dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



พันโททวี ปูรณโชติ ขุนศึกแห่งลุ่มน้ำซุยคา
วันที่ 21/08/2010   22:09:01

  โดย พันทิวา (น.อ.วิพันธุ์  ชมะโชติ)

 

พันโททวี ปูรณโชติ เสนาธิการกรมทหารราบที่ ๒

 โรงพยาบาลศิริราช เดือน พฤษภาคม 2549

 "คนไข้คนสวยมาแล้ว"

 เสียงแพทย์หญิงวัยกลางคนร้องทัก "ผู้ป่วย" ซึ่งเป็นสตรีร่างสันทัด หน้าตาสดใส ท่าทางแข็งแรง แตกต่างจากคนอื่นๆ ที่กำลังนั่งรอเรียกชื่อตามลำดับเพื่อเข้าไปพบแพทย์ตามที่ได้รับการนัดหมาย

 "เป็นยังไงบ้างคะ คุณป้า"

 "ปกติดีค่ะ ยังทานอาหารได้เหมือนเดิม ไปไหนต่อไหนได้อย่างที่อยากจะไป"

 "เวียนหัว คลื่นไส้ หรือเป็นลมบ้างมั้ยคะ"

 "ไม่ค่ะ ไม่เคยเป็นลม ส่วนเวียนหัวมีบ้างนิดหน่อยค่ะ แต่ทานยาแล้วก็หาย"

 "ประทานโทษค่ะ ผมบนศีรษะคุณป้า..."

 "ผมจริงค่ะ ไม่ใช่วิก เพียงแต่ดิฉันเพิ่งไปทำที่ร้านประจำมาเมื่อเช้านี้ เราเป็นผู้หญิงนี่คะ ก่อนจะไปไหนก็ต้องเข้าร้านทำผมเป็นธรรมดา"

 "ถ้าอย่างนั้นก็แสดงว่าคุณป้าเป็นคนที่แข็งแรงและสุขภาพดีมากหรือดีเกินวัยเสียด้วยซ้ำ เพราะหมอยังไม่เคยเจอคนที่ทำเคมีบำบัดแล้วอยู่ในสภาพปกติแบบนี้มาก่อน...หมอดีใจด้วยนะคะที่คุณป้าหายเป็นปกติแล้ว"

 นั่นคือคำสนทนาระหว่างแพทย์ผู้เป็นเจ้าของไข้กับสตรีสูงวัย ซึ่งเพิ่งย่างผ่านปีที่ 72 ของชีวิตที่ต้องต่อสู้อย่างทรหดมาโดยตลอด จนอาจกล่าวได้ว่า

 ด้วยกำลังใจเต็มเปี่ยม ไม่เคยยอมแพ้หรือท้อแท้กับทุกๆ ชะตากรรมที่ถาโถมเข้ามาให้ต้องเผชิญ ได้กลายเป็นสิ่งที่เพาะบ่มเพิ่มพูนความแข็งแรงให้กับร่างกายและจิตใจ จนแม้กระทั่ง "มะเร็ง" อันเป็นโรคร้ายที่ทุกคนพรั่นพรึงก็ยังไม่อาจเอาชนะผู้อยู่ในวัยชราอย่างนาง "รุจิรา ปูรณโชติ" ภรรยาคู่ชีวิตของ พันโททวี ปูรณโชติ เสนาธิการกองพลเสือดำ ซึ่งพลีชีพเพื่อชาติไปอย่างสมเกียรติชายชาติทหารเมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้วได้เลย

 นางรุจิราเป็นชาวกรุงเทพ เกิดเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2478 เป็นบุตรสาวคนเดียวของนางยิ้ม และนายจำรัส แสงเจริญ ในวัยเด็กได้เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนเขมะสิริอนุสรณ์ ก่อนจะเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนการเรือนสวนดุสิต ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต

 ด้วยความใฝ่ฝันที่อยากจะเป็น "แม่พิมพ์" มาตั้งแต่เด็กๆ เมื่อเรียนจบจากโรงเรียนการเรือน นางรุจิราจึงไปสอบบรรจุเข้ารับราชการครู สังกัดกรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2501 และสอนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนวัดรวกบางบำหรุมาโดยตลอด จนกระทั่งเกษียณอายุราชการ

 คุณน้ารุจิรา หรือ คุณยายอู๊ดของหลานๆ ในวันนี้ รื้อฟื้นเรื่องราวในอดีตว่า

 "คุณทวีเป็นทหารอาชีพที่ไม่ปรารถนาสิ่งใดนอกจากการไปรบเพื่อชาติ ไม่ว่าจะมีสมรภูมิเกิดขึ้นที่ใด หากกองทัพไทยส่งทหารเข้าร่วม คุณทวีจะต้องอาสาสมัครไปทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นที่เกาหลี ลาว และเวียดนาม"

 "ด้วยความที่เป็นทหารโดยแท้ คุณทวีจึงเป็นที่รักใคร่ ได้รับความเมตตาจากผู้บังคับบัญชาทุกระดับ แม้กระทั่งจอมพลถนอม กิตติขจร ก็รู้จักคุณทวีและให้ความกรุณาอย่างเหลือล้นจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต"

 แววตาของคุณน้ารุจิราเปล่งประกายแห่งความปลาบปลื้มและภูมิใจเมื่อรำลึกถึงความหลัง

 "ตอนที่เราแต่งงานกัน คุณทวีมียศร้อยเอก จอมพลถนอม ซึ่งขณะนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี ได้กรุณาเป็นเจ้าภาพในงานแต่งงานให้กับคุณทวี ซึ่งเคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่ใกล้ชิด

 สิ่งที่น้าไม่เคยลืมก็คือ ในคืนวันงาน จอมพลถนอมกับท่านผู้หญิงจงกล เป็นผู้ใหญ่ที่มาทำพิธีปูเตียงให้คู่บ่าวสาวตามประเพณีที่เรือนหอซึ่งก็คือบ้านหลวงที่อยู่ในกรมทหารราบที่ 11

 "น้าอยู่กับคุณทวีที่บ้านในกรมทหารราบที่ 11 มาโดยตลอด ตั้งแต่แต่งงานจนมีลูก 3 คน กระทั่งคุณทวีเสียชีวิตในเวียดนาม เมื่อปี 2513 น้าจึงย้ายออกจากราบ 11 ไปอยู่กับคุณแม่ที่ซอยอุรุพงษ์"

ลูกชายรับเหรียญแทนผู้เป็นบิดา

 แม้เวลาจะผ่านพ้นมานานเกือบ 40 ปี แต่คุณน้ารุจิราก็ไม่เคยลืมความเป็นไปที่เกิดขึ้นในชีวิตช่วงนั้น

 "ทุกวันนี้เวลาที่เห็นข่าวเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจเสียชีวิตจากการโจมตีของกลุ่มโจรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เห็นญาติมิตร พ่อแม่ ลูกเมียของคนเหล่านั้นร้องไห้โศรกเศร้าเสียใจ น้าจะสงสารมาก น้ำตาแทบจะไหลออกมาให้ได้ เพราะเราเคยอยู่ในสภาพแบบนั้นมาก่อน เรารู้ว่าครอบครัวผู้สูญเสียรู้สึกยังไง "

 "ตอนที่รู้ข่าวว่าคุณทวีตายจากการรบ มันเหมือนกับหัวใจถูกฉีกออกเป็นชิ้นๆ เนื้อตัวแทบจะแตกออกเป็นเสี่ยงๆ น้าคิดไม่ออกเลยว่าจะจัดการกับชีวิตต่อไปอย่างไร"

 แต่ถึงแม้จะตกอยู่ในสภาพเช่นนั้นชั่วระยะหนึ่ง แต่เมื่อหันไปเห็นลูกตาดำๆ เลือดเนื้อเชื้อไขของบิดาเข้ามาเกาะแขนเกาะขา

 คุณน้ารุจิราก็ต้องทำใจให้ยอมรับความจริง เพื่อที่จะยืนหยัดต่อไปให้ได้

 "ตอนนั้นน้องเอ๋ ลูกสาวคนโตเพิ่งจะ 9 ขวบ ส่วน แจ็ค กับ จอย ลูกชายก็เพิ่งจะ 8 และ 7 ขวบ ยังเล็กอยู่ด้วยกันทั้งสามคน"

 "น้าจำได้ว่าวันนั้นเป็นวันที่ 31 ตุลาคม 2513 น้าสอนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนวัดรวกบางบำหรุตามปกติ ทางกองพันส่งคนมาแจ้งข่าวว่า เสธ.ทวี ถูกยิงเสียชีวิต น้าตกใจจนแทบจะสิ้นสติไม่อยากจะเชื่อว่าจะเป็นไปได้"

 เพราะคุณทวีไปราชการสงครามมาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่เคยได้รับอันตรายเลย ทั้งที่เกาหลีและที่ลาว ส่วนเวียดนามก็ไปมาตั้งแต่ปี 2512 เคยกลับมาเยี่ยมบ้านสองครั้ง ไม่เคยเล่าสักครั้งเลยว่าตัวเองต้องเจอกับอันตราย

 สัปดาห์ต่อมา ร่างของคุณทวีถูกส่งกลับเมืองไทย ในถุงห่อศพของกองทัพ มีธงชาติคลุม คุณทวียื่นมือออกมาให้ญาติมิตร และเพื่อนทหารรวมทั้งผู้บังคับบัญชาระดับสูงรดน้ำตามประเพณี

 น้าพยายามทำใจให้เข้มแข็งเมื่อได้เห็นนายทหารผู้ใหญ่มาร่วมไว้อาลัยคุณทวี แม้แต่จอมพลถนอม ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และเป็นผู้ที่ปูเตียงให้น้ากับคุณทวีในวันแต่งงานก็มาร่วมรดน้ำศพด้วย โดยท่านแต่งเครื่องแบบปกติขาวติดแขนทุกข์เป็นการให้เกียรติคุณทวีอย่างมาก

 แต่ในวันที่มีพิธีบรรจุศพเพื่อรอการพระราชทานเพลิง น้าแทบจะคุมสติไม่อยู่ ได้แต่ร้องไห้คร่ำครวญอยู่หน้าช่องเก็บศพที่มีตัวอักษรติดไว้ว่า "สละชีพเพื่อชาติ" ลูกๆ สามคนก็ร้องไห้ตามแม่ไปด้วย

 ลองนึกดูว่าผู้หญิงที่ต้องกลายเป็น "หม้าย" อย่างกระทันหันด้วยวัยเพียง 34 ปี และต้องเลี้ยงดูลูกที่กำลังโตวันโตคืนถึง 3 คน ต้องทำหน้าที่ทั้งพ่อและแม่ในเวลาเดียวกัน ต้องไปรับไปส่งลูกๆ ทุกคน ต้องสอนการบ้าน ดูแลอาหารการกิจ เตรียมเสื้อผ้า ทำงานบ้าน รวมทั้งงานที่ต้องสอนหนังสือ ตรวจการบ้านนักเรียนที่เป็นลูกศิษย์

 ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ถ้าไม่ใช่ผู้หญิงหัวใจเกินร้อยมีหรือจะแบกรับไหว

 นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความเดียวดายอ้างว้าง ต้องล้มตัวลงนอนโดยปราศจากคู่ชีวิตเคียงข้าง ยามตื่นขึ้นมาก็ไม่พบเขาคนนั้น คงมีเพียง "ความว่างเปล่า" ที่เข้ามาเยือนพร้อมกับวันใหม่

 แม้เรื่องราวที่เล่าจะเต็มไปด้วยความทุกข์ระทมโศกเศร้า แต่ในวันที่ "มรสุมชีวิต" ผ่านพ้นมาจนถึงบั้นปลายของทางเดิน

 คุณน้ารุจิรากลับพูดถึงอดีตที่ไม่มีวันลบเลือนด้วยสีหน้าอันเป็นปกติ

 "น้าผ่านชีวิตในช่วงนั้นมาได้ก็ด้วยกำลังใจจากเพื่อนและผู้บังคับบัญชาของคุณทวีทุกคนโดยเฉพาะจากคุณลุงปฐมพงษ์ที่ลูกๆ ของน้าเรียก"

 "คุณลุงปฐมพงษ์ " ของสามพี่น้องลูกๆ พันโททวี ซึ่งต้องกลายเป็นกำพร้าก็คือ พันเอกยุทธศิลป์ เกษรสุข ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 2 กองพลเสือดำที่ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับเสนาธิการอย่างพันโททวีมาโดยตลอด นับตั้งแต่วันแรกที่เดินทางไปราชการสงครามในประเทศเวียดนามด้วยกัน

 ปัจจุบันอดีตผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 2 ใช้ชีวิตในบั้นปลายอย่างสงบด้วยยศสุดท้าย "พลโท" ก่อนเกษียณอายุราชการและมีความสุขกับการที่ได้ชื่นชมในความสำเร็จของบุตรชายอีกคนหนึ่ง คือ พลเอกปฐมพงษ์ เกษรสุข หลังจากที่ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาค พลโทยุทธศิลป์ ต้องสูญเสียบุตรชายคนหนึ่งไปในสมรภูมิเขาค้อ

 บุตรชายคนนั้นก็คือ เรืออากาศโท พงษ์ณรงค์ เกษรสุข นักบิน เอฟ-5 ของกองทัพอากาศ ซึ่งถูก ผกค.ยิงตก ขณะบินปฏิบัติการโจมตีเป้าหมายภาคพื้นดิน ซึ่งเป็นเขตยึดครองของฝ่ายตรงข้าม

 "จนทุกวันนี้น้ากับลูกๆ ยังรำลึกถึงบุญคุณของคุณพี่ยุทธศิลป์และครอบครัวที่ได้เกื้อกูล มีน้ำใจช่วยเหลือครอบครัวของเราเสมอมา แม้กระทั่งคุณแป๊ะ หรือคุณปฐมพงษ์ ซึ่งเป็นลูกชาย ถึงจะเป็นพลเอกแล้วแต่ก็ยังไม่ลืมน้ากับลูกๆ คราวใดที่มีโอกาสได้พบกัน คุณแป๊ะจะต้องเข้ามาทักทายอย่างยินดีและถามสารทุกข์สุขดิบให้คนแก่อย่างน้าได้ชื่นใจอยู่เสมอ"

 พันเอกยุทธศิลป์ ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 2 กับ พันโททวี เสนาธิการกองพล รักใคร่ใกล้ชิดและผูกพันกันแค่ไหน คงต้องย้อนไปยังจุดเริ่มต้นที่นายทหารทั้งสองได้พบกันเป็นครั้งแรกเมื่อ 38 ปีที่แล้ว

 วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ.2512 ที่ร้านเป็ดย่าง "ไทยเจริญ" ข้างกองบัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ขณะที่พันเอกยุทธศิลป์  เกษรศุกร์ (ยศในขณะนั้น)  กำลังนั่งรับประทานอาหารกลางวันอยู่กับเพื่อนนายทหารนักเรียนของวิทยาลัยกองทัพบก 2 -3 คน

 พันโทร่างสันทัดผิดคล้ำในเครื่องแบบคอพับแขนสั้นสีเขียวประดับสายเสนาธิการก็เดินเข้ามาหา

 "ขออนุญาตครับ... ผู้การ"

 พันเอกยุทธศิลป์ เงยหน้าขึ้นมองแล้วก็ต้องรู้สึกประหลาดใจอยู่ไม่น้อย เพราะไม่เคยรู้จักกับพันโทผู้นี้มาก่อน

 "ผมไปหาผู้การที่วิทยาลัยกองทัพบกแต่ไม่พบ ทราบว่าผู้การมาทานข้าวที่นี่ก็เลยตามมา ผมอยากจะสมัครไปเวียดนามด้วยครับ ถ้าผู้การยังไม่ได้เลือกใคร"

 คำพูดแบบตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม และสีหน้าแววตาซื่อ ๆ ท่าทางบ่งบอกให้รู้ว่าเป็นนายทหารที่เอางานเอาการ ทำให้พันเอกยุทธศิลป์ซึ่งเป็นผู้บังคับการกรมผสมที่ 31 และได้รับคำสั่งใหม่ให้เป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 2 กองพลทหารอาสาสมัคร "เสือดำ" จ้องมองพันโทซึ่งยังไม่รู้จักชื่ออย่างพินิจพิจารณา

 "ทวีเคยไปลาวมาแล้ว"

 เพื่อนที่ร่วมโต๊ะพูดขึ้นเหมือนกับแนะนำ 

 "ถ้าได้ทวีไปด้วยก็คงจะดี เพราะเขาเคยผ่านสนามรบมา"

 "คุณนามสกุลอะไร"

 "ปูรณโชติครับ.. พันโททวี ปูรณโชติ"

 "ก่อนไปลาวคุณอยู่ที่ไหน"

 "ผมเป็น เสธ. อยู่ที่กรม 4 นครสวรรค์ครับ"

 พันเอกยุทธศิลป์พยักหน้าช้า ๆ

 "ดูก่อนก็แล้วกัน ผมไม่แน่ใจว่าทาง ทบ.จะบรรจุฝ่ายเสธ.ให้หรือจะยอมให้ผมเป็นคนเลือกเอง"

 นั่นเป็นครั้งแรกที่นายทหารทั้งสองมีโอกาสได้พบกัน แล้วหลังจากนั้นไม่นานนัก พันเอกยุทธศิลป์และพันโททวี ก็เดินทางไปราชการสงครามในประเทศเวียดนามพร้อม ๆ กัน โดยคนหนึ่งทำหน้าที่เป็น "ผบ.กรม" และอีกคนทำหน้าที่เป็น "เสนาธิการ"

พิธีประดับเหรียญในค่าย “แบร์แคท” หลังพันโททวีเสียชีวิต

 จากบันทึกของอดีต ผบ.กรมอาสาสมัคร "เสือดำ" คือพันเอก "ยุทธศิลป์ เกษรศุกร์"  ซึ่งในภายหลังเมื่อได้รับพระราชทานยศเป็น "พลโท" ได้เขียนถึงผู้ใต้บังคับบัญชาที่ชื่อ "ทวี" ซึ่งเดินทางไปราชการสงครามในประเทศเวียดนามพร้อมกัน และได้ร่วมเป็นร่วมตายจนกระทั่งมีความผูกพันนับถือกันมาแม้กระทั่งกับคนในครอบครัว

 พลโทยุทธศิลป์เล่าว่า

 "เมื่ออยู่ด้วยกันก็ได้รู้ว่าทวีเป็นคนขยันไม่ทิ้งงาน ใจเย็นและซื่อ ตอนที่ไปถึงเวียดนามใหม่ ๆ  ทหารเสือดำตายมาก แม้จะได้ควบคุมและกำชับอย่างดีแล้วก็ตาม"

 ทวีได้มาบอกว่า

 "ผู้การครับ วันนี้ผมจะออกไปดูเอง ผู้การไม่ต้องไปก็ได้ แต่ผู้การจะไปก็ขอให้คอยคอฟเวอร์อยู่ทางอากาศบน ฮ. ก็แล้วกันครับ"

 "ตามใจคุณ แต่ระวังหน่อยนะ ระวังทหารของเราด้วย อย่าทำอะไรผลีผลามต้องสุขุมรอบคอบค่อยเป็นค่อยไป"

 เหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งที่จำได้คือในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ (พ.ศ.2513) เวลา 4 โมงเย็น กรม 2 กองพลเสือดำเสีย ฮ. ในการรบเป็นครั้งแรก ทำให้หน่วยภาคพื้นดินจะต้องเข้าไปเอาคนเจ็บคนตายออกจากพื้นที่ซึ่งเป็นป่าทึบและเป็นเขตข้าศึก

 พันโททวีจึงเข้าไปอำนวยการรบและต้องใช้เวลาถึง 1 วัน กว่าจะเข้าไปช่วยฝ่ายเราได้

 ทหารเสือดำภายใต้การนำของพันโททวีเข้าทำการรบแตกหักจนทำลายที่มั่นข้าศึกได้สำเร็จ ซึ่งจากการพิสูจน์ทราบในเวลาต่อมาเชื่อว่าเป็นโรงพยาบาลสนาม เพราะพบเวชภัณฑ์ประเภทต่าง ๆ จำนวนมาก พร้อมด้วยเครื่องมือผ่าตัด นอกจากนี้ยังมีท่าเรือรับส่งคนเจ็บซ่อนอยู่ใต้พุ่มไม่อันหนาทึบ

 นอกจากนี้ ทวียังยึดภาพถ่ายของนางพยาบาลข้าศึกมาด้วย แต่จับตัวไม่ได้ เชื่อว่าคงจะบาดเจ็บสังเกตจากเสื้อผ้าเปื้อนเลือดถูกยิงบริเวณสะโพกและสามารถยึดของใช้อื่น ๆ ทั้งเครื่องสำอางและเครื่องอนามัย

 ที่น่าสังเกตก็คือ ภาพถ่ายนางพยาบาลข้าศึก ถ่ายมาจากห้องภาพ "นนทบุรี" แสดงว่าคนเหล่านั้นเข้ามาในเมืองไทย ก่อนที่จะกลับไปยังพื้นที่ปฏิบัติการ

พันโท ทวี (ซ้ายสุด) กับพันเอกยุทธศิลป์ (คนกลางถือแผนที่) ตรวจดูจุดที่ปะทะกับเวียดกง

 "นั่นเป็นเหตุการณ์ครั้งแรกที่ได้เห็นความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญของพันโททวี หลังจากนั้นทวีก็อาละวาดทำลายที่มั่นในเขตลุ่มน้ำซุยคาอย่างย่อยยับ บังเก้อรข้าศึกกว่า 1,000 แห่ง ถูกกองพลเสือดำทำลายพินาศ ในจำนวนนั้นมากกว่าครึ่งเป็นฝีมือของทวี"

 เวียดกงซึ่งกลับใจให้การว่า ที่ "ซุยคา" ข้าศึกอยู่ไม่ได้แล้ว

 กองพันอาวุธหนักก็กระจัดกระจาย ผบ.พัน, รอง ผบ.พัน และนายทหารการข่าวตายเรียบ โรงพยาบาลก็พินาศ ทั้งนี้ก็ด้วยฝีมือการนำทหาร "เสือดำ" ของพันโททวีผู้เป็นเสนาธิการ

 พันโททวียังคงเป็นเสนาธิการกรมที่ "กระหาย" จะออกสนามกับผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างไม่เปลี่ยนแปลง บ่อยครั้งที่ทวีมักจะมาบอกว่า

 "ผู้การครับ ผมขออนุญาตออกไปซุ่มกับทหารนะครับ"

 "เอาซิ แต่ระวังตัวหน่อย เอาคนที่ไว้ใจได้และซื่อสัตย์ไปด้วย ผมจะคอยฟังข่าวอยู่ทางนี้ ถ้าหนักหนาก็ขอ ฮ. ไปช่วย"

 ครั้งหนึ่งพันโททวีถูกข้าศึกยิงเฉียดศีรษะจนผมกระจุย แต่เจ้าตัวยังยิ้มเช่นเคยและบอกกับผู้การกรมว่า

 "ผู้การครับ เวียดกงมันไวยังกะปีศาจ เวลาเดินตัดกับเส้นขอบฟ้าตอนกลางคืน เหมือนปีศาจที่ก้าวยาว ๆ ทหารบางคนเห็นแล้วไม่กล้ายิง พอยิงไปมันก็ยิงตอบ กระสุนของมันนัดหนึ่งเฉียดศีรษะจนผมบนหัวของผมกระจุยเลยครับ"

 ทวีบอกต่อไปว่า

 "เราต้องอบรมทหารของเราใหม่ครับ คราวหน้าผมจะเอากับระเบิดไปด้วย"

 แล้วทวีก็ทำอย่างนั้นจริง ๆ เพราะในวันต่อมา ทวีออกไปคุมทหารและ "วางกับระเบิด" ด้วยตนเอง จนถึงตอนค่ำเขาก็กลับมาพร้อมด้วยศพเวียดกง

 "ผู้การไปดูซิครับ มันเป็นสิบโท

 " น้ำเสียงที่พูดแสดงความภูมิใจ "

 ไอ้นี่มีแผนที่ค่ายแบร์แคทของเราอยู่ในตัวด้วย มันเป็นหน่วยหน้าของพวกแซปเป้อรที่เตรียมจะเข้าเกาะฐานของเรา"

 วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2513 ตอนใกล้รุ่งข้าศึกลอบเข้ามาโจมตี บก. ในระยะประมาณ 20 หลา ด้วยระเบิด"เคลย์โม" แต่โชคดีที่ฝ่ายเราใช้ซุงขวางอยู่ใต้พุ่มไม้ มิฉะนั้นคงมีคนตายไม่น้อยกว่า 10 คน รวมทั้งพันเอกยุทธศิลป์ ผบ.กรม ผู้บันทึกเรื่องนี้ด้วย

 รุ่งขึ้นทวีจึงมาพบด้วยความเป็นห่วงพร้อมกับตำหนิผู้รับผิดชอบที่ปล่อยให้ข้าศึกผ่านเข้ามาได้จนถึง บก.ส่วนหลัง แต่ก็ได้บอกกับทวีไปว่า

 "ไม่เป็นไรหรอก การรบนอกแบบ ก็เป็นยังงี้แหละ ไม่สุขุมรอบคอบก็อาจจะตายได้เสมอ เพราะข้าศึกมันเข้ามาทุกทิศทุกทาง"

 "แย่มากที่ทำให้ผู้การถูกยิงจนได้ ผมจะไปดูเองครับ"

 คำพูดของทวี ทำให้รู้ว่าเขาเป็นฝ่ายเสธ. ที่รักและเป็นห่วงผู้บังคับบัญชามาก จึงขอบใจทวีและกล่าวว่า

 "ถ้างั้นก็จัดการให้เรียบร้อย เรากวาดล้างพื้นที่กองพัน 3 ของข้าศึกมาหลายวันแล้ว ควรจะเอาร้อย 4 พัน 3 ไปช่วยด้วย ไปวันพรุ่งนี้เลย"

 หลังจากนั้น การทำศึกระหว่างเสือดำกับเวียดกงกองพันที่ 3 ก็ดำเนินต่อไปจนกระทั่งในวันที่ 7 ทวีเข้ามารายงานว่า

 "ผู้การครับ บังเก้อรพวกมันมีมาก เจออยู่ทุกระยะ ผู้การมาดูซิครับ"

 เมื่อออกไปตรวจก็เป็นจริงอย่างที่ว่า แต่ปฏิบัติของฝ่ายเรายังคงดำเนินต่อไปจนกระทั่งใกล้เที่ยงจึงเตือนทวีว่า

 "เดินช้า ๆ หน่อย ระวังอันตราย ดูรอยเท้ามันซิ ยังใหม่ ๆ อยู่ทั้งนั้นเลย"

 แต่ทวีไม่ฟังเสียง คงบุกติดตามรอยเท้านั้นไปเพื่อให้ได้ตัวข้าศึก จนเกือบจะยิงกันเองด้วยความเข้าใจผิด ด้วยความโมโห ในฐานะที่เป็น ผบ.กรม จึงด่าไปทางวิทยุทั้ง ๆ ที่ยังไม่เห็นตัวทวี

 "ไอ้เสธ. บ้ารบ เดี๋ยวก็พาทหารไปตายห่ากันหมดหรอก"

 แต่ทวีก็เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่ดี ไม่ถือโกรธนาย เมื่อกลับมาก็แยกไปกินข้าวตามลำพังและพูดน้อยลงตอนบ่ายจึงออกค้นหาข้าศึกใหม่แล้วก็พลัดกันอีก จะกลับเข้าฐานอยู่แล้ว แต่เสธ. ยังอยู่ในป่าไม่มาสมทบ

พันโท ทวี เมื่อครั้งไปเกาหลี

 คนเป็นผู้การต้องคอยอยู่ใต้ต้นไทร เรียกวิทยุไปก็ติดต่อไม่ได้

 จนใกล้ค่ำ พันโททวีจึงกลับมา ผบ.กรม ซึ่งยังไม่หายหงุดหงิดจึงด่าซ้ำผ่านไปทางพนักงานวิทยุที่ชื่อ "หงษ์ทอง"

 "ไอ้หงษ์.. มึงกล้าทำบ้า ๆ แบบนี้ นึกว่ากูนิยมมึงหรือ ถ้าคนของกูตายไปจะว่ายังไง"

 จริง ๆ แล้ว ต้องการด่าเสธ. แต่รู้ว่าพนักงานวิทยุต้องอยู่ใกล้เสธ. ตลอดเวลา จึงด่ากระทบไปแบบนั้น

 หลังจากนั้นก็กลับเข้าค่าย เช้าวันรุ่งขึ้นทวีก็ออกไปปฏิบัติภารกิจใหม่ และ ผบ.กรมซึ่งหายโมโหแล้วก็ต้องยิ้มอย่างภาคภูมิใจในความสำเร็จของ "เสธ.คู่ใจ" เมื่อได้รับรายงานว่าพันโททวีนำทหารเข้าปะทะกับข้าศึกและสังหารได้ 25 ศพ

 พลโทยุทธศิลป์ เกษรศุกร์ เล่าต่อไปว่า

 "แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ทวียึดกระสุนปืนต่อสู้อากาศยานของข้าศึกได้มากถึง 20,000 นัด เท่ากับว่าเป็นการช่วยชีวิตนักบินในทางอ้อมไว้ได้เป็นจำนวนมาก"

 นอกจากนี้ ทวียังทำลายโรงพยาบาลเขต 10 จนพินาศและทำลายบังเก้อรได้อีก 10 แห่ง พร้อมทั้งจับเชลยและผู้กลับใจเข้ามอบตัวอีกหลายคน

 วันที่ 19 ตุลาคม (พ.ศ.2513) กรม 2 กองพลเสือดำเริ่มกวาดล้างข้าศึกอีกครั้ง ในช่วงแรกทวีไม่อยู่ เพราะกลับไปเยี่ยมครอบครัวที่กรุงเทพ จนกระทั่งวันที่ 27 ทวีครบกำหนดพัก กลับมาและได้เข้ามาถามถึงเหตุการณ์ระหว่างที่ตนเองไม่อยู่ว่า

 "ผู้การครับ วันนั้นผู้การลงไปด้วยใช่มั้ยครับ"

 "ใช่ หน่วยทางพื้นดินลังเลจะไม่เข้าปะทะ ผมจึงต้องลงไปเองแล้วให้ ฝอ.3 เสริมกำลังเข้าโอบล้อม รุ่งขึ้นจึงเข้าโจมตีจนข้าศึกหนีไม่ได้ ศพพวกมันนอนตายเต็มป่าหลังจากที่ยิงกันอย่างดุเดือด"

 พันโททวีจึงบอกว่า

 "วันที่ 31 ผมต้องขึ้น ซีซี.ควบคุมการเข้าตีบน ฮ. แต่ใจจริงผมอยากลงข้างล่าง เพราะผมรู้จักที่นั่นดี ถ้าเป็นไปได้ผู้การขึ้น ฮ. ดีมั้ยครับ ผมจะได้ลงไปคุมทหารเข้าตีทางด้านล่างเองครับ"

 "เอางั้นก็ได้ ถ้าคุณอยากจะไป ผมจะอยู่บน ฮ. คอยควบคุมให้ แต่อย่าประมาทก็แล้วกัน ระวังตัวด้วย"

พันโท ทวี (คนที่สองจากซ้าย) เมื่อครั้งไปปฏิบัติงานในประเทศลาว

 ปกติแล้วนายทหารที่ขึ้น ซีซี. (หมายถึง ศูนย์ควบคุมและสั่งการทางอากาศ ซึ่งจะทำหน้าที่ควบคุมการปฏิบัติของกำลังภาคพื้นดินตั้งแต่เริ่มต้นสถานการณ์) จะไม่ได้ทำการรบปะทะข้าศึกด้วยตนเอง

 ทวีซึ่งเป็น "นักรบ" เต็มตัวจึงไม่ค่อยนิยมทำหน้าที่นี้เพราะชอบที่จะ "ลุย" กับข้าศึกซึ่งหน้ามากกว่า

 ทวีจึงมาขอทำหน้าที่ภาคพื้นดิน โดยไม่มีลางสังหรณ์เลยว่าความกระหายใคร่รบของตนเองในครั้งนั้นจะนำไปสู่ "วาระสุดท้าย" ของชีวิต

 เช้าวันที่ 31 ตุลาคม เวลาแปดโมงเช้า พันโททวีนำกำลังเข้าสู่พื้นที่ปฏิบัติการด้วยตนเองเหมือนเช่นทุกครั้ง

 จนกระทั่งถึงเวลา 1100  จึงเริ่มปะทะกับข้าศึกทวีรายงานขึ้นมายังผู้การซึ่งอยู่บน ฮ. ว่า ข้าศึกเริ่มถอย ขอให้ส่งเครื่องบินมาทำ "แอร์สไตรค์"

 หลังจากนั้น เครื่องบินก็มาทิ้งระเบิด "ซีบียู" ซึ่งเป็นระเบิดสังหารบนผิวพื้น แต่พวกเวียดกงหลบลงไปในบังเกอร์ใต้ดิน จึงไม่เป็นอะไร

 เมื่อทวีนำกำลังเข้าโจมตีระลอกที่สอง กระสุนปืนกลจากข้าศึกที่โผล่มาจากบังเก้อรจึงกวาดเสือดำล้มลงรวมทั้งผู้เป็นเสธ. ด้วย

 พันโททวีได้รับบาดเจ็บ โดยถูกกระสุนนัดแรกที่ชายโครง แต่ด้วยความเป็นห่วงผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งถูกยิงได้รับบาดเจ็บไม่ห่างออกไป "เสธ.นักรบ" จึงพยายามคลานเข้าไปช่วย

พันโท ทวี กับ ครอบครัว ในวันเดินทางไปเวียดนาม

 ตอนนี้เอง กระสุนของเวียดกงอีกนัดหนึ่งได้พุ่งเข้าเจาะกลางหน้าผากของพันโททวี ปลิดวิญญาณของทหารกล้าชาวไทยซึ่งรบเพื่อปกป้องโลกเสรี หลุดลอยไปจากร่างในบัดดล...

 พันโททวี ไม่ควรจะตาย ถ้าไม่ผงกหัวขึ้นดูลูกน้อง

 พันโททวีไม่ควรจะถูกยิง ถ้าเขารู้ว่าข้าศึกหลบอยู่ในบังเก้อรใต้ดินแล้วขอเครื่องบินมาใช้ "ดีเลย์ บอมบ์"ซึ่งจะเจาะทะลวงลงไปแล้วจุดระเบิดด้วยชนวนถ่วงเวลาซึ่งจะทำให้สามารถสังหารข้าศึกได้

 แรงกระแทกของ "ดีเลย  บอมบ์" จะทำให้ข้าศึกที่อยู่ในบังเก้อรใต้ดินตายเหมือนที่ฝ่ายเราเคยใช้มาแล้วอย่างได้ผล

 พลโทยุทธศิลป์ เกษรศุกร์ จบบันทึกจากความทรงจำของท่านไว้ว่า

 "ในที่สุด ทวี.. ขุนศึกแห่งลุ่มน้ำซุยคาก็ปิดฉากชีวิตลงในพื้นที่ปฏิบัติการของกรม ร.2 กองพลเสือดำ ขอให้ดวงวิญญาณของทวีจงไปสู่สุขคติเถิด"

 การรบดำเนินต่อไปอีกหลายชั่วโมงกว่าที่จะนำศพของพันโททวีออกมาได้ หลังจากนั้นในวันที่ 5 พศจิกายนเวลา 1000 ได้มีพิธีประดับเหรียญกล้าหาญให้กับเครื่องแบบของพันโททวี ในค่าย "แบร์แคท"

 พันโททวี เป็นบุตรของนางฟักและนายเลื่อน ปูรณโชติ เป็นนักเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 7 รุ่นเดียวกับ พลเอก วิชิต วิชิตสงคราม อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม พลตรี ทองเติม พบสุข อดีตนายสนามมวยลุมพินี พันตำรวจเอก วิเชียร ชมะโชติ รองผู้บังคับการกองทะเบียนและนายทหารนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่อีกหลายท่านซึ่งเกษียณอายุราชการกันมาเกือบ 20 ปีแล้ว

 เมื่อพูดถึง พันโททวี ซึ่งหลังจากเสียชีวิตแล้วได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็น "พลตรี" เพื่อนๆ เตรียมทหารบกรุ่น 7 จะเล่าเหมือนๆ กันว่า

 "ทวีเป็นคนตัวเล็ก แต่ทรหดอดทน สมัยเป็นนักเรียนนายร้อย ทวีเป็นนักกรีฑา ถนัดทั้งการวิ่งเร็วและวิ่งทน

 ทุกคนที่รู้จักจะจำได้ว่า ทวี มีนิสัยใจเย็น รักเพื่อนและลูกน้อง รวมทั้งเจ้านายทุกคน"

 ทวีไม่เคยโกรธใคร และไม่เคยวิ่งเต้น เป็นคนตรงไปตรงมาและเป็นคนซื่อ รักครอบครัว

พันโท ทวี (คนซ้าย) ชี้มืออธิบายจุดปะทะให้พันเอกยุทธศิลป์ (คนขวา) ทราบ

 สิ่งที่ทวีชอบก็คือการได้ออก "สนามรบ" เคียงบ่าเคียงไหล่กับลูกน้อง แม้จะมีตำแหน่งเป็นถึง "เสนาธิการกรม" แต่ ทวี ก็ยังเดินเท้าร่วมกับกำลังภาคพื้นดิน หรือออกไปซุ่มโจมตีด้วยตัวเอง แทนที่จะอำนวยการรบอยู่บน ฮ. หรือใน บก.ส่วนหลัง

 ในวันที่ 31 ตุลาคม ทวีคงไม่ตาย ถ้าไม่นำทหารเข้ากวาดล้างเวียดกงด้วยตนเอง และตอนที่ถูกยิงครั้งแรกบริเวณชายโครง ทวีก็ควรจะแค่บาดเจ็บและรอดชีวิตกลับมา

 แต่เพราะความเป็นห่วงลูกน้องซึ่งถูกยิงล้มลงอยู่ด้านหน้า ทวีจึงผงกศีรษะขึ้นและพยายามที่จะคลานเข้าไปช่วย ทำให้ถูกกระสุนของข้าศึกเป็นครั้งที่สองบริเวณหน้าผากเสียชีวิตทันที

 นอกจากนี้การที่ทวีออกรบด้วยตนเองและมี "พลวิทยุ" อยู่ใกล้ ทำให้เวียดกงจับเป้าได้ว่าทหารไทยคนนี้ต้องเป็น "ผู้บังคับบัญชา" กำลังอย่างแน่นอน จึงได้เลือกที่จะยิงเข้าใส่เป็นลำดับแรก

 หลังจากการปะทะสิ้นสุดลงและฝ่ายเราถอนตัวกลับมาได้ พันเอกยุทธศิลป์ซึ่งเป็นผู้บังคับการกรมตกใจมากเมื่อรู้ว่าทวีตาย

 พันเอกยุทธศิลป์ได้เรียกสิบโท "เจือ" ซึ่งเป็นพนักงานวิทยุที่อยู่ใกล้ชิดกับ ทวี ในวินาทีแห่งความตายมาซักถามอย่างละเอียดว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร ทุกคนจึงได้ทราบความเป็นไปทั้งหมด

 จากการปฏิบัติหน้าที่อย่างแกล้วกล้าหลายครั้ง ทำให้พันโททวีได้รับเหรียญสดุดีจากกองทัพสหรัฐถึง 3 เหรียญ จาก 3 เหตุการณ์สู้รบ ได้แก่ เหรียญคอมเมนเดชั่น ประดับอักษร "วี" เหรียญซิลเวอร์สตาร์ และเหรียญซิลเวอร์สตาร์ประดับ "ใบโอ็ค"

 ในใบประกาศเกียรติคุณที่มอบให้พร้อมกับเหรียญที่กล่าวมาข้างต้นได้บันทึกวีรกรรมของพันโททวีไว้ดังนี้

 พันโท ทวี บูรณโชติ ได้แสดงความกล้าหาญ โดยเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2513 ขณะดำรงตำแหน่งเป็นเสนาธิการของกรมทหารราบที่ 2 ของกองพลอาสาสมัครของกองทัพบกไทยปฏิบัติการในสาธารณรัฐเวียดนาม ในวันดังกล่าว พันโททวีเข้าอำนวยการรบให้กับหน่วยทหารของตน ในการปฏิบัติการซุ่มโจมตีในเวลากลางคืนติดต่อกันถึง 2 คืน

 หน่วยทหารภายใต้บังคับบัญชาของ พันโท ทวี ได้พบเวียดกงจำนวนหนึ่งเคลื่อนที่ผ่านไปในพื้นที่ปฏิบัติการ หน่วยทหารจึงเริ่มยิงไปยังกำลังของข้าศึก พันโท ทวี ได้มุ่งตรงไปยังจุดที่มีการปะทะกับฝ่ายข้าศึกทันทีเพื่ออำนวยการรบ โดยมิได้คำนึงถึงภยันตรายใดๆ

 ฝ่ายข้าศึกก็เริ่มโจมตีตอบโต้หน่วยทหารฝ่ายเรา ทำให้มีทหาร 2 คนได้รับบาดเจ็บ แต่ พันโท ทวี มิได้ย่อท้อต่อสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อม พันโท ทวี ออกคำสั่งบัญชาการรบและประสานงานขอความช่วยเหลือการยิงสนับสนุนจากกำลังทางอากาศ เป็นผลให้กำลังฝ่ายข้าศึกต้องถอยร่น

 การปฏิบัติการอย่างกล้าหาญพร้อมที่จะเสียสละชีวิตของ พันโท ทวี บูรณโชติ นี้ นำชื่อเสียงเกียรติคุณมาสู่ตนและกองพลอาสาสมัครของกองทัพบกไทยในสาธารณรัฐเวียดนามเป็นอันมาก

พันโท ทวี นั่งพัก พร้อมลูกน้องกลางป่าในเวียดนาม

 ในวันที่ 3 กันยายน 2513 พันโท ทวี ได้นำหน่วยทหารเข้าทำการกวาดล้างข้าศึกอีกครั้ง

 หน่วยทหารต้องเผชิญกับการยิงต้านทานจากฝ่ายข้าศึกอย่างหนัก พันโท ทวี ได้สั่งให้หน่วยทหารยิงโต้ตอบทันที

 ในระหว่างาการยิงต่อสู้กันระหว่างฝ่ายเรากับฝ่ายข้าศึก พันโท ทวี ได้นำทหารเข้าโจมตีที่มั่นข้าศึกอย่างองอาจในระยะประชิดด้วยตนเอง ทำให้ฝ่ายข้าศึกต้องล่าถอยไป

 ในวันที่ 4 กันยายน 2513 พันโท ทวี ได้นำหน่วยทหารเข้าทำการลาดตระเวณต่อเนื่องจากวันก่อนเมื่อพบข้าศึก พันโท ทวี ก็นำทหารเข้าโจมตีทันที

 เมื่อฝ่ายข้าศึกเริ่มถอยหนี พันโท ทวี ก็นำทหารติดตามไปจนเกิดการปะทะใกล้กับบริเวณที่มั่นของฝ่ายข้าศึก

 พันโท ทวี จึงสั่งให้หน่วยทหารยิงตอบโต้การยิงของข้าศึก และเรียกการยิงสนับสนุนจากกำลังทางอากาศและปืนใหญ่ หลังจากนั้น พันโท ทวี ก็นำกำลังทหารเข้าโจมตีที่มั่นฝ่ายข้าศึกอีก จนทำให้ฝ่ายข้าศึกต้องสละที่มั่นล่าถอยไป

 ในวันที่ 5 กันยายน 2513 พันโท ทวี ก็นำหน่วยทหารเข้าทำลายที่มั่นข้าศึกซึ่งพบในวันก่อน แต่หน่วยทหารของเราต้องเผชิญกับการยิงตอบโต้จากฝ่ายข้าศึกอย่างรุนแรง พันโท ทวี จึงสั่งให้หน่วยทหารยิงต่อสู้เพื่อทำลายที่มั่นข้าศึกขั้นแตกหัก การปฏิบัติหน้าที่อย่างกล้าหาญของ พันโท ทวี ผู้นี้ เป็นไปอย่างสมเกียรติของชายชาติทหาร และนำชื่อเสียงเกียรติคุณมาสู่ตนเองและกองทัพบกไทย

 ในวันที่ 31 ตุลาคม 2513 ในขณะดำรงตำแหน่งเป็นเสนาธิการของกรมทหาราบที่ 2 ของกองพลอาสาสมัครไทยในสาธารณรัฐเวียดนาม ในวันดังกล่าว พันโท ทวี ได้นำกำลังทหารหนึ่งกองร้อยเข้าไปปฏิบัติการในพื้นที่ซึ่งมีกำลังของข้าศึกยึดครองอยู่ในอำเภอลองถั่น จังหวัดเบียนหว่า สาธารณรัฐเวียดนาม

 เมื่อกำลังส่วนหน้าเคลื่อนเข้าสู่บริเวณดังกล่าว ก็ถูกฝ่ายข้าศึกโจมตีขัดขวาง พันโท ทวี จึงสั่งให้กำลังส่วนนั้นถอยและขอการยิงสนับสนุนจากกำลังทางอากาศ

 หลังจากกำลังทางอากาศของเราเข้ายิงโจมตีพื้นที่ดังกล่าว พันโท ทวี ก็นำกำลังกลับเข้าสู่พื้นที่ดังกล่าวอีกครั้ง แต่ถูกยิงสกัดกั้นจนล้มลง

 ถึงแม้จะได้รับบาดเจ็บ พันโท ทวี ก็ยังคงอำนวยการรบอย่างกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว สมกับเป็นผู้นำหน่วยทหารที่ดี ในขณะที่ พันโท ทวี นำกำลังเข้าทำลายที่มั่นปืนกลของฝ่ายข้าศึกขั้นแตกหัก จึงถูกยิงอีกครั้งทำให้เสียชีวิต

 การปฏิบัติภารกิจของ พันโท ทวี ผู้นี้ เป็นไปอย่างกล้าหาญสมชายชาติทหารและนำชื่เสียงเกียรติคุณมาสู่ตนเองและกองทัพบกไทย โดยยอมสละชีวิตของตนเอง

พันเอกยุทธศิลป์ กับ พันโท ทวี (คนซ้ายสุดถือปืน M-16)

 ความทรงจำของเพื่อนเตรียม ทบ. รุ่น 7 ที่มีต่อพันโท ทวี ตามที่เล่ามาข้างต้น อาจจะไม่แจ่มชัดเท่ากับความทรงจำของ นาง "วราทิพย์ อานันทนสกุล" หรือ "น้องเอ๋" บุตรสาวคนโตของ พันโท ทวี ซึ่งปัจจุบันเป็นวิทยากรระดับ 9 ทำหน้าที่หัวหน้ากลุ่มงานประชาสัมพันธ์เชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

 เธอเล่าว่า

 "คุณพ่อแต่งงานกับคุณแม่ เมื่อปี พ.ศ. 2500 หลังจากนั้น 4 ปี ท่านก็มีลูกคนแรกคือ เอ๋ ก่อนที่น้องชายอีกสองคนจะตามมาห่างกันคนละปี คือ น้องแจ็ค กับ น้องจอย ซึ่งปัจจุบันเป็นพันเอกและพันตรี รับราชการทหารเหมือนคุณพ่อ

 น้องชายคนโตของเอ๋ คือ พันเอกวีระพันธ์ ปูรณโชติ ตำแหน่ง นายทหารสืบสวนสอบสวน กองทัพภาคที่ 1 ส่วนน้องชายคนเล็ก คือ พันตรีวรพจน์ ปูรณโชติ ตำแหน่งหัวหน้าส่งกำลังบำรุง กองส่งกำลังบำรุง ศูนย์การทหารราบปราณบุรี"

 ภายหลังการแต่งงาน คุณแม่จะต้องดูแลลูกๆ ทั้ง 3 คนเพียงคนเดียว เนื่องจากคุณพ่อจะต้องปฏิบัติงานรับราชการทหารต่างจังหวัดตลอดเวลา

 เท่าที่จำได้พวกเราเกิดมาก็อาศัยอยู่ในกรมทหารราบที่ 11 บ้านข้างๆ ได้แก่บ้านของคุณลุงอรุณทวาทศิน อดีต ผบ.พล 1 คุณลุงเกษม สุมานันท์ เป็นภาพของชีวิตครอบครัวทหารมาตลอด แต่พวกเราไม่เคยอยู่พร้อมหน้ากันเลย

น้อยครั้งนักที่จะมีคุณพ่อไปส่งที่โรงเรียน เพราะส่วนมากคุณพ่อจะอยู่ต่างจังหวัดเช่น เชียงใหม่  หรือกาญจนบุรี นครสวรรค์ เป็นต้น

พันเอกยุทธศิลป์ และ พลโท เสริม ซักถามเหตุการณ์ สิบโท เจือ ซึ่งเป็นพลวิทยุในวันที่ พันโท ทวี เสียชีวิต

นอกจากนี้คุณพ่อยังต้องมีภารกิจที่รับใช้ประเทศชาติ ณ ต่างประเทศหลายครั้ง ตั้งแต่เอ๋ยังเด็กๆ เอ๋เริ่มจำได้ในปี 2511 คุณพ่อไปปฏิบัติงานที่ประเทศลาว  และในปี 2512 ไปเวียดนาม ซึ่งจะเห็นได้ว่าครอบครัวของเราไม่เคยอยู่พร้อมกันเลย

วันหยุดหรือปิดเทอมจะเป็นวันที่พวกเรารอคอยเพราะจะเป็นช่วงที่เราจะได้พบคุณพ่อเพราะคุณแม่จะพาพวกเราเดินทางไปเยี่ยมคุณพ่อหรือไม่คุณพ่อจะเป็นฝ่ายลงมาที่กรุงเทพฯ หรือถ้าไปต่างประเทศวันที่คุณพ่อกลับจะเป็นวันที่พวกเรารอคอยและมีความสุขมาก

เพราะเราจะแย่งกันเปิดกระเป๋าของคุณพ่อเพราะในกระเป๋าจะมีของเล่นเต็มกระเป๋าทุกครั้ง เช่น ตุ๊กตาพูดได้ใส่กระโปรงสีชมพูสำหหรับเอ๋ ตุ๊กตาหมาเดินได้และเครื่องบินสำหรับน้องๆ  รองเท้า กระเป๋าสำหรับคุณแม่ และที่ขาดไม่ได้ก็คือช๊อคโกแลตที่ทุกคนชอบ

 ช่วงที่คุณพ่อต้องไปราชการที่ประเทศลาวคุณพ่อต้องเปลี่ยนชื่อเป็น "เทวัญ" เราก็ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงต้องเปลี่ยนชื่อ แต่พอมาทราบทีหลังก็เพราะเป็นการปฏิบัติราชการลับที่ไม่เปิดเผย เราต้องแอบไปหาคุณพ่อกันที่ตึกขาว จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการ

ช่วงที่คุณพ่อได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติหน้าที่ที่ ประเทศเวียดนาม ในราชการสงครามเวียดนาม ตอนนั้นเอ๋อายุประมาณ 10 ปี น้องทั้งสองคนอายุ9 และ 10 ปีตามลำดับ ขณะนั้นคุณพ่อต้องเดินทางไปในตำแหน่งเสนาธิการ กรมทหาราบที่ 2 กองพลทหารอาสาสมัครของกองพลเสือดำ เพื่อป้องกันประเทศไทย

เอ๋จำได้ว่า 12 มกราคม2513 คุณแม่จูงมือพวกเรา 3 คนไปส่งคุณพ่อที่สนามบินกองทัพอากาศ บน.6 ดอนเมือง เราจำได้ตลอดเวลาและคุณพ่อกลับมาช่วงต้นเดือนตุลาคม ประมาณ 15 วันแล้วก็กลับไป

แต่ในครั้งนี้พวกเรามาเพียงส่งคุณพ่อเท่านั้นและการมาส่งครั้งนั้นก็เป็นครั้งสุดท้ายที่มาส่ง เพราะในวันที่ 31 ตุลาคม 2513 ตอนเย็นหลังจากกลับจากโรงเรียนเราก็ได้ข่าวว่าคุณพ่อเสียชีวิตแล้ว เราร้องไห้ไม่หยุดเลยโดยเฉพาะคุณแม่

เราไปรอรับคุณพ่อที่วัดโสมแต่คราวนี้คุณพ่อกลับมาพร้อมกับเกียรติของทหาร ด้วยหน้าที่การรับใช้ประเทศชาติดังกล่าว ทำให้คุณพ่อได้เสียชีวิตในขณะปฏิบัติหน้าที่โดยถูกเวียดกงยิงเสียชีวิตขณะที่เข้าช่วยลูกน้องที่ถูกยิงในวันที่ 31 ตุลาคม 2513 วันนั้น

เราจำได้ว่าคุณแม่บอกเราว่า"พ่อไม่ได้อยู่กับเราแล้ว" ขณะนั้นคุณแม่อายุเพียง 34 ปี ต้องใช้ชีวิตเพียงลำพังเพื่อเลี้ยงลูก 3 คน ทางกองทัพสหรัฐมอบเหรียญให้คุณพ่อ แต่พวกเราก็ไม่อยากได้ เราอยากได้คุณพ่อมีชีวิตอยู่ต่อไป

ทั้งสองพระองค์ทรงรับสั่งกับนางรุจิราและลูกในวันพระราชทานเพลิงศพ

ในวันที่พระราชทานเพลิงศพคุณพ่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ ทรงโปรดเกล้าพระราชทานเลื่อนยศให้คุณพ่อเป็น พลตรี "ทวี ปูรณโชติ" และทรงเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพด้วยพระองค์เอง   ทำให้ครอบครัวสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างมากและทรงให้พวกเราได้เข้าเฝ้า

พระองค์ทรงตรัสกับคุณแม่ว่า "ขอให้อดทน เลี้ยงลูกให้ดีๆนะ"  ตอนนั้นเราหูอื้อเพราะมีทั้งเราได้ยินเสียงกองเกียรติยศและเสียงที่ทรงตรัส แต่ก็เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดกำลังใจที่ให้คุณแม่มีกำลังใจและมีความมุมานะอดทนต่อสู้ชีวิตเลี้ยงดูบุตรทั้ง 3 คน เพียงลำพัง

 คุณแม่ได้ดำเนินชีวิตโดยการเลี้ยงดูลูกๆทั้ง 3 คนเพียงลำพังคนเดียว  เพราะคุณแม่ไม่มีพี่น้อง เราจำต้องย้ายออกมาจากบ้านพักที่กรมทหาร และมาอยู่บ้านข้างนอกที่ซอยวรพงษ์กับคุณยายแล้วจึงย้ายมาที่เมืองทอง

เราอยู่กันกันเพียง 4 คนแม่ลูก ทุกเช้าคุณแม่จะต้องรีบหาอาหารให้ลูกๆ  และขับรถไปรับ-ส่ง ลูกๆที่ไปโรงเรียนราชินีบนและพันธะศึกษาก่อนแล้วจึงไปสอนหนังสือที่โรงเรียนย่านฝั่งธนบุรี  พอตอนเย็นก็ขับรถมารับเป็นเช่นนี้จนพวกเราจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย น้องคนเล็กสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร คุณแม่ก็ไปส่งตั้งแต่เช้ามืด

คุณแม่ดูแลอุ้มชูพวกเราทุกคนอย่างสุดกำลัง จนกระทั่งทุกคนจบการศึกษาระดับปริญญาตรีมีงานทำมั่นคง แต่แล้วใน ปี พ.ศ.2532  เราได้รับข่าวว่าน้องชายคนเล็ก ร้อยเอกรวรพจน์ฯ ซึ่งขณะนั้นปฏิบัติงานที่ชายแดนได้รับบาดเจ็บจากระเบิด

เรารีบขับรถไปที่จังหวัดอุบลราชธานีหวังว่าคงไม่เป็นอะไรมากพอไปถึงเห็นน้องจอยนอนอยู่ที่เตียงและตื่นขึ้นมาบอกว่า "ผมไม่เป็นอะไรมากหรอกคุณแม่"

แต่เมื่อเรามองไปที่ปลายเตียงเราไม่เห็นขาของเขาพวกเราปล่อยโฮออกมาเลย เพราะคำสั่งให้ไปปฏิบัติงานเป็นหัวหน้ากองร้อยลาดตระเวน       เพื่อดูแลอาณาเขตของประเทศไทยบริเวณเขตรอยต่อประเทศไทย อำเภอกัณทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ กับประเทศกัมพูชา บริเวณทางขึ้นเขาพระวิหาร

น้องจอยขณะนำชุดออกตรวจลาดตระเวน ได้เดินเหยียบกับระเบิดทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัสต้องเสียขาขวา 1 ข้างและนิ้วมือเกือบจะถูกตัด

 การได้รับบาดเจ็บของลูกชายคนเล็กในครั้งนั้นขณะอายุ 27 ปี ทำให้คุณแม่ได้รับความเสียใจเป็นอย่างมาก ความรู้สึกของพวกเราในขณะนั้นเหตุการณ์ก็คล้ายคลึงกับของคุณพ่อ เพียงแต่อยู่ในประเทศไทยเท่านั้น

จอมพล ถนอม กิติขจร นายกรัฐมนตรี มาร่วมสวดอภิธรรมศพ พันโททวี

อย่างไรก็ตามคุณแม่ก็อดทนต่อความรู้สึกและคอยสั่งสอนให้กำลังใจน้อง "ลูกไม่ตายก็ดีแล้ว  คนอื่นที่พิการมากกว่านี้เขายังมีชีวิตและต่อสู้ได้"

 ตลอดระยะเวลา50 ปีที่ผ่านมา คุณแม่ได้ประสพกับมรสุมของชีวิตมาโดยตลอดแต่ก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่ทั้งพ่อและแม่ในคนเดียวกันมาตลอด

คุณแม่ประสพความลำบากมาก ต้องเก็บออมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายภายในครอบครัวโดยเพียงคนเดียวมาตั้งแต่อายุ 34 ปี จวบจนปัจจุบันคุณแม่ก็มิได้บ่นย่อท้อแต่อย่างใด

คุณแม่มีแต่ความเสียสละอยู่เพียงลำพังกับลูกๆ เพื่อให้ลูกมีความสุข รักษาคุณงามความดีของคุณพ่อที่สร้างไว้ต่อวงศ์ตระกูลตลอดเวลา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ลูกๆทุกคนได้รับการศึกษาที่สูงๆและให้ทุกคนมีความต้องจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

ปัจจุบันคุณแม่มีอายุ 72 ปี  เป็นผู้หญิงร่างเล็กๆที่มีความเข้มแข็งอย่างอย่างมาก เป็นบุคคลที่ประเสริฐที่สุดของลูกๆ คุณแม่ไม่เคยบ่นในความลำบาก

คุณแม่ไม่เคยเข้าโรงพยาบาลแม้แต่ครั้งเดียว แต่เมื่อเดือนมกราคม 2549 เอ๋ได้นำคุณแม่ไปตรวจสุขภาพเป็นครั้งแรกในชีวิต เพราะเห็นว่าอายุ 70 กว่าแล้ว ปรากฏว่าหมอตรวจพบว่าคุณแม่เป็นมะเร็ง ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลโดยการผ่าตัดและรับการรักษาต่อเนื่อง  คุณแม่ก็ไม่เคยบ่นว่าได้รับความเจ็บปวด ไม่เคยทำให้พวกเรากังวลเลย  จากวันนั้นถึงวันนี้คุณแม่เป็นบุคคลที่เสียสละทุกอย่างมาโดยตลอด เป็นคุณแม่ที่สู้ชีวิตมาตลอดเวลา

สี่คนแม่ในวันที่รับเหรียญเชิดชูเกียรติจากกองทัพสหรัฐ หลังพันโททวีเสียชีวิต (พฤศจิกายน 2513)

 วันที่ 27 พฤษภาคม 2550 ผู้เขียนได้มีโอกาสพบกับ คุณน้า รุจิรา อีกครั้ง ในงานทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ พลตรี ทองเติม พบสุข ซึ่งเป็นทั้งเพื่อนและญาติกับ พลตรี ทวี

 คุณน้ารุจิรา กล่าวว่า

 "ถ้าคุณทวียังมีชีวิตอยู่ก็คงจะอายุ 80 ปี เท่ากับคุณอาวิเชียร คุณทวีคงจะมีความสุขที่ได้เห็นลูกชายสองคนเป็นทหารเมือนพ่อ และมีความสุขที่ได้เห็นลูกสาวมีครอบครัวที่อบอุ่นมั่นคง

 แต่คุณทวีมาด่วนจากไปตั้งแต่เป็นพันโท ก็เลยไม่ได้รับรู้เรื่องราวเหล่านี้ น้ายังหวังว่าเมื่อน้าจากไปตามวาระ คงจะมีโอกาสได้พบกับคุณทวีในอีกโลกหนึ่ง และคุณทวีคงจะพูดกับน้าว่า

 เวลาผ่านไปนานเหลือเกิน...กว่าที่เราจะได้พบกันอีกครั้ง"
 

เนื่องจากบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์อัน ชอบธรรมของผู้เขียน และอาจะมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลบ้างตามความเหมาะสม ในการนำบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่นๆ จึงขอความร่วมมือให้ใช้วิธีการคัดลอกเฉพาะ Link หรือ URL Address แทนการคัดลอกบทความทั้งหมด  หากมีการคัดลอกไปในลักษณะแอบอ้างเป็นผู้เขียน หรือมีเจตนาอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทางเว็บ iseehistory.com แล้ว จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย

กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

  • (ยังไม่มี)

 
เรียนเชิญสมาชิกร่วมแสดงความคิดเห็นที่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บ (ต้องสมัครและ Login ก่อน) ผู้ชมทั่วไปหรือสมาชิกที่ต้องการโพสต์รูป เชิญร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บบอร์ด "คุยกันหลังฉาก" ในกระทู้ที่มีอยู่แล้ว หรือ สร้างกระทู้ใหม่ (คลิกที่นี่) ครับ

หากเป็นสมาชิก Facebook แสดงความเห็นได้ในฟอร์มข้างล่างนี้ครับ

 




บทความเสริมความรู้ทั่วไป

ร้อยตำรวจเอกธรณิศ ศรีสุข ยอดวีรบุรุษ ตชด. วันที่ 02/07/2010   21:44:35
Robinson Crusoe 1997 - ความเป็นมนุษย์ วันที่ 26/05/2012   10:55:36
พงศาวดารมอญพม่า จาก ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑ วันที่ 21/04/2012   10:42:18 article
พระนเรศวรฯ กับเมืองละแวก ใน พงศาวดารละแวก ฉะบับแปล จ.ศ. ๑๑๗๐ วันที่ 21/04/2012   10:43:01 article
Beau Brummell: The Charming Man 2006 หนุ่มเจ้าสำอาง วันที่ 24/09/2015   22:37:44
เรื่องของฮิตเลอร์ และ เอวา บราวน์ วันที่ 24/09/2015   22:37:10
Fanny Hill การผจญภัยในโลกีย์ วันที่ 24/09/2015   22:36:45
The Marriage of Figaro วิวาห์ฟิกาโร วันที่ 24/09/2015   22:36:10
แนะนำบทความประวัติศาสตร์ที่ simple.wikipedia.org วันที่ 21/04/2012   10:44:07 article
ยศและเครื่องหมายยศทหารเยอรมันสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (Wehrmact Heer & Waffen SS) วันที่ 21/04/2012   10:47:26 article
ประวัติศาสตร์กับภาษาต่างประเทศ วันที่ 21/04/2012   10:50:53 article
บางประเด็นจากการไปฟังบรรยายเรื่องพิพิธภัณฑ์โรงเรียนเทพศิรินทร์ วันที่ 21/04/2012   10:52:53 article
หลักฐานประวัติศาสตร์และการวิเคราะห์หลักฐานประวัติศาสตร์ วันที่ 21/04/2012   10:51:49 article
MP40 กับ PPSh-41 และปืนกลมืออื่นๆ อีก 3 แบบ วันที่ 21/04/2012   10:54:27 article
คลีโอพัตรา ตอนที่ 4 : ฟาโรห์องค์สุดท้ายของอียิปต์ - ผู้หญิงที่โลกไม่มีวันลืม (สรุป) วันที่ 09/01/2011   19:31:10
มิติของเวลาในประวัติศาสตร์ วันที่ 27/02/2009   22:33:10
แล้วผมต้องทำอะไรกับประวัติโรงเรียนเทพศิรินทร์? วันที่ 21/04/2012   10:53:38 article
นางเอกอมตะตลอดกาล 25 คนแรก ของฮอลลีวู้ด (1) วันที่ 14/05/2012   21:45:30
เมื่อ Don Quixote de Lamancha ปะทะ เล่าปัง (2) วันที่ 14/05/2012   21:44:31
เมื่อ Don Quixote de Lamancha ปะทะ เล่าปัง วันที่ 14/05/2012   21:43:48
ภาพยนตร์รัสเซีย "Battle of Kursk" ศึกรถถังที่ใหญ่กว่า "Battle of the Bulge" วันที่ 21/04/2012   11:00:38 article
อธิบายเบื้องต้นเกี่ยวกับคำศัพท์หน่วยทหาร วันที่ 21/04/2012   11:01:41 article
"บางระจัน่" จากพระราชพงศาวดาร 2 ฉบับ วันที่ 05/05/2012   09:30:38 article
ราชทูตปรัสเซียเยือนสยามสมัยร.๔ ก้าวแรกสัมพันธ์ไทย-เยอรมัน วันที่ 21/04/2012   11:08:02 article
พระราชดำรัสเนื่องในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 20 พฤษภาคม 2535 วันที่ 05/05/2012   09:40:33 article
ทดสอบการแปลยศทหารบกจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยด้วยโปรแกรมพจนานุกรมดิจิตอล วันที่ 05/05/2012   10:17:45 article
ตำราพิชัยสงครามของไทย วันที่ 10/05/2012   11:22:47
ภาพตัวอย่างเครื่องแบบทหารเยอรมันสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 วันที่ 05/05/2012   10:16:51 article
"ไทยรบเขมร" ใน "ไทยรบพม่า" วันที่ 05/05/2012   10:13:48 article
อวสาน บิสมาร์ค วันที่ 10/05/2012   11:26:55
ชีวประวัติกับประวัติศาสตร์ วันที่ 05/05/2012   10:04:25 article
สืบเนื่องจาก "ELSID" วันที่ 14/05/2012   21:41:48
เจงกิสข่าน ผู้ยิ่งใหญ่ (2) วันที่ 14/05/2012   21:40:37
เจงกิสข่าน ผู้ยิ่งใหญ่ วันที่ 14/05/2012   21:39:44
เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ วันที่ 14/05/2012   21:38:54
การรบแห่งสตาลินกราด วันที่ 10/05/2012   11:28:24
Bangkok mean time เวลามาตรฐานชาติแรกของโลก ณ พระที่นั่งภูวดลทัศไนย วันที่ 10/05/2012   11:30:18
เครื่องบินรบไทยในสงครามอินโดจีน วันที่ 10/05/2012   11:37:11
Little Boyและfatman คู่หูมหาปลัย วันที่ 10/05/2012   11:34:40
BATTEL OF MIDWAY ยุทธนาวีทางอากาศที่เกาะมิดเวย์ จุดเปลี่ยนสงครามแปซิฟิค วันที่ 21/08/2010   22:07:52
พลูโตในยุคสมัยต่างๆ (www.horauranian.com) วันที่ 29/09/2008   21:37:10
กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ผู้ตั้งชื่อ "เดือน" ของไทย วันที่ 00/00/0000   00:00:00
ความเป็นมา วันสตรีสากล ๘ มีนาคม และ ผู้ให้กำเนิดวันสตรีสากล วันที่ 08/03/2014   08:50:05
คลีโอพัตรา ตอนที่ 1: ราชินีสาว นางพญาแห่งลุ่มแม่น้ำไนล์ ฟาโรห์องค์สุดท้ายของอิยิปต์ และผู้หญิงที่สวยที่สุดในประวัติศาสตร์ วันที่ 09/01/2011   19:31:53
ร้อยเอกวัฒนชัย คุ้มครองเหรียญกล้าหาญสมรภูมิบ้านร่มเกล้า วันที่ 21/08/2010   22:08:31
พันโทเจริญ ทองนิ่ม วีรบุรุษพลร่ม วันที่ 21/08/2010   22:09:29
เรือเอกประทีป อนุมณี "ประดู่เหล็กแห่งดูซงญอ" วันที่ 21/08/2010   22:09:57
วีรกรรมดอนแตง วันที่ 21/08/2010   22:10:41



1

ความคิดเห็นที่ 1 (101624)
avatar
Amorn@invethailand.com

ผมอาชีพเดียวกับ พี่ ทวี ห่างชั้นกว่าท่านในทุกด้าน ได้ทราบความจริงจากข้อเขียนนี้ด้วยความรัก และเคารพ ในห้าท่าน ของตระกูล"ปูรณโชติ"  ท่านเป็นภาพลักษณ์ ที่เลอเลิศ ของทหารในยุคของท่าน ที่พวกผมแม้ไม่สามารถจะลอกเลียนแบบได้ แต่ก็สำนึกในบทบาทของทุกท่าน ที่ได้ทำแล้วแทนรุ่นพี่ แทนเพื่อนของท่าน  และรุ่นน้องที่ตามมา อีกมากกว่าห้าสิบรุ่น ที่เมื่อได้ทราบพฤติกรรมนี้ ย่อมจะต้องประพฤติตาม หรือเล่าขาน ให้บุตรหลานได้ทราบและประพฤติเยี่ยงท่านให้จงได้ครับ

ด้วยความเคารพและเทิดทูน....จาก จปร.รุ่นที่๙คนหนึ่งครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น Amorn@invethailand.com (amorn-at-invethailand-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2011-06-14 22:17:07



1


Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker