dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



สารคดี Nefertiti and the Lost Dynasty: เนเฟอตีติ อมตะราชินี จาก NATIONAL GEOGRAPHIC
วันที่ 19/05/2013   21:41:09

  โดย ชาญชัย (Leo53)
 

 

       

           
นางคือหนึ่งในผู้ที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก ซึ่งถือกำเนิดในตระกูลสูงศักดิ์ เติบโตเป็นหญิงผู้เลอโฉม ตำนานแห่งความงาม ราชินีเนเฟอตีติ ผู้ซึ่งได้รับการกล่าวขานว่าเป็นหนึ่งในสามของผู้หญิงที่สวยที่สุดในประวัติศาสตร์ มเหสีที่มีชื่อเสียงที่สุดของอียิปต์ แต่บั้นปลายชีวิตของนาง กลับกลายเป็นหนึ่งในปริศนาดำมืดที่ลึกลับที่สุดของอียิปต์โบราณ การค้นหาที่ดำเนินมาเป็นเวลาหลายศัตวรรษจนกระทั่งปัจจุบัน ก็ยังหาคำตอบไม่ได้เลยว่าเหตุใดนางจึงได้หายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอยในประวัติศาสตร์ ท่ามกลางผืนทะเลทรายที่กว้างใหญ่ไพศาล อะไรเกิดขึ้นกับนางและราชวงศ์ที่สาบสูญ?

 

ภาพด้านซ้ายมือเป็นรูปปั้นของเนเฟอตีติขุดพบที่พระราชวังโบราณ ในเมืองอามาน่าประเทศอียิปต์เมื่อปี ค.ศ.1912 (อายุประมาณ 3,200 ปี จากประมาณ 1345 ปีก่อนคริสตกาล) ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน รูปปั้นนี้เป็นรูปปั้นที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกรูปหนึ่ง และเป็นหลักฐานสำคัญยิ่งอีกชิ้นหนึ่งที่ทำให้นักประวัติศาสตร์ไม่เคยลังเลเลย ที่จะบอกว่าเนเฟอตีติเป็นผู้หญิงที่สวยที่สุดในประวัติศาสตร์
 

                       

  ภาพยนตร์สารคดีของ National Geographic เรื่องนี้มีเนื้อหาหลักเป็นการนำเสนอผลการวิจัยครั้งล่าสุดในปี ค.ศ.2005 ของคณะวิจัยซึ่งนำโดย ดร. ซาฮี ฮาวาส นักโบราณคดีชาวอียิปต์ซึ่งเป็น ผู้อำนวยการสภาโบราณสถานแห่งประเทศอียิปต์ (Supreme Council of Antiquities, SCA) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก National Geographic โดยมีการนำมัมมี่ปริศนาที่พบที่หุบเขากษัตริย์ก่อนหน้านี้หลายศัตวรรษ มาตรวจวิเคราะห์อีกครั้งด้วยอุปกรณ์ที่ทันสมัยที่สุดในโลก “เครื่องซีทีแสกน” เพื่อหาคำตอบว่าได้พบพระนางเนเฟอตีติแล้วจริงหรือไม่ ตามที่ได้เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก และมีการโต้เถียงกันอย่างกว้างขวางในบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีจากทั่วโลก ซึ่งการตรวจหาหลักฐานในครั้งนี้จะนำไปสู่การไขปริศนาดำมืดในประวัติศาสตร์ต่อไปอีกด้วยว่า เหตุใดนางจึงได้หายไปในประวัติศาสตร์อย่างไร้ร่องรอย พร้อมๆกับราชวงศ์ที่สาบสูญของนาง

 

 

เครื่องซีทีสแกนเป็นเครื่องมือที่ทันสมัย และดีที่สุดในปัจจุบันสำหรับใช้ตรวจวิเคราะห์มัมมี่ เพราะสามารถให้ข้อมูลสามมิติทั้งภายนอกและภายในของมัมมี่ได้ชัดเจนโดยไม่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างของมัมมี่ และยังสามารถให้ข้อมูลอวัยวะภายใน อายุ สภาพการเจ็บป่วยและโรคภัยไข้เจ็บได้อีกด้วย

ประวัติโดยย่อของเนเฟอตีตินั้น มีผู้สันนิษฐานว่านางเป็นราชธิดาของฟาโรห์อมันโฮเทปที่ 3 ในราชวงศ์ที่ 18 ของอียิปต์โบราณ ซึ่งเกิดจากพระนาง คาลุกหิปา เจ้าหญิงจากซีเรีย ประมาณเมื่อ 1700 ปีก่อนคริสตกาล กล่าวกันว่านางเกิดมาพร้อมด้วยความงามอันเลอเลิศ ซึ่งทำให้พระราชบิดาตั้งชื่อให้นางว่า “เนเฟอตีติ” แปลว่า “สวยราวหยาดฟ้ามาสู่ดิน” ต่อมาเมื่อฟาโรห์อมันโฮเทปที่สามสิ้นพระชนม์ลง เจ้าชายอมันโอเทปซึ่งมีอายุเพียงสิบสี่ปี ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นฟาโรห์สืบต่อจากพระราชบิดา มีพระนามว่า อมันโฮเทปที่สี่ มีพระราชมารดาคือพระราชินีทีดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการ จนกว่าเจ้าชายจะมีพระชนมายุมากพอที่จะรับช่วงราชภารกิจทั้งหมด ซึ่งตามประเพณีของอียิปต์โบราณนั้นฟาโรห์จะต้องอภิเษกกับพระพี่นางหรือพระน้องนางเพื่อปกครองอียิปต์ร่วมกัน โดยลำดับเจ้าหญิงที่จะได้รับเลือกเป็นราชินีนั้นจะเรียงลำดับจากพระพี่นางหรือพระน้องนางที่เกิดจากพระมารดาคนเดียวกันก่อน ซึ่งลำดับแรกก็คือเจ้าหญิงสมันตา ทำให้ฟาโรห์หนุ่มต้องขอผัดผ่อนการอภิเษกสมรสออกไปเรื่อยๆ จนกระทั่งโชคเข้าข้างพระองค์เมื่อเจ้าหญิงสมันตาเสียชีวิตไปก่อนด้วยโรคร้าย  แต่กลุ่มนักบวชลัทธิอามุนซึ่งมีอำนาจมากและสามารถครอบงำราชวงศ์ได้ ยังคงต้องการให้ฟาโรห์อภิเษกกับเจ้าหญิงที่ร่วมพระมารดาเดียวกันองค์อื่นๆที่อยู่ในลำดับต่อมา แต่ฟาโรห์หนุ่มไม่รอให้พวกนักบวชทันมีเวลาคัดค้าน ก็ทรงรีบอภิเษกสมรสกับเนเฟอตีติทันทีโดยได้รับการสนับสนุนจากพระมารดาซึ่งเห็นใจในความรักของคนรักทั้งสอง

 

 

ตามราชประเพณี ฟาโรห์ต้องสมรสกับพระพี่นางหรือพระน้องนางที่ประสูติจากพระมารดาคนเดียวกันก่อน พระองค์จึงผลัดผ่อนการแต่งงานกับเจ้าหญิงสมันตาไปเรื่อยๆ จนกระทั่งโชคช่วยเมื่อเจ้าหญิงสมันตาสิ้นพระชนม์ลงด้วยโรคร้าย ฟาโรห์อมันโฮเทปที่ 4 จึงรีบอภิเษกสมรสกับเนเฟอตีติโดยเร็วเพื่อไม่ให้พวกนักบวชอามุนมีเวลาคัดค้าน

           

 

ความรักของทั้งสองได้กลายมาเป็นตำนานรักอมตะ โดยมีบันทึกไว้ในหลักศิลาจารึกของอียิปต์โบราณ
           

 

ในช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่นักบวชนิกายอามุนมีอำนาจมาก จนสามารถเข้าครอบงำการบริหารงานภายในราชสำนักได้ ซึ่งศาสนาดั้งเดิมของอียิปต์ที่นับถือกันมานับพันปีนั้นเป็นการนับถือเทพเจ้าหลายองค์จำนวนมาก แต่ฟาโรห์อมันโฮเทปที่ 4 ทรงศรัทธาในสุริยเทพหรืออาเทนว่าเป็นเทพเจ้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเพียงพระองค์เดียว และให้ความสำคัญในเรื่องของศิลธรรมจรรยา เมตตาธรรม และคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นวิวัฒนาการแห่งความเชื่อของมนุษย์ในเรื่องศาสนาที่ก้าวหน้าขึ้นมาอีกก้าวหนึ่ง เนเฟอตีติสนับสนุนความเชื่อมั่นของพระสวามีอย่างแข็งขัน นางเป็นแรงผลักดันและเป็นกำลังใจที่สำคัญในการปฏิวัติความเชื่อและประเพณีการปกครองของอียิปต์เสียใหม่ ซึ่งทำให้พวกนักบวชในนิกายอามุน ซึ่งเคยมีอำนาจและเคยชินกับลาภยศที่เคยได้รับพากันโกรธแค้น และยุยงให้ราษฎรหวั่นวิตกต่อความเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้น

 

 มีหลักฐานที่ทำให้นักโบราณคดีเชื่อว่า ฟาโรห์อมันโฮเทปที่ 4 อาจยกฐานะให้เนเฟอตีติมีอำนาจปกครองประเทศร่วมกับพระองค์อย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงแค่เป็นมเหสีและราชินีแต่ยังเป็นผู้ปกครองร่วมด้วย โดยมีภาพแกะสลักที่ค้นพบในอามาน่าหลายภาพที่แสดงรูปของเนเฟอตีติแกะสลักเป็นภาพขนาดใหญ่ ซึ่งปกติภาพขนาดใหญ่ดังกล่าวจะทำให้เฉพาะกับฟาโรห์เท่านั้น ภาพพระนางบูชาเทพเจ้าอาเทนโดยลำพังคนเดียวราวกับว่านางเป็นฟาโรห์ นอกจากนี้ยังมีภาพแกะสลักแสดงให้เห็นเนเฟอตีติทรงรถม้าศึกถืออาวุธในมือนำกองทัพออกทำสงครามกับศัตรูของอียิปต์อีกด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่านางมีตำแหน่งในกองทัพเทียบเท่ากับพระสวามี ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกมาก
 

