dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



Cast A Giant Shadow : ศึกรบศึกรักของขุนพลยิวอเมริกัน
วันที่ 19/05/2013   20:40:41

webmaster@iseehistory.com

หลังจากที่เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์แห่งนี้ได้เคยนำเสนอการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิวของนาซีมาบ้าง เรื่องของชนชาติอาหรับในภาพยนตร์เกี่ยวกับลอว์เรนซ์แห่งอารเบียบ้าง คราวนี้ถึงตาของภาพยนตร์เกี่ยวกับการก่อตั้งประเทศอิสราเอลของชาวยิวในดินแดนปาเลสไตน์ในปี 1948/พ.ศ.2491 อันเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาตะวันออกกลางและสงครามยิว-อาหรับที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ ส่งผลกระทบต่อสันติภาพของโลกและเศรษฐกิจโลกอันเนื่องจากปัญหาราคาน้ำมันมาจนทุกวันนี้ ภาพยนตร์ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับวีรบุรุษที่คนไทยอาจจะไม่ค่อยคุ้นเคยนัก แต่เป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างมากในด้านการรบในช่วงการก่อตั้งประเทศอิสราเอลใหม่ๆ นั่นคือเรื่องราวของนายพันเอก David Daniel Marcus หรือ Mickey Marcus (22 ก.พ.1901/พ.ศ.2443-10 มิ.ย.1948/พ.ศ.2491) ในเรื่อง Cast  A Giant Shadow ที่เริ่มฉายในปี 1966/พ.ศ.2509

ก่อนจะเข้าเนื้อเรื่องภาพยนตร์ ลองมาดูภูมิหลังของดินแดนปาเลสไตน์ที่กลายมาเป็นประเทศอิสราเอลกันสักนิด ดินแดนแห่งนี้นอกจากจะมีนครเยรูซาเลมอันเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ของศาสนายิว-คริสต์-อิสลามแล้ว ยังเป็นดินแดนทางผ่านที่จักรวรรดิ์สำคัญๆ ในสมัยโบราณจะเดินทัพผ่านไปยึดครองดินแดนอื่น ปาเลสไตน์เองจึงต้องผลัดเปลี่ยนไปเป็นเมืองขึ้นของจักรวรรดิ์ต่างๆ อยู่ตลอดเวลา เพื่อไม่ให้เยิ่นเย้อ เอาเป็นว่าก่อนสิ้นศตวรรษที่ 16 เมื่อจักรวรรดิ์ออตโตมานของตุรกีรบชนะอาหรับ ตุรกีได้รวบรวมดินแดนอาหรับรวมทั้งปาเลสไตน์ไว้ในจักรวรรดิ์ของตนเป็นเวลากว่า 400 ปี ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงได้มี "ขบวนการกู้ชาติอาหรับ" และ "ขบวนการไซออนนิสต์" ของชาวยิวกำเนิดขึ้น ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ทั้งยิวและอาหรับได้ร่วมมือกับฝ่ายพันธมิตรโดยหวังว่าอังกฤษจะเข้ามาช่วยจัดการปัญหาต่างๆ ในดินแดนอาหรับและปาเลสไตน์ แต่อังกฤษนั้น ด้านหนึ่งไปให้สัญญากับว่าจะให้เอกราชแก่ดินแดนอาหรับ แต่อีกด้านหนึ่งก็ไปทำสัญญาลับกับฝรั่งเศสในเดือนพฤษภาคม 1916/พ.ศ.2459 เพื่อตกลงแบ่งเขตอิทธิพลกัน และในเดือนพฤศจิกายน 1917/พ.ศ.2460 ได้มีประกาศบัลเฟอร์ จากทางลอนดอนให้ปฏิญาณว่าจะให้ยิวจัดตั้งประเทศในปาเลสไตน์อย่างแน่นอน ทำให้อาหรับไม่พอใจอย่างมาก

ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 อังกฤษและฝรั่งเศสได้แบ่งเขตอิทธิพลกันในอาหรับตามที่ตกลงกันไว้ โดยปาเลสไตน์อยู่ในอาณัติของอังกฤษ นอกจากอังกฤษจะได้พัฒนาให้ดินแดนแถบนี้มีความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมอย่างมากแล้ว ยังได้ให้ท้ายปล่อยให้ชาวยิวอพยพเข้ามาในดินแดนปาเลสไตน์มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่พรรคนาซีเริ่มครองอำนาจในเยอรมันและดำเนินนโยบายต่อต้านยิว มีชาวยิวอพยพเข้ามาในปาเลสไตน์มากถึง 6,854 คน นับเป็นจำนวนที่สูงที่สุดกว่าครั้งก่อนๆ ทำให้ชาวอาหรับในปาเลสไตน์เริ่มก่อการประท้วง ต่อยุติลงได้ด้วยการประนีประนอมของผู้นำอาหรับนอกปาเลสไตน์ หลังจากนั้นอังกฤษได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาสภาพปัญหาในปาเลสไตน์ จนได้รายงานในเดือนกรกฎาคม 1937/พ.ศ.2480 เสนอให้แบ่งปาเลสไตน์ออกเป็น 3 ส่วน แต่ได้รับการคัดค้านจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ต่อมาได้มีการจัดประชุมเกี่ยวกับปัญหาปาเลสไตน์ในปี 1939/พ.ศ.2482 กำหนดว่าจะตั้งรัฐบาลปาเลสไตน์ที่มีเอกราชโดยสมบูรณ์ ประกอบด้วยชน 2 ชาติ ให้ยิวกับชาวอาหรับอยู่ร่วมกันภายในช่วงระยะเวลา 10 ปี และกำหนดจำนวนชาวยิวอพยพได้อีกเพียง 1 แสน คนในช่วง 5 ปี ฯลฯ แต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับจากทั้งยิวและอาหรับอีก พอดีเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นมา

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 องค์การไซออนนิสต์ในอเมริกาได้ประกาศที่จะจัดตั้งประเทศของตนขึ้นตามแผนการบัลเฟอร์ ท่ามกลางการคัดค้านของฝ่ายอาหรับ หลังสงครามโลก อังกฤษได้ดึงสหรัฐฯ เข้ามาร่วมประชุมแก้ไขปัญหา แต่ผลโดยสรุปคือยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้อีกตามเคย คราวนี้อังกฤษโยนปัญหาไปให้สหประชาชาติแก้ไข สมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติจึงตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อพิจารณาปัญหาปาเลสไตน์โดยเฉพาะ ผลการพิจารณาจากรายงานวันที่ 31 สิงหาคม 1947/พ.ศ.2490 ให้แบ่งปาเลสไตน์เป็น 2 ประเทศแต่ให้รวมกันด้านเศรษฐกิจ สหประชาชาติมีมติรับหลักการดังกล่าวในวันที่ 22 พฤศจิกายน แต่ชาวอาหรับยังคงคัดค้านอีกตามเคย จนเกิดการจลาจนวุ่นวายในปาเลสไตน์ และสหรัฐได้ประกาศเลิกสนับสนุนมติการแบ่งแยกปาเลสไตน์ ขณะที่อังกฤษยืนยันที่จะยุติการอาณัติและถอนทหารของตนออกจากปาเลสไตน์ในเดือนพฤษภาคม 1948/พ.ศ.2491

(สรุปจาก ธนู แก้วโอภาส "เหตุการณ์สำคัญในศตวรรษที่ 20" หน้า 597-607 รายละเอียดมากกว่านี้อ่านดูจากฉบับเต็มนะครับ)

ทีนี้ลองมาดูประวัติของผู้ที่จะมาเป็นพระเอกของเรื่องนี้ดูบ้างนะครับ Mickey Marcus หรือในชื่อเป็นทางการว่า David Daniel Marcus (ตอนเข้ามาปาเลสไตน์ยังมีอีกชื่อหนึ่งว่า "Michael Stone") เป็นบุตรของ Mordechai และ Leah Marcus ซึ่งอพยพมาจากประเทศโรมาเนีย ตัวเขาเองมาเกิดที่นิวยอร์คเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 1901/พ.ศ.2443 เป็นบุตรคนที่ 5 ของครอบครัว การศึกษานั้นดีเยี่ยมทั้งบุ๋นทั้งบู๊ (การกีฬา) จบไฮสกูลจาก Brooklyn เข้าศึกษาใน West Point ในปี 1920/พ.ศ.1963 และยังศึกษาวิชากฎหมายด้วย เมื่อจบการศึกษาจึงมาทำงานด้านกฎหมาย จนกระทั่งญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ลฮาเบอร์ในสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงกลับมารับราชการทหารในยศพันโท ได้มีส่วนร่วมในการยกพลขึ้นบกในวันดีเดย์ในหน่วยพลร่ม ทางด้านบุ๋นนั้นได้มีบทบาทในทางกฎหมายต่อการยอมรับการยอมแพ้ของอิตาลี เยอรมัน เข้าร่วมงานในรัฐบาลที่ปกครองกรุงเบอร์ลิน และการเคลียร์ค่ายกักกันต่างๆ ของนาซี เป็นต้น ซึ่งอ่านดูแล้วอาจจะไม่ค่อยหวือหวาเท่าไหร่นัก แต่จากภาพยนตร์ ในวันดีเดย์เราจะเห็นมิคกี้ฝืนคำสั่งของท่านนายพลที่ห้ามเข้าร่วมรบ โดยการปลอมเป็นหน่วยพลร่ม และอีกตอนหนึ่ง มิคกี้กล่าวกับเดวิด เบนกูเรียน ว่าเขาได้เคยร่วมอยู่ในคณะเสนาธิการของนายพลแพตตันด้วย

มิคกี้ (ซ้าย) พบกับซาเฟีย ในร้านขายของเล่นวันคริสต์มาส

ภาพยนตร์เรื่องเริ่มขึ้นในกรุงนิวยอร์ ช่วงคริสต์มาส ปี 1947 เมื่อผู้พันมิคกี้ มาร์คัส ได้รับการติดต่อจากพันตรีซาเฟีย (Maj. Safir) จากกองกำลัง Haganah ของอิสราเอล ให้เข้าร่วมกับกองกำลังของชาวยิวในปาเลสไตน์ในฐานะที่ปรึกษาทางทหาร ทีแรกมิคกี้ปฏิเสธ แต่เมื่อทราบว่ามีชาวยิวถูกสังหารไปมากก็เปลี่ยนใจ เมื่อมิคกี้นำความเข้าแจ้งกับเอมม่าผู้เป็นภรรยา (ขออภัย ทำยังกับคดีความ) ว่าจะต้องไปรับงานนี้ในเดือนหน้า ก็มีการแง่งอนกันนิดหน่อย ช่วงนี้ภาพยนตร์ได้ย้อนกลับไปช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนการยกพลขึ้นบกในวันดีเดย์ เมื่อมิคกี้รายงานตัวต่อนายพลแรนดอล์ฟเพื่อที่จะไปร่วมรบในยุโรป ท่านนายพลปฏิเสธคำขอของเขา แต่แล้วมิคกี้ก็แอบขึ้นเครื่องบินไปกับหน่วยพลร่มจนได้ (ตามประวัติบอกว่าเป็นหน่วยพลร่มในสังกัดกองพลอากาศโยธินที่ 101 ที่กองร้อยอีซี่ใน Band of Brothers สังกัดนั่นแหละครับ จะสังเกตได้จากอาร์มรูปหัวนกอินทรีที่แขนของทหาร และมิคกี้ก็ได้มีส่วนในการสร้างวีรกรรมร่วมกับเหล่าพลร่มอยู่ไม่น้อย) เมื่อท่านนายพลแรนดอล์ฟเข้ามาถึงเมืองๆ หนึ