การรบที่ หาดโอมาฮ่า ที่บรรยายจากมุมมองของทหารทั้งสองฝ่าย รวมถึงช่างภาพสงคราม
- การเคลื่อนพลของกองพลพานเซอร์ที่ 21 ที่ภาพยนตร์เรื่องอื่นไม่ได้กล่าวถึง เพราะกว่า ฮิตเลอร์ จะตื่นขึ้นมาสั่งให้หน่วยนี้ไปที่ชายฝั่งได้ ก็สายเกินกว่าจะแก้ไขสถานการณ์แล้ว แต่สารคดีเรื่องนี้ก็ยังกล่าวถึงกองพลนี้ว่า ได้เคลื่อนที่ไปยังบริเวณเมือง Caen จนได้ปะทะกับกองทหารราบเบาพระเจ้าชรอปไชร์ (King's Shropshire Light Infantry) แห่งอังกฤษ ที่พึ่งเดินทางขึ้นจากหาด Sword

ทหารอังกฤษยกพลขึ้นบกที่หาดซอร์ด (Sword Beach)
- สมาชิกขบวนการใต้ดินฝรั่งเศส ชื่อ อองเดร หลังจากปฏิบัติการทำลายทางรถไฟแล้ว ยังได้เดินทางไปช่วยหน่วยกาชาดในโรงพยาบาลเมือง Caen ท่ามกลางการทิ้งระเบิดอย่างหนักจากฝ่ายสัมพันธมิตร เขาได้นำผ้าที่เปื้อนเลือดมาวางบนพื้นนอกอาคารเป็นรูปเครื่องหมายกาชาด (Red Cross) ให้เครื่องบินสัมพันธมิตรสังเกตเห็น ทำให้โรงพยาบาลและวิหารที่อยู่ใกล้กัน สามารถรอดพ้นอันตรายไปได้

- แต่เป็นโชคร้ายของพลพรรคหน่วยใต้ดินฝรั่งเศสที่ถูกเยอรมันขังไว้ในเรือนจำเมือง Caen นั้นเอง เมื่อทหารเยอรมันเห็นท่าไม่รอดก็ลากเอานักโทษเหล่านี้มายิงทิ้งซะนี่ มีเด็กหนุ่มคนเดียวที่รอดชีวิตได้ในตอนแรก แต่ก็ต้องตายในที่คุมขังเพราะขาดอากาศหายใจ และทหารสัมพันธมิตรไปช่วยไม่ทัน
- ในระหว่างและภายหลังปฏิบัติการดีเดย์แล้ว ฝ่ายสัมพันธมิตรยังได้พยายามสร้างข่าวลวงให้เยอรมันสับสนว่าการบุกที่นอร์มังดีเป็นกลลวง ก่อนจะมีการบุกจริงที่คาเล่
เสน่ห์ของสารคดีเรื่องนี้อยู่ตรงที่เขาไม่ได้ใช้แต่เพียงภาพยนตร์จากเหตุการณ์สงครามเท่านั้น แต่ยังได้มีการแสดงของตัวละครที่มารับบทเป็นบุคคลจริงในประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่ระดับบิ๊กๆ อย่าง ไอเซนฮาวร์ กับ รอมเมล ไปจนถึงทหารหน่วยรบ หน่วยใต้ดิน สายลับ ช่างภาพ ซึ่งเขาก็ได้หาคนที่หน้าตาคล้ายตัวจริงในประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก นอกจากชายอกสามศอกทั้งหลายแล้ว ยังมี ท.ส.หญิง ของท่านนายพลไอเซนฮาวร์ ด้วย เรื่องระหว่างไอเซนฮาวร์กับท.ส.หญิงผู้นี้ ผมเคยดูจากภาพยนตร์ที่นำมาฉายในทีวีบ้านเราเมื่อหลายปีก่อน ตามภาษาวัยรุ่นสมัยนี้จะเรียกว่าเป็นกิ๊กกันก็ว่าได้ ถ้ามีโอกาสจะหารายละเอียด มาคุยกันทีหลัง ส่วนผู้รับบทเป็น จอมพลรอมเมล นั้น เวลาใส่หมวกก็ดูคล้ายท่านมาก แต่ส่วนใหญ่เวลาไม่ได้ใส่หมวกแล้ว หัวล้านเจ๊งเหม่งเลย ผิดกับ จอมพลรอมเมล ตัวจริงของกระผม ที่เพียงแค่เถิกๆ ประมาณหลักแสนเท่านั้น ไม่ถึงล้านสักหน่อย

"มาช้ายังดีกว่าไม่มา" คงใช้ไม่ได้กับกองพลพานเซอร์ที่ 21 ใน วันดีเดย์
แต่ภาพรถถังเยอรมันที่เหมือนจริงนี้ ต้องยกนิ้วให้ทีมงานผู้สร้างสารคดีครับ
ด้านอาวุธยุทธภัณฑ์ต่างๆ นั้น ก็เป็นของที่เหมือนจริงของสมัยนั้น ทั้งอาวุธปืน ยานพาหนะต่างๆ ฉากการยกพลขึ้นบกที่ หากโอมาฮ่า และ หาดซอร์ด ทำได้ไม่เลวเลย ยิ่งตอนที่ กองพลพานเซอร์ที่ 21 เคลื่อนพลมานั้น รถถังแต่ละคันทำได้เหมือนของจริงในสมัยนั้นมาก ดูแล้วหนังสงครามของฮอลลีวู้ดหลายเรื่องชิดซ้ายไปเลยครับ
ในด้านข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ นับเป็นอีกมุมมองที่น่าสนใจต่างไปจากภาพยนตร์เรื่องอื่นเกี่ยวกับ ดีเดย์ ไม่ว่าจะเป็น The Longest Day, D-Day: Men and Machines หรือ The Atlantic Wall มีหลายประเด็นที่สารคดีเรื่องนี้กล่าวแตกต่างไปจากเรื่องอื่น มากพอๆ กับประเด็นที่ไม่ได้กล่าวถึงแต่ปรากฏในเรื่องอื่น คือแต่ละเรื่องก็มีประเด็นของตัวเอง ซ้ำกันบ้าง ไม่ซ้ำกันบ้าง ก็ต้องยกประโยชน์ว่า เป็นการยากที่หนังความยาวไม่กี่ชั่วโมงจะเก็บรายละเอียดของปฏิบัติการอันยิ่งใหญ่ครั้งนี้ทั้งหมดให้ครบถ้วนได้ ประเด็นใหญ่ที่สุดที่ยังไม่ปรากฏในหนังเรื่องใด คือ การยกพลขึ้นบกของกองทัพแคนาดาที่ชายหาดจูโน ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่าหนังที่ผมเอ่ยถึงนั้นสร้างโดยอเมริกันและอังกฤษ เรื่องของประวัติศาสตร์นั้น เป็นอีกศาสตร์หนึ่งที่ต่อจิ๊กซอว์กันไม่จบจริงๆ ครับ
คำคมชวนคิด
- "ความจริงคือคุณไม่สามารถซ่อนกองทัพที่กำลังบุกได้ แต่คุณสามารถอำพรางวัตถุประสงค์" คำกล่าวของสมาชิกผู้หนึ่งในคณะผู้วางแผนด้านข่าวกรอง
- "เราต้องการจมเรือ ไม่ใช่ฆ่าคน แต่สงครามก็คือสงคราม" คำสัมภาษณ์ของ Hans Schirren ผู้บังคับการเรืออี ซึ่งจมเรือสัมพันธมิตรใน Exercise Tiger
- "เราจะยอมรับจำนวนผู้ตายสองเท่า ถ้านั่นหมายถึงอิสรภาพ" คำพูดของ นายพลไอเซนฮาวร์
- "พันธมิตรสังหารพลเรือนฝรั่งเศสมากกว่าที่ทหารเยอรมันสังหาร" จอมพลรอมเมล กล่าวหลังจากทราบรายงานการโจมตีเส้นทางรถไฟในฝรั่งเศส
เนื่องจากบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์อัน ชอบธรรมของผู้เขียน และอาจะมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลบ้างตามความเหมาะสม ในการนำบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่นๆ จึงขอความร่วมมือให้ใช้วิธีการคัดลอกเฉพาะ Link หรือ URL Address แทนการคัดลอกบทความทั้งหมด หากมีการคัดลอกไปในลักษณะแอบอ้างเป็นผู้เขียน หรือมีเจตนาอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทางเว็บ iseehistory.com แล้ว จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย
ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ : D-Day 6.6.44
ชื่อภาษาไทย : ดีเดย์ วันเผด็จศึก
ผู้สร้าง : BBC
ควรอ่านเพิ่มเติม
กระทู้ที่เกี่ยวข้อง
เรียนเชิญสมาชิกร่วมแสดงความคิดเห็นที่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บ (ต้องสมัครและ Login ก่อน) ผู้ชมทั่วไปหรือสมาชิกที่ต้องการโพสต์รูป เชิญร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บบอร์ด "คุยกันหลังฉาก" ในกระทู้ที่มีอยู่แล้ว หรือ สร้างกระทู้ใหม่ (คลิกที่นี่) ครับ
หากเป็นสมาชิก Facebook แสดงความเห็นได้ในฟอร์มข้างล่างนี้ครับ
ทางเว็บไม่มีนโยบายนำภาพยนตร์ฉบับ เต็มมาให้ดูออนไลน์หรือให้ดาวน์โหลดเนื่องจากเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และไม่ มีพื้นที่สำหรับเก็บไฟล์ภาพยนตร์