โดย พันทิวา (น.อ.วิพันธุ์ ชมะโชติ)

พันเอกวัฒนชัย ในปัจจุบัน
ศูนย์รักษาความปลอดภัย, กรุงเทพมหานคร
บรรยากาศในวันนั้นเงียบสงบ ต้นไม้ใหญ่น้อยเขียวชอุ่มร่มรื่นย์ ขณะที่ไออุ่นจากแดดสายสาดส่องลงมายังทุกสรรพสิ่งเบื้องล่าง รวมทั้งนายทหารร่างสันทัดแกร่งเกร็งในเครื่องแบบสีเขียว คอพับแขนสั้นซึ่งก้าวเดินไปเงียบ ๆ ตามลำพัง
มันเป็นครั้งแรกที่เขามายังหน่วยงานสำคัญเพื่อขึ้นไปพบกับใครคนหนึ่งพร้อมด้วยความตั้งใจในการเอ่ยปากขอความช่วยเหลือบางอย่าง
ร้อยโทหนุ่มกับเพื่อนอีกคนซึ่งเพิ่งก้าวลงมาตามขั้นบันไดหน้าอาคาร รีบชิดเท้าตรงพร้อมกับยกมือวันทยาหัตถ์แสดงความเคารพอย่างแข็งแรงตามแบบธรรมเนียมทหาร ขณะที่อีกฝ่ายยกมือวันทยหัตถ์ตอบด้วยสีหน้าเรียบเฉย ก่อนจะถอดหมวกเดินขึ้นบันไดไปในอาการอันเป็นปกติโดยไม่มีสิ่งใดบ่งบอกให้ร้อยโททั้งสองซึ่งเพิ่งสวนทางลงไปได้รู้เลยว่า
นายทหารแปลกหน้าที่ทั้งคู่เพิ่งเคยเห็นเป็นครั้งแรกผู้นี้ เป็นคนเดียวกับอดีตผู้บังคับกองร้อยเดนตายจาก "บ้านร่มเกล้า" เจ้าของเหรียญกล้าหาญกลางสมรภูมิซึ่งนักรบน้อยคนนักที่จะมีโอกาสได้รับ
"อ้าว.. เจ้าเอ็ม นั่งซิ ไปยังไงมายังไง ถึงได้โผล่มาที่นี่แบบนี้"
นายทหารซึ่งเป็นเจ้าของห้องเอ่ยทัก เมื่ออดีตรุ่นน้องจาก จปร. ก้าวเข้ามาหยุดอยู่ตรงหน้าโต๊ะทำงาน
"ผมตั้งใจจะมาหาพี่นะครับ คือมีเรื่องอยากจะรบกวนขอความกรุณา"
"เอาซิ... สำหรับเอ็มแล้วไม่มีปัญหา พี่ยินดีเสมอ มีอะไรว่ามาเลย"
"ผมอยากจะทำเรื่องขอย้ายเข้ามาอยู่กรุงเทพครับ"
ผู้มาเยือนกล่าวอย่างตรงไปตรงมา
"คือคุณพ่อของผมป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ผมอยากจะมาเฝ้าพยาบาลท่าน เพื่อใช้เวลาช่วงที่เหลือด้วยกันให้มากที่สุด ไม่ทราบว่าใน ศรภ. พอจะมีตำแหน่งสำหรับผมบ้างมั้ยครับ"
สีหน้าและแววตาที่แสดงถึงความเห็นใจนายทหารรุ่นน้องปรากฏออกมาให้เห็น ก่อนที่นายทหารซึ่งมียศสูงกว่าจะกล่าวด้วยน้ำเสียงกระตือรือล้น
"ไม่น่าจะมีปัญหานะ เอ็มไม่ต้องห่วง พี่จะนำเรื่องไปเรียนให้บิ๊กหมงทราบ ท่านคงไม่ขัดข้องแน่ถ้ารู้ประวัติของเอ็ม"
นั่นเองจึงเป็น "จุดเริ่มต้น" ที่ทำให้นายทหารคนหนึ่งซึ่งดูเหมือนว่าเกือบจะถูกลืมเลือนไปจากความทรงจำของผู้คนในกองทัพบกได้มีโอกาสเข้ามาปักหลักทำงานที่ ศรภ. หรือ "ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ" มาจนถึงปัจจุบัน
นายทหารคนนั้นก็คือพันเอก "วัฒนชัย คุ้มครอง"
หนึ่งในนักรบเลือดไทย เจ้าของเรื่องราวการต่อสู้อันน่ายกย่องทั้งในชีวิตส่วนตัวและในสนามรบ จนอาจกล่าวได้ว่า
ชีวิตความเป็นไปของเขาน่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กหนุ่มเยาวชนไทยรุ่นหลังได้ยึดถือเป็นแบบอย่างในอันที่จะเลือกเข้ามา "รับใช้ชาติ" ตอบแทนคุณแผ่นดินให้สมกับที่เกิดมาเป็นลูกผู้ชายชาวไทย
ย้อนหลังไปเมื่อเกือบ 50 ปีที่แล้ว เด็กชายตัวเล็ก ๆ ที่ชื่อวัฒนชัยถือกำเนิดขึ้นมาในครอบครัวธรรมดา ซึ่งไม่ได้มีฐานะร่ำรวย
ผู้เป็นบิดาคือพันตำรวจตรี "สมศักดิ์ คุ้มครอง" รับราชการในกองปราบปรามสามยอดในสมัยนั้น
ส่วนมารดาคือนางสมใจ ทำหน้าที่เป็นแม่บ้านประจำครอบครัว คอยเลี้ยงดูบุตรสองคนคือ เด็กชายวัฒนชัยและเด็กหญิงวิไลวรรณ ซึ่งเป็นน้องสาวปัจจุบันคือ พตท.หญิงวิไลวรรณ

นางสมใจ มารดา (คนกลาง) ในหอประชุมโรงเรียนนายร้อย
ในเวลานั้น ครอบครัวของพันตำรวจตรีสมศักดิ์อาศัยอยู่ในบ้านพักของกรมตำรวจในเขตปทุมวัน ขณะที่เด็กชายวัฒนชัยเริ่มต้นการศึกษาที่โรงเรียนอนุบาล "ปวโรฬารวิทยา" ซึ่งอยู่ในละแวกใกล้เคียงกัน ตรงข้ามกับสถานเสาวภา
ชีวิตในปฐมวัยของเด็กชายวัฒนชัย มิได้สุขสบายมากนัก
โดยเฉพาะตอนที่เขาเรียนอยู่ประถมศึกษาปีที่ 4 ปรากฏว่าเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่กองทะเบียนกรมตำรวจ ทำให้เปลวเพลิงลุกลามไปถึงเรือนพักของข้าราชการ ซึ่งอยู่ในละแวกใกล้เคียงกัน
หลายครอบครัวจึงต้องหมดสิ้นที่อยู่อาศัยและทรัพย์สิน รวมทั้งครอบครัวของพันตำรวจตรีสมศักดิ์ด้วย
แม้จะโชคดีที่ทุกคนปลอดภัย แต่ข้าวของเครื่องใช้ทุกอย่างถูกเพลิงเผาผลาญจนหมดสิ้น แม้กระทั่งชุดนักเรียนของเด็กชายวัฒนชัยและเด็กหญิงวิไลวรรณซึ่งเป็นน้องสาว
แต่ที่เลวร้ายยิ่งไปกว่านั้นราวกับเคราะห์ซ้ำกรรมซัดก็คือ
ในช่วงก่อนที่จะเกิดไฟไหม้ พันตำรวจตรีสมศักดิ์ได้ประสบอุบัติเหตุถูกรถยนต์ชน ได้รับบาดเจ็บหนัก ต้องเข้าไปรักษาตัวในโรงพยาบาลโดยมีภรรยาคู่ชีวิตเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิด
ผลจากความสูญเสียในครั้งนั้น ทำให้ครอบครัวของพันตำรวจตรีสมศักดิ์ต้องย้ายไปเช่าบ้านอยู่ในซอยบ่อนไก่ใกล้กับสนามมวยลุมพินี
และนั่นเองจึงเป็น"จุดเริ่มต้น" ของความนิยมชื่นชอบในอาชีพทหาร เนื่องจากเด็กชายวัฒนชัยต้องเดินผ่านโรงเรียนเตรียมทหารบริเวณสี่แยกพระราม 4 เป็นประจำทุกวันเพื่อไปโรงเรียน
หลังจบการศึกษาชั้นประถมปีที่ 7 เด็กชายวัฒนชัยได้เข้าเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนสันติราษฎร์บำรุง จนกระทั่งเมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จึงไปสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารได้ในปี 2519 และนั่นก็คือ "บันไดขั้นแรก" ของการก้าวไปสู่อาชีพทหารอย่างที่เจ้าตัวปราถนา
ถึงแม้ว่าจะเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ แต่เด็กหนุ่มที่ชื่อวัฒนชัย คุ้มครอง ซึ่งสอบเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 19 กลับมีความใฝ่ฝันในเบื้องต้นที่จะเป็น "ทหารอากาศ" ซึ่งเขาเล่าถึงแรงบันดาลใจในสมัยนั้นว่า
"ที่ผมอยากเป็นทหารอากาศก็เพราะติดใจภาพยนต์เรื่อง "สิบสองนาฬิกาจ้าวเวหา" ซึ่งเป็นภาพยนต์สงคราม พระเอกเป็นนักบินอเมริกันที่ต้องต่อสู้กับนักบินเยอรมนีผมจึงอยากที่จะขึ้นไปอยู่บนท้องฟ้าทำศึกเวหาด้วยเครื่องบินรบ
"ความคิดแบบเด็ก ๆ ในตอนนั้นก็คือการเป็นนักบินจะทำให้มีโอกาสได้ปฏิบัติงานอันน่าตื่นเต้นได้ขับเครื่องบินเข้าต่อสู้กับข้าศึกทั้งบนท้องฟ้าและโจมตีข้าศึกทางภาคพื้นดิน
ดังนั้นถึงแม้คุณพ่อจะเป็นตำรวจ แต่ผมก็มีความฝันที่จะเป็นเสืออากาศเหมือนพระเอกในภาพยนตร์เรื่องนั้น"
ด้วยความที่เป็นคนขยันขันแข็งในการเรียน ผลการเลือกเหล่าซึ่งประกาศให้ทราบเมื่อขึ้นชั้นปีที่ 2 จึงเป็นไปตามที่นักเรียนเตรียมทหารวัฒนชัยต้องการ
กล่าวคือเขาได้เหล่าทหารอากาศตามที่เลือกไว้เป็นอันดับหนึ่ง ทหารบกอันดับสอง ทหารเรืออันดับสาม และตำรวจเป็นอันดับสุดท้าย
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ผลการเลือกเหล่าจะออกมาอย่างที่ตั้งใจไว้ แต่อาจเป็นด้วยโชคชะตาฟ้าลิขิตให้ต้องไปเป็น "นักรบบนดิน"

นักเรียนเตรียมทหารวัฒนชัย เมื่อปี 2520 ก่อนขึ้นเหล่านายร้อย จปร.
นักเรียนเตรียมทหารวัฒนชัยจึงทำเรื่องขอ "เปลี่ยนเหล่า" ด้วยเหตุผลที่ว่าไม่มั่นใจในสภาพร่างกายของตนเองว่าจะเป็นนักบินได้หรือไม่
เขาอธิบายถึงเรื่องดังกล่าวว่า
"ในตอนนั้นผมได้ยินมาว่าการที่จะเป็นนักบินต้องผ่านการตรวจร่างกายและทดสอบคุณสมบัติหลายอย่าง ซึ่งหากไม่ผ่านการตรวจหรือทดสอบไม่ผ่านก็จะไม่มีโอกาสได้เข้าไปเรียนในโรงเรียนการบิน และการเป็นทหารอากาศโดยไม่ได้เป็นนักบินก็ไม่ใช่ความปรารถนาที่แท้จริงของผม"
"ผมก็เลยคิดว่าถ้าอย่างนั้นก็เปลี่ยนเหล่าไปเป็นทหารบกดีกว่า เพราะอีกใจหนึ่งผมก็ชื่นชอบนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าและรู้สึกว่าเป็นนักเรียนเหล่าที่มีความสง่าผ่าเผยและองอาจมากที่สุดเมื่อเทียบกับนักเรียนเหล่าทัพอื่น"
บังเอิญว่าเพื่อนที่ค่อนข้างสนิทกันมากคนหนึ่งคือนักเรียนเตรียมทหารศรีเวียง อยากจะเป็นทหารอากาศ แต่ผลการเลือกเหล่าได้ทหารบก
ศรีเวียงกับผมจึงทำเรื่อง "จับคู่กัน" ขอเปลี่ยนเหล่า ซึ่งก็ได้รับการอนุมัติ ทำให้ต่างคนต่างได้มาอยู่ในเส้นทางอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
จนทุกวันนี้ นตท.ศรีเวียงก็ได้เป็น "นักบิน" ของกองทัพอากาศสมใจ ในขณะที่ นตท.วัฒนชัยกลายไปเป็นนายทหารบกผู้ผ่านสมรภูมิรบอันดุเดือดเลือดพล่านมาชนิดเฉียดตาย จนได้รับ "เหรียญกล้าหาญ" ชนิดที่แม้แต่ตนเองก็ไม่คาดคิดมาก่อน
เมื่อขึ้นไปเป็นนักเรียนนายร้อย ชีวิตของลูกข้าราชการตำรวจอย่างวัฒนชัยเต็มไปด้วยความเข้มข้นและยากลำบากตามแบบฉบับของเด็กหนุ่มในรั้ว จปร. ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม "สุภาพบุรุษแห่งสะพานมัฆวาน" หรืออีกฉายาหนึ่งก็คือพวก "รั้วแดงกำแพงเหลือง"
นักเรียนนายร้อยวัฒนชัยผ่านกิจกรรมทุกอย่างไปเป็นลำดับ ไม่ว่าจะเป็นการ "รับน้องใหม่" ที่ว่ากันว่าเหน็ดเหนื่อยแสนสาหัสจากการ "ซ่อม" ของนายร้อยรุ่นพี่ ๆ
งาน "กู๊ดบายซัมเมอร์" ก่อนปิดภาคเรียนหลังการฝึกภาคสนามแล้วเสร็จ ซึ่งนักเรียนนายร้อยจะพา "ญาติ" หรือหญิงสาวที่คบหาเป็นแฟนมาร่วมงานนี้
รวมทั้งการฝึกหลักสูตรจู่โจมเพื่อให้ได้มาซึ่งเครื่องหมายความสามารถ "เสือคาบดาบ" และการฝึกหลักสูตรส่งทางอากาศ หรือหลักสูตรกระโดดร่ม เพื่อการประดับ "ปีกร่ม" ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวนี้ถือเป็นเครื่องหมายความสามารถที่นักเรียนนายร้อยเกือบทุกคนไม่ยอมที่จะพลาดโอกาสในการไขว่คว้ามาประดับอกเสื้อเครื่องแบบของตน ไม่ว่าจะต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจฝ่าฟันความยากลำบากสักเพียงใดก็ตาม
นอกจากนี้ระหว่างที่ใช้ชีวิตอยู่ในรั้วแดงกำแพงเหลือง
นักเรียนนายร้อยวัฒนชัยยังเป็น "นักดนตรีไทย" และเป็นนักกีฬามวยสากลที่มีฝีมือฉกาจจนได้เหรียญทองในการแข่งขันกีฬาภายใน 3 ปีซ้อน โดยขึ้นชกในรุ่นไลท์เวท น้ำหนัก 60 กิโลกรัม
ด้วยความเป็นคนที่มี "พรสวรรค์" ในเชิงกำปั้นผนวกกับจิตใจอันเป็นนักสู้ทุกกระเบียดนิ้ว นักเรียนนายร้อยวัฒนชัยจึงสามารถคว้า "เหรียญทอง" กีฬามวยสมัครเล่นมาเป็นกรรมสิทธิ์ได้ตั้งแต่อยู่ปีหนึ่งทั้งที่เพิ่งลอดเชือกขึ้นสังเวียนกีฬาภายในของโรงเรียน จปร. เป็นครั้งแรก
"ถ้าได้เหรียญทองตั้งแต่ปีหนึ่งแบบนี้ ปีต่อ ๆ ไปก็คงต้องขึ้นชกมวยอีกและได้เหรียญทองในทุกครั้งที่มีการแข่งขันใช่มั้ย" คนสัมภาษณ์อดถามไม่ได้
แต่พันเอกวัฒนชัยในวันนี้กลับหัวเราะเบา ๆ ก่อนจะตอบอย่างอารมณ์ดีว่า
"ก็ไม่ถึงกับได้เหรียญทุกปีหรอกครับ เพราะเมื่อตอนปีสาม ผมยอมบายให้เพื่อนรุ่นเดียวกันชนะไปโดยไม่ต้องออกแรง
เราเคยได้เหรียญทองมาแล้ว ก็อยากจะเปิดโอกาสให้คนอื่นได้ชิงชนะเลิศกันบ้างซึ่งเมื่อมองย้อนไปในอดีต ผมคิดว่าการเป็นนักมวยก็ดีไปอย่าง ทำให้เราได้ชกปากกับรุ่นพี่ทั้งปีสามและปีสี่ คนก็เชียร์เราเยอะ เพราะเราเป็นรุ่นน้อง"
ส่วนในเรื่องของ "ดนตรีไทย" นักเรียนนายร้อยวัฒนชัยเล่นมาตั้งแต่ อยู่ปีหนึ่งโดยเขาเลือกชมรมดนตรีไทย เข้าไปนั่งตีกลองแขกตัวผู้ ตัวเมีย เพื่อเอาไว้เป็น "ที่หลบภัย" เพราะอย่างน้อยขณะที่เข้าไปซ้อมดนตรี รุ่นพี่ก็จะไม่ตามเข้าไป "จิกตัว" ในห้องซ้อม ไม่มีใครโผล่หน้าไปตะโกนสั่งให้สลับเข่าหรือยึดพื้น
"เป็นน้องเล็กนี่ครับ ก็ต้องรู้จักหลบ ๆ อู้ ๆ บ้างเป็นเรื่องธรรมดา" เขาเล่าอย่างขำ ๆ
พอขึ้นปีสอง นักเรียนนายร้อยวัฒนชัยก็ได้มีโอกาสเข้าร่วมในพิธีสวนสนามต่อหน้าพระพักตร์ ในฐานะ "ทหารรักษาพระองค์"
สมัยก่อนนั้น ในบรรดาโรงเรียนทหารสามเหล่า มีเพียงนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าเท่านั้นที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทหารรักษาพระองค์ และมีโอกาสในการเข้าร่วมกระทำสัตย์ปฏิญาณในพิธีสวนสนามเนื่องในวัน "ราชวัลลภ" ซึ่งจัดขึ้นต้นเดือนธันวาคมของทุกปี
จนกระทั่งถึงปี 2523 โรงเรียนนายเรือและโรงเรียนนายเรืออากาศจึงได้รับการสถาปนาให้เป็นหน่วยทหารรักษาพระองค์เช่นเดียวกับโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
นักเรียนนายเรือและนักเรียนเรืออากาศจึงได้มีโอกาสเข้าร่วมในการสวนสนามในวันราชวัลลภในฐานะ "ทหารรักษาพระองค์" ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
จากน้องใหม่ในรั้วแดงกำแพงเหลือง สี่ปีต่อมา นักเรียนนายร้อยวัฒนชัยก็ก้าวขึ้นไปเป็นรุ่นพี่ที่มีอาวุโส "สูงสุด" ของโรงเรียน พร้อม ๆ กับการตัดสินใจครั้งสำคัญในการกำหนดเส้นทางชีวิตรับราชการของตนเอง
เขาเล่าว่า
"การเลือกเหล่าของนักเรียนนายร้อย มีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้งบางยุคก็เลือกเหล่าตอนอยู่ปีห้า บางยุคก็เลือกเหล่าตอนอยู่ปีสาม
"พวกเราซึ่งเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 19 เมื่อได้เป็นนักเรียนนายร้อย ทางโรงเรียนกำหนดให้มีการเลือกเหล่าเมื่อเป็นนักเรียนชั้นปีที่ 5 โดยใช้ผลการสอบความรู้มาเป็นเกณฑ์ในการตัดสิน"
ในตอนนั้นนักเรียนนายร้อยวัฒนชัยตัดสินใจเลือกเหล่า "ทหารม้า" โดยเขาอธิบายถึงเหตุผลของการตัดสินใจในครั้งนั้นว่า
"ที่ผมเลือกทหารม้า เพราะว่าผมมีความรู้สึกว่าทหารม้าเป็นหน่วยที่มีความรักใคร่กลมเกลียวกัน และเป็นหน่วยรบเต็มตัว
"สำหรับคนที่เป็นทหารบกแล้วเหล่าทหารราบ ทหารม้าและเหล่าปืนใหญ่ ถือเป็น "เหล่าหลัก" ที่นายร้อยส่วนใหญ่ปรารถนาที่จะได้รับราชการในฐานะนายทหารสัญญาบัตรของทั้งสามเหล่าที่กล่าวมานี้
โดยเฉพาะเหล่าทหารราบและเหล่าทหารม้า
มักถูกกล่าวขานอยู่เสมอว่าเป็นนักรบ "แนวหน้า" ที่มีโอกาสได้ห้ำหั่นกับอริราชศัตรูโดยตรง
ส่วนทหารปืนใหญ่ถึงแม้จะได้ชื่อว่าเป็น "ราชาแห่งสนามรบ" แต่ก็จะมีโอกาสในการที่จะเผชิญหน้ากับข้าศึกโดยตรงน้อยกว่าทหารราบและทหารม้า
ไม่เพียงแต่เหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นเท่านั้น เพราะนักเรียนนายร้อยวัฒนชัยยังมีแรงบันดาลใจในการเลือกเหล่าทหารม้าจากการที่ได้เห็นนักเรียนปกครองรุ่นพี่หลาย ๆ คน ซึ่งต่างเลือกเหล่า "ทหารม้า" แทบทั้งสิ้นจนอาจกล่าวได้ว่า
ในช่วงเวลานั้นเหล่า "ทหารม้า" ถือได้ว่าเป็นเหล่าที่ได้รับความนิยมสูงสุดในความต้องการของนักเรียนนายร้อย จปร.
"ตอนที่พวกเรานักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 19 เป็นนักเรียนนายร้อยชั้นปีที่ 5 เหล่าทหารม้าเป็นเหล่าที่ฮิตที่สุด และคนที่จะเลือกทหารม้าได้จะต้องสอบได้คะแนนดีเยี่ยม
คนที่สอบได้ที่หนึ่งของรุ่นเราในตอนนั้นคือนักเรียนนายร้อย "ปรีชา ชุ่มประดิษฐ์" เลือกเหล่าทหารม้าส่วนคนที่สอบได้คะแนนอันดับสองและอันดับสามเลือกก็เหล่าทหารม้าเช่นกันในปีนั้นนักเรียนนายร้อยที่เป็นเหล่าทหารม้ามีด้วยกันทั้งหมด 22 คน
พันเอกวัฒนชัยเว้นระยะไปครู่หนึ่ง ก่อนจะเล่าความหลังต่อไปด้วยเสียงหัวเราะ
"ส่วนตัวผมเป็นเหล่าทหารม้าคนที่สองเชียวนะครับ แต่เป็นที่สองจากท้าย ไม่ใช่ที่สองจากหัว"

พันเอกวัฒนชัย เมื่อครั้งเป็นนักเรียนนายร้อยปีสาม
ต้นปี 2526 หลังจากเข้ารับพระราชทานกระบี่จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเดือนมีนาคมพร้อมกับนายทหารใหม่จากสามเหล่าทัพ
"ว่าที่ร้อยตรี" วัฒนชัยก็เริ่มต้นชีวิตราชการในฐานะ "ทหารม้า" เป็นครั้งแรก โดยบรรจุเข้าเป็นผู้บังคับหมวดกองพันทหารม้าที่ 18 ค่ายพ่อขุนผาเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งในช่วงเวลานั้นการสู้รบที่ "เขาค้อ" เข้าสู่ยุคปลายและใกล้ที่จะสงบลงแล้ว
การรบในสมรภูมิ "เขาค้อ" เกี่ยวข้องกับนักเรียนนายร้อยในยุคนั้นอย่างไร พันเอกวัฒนชัยเล่าว่า
"ก่อนที่ผมจะเรียนจบ 2-3 ปี สงครามที่เขาค้อดำเนินไปอย่างรุนแรงมาก พวกเราซึ่งเป็นนักเรียนนายร้อยได้ยินข่าวเกี่ยวกับการสู้รบที่เขาค้อหลายครั้งและมีรุ่นพี่ ๆ หลายคนที่รู้จักคุ้นเคยต้องเสียชีวิตและบาดเจ็บจากการรบที่นั่น
ผมเคยไปเยี่ยมรุ่นพี่ที่บาดเจ็บซึ่งเป็นอดีต "หัวหน้าหมวด" สมัยที่อยู่โรงเรียนนายร้อยคนหนึ่งและจบไปเป็นทหารม้า ชื่อพี่แบงค์
ตอนนั้นพี่เขาเป็นร้อยโท พี่แบงค์เป็นหัวหน้าหมวดของผมตอนอยู่ปีหนึ่งจึงค่อนข้างใกล้ชิดกัน
พี่เขาเป็นคนหน้าตาดี เป็นนายทหารรูปหล่อคนหนึ่ง แต่การไปรบที่สมรภูมิ "เขาค้อ" ทำให้พี่เขาได้รับบาดเจ็บสาหัส เสียดวงตาหนึ่งข้างเสียแขนหนึ่งข้าง
ในหนังสือ 100 ปี กองทัพภาคที่ 3 บันทึกเรื่องราวของพี่แบงค์ไว้ว่า...
เมื่อ 6 มีนาคม 2526 ขณะดำรงตำแหน่งนายทหารปฏิบัติการกรมอาสาสมัครทหารพราน 3005 ได้นำกำลังไปช่วยเหลือ ร้อย ม.15 ในยุทธการสุริยพงษ์-4 ขณะที่เคลื่อนที่ถึงบ้านนำชัย ตำบลบ่อเกลือเหนือ อำเภอปัว จังหวัดน่านได้ปะทะ ผกค. กำลังฝ่ายเราได้เหยียบกับระเบิด ผกค. บาดเจ็บ 3 นาย
ร้อยโทธนาคาร (ยศขณะนั้น) พร้อมกำลังพลได้เข้าไปช่วยเหลือเพื่อนำคนเจ็บส่งกลับทาง ฮ. ขณะดำเนินการอยู่ ร้อยโทธนาคารได้เหยียบกับระเบิดแสวงเครื่องของ ผกค. ได้รับบาดเจ็บสาหัส ขาขวาท่อนล่างขาด ขาซ้าย แขนซ้าย และบริเวณใบหน้ามีแผลฉกรรจ์
แม้ต้นเองจะได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่ก็ยังควบคุมสติ สั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาดำเนินกลยุทธโต้ตอบ จนสามารถยึดพื้นที่บริเวณปะทะได้สำเร็จและนำคนเจ็บส่งกลับได้ทั้งหมด
แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถพี่แบงค์จึงได้รับการรักษาอย่างดีที่สุดและกลับเข้ารับราชการอีกครั้ง จนทุกวันนี้ก็ยังรับราชการอยู่ในกองทัพ
รุ่นพี่อีกคนหนึ่งซึ่งพันเอกวัฒนชัย คุ้นเคย และไปรบที่เขาค้อคือพี่ "ปราการ ชลยุทธ"
"พี่คนนี้ก็เป็นนายทหาร รูปหล่อ หน้าตาดีหุ่นสมาร์ท พี่ปราการเรียนจบไม่นานก็ถูกส่งไปเขาค้อ และนำทหารเข้ารบอย่างห้าวหาญจนได้รับเหรียญรามา ฯ เช่นเดียวกัน ทำให้ผมรู้สึกประทับใจมาก
ถึงแม้จะเห็นอยู่กับตาว่า "ทหารม้า" อย่างร้อยโทธนาคารหรือพี่แบงค์ (ยศในขณะนั้น) ต้องได้รับบาดเจ็บสาหัสเจียนตายจากการรบในสมรภูมิ
แต่นักเรียนนายร้อยวัฒนชัยก็มิได้หวั่นไหวหรือเปลี่ยนใจที่จะไม่เลือกเหล่าทหารม้า
เขากล่าวว่า
"พี่ทั้งสองคนซึ่งเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 15 คือแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมเลือกทหารม้า
ผมมีความรู้สึกว่าพี่ทั้งสองคนเป็นแบบฉบับที่น่าภาคภูมิใจเป็นนายทหารม้าที่ดีและมีอุดมการณ์ เป็นนักรบเต็มตัว เสียสละเพื่อประเทศชาติ ผมจึงอยากจะเจริญรอยตามนั้นบ้าง
ตอนที่รุ่น 19 ขึ้นเหล่าเป็นนักเรียนนายร้อยปีหนึ่ง พี่รุ่น 15 ทำหน้าที่เป็นนักเรียนปกครองพวกเรา
พี่รุ่น 15 ถ่ายทอดปลูกฝังอบรมให้เรามีอุดมการณ์รักชาติ เสียสละ เพื่อชาติบ้านเมืองมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว
ผมยังนึกถึงบุญคุณของพวกพี่ ๆ เหล่านั้นมาจนทุกวันนี้ พี่ ๆ ฝึกเรามาดี เมื่อเราโตขึ้นเราก็ฝึกน้อง ๆ ต่อไปในลักษณะเดียวกัน
ตอนอยู่ปีห้า ผมก็เป็นนักเรียนปกครองตำแหน่ง "หัวหน้าหมวด" ผมจึงฝึกและถ่ายทอดปลูกฝังอุดมการณ์รุ่นน้องเหมือนที่รุ่นพี่ปลูกฝังและถ่ายทอดผมมา"
พันเอกวัฒนชัยเล่าถึงชีวิต "ว่าที่ร้อยตรี" เหล่าทหารม้าว่า
"สมัยก่อนค่ายพ่อขุนผาเมืองที่เพชรบูรณ์ยังไม่เจริญมากเหมือนกับในสมัยนี้
ผมจำได้ว่าเมื่อลงรถทัวร์ต้องแต่งเครื่องแบบพร้อมกับแบกถุงทะเลขนสัมภาระและหิ้วกระบี่ไปพร้อมกับว่าที่ร้อยตรีสมพงษ์ แจ้งจำรัส เพื่อไปรายงานตัวด้วยกัน
ในคำสั่งแต่งตั้งซึ่งลงนามโดย ผบ.ทบ. ผมเป็นผู้บังคับหมวดสังกัดกองพันทหารม้าที่ 18 ส่วน "หยอย" หรือสมพงษ์เป็นผู้บังคับหมวดกองพันทหารม้าที่ 26 เราจึงเดินทางไปด้วยกัน นั่งรถทัวร์ออกจากกรุงเทพตอนห้าทุ่ม ไปถึงที่โน่นตีสี่ครึ่ง
สมัยนั้นเส้นทางกันดาร ไม่ทันสมัยเหมือนปัจจุบัน
เราต้องเดินเท้าจากหน้ากองรักษาการณ์เป็นระยะทางเกือบหนึ่งกิโลกว่าจะถึงอาคารซึ่งเป็นที่ตั้งของกองบังคับการ
พอพระอาทิตย์ขึ้นหน่วยต่าง ๆ เริ่มทำงาน เราก็ไปรายงานตัวกับผู้บังคับกองพัน
ภารกิจแรกของผู้หมวดจบใหม่จากโรงเรียนนายร้อย จปร. ก็คือการฝึก "ทหารใหม่" ซึ่งในแต่ละปีจะมีมาให้ฝึกสองผลัด
ว่าที่ร้อยตรีวัฒนชัยทำการฝึกทหารใหม่อยู่เกือบสองปี มีทหารใหม่ที่ผ่านมือมารวมทั้งสิ้น 5 รุ่น ก่อนที่เขาจะได้รับการเลื่อนยศเป็น "ร้อยโท" และถูกส่งไปปฏิบัติภารกิจภาคสนามเป็นครั้งแรกที่หมู่บ้านชายแดน
"ตอนนั้นผมเป็นผู้บังคับหมวดหนึ่งของกองร้อยที่มีร้อยเอกอรุณนิวัติ ช้างใหญ่หรือที่พวกรุ่น 19 เรียกท่านว่า "พี่ช้าง" เป็นผู้บังคับกองร้อย ปัจจุบันพี่เขาเป็นอาจารย์อยู่โรงเรียนนายร้อย จปร. ที่เขาชะโงก"

นักเรียนนายร้อยวัฒนชัย หน้ารถถัง
เขาเล่าถึงประสบการณ์จากการปะทะครั้งแรกว่า
"ในตอนนั้นพื้นที่ 3 หมู่บ้าน บริเวณชายแดนไทยกับเพื่อนบ้านได้แก่พื้นที่บ้านสว่าง บ้านกลาง บ้านใหม่ ถือเป็นพื้นที่คาบเกี่ยวซึ่งมีปัญหามานาน
ทางฝ่ายตรงข้ามจึงส่งทหารเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งแบ่งเขตด้วยสันปันน้ำ ฝ่ายเราก็ส่งทหารเข้าไปเช่นกัน
ภารกิจที่หน่วยเหนือมอบหมายมาก็คือ ผมจะต้องนำกำลังเข้าปิดล้อม "บ้านใหม่" เพื่อผลักดันให้ทหารต่างชาติถอนตัวออกไป
ตอนนั้นผมเป็นผู้หมวดหนุ่มกำลังฮึกเฮิม และกระหายที่จะได้ปฏิบัติการจริงในแนวหน้า อีกอย่างหนึ่งก็คือเราฝึกลูกน้องมาด้วยมือของเราเอง จึงค่อนข้างมั่นใจและอยากจะพิสูจน์ขีดความสามารถทั้งของตนเองและของทหารในบังคับบัญชา
พลทหารปีหนึ่งและพลทหารปีสองที่อยู่ในหมวดก็เป็นลูกน้องซึ่งเราฝึกเขามาตั้งแต่วันแรกที่ถูกเกณฑ์เข้ามาประจำการ
ดังนั้นเราจะรู้สึกเหมือนกับว่าเราได้หล่อหลอมพวกเขาให้เป็น "ทีมรบ" ทีมเดียวกันได้อย่างสมบูรณ์แบบ
กำลังของฝ่ายเราที่เข้าไปยังพื้นที่บ้านใหม่ ประกอบด้วยทหารม้า 2 หมวดเพิ่มเติมกำลัง
ตามแผนการที่กำหนดไว้ เราจะเข้าสู่ที่หมายในเวลาตีสี่
ประสบการณ์ที่พันเอกวัฒนชัย ฯ จำได้ไม่มีวันลืมก็คือ
"เราต้องเดินป่าในเวลากลางคืน บุกฝ่าภูมิประเทศอันรกทึบกันดาร ท่ามกลางสายฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ตอนห้าทุ่ม
ทหารทุกคนต้องใช้ผ้า "ปันโจ" คลุมหัวแล้วนั่งหลับนก รอเวลาที่จะเคลื่อนกำลังผ่านแนวออกตี ซึ่งกำหนดไว้ในเวลาสี่นาฬิกา"
เมื่อถึงเวลานั้นแม้ว่าฝนจะหยุดตกแล้วก็จริง
แต่หมอกกลับลงหนาจัดมาก ทำให้ฝ่ายเราต้องเคลื่อนขบวนอย่างช้า ๆ เข้าหาที่หมาย
แต่ฝ่ายตรงข้ามคงจะรู้ตัวล่วงหน้าตั้งแต่กลางดึกว่าทหารไทยเตรียมเข้าผลักดันซึ่งทหารข้าศึกไม่ต้องการที่จะสู้รบด้วย
ดังนั้นเมื่อกำลังของเราเข้าถึงที่หมายจึงไม่มีการปะทะรุนแรงเกิดขึ้นนอกจากการยิงเพียงประปราย เพราะทหารของอีกฝ่ายตั้งใจอยู่แล้วว่าจะถอนตัวออกไป
ถึงแม้ปฏิบัติการครั้งแรกในสนามของผู้หมวดวัฒนชัย ฯ จะไม่ได้เป็นการรบที่รุนแรงแบบที่เรียกว่า "ดุเดือดเลือดพล่าน" แต่ภารกิจนั้นก็ถือว่าบรรลุความมุ่งหมายตามที่หน่วยเหนือต้องการ
เพราะฝ่ายเราสามารถสถาปนาพื้นที่ 3 หมู่บ้านให้เป็นของไทยได้อย่างถาวร รวมเนื้อที่ประมาณ 19 ตารางกิโลเมตร จากนั้นกำลังของผู้หมวดวัฒนชัย ฯ ก็ส่งมอบพื้นที่ให้กำลังพลชุดใหม่ที่ขึ้นไปสับเปลี่ยนและตั้งฐานเพื่อเฝ้าระวังพื้นที่ดังกล่าวต่อไป
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงปีรุ่งขึ้น มีความเป็นไปบางอย่างที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดหมายกล่าวคือ
นโยบายด้าน "การต่างประเทศ" ของไทยต้องการเข้าเป็นสมาชิกมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ
ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ เราจะต้องไม่มีปัญหาข้อพิพาทใด ๆ กับประเทศเพื่อนบ้าน
ฝ่ายตรงข้ามจึงใช้เงื่อนไขในข้อนี้มาเป็นประโยชน์ด้วยการอ้างว่าพื้นที่ 3 หมู่บ้านเป็น "พื้นที่ปัญหา" ซึ่งจะต้องมีการเจรจากัน
ฉะนั้นจึงขอให้ฝ่ายไทยถอนทหารออกไปซึ่งเราก็ยอมปฏิบัติตาม เพราะเกรงว่าจะถูกยับยั้งไม่ให้เข้าเป็นสมาชิกมนตรีความมั่นคง ฯ
ด้วยเหตุผลดังกล่าวพื้นที่ 3 หมู่บ้าน จึงไม่มีฐานปฏิบัติการของทหารไทยตั้งมั่นอยู่อีกเลยนับจากนั้นเป็นต้นมา

กองทัพภาคที่ 3 พร้อมรบ
แต่ถึงแม้จะถอนทหารออกมาแล้ว แต่ฝ่ายเรายังคงส่งกำลังเข้าไปลาดตระเวนเพื่อ "หาข่าว" และเป็นการป้องปรามฝ่ายตรงข้ามฉวยโอกาสส่งกำลังเข้ามายึดพื้นที่
พันเอกวัฒนชัยเล่าต่อไปว่า
"ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นร้อยเอก "อมรฤทธิ์" หรือพี่จบ นักเรียนเตรียมทหารรุ่น 18 ย้ายมาเป็นผู้บังคับกองร้อย โดยมีผมทำหน้าที่เป็นผู้บังคับหมวดหนึ่งและมีรุ่นน้องจากเตรียมทหารรุ่น 20 อีกคนหนึ่งเป็นผู้บังคับหมวดสอง
คราวนี้เองที่ผู้หมวดวัฒนชัยได้มีโอกาสนำทหารเข้าทำการรบอย่างเลือดพล่านเป็นครั้งแรก
เขาฟื้นอดีตให้ฟังว่า
"ในตอนนั้นเราได้รับคำสั่งให้นำกำลังเข้าลาดตระเวนในพื้นที่เป้าหมายเดิม ซึ่งก็คือพื้นที่ 3 หมู่บ้าน โดยในขณะนั้นฝ่ายตรงข้ามได้ส่งกำลังทหารเข้ามายึดครองไว้หมดแล้ว เนื่องจากฝ่ายเราได้ถอนตัวออกมาตามนโยบายทางด้านการต่างประเทศของรัฐบาลดังที่กล่าวมาข้างต้น
ระหว่างการปฏิบัติภารกิจ ชุดลาดตระเวนของหมวดสองที่มี "จิ๋ว" นายทหารรุ่นน้องเป็นผู้บังคับหมวดได้เคลื่อนตัวเข้าไปอยู่ในพื้นที่ซุ่มและถูกข้าศึกปิดล้อม
ผู้บังคับหมวดสองจึงวิทยุร้องขอความช่วยเหลือและ ผบ.ร้อยก็สั่งให้หมวดหนึ่งของผมเคลื่อนกำลังเข้าไปช่วย
ผมจึงจัดกำลังทหารเป็นชุดเคลื่อนที่เร็วเพื่อปฏิบัติภารกิจดังกล่าวซึ่งจากเสียงการปะทะที่ได้ยินทางวิทยุและน้ำเสียงที่หมวดจิ๋วรายงานสถานการณ์เข้ามา ทำให้ผมรู้ว่าน้องและทหารของเขากำลังตกอยู่ในภาวะคับขันมากและเป็นฝ่ายเสียเปรียบข้าศึกทุกด้าน
"ในตอนนั้นผมไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่าความมุ่งมั่นว่าจะต้องช่วยฝ่ายเดียวกันกลับออกมาให้ได้ ผมจึงนำทหารเคลื่อนตัวไปทางภูมิประเทศอย่างเร่งรีบ"
แต่ในทันทีที่กำลังของฝ่ายเราเข้าใกล้แนวข้าศึก
ร้อยโทวัฒนชัยก็ได้ยินเสียงหวีดแหลมเขย่าความรู้สึก ก่อนจะตามมาด้วยเสียงระเบิดครึมสนั่นที่ดังสะท้านแก้วหูเหนือกิ่งไม้ด้านหน้า
"นั่นเป็นครั้งแรกในชีวิตทหารของผมที่ถูกข้าศึกยิงโจมตีด้วยจรวดอาร์พีจี."
พันเอกวัฒนชัยรำลึกถึงความหลัง
แต่ด้วยโชคชะตาที่กำหนดไว้ว่าจะต้องมีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่อทำการรบที่หนักหนาสาหัสยิ่งกว่านี้
จรวดอาร์พีจี.ของข้าศึกจึงมิได้ทำอันตรายแก่ผู้หมวดหนุ่มจนถึงแก่ชีวิต นอกจากแตกสะเก็ดส่งชิ้นส่วนปลิวว่อนเฉียดผ่านร่างของนายทหารชาวไทยไปอย่างน่าหวาดเสียว
แต่กระนั้นก็ตาม เศษชิ้นส่วน "ครีบหาง" ของจรวดอาร์พีจี. ชิ้นหนึ่งได้ปลิวเข้าใส่ขาขวาของเขาจนเจ้าตัวเสียวแปล่บ รู้สึกเหมือนอะไรบางอย่างที่ร้อนจี๋พุ่งเข้าใส่และฝังอยู่ในเนื้อ
"ในตอนนั้นผมรู้ตัวแล้วว่าถูกอาวุธของข้าศึก แต่ยังไม่รู้สึกเจ็บมากและพยายามบอกกับตนเองว่าอย่าไปสนใจมัน
เขาเล่าต่อไป
"ผมรู้เพียงว่ากางเกงขาดแต่ยังไม่มีเลือดออก ผมยังคงอำนวยการรบต่อไป ท่ามกลางเสียงอื้ออึงจากการยิงของทั้งสองฝ่าย ทั้งที่ในวินาทีแรกตอนที่โดนข้าศึกยิงอาร์พีจี. เข้าใส่ ผมก็มีอาการเหมือนกับจะช็อคไปชั่วขณะและมึนงงอยู่ครู่หนึ่ง คิดไม่ออกว่าจะทำอะไรต่อไป
แต่เมื่อตั้งสติได้หลังจากที่พุ่งตัวหมอบลงกับพื้น
ผมก็เงยหน้าขึ้นมาแล้วร้องตะโกนสั่งลูกน้องให้ทำการยิงตอบโต้ข้าศึกตามที่เคยฝึกมา
การปะทะดำเนินต่อไปนานกว่าชั่วโมงและสถานการณ์ก็เปลี่ยนไป กลายเป็นว่าหมวดของเราตกเป็นเป้าหมายการระดมยิงของข้าศึกอย่างหนัก
ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่าทหารต่างชาติเกรงว่าจะถูกฝ่ายเราซึ่งเข้าไปช่วยหมวดสองทำการโอบล้อม
พวกนั้นจึงเปลี่ยนเป้ามาเป็นการระดมโจมตีหมวดหนึ่งของผมแทน ทำให้ทหารของหมวดสองที่มีจิ๋วเป็นผู้นำสามารถถอนตัวออกมาได้สำเร็จ
พันเอกวัฒนชัยกล่าวต่อไปว่า
"การปะทะในครั้งนั้นดำเนินไปอย่างดุเดือด ซึ่งถ้าลูกน้องของเราไม่ได้ผ่านการฝึกมาอย่างเข้มข้น ก็อาจจะเสียขวัญคุมกันไม่ติด เพราะเสียงปืนที่ข้าศึกยิงเข้ามาดังน่ากลัวมาก
กระสุนที่หวีดแหลมแหวกอากาศเข้ามาแตกต่างจากเสียงปืนที่ฝ่ายเรายิงออกไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งหลังจากผ่านพ้นเหตุการณ์ครั้งนั้นมาแล้ว ผมมักจะบอกกับคนที่มีโอกาสฝึกทหารใหม่อยู่เสมอว่า
เราควรจะฝึกให้ทหารใหม่คุ้นเคยกับเสียงกระสุนปืนที่ "พุ่งเข้าหา" แทนที่จะฝึกให้ทหารได้ยินแต่เสียงปืนที่ "ยิงออกไป" เพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทำกันมาทุกยุคทุกสมัย
ทั้งนี้ก็เพื่อให้ทหารของเราเกิดความคุ้นเคย เพราะในสถานการณ์จริงเราไม่ได้ยิงข้าศึกเพียงฝ่ายเดียว แต่กระสุนจากศัตรูก็จะแหวกอากาศสวนเข้าหาตำแหน่งของเราเช่นกันและเสียงที่ได้ยินจะทำให้ทหารที่ไม่คุ้นเคยเสียขวัญได้ง่าย"

ทหารกองทัพภาคที่ 3เคลื่อนกำลังพลขึ้นเนิน
ย้อนกลับไปยังเหตุการณ์ปะทะแบบที่เรียกว่า "เลือดพล่าน" ของร้อยโทวัฒนชัยในครั้งนั้น
จากการยิงต่อสู้ด้วยอาวุธประจำกายธรรมดา สถานการณ์เริ่มทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อฝ่ายตรงข้ามใช้จรวดขนาด 122 มิลลิเมตร ระดมกระหน่ำเข้าใส่ตำแหน่งของฝ่ายไทยพร้อมกับรุกคืบเข้ามาหมายจะกวาดล้างไม่ให้เหลือรอดแม้แต่คนเดียว
ร้อยโทวัฒนชัยจึงวิทยุร้องขอการยิงสนับสนุนด้วยปืนใหญ่จากส่วนหลังเพื่อที่จะกดดันตอบโต้ไม่ให้ข้าศึกใช้จรวด 122 มิลลิเมตร ยิงถล่มเข้ามาได้ถนัด
แต่คำร้องขอของเขากลับไม่ได้รับการตอบสนองอย่างทันทีทันการณ์ซึ่งจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม แต่ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดที่อยู่ในสมรภูมิรบและกำลังเผชิญกับเหตุการณ์อันตรายด้วยตนเอง ร้อยโทวัฒนชัยจะต้อง "ทำทุกอย่าง" เพื่อรักษาชีวิตของลูกน้องไว้ให้ได้
เขาจึงตัดสินใจส่งทหารกลุ่มหนึ่งฝ่าวงล้อมกลับไปยังฐานซึ่งอยู่ห่างออกไปทางด้านหลังประมาณกิโลเมตรเศษ ๆ เพื่อนำปืน ค. ขนาด 60 มิลลิเมตร มาเป็นอาวุธหนักในการตอบโต้การยิงของฝ่ายตรงข้าม เพื่อให้กำลังทั้งหมดสามารถผละออกจากข้าศึกที่กำลังกดดันอยู่
เขาเล่าถึงเหตุการณ์คับขันอันตรายในครั้งนั้นว่า
"ตอนที่เข้าพื้นที่ปะทะครั้งแรก หมวดของผมมีเพียงปืนกลเอ็ม-60 และจรวดประทับบ่าแบบเอ็ม-72 เป็นอาวุธหนัก แต่หลังจากยิงปะทะไปครู่หนึ่ง จรวดเอ็ม-72 ก็หมดลง ส่วนปืนกลเอ็ม-60 เกิดขัดลำ เนื่องจากปืนกลเบาชนิดนี้เป็นอาวุธที่ต้องการการดูแลอย่างพิถีพิถัน
แต่ก่อนที่จะเข้าถึงพื้นที่การรบเราต้องเดินเท้าเคลื่อนที่มาในสภาพคลุกฝุ่นลุยป่า ทำให้มีสิ่งสกปรกเข้าไปติดค้างอยู่ในปืนกล ดังนั้นเมื่อยิงไปได้ไม่เท่าไหร่มันจึงเกิดการขัดลำกล้อง
โชคดีที่หลังจากนั้นไม่นาน ลูกน้องของผมสามารถนำ ค-60 กลับเข้ามาตั้งยิง "เร่งด่วน" โดยไม่ต้องใช้ฐานหรือขาหยั่ง สถานการณ์จึงเริ่มคลี่คลายประกอบกับทางกองพันปืนใหญ่รู้ว่าเราดิ้นรนช่วยเหลือตัวเองด้วยการกลับไปนำ ค-60 มาใช้ ทาง ผบ.พันจึงอนุมัติคำขอการยิง ทำให้ฝ่ายเราสามารถถอนตัวออกมาได้สำเร็จหลังจากการปะทะผ่านไปกว่าชั่วโมงเศษ ๆ
การสู้รบกับทหารข้าศึกเป็นครั้งที่สองของร้อยโทวัฒนชัย นับเป็นภารกิจที่ประสบความสำเร็จ เพราะสามารถช่วยเหลือให้กำลังทหารหมวดหนึ่งซึ่งเป็นฝ่ายเดียวกันถอนตัวกลับมาได้อย่างปลอดภัย
ส่วนหมวดสองซึ่งร้อยโทวัฒนชัย ฯ นำกำลังเข้าไปช่วยแม้จะถูกฝ่ายตรงข้ามปิดล้อมในตอนแรก แต่ก็สามารถถอนตัวกลับมาได้เช่นกันโดยไม่มีผู้ใดเสียชีวิต มีเพียงผู้ที่ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 2-3 คน รวมทั้งผู้บังคับหมวดด้วย
อย่างไรก็ตาม หลังจากจบภารกิจครั้งนั้น ร้อยโทวัฒนชัย ฯ ก็เกิดอาการน้อยใจและเสียความรู้สึกจากการที่เขาร้องขอการสนับสนุนการยิงปืนใหญ่ แต่ไม่ได้รับการตอบสนองอย่างทันท่วงที
ความรู้สึกในขณะนั้นเหมือนกับว่าเขาต้องตัดสินใจแก้ไขสถานการณ์ตามลำพังโดยไม่ได้รับการช่วยเหลือเท่าที่ควร
ปัญหาดังกล่าวน่าจะมีสาเหตุจากการที่ฝ่ายเดียวกันซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องไม่เชื่อมั่นในการประมาณสถานการณ์ของเขาและเข้าใจเอาเองว่า
ร้อยโทวัฒนชัยเป็นผู้หมวดใหม่ที่ "ตื่นตระหนก" ต่อเหตุการณ์เฉพาะหน้ามากเกินไป จนต้องร้องขอการยิงปืนใหญ่สนับสนุนทั้งที่ยังไม่มีความจำเป็นถึงขั้นนั้น
ร้อยโทวัฒนชัย ฯ จึงขออนุญาต ผบ.พันลงจากพื้นที่ แต่ผู้บังคับกองพันเห็นว่าผู้หมวดหนึ่งมีผลงานดีและเป็นผู้ที่ทหารในบังคับบัญชาให้ความเชื่อมั่น จึงไม่อยากให้ไปจากแนวหน้า
แต่สุดท้ายแล้วผู้พันก็โอนอ่อนผ่อนตาม ยอมให้ร้อยโทวัฒนชัย ฯ ลงมาเรียนหลักสูตร "ชั้นนายร้อย" ในเดือนตุลาคม ปี 2527
นอกจากนี้ผู้พันยังขอบำเหน็จ "สองขั้น" ให้อีกต่างหาก และเป็นบำเหน็จสองขั้น "ครั้งที่สอง" ในชีวิตราชการทหารของอดีตนักเรียนนายร้อย จปร. ซึ่งในเวลาต่อมาจะกลายเป็นนักรบ "เหรียญกล้าหาญ" แห่งสมรภูมิบ้านร่มเกล้าชนิดที่เจ้าตัวก็ไม่คาดคิดมาก่อน
เมื่อร้อยโทวัฒนชัยเรียนจบจากหลักสูตรชั้นนายร้อยและกลับไปรับราชการในสังกัดเดิม สถานการณ์ "บ้านร่มเกล้า" ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านก็เริ่มปะทุขึ้นอีกครั้ง

ปืนใหญืฝ่ายไทยยิงตอบโต้ข้าศึก
เขาเล่าถึงความหลังว่า
"ในช่วงปลายปี 2530 กองพันทหารม้าที่ 18 ถึงวงรอบที่จะต้องจัดกำลังเป็น "กองพันผสม" เตรียมพร้อมสำหรับกองทัพภาคที่ 3 ซึ่งเป็นการปฏิบัติประจำทุกปี
ทั้งนี้ก็เพื่อให้ทุกกองทัพภาคมีกองพันผสมเตรียมพร้อมที่จะสามารถทำการรบได้อย่างเต็มรูปแบบ โดยกองพันผสมเตรียมพร้อมจะมีหน่วยกำลังทั้งทหารราบ ทหารม้าและทหารปืนใหญ่ครบตามอัตรากำลัง"
ในส่วนของกองพันทหารม้าที่ 18 ซึ่งเป็นกองพันผสมเตรียมพร้อมของกองทัพภาคที่ 3 ในปีนั้นมีร้อยเอกวัฒนชัยทำหน้าที่เป็นผู้บังคับกองร้อยที่ 1 ร้อยเอกสุรพล ชำนาญจุ้ย เป็นผู้บังคับกองร้อยที่ 2 และร้อยโทธนิต บุตรจินดา เป็นผู้บังคับกองร้อยที่ 3
ในวันที่ 13 ธันวาคม ปี 2530 กองพันผสมได้รับคำสั่งให้เคลื่อนกำลังเข้าต่อตีที่หมาย หลังจากที่ทหารพรานจู่โจมซึ่งทำการลาดตระเวนพิสูจน์ทราบเป้าหมายบนเนิน 1428 รายงานกลับมาว่า
เกิดการปะทะกับกองกำลังของฝ่ายตรงข้าม ขอให้กองพันผสมเตรียมพร้อมเคลื่อนเข้าโจมตีเพื่อผลักดันข้าศึกให้ถอยกลับออกไปจากเขตแดนไทย
ขณะนั้นกำลังทหารของฝ่ายข้าศึกได้เข้ายึดเนิน 1428 ไว้แล้ว พร้อมทั้งดัดแปลงที่มั่นแข็งแรงในลักษณะที่บ่งบอกอย่างชัดเจนว่าเตรียมที่จะทำการสู้รบแบบยืดเยื้อกับฝ่ายไทย
ทหารทั้ง 3 กองร้อยของกองพันผสมต้องเดินเท้าเป็นระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร ผ่านแนวออกตีในเวลาประมาณหนึ่งทุ่ม ใช้เวลาเคลื่อนกำลังตลอดทั้งคืนไปถึงที่หมายในตอนรุ่งสาง
เส้นทางในการเดินทางยากลำบากมาก เพราะเป็นป่าทึบและเขาสูงชัน ไม่มีถนน
ทหารทุกนายต้องตั้งขบวนเป็นแถวตอนเรียงหนึ่งเดินตามกันพร้อมด้วยสัมภาระซึ่งประกอบด้วยอาวุธเครื่องกระสุนและเสบียงอาหาร
โดยปกติแล้วทหารหนึ่งนายจะมีเสบียงที่สามารถดำรงชีพได้ 5 วัน กระสุนปืนเอ็ม-16 ประมาณ 380 นัดต่อคน
ส่วนปืน ค. ขนาด 60 มิลลิเมตร ซึ่งเป็น "อาวุธหนัก" ของกองร้อย แต่ละกระบอกจะมีกระสุน 120 นัด
สำหรับปืนกลเบาเอ็ม-60 ทหารหนึ่งหมวดจะมี 3 หมู่ปืนกล พร้อมด้วยกระสุน 1,100 นัด ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมา ทำให้กำลังทั้งหมดของฝ่ายเราต้อง "แบกน้ำหนัก" อย่างมากในการเคลื่อนที่
ด้วยเหตุนี้เมื่อขึ้นไปถึง "ฐานปืนใหญ่" ซึ่งเป็นจุดสุดท้ายก่อนผ่านแนวออกตี
ร้อยเอกวัฒนชัยจึงตัดสินใจสั่งให้ลูกน้อง "ลดโหลด" โดยปลดของลงครึ่งหนึ่งจากที่เตรียมมา และฝากไว้ที่ฐานปืนใหญ่ ทั้งนี้ก็เพื่อให้การเคลื่อนที่มีความคล่องตัวยิ่งขึ้น
ทั้งอาหารและกระสุนที่ทหารแต่ละคนนำติดตัวไปจึงเหลืออยู่เพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนที่เตรียมมา โดยร้อยเอกวัฒนชัยตั้งใจว่าเสบียงและกระสุนที่ฝากไว้จะร้องขอให้ ฮ. ส่งกำลังบำรุงให้ในภายหลังเมื่อมีโอกาส
จากนั้นท่ามกลางความมืดของรัตติกาลอันเยือกเย็นในเดือนธันวาคม
กองร้อยทหารม้าของไทยภายใต้การนำของร้อยเอกวัฒนชัยก็เริ่มเคลื่อนตัวอย่างทรหดไปตามภูมิประเทศอันสูงชันกันดารในลักษณะแถวตอนเรียงหนึ่งและ "เดินยาว" โดยมีการพักเพียงครั้งเดียวเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง
จนกระทั่งรุ่งสางเวลาประมาณ 6 โมงเช้า
กำลังทั้งหมดก็เข้าใกล้ที่หมายในตำแหน่งที่สามารถทำการโจมตีข้าศึกตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย
แต่เนื่องจากความ "อ่อนล้า" จากการเดินทาง ร้อยเอกวัฒนชัยจึงวิทยุแจ้งไปยังกองพัน ขออนุญาตเลื่อนแผนการโจมตีออกไปจากกำหนดเดิม เพราะพิจารณาแล้วเห็นว่า
หากเข้าโจมตีข้าศึกทั้งที่กำลังพลยังเหน็ดเหนื่อยหมดแรง โอกาส"สูญเสีย" ที่จะทำให้ภารกิจล้มเหลวมีอยู่มาก
ทางผู้บังคับกองพันจึงอนุญาตตามคำขอ ประกอบกับฝ่ายเราเตรียมที่จะทำการโจมตีทางอากาศหรือ "แอร์ สไตร์ท" ก่อนที่กำลังภาคพื้นดินจะเข้ากวาดล้างข้าศึก แต่นักบินยังไม่สามารถทิ้งระเบิดได้
ทั้งนี้ก็เนื่องจากสภาพ "อากาศปิด" เพราะที่หมายบนเนิน 1428 อยู่บนยอดเขาซึ่งมีความสูงกว่าระดับน้ำทะเลมากกว่า 1,000 เมตร ทำให้มีหมอกปกคลุมหนาทึบในช่วงหน้าหนาว
การโจมตีทางอากาศเพื่อผลักดันข้าศึกบนเนินจึงต้องเลื่อนเวลาออกไปจากกำหนดเดิม 1 วัน เพื่อรอให้ "อากาศเปิด" เสียก่อน การเลื่อนกำหนดการโจมตีทางภาคพื้นดินของร้อยเอกวัฒนชัยจึงสอดคล้องกับการทิ้งระเบิดของฝ่ายเรา
แต่กระนั้นก็ตาม ด้วยข้อจำกัดและอุปสรรคจากลักษณะภูมิประเทศของที่หมาย การเลื่อนกำหนดโจมตีทางอากาศออกไปจากเดิมก็มิได้ทำให้กำลังของฝ่ายไทย "ได้เปรียบ" ข้าศึกแต่อย่างใด
เพราะทั้งระเบิดขนาด 500 ปอนด์ และ 2,000 ปอนด์ จากเครื่องบิน ไม่สามารถถล่มลงสู่เป้าหมายได้อย่างแม่นยำ เนื่องจากที่มั่นของทหารข้าศึกอยู่บนภูสูงและเป็นพื้นที่แคบ
ระเบิดจากนักบินลูกทัพฟ้าจึงตกสู่ที่หมายในลักษณะเฉียดซ้ายเฉียดขวาเช่นเดียวกับปืนใหญ่ของฝ่ายเราที่ยิงสนับสนุนตามคำร้องขอแต่กระสุนวิถีโค้งที่มาจากฐานยิงส่วนหลังก็ตกคร่อมเนินที่มั่นข้าศึก
แม้ผู้ตรวจการณ์หน้าของฝ่ายเราจะพยายามปรับตำแหน่งแก้พิกัดอย่างสุดความสามารถแล้วก็ตาม แต่กระสุนวิถีโค้งจากปืนใหญ่ยังคงพลาดเป้า
การยิงจากส่วนหลังจึงถล่มลงบริเวณด้านหน้าที่หมายบ้างหลังที่หมายบ้าง ทำให้ไม่สามารถลิดรอนหรือทำลายกำลังข้าศึกให้อ่อนแอลงได้อย่างที่ต้องการ
ที่แย่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ
ฝ่ายเรามี "พื้นที่" ในการดำเนินกลยุทธที่มีขนาดกว้างไม่ถึง 50 เมตร อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ลาดชัน การเข้าโจมตีจึงเป็นลักษณะที่ไม่ผิดอะไรกับการรบกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในอดีต
กล่าวคือฝ่ายเราจะต้องเข้ายิงโจมตีในลักษณะ "แถวตอนเรียงหนึ่ง" ทำให้ไม่สามารถใช้อำนาจการยิง "เต็มรูปแบบ" จากทหารที่มีจำนวนหนึ่งกองร้อยได้
บางครั้งทหารที่อยู่ด้านหน้าเปิดฉากยิงปะทะกับข้าศึก แต่ทหารที่ตามมาทางด้านหลังยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีการรบเกิดขึ้นแล้ว

เฮลิคอปเตอร์บินมารับทหารที่บาดเจ็บ
ลักษณะที่กล่าวมา จึงไม่ใช่การรบตามแบบปกติ แต่เป็นการรบภายใต้ "สภาพพิเศษ" ซึ่งฝ่ายเราไม่ได้เตรียมตัวมา เนื่องจากจัดกำลังเต็มรูปแบบในลักษณะที่จะรุกเข้าโจมตีที่หมายเป็น "แถวหน้ากระดาน" ด้วยยุทธวิธีการรบตามแบบ
ที่เป็นเช่นนั้นก็เนื่องจาก "การข่าว" ให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงกำลังทหารที่ส่งขึ้นไปจึงต้องทำการรบ "ตามสภาพ" ที่เผชิญอยู่ในขณะนั้นโดยไม่มีทางเลือก
สถานการณ์บนเนิน 1428 จึงเป็นไปในลักษณะที่ฝ่ายเราเสียเปรียบข้าศึกอย่างมาก
เพราะถึงแม้จะมีกำลังทหารหนึ่งกองร้อย แต่กลับมีอำนาจการยิงจริง ๆ เพียงไม่เกิน 3 คน ในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามวางกำลังตั้งรับอยู่ในที่มั่นดัดแปลงแข็งแรง อีกทั้งสภาพภูมิประเทศยังเอื้ออำนวยเป็นอย่างดี
ปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวมาจึงทำให้ข้าศึกสามารถทนทานต่อการโจมตีทางอากาศและการระดมยิงด้วยอาวุธหนักของฝ่ายเราได้
การรบจึงเป็นไปในลักษณะติดพันโดยฝ่ายเราบุกเข้าตีแล้วก็ถูกตอบโต้จนต้องถอยกลับลงมาพักกำลัง ก่อนจะเข้าตีใหม่แล้วก็ถอยกลับลงมาเป็นเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า คล้ายกับเหตุการณ์สู้รบที่ "แฮมเบอเก้อรฮิลล์" ในสงครามเวียดนาม เมื่อกองทหารสหรัฐเข้าตีที่หมายบนเนินสูงซึ่งทหารเวียดนามเหนือยึดไว้
การรบครั้งนั้นทำให้ทหาร "แอร์บอน" ของสหรัฐต้องประสบความสูญเสียอย่างมาก เนื่องจากต้อง "ปีนเขา" ขึ้นไปรบเช่นเดียวกับทหารม้าของไทยในสมรภูมิบ้านร่มเกล้าเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2530
พันเอกวัฒนชัยเล่าว่า
"การเข้าตีกลุ่มเป้าหมายที่เนิน 1428 ในวันแรก ฝ่ายเราสูญเสียกำลังไปหมวดหนึ่งถึงแม้จะไม่ได้หมายถึงว่าทหารตายทั้งหมวด แต่ทหารของหมวดหนึ่งในกองร้อยของผมก็ไม่สามารถทำการรบต่อไปได้
ผู้บังคับหมวดที่หนึ่งคือร้อยตรีประสงค์ เพชรแสง นักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 23 เคลื่อนกำลังเข้าตีข้าศึกในลักษณะแถวตอนเรียงเดี่ยว แต่กลับกลายเป็นการเข้าไปอยู่ใน "คิลลิ่ง โซน" ซึ่งทหารข้าศึกกำหนดไว้แล้ว
ทั้งกระสุนและจรวดที่ทหารข้าศึกกระหน่ำลงมา ทำให้ร้อยตรีประสงค์ได้รับบาดเจ็บและลูกน้องเสียชีวิตทันทีหนึ่งนาย แต่ผู้บาดเจ็บหนึ่งนายต้องใช้ทหาร 8 นาย ลำเลียงออกมาจากแนวหน้าและระหว่างที่ถอนตัวออกจากจุดปะทะทหารข้าศึกก็ระดมยิงซ้ำ ทำให้มีผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้น
ความเป็นไปที่เกิดขึ้นจึงทำให้ทหารหมวดที่หนึ่งของกองร้อยที่หนึ่งซึ่งมีร้อยเอกวัฒนชัยเป็นผู้บังคับบัญชาไม่อาจทำการรบต่อไปได้
บริเวณที่ทหารหมวดที่หนึ่งทำการสู้รบล้อมรอบด้วยสันเขาหลายด้าน และเป็นแนวที่มั่นของทหารข้าศึก ซึ่งกำหนด "แนวยิง" ไว้แล้ว
เมื่อถูกโจมตีในครั้งแรกและไม่สามารถตอบโต้ได้
ฝ่ายเราจึงพยายามถอนตัว แต่ทหารข้าศึกก็ฉวยจังหวะดังกล่าวยิงกระหน่ำซ้ำลงมาอย่างหนัก จนฝ่ายเราเสียขบวนและต้องทิ้งศพทหารที่เสียชีวิตไว้ในพื้นที่โดยไม่สามารถนำกลับออกมาได้ในช่วงเวลานั้น
อย่างไรก็ตาม หลังจากถอนกำลังกลับมาแล้ว ร้อยเอกวัฒนชัยได้ส่งทหารอีกชุดหนึ่งเข้าไปตรึงพื้นที่เอาไว้ เพื่อหาทางที่จะนำศพผู้เสียชีวิตกลับออกมาให้ได้ในภายหลัง
ครั้นถึงรุ่งเช้า ข้าศึกซึ่งต้องการ "ศพ" ทหารไทยเช่นกันได้ส่งกำลังเข้ามาในบริเวณดังกล่าว
กำลังของฝ่ายเราที่เฝ้าระวังอยู่แล้วจึงซัลโวเข้าใส่ จนทหารต่างชาติทั้งสองนายเสียชีวิตอยู่ในบริเวณนั้น นับเป็นการ "เอาคืน" ที่ทำให้ฝ่ายเรามีขวัญและกำลังใจดีขึ้น
สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดจากเหตุการณ์ปะทะในจุดนั้นก็คือ "กลยุทธ" ของฝ่ายตรงข้ามจะแตกต่างจากฝ่ายไทยอย่างสิ้นเชิง
กล่าวคือ ทหารไทยจะฝึกชุดปฏิบัติการที่มีขนาดเล็กที่สุดด้วยกำลังพล 4 นาย เป็นชุดยิงในขณะที่ "หมู่รบ" ของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเป็นชุดปฏิบัติการขนาดเล็กที่สุดจะมีกำลังพลเพียง 2 นาย โดยทหารคนหนึ่งจะทำหน้าที่เป็นพลยิงอาร์พีจี. อีกคนหนึ่งเป็นคนสนับสนุนหรือ "พลชี้เป้า"
ดังนั้นเมื่อเกิดการปะทะ อัตราการสูญเสียที่เกิดขึ้นกับฝ่ายตรงข้ามจึงมักจะมีจำนวนน้อยกว่าฝ่ายไทย
เพราะการสู้รบก็เหมือนกับการสาดน้ำ ยิ่งมีจำนวนคนมากโอกาสที่จะบาดเจ็บและเสียชีวิตก็จะเพิ่มขึ้นมากไปด้วย
ข้อเท็จจริงอันนี้จึงเป็นจุดหนึ่งที่นายทหารผู้ได้รับเหรียญกล้าหาญอย่างพันเอกวัฒนชัยเห็นว่ากองทัพบกควรจะนำไปปรับปรุง โดยฝึกให้ทหารไทยสามารถปฏิบัติการรบด้วยกำลัง "ชุดเล็ก" เพียงสองคนต่อหนึ่งชุด ซึ่งจะช่วยทำให้มีความคล่องตัวมากขึ้นและโอกาสในการสูญเสียน้อยลง

ทหารไทยข้ามลำน้ำ
ย้อนกลับไปยังสถานการณ์บนเนิน 1428 ในวันที่ 14 ธันวาคม 2530 ไม่เพียงแต่ฝ่ายเราจะ "กู้ศพ" ทหารที่เสียชีวิตจากการปะทะครั้งแรกกลับมาได้เท่านั้น
แต่กองร้อยที่หนึ่งของร้อยเอกวัฒนชัยยังได้ศพทหารข้าศึกมาอีกสองศพ ซึ่ง ผบ.ร้อยสั่งให้ทหารนำร่างไร้วิญญาณของข้าศึกมาไว้ในที่พักของลูกน้องที่เสียชีวิต เพื่อกระตุ้นให้ทหารคนอื่น ๆ บังเกิดความฮึกเหิมเหี้ยมหาญ เป็นการแสดงให้เห็นว่าฝ่ายเราก็สามารถสังหารทหารฝ่ายตรงข้ามได้เช่นกัน
อดีตนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 19 เล่าในภายหลังว่าที่ต้องทำเช่นนั้น เพราะเห็นว่าเป็นวิธีเดียวที่จะสามารถปลุกปลอบขวัญและกระตุ้นกำลังใจของทหารอย่างได้ผลมากที่สุด
เพราะการสูญเสียทำให้ทหารมีขวัญกำลังใจตกต่ำลง เนื่องจากเหตุการณ์ปะทะในวันแรกแสดงให้เห็นว่าเราเป็นฝ่ายเสียเปรียบทหารตรงข้ามเป็นอย่างมาก
และนับจากบัดนั้นเป็นต้นมา กองร้อยที่ 1 ของร้อยเอกวัฒนชัยก็ต้องทำการสู้รบติดพันกับข้าศึกอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานถึง 73 วัน และเป็น 73 วัน ที่เหมือนกับการใช้ชีวิตอยู่ใน "แดนมัจจุราช" ที่ตลบอบอวลไปด้วยกลิ่นไอแห่งความตายทุกตารางนิ้ว
เพราะทหารทุกคนและทุกชั้นยศมีสิทธิ์ที่จะถูกกระสุนหรือจรวดของข้าศึกพุ่งเข้ามาดับชีพได้เสมอเหมือนกันทุกเมื่อ
จากการที่ฝ่ายเราอยู่ในสภาพ "เสียเปรียบ" ข้าศึกและการนำกำลังเข้าตีที่หมายตรงหน้าเหมือนเช่นในครั้งแรก จะกลายเป็นการรบที่ไม่ต่างอะไรกับการเคลื่อนตัวเข้าไปสู่ "คิลลิ่ง โซน" หรือพื้นที่สังหาร ซึ่งข้าศึกกำหนดไว้แล้ว
ร้อยเอกวัฒนชัยจึงขออนุมัติตรองผู้บังคับการกรมคือ พันเอก "อุดมชัย องคสิงห" (ยศในขณะนั้น) ซึ่งขึ้นไปบัญชาการรบในแนวหน้าด้วยตนเองว่ากองร้อยที่หนึ่งต้องการปรับแผนการรบ
การปรับเปลี่ยนยุทธวิธีตามที่ร้อยเอกวัฒนชัยเสนอก็คือ
เขาจะนำกำลังเคลื่อนที่ในตอนกลางคืนขึ้นสู่ "สันเขา" ให้ได้เสียก่อนแล้วจึงจู่โจมเข้าสู่ที่หมายบนเนิน 1428 แทนที่จะเคลื่อนกำลังบนแนวสันเขาแล้วไต่ขึ้นเนินไปโจมตีซึ่งจะเป็นโอกาสให้ข้าศึกซึ่งอยู่บนชัยภูมิสูงข่มยิงถล่มลงมาได้โดยง่าย
เมื่อยุทธวิธีดังกล่าวได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาในสนามแล้ว
ร้อยเอกวัฒนชัยจึงนำกำลังไต่ขึ้นสู่ที่หมายในเวลากลางคืนและสามารถเข้าประชิดข้าศึกได้ในช่วงเช้ามืด ซึ่งการปรากฏตัวของทหารไทยอย่างไม่คาดฝัน ทำให้ฝ่ายตรงข้ามตื่นตระหนกและถูกยิงโจมตีจนแตกกระเจิง
ในที่สุดฝ่ายเราก็สามารถตั้งฐานปฏิบัติการอยู่บนส้นเขาได้สำเร็จโดยฐานที่มั่นของกองร้อยที่ 1 อยู่ด้านหน้า ถัดมาเป็นกองร้อยที่ 2 และกองร้อยที่ 3 ตามลำดับ
แต่สถานการณ์สู้รบ ณ. สมรภูมิร่มเกล้าก็ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งในวันที่ 25 ธันวาคม ฝ่ายตรงข้ามเริ่มใช้อาวุธหนักยิงถล่มเข้ามายังฐานที่มั่นของทหารไทยเป็นครั้งแรก
อาวุธหนักของข้าศึกประกอบด้วยปืน ค. ขนาดใหญ่ทั้ง ค. 100 มิลลิเมตร และ ค. 120 มิลลิเมตร ซึ่งอานุภาพของปืน ค. ขนาด 120 มิลลิเมตร ไม่ต่างอะไรกับปืนใหญ่ ขนาด 105 มิลลิเมตรของฝ่ายเรา
ทหารม้าทั้ง 3 กองร้อยที่อยู่บนสันเขาจึงต้องขุด "หลุมเพลาะ" ลงไปในดินให้ลึกมากพอที่จะลดอันตรายจากการยิงด้วยอาวุธหนักของข้าศึก
ถึงแม้จะยึดสันเขาไว้ได้แล้ว แต่ที่หมายหลักคือเนิน 1428 ซึ่งอยู่ในจุดที่ "สูงที่สุด" ยังอยู่ในความครอบครองของทหารฝ่ายตรงข้าม
ฝ่ายเราจึงต้องจัดกำลังจากฐานที่มั่นบนสันเขาที่ยึดไว้แล้วเข้าตี "ที่หมายหลัก" เพื่อผลักดันข้าศึกให้ถอนตัวกลับออกไปให้ได้
แต่การส่งกำลังเข้าตีดังที่กล่าวมา ทำให้ฝ่ายเราต้องเข้าสู่ "พื้นที่สังหาร" อีกครั้งโดยไม่มีทางเลี่ยง
เพราะฝ่ายข้าศึกได้วาง "กับระเบิด" และกำหนดแนวยิงทั้งปืนกลหนัก ตลอดจนจรวดอาร์พีจี. และปืน ค. ไว้อย่างหนาแน่น ซึ่งฝ่ายเราไม่มีเส้นทางอื่นที่จะเข้าสู่เนิน 1428 ได้เลย นอกจาก "ปีนเขาขึ้นไปรบ" ในลักษณะเดียวกับการเคลื่อนกำลังเข้าสู่พื้นที่ปฏิบัติการในครั้งแรก
อย่างไรก็ตาม แม้ฝ่ายตรงข้ามจะคาดหวังว่าการยิงถล่มด้วยอาวุธหนักจะช่วยผลักดันให้ทหารไทยต้องละทิ้งที่มันถอนตัวออกจากแนวสันเขาที่ยึดไว้ แต่สถานการณ์ก็ไม่ได้เป็นไปตามนั้น
เพราะกองร้อยที่ 1 ของ ร้อยเอกวัฒนชัย ฯ ยังคงปักหลักตรึงพื้นที่ไว้อย่างเหนียวแน่น มิหนำซ้ำในแต่ละวันผู้บังคับกองร้อยยังนำทหารออกจากที่มั่นบุกเข้าโจมตีข้าศึกเป็นการตอบโต้อย่างไม่พรั่นพรึง
อดีต ผบ.ร้อยแห่งสมรภูมิบ้านร่มเกล้า เล่าว่า
"การตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ ปืน ค. ของข้าศึกที่ยิงเข้าใส่ฐานของเราทุกวัน เป็นประสบการณ์ที่ผมไม่เคยลืม เพราะเราจะได้ยินเสียงของหางลูก ค. แหวกอากาศเข้ามาเหมือนเสียงตะไล
มันแผดแหลมโหยหวนเขย่าความรู้สึกในทุกครั้งที่ได้ยิน ก่อนที่เสียงตูมสนั่นหวั่นไหวจะตามมาพร้อมกับอาการสะท้านสะเทือนเหมือนกับแผ่นดินถูกอุกกาบาตพุ่งชนพร้อม ๆ กับที่สะเก็ดระเบิดและเศษดินจะปลิวกระจายว่อนไปทั่วทุกทิศทุกทาง
สิ่งเหล่านี้แตกต่างจากที่เราเคยฝึกมาจากราวกับหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะสมัยที่เป็นผู้หมวดเราเคยฝึกทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจการณ์หน้าคอยปรับปืนใหญ่ที่จะยิงจากส่วนหลังข้ามหัวเราไปสู่เป้าหมายทางด้านหน้า
เราจะได้ยินเสียงกระสุนปืนใหญ่พุ่งแหวกอากาศข้ามหัวเราไปแล้วก็ระเบิดบึ้มในตำแหน่งที่ห่างออกไปชนิดไกลลิบ
เสียงที่ได้ยินจึงแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับเสียงระเบิดจนแก้วหูแทบแตกที่บังเกิดขึ้นเมื่อลูก ค. ของข้าศึกยิงมาตกในบริเวณซึ่งเป็นที่มั่นของเรา
ดังนั้น ทหารที่ต้องอยู่ภายใต้การระดมยิงด้วยอาวุธหนักของข้าศึกจึงต้องบังคับใจและควบคุมสติไว้ให้มั่นคง มิเช่นนั้นจะเกิดอาการเสียขวัญ หวาดกลัวจนไม่อาจทำการรบต่อไปได้
แม้จะเผชิญกับการโจมตีด้วยอาวุธหนักของข้าศึกอย่างรุนแรงดังที่กล่าวมาข้างต้น แต่ร้อยเอกวัฒนชัย ฯ ยังคงนำทหารของเขารุกออกจากที่มั่นเข้าโจมตีตอบโต้ทหารข้าศึกทุกวัน โดยไม่หวาดหวั่นพรั่นพรึงทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่า
เส้นทางที่จะเคลื่อนกำลังเข้าไปคือ พื้นที่สังหารหรือ "คิลลิ่ง โซน" ซึ่งทหารฝ่ายตรงข้ามได้วาง "กับระเบิด" และกำหนดแนวยิงทั้งปืนกลหนักและปืน ค. รอรับการบุกเข้ามาของทหารไทยไว้อยู่แล้วแทบทุกตารางนิ้ว
"ในตอนนั้นเราไม่มีทางเลือกเป็นอื่น นอกจากนำทหารรุกไปข้างหน้า เพื่อเข้าโจมตีข้าศึกซึ่งตั้งรับอยู่ในที่มั่นของพวกมัน"
พันเอกวัฒนชัยกล่าวย้ำ
"ทุกครั้งที่เข้าตี เราจะบุกไปด้วยกันทั้งหมดแล้วก็ถูกข้าศึกยิงถล่มจนต้องถอยกลับลงมาพร้อมกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นเหมือนในวันก่อน"
สถานการณ์ในขณะนั้น "โอกาส" ของทุกคนเท่าเทียมกันหมด
ทุกชีวิตเหมือนกับแขวนอยู่บนเส้นด้าย ไม่ว่าจะเป็นพลทหาร นายสิบ ผู้หมวด หรือผู้บังคับกองร้อย มีโอกาสที่จะ "ตาย" ได้เท่า ๆ กันในทุกวินาที
เพราะพื้นที่ซึ่งเราบุกเข้าไปมีทั้งกับระเบิด มีทั้งปืน ค. ปืนกลหนักที่ประเคนอัดกราดลงมาอย่างหูดับตับไหม้
เราไม่รู้หรอกว่า ใครจะอยู่ ใครจะตายในวินาทีไหน
โดยเฉพาะกระสุนปืน ค. ไม่มีโอกาสหลบได้เลย นอกจาก "วัดดวง" กันเพียงอย่างเดียว
เมื่อได้ยินเสียงเหมือน "ตะไล" แหวกอากาศทุกคนต้องหมอบร่างฟุบหน้าลงกับพื้น หัวใจเต้นรัว แทบจะหลุดออกจากทรวงอก รอคอยว่าเสียงบึ้มสนั่นจะเกิดขึ้นตรงไหน
"ถ้ากระสุนปืน ค. ตกใส่ตำแหน่งที่เราหมอบอยู่ เราก็ตายทันทีเหมือนกับผู้บังคับหมวด 3 ของเราซึ่งถูกปืน ค. ข้าศึกถล่มลงมาในตำแหน่งที่หมอบอยู่พอดีเหมือนกับผีจับยัด"
ภาพของการรบในช่วงนั้นจึงเป็นไปในลักษณะที่ว่าฝ่ายเรา "ปีนเขา" ขึ้นไปโจมตีข้าศึก แต่ก็ไม่สามารถยึดที่หมายได้ และถูกยิงถล่มอย่างหนักจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บทำให้ต้องถอยร่นกลับลงมา
พอถึงวันรุ่งขึ้น ฝ่ายเราก็เคลื่อนกำลังเข้าโจมตีข้าศึกอีกครั้ง แต่ก็ยังไม่สามารถยึดที่หมายได้ และถูกผลักดันให้ต้องถอยร่นกลับลงมาเช่นเดิมเป็นเช่นนี้วันแล้ววันเล่า
เมื่อถูกถามว่าภายใต้สถานการณ์ที่มีคนเจ็บคนตายทุกวัน แต่ก็ต้องนำทหารเข้าสู่การรบใน "ฉากเดิม ๆ" จนดูราวกับว่ามันเป็นการรบที่ยังมองไม่เห็นเค้าลางแห่งชัยชนะ
คนที่เป็นผู้บังคับกองร้อยได้ใช้วิธีการใด ในการ "หลอมรวม" จิตใจของทหารในบังคับบัญชาให้เป็นหนึ่งเดียว และพร้อมที่จะปฏิบัติการรบเผชิญกับความเป็นความตายต่อไปโดยไม่ย่อท้อ
พันเอกวัฒนชัยกล่าวว่า
"วิธีการที่ผมใช้ก็คือ คนที่เป็นผู้บังคับบัญชาจะต้องออกรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารทุกคน เพื่อให้พวกเขาเห็นว่าเราพร้อมที่จะเจ็บหรือตายเช่นเดียวกับลูกน้อง
ถึงแม้ว่าในส่วนลึกของจิตใจ เราก็มีความกลัวเช่นเดียวกับมนุษย์ปุถุชนธรรมดา แต่เราจะแสดงออกให้ทุกคนเห็นไม่ได้ เพราะว่าถ้าคนที่เป็นผู้บังคับกองร้อยกลัวตายจนตัวสั่นไม่กล้านำทหารออกรบเสียแล้ว ทหารทั้งหมดก็คงจะถอดใจแล้วพากันทิ้งปืนวิ่งหนีอย่างแน่นอน"
นอกจากนี้เรายังต้องใช้วิธีพูด "ปลุกใจ" กระตุ้นขวัญ
ต้องทำให้ทุกคนรู้สึกฮึกเหิม เหี้ยมหาญ พร้อมที่จะจับปืนลุยไปข้างหน้าโดยไม่พรั่นพรึงกับข้าศึกที่ตั้งรับรออยู่ในที่มั่น ซึ่งได้เปรียบกว่า
ในช่วงนั้น "วีรกรรม" ของบรรพบุรุษในอดีตถูกหยิบบกมากล่าวให้ทหารฟังทุกวัน โดยเฉพาะวีรกรรมของของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งถือเป็น "องค์บิดา" ของเหล่าทหารม้า
พระองค์ทรงเป็นนักรบที่กล้าหาญเด็ดขาด ทรงมีบัญชาให้ทหารทุบหม้อข้าวหม้อแกงของตนเองก่อนเข้าโจมตีเมืองจันทบุรีเพื่อเป็นการย้ำว่าจะต้อง "ยึดเมือง" ให้ได้
เราก็ยกเรื่องนี้มาเล่าเป็นตัวอย่างแล้วบอกกับทหารว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเจริญรอยตามบรรพบุรุษในการรับใช้ชาติเยี่ยงชายชาญชาติทหาร ก็พูดจนไม่รู้จะพูดอะไรอีก
พอปลุกใจทหารจบก็เคลื่อนกำลังออกจากฐานผ่านแนวออกตีซัดกับข้าศึกเหมือนวันก่อนแต่ก็ยังยึดที่หมายไม่ได้เช่นเดิม
มิหนำซ้ำสถานการณ์ของฝ่ายเราก็ยิ่งคับขันอันตรายมากขึ้นเมื่อถึงวันที่ 1 มกราคม ซึ่งฝ่ายตรงข้ามเริ่มนำ "ปืนใหญ่" เข้ามาใช้ในการรบ จากเดิมที่ข้าศึกมีแต่ปืน ค. เป็นอาวุธหนักเพียงอย่างเดียว
ไม่เพียงแต่กองร้อยที่ 1 ของร้อยเอกวัฒนชัย ฯ เท่านั้น ที่ต้องเผชิญกับการระดมยิงของปืนใหญ่ข้าศึก
แต่กองร้อยที่ 2 และกองร้องที่ 3 ซึ่งตั้งมั่นอยู่บนเนินอีก 2 แห่ง ก็ตกอยู่ภายใต้ระยะยิงของปืนใหญ่ข้าศึกเช่นกัน

ปืนใหญ่ 155 มิลลิเมตรของทหารไทยยิงตอบโต้ข้าศึก
อานุภาพของปืนใหญ่ซึ่งได้รับฉายาว่า "ราชาแห่งสนามรบ" ร้ายกาจเพียงใด อดีตนักรบสมรภูมิเลือดที่ชื่อ "วัฒนชัย คุ้มครอง" กล่าวว่า
"พอฝ่ายตรงข้ามนำปืนใหญ่เข้ามา พวกเราก็เหมือนกับถูกล่อเป้า เพราะถูกกระหน่ำยิงอย่างช่ำมือ
อานุภาพของปืนใหญ่ทำให้ทั้งสามเนินที่ฝ่ายเราตั้งฐานอยู่ถูกยิงถล่มจนกลายเป็น "ลานปลูกข้าวโพด" คือมันเหมือนกับเราเอารถไถเข้าไปไถพื้นดินแล้วรอหยอดข้าวโพดลงไปในหลุมที่ไถดินขึ้นมา
ลักษณะของเนินที่ฝ่ายเรายึดอยู่ก็เป็นแบบนั้นด้วยพิษสงของกระสุนปืนใหญ่เป็นร้อย ๆ นัดที่ข้าศึกถล่มลงมาอย่างหนัก
ปืนใหญ่ของฝ่ายตรงข้ามส่วนมากจะเป็นปืนวิถีราบ ทั้งปืน 122 มิลลิเมตร และปืน 130 มิลลิเมตร ซึ่งมีอำนาจการยิงรุนแรงคล้ายกับ "ปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลัง"
เราต้องยอมรับว่าปืนใหญ่ของข้าศึกคืออาวุธที่ทำลายขวัญและสร้างความสูญเสียให้กับฝ่ายเราได้เป็นอย่างมาก
บางครั้งพวกมันถึงกับนำปืนใหญ่มายิงเข้าใส่ทหารราบฝ่ายเรา ทั้งที่มองเห็นตัวเพียงคนหรือสองคนเท่านั้น
สถานการณ์ในขณะนั้นเหมือนกับว่าข้าศึกคอย "จ้อง" เราอยู่ตลอดเวลา ถ้ามีโอกาสที่จะซัดเราได้ มันก็จะลงมือทันที โดยไม่สนใจว่าเป็นการเอาใช้อาวุธผิดประเภทคือใช้ปืนใหญ่ยิงทหารราบอย่างไม่คุ้มค่า
เหตุการณ์หนึ่งที่พันเอกวัฒนชัยจำได้ไม่มีวันลืมก็คือ
ลูกน้องที่เป็นพลทหาร 2 คน ต้องตกเป็นเหยื่อกระสุนปืนใหญ่ข้าศึก ขณะที่กำลังจะลงจากฐานเพราะป่วยหนักจนไม่สามารถทำการรบต่อไปได้
"ผมสั่งกับทั้งคู่ว่าอย่าขึ้นไปเดินบนสันเขา เพราะจะเป็นการปรากฏตัวให้ข้าศึกเห็นในลักษณะของเป้าโดดเด่นที่ตัดกับเส้นขอบฟ้า
เขาระลึกถึงเหตุการณ์ในวันนั้น
"แต่ลูกน้องทั้งสองคน ซึ่งเป็นพลทหารไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของผมอย่างเคร่งครัด เพราะทั้งคู่ขึ้นไปเดินบนสันเขาและกลายเป็นเป้าให้ทหารฝ่ายตรงข้ามมองเห็นได้อย่างชัดเจน"
ไม่กี่อึดใจเท่านั้นเอง ปืนใหญ่ของข้าศึกก็ซัดเข้ามายังตำแหน่งดังกล่าวตูมเดียวที่กระสุนถล่ม พลทหารทั้งสองคน ก็กลายเป็นเศษเนื้อปลิวกระจายด้วยอำนาจของปืนใหญ่แบบที่เรียกว่าหาศพไม่เจอ
ปืนใหญ่ของข้าศึก คือสิ่งที่ริดรอนขวัญกำลังใจของฝ่ายเราเป็นอย่างมาก และผู้บังคับบัญชาระดับสูงก็รู้ว่าทหารบนเนินตกอยู่ในสถานการณ์ที่เสียเปรียบทุกด้าน
ร้อยเอกวัฒนชัย ฯ ซึ่งปักหลักอยู่บนเนินนรก จึงยืนยันกับหน่วยเหนือว่าถ้าจะให้ฝ่ายเรารักษาเนินที่มั่นไว้ให้ได้ เราจะต้อง "เคาเต้อร" หรือทำลายปืนใหญ่ข้าศึกให้สำเร็จ
และกลยุทธ์ในการทำลายปืนใหญ่ที่ได้ผลดีที่สุด ก็คือการใช้เครื่องบินทิ้งระเบิด
พันเอกวัฒนชัยเล่าว่า
"เมื่อใหร่ที่ข้าศึกใช้ปืนใหญ่ เครื่องบินเอฟ-5 ของเราจะต้องขึ้น เพราะการยิงปืนใหญ่จะต้องมีควันจากการยิงเป็นการแสดงตำแหน่งที่ตั้งให้นักบินมองเห็นเป้าหมายที่จะทำการโจมตี
แต่ฝ่ายตรงข้ามก็รู้ว่าเราจะใช้ยุทธวิธีนี้ ดังนั้นพอเอฟ-5 ของฝ่ายเราบินเข้ามาปืนใหญ่ข้าศึกก็จะหยุดยิงทันที
จากนั้นสิ่งที่พุ่งขึ้นมาแทนก็คือ ห่ากระสุนปืน ปตอ. รวมทั้งจรวดต่อสู้อากาศยานแบบแซมที่ระดมกันขึ้นมาสกัดกั้นเล่นงานเครื่องบินฝ่ายเรา
การทำลายปืนใหญ่ด้วยการโจมตีทางอากาศจึงไม่ได้ผล มิหนำซ้ำเรายังเสียเอฟ-5 ไปเครื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นเครื่องที่พี่สุรศักดิ์ บุญเปรมปรีดิ์ เตรียมทหารรุ่นพี่ของเราเป็นนักบิน"
เมื่อการทำลายปืนใหญ่ไม่อาจกระทำได้ หนทางสุดท้ายที่จะลิดรอนอำนาจการยิงด้วยอาวุธหนักของข้าศึกก็คือ
ฝ่ายเราจะต้องส่งกำลังเข้าไป "หลังแนว" ข้าศึกเพื่อตัดเส้นทางการส่งกำลังบำรุงในแนวหน้า
กลยุทธ์นี้จะทำให้ทั้งปืนใหญ่และทหารราบของฝ่ายตรงข้ามขาดแคลน เสบียงอาหารและกระสุนจนไม่อาจทำการรบต่อไปได้อย่างเต็มกำลัง
จากเดิมที่ปืนใหญ่ข้าศึกมีกระสุนเหลือเฟือ ถึงขนาดใช้ปืนใหญ่ยิงทหารราบแค่สองคน ข้าศึกก็จะอยู่ในภาวะขาดแคลนต้องใช้ปืนใหญ่อย่าง "ประหยัดกระสุน" อำนาจการยิงก็จะถูกกำจัดให้ลดน้อยลงจนกระทั่งหมดไปในที่สุด
แต่กระนั้นก็ตามแม้ ผบ.ร้อยในสมรภูมิจะมองเห็น "ทางออก"ในการแก้ไขสถานการณ์
แต่กลยุทธ์นี้ก็กลับไม่ได้ถูกนำมาใช้ ซึ่งพันเอกวัฒนาชัย ฯ อธิบายอย่างตรงไปตรงมาว่า
"สาเหตุเป็นเพราะว่าในตอนนั้นผู้บังคับบัญชาและหน่วยเหนือต้องการให้สงครามบ้านร่มเกล้าเป็นสงครามจำกัดขอบเขต
หากฝ่ายเราส่งพลร่มหรือหน่วยรบพิเศษอ้อมไปหลังแนวข้าศึกเพื่อตัดเส้นทางลำเลียงก็จะเป็นการ "ขยายสงคราม" เข้าไปสู่ดินแดนของประเทศเพื่อนบ้าน
กลยุทธที่กล่าวมาจึงไม่ได้มีการนำมาใช้ ทหารม้าทั้ง 3 กองร้อยที่อยู่บนเนิน 3 แห่งจึงต้องทำการรบต่อไปภายใต้สภาพที่เราเสียเปรียบข้าศึกเช่นเดิม"
ตอนนั้นแม่ทัพภาค 3 ได้เรียกตัว ผบ.ร้อย ซึ่งอยู่ในแนวหน้าทั้งหมดลงมาร่วมในการวางแผนและท่านได้ตั้งคำถามว่าฝ่ายเราจะสามารถยึดเนิน 1428 ได้หรือไม่
"ผมก็ตอบไปตามตรงว่ายึดได้แน่แต่ต้องเหยียบศพเข้าไปทั้งศพฝ่ายเราและศพข้าศึก เพราะขณะนั้นทหารข้าศึกได้สร้างที่มั่นดัดแปลงแข็งแรงไว้อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว
ถ้าเรามุ่งมั่นที่จะยึดที่หมายดังกล่าวให้ได้เราจะต้องทุ่มกำลังเข้าไปอาจจะต้องมากถึง 3 - 4 พันคน เพราะมันคือการเข้าตีต่อเป้าหมายดัดแปลงแข็งแรงภายใต้สภาพพิเศษ

พันเอกวัฒนชัย กับเพื่อนสนิทเหล่าทหารเรือในงานเลี้ยง
โดยปกติแล้วถ้าเป็นการเข้าตีที่หมายทั่วไป ฝ่ายเข้าตีจะต้องใช้กำลังมากกว่าฝ่ายตั้งรับประมาณ 3 ต่อ 1 หรืออาจจะเพิ่มเป็น 5 ต่อ 1 หากที่หมายดังกล่าวมีสภาพภูมิประเทศเป็นอุปสรรค
แต่ในกรณีที่ข้าศึกซึ่งตั้งรับอยู่ในที่หมายได้สร้างบังเกอร์ และที่มั่นดัดแปลงแข็งแรง ภายใต้สภาพพิเศษ ฝ่ายที่เข้าตีจะต้องใช้กำลังมากกว่าถึงประมาณ 7 ต่อ 1 หรืออาจจะมากกว่านั้นด้วยซ้ำ
แต่ผมเห็นว่าไม่มีประโยชน์ที่เราจะเอาชีวิตคนไปทุ่มแบบนั้น ผมจึงเสนอให้ส่งกำลังอ้อมเข้าไป "หลังแนว" ฝ่ายตรงข้ามแล้วโจมตีตัดเส้นทางส่งกำลังบำรุง
ทั้งนี้ก็เพื่อ "โดดเดี่ยว" ทหารข้าศึกที่อยู่บนยอดเนินที่หมายเพื่อให้พวกมันขาดแคลนเสบียงและกระสุนอันจะทำให้อำนาจในการรบอ่อนแอลงจนไม่อาจต้านทานการเข้าตีตรงหน้าของฝ่ายเราได้ในที่สุด
แม้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะตระหนักดีว่าวิธีการ "ตัดเส้นทาง" ส่งกำลังเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ฝ่ายเราได้รับชัยชนะในเวลาอันสั้น
แต่เนื่องจากนโยบายทางด้านการเมืองที่กังวลว่าสถานการณ์สู้รบในสมรภูมิ "บ้านร่มเกล้า" อาจบานปลายไปสู่ "สงครามขนาดใหญ่" ระหว่างสองประเทศ
ปฏิบัติการทางทหารจึงถูก "จำกัด" ขอบเขตจนไม่สามรถใช้กลยุทธ์ดังที่กล่าวมาข้างต้นได้
สงครามบ้านร่มเกล้าจึงดำเนินต่อไปอย่างดุเดือดเหี้ยมเกรียม โดยเฉพาะเหตุการณ์รบในวันที่ 31 มกราคม ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ซึ่งฝ่ายข้าศึกทุ่มกำลังเข้ากำลังเข้าโจมตีที่มั่นของกองร้อยที่ 2 ซึ่งอยู่บนสันเขาจนเกิดการรบ "ละเลงเลือด" ที่สุดในศึกครั้งนี้
พันเอกวัฒนชัยเล่าถึงเหตุการณ์ในวันนั้นว่า
"กองร้อยที่ 2 มีร้อยเอกสุรพล ชำนาญจุ้ย เตรียมทหารรุ่น 20 ซึ่งเป็นรุ่นน้องของเราเป็นผู้บังคับกองร้อย ตอนแรกเราตั้งฐานอยู่ด้วยกัน ต่อมามีคำสั่งให้กองร้อยที่ 1 รุกขึ้นเหนือ เราจึงแยกกำลังออกมาจากกองร้อยที่ 2 แล้วไปสร้างที่มั่นใหม่บริเวณที่ลาดหลังเนิน
ผมจึงบอกจุ้ยว่าให้ปรับตำแหน่งที่ตั้งฐานใหม่อย่าอยู่ในตำแหน่งเดิมแต่จุ้ยยังไม่ทันที่จะทำก็โดนข้าศึกเล่นงานเสียก่อน
ในคืนวันนั้นข้าศึกยิงถล่มเข้ามาอย่างหนักแล้วส่งทหารราบเข้าตีแบบทุ่มกำลังเข้าละลายฐาน หรือที่เรียกว่า "โอเวอร์ รัน"
ร้อยเอกสุรพลซึ่งเป็น ผบ.ร้อยจึงวิทยุขอกระสุนปืนใหญ่แตกอากาศยิงถล่มเข้ามาในฐานเพื่อทำลายข้าศึก พร้อม ๆ กับที่ฝ่ายเราจะถอนตัวออกมา
ฝ่ายข้าศึกก็ใช้ปืนใหญ่กระหน่ำเข้าใส่ทหารของฝ่ายเราเช่นกัน ปืนใหญ่ทั้งฝ่ายเราและฝ่ายข้าศึกจึงประเคนลงมาบนฐานของจุ้ยในขณะที่ทหารราบด้านล่างก็รบประจัญบานกันชุลมุน
พันเอกวัฒนชัยหลับตานิ่งไปครู่หนึ่ง เหมือนกับจะรำลึกนึกถึงรุ่นน้องผู้จากไป
"สุดท้ายแล้วกองร้อยที่ 2 ก็ถูก "ละลาย" ในการรบ จุ้ยซึ่งเป็น ผบ.ร้อยเสียชีวิต ส่วนพวกที่รอดก็แตกกระเจิงถอยร่นลงมาจากฐาน"
แต่ยังโชคดีที่ฝ่ายเราสามารถเข้าไปเคลียร์พื้นที่นำศพ ผบ.ร้อยออกมาได้ในวันต่อมา หลังจากการรบละเลงเลือดสิ้นสุดลงโดยร้อยเอกวัฒนชัย นำศพของร้อยเอกสุรพล ชำนาญจุ้ย นายทหารรุ่นน้องมาเก็บไว้ที่กองร้อยคืนหนึ่งก่อนจะนำลงมากระทำพิธีฌาปนกิจในวันที่ 7 กุมภาพันธ์อย่างสมเกียรติ
กับคำถามที่ว่า การเสียชีวิตของ ผบ.ร้อย 2 กระทบกับความรู้สึกของผบ.ร้อย 1 หรือไม่
พันเอกวัฒนชัยตอบว่า
"ถึงจะกระทบแค่ไหนเราก็ต้องเก็บไว้ในใจ เพราะเราเป็นผู้บังคับบัญชาจะแสดงออกมาให้ลูกน้องเห็นไม่ได้ว่าเรารู้สึกอย่างไร
ตอนนั้นผมคิดว่าคงจะไม่มีโอกาสได้กลับลงมาจากแนวหน้าในสภาพที่ยังมีลมหายใจอีกแล้ว ผมคงจะไม่ได้เห็นกรุงเทพ ฯ อีกต่อไป
แต่ผมไม่รู้ว่าตัวเองจะตายเมื่อไรและจะตายอย่างไร
ชีวิตในตอนนั้นเหมือนกับคนที่ตายไปแล้วครึ่งตัว เราได้ยินได้เห็นได้สัมผัสเส้นแบ่งระหว่าง "ความเป็น" กับ "ความตาย" อยู่ทุกวัน
บางครั้งเราเห็นลูกน้องถูกอาวุธหนักข้าศึกเสียชีวิตในพริบตา โดยไม่มีโอกาสได้สั่งเสีย บางวันเราก็ต้องทนฟังเสียงลูกน้องร้องโหยหวนด้วยความเจ็บปวดตลอดทั้งคืนก่อนจะเงียบไปเมื่อหมดลมหายใจ
ลูกน้องบางคนถูกสะเก็ดระเบิดขาขาดทั้งสองข้าง โดยที่ไม่สามารถส่งกลับไปยังหน่วยพยาบาลในส่วนหลังได้เพราะไม่มี ฮ. มารับ เราก็ต้องช่วยกันปฐมพยาบาลตามมีตามเกิด ใช้มีดตัดท่อนขาที่เละออกแล้วเอาผ้ารัดห้ามเลือดไว้
เราทำทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่ายังไงลูกน้องที่บาดเจ็บก็ไม่มีทางรอดแม้จะฉีดมอร์ฟีนแก้ปวดและให้น้ำเกลือประคองชีวิตอย่างสุดความสามารถตั้งแต่ห้าโมงเย็น
แต่เมื่อถึงตีสาม เสียงโหยหวนก็เงียบไปเมื่อคนเจ็บขาดใจตาย เพราะทนพิษบาดแผลไม่ไหว
คนที่ตายก็ต้องฝังไว้ในพื้นที่ ยังไม่สามารถนำกลับลงมาได้ คนที่ยังมีลมหายใจก็ทำการรบประชิดติดพันต่อไป
สงครามที่ "บ้านร่มเกล้า" ในเวลานั้นกลายเป็นข่าวครึกโครม ชนิดที่สถานีโทรทัศน์ทุกช่องหนังสือพิมพ์ทุกฉบับออกข่าวความเป็นไปที่เกิดขึ้นแบบที่เรียกว่า "เกาะติด" สถานการณ์ทุกวัน
ขณะเดียวกันผู้คนที่อยู่แนวหลังต่างพากันตื่นตัวสมานฉันท์ด้วยกระแส "ชาตินิยม" อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน มีการบริจาคเงินและสิ่งของเพื่อส่งไปช่วยทหารในแนวหน้าเป็นจำนวนมาก ดารานักร้องและศิลปินจากทุกค่ายร่วมกันจัดคอนเสิร์ทการกุศลที่สนามกีฬากองทัพบก ถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ
พันเอกวัฒนชัยกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า
"ในฐานะที่เป็นทหารและทำการสู้รบอยู่โดยตรง ทุกคนดีใจที่ได้ยินข่าวนี้ เพราะสิ่งของต่าง ๆ ถูกส่งมามากมาย แม้กระทั่งพระเครื่องและเครื่องรางของขลังก็มีคนส่งมาให้
แต่ของทั้งหมดที่กล่าวมาก็ไปไม่ถึงแนวรบจริง ๆ เพราะเกือบทั้งหมดจะมาตกค้างในฐานใหญ่ทางด้านล่าง ชนิดที่ว่ากองพะเนินเทินทึก โดยไม่สามรถจัดส่งไปยังทหารที่อยู่บนเนินได้
ส่วนทหารที่อยู่บนเนินก็ไม่สามารถลงมารับของเหล่านั้นได้เช่นกัน เพราะตามหลักแล้ว การส่งกำลังบำรุงจะต้องส่งจาก "ส่วนหลัง" ไปยังแนวหน้า ไม่ใช่ให้แนวหน้ากลับมารับจากส่วนหลัง
ในฐานะ "ทหารม้า" ที่เคยร่วมรบอยู่ในสมรภูมิบ้านร่มเกล้า พันเอกวัฒนชัยกล่าวว่า
"ผมขอถือโอกาสนี้ขอบคุณพี่น้องประชาชนไทย ที่ได้เสียสละเงินและบริจาคสิ่งของรวมทั้งส่งกำลังใจไปให้กับทหารหาญที่รบอยู่ในแนวหน้า ซึ่งความเป็นไปเหล่านั้นยังอยู่ในความทรงจำของผมและลูกน้องเสมอมา"
ด้วยเหตุที่สงคราม "บ้านร่มเกล้า" อยู่ในความสนใจของคนไทยทั้งชาติ ซึ่งอยู่ในแนวหลัง การพิจารณามอบ "เหรียญกล้าหาญ" แก่ทหารที่ทำการรบจึงกระทำขึ้น ทั้งที่สถานการณ์ยังไม่สิ้นสุด
และผู้บังคับกองร้อยที่ 1 จากกองพันทหารม้าคือร้อยเอก "วัฒนชัย คุ้มครอง" ก็ถูกจารึกชื่อไว้ในฐานะนายทหารที่ได้รับ "เหรียญกล้าหาญ" ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่
พันเอกวัฒนชัยกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า
"ผู้บังคับบัญชาที่เสนอชื่อให้ผมได้รับเหรียญกล้าหาญก็คือพันเอกอุดมชัย องคสิงห ซึ่งในขณะนั้นท่านมีตำแหน่งเป็นรองผู้บังคับการกรมทหารม้าและอยู่ในแนวหน้าใกล้ชิดกับสถานการณ์สู้รบโดยตรง ท่านจึงรับรู้ถึงความเป็นไปต่าง ๆ อย่างละเอียดในตอนที่รองผู้บังคับการกรมส่งชื่อผมไปขอเหรียญกล้าหาญ จุ้ยซึ่งเป็น ผบ.ร้อย 2 เสียชีวิตแล้ว"
ผมทำการรบกับฝ่ายตรงข้ามอยู่บนเนินต่อไปจนกระทั่งถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์
หน่วยเหนือจึงมีคำสั่งให้ผมลงมาจากแนวเพื่อกลับเข้ากรุงเทพซึ่งมีการจัดพิธีประดับ "เหรียญกล้าหาญ" โดยนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นคือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเป็นประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษในปัจจุบันเป็นผู้ประดับเหรียญให้ด้วยตนเอง
หลังเสร็จพิธีในวันนั้นผมก็ได้ไปร่วมงานพระราชทานเพลิงศพ เพื่อนนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 19 ซึ่งเป็นนายตำรวจและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์
เพื่อน ๆ จากเหล่าทัพต่าง ๆ ที่ไปร่วมงานที่วัดตรีทศเทพในเย็นวันนั้นเข้ามาจับมือแสดงความยินดีให้กำลังใจและกล่าวอวยพรให้ผมแคล้วคลาดจากอันตราย เพราะทุกคนรู้ดีว่า ผมจะต้องกลับไปทำการรบที่บ้านร่มเกล้าต่อไปในวันรุ่งขึ้น
กับคำถามที่ว่าเคยคิดมาก่อนหรือไม่ว่าตนเองจะได้รับเหรียญจากการปฎิบัติหน้าที่ในสมรภูมิ ทั้งที่การรบยังไม่สิ้นสุดลง
อดีตนายทหารม้ากระดูกเหล็กให้คำตอบว่า
"ผมกล้ายืนยันว่าใครก็ตามที่ได้ไปอยู่ภายใต้สถานการณ์ เดียวกับผมและต้องจับปืนต่อสู้กับข้าศึกได้เห็นลูกน้องบาดเจ็บล้มตายต่อหน้าต่อตาจะไม่มีแก่ใจมานั่งคิดหรอกว่าตนเองจะได้เหรียญกล้าหาญหรือรางวัลใด ๆ เป็นเครื่องตอบแทน
เพราะสิ่งที่เป็นความมุ่งมั่นอยู่ในขณะนั้นก็คือทำอย่างไรภารกิจจึงจะสำเร็จลุล่วง
ทำอย่างไรจึงจะรอดพ้นอันตรายจากอาวุธหนักนานา ๆ ชนิดของข้าศึก ที่ยิงถล่มเข้าใส่ในทุกครั้งที่นำกำลังเข้าโจมตีที่หมาย
แต่เมื่อผู้บังคับบัญชาเห็นว่าเราเสี่ยงภัยเสี่ยงชีวิตทำการรบกับข้าศึกทั้งที่เสียเปรียบโดยไม่ย่อท้อ
ท่านจึงทำเรื่องเสนอขอเหรียญกล้าหาญให้เป็นสิ่งตอบแทนซึ่งเป็นเรื่องที่เราไม่คิดมาก่อน แต่เราก็ภูมิใจที่เหรียญกล้าหาญนี้เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่กำลังของฝ่ายเราทั้งหมดในภาพรวม
เหตุการณ์ในจุดไหนที่คิดว่าเป็น "จุดสำคัญ" ที่ทำให้ผู้บังคับบัญชาเห็นว่าควรจะได้รับเหรียญกล้าหาญ ?
"อันนี้ไม่ทราบจริง ๆ เพราะตลอดทั้ง 73 วันที่การรบดำเนินไปอย่างยืดเยื้อในความรู้สึกของผมสถานการณ์มันเกือบจะเหมือนกันทุกวัน กล่าวคือ
ฝ่ายเราเคลื่อนกำลังออกจากฐานที่มั่นเพื่อโจมตีเป้าหมาย ซึ่งเป็นภารกิจที่ยากลำบาก มีโอกาสบาดเจ็บล้มตายได้ทุกวินาที เพราะฝ่ายที่เข้าตีไม่มีอะไรเป็นเครื่องกำบังต้องเคลื่อนตัวเข้าไปในพื้นที่โล่งแจ้งต้องบุกเข้าไปหาข้าศึกซึ่งวางแนวยิงตั้งรับรออยู่แล้ว
บางทีอาจจะเป็นเพราะจุดนี้ก็เป็นได้ที่ทำให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่อย่างกล้าหาญ
เพราะการตั้งฐานที่มั่นและทำการรบโดยเป็นฝ่ายรับกับการเป็นฝ่ายบุกเข้าโจมตีทุกวันครั้งแล้วครั้งเล่า อันหลังถือเป็นการ "เสี่ยงอันตราย" และต้องใช้ความมุ่งมั่นห้าวหาญมากกว่า
ผมคิดว่าถ้าเปลี่ยนภาพเป็น "มุมกลับกัน" โดยให้กองร้อยของผมไปตั้งฐานอยู่บนเนินและทำการรบแบบตั้งรับ โดยไม่ต้องบุกเข้าโจมตีข้าศึกเป็นเวลา 73 วัน ถึงแม้จะเป็นการตั้งฐานรบอยู่ในแนวหน้าและสามารถยันข้าศึกไว้ได้ผู้บังคับบัญชาก็คงจะไม่ขอเหรียญกล้าหาญให้ผู้บังคับกองร้อยเป็นแน่
คิดว่าตนเองรอดมาได้เพราะอะไรทั้งที่ต้องเผชิญกับอันตรายทุกวัน ?
"ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมถึงรอดมาได้ทั้งที่มีหลายครั้งที่รู้สึกท้อใจและคิดว่าคงจะไม่ได้กลับมาเห็นหน้าแม่
ในตอนนั้นแม่ของผมยังไม่รู้ด้วยซ้ำเลยว่าเราไปรบอยู่ที่บ้านร่มเกล้าแล้วต้องเจอกับอะไรบ้าง จนกระทั่งมีชื่อลงในหนังสือพิมพ์ว่าได้รับเหรียญกล้าหาญแม่จึงรู้
เมื่อผ่านพ้นเหตุการณ์นั้นมาได้แล้วมองย้อนกลับไปในอดีตรู้สึกอย่างไร ?
"ความรู้สึกที่มากที่สุดก็คือ สงสารและเห็นใจครอบครัว ญาติมิตรของลูกน้องที่ต้องเสียชีวิตและบาดเจ็บพิการมาจนทุกวันนี้ เราเองอยู่ในฐานะที่โชคดีกว่าพวกเขาที่ไม่ได้เป็นอะไรเลย
ฉะนั้นอะไรก็ตามที่เราพอจะช่วยเหลือเกื้อกูลครอบครัวลูกเมียของเขาได้เราก็จะทำอย่างเต็มที่เท่าที่เราจะสามารถทำได้
อย่างเช่น ลูกชายของลูกน้องบางคนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้นอยากเข้าโรงเรียนนายสิบทหารบกเพื่อเจริญรอยตามพ่อ เราก็ให้ความช่วยเหลือโดยแนะนำกับผู้ใหญ่ให้
เรากราบเรียนท่านว่า พ่อของเด็กคนนี้ตายในการรบที่บ้านร่มเกล้า ท่านก็กรุณาให้ความอนุเคราะห์สนับสนุนจนเด็กได้เป็นนักเรียนนายสิบสมปรารถนา
ชีวิตการรับราชการหลังจากเหตุการณ์สงบลงกับการที่ได้ชื่อว่าเป็น "นักรบเหรียญกล้าหาญ" จากสมรภูมิร่มเกล้ามีผลอย่างไรหรือไม่
"ใหม่ ๆ มันก็อาจจะมีบ้างในแง่ที่ว่ามีคนรู้จักเรา แต่หลังจากนั้นทุกอย่างก็เป็นไปตามปกติ แต่โดยส่วนตัวแล้วเราเองก็ไม่ได้นึกน้อยเนื้อต่ำใจอะไรทั้งสิ้น
พันเอกวัฒนชัยกล่าวในน้ำเสียงปกติ
"เพราะที่ผ่านมาแค่นี้ก็พอใจและภูมิใจแล้วที่ได้เป็นชายชาติทหารอย่างสมบูรณ์แบบ ได้รับใช้ชาติ ได้ทำการรบจริง ๆ กับข้าศึกที่ล่วงล้ำเข้ามาในแผ่นดินไทยจนได้รับเหรียญกล้าหาญเป็นเครื่องตอบแทน ผมถือว่าเป็น "จุดสูงสุด" ในชีวิตการรับราชการทหารของผมแล้ว"
ส่วนเวลาที่ยังเหลืออยู่อีก 12 ปีก่อนเกษียณอายุราชการจะเป็นอย่างไร ก็ปล่อยไปตามวิถีของมัน ไม่คิดจะดิ้นรนหรือทะเยอทะยานใด ๆ ทั้งนั้น
เมื่อพูดถึงสมรภูมิ "บ้านร่มเกล้า" แล้วหากไม่ถามถึงคำร่ำลือที่ว่ามีการ "ทิ้งระเบิดผิด" จนทำให้ฝ่ายเดียวกันต้องสูญเสียก็คงกระไรอยู่ เกี่ยวกับเรื่องนี้พันเอกวัฒนชัยอธิบายว่า
"ทุกครั้งที่มีการพูดคุยเรื่องบ้านร่มเกล้า สิ่งที่ทุกคนจะต้องถามก็คือ จริงหรือไม่ที่พูดกันว่านักบินกองทัพอากาศทิ้งระเบิดใส่ทหารม้าจน "ละลาย" ไปเป็นกองร้อย
ผมตอบได้เลยว่ามันจะไม่ได้สูญเสียมากมายอะไรถึงขนาดนั้น แต่การทิ้งระเบิดผิดพลาดก็เกิดขึ้นจริง และมันไม่ใช่เรื่องแปลกหรือเป็นความผิดของเพื่อนเราที่เป็นทหารอากาศ
เพราะโดยหลักการของ "โคลส แอร์ ซัพพอร์ท" หรือการใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดเป้าหมายภาคพื้นดินเพื่อสนับสนุนกำลังของฝ่ายเดียวกันเขาจะมีกฏเกณฑ์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับ "เซฟตี้ แฟคเต้อร" หรือระยะปลอดภัยที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน
โดยทั่วไปแล้วเท่าที่รู้มาฝ่ายเราจะต้องอยู่ห่างจากตำแหน่งเป้าหมายที่จะมีการทิ้งระเบิดอย่างน้อย 1.5 กิโลเมตร ซึ่ง "ระยะปลอดภัย" ที่กล่าวมาเป็นระยะบนแผนที่ในทางราบ
แต่ในพื้นที่บ้านร่มเกล้าซึ่งเป็นสมรภูมิจริงเป็น "ภูเขาสูง" ระยะปลอดภัย 1.5 กิโลเมตร จึงแตกต่างจากการวัดระยะในทางราบ
และที่สำคัญก็คือสถานการณ์มันเป็นการสู้รบในลักษณะประชิดติดพันฝ่ายเราต้องเสี่ยงเกาะติดอยู่ใกล้กับข้าศึกตลอดเวลา
การจะล่าถอยออกมาให้ห่างจากพื้นที่เป้าหมายตามระยะที่กำหนดในเซฟตี้ แฟคเต้อร บางครั้งมันก็ไม่อาจทำได้อย่างทันเวลา
ความผิดพลาดจากการโจมตีทางอากาศจึงเกิดขึ้นซึ่งทุกฝ่ายก็เข้าใจความเป็นไปในจุดนี้
เรื่องการ "ทิ้งระเบิดผิด" หรือการยิงผิดพลาดจนทำให้เกิดความสูญเสียต่อฝ่ายเดียวกัน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้วและจะเกิดขึ้นต่อไป ในอนาคตไม่ว่าจะเป็นสงครามในสมรภูมิใดก็ตาม
เพราะขนาดกองทัพสหรัฐที่ว่ามีเทคโนโลยีทันสมัย มีระบบจีพีเอส. แสดงตำบลที่และภาพการรบได้แบบที่เรียกว่า "เรียล ไทม์" แต่ก็ยังมีการโจมตีผิดพลาดเนือง ๆ อย่างที่ปรากฏเป็นข่าวให้เราได้รู้ ไม่ว่าจะเป็นสมัยสงครามเวียดนาม หรือสงครามอ่าวเปอร์เซียทั้ง 2 ครั้งก็ตาม
ส่วนของเราเองการทิ้งระเบิดผิดพลาดก็มีมาแต่ครั้งโบราณประวัติศาสตร์ทางทหารก็เคยบันทึกไว้ว่า
สมัยที่เรือหลวง "ธนบุรี" รบกับเรือลามอตปิเกร์ของฝรั่งเศสที่เกาะช้างนักบินของกองทัพอากาศยังเข้าใจ
ผิดคิดว่าเรือธนบุรีเป็นข้าศึกและทิ้งระเบิดซ้ำลงมา
ดังนั้นในทุกครั้งที่มีคนถามเรื่องนี้ผมจะยืนยันคำพูดเดิมที่ว่า
"มันเป็นเรื่องธรรมดาในสงคราม เป็นเหมือนข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา"
เพราะไม่ว่าคุณจะทำอะไร ถ้าสิ่งที่คุณทำมีคนร่วมอยู่ด้วยมากกว่าสองคนขึ้นไปโอกาสที่จะกระทบกระแทกกันเองย่อมมีอยู่เสมอ
เช่นนักฟุตบอลในทีมเดียวกันก็อาจจะวิ่งชนกันเอง เพียงแต่ว่าผลของข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นนอกสนามรบมันไม่ได้จบลงด้วยการเสียชีวิตและบาดเจ็บเหมือนกับข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในสนามรบ

พันเอกวัฒนชัย ในงานรุ่นเตรียมทหาร
ถึงแม้สงคราม "บ้านร่มเกล้า" จะสิ้นสุดลงไปแล้วเกือบ 20 ปี
แต่คนจำนวนหนึ่งซึ่งมีทัศนคติไม่ดีต่ออาชีพทหารยังคงสบประมาท และดูแคลนบุคคลในเครื่องแบบด้วยการใช้คำพูดเย้ยหยันเป็นทำนองว่า "ไทยรบแพ้ข้าศึก" ที่บ้านร่มเกล้า
เกี่ยวกับเรื่องนี้พันเอกวัฒนชัยนิ่งไปชั่วครู่ ก่อนจะยิ้มจาง ๆ พร้อมกับกล่าวว่า
"ไม่เคยมีใครมาพูดแบบนี้ใส่หน้าผมนะ แต่ถ้าวันหนึ่งเกิดมีใครสักคนมาพูดจาอย่างที่ว่า ผมก็คงจะเอากำปั้นยัดปากหมอนั่นสักตูมแน่ ๆ"
น้ำเสียงนั้นทีเล่นทีจริง
"จริง ๆ แล้วฝ่ายตรงข้ามผมยืนยันได้เลยว่า สงครามบ้านร่มเกล้าเราไม่ได้เป็นฝ่ายแพ้ทหารไทยไม่ได้ปราชัยทหารฝ่ายตรงข้าม
แต่ด้วยเหตุผลบางอย่างเราจึงไม่สามารถบอกกับพี่น้องประชาชนได้ทั้งหมดว่า เราทำอะไรลงไปบ้าง
ในช่วงเวลานั้นคนทั่วไปจึงรับรู้ข่าวโดยผิวเผินและมองภาพแค่ว่า เราเอาชนะข้าศึกไม่ได้จึงต้องมีการเจรจา
แต่ในความเป็นจริงแล้วฝ่ายตรงข้ามยอมเจรจากับไทยก็เพราะสถานการณ์ในแนวรบเปลี่ยนแปลงไป
พวกเขาเริ่มเป็นฝ่ายที่เพลี่ยงพล้ำเสียเปรียบ เพราะในช่วงท้าย ๆ ของเหตุการณ์เมื่อการรบยืดเยื้อจนดูเหมือนว่าจะหา "จุดจบ" ไม่เจอ ฝ่ายเราจึงได้ตัดสินใจปฏิบัติการตามยุทธวิธีที่ควรจะทำ นั่นคือการส่งกำลังเข้าไป "หลังแนว" ข้าศึกเพื่อตัดเส้นทางการส่งกำลังบำรุงของศัตรู
ตอนนั้นเราเข้าไปถึง "เขตหลัง" ของฝ่ายตรงข้ามแล้วด้วยซ้ำ อีกทั้งยังโจมตีเรือข้าศึกที่แล่นอยู่ในแม่น้ำเพื่อส่งกำลังบำรุงให้กับพวกที่อยู่ในบ้านร่มเกล้า
เราใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดทำลายเครือข่ายการส่งกำลังบำรุงทุกอย่างเพื่อบีบบังคับให้ข้าศึกยอมเจรจา ซึ่งในที่สุดมันก็ได้ผล
"ฉะนั้นผมจึงยืนยันว่าสงครามบ้านร่มเกล้า ไทยไม่ได้แพ้ข้าศึก
พันเอกวัฒนชัยกล่าวอย่างหนักแน่น
"ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถทำลายล้างกำลังข้าศึกที่อยู่ในพื้นที่มีปัญหาให้ราบพนาสูญได้ทั้งหมดก็ตาม
แต่เราก็ประสบความสำเร็จตามความมุ่งหมายที่เราตั้งไว้ นั่นคือการบีบบังคับให้ข้าศึกยอมเจรจา ซึ่งการเจรจาจะไม่เกิดขึ้นเลยหากฝ่ายตรงข้ามมิได้ตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบเราในสนามรบอย่างที่ผมกล่าวมาข้างต้น"
ในช่วงท้ายของการสนทนากันอย่างยาวนาน
พันเอกวัฒนชัยซึ่งรับราชการอยู่ที่ศูนย์รักษาความปลอดภัยในปัจจุบันกล่าวย้ำกับผู้เขียนว่า
"เรื่องราวจากเหตุการณ์จริงทั้งหมดที่ผมเล่ามา ก็เพื่อเทิดทูนและรำลึกนึกถึงวีรกรรมของเหล่าทหารหาญที่ได้พลีชีพเพื่อชาติในการรบครั้งนั้น รวมทั้งครั้งอื่น ๆ ที่ผมเคยประสบมา
ผมไม่ประสงค์ที่จะต่อว่าหรือติเตียนฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการ ณ สมรภูมิร่มเกล้า ผมรู้ว่าทุกคนต่างพยายามทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มกำลังความสามารถจนกระทั่งสถานการณ์ยุติลงในท้ายที่สุด
ผมก็เหมือนกับเพื่อนทหารทุกคนที่ยึดมั่นในคำปฏิญาณเดียวกันว่าเราคือทหารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เราเป็นทหารที่พร้อมจะรบเพื่อปกป้องผืนปฐพีไทยเยี่ยงบรรพบุรุษในอดีตที่ได้เคยเสียสละเลือดเนื้อและชีวิตเพื่อรักษาบ้านเกิดเมืองนอนไว้ให้เรามาจนทุกวันนี้
และในฐานะที่เป็นทหาร ผมถูกปลูกฝังให้รักษา "เกียรติยศ" และศักดิ์ศรีแห่งเครื่องแบบ ดำรงไว้ซึ่งความแกล้วกล้าอาจหาญ เพื่อให้เป็นไปตามคำกล่าวที่ว่า
"หากสูญเสียเกียรติศักดิ์ หลายสิ่งจะสูญสิ้น
แต่หากหมดสิ้นซึ่งความกล้าหาญ
ทุกอย่างจะสูญสลายไปตลอดกาล"
แม้ในวันนี้และแนวโน้มของความเป็นไปในวันข้างหน้าโอกาสที่ "สงครามเต็มรูปแบบ" ซึ่งเป็นการรบขนาดใหญ่ คงจะเกิดขึ้นได้ยาก
แต่ความจำเป็นของการมี "บุรุษชาติทหาร" ที่พร้อมจะพลีชีพเพื่อปกป้องชาติบ้านเมืองยังคงดำรงอยู่ต่อไปและเรื่องราวจากประสบการณ์ของนักรบเลือดทหารม้าอย่างพันเอก "วัฒนชัย คุ้มครอง" คงจะเป็นหนึ่งในแบบอย่างให้ลูกผู้ชายชาวไทยผู้สวมเครื่องแบบทั้งมวลได้ยึดถือก้าวตาม.. สืบไป
เนื่องจากบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์อัน ชอบธรรมของผู้เขียน และอาจะมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลบ้างตามความเหมาะสม ในการนำบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่นๆ จึงขอความร่วมมือให้ใช้วิธีการคัดลอกเฉพาะ Link หรือ URL Address แทนการคัดลอกบทความทั้งหมด หากมีการคัดลอกไปในลักษณะแอบอ้างเป็นผู้เขียน หรือมีเจตนาอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทางเว็บ iseehistory.com แล้ว จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย
กระทู้ที่เกี่ยวข้อง
เรียนเชิญสมาชิกร่วมแสดงความคิดเห็นที่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บ (ต้องสมัครและ Login ก่อน) ผู้ชมทั่วไปหรือสมาชิกที่ต้องการโพสต์รูป เชิญร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บบอร์ด "คุยกันหลังฉาก" ในกระทู้ที่มีอยู่แล้ว หรือ สร้างกระทู้ใหม่ (คลิกที่นี่) ครับ
หากเป็นสมาชิก Facebook แสดงความเห็นได้ในฟอร์มข้างล่างนี้ครับ