dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



FIRST KNIGHT (สุภาพบุรุษยอดอัศวิน)
วันที่ 19/05/2013   18:45:00

   โดย ชาญชัย (Leo53)

 
 
หนึ่ง: ตำนานกษัตริย์อาเธอร์
 
ภาพยนตร์เรื่องนี้กล่าวถึงเรื่องราวรักสามเส้าที่โด่งดังที่สุดในยุโรป จากตำนานเรื่องราวของกษัตริย์อาเธอร์ (King Arthur) ซึ่งเป็นตำนานที่ได้รับความนิยมแพร่หลายที่สุดในอังกฤษและในโลกเรื่องหนึ่ง ที่แม้จะเป็นเพียงเรื่องเล่าขานสืบเนื่องกันมาจากนิยายพื้นบ้านปรัมปรา และยังคงเป็นข้อโต้เถียงกันอยู่ในแวดวงประวัติศาสตร์และโบราณคดี ถึงความมีอยู่จริงของกษัตริย์อาเธอร์ในประวัติศาสตร์ แต่ตำนานเรื่องราวกษัตริย์อาเธอร์ก็ได้กลายเป็นกระแสหลักในวรรณกรรมอังกฤษ และเป็นเสาหลักทางจิตวิญญาณให้กับชาวอังกฤษมาทุกยุคทุกสมัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่เกิดวิกฤติการณ์ขึ้นในชาติบ้านเมือง ผู้คนจะพากันระลึกถึงว่าครั้งหนึ่งในราวศตวรรษที่ 5 กษัตริย์อาเธอร์ได้เคยรวบรวมชนพื้นเมืองเผ่าต่างๆบนเกาะอังกฤษ ให้สามัคคีกันลุกขึ้นต่อสู้หยุดยั้งการรุกรานของพวกอนารยะชนเผ่าแซ็กซอนที่บุกเข้ามาบนเกาะอังกฤษจากฝั่งยุโรปไว้ได้ และในรัชสมัยของพระองค์บ้านเมืองปราศจากสงคราม ซึ่งถือเป็นยุคทองของอังกฤษที่มีแต่สันติสุขและความเจริญไพบูลย์ แม้กษัตริย์อาเธอร์จะจบชีวิตลงอย่างน่าเศร้าสลด แต่ก่อนที่เรือจะนำร่างที่บาดเจ็บสาหัสของพระองค์ออกไปสู่ท้องทะเล พระองค์ได้ตรัสกับราษฎรของพระองค์เป็นครั้งสุดท้ายว่า “ในอนาคตถ้าหากเกาะอังกฤษมีภัยและประชาชนตกอยู่ในอันตราย เราจะฟื้นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งเพื่อปกป้องเกาะอังกฤษและประชาชนของเรา” ตำนานกษัตริย์อาเธอร์จึงมีความสำคัญ และเป็นพลังทางจิตวิญญาณที่ยิ่งใหญ่สำหรับชาวอังกฤษเสมอมา หลายคนมีความเชื่ออยู่ลึกๆในหัวใจว่า หากถึงคราวคับขันที่สุดจริงๆแล้ว       กษัตริย์อาร์เธ่อร์จะทรงฟื้นขึ้นมาเพื่อปกป้องพวกเขาอีกครั้งหนึ่งให้รอดพ้นจากภัยพิบัติและภยันตรายทั้งปวง
 
 
ซึ่ง ณ เวลานั้นยุคทองของอังกฤษที่มีแต่สันติสุขและความเจริญไพบูลย์ก็จะหวนกลับมาอีก เพียงเท่านี้ก็พอแล้วที่ตำนานกษัตริย์อาเธอร์จะเป็นอมตะไปชั่วกาลนาน โดยไม่ต้องสนใจข้อถกเถียงทางวิชาการต่างๆนาๆ เกี่ยวกับการมีอยู่จริงของกษัตริย์อาเธอร์ในแวดวงนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีเลย (ในรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีวิคตอเรียที่ราชอาณาจักรอังกฤษ แผ่ขยายอิทธิพลออกไปมีอาณานิคมครอบคลุมทั้งโลกจนมีคำกล่าวว่า “พระอาทิตย์ไม่เคยตกดินในจักรภพอังกฤษ, The Sun never set in the British Empire” นั้น ในปีค.ศ.1834 เรื่องราวในตำนานกษัตริย์อาเธอร์ฉบับที่เขียนโดย Mallory ได้รับการคัดเลือกให้นำไปทำเป็นภาพประดับภายในตึกรัฐสภาซึ่งถือว่าเป็นศูนย์กลางที่เป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจของราชอาณาจักรอังกฤษ และยังคงปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบัน)
 
ณ นครคาเมล็อทแห่งนี้ กษัตริย์อาเธ่อร์ทรงปกครองแผ่นดินโดยธรรมด้วยระบบของตัวบทกฏหมาย (Rule of Law) ยุคนี้เป็นยุคทองของอังกฤษที่แผ่นดินปราศจากสงคราม มีแต่สันติสุขและความเจริญไพบูลย์
 
สอง : ลำดับพัฒนาการตำนานเรื่องราวกษัตริย์อาเธอร์ (ฉบับต่างๆที่สำคัญ)
 
ตำนานเรื่องราวกษัตริย์อาเธอร์นี้สืบสานมาจากนิยายปรัมปราพื้นบ้านในอังกฤษ ซึ่งพัฒนาต่อมาเป็นตำนานหลายฉบับโดยเขียนต่อเนื่องกันมาตลอด และมีการนำบางส่วนของตำนานมาสร้างเป็นภาพยนตร์หลายเรื่องด้วยกัน โดยในภาพยนตร์แต่ละเรื่องก็มีการแต่งเติมเนื้อหากันออกไปอีกต่างๆนานา ซึ่งหากจะลำดับพัฒนาการตำนานเรื่องราวกษัตริย์อาเธอร์ที่สำคัญๆโดยสรุปจะมีลำดับขั้นตอนมาดังนี้
1.      เป็นนิยายพื้นบ้านปรัมปราที่เล่าขานกันมา และเขียนไว้ใน บทกลอนชื่อ “Culwch ac Olwen (c. 1100) and the triads” ในแคว้นเวลส์ของอังกฤษ คนพวกนี้สืบเชื้อสายโดยตรงมาจากชาวอังกฤษในศตวรรษที่ 5บทกลอนของพวกเขากล่าวถึงเรื่องราวของ อาเธอร์ ผู้ซึ่งเป็นนักรบวีรบุรุษที่สามารถรวบรวมชาวอังกฤษเผ่าต่างๆให้สามัคคีกัน ทำให้สามารถหยุดยั้งการรุกรานของพวกอนารยะชนแซ็กซอนจากฝั่งยุโรปไว้ได้
นอกจากบทกลอนดังกล่าวแล้ว ก็ยังมีหนังสือภาษาลาตินอีกบางเล่มที่กล่าวถึงเรื่องราวของอาเธอร์เช่น หนังสือ“Historia Brittonum”, เขียนโดยนักบวช Nennius กล่าวถึงสงครามสิบสองครั้งที่อาเธอร์มีชัยชนะต่อพวกอนารยะชนแซกซอน. และมีหนังสือในศตวรรษที่ 10 ชื่อ “Annales Cambriae” กล่าวถึงสงครามที่บาดัน (มีสงครามนี้จริงในประวัติศาสตร์ แต่ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่าสงครามนี้มีความเกี่ยวข้องกับอาเธอร์อย่างไร) และยังกล่าวอีกว่าอาเธอร์รบแพ้ในสงครามที่คัมลัน(เป็นสมรภูมิที่กษัตริย์อาเธอร์รบครั้งสุดท้าย แม้จะชนะสงคราม สามารถปราบกบฏได้ แต่พระองค์ได้รับบาดเจ็บสาหัสและสิ้นพระชนม์ในเวลาต่อมา)
2.      Geoffrey of Monmouth เป็นคนแรกที่เขียนตำนานกษัตริย์อาเธอร์ที่มีเนื้อหาค่อนข้างสมบูรณ์ในระหว่างปี ค.ศ.1136 – 1138 เขาเขียน “Historia Regum Brittaniae” ตามแนวคิดทางปฏิบัติในยุคกลางที่สร้างภาพให้อาเธอร์เป็นวีรบุรุษผู้กอบกู้โลก ผู้ซึ่งสามารถทำให้ชนเผ่าพื้นเมืองต่างๆมีความสามัคคีและยุติสงครามแย่งชิงอำนาจระหว่างกัน จนในที่สุดก็สามารถหยุดยั้งการรุกรานของพวกอนารยะชนแซ็กซอนที่มาจากยุโรปกษัตริย์อาเธอร์ได้นำมาซึ่งความสงบสุขและความเจริญไพบูลย์ให้กับประชาชน และเรียกช่วงเวลาในรัชสมัยของพระองค์ว่ายุคทองของอังกฤษ
ภาพลักษณ์ตามตำนานของ Monmouth บรรยายว่าในช่วงเวลานั้น เกาะอังกฤษอยู่ท่ามกลางโชคร้ายและภัยพิบัติมากมาย การโจมตีของพวกอนารยะชนจากฝั่งยุโรป สงครามระหว่างชนพื้นเมืองเผ่าต่างๆบนเกาะอังกฤษ บรรดากษัตริย์และขุนศึกที่ครอบครองอำนาจส่วนใหญ่ล้วนโหดร้ายทารุณ โลภโมโทสันและกระหายอำนาจ ในยุคนี้เองที่กษัตริย์ Vortigern เป็นผู้นำพวกอนารยะชนแซกซอนเข้ามาบนเกาะอังกฤษในฐานะทหารรับจ้างและตั้งรกรากอยู่บนเกาะอังกฤษ เช่นเดียวกับที่พวกโรมัน เคยเปิดประตูเมืองให้พวกอนารยะชนเข้าไปอยู่อาศัยในฐานะพลเมือง และให้ทำหน้าที่ทหารรับจ้างในกองทัพของพวกโรมัน แต่ปรากฏว่าพวกแซกซอนได้กลายสภาพเป็นกองโจรปล้นสดมภ์ในเวลาต่อมา กษัตริย์ Uther Pendragon ขุนศึกคนหนึ่งบนเกาะได้ลักลอบเป็นชู้กับดัชเชสแห่งคอนวอล และให้กำเนิดอาเธอร์ขึ้น และต่อมาได้แต่งตั้งดัชเชสแห่งคอนวอลให้เป็นราชินี เพื่อให้อาเธอร์ได้สิทธิในการสืบทอดราชบัลลังก์
แม้อาเธอร์จะยังอยู่ในวัยหนุ่มในขณะที่เขาสืบต่อราชบัลลังก์จากพระบิดา แต่เขาก็สามารถทำหน้าที่ผู้นำได้เป็นอย่างดี เขาสามารถหยุดยั้งการรุกรานของพวกอนารยะชนและสามารถปราบปรามได้สำเร็จในเวลาต่อมา จากนั้นเขาก็สามารถปราบปรามชนเผ่าพื้นเมืองต่างๆที่ยังคงแข็งข้ออยู่เช่น พวก พิค, สก็อต และไอริชได้ทั้งหมด เมื่อบ้านเมืองสงบเรียบร้อยดีแล้ว เขาจึงได้สู่ขอกินิเวียร์เพื่ออภิเษกสมรสเป็นราชินีของเขา และก่อตั้งคณะอัศวินของเขาขึ้นในช่วงเวลาที่บ้านเมืองมีแต่สันติสุขและความเจริญไพบูลย์ ประเทศต่างๆในยุโรปพากันยกย่องนับถือ และอังกฤษได้กลายเป็นประเทศที่มั่งคั่งและเจริญรุ่งเรืองชนิดที่ไม่มีใครเทียบได้ อาเธอร์ตั้งเมืองหลวงที่คาเมล็อทและต่อมาสามารถครอบครองกอล (ฝรั่งเศส) ได้ แรงกดดันจากโรมทำให้อาเธอร์ต้องกลับไปฝรั่งเศสอีกครั้งหนึ่งเพื่อทำสงครามและมอบอำนาจให้มอเดรดหลานชายของเขาเป็นผู้ปกครองเกาะอังกฤษแทน ในระหว่างที่อาเธอร์ไม่อยู่นั้นเองมอเดรดได้ก่อการกบฏขึ้น ทำให้อาเธอร์ต้องยกกองทัพกลับมาจากยุโรปเพื่อชิงอำนาจของตนกลับมา แม้อาเธอร์จะได้ชัยชนะในการรบแต่เขาก็ได้รับบาดเจ็บสาหัส และถูกนำตัวลงเรือส่งไปที่เกาะ Avalon เพื่อทำการรักษา และMonmouth ก็หยุดเรื่องไว้เพียงเท่านี้ ปัญหาสำคัญของเนื้อหาในตำนานของMonmouth คือ เวลาที่อ้างถึงเหตุการณ์ต่างๆในตำนานสลับสับสนกันไปหมด ตัวอย่างเช่นเหตุการณ์หลายเรื่องที่เขาเขียนถึงเป็นเหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 500 แต่เขาบอกว่าเรื่องราวของกษัตริย์อาเธอร์เกิดขึ้นเมื่อประมาณ ค.ศ. 5
3.      แม้ว่าเนื้อหาในตำนานของ Monmouth จะมีส่วนเป็นรากฐานของแนวโรแมนติคในยุคกลาง (เจ้าหญิงผู้น่าสงสารและคนรับใช้ มองลงมาจากบนกำแพงเมือง รอคอยความช่วยเหลือจากอัศวินผู้กล้าที่เปี่ยมด้วยคุณธรรม) แต่ส่วนใหญ่ของแนวโรแมนติคในตำนานกษัตริย์อาเธอร์ เป็นผลมาจากการแต่งเสริมเติมแต่งของบรรดานักเขียนหลายคนในสมัยต่อๆมา ตัวอย่างเช่นกวีชาวนอแมนชื่อ Wace ได้ดัดแปลงตำนานของ Monmouth ใช้ชื่อว่า “Historia, Roman de Brut (dedicated to Eleanor of Aquataine)” ได้เพิ่มเรื่องราวเข้าไปเป็นอีกส่วนหนึ่งของตำนานกษัตริย์อาเธอร์คือเรื่องของอัศวินโต๊ะกลม ซึ่งต่อมาจึงมีนักประพันธ์ชาวฝรั่งเศสมาเขียนเพิ่มต่อเรื่องราวแนวโรแมนติคเพิ่มเข้าไปอีกในภายหลัง ที่สำคัญคือ Chretien de Troyes นักประพันธ์ชาวฝรั่งเศสเป็นผู้เริ่มต้นในการเข้ามาเสริมเนื้อหาในตำนาน ให้มีแนวโน้มห่างออกไปจากเรื่องราวของกษัตริย์ ไปสู่เรื่องราวของบรรดาอัศวินต่างๆ และผู้หญิงในพระราชวังของพระองค์มากขึ้น เขาเขียนเรื่องเกี่ยวกับตำนานกษัตริย์อาเธอร์ หลายเรื่องในระหว่างปี ค.ศ.1170 – 1190 Erec, Enide และ Cliges เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ และเรื่องราวความรักในราชสำนักของกษัตริย์อาเธอร์ Yvain, The Knight of the Lion เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการผจญภัยของ Yvain และ Gawain ในการต่อสู้กับเหล่าร้าย พ่อมดขมังเวทย์ และอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ เพื่อผดุงคุณธรรม Perceval, The Story of the Grail กล่าวถึงการตามหาจอกศักดิ์สิทธิ์ แต่เนื้อหาที่เพิ่มเข้ามาในตำนานกษัตริย์อาเธอร์ที่มีความสำคัญที่สุดคือ Lancelot, The Knight of the Cart ซึ่งกล่าวถึงลานสล็อทและเรื่องชู้สาวระหว่างเขากับราชินีของกษัตริย์อาเธอร์ (กวินิเวียร์ - Guinevere) จะเห็นได้ว่าวีรกรรมของกษัตริย์ถูกลดความสำคัญลงโดยการทำให้พระองค์อยู่ในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์ – ในฐานะบิดา ที่คอยดูแลเรื่องความยุติธรรม มาตรฐานความประพฤติของขุนนางผู้สูงศักดิ์ ความเลื่อมใสในพระผู้เป็นเจ้า และการเน้นในคุณธรรมและความสง่างามของอัศวิน พระราชวังของพระองค์ กลายเป็นเวทีสำหรับบทบาทของอัศวินคนสำคัญต่างๆเช่น ลานสล็อท กาเวน ปาเซวัล ฯลฯ แนวคิดเรื่อง “รักโรแมนติค” ในตำนานกษัตริย์อาเธอร์ดังกล่าว ทำให้เกิดการเรียกร้องเสรีภาพในบรรดาผู้หญิงในสังคมชั้นสูงให้พ้นจากสภาพการเป็นเพียงเครื่องเล่นทางเพศ และทรัพย์สินอย่างหนึ่งของผู้ชาย ให้มาเป็นผู้หญิงที่มีคุณค่าในฐานะมนุษย์คนหนึ่งเช่นกัน ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นอีกเป็นอันมากในเวลาต่อมา
4.      ตำนานเรื่องราวกษัตริย์อาเธอร์ที่รู้จักกันอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน เกิดขึ้นประมาณปี ค.ศ. 1485 เมื่อมีการตีพิมพ์หนังสือของ Sir Thomas Mallory's ชื่อLe Morte D'Arthur  โดยสำนักพิม์ William Caxton  เนื้อหาในหนังสือของ Mallory เป็นการรวบรวมเนื้อหาจากตำนานอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์อาเธอร์ทั้งหมดในขณะนั้น มาอยู่ในเล่มเดียวกัน และเรียงลำดับเหตุการณ์ตามระยะเวลาที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น ราวกับเป็นข้อเท็จจริงที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โดยเริ่มต้นเรื่องราวตั้งแต่การถือกำเนิดของอาเธอร์ที่เมืองทินทาเกล ลำดับความไปจนถึงวันสิ้นพระชนม์ของพระองค์ที่สมรภูมิคัมลัน แม้ในเนื้อเรื่องจะมีพูดเกี่ยวกับเรื่องราวของอัศวินคนอื่นๆแทรกเข้ามาหลายคน แต่จุดเน้นก็จะกลับมาที่อาเธอร์ทุกครั้ง ทุกเรื่องราวที่กล่าวถึงจะมีส่วนชักนำไปสู่ความเศร้าสลดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในตอนจบ (ในวงการประวัติศาสตร์และโบราณคดีมีการเรียก ตำนานที่เขียนโดย Monmouth ก่อนหน้านี้และที่เขียนโดยMallory ว่า “ประวัติศาสตร์เก๊ - pseudo history” เพราะมีการให้ลำดับเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นราวกับว่าเป็นเรื่องจริงในประวัติศาสตร์)
5.      จนถึงปัจจุบันนักโบราณคดีได้พยายามค้นหาหลักฐานต่างๆ เพื่อพิสูจน์ความมีอยู่จริงของกษัตริย์อาเธอร์ในประวัติศาสตร์ แต่ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรแม้ว่าหลักฐานที่พบจะให้เรื่องราวมากเกี่ยวกับยุคเหล็กบนเกาะอังกฤษ ในขณะที่ซากเมืองทินทาเกลที่ขุดพบมีอายุประมาณปี ค.ศ. 1145 เท่านั้น ในขณะที่การขุดค้นภูเขาก่อนประวัติศาสตร์ที่ แคดเบอรี่ (เริ่มต้นขุดค้นในปี 1966 โดย Leslie Alcock) ไม่พบหลักฐานชัดเจนอะไรที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์อาเธอร์ แม้ว่าจะมีบันทึกเขียนโดย John Leland .ในปี 1542 ว่า “ทางใต้ของเมืองแคดเบอรี่เคยมีปราสาทที่ยิ่งใหญ่ตั้งอยู่ราษฎรในพื้นที่ดังกล่าวไม่สามารถบอกอะไรได้นอกจากบอกว่าพวกเขาได้รับการบอกเล่าต่อๆกันมาว่าที่นี่เคยเป็นที่ตั้งของนครคาเมล็อทของกษัตริย์อาเธอร์” ซึ่งโดยความเป็นจริงแล้วมีสถานที่มากมายจำนวนนับไม่ถ้วนบนเกาะอังกฤษที่มีการบอกเล่าต่อๆกันมาว่ามีความเกี่ยวพันกับกษัตริย์อาเธอร์ซึ่งแม้ว่าเรื่องราวในตำนานกษัตริย์อาเธอร์และอัศวินโต๊ะกลมของพระองค์ จะครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางมาก แต่กษัตริย์อาเธอร์มีเพียงบ้านเกิด บ้านพักอาศัย และสุสานฝังพระศพที่ทินทาเกล คาเมล็อท และอวาลอน เท่านั้น นักโบราณคดีสามารถพิสูจน์ได้แล้วว่าสถานที่ทั้งสามนี้น่าจะอยู่ที่ ทินทาเกล แคดเบอรี่ และกลาสตันเบอรี่ ในปัจจุบัน ทั้งสามแห่งนี้ล้วนอยู่ทางตะวันตกของเกาะอังกฤษซึ่งเป็นสถานที่ต้นกำเนิดของตำนานเรื่องราวกษัตริย์อาเธอร์
ในช่วงเวลานับพันปีที่ผ่านมา เรื่องราวของกษัตริย์อาเธอร์มีปรากฏให้ได้พบเห็นอยู่เสมอในรูปแบบต่างๆของการนำเสนอ ตั้งแต่ครั้งที่ยังเป็นเพียงนิยายพื้นบ้านปรัมปราในแคว้นเวลช์ของอังกฤษ จนถึงภาพยนตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับตำนานกษัตริย์อาเธอร์เรื่องล่าสุดในปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความฝันที่ไม่มีวันสูญสลายถึงยุคทองที่มีแต่สันติสุขและความเจริญไพบูลย์ แต่ในกรณีนี้ยังมีความหวังที่เจิดจ้าร่วมอยู่อีกด้วย คือความหวังที่ว่ากษัตริย์อาเธอร์ยังคงอยู่และจะกลับมาอีกครั้งหนึ่ง (มีชื่อเรียกพระองค์อีกชื่อหนึ่งว่า Arthur: The Once and Future King, อาเธอร์: ผู้ซึ่งเคยเป็นกษัตริย์อังกฤษ และจะเป็นกษัตริย์อังกฤษอีกครั้งหนึ่งในอนาคต) ซึ่งนั่นหมายความว่า ยุคทองที่มีแต่สันติสุขและความเจริญไพบูลย์จะหวนกลับมาอีก เพียงความฝันและความหวังอันน่ารื่นรมย์ยิ่งนี้ ก็พอแล้วที่จะทำให้ตำนานกษัตริย์อาเธอร์คงอยู่เป็นอมตะไปชั่วนิรันดรกาล ไม่ว่าข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์จะเป็นอย่างไรก็ตาม
 
สาม : กวินิเวียร์ ผู้หญิงที่สวยที่สุดในประวัติศาสตร์ กับตำนานรักสามเส้าที่โด่งดังที่สุดในวรรณกรรมยุโรป
 
 
 
ไม่ว่ากษัตริย์อาเธอร์จะมีตัวตนอยู่จริงเพียงใดหรือไม่ก็ตาม (ซึ่งคงจะเป็นเรื่องโต้เถียงทางวิชาการกันไปตลอดกาล) แต่พระนามของพระองค์ก็เป็นที่รู้จักแพร่หลายและได้รับความนิยมชมชอบในฐานะกษัตริย์ และวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของโลก ซึ่งไม่ได้ด้อยไปกว่า พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช, จูเลียส ซีซาร์, นโปเลียน โบนาปาร์ต หรือเจ็งกิสข่าน ฯลฯ เลย และผู้หญิงของพระองค์ “ราชินีกวินิเวียร์” ก็ได้รับการกล่าวขานถึงว่าเป็นผู้หญิงที่งดงามยิ่ง และได้รับการยอมรับโดยทั่วไปว่าเป็นผู้หญิงอีกนางหนึ่งที่สวยที่สุดในประวัติศาสตร์เช่นกัน
 
ด้วยเหตุผลตามวรรคก่อน เนื่องจากผมต้องการจะเขียนถึงภาพยนตร์ที่กล่าวถึง “ผู้หญิงที่สวยที่สุดในประวัติศาสตร์” โดยตรงทั้ง 3 นาง ได้แก่ เนเฟอตีติ (อียิปต์โบราณ, 1400 ปีก่อนคริสตกาล) เฮเลน แห่งทรอย (กรีก, 1200 ปีก่อนคริสตกาล) และคลีโอพัตรา (อียิปต์โบราณ, 50 ปีก่อนคริสตกาล) ซึ่งผมหาภาพยนตร์ที่กล่าวถึงทั้ง 3 นางโดยตรงได้ครบและได้เขียนบางส่วนที่เกี่ยวกับคลีโอพัตรา (ตอนที่ 1) และเรื่องราวของเนเฟอตีติแล้ว อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าราชินีกวินิเวียร์ (อังกฤษ, ค.ศ. 5) เป็นอีกนางหนึ่งที่ได้รับการกล่าวขานถึงอยู่เหมือนกันว่าเป็น “ผู้หญิงที่สวยที่สุดในประวัติศาสตร์” ซึ่งถ้านับกวินิเวียร์เพิ่มเข้าไปด้วยอีกนางหนึ่ง ก็จะมีจำนวนเท่ากับผู้หญิงที่สวยที่สุดในประวัติศาสตร์ของจีนคือ 4 คน (ไซซี, เตียวเสี้ยน, หยางกุ้ยเฟย และหวังเจาจิน) ผมจึงได้ลองหาภาพยนตร์ที่กล่าวถึงเรื่องราวของกวินิเวียร์โดยตรงเพื่อนำมาเขียนให้ได้ครบทั้ง 4 นาง
 
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับตำนานกษัตริย์อาเธอร์มีเป็นจำนวนมาก และมีการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เป็นระยะๆ ต่อเนื่องกันมาเป็นระยะเวลานานในช่วงระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมานี้ (จากปี 1953 ถึงปี 2007 มีการสร้างภาพยนตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับตำนานกษัตริย์อาเธอร์ออกมา มากกว่าสิบเรื่อง เริ่มตั้งแต่ อัศวินโต๊ะกลม ปี 1953 จนถึง King Arthur ปี 2004 และ Shrek the Third ในปี 2007) แต่ภาพยนตร์ที่กล่าวถึง “กวินิเวียร์” โดยตรงกลับมีเพียงเรื่องเดียวซึ่งสร้างเป็นหนังชุดฉายทางโทรทัศน์เมื่อประมาณ 4 – 5 ปีก่อนหน้านี้ และมีผู้สั่งเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเมื่อเร็วๆนี้เอง แต่เมื่อติดต่อไปที่ผู้จัดจำหน่ายปรากฏว่าจำหน่ายหมดแล้ว และไม่สามารถหาซื้อได้อีก จึงได้พิจารณาภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับตำนานกษัตริย์อาเธอร์ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น Knights of the Round Table (อัศวินโต๊ะกลม), Excalibur (ดาบเทพเจ้า), Merlin, King Arthur และ First Knight ฯลฯ ปรากฏว่าภาพยนตร์ทุกเรื่องมีเนื้อหากล่าวถึงกวินิเวียร์ แต่กล่าวถึงเป็นส่วนประกอบหนึ่งของเรื่องเท่านั้นมีเพียงเรื่อง First Knight ที่กล่าวถึงกวินิเวียร์เป็นเนื้อหาหลักและเป็นเนื้อหาส่วนใหญ่ด้วยเนื่องจากภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องการนำเสนอรักสามเส้าที่โด่งดัง และได้รับการกล่าวขวัญถึงมากที่สุดในตำนานของฝรั่ง ระหว่างกษัตริย์อาเธอร์, ราชินีกวินิเวียร์ และเซอร์ลานสลอท (ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นอัศวินที่มีฝีมือในการรบเก่งที่สุด, First Knight, ในบรรดาอัศวินโต๊ะกลมทั้งหมดของกษัตริย์อาเธอร์) และรักสามเส้านี้เองที่ทุกๆตำนานกล่าวตรงกันว่าเป็นชนวนเหตุทำให้กษัตริย์อาเธอร์สิ้นพระชนม์ และทำให้นครคาเมล็อทล่มสลาย
 
กวินิเวียร์นั้นได้รับการบรรยายถึงในตำนานต่างๆตั้งแต่ยุคโบราณที่เป็นนิยายปรัมปราของอังกฤษในแคว้นเวลช์ ผ่านตำนาน “Historia Regum Brittaniaeของ Monmouth สู่เรื่องราวโรแมนติคในตำนานยุคกลางที่มีงานเขียนของ Chretien de Troyes เป็นหลัก จนกระทั่งมาถึงยุคฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมที่ผ่านงานเขียนของ Mallory  ตลอดจนงานเขียนและบทละคร บทภาพยนตร์อีกมากมายนั้น นางได้รับการวาดภาพต่างๆแตกต่างกันมากมาย เช่นภาพของนางมารร้ายที่สมรู้ร่วมคิดกับชู้รักสวมเขาให้กษัตริย์อาเธอร์และมีส่วนสำคัญที่ทำให้กษัตริย์อาเธอร์สิ้นพระชนม์ บางตำนานก็วาดภาพนางเป็นผู้หญิงที่เลวร้าย จิตใจอ่อนแอ เป็นนักฉวยโอกาส ไปจนกระทั่งถึงภาพผู้หญิงที่ทั้งเข้มแข็งและแสนดี เปี่ยมด้วยคุณธรรม เพียงแต่โชคร้ายในความรักเท่านั้น ตัวอย่างเช่นในตำนานที่เขียนโดย Chretien ชื่อ The Knight of the Lion นางได้รับการยกย่องว่าเฉลียวฉลาด มีน้ำใจ และสุภาพอ่อนโยน ในตำนานที่เขียนโดย Sir Launfal นางเป็นหญิงแพศยา มากรัก หลายชาย ได้รับความรังเกียจจากคนและสังคมรอบข้าง ส่วนในตำนานยุคต้นๆนั้นมักบรรยายนางไปในทางร้ายเป็นส่วนใหญ่ เช่นว่านางเป็นชู้กับมอเดร็ด (หลานชายกษัตริย์อาเธอร์ซึ่งทรงแต่งตั้งให้ดูแลประเทศในระหว่างที่พระองค์ทรงไปทำศึกกับพวกโรมันในยุโรปที่มารุกรานฝรั่งเศส) และสมคบกันยึดอำนาจการปกครองจากกษัตริย์อาเธอร์ ทำให้กษัตริย์อาเธอร์ต้องยกทัพกลับมาทวงอำนาจคืน ซึ่งแม้จะรบชนะในสมรภูมิคัมลัน สามารถสังหารมอเดร็ดได้แต่พระองค์เองก็ได้รับบาดเจ็บสาหัส และสิ้นพระชนม์ในเวลาต่อมา ตำนานในยุคกลางก็ว่านางลักลอบเป็นชู้กับลานสล็อทจนกระทั่งกษัตริย์อาเธ่อรจับได้ และขณะที่นางกำลังจะถูกลงโทษประหารชีวิตนั้น ลานสล็อทก็เข้ามาช่วยและพานางหนีไปได้ ทำให้กษัตริย์อาเธอร์ต้องยกกำลังติดตามไป เมื่อพระองค์ไม่อยู่จึงเป็นโอกาสให้มอเดร็ดทำการปฏิวัติยึดอำนาจในเมืองคาเมล็อท ซึ่งนำไปสู่การสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์อาเธอร์ในที่สุด อย่างไรก็ตามผู้เขียนตำนานในยุคหลังๆ มักจะเขียนถึงนางทั้งทางดี และทางร้ายไปด้วยกันเพื่อให้เห็นคุณลักษณะของนางโดยละเอียด อย่างเช่นในภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นคุณลักษณะที่ดีที่สุดของกวินิเวียร์ เท่าที่มีปรากฏในตำนานต่างๆ อย่างไรก็ตามไม่ว่าตำนานต่างๆในแต่ละยุคสมัย จะเขียนถึงนางในลักษณะที่ต่างกันเพียงใดก็ตาม แต่ก็มีอยู่ประเด็นหนึ่งที่เขียนตรงกันแทบทั้งหมดทุกตำนานก็คือ นางเป็นผู้หญิงที่งดงามและมีเสน่ห์ยิ่ง และนางเป็นผู้หญิงที่สวยที่สุดบนเกาะอังกฤษ
 
 
สี่ : เรื่องราวในภาพยนตร์
 
ภาพยนตร์เริ่มต้น ณ ช่วงเวลาภายหลังจากที่กษัตริย์อาเธอร์ได้ทรงปราบปรามพวกอนารยะชนแซกซอนที่บุกขึ้นมาบนเกาะอังกฤษจากฝั่งทวีปยุโรปได้แล้ว และสามารถทำให้เกิดความสามัคคีระหว่างชนเผ่าต่างบนเกาะอังกฤษได้ แผ่นดินปราศจากสงคราม มีแต่ความสงบร่มเย็นและความเจริญไพบูลย์ พระองค์จึงได้คิดถึงการอภิเษกสมรสและได้ทำหนังสือสู่ขอท่านหญิงกวินิเวียร์แห่งเมืองเลออนเนส ซึ่งบิดาของนางได้ยกนางให้เป็นคู่หมั้นของพระองค์ตั้งแต่ที่นางยังเป็นเด็กเล็กๆอยู่ อย่างไรก็ตามลางร้ายได้เริ่มบังเกิดขึ้นเนื่องจากเจ้าชายมาลากัน (Prince Malagant) ซึ่งเป็นอัศวินที่เก่งกล้า มีอิทธิพลและมีกองทัพในมือที่เข้มแข็งที่สุดในบรรดาอัศวินโต๊ะกลมทั้งหมด ไม่พอใจกษัตริย์อาเธอร์เป็นการส่วนตัว และไม่เห็นด้วยกับแนวทางการปกครองของกษัตริย์อาเธอร์ โดยเจ้าชายมาลากันต้องการให้ดำเนินการปกครองทางการเมืองด้วยอำนาจเด็ดขาดของกษัตริย์ ในขณะที่กษัตริย์อาเธอร์ต้องการให้ปกครองด้วยระบบของตัวบทกฎหมาย การตัดสินผิดถูกต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายเท่านั้น ในด้านการพัฒนาประเทศเจ้าชายมาลากันต้องการขยายอำนาจอิทธิพลของประเทศออกไปอีกโดยอาศัยกำลังทหารด้วยการทำสงคราม (ถ้าเปรียบกับเรื่องสตาร์วอร์ มาลากันก็คือดาร์ด เวเดอร์ ที่ต้องการใช้พลังอำนาจทางด้านมืด) ในขณะที่กษัตริย์อาเธอร์ไม่ต้องการให้มีสงคราม ในที่สุดเจ้าชายมาลากันก็แตกหักกับกษัตริย์อาเธอร์และถอนตัวออกจากคาเมล็อทและอัศวินโต๊ะกลม แผ่นดินอังกฤษจึงแตกออกเป็นสองฝ่ายและรอเวลาที่จะเกิดสงครามใหญ่อีกครั้งหนึ่ง
 
ในช่วงเวลานี้เองก็ปรากฏบุรุษหนุ่มเร่ร่อน “ลานสล็อท” นักเผชิญโชคเผชิญภัย ซึ่งไม่รู้จักคำว่า สันติภาพ หรือ คุณธรรม และไม่เคยคิดหวังที่จะเป็น “อัศวิน” เขาเพียงทำมาหาเลี้ยงชีพไปวันๆด้วยความสามารถที่เขามีอยู่ คือการใช้ดาบซึ่งเป็นเรื่องที่เขามีความสามารถมากที่สุด และสามารถหารายได้เลี้ยงตัวเองจากการดวลดาบกับใครก็ได้ที่ประสงค์จะท้าทาย
 
“ลานสล็อท” (ด้านซ้ายมือ) บุรุษนักเผชิญโชคเผชิญภัย เขาไม่รู้จักคำว่า สันติภาพ หรือคุณธรรม ไม่เคยคิดฝันอยากเป็นอัศวิน เขาเก่งเรื่องการใช้ดาบ และหารายได้จากการดวลดาบกับทุกคนที่ประสงค์จะท้าทาย
 
กวินิเวียร์เป็นบุตรสาวของเจ้าเมืองเลออนเนสซึ่งเป็นเพื่อนของกษัตริย์อาเธอร์ ตามเนื้อเรื่องในภาพยนตร์เป็นเหตุการณ์ภายหลังจากที่บิดาของนางได้เสียชีวิตไปแล้ว และนางทำหน้าที่ปกครองดูแลเมืองเลออนเนสสืบต่อจากบิดา นางเป็นหญิงสาวที่สวยงามมีสเน่ห์ เข้มแข็ง เฉลียวฉลาด แต่ก็สุภาพอ่อนโยน และมีจิตใจเมตตากรุณา เจ้าชายมาลากันเริ่มขยายอำนาจด้วยการรุกรานราษฎรในเขตปกครองของเลออนเนส เนื่องจากเมืองเลออนเนสเป็นเมืองที่อ่อนแอทางการทหารที่สุดการโจมตีทุกครั้งจะอาศัยข้ออ้างต่างๆเช่นการบุกเข้ามาเผาหมู่บ้านต่างๆ โดยอ้างว่าคนในหมู่บ้านบางคนเข้าไปโขมยของในเขตปกครองของตน ฯลฯ ที่ปรึกษาอาวุโสของกวินิเวียร์แนะนำว่า ถึงเวลาที่นางควรจะพิจารณาคำสู่ขอที่มีมาอย่างเป็นทางการของกษัตริย์อาเธอร์ได้แล้ว ทั้งนี้บิดาของนางได้ยกนางให้เป็นคู่หมั้นของกษัตริย์อาเธอร์ตั้งแต่ครั้งที่นางยังเป็นเด็กเล็กๆอยู่ ซึ่งภายหลังการแต่งงานเมืองเลออนเนสก็จะได้รับความคุ้มครองจากกษัตริย์อาเธอร์อย่างเป็นทางการ กวินิเวียร์ตอบว่านางพร้อมจะแต่งงานกับกษัตริย์อาเธอร์แล้ว นางรู้สึกสงสารกษัตริย์อาเธอร์ว่าสินสอดที่นางจะนำไปถวายพระองค์คือแผ่นดินที่ตกอยู่ในอันตราย แต่นางก็จะรักพระองค์ นางกล่าวว่านางจะไม่มีวันแต่งงานกับชายใด โดยที่ไม่ได้รัก ในสายตาของนาง กษัตริย์อาเธอร์ใม่ใช่คนหลงอำนาจ นางสามารถมองเห็นคุณธรรมและเมตตาธรรมในพระเนตรของกษัตริย์อาเธอร์ได้ นางไม่เคยพบใครเหมือนพระองค์ และนางจะรักใครอื่นไม่ได้อีกแล้ว
 
อย่างไรก็ตามในระหว่างการส่งตัวเจ้าสาวให้กับกษัตริย์อาเธอร์นั้น ได้เกิดเรื่องร้ายขึ้น โดยเจ้าชายมาลากันได้นำกองทหารเข้ามาซุ่มโจมตี เพื่อลักพากวินิเวียร์ไปเป็นตัวประกันในการต่อรองตั้งเงื่อนไขทางการเมืองการปกครองในอังกฤษกับกษัตริย์อาเธอร์ ลานสล็อทไปพบเหตุการณ์ในระหว่างที่กวินิเวียร์กำลังหลบหนีพวกทหารของเจ้าชายมาลากันอยู่พอดี และด้วยความเฉลียวฉลาดและความสามารถในการใช้ดาบของเขา จึงสามารถช่วยกวินิเวียร์จากเงื้อมมือพวกทหารของเจ้าชายมาลากันได้ ลานสล็อทรู้สึกว่าตัวเองตกหลุมรักกวินิเวียร์และเขารู้ด้วยสัญชาติญาณว่ากวินิเวียร์เองก็รู้สึกเช่นเดียวกัน เขาแสดงความรู้สึกอย่างเปิดเผยว่าเขาต้องการนาง และรู้ว่านางเองก็ต้องการเขาเช่นกัน กวินิเวียร์สามารถควบคุมอารมณ์ของตนได้ และปฏิเสธคำขอของลานสล็อท อย่างไรก็ตามก่อนจากกันลานสล็อทขอให้กวินิเวียร์อย่าหลบสายตาเขาถ้านางไม่มีอะไรปิดบังเขาจริง กวินิเวียร์เกือบเผลอใจจูบปากกับลานสล็อท แต่ก็ควบคุมตัวเองไว้ได้ทัน นางบอกลานสล็อทว่าถ้าเขายังมีศักดิ์ศรีก็ขออย่าให้ทำเช่นนี้กับนางอีก ซึ่งลานสล็อทตอบว่าเขาไม่รู้จักศักดิ์ศรีแต่ขอยืนยันว่าเขาจะไม่จูบนางอีกถ้านางไม่เป็นฝ่ายขอเขาก่อน และถามว่านางจะเข้าพิธีอภิเษกสมรสเมื่อใด นางบอกว่ากำหนดไว้เป็นวันกลางฤดูร้อน    ลานสล็อทบอกทิ้งท้ายไว้ว่าก่อนรุ่งอรุณของวันกลางฤดูรัอนนางจะเป็นฝ่ายขอให้เขาจูบนาง
 
ลานสล็อทช่วยกวินิเวียร์จากการติดตามของพวกทหารของเจ้าชายมาลากันไว้ได้เขารู้สึกตกหลุมรักนางในครั้งนั้นเอง และมั่นใจด้วยว่านางก็รู้สึกเช่นเดียวกัน รักแรกพบ?
 
เมื่อลานสล็อทส่งกวินิเวียร์จนถึงบริเวณที่ใกล้กับถนน ซึ่งกองทหารของกษัตริย์อาเธอร์กำลังติดตามค้นหากวินิเวียร์อยู่ เขาก็แยกทางจากไป กวินิเวียร์ไม่ได้บอกเล่าเรื่องราวที่นางได้รับความช่วยเหลือจากลานสล็อทให้ใครทราบ นางเดินทางไปพบกษัตริย์อาเธอร์ซึ่งกำลังรอต้อนรับนางอยู่ด้วยความดีใจที่ทราบว่านางปลอดภัย กษัตริย์อาเธอร์บอกกับนางว่านางไม่จำเป็นต้องแต่งงานกับเขาก็ได้ ถ้าหากเพียงเพราะนางต้องการทำตามความตั้งใจของบิดาของนาง หรือเพราะเมืองเลออนเนสของนางมีภัย เพราะไม่ว่านางจะแต่งงานกับเขาหรือไม่ก็ตาม เขาจะต้องปกป้องคุ้มครองเมืองเลออนเนสอยู่แล้ว นางตอบว่านางอยากแต่งงานกับกษัตริย์อาเธอร์ไม่ใช่เพราะมงกุฎกษัตริย์ กองทัพ หรือนครคาเมล็อทที่ยิ่งใหญ่ แต่นางต้องการแค่กษัตริย์อาเธอร์เท่านั้น ถ้ากษัตริย์อาเธอร์รักนาง กษัตริย์อาเธอร์แสดงบาดแผลที่มือให้กวินิเวียร์ดู บอกนางว่าเขาจำได้ว่าเลือดไหลออกมามาก และกวินิเวียร์นำมือเขาไปกุมไว้แล้วใช้แขนเสื้อของตัวเองเช็ดเลือดให้พระองค์ กวินิเวียร์บอกว่าแขนเสื้อยังเป็นรอยอยู่เลย กษัตริย์อาเธอร์บอกว่าก่อนหน้านั้นเขาไม่เคยรู้สึกมาก่อนเลยว่าชีวิตมีความสุขเพียงใดหากมีผู้หญิงคนหนึ่งรัก และเป็นครั้งแรกในชีวิตที่เขาอยาก.... ซึ่งเขาไม่สามารถพูดคำนี้ออกมาได้ กวินิเวียร์ต้องถามย้ำว่าเขาอยากอะไร กษัตริย์อาเธอร์ตอบเป็นปริศนาว่า อะไรที่นักปราชญ์บอกว่าไม่คงทน อะไรที่ไม่สามารถจะให้สัญญาได้ อะไรที่อ้อยอิ่งอยู่นานกว่าแสงแดด แต่แม้จะเป็นเช่นนั้นจริงๆกษัตริย์อาเธอร์บอกกวินิเวียร์ว่า เขาไม่อยากตายโดยที่ชีวิตยังคงไร้ความอบอุ่นอยู่บนใบหน้า และบอกกับกวินิเวียร์ว่า “จงแต่งงานกับตำแหน่งกษัตริย์ แต่รักตัวข้า” กวินิเวียร์ตอบพระองค์ว่า “หม่อมฉันรักพระองค์ได้วิธีเดียว คือรักหมดทั้งกาย ทั้งใจ และวิญญาณ”
 
กษัตริย์อาเธ่อร์รอต้อนรับกวินิเวียร์ด้วยความดีใจที่ได้ทราบข่าวว่านางปลอดภัย
 
เมื่อแยกทางกับกวินิเวียร์แล้ว ลานสล็อทก็ตระเวนเดินทางเร่ร่อนต่อไป และด้วยความบังเอิญหรืออาจเป็นฟ้าลิขิตก็ตาม เขาได้ช่วยคนเลี้ยงม้าของกษัตริย์อาเธอร์ติดตามม้าที่ตกใจวิ่งหนีออกมาและสามารถจับม้าตัวดังกล่าวไว้ได้ คนเลี้ยงม้าบอกเขาว่าม้าตัวดังกล่าวเป็นม้าสีขาวที่กษัตริย์ทรงเลือกไว้ให้ราชินีกวินิเวียร์ของพระองค์ และกำลังจะมีพิธีเลี้ยงฉลองกันในเมืองในคืนนั้น ลานสล็อทจึงเข้าไปในเมืองซึ่งกำลังมีเกมการละเล่นผ่านด่านอันตรายอยู่โดยผู้ชนะจะได้รับจูบจากท่านหญิงกวินิเวียร์ มีผู้เข้าแข่งขันหลายคนแต่ก็ไม่มีใครสามารถผ่านเข้าไปได้แม้เพียงด่านต้นๆ ลานสล็อทสมัครเข้าแข่งขันด้วยโดยเขาไม่สวมชุดเกราะป้องกันตัว และเข้าสู่เกมการเล่นโดยที่ผู้ควบคุมหยุดเขาไว้ไม่ทัน    ลานสล็อทสามารถฝ่าด่านอันตรายเข้าไปได้ทั้งหมด และเมื่อถึงเวลาที่เขาจะได้รับรางวัลเขาทวงคำพูดที่เขาบอกกวินิเวียร์ไว้ตอนแยกทางกันในป่าว่า “ถ้านางไม่เอ่ยปากขอก่อน เขาก็จะไม่จูบนางอีก” แต่กวินิเวียร์ปฏิเสธที่จะขอ ลานสล็อทจึงประกาศกับประชาชนว่าเขาไม่บังอาจจูบท่านหญิงกวินิเวียร์ที่น่ารักเพราะเขามีหัวใจเพียงดวงเดียวเท่านั้นที่จะสูญเสียได้
 
ลานสล็อทเข้าร่วมในเกมฝ่าด่านอันตรายโดยไม่สวมเกราะป้องกันใดๆ และเขาสามารถฝ่าทุกด่านเข้าไปได้โดยปลอดภัย
 
กษัตริย์อาเธอร์ทรงชื่นชมความสามารถของลานสล็อทเป็นอันมาก พระองค์ไม่เคยเห็นใครองอาจกล้าหาญ และแคล่วคล่องว่องไวดังเช่นลานสล็อทเลย พระองค์ชักชวนให้ลานสล็อทรับตำแหน่งอัศวินโต๊ะกลมที่ว่างอยู่แทนเจ้าชายมาลากันที่ถอนตัวออกไป แต่ลานสล็อทปฏิเสธข้อเสนอของพระองค์ ในระหว่างเวลานั้นเองเจ้าชายมาลากันวางแผนบุกชิงตัวกวินิเวียร์อีกครั้ง โดยส่งเรือเข้ามาตามลำน้ำ และแจ้งข่าวแก่กวินิเวียร์ว่าเป็นคนสนิทของนางนำข่าวจากเลออนเนสมาให้และขอให้นางไปพบที่เรือ ลานสล็อทพบเห็นเหตุการณ์ขณะที่มีการบังคับพาตัวกวินิเวียร์ไป เขาเข้าขัดขวางการลักพาตัวทันทีแต่ไม่สามารถขัดขวางได้จึงติดตามต่อไปอย่างไม่ลดละ เจ้าชายมาลากันนำตัวกวินิเวียร์ไปขังไว้ในห้องขังในถ้ำแห่งหนึ่งบนภูเขา แต่ลานสล็อตก็ออกอุบายว่าตัวเขาเป็นผู้แทนของกษัตริย์อาเธอร์มาเจรจาเงื่อนไขกับเจ้าชายมาลากัน และขอพบกวินิเวียร์ก่อนเพื่อเป็นการยืนยันว่ากวินิเวียร์ยังปลอดภัยอยู่ แล้วจึงจะกลับไปแจ้งเงื่อนไขของเจ้าชายมาลากันให้กษัตริย์อาเธอร์ทรงทราบ เมื่อได้พบกวินิเวียร์ ลานสล็อทเสี่ยงชีวิตช่วยกวินิเวียร์และพาหนีออกมาได้อีกครั้งหนึ่ง
 
การช่วยเหลือของลานสล็อทโดยยอมเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย และองอาจกล้าหาญอีกครั้งเป็นครั้งที่สองภายในระยะเวลาไม่กี่วัน ทำให้กวินิเวียร์ประทับใจในตัวลานสล็อทมาก อีกทั้งระยะเวลาและสภาพการเดินทางที่เปิดโอกาสให้ได้มีความใกล้ชิดสนิทสนมกันมาก ก็เป็นใจให้อีกด้วย กวินิเวียร์ได้รู้จักชีวิตของลานสล็อทมากขึ้น ได้รู้ว่าเขาเป็นเด็กกำพร้าเร่ร่อนมานานภายหลังจากที่บ้านของเขาถูกเผาทำลาย ในระหว่างการสู้รบแย่งชิงอำนาจกัน ระหว่างเหล่าขุนศึกต่างๆบนเกาะอังกฤษ ความสง่างาม ความหนุ่มกระชุ่มกระชวย ความองอาจกล้าหาญ เผชิญโชคเผชิญภัย และความเปิดเผยในการแสดงความรักและความต้องการในตัวนางของลานสล็อท ทำให้กวินิเวียร์ไม่สามารถควบคุมสัญชาตญาณทางอารมณ์ที่นางมีต่อลานสล็อทได้อีกต่อไป      นางเผลอไผลไปชั่วขณะและสวมกอดลานสล็อทด้วยความซาบซึ้งตื้นตัน แต่ก็พอดีที่กองทหารของกษัตริย์อาเธอร์มาถึงจึงไม่ได้เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น
 
เจ้าชายมาลากันส่งคนมาลักพากวินิเวียร์อีกครั้งทางเรือด้วยการลวงว่าเป็นคนสนิทของนางนำข่าวมาส่งให้ ลานสล็อทเสี่ยงชีวิตพากวินิเวียร์หนีออกมาทางช่องน้ำที่ไหลผ่านถ้ำที่คุมขัง กระโดดลงมาทางน้ำตกที่หน้าผา ทั้งสองหนีออกมาได้อย่างปลอดภัย
 
ครั้งนี้กษัตริย์อาเธอร์ถือว่าเป็นความดีความชอบครั้งใหญ่มากสำหรับลานสล็อท และเสนอตำแหน่งอัศวินให้เขาอีกครั้งหนึ่งกลางที่ประชุมอัศวินโต๊ะกลม อย่างไรก็ตามกวินิเวียร์คัดค้านโดยให้ความเห็นว่า ชีวิตที่อิสระและการเผชิญโชคเผชิญภัยเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ลานสล็อทเก่งกล้าและองอาจ หากนำเขาเข้ามารับตำแหน่งอัศวินจะทำให้เขาสูญเสียคุณลักษณะที่ดีเด่นดังกล่าวไป (ใจจริงนางกลัวว่าถ้าเขาอยู่ต่อไปจะทำให้นางอึดอัดใจและอาจเกิดเรื่องไม่ดีไม่งามได้) แต่คราวนี้ลานสล็อทกตกลงใจรับตำแหน่งอัศวิน โดยให้เหตุผลว่าที่คาเมล็อทเขาได้พบสิ่งซึ่งมีค่าต่อเขามากกว่าชีวิตที่อิสระ และการเผชิญโชคเผชิญภัยกวินิเวียร์เข้าไปพบเขาในโบสถ์ในขณะที่เขาเก็บตัวก่อนรับตำแหน่งอัศวิน ขอร้องให้เขาไปจากคาเมล็อทเสียเพื่อไม่ให้เกิดปัญหายุ่งยากอีกต่อไป แต่เขาปฏิเสธโดยยืนยันว่าเขาจะไปจากคาเมล็อททันทีหากนางไปด้วยกับเขา หลังจากนั้นก็มีพิธีแต่งตั้งลานสล็อทเป็นอัศวิน และตามมาด้วยพิธีอภิเษกสมรสระหว่างกษัตริย์อาเธอร์กับกวินิเวียร์
 
กวินิเวียร์เข้าไปขอร้องให้ลานสล็อทไปจากคาเมล็อทแต่ลานสล็อทไม่ยอม
 
กษัตริย์อาเธ่อร์เข้าพิธีอภิเษกสมรสกับกวินิเวียร์
 
ภายหลังพิธีอภิเษกสมรสนั้นเอง ก็มีข่าวร้ายเข้ามาถึงคาเมล็อทว่า เจ้าชายมาลากันได้นำกองทัพบุกเข้าเผาทำลายเมืองเลออนเนสแล้ว กษัตริย์อาเธอร์รีบนำกองทัพออกไปช่วยเหลือทันที และได้เกิดการปะทะกันขึ้นระหว่างกองกำลังทั้งสองโดยกองทัพของกษัตริย์อาเธอร์สามารถขับไล่กองทัพของเจ้าชายมาลากันให้ล่าถอยไปได้ และยังโชคดีที่ตัวเมืองส่วนใหญ่ยังไม่ได้ถูกเผาทำลาย ในขณะที่ประชาชนจำนวนมากที่ถูกขังไว้ในโบสถ์ก็ยังรอดชีวิตอยู่
 
กษัตริย์อาเธอร์นำกองทัพออกไปช่วยเมืองเลออน
 
ในระหว่างการพักกองกำลังและปรับปรุงซ่อมแซมเมืองเลออนเนสอยู่นั้น ลานสล็อทพบว่าตัวเองไม่สามารถจะทนอยู่ในสภาพที่ได้พบกวินิเวียร์ทุกวัน แต่ไม่อาจได้นางมาเป็นของตนต่อไปได้ จึงได้ตัดสินใจไปจากกษัตริย์อาเธอร์ เมืองคาเมล็อทและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไปจากกวินิเวียร์ เขาเข้าไปบอกลานางสองต่อสองทำให้กวินิเวียร์สะเทือนใจมาก นางบอกเขาว่านางจะไม่มีวันลืมเขา และก่อนจากกันนั้นเองนางได้เอ่ยปากขอให้เขาจูบนาง ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่เขาเคยบอกนางไว้ตั้งแต่การจากกันครั้งแรกแล้ว ว่าเขาจะไม่ยอมจูบนางอีกหากนางไม่เป็นฝ่ายขอให้เขาทำ ทั้งสองจูบล่ำลากันอย่างซาบซึ้งดูดดื่มและอาลัยอาวรณ์ และนับเป็นโชคร้ายอย่างยิ่งสำหรับทุกคนที่กษัตริย์อาเธอร์เสด็จเข้ามาพบพอดี
 
 
กษัตริย์อาเธอร์ทรงปลีกวิเวกโดยลำพังอยู่ในโบสถ์เป็นเวลาหลายวัน ครุ่นคิดถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นแต่พระองค์ก็ไม่สามารถทำใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ พระองค์ยังคงโศกเศร้าระทมทุกข์และสูญเสียความเชื่อมั่นในทุกสิ่งทุกอย่างที่พระองค์เคยศรัทธามาในชีวิต พระองค์ทรงระทมทุกข์มากว่าเหตุใดเรื่องแบบนี้จึงเกิดขึ้นได้กับพระองค์ แต่ในฐานะกษัตริย์ที่จะต้องจัดการกับเรื่องที่เกิดขึ้นต่อไปไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง พระองค์จึงไปพบทั้งกินิเวียร์และลานสล็อท เพื่อฟังคำชี้แจงถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นอีกครั้ง
 
ในการสอบถามกวินิเวียร์คำแรกที่กษัตริย์อาเธอร์ถามนางคือ ขอให้นางพูดความจริงแม้ว่าความจริงนั้นจะทำให้พระองค์เจ็บปวด คำถามแรกคือนางเคยมอบกายให้ลานสล็อทหรือไม่   นางตอบว่าไม่เคย พระองค์ถามต่อ ว่านางรักลานสล็อทหรือไม่ นางตอบว่ารัก กษัตริย์อาเธอร์จึงหันกายกลับมา และเดินเข้ามาเผชิญหน้ากับนางในระยะใกล้และถามว่า พระองค์ผิดตรงไหน กวินิเวียร์ตอบว่าไม่ใช่ความผิดของพระองค์ กษัตริย์อาเธอร์บอกนางว่าพระองค์เห็นใบหน้าของนางขณะที่กำลังจูบลานสล็อทอยู่ กวินิเวียร์ตอบว่าความรักมีหลายหน้า และว่านางอาจมองพระองค์ในอีกแบบหนึ่งแต่ไม่ได้รักน้อยกว่าที่รักลานสล็อท กษัตริย์อาเธอร์จึงบอกนางว่า เมื่อหญิงหนึ่งรักสองชายนางต้องเลือกเอาคนหนึ่ง กวินิเวียร์ตอบว่านางเลือกพระองค์ กษัตริย์อาเธอร์ตอบว่า นางเลือกพระองค์ด้วยใจภักดิ์แต่เลือกลานสล็อทด้วยใจปอง กวินิเวียร์ตอบว่าพระองค์ได้เหนือกว่า เพราะความภักดีมีอำนาจมากกว่าหัวใจ นางบอกว่านางไม่ได้ตีค่าความรู้สึกไว้สูงส่งเลย เพราะความรู้สึกมีอยู่เพียงชั่วขณะแล้วก็ผ่านไป แต่ความภักดีช่วยให้นางอยู่ได้อย่างมั่นคงชั่วชีวิต กษัตริย์อาเธอร์ตอบว่า เหมือนใจของพระองค์แต่เมื่อพระองค์มองนางนับจากนั้นไป ทุกสิ่งที่พระองค์เคยศรัทธาได้เลือนหายไปหมดแล้ว พระองค์บอกว่าพระองค์ต้องการความรักจากนาง กวินิเวียร์ตอบว่าพระองค์ได้ความรักนั้นแล้ว กษัตริย์อาเธอร์จึงบอกให้นางมองพระองค์เหมือนกับที่นางมองลานสล็อท ซึ่งกวินิเวียร์ไม่สามารถทำได้ นางบอกว่านางลืมตัวไปชั่วขณะ คำชี้แจงของนางทำให้กษัตริย์อาเธอร์โกรธมาก พระองค์บอกว่า ใช่นางไร้เดียงสา แต่นางรักลานสล็อท ถ้านางไร้เดียงสามากกว่านี้อีกพระองค์คงต้องเป็นบ้าไปแล้วแน่ๆ กวินิเวียร์บอกว่านางจะทำทุกอย่างที่พระองค์รับสั่ง แต่กษัตริย์อาเธอร์บอกว่าพระองค์ไม่รู้ว่าจะคิดอะไรอีกแล้ว พระองค์มองไม่เห็นแม้แต่หนทางข้างหน้า พระองค์กล่าวว่ามีแต่คนโง่เท่านั้นที่จะฝันถึงสิ่งที่เขาไม่มีทางจะเอามาเป็นของตัวเองได้ กวินิเวียร์ขอให้พระองค์ยกโทษให้นาง แต่พระองค์ตอบว่า ไม่มีอะไรจะยก พระองค์เคยเฝ้าแต่ฝันถึงเธอมาตลอด เป็นความฝันที่แสนหวานขณะที่ฝันนั้นยังคงอยู่
 
หลังจากนั้นพระองค์ก็ไปหาลานสล็อทเพื่อฟังคำชี้แจงจากเขา ลานสล็อทยอมรับกับพระองค์ว่าเขาเคยรู้จักกวินิเวียร์มาก่อน เขารักนางและมีความปราถนาในตัวนาง และติดตามนางมาที่คาเมล็อท แต่เขาไม่ได้มีเจตนาจะทรยศพระองค์ และไม่ได้มีเจตนาจะทำให้พระองค์เจ็บปวด ซึ่งกษัตริย์อาเธอร์ตอบว่าพระองค์ไม่สามารถจะไม่เจ็บปวดได้ ลานสล็อทยืนยันว่ากวินิเวียร์เป็นผู้บริสุทธิ์ แต่กษัตริย์อาเธอร์บอกลานสล็อทว่านางจะบริสุทธิ์ได้อย่างไรในเมื่อนางยอมให้ลานสล็อทกอดจูบ          พระองค์ทรงตั้งข้อกล่าวหาว่าลานสล็อทเป็นกบฎตามกฎหมายของคาเมล็อท ซึ่งลานสล็อทจะต้องไปแก้ตัวในศาลและกฎหมายจะเป็นผู้วินิจฉัย ซึ่งในการชี้แจงต่อที่ประชุมอัศวินโต๊ะกลมนั้น กษัตริย์อาเธอร์แจ้งต่อที่ประชุมว่าใน ในฐานะส่วนตัวพระองค์ยกโทษให้ทั้งสองคนได้ แต่ในฐานะกษัตริย์พระองค์ต้องการความยุติธรรม จึงจำเป็นต้องเปิดการไต่สวนที่จัตุรัสใหญ่กลางเมืองคาเมล็อท ซึ่งมีอัศวินบางคนคัดค้านว่าเรื่องนี้น่าจะไต่สวนในที่เฉพาะตัว แต่กษัตริย์อาเธอร์โต้แย้งว่าศักดิ์ศรีของคาเมล็อทไม่ใช่เรื่องเฉพาะตัว พระองค์จะต้องซ่อนตัวอยู่ในมุมมืด ราวกับว่าพระองค์อับอายขายหน้าอย่างนั้นหรือ พระองค์จึงต้องการให้เปิดประตูเมือง เพื่อให้ให้ทุกคนอยู่ที่นั่น ให้พลเมื่องได้รู้ความจริง และให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าเห็นว่ามีกฎหมายปกครองคาเมล็อทอยู่
 
อย่างไรก็ตามการตัดสินใจเปิดการพิจารณาคดีในที่สาธารณะต่อหน้าประชาชน โดยเปิดประตูเมืองให้ทุกคนสามารถเข้ามาฟังการพิจารณาคดีได้นั้น เป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดยิ่งของกษัตริย์อาเธอร์ ซึ่งอาจเป็นเพราะพระองค์ทรงหมกมุ่นอยู่แต่ความเจ็บปวดของพระองค์จนลืมนึกไปว่า ขณะนั้นเจ้าชายมาลากันกำลังวางแผนทำลายพระองค์และคาเมล็อทอยู่ สถานทิ่พิจารณาคดีเป็นทำเลที่ตั้งที่ง่ายต่อการถูกปิดล้อมเนื่องจากล้อมรอบอยู่ด้วยกำแพงและหอคอยสูง และการเปิดประตูเมืองทำให้กองกำลังของเจ้าชายมาลากันสามารถแทรกซึมเข้ามาได้โดยง่าย โดยหน่วยพลธนูสามารถขึ้นไปประจำการบนกำแพงเมืองและหอคอยที่ล้อมรอบที่ประชุมอยู่ได้ทั้งหมด ในขณะที่ประชาชนที่มาร่วมพิจารณาคดีล้วนไม่มีอาวุธ และทหารของกษัตริย์อาเธอร์ไม่ได้เตรียมการสำหรับการโจมตีอย่างคาดไม่ถึงเลย
 
สถานที่พิจารณาคดีที่จัตุรัสใหญ่ใจกลางเมืองเป็นจุดอ่อนที่ง่ายต่อการปิดล้อม และการแทรกซึมของฝ่ายตรงข้าม
 
ในการพิจารณาคดีนั้น กวินิเวียร์และลานสล็อทถูกกล่าวโทษในส่วนของตนและสมคบคิดซึ่งกันและกัน ทำความเสื่อมเสียให้ราชอาณาจักรและละเมิดสิทธิ์ของกษัตริย์ ความผิดครั้งนี้เป็นความผิดในโทษฐานกบฏต่อราชอาณาจักรคาเมล็อท โดยมีบทลงโทษสถานหนักคือตาย ลานสล็อทเป็นคนแรกที่ต้องให้การแก้ขอกล่าวหา ซึ่งเขาขอชี้แจงกับกษัตริย์อาเธอร์เป็นการส่วนตัว เขาเข้าไปคุกเข่ายืนยันกับกษัตริย์อาเธอร์อีกครั้งหนึ่งว่ากินิเวียร์เป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ถ้าหากชีวิตของเขาสามารถรับใช้คาเมล็อทได้เขายินดีสละชีวิตทันที่ โดยขอเพียงให้พระองค์มีรับสั่งมา จากนั้นก็จะเป็นการชี้แจงของกวินิเวียร์ แต่ก่อนที่จะดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป กองกำลังของเจ้าชายมาลากันก็ได้ปรากฏตัวขึ้นพร้อมกันทุกจุด และพากันบุกเข้ายึดป้อมปราการทั้งหมดบนกำแพงรอบที่พิจารณาดคี และเล็งลูกธนูเข้ามายังสถานที่พิจารณาคดี ขณะเดียวกันเจ้าชายมาลากันก็นำกองกำลังบุกเข้ามาทางประตูใหญ่ของเมืองที่เปิดอยู่ เนื่องจากทหารของกษัตริย์อาเธอร์ที่ควบคุมการเปิดปิดประตูอยู่ไม่สามารถปิดประตูได้เนื่องจากการขัดขวางโดยกองกำลังของเจ้าชายมาลากัน ที่แทรกซึมเข้ามาก่อนหน้านั้น
 
 
 
เจ้าชายมาลากันสามารถนำกองกำลังบุกเข้ามาถึงตัวกษัตริย์อาเธอร์ได้ และภายใต้การล้อมของพลธนูโดยรอบนั้น เจ้าชายมาลากันได้ประกาศกับประชาชนที่มารวมตัวกันอยู่ในที่พิจารณาคดีว่า เขาสามารถปิดล้อมสถานที่พิจารณาคดีและคุมเส้นทางเข้าออกได้หมดทุกทางแล้ว ขอให้ทุกคนยอมแพ้และสวามิภักดิ์ต่อเขามิฉะนั้นเขาจะสังหารกษัตริย์อาเธอร์และเผาเมืองคาเมล็อทเสีย เขาจะปลดปล่อยประชาชนออกจากความฝันของอาเธอร์ กฎหมายของอาเธอร์ และพระเจ้าของอาเธอร์ จากนั้นเขาบังคับให้กษัตริย์อาเธอร์คุกเข่าให้เขาต่อหน้าประชาชน แต่กษัตริย์อาเธอร์ได้ประกาศต่อราษฎรและทหารของพระองค์ว่าคำสั่งของพระองค์ครั้งสุดท้ายคือขอให้ทุกคนต่อสู้ให้ถึงที่สุดอย่ายอมแพ้ พลธนูพากันระดมยิงใส่พระองค์จนพระองค์ได้รับบาดเจ็บสาหัสทันที หลังจากนั้นประชาชนและทหารของกษัตริย์พากันต่อสู่กับทหารของเจ้าชายมาลากันจนได้ชัยชนะในที่สุด โดยลานสล็อทสามารถสังหารเจ้าชายมาลากันได้ในการต่อสู้
 
 
 
เมื่อการต่อสู้ยุติลงในระหว่างเวลาก่อนจะสิ้นพระชนม์ ลานสล็อทได้เข้ามาดูอาการของพระองค์ด้วยความเป็นห่วง พระองค์ทรงชมเชยลานสล็อทว่าเป็นอัศวินที่มีฝีมือในการต่อสู้เก่งที่สุดและพระองค์แต่งตั้งให้ลานสล็อทเป็นอัศวินอันดับหนึ่ง (First Knight) รับผิดชอบดูแลคาเมล็อทต่อจากพระองค์ และฝากให้เขาดูแลกวินิเวียร์ด้วย จากนั้นพระองค์ได้หันมาทางกินิเวียร์และบอกกับนางว่า พระองค์เข้าใจความจริงแล้ว พระองค์เห็นแสงอาทิตย์ในดวงตาของนางยามที่มองพระองค์ด้วยความเป็นห่วง แล้วพระองค์ก็สิ้นพระชนม์ในอ้อมแขนของกวินิเวียร์
 
กษัตริย์อาเธ่อร์กล่าวกับกินิเวียร์ด้วยใบหน้าเบิกบานแจ่มใสว่า พระองค์เข้าใจความจริงแล้ว พระองค์ทรงเห็นแสงอาทิตย์ในดวงตาของนางขณะที่กำลังมองพระองค์ด้วยความเป็นห่วง แล้วพระองค์ก็สิ้นพระชนม์ในอ้อมแขนของกวินิเวียร์
 
พระศพของกษัตริย์อาเธ่อร์ได้ถูกนำออกไปสู่ทะเลท่ามกลางความอาลัยรักของทหารและราษฎรของพระองค์
 
ห้า : ข้อคิดเห็นต่อภาพยนตร์เรื่องนี้โดยทั่วไป
 
ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ แค่ดารานำแสดง คือ ฌอน คอนเนอรี่ พระเอกเจมส์บอนด์ 007 คนแรก และริชาร์ด เกียร์ พระเอกยอดนิยม ก็บอกถึงความยิ่งใหญ่ของภาพยนตร์เรื่องนี้ได้แล้ว ผู้แสดงหลักในโครงข่ายรักสามเส้าคือ ฌอน คอนเนอรี่ (กษัตริย์อาเธอร์) ริชาร์ด เกียร์ (เซอร์ลานสล็อท) และจูเลีย ออมอนด์          ( ราชินีกวินิเวียร์) ให้บุคลิกลักษณะและบทบาทการแสดงได้สมกับเนื้อหาตำนานในอุดมคติเป็นอย่างดี ฌอน คอนเนอรี่ แสดงได้สมเป็นกษัตริย์อาเธอร์ทุกประการ ความสง่าผ่าเผย บุคลิกภาพที่ยิ่งใหญ่และองอาจกล้าหาญ ความเมตตากรุณาที่เปล่งฉายออกมาทางบุคลิกลักษณะและแววตา รวมทั้งในยามที่พระองค์เจ็บปวด จากการได้รู้เรื่องชู้สาวระหว่างราชินีของพระองค์กับอัศวินคู่ใจของพระองค์นั้นก็แสดงได้ซาบซึ้งสะเทือนใจยิ่ง สำหรับผู้ที่เคยชมภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับตำนานกษัตริย์อาเธอร์เรื่องอื่นๆส่วนใหญ่ มาก่อนหน้านี้อาจไม่ค่อยชอบใจและสงสัยว่า ทำไมกษัตริย์อาเธอร์ถึงแก่อย่างนี้ เพราะในเรื่องนี้พอจะประมาณได้ว่ากษัตริย์อาเธอร์มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับพ่อของกินิเวียร์ ซึ่งก็ตรงกับบุคลิกของฌอน คอนเนอรี่ที่ประมาณ ห้าสิบกว่าถึงหกสิบกว่า ในขณะที่กวินิเวียร์อายุประมาณยี่สิบต้นๆ ภาพยนตร์ก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่จะแสดงกษัตริย์อาเธอร์ในวัยหนุ่มที่สง่างาม และองอาจกล้าหาญเพื่อให้สอดคล้องกับเรื่องราวในวัยหนุ่มของพระองค์ ที่เป็นเรื่องศึกสงครามเป็นส่วนใหญ่   แม้ในบางเรื่องที่กล่าวถึงเรื่องราวรักสามเส้าก็ยังสร้างให้กษัตริย์อาเธอร์และลานสล็อทอยู่ในวัยใกล้เคียงกัน เพื่อให้สามารถเดินเนื้อเรื่องชิงรักหักสวาทได้อย่างเข้มข้น ประเด็นสำคัญคือว่าตำนานส่วนใหญ่กล่าวตรงกันว่า กษัตริย์อาเธอร์นั้นเพิ่งจะคิดถึงการแต่งงานก็เมื่อชาติบ้านเมืองสงบร่มเย็นแล้ว และกวินิเวียร์ก็เป็นลูกสาวของเพื่อนพระองค์ และเมื่อคำนึงถึงว่าในกรณีของตำนานนั้น ใครจะกำหนดรายละเอียดอย่างไรก็ได้ (เพราะไม่มีข้อเท็จจริงที่ประจักษ์ชัดอยู่แล้ว) การกำหนดอายุของกษัตริย์อาเธอร์ในภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเหมาะสม และเมื่อพิจารณาเงื่อนไขที่ทำให้เกิดรักสามเส้าขึ้นก็ยิ่งเหมาะสมกับเนื้อเรื่องที่ต้องการสื่ออีกด้วย ส่วนดาราที่รับบทเจ้าชายมาลากันผู้ร้ายตัวฉกาจในเรื่องก็แสดงได้ดีเด่นมากเช่นกัน เราสามารถเข้าใจแนวคิด และวิธีปฏิบัติของผู้ร้ายได้อย่างชัดเจนแม้เพียงไม่กี่ฉากจากการแสดงของเขา นครคาเมล็อทและพระราชวังในเรื่องทำได้สวยงามยิ่งใหญ่ตระการตา สมกับเป็นนครคาเมล็อทในอุดมคติอย่างสมจริง เครื่องแต่งกายออกแบบได้สวยงามและประทับใจมากเช่นกัน ถ้าจะมีที่ติหน่อยก็ตรงคอมพิวเตอร์แกรฟฟิคที่นำมาใช้จำลองฉากกองทัพของทั้งสองฝ่ายในเวลาปะทะกัน ดูไม่สมจริงเลย ซึ่งอาจเป็นเพราะในช่วงนี้ผมดูหนังเก่าๆเป็นประจำเช่น คลีโอพัตรา, เฮเลน แห่งทรอย, อัศวินโต๊ะกลม, โซโลมอนและชีบา ซึ่งใช้ฉากจริงทั้งหมด พอมาดูคอมพิวเตอร์กราฟฟิคก็เลยรู้สึกขัดๆตา ส่วนภาพทิวทัศน์โดยเฉพาะป่า และทุ่งหญ้าถือว่างดงามมาก
 
ผมคิดว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ นำเสนอเรื่องราวรักสามเส้าในตำนานกษัตริย์อาเธอร์ได้ดีมากเกือบจะทุกแง่มุม จูเลีย ออมอนด์แสดงได้สมบทบาทมากถึงความยากลำบากยิ่งของกวินิเวียร์ที่จะต้องตัดสินใจ และควบคุมตัวเองระหว่างความรักความผูกพันที่มีต่อกษัตริย์อาเธอร์ กับความรักจากสัญชาติญาณความรู้สึกที่มีต่อลานสล็อทและยากที่จะควบคุมไว้ได้ ส่วนริชาร์ด เกียร์นั้นรับบทลานสล็อทได้อย่างสมบูรณ์ในทุกฉาก ไม่ว่าจะฉากรบหรือฉากรักก็ตาม ถ้าจะมีข้อเสียก็ดูเหมือนจะมีสองข้อ ข้อแรกคือตำนานกษัตริย์อาเธอร์นั้นทุกๆตำนานจะจบไม่ดี (ด้วยความเศร้าสลด) แต่บทภาพยนตร์ในเรื่องนี้จบดีเกินไปด้วยเนื้อหาที่ไม่ตรงกับตำนานที่เคยมีมาก่อนหน้านี้(ถ้าจะกล่าวตรงๆก็คือภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้เกรงใจตำนานดั้งเดิมที่มีมาก่อนหน้านี้เลย จึงได้เขียนเนื้อหาขึ้นเองใหม่ได้ขนาดนี้!) ข้อที่สองก็คือในภาพยนตร์เรื่องนี้เราจะไม่เห็นพ่อมดเมอลิน นางฟ้าแห่งทะเลสาป (Lady of the Lake) เวทย์มนตร์คาถา อำนาจเหนือธรรมชาติ ดาบเทพเจ้า (Excalibur) และตัวละครหลักๆอีกหลายตัวละครที่สำคัญเช่น มอร์แกน เลอ เฟ ที่เป็นพี่สาวต่างมารดากับกษัตริย์อาเธอร์ และมีบทบาทหลักในฐานะผู้ร้ายในตำนานส่วนมอเดร็ดในตำนานรุ่นเก่าๆก็ถูกเปลี่ยนเป็นเจ้าชายมาลากันในภาพยนตร์เรื่องนี้
 
ในข้อแรก ภาพยนตร์เรื่องนี้จบดีมากเกินกว่าที่ทุกๆตำนานเคยกล่าวถึง โดยกษัตริย์อาเธอร์ถึงกับแต่งตั้งลานสล็อทเป็นอัศวินอันดับหนึ่ง แล้วยังยกทั้งกวินิเวียร์และเมืองคาเมล็อทให้ลานสล็อทเป็นผู้ดูแลสืบต่อไปอีก ตรงนี้กับแย้งกับทุกๆตำนานหลักๆที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ทั้งหมด เพราะไม่เคยปรากฏว่ามีการยกกวินิเวียร์และคาเมล็อทให้ลานสล็อทดูแลต่อไป หลังจากการสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์อาเธอร์เลย อย่างดีที่สุดก็คือกวินิเวียร์ไปบวชชีตลอดชีวิต เพราะสำนึกในความผิดของตนที่เป็นต้นเหตุทำให้กษัตริย์อาเธอร์สิ้นพระชนม์ ส่วนลานสล็อทได้ไปพบกวินิเวียร์ที่โบสถ์ครั้งหนี่งแต่กวินิเวียร์ขอให้เขาไปเสียและไม่ต้องมาพบกับนางอีก อย่างไรก็ตามเข้าใจว่าคนเขียนบทภาพยนตร์คงอยากให้กษัตริย์อาเธอร์ได้พบกับความสมหวังบ้างในเรื่องความรัก ที่พระองค์ทรงมีเพียงหนึ่งเดียว หากจะให้จบแบบที่ตำนานต่างๆกล่าวไว้ ก็ดูจะเป็นการโหดร้ายทารุณกับพระองค์เกินไป การที่ภาพยนตร์จบลงแบบนี้อาจทำให้ผู้ชมภาพยนตร์รู้สึกดีขึ้นบ้าง
 
 
หก: รักสามเส้าในภาพยนตร์เรื่องนี้กับปรัชญาทางโหราศาสตร์ที่ว่าด้วยการสมพงศ์ดวงชะตา
 
 
สำหรับผมในฐานะที่มีความสนใจในวิชาโหราศาสตร์ พบว่าเรื่องราวรักสามเส้าในตำนานกษัตริย์อาเธอร์นี้ น่าสนใจยิ่งในมุมมองทางโหราศาสตร์โดยในวิชาโหราศาสตร์นั้นมีโครงสร้างความสัมพันธ์ในการสมพงศ์ดวงชะตาที่เชื่อถือกันมาแต่โบราณนับพันๆปีอยู่สองโครงสร้างได้แก่ โครงสร้าง อาทิตย์/จันทร์ และ อังคาร/ศุกร์ ซึ่งสามารถใช้กรณีรักสามเส้าในตำนานกษัตริย์อาเธอร์ ยกเป็นกรณีตัวอย่างในเชิงปรัชญาได้เป็นอย่างดี การนำโครงสร้างดังกล่าวมาใช้ คือการนำดวงชะตาหญิงและชายมาเปรียบเทียบกันแล้วพิจารณาว่า อาทิตย์ในดวงชะตาฝ่ายหนึ่งให้แสงถึงจันทร์ในดวงชะตาอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่ ถ้าให้แสงถึงกันแสดงว่ามีโครงสร้างดังกล่าวเกิดขึ้นในการสมพงศ์ดวงชะตาทั้งสองนั้น กรณีโครงสร้าง อังคาร/ศุกร์ก็พิจารณาในทำนองเดียวกัน ในขณะที่บางมติทางโหราศาสตร์ตะวันตกพิจารณาว่าโครงสร้าง อาทิตย์/จันทร์ เป็นเครื่องหมายแสดง “คู่แท้” นั้น ทางโหราศาสตร์ไทยเรา ก็มีมติของท่านอดีตปรมาจารย์ทางโหราศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่งพิจารณาว่าโครงสร้าง อังคาร/ศุกร์ เป็นเครื่องหมายแสดงว่าหญิงชายคู่นั้นมี   “บุพเพสันนิวาส” กันมาแต่ชาติปางก่อนเช่นกัน
 
เรื่องราวรักสามเส้าในตำนานกษัตริย์อาเธ่อร์สอดคล้องกับปรัชญาที่ว่าด้วยการสมพงศ์ดวงชะตาในวิชาโหราศาสตร์ ที่ว่าด้วยโครงสร้างการสมพงศ์ดวงชะตาที่สำคัญยิ่งสองโครงสร้างคือ โครงสร้าง อาทิตย์/จันทร์ (กษัตริย์อาเธ่อร์/กวินิเวียร์) และ อังคาร/ศุกร์ (ลานสล็อท/กวินิเวียร์)
 
โครงสร้างแรกคือ อาทิตย์/จันทร์ (ถ้าใช้หลักหยิน – หยาง ก็คือ มีผู้หญิงต้องมีผู้ชาย มีพระอาทิตย์ต้องมีพระจันทร์ มีกลางวันก็ต้องมีกลางคืน) นั้นถือกันว่าเป็นโครงสร้างศักดิ์สิทธิ์ในโหราศาสตร์ตะวันตกมาแต่โบราณ หลายสำนักยกย่องถึงขนาดว่าเป็นโครงสร้างที่แสดงถึง. “คู่แท้, Soul mate” ตามปรัชญาตะวันตกซึ่งเชื่อกันว่าการใช้ชีวิตคู่ร่วมกันของทั้งสองคนคือการรวมกันของสองครึ่งที่ขาดหาย (The two individuals are two halves of a whole) บางความเห็นเชื่อว่า “ในกรณีที่อาทิตย์ในดวงชะตาชายให้แสงถึงจันทร์ในดวงชะตาหญิงนั้น ถ้าทั้งสองได้แต่งงานเป็นสามีภรรยากันแล้ว ไม่ว่าจะเกิดเรื่องราวร้ายแรงหรืออุปสรรคใดๆในชีวิต ก็จะไม่สามารถแยกทั้งสองคนออกจากกันได้ จนกว่าความตายจะมาพราก” กษัตริย์อาเธอร์นั้น สามารถแทนได้ด้วยความหมายทางโหราศาสตร์ของอาทิตย์ได้อย่างสมบูรณ์ เพราะอาทิตย์หมายถึง ผู้ชายในชีวิต ร่างกายที่มีวิญญาณครอง ความรุ่งโรจน์ กษัตริย์ ความเป็นจ้าว สามีในทางกายภาพและจิตวิญญาณ ส่วนกินิเวียร์ในความสัมพันธ์ระหว่างนางกับกษัตริย์อาเธอร์ สามารถแทนได้ด้วยความหมายทางโหราศาสตร์ของจันทร์ได้อย่างสมบูรณ์เช่นเดียวกัน เพราะจันทร์หมายถึง ผู้หญิงในชีวิต จิตใจ อารมณ์ ราชินี ความเป็นแม่ และหรือภรรยาในทางกายภาพและจิตวิญญาณ ซึ่งจากเนื้อหาในภาพยนตร์เรื่องนี้เห็นได้ชัดเจนอยู่แล้วว่าทั้งสองคนมีความรักความผูกพันต่อกันมาก และ “เหมาะสม” กันอย่างยิ่งตามความหมายและปรัชญาทางโหราศาสตร์ของโครงสร้าง อาทิตย์/จันทร์ หรือแม้กระทั่งการเกื้อหนุนกันตามหมายของคำว่า “คู่แท้” ตามปรัชญาตะวันตก ที่ทำให้กินิเวียร์กล่าวกับกษัตริย์อาเธอร์ว่า “ ... ความรักมีหลายหน้าเพคะ หม่อมฉันอาจมองพระองค์อีกแบบหนึ่ง แต่หม่อมฉันก็รักพระองค์ไม่น้อยกว่าเขา...หม่อมฉันไม่ได้ให้คุณค่ากับหัวใจไว้สูงส่งอะไร ความรู้สึกเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะแล้วก็หายไป แต่ความภักดีช่วยให้หม่อมฉันอยู่ได้อย่างมั่นคงไปชั่วชีวิต .....” และเมื่อกษัตริย์อาเธอร์บอกนางว่าเมื่อหญิงหนึ่งรักสองชายนางต้องเลือกคนใดคนหนึ่งนั้น นางตอบว่า “หม่อมฉันเลือกพระองค์”
 
 
โครงสร้างที่สองคือ อังคาร/ศุกร์ ถือเป็นสุดยอดโครงสร้างในการสมพงศ์ดวงชะตาและได้รับความเชื่อถือกันมาแต่โบราณเช่นกัน โดยทั่วไปเห็นว่ามีอิทธิพลไม่น้อยกว่าโครงสร้างแรกแต่บางมติเห็นว่าเหนือกว่าอีกด้วย โดยเชื่อกันว่าเป็นโครงสร้างที่ทำให้เกิดรักแรกพบและหรือความรักระหว่างหญิงชายคู่นั้น จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนเช่นเดียวกับที่กลางวันและกลางคืนจะต้องเกิดขึ้นต่อเนื่องหมุนเวียนกันไปชั่วนิจนิรันดร (It follows as night follows day that there will be a great physical attraction between the man and the woman) บางความเห็นเชื่อว่า ในกรณีที่มีโครงสร้างนี้เกิดขึ้นนั้น ถ้าหญิงชายทั้งสองได้หลับนอนเป็นสามีภรรยากันแล้ว จะไม่สามารถแยกคนทั้งสองออกจากกันได้ อีก แม้จะฆ่าให้ตายก็ตามลานสล็อทนั้นสามารถแทนได้ด้วยความหมายทางโหราศาสตร์ของอังคารได้อย่างสมบูรณ์เพราะดาวอังคารหมายถึง ผู้ชาย กำลังงาน ความกล้าหาญ ทหาร ความเป็นนักสู้ สามีในทางกายภาพและสัญชาติญาณทางเพศ ในขณะที่กินิเวียร์ในความสัมพันธ์ระหว่างนางกับลานสล็อท สามารถแทนได้ด้วยดาวศุกร์อย่างสมบูรณ์เช่นกันเพราะดาวศุกร์หมายถึง ผู้หญิงในวัยสาว อารมณ์ทางเพศ ความรัก ผู้หญิงที่กำลังมีความรัก ความเป็นคู่รัก ภรรยาในทางกายภาพและสัญชาติญาณทางเพศ ซึ่งจากเนื้อหาในภาพยนตร์เรื่องนี้เห็นได้ชัดเจนว่า ทั้งสองคนมีสัญชาติญาณทางเพศตรงกันและเกิดเป็นรักแรกพบตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้พบกันแล้ว และจากความ “เหมาะสม” กันอย่างยิ่งตามความหมายและปรัชญาทางโหราศาสตร์ของโครงสร้าง อังคาร/ศุกร์ นี้เองที่ทำให้กวินิเวียร์ต้องยอมรับกษัตริย์อาเธอร์ว่านางรักลานสล็อท และกษัตริย์อาเธอร์ถึงกับต้องกล่าวกับกวินิเวียร์ว่า “ฉันเห็นหน้าของเธอตอนที่เธอจูบมัน .. ใช่เธอไร้เดียงสา แต่เธอรักมัน ....ถ้าแน่ใจว่าเธอรักฉัน เธอลองมองฉันด้วยสายตาแบบที่เธอมองมัน เธอทำได้รึเปล่า...” ซึ่งนางไม่สามารถมองกษัตริย์อาเธอร์ได้ด้วยสายตาที่นางมองลานสล็อท
 
ข้อสังเกตทางโหราศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างทั้งสองนี้คือ โครงสร้าง อาทิตย์/จันทร์ นั้นแสดงถึงความผูกพันทางจิตวิญญาณ ระหว่างหญิงกับชาย ที่ไม่มีเรื่องเพศอยู่ด้วย ส่วนโครงสร้าง อังคาร/ศุกร์ แสดงถึงความสอดคล้องต้องกันระหว่างหญิงกับชายในเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศ ดังนั้นในทัศนะหนึ่งถ้ามองภาพรวมทั้งหมด โครงสร้าง อาทิตย์/จันทร์ จึงมีอิทธิพลสูงกว่า อังคาร/ศุกร์ และเป็นเหตุผลที่ทำไมกวินิเวียร์จึงบอกกษัตริย์อาเธอร์ว่า “ความรักมีหลายหน้า หม่อมฉันอาจมองพระองค์ต่างไปจากที่มองเขา แต่ไม่ได้รักพระองค์น้อยกว่าเขา” และเมื่อถึงจุดที่ต้องเลือก นางจึงบอกว่า “หม่อมฉันเลือกพระองค์” ในขณะที่ในอีกทัศนะหนึ่งนั้นมีความเห็นว่า ที่สุดของความสัมพันธ์ระหว่างหญิงกับชายนั้นคือเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศนี้เท่านั้น โครงสร้าง อังคาร/ศุกร์ จึงเป็นโครงสร้างการสมพงศ์ดวงชะตาที่ไม่มีโครงสร้างอื่นใดจะมาเทียบได้ และนี่เป็นเหตุผลที่ทำไม กวินิเวียร์ยอมรับกับกษัตริย์อาเธอร์ว่านางรักลานสล็อท นางไม่สามารถมองกษัตริย์อาเธอร์อย่างที่นางมองลานสล็อทได้ และถึงกับใจอ่อนยอมให้ลานสล็อทจูบกอดในตอนที่เขามาร่ำลาจนเป็นเหตุให้กษัตริย์อาเธอร์มาพบเข้า และเกิดเป็นเรื่องราวเสียหายร้ายแรงขึ้นมา
แม้กระทั่งประโยคสุดท้ายที่กษัตริย์อาเธอร์กล่าวกับกวินิเวียร์ ก็เป็นความหมายทางโหราศาสตร์แท้ๆ ชนิดที่ผู้ที่ไม่มีความรู้ทางโหราศาสตร์อาจไม่สามารถเข้าใจได้เลยว่าพระองค์หมายถึงอะไร คำกล่าวของพระองค์ก่อนสิ้นพระชนม์ที่ว่า “ฉันรู้สึกแล้วยอดรัก แสงแดดไง ในตาของเธอ” แสดงว่าพระองค์เข้าใจแล้ว ว่าที่กวินิเวียร์เคยบอกพระองค์ว่าความรักมีหลายหน้า นางอาจมองพระองค์ในแบบที่ต่างไปจากที่นางมองลานสล็อทแต่ก็ไม่ได้รักพระองค์น้อยกว่าเขา พระองค์เห็นแสงแดดในตาของนางก็คือพระองค์ทราบแล้วว่าในดวงตาของกวินิเวียร์นั้น นางมองเห็นพระองค์เป็นดวงอาทิตย์ของนางนั่นเอง ซึ่งความหมายของอาทิตย์ในทางโหราศาสตร์ตรงๆในกรณีนี้ก็คือ กษัตริย์ ผู้ชายในชีวิต และสามี ซึ่งทั้งหมดนี้รวมอยู่ในคนคนเดียวกันคือกษัตริย์อาเธอร์!
 
เจ็ด:    ปกิณกะทางโหราศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับตำนานกษัตริย์อาเธอร์
 
ความทุกข์อย่างแสนสาหัสในเรื่องรักของกษัตริย์อาเธอร์นี้ ยังไปสอดคล้องกับคำพยากรณ์ตำแหน่งสถิตของดาวศุกร์ในดวงชะตา ที่ไปกุมกับดาวฤกษ์ที่สำคัญยิ่งบนท้องฟ้าดวงหนึ่งด้วย คือดาวฤกษ์ที่มีชื่อว่า “เรกุลุส” ดาวฤกษ์ดวงนี้เป็นดาวฤกษ์ที่มีความสำคัญมากในทางดาราศาสตร์, เทวะวิทยา, ศาสนา และโหราศาสตร์ ในทางเทวะวิทยาถือว่า เรกุลุส เป็น หนึ่งในสี่ของดาวกษัตริย์ที่ปกครองท้องฟ้าและดวงดาวทั้งหลายทางทิศเหนือ (Royal Stars มี 4 ดวงได้แก่ Regulus, Antares, Aldeberan และ Formahault) ในทางศาสนามีผู้สันนิษฐานว่าเรกุลุส คือดาวที่กลุ่มนักบุญผู้กำลังตามหาพระเยซูที่กำลังจะมาเกิดได้พบบนท้องฟ้า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์นำทางพวกเขาให้ไปพบพระเยซูที่เบ็ธเลเฮม ในทางดาราศาสตร์ เรกุลุสเป็นดาวฤกษ์ที่มีกำลังส่องสว่างอยู่ในกลุ่มที่หนึ่งซึ่งมีกำลังส่องสว่างมากที่สุด และอยู่ห่างจากระวิมรรค (Ecliptic เพียงครึ่งองศาเท่านั้น) ในทางโหราศาสตร์ เรกุลุส เป็นดาวที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวราศีสิงห์ มีชื่อเรียกหนึ่งของเรกุลุส ว่า “หัวใจราชสีห์” และเข้าใจว่าที่ทางโหราศาสตร์บอกว่าราศีสิงห์เป็นราศีของ ผู้นำและ/หรือกษัตริย์นั้น ก็มาจากอิทธิพลของเรกุลุสนี่เอง (จนถึงขนาดที่เคยมีการให้ร้ายทางการเมืองกันในประเทศไทยว่า อดีตนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งแก้ไขวันเกิดตัวเองในทะเบียนบ้านเพื่อให้เกิดในราศีสิงห์) คำทำนายที่มีมาแต่โบราณบอกว่า “เรกุลุส” มีคุณลักษณะคล้ายๆ กับ “อังคารผสมกับพฤหัส” ซึ่งเป็นดาวเคราะห์คู่ที่ให้ผลดีที่สุดคู่หนึ่งในวิชาโหราศาสตร์ทุกๆระบบ ทั้งในโหราศาสตร์ตะวันออกและโหราศาสตร์ตะวันตก เป็นดาวฤกษ์ที่ให้ผลดียิ่งกับดาวเคราะห์ที่เข้าไปกุมด้วยความหมายในทางดีทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีจุดเจ้าชะตาเข้าไปกุม อาจส่งผลถึงขนาดทำให้เจ้าชาตาเป็นมหาบุรุษได้          
 
ในทางโหราศาสตร์ เรกุลุสเป็นดาวที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวราศีสิงห์ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า หัวใจราชสีห์ อยู่ห่างจากระวิมรรคเพียงครึ่งองศาเท่านั้น ในทางเทวะวิทยาถือว่าเป็นดาวที่สำคัญที่สุดดวงหนึ่งบนท้องฟ้า โดยเป็นดาวกษัตริย์ หนึ่ง ใน สี่ ดวง ทำหน้าที่ปกครองดูแลท้องฟ้าและดวงดาวต่างๆทางด้านทิศเหนือ
 
แต่แปลกที่เมื่อดาวศุกร์เข้าไปกุมกับเรกุลุส คำพยากรณ์ตามตำรากลับเป็นเรื่องเลวร้าย และความทุกข์แสนสาหัสทั้งสิ้น เช่นเจ้าชะตาจะได้รับความทุกข์แสนสาหัสยิ่งอันเนื่องมาจากความรัก จะอกหักผิดหวังเรื่องรักอย่างรุนแรงจนถึงขั้นไม่ต้องการมีชีวิตอยู่ต่อไป ฯลฯ โดยสรุปก็คือดวงชะตาที่มีดาวศุกร์กุมกับเรกุลุสนั้นชีวิตจะพบกับความความผิดหวัง ความทุกข์อย่างแสนสาหัส ในเรื่องผู้หญิงและความรัก และหรือวิบัติด้วยเรื่องของผู้หญิงและความรัก (ดาวศุกร์หมายถึงผู้หญิงและความรัก)
 
ผมสงสัยมานานแล้วว่าทำไม ดาวฤกษ์ที่ยิ่งใหญ่และให้ความหมายที่ดีเช่นนี้ ซึ่งเมื่อกุมกับปัจจัยทางโหราศาสตร์ทุกๆปัจจัย ตำราให้คำพยากรณ์ที่ดีทั้งสิ้นยกเว้นกรณีเดียวคือ ดาวศุกร์เมื่อกุมกับเรกุลุส ตำรากลับให้คำพยากรณ์ที่ถือว่าเลวร้ายยิ่ง เมื่อมาศึกษาเรื่องราวรักสามเส้าในตำนานกษัตริย์อาเธอร์แล้ว รู้สึกว่าเข้าใจคำพยากรณ์ที่มีมาแต่โบราณมากขึ้น คุณลักษณะของกษัตริย์อาเธอร์นั้น ไม่ใช่ดาวอาทิตย์ หรือราศีสิงห์ธรรมดา แต่กล่าวได้เลยว่าคุณลักษณะของพระองค์ในการเป็นนักรบที่ เปี่ยมด้วยศักดิ์ศรี องอาจ กล้าหาญ เข้มแข็ง อดทน กอร์ปด้วย คุณธรรมและเมตตาธรรมคือความหมายของเรกุลุส นั่นเอง (หัวใจราชสีห์ หรือหัวใจกษัตริย์) พฤติกรรมของพระองค์ในตำนานล้วนสอดคล้องกับความหมายของอิทธิพลผสมระหว่างอังคารกับพฤหัส (อิทธิพลของเรกุลุส) ทุกประการ อินเดียโบราณ บอกว่า ถ้าดาวพฤหัสให้แสงถึงอังคารในดวงชะตา การกระทำของเจ้าชะตาจะตั้งมั่นอยู่ในคุณธรรม (บทสวดภาวนาต่อพระผู้เป็นเจ้าของกษัตริย์อาเธอร์ทุกครั้งก่อนการเปิดประชุมอัศวินโต๊กลม :ขอประทานปัญญาให้ทำในสิ่งที่ควร   ความกล้าที่จะทำ และมีกำลังที่จะรักษาให้ยืนยาว)ดังนั้นเมื่อกษัตริย์อาเธอร์ (เรกุลุส) มีความรัก (ดาวศุกร์) พระองค์จึงต้องทุกข์ทรมานและเจ็บปวดจากความรัก (ดาวศุกร์ = ความรัก) และผู้หญิงที่พระองค์รัก (ดาวศุกร์ = กวินิเวียร์) และพบกับความวิบัติในที่สุด (สิ้นพระชนม์       และนครคาเมล็อทล่มสลายในเวลาต่อมา)!
 
กวนอู (กล้าหาญด้วยอาทิตย์) V.S. คาสซาโนวา (กล้าหาญด้วยอังคาร)
 
นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่น่าสนใจทางโหราศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับตำนานกษัตริย์อาเธอร์อีกสองประเด็นคือ ความองอาจกล้าหาญจากอิทธิพลของอาทิตย์และอังคาร     และความงามของสตรีจากอิทธิพลของดาวศุกร์และดาวจันทร์ ความแตกต่างระหว่างความกล้าหาญที่เกิดจากความเข้มแข็งของอาทิตย์ในดวงชะตา และความกล้าหาญที่เกิดจากความเข้มแข็งของดาวอังคารในดวงชะตานั้น เขียนบรรยายเป็นตัวหนังสือได้ยากและคงจะไม่สามารถสื่อสารได้ดี เท่ากับการพิจารณาจากคุณลักษณะของตัวละครในประวัติศาตร์ และวรรณคดีที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไป เช่นกรณีของความกล้าหาญที่เกิดจากความเข้มแข็งของอาทิตย์ในดวงชะตานั้นพิจารณาได้จากคุณลักษณะของกษัตริย์อาเธอร์ในภาพยนตร์เรื่องนี้ รวมถึง กวนอู ในวรรณคดีเรื่องสามก๊ก, แม็กซิมัส ที่แสดงโดยรัซเซล โครว ในเรื่อง Gladiator, เอลซิด วีรบุรุษของสเปนจากภาพยนตร์เรื่องเอลซิดหรือ งักฮุย ยอดวีรบุรุษในประวัติศาสตร์จีน ส่วนความกล้าหาญที่เกิดจากความเข้มแข็งของอังคารในดวงชะตานั้น พิจารณาได้จากคุณลักษณะของ ลานสล็อทในภาพยนตร์เรื่องนี้, จะเด็ด (บุเรงนอง) ในวรรณคดีเรื่องผู้ชนะสิบทิศ, ดอน ฮวน, คาสซาโนวา, ขุนแผน ฯลฯ ข้อพิจารณาที่สำคัญคือ ความกล้าหาญที่เกิดจากอิทธิพลของอาทิตย์นั้นเป็นความกล้าหาญที่เกิดพร้อมกับหน้าที่ ความรับผิดชอบ คุณธรรม ศักดิ์ศรี และ/หรือ อุดมการณ์ (พวกเขาต้องกล้าหาญเพราะมีหน้าที่ความรับผิดชอบ จำเป็นต้องต่อสู้เพื่อ สิ่งเหล่านี้) ฯลฯ คนพวกนี้เช่นกวนอู, งักฮุย ถ้าไม่มีศึกสงครามขึ้นในชาติบ้านเมือง และเป็นหน้าที่ของลูกผู้ชายที่จะต้องเป็นทหารเพื่อรับใช้ชาติ พวกเขาก็จะอยู่บ้านทำนาหาเลี้ยงครอบครัวอย่างสงบไปวันๆ ไม่ไปก่อเรื่องราวเอะอะตึงตังหรือสงครามอะไรกับใครที่ไหน แต่คนอย่างจะเด็ด, ดอนฮวน หรือ คาสซาโนว่า ฯลฯ ความกล้าหาญของพวกเขาเกิดจากสันดานนักสู้ที่ไม่สามารถจะอยู่อย่างสงบได้ (พวกเขากล้าหาญเพราะสัญชาติญาณนักสู้จากดาวอังคารที่เป็นดาวนักรบ) โดยไม่ต้องมีเรื่องของหน้าที่ความรับผิดชอบ หรือ คุณธรรม และอุดมการณ์ใดๆมาเกี่ยวข้องด้วยเลย ถึงบ้านเมืองจะสงบ พวกเขาก็จะก่อสงครามของตัวเองขึ้นไม่ว่าจะเป็นสงครามรบหรือสงครามรักก็ตาม
 
ประเด็นสุดท้ายที่อยากพูดถึงก็คือ จันทร์กับศุกร์ซึ่งหมายถึง ผู้หญิง และความงามด้วยกันทั้งคู่ แต่ก็แตกต่างกันมากในรายละเอียด ทำนองเดียวกับเรื่องความกล้าหาญที่เกิดจากอาทิตย์และอังคารที่กล่าวถึงในวรรคก่อนหน้านี้ จันทร์นั้นหมายถึงความงามของผู้หญิงที่เป็นความงามสากลในธรรมชาติ เช่นท้องฟ้า ทิวทัศน์ หรือนก ปลาที่สวยงาม ดังนั้นผู้หญิงที่สวยด้วยความเข้มแข็งของจันทร์ในดวงชะตานั้น แม้มนุษย์ต่างดาวมาพบก็ยังคงต้องบอกว่าสวย ส่วนความสวยของหญิงที่เกิดจากความเข้มแข็งของศุกร์ในดวงชะตานั้น เป็นความสวยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศโดยตรง กล่าวคือเฉพาะมนุษย์ผู้ชายเท่านั้นที่มองว่าสวย มนุษย์ต่างดาวจะไม่เห็นเช่นนั้น และความงามของหญิงที่เกิดจากดาวศุกร์จะหมดไปเมื่อถึงวัยหมดประจำเดือนแล้ว ในขณะเดียวกัน จันทร์หมายถึงผู้หญิงในฐานะภรรยา แม่ของลูก แต่ศุกร์หมายถึงผู้หญิงที่กำลังมีความรัก ดังนั้นรักสามเส้าในตำนานกษัตริย์กษัตริย์อาเธอร์นั้น จึงสามารถกล่าวด้วยหลักการทางโหราศาสตร์ได้ว่า กวินิเวียร์รักกษัตริย์อาเธอร์ (อาทิตย์) ในฐานะที่นางเป็นภรรยา (จันทร์) แต่รักลานสล็อท (อังคาร) ในฐานะที่เป็นผู้หญิงที่กำลังมีความรัก (ศุกร์) นางจึงไม่สามารถมองกษัตริย์อาเธอร์ด้วยสายตาที่นางมองลานสล็อทได้ แต่กษัตริย์อาเธอร์สามารถมองเห็นแสงแดดในดวงตาของนาง ที่จ้องมองพระองค์ได้ ในขณะที่ลานสล็อทจะไม่มีวันได้เห็นแสงอาทิตย์นั้นเลย
 
สวย (ด้วยอิทธิพลของจันทร์) V.S. สวย (ด้วยอิทธิพลของศุกร์)
 
แปด : สรุป
 
ผมคิดจะเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับกวินิเวียร์แต่หาภาพยนตร์ที่กล่าวถึงนางโดยตรงไม่ได้ เลยต้องใช้ภาพยนตร์เรื่อง “First Knight” แทน ซึ่งชื่อเรื่องหมายถึงอัศวินโต๊ะกลมที่มีฝีมือในการรบเก่งเป็นอันดับที่ 1 ของกษัตริย์อาเธอร์ คือเซอร์ลานสล็อท แต่พอลงมือเขียนจริงกลับกลายเป็นเขียนถึงตำนานกษัตริย์อาเธอร์และกวินิเวียร์เสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะเนื้อหาหลักของภาพยนตร์เรื่องนี้ ต้องการกล่าวถึงรักสามเส้าในตำนานกษัตริย์อาเธอร์เป็นสำคัญ แล้วก็ปิดท้ายด้วยมุมมองทางโหราศาสตร์ ต่อกรณีรักสามเส้าในตำนานกษัตริย์อาเธอร์ เนื่องจากเรื่องราวดังกล่าวสอดคล้องกับปรัชญาทางโหราศาสตร์ที่เกี่ยวข้องอย่างน่าสนใจยิ่ง และได้เขียนเนื้อหาในส่วนนี้ไว้ค่อนข้างมากด้วยแต่ก็ได้พยายามใช้ภาษาในลักษณะที่บุคคลทั่วไปที่ไม่มีพื้นความรู้ทางโหราศาสตร์สามารถเข้าใจได้
 
อย่างไรก็ตามสรุปได้ว่า สำหรับผู้ที่สนใจอยากดูภาพยนตร์รักโรแมนติค ที่เป็นเรื่องเศร้าแบบหนักๆนั้นไม่ผิดหวังกับภาพยนตร์เรื่องนี้แน่ แต่แฟนพันธุ์แท้ภาพยนตร์แนวตำนานกษัตริย์อาเธอร์แบบเดิมๆอาจต้องผิดหวัง เพราะไม่มีพ่อมดเมอร์ลิน ไม่มีเวทย์มนต์คาถา ไม่มีการผจญภัยเพื่อตามหาจอกศักดิ์สิทธิ์ของบรรดาอัศวินผู้กล้า ตัวละครสำคัญๆถูกตัดออกไปหลายคน คงเหลือเฉพาะตัวละครหลักในรักสามเส้านี้เท่านั้น และที่สำคัญเนื้อเรื่องและการจบของเรื่องก็แตกต่างไปจากแนวเดิมโดยสิ้นเชิง แต่สำหรับผมเห็นว่าจบแบบนี้ดีแล้ว เพราะกษัตริย์อาเธอร์นั้นถ้าจะมองในอีกมุมหนึ่งพระองค์เป็นกษัตริย์ที่อาภัพมาก พระองค์ทรงทำงานหนักมาตลอดชีวิตเพื่อชาติบ้านเมืองและประชาชนของพระองค์ กว่าจะนำพาชาติบ้านเมืองพ้นภัย และนำความสงบสุขตลอดจนความกินดีอยู่ดีมาให้ราษฎรได้ อายุของพระองค์ก็ล่วงเข้าวัยชราแล้ว พระองค์จึงเพิ่งจะมีเวลาคิดถึงการแต่งงาน แต่แล้วความรักครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิตของพระองค์ก็กลับล้มเหลวไม่เป็นท่า และเป็นเรื่องโหดร้ายที่ทำให้พระองค์เจ็บปวดมาก ดังนั้นการจบที่ค่อนข้างดีในภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่ทำให้อย่างน้อยพระองค์ก็ยังมีความสุขจากความรักที่พระองค์ฝันถึงมาตลอดชีวิตได้บ้าง แม้ในช่วงขณะเวลาสั้นๆก่อนสิ้นลมหายใจก็ยังดี
 
เก้า:     อื่นๆ
ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ           First Knight
ชื่อเรื่องภาษาไทย               สุภาพบุรุษยอดอัศวิน
ผู้กำกับการแสดง                    เจอรี่ ซัคเก้อร์ (Jerry Zucker)
ผู้เขียนบทภาพยนตร์             ลอน คาเมรอน (Lorne Cameron), เดวิด โฮสตัน (David Hoselton)
ผู้สร้าง                                Columbia Pictures Corporation, First Knight Productions
วันที่เปิดฉายเป็นครั้งแรก (ในสหรัฐอเมริกา) 7 กรกฎาคม 2538
ลักษณะภาพยนตร์             โรแมนติค ชีวิต ผจญภัย
ผู้แสดง
  •  กษัตริย์อาเธอร์  - ฌอน คอนเนอรี่ (Sean Connery)
  • เซอร์ลานสล็อท - ริชาร์ด เกียร์ (Richard Gere)
  • ราชินีกวินิเวียร์ - จูเลีย ออมอนด์ (Julia Ormond)
  • เจ้าชายมาลากัน  - เบน ครอส (Ben Cross)
  • อากราเวน - เลียม คันนิ่งแฮม (Liam Cunningham)
  • เซอร์กาย - คริสโตเฟอร์ วิลเลียร์ (Christopher Villiers)
  • เซอร์พาทริส  - วาเลนไทน์ เปลก้า (Valentine Pelka)
  • เซอร์มาเดอร์  - โคลิน แมคคอแม็ค (Colin McCormack)
  • ราล์ฟ - ราล์ฟ อีนสัน (Ralph Ineson)
  • ออสวาลด์ - จอห์น เกลกัด (John Gielgud)
  • ปีเตอร์  - เจน รอบบินส์ (Jane Robbins)
  • เปโตรเนลล่า - จีน แมรี่ คอฟฟี่ (Jean Marie Coffey)
  • มาร์ค - พอล คินแมน (Paul Kynman)
  •  เซอร์ ซากรามอ - ทอม ลูซี่ (Tom Lucy)

เนื่องจากบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์อัน ชอบธรรมของผู้เขียน และอาจะมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลบ้างตามความเหมาะสม ในการนำบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่นๆ จึงขอความร่วมมือให้ใช้วิธีการคัดลอกเฉพาะ Link หรือ URL Address แทนการคัดลอกบทความทั้งหมด  หากมีการคัดลอกไปในลักษณะแอบอ้างเป็นผู้เขียน หรือมีเจตนาอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทางเว็บ iseehistory.com แล้ว จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย 

กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

  • (ยังไม่มี)

 
เรียนเชิญสมาชิกร่วมแสดงความคิดเห็นที่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บ (ต้องสมัครและ Login ก่อน) ผู้ชมทั่วไปหรือสมาชิกที่ต้องการโพสต์รูป เชิญร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บบอร์ด "คุยกันหลังฉาก" ในกระทู้ที่มีอยู่แล้ว หรือ สร้างกระทู้ใหม่ (คลิกที่นี่) ครับ

หากเป็นสมาชิก Facebook แสดงความเห็นได้ในฟอร์มข้างล่างนี้ครับ

Bookmark and Share

ภาพยนตร์ตัวอย่าง (Trailer) จาก www.youtube.com

 

ทางเว็บไม่มีนโยบายนำภาพยนตร์ฉบับ เต็มมาให้ดูออนไลน์หรือให้ดาวน์โหลดเนื่องจากเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และไม่ มีพื้นที่สำหรับเก็บไฟล์ภาพยนตร์

 



ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ

1911 ใหญ่ผ่าใหญ่ การปฏิวัติซินไฮ่อันนำมาซึ่งการสิ้นสุดของระบอบศักดินา 3,000 ปีของจีน วันที่ 19/05/2013   18:35:25
สะดุดเลิฟ ที่เมืองรัก (Letters to Juliet) วันที่ 19/05/2013   18:36:43
เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ 1980 (คลาสสิค) วันที่ 19/05/2013   18:40:30
5 พยัคฆ์พิทักษ์ซุนยัดเซ็น เมื่อการปฏิวัติ คือ การหลั่งเลือด วันที่ 19/05/2013   18:39:13
Kingdom of Heaven มหาศึกกู้แผ่นดิน วันที่ 19/05/2013   18:41:31
Chariots of Fire เกียรติยศแห่งชัยชนะ ชัยชนะแห่งไฟในหัวใจอันลุกโชน วันที่ 19/05/2013   18:43:04
Master and Commander วันที่ 19/05/2013   18:43:58
Legionnaire คนอึดเดือดไม่ใช่คน วันที่ 19/05/2013   18:46:18
ไททานิค ภาพยนตร์ที่ลงตัวทั้งประวัติศาสตร์และนิยายโรแมนติก วันที่ 19/05/2013   18:47:27
Napoleon ศึกรบ ศึกรัก และศึกการเมือง ในชีวิตนโปเลียน วันที่ 19/05/2013   18:48:31
Waterloo ความมโหฬารของสงครามปราบจักรพรรดิ์นโปเลียน วันที่ 19/05/2013   18:49:19
เอลซิด (El Cid) : ประวัติศาสตร์ หรือ ตำนาน วันที่ 19/05/2013   18:50:07
Fearless -> Truthless? วันที่ 19/05/2013   18:50:53
Veer จอมวีรอหังการ์ (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   18:51:25 article
The Last Samurai (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   18:52:09 article
Nomad: The Warrior (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   18:52:53 article



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker