
โดย webmaster@iseehistory.com
คราวก่อนนำเรื่อง จอมโจรมเหศวร มาเล่าด้วยความสงสัยบางประการ เช่นว่า ทำไมไม่กล่าวถึงเสือใบที่ว่ากันว่าเป็นเสือและสมุนเสือฝ้ายในรุ่นเดียวกัน และบรรดาขุนโจรเหล่านี้เอาอาวุธยุทธภัณฑ์มาจากไหน หลังจากนั้นไม่นานจึงได้พบภาพยนตร์ไทยที่เกี่ยวกับเสือใบถึงสองเรื่องด้วยกัน คือ "สุำภาพบุรุษเสือใบ" และ "เสือใบ" ที่ดูๆ แล้วน่าจะมีการแต่งเติมเสริมจากเรื่องจริงขึ้นมาไม่น้อยไปว่า จอมโจรมเหศวร ที่นำเสนอไปแล้ว โดยเฉพาะการที่ทั้งสองเรื่องก็ไม่ได้กล่าวถึงเสือมเหศวรเลยเช่นกัน แต่หากผู้ชมชมด้วยวิจารณญาณแล้ว คงพอเลือกสิ่งที่พอจะเป็นความจริงมาประกอบเป็นภาพของสังคมในยุคนั้นได้ จึงขอนำเรื่อง "สุำภาพบุรุษเสือใบ" (พ.ศ.2514/ค.ศ.1971) จากทีมสร้างเดียวกับ จอมโจรมเหศวร มาคุยกันเป็นลำดับแรกครับ
ก่อนเข้าเรื่องเนื้อหาในภาพยนตร์ ขอนำข้อมูลของเสือใบที่เคยนำมาเล่าแทรกไว้ในเรื่อง จอมโจรมเหศวร และปรับปรุงเพิ่มเติมใน rojn.blogth.com/HistoryMovies/ กลับมาให้ดูกันสักนิด
ประวัติโดยย่อ เสือใบนั้นเดิมชื่อ นายใบ สะอาดดี บ้านอยู่สุพรรณบุรี เหตุที่เป็นโจรเนื่องจากตอนอายุ 30 (ประมาณปี 2487/ค.ศ.1944) ถูกโจรปล้น และน้องภรรยาถูกฉุดไปด้วย จึงตามไปช่วยและ ฆ่าโจรตายไป 2 ศพ และต้องเป็นโจรเสียเองแต่บัดนั้น ต่อมาเมื่อใดยังหาวันที่ไม่ได้ เสือใบได้มอบตัวต่อทางการและถูกศาลตัดสินประหารชีวิต แต่ได้รับพระราชทานอภัยโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2496 /ค.ศ.1953 เนื่องในวันพระราชสมภพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ และได้รับพระราชทานอภัยโทษพ้นการจำคุกเมื่อ 14 ธันวาคม 2506/ค.ศ.1963

การทรมานแบบทหารญี่ปุ่น ปกติขโมยอะไรก็ให้กินสิ่งนั้น แต่ในภาพประเดิมด้วยน้ำสบู่ก่อน
แต่เสือใบในภาพยนตร์เรื่องนี้กลับบอกว่าเสือใบนั้นเดิมชื่อว่า "วัน" อยู่ที่เมืองกาญจนบุรี (ซึ่งคงเป็นการแต่งเรื่องขึ้นด้วยเหตุผลที่จะกล่าวต่อไป) เปิดฉากขึ้นมาเป็นเหตุการณ์ตอนที่วันมาขึ้นรถไฟที่สถานีกาญจบุรีเพื่อไปเรียนต่อโดยมีกำนันหวังผู้บิดา และเพื่อนคือยอดและเพื่อนหญิงชื่อหนุ่ย ซึ่งเป็นเด็กขายของที่สถานีมาส่ง ถัดมาเป็นฉากที่ร้อยเอกอิโตะนำมาลินภรรยาชาวไทยมางานเลี้ยงของนายเฉลียว โดยไม่ทราบว่าเฉลียวเป็นเสรีไทย เฉลียวได้มอบหมายให้ทวีศักดิ์ไปสมัครทำหน้าที่ส่งน้ำให้กับค่ายของร้อยเอกอิโตะ โดยจะมีชายชื่อเทาเป็นผู้ช่วย
เรื่องเริ่มเข้มข้นขึ้นเมื่อร้อยเอกอิโตะมาตรวจดูการทรมานนักโทษคนไทย ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นคือกำนันหวัง พ่อของวัน ซึ่งถูกคู่อริเก่าอันได้แก่ สิงห์ ก้าน และชด ใส่ความเพื่อแก้แค้นที่กำนันหวังเคยจับสิงห์เข้าคุก ยอดซึ่งเข้าไปอยู่ในค่ายญี่ปุ่นได้ยังไงก็ไม่ทราบ เห็นเหตุการณ์ที่ร้อยเอกอิโตะกับพวกทรมานกำนันหวังด้วยความไม่สบายใจ และคิดหาทางไปบอกวันที่กรุงเทพฯ พอดีวันซึ่งอยู่ระหว่างปิดเทอมได้พาเพื่อนชื่อนิดมาเที่ยวบ้าน และพบกับยอดและหนุ่ยที่สถานีรถไฟเข้าพอดี เมื่อวันทราบว่าพ่อถูกจับก็คิดจะไปช่วย แต่เพื่อนๆ ขอให้รอบคอบและนำเรื่องไปบอกนางสมจิตผู้เป็นแม่ก่อน

ฉากขำๆ ในห้องเรียนนักศึกษาผู้ใหญ่ที่ไม่ทราบว่าคนรุ่นใหม่จะยังขำอยู่หรือเปล่า?
ระหว่างรอการแก้แค้น วันกับยอดได้แวะไปหาผู้ใหญ่เคลิ้ม แต่ผู้ใหญ่ไปเรียนหนังสือ พบแต่นงคราญผู้เป็นลูกสาว ระหว่างนั้นมีทหารญี่ปุ่นมาขอให้นงคราญเย็บเสื้อผ้าให้ นงคราญไม่ยอมและถกเถียงจนถูกทหารญี่ปุ่นตบหน้า วันจึงเข้ามาช่วย ทหารญี่ปุ่นสู้ไม่ได้จึงกลับไปตามพวกมาอีกสองคน ระหว่างนั้นนงคราญกับยอดขอให้วันหนีไปกับยอดก่อนโดยที่วันไม่เต็มใจนัก ทหารญี่ปุ่นทั้งสามนายได้จับตัวนงคราญไป ระหว่างทางหนุ่ยกับเด็กชายนวยน้องของนงคราญพยายามเข้ามาช่วยแต่ไม่สำเร็จ ทำให้นวยถูกจับไปอีกคน ยอดกับวันนำเรื่องไปบอกผู้ใหญ่เคลิ้มที่กำลังเรียนศึกษาผู้ใหญ่อยู่กับครูอุไรวรรณ ทั้งหมดตกลงที่จะร่วมมือกันช่วยผู้ที่ถูกจับ วันได้ปลอมตัวไปสมัครรับจ้างทำทางรถไฟให้ญี่ปุ่นในชื่อปลอมว่า "ใบ ใจกล้า" เพื่อเตรียมหาลู่ทาง แต่สิงห์ ก้าน และชด รู้สึกระแวงว่าเหมือนเคยเห็นหน้านายใบมาก่อน ต่อมาเมื่อเกิดวิวาทกับใบเพราะใบพยายามจะช่วยเพื่อนคนงานที่เป็นลม ทั้งสามได้ฉวยโอกาสกล่าวหาใบกับร้อยเอกอิโตะว่านายใบขโมยเครื่องมือ ทำให้ใบหรือวันถูกซ้อมและถูกจับไปขังรวมกับกำนันหวัง นงคราญ และนวย ในที่สุดทวีศักดิ์ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือให้ยอด หนุ่ย และนิดสามารถพาวันและนักโทษคนไทยทั้งหมดหนีออกมาได้ วันจึงได้ตัดสินใจเป็นโจรในชื่อ "เสือใบ" นำเพื่อนๆ และนักโทษคนไทยที่หนีมาด้วยกันไปตั้งชุมโจรเพื่อเตรียมการแก้แค้น ยกเว้นทวีศักดิ์ที่ต้องกลับไปค่ายญี่ปุ่นเพื่อทำงานของตนต่อไป
เริ่มงานแรกเสือใบกับพวกจับชดได้ขณะออกมาเคลียร์พื้นที่ก่อนที่ญี่ปุ่นจะขนอาวุธมาทางน้ำในตอนตีสาม เมื่อญี่ปุ่นลำเลียงอาวุธมา เสือใบได้เตรียมกำลังไปดักซุ่มเตรียมจะโจมตี ชดพยายามหนีไปบอกญี่ปุ่น ทำให้ถูกหนุ่ยยิงตายทันที และเกิดการปะทะกัน ก้านถูกฆ่าตายไปอีกคน ส่วนสิงห์ยังหนีไปได้
ต่อมานงคราญเบื่อที่จะอยู่ในค่ายโจรและคิดถึงพ่อจึงชวนนวยหนีออกไป แต่ถูกเสือเหลืองจับได้ เสือเหลืองคิดจะออกปล้นในชื่อเสือใบ แต่ถูกเสือใบซ้อนแผนจนสามารถจับเสือเหลืองได้ เสือเหลืองท้าเสือใบดวลอาวุธกัน เสือใบตกลงดวลดาบและมีดสั้นกันจนเสือเหลืองถูกฆ่าตาย

ซ้อนกลปราบเสือเหลือง แล้วดวลดาบดวลมีดกัน
ระหว่างที่เสือใบตั้งชุมโจรอยู่ในป่า นางสมจิตแม่ของเสือใบอยู่ในความดูแลของครูอุไรวรรณและทวีศักดิ์ ต่อมาเสือใบได้ขอให้แม่ไปอยู่กรุงเทพฯ ส่วนกำนันหวังยังขออยู่กับเสือใบ โดยเสือใบสัญญากับพ่อและแม่ว่าเมื่อเสร็จงานจะเลิกเป็นโจร ทางด้านมาลินภรรยาร้อยเอกอิโตะซึ่งเธอคงจะเป็นเสรีไทยคนหนึ่งได้ส่งข่าวการลำเลียงอาวุธของญี่ปุ่นให้เสือใบผ่านทวีศักดิ์ ทำให้เสือใบสามารถระเบิดทำลายขบวนรถไฟลำเลียงอาวุธของญี่ปุ่นได้ นายเม็กลูกน้องอีกคนของสิงห์ไปจับตัวครูอุไรวรรณและทวีศักดิ์มาให้ร้อยเอกอิโตะ โดยกล่าวหาว่าทั้งสองเป็นต้นเหตุ ทีแรกอิโตะจะยิงเป้าทั้งสองคน แต่เม็กเสนอให้ใช้ทวีศักดิ์เป็นทั้งตัวประกันและคนนำทางให้สิงห์นำกำลังไปปราบเสือใบ ผมก็หลงนึกว่าจะยกทัพกันไปใหญ่โต ที่แท้ทั้งสิงห์ทั้งทวีศักดิ์กับทหารญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งนั่งอัดกันไปบนรถจี๊บคันเดียว รวมกันยังจะไม่ถึงสิบคนด้วยซ้ำ เอาเป็นว่าสิงห์บังคับให้ทวีศักดิ์พาไปจนถึงที่ซ่อนของเสือใบได้ แต่เสือใบทราบข่าวจากเทาที่พาผู้ใหญ่เคลิ้มไปหา จึงสั่งให้ยอดนำกำลังส่วนหนึ่งไปรอบริเวณค่ายญี่ปุ่น ส่วนตนเองนำกำลังที่เหลือดักโจมตีสิงห์กับทหารญี่ปุ่น จนทหารญี่ปุ่นถูกฆ่าตายหมด สิงห์ขอให้เสือใบวางอาวุธมิฉนั้นจะฆ่าทวีศักดิ์ จังหวะนี้กำนันหวังได้แอบเข้ามาช่วย ทำให้กำนันหวังและสิงห์ถูกยิงตายด้วยกันทั้งคู่ ถัดจากนี้ท่านคงเดาได้ว่า เสือใบได้นำกำลังไปสมทบกับพวกที่รออยู่ก่อน โจมตีค่ายญี่ปุ่นจนสามารถช่วยครูอุไรวรรณออกมาได้ และทำลายค่ายทหารญี่ปุ่น (ซึ่งที่จริงก็มีอยู่ไม่กี่โรงเรือน) ได้สำเร็จ จากนั้น เสือใบก็ฝังศพพ่อ และเดินทางไปมอบตัวกับทางการโดยมีครูอุไรวรรณขึ้นม้าไปด้วยกัน

ถล่มค่ายทหารญี่ปุ่น
แล้วเรื่องในภาพยนตร์เป็นความจริงแค่ไหน?
แม้ปัจจุบันเสือใบจะยังมีชีวิตอยู่ แต่ก็ยากที่จะหาเรื่องจริงในชีวิตของท่านที่ละเอียดพอจะมาเทียบเคียงได้ทั้งหมด ผมคงได้แต่สันนิษฐานเป็นส่วนตัวว่า ทางผู้สร้าง/ผู้เขียนบท ต้องการนำเสนอภาพของเสือใบแต่ในด้านดี จึงจับเอาประเด็นการต่อสู้กับญี่ปุ่นมาเป็นหัวใจของเรื่อง ทำให้เรื่องในชีวิตจริงของเสือใบต้องถูกดัดแปลงให้เข้ากับประเด็นการต่อสู้ญี่ปุ่นดังที่ว่า
เหตุที่ไปแต่งเรื่องว่าเสือใบเป็นคนกาญจนบุรี ซึ่งขัดกับประวัติที่พอหาได้ว่าเป็นคนสุพรรณบุรีนั้น ก็เพื่อจะไปเชื่อมโยงกับการต่อสู้กับทหารญี่ปุ่นที่มาสร้างทางรถไฟและสะพานข้ามแ่ม่น้ำแควเท่านั้น รายละเอียดอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง เช่นที่ว่า เดิมชื่อวัน เรื่องพ่อถูกญี่ปุ่นจับ ก็ไม่น่าจะจริง หรือที่อาจจะเอาความจริงมาดัดแปลงเช่น ชีวิตจริงน้องเมียถูกโจรฉุด ก็กลายมาเป็นหญิงที่รู้จักกันถูกญี่ปุ่นจับตัวไป

ขอย้อนกลับมาตอนที่พระเอกพาเพื่อนมาเยี่ยมบ้านในชุดยุวชนทหาร
ประเด็นที่ว่านายวันที่ต่อมากลายเป็นเสือใบได้เคยไปเรียนกรุงเทพฯ มาก่อนและกลับมาพร้อมกับเพื่อนในชุดยุวชนทหารนั้น ก็น่าจะเป็นเพียงการใส่สีสันให้เข้ากับยุคสงครามโลกเท่านั้น ตามประวัติที่ผมค้นได้ข้างต้น เสือใบเริ่มเป็นโจรเมื่ออายุราว 30 ปี เกินกว่าที่จะไปเรียนกรุงเทพฯ และเป็นยุวชนทหารแน่ๆ
เรื่องการต่อสู้กับญี่ปุ่นนั้น คงไม่ไกลความจริงที่บรรดาโจรในยุคนั้นจะต่อสู้กับทหารญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเพื่อปล้นชิงอาวุธยุทธภัณฑ์ ช่วยเหลือคนไทยด้วยกันที่ถูกข่มเหง หรือเพราะความไม่พอใจส่วนตัวอะไรบ้าง
แต่พอเอามาขยายเป็นประเด็นหลักของเรื่องแล้ว ผมเกิดความรู้สึกตะหงิดๆ อยู่ตลอด เพราะด้านหนึ่งหนังพยายามบอกเราว่า การเป็นเสือเป็นโจรเป็นสิ่งไม่ดี แต่ไอ้ที่เห็นในหนังตั้งแต่ต้นจนจบล้วนเป็นวีรกรรมในการต่อสู้กับผู้ร้าย อันได้แก่ ทหารต่างชาติที่มาข่มเหงคนไทย คนขายชาติที่ร่วมมือกับญี่ปุ่น สลับฉากด้วยการปราบโจรร้ายอย่างเสือเหลือง ไม่มีฉากที่เสือใบออกปล้นใครอื่นเลย ไม่ว่าด้วยวิธีการใด แล้วจะมาบอกว่าการเป็นโจรเป็นสิ่งผิด ต้องขี่ม้าไปมอบตัวในตอนจบ ไม่ทราบไปมอบตัวในข้อหาอะไร?

ฉากทหารญี่ปุ่นคุมขบวนรถไฟที่ลำเลียงอาวุธก่อนถูกเสือใบดักระเบิดทำลาย

และโดยข้อเท็จจริง เสือใบได้รับพระราชทานอภัยโทษจากประหารชีวิตเหลือจำคุกตลอดชีวิตในปี 2496 ก็น่าจะมอบตัวก่อนหน้านั้นไม่กี่ปี ซึ่งก็ยังเป็นช่วงหลังสงครามโลกอยู่ดี การไปแต่งเรื่องว่าเสือใบถล่มค่ายญี่ปุ่นเสร็จแล้วไปมอบตัวนั้น เป็นแค่สูตรสำเร็จของการสร้างหนังเท่านั้น ในความเป็นจริงอย่างน้อยก็ต้องรอจนญี่ปุ่นแพ้สงคราม ไม่งั้นพวกพี่ยุ่นที่เหลืออยู่ที่อื่นคงได้แห่มาล้างแค้นให้คุณอิโตะ
พูดถึงผู้กองอิโตะแล้ว ช่างเลือกผู้แสดงได้ตามธรรมเนียมผู้ร้ายหนังไทยจริงๆ ทั้งอ้วนพุงพลุ้ยทั้งหน้าแก่อย่างนั้น ไม่น่าจะเป็นทหารญี่ปุ่นยศร้อยเอกได้เลย ดูกันเผินๆ ผมว่าคนที่แสดงเป็นก้านน่าจะเหมาะสมกว่า ในด้านอื่นๆ ก็คงคล้ายๆ กับหนังไทยทั่วไปที่วิจารณ์ไปก็เท่านั้น
ขอส่งท้ายด้วยด้านดีของภาพยนตร์ที่พอจะคิดได้ก็แล้วกันครับ ว่าอย่างน้อยได้ชี้ให้เราเห็นว่าครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย "ทางการ" ได้เคยปล่อยให้ทหารต่างชาติเข้ามาอยู่ในประเทศไทย อันเป็นเหตุให้คนไทยต้องถูกข่มเหงทั้งจากทหารต่างชาติเหล่านั้นและคนขายชาติบางคนที่ไปร่วมมือด้วย เป็นเหตุให้คนไทยอีกส่วนหนึ่ง ทั้งที่เป็น "เสรีไทย" และโจรระดับชาวบ้านอย่างเสือใบต้องออกมาต่อต้าน ปัจจุบันและอนาคตคงไม่เกิดเรื่องทำนองนี้ในทางการทหารอีกแล้ว แต่ในทางเศรษฐกิจนั้น อะไรกำลังเกิดขึ้น ท่านผู้อ่านลองใช้วิจารณญาณดูนะครับ

ผู้รับบทนายมิ่งลูกน้องคนหนึ่งของเสือใบ
ยังไม่ Confirm นะครับว่าใช่เสือใบตัวจริงหรือเปล่า แต่ดูแล้วไม่เหมือนดาราไทยคนไหน
ใครตาดีช่วยดูเทียบกับ คลิปจากเรื่อง "เสือใบ" ที่ผมนำมาลงในเว็บบอร์ด ด้วยครับ
เนื่องจากบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์อัน ชอบธรรมของผู้เขียน และอาจะมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลบ้างตามความเหมาะสม ในการนำบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่นๆ จึงขอความร่วมมือให้ใช้วิธีการคัดลอกเฉพาะ Link หรือ URL Address แทนการคัดลอกบทความทั้งหมด หากมีการคัดลอกไปในลักษณะแอบอ้างเป็นผู้เขียน หรือมีเจตนาอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทางเว็บ iseehistory.com แล้ว จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย
ชื่อเรื่อง : สุภาพบุรุษเสือใบ
ผู้กำกำกับ : ประวิทย์ ลีลาไว
ผู้สร้าง : พลสัญห์ ศรีหาผล
ผู้เขียนบท : ประสิทธิ์ ศิริบันเทิง
ผู้แสดง : ครรชิต ขวัญประชา, เพชรา เชาวราษฎร์, ประจวบ ฤกษ์ยามดี, เมตตา รุ่งรัตน์, เยาวเรศ นิสากร, เมือง อพอลโล, เชาว์ แคล่วคล่อง, มารศรี อิศรางกูรฯ, จุ๋มจิ๋ม ศรทอง, พิภพ ภู่ภิญโญ ฯลฯ และ วัน สอาดดี อดีต "เสือใบ" ตัวจริง
ควรอ่านเพิ่มเติม
กระทู้ที่เกี่ยวข้อง
เรียนเชิญสมาชิกร่วมแสดงความคิดเห็นที่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บ (ต้องสมัครและ Login ก่อน) ผู้ชมทั่วไปหรือสมาชิกที่ต้องการโพสต์รูป เชิญร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บบอร์ด "คุยกันหลังฉาก" ในกระทู้ที่มีอยู่แล้ว หรือ สร้างกระทู้ใหม่ (คลิกที่นี่) ครับ
หากเป็นสมาชิก Facebook แสดงความเห็นได้ในฟอร์มข้างล่างนี้ครับ
ทางเว็บไม่มีนโยบายนำภาพยนตร์ฉบับ เต็มมาให้ดูออนไลน์หรือให้ดาวน์โหลดเนื่องจากเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และไม่ มีพื้นที่สำหรับเก็บไฟล์ภาพยนตร์