Countryboy
25 พฤษภาคม 2550
สวัสดีเพื่อน ๆ สมาชิกของ www.iseehistory.com ทุกท่านครับ วันนี้ เรามาคุยกันถึงเรื่องราวของสงครามใหญ่สงครามนึง ที่ตอนแรกผมไม่แน่ใจว่า ระยะเวลาของมันนั้น จะถูกบรรจุเข้าในประวัติศาสตร์ได้หรือยัง เพราะเรื่องราวของสงครามครั้งนี้ เพิ่งเกิดขึ้นและจบลงเมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมานี่เอง แต่ได้หารือ Webmaster แล้วว่าไม่มีปัญหา รายละเอียดคงต้องรบกวน Webmaster ช่วยไขข้อข้องใจในคอมเมนต์ตอนท้ายด้วยนะครับ ว่า…เหตุการณ์ใด ระยะเวลาขนาดไหน…ถึงจะเรียกว่าเป็นประวัติศาสตร์ได้ ขออนุญาตเริ่มคุยกันถึงเรื่องนี้เลยนะครับ เรื่องของ สงครามเวียดนาม
จากความตั้งใจเดิมที่จะคุยกันถึงเรื่องภาพยนต์ที่เกี่ยวกับ สงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อต้อนรับวันครบรอบ 63 ปีของวันยกพลขึ้นบกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่จะมาถึงในวันที่ 6 มิถุนายน นี้ บังเอิญว่า เมื่อครั้งที่แล้ว ที่เราคุยกันเรื่องของเจ้าหนู Ryan แล้วผมได้พาดพิงไปถึง Joe Galloway เข้า ก็เลยหยิบหนังเรื่อง We Were Soldiers มาดู พร้อมกับค้นหนังสือ ชื่อ สิ้นชาติ ที่เขียนโดย อดีตนายกรัฐมนตรีเวียดนามใต้ในตอนนั้น คือ เหงียน เกา กี แปลโดย พงษ์ พินิจ ออกมาอ่านอีกครั้งด้วย ก็เลยมีความคิดว่า เรามาคุยกันเรื่องของ หนังสงครามเวียดนาม บ้างน่าจะดี
We Were Soldiers สร้างจากหนังสือชื่อ We Were Soldiers Once…And Young เขียนโดย Joe L. Galloway และ Lt. General Hal Moore ที่เล่าเรื่องราวของศึกเวียดนามในครั้งนั้นไว้ เพียงแต่ในหนัง ได้ตัดตอนเฉพาะบทบาทการรบของ พันโท มัวร์ (ยศในขณะนั้น) ที่นำทหารเข้าสู่สมรภูมิ La Drang Valley เมื่อปี คศ. 1965 (พ.ศ.2508) นี่เองครับ
Mel Gibson (ซ้าย) รับบทผู้พัน Moore และ Barry Pepper (ขวา) รับบทเป็น Galloway
ผมลืมบอกไป ว่า Joe Galloway นี่เป็นผู้สื่อข่าวสงครามนะครับ สังกัด UPI (United Press International) ผ่านสมรภูมิมาหลายแห่งครับ ผมฝาก link ที่เกี่ยวข้องมาด้วยแล้ว เผื่อท่านที่สนใจจะได้ตามไปค้นอ่านดูกันนะครับ
“สงครามเวียดนาม ถือได้ว่าเป็นสงครามที่ยืดเยื้อเรื้อรังมากที่สุดในประวัติศาสตร์โลก และส่งผลกระทบกระเทือนไปทั่วทุกตารางแผ่นดิน ตั้งแต่ชาติยิ่งใหญ่มหาศาลอย่างสหรัฐอเมริกา ไปจนถึงชาติยากจนค่นแค้นในอินโดจีน และกระเทือนมาถึงแผ่นดินไทย….” นี่คือคำนำจากหนังสือ สิ้นชาติ จากการแปลของ พงษ์ พินิจ ที่ผมได้กล่าวถึงข้างบนที่ผ่านมาครับ ขออนุญาตนำมาลงไว้ในเรื่องนี้ด้วย รวมทั้งข้อมูลต่าง ๆ ที่ผมจะนำมาเล่าสู่กันฟังครับผม
หลายครั้ง และ หลายหน สำหรับเพื่อน ๆ ผมที่เคยมาตั้งวงคุยกันในเรื่องต่าง ๆ เรื่องราวของศึกเวียดนาม มักจะเป็นเรื่องหนึ่งที่เป็นประเด็นในการคุย หลายคน ชอบพูดว่า อเมริกัน…รบแพ้เวียดนามเหนือ ผมก็จะต้องหยิบหนังสือเล่มที่ว่านี้มาให้อ่านกันครับ จนหนังสือช้ำน่วมหมดแล้ว หลายคนจึงเข้าใจว่าทำไม เวียดนามถึงสิ้นชาติ แต่หลายคนก็ยังตะแบงบอกว่า อเมริกันแพ้อยู่ดี เพราะไม่อยู่รบให้ชนะ อืม…ผมเลยถามว่า งั้น…กองพันจงอางศึก ของไทย…ก็รบแพ้เวียดนามด้วยซี เพราะไม่อยู่รบจนชนะเหมือนกัน ปรากฏว่า…ตะแกตอบไม่ได้ครับ
จากข้อมูลที่มีอยู่นะครับ เวียดนาม เป็นประเทศที่เป็นเอกราชมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 เคยสามารถทำการรบป้องกันดินแดนจากจีนในสมัยราชวงค์ ถัง และ ซุ่ง ของจีนมาแล้ว ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นเข้ารุกราน ชาวเวียดนามนำโดย ลุงโฮ (Ho Chi Minh) ทำการต่อต้านอย่างหนัก โดยมีสหรัฐอเมริกาช่วยหนุนหลัง ตอนนั้น ปี คศ. 1945 (พ.ศ.2488) ครับ ยังเป็นเพื่อนร่วมรบกันอยู่ พอสงครามสงบ เจ้าฝรั่งเศสที่เคยถูกเยอรมันย่ำบู๊ทลงไปแล้วทั่วแผ่นดินก็กลับมาจะเป็นเจ้าอาณานิคมเหมือนเดิม ลุงโฮ กับพรรคพวกไม่ยอมครับ ก็เลยเกิดการต่อสู้เพื่อทวงแผ่นดินแม่คืน คราวนี้ อเมริกัน เพื่อนร่วมรบสมัยสงครามกลับไปช่วยสนับสนุนฝรั่งเศสซะแล้ว ลุงโฮ นำพลพรรคเข้าต่อสู้จนสามารถชนะฝรั่งเศสได้ที่การศึกที่เรียกว่า สมรภูมิ เดียนเบียนฟู มหาอำนาจอย่างฝรั่งเศสเสียหน้ามากครับ ที่ต้องมาพ่ายศึกครั้งนี้ เสียทหารไปตั้งกว่าแสนเจ็ดหมื่นคน รบกันตั้งแต่ปี คศ. 1946 (พ.ศ.2489) จนถึง คศ. 1954 (พ.ศ.2497) หลังจากนั้น เวียดนามเลยต้องถูกแบ่งเป็นสองส่วน คือเวียดนามเหนือ ปกครองด้วยระบบคอมมูนิสต์ และ เวียดนามใต้ ที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นหัวเรือใหญ่ในการต่อต้านระบบคอมมูน
ปี คศ. 1956 (พ.ศ.2499) เริ่มมีที่ปรึกษาทางทหารของสหรัฐอเมริกาเข้าไปในเวียดนาม ปี 1960 (พ.ศ.2503) เริ่มมีทหารเข้าไปอยู่ที่นั่น 900 คน ปี 1961(พ.ศ.2504) เพิ่มเป็น 3,200 คน ปี 1962 (พ.ศ.2505) มี 11,000 คน และเพิ่มกำลังทหารเข้าไปเรื่อย ๆ จนถึงปี คศ. 1969 (พ.ศ.2512) มีจำนวนทหารของสหรัฐอเมริกาประจำการอยู่ในเวียดนามใต้ถึง 540,000 คน จากจำนวนทหารที่หมุนเวียนสับเปลี่ยนกำลังทั้งสิ้นกว่า 2,300,000 คน โดยมีตัวเลขทหารที่เสียชีวิตอยู่ที่ ประมาณ 56,000 คน
ปี คศ. 1969 (พ.ศ.2512) ด้วยเหตุทางการเมืองในประเทศสหรัฐอเมริกาเอง จึงเริ่มมีการทยอยส่งทหารกลับบ้านทีละสองสามหมื่นคนจนถึงปี 1972 (พ.ศ.2515) เหลือทหารอยู่ในเวียดนามเพียง 60,000 คนเท่านั้น จนถึงวันที่ 27 มกราคม 1973 (พ.ศ.2516) มีการเจรจาหยุดยิงเพื่อสันติภาพ สหรัฐอเมริกาจึงถอนกำลังทหารที่เป็นหน่วยรบกลับบ้านจนหมดครับ ไม่ได้พ่ายแพ้จนถูกตีตกทะเลเหมือนอังกฤษที่ ศึกดังเคิร์ก หรือถูกตะลุยเข้าไปเดินเล่นถึงพระราชวังแวร์ซายน์อย่างฝรั่งเศส ซักกะหน่อย
หนังเรื่อง We Were Soldiers เปิดฉากด้วยความพ่ายแพ้ของกองทหารฝรั่งเศสในเวียดนาม ฉากแรกก็เร้าใจแล้วครับ การถ่ายทำผมว่าดีนะ เก็บรายละเอียดได้แม้กระทั่งปลอกกระสุนปืนสั้นที่ผู้หมวดหนุ่มของฝรั่งเศสยิงเป็นนัดสุดท้ายตอนที่โดนทหารเวียดนามแทงข้างหลังกระเด็นออกมาจากช่องคายปลอก ท่านที่ชอบความสมจริงสมจังของหนังคงจะชอบฉากนี้กันครับ
ภาพซ้าย จ่าพลัมลี่ย์ ภาพขวา จากซ้ายไปขวา ผู้พันมัวร์ – สเนคชิต – ทูทอล
หนังตัดมาที่ปี คศ. 1965 (พ.ศ.2518) สหรัฐอเมริกามีความคิดที่จะจัดตั้งกองพันม้าอากาศขึ้น จึงได้เลือกพันโท มัวร์ (Lt.Col. Hal Moore รับบทโดย Mel Gibson) ซึ่งมีประวัติการรบที่ดีเด่นมาแล้วมาเป็นผบ.พัน โดยมีจ่าคู่ใจคือจ่าพลัมลี่ย์ (Sgt. Maj. Basil L. Plumley รับบทโดย Sam Elliott) เป็นผู้ช่วย และมีนักบินฝีมือเยี่ยมในการขับเฮลิคอปเตอร์ฉายา Snake shit (Maj. Bruce 'Snake' Crandall รับบทโดย Greg Kinnear) มาร่วมทำการฝึกนักรบให้แกร่งกล้าเพื่อเข้าไปเผชิญศึกในเวียดนาม ผู้พันมัวร์นี่แกจบโทจากฮาร์วาร์ดนะครับ เมื่อเข้ามารับตำแหน่ง ผบ.พันที่ตั้งขึ้นใหม่ แกศึกษาหมดทั้งสมรรถนะของ ฮ. แบบ Huey ที่จะขนทหารเข้ารบ ศึกษาถึงปัญหาที่ทำไม ฝรั่งเศสถึงต้องพ่ายที่ ศึกเดียนเบียนฟู ศึกษาแม้แต่ประวัติการรบของนายพล คัสเตอร์ ตั้งแต่สมัยสงครามอินเดียนแดงโน่น รวมทั้งยังทำการฝึกร่วมกับทหารทุกคนเหมือนนายพลคัสเตอร์เคยทำด้วยครับ
เนื้อเรื่องดำเนินไปเรื่อย ๆ โดยแสดงให้เห็นการฝึกในรูปแบบต่าง ๆ เห็นอาวุธแบบใหม่ ๆ ในยุคนั้น เช่น ปืนกลแบบ มินิกัน 6 ลำกล้องที่มีอัตราการยิงสูงมาก หรือ ปืนกล เอ็ม. 60 , เอ็ม. 79 หรือ เอ็ม. 16 ที่จ่าพลัมลี่ย์แกบอกว่าเหมือนปืนลมพลาสติกเป็นต้น กับยังแสดงให้เห็นถึงปัญหาของอเมริกันชนในยุคนั้นที่ยังมีการเหยียดผิวกันอีกด้วย รวมทั้งปัญหาการฝึกที่เร่งรัด ที่จะให้ทหารใหม่ต้องออกไปรบไกลจากบ้านถึง 12,000 ไมล์เพื่อรบกับข้าศึกที่ชำนาญการรบมาร่วม 20 ปี
และแล้ว แม้ว่าการฝึกจะยังไม่สมบูรณ์ตามที่ผู้พันมัวร์ต้องการก็ตาม แต่เมื่อเป็นคำสั่งจากประธานาธิบดีจอห์นสันที่ให้ส่งทหารไปช่วยเวียดนามรบเพื่อป้องกันภัยจากคอมมิวนิสต์ กองร้อยที่จัดตั้งขึ้นใหม่ จึงได้รับการบรรจุเข้าเป็นทางการกับ กองพันที่ 1 และได้รับหมายเลขเป็น กองร้อยที่ 7 ซึ่งเป็นที่ขัดหูขัดตาของผู้พันมัวร์เป็นยิ่งนัก เพราะเป็นชื่อกองพันและกองร้อยเดียวกันกับของนายพลคัสเตอร์ ที่พาลูกน้องไปตายหมดแม้กระทั่งตัวเองในการศึกกับอินเดียนแดงที่ Little Bighorn
ในวันที่ประกาศเป็นทางการว่าจะต้องพาลูกน้องไปรบ ผู้พันมัวร์ ได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าทุก ๆ คนที่มีใจความกินใจอยู่ประโยคหนึ่งว่า… “ผมรับปากไม่ได้ ว่าจะพาทุกคนรอดตายกลับมา แต่ผมสาบานว่า เมื่อเราก้าวเข้าสู่สนามรบ ผมจะเป็นคนแรกที่เหยียบเท้าลงบนสมรภูมิ และจะเป็นคนสุดท้าย ที่จะก้าวออกมา และผมจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เราจะกลับบ้านด้วยกัน ไม่ว่าเป็น…หรือตาย” ซึ่งแกก็ทำอย่างนั้นจริง ๆ ครับ
วันที่ต้องออกเดินทางไปรบนี่ดูเหงา ๆ นะครับ ไม่มีใครมาส่ง ไม่มีใครมามอบพวงมาลัยให้เหล่าทหารกล้าเลย แถว ๆ บ้านเรานี่ แค่ออกไปหาปลากินนอกหมู่บ้านก็อวยชัยให้พรกันเมาแล้วเมาอีก บางทีเมาค้างจนตอนออกหาปลาตกน้ำป๋อมแป๋มไปหลายคนเลยครับ
เมื่อไปถึงเวียดนาม กองร้อยที่ 7 ของผู้พันมัวร์ก็ถูกส่งไปปะทะกับข้าศึกที่หุบเขา La Drang ไม่ทราบว่าออกเสียงเป็นภาษาไทยยังไงนะครับ ดูเหมือนในหนังเรียกว่า หุบเขามรณะ ครับ ที่นี่ ผู้พันมัวร์ต้องพาทหารไม่ถึง 400 คนเข้าต่อกรกับทหารเวียดนามเหนือร่วม 4,000 คนที่นำโดยนายทหารที่กรำศึกมาแล้วอย่างโชกโชนกับฝรั่งเศส คนที่เราเห็นกันตั้งแต่ฉากแรกของหนังนั่นแหละครับ (Lt. Col. Nguyen Huu An รับบทโดย Don Duong)
ทันทีที่ก้าวแรกของผู้พันมัวร์ที่นำลูกน้องลงสู่สนามรบ จากความใหม่ต่อสงครามของทหารหนุ่มที่ฮึกเหิม ทำให้หมวดทหารชุดแรกต้องติดกับที่เวียดนามเหนือล่อเอาไว้ในทันที และกว่าจะเข้าไปช่วยตีออกมาได้ดูเหมือนจะเหลือนายสิบกับพลทหารอยู่แค่ 2 คนเท่านั้นเอง การรบดำเนินอยู่เพียงแค่ 3 วันเองครับ ด้วยกำลังสนับสนุนทางอากาศและจากอำนาจการยิงของปืนใหญ่ ทำให้เวียดนามเหนือเสียชีวิตไปถึง 1,800 คนและพ่ายศึกครั้งนี้ไปในที่สุด แต่ก็แลกมาด้วยการสูญเสียของฝ่ายกองร้อยของมัวร์อย่างมากมายเช่นเดียวกัน
ฉากการรบทำได้ตื่นเต้นดีครับ ได้เห็นแม้กระทั่งกระสุนของข้าศึกที่เกือบจะคร่าชีวิตผู้พันมัวร์ด้วย คงจะเป็นแค่ลูกหลงน่ะครับ เพราะเห็นโดนแค่ไฟฉายที่อกเสื้อแตกกระจายเท่านั้นเอง ไม่แรงมากจนทำอันตรายให้บาดเจ็บได้ คงจะปลิวมา….ไกลแสนไกล
นอกจากนั้น ที่เราได้เห็นและได้ยินบ่อย ๆ ก็คือ ฉากที่แสดงให้เห็นถึงความผิดพลาดในการต่อสู้ที่ต้องเป็นอันตรายกับพวกเดียวกันเอง เรื่องนี้มีให้เห็น 2 ฉากครับ ฉากแรกเลยที่หมวด 1 ที่ติดกับถูกล้อมอยู่ มีการขว้างระเบิดควันแล้วโดนพวกเดียวกันเข้า นึกถึงภาพแล้วเสียวครับ โดนฟอสฟอร์รัสขาวไหม้เต็มหน้าเลย ส่วนอีกฉากคือตอนที่เครื่องไอพ่นแบบ เอฟ 100 ซุปเปอร์เซเบอร์ ทิ้งระเบิดนาปาล์มผิดตำแหน่ง ทำให้ฝ่ายเดียวกันต้องบาดเจ็บล้มตายอย่างมากมาย ไม่รู้ว่านักบิน เอฟ 100 ลำนี้นำเครื่องขึ้นจาก อุดร หรือ นครพนมหรือเปล่า เพราะตอนสมัยนั้น ผมเคยไปยืนแหงนหน้ามองตอนที่เครื่องเท๊คอ๊อฟบ่อย ๆ ครับ แค่แหงนหน้ามองเท่านั้นนะครับ แหงนมองอย่างเดียว ไม่ได้เห่า…ขอบอก
ฉากขำ ๆ ก็มีให้เห็นตอนที่หมวดอาวุธหนักไม่สามารถยิงปืนครกสนับสนุนการรบได้เนื่องจากลำกล้องร้อนจัด ผู้พันมัวร์ก็แก้ปัญหาด้วยการนำลูกน้องไปยืนฉี่รดลำกล้องปืน ค. โห….รบกันหนักขนาดนั้น ยังอุตส่าห์มีอารมณ์ยืนฉี่กันได้อีก เก่งจริง ๆ ครับ
การรบติดพันขนาดหนักจากการทุ่มกำลังที่เหนือกว่าเข้าตีจากมันสมองของผบ.พันเวียดนามเหนือ ที่ผู้พันมัวร์ก็อ่านเกมการรบออกว่าจะต้องโดนยังไง แกก็สั่งลูกน้องเข้าไปรบเพื่อแก้เกมได้ทุกทางเลยครับ นักบินต้องทำงานหนักมาก ทั้งการส่งกำลังบำรุงและนำผู้บาดเจ็บกลับ มี ฮ. ถูกยิงตกด้วยครับแต่แค่ลำเดียว ผมว่าน้อยไปหน่อยแฮะ แต่นักบินเหนื่อย และ เครียดมาก แม้กระทั่งผู้พัน แกรนดัล ที่มีฉายาว่า บินได้ต่ำกว่าท้องงู ยังเครียดจนออกอาการจะยิงพวกหน่วยแพทย์เลย
ตอนที่ LZ (Landing Zone) ที่ 1 ปิดแล้วต้องหาที่ลงจอดให้ ฮ.ใหม่นั้น เราจะได้เห็นการโค่นต้นไม้เพื่อทำที่ลงจอดให้ ฮ. ด้วยการใช้สายชนวนระเบิดที่เรียกว่าสาย คอร์ดเท๊กซ์ ด้วยครับ พัน ๆ เสร็จทุกต้น จุดระเบิดตูม….โค่นโม๊ด
โจ แกลโลเวย์ ผู้สื่อข่าวสงครามจาก ยูพีไอ. (Joseph L. Galloway รับบทโดย Barry Pepper)ได้ออกมาให้เห็นตัวตอนที่รบกันนี่แหละครับ และแกก็อยู่ช่วยผู้พันมัวร์รบด้วยตอนที่ข้าศึกเข้ามาประชิดฐาน ซึ่งอย่าว่าแต่นักข่าวเลยครับที่ต้องสู้เพื่อเอาชีวิตรอดให้ได้ แม้แต่คนเจ็บที่ยังพอเหนี่ยวไกปืนได้ต้องรบหมดทุกคน ในหนังนะครับ จะเห็นจ่าพลัมลี่ย์ เดินแจกปืนและแม๊กกาซีนสำรองให้กับคนเจ็บที่นอนอยู่ด้วย และยังเห็นฉากที่แกใช้เจ้าม้าแก่ Colt M. 1911 ขนาด .45 ACP. ที่จ่าแกบอกกับผู้พันมัวร์ในตอนต้น ๆ เรื่องที่เดินคุยกันถึง เอ็ม. 16 ว่า แกมั่นใจในปืนคู่มือของแกกระบอกนี้ มากกว่า เจ้า เอ็ม. 16 ที่เหมือนปืนลมพลาสติกซะอีก แกใช้เจ้า โค้ลท์ ออโต.ที่ว่านี่ยิงสู้กับทหารเวียดนามเหนือในมาดที่อย่างกับพวกเคาบอยยิงกันเลยครับ โก้ซะ
หนังจบลงด้วยชัยชนะจากการพาลูกน้องเข้าตะลุยจนถึงฐานปฏิบัติการส่วนหน้าของข้าศึก โดยมี ฮ. ที่บินโดย Snake Shit ที่เพิ่งได้รับการติดปืนกลแบบหลายลำกล้องเข้ามาช่วยยิงเสริม ซึ่งฉากนี้ บ้างก็ว่าผิดความจริง โดยอ้างว่า ฮ. แบบฮิวอี้ เพิ่งติดปืนมินิกันหลายลำกล้องเพื่อเป็นกันชิพในปี 1966 (พ.ศ.2509) ต่างหาก แต่เนื้อเรื่องในหนังเกิดในปี 1965 (พ.ศ.2508) นี่นา อันนี้เจอจาก Wikipedia นะครับ บังเอิญภาษาประกิตผมไม่แข็งพอที่จะไปแย้ง ขอฝากเพื่อนสมาชิกที่เข้ามาอ่านเจอไปแย้งแทนผมที แค่แย้งนะครับ ว่า…เหตุการณ์ที่ว่านี้เกิดในปี 1965 จริง แต่เดือน พฤศจิกายน แล้วครับ ดูเหมือนจะเป็นวันอาทิตย์ที่ 14 หรือไงนี่แหละ ปลายปีแล้ว และในตอนต้นเรื่องนั้น ก็ยังให้เห็นถึงตอนที่ทหารใหม่ทั้งหลายกำลังมุงดูเจ้าปืนที่ว่านี่อยู่กันเลยครับ อาจจะเป็นไปได้ไหม ที่ ฮิวอี้ ตัวนี้ ตัวที่มาช่วยผู้พันมัวร์รบนี่ ได้รับการทดลองติดตั้ง และ นำมาทดสอบใช้งานในสนามทดลองอาวุธในเวียดนามนี่เอง จากนั้นอีกไม่ถึง 2 เดือน ก็เป็นปี 1966 แล้ว จึงได้ประกาศเป็นทางการว่า จะติดตั้งเจ้าปืนนี่กับ ฮิวอี้ เพื่อใช้เป็นกันชิพครับ…นี่…แค่ความเห็นของผมนะครับ
ผู้พันมัวร์พาลูกน้องออกจากสมรภูมิทุกคน ไม่ว่าเป็น หรือ ตาย จากนั้น ตัวแกเองก็รบอยู่ในเวียดนามจนครบปี และได้เดินทางกลับบ้าน ท่ามกลางความดีใจของครอบครัว ส่วน โจ ก็ออกตระเวณหาทำข่าวในสมรภูมิอื่น ๆ ต่อไปตามหน้าที่ และได้มาร่วมกันเขียนหนังสือเรื่องนี้ขึ้นมา จากนั้น ก็มาสร้างเป็นหนังเรื่องนี้ให้เราได้ดูกันนี่แหละครับ
หมายเหตุเพิ่มเติมจาก Webmaster@iseehistory.com
- เก่าแค่ไหนถึงจะเป็นประวัติศาสตร์? สมัยเด็กๆ จำได้ว่าครูท่านหนึ่งบอกว่า แค่ 10 ปี ผ่านไปก็เป็นประวัติศาสตร์แล้ว พอมาเวลาที่ผมเรียนที่ธรรมศาสตร์ (ปริญญาตรึ 2523-2526 ปริญญาโท 2527-2531) ดูเหมือนไม่ได้มีการพูดประเด็นนี้กันเลย แต่ในทางปฏิบัติ ก็มีเรื่องของ สงครามเวียดนาม อยู่ในวิชา ประวัติศาสตร์อเมริกัน และ ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ที่เดี๋ยวนี้ตั้งชื่อไว้ซะเก๋ไก๋ว่า "อุษาคเนย์" ) กันแล้ว หนังสือต่างๆ ที่ขายกันเดี๋ยวนี้ก็บรรจุ สงครามเวียดนาม เป็นเหตุการณ์สำคัญในศตวรรษที่ 20 แล้วครับ
- โดยส่วนตัวแล้ว ชอบตรงที่ฝ่ายพระเอกสามารถเรียกการสนับสนุนจากปืนใหญ่และเครื่องบินมาช่วยสนับสนุน ลดความเสียเปรียบจากการมีกำลังน้อยกว่าข้าศึกลงไปได้มาก ในเกมบางเกมคุณจะได้การสนับสนุนแบบนี้ในจำนวนที่จำกัดหน่อย แต่ถ้าเลือกใช้ถูกจังหวะเวลา ก็สามารถชนะได้ ส่วนในชีวิตจริง ถ้ารู้จักมองหาพรรคพวกที่จะเป็น "ตัวช่วย" แบบนี้ได้ เราจะสามารถประสบความสำเร็จได้โดยไม่ต้องเหนื่อยคนเดียว แต่ก็ไม่ใช่หลอกใช้เขาฟรีๆ นะครับ ต้องมีอะไรตอบแทนกันแบบ Win Win ด้วย
- ส่วนที่สะเทือนใจและประทับใจคงไม่พ้น การรวมทีมของบรรดาแม่บ้านของหน่วยรบนี้ จัดทีมกันนำจดหมายไปแจ้งข่าวเวลามีสามีใครตาย อีกตอนหนึ่งคือเมื่อพลวิทยุของผู้พันทำหน้าที่บอกพิกัดการทิ้งระเบิดนาปาล์ม ทำงานดีมาตลอด แต่ไปพลาดเข้าหนหนึ่งจนพวกเดียวกันตายไปหลายคน ตาคนนั้นแกถึงกับตาค้าง ท่าทางรู้สึกผิดจนแทบจะทำงานต่อไม่ได้ แต่ผู้พันมัวร์แกรีบตะโกนบอกทันทีว่า "ลืมมันซะ! นายช่วยชีวิตพวกเราไว้ได้เยอะแล้ว ทำหน้าที่ของนายต่อไป" นี่แหละครับ ผู้นำตัวจริง
- ในกองกำลังสหรัฐฯ นี้ จะเห็นมีทหารเชื้อสายญี่ปุ่นอยู่คนหนึ่งด้วย และนายคนนี้แกเป็นหนึ่งในผู้เคราะห์ร้ายที่พลาดโดนระเบิดนาปาล์มจากพวกเดียวกันเข้า ดูแล้วนึกถึงคำพูดหนึ่งในหนังเรื่อง Windtalkers (http://www.iseehistory.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=403769&Ntype=2) ที่ผมเขียนบทความไว้ตั้งแต่ยังเป็น Blog ใครพูดอะไรเกี่ยวกับญี่ปุ่น ลองตามไปอ่านดูนะครับ
เนื่องจากบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์อัน ชอบธรรมของผู้เขียน และอาจะมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลบ้างตามความเหมาะสม ในการนำบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่นๆ จึงขอความร่วมมือให้ใช้วิธีการคัดลอกเฉพาะ Link หรือ URL Address แทนการคัดลอกบทความทั้งหมด หากมีการคัดลอกไปในลักษณะแอบอ้างเป็นผู้เขียน หรือมีเจตนาอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทางเว็บ iseehistory.com แล้ว จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย
ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ : We Were Soldiers
ชื่อภาษาไทย : เรียกข้าว่าวีรบุรุษ
รูปแบบ : วิดีโอ ซีดี ความยาว 138 นาที
เรื่องเดิม : We Were Soldiers Once…And Young โดย Joe L. Galloway และ Lt. General Hal Moore
ผู้สร้าง : Arne L. Schmidt, Jim Lemley, Randall Wallace ปี คศ. 2002 (พ.ศ.2545)
ผู้กำกำกับ : Randall Wallace
ผู้เขียนบท : Randall Wallace
ผู้จำหน่าย : Paramount Picture
ผู้แสดง : Mel Gibson ; Sam Elliott ; Barry Pepper ; Greg Kinnear ; Don Duong
ควรอ่านเพิ่มเติม
หนังสืออ้างอิง : “สิ้นชาติ” เขียนโดย พลอากาศเอก เหงียน เกา กี อดีตนายกรัฐมนตรีเวียดนามใต้ แปลโดย “พงษ์ พินิจ” ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2520
เว็บไซต์
วาทะของผู้นำ “ผมรับปากไม่ได้ ว่าจะพาทุกคนรอดตายกลับมา แต่ผมสาบานว่า เมื่อเราก้าวเข้าสู่สนามรบ ผมจะเป็นคนแรกที่เหยียบเท้าลงบนสมรภูมิ และจะเป็นคนสุดท้าย ที่จะก้าวออกมา และผมจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เราจะกลับบ้านด้วยกัน ไม่ว่าเป็น…หรือตาย”
คำถามของ เซซิล ลูกสาวคนเล็กของผู้พันมัวร์ “สงครามคืออะไร”
“สงคราม คือบางอย่างที่ไม่ควรเกิดแต่ก็เกิด และเกิดเมื่อคนบางคนบางที่ที่พยายามจะยึดครองของ ๆ คนอื่น จากนั้น หน้าที่ของทหาร คือต้องไปยับยั้งคนพวกนั้น”
กระทู้ที่เกี่ยวข้อง
เรียนเชิญสมาชิกร่วมแสดงความคิดเห็นที่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บ (ต้องสมัครและ Login ก่อน) ผู้ชมทั่วไปหรือสมาชิกที่ต้องการโพสต์รูป เชิญร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บบอร์ด "คุยกันหลังฉาก" ในกระทู้ที่มีอยู่แล้ว หรือ สร้างกระทู้ใหม่ (คลิกที่นี่) ครับ
หากเป็นสมาชิก Facebook แสดงความเห็นได้ในฟอร์มข้างล่างนี้ครับ
ภาพยนตร์ตัวอย่าง (Trailer) จาก www.youtube.com
ทางเว็บไม่มีนโยบายนำภาพยนตร์ฉบับ เต็มมาให้ดูออนไลน์หรือให้ดาวน์โหลดเนื่องจากเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และไม่ มีพื้นที่สำหรับเก็บไฟล์ภาพยนตร์