 

ภาพแกะสลักแสดงให้เห็นเนเฟอตีติทรงรถม้าศึกถืออาวุธสงครามอยู่ในมือ นำกองทัพเข้าต่อสู้กับศัตรูของอียิปต์

 

เมื่อการต่อสู้ระหว่างราชวงศ์กับพวกนักบวชอามุนรุนแรงยิ่งขึ้น ฟาโรห์อมันโฮเทปที่ 4จึงได้ตัดสินใจประกาศห้ามราษฎรบูชาเทพอามุนและเทพอื่นๆ โดยให้บูชาแต่สุรยเทพอาเทนเพียงพระองค์เดียว และยังเปลี่ยนพระนามของตนเองจาก อมันโฮเทพ (แปลว่าเทพอามุนสิงสถิตย์) มาเป็นอัคเคนาเทน (แปลว่ามีสัมพันธภาพอันดีกับเทพอาเทน) ทรงเนรเทศพวกนักบวชอามุนออกไปและย้ายเมืองหลวงจากทีบส์ไปที่อามาน่า และให้ชื่อว่าอัคเคทาเทน เพื่อให้เป็นการเริ่มต้นยุคใหม่ของอียิปต์ตามความประสงค์ของพระองค์

 
เพื่อให้การปฏิวัติศาสนา และระบบการเมืองการปกครองของพระองค์ประสบความสำเร็จ ฟาโรห์อัคเคนาเทนจึงทรงย้ายเมืองหลวงจากทีบส์ไปยังอามาน่า เพื่อให้เป็นการเริ่มต้นใหม่สำหรับสิ่งที่ดีกว่าเดิมทั้งหมดพร้อมกัน

 อย่างไรก็ตามความคิดของพระองค์ล้ำสมัยเกินไป พระองค์พยายามคิดถึงศีลธรรมจรรยาเมตตาธรรม ศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ราษฎรส่วนใหญ่ในยุคนั้นไม่สามารถจะเข้าใจได้ และยังทำให้เกิดศัตรูจำนวนมากด้วย เพราะพวกนักบวชในศาสนาเก่าและพวกอนุรักษ์นิยมซึ่งมีเป็นจำนวนมากพากันคัดค้าน และต่อต้านพระองค์ ซ้ำร้ายอาณาจักรฮิทไท้ซึ่งเป็นอาณาจักรเพื่อนบ้านและชนเผ่าอื่นๆในเอเซีย เมื่อเห็นว่าอียิปต์กำลังเกิดความวุ่นวายภายใน ก็พากันถือโอกาสยกกองทัพเข้ามายึดหัวเมืองต่างๆตามชายแดนไปเป็นของพวกตน ในที่สุดเมืองหลวงใหม่ที่อามาน่าพร้อมทั้งศาสนาและระบบการเมืองการปกครองใหม่ ที่ฟาโรห์อัคเคนาเทนและเนเฟอตีติร่วมกันสร้างขึ้นก็ล่มสลายไปพร้อมกับการหายไปของทั้งสองพระองค์อย่างไร้ร่องรอย

 แม้ว่าอามาน่าจะมีอายุอยู่เพียงไม่ถึงสองทศวรรษ แต่ในช่วงสองทศวรรษดังกล่าว ฟาโรห์อัคเคนาเทนกับเนเฟอตีติได้ทำการปฏิรูปการเมือง และศาสนาในอียิปต์อย่างถอนรากถอนโคน ซึ่งเป็นการโค่นล้มประเพณีของอียิปต์ที่มีมาก่อนหน้านั้นนับพันปี เมืองหลวงใหม่ที่อามาน่ารุ่งเรืองอยู่แค่ในช่วงระยะเวลาสั้นๆแล้วก็ล่มสลายลง แนวคิดและเมืองหลวงของทั้งสองพินาศย่อยยับ เนเฟอตีตีหายสาบสูญไปและหลังจากนั้นไม่นานราชวงศ์ของนางก็เลือนหายไปจากประวัติศาสตร์ เกิดอะไรขึ้นกับนาง เนเฟอตีติและบรรดาราชวงศ์จบชีวิตลงที่ใด?
 
การศึกษาวิจัยในภาพยนตร์เรื่องนี้เริ่มต้นที่มัมมี่สองร่างที่อยู่ในสุสานลี้ลับดำมืด ซึ่งรู้จักกันในนาม KV35 ภายในหุบเขากษัตริย์ ซึ่งขุดพบเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ.1898 โดย วิคเตอร์ ลอเร็ท (Victor Loret) นักอียิปต์วิทยาชาวฝรั่งเศส มัมมี่สองร่างนี้อยู่ที่นั่นมานานหลายศัตวรรษแล้ว โดยไม่มีโลงหรือการห่อศพ นักโบราณคดีบางคนเชื่อว่าพวกนักบวชนำมัมมี่ทั้งสองร่างหลบหนีการทำลายของพวกขุดค้นสมบัติโบราณมาซ่อนไว้ที่นี่ บางคนเชื่อว่ามัมมี่ทั้งสองถูกเคลื่อนย้ายมาจากสถานที่ดั้งเดิมโดยเหล่านักบวชเพื่อปกป้องศพจากการปล้นสุสาน มัมมี่สองร่างนี้เป็นปริศนาที่โต้เถียงกันมานานแล้วว่าคือร่างของเนเฟอตีติหรือไม่ โดยส่วนใหญ่เชื่อกันว่า “สตรีผู้สูงวัยกว่า” อาจเป็นร่างของเนเฟอตีติ แต่เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ค.ศ.2003 โจแอน เฟลซเช่อร์ (Joann Flesher) นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยยอร์คประเทศอังกฤษ ซึ่งได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจาก Discovery Channel ได้ประกาศว่ามัมมี่ที่เรียกกันว่า “สตรีผู้อ่อนวัยกว่า” ที่สุสาน KV35 อาจเป็นร่างของเนเฟอตีติ และการประกาศของเธอได้กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกว่าได้พบร่างของ “เนเฟอตีติ” แล้ว คำประกาศของเฟลทเช่อร์ตรงกับข้อสันนิษฐานก่อนหน้านี้ของมาเรียน ลูแบน (Mariann Luban) นักโบราณคดีอิสระที่เขียนบทความไว้ในอินเตอร์เนทเรื่อง “Do We Have the Mummy of Nefertiti?" เหตผลของลูแบนตรงกับเหตุผลที่เฟลทเช่อร์ใช้ในการบอกว่า “สตรีที่อ่อนวัยกว่า” อาจเป็นร่างของเนเฟอตีติ คือ ลักษณะการทำมัมมี่ที่พบเป็นการทำมัมมี่ในยุคราชวงศ์ที่ 18 ซึ่งเป็นยุคของเนเฟอตีติ, ประมาณการอายุที่อยู่ในระหว่าง 20 กว่าถึง 40 ต้นๆ ซึ่งตรงกับอายุที่คาดกันขณะที่เนเฟอตีติเสียชีวิต, รูเจาะที่หูสองรู และลูกประคำเนเฟอบีดที่มักพบอยู่กับรูปปั้นและภาพวาดของเนเฟอตีติ, และแขนข้างหนึ่งซึ่งพบอยู่ใกล้ๆร่างที่มีลักษณะงอข้อศอกและกำมือไว้ ซึ่งแสดงว่าเป็นมือที่เคยถือคฑาแห่งอำนาจไว้ในมือมาก่อน และเป็นสัญญลักษณ์ของฟาโรห์หรือองค์ราชินีเท่านั้น อย่างไรก็ตามนักอียิปต์วิทยาส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับเฟลทเช่อร์ เช่น เคนท์ วีค (Kent Weeks) and ปีเตอร์ ลาโควาร่า (Peter Locavara)        โดยพวกเขาบอกว่าเหตุผลที่เฟลทเช่อร์นำมาอ้างนั้นไม่มีน้ำหนักพอ ร่างมัมมี่โบราณนั้นไม่สามารถจะยืนยันชี้ชัดได้จากรูปแบบทางกายภาพใดๆหากไม่มีการยืนยันด้วยการตรวจดีเอ็นเอ และเนื่องจากในกรณีของเนเฟอตีตินั้น ยังไม่เคยมีการยืนยันได้เลยว่าได้พบพ่อแม่หรือลูกหลานของนาง ดังนั้นการเปรียบเทียบดีเอ็นเอจึงยังไม่สามารถทำได้ หลักฐานแวดล้อมเช่นเส้นผม รูปแบบของแขนและมือ ไม่สามารถจะนำมาเป็นหลักฐานชี้ชัดได้แต่อย่างใด ส่วนท่อนแขนที่หลุดออกจากร่างมัมมี่กับการตั้งสมมติฐานว่า เกิดจากการทำลายร่างของมัมมี่ในภายหลัง ที่เกิดจากความโกรธแค้นของพวกอนุรักษ์นิยมและพวกศาสนาเก่านั้น ก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานของเฟลทเช่อร์เท่านั้น และไม่มีความน่าเชื่อถือแต่อย่างใด นอกจากนี้ เรื่องของท่อนแขนที่งอและมือที่กุมอยู่ซึ่งแสดงถึงฟาโรห์หรือราชินีเท่านั้น พวกเขาโต้แย้งว่าราชวงศ์ที่ 18 เป็นราชวงศ์ที่ยิ่งใหญ่และเจริญรุ่งเรืองที่สุดราชวงศ์หนึ่งของอียิปต์โบราณ ซึ่งครองอำนาจอยู่นานถึงประมาณ 200 ปี ดังนั้นจึงอาจมีมัมมี่ของราชินีเป็นจำนวนมาก ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเนเฟอตีติคนเดียวเท่านั้น การตามหาเนเฟอตีติจึงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาเป็นศัตวรรษแล้วว่าได้พบเนเฟอตีติแล้วหรือยัง?
 

 

มัมมี่สองร่างที่พบอยู่เคียงกันในสุสาน KV35 มัมมี่ด้านซ้ายคือมัมมี่ที่เรียกกันว่า “สตรีผู้อ่อนวัยกว่า” ส่วนมัมมี่ที่อยู่ด้านขวาคือมัมมี่ที่เรียกกันว่า “สตรีที่สูงวัยกว่า” นักโบราณคดีได้โต้เถียงกันมานานแล้วว่า หนึ่งในมัมมี่ทั้งสองนี้คือพระนางเนเฟอตีติหรือไม่ และถ้าใช่มัมมี่ร่างไหนที่เป็นพระนางเนเฟอตีติ

 

ในการตรวจพิสูจน์ตามภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้นั้น คณะผู้เชี่ยวชาญได้เริ่มต้นจากลักษณะของเนเฟอตีติที่รู้ชัดเจนคือ เพศหญิง อายุราวสามสิบต้นๆถึงปลายสามสิบ อยู่ในราชวงศ์ที่ 18 ลำคอยาว โหนกแก้มสูง ขากรรไกรรูปเหลี่ยม เป็นแม่ของลูกสาว 6 คน ผลจากซีทีแสกน “สตรีผู้อ่อนวัยกว่า” ในเบื้องต้นให้ผลในทางบวกเพราะขนาดของสะโพกบอกว่ามัมมี่นี้เป็นเพศหญิง ซึ่งน่าจะคลอดลูกมาหลายคนแล้ว ฟันกรามซี่ที่ 3 และลักษณะการเจริญและการสึกกร่อนของกระดูก บอกให้สันนิษฐานได้ว่าอายุอยู่ระหว่าง 22 ถึง40 ปี อย่างมากไม่เกิน 45 ปี ซึ่งเป็นลักษณะเบื้องต้นที่ตรงกับเนเฟอตีติได้ดีทีเดียว ในขณะเดียวกันลักษณะการทำมัมมี่ และผ้าลินินที่ใช้ก็ชี้บอกชัดเจนว่าเป็นมัมมี่ของคนในราชวงศ์ที่ 18 แน่นอน
 
 
 
 
 

 

ขนาดของสะโพกบอกว่ามัมมี่นี้เป็นเพศหญิง ซึ่งน่าจะคลอดลูกมาหลายคนแล้ว ฟันกรามซี่ที่ 3 และลักษณะการเจริญและการสึกกร่อนของกระดูกบอกให้สันนิษฐานได้ว่าอายุอยู่ระหว่าง 22 ถึง40 ปี อย่างมากไม่เกิน 45 ปี ซึ่งเป็นลักษณะเบื้องต้นที่ตรงกับเนเฟอตีติได้ดีทีเดียว
หลักฐานสำคัญยิ่งในการพิสูจน์ครั้งนี้ก็คือ แขนที่งอพร้อมกัมมือที่กุมไว้ซึ่งพบอยู่ในห่อใกล้ๆกับมัมมี่ทั้งสองร่าง ซึ่งเฟลทเช่อร์ใช้เป็นหลักฐานสำคัญโดยสันนิษฐานว่าเป็นแขนของ “สตรีที่อ่อนวัยกว่า” เนื่องจากลักษณะของแขนที่พบยืนยันได้แน่นอนว่าเป็นแขนที่เคยไขว้ไว้ที่หน้าอกและถือคฑาแห่งอำนาจไว้ในมือ ซึ่งสำหรับอียิปต์โบราณนั้นถ้าแขนข้างหนึ่งหรือสองข้างของมัมมี่วางไขว้ไว้ที่หน้าอก นั่นคือสัญลักษณ์ของราชินีเท่านั้น เพราะสำหรับเจ้าหญิงแล้วแขนทั้งสองข้างจะวางตรงขนานกับลำตัว
 

 

ในการทำมัมมี่ของอียิปต์โบราณนั้น แขนที่เหยียดตรงหมายถึงเจ้าหญิง แต่ถ้าแขนทั้งสองข้างหรือข้างหนึ่งข้างใดไขว้ไว้ที่หน้าอก นั่นเป็นสัญลักษณ์เฉพาะสำหรับองค์ราชินีเท่านั้น

 

 
ผลการวิเคราะห์ในขั้นต่อมาพบว่าเหตผลที่ใช้ในการสนับสนุนว่า “สตรีที่อ่อนวัยกว่า” เป็นเนเฟอตีตินั้น เป็นการอ้างแขนผิดข้าง โดยการศึกษาด้วยการสร้างภาพสามมิติในระบบดิจิตัลที่ทันสมัยที่สุดพบว่า แขนที่งอนั้นสัดส่วนไม่เข้ากับร่างของมัมมี่เลย แต่แขนอีกข้างหนึ่งที่พบในบริเวณเดียวกันแต่เป็นแขนที่เหยียดตรง เข้ากับร่างของมัมมี่ได้ดีกว่า ซึ่งเมื่อประกอบเข้ากับร่างของมัมมี่แล้ว มีความยาวเกือบเท่ากับแขนซ้ายที่อยู่ติดกับร่างพอดี จึงสรุปได้ว่าแขนที่งอนั้นไม่ใช่แขนของ “สตรีที่อ่อนวัยกว่า” ดังนั้น “สตรีที่อ่อนวัยกว่า” จึงไม่ใช่เนเฟอตีติ

 

แขนที่งอตรงข้อศอกและมือที่กำแน่น กับใบหูที่มีรูเจาะสองรู ซึ่งเป็นหลักฐานที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนใช้อ้างในการสนับสนุนว่า “สตรีที่อ่อนวัยกว่า” คือร่างของเนเฟอตีติ

 

จากผลของซีทีสแกนและการต่อรูปด้วยเทคโนโลยี่ภาพสามมิติที่ทันสมัย พบว่าแขนข้างที่งอนั้นไม่เข้ากับร่างของมัมมี่ “สตรีที่อ่อนกว่าวัย” ในขณะที่แขนข้างตรงที่พบวางอยู่ด้วยกันกลับเข้ากับร่างมัมมี่ได้ดีกว่า โดยแขนข้างตรงดังกล่าวเมื่อประกอบเข้ากับร่างมัมมี่แล้ว ยาวเท่ากับแขนข้างซ้ายที่ติดกับร่างมัมมี่พอดี ดังนั้นแขนข้างที่งอและถูกใช้อ้างเป็นหลักฐานสำคัญว่า “สตรีที่อ่อนวัยกว่า” เป็นร่างของเนเฟอตีตินั้น ไม่ใช่แขนของ “สตรีที่อ่อนวัยกว่า” และสรุปได้ว่า “สตรีที่อ่อนวัยกว่า” ไม่ใช่เนเฟอตีติ

 

เมื่อสรุปได้ว่า “สตรีที่อ่อนวัยกว่า” ไม่ใช่เนเฟอตีติแล้ว การติดตามแกะรอยเนฟอตีติจึงมุ่งไปที่เป้าหมายต่อไปโดยย้อนกลับไปที่หุบเขากษัตริย์อีกครั้งหนึ่ง โดยไปยังสุสานที่เรียกว่า KV55 ซึ่งอยู่ห่างจากสุสาน KV35 ไปเพียงประมาณ 500 ฟุตเท่านั้น ย้อนหลังไปเมื่อปี ค.ศ. 1907 ได้มีการค้นพบโลงหินมีพระศพของพระราชวงศ์อามาน่าอยู่ภายใน แต่พระพักตร์และป้ายชื่อที่ฝาโลงถูกตัดออกไป (สุสานของกษัตริย์ในราชวงศ์อามาน่าหลายพระองค์ถูกรื้อทำลายภายหลังการสิ้นพระชนม์) ผนังห้องมีจารึกรายนามคนในราชวงศ์อามาน่าคือ ฟาโรห์อัคเคนาเทน ราชินีทีพระราชมารดา และพระชายาคีย่า (ชายาคนที่สองของอัคเคนาเทน) ซึ่งทั้งสามชื่อมีความเกี่ยวพันกับฟาโรห์ที่มีชื่อเสียงที่สุดองค์หนึ่งคือ ยุวกษัตริย์ตุตันคามุน หรือที่มักจะเรียกกันว่ากษัตริย์ทัต

 

สุสาน KV 55 ซึ่งพบโลงหินและมัมมี่ในราชวงศ์อามาน่าเมื่อปี 1907 อยู่ห่างจากสุสาน KV 35 ซึ่งพบมัมมี่ปริศนา สองร่างเมื่อปี 1898 ประมาณ 500 ฟุตเท่านั้น มัมมี่ที่พบในสุสาน KV 35 นั้นก็เป็นที่โต้เถียงกันมาร่วมศัตวรรษแล้วเช่นกันว่าเป็นร่างของฟาโรห์อัคเคนาเทนหรือไม่

 

คณะผู้เชี่ยวชาญการพิสูจน์หลักฐานจึงได้ตามรอยต่อไปยังพิพิธภัณฑ์ในกรุงไคโร ซึ่งเป็นสถานที่เก็บมัมมี่ที่พบจากสุสาน KV 35 ก่อนหน้านี้เคยมีการทำเอ็กซเรย์มัมมี่ร่างนี้มาแล้วแต่ผลการเอ็กซเรย์ไม่ได้ให้ข้อมูลอะไรมากนัก คณะผู้เชี่ยวชาญจึงทำซีทีแสกนมัมมี่เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการตัดสินใจว่ามัมมี่ร่างนี้คือใคร ลำแสงของเครื่องซีทีสแกนได้สร้างรูปตัดตลอดร่างมัมมี่ขึ้นมากกว่า 1500 รูปความหนาแต่ละรูปน้อยกว่าหนึ่งมิลลิเมตร เมื่อนำมาประกอบกันเข้าก็เกิดเป็นรูปสามมิติที่เห็นอวัยวะภายในอย่างชัดเจน ซึ่งพบคุณลักษณะที่สำคัญของมัมมี่ร่างนี้คือ

 

ภาพซ้ายมือคณะนักวิจัยได้นำมัมมี่ออกจากพิพิธภัณฑ์กรุงไคโรเพื่อไปทำซีทีสแกนหาหลักฐานเพิ่มเติมในการตัดสินใจว่า มัมมี่ร่างนี้เป็นใคร ภาพขวามือ ดร.ชาวี ฮาวาส กำลังตรวจดูร่างมัมมี่ก่อนนำเข้าเครื่องซีทีสแกน
หนึ่ง     ลักษณะของกราม หน้าผาก และกระดูกเชิงกรานบอกชัดเจนว่ามัมมี่นี้เป็นเพศชาย อายุระหว่าง 25 ปีถึง 40 ปี ซึ่งสอดคล้องกับการสันนิษฐานของนักประวัติศาสตร์ว่าฟาโรห์อัคเคนาเทนสิ้นพระชนม์ในขณะอายุประมาณ 40 ปี และสามารถสรุปได้ว่ามัมมี่ร่างนี้ไม่ใช่เนเฟอตีติ ซึ่งผลการศึกษาในรายละเอียดต่อมาพบว่า
สอง     กะโหลกศรีษะเป็นรูปไข่ที่เรียกว่า โดซิโคเซฟาลิค (dolichocephalic) ซึ่งเป็นลักษณะเด่นทางกรรมพันธุ์ของคนในราชวงศ์อามาน่า ตั้งแต่ฟาโรห์อัคเคนาเทนลงมาถึงพระราชธิดาทุกๆพระองค์ และแสดงให้เห็นชัดเจนในภาพแกะสลักสมัยราชวงศ์อามาน่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกะโหลกศรีษะดังกล่าวเหมือนกับกะโหลกศรีษะของตุตันคามุนมากและที่สำคัญที่สุดคือ มีขนาดแตกต่างกันเพียงไม่ถึงเศษเสี้ยวของเซนติเมตรเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีกระดูกสันหลังโค้งนิดหน่อย มีฟันคุดเหมือนกัน มีเพดานปากโหว่ซึ่งมีขนาดเล็กมากซึ่งดูเหมือนกันมากอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นลักษณะที่สามารถถ่ายทอดจากพ่อไปยังลูกได้ ซึ่งก็อาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นการถ่ายทอดจาก “อัคเคนาเทน” ผู้บิดาไปยัง “ตุตันคามุน” ผู้เป็นบุตร

 

ภาพซ้ายมือแสดงลักษณะของกราม หน้าผาก และกระดูกเชิงกรานบอกชัดเจนว่ามัมมี่นี้เป็นเพศชาย อายุตั้งแต่ 25 ปี ถึง 40 ปี ส่วนภาพขวามือแสดงกะโหลกศรีษะรูปไข่ที่เรียกกันว่า โดซิโคเซฟาลิค

 

มัมมี่ปริศนามีกระดูกสันหลังที่โค้งงอเหมือนตุตันคามุน (ภาพซ้ายมือ) และที่สำคัญอย่างยิ่ง (ลักษณะสำคัญที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม) คือมีเพดานปากโหว่ (ภาพขวามือ) ที่เหมือนกันอีกด้วย

 

ภาพสแกนกะโหลกศรีษะของมัมมี่ตุตันคามุน (ซ้าย) และภาพสแกนกะโหลกศรีษะของมัมมี่ปริศนาจากสุสาน KV 55 ซึ่งเป็นกะโหลกรูปไข่เหมือนกันและยังมีขนาดแตกต่างกันเพียงเศษเสี้ยวของเซนติเมตรเท่านั้น
Scans of Tutankhamun’s mummy (left) and the bones from KV55 seem to show similar elongated shape
เพื่อเป็นการหาหลักฐานเพิ่มเติมมาสนับสนุนสมมติฐานที่ว่า มัมมี่ร่างนี้คือฟาโรห์อัคเคนาเทน คณะผู้เชี่ยวชาญจึงได้ติดตามการศึกษาวิเคราะห์โลงหินที่พบที่ เควี 55 อีกครั้ง ซึ่งแม้ว่าใบหน้าและป้ายชื่อที่ฝาโลงจะถูกตัดออกไป  แต่นักปราชญ์หลายคนเชื่อว่าหลักฐานอื่นๆที่ยังคงอยู่ที่โลงหินนั้นยังเพียงพอที่จะใช้ระบุว่าเป็นโลงพระศพของใคร เซอร์อาลัน การ์ดเน่อร์.  (Sir Alan Gardiner)..... ผู้เชี่ยวชาญอักษรภาพโบราณของอียิปต์ได้ทำการศึกษารายละเอียดต่างๆที่คงเหลืออยู่บนโลงหินนั้น และยืนยันว่าเศษเสี้ยวของแผ่นทองคำที่โลงหิน ลวดลายรอบป้ายชื่อที่ถูกตัดออกไปที่ฝาโลง และลวดลายทองบนโลงหินนั้นบอกชัดเจนว่าเป็นโลงบรรจุพระศพของฟาโรห์อัคเคนาเทน
 

 

 

โลงหินซึ่งมีมัมมี่ปริศนาอยู่ภายในที่ขุดพบในสุสาน KV55 เมื่อปี ค.ศ. 1907 พระพักตร์ (ล่างซ้าย) และป้ายชื่อ (ล่างขวา) ถูกตัดออก และเป็นที่โต้เถียงกันมานานหนึ่งศัตวรรษแล้วว่ามัมมี่ปริศนานี้เป็นร่างของใคร ใช่ฟาโรห์อัคเคนาเทนหรือไม่?
Scans of Tutankhamun’s mummy (left) and the bones from KV55 seem to show similar elongated shape
 จากผลการศึกษาเรื่องโลงหินของเซ่อร์อลัน การ์ดเน่อร์ดังกล่าว เมื่อนำมาประกอบกับหลักฐานอื่นๆก่อนหน้านี้ ทำให้คณะผู้เชี่ยวชาญมีเหตผลพอที่จะสันนิษฐานว่า มัมมี่ปริศนานี้คือร่างของ “ฟาโรห์อัคเคนาเทน” นั่นเอง
 
ปัญหาต่อมาก็คือว่าเหตุใดมัมมี่ของอัคเคนาเทน ซึ่งควรจะอยู่ที่สุสานอามาน่าไกลออกไปถึง 200 ไมล์จึงมาอยู่ที่หุบเขากษัตริย์ได้ การติดตามจึงต้องกลับไปที่มัมมี่สองร่างในสุสาน KV35 อีกครั้งหนึ่งว่าจะให้คำอธิบายอะไรได้เพิ่มเติมหรือไม่

 

ก่อนหน้านี้คณะผู้เชี่ยวชาญทราบแล้วว่า “สตรีผู้อ่อนวัยกว่า” ไม่ใช่เนเฟอตีติ ที่จะต้องศึกษาต่อไปก็คือ แล้วมัมมี่ร่างนี้เป็นใคร จากการวิเคราะห์ผลซีทีสแกนในรายละเอียดเพิ่มเติ่มพบหลักฐานดังนี้
 
หนึ่ง มีรอยแผลลึกในช่องปาก เป็นแผลใหญ่มากสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าทันที ก่อนหน้านี้เชื่อกันว่า เกิดหลังสิ้นพระชนม์จากการบุกรุกและการทำลายด้วยความอาฆาตแค้นของพวกอนุรักษ์นิยมที่เกลียดชังราชวงศ์อามาน่าที่เข้ามาปล้นสุสาน อย่างไรก็ตาม ดร.ชาวี ฮาวาส ไม่เห็นด้วยกับสมมติฐานนี้ เพราะว่าถ้าเกิดจากการแก้แค้นทำไมจึงทำให้เกิดแผลเพียงแค่นี้    ทำไมไม่ทุบร่างให้แตกทำลาย หรือนำไปโยนทิ้งเลยก็ยังได้  
สอง     การตรวจในรายะเอียดลงไปอีก คณะผู้วิจัยพบว่าขากรรไกและฟันของมัมมี่แตกละเอียด แต่ไม่พบเศษฟันและเศษกระดูกบริเวณแผลเลย แต่กลับไปพบเศษฟันและเศษกระดูกลึกลงไปในโพรงจมูกซึ่งห่างจากปากแผลมากโดยมีวัสดุอุดปิดภายนอกไว้ แสดงว่าบาดแผลดังกล่าวเกิดก่อนการเสียชีวิต และคนทำมัมมี่ต้องตกแต่งบาดแผลด้วยวิธีการดังกล่าว
สาม     พบแผลฉีกขาดขนาดใหญ่ที่ซี่โครงซ้าย โดยพบว่ามีก้อนเนื้อหายไปด้วย และมีการนำวัตถุแช่น้ำยามาอุดไว้แทน และยังพบอีกว่าที่ขากรรไกมีลักษณะของเลือดคั่ง  ซึ่งเกิดจากเส้นโลหิตแตกและมีเลือดมาเกาะกันหนา ลักษณะนี้จะเกิดได้เฉพาะตอนที่คนยังมีชิวิตอยู่เท่านั้น แสดงว่านางจะต้องได้รับความทุกข์ทรมานมากจากบาดแผลต่างๆเหล่านี้ก่อนจะเสียชีวิตอีกด้วย จากเหตุผลในสองและสามทำให้คณะผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานว่า นางอาจถูกฆาตกรรมจนเสียชีวิตจากการตีด้วยของหนักมาก ที่ทำให้กระดูกในกะโหลกศรีษะแตกละเอียดได้  หรือไม่ก็ต้องประสบอุบัติเหตุที่รุนแรงมาก
สี่          พบว่ากะโหลกศรีษะด้านหลังไม่สมส่วน โดยกะโหลกด้านหลังข้างซ้ายพัฒนาช้ากว่าด้านขวา ซึ่งเท่าที่ทราบพระราชวงศ์อามาน่านั้นมีเพียงฟาโรห์ตุตันคามุนคนเดียวเท่านั้นที่มีกะโหลกศรีษะในลักษณะเดียวกันนี้
ห้า        พบช่องว่างระหว่างกระดูกสองชิ้นของกะโหลกศรีษะด้านหลัง ซึ่งมีพระราชวงศ์อามาน่าคนเดียวอีกเช่นกันที่มีลักษณะผิดปกติดั่งกล่าว นั่นคือฟาโรห์ตุตันคามุน
 
จากหลักฐานต่างๆก่อนหน้านี้รวมกับหลักฐานที่พบสี่ข้อข้างต้น คณะสำรวจสามารถบอกได้ด้วยหลักฐานที่เพียงพอว่า “สตรีที่อ่อนวัยกว่า” อาจเป็นพระชายาคนที่สองของฟาโรห์อัคเคนาเทน ที่ชื่อว่า “พระนางคีย่า” ซึ่งฟาโรห์อัคเคนาเทนทรงตั้งพระนามให้ว่า “ชายาอันเป็นที่รักยิ่ง” เนเฟอตีตินั้นแม้จะมีลูกสาวถึงหกคนแต่กลับไม่มีลูกชายเลย ดร.ชาวี ฮาวาส ตั้งข้อสันนิษฐานว่า เนเฟอตีติอาจถือเป็นโอกาสดีที่รับลูกชายของคีย่าไว้และสนับสนุนให้เป็นฟาโรห์องค์ต่อไป โดยให้อภิเษกสมรสกับลูกสาวคนหนึ่งของนาง เพื่อเป็นการสืบราชวงศ์ของตนต่อไป และเนื่องจากเด็กชายอาจจะยังเล็กอยู่ในขณะที่สืบทอดตำแหน่งจากพระบิดา จึงต้องมีผู้สำเร็จราชการซึ่งก็คาดหวังว่าจะตัวเนเฟอตีติเอง สำหรับคีย่านั้นไม่มีเบาะแสเกี่ยวกับนางอีกเลย ทราบแต่เพียงว่านางหายสาบสูญไปในปีที่ 12 แห่งการครองราชย์ของอัคเคนาเทน โดยหลายคนสันนิษฐานว่านางเสียชีวิตตั้งแต่ตอนที่ให้กำเนิดพระโอรสแล้ว
 

 

ภาพด้านซ้ายแสดงแผลในโพรงปากขนาดใหญ่ที่กรามแตกละเอียด ส่วนภาพขวาแสดงส่วนของฟันและกระดูที่แตกบางส่วนอยู่ลึกลงไปในโพรงจมูก โดยมีวัสดุชุบน้ำยาอุดปิดไว้ภายนอก
Scans of Tutankhamun’s mummy (left) and the bones from seem to show similar elongated shape

 

ภาพซ้ายเป็นแผลขนาดใหญ่ที่ชายโครงซึ่งมีก้อนเนื้อขนาดใหญ่หายไปและมีวัสดุชุบน้ำยาเข้ามาอุดแทนที่อยู่ สวนภาพขวาแสดงให้เห็นอาการเลือดคั่งทีเกิดจากเส้นเลือดแตกที่กราม ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น
Scans of Tutankhamun’s mummy (left) and the bones from seem to show similar elongated shape

 

ภาพด้านซ้ายแสดงกะโหลกศรีษะที่มีการพัฒนาด้านขวาน้อยกว่าด้านซ้าย ส่วนภาพด้านขวาแสดงให้เห็นช่องว่างระหว่างกระดูกสองชิ้นของกะโหลกศรีษะด้านหลัง ซึ่งมีพระราชวงศ์อามาน่าคนเดียวที่มีกะโหลกศรีษะผิดปกติเช่นนี้ นั่นคือฟาโรห์ตุตันคามุน
เมื่อมีหลักฐานแล้วว่า “สตรี่ที่อ่อนวัยกว่า” ไม่ใช่เนเฟอตีติ” แต่น่าจะเป็น “พระชายาคีย่า” มากกว่า ความสนใจจึงกลับมาที่ “สตรีผู้สูงวัยกว่า” อีกครั้งหนึ่ง ผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดีบางคนยังคงเชื่อว่า “สตรีผู้สูงวัยกว่า” คือเนเฟอตีติ อย่างเช่นดร.ซูซาน เจมส์ ซึ่งได้เข้าไปตรวจสอบมัมมี่ทั้งสองในเควี 35 ก็มีความเห็นว่าร่างนี้คือเนเฟอตีติ ด้วยลักษณะต่างๆดังนี้

 

ดร.ซูซาน เจมส์ผู้เชี่ยวชาญซึ่งมีความเห็นว่า “สตรีผู้สูงวัยกว่า” มีโครงสร้างใบหน้าเหมือนกับรูปปั้นของเนเฟอตีติมาก และเชื่อว่ามัมมี่ร่างนี้อาจเป็นเนเฟอตีติก็ได้
 หนึ่ง ใบหน้าที่แลดูงดงามอ่อนโยน ทำให้สามารถจินตนาการไปได้ว่านางจะสวยงามขนาดไหนในขณะที่ยังมีชิวิตอยู่
 
สอง     แขนซ้ายที่งอไขว้อยู่ที่หน้าอก และนิ้วหัวแม่มือที่งอขึ้นแสดงว่าเคยถือคทาบงกชอยู่ในมือ
 
สาม     เส้นผมที่อ่อนสลวยงามมาก โหนกแก้มสูง ลำคอยาวระหง และความประณีตงดงามของการทำมัมมี่ก็ดูเหนือกว่าของ “สตรีที่อ่อนวัยกว่า” เป็นอันมาก
 
อย่างไรก็ตามแม้ภาพรวมดังกล่าวจะสอดคล้องกับเนเฟอตีติมาก แต่ก็มีปัญหาข้อโต้แย้งที่มีน้ำหนักพอๆกัน  เนื่องจากในปี ค.ศ.1978 ได้มีการนำปอยผมที่พบในโลงหินเล็กๆที่พบในสุสานKV 55 ซึ่งสลักพระนาม “ราชินีที” ไว้มาตรวจด้วยกล้องอีเล็คตรอน แล้วนำมาเปรียบเทียบกับเส้นผมของ “สตรีที่สูงวัยกว่า” พบว่าเหมือนกัน ดังนั้นมัมมี่ปริศนานี้จึงไม่น่าจะเป็นเนเฟอตีติ แต่เป็นราชินีทีพระมารดาของฟาโรห์อัคเคนาเทน อย่างไรก็ตามนักโบราณคดีได้ถกเถียงกันมาตลอดถึงความน่าเชื่อถือและความถูกต้องของการตรวจสอบด้วยกล้องอิเล็กตรอนในครั้งนั้น
 

 

รูปขวาสุดในภาพซ้ายมือเป็นโลงหินเล็กๆที่สลักชื่อราชินีไทอี ภายในมีปอยผมอยู่ด้วย ซึ่งขยายให้เห็นปอยผมในรูปขวามือ
คณะผู้เชี่ยวชาญการตรวจสอบหลักฐานจึงได้ทำซีทีสแกนมัมมี่ “สตรีที่สูงวัยกว่า” เพื่อเป็นการหาหลักฐานเพิ่มเติมอีกว่ามัมมี่ร่างนี้ใช่เนเฟอตีติหรือไม่ ผลจากการทำซีทีแสกนมีการตรวจพบที่สำคัญยิ่งคือ พบร่องรอยความเสื่อมของข้อเข่าและกระดูกไขสันหลัง ซึ่งบ่งชี้ว่ามัมมี่ร่างนี้ในขณะเสียชีวิตมีอายุอยู่ในระหว่าง 40 – 60 ปี ซึ่งแสดงว่าไม่ใช่เนเฟอตีติ แต่ช่วงอายุไปตรงกับราชินีทีพระมารดาของฟาโรห์อัคเคนาเทน ซึ่งนักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า ในขณะเสียชีวิตนั้นพระนางมีอายุประมาณ 50 ปี
 
ราชินีทีเป็นราชินีที่ทรงอำนาจมากในสมัยนั้น ดร.ชาวี ฮาวาส สันนิษฐานว่าราชินีทีก็เหมือนกับแม่ผัวทั่วไป เมื่อเข้ามาในครอบครัวก็มักจะสร้างความร้าวฉานขึ้นกับลูกสะใภ้เพราะฟาโรห์ก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน ดร.ฮาวาสเชื่อว่าฟาโรห์อัคเคนาเทนไม่ได้รับรู้เลยว่าสถานการณ์ภายนอกกำแพงพระราชวังของพระองค์เป็นเช่นไร ประชาชนรู้สึกอย่างไร และราชินีทีเป็นผู้ที่มาบอกให้พระองค์ทราบว่า การปฏิวัติศาสนาและระบบการเมืองใหม่อย่างถอนรากถอนโคนของพระองค์นั้นล้มเหลว และอามาน่ากำลังจะล่มสลาย ซึ่งปรากฏว่าเมื่อราชินีทีเข้ามาที่เมืองหลวงอามาน่าในปีที่ 14 ของการครองราชย์ของอัคเคนาเทน ในปีที่ 14 นั้นเองเป็นปีที่เนเฟอตีติหายสาบสูญไป
 

 

ผลจากซีทีสแกนแสดงให้เห็นถึงความเสื่อมที่ข้อเข่าและกระดูกสันหลังของมัมมี่ ซึ่งชี้บอกว่ามัมมีนี้ขณะเสียชีวิตอายุอยู่ระหว่าง 40 – 60 ปี ซึ่งแสดงว่าไม่ใช่เนเฟอตีติ แต่ช่วงอายุไปตรงกับราชินีทีพระมารดาของฟาโรห์อัคเคนาเทน

 

และหลังจากที่เนเฟอตีติหายสาบสูญไปไม่นาน ความไม่พอใจของราษฎรก็มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆพร้อมกับการรุกรานจากประเทศเพื่อนบ้านรอบด้าน การปฏิวัติทางสังคม ศาสนา และการเมืองการปกครองที่ยิ่งใหญ่ของทั้งสองคนก็ล่มสลายลง ฟาโรห์อัคเคนาเทนและเนเฟอตีติถูกลบชื่อออกจากประวัติศาสตร์ เมืองหลวงอามาน่าแตกสลาย และในท่ามกลางการเปลี่ยนถ่ายอำนาจที่มืดมนสับสนและเป็นปริศนายิ่งนี้ ตุตันคามุนที่สันนิษฐานกันว่าเป็นโอรสของอัคเคนาเทนที่เกิดจากพระนางคีย่ารอดชีวิตมาได้ และ เป็นผู้สืบทอดราชบัลลังก์ต่อจากอัคเคนาเทนและเนเฟอตีติ
 
และเนื่องจากตุตันคามุนมีอายุเพียง 8 ปีเท่านั้นเองในขณะขึ้นครองราชบัลลังก์และได้กลายเป็นฟาโรห์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ที่ 18 นั้น จึงเชื่อกันว่าพระองค์ตกอยู่ภายใต้การครอบงำและควบคุมของเหล่าขุนนางและบรรดานักบวชในศาสนาเก่า ทำให้พระองค์เป็นทั้งผู้สืบทอดราชบัลลังก์จากพระบิดา และก็เป็นผู้ทำลายล้างการปฏิวิติของพระบิดาตนเองด้วย พระองค์นำอียิปต์กลับไปสู่ศาสนาดั้งเดิมที่นับถือเทพเจ้าหลายองค์ กลับไปใช้ระบอบการเมืองการปกครองแบบเดิม ย้ายเมืองหลวงกลับไปที่เมืองทีบส์ที่ซึ่งพระบิดาของพระองค์ได้เคยทอดทิ้งไป แม้แต่ชื่อของพระองค์ที่พระบิดาตั้งให้ว่า ตุตันคาเทน (บริวารของเทพอาเทนซึ่งเป็นสุริยเทพของพระบิดา) ก็ยังทรงเปลี่ยนเป็น ตุตันคามุน ตามชื่อของเทพเจ้าดั้งเดิม อามุน ราวกับว่าไม่เคยมีราชวงศ์อามาน่ามาก่อนเลย และในที่สุดแม้แต่ที่ฝังพระศพเพื่อความไปสู่ชีวิตนิรันดร พระองค์ก็ยังทรงเลือกหุบเขากษัตริย์ที่ซึ่งฟาโรห์ก่อนหน้านี้หลายพระองค์ได้ฝังอยู่ซึ่งอยู่ไกลจากอามาน่าถึง 200 ไมล์
 

 

ในท่ามกลางการเปลี่ยนถ่ายอำนาจที่มืดมนสับสนและเป็นปริศนายิ่งนั้น ตุตันคามุน ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นโอรสของอัคเคนาเทนซึ่งเกิดจากพระนางคีย่ารอดชีวิตมาได้ และได้เป็นผู้สืบทอดราชบัลลังก์ต่อจากอัคเคนาเทนและเนเฟอตีติด้วยอายุเพียง 8 ปีเท่านั้น ซึ่งต่อมาก็ได้กลายเป็นฟาโรห์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ที่ 18
ส่วนสาเหตุที่ว่าทำไมมัมมี่ในราชวงศ์อามาน่าทั้ง 3 พระองค์จึงมาอยู่ที่หุบเขากษัตริย์ ดร.ชาวี ฮาเวสตั้งข้อสันนิษฐานว่า เป็นไปได้ที่ตุตันคามุนเป็นคนสั่งให้นำศพพระญาติใกล้ชิดทุกพระองค์มาอยู่ใกล้กับพระองค์สำหรับชีวิตนิรันดร ข้อสันนิษฐานนี้ได้รับการสนับสนุนจากการขุดค้นสุสานว่างเปล่าที่อามาน่า ซึ่งไม่เคยพบมัมมี่ที่นั่นเลย  จากการค้นหลายแห่งในสุสานที่อามาน่า พบเศษกระเบื้องที่สันนิษฐานว่าเป็นโลงหินบรรจุพระศพของบรรดาราชวงศ์อามาน่าตกอยู่กระจัดกระจาย  

 

ดร.ชาวี ฮาวาส สันนิษฐานว่า ฟาโรห์ตุตันคามุนเป็นผู้สั่งให้นำพระศพญาติใกล้ชิดพระองค์มาไว้เคียงข้างพระองค์ คือสุสาน KV55บรรจุพระศพฟาโรห์อัคเคนาเทน อยู่ห่างจากสุสานของพระองค์ไม่ถึง 100 ฟุต สุสาน KV35บรรจุพระศพราชินีทีพระอัยยิกาและพระชายาคีย่าพระมารดาอยู่ห่างจากสุสาน KV55ประมาณ 500 ฟุต
ตอนจบของภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้สรุปได้ว่า การเริ่มต้นแกะรอยตามหาเนเฟอตีติ จบลงด้วยการพบบุคคลอื่นๆที่คาดว่าเป็นพระญาติใกล้ชิดในราชวงศ์ของนาง ซึ่งการค้นพบครั้งนี้แม้จะไม่สามารถบอกยืนยันได้แน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็สามารถกล่าวด้วยพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักมากพอที่คณะผู้เชี่ยวกล้าบอกได้ว่า พวกเขาอาจได้พบร่างของฟาโรห์อัคเคนาเทน พระชายาองค์ที่สองของพระองค์คือพระชายาคีย่า และราชินีทีพระมารดาของพระองค์แล้ว ทั้งหมดนี้คือพระบิดา พระมารดา และพระอัยยิกาของฟาโรห์ตุตันคามุนผู้โด่งดัง จึงนับได้ว่าเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งในการติดตามค้นหาเนเฟอตีติ เพราะทุกชื่อที่กล่าวถึงนั้นรวมถึงฟาโรห์ตุตันคามุน ล้วนเป็นพระญาติสนิทของนางทุกคน และแน่นอนคำถามหลายข้อก่อนหน้านี้ได้รับคำตอบจากการศึกษาวิจัยครั้งนี้ แต่คำตอบที่ได้ก็ทำให้เกิดคำถามใหม่ๆตามขึ้นมา ส่วนเนเฟอตีตินั้นยังคงหาไม่พบ ซึ่งไม่แน่ว่านางอาจจะถูกฝังอยู่ในสุสานบางแห่งที่หุบเขากษัตริย์หรือที่สุสานเมืองอามาน่าที่ยังขุดค้นไปไม่ถึง และรอการค้นพบอยู่ก็ได้
 

 

เนเฟอตีติ ตำนานแห่งความงาม ราชินีผู้เลอโฉม และผู้หญิงที่สวยที่สุดในประวัติศาสตร์ จึงยังคงอยู่ไกลเกินที่จะเอื้อมถึงอีกต่อไป เกิดอะไรขึ้นกับนางและราชวงศ์ที่สาบสูญของนางกันแน่?
 
ข้อสังเกต
 
  1.      เนื่องจากบันทึกข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเนเฟอตีติมีน้อยมาก เนื่องจากนางและพระสวามีถูกลบชื่อออกจากประวัติศาสตร์ โดยผู้มีอำนาจและพวกนักบวชในศาสนาเก่า (ซึ่งมองว่านางและพระสวามีเป็นคนนอกรีต) ที่กลับเข้ามามีอำนาจภายหลังจากที่การปฏิวัติศาสนา และระบบการเมืองการปกครอง รวมถึงเมืองหลวงใหม่ที่อามาน่า ของทั้งสองล่มสลายลง ดังนั้นส่วนใหญ่เรื่องราวของนาง จึงมักได้มาจากการสันนิษฐานจากพยานหลักฐาน ที่ผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนนำมาใช้อ้าง ดังเช่นที่กล่าวถึงในภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ และเรื่องราวที่ต่างคนต่างสันนิษฐานนั้น จึงมักไม่ตรงกันจนถึงขนาดตรงกันข้ามกันเลยก็ยังมี
     
  2.      ความจริงฟาโรห์ตุตันคามุนนั้นไม่ได้มีผลงานยิ่งใหญ่อะไร พระองค์ไม่ได้ขยายดินแดนออกไปมากมายหรือมีชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ในสงครามใดๆ แต่พระองค์ก็เป็นฟาโรห์ที่มีชื่อเสียงที่สุด และเป็นที่รู้จักของคนในโลกมากที่สุดในปัจจุบัน คำถามคือทำไม? เหตุผลน่าจะมาจากการค้นพบสุสานฝังพระศพและขุมทรัพย์ของพระองค์ในปี 1922 เป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เคยมีมา เนื่องจากก่อนหน้านี้นั้นเชื่อกันว่า สุสานโบราณทั้งหมดได้ถูกปล้นทำลายไปหมดแล้ว แต่สุสานของพระองค์ที่ขุดพบ เป็นสุสานที่สมบูรณ์ที่สุดที่สามารถหลุดรอดจากการปล้นทำลายมาได้ สุสานนี้ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงสภาพการใช้ชีวิตที่หรูหราสุขสบายอย่างที่คนทั่วไปคิดฝันไม่ถึงในราชสำนักของฟาโรห์ และยังแสดงให้เห็นถึงชีวิตของตุตันคามุนและการใช้ชีวิตของพระองค์อย่างชัดเจนอีกด้วย
     
  3.      ในขณะขึ้นครองราชย์นั้นตุตันคามุนอายุประมาณ 8 ปีเท่านั้นเอง และเป็นช่วงการเปลี่ยนถ่ายอำนาจที่สับสน มืดมนและเป็นปริศนาอย่างยิ่งอีกด้วย พระญาติสนิทของพระองค์ทุกคนหายสาบสูญไปหมด ไม่ว่าจะเป็นฟาโรห์อัคเคนาเทน พระบิดา ราชินีเนเฟอตีติ พระมารดาคีย่า หรือแม้แต่ราชินีทีพระอัยยิกา โดยเมืองหลวงและระบบการปกครอง ที่พระบิดาของพระองค์ทรงสร้างขึ้นมาใหม่ไม่ถึงยี่สิบปีนั้นก็ล่มสลายลงอย่างยับเยินอีกด้วย บรรดาพวกหัวอนุรักษ์นิยมและนักบวชในศาสนาเก่าเป็นฝ่ายชนะและช่วงชิงอำนาจปกครองกลับคืนไปได้ ในสภาพที่บ้านเมืองก็กำลังถูกรุกรานจากประเทศอื่นๆรอบด้าน จึงสันนิษฐานกันว่า อำนาจที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ อาย (Ay) ขุนนางผู้ใหญ่และที่ปรึกษาของราชสำนักและ เฮิมฮับ (Hermhub) ผู้บัญชาการกองทัพ เพราะทุกสิ่งที่พระองค์กระทำล้วนเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นการล้มล้างสิ่งที่พระบิดาของตนเองทำมาเองทั้งสิ้น ถ้าพระองค์เป็นตัวของตัวเองแล้วโอกาสที่พระองค์จะทำเรื่องแบบนี้มีน้อยมาก
     
  4.      ตุตันคามุนสิ้นพระชนม์ในปีที่ 10 หลังการครองราชย์ขณะอายุประมาณ 18 ปีเท่านั้นเอง และพระองค์เป็นฟาโรห์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ที่ 18 (การสิ้นพระชนม์ของตุตันคามุนยังเป็นที่สงสัยอยู่จนทุกวันนี้ ว่าเกิดจากการถูกปลงพระชนม์หรืออุบัติเหตุที่รุนแรงเช่นการตกจากรถศึก หรือได้รับบาดแผลจากการทำสงคราม!) เพราะหลังจากนั้นอาย ก็ประกาศตั้งตัวเองเป็นฟาโรห์และอภิเษกกับอนัคสินามุน (ลูกสาวของเนเฟอตีติ) ซึ่งเป็นราชินีของตุตันคามุนมาก่อน เพื่อให้สามารถครอบครองอำนาจได้ถูกต้องตามราชประเพณี ซึ่งอายครองราชย์ได้เพียง 4 ปีก็สิ้นพระชนม์ เฮิมฮับ ผู้บัญชาการกองทัพก็เข้าครองอำนาจเป็นฟาโรห์สืบต่อจากอาย และหลังจากนั้นเฮิมฮับก็สั่งให้ทำลายภาพสลัก และบันทึกต่างๆที่เป็นหลักฐานการปกครองของ อัคเคนาเทน เนเฟอตีติ ตุตันคามุน และอาย ทิ้งและยังมีการใส่ชื่อของเขาลงไปแทนในอนุสาวรีย์หลายแห่งแทนชื่อเหล่านั้นอีกด้วย!
     
  5.      เนเฟอตีติหายสาบสูญไปในปีที่ 14 ของการครองราชย์ของอัคเคนาเทน และไม่มีร่องรอยของนางให้สืบค้นได้ในประวัติศาสตร์อีกเลย ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายก็เลยพากันตั้งข้อสันนิษฐานกันไปต่างๆนาๆว่าอะไรเกิดขึ้นกับพระนางเช่น
  • ผู้เชี่ยวชาญบางคนสันนิษฐานว่า    ราชินีทีเข้ามาบอกให้อัคเคนาเทน ทราบเรื่องราวภายนอกกำแพงวัง ว่าการปฏิวัติของพระองค์ล้มเหลวและอามาน่ากำลังจะพังทลาย ในขณะที่เนเฟอตีติยังคงหนักแน่นอยู่กับแนวคิดและอุดมการณ์ของพระสวามีต่อไป แต่ฟาโรห์อัคเคนาเทนเองกลับยอมถอดใจและละทิ้งแนวคิดและอุดมการณ์ของตนเอง ดังนั้นบางคนจึงสันนิษฐานว่านางถอนตัวออกไปเองจากอามาน่า และใช้ชีวิตอย่างสงบและโศกเศร้าในบั้นปลายของชีวิต ส่วนบางคนก็ว่านางเสียชีวิตด้วยโรคระบาดในปีนั้น แต่ไม่ว่านางจะหายสาบสูญไปด้วยสาเหตุใดและเพราะอะไรก็ตาม นางก็ได้หายไปจากประวัติศาสตร์อย่างไร้ร่องรอยในปีที่ 14 ของรัชกาลฟาโรห์อัคเคนาเทนแน่นอน
  • บางคนก็สันนิษฐานว่านางคือฟาโรห์สเมนกาเร ฟาโรห์ปริศนาที่เข้ามาสืบทอดอำนาจช่วงสั้นๆ หลังจากที่อัคเคนาเทนเสียชีวิตลงก่อนที่ตุตันคามุนที่เชื่อกันว่าเป็นโอรสของอัคเคนาเทน จะเข้ามาสืบต่อราชบัลลังก์จากพระบิดา ในขณะที่หลายคนบอกว่าไม่ใช่ และว่าสเมนกาเรน่าจะเป็นน้องชายของอัคเคนาเทนมากกว่า
     
  • บางคนก็ว่านางคือจอมบงการที่อยู่หลังฉากทั้งหมด นางเป็นคนที่สนับสนุนให้ตุตันคามุนขึ้นมาเป็นฟาโรห์ต่อจากอัคเคนาเทน และให้อภิเษกกับบุตรสาวของนาง คืออนัคซินามุน เพื่อเป็นการสืบต่อการครองอำนาจในราชวงศ์ของนางไว้ และว่านางนั่นแหละที่เป็นคนบงการให้ตุตันคามุนหันกลับไปหาศาสนาเดิมและระบบการปกครองแบบเก่า เพื่อเป็นการประนีประนอมกับพวกขุนนางหัวอนุรักษ์นิยม และพวกนักบวชในศาสนาเก่าเพื่อรักษาบัลลังก์ของราชวงศ์อามาน่าไว้ และว่านางเสียชีวิตในปีที่สองหรือสามของการครองราชย์ของตุตันคามุน หลังการเสียชีวิตของนางตุตันคามุนจึงได้ย้ายเมืองหลวงกลับไปเมืองทีบส์ดังเดิม
 
สรุป
 
เนเฟอตีติและอัคเคนาเทนถูกลบชื่อออกจากประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ประมาณ 3,000 กว่าปีมาแล้ว โดยพวกอนุรักษ์นิยมและนักบวชในศาสนาเก่าที่เกลียดชังคนทั้งสองในฐานที่เป็นกษัตริย์นอกรีตสำหรับพวกเขา ชื่อของคนทั้งสองถูกสกัดออกจากรูปปั้น และอนุสาวรีย์ต่างๆ ใบหน้าของทั้งสองถูกลบออกจากภาพต่างๆที่มีอยู่ เมืองหลวงของทั้งสองถูกทลายราบลงกับพื้นทราย อิฐหินถูกขโมยและนำออกไป แต่ในที่สุดความรอบรู้ในวิชาอักษรภาพโบราณ และความก้าวหน้าในวิชาโบราณคดีในยุคต่อมาจนถึงปัจจุบัน ก็สามารถแกะรอยพวกเขาทั้งสองให้กลับมาประจักษ์แก่สายตาโลกได้อย่างช้าๆ ทำให้ชาวโลกได้ฟังเสียงกระซิบแผ่วเบาจากกษัตริย์พระองค์หนึ่ง (ซึ่งอาจเป็นนักปราชญ์ที่สูงส่งหรือทรราชที่โหดร้าย?) และได้พบราชินีพระองค์หนึ่งซึ่งงดงามจนไม่อาจจะบรรยายให้เห็นความงามของนางได้เพียงพอด้วยคำพูดได้ สิ่วและเครื่องสกัดหินของพวกที่มุ่งร้ายเหล่านั้น ไม่สามารถจะทำลายทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับทั้งสองคนลงได้ทั้งหมด หลักฐานต่างๆยังคงมีหลงเหลืออยู่บ้าง เช่นในพื้นที่เล็กๆบางแห่งในเมืองหลวงเก่า (อัคเคทาเทน ซึ่งปัจจุบันเป็นเมืองอามาน่า) และในสถานที่ห่างไกลจากเมืองหลวง จดหมายในรูปของตัวอักษรปั้นด้วยดินเหนียว ที่ใช้ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านรอบด้าน และบันทึกทางประวัติศาสตร์ของประเทศเหล่านั้นก็ยังคงมีหลงเหลืออยู่ และสามารถรอดพ้นจากพวกที่จ้องทำลายมาได้ ทำให้นักโบราณคดีสามารถเริ่มต้นศึกษาเรื่องราวและข่าวสารต่างๆได้มากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดก็สามารถเติมพื้นที่ว่างเปล่าบนอนุสาวรีย์ รูปปั้น และภาพสลักที่ฝาผนังหลายๆแห่งที่เมืองทีบส์และคานัคที่ถูกลบออกไปเมื่อสามพันกว่าปีมาแล้วได้
 
ประมาณปี ค.ศ.1900 จึงเริ่มปรากฏภาพของฟาโรห์พระองค์หนึ่งชัดเจน พระองค์เป็นบุคคลที่องอาจกล้าหาญ พอที่จะทำการโค่นล้มระบบที่คงอยู่และฝังรากลึกในอียิปต์มาก่อนหน้านั้นนานนับพันปี พระองค์ปฏิเสธพวกนักบวชอามุนกับศาสนาเก่าของพวกเขาที่เป็นเพียงการเซ่นไหว้บูชาเหล่าเทพเจ้าหลายๆองค์เพื่อขอพรและความคุ้มครอง โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับคุณค่าของศีลธรรมจรรยา เมตตาธรรมและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ พระองค์ประกาศศาสนาใหม่ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในโลกที่เน้นคุณค่าของศีลธรรมจรรยา คุณค่าของความเป็นมนุษย์ และการนับถือในพระเจ้าองค์เดียว พระองค์สร้างเมืองหลวงที่สวยงามขึ้นใหม่ห่างจากทีบส์เมืองหลวงเดิม 200 ไมล์ไปทางเหนือ ความคิดของพระองค์ล้ำหน้าเกินไปกว่าที่ผู้คนในสมัยนั้นจะเข้าใจได้ แรงต้านต่อการปฏิวัติของพระองค์รุนแรงและเฉียบขาดอย่างยิ่ง ภายในเวลาไม่ถึงยี่สิบปี ศาสนาใหม่ ระบบการเมืองการปกครองใหม่ที่ทรงสร้างขึ้น และเมืองหลวงของพระองค์ล่มสลายลงอย่างย่อยยับ แม้แต่ชื่อของพระองค์และองค์ราชินีของพระองค์ก็ยังถูกลบทิ้งและทำลายให้หายไปจากประวัติศาสตร์และความทรงจำของคนในสมัยนั้น
 
แต่ความประสงค์ร้ายดังกล่าว ไม่สามารถปิดบังคุณค่าของฟาโรห์ที่ถือได้ว่ายิ่งใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งในอดีตได้ ในปัจจุบันอัคเคนาเทนได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลที่มีบุคลิกภาพที่น่าสนใจยิ่ง ความคิดของพระองค์ล้ำหน้าก้าวไกลเกินกว่ายุคสมัยของพระองค์เป็นอันมาก ศาสนาใหญ่ๆในปัจจุบันล้วนเป็นศาสนาที่ยึดถือศีลธรรม จรรยา เมตตาธรรม และคุณค่าของความเป็นมนุษย์เป็นเรื่องสำคัญทั้งสิ้น และส่วนใหญ่นับถือในพระเจ้าองค์เดียวเช่นกัน มีเพียงศาสนาพุทธที่ไม่พูดถึงพระเจ้า แต่ก็ยึดถือศีลธรรมจรรยา เมตตาธรรม และคุณค่าของความเป็นมนุษย์เป็นเรื่องสำคัญยิ่งเช่นกัน ส่วนศาสนาฮินดูแม้จะนับถือพระเจ้าหลายองค์ แต่คำสอนก็เน้นที่การสอนให้คนเป็นคนดีเช่นกัน
 
แล้วเนเฟอตีติเล่านางเป็นเช่นไร?   นางสวยงามยิ่งตามที่บันทึกโบราณกล่าวพรรณนาถึงเช่นนั้นจริงหรือ? และในทางด้านอุดมการณ์ความคิดของนาง นางเห็นด้วยกับพระสวามีและมีส่วนสนับสนุนอุดมการณ์ความเชื่อของพระสวามีด้วยหรือไม่อย่างไร?
คำตอบคำถามข้อแรกตอบได้ชัดเจนจากรูปปั้นของนาง ที่ขุดพบในพระราชวังโบราณที่เมืองหลวงเก่าอามาน่า โดยศาสตราจารย์ ลุดวิค บอร์ชาร์ด ชาวเยอรมัน ซึ่งต่อมาได้ถูกลักลอบนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน รูปปั้นดังกล่าวแสดงให้เห็นความงามที่โดดเด่นอยู่เหนือกาลเวลาของเนเฟอตีติได้อย่างชัดเจน ใบหน้าของนางบนรูปปั้นนั้นได้กลายเป็นรูปต้นแบบสำหรับทำรูปจำลอง ที่นิยมทำกันมากที่สุดในโลก และมีผู้คนในโลกชมชอบมากที่สุดอีกด้วย ในขณะที่นักประวัติศาสตร์ก็ไม่เคยลังเลเลยที่จะบอกว่า เนเฟอตีติเป็นผู้หญิงที่สวยที่สุดในประวัติศาสตร์
 
ส่วนคำตอบคำถามข้อที่สองนั้น เนื้อหาในบทวิจารณ์ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ในวรรคก่อนๆได้ตอบอย่างชัดเจนไปแล้ว พฤติกรรมของนางเท่าที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ล้วนชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า นางเป็นกำลังใจและแรงผลักดันที่สำคัญยิ่งให้กับอัคเคนาเทนในการปฏิวัติศาสนาและระบบการเมืองการปกครองใหม่ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบศาสนาและการเมืองการปกครองของอียิปต์ ที่ฝังรากลึกมานานนับพันปีอย่างถอนรากถอนโคน ภาพสลักบนฝาผนังที่แสดงให้เห็นนางร่วมการทำพิธีบูชาสุริยเทพอา      เทนกับพระสวามี รวมทั้งภาพที่แสดงตัวนางเองโดยลำพังทำพิธีบูชาสุริยเทพนั้น เป็นเครื่องชี้บอกที่ชัดเจนว่านางเห็นด้วย และสนับสนุนอุดมการณ์ของพระสวามีอย่างเต็มที่ และภาพที่นางนำทัพอียิปต์ออกรบกับศัตรูก็แสดงถึงความพอใจ และความไว้วางใจที่อัคเคนาเทนมีให้กับนาง จนถึงระดับที่มอบอำนาจในการปกครองประเทศให้นางมีอำนาจร่วมกับตน นางหายไปในปีที่ 14 แห่งการครองราชย์ของอัคเคนาเทน ก่อนการล่มสลายของการปฏิวัติและเมืองหลวงใหม่ของทั้งสองคน จนถึงปัจจุบันมีเพียงข้อสันนิษฐานต่างๆนาๆทั้งดีและร้ายของผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นว่าเกิดอะไรขึ้นกับนาง แต่ที่แน่ๆไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับนางก็ตาม นางได้ยืนหยัดในอุดมการณ์และการปฏิวัติของพระสวามีจนถึงวาระสุดท้ายแห่งการหายสาบสูญไปของนางจากหน้าประวัติศาสตร์
 
แม้ว่าจะยังหาพระศพของนางไม่พบ ซึ่งไม่อาจทราบได้ว่าจะหาพบเมื่อใดหรือมีวันที่จะหาพบได้หรือไม่ก็ตาม และแม้ว่าดูเหมือนนางจะยิ่งอยู่ห่างไกลจากการเอื้อมถึงออกไปทุกๆขณะ แต่เนเฟอตีติก็จะเป็นสตรีผู้เลอโฉม เมหสีที่มีชื่อเสียงที่สุดของอียิปต์ และราชินีผู้ยิ่งใหญ่ ที่เป็นอมตะ มีชีวิตนิรันดรอยู่ในความทรงจำของโลกตลอดไปชั่วกาลนาน
 
เนื่องจากบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์อัน ชอบธรรมของผู้เขียน และอาจะมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลบ้างตามความเหมาะสม ในการนำบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่นๆ จึงขอความร่วมมือให้ใช้วิธีการคัดลอกเฉพาะ Link หรือ URL Address แทนการคัดลอกบทความทั้งหมด  หากมีการคัดลอกไปในลักษณะแอบอ้างเป็นผู้เขียน หรือมีเจตนาอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทางเว็บ iseehistory.com แล้ว จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย
 
ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ : Nefertiti and the Lost Dynasty
ชื่อภาษาไทย : เนเฟอตีติ อมตะราชินี
ผู้สร้าง : NATIONAL GEOGRAPHIC
ผู้กำกำกับ : Brando Ounlici
ผู้เขียนบท : Rob Goldberg
ผู้แสดง :
  • Fatima Khalil                Nefertitil
  • Sami El Khan                Akhenaten
  • Yasmin Kassab ...        Kiya
  • Afaf Mostafa ...           Tiye
ที่ปรึกษาทางวิชาการ:
  • Pro. Paul Gostner
  • Dr. Ashraf Selim
  • Dr. Hany Asma
นักวิชาการรับเชิญ:
  • Dr. Zahi Hawass
  • Dr. Marc Caboide
  • Dr. Peter Lacovara
  • Dr. Zuzan James
  • Dr. Paul Gostner
  • Dr. Aidan Dodson
  • Dr. Barry Kemp
  • Dr. James Harris

 กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

  • (ยังไม่มี)

 
เรียนเชิญสมาชิกร่วมแสดงความคิดเห็นที่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บ (ต้องสมัครและ Login ก่อน) ผู้ชมทั่วไปหรือสมาชิกที่ต้องการโพสต์รูป เชิญร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บบอร์ด "คุยกันหลังฉาก" ในกระทู้ที่มีอยู่แล้ว หรือ สร้างกระทู้ใหม่ (คลิกที่นี่) ครับ

หากเป็นสมาชิก Facebook แสดงความเห็นได้ในฟอร์มข้างล่างนี้ครับ

Bookmark and Share

ทางเว็บไม่มีนโยบายนำภาพยนตร์ฉบับ เต็มมาให้ดูออนไลน์หรือให้ดาวน์โหลดเนื่องจากเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และไม่ มีพื้นที่สำหรับเก็บไฟล์ภาพยนตร์

 



ตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)

สปาร์ตาคัส เกิดอย่างทาส สู้อย่างทาส ตายอย่างทาส วันที่ 19/05/2013   21:36:29
Helen of Troy (1956) The face that launched a thousand ships (เฮเลน แห่ง ทรอย , ความงามที่เคลื่อนทัพเรือพันลำ) วันที่ 19/05/2013   21:37:57
คลีโอพัตรา ตอนที่ 3 คลีโอพัตรา นางพญาไอยคุปต์ (1999) วันที่ 19/05/2013   21:39:06
คลีโอพัตรา ตอนที่สอง เวอร์ชั่นปี 1963 วันที่ 19/05/2013   21:40:09
300 ขุนศึกพันธุ์สะท้านโลก วันที่ 19/05/2013   21:42:04
Hannibal (1959) "มีเมียแล้วไม่บอก!" วันที่ 19/05/2013   21:43:44
สารคดี Hannibal จาก BBC : เพราะเขาไม่ใช่คนเถื่อน? วันที่ 19/05/2013   21:44:49
Alexander มหาราชชาตินักรบ วันที่ 19/05/2013   21:45:44
Alexander the Great (1956) วันที่ 19/05/2013   21:46:41
แกะรอย อเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) วันที่ 19/05/2013   21:47:37
Taras Bulba (1962 film) (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   21:48:19 article
1612 (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   21:48:44 article
นักรบหญิง กวนอหังการ Gladiatress (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   21:49:12 article
Braveheart (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   21:49:41 article
Attila 2001 (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 07/04/2014   21:10:33 article



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker