dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



เรือเอกประทีป อนุมณี "ประดู่เหล็กแห่งดูซงญอ"
วันที่ 21/08/2010   22:09:57

 โดย พันทิวา (น.อ.วิพันธุ์  ชมะโชติ)

 

ตำบลดูซงญอ อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส

 วันที่  8 กุมภาพันธ์ 2543 ....

 ที่หมายในราวป่ายังคงสงบเงียบ ขณะที่ร่างล่ำสันของนายทหารหนุ่มภายใต้เครื่องแบบลายพรางของนาวิกโยธินแห่งราชนาวีไทยเคลื่อนตัวไปข้างหน้าอย่างช้า ๆ และระมัดระวัง

 สายตาของเรือเอกจาก "สามสมอ" ซึ่งเป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการจ้องเขม็งไปยังพุ่มไม้ใบบังที่อยู่ห่างออกไป เพื่อสังเกตค้นหาความเคลื่อนไหวและสิ่งผิดปกติ ขณะที่นิ้วชี้แตะรออยู่บนไกปืนพร้อมที่จะเหนี่ยวยิงเพื่อปล่อยกระสุนไปยังฝ่ายตรงข้าม

 แต่อดีตนักเรียนนายเรือรุ่น 87 และทหารนาวิก ฯ ในบังคับบัญชาของเขา ซึ่งปฏิบัติภารกิจร่วมกับทหารพรานและเจ้าหน้าที่ตำรวจจากชุดปฏิบัติการพิเศษ ก็ไม่พบสิ่งบอกเหตุใด ๆ ที่จะแสดงให้เห็นว่า ปรปักษ์ซึ่งเป็นกองกำลังกลุ่มก่อการร้าย "พูโลใหม่" ซึ่งแตกหนีมาจากการโจมตีกวาดล้างในคืนวันก่อนได้ "ซุ่มเงียบ' รอคอยการเข้ามาของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ซึ่งเคลื่อนตัวเข้ามาใกล้ระยะยิงของพวกมันมากขึ้นทุกที

 "หรือว่าจะไม่มีข้าศึกอยู่แถวนี้"

 เรือเอก "ประทีป อนุมณี" นายทหารซึ่งเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขชาวใต้โดยกำเนิดคิดในใจ

 แต่แล้วในพริบตานั้นเอง นาวิกโยธินหนุ่มก็ได้คำตอบโดยไม่ต้องรออีกต่อไป เพราะทั่วบริเวณอันเคยสงบเงียบกลับบังเกิดเสียงกัมปนาทกึกก้องราวกับฟ้าผ่าพร้อม ๆ กับที่พุ่มพงอันรกทึบไหวสะท้านด้วยวิถีกระสุนจากการยิงของโจรก่อการร้ายซึ่งวางตัวอยู่ในชัยภูมิที่ได้เปรียบกว่า

 วินาทีแรกที่ได้ยินเสียงแผดระรัวอื้ออึงชนิดแก้วหูแทบร้าว เรือเอกประทีปก็พุ่งตัวลงพื้นด้วยสัญชาติญาณพร้อมกับร้องตะโกนสั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเข้าที่กำบังและระดมยิงตอบโต้ฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเป็นโจรก่อการร้ายภายใต้การนำของ "สะรี ตะโล มีญอ"

 ถึงแม้จะเป็นฝ่ายถูกระดมยิงเข้าใส่ก่อนโดยไม่ทันรู้ตัว แต่เหล่าทหารนาวิกโยธินซึ่งเป็น "กำลังหลัก" ในการเข้าตีสนับสนุนด้วยทหารพรานและเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่ได้รวนเรเสียขบวนแต่อย่างใด

นาวิกโยธินและทหารพรานภายใต้การนำของเรือเอกประทีป ขณะปะทะกับฝ่ายตรงข้าม

 เพียงอึดใจเดียว เรือเอกประทีปก็ร้องตะโกนสั่งการซ้ำ กระตุ้นให้ทหารนาวิก ฯ ในบังคับบัญชารุกเข้าสู่ที่หมาย โดยตนเองแสดงความเป็นผู้นำอย่างเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ คืบคลานเข้าหาแนวข้าศึกพร้อมกับยิงตอบโต้กลับคืนไปอย่างถี่ยิบ

 เมื่อเข้าไปอยู่ในระยะห่างจากโจรก่อการร้ายประมาณ 10-15 เมตร เรือเอกประทีปรู้สึกได้ว่าห่ากระสุนที่พุ่งสวนออกมาสกัดกั้นเป็นไปอย่างหนาแน่นและวิถีการยิงบ่งชี้ว่ากลุ่มโจรอยู่บนเนินสูงซึ่งเป็นชัยภูมิที่ได้เปรียบต่อฝ่ายเข้าตี

 นายทหารหนุ่มจึงวิทยุขอการสนับสนุนจาก ฮ. กันชิป ให้บินเข้ามาทำการยิงกดดันข้าศึก เพื่อให้กำลังภาคพื้นดินรุกเข้าประชิดที่หมายได้ตามต้องการ

 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์ที่สับสนและสภาพภูมิประเทศอันรกทึบ ทำให้เกิดข้อผิดพลาดในการประสานงานทางวิทยุเพื่อ "ชี้เป้า"ให้นักบินทำการโจมตี

 การยิงอาวุธจาก ฮ. กันชิป จึงไม่ตรงกับตำแหน่งที่มั่นของฝ่ายตรงข้าม มิหนำซ้ำในจังหวะเดียวกับที่เรือเอกประทีปพยายามเคลื่อนตัวไปยังตำแหน่งใหม่เพื่อทำการแก้ไขให้วิถีการยิงตรงที่หมาย เขาก็รู้สึกเหมือนมีอะไรบางอย่างพุ่งเข้ามาปะทะร่างกายส่วนบนจนหัวไหล่ขวาสะบัด

 แว่บแรกที่เหลือบตาลงมอง เรือเอกประทีปก็รู้ในทันทีว่าตนเองได้ถูกกระสุนปืนของโจรก่อการร้ายเข้าแล้ว

 แต่ด้วยจิตใจอันเด็ดเดี่ยวห้าวหาญ นายทหารเลือดเมืองใต้กลับมิได้เสียขวัญหรือท้อถอยหรือแสดงอาการใด ๆ ออกมาให้ใครเห็น

 เขายังคงอำนวยการรบด้วยการร้องตะโกนแข่งกับเสียงปืนที่กัมปนาทสนั่นหวั่นไหวเพื่อกระตุ้นให้ทหารในบังคับบัญชาดำเนินกลยุทธเคลื่อนที่ประกอบการยิงเข้าใส่ตำแหน่งอันเป็นที่วางตัวของกลุ่มโจรนอกศาสนา

 ท่ามกลางเสียงปืนไรเฟิลอัตโนมัติแบบเอ็ม-16 ประสานกับเสียงปืนกลเบาแบบเอ็ม-60 รวมทั้งเสียงคำรามหนักแน่นของปืนยิงลูกระเบิดแบบเอ็ม-79 และเอ็ม-203 ดังกึกก้องระงมไปทั่วบริเวณอันเป็นยุทธภูมิ จนแผ่นดินสะท้านสะเทือนเรือเอกประทีปไม่ได้สนใจกับบาดแผลที่เกิดขึ้นแม้แต่น้อย

 สิ่งเดียวที่เขาคิดอยู่ในขณะนั้นก็คือ จะต้องสังหารโจรก่อการร้ายกลุ่มนี้ให้ได้

 นี่คือสิ่งที่เขาถูกฝึกมาให้เป็นและโอกาสในการเผชิญกับข้าศึกในสนามรบเยี่ยง "บรรพบุรุษนาวิกโยธิน" ได้มาถึงแล้ว

 เขาจะต้องทำให้สำเร็จ เขาจะต้องกวาดล้างเสี้ยนหนามของแผ่นดินแดนใต้ซึ่งเป็นบ้านเกิดให้ได้อย่างเด็ดขาด ก่อนที่สถานการณ์จะเปลี่ยนไป

 สิ่งสุดท้ายที่เรือเอกประทีปเห็นและจำได้ระหว่างการปะทะที่ตำบลดูซงยอในวันนั้นก็คือ

 ทหารนาวิกโยธินทั้งหมดได้ติดตามผู้บังคับกองร้อยเข้า "ยิงประจัญบาน" กับฝ่ายตรงข้ามในระยะประชิดอย่างไม่หวั่นเกรง

 วินาทีแห่งความเป็นความตายนั้นเอง ขณะที่เขาเหนี่ยวไกสาดกระสุนเข้าใส่ข้าศึกคนหนึ่งจนผงะกระเด็นล้มคว่ำ กระสุนปืนอาร์ก้าของโจรก่อการร้ายอีกคนหนึ่งก็พุ่งสวนออกมาเข้าใส่บริเวณศีรษะด้านขวาอย่างจัง

 แล้วสิ่งที่ทุกคนเห็นในบัดดลอันต่อเนื่องก็คือร่างของเรือเอกประทีปหมุนคว้างลงไปกระแทกพื้น ปืนกระเด็นหลุดจากมือก่อนที่ทุกอย่างในความรู้สึกของเรือเอกประทีปจะดับวูบลง

นาทีชีวิตของเรือเอกประทีป หลังถูกยิงที่ศีรษะ สิ้นสติในสภาพมือทั้งสองกอดปืนเอ็ม-16ไว้แน่น

 เรือเอกประทีปจึงไม่มีโอกาสรู้เลยว่า ไม่กี่อึดใจจากนั้นการปะทะก็จบสิ้นลงพร้อมด้วย "ชัยชนะ" อันเด็ดขาดของทหารนาวิกโยธินที่มีเขาเป็นผู้นำ

 จากการโจมตีกวาดล้างที่ติดพันมาตั้งแต่วันก่อน

 โจรก่อการร้ายกลุ่มนายสะรี ตาโละ มีญอ ถูกกระสุนเสียชีวิตบริเวณพื้นที่สู้รบจำนวน 4 ศพ

 นอกจากนี้ยังมี "รอยเลือด" หยดไปเป็นทางหายเข้าไปในป่าหลังจากโจรก่อการร้ายส่วนที่เหลือสามารถหลบหนีไปได้ซึ่งจากการติดตามขยายผลในเวลาต่อมา ทำให้ทราบว่ามีโจรก่อการร้ายเสียชีวิตเพิ่มอีก 2 ศพ

 แม้การสู้รบในสมรภูมิของร้อยเอกประทีปจะจบสิ้นลงเพียงนั้น

 แต่การต่อสู้กับ "มัจจุราช" เพื่อยื้อชีวิตของนายทหารหนุ่มผู้กล้าหาญเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้น

 ร่างอันชุ่มโชกไปด้วยเลือดของเรือเอกประทีปถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลยะลาในสภาพไม่ได้สติ แต่อาการบาดเจ็บด้วยพิษสงของกระสุนของนายทหารหนุ่มหนักหนาสาหัสเกินกว่าที่โรงพยาบาลยะลาจะรองรับได้

 นักรบใจเพชรจึงถูกส่งตัวต่อไปยังโรงพยาบาลหาดใหญ่ซึ่งมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยกว่า

 แม้ในวันนั้นทีมแพทย์และพยาบาลตลอดจนเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายจะพยายามช่วยเหลือเรือเอกประทีปอย่างเต็มที่จนสามารถประคองชีวิตของผู้บาดเจ็บไว้ได้

 แต่นายทหารหนุ่มก็ยังไม่ฟื้นคืนสติขึ้นมา คงมีเพียง "ลมหายใจ" เท่านั้นที่บอกให้รู้ว่าเขายังมีชีวิตอยู่

 ในวันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับพาดหัวข่าวการปะทะระหว่างทหารนาวิก ฯ กับโจรก่อการร้ายอย่างครึกโครม และเมื่อความทราบถึงสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เรือเอกประทีปจึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณรับไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และถูกส่งตัวเข้ามายังกรุงเทพ เพื่อพักรักษาตัว ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าในเวลาต่อมา

 แต่เรือเอกหนุ่มยังคงสลบไสลไม่ได้สติและอยู่ในสภาพ "เจ้าชายนิทรา" ต่อไปอีกเป็นเวลาเดือนเศษ ๆ ก่อนที่เขาจะลืมตาขึ้นมาเป็นครั้งแรกในวันที่ 16 มีนาคม

 และจากบัดนั้นเป็นต้นมา เรือเอกประทีปก็ต้องรับรู้การต่อสู้ในยกต่อมาของเขาและเป็น "การต่อสู้" อันยาวนานที่กินเวลานานเกือบ 8 เดือน อีกทั้งยังต้องใช้กำลังกายกำลังใจอย่างยิ่งยวดในอันที่จะทำให้ตนเองกลับสู่สภาพที่ใกล้เคียงกับก่อนที่จะได้รับบาดเจ็บให้มากที่สุด

 พิษสงของกระสุนที่พุ่งเข้าใส่ศีรษะจากการปะทะในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ทำให้เรือเอกประทีปกะโหลกแตกและสูญเสีย "สมองซีกขวา" ไปบางส่วน

 ผลกระทบที่ตามมาก็คือร่างกายซีกซ้ายของเขาอ่อนแรง

 การพูดและการเคลื่อนไหวช้าลง

 หูด้านขวาและบริเวณขมับยังคงมีร่องรอยจากบาดแผลปรากฏให้เห็นอย่างถนัดจนถึงปัจจุบัน

 คิ้วทั้งสองข้างของเรือเอกประทีปดูเหมือนว่าจะขมวดเข้าหากันอยู่ตลอดเวลาหากแต่ "แววตา" เท่านั้นที่บ่งบอกอย่างชัดเจนถึงความมุ่งมั่นไม่ยอมแพ้ย่อท้อต่อการเปลี่ยนแปลงในชีวิตที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดฝัน ทั้งที่เส้นทางของทางราชการในฐานะนายทหารนาวิกโยธินของเรือเอกประทีปยังคงเหลืออยู่อีกยาวไกล

เรือเอกประทีปในเครื่องแบบทหารนาวิกโยธิน

 ในวันที่เราได้พบกันและถ่ายรูปร่วมกันที่หอประชุมสถาบันวิชาการทหารเรือชั้นสูง

 วีระบุรุษนักรบจากตำบลดูซงยอ อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส ได้รับการเลื่อนยศเป็น "นาวาตรี" มาแล้วเกือบสองปีและเพิ่งเสร็จจากการเข้ารับประกาศนียบัตรในพิธีจบการศึกษาโรงเรียนเสนาธิการทหารเรือสด ๆ ร้อน ๆ

 ในฐานะที่เป็นศิษย์เก่า "สามสมอ" ด้วยกัน นาวาตรีประทีปกับผู้เขียนสนทนากันในหลายเรื่องพร้อม ๆ กับที่ความเป็นไปในหลายแง่มุมของวีระบุรุษแห่งกองทัพเรือผู้นี้ถูกเปิดเผยออกมาชนิดที่เชื่อได้เลยว่าหลายคนที่ได้ยินอาจนึกไม่ถึงว่ามันจะเป็นไปได้

 เพราะชีวิตในวัยเด็กของนาวาตรีประทีปเป็นชีวิตที่ต้องดิ้นรนต่อสู้ เช่นเดียวกับเด็กต่างจังหวัดส่วนใหญ่

 ยิ่งไปกว่านั้นก็คือบิดาซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวยังเคยถูกเจ้าหน้าที่ของทางการ "อุ้ม" หายไปจากบ้านด้วยข้อหาเป็น "แนวร่วม" ของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์มาแล้ว

 นาวาตรีประทีปเล่าถึงชีวิตในอดีตว่า

 "ผมเกิดเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2512 บ้านของผมอยู่ที่อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง พ่อของผมชื่อนายกฤษณ์ แม่ชื่อหนูขาว ผมมีพี่น้องทั้งหมด 9 คน เสียชีวิตไปตั้งแต่ยังเล็ก 4 คน เนื่องจากสภาพแวดล้อมในเวลานั้น

 ครอบครัวของเราอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเล็ก ๆ ห่างไกลความเจริญแบบที่เรียกว่า "ไกลปืนเที่ยง" ผมเติบโตมายุคของการต่อสู้ระหว่างกองกำลังติดอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกับกำลังทหาร ตำรวจของฝ่ายรัฐบาลเป็นไปอย่างรุนแรง

 ในยุคนั้นดินแดนด้ามขวานโดยเฉพาะพื้นที่ของจังหวัดพัทลุง ตรัง และสตูล ถือได้ว่าเป็น "เขตอิทธิพล" ของผู้ก่อการร้ายโดยเฉพาะแถบเทือกเขาบรรทัด กลายเป็น "ตำนาน" แห่งการต่อสู้รบพุ่งระหว่างคนไทยด้วยกัน

 เมื่อผมอายุ 10 ขวบ ผมก็เริ่มรู้ความมากขึ้น

 แม้จะยังไม่อาจเข้าใจได้แจ่มชัดว่าเหตุใดจึงต้องมีผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์และเหตุใดเจ้าหน้าที่ของทางการจึงต้องใช้กำลังเข้าปราบปราม

 แต่สิ่งที่เด็กอย่างผมได้เห็นและมีโอกาสสัมผัสก็คือ "ความสูญเสีย" ที่เกิดขึ้นกับทั้งสองฝ่าย

 โดยเฉพาะระหว่างช่วงปี 2519 ถึง 2521 ซึ่งผมกำลังศึกษาอยู่ในชั้นประถมของโรงเรียนบ้านสวนโหนด ผมได้รับรู้ถึงการต่อสู้ในหลายรูปแบบ และเคยได้ยินได้ฟังผู้ใหญ่พูดกันถึงการปะทะเข่นฆ่ากันอย่างเอาเป็นเอาตายของทั้งสองฝ่าย

 เหตุการณ์หนึ่งที่ผมจำได้ไม่ลืมก็คือ

 ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ได้ยกกำลังเข้าปิดล้อมโจมตีฐานปฏิบัติการของทหารรัฐบาล ทำให้ทุกคนที่อยู่ในฐานถูกสังหารทั้งหมดโดยไม่มีการปราณี คงเหลือเพียง "สุนัขสงคราม" ตัวเดียวเท่านั้น

 ต่อมาผมก็ได้ยินข่าวว่าเจ้าหน้าที่ของทางการยกกำลังเข้าโจมตีฐานที่มั่นของผู้ก่อการร้ายในเขตงานบ้านเขาแก้ว อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ซึ่งถือเป็นฐานใหญ่ของผู้ก่อการร้ายเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ปี 2523

 การสู้รบครั้งนั้นถือเป็น "ศึกใหญ่" ซึ่งทางการต้องการจะกวาดล้างปราบปรามผู้ก่อการร้ายในเขตอำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุงขั้นเด็ดขาด

 เหตุที่เลือกเอาวันนั้นเป็นวันดี-เดย์ ก็เนื่องจากว่าพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ถือว่าวันที่ 7 สิงหาคม เป็นวัน "เสียงปืนแตก"

 เพราะในอดีตเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2508 กำลังติดอาวุธของฝ่ายผู้ก่อการร้ายได้เข้าโจมตีเจ้าหน้าที่ทางการเป็นครั้งแรกที่อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม

 ดังนั้นฝ่ายเจ้าหน้าที่ทางการจึงต้องการให้วันที่ 7 สิงหาคม ในปีนั้น เป็นวัน "เสียงปืนดับ" ของผู้ก่อการร้ายในจังหวัดพัทลุงให้ได้

 "การเป็นเด็กพัทลุงซึ่งขณะนั้นยังเป็นจังหวัดที่ถูกคุกคามจากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ทำให้ผมต้องใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ของการปะทะปราบปรามไปโดยปริยายโดยเฉพาะยุทธการโจมตีที่มั่นผู้ก่อการร้าย "บ้านเขาแก้ว" ของฝ่ายรัฐบาล นับเป็นวันแรกที่เด็กชายบ้านนอกอย่างผมได้มีโอกาสประจักษ์ในทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ที่ว่า "แสงเดินทางเร็วกว่าเสียง"

 เพราะเมื่อการโจมตีทางอากาศของเครื่องบินเกิดขึ้น เด็กนักเรียนของโรงเรียน "บ้านสวนโหนด" ซึ่งมีผมรวมอยู่ด้วยได้พากันวิ่งออกจากห้องเรียนไปมุงดูเครื่องบินรบบริเวณสนามฟุตบอลที่อยู่ด้านหน้าเสาธงด้วยความตื่นเต้น

 ผมจำได้ว่าครูใหญ่ของเราคือครู "เชย สุขชนก" ได้ร้องบอกผมกับเพื่อน ๆ ว่า "สังเกตดูซินักเรียน พวกเธอจะสังเกตได้ว่ามีแสงพุ่งออกจากปากกระบอกปืนของเครื่องบินก่อนที่เราจะได้ยินเสียงระเบิดจากการยิงตามมา"

 "ทั้งภาพและคำพูดนั้นยังอยู่ในความทรงจำของผมและเป็นสิ่งที่ประทับใจโดยไม่ลืมเลือนมาจนทุกวันนี้"

เรือเอกประทีป หลังรักษาตัวจนหายดีและกลับไปปฏิบัติภารกิจที่จังหวัดนราธิวาสอีกครั้ง

 นาวาตรีประทีปเล่าต่อไปว่า

 "บรรยากาศในหมู่บ้านของผมระหว่างปี 2519 ถึง 2525 เต็มไปด้วยความหวาดระแวงควบคู่ไปกับความหวาดกลัว เพราะผู้คนส่วนใหญ่ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตนเองหรือสมาชิกในครอบตัวเมื่อไหร่

 ครั้งหนึ่งพ่อของผมถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐนำตัวไปสอบสวน ทำให้แม่กับผมและพี่น้องตกใจกลัวกันอย่างมาก เราคิดว่าคงจะไม่ได้เห็นหน้าพ่ออีกแล้ว

 แต่โชคดีที่พ่อได้กลับมาพร้อมกับ "บาดแผล" ที่ทำให้ท่านมีปัญหาทางด้านสายตามาจนกระทั่งทุกวันนี้

 แม้จะเผชิญกับความเป็นไปอันเลวร้าย แต่พ่อของผมก็มิได้หวาดหวั่น

 พ่อไม่เคยเล่าว่าถูกข่มขู่ทำร้ายอย่างไร แววตาของพ่อยังคงเข้มแข็งอดทน

 ท่านปลอบเราทุกคนไม่ให้หวาดกลัวต่อสิ่งใด พ่อบอกว่าถ้ามีใครมาสอบถามอะไรก็ให้พูดไปตามความเป็นจริง

 เช่น ถ้าถูกถามว่าบ้านนี้ขาย "ข้าวสาร" ให้ ผกค. หรือไม่ ก็ให้ตอบว่าเราขายให้กับทุกคนที่มาขอซื้อ ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน ทหาร หรือ ผกค.

 หากเป็นสมัยนี้การวางตัวในลักษณะที่พ่อผมปฏิบัติ คงจะถูกขึ้นบัญชีว่าเป็น "แนวร่วม" ของฝ่ายตรงข้ามอย่างแน่นอน

 แต่ในตอนนั้นพ่อผมคิดว่าทุกคนไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนคือคนไทยด้วยกันทั้งสิ้น

 พ่อจึงไม่ตั้งตัวเป็นศัตรูกับผู้ใด อะไรที่พึ่งพากันได้พ่อผมก็จะทำเพื่อให้ครอบครัวของเราอยู่ได้

 นาวาตรีประทีปรื้อฟื้นความหลังต่อไปว่า

 "พ่อของผมยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต กระทำแต่ความดี มีจิตใจเอื้อเฟื้อเพื่อแผ่กระตือรือร้นที่จะช่วยเหลือผู้อื่นในฐานะที่เป็นคนไทยร่วมผืนแผ่นดินเดียวกัน"

 ผมจำได้ว่ามีชาวบ้านหลายครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบระหว่างเจ้าหน้าที่ทางการกับ ผกค. เขตงาน "บ้านเขาแก้ว" ทำให้ต้องอพยพทิ้งถิ่นฐานเพื่อความปลอดภัย

 พ่อของผมจึงจัดที่พักบริเวณใกล้กับยุ้งข้าวของเราพร้อมทั้งเลี้ยงข้าวปลาอาหารให้คนเหล่านั้นด้วยความเต็มใจ

 เมื่อมองย้อนกลับไปยังช่วงเวลานั้น ผมคิดว่าการที่พ่อของผมช่วยเหลือทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน ทหาร หรือผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ก็ตาม ถือเป็นการกระทำอย่างบริสุทธิ์ใจและเป็นสิ่งที่ทำให้ทุกคนในครอบครัวของเราของเราปลอดภัยจากเหตุการณ์ร้าย ๆ มาได้

 เมื่อผมจบการศึกษาชั้น ป. 6 พ่อได้พาผมไปสมัครสอบเข้าโรงเรียนประจำจังหวัดพัทลุงเพื่อเรียนต่อในชั้น ม.1

 เด็กนักเรียนจากหมู่บ้านของผม มีเพียงผมกับลูกชายครูใหญ่ เพียงสองคนเท่านั้นที่สามารถสอบเข้าเรียนต่อชั้น ม. 1 ของเรียนประจำจังหวัดได้

 เมื่อโรงเรียนเปิดในวันแรก สภาพของผมก็เหมือนกับ "เด็กบ้านนอก" ที่เข้ากรุงเทพ ฯ ไม่มีผิด และอาจจะแย่ยิ่งกว่านั้นด้วยซ้ำ

 เพราะผมจำได้ว่าเมื่อครูประจำชั้นให้ผมออกไปแนะนำตัว และผมได้บอกกับทุกคนว่าผมมาจากโรงเรียนบ้านสวนโหนด ตำบลตะแพน อำเภอควนขนุน ครูของผมได้ถามต่อหน้าเพื่อน ๆ ร่วมชั้น
ทุกคนว่า

 "เธอเป็นลูกคอมมิวนิสต์หรือ"

 ตั้งแต่นั้นมา ผมจึงได้รับสมญาจากเพื่อน ๆ ว่า "ไอ้ลูกคอมมิวนิสต์"

 ชีวิตเด็ก ม. 1 โรงเรียนประจำจังหวัดทำให้ผมต้องอยู่ในสภาพเคว้งคว้างเหมือนกับ "เด็กบ้านนอก" ที่เข้ามาเรียนในเมือง ผมไม่มีเพื่อนสนิทและยังปรับตัวเข้ากับเพื่อนใหม่ไม่ได้

 ผมต้องเผชิญกับความเหงา ความเครียด เรียนหนังสือไม่ทันเพื่อน ๆ

 ผมไม่เข้าใจในสิ่งที่ครูสอน เนื่องจากพื้นฐานความรู้ของเด็กโรงเรียนบ้านนอก ในหมู่บ้านห่างไกลจะแตกต่างจากเด็กที่เรียนอยู่ในเมือง

 กว่าที่ผมจะปรับตัวเข้ากับเพื่อนใหม่ได้และสามารถเรียนหนังสือได้ดีขึ้นก็หลังจากเปิดเทอมที่สองไปแล้ว

 ในการเดินทางไปโรงเรียนของผมในสมัยนั้น ผมต้องตื่นแต่เช้าประมาณตีห้า เพื่อไปอาศัยรถของแม่ค้าที่จะไปจ่ายตลาดเป็นพาหนะ

 จากหมู่บ้านของผมมีรถรับจ้างเข้าเมืองวันละเที่ยวเดียว ผมต้องอาศัยนั่งไปบนหลังคารถกว่าจะถึงโรงเรียนก็ฝุ่นจับจนตัวแดงไปหมด เนื่องจากสมัยนั้นยังเป็นถนนลูกรัง

 ก่อนเข้าโรงเรียน ผมต้องถอดเสื้อออกมาสะบัดฝุ่นทุกครั้ง แต่ฝุ่นแดงยังจับศีรษะของผมอยู่เต็มไปหมด ผมจึงได้รับสมญานามที่สองจากเพื่อนร่วมชั้นว่า "ไอ้ลูกฝรั่งหัวแดง"

 ในปี 2529 หนุ่มน้อยประทีปสอบเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหารได้ เขาเล่าถึงความหลังในช่วงนั้นว่า

 "เมื่อเข้าไปอยู่เตรียมทหารใหม่ ๆ ผมไม่มีอะไรโดดเด่นเป็นพิเศษนอกจากการพูดสำเนียงทองแดงแบบคนใต้และความจริงใจที่มีกับเพื่อนใหม่

 เพื่อน ๆ ส่วนใหญ่จึงรู้จักและจำผมได้ดีจนทุกวันนี้ ซึ่งมิตรภาพและความผูกพันของนักเรียนเตรียมทหารกลายเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้การติดต่อประสานงานระหว่างหน่วยงานราชการด้วยกันเมื่อพวกเราเติบโตขึ้นดำเนินไปได้เป็นอย่างดี

 2 ปีต่อมา นักเรียนเตรียมทหารประทีปก้าวขึ้นเป็นนักเรียนนายเรือ เขากล่าวถึงเหตุผลที่เลือกสมัครเป็นนักเรียนพรรคนาวิกโยธินว่า

 "ถ้าจะถามว่าผมรู้สึกประทับใจทหารนาวิกโยธินเพราะอะไร คำตอบน่าจะอยู่ที่การเป็นทหารนาวิกโยธินทำให้ได้สวมชุดพราง สวมรองเท้าคอมแบท ถือปืนเข้าปะทะกับข้าศึก มันดูเป็นชายชาติทหารมาก

 ผมคิดว่าผมสมัครเข้ามาเพื่อเป็นทหารไม่ได้เข้ามาเพื่อเป็นนักเดินเรือหรือเป็นวิศวกรของกรมอู่ ฯ ผมจึงเลือกพรรคนาวิกโยธินเพื่อจบออกไปเป็นนักรบสะเทินน้ำสะเทินบกของกองทัพเรือ

 หลังเข้ารับพระราชทานกระบี่จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  "ว่าที่เรือตรี" ประทีปได้รับการบรรจุรับราชการครั้งแรกที่กรมนาวิกโยธิน ก่อนจะย้ายมาบรรจุในตำแหน่งผู้บังคับหมวดปืนเล็ก กองร้อยปืนเล็กที่หนึ่ง กองพันทหารราบที่ 8 กรมทหารราบที่ 3 ค่ายกรมหลวงสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา

 แล้วนาวิกโยธินหนุ่มที่ชื่อเรือตรีประทีปก็มีโอกาสได้ออกปฏิบัติราชการสนามครั้งแรกในฐานะกำลังพลของหน่วยนาวิกโยธินเฉพาะกิจภาคใต้ ทำหน้าที่รองผู้บังคับกองร้อย ตั้งฐานปฏิบัติการอยู่ในบ้านสามัคคี ตำบลสุวารี อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส

 นาวาตรีประทีปเล่าถึงการเดินทางไปยัง "สุวารี" ซึ่งเป็นพื้นที่ปฏิบัติงานครั้งแรกในชีวิตว่า

 "ตอนที่ได้ยินชื่อบ้านสามัคคี ตำบลสุวารี ผมจินตนาการว่าคงจะเป็นหมู่บ้านที่น่าอยู่และมีธรรมชาติสวยงาม เพราะสุวารีแปลว่าสายน้ำ ชาวบ้านแถวนั้นคงจะมีความรักสามัคคีเหมือนชื่อหมู่บ้าน

 แต่เมื่อไปถึงมันกลับผิดไปจากที่ผมคิดไว้อย่างสิ้นเชิง

นาวาโทประทีปที่ภาคใต้ ต้นปี 2550

 ผมนั่งรถไฟไปลงที่สถานีรือเซาะ และพบว่าบรรยากาศของที่นั่นเหมือนกับสมัยที่เป็นนักเรียนนายเรือและเดินทางไปฝึกภาคที่อินโดนีเซียหรือโซมาเลีย เพราะมันเต็มไปด้วยกลิ่นเครื่องเทศฟุ้งกระจาย

 ผมเห็นตำรวจตระเวณชายแดนถือปืนเอชเค เดินรักษาความสงบไปมา เหมือนอยู่ในภาวะสงคราม

 ที่ชานชลาหน้าสถานีรถไฟ ทหารนาวิกโยธินนำรถหุ้มเกราะมารับผมพร้อมด้วยชุดคุ้มกัน 3 นาย

 ระหว่างที่เดินทางไปยังที่ตั้งกองร้อย ผมพยายามมองดูป้ายชื่อหมู่บ้านซึ่งอยู่สองข้างทางและพบว่ามันแปลกแปร่งหู เช่น บ้านตะโล๊ะหะลอ บ้านจะกั๊วและอื่น ๆ อีกมากจนจำแทบไม่ไหว

 ที่บ้านสามัคคี กองร้อยนาวิกโยธินตั้งฐานบังคับการสร้างด้วยไม้ไผ่หลังคามุงจากมีอยู่ด้วยกัน 6-7 หลัง

 กองร้อยของผมตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณหนึ่งไร่ หลังไปอยู่ที่นั่นไม่นานมีเหตุการณ์สำคัญซึ่งนายทหารจบใหม่อย่างเรือตรีประทีปเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยก็คือการปิดล้อมพื้นที่ตรวจค้นจับกุมนาย "ฮาลียะ โต๊ะบาลา" หัวหน้ากองกำลังพูโล

 อย่างไรก็ตาม ปฏิบัติการในครั้งนั้นฝ่ายทหารไม่สามารถจับตัวนายฮาลียะได้ตามต้องการและไม่มีการปะทะใด ๆ เกิดขึ้น นอกจากสามารถยึดแม็กกาซีนและกระสุนปืนเอ็ม-16 รวมทั้งเสื้อผ้าตลอดจน "จดหมาย" เรียกค่าคุ้มครองและเอกสารอื่น ๆ อีกมากมาย

 แต่แล้วเรื่องที่ไม่น่าเชื่อก็เกิดขึ้น และแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลอันยิ่งใหญ่ของฝ่ายตรงข้ามอย่างชัดเจน

 กล่าวคือในวันรุ่งขึ้นกลุ่มโจรพูโลของนายฮาลียะได้ทิ้งใบปลิวข่มขู่ในหมู่บ้านให้ทางการคืนอาวุธและสิ่งของที่ยึดไป มิฉะนั้นจะฆ่านายอำเภอและเผาโรงเรียนเป็นการตอบโต้

 ทางฝ่ายปกครองเกรงว่าจะเกิดเหตุร้ายจึงยอมทำตามคำขู่ของพวกโจรโดยไม่แจ้งให้ฝ่ายทหารรู้ทำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการเสียความรู้สึกอย่างมาก จนแม่ทัพภาพที่ 4 ต้องเข้ามาทำความเข้าใจด้วยตนเองในเวลาต่อมา  (ภายหลังนายฮาลียะหัวหน้ากลุ่มปะทะกับทหารและถูกยิงเสียชีวิตในที่สุด)

 นี่จึงอาจจะเป็น "ตัวอย่าง" หนึ่งที่ใช้อธิบายได้ว่าเหตุใดสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงยากที่จะสงบลงโดยเร็ว

 ในปีแรกที่ออกปฏิบัติราชการสนามในเขตพื้นที่จังหวัดนราธิวาส เรือตรีประทีปได้นำกำลังลาดตระเวนในเทือกเขาทุกแห่ง ในพื้นที่รับผิดชอบโดยเฉพาะเทือกเขาบูโด

 เขาเล่าถึงเหตุการณ์ในตอนนั้นว่า

 "เมื่อเรียนจบมาเป็นนายทหารใหม่ ๆ จิตใจมันกำลังฮึกเหิม ผมจึงนำลูกน้องขึ้นลาดตระเวนในทุกเทือกเขาโดยไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยและไม่เคยนึกหวาดหวั่นฝ่ายตรงข้าม ผมบอกกับตนเองอยู่เสมอว่าเราเลือกมาเป็นนาวิก ฯ เพื่อภารกิจนี้และนี่คือสิ่งที่เราจะต้องทำ

 แล้วก็ถึงวันที่นายทหารหนุ่มอย่างนาวาตรีประทีปได้มีโอกาสทำการสู้รบเป็นครั้งแรก

 เขาย้อนอดีตให้ฟังว่า

 "ผมปะทะกับฝ่ายตรงข้ามเป็นครั้งแรกเมื่อต้นปี 2541 ภารกิจของเราในครั้งนั้นคือการซุ่มโจมตีโจรก่อการร้ายขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งมีนายมะ สุไงบาตู เป็นหัวหน้า โดยกำลังของผมปฏิบัติภารกิจร่วมกับทหารพราน

 เราเข้าไปวางตัวอยู่ในพื้นที่ซึ่งสืบทราบมาว่ากลุ่มโจรก่อการร้ายจะเคลื่อนตัวเข้ามา การปะทะเปิดฉากขึ้นด้วยการกดระเบิดเคย์โมซึ่งวางดักไว้

 จังหวะแรกที่เสียงระเบิดดังสนั่นหวั่นไหวจากพื้นดินสะท้านสะเทือน ผมรู้สึกตื่นเต้นมาก โสตประสาทอื้ออึงไปชั่วขณะ ผมหมอบนิ่งอยู่ประมาณ 4-5 วินาที หลังจากนั้นจึงสามารถควบคุมสติได้และเล็งปืนระดมยิงไปยังเป้าหมายซึ่งมองเห็นเป็นเงาตะคุ่มอยู่ในความมืด

 "หลังการปะทะสิ้นสุดลง ฝ่ายเรารอจนกระทั่งเช้าจึงเข้าเคลียร์พื้นที่ พบศพของโจรก่อการร้ายนอนตายพร้อมอาวุธ 2 ศพ ส่วนฝ่ายเราไม่มีผู้ใดได้รับอันตราย"

 นั่นคือประสบการณ์ครั้งแรกในสมรภูมิจริงของนายทหารหนุ่มจาก "สามสมอ" ก่อนที่เขาจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปโดยไม่ย่อท้อ

 ชีวิตของทหารนาวิกโยธินในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งเรือเอกประทีปต้องรับผิดชอบแบ่งออกเป็นสองส่วนคืองานพัฒนาและงานปราบปราม ซึ่งโดยปกติแล้วทหารนาวิกจะเข้าไปตั้งฐานปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ โดยสร้าง "ที่พักชั่วคราว"  ทำด้วยไม้ไผ่หลังคามุงจาก

 จากนั้นจึงส่งชุดปฏิบัติการเล็ก ๆ ชุดละ 8 ถึง 10 คน ออกไปลาดตระเวนตามแผนหรือตามภารกิจที่ได้รับมอบ ไม่ว่าพื้นที่เป้าหมายนั้นจะอยู่ในป่าลึกบนภูเขาหรืออยู่ในหมู่บ้านซึ่งเป็นพื้นที่สีแดงก็ตาม

 นอกจากนี้ก็ยังมีการลาดตระเวน "หาข่าว" พิสูจน์ทราบหรือเข้าเยี่ยมเยียนประชาชนตลอดจนการกวาดล้างหรือซุ่มโจมตีฝ่ายตรงข้ามหากมีข้อมูลระบุความเคลื่อนไหวที่แน่ชัด

เรือเอกประทีปกับเจ้าสาว

 ชีวิตครอบครัวของนาวาตรีประทีปก็ไม่ได้แตกต่างจากครอบครัวของทหารทั่วไปมากนักกล่าวคือผู้เป็นสามีต้องออกปฏิบัติราชการสนาม ทิ้งให้ภรรยาและลูกอยู่ในแนวหลัง

 และแล้วเหตุการณ์สำคัญที่เกือบจะทำให้ครอบครัวของนาวาตรีประทีปต้องสูญเสียผู้นำไปก็บังเกิดขึ้น เมื่อเขานำกำลังเข้าปะทะกับโจรก่อการร้ายเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2543 เป็นเหตุให้นาวาตรีประทีปซึ่งขณะนั้นมียศเป็น "เรือเอก" ถูกกระสุนของฝ่ายตรงข้ามได้รับบาดเจ็บสาหัส

 นาวาตรีประทีปเล่าถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นเพิ่มเติมว่า

 "ครั้งแรกผมถูกยิงที่ไหล่ขวา แต่สถานการณ์รอบตัวทำให้ไม่มีโอกาสสนใจกับบาดแผล ผมอำนวยการรบต่อไปจนกระทั่งจังหวะที่นำทหารชาร์ทเข้าสู่ที่หมายและยิงกราดเข้าใส่ข้าศึก กระสุนของฝ่ายตรงข้ามก็พุ่งสวนออกมาถูกที่ศีรษะด้านขวาจนล้มลง"

 พิษสงของคมกระสุนทำให้กระโหลกศีรษะของนาวาตรีประทีปแตกและสมองบางส่วนสูญเสียไป ส่งผลต่อสภาพร่างกายปัจจุบัน ทำให้มีอาการเกร็งและร่างกายอ่อนกำลังกว่าที่เคยเป็น

 เมื่อถูกถามว่าตอนที่ถูกยิงล้มลงไป สิ่งสุดท้ายที่คิดอยู่ในใจก่อนหมดสติคืออะไร

 นาวาตรีประทีปตอบว่า

 "ผมคิดว่าตัวเองจะต้องรอด ยังตายไม่ได้"

 น้ำเสียงนั้นหนักแน่น บ่งบอกถึงความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวในช่วงเวลาวิกฤตได้อย่างชัดเจนที่สุด

 "ผมคิดถึงภรรยา คิดถึงลูก และคิดถึงพ่อแม่ ผมไม่อาจบรรยายได้ว่าความเจ็บปวดจากการถูกยิงที่ศีรษะเป็นอย่างไร จำได้แต่เพียงว่าในที่สุดผมก็สลบไป เพราะทนพิษบาดแผลไม่ไหว

 นาวาตรีประทีปเว้นระยะไปครู่หนึ่งก่อนจะเล่าต่อ

 "ผมสลบไปนานมากกว่าจะฟื้นขึ้นมาอีกครั้งเมื่อวันที่ 16 มีนาคม ผมพบว่าตนเองอยู่ในโรงพยาบาลพระมงกุฎ ฯ วันนั้นเป็นวันที่นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้นมาเยี่ยม ทำให้มีคนเต็มห้อง จนอากาศร้อนมากทำให้ผมรู้สึกอึดอัด จึงตื่นขึ้นมา"

 แม้จะรอดตายราวกับปาฏิหาริย์ แต่นาวาตรีประทีปก็ต้องพักรักษาตัวอยู่นาน และทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง

 จนในที่สุดด้วย "กำลังใจ" จากภรรยาและครอบครัว โดยเฉพาะความห่วงใยจากพ่อและแม่ ทำให้นายทหารนักรบผู้เฉียดใกล้ความตายอย่างนาวาตรีประทีปสามารถพลิกฟื้นขึ้นมาได้เกือบเหมือนเดิมทุกประการ

 ผลจากการปฏิบัติภารกิจด้วยความกล้าหาญอย่างยิ่งยวด เสียสละ ตนเองเป็นแบบฉบับของผู้นำ ทำให้นาวาตรีประทีปได้รับการปูนบำเหน็จ 4 ขั้น เลื่อนเงินเดือน 5 ขั้น และได้รับเงิน พสร. เป็นค่าตอบแทนเช่นเดียวกับผู้ปฏิบัติราชการสนามชายแดน

 แต่เหนือสิ่งอื่นใดและถือเป็นเกียรติยศสูงสุดสำหรับเขาก็คือ

 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทาน "เหรียญกล้าหาญ" ให้แก่เรือเอกประทีป นายทหารนาวิกโยธินแห่งราชนาวีไทย

 พลเรือเอกชุมพล ปัจจุสานนท์ ผู้บัญชาการทหารเรือในขณะนั้นเป็นประธานในพิธีประดับเหรียญกล้าหาญ ซึ่งจัดขึ้น ณ ห้องรับรองของกองบัญชากองทัพเรือเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2547 หลังจากเหตุการณ์ปะทะในวันนั้นผ่านพ้นไปเกือบ 4 ปี

 ก่อนหน้าที่จะได้รับพระราชทานเหรียญกล้าหาญ เรือเอกประทีปได้รับการคัดเลือกเป็นข้าราชการดีเด่นของ ศอบต. ในปี 2543 และเข้าเฝ้ารับพระราชทานประกาศเกียรติบัตรพร้อมโล่รางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

 นอกจากนี้เรือเอกประทีปยังได้รับการคัดเลือกเป็น "คนดีศรีสงขลา" โดยมูลนิธิพลเอกเปรม ฯ ได้รับเข็มเกียรติคุณจากประธานองค์มนตรีและรัฐบุรุษ รวมทั้งได้มีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2544 เพื่อรับพระราชทาน "สร้อยคอทองคำ" พร้อมพระเหลี่ยมทองจากพระหัตถ์ของสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งเป็นเรื่องที่เรือเอกประทีปภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งและถือเป็นศิริมงคลแก่ชีวิตอย่างหาที่เปรียบมิได้

 ทุกวันนี้นาวาตรีประทีปเก็บรักษาเหรียญกล้าหาญไว้ที่บ้าน โดยเก็บไว้ในกล่องรวมกับสร้อยคอและพระเหลี่ยมทองซึ่งได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ

 นาวาตรีประทีปเล่าถึงความรู้สึกในวันที่กองทัพเรือประกอบพิธีมอบเหรียญกล้าหาญว่า

 "พ่อและแม่ของผมเดินทางเข้ามาร่วมพิธีด้วย ท่านแต่งกายธรรมดาเหมือนชาวบ้านทั่วไป พลเรือเอกชุมพลซึ่งได้รับการโปรดเกล้า ฯ เป็นองค์มนตรีในปัจจุบันเป็นผู้ประดับเหรียญให้ผมที่อกเสื้อและกล่าวยกย่องในสิ่งที่ผมกระทำ รวมทั้งให้กำลังใจให้ผมคงความเข้มแข็งต่อไป

 "ผมคิดว่าในวันนั้นผมได้มาถึงจุดสูงสุดของการรับราชการทหารแล้ว ความภูมิใจของผมไม่อาจจะบรรยายเป็นคำพูดใดได้"

 หลังจากนั้นนาวาตรีประทีปได้เข้าเรียนในโรงเรียนเสนาธิการทหารเรือ ซึ่งปีเดียวกับที่ผู้เขียนเข้าเป็นนักศึกษาในวิทยาลัยการทัพเรือ เราจึงมีโอกาสได้พบกันและพูดคุยถึงเรื่องราวที่ผ่านมา ดังที่ผ่านสายตาของคุณผู้อ่านมาตั้งแต่ต้น

 แม้นาวาตรีประทีปจะวางแผนอนาคตว่าจะรับราชการต่อไปเรื่อย ๆ แต่เขาก็ได้พยายามหาความรู้เพิ่มเติม โดยสมัครเรียนปริญญาโทที่สงขลา และสำเร็จการศึกษาอย่างที่ต้องการในที่สุด

 ปัจจุบันเจ้าของเหรียญกล้าหาญแห่งดูซงญอมียศเป็นนาวาโทและกลับไปปฏิบัติราชการสนามในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายข่าว หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินภาคใต้ ด้วยความหวังว่าสถานการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นจะบรรเทาเบาบางลงและยุติลงได้ในที่สุดแม้ต้องใช้เวลาอีกนานก็ตาม ซึ่งนั่นย่อมหมายถึงว่า

 ทหารนาวิกโยธินแห่งราชนาวีไทยจะต้องปฏิบัติหน้าที่เคียงบ่าเคียงไหล่กับเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจทุกภาคส่วนต่อไปโดยมีชีวิตเป็นเดิมพัน

 และเรื่องราวอันเป็น "วีรกรรม" ของเรือเอกประทีป อนุมณี นายทหารกระดูกเหล็กแห่งดูซงญอจะเป็นแบบฉบับและแรงบันดาลใจให้ทุกคนบังเกิดความมุ่งมั่นเสียสละในการทำหน้าที่ "บุรุษชาติทหาร" ในการปกปักษ์รักษาผืนปฐพีไทยให้รอดพ้นจากการถูกแบ่งแยกและดำรงคงอยู่... ชั่วนิรันดร์

          นาวาเอกวิพันธุ์ ชมะโชติ
                  0816587831

เนื่องจากบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์อัน ชอบธรรมของผู้เขียน และอาจะมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลบ้างตามความเหมาะสม ในการนำบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่นๆ จึงขอความร่วมมือให้ใช้วิธีการคัดลอกเฉพาะ Link หรือ URL Address แทนการคัดลอกบทความทั้งหมด  หากมีการคัดลอกไปในลักษณะแอบอ้างเป็นผู้เขียน หรือมีเจตนาอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทางเว็บ iseehistory.com แล้ว จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย

กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

  • (ยังไม่มี)

 
เรียนเชิญสมาชิกร่วมแสดงความคิดเห็นที่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บ (ต้องสมัครและ Login ก่อน) ผู้ชมทั่วไปหรือสมาชิกที่ต้องการโพสต์รูป เชิญร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บบอร์ด "คุยกันหลังฉาก" ในกระทู้ที่มีอยู่แล้ว หรือ สร้างกระทู้ใหม่ (คลิกที่นี่) ครับ

หากเป็นสมาชิก Facebook แสดงความเห็นได้ในฟอร์มข้างล่างนี้ครับ

 




บทความเสริมความรู้ทั่วไป

ร้อยตำรวจเอกธรณิศ ศรีสุข ยอดวีรบุรุษ ตชด. วันที่ 02/07/2010   21:44:35
Robinson Crusoe 1997 - ความเป็นมนุษย์ วันที่ 26/05/2012   10:55:36
พงศาวดารมอญพม่า จาก ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑ วันที่ 21/04/2012   10:42:18 article
พระนเรศวรฯ กับเมืองละแวก ใน พงศาวดารละแวก ฉะบับแปล จ.ศ. ๑๑๗๐ วันที่ 21/04/2012   10:43:01 article
Beau Brummell: The Charming Man 2006 หนุ่มเจ้าสำอาง วันที่ 24/09/2015   22:37:44
เรื่องของฮิตเลอร์ และ เอวา บราวน์ วันที่ 24/09/2015   22:37:10
Fanny Hill การผจญภัยในโลกีย์ วันที่ 24/09/2015   22:36:45
The Marriage of Figaro วิวาห์ฟิกาโร วันที่ 24/09/2015   22:36:10
แนะนำบทความประวัติศาสตร์ที่ simple.wikipedia.org วันที่ 21/04/2012   10:44:07 article
ยศและเครื่องหมายยศทหารเยอรมันสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (Wehrmact Heer & Waffen SS) วันที่ 21/04/2012   10:47:26 article
ประวัติศาสตร์กับภาษาต่างประเทศ วันที่ 21/04/2012   10:50:53 article
บางประเด็นจากการไปฟังบรรยายเรื่องพิพิธภัณฑ์โรงเรียนเทพศิรินทร์ วันที่ 21/04/2012   10:52:53 article
หลักฐานประวัติศาสตร์และการวิเคราะห์หลักฐานประวัติศาสตร์ วันที่ 21/04/2012   10:51:49 article
MP40 กับ PPSh-41 และปืนกลมืออื่นๆ อีก 3 แบบ วันที่ 21/04/2012   10:54:27 article
คลีโอพัตรา ตอนที่ 4 : ฟาโรห์องค์สุดท้ายของอียิปต์ - ผู้หญิงที่โลกไม่มีวันลืม (สรุป) วันที่ 09/01/2011   19:31:10
มิติของเวลาในประวัติศาสตร์ วันที่ 27/02/2009   22:33:10
แล้วผมต้องทำอะไรกับประวัติโรงเรียนเทพศิรินทร์? วันที่ 21/04/2012   10:53:38 article
นางเอกอมตะตลอดกาล 25 คนแรก ของฮอลลีวู้ด (1) วันที่ 14/05/2012   21:45:30
เมื่อ Don Quixote de Lamancha ปะทะ เล่าปัง (2) วันที่ 14/05/2012   21:44:31
เมื่อ Don Quixote de Lamancha ปะทะ เล่าปัง วันที่ 14/05/2012   21:43:48
ภาพยนตร์รัสเซีย "Battle of Kursk" ศึกรถถังที่ใหญ่กว่า "Battle of the Bulge" วันที่ 21/04/2012   11:00:38 article
อธิบายเบื้องต้นเกี่ยวกับคำศัพท์หน่วยทหาร วันที่ 21/04/2012   11:01:41 article
"บางระจัน่" จากพระราชพงศาวดาร 2 ฉบับ วันที่ 05/05/2012   09:30:38 article
ราชทูตปรัสเซียเยือนสยามสมัยร.๔ ก้าวแรกสัมพันธ์ไทย-เยอรมัน วันที่ 21/04/2012   11:08:02 article
พระราชดำรัสเนื่องในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 20 พฤษภาคม 2535 วันที่ 05/05/2012   09:40:33 article
ทดสอบการแปลยศทหารบกจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยด้วยโปรแกรมพจนานุกรมดิจิตอล วันที่ 05/05/2012   10:17:45 article
ตำราพิชัยสงครามของไทย วันที่ 10/05/2012   11:22:47
ภาพตัวอย่างเครื่องแบบทหารเยอรมันสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 วันที่ 05/05/2012   10:16:51 article
"ไทยรบเขมร" ใน "ไทยรบพม่า" วันที่ 05/05/2012   10:13:48 article
อวสาน บิสมาร์ค วันที่ 10/05/2012   11:26:55
ชีวประวัติกับประวัติศาสตร์ วันที่ 05/05/2012   10:04:25 article
สืบเนื่องจาก "ELSID" วันที่ 14/05/2012   21:41:48
เจงกิสข่าน ผู้ยิ่งใหญ่ (2) วันที่ 14/05/2012   21:40:37
เจงกิสข่าน ผู้ยิ่งใหญ่ วันที่ 14/05/2012   21:39:44
เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ วันที่ 14/05/2012   21:38:54
การรบแห่งสตาลินกราด วันที่ 10/05/2012   11:28:24
Bangkok mean time เวลามาตรฐานชาติแรกของโลก ณ พระที่นั่งภูวดลทัศไนย วันที่ 10/05/2012   11:30:18
เครื่องบินรบไทยในสงครามอินโดจีน วันที่ 10/05/2012   11:37:11
Little Boyและfatman คู่หูมหาปลัย วันที่ 10/05/2012   11:34:40
BATTEL OF MIDWAY ยุทธนาวีทางอากาศที่เกาะมิดเวย์ จุดเปลี่ยนสงครามแปซิฟิค วันที่ 21/08/2010   22:07:52
พลูโตในยุคสมัยต่างๆ (www.horauranian.com) วันที่ 29/09/2008   21:37:10
กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ผู้ตั้งชื่อ "เดือน" ของไทย วันที่ 00/00/0000   00:00:00
ความเป็นมา วันสตรีสากล ๘ มีนาคม และ ผู้ให้กำเนิดวันสตรีสากล วันที่ 08/03/2014   08:50:05
คลีโอพัตรา ตอนที่ 1: ราชินีสาว นางพญาแห่งลุ่มแม่น้ำไนล์ ฟาโรห์องค์สุดท้ายของอิยิปต์ และผู้หญิงที่สวยที่สุดในประวัติศาสตร์ วันที่ 09/01/2011   19:31:53
ร้อยเอกวัฒนชัย คุ้มครองเหรียญกล้าหาญสมรภูมิบ้านร่มเกล้า วันที่ 21/08/2010   22:08:31
พันโททวี ปูรณโชติ ขุนศึกแห่งลุ่มน้ำซุยคา วันที่ 21/08/2010   22:09:01
พันโทเจริญ ทองนิ่ม วีรบุรุษพลร่ม วันที่ 21/08/2010   22:09:29
วีรกรรมดอนแตง วันที่ 21/08/2010   22:10:41



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker