dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



Lawrence of Arabia การสดุดีหรือบิดเบือนวีรบุรุษ?
วันที่ 19/05/2013   18:24:46

 

โดย webmaster@iseehistory.com

"เสแสร้งและจอมปลอม ใช้สูตรสำเร็จด้านจิตวิทยา (ในการสร้างตัวละครเอก) ใส่ความหลงตัวเอง รสนิยมชอบความรุนแรง ความกระหายเลือด และความบ้าบิ่นพิศดารลงไปอย่างละนิดอย่างละหน่อย แล้วคนให้เข้ากัน ... ลอว์เรนซ์ตัวจริงอัธยาศัยดีมาก ร่าเริง ยิ้มได้แม้ในยามตรอมใจ"

(คำสัมภาษณ์ของ อาร์โนลด์ น้องชายคนเล็กของลอว์เรนซ์ ในรายการโทรทัศน์เมื่อปี 1964/พ.ศ.2507 วิจารณ์ภาพยนตร์เรื่อง Lawrence of Arabia อ้างถึงใน "ลอว์เรนซ์แห่งอาระเบีย การเดินทางของมหาบุรุษ" ใน บุคคลสำคัญของโลก. กรุงเทพฯ. เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก, 2550 หน้า 166)

โดยปกติ การนำเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์มาสร้างเป็นภาพยนตร์ ย่อมเสี่ยงต่อการถูกวิจารณ์ว่าตรงตามประวัติศาสตร์เพียงใด ยิ่งมีการกล่าวถึงตัวบุคคลจริงในประวัติศาสตร์ที่มีญาติพี่น้องหรือลูกหลานสืบเชื้อสายมาจนถึงปัจจุบัน ก็ยิ่งเป็นเป้าต่อการวิจารณ์ของคนเหล่านั้น แม้จะเป็นภาพยนตร์คลาสสิคเรื่องยิ่งใหญ่ที่เคยทำเงินหรือพิชิตรางวัลมามากมาย ก็ใช่ว่าใครจะแตะต้องไม่ได้ ในที่นี้เราคงไม่ถึงกับจะมาตัดสินความผิดถูกของภาพยนตร์เรื่อง Lawrence of Arabia ที่เริ่มฉายในปี 1962/พ.ศ.2505 ว่าได้ถ่ายทอดเรื่องราวของ Thomas Edward Lawrence ได้ถูกต้องเพียงใด แต่อยากจะพูดเสียใหม่ว่า เมื่อจะดูภาพยนตร์เรื่องนี้ประกอบการศึกษาประวัติศาสตร์แล้ว ควรทำความเข้าใจในเรื่องใดบ้าง จะขอเริ่มจากเนื้อเรื่องโดยสังเขป ดังนี้

ตามหา ไฟซาล

ภาพยนตร์เริ่มเรื่องด้วยฉากที่ลอว์เรนซ์ขี่มอเตอร์ไซค์ไปประสบอุบัติเหตุจนถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 1935/พ.ศ.2478 ขณะอายุ 46 ปี แล้วมาเป็นฉากงานศพของเขาที่นักข่าวได้สัมภาษณ์คนบางคนที่รู้จักเขา แล้วจึงย้อนกลับไปยังตอนที่เขายังเป็นนายร้อยโทประจำการอยู่ในกองทัพอังกฤษที่อิยิปต์ ลอว์เรนซ์ถูกเรียกให้ไปพบกับนายพลเมอร์เรย์ (General Sir Archibald Murray) เนื่องจากนายดรายเดน (Mr. Dryden) ได้เสนอให้ลอว์เรนซ์เดินทางไปพบเจ้าชายไฟซาลเพื่อประเมินสถานการณ์การรบระหว่างกองกำลังอาหรับกับตุรกี แม้ว่านายพลเมอรเรย์จะไม่ค่อยชอบที่ลอว์เรนซ์เป็นคนไม่ค่อยมีระเบียบ แต่ก็ยินยอมให้ลอว์เรนซ์เดินทางโดยให้เวลา 3 เดือน ฉากตัดมาในช่วงที่ลอว์เรนซ์เดินทางมากับคนนำทางชาวอาหรับคนหนึ่ง เมื่อทั้งสองพักกินน้ำ คนนำทางได้ถูกสังหารโดย เชอร์ริฟ อาลี อิบเนล คาร์ริช (Sherif Ali ibn el Kharish รับบทโดย โอมาร์ ชารีฟ ต่อไปจะเรียกว่า "อาลี" หรือ "เชอริฟ อาลี") ชนเผ่าแฮริต เจ้าของบ่อน้ำนั้น ลอว์เรนซืยังดั้นด้นเดินทางต่อไปจนพบกับนายพันเอกไบรตันซึ่งกองทัพอังกฤษส่งมาเป็นที่ปรึกษาเจ้าชายไฟซาลอยู่ก่อนแล้ว ไบรตันพาไปพบเจ้าชายไฟซาลที่ค่ายพัก ซึ่งกำลังถูกเครื่องบินของตุรกีโจมตีอยู่พอดี ตกกลางคืนไบรตันได้นำลอว์เรนซ์เข้าเฝ้าเจ้าชายไฟซาล ซึ่งทำให้เขาได้พบกับ เชอริฟ อาลี อีกครั้งหนึ่ง เจ้าชายไฟซาลทรงขอให้ไบรตันประสานให้กองทัพเรือโจมตีเมืองอัคกาบา ซึ่งเป็นเมืองท่าในความยึดครองของตุรกี เพื่อให้อังกฤษสามารถนำยุทโธปกรณ์มาสนับสนุนกองกำลังของพระองค์ได้ แต่ไบรตันไม่เห็นด้วย และทูลขอให้เจ้าชายไฟซาลนำกองกำลังของพระองค์ไปยังเยลโบ ที่ที่อังกฤษจะได้ให้การสนับสนุนได้เต็มที่ทั้งในด้านยุทโธปกรณ์และครูฝึกทหารเพื่อทำการรบแบบสมัยใหม่ แต่ลอว์เรนซ์กลับแสดงความเห็นว่าข้อเสนอของไบรตันจะทำให้กองกำลังของไฟซาลเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกองทัพอังกฤษ และชาวเบดูอินมีข้อได้เปรียบตรงที่ชำนาญภูมิประเทศ "สามารถไปได้ทุกที่" ในทะเลทรายที่เวิ้งว้างประหนึ่งทะเลหรือมหาสมุทรอยู่แล้ว ทำให้ไบรตันซึ่งติดวิธีคิดแบบกองทัพจักรวรรดินิยมอังกฤษไม่ค่อยพอใจลอว์เรนซ์อยู่บ้าง (แต่เมื่อดูในตอนต่อๆ ไปจะเห็นว่าที่จริงไบรตันเป็นคนที่อัธยาศัยดี และเห็นใจลอว์เรนซ์มากกว่าอีกหลายๆ คนที่อยู่รอบข้างเขา)

(บน) เครื่องบินตุรกีโจมตีค่ายของเจ้าชายไฟซาล

(ล่าง) ลอว์เรนซ์เข้าเจ้าชายไฟซาล

ตลบหลังอัคคาบา (Aqaba)

หลังจากครุ่นคิดอยู่ระยะหนึ่ง ลอว์เรนซ์ ได้คิดแผนการที่จะโจมตีเมืองอัคกาบาต่อ เชอริฟ อาลี โดยขอกำลังคนเพียง 50 คน เดินทางผ่านทะเลทรายเนฟูด์ (Nefud Desert) อันแสนทุรกันดารชนิดที่ อาลี เองยังบอกว่าเป็นเสมือนนรก เพื่อไปประสานกับชนเผ่าโฮไวแท็ท (ชนเผ่าที่ อาลี บอกว่าเป็น โจรรับจ้าง แต่ ลอว์เรนซ์ เห็นว่าเป็นนักรบชั้นดีด้วย) เข้าโจมตีเมืองอัคกาบาจากด้านหลัง แม้ว่ากองทัพตุรกีจะมีปืนใหญ่สนับสนุน แต่ก็เตรียมไว้รับมือเฉพาะการโจมตีจากฝั่งทะเลด้านหน้าเท่านั้น ไม่สามารถหันปืนกลับมาด้านหลังได้ เจ้าชายไฟซาลและอาลีต้องยอมรับแผนการนี้โดยมีอาลีร่วมขบวนไปด้วย และยังมีเด็กหนุ่มกำพร้าสองคนชื่อ ดาอูด กับ ฟาร์ราจ แอบติดตามไปอีกด้วย และถูกจับได้ที่โอเอซิสแห่งหนึ่งก่อนจะเข้าสู่ทะเลทรายเนฟูด์

ลอว์เรนซ์ได้รับเกียรติให้แต่งชุด "เชอริฟแห่งเบนิทจ์" หลังวีรกรรมการช่วยเหลือ "กาซิม"

การข้ามทะเลทรายเนฟูด์เป็นไปด้วยความยากลำบาก ภาพยนตร์ใช้เวลาไปกับการเดินทางช่วงนี้อยู่หลายนาที รวมถึงวีรกรรมครั้งสำคัญคือการย้อนกลับไปช่วยชายชื่อ "กาซิม" ที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ซึ่งทีแรก เชอริฟ อาลี คัดค้านการย้อนกลับไปช่วยกาซิมอย่างแข็งขัน แต่ก็รั้งลอว์เรนซ์ไว้ไม่อยู่ แต่เมื่อลอว์เรนซ์สามารถนำกาซิมกลับมาสมทบ ณ จุดนัดหมายได้ อาลี กับพรรคพวกได้ให้การยกย่องลอว์เรนซ์ ถึงกับนำชุดอาหรับ "เชอริฟแห่งเบนิทจ์" มาให้ลอว์เรนซ์สวม ขณะที่ลอว์เรนซ์กำลังชื่นชมกับเกียรติที่ได้รับ ออดา อาบู ทายี (Auda abu Tayi ต่อไปจะขอเรียกสั้นๆ ว่า "ออดา") หัวหน้าเผ่าโฮไวแท็ท (Howeitat) ก็ได้มาพบ และเกือบจะมีเรื่องกันเนื่องจาก เชอริฟ อาลี และพวกเป็นเผ่าแฮริทที่ไม่ถูกกันมาก่อน และมา "ขโมย" ใช้น้ำในบ่อของเผ่าโฮไวแท็ท แต่ลอว์เรนซ์กับพวกก็ได้ช่วยกันไกล่เกลี่ยจน ออดา เชิญคณะทั้งหมดไปทานอาหารเย็นกันที่เผ่าของตน ลอว์เรนซ์กับพวกจึงเกลี้ยกล่อม ออดา ซึ่งเดิมรับเิงินจากฝ่ายตุรกีให้มาเข้าร่วมได้สำเร็จ ตรงนี้ขอขยายความตามความเข้าใจของผมเองนิดนึงว่า ทีแรกลอว์เรนซ์ก็พยายามจะพูดจาหว่านล้อมให้ ออดา เข้าใจถึงอุดมการณ์ในการเรียกร้องเอกราชของชาวอาหรับ และพยายามจะบอกว่า เงินที่ ออดา รับจากพวกเตอร์กนั้นเป็นแค่ "เศษเงิน" ซึ่งผมคิดในใจว่าคงหมายถึงเงินไม่สำคัญเท่าเอกราช แต่ลุงออดาแกไม่ get จนเพื่อนในคณะของลอว์เรนซ์บอกว่า "เมื่อเทียบกับเงินของพวกเตอร์กในอัคกาบา" แกถึงได้ตกลง เวรกรรมจริงๆ

เคลื่อนทัพสู่ Aqaba

ลอว์เรนซ์ นำกองกำลังซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวโฮไวแท็ท มาใกล้จะถึงอัคกาบา และพักค้างแรมก่อนจะเข้าตีในวันรุ่งขึ้น แล้วก็มาเกิดเรื่องที่เกือบจะทำให้การตีอัคกาบาล้มเหลว เมื่อมีเสียงปืนดังขึ้นหนึ่งนัด ชาวแฮริทคนหนึ่งได้ฆ่าชาวโฮไวแท็ทตาย ฝ่ายหลังจะล้างแค้นให้ได้ ไอ้ฝ่ายแรกก็ไม่ยอม ลอว์เรนซ์ เลยประกาศว่าในฐานะที่เขาเป็นคนไม่มีเผ่า ก็จะขอสำเร็จโทษคนผิดซะเอง เพื่อให้เรื่องยุติลงโดยที่ทุกฝ่ายพอใจ ปรากฏว่าผู้ลงมือสังหารชาวโฮไวแท็ทนั้นคือ "กาซิม" ที่เขาช่วยชีวิตไว้นั่นเอง เขาต้องยิงกาซิมด้วยความเสียใจอย่างยิ่ง เพื่อแลกกับความสำเร็จในวันรุ่งขึ้น คือการเข้าตีเมืองอัคกาบาจากด้านหลัง ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างงดงามตามที่เขาคาดหมายไว้ทุกประการ

ยึดเมือง Aqaba ได้ตามคาด

ช่วงแห่งความกดดัน

แม้จะได้ชัยชนะที่อัคกาบาอย่างงดงาม แต่เนื่องจากวิทยุสื่อสารได้ถูกทำลายลง ลอว์เรนซ์จึงตัดสินใจที่จะเดินทางกลับไปส่งข่าวที่กรุงไคโรด้วยตนเอง ซึ่งจะต้องข้ามทะเลทรายไซนายไป โดย ดาอูด และ ฟาร์ราจ อาสาติดตามไป ทั้งๆ ที่ เชอริฟ อาลี และ ออดา ไม่ค่อยจะเห็นด้วยนัก คงทราบดีว่าระยะทางจะไกลและแสนสาหัสไม่น้อย แต่ลอว์เรนซ์ก็ยังดึงดันด้วยคำพูดว่า "โมเสสเคยทำมาแล้ว" และแล้วระหว่างทาง ลอว์เรนซ์ต้องเผชิญกับพายุทรายที่ทำให้ดาอูดต้องจมทรายดูดหายไปต่อหน้าต่อตา ลอว์เรนซ์กับฟาร์ราจเดินทางต่ออย่างเศร้าสร้อยพร้อมด้วยอูฐที่เหลือเพียงตัวเดียว จนถึงกรุงไคโรจนได้เหมือนกัน ลอว์เรนซ์พาฟาร์ราจไปกินน้ำที่สโมสรนายทหารท่ามกลางความไม่พอใจของเพื่อนๆ นายทหาร แต่ไบรตันได้เข้ามาไกล่เกลี่ยและสอบถามเรื่องที่เกิดขึ้น แล้วจึงพาลอว์เรนซ์ไปพบนายพลอลันบี (General Lord Edmund Allenby) ที่มารับตำแหน่งแทนนายพลเมอร์เรย์ นายพลอลันบีมีท่าทีชื่นชมผลงานของลอว์เรนซ์เป็นอย่างมาก จึงได้เลื่อนยศเขาเป็นนายพันตรี และสัญญาที่จะให้การสนับสนุนกองกำลังอาหรับทุกประการ แต่ลึกๆ ดูเหมือนจะไม่ค่อยชอบใจแนวคิดของลอว์เรนซ์ที่จะให้ชาวอาหรับได้ครอบครองดินแดนอาระเบียอยู่สักเท่าไหร่

การซุ่มโจมตีขบวนรถไฟตุรกี

ลอว์เรนซ์ เริ่มเป็นคนดังเมื่อมีนักข่าวอเมริกันชื่อ แจ็คสัน เบนท์ลีย์ เดินทางมาทำข่าวการรบในทะเลทราย และได้ติดตามลอว์เรนซ์ไปดูการลอบโจมตีขบวนรถไฟของตุรกี แผนการรบแบบกองโจรของลอว์เรนซ์ประสบความสำเร็จหลายครั้ง แต่ก็เผชิญปัญหาจากคนของออด้าที่เห็นแก่ทรัพย์สินเงินทองเป็นหลัก พอได้สิ่งที่ต้องการแล้วก็จากไป และฟาร์ราจก็ต้องประสบอุบัติเหตุจากเชื้อประทุจนบาดเจ็บ ลอว์เรนซ์ จำใจต้องยิงเขาทิ้งเพื่อไม่ให้ถูกทหารตุรกีจับไปทรมาน ต่อมาลอว์เรนซ์ได้ลอบเข้าเมืองเดร่า (Daraa) ไปกับ เชอริฟ อาลี ทหารตุรกีเห็นพิรุธในตัวเขาจึงจับไปทรมานอยู่ทั้งคืนจึงปล่อยตัวออกมา ลอว์เรนซ์เริ่มคิดมากจากการที่ถูกจับได้เพราะเป็นคนผิวขาว จึงทิ้งพวกของเชอริฟ อาลี กลับไปยังกองบัญชาการกองทัพอังกฤษที่กรุงเยรูซาเล็มเพื่อขอย้ายตัวเองไปทำหน้าที่อื่น ปรากฏว่าเจ้าชายไฟซาลกำลังเจรจากับนายพลอลันบีและไดรเดนอยู่พอดี นายพลอลันบีและไดรเดนปฏิเสธเจ้าชายว่าไม่มีสนธิสัญญาใดๆ ระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส แต่เมื่อเจ้าชายกลับไปแล้ว ทั้งสองจึงบอกความจริงว่ามีสนธิสัญญาดังกล่าวที่อังกฤษและฝรั่งเศสได้ตกลงที่จะแบ่งการปกครองดินแดนอาหรับกัน ลอว์เรนซ์พยายามขอย้ายตัวเองตามที่ตั้งใจไว้ แต่นายพลอลันบีปฏิเสธและขอให้เขาทำงานเดิมต่อไป เพื่อให้กองทัพอาหรับสนับสนุนการเข้าีตีกรุงดามัสกัส ลอว์เรนซ์ ซึ่งคงจะผิดหวังต่อความหลอกลวงของจักรวรรดินิยม จึงประกาศที่จะเข้ายึดกรุงดามัสกัสก่อนกองทัพอังกฤษ

พิชิต ดามัสกัส (Damascus) - ชัยชนะที่ว่างเปล่า

เคลื่อนขบวนสู่ดามัสกัส

ลอว์เรนซ์ได้ระดมนักรบเบดูอินมาเป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งมาจากการใช้เงินจ้าง (เงินสนับสนุนจากกองทัพอังกฤษเอง?) โดยเฉพาะพวกที่เขาบอกว่าเป็นองครักษ์อยู่รอบตัวนั้น เชอรีฟ อาลี บอกว่าเป็นพวกฆาตกรมีค่าหัวด้วยกันทั้งนั้น ภาพยนตร์พยายามอธิบายเหตุการณ์ช่วงนี้ว่า ลอว์เรนซ์ได้พบกับความกดดันต่างๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า จนมีท่าทีที่เปลี่ยนไป ในทางที่ต้องการเอาชนะ เมื่อเดินทัพมาถึงหมู่บ้านทัลลาล พบขบวนทหารเตอร์กที่บาดเจ็บ ลอว์เรนซ์ไม่สนใจคำเตือนของอาลีที่ว่าให้อ้อมผ่านไปยังกรุงดามัสกัส สั่งให้กองทัพอาหรับเข้าโจมตีขบวนทหารข้าศึกที่เต็มไปด้วยคนเจ็บอย่างบ้าเลือด (ฉากนี้คงจะเป็นต้นเหตุของคำตำหนิของอาร์โนลด์ น้องชายลอว์เรนซ์ที่อ้างถึงในตอนต้นบทความ แม้ว่าผู้สร้างจะใช้มุมกล้องช่วยไม่ให้เห็นภาพการฆ่าแกงอย่างสยดสยองดังเช่นที่ภาพยนตร์สงครามหลายเรื่องตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันชอบเน้นกันจัง) จากนั้น ลอว์เรนซ์ สามารถนำทัพเข้ายึดดามัสกัสได้ก่อนกองทัพอังกฤษ ตั้งเป็นสภาแห่งชาติอาหรับ (the Arab Council) ขึ้นมาดูแลเมือง แต่แล้วด้วยความแตกแยกกันของชาวอาหรับเอง ทำให้ไม่สามารถดูแลสาธารณูปโภคที่สำคัญของเมืองไว้ได้ ในที่สุดบรรดานักรบอาหรับก็ถอนตัวกันไปจนหมด ทิ้งให้ลอว์เรนซ์ถูกกองทัพอังกฤษตำหนิ แม้ว่าเขาจะได้เลื่อนยศเป็นพันเอก แต่โต๊ะเจรจาสันติภาพระหว่างเจ้าชายไฟซาลและนายพลอลันบีก็ไม่ต้องการเขาเสียแล้ว ภาพยนตร์จบลงที่ฉากลอว์เรนซ์ขึ้นรถยนตร์ออกไปนอกเมืองตามถนนที่สองข้างทางเป็นทะเลทรายเพื่อเดินทางกลับอังกฤษ

ภาพความขัดแย้งอันดุเดือดของ The Arab Council ภายในกรุง Damascus

ตัวตนของ ลอว์เรนซ์

ในทัศนะผม ถ้อยคำตำหนิของอาร์โนลด์ที่ยกมาในตอนต้นมีส่วนจริงอยู่ไม่น้อย เนื่องจากสูตรสำเร็จในการสร้างภาพยนตร์ ทำให้ภาพลักษณ์ของลอว์เรนซ์ดูแปลกๆ ตั้งแต่ตอนต้นเรื่อง ที่มีท่าทางเพี้ยนๆ ตั้งแต่การแต่งกายที่ไม่ค่อยเป็นระเบียบ ชอบเล่นไม้ขีดไฟ แกล้งเพื่อนที่กำลังวางลูกสนุ้กเกอร์ เหตุผลในการส่งเขาไปหาเจ้าชายไฟซาลที่ไม่ค่อยชัดเจนนัก ท่าทางแปลกๆ เมื่อเขารับอาหารเบดูจากคนนำทาง และมุขตลกตอนเขาตกจากหลังอูฐตอนที่คนนำทางสอนเขา ทำให้ดูคล้ายกับว่าลอว์เรนซ์เป็นคนหน้าใหม่ในทะเลทราย ทั้งที่ในประวัติจริง ลอว์เรนซ์ รู้จักดินแดนอาระเบียมาเป็นอย่างดีตั้งแต่ตอนเขามาทำวิทยานิพนธ์เรื่องปราสาทสมัยครูเสด และยังทำงานด้านโบราณคดีในช่วงก่อนสงคราม ภาพลักษณ์ในตอนต้นนี้ยังขัดกับเหตุการณ์ต่อๆ มาในภาพยนตร์เอง จากการที่เขาเคยได้ยินชื่อเสียงของ เชอริฟ อาลี และ ออดา อาบู ทายี มาก่อน การคิดแผนตีเมืองอัคกาบา การรู้ว่าเผ่าโฮไวแท็ทเป็นนักรบชั้นดี และรู้ว่าออดารับเงินจากพวกเตอร์กเดือนละ 150 กินี แทนที่จะเป็น 100 กินีอย่างที่ออดาบอก ฝรั่งที่เป็นหน้าใหม่ในทะเลทรายคงจะไม่รู้อะไรดีๆ ขนาดนี้แน่

ตัวละครอย่างดาอูดนั้น ไม่ทราบว่าผู้สร้างตั้งใจจะหมายถึง ดาอูด หรือ ดาฮูม ในชีวิตจริงของลอว์เรนซ์หรือไม่ ดาอูดตัวจริงในชีวประวัติของลอว์เรนซ์นั้น เขารู้จักกันมาตั้งแต่ตอนลอว์เรนซ์ทำงานโบราณคดีก่อนเกิดสงครามแล้ว และดาอูดตัวจริงเสียชีวิตด้วยไข้รากสาด เรื่องราวการช่วยชีวิต "กาซิม" และเรื่องการสังหารคนอาหรับเพื่อยุติข้อขัดแย้งระหว่างเผ่านั้น เป็นเรื่องที่มีอยู่ในชีวประวัติ แต่ไม่มีที่ไหนระบุว่า "กาซิม" คือผู้ที่ก่อเรื่องสังหารคนต่างเผ่าขึ้นมาก่อน และไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นก่อนการโจมตีอัคกาบา แต่อย่างใด เหตุการณ์ในภาพยนตร์ทำให้ดูเหมือนว่าลอว์เรนซ์มีความชอบธรรมในการสังหารกาซิมมากขึ้น

ขณะถูกจับและเผชิญหน้านายพลตุรกีก่อนถูกโบยตีและ...(???)

ส่วนฉากที่ลอว์เรนซ์ถูกพวกเตอร์กทารุณในเมืองเดร่านั้น ในหนังสือ Seven Pillars of Wisdom เขาอ้างว่าได้ถูกเจ้าเมืองและพวกเตอร์กข่มขืนแบบรักร่วมเพศด้วย แต่ในภาพยนตร์เป็นเพียงแค่เขาถูกถอดเสื้อและถูกโบยเนื่องจากเจ้าเมืองถูกเนื้อต้องตัวก่อน ที่เหลือปล่อยให้คนดูคิดเอาเองว่าเกิดอะไรขึ้นอีกบ้าง

ภาพลักษณ์ คนอาหรับ

ผมก็ไม่ต่างจากหลายๆ ท่านที่ไม่เคยได้รู้จักคนอาหรับตัวจริงเป็นๆ ได้แต่รู้จักผ่านสื่อทั้งหลาย ในภาพยนตร์เรื่องนี้ดูจะไม่ต่างออกไปเท่าไหร่ คือภาพของคนป่าเถื่อน เลือดร้อน แตกแยกกันเอง คนเผ่าอื่นมากินน้ำในบ่อตัวเองไม่ได้ กำลังจะออกรบด้วยกันแท้ๆ ยังอุตส่าฆ่าแกงแก้แค้นกันเองก่อน เห็นแก่เงินและทรัพย์สินเล็กๆ น้อยๆ เช่น ในการปล้นสะดมรถไฟ ฯลฯ จะเท็จจริงหรือเป็นธรรมกับคนอาหรับแค่ไหนก็แล้วแต่วิจารณญาณของท่าน ในที่นี้จะลองชี้ประเด็นเพิ่มเติม ได้แก่

แข็งนอกแต่อ่อนใน แม้คนอาหรับจะเลือดร้อนเพียงใด แต่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ และในอีกบางเรื่องที่ยังไม่ได้พูดถึง พวกนี้มักจะไปแพ้ทางคนประเภทที่ "อ่อนนอกแข็งใน" หรือเก่งจริงและมีความจริงใจแบบ ลอว์เรนซ์ แต่แล้วเขาก็กลายเป็นเพียงหุ่นเชิดหรือเครื่องมือให้จักรวรรดินิยมอังกฤษหลอกใช้คนอาหรับอีกที

ตลอดทั้งเรื่องได้เห็นผู้หญิงแค่นี้ก็บุญแล้ว???

สถานะของสตรี ภาพยนตร์เรื่องนี้คล้ายกับภาพยนตร์สงครามอีกหลายเรื่องหรือจะแย่กว่าซะอีกตรงที่ผู้หญิงแทบไม่มีบทบาทอะไรเลย ซึ่งก็เป็นไปตามชีวประวัติของลอว์เรนซ์ และสภาพสังคมของชาวอาหรับ ในบางฉากเราจะเห็นแค่ผู้หญิงในชุดคลุมดำทั้งร่างแอบแหวกกระโจมดูผู้ชายกินเลี้ยงกัน หรือยืนส่งเสียงร้องขณะที่พวกผู้ชายไปออกรบ

ความเจริญ ในหลายๆ ด้านอาจดูคล้ายจะบอกว่าคนอาหรับในเวลานั้นล้าหลัง เห็นได้ชัดตอนที่เครื่องบินตุรกีโจมตีค่ายของเจ้าชายไฟซาล ที่ในสายตาไบรตันบอกว่าคนอาหรับไม่รู้เรื่องการรบสมัยใหม่ และพยายามโน้มน้าวให้ทรงนำทัพถอยไปเยลโบตามความต้องการของอังกฤษโดยอ้างว่าอังกฤษเป็นมหาอำนาจได้เพราะความมีระเบียบวินัย แต่เจ้าชายไฟซาลโต้กลับว่าชาติอาหรับเคยมีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อนอังกฤษ ด้านลอว์เรนซ์ได้เห็นจุดแข็งของคนอาหรับในเรื่องความคล่องตัวในภูมิประเทศแบบทะเลทราย และใช้จุดแข็งนี้นำทัพอาหรับรบกับตุรกีได้ผลมาตลอด เสียดายที่ในบั้นปลาย ความแตกแยกของคนอาหรับเองกลับทำให้ต้องเสียเปรียบในการต่อรองกับมหาอำนาจจนไม่อาจมีเอกราชในเวลานั้นได้ และในปัจจุบันก็ยังแตกแยกเป็นประเทศต่างๆ ไม่อาจรวมตัวกันต่อสู้แม้กระทั่งอิสราเอลได้

ภาพยนตร์โดยรวม

จัดว่าเป็นภาพยนตร์สงครามที่ยิ่งใหญ่สวยงามตระการตา โดยเน้นไปที่ฉากกองทัพที่ใหญ่โตมโหฬาร แต่ในการรบจริงกลับถ่ายทอดความหฤโหดด้วยมุมกล้องที่ไม่หฤโหดสยดสยองเหมือนอย่างหนังสงครามรุ่นหลัง เช่น ภาพ ลอว์เรนซ์ กำลังเล็งยิงปืนพกไปที่หนึ่ง หรือ ภาพ เชอรีฟอาลีขี่อูฐฟัน "ใครบางคน" อยู่ข้างล่าง ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเหยื่อกระสุนปืนหรือคมดาบนั้นคือทหารเตอร์ก โดยไม่ต้องมีภาพตัวละครที่เป็นทหารเตอร์กถูกยิงหรือถูกฟันเลือดท่วมออกมาให้เห็นจริงๆ เรียกว่าไม่ต้องกลัวลูกหลานจะเสียนิสัยกันเลย ในฉากทั่วๆ ไปก็จะเต็มไปด้วยทัศนียภาพของทะเลทรายที่งดงามจนบางทีไม่อยากสนใจว่ามันจะร้อนหรือทุรกันดารอะไรนัก

ลอว์เรนซ์รบอย่างกระหายเลือดในตอนท้าย - เพราะความกดดันหรือสูตรสำเร็จของการสร้างหนัง?

ส่วนใแง่มุมทางประวัติศาสตร์นั้น จะให้ฟันธงว่าเป็นการบิดเบือนคล้ายๆ กับที่น้องชายของลอว์เรนซ์ออกมาให้สัมภาษณ์ก็ยังสองจิตสองใจอยู่ แต่เห็นด้วยกับคำพูดของท่านอย่างมากตรงที่หนังเรื่องนี้ใช้สูตรสำเร็จบางอย่างในการสร้างตัวละครและโครงเรื่อง จนข้อเท็จจริงบางอย่างในชีวิตของลอว์เรนซ์ถูกละเลย อย่างไรก็ตาม ยังได้สะท้อนให้เห็นว่า อิทธิพลของจักรวรรดินิยมและจุดอ่อนบางประการของชาวอาหรับนั้น เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ดินแดนอาระเบียขาดความเป็นเอกภาพมาจนทุกวันนี้

ส่งท้าย ในบทความของวิกิพีเดียภาษาอังกฤษได้มีการวิเคราะห์ตัวละครแต่ละตัวในเรื่องตามประวัติศาสตร์จริงค่อนข้างละเอียด ผู้สนใจติดตามอ่านได้จาก link ข้างล่างครับ

เนื่องจากบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์อัน ชอบธรรมของผู้เขียน และอาจะมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลบ้างตามความเหมาะสม ในการนำบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่นๆ จึงขอความร่วมมือให้ใช้วิธีการคัดลอกเฉพาะ Link หรือ URL Address แทนการคัดลอกบทความทั้งหมด  หากมีการคัดลอกไปในลักษณะแอบอ้างเป็นผู้เขียน หรือมีเจตนาอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทางเว็บ iseehistory.com แล้ว จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย

ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ : Lawrence of Arabia

ชื่อภาษาไทย : ลอว์เรนซ์แห่งอาระเบีย

ผู้สร้าง : Sam Spiegel

ผู้กำกำกับ : David Lean

ผู้เขียนบท : Robert Bolt, Michael Wilson

ผู้แสดง :

  • Peter O'Toole ... T.E. Lawrence
  • Alec Guinness ... Prince Feisal
  • Anthony Quinn ... Auda abu Tayi
  • Jack Hawkins ... General Lord Edmund Allenby
  • Omar Sharif ... Sherif Ali
  • Anthony Quayle ... Colonel Brighton
  • Claude Rains ... Mr. Dryden
  • Arthur Kennedy ... Jackson Bentley
  • Donald Wolfit ... General Sir Archibald Murray
  • I.S. Johar ... Gasim
  • Gamil Ratib ... Majid
  • Michel Ray ... Farraj
  • John Dimech ... Daud
  • Zia Mohyeddin ... Tafas

ควรอ่านเพิ่มเติม

กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

  • (ยังไม่มี)

 
เรียนเชิญสมาชิกร่วมแสดงความคิดเห็นที่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บ (ต้องสมัครและ Login ก่อน) ผู้ชมทั่วไปหรือสมาชิกที่ต้องการโพสต์รูป เชิญร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บบอร์ด "คุยกันหลังฉาก" ในกระทู้ที่มีอยู่แล้ว หรือ สร้างกระทู้ใหม่ (คลิกที่นี่) ครับ

หากเป็นสมาชิก Facebook แสดงความเห็นได้ในฟอร์มข้างล่างนี้ครับ

 

Bookmark and Share

ภาพยนตร์ตัวอย่าง (Trailer) จาก www.youtube.com

 

ทางเว็บไม่มีนโยบายนำภาพยนตร์ฉบับ เต็มมาให้ดูออนไลน์หรือให้ดาวน์โหลดเนื่องจากเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และไม่ มีพื้นที่สำหรับเก็บไฟล์ภาพยนตร์

 



สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ม้าศึกจารึกโลก (War Horse) ชะตากรรมของม้าในสงครามของคน วันที่ 19/05/2013   18:20:34
Aces High ตายเพราะเอาอย่างฮีโร่ วันที่ 19/05/2013   18:21:48
The Lost Battalion เนื้อแท้ของความกล้า วันที่ 19/05/2013   18:22:55
A Dangerous Man: Lawrence After Arabia ศึกทางการทูตของ ลอว์เรนซ์แห่งอาระเบีย วันที่ 19/05/2013   18:23:50
สารคดี Lawrence of Arabia: โลกลึกลับของวีรบุรุษผู้ขมขื่น วันที่ 19/05/2013   18:26:14
All Quiet on the Western Front (1930) ขาวดำก็มีดี วันที่ 19/05/2013   18:27:11
In Love and War รักยามสงครามของ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ วันที่ 19/05/2013   18:28:11
Flyboys ศึกเวหาที่ยังคลาดเคลื่อน วันที่ 19/05/2013   18:29:07
Rasputin: Dark Servant of Destiny รัสปูติน ในอีกมุมมองหนึ่ง วันที่ 19/05/2013   18:29:47
ซาร์(จักรพรรดิ)องค์สุดท้ายของ รัสเซีย (Russia's last Tsar) วันที่ 19/05/2013   18:30:46
All Quiet on the Western Front แนวรบตะวันตก เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง วันที่ 19/05/2013   18:31:54
The LightHorseMen: วีรกรรมของคนกับม้า และปัญหาศัพท์ ทหารม้า-ทหารราบขี่ม้า วันที่ 19/05/2013   18:32:45



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker