dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



พันโทเจริญ ทองนิ่ม วีรบุรุษพลร่ม
วันที่ 21/08/2010   22:09:29

โดย พันทิวา (น.อ.วิพันธุ์  ชมะโชติ)

 

ภาพถ่ายพันโทเจริญ ทองนิ่ม ผบ.พันคนแรกที่เสียชีวิตในเขาค้อ

 5 กุมภาพันธ์ 2519 สมรภูมิเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์

 ท่ามกลางภูมิประเทศทรุกันดารของพงไพรอันรกทึบ ขบวนทหารภายใต้การนำของพันโท "เจริญ ทองนิ่ม" ผู้บังคับกองพันทหารพลร่ม ซึ่งเป็นหน่วยที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ และถูกส่งมาปฏิบัติราชการสนาม ณ สมรภูมิแห่งนี้ในยุทธการ "ร่วมใจ" กำลังเคลื่อนตัวอย่างช้า ๆ และระมัดระวัง

 นักรบพลร่มทุกนายที่ย่ำเท้าบุกป่าฝ่าดงต่างมีขวัญและกำลังใจเต็มเปี่ยม ไม่มีใครหวาดหวั่นข้าศึก เพราะมันเป็นการเคลื่อนขบวนเข้าสู่ที่หมาย โดยมีผู้บังคับบัญชาของพวกเขาเคียงบ่าเคียงไหล่ไปด้วย เช่นเดียวกับทุกครั้งที่ผ่านมานับตั้งแต่แรกที่กองพันพลร่มเข้ามาปฏิบัติภารกิจในเขาค้อ

 ตลอดเวลานั้นพันโทเจริญจะเดินย้อนขึ้นลงไปมาระหว่างหัวขบวนกับท้ายขบวนเพื่อตรวจสอบลูกน้องของเขาทุกคนอันเป็นสิ่งที่นายทหารซึ่งเคยผ่านโรงเรียนเสนาธิการกองทัพบกญี่ปุ่นผู้นี้กระทำเสมอมาในทุกครั้งที่ออกปฏิบัติการกลางสมรภูมิ

 ระหว่างที่ทหารหาญจากศูนย์สงครามพิเศษ จังหวัดลพบุรี เคลื่อนกำลังมาได้ครึ่งทางก่อนถึงที่หมาย

 ร้อยเอก "ทศรฐ เมืองอ่ำ" (ยศในขณะนั้น) สังเกตเห็น "แสงไฟ" ของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ปรากฏขึ้นในราวป่าด้านหน้า

 ร้อยเอกทศรฐจึงแจ้งให้พันโทเจริญรู้ถึงการเคลื่อนไหวของข้าศึกและ "พี่เจริญ" ของเขาก็สั่งให้ทุกคนเตรียมพร้อมระวังตัว ก่อนที่จะเข้าพิสูจน์ทราบแสงไฟดังกล่าวด้วยตนเอง โดยมีพลทหาร "มนตรี ดำเนิน" ลูกชาวไร่คนยากจากจังหวัดเพชรบูรณ์ซึ่งถูกเกณฑ์เข้ามารับใช้ชาติและกลายมาเป็นผู้ติดตามผู้บังคับกองพันในทุกฝีก้าวตั้งแต่ครั้งที่หน่วยพลร่มยังอยู่ในที่ตั้งปกติเดินคู่ไปกับ "ผู้พันเจริญ" อย่างระมัดระวัง

 แต่แล้วเพียงไม่กี่อึดใจหลังจากที่พันโทเจริญ และพลทหารมนตรีผละออกไปจากขบวน

 เสียงระเบิดกึกก้องสะท้านสะเทือนไปทั่วทั้งหุบเขาก็บังเกิดขึ้นโดยไม่มีใครคาดฝัน

 และนั่นก็คือ "ฉากสุดท้าย" ของนายทหารอาชีพผู้มีเกียรติประวัติอันงดงามคนหนึ่งของกองทัพบก ซึ่งแม้เขาจะจากโลกนี้ไปอย่างสมศักดิ์ศรีชายชาญชาติทหารผู้แกล้วกล้ากลางสมร

 แต่รูปปั้นของพันโท "เจริญ ทองนิ่ม" ผู้บังคับกองพันส่งทางอากาศคนแรก ยังคงยืนตระหง่านอยู่หน้ากองพันพลร่ม ศูนย์สงครามพิเศษ จังหวัดลพบุรี มาจนกระทั่งทุกวันนี้ เพื่อให้อนุชนและทหารรุ่นน้องได้รำลึกถึง "วีระบุรุษ" แห่งกองพันส่งทางอากาศตลอดไป


 

ภาพถ่ายและอัฐิของพันโทเจริญ ยังคงอยู่ในห้องพักเดิมที่เจ้าตัวเคยอาศัยอยู่กับพี่สาว เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว

 ร้านขายอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์และเครื่องไฟฟ้าย่านวังบูรพา เดือนสิงหาคม 2549

 กว่าสามสิบปีให้หลังนับจากวันที่พันโท "เจริญ ทองนิ่ม" เสียชีวิตจากการปฏิบัติภารกิจในเขาค้อ

 สตรีวัยชราซึ่งเป็นพี่สาวคนสุดท้ายของผู้พันเจริญ ซึ่งหลายคนเรียกกันติดปากว่า "คุณน้ามลุลี" หรือนามเต็มคือนาง "มลุลี ปิยะไกรวุฒิ" ได้ให้การต้อนรับผู้มาเยือนคนหนึ่งซึ่งติดตามสืบค้นเรื่องราวของผู้บังคับกองพันคนแรกที่พลีชีพในเขาค้อด้วยความรู้สึกยกย่องคารวะและปรารถนาที่จะจารึกเรื่องราวในอดีตของนายทหารพลร่มผู้แกล้วกล้าไว้ให้ลูกหลานไทยในยุคต่อมาได้รับรู้

 แม้จะอยู่ในวัยที่เปรียบได้ดั่งไม้ใกล้ฝั่ง แต่เค้าหน้าของคุณน้ามลุลียังบ่งบอกถึงร่อยรอยแห่งความสง่างาม สมกับที่มีน้องชายเป็น "นายทหารหนุ่มรูปหล่อ"ท่วงทีสง่าผ่าเผยจนเป็นที่กล่าวขานกันในยุคนั้น

 "ครอบครัวของเรามีพี่น้อง 6 คน คุณพ่อชื่อชุน คุณแม่ชื่อละม่อมพันโทเจริญหรือพ่อป๋องเป็นคนเล็กสุดของบ้าน เขามีพี่ชาย 2 คน พี่สาว 3 คน น้าเป็นพี่สาวคนสุดท้อง ปัจจุบันนี้พี่น้องทุกคนถึงแก่กรรมหมดแล้ว เหลือน้าอยู่คนเดียว"

 คุณน้ามลุลีเริ่มต้นเรื่องราวในอดีตด้วยสีหน้าสงบนิ่ง

 "พื้นเพของเราเป็นคนกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร แต่แม่ได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านในกรุงเทพใกล้กับสถานีรถไฟหัวลำโพงพร้อมกับพี่ชายซึ่งเป็นลุงของพวกเรา และทำหน้าที่เป็นผู้ใหญ่ฝ่ายชายในบ้านเนื่องจากพ่อกับแม่แยกทางกัน

 คุณลุงของเราเป็นทหารเรือเก่าชื่อเรือตรีเป๋า ทองนิ่ม สมัยเด็ก ๆ พ่อป๋องเคยเล่นหัดแถวทหารกับคุณลุงบ่อย ๆ ในตอนนั้นเป็นช่วงปลายสงครามมหาเอเชียบูรพา พ่อป๋อง อายุประมาณ 8 ขวบ เพิ่งจะเรียนชั้นประถมต้น ส่วนน้ากำลังเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม

 แม่ของน้าขายของอยู่ที่โรงเรียนมหาพฤฒาราม และน้าก็เป็นนักเรียนของโรงเรียนนั้นด้วย สมัยก่อนเขาไม่ให้คนจีนเข้าไปค้าขาย แต่แม่เป็นคนไทยก็เลยเข้าไปขายของได้

 เมื่อญี่ปุ่นใกล้จะแพ้สงคราม เครื่องบินอเมริกันได้เข้ามาถึงระเบิดในเมืองไทยบ่อยขึ้น พี่สาวคนโตจึงบอกให้แม่ย้ายไปอยู่ที่กระทุ่มแบนด้วยกันเพื่อความปลอดภัย แต่แม่ยังไม่ไป เพราะอยากจะให้น้าเรียนให้จบ ม.6 เสียก่อน

 แม่จึงบอกให้พ่อป๋องย้ายไปอยู่กับพี่สาวคนโตก่อน ส่วนน้าเมื่อเรียนจบแล้วแม่จึงจะพาน้าย้ายตามไปทีหลัง

 ก่อนที่จะไปกระทุ่มแบน พ่อป๋องร้องห่มร้องไห้ไม่อยากจากแม่และก็ไม่อยากจากน้าไปด้วย เราสองคนเป็นพี่น้องที่สนิทกันมากกว่าพี่น้องคนอื่น ๆ ถึงแม้จะมีอายุห่างกันเกือบสิบปีก็ตาม

ทหารที่บาดเจ็บจากการรบใน “เขาค้อ” รอการมาถึงของ ฮ.พยาบาล (ภาพจากหนังสือ 100 ปี กองทัพภาคที่ 3)

 ก่อนที่บ้านของเราจะถูกทิ้งระเบิด เครื่องบินอเมริกันได้เข้ามามาทิ้งพลุแจ้งเตือนล่วงหน้า เป็นการบอกให้รู้ว่าบริเวณที่ถูกพลุทิ้งส่องสว่าง จะเป็นเป้าหมายในการโจมตีครั้งต่อไป ที่เขาทำแบบนั้นก็เพื่อให้พลเรือนมีโอกาสอพยพออกจากเขตอันตราย

 แต่เนื่องจากตอนนั้นน้ากำลังจะสอบชั้น ม.6 แม่ก็เลยยังไม่ยอมย้ายไปกระทุ่มแบนโดยบอกกับพี่สาวว่าจะรอให้น้าสอบเสียก่อน แม่ก็เลยให้พี่สาวพาพ่อป๋องไปก่อนส่วนแม่กับน้าเมื่อเสร็จธุระแล้วจะตามไป

 "ไม่กี่วันก่อนที่เครื่องบินอเมริกันจะทิ้งระเบิดจนทำให้แม่เสียชีวิต มันเหมือนกับมีลางสังหรณ์ แม่บอกว่าคิดถึงและเป็นห่วงพ่อป๋อง อยากจะไปเยี่ยม"

 แววตาของคุณน้ามลุลีบ่งบอกความรู้สึกบางอย่าง

 "พอแม่กลับมาจากเยี่ยมพ่อป๋องที่กระทุ่มแบนได้ไม่กี่วัน บ้านของเราก็ถูกบอมบ์แหลกลาญไม่เหลือ ทำให้แม่กับลุงเสียชีวิต มีน้าเพียงคนเดียวที่รอดตายมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ"
 คุณน้ามลุลีรื้อฟื้นถึงความหลังต่อไปว่า

 "วันนั้นมีเสียงหวอดังขึ้นเมื่อเครื่องบินอเมริกันบินเข้ามาในพระนคร ทุกคนจึงรีบวิ่งไปลงหลุมหลบภัย เมื่อก่อนนี้ที่บ้านของเรามีเนื้อที่เป็นบริเวณกว้างมากแม่กับลุงก็เลยให้คนมาขุดหลุมหลบภัย พอเครื่องบินมา แม่กับลุงและน้าก็วิ่งไปลงหลุม

 น้าได้ยินเสียงหึ่งหึ่งดังอยู่บนท้องฟ้า จากนั้นก็มีเสียงหวีดหวิวเสียงแหลม ๆ แหวกอากาศลงมา

 น้าก็เลยถามแม่ว่านั่นเสียงอะไร เพราะน้าไม่รู้ว่ามันคือเสียงระเบิดที่ทิ้งลงมาจากเครื่องบิน

 "แต่แม่คงจะรู้แล้วว่ามันคือระเบิด แม่จึงบอกว่าให้หยุดพูดแล้วท่อง "นะโม" ไปเรื่อย ๆ น้าก็ท่องนะโมตามที่แม่สั่ง"

 แล้วสิ่งสุดท้ายที่คุณน้ามลุลีจำได้ก็คือ

 มีเสียงระเบิดดังสนั่นหวั่นไหวปานฟ้าถล่มแผ่นดินทลาย ก่อนที่ทุกอย่างจะดับวูบลงอย่างฉับพลัน

 เมื่อฟื้นขึ้นมา คุณน้ามลุลีจึงพบว่าตนเองรอดตายและกำลังนอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลกลาง ซึ่งคุณน้ามลุลีกล่าวถึงความหลังอันยากที่จะลืมเลือนว่า

 "จากคำบอกเล่าของผู้ที่มาช่วย บ้านของน้าถูกระเบิดลูกใหญ่เข้าที่ กลางบ้าน แรงระเบิดทำให้น้าลอยกระเด็นข้ามบ้านอีกสองหลัง ไปตกอยู่ในคันดินซึ่งอยู่ใกล้กับคูน้ำแห่งหนึ่ง"

 สมัยก่อนในย่านนั้นยังเป็นสวนอยู่ ถ้าน้าถูกแรงระเบิดปลิวกระเด็นไปไกลกว่านี้อีกนิดเดียว ก็คงจะจมน้ำเสียชีวิตแล้วแน่ ๆ

 ส่วนแม่กับลุงโดนแรงระเบิดกระเด็นกันไปคนละทาง น้าไม่เคยลืมเลยว่ามันน่ากลัวมาก เพราะอยู่ในหลุมหลบภัยกันสามคน พอระเบิดลงทีเดียว สามคนกระเด็นกันไปสามทาง มีรอดตายมาได้คนเดียวคือน้า

 "พวกที่มาช่วยเล่าว่าน้าไม่มีเสื้อผ้าติดตัวอยู่เลย มันคงจะหลุดปลิวกระจายตอนที่แรงระเบิดแผ่ออกมานั่นแหล่ะ"

 นั่นคือความเป็นไปอันน่าสะพรึงกลัวซึ่งยังคงติดตรึงอยู่ในความทรงจำของคุณน้ามลุลีมาจนกระทั่งทุกวันนี้

 เมื่อสิ้นแม่และสิ้นพ่อ ซึ่งเสียชีวิตไปก่อนหน้าในช่วงสงครามเช่นกัน พันโทเจริญจึงกลายเป็น "กำพร้า" ต้องอยู่กับพี่ ๆ ทั้งห้าคน

รถหุ้มเกราะแล่นเข้ากวาดล้าง ผกค. ในเขาค้อ (ภาพจากหนังสือ 100 ปี กองทัพภาคที่ 3)

 คุณน้ามลุลีเล่าต่อไปว่า

 "พอน้าออกจากโรงพยาบาล พี่สาวคนโตก็มารับไปอยู่กระทุ่มแบนได้ไปอยู่กับพ่อป๋องอีกครั้ง บ้านเดิมที่หัวลำโพงพินาศแหลกราญไม่เหลือซาก เพราะระเบิดหล่นลงมาที่กลางบ้านพอดี ตอนนั้นเราต่างเศร้าโศกกันมาก เพราะไม่มีทั้งแม่และลุงอีกแล้ว

 ในปีรุ่งขึ้นหลังจากสงครามมหาเอเชียบูรพาสงบลงเมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้ด้วยพิษสงของระเบิดปรมาณูที่ถล่มลงสู่ฮิโรชิม่าและนางาซากิ

 คุณน้ามลุลีก็กลับมาสอบเข้าเรียนพยาบาลที่ศิริราชจนกระทั่งเรียนจบในปี 2492 หลังจากเรียนจบจึงแต่งงานและรับน้องชายคนเดียวมาอยู่ด้วย

 "ตอนนั้นบ้านของน้าอยู่ที่ซอยเกษมสันต์ใกล้กับสนามกีฬาแห่งชาติพ่อป๋องเขาติดน้า เพราะว่าเป็นพี่สาวคนสุดท้องที่สนิทกันมาตั้งแต่เด็ก พอเขารู้ว่าพี่สาวเรียนจบแล้วเขาก็เลยขออนุญาตพี่สาวคนโตมาอยู่กับน้าและน้าก็ดูแลเขาเรื่อยมาแทนแม่ ทำให้พ่อป๋องรักและผูกพันกับน้ามาก"

 พ่อป๋องมักจะพูดกับเพื่อน ๆ นายทหารและลูกน้องของเขาอยู่เสมอว่าถ้าเขาเป็นอะไรไปให้รีบส่งข่าวบอกให้ "พี่จัน" ซึ่งเป็นพี่สาวรู้ พี่จันคือชื่อเล่นที่เขาเรียกน้า

 คุณน้ามลุลีซึ่งปัจจุบันอยู่ในวัย 79 มีลูกชายและลูกสาวรวม 5 คนมีหลาน 10 คน เล่าถึงความหลังต่อไปว่า

 "เมื่อพ่อป๋องมาอยู่กับน้า เขาได้เข้าเรียนที่ปทุมคงคา แต่ชีวิตก็ไม่ได้สุขสบายนัก ตอนที่น้ายังไม่แต่งงาน แฟนน้าได้แวะไปที่โรงเรียนปทุมคงคา เห็นพ่อป๋องกินข้าวต้มกับถั่วทอด เพราะไม่ค่อยมีเงินก็แอบเอาเงินไปให้ด้วยความสงสาร

 เขาคอยส่งเสียกันจนกระทั่งพ่อป๋องเรียนจบ แฟนน้าจึงมาเล่าให้ฟังภายหลังว่า แอบให้สตางค์พ่อป๋องที่โรงเรียน

 เมื่อพ่อป๋องเรียนจบก็ไปสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารบก เป็นนักเรียนเตรียม ทบ. รุ่น 7 รุ่นเดียวกับนายทหารที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น คุณประจักษ์ สว่างจิตร ที่สนิทกับเขามาก ๆ ก็เช่น คุณมนูญ รูปขจร อีกคนที่น้าจำได้คือคุณขวาน ซึ่งไปรบที่เขาค้อด้วยกัน

 ความจริงในตอนนั้นน้าอยากให้พ่อป๋องสอบเข้าจุฬา ฯ มากกว่า แต่เขาก็แอบไปสอบเข้าเตรียมทหารบก โดยไม่บอกให้เรารู้มาก่อน พอสอบได้แล้วเขาจึงกลับมาบอกว่า

 "พี่จัน" เค้าสอบเข้าเป็นนักเรียนเตรียมนายร้อยได้แล้วนะ"

 น้าก็ดีใจที่น้องสอบได้และพ่อป๋องก็ยังอยู่กับน้าเหมือนเดิม เพียงแต่ต้องไปอยู่ประจำที่โรงเรียนกลับบ้านเฉพาะวันเสาร์ อาทิตย์

 ตอนนั้นน้ายังทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลจนพ่อป๋องเรียนจบเป็น"ร้อยตรี" น้าจึงได้ย้ายบ้านมาอยู่ที่วังบูรพา และอยู่มาจนกระทั่งทุกวันนี้

 เมื่อคุณน้ามลุลีลาออกจากอาชีพพยาบาล มาเปิดร้านขายเครื่องไฟฟ้า พันโทเจริญ เรียนจบจากโรงเรียนนายร้อย จปร. เป็นนายหนุ่มเต็มตัวแต่ยังคงเรียกตัวเองว่า "เค้า" เวลาพูดกับ "พี่จัน" อยู่เช่นเดิม

พลเอกเปรม เมื่อครั้งเป็น ผบ.ทบ. ตรวจเยี่ยมพื้นที่ในเขาค้อ คนซ้ายสุดคือ พันเอกพิจิตร (ยศในขณะนั้น)

 คุณน้ามลุลีเล่าต่อไปว่า

 "บ้านของน้าเป็นตึกแถว 5 ชั้น พ่อป๋องพักอยู่บนชั้น 3 ซึ่งเดี๋ยวนี้เป็นห้องพักของหลาน ตอนนั้นพ่อป๋องเป็น "ร้อยโท" สังกัดอยู่ที่ปราณบุรี ก็ไป ๆ มา ๆ ระหว่างที่บ้านกับปราณบุรี

 โดยนิสัยส่วนตัวแล้ว พ่อป๋องเป็นคนเอางานเอาการ ขยันขันแข็งไม่ชอบเที่ยวเตร่ กลับมาบ้านหลังจากกินข้าวแล้ว ก็ขึ้นห้อง เก็บตัวทำงานอ่านหนังสือทบทวนตำรา ไม่เคยมีแฟนหรือคู่รัก

 น้ายังเคยถามเขาเลยว่า "เมื่อไหร่ฉันจะได้อุ้มหลาน" เขาก็หัวเราะ แล้วบอกว่า "พี่จันอยากจะมีก็มีเองซิ"

 หลังเรียนจบจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบก พ่อป๋องซึ่งเป็นร้อยเอกก็สอบได้ทุนไปเรียนต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารญี่ปุ่น เขาก็มาเล่าให้ฟัง เราเป็นพี่สาว ก็พลอยดีใจด้วย

 "ช่วงที่ไปญี่ปุ่น พ่อป๋องทำเรื่องขอให้น้าเป็นผู้รับเงินเดือนแทนเขาทางผู้บังคับบัญชาก็ถามว่า มีพี่สาวตั้ง 3 คน ทำไมจึงให้พี่สาวคนนี้เป็นคนรับเงินเดือนเขาก็บอกว่าเพราะเขารักพี่คนนี้มาก

 แต่เขาก็สั่งให้น้าแบ่งเงินให้พี่สาวและพี่ชายทุก ๆ คนด้วยเพียงแต่ให้น้อยหน่อย เพราะตอนนั้นเงินเดือนนายทหารก็ไม่มากเท่าไหร่

 น้าจำได้ว่าเขาให้พี่ชายกับพี่สาวคนละร้อย และให้น้าห้าร้อย เขาบอกว่าเขากินอยู่กับน้าที่นี่ น้าเลี้ยงดูเขามาหลายปี เมื่อมีเงินเดือนแล้วเขาก็ต้องตอบแทนเขาทำอย่างนี้ทุกเดือน จนกระทั่งไปญี่ปุ่น ถึงได้ทำเรื่องมอบฉันทะให้น้าเป็นผู้รับเงินเดือนแทน

 เมื่อเรียนจบกลับมาจากญี่ปุ่น พ่อป๋องไปอยู่กองพล 1 กับคุณ"ประเสริฐ ธรรมศิริ" ตอนนั้นท่านยังเป็นพลตรี เป็นผู้บัญชาการกองพล (ตำแหน่งสุดท้ายของพลเอกประเสริฐ ธรรมศิริ เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก)

 หลังจากรับราชการอยู่ที่กองพลที่ 1 ได้ไม่นาน เส้นทางชีวิตของพันโทเจริญก็มาถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเมื่อกองทัพบกมีแนวความคิดที่จะจัดตั้ง "กองพันส่งทางอากาศ" หรือกองพัน "ทหารพลร่ม" ขึ้นเป็นครั้งแรก

 ผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้องจึงร่วมกันพิจารณาสรรหานายทหารที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะทำหน้าที่ผู้บังคับกองพันในหน่วยที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่

พันเอกพิจิตร (ยศในขณะนั้น คนขวาสุด) กำลังตรวจสอบแผนที่ก่อนเข้าตีที่มั่น ผกค. 

 พันเอกพิจิตร กุลละวนิชย์ (ยศในขณะนั้น ปัจจุบันพลเอกพิจิตรได้รับการโปรดเกล้าให้เป็นองคมนตรี) จึงขอตัวพันโทเจริญไปทำหน้าที่ผู้บังคับกองพัน และพันโทเจริญก็ได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจอย่างเต็มกำลังความสามารถเพื่อปลุกปั้นหล่อหลอมให้ทหารทุกคนที่สังกัดกองพันนี้เป็น "นักรบ" ที่มีขีดความสามารถอย่างที่ผู้บังคับบัญชาให้ความไว้วางใจ

 คุณน้ามลุลีเล่าถึงชีวิตของพันโทเจริญในช่วงนั้นว่า

 "ตอนที่อยู่ลพบุรี พ่อป๋องจะกลับบ้านวันศุกร์ และกลับไปที่กองพันอีกครั้งในวันอาทิตย์ ยกเว้นอาทิตย์ไหนที่มีราชการจำเป็นก็จะไม่ได้กลับมา

 ถึงแม้จะเป็นพี่น้องที่สนิทกัน แต่พันโทเจริญก็ไม่เคยนำเรื่องราชการทหารมาเล่าให้พี่สาวฟังมากนัก

 คุณน้ามลุลีจึงไม่รู้มาก่อนว่ากองพันส่งทางอากาศจากลพบุรีกำลังจะถูกส่งไปราชการสงครามที่ "เขาค้อ" ซึ่งในขณะนั้นกองทัพบกกำลังเปิดยุทธการกวาดล้างผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์อย่างจริงจังหลังจากเครื่องบินเอฟ-5 ที่มีเรืออากาศโทพงษ์ณรงค์ เกษรสุข บุตรชายของพลโทยุทธศิลป์ เกษรสุข ทำหน้าที่นักบินถูกยิงตกเป็นลำแรก ทำให้นักบินหายสาปสูญไป

 "น้ามารู้เรื่องก็ต่อเมื่อได้รับจดหมายที่ส่งมาจากเพชรบูรณ์ พ่อป๋องเขียนมาว่าตอนนี้พาทหารมาตั้งฐานอยู่ในเขาค้อ น้าก็ตกใจ

 ช่วงที่เขาได้ลาพักกลับมาบ้าน น้าก็ถามพ่อป๋องว่า "เขาค้อ" กำลังรบกันอยู่ไม่ใช่หรือ ทำไมถึงไปที่นั่น

 พ่อป๋องก็บอกว่าเขาเป็นทหาร การไปรบเป็นหน้าที่ของเขา ขออย่าได้เป็นกังวลเลย

 น้าจึงบอกว่าเป็นห่วงเขากลัวจะเป็นอันตราย พ่อป๋องก็บอกว่าอย่ากลัวเลย ให้น้าส่งเสบียงไปให้เขาที่โน่นเยอะ ๆ หน่อย เขาจะได้แบ่งให้ลูกน้องกินด้วยน้าก็ทำหมูเค็มส่งไป

 เขาชอบกินหมูเค็มพอ ๆ กับ "กล้วยน้ำว้า" เพราะตอนเด็ก ๆ แม่ป้อนกล้วยน้ำว้าให้กิน เขาเลยติดกล้วยน้ำว้า ที่บ้านต้องมีกล้วยน้ำว้าแขวนไว้เป็นราวให้เขาหยิบกินอยู่เสมอ

นักรบเลือดไทยเคลื่อนกำลังเข้ากวาดล้าง ผกค.ในเขาค้อ

 ถึงแม้จะได้ชื่อว่าเป็นผู้บังคับกองพันทหารพลร่ม แต่พันโทเจริญก็ไม่เคยคุยโอ้อวดหรือวางกล้ามอวดเบ่ง แม้กระทั่งนักเลงแถววังบูรพาก็ไม่เคยรู้ว่า น้องชายเจ้าของร้านนี้ เป็นถึง "ผู้พัน" แห่งลพบุรี

 วันหนึ่งมีผู้กว้างขวางสองคนเข้ามาข่มขู่รีดไถ่ ต้องการจะเอาของจากร้านโดยไม่ยอมจ่ายเงิน คุณน้ามลุลีจึงลงไปรับหน้า และบอกว่าถ้าจะเอาของต้องจ่ายเงิน

 แต่พวกนั้นไม่ยอมจ่ายโดยคนหนึ่งแสดงอำนาจบาตรใหญ่ด้วยการทุบโต๊ะ ตะคอกถามว่า "ทำไมถึงจะเอาฟรีไม่ได้"

 คุณน้ามลุลีเล่าถึงเหตุการณ์ที่จำได้ไม่รู้ลืมว่า

 "ตอนแรกน้าก็ตกใจ เพราะสองคนนั่นท่าทางเป็นนักเลงโต ตัวใหญ่ทั้งคู่ เราเองก็เป็นผู้หญิงคนเดียว

 แต่แล้วในขณะที่น้ากำลังหันรีหันขวาง ทำอะไรไม่ถูก พ่อป๋องก็กลับมาพอดี"

 เขาแต่งเครื่องแบบพันโทเต็มยศเดินเข้ามา พอเห็นท่าทางของผู้ชายสองคนนั่นกับน้า เขาก็รู้ทันทีว่าเกิดอะไรขึ้น

 ผู้พันเจริญจึงตรงดิ่งเข้าไปหาผู้กว้างขวางทั้งสองคนแล้วร้องถามดัง ๆ ว่า "มีอะไรกัน"

 เสียงอันเฉียบขาดของพันโทเจริญและท่าทางอันดุดัน ประกอบกับเครื่องแบบที่สวมอยู่ทำให้นักเลงสองคนซึ่งเข้ามารีดไถ ตกใจเผ่นหนี โดยไม่กล้าต่อปากต่อคำกับผู้พันเจริญแม้แต่แอะเดียว

 และจากบัดนั้นเป็นต้นมา ร้านขายเครื่องไฟฟ้าของคุณน้ามลุลีก็ไม่เคยถูกรบกวนจาก "ผู้กว้างขวาง" คนใดอีกเลย

 แม้จะได้เคยทำใจมาก่อนว่า ชีวิตการรับราชการทหารอาจมีวันหนึ่งที่ต้องพบกับเรื่องร้ายแรงที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น

 แต่เมื่อวันนั้นมาถึงจริง ๆ หัวใจของคนที่เป็นพี่สาว ซึ่งเคยเลี้ยงดูน้องชายคนสุดท้องมานานก็แทบจะแตกออกเป็นเสี่ยง ๆ ด้วยข่าวร้ายที่ได้รับ

 แม้เวลาจะผ่านพ้นมานานกว่า 30 ปี แต่คุณน้ามลุลีก็มีสีหน้าเศร้าสลดลงอย่างเห็นได้ชัดขณะที่เล่าว่า

 "ตอนนั้นน้าอยู่ที่ร้านจู่ ๆ ก็มีโทรศัพท์มาจากลูกน้องของพ่อป๋องจำได้ว่าเป็นร้อยเอกประสงค์โทรศัพท์มาบอกว่าพี่เริญเจ็บหนักอยู่ที่เพชรบูรณ์

 น้าจึงบอกกับเขาว่าถ้าเจ็บหนักน้าก็จะรีบขึ้นไปเยี่ยม เพราะน้าเป็นพยาบาล ยังพอมีวิชาความรู้ที่จะช่วยดูแลน้องชายได้

 แต่ร้อยเอกประสงค์กลับอึก ๆ อัก ๆ ไม่ยอมบอกความจริง พูดเพียงว่า "พี่จันอย่าขึ้นมาเลยครับ ทางมันไกล ผมจะรับพี่เริญมากรุงเทพเอง"

 ตอนนั้นน้าเริ่มสังหรณ์ใจแล้วว่าคงจะเกิดเหตุร้าย แต่ก็ภาวนาว่าอย่าให้มันเป็นจริง พอพ่อป๋องมาถึงกรุงเทพจึงได้รู้ว่าเขาเสียชีวิตแล้ว แต่พวกลูกน้องไม่อยากบอกความจริงตั้งแต่แรก เพราะกลัวน้าจะช็อก

นักรบผู้กล้าชาร์จเข้าหาที่มั่น ผกค.

 ลูกน้องพ่อป๋องบอกกับน้าว่า ตอนที่ผู้พันยังไม่สิ้นใจผู้พันสั่งเสียว่า เสื้อผ้าข้าวของต่าง ๆ ซึ่งอยู่ที่โน่นให้นำกลับมาให้ "พี่จัน" พี่สาวของเขาด้วย

 เท่าที่หลายคนเล่าให้ฟัง เขายังมีสติและกำลังใจดีถึงแม้จะได้รับบาดเจ็บหนัก

 ตอนที่อยู่ในรถเขายังพูดสั่งเสีย ย้ำแล้วย้ำอีกว่าให้ติดต่อ "พี่จัน"ที่บ้านวังบูรพาเรื่องต่าง ๆ พี่จันจะจัดการให้"

 แต่เนื่องจากบาดแผลฉกรรจ์ ทำให้เสียเลือดมาก ผู้พันที่ทหาร "พลร่ม" ทั้งกองพันรักมากที่สุดจึงจบชีวิตลงกลางทางนั่นเอง

 เรื่องราวในแง่การทหารของพันโทเจริญเท่าที่สืบค้นได้จากหนังสือของทางราชการ ล้วนแล้วแต่ยืนยันถึงความเป็น "ทหารอาชีพ" ของนายทหารผู้นี้ได้เป็นอย่างดี เพราะเขาได้เสี่ยงภัยเสี่ยงชีวิตออกปฏิบัติภารกิจในสนามมากกว่าครึ่งหนึ่งของชีวิตชายชาตินักรบ

 อาทิในวันที่ 12 พฤษภาคม 2509 พันโทเจริญซึ่งขณะนั้นมียศ "ร้อยเอก" นำกำลัง 1 หมวด เข้ากวาดล้างผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์และปะทะกับข้าศึกในพื้นที่อำเภอ "คำชะอี" จังหวัดนครพนม สามารถสังหารและยึดศพข้าศึกได้ 6 ศพ

 หลังจากนั้นหน่วยของร้ายเอกเจริญก็ได้ออกกวาดล้างและปะทะกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในพื้นที่จังหวัดนครพนมอีก 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน และวันที่ 4 กรกฎาคมปีเดียวกัน

 จากนั้นพันโทเจริญเข้าร่วมในราชการสงครามประเทศเวียดนามและราชการสงครามในประเทศลาว  ก่อนจะเดินทางกลับมาเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก กรมยุทธศึกษาทหารบก

 เมื่อสำเร็จการศึกษา พันโทเจริญ มีผลการเรียนดีเด่นจึงได้รับทุนให้ไปศึกษาต่อ ณ. โรงเรียนเสนาธิการทหารบกของญี่ปุ่นเป็นเวลาหนึ่งปี

 เมื่อกลับมาพันโทเจริญทำหน้าที่เป็นอาจารย์อยู่ที่วิทยาลัยเสนาธิการทหารบกระยะหนึ่งก่อนที่จะกลับไปรับราชการใน "หน่วยรบ" และอาสาที่จะออกปฏิบัติราชการสนามในตำแหน่งผู้บังคับกองพันส่งทหารอากาศที่ 1 หน่วยเดิมที่เขาปลุกปั้นและเคยร่วมรบด้วยกันมาแล้วหลายครั้ง

 เป็นที่กล่าวขานกันว่าทุกครั้งที่อยู่ในสนามรบพันโทเจริญจะนำหน้าทหารในบังคับบัญชาอยู่เสมอ

 ความองอาจเข้มแข็งของเขากลายเป็น "ตัวอย่าง" และแบบฉบับที่ดีของผู้ใต้บังคับบัญชาในหน่วยเดียวกัน ทำให้เขาได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้น

 ลูกน้องของเขามักพูดถึงพันโทเจริญด้วยความภาคภูมิใจว่า "ผู้พัน" จะออกไปอยู่ในสนามร่วมกับพวกเขาเสมอ ไม่ว่าจะลำบากยากเย็นเสี่ยงอันตรายแค่ไหน

 ผู้พันเจริญจึงเป็นทั้ง "ครู" ที่ได้รับความนับถือเคารพยกย่องจากทหาร

 เป็นทั้งผู้บังคับบัญชาและ "เพื่อนร่วมตาย" ของเหล่าทหารที่ได้ใกล้ชิดกับเขา

 พลเอกพิจิตร กุลละวณิชย์ องคมนตรีในปัจจุบันซึ่งร่วมรบกับพันโทเจริญในสมรภูมิ "เขาค้อ" เมื่อครั้งเป็นพันเอก เคยเขียนถึงความผูกพันระหว่างพันโทเจริญกับลูกน้องซึ่งท่านเคยพบด้วยตนเอง มีข้อความตอนหนึ่งว่า

 "เมื่อไปเยี่ยมทหารที่ได้รับบาดเจ็บขาขาด ทหารผู้นั้นกล่าวว่าเขาเสียดายเหลือเกิน แต่มิใช่เสียดายขา แต่เสียดายที่จะไม่มีโอกาสได้ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับพันโทเจริญซึ่งเป็นผู้พันของเขาอีกแล้ว

 ในยุทธการ "ร่วมใจ" พันโทเจริญเดินเท้าไปกับทหารในหน่วยของเขาซึ่งมีกำลังเพียงหนึ่งหมวดปืนเล็ก เขาไม่ได้ขึ้น ฮ. เข้าสู่พื้นที่ปฏิบัติการทั้งที่สามารถกระทำได้ในฐานะที่เป็นผู้บังคับกองพัน

 แต่พันโทเจริญกลับนำ บก. ของเขา "เดินเท้า" บุกป่าฝ่าดงเคลื่อนที่เข้าสู่สมรภูมิซึ่งเต็มไปด้วยอันตรายพร้อมกับผู้ใต้บังคับบัญชา

 "พลทหาร" ที่เพิ่งเข้ามาใหม่ ๆ ของกองพันส่งทางอากาศที่ 1 ซึ่งไม่เคยรู้จัก "ผู้พันเจริญ" มาก่อนจ้องมองเขาด้วยความทึ่งและสนใจ  เหมือนไม่อยากเชื่อในสิ่งที่เห็น

 ทหารหลายคนอดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามกับตนเองว่า ผู้พันของพวกเขายอมเสียสละความสุขสบายลงมาคลุกคลีเสี่ยงภัยเสี่ยงชีวิต ร่วมกับลูกน้องในบังคับบัญชาถึงเพียงนี้เชียวหรือ

 เพราะในยามที่ทหารทุกคนต้องแบกเครื่องสนามหนักอึ้งเดินถือปืนบุกป่าฝ่าดงนอนกลางดินกินกลางทราย "ผู้พันเจริญ" ก็แบกเครื่องสนามถือปืนนอนกลางดินกินกลางทรายอยู่ร่วมกับพวกเขาเช่นกัน

 จากสายตาที่เคยมองด้วยความทึ่งและสนใจของเหล่าทหารเปลี่ยนไปสู่ความนิยมชมชอบประทับใจและศรัทธา ก่อนจะกลายมาเป็นความรักความนับถือและยกย่องเทิดทูนบูชาเยี่ยง "พ่อ" ที่คอยดูแลใกล้ชิดพวกเขาทั้งยามหลับและตื่น

 เมื่อถึงยุทธการ "ดอนเจดีย์-2" ซึ่งเป็นการทำศึกกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในเขตเขาค้อ พันโทเจริญนำกำลังออกปฏิบัติการด้วยตนเองตั้งแต่ต้นอีกครั้ง

 เขาลงไปอยู่ใน บก. ควบคุมและนำทหารในบังคับบัญชาเดินเท้าฝ่าอันตรายทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อแทรกซึมเข้าสู่ที่หมายใจกลาง "เขาค้อ" ซึ่งมีความสูง 940 เมตร โดยไม่ย่อท้อ

 "ในที่สุด หน่วยของพันโทเจริญก็สามารถสถาปนาที่มั่นและจัดตั้งฐานยิงสนับสนุนได้สำเร็จเป็นครั้งแรก หลังจากที่ฝ่ายเราเพียรพยายามมาเป็นแรมปี แต่ก็ถูกขัดขวางจากข้าศึกมาโดยตลอด"

 เมื่อเข้าที่ตั้งได้แล้ว พันโทเจริญเป็นผู้ควบคุมและอำนวยการในการวางหมู่ปืนใหญ่ขนาด 75 มิลลิเมตร รวมทั้งจัดกำลังลาดตระเวนระวังป้องกันฐานปืนใหญ่ตลอดจน "แลนดิ้ง โซน" หรือเขตส่งกำลังใกล้กับฐานบริเวณพิกัดคิวยู 134438

 การมี "ปืนใหญ่" อยู่ในเขตเขาค้อสร้างความระส่ำระสายให้กับ ผกค.เป็นอันมาก เพราะอาวุธหนักที่ได้ชื่อว่าเป็น "ราชาแห่งสนามรบ" สามารถสนับสนุนทหารราบในทุกครั้งที่ปะทะกับข้าศึกได้เป็นอย่างดี

 หลังภารกิจนั้นเสร็จสิ้นลง ผู้บังคับบัญชาซึ่งอยู่ใน บก. ส่วนหลัง พยายามที่จะหาเหตุให้พันโทเจริญลงจากพื้นที่อันตราย เพราะอยากให้เขาได้พักและอาบน้ำบ้าง

 แต่เขาก็ปฏิเสธ เพราะเป็นห่วงฐานปืนใหญ่และไม่ต้องการทิ้งลูกน้องที่ร่วมเป็นร่วมตายกันมาตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2519

 พันเอกพิจิตร (ยศในขณะนั้น) หรือ "พี่เสือใหญ่" ซึ่งมีนามเรียกขานทางวิทยุ "ขุนศึก-95" ต้องล่อหลอกหลายครั้ง โดยอ้างว่าต้องการให้ผู้พันไปติดต่อประสานงานที่ "บ้านทุ่งสมอ" ด้วยตนเอง พันโทเจริญจึงยอมลงมาและก็รีบกลับขึ้นไปสู่แนวหน้าในทันที เพราะไม่ต้องการทิ้งลูกน้อง

รถหุ้มเกราะในเขาค้อ

 หนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้นในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ เวลาประมาณทุ่มเศษ ๆ เหตุการณ์สำคัญที่นำมาซึ่งการสูญเสีย ก็ได้เริ่มต้นขึ้น

 หลังจากส่งมอบฐานปืนใหญ่ขนาด 75 มิลลิเมตร ให้กับกำลังจากกองพลทหารราบที่ 9 เป็นผู้ดูแลต่อไปเรียบร้อยแล้ว

 พันโทเจริญได้นำทหารของกองพันส่งทางอากาศที่ 1 เคลื่อนออกจากฐานปืนใหญ่ เพื่อกลับไปยังที่ตั้งของ "ฐานปล่อย" ระหว่างบ้านนายาวกับบ้านทุ่งสมออันเป็นที่หมายซึ่งหน่วยกำลังทั้งหมดใช้เป็นจุดรวมพล

 บก. ควบคุมของพันโทเจริญเป็นกำลังชุดสุดท้ายที่ถอนตัว เนื่องจากต้องกำกับดูแลการปฏิบัติของหน่วยอื่น ๆ และส่งมอบหน้าที่ให้เรียบร้อยเสียก่อน

 ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ ผบ.หน่วยรบต้องการทำเช่นนั้น เพราะมันเป็นไปตามหลักการสงครามที่ว่า "การถอนถอยอย่างประณีต เป็นความสามารถเท่าเทียมการเข้าโจมตีอย่างกล้าหาญ"

 ในระหว่างการเคลื่อนย้ายแทรกซึมออกจากพื้นที่อันตรายท่ามกลางความมืด

 พันโทเจริญซึ่งอยู่หน้าสุดยังคงเดินขึ้นลงจากหัวขบวนไปยังกลางขบวนเพื่อตรวจสอบลูกน้องตามลักษณะที่เขาเคยปฏิบัติเป็นประจำ

 จนกระทั่งเมื่อออกห่างจากฐานปืนใหญ่ได้ประมาณ  4  กิโลเมตร  "ส่วนล่วงหน้า" ของกองพันได้หยุดเคลื่อนที่ เพื่อติดต่อกับฐานปล่อยด้านล่าง

 ระหว่างนี้เอง ร้อยเอก "ทศรฐ เมืองอ่ำ" (ยศในขณะนั้น) สังเกตเห็นแสงไฟสัญญาณของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ปรากฏขึ้นจึงรายงานให้พันโทเจริญทราบ

 ผู้พันหนุ่มวัยเพียง 36 ปี จึงจัดกำลังเข้าพิสูจน์ทราบโดยตนเองนำหน้า แต่แล้วเพียงอึดใจเดียวก็มีเสียงระเบิดดังขึ้น

 ในตอนแรกยังไม่มีใครทราบว่า พันโทเจริญได้รับอันตราย แต่ทุกคนได้ยินเสียงพลทหาร "มนตรี ดำเนิน" พลนำทางที่เดินไปพร้อมกับพันโทเจริญร้องด้วยความเจ็บปวด

 อึดใจต่อมา จึงแน่ชัดว่า "ผู้พันเจริญ" ที่ทุกคนรักถูก "กับระเบิด"ขนาดใหญ่ที่มีอานุภาพในการทำลายยานพาหนะ อาการสาหัสพร้อมด้วยพลทหารมนตรีลูกชาวไร่จากจังหวัดเพชรบูรณ์

 ถึงแม้จะมีบาดแผลฉกรรจ์ด้วยสะเก็ดระเบิดบริเวณขาขวาท่อนบนและสะโพกขวา แต่ความเป็น "ผู้นำ" ทำให้พันโทเจริญไม่ยอมปริปากร้อง

 "พี่เสือใหญ่" หรือขุนศึก 95 เล่าไว้ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพพันโทเจริญว่า

 "นักรบหนุ่มของเราไม่ได้ปริปากร้องออกมานอกจากกัดฟัน กัดกรามแน่น"

 ร่างชุ่มเลือดของเขา ดิ้นรนไปมาด้วยความเจ็บปวดทรมานแสนสาหัส แต่ก็ไม่มีเสียงเล็ดรอดออกมาให้ใครได้ยิน

 ทุกคนช่วยกันนำเขาออกมาอย่างทุลักทุเล ภายใต้ความมืดท่ามกลางภูมิประเทศอันทรุกันดารและการขัดขวางจากข้าศึก

 เราพยายามยื้อยุดชีวิตเพื่อช่วยเขาอย่างสุดความสามารถ ทั้งห้ามเลือดและให้น้ำเกลือ

 แต่เขาก็จากพวกเราไปในที่สุด

 พันโทเจริญมาถึงหน่วยของเขาอย่าง "ผู้นำ" แล้วก็จากไปอย่างผู้นำในหน่วย "ทหารราบส่งทางอากาศ" ที่เขาได้ร่วมในการปลุกปั้นก่อตั้งมากับมือ และเป็นหน่วยที่เขารักยิ่งชีวิต อีกทั้งยังเป็นหน่วยที่เขาได้อยู่ร่วมรบตราบจนวาระสุดท้าย ท่ามกลางเพื่อนร่วมตายของเขา

 คงจะมีผู้บังคับกองพันเพียงไม่กี่คนในกองทัพบกที่จะเสียสละตนเอง กล้า "เสี่ยง" ในการลงไปเป็น "ผู้นำ" และร่วมเป็นร่วมตายกับทหารในแนวหน้าได้ถึงขนาดนี้

 บางคนอาจจะคิดว่าเขาเสี่ยงแบบ "ไม่คุ้มค่า" ทั้งที่อุตส่าห์ผ่านโรงเรียนเสนาธิการทั้งในประเทศและต่างประเทศมาแล้ว

 แต่เพราะพันโทเจริญเป็น "ผู้นำ" ที่เปี่ยมไปด้วยความองอาจและเป็นผู้บังคับกองพันที่เพียบพร้อมไปด้วยจิตวิญญาณแห่งความเป็นชายชาตินักรบอย่างแท้จริง เขาจึงต้องการที่จะไปกับทหารของเขาในทุกฝีก้าว

 ในเมื่อ "ผู้นำทัพ" อย่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและบรรพบุรุษนักรบไทยคนอื่น ๆ ยังกล้าที่จะเสี่ยงชีวิต โดยมิได้คำนึงถึงค่าของตนเอง เขาก็ต้องทำได้เยี่ยงเดียวกับบรรพบุรุษเช่นกัน

 คำปฏิญาณของพันโทเจริญเมื่อครั้งที่เขายังเป็นนักเรียนนายร้อยที่ว่า "ตายในสนามรบเป็นเกียรติของทหาร"  ไม่ใช่คำพูดพล่อย ๆ ที่เด็กหนุ่มลูก จปร. อย่างเขาท่องจำเหมือนนกแก้วนกขุนทอง

 หากแต่ความตายของเขาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า มันเป็นคำกล่าวที่ฝังอยู่ในสายเลือดและจิตวิญญาณของเขาอย่างแท้จริง

 คนอื่นอาจจะไม่เข้าใจ แต่เราทุกคนที่เป็น "นักรบ" ย่อมเข้าใจและจักเทิดทูนวีรกรรมของเขาโดยไม่มีวันลืม

 เหนือสิ่งอื่นใดสิ่งที่ทุกคนปรารถนาจะให้เขารับรู้ก็คือ "บทกลอน" ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนารถทรงมีพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้า ฯ พระราชทานแก่ผู้บังคับกองพันส่งทางอากาศที่ 1 นอกเหนือไปจากการโปรดเกล้า ฯ พระราชทานยศ "พลตรี" ให้แก่นักรบผู้นี้

 บทกลอนพระราชทานซึ่งถูกนำมาแต่งเป็นเพลงปลุกใจในภายหลังมีเนื้อความว่า

 เขาคือวีรบุรุษแห่งศูนย์สงครามพิเศษ 

 พันโทเจริญ ทองนิ่ม ผู้ประสบเหตุสิ้นชีพในหน้าที่

 ณ. ห้า กุมภาพันธ์ หนึ่งเก้า แผนยุทธการดอนเจดีย์

 กล่าวกับผู้ใต้บังคับบัญชา ด้วยวจีชายชาติอาชา

 ใต้ร่มไม้ใบบังหว่างไพรสณฑ์

 ที่ร่วงหล่นทับถมจมพื้นหล้า

 ดุจชีพที่พลีร่างกลางพนา

 ท่วมกายา เลือดกำซาบ อาบผืนดิน

 สีแดงฉานแห่งเลือด ไม่เหือดหาย

 เลือดเผ่าไทย ไหลเป็นสาย มิสุดสิ้น

 ทั้งน้อง, พี่, ปกปฐพีด้วยชีวิน

 แม่ธรณินถิ่นแหลมทองปองผูกพัน

 น้องเอย.. แผ่นดินนี้เลี้ยงเผ่าไทยหลายชั่วโคตร

 เราอยู่อย่างสันโดษ รักสุขสันต์

 หากใครหมิ่นถิ่นเราเข้าโรมรัม 

 หลั่งเลือดมันเซ่นสรวงปวงบรรพชน

 เราไม่ก่อความร้าวฉานต่อบ้านเกิด

 ไม่ตักตวงกำไรเลิศมุ่งหวังผล

 ไม่หลีกเลี่ยงหน้าที่ป้องผองเผ่าตน

 ไม่ดั้นด้นไปเฟื่องฟูอยู่ต่างแดน

 น้องเอย.. เกิดมาได้เป็นไทยใช่ทาสเขา

 ชีพคนเราต้องแตกดับอย่างมั่นแม่น

 จะต้องตาย.. ตายอย่างไร ไม่เหมือนแม้น

 ตายเพื่อแผ่นพสุธา... มาตุภูมิ

 

ทหารพรานและทหารหลักเดินเท้าออกสู่แนวรบ

ถึงแม้เหตุการณ์ทั้งหมดจะล่วงเลยมาเป็นเวลากว่า 30 ปี และถึงแม้ว่าพันโทเจริญจะเป็นนายทหารหนุ่มโสดที่ไม่มีครอบครัวก็ตาม

 แต่ "พี่สาว" ซึ่งพันโทเจริญมีความผูกพันใกล้ชิด และให้ความเคารพนับถือประดุจมารดาที่เลิ้ยงดูมาตั้งแต่เด็กอย่างคุณน้ามลุลีหรือนาง "มลุลี ปิยะไกรวุฒิ" ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นในฐานะพี่สาวซึ่งสูญเสียน้องชายไปในระหว่างการปฏิบัติภารกิจเพื่อประเทศชาติ

 คุณน้ามลุลีย้อนอดีตถึงเหตุการณ์อันนำมาซึ่งความปลามปลื้มใจเป็นที่สุดในชีวิตว่า

 "ตอนที่นำศพพ่อป๋องกลับมาจากเพชรบูรณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีทรงโปรดเกล้า ฯ ให้การจัดพิธีศพอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ของพระองค์ท่านและในวันพระราชทานเพลิงศพก็ทรงมอบหมายให้หม่อมหลวงบัว กิติยากร เป็นผู้แทนพระองค์มาจุดไฟพระราชทานที่วัดโสมนัสวิหาร

 หลังจากนั้นน้าก็ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถที่วังสวนจิตร โดยทรงมีพระเมตตาให้ร่วมโต๊ะเสวยกับพระองค์ท่าน

 "ผู้ที่เข้าเฝ้าและร่วมโต๊ะเสวยในวันนั้น นอกจากน้ากับพันเอกพิจิตรแล้ว ยังมีพลเอกเกรียงศักดิ์ ซึ่งตอนนั้นท่านเป็นผู้บัญชาการทหารบก และพลตรีเทียนชัยซึ่งตอนนั้นเป็น ผบ.ศูนย์สงครามพิเศษรวมอยู่ด้วย

 ตอนนั้นเป็นการเข้าเฝ้าหลังจากที่พิธีพระราชทานเพลิงศพเสร็จสิ้นไปแล้ว โดยพระองค์ท่านโปรดเกล้า ฯ ให้นางสนองพระโอฐษ์คือคุณหญิงจรุงจิตรเป็นผู้มาแจ้งข่าวกับน้า

 สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถทรงมีพระเมตตากับน้าอย่างเหลือล้น พระองค์ได้รับสั่งสัพยอกน้าว่า "ได้ยินข่าวว่าพันโทเจริญเป็นผู้พันที่รูปหล่อมาก แต่ไม่เคยพบตัวจริง วันนี้ได้เห็นพี่สาวของผู้พันเจริญแล้ว ก็แน่ใจว่าคงจะเป็นอย่างที่ใคร ๆ พูดกัน"

 พระองค์ท่านไม่ได้ตรัสว่าน้าเป็นคนสวย แต่ทรงมีวิธีการรับสั่งที่ทำให้คนธรรมดาอย่างเรารู้สึกปลาบปลื้ม นอกจากนี้พระองค์ท่านยังรับสั่งถามด้วยว่า

 "พันโทเจริญเป็นผู้พันแล้ว ทำไมยังไปเดินแถวกับทหารเพื่อออกรบอยู่อีก"

 พลเอกเกรียงศักดิ์ พันเอกพิจิตร ซึ่งอยู่ร่วมที่โต๊ะเสวยกราบบังคมทูลว่าที่เป็นดังนั้นเพราะพันโทเจริญเป็นคนที่รักลูกน้องมาก ไม่ยอมทิ้งลูกน้อง

 คุณน้ามลุลีเล่าต่อไปอีกว่า

 "ในปีต่อมา น้ามีโอกาสได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถอีกครั้งหนึ่งและด้วยความปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้รับประกอบกับความคิดถึงพ่อป๋อง ทำให้น้าน้ำตาไหลไม่รู้ตัว

 พระองค์จึงรับสั่งถามว่า ทำไมถึงยังร้องไห้ น้าจึงกราบบังคมทูลไปว่าเพราะมีความปลาบปลื้มใจที่พระองค์ยังไม่ลืมพันโทเจริญ

 สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถจึงรับสั่งกลับมาว่า "ยังไม่ลืมหรอก ยังจำได้ พระเจ้าอยู่หัวก็ยังจำพันโทเจริญได้เสมอ"

 ไม่เพียงแต่ความปลาบปลื้มใจในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้รับดังที่กล่าวมาข้างต้นเท่านั้น คุณน้ามลุลีในฐานะพี่สาวของพันโทเจริญยังมีความปลาบปลื้มใจจากการแสดงออกของเหล่าผู้บังคับบัญชาและเพื่อนนายทหารที่เคยรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับพันโทเจริญมาโดยตลอด

 คุณน้ามลุลีรำลึกถึงเหตุการณ์ในช่วงที่พันโทเจริญเสียชีวิตและกองทัพบกจัดให้มีงานสวดพระอภิธรรมที่วัดโสมนัสวิหารว่า

 "ในวันแรกที่นำศพจากเพชรบูรณ์ ผู้บังคับบัญชาหลายคนมารอรับศพพ่อป๋องและเข้ามาพูดคุยกับน้า ทั้งคุณพิจิตรคุณฉลาด (พลเอกฉลาด หิรัญศิริ อดีตรองผู้บัญชาการทหารบก) คุณฉลาดเคยไปเวียดนามกับพ่อป๋องท่านเล่าให้ฟังว่าเจริญเป็นคนดีมาก เป็นคนเก่ง รักลูกน้อง เสียสละ คุณฉลาดบอกว่าท่านไม่เคยเจอนายทหารคนไหนเป็นเหมือนอย่างเจริญมาก่อน เป็นคนที่ดีจริง ๆ เสียดายไม่น่าตาย

 ส่วนคุณประเสริฐ (พลเอกประเสริฐ ธรรมศิริ อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก) ตอนนั้นท่านเป็นแม่ทัพภาคหนึ่ง ท่านก็มารับศพที่วัดโสม ฯ ด้วย คุณเทียนชัย ผบ.ศูนย์สงครามพิเศษก็มา ใครต่อใครก็มาอีกหลายคน น้าจำได้ไม่หมด รวมทั้งพวกลูกน้องของพ่อป๋องด้วย

 ลูกน้องพ่อป๋องคนหนึ่งคือ ร้อยเอกทศรฐ เมืองอำ (ยศสุดท้ายคือพลเอกทศรฐอดีตผู้อำนวยการองค์การทหารผ่านศึก) ร้องไห้มาบอกกับน้าว่า "ธรรมดาผมจะต้องอยู่ติดตัวกับพี่เจริญตลอด แต่วันนั้นผมแยกไปอีกทางหนึ่ง พี่เจริญ ไม่น่าตายเลย ให้ผมตายยังจะดีเสียกว่า"

 น้าก็เลยบอกเขาว่า "อย่าพูดอย่างนั้น เจริญตายไม่เป็นไรหรอก เพราะเขาเป็นคนโสด แต่คุณทศรฐมีครอบครัวแล้ว คุณปลอดภัยกลับมา ดีแล้วล่ะน้าจำได้ว่าตอนนั้นภรรยาของร้อยเอกทศรฐเป็นนายทหารเรือหญิงสอนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนเตรียมทหาร

 ส่วนเสธ. ขวาน หรือพันโทวีรวิทย์ พิบูลย์ศิลป์ (ยศในขณะนั้น)ซึ่งเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับพ่อป๋องและไปรบที่เขาค้อด้วยกันก็ร้องไห้มาบอกกับน้าว่า ในวันนั้นเจริญวิทยุมาบอกว่าขอ ฮ. ให้ไปรับลูกน้องที่บาดเจ็บ เสธ.ขวานก็ส่ง ฮ. ไปตามที่ขอ

 "มันขอ ฮ. ผม ผมก็รีบส่งไป นึกว่าเจริญจะมากับ ฮ. แต่เขากลับให้ลูกน้องที่บาดเจ็บขึ้น ฮ. ส่วนตัวเองเดินเท้ากับทหารคนอื่น ๆ ลงมาจากเขา ถ้าเจริญขึ้น ฮ. ไปในเที่ยวนั้นก็คงจะไม่เป็นไรแล้ว"

 เสธ. ขวานบอกกับหน้าแบบนั้นและน้ายังจำคำพูดนั้นได้มาจนทุกวันนี้ (ปัจจุบัน เสธ.ขวานเกษียณอายุราชการแล้วด้วยยศพลเอก)

 ส่วนลูกน้องคนอื่น ๆ ของพ่อป๋องก็พูดเหมือน ๆ กันว่า ผกค. คงรู้ใจผู้พันว่าคงจะไม่เดินบนเส้นทางหลัก แต่เลี่ยงไปเดินบนไหล่ทาง มันจึงได้วางกับระเบิดดักเอาไว้

 ตอนที่รอรับศพ น้าถามเพื่อน ๆ ของพ่อป๋องว่าทำไมให้น้าคอยนานนักกว่าจะมาถึงกรุงเทพ ไหนว่าศพจะมาถึงที่วัดสองทุ่ม ทำไมมาตั้งสี่ห้าทุ่ม เขาก็เล่าว่าพวก ผกค. มันคอยดักก่อกวนขัดขวางอยู่ตลอดเวลา กว่าจะลงมาจากเขาได้ ต้องเสียเวลามากคอยหลบหลีกหลอกล่อ ผกค. ตลอดเวลา ไม่ให้มันรู้ว่าเราจะไปทางไหน ไม่งั้นก็จะนำศพลงมาไม่ได้

 ผกค. อาฆาตผู้พันคนนี้มาก เพราะเป็นคนนำทหารเข้ามาตั้งฐานปืนใหญ่ในเขาค้อจนสามารถยิงถล่มที่มั่นของ ผกค. ทำให้พวกนั้นเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก ผกค. จึงอยากได้ศพผู้พันเจริญไปแก้แค้น

 คงจะไม่เกินเลยไปจากความจริงหากจะกล่าวว่าที่วัดโสมนัสวิหารในคืนวันนั้นเป็นที่รวมของทุก ๆ คนที่รู้จักพันโทเจริญซึ่งมารอรับศพผู้พันหนุ่มกันอย่างพร้อมเพรียง

 และแทบทุกคนต่างร้องไห้หลั่งน้ำตากันออกมาอย่างไม่อาย ทั้งที่สวมเครื่องแบบทหาร

 มันเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าพันโทเจริญเป็นนายทหารนักรบซึ่งเป็นที่รักของผู้บังคับบัญชาและผองเพื่อนอย่างแท้จริง

 คุณน้ามลุลีเล่าต่อไปว่า

 "หัวเรี่ยวหัวแรงที่ดูแลเรื่องงานศพทั้งหมดก็คือ คุณมนูญ (พลเอกมนูญ รูปขจร ในปัจจุบัน) กับคุณปรีดี (พลเอกปรีดี รามสูตร ในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นเพื่อนเตรียม ทบ. 7 ด้วยกัน คุณมนูญบอกกับน้าว่า เจริญเป็นคนที่รักเพื่อน ตายแทนเพื่อนได้ เพื่อน ๆ ถึงได้รักเขามากเช่นกัน

 หลังจากพิธีพระราชทานเพลิงศพเสร็จสิ้นลง เพื่อน ๆ ของพันโทเจริญพาคุณน้ามลุลีพร้อมด้วยอัฐิของพันโทเจริญไปยังฐานทัพเรือสัตหีบ เพื่อประกอบพิธีลอยอังคาร โดยเพื่อนที่เป็นทหารเรือเป็นธุระจัดการให้

 "น้ายังได้นำอังคารของพลทหารดำเนินไปลอยพร้อมกับพันโทเจริญด้วยตอนที่โปรยเถ้ากระดูกลงไปในทะเล น้าก็อธิฐานว่าให้พลทหารดำเนินไปอยู่กับผู้พันตามไปรับใช้ผู้พันในอีกโลกหนึ่งด้วย พลทหารดำเนินที่บ้านเขายากจน เราก็เลยช่วยเป็นธุระจัดการศพให้เขาไปพร้อม ๆ กัน

 เมื่อถามว่าในฐานะที่เป็นพี่สาวที่มีความผูกพันกันมานาน

 หลังพันโทเจริญเสียชีวิตไปแล้ว คุณน้ามลุลีเคยมี "สัมผัสพิเศษ" เกี่ยวกับน้องชายหรือไม่

 คำตอบที่ได้รับก็คือ

 "น้าไม่เคยฝันถึงพ่อป๋องเลย แต่หลานสาวเคยฝันถึง คล้าย ๆ กับว่าเขาเดินมาหาที่บ้าน

 ตอนนั้นลูกของน้ายังเป็นนิสิตจุฬาอยู่ พ่อป๋องรักหลานสาวคนนี้มาก และเป็นคนแนะนำให้ขยันเรียนหนังสือเพื่อไปสอบเข้าจุฬาให้ได้

 ในฝันเขาบอกกับหลานสาวของเขาว่าฝากบอกน้าด้วยนะว่าไม่ต้องเป็นห่วง เขาสบายแล้ว แต่ขอให้ส่งของกินไปเยอะ ๆ หน่อย

 พอลูกสาวมาเล่าให้แม่ฟัง น้ายังนึกขำเลยว่าพ่อป๋องตายไปแล้วยังห่วงเรื่องกินเหมือนตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ ตอนที่อยู่เขาค้อก็ให้น้าทำหมูเค็มส่งเสบียงไปให้บ่อย ๆ

 เรื่องกินนี้เป็นอันดับหนึ่งของเขาเลย เขาเป็นคนกินเก่ง ที่ชอบมากคือ "กล้วยน้ำว้า" ซึ่งเขาแขวนไว้เป็นราว ที่บ้านต้องมีกล้วยน้ำว้าแขวนไว้ตลอด หวีไหนสุกเขาก็จะคว้าไปกินในห้องซึ่งอยู่บนชั้นสาม

 การเสียชีวิตของพันโทเจริญระหว่างปฏิบัติราชการสนาม ทำให้ผู้พันหนุ่มได้รับเครื่องราชอิสิริยาภรณ์อันมีศักดิ์ "รามาธิบดี" และได้รับพระราชทานเหรียญกล้าหาญจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

 ต่อมาเมื่อกระทรวงกลาโหมมีโครงการจัดสร้างอนุสรณ์สถานแห่งชาติขึ้นที่อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี บริเวณถนนพหลโยธินเลยจากท่าอากาศยานดอนเมืองขึ้นไปทางด้านทิศเหนือประมาณ 6 กิโลเมตร

 ทางกรมยุทธศึกษาทหารบก กองบัญชาการทหารสูงสุดซึ่งเป็นผู้ดูแลโครงการนี้ได้มาติดต่อกับคุณน้ามลุลีขอเครื่องแบบ และสิ่งของต่าง ๆ ของพันโทเจริญรวมทั้งเหรียญกล้าหาญ เพื่อที่จะนำไปแสดงในอนุสรณ์สถาน ฯ ให้ผู้ที่เข้าไปเยี่ยมชมได้ทราบถึงวีรกรรมของพันโทเจริญ ซึ่งได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็น "พลตรี" ตอบแทนการปฏิบัติหน้าที่อย่างเสียสละ

นางมลุลี ปิยะไกรวุธ กับภาพถ่ายพันโทเจริญ น้องชาย ผู้ไม่เคยลบเลือนไปจากความทรงจำ

 คุณน้ามลุลีเล่าว่า

 "แต่จนถึงทุกวันนี้น้าก็ยังไม่เคยไปดูที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติแม้แต่ครั้งเดียว เพราะกลัวว่าจะเศร้าใจคิดถึงเขา แต่น้าก็ปลาบปลื้มใจและคิดว่าถ้าเขารู้เขาก็คงภูมิใจที่เรื่องราวของเขาได้รับการกล่าวขานและยกย่องแม้เวลาจะผ่านไปนานสักแค่ไหนก็ตาม

 สถานที่สำคัญเพียงสองแห่ง ที่เกี่ยวข้องกับพันโทเจริญและเป็นสถานที่ซึ่งคุณน้ามลุลีเดินทางไปทุกปีก็คือโรงเรียนที่พันโทเจริญสร้างขึ้นและรูปปั้นซึ่งเป็นอนุสรณ์ของพันโทเจริญซึ่งอยู่ที่กองพันทหารพลร่ม จังหวัดลพบุรี

 ทุก ๆ ปีในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ซึ่งตรงกับวันที่พันโทเจริญเสียชีวิตในเขาค้อ ทางกองพันส่งทางอากาศที่ 1 จะทำพิธีสักการะ "รูปปั้น" ของผู้พันคนแรก โดยมีอดีตผู้บังคับบัญชาและอดีตทหารพลร่มทุกชั้นยศมาร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก

 คุณน้ามลุลีเล่าว่า

 "ทุกปีทางกองพันที่ลพบุรีจะส่งจดหมายมาเชิญ ซึ่งน้าก็จะเดินทางขึ้นไปแล้วก็บอกกับพวกเขาว่าขอบคุณที่ยังนึกถึงน้าและผู้พันเจริญ

 น้าไม่คิดมาก่อนว่าเวลาผ่านไปหลายสิบปีแล้ว กองพันพลร่มที่ลพบุรียังจะจำพันโทเจริญได้และส่งจดหมายมาหาพี่สาวคนเดียวของเขาอย่างสม่ำเสมอเพื่อเชิญให้ไปร่วมพิธีด้วย

 ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ทุก ๆ ปี น้าจะได้พบกับคุณพิจิตร คุณทศรฐซึ่งถ้าทั้งสองท่านไม่ติดงานจำเป็นก็จะไปร่วมโดยไม่ขาด

 เพราะอดีตผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชาของพันโทเจริญทั้งสองท่านนี้มีความรักความผูกพันกับเจริญมากและความรู้สึกนี้ยังมั่นคงไม่เสื่อมคลายแม้ว่าท่านทั้งสองจะพ้นจากกองทัพแล้วก็ตาม

 นับตั้งแต่วันที่พันโทเจริญน้องชายคนสุดท้องผู้เป็นที่รักจากไป

 คุณน้ามลุลีไม่เคยมีความปรารถนาที่จะให้ลูกหลานคนใดเลือก"เส้นทางชีวิต" ด้วยการสวมเครื่องแบบทหารอีกเลย

 เพราะความโศกเศร้าเสียใจในครั้งนั้นยังคงตราตรึงลึกแน่นอยู่ในหัวใจจนกลายเป็นความหวาดหวั่นไม่อยากให้เหตุการณ์เช่นนั้นต้องมาเกิดกับคนที่มีความผูกพันใกล้ชิดอีกเป็นครั้งที่สอง

 สิ่งเดียวที่อาจทดแทนความรู้สึกนั้นได้บ้างก็คือ

 ความปิติตื้นตันเมื่อมีผู้รำลึกนึกถึง "วีระบุรุษเขาค้อ" ผู้จากไปดังเช่นประโยคสุดท้าย ซึ่งคุณน้ามลุลีกล่าวในวันที่เราได้พบกันว่า

 "ขอบคุณมากที่ยังไม่ลืมผู้พันเจริญ... ขอบคุณจริง ๆ"

เนื่องจากบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์อัน ชอบธรรมของผู้เขียน และอาจะมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลบ้างตามความเหมาะสม ในการนำบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่นๆ จึงขอความร่วมมือให้ใช้วิธีการคัดลอกเฉพาะ Link หรือ URL Address แทนการคัดลอกบทความทั้งหมด  หากมีการคัดลอกไปในลักษณะแอบอ้างเป็นผู้เขียน หรือมีเจตนาอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทางเว็บ iseehistory.com แล้ว จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย

กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

  • (ยังไม่มี)

 
เรียนเชิญสมาชิกร่วมแสดงความคิดเห็นที่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บ (ต้องสมัครและ Login ก่อน) ผู้ชมทั่วไปหรือสมาชิกที่ต้องการโพสต์รูป เชิญร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บบอร์ด "คุยกันหลังฉาก" ในกระทู้ที่มีอยู่แล้ว หรือ สร้างกระทู้ใหม่ (คลิกที่นี่) ครับ

หากเป็นสมาชิก Facebook แสดงความเห็นได้ในฟอร์มข้างล่างนี้ครับ

 




บทความเสริมความรู้ทั่วไป

ร้อยตำรวจเอกธรณิศ ศรีสุข ยอดวีรบุรุษ ตชด. วันที่ 02/07/2010   21:44:35
Robinson Crusoe 1997 - ความเป็นมนุษย์ วันที่ 26/05/2012   10:55:36
พงศาวดารมอญพม่า จาก ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑ วันที่ 21/04/2012   10:42:18 article
พระนเรศวรฯ กับเมืองละแวก ใน พงศาวดารละแวก ฉะบับแปล จ.ศ. ๑๑๗๐ วันที่ 21/04/2012   10:43:01 article
Beau Brummell: The Charming Man 2006 หนุ่มเจ้าสำอาง วันที่ 24/09/2015   22:37:44
เรื่องของฮิตเลอร์ และ เอวา บราวน์ วันที่ 24/09/2015   22:37:10
Fanny Hill การผจญภัยในโลกีย์ วันที่ 24/09/2015   22:36:45
The Marriage of Figaro วิวาห์ฟิกาโร วันที่ 24/09/2015   22:36:10
แนะนำบทความประวัติศาสตร์ที่ simple.wikipedia.org วันที่ 21/04/2012   10:44:07 article
ยศและเครื่องหมายยศทหารเยอรมันสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (Wehrmact Heer & Waffen SS) วันที่ 21/04/2012   10:47:26 article
ประวัติศาสตร์กับภาษาต่างประเทศ วันที่ 21/04/2012   10:50:53 article
บางประเด็นจากการไปฟังบรรยายเรื่องพิพิธภัณฑ์โรงเรียนเทพศิรินทร์ วันที่ 21/04/2012   10:52:53 article
หลักฐานประวัติศาสตร์และการวิเคราะห์หลักฐานประวัติศาสตร์ วันที่ 21/04/2012   10:51:49 article
MP40 กับ PPSh-41 และปืนกลมืออื่นๆ อีก 3 แบบ วันที่ 21/04/2012   10:54:27 article
คลีโอพัตรา ตอนที่ 4 : ฟาโรห์องค์สุดท้ายของอียิปต์ - ผู้หญิงที่โลกไม่มีวันลืม (สรุป) วันที่ 09/01/2011   19:31:10
มิติของเวลาในประวัติศาสตร์ วันที่ 27/02/2009   22:33:10
แล้วผมต้องทำอะไรกับประวัติโรงเรียนเทพศิรินทร์? วันที่ 21/04/2012   10:53:38 article
นางเอกอมตะตลอดกาล 25 คนแรก ของฮอลลีวู้ด (1) วันที่ 14/05/2012   21:45:30
เมื่อ Don Quixote de Lamancha ปะทะ เล่าปัง (2) วันที่ 14/05/2012   21:44:31
เมื่อ Don Quixote de Lamancha ปะทะ เล่าปัง วันที่ 14/05/2012   21:43:48
ภาพยนตร์รัสเซีย "Battle of Kursk" ศึกรถถังที่ใหญ่กว่า "Battle of the Bulge" วันที่ 21/04/2012   11:00:38 article
อธิบายเบื้องต้นเกี่ยวกับคำศัพท์หน่วยทหาร วันที่ 21/04/2012   11:01:41 article
"บางระจัน่" จากพระราชพงศาวดาร 2 ฉบับ วันที่ 05/05/2012   09:30:38 article
ราชทูตปรัสเซียเยือนสยามสมัยร.๔ ก้าวแรกสัมพันธ์ไทย-เยอรมัน วันที่ 21/04/2012   11:08:02 article
พระราชดำรัสเนื่องในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 20 พฤษภาคม 2535 วันที่ 05/05/2012   09:40:33 article
ทดสอบการแปลยศทหารบกจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยด้วยโปรแกรมพจนานุกรมดิจิตอล วันที่ 05/05/2012   10:17:45 article
ตำราพิชัยสงครามของไทย วันที่ 10/05/2012   11:22:47
ภาพตัวอย่างเครื่องแบบทหารเยอรมันสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 วันที่ 05/05/2012   10:16:51 article
"ไทยรบเขมร" ใน "ไทยรบพม่า" วันที่ 05/05/2012   10:13:48 article
อวสาน บิสมาร์ค วันที่ 10/05/2012   11:26:55
ชีวประวัติกับประวัติศาสตร์ วันที่ 05/05/2012   10:04:25 article
สืบเนื่องจาก "ELSID" วันที่ 14/05/2012   21:41:48
เจงกิสข่าน ผู้ยิ่งใหญ่ (2) วันที่ 14/05/2012   21:40:37
เจงกิสข่าน ผู้ยิ่งใหญ่ วันที่ 14/05/2012   21:39:44
เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ วันที่ 14/05/2012   21:38:54
การรบแห่งสตาลินกราด วันที่ 10/05/2012   11:28:24
Bangkok mean time เวลามาตรฐานชาติแรกของโลก ณ พระที่นั่งภูวดลทัศไนย วันที่ 10/05/2012   11:30:18
เครื่องบินรบไทยในสงครามอินโดจีน วันที่ 10/05/2012   11:37:11
Little Boyและfatman คู่หูมหาปลัย วันที่ 10/05/2012   11:34:40
BATTEL OF MIDWAY ยุทธนาวีทางอากาศที่เกาะมิดเวย์ จุดเปลี่ยนสงครามแปซิฟิค วันที่ 21/08/2010   22:07:52
พลูโตในยุคสมัยต่างๆ (www.horauranian.com) วันที่ 29/09/2008   21:37:10
กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ผู้ตั้งชื่อ "เดือน" ของไทย วันที่ 00/00/0000   00:00:00
ความเป็นมา วันสตรีสากล ๘ มีนาคม และ ผู้ให้กำเนิดวันสตรีสากล วันที่ 08/03/2014   08:50:05
คลีโอพัตรา ตอนที่ 1: ราชินีสาว นางพญาแห่งลุ่มแม่น้ำไนล์ ฟาโรห์องค์สุดท้ายของอิยิปต์ และผู้หญิงที่สวยที่สุดในประวัติศาสตร์ วันที่ 09/01/2011   19:31:53
ร้อยเอกวัฒนชัย คุ้มครองเหรียญกล้าหาญสมรภูมิบ้านร่มเกล้า วันที่ 21/08/2010   22:08:31
พันโททวี ปูรณโชติ ขุนศึกแห่งลุ่มน้ำซุยคา วันที่ 21/08/2010   22:09:01
เรือเอกประทีป อนุมณี "ประดู่เหล็กแห่งดูซงญอ" วันที่ 21/08/2010   22:09:57
วีรกรรมดอนแตง วันที่ 21/08/2010   22:10:41



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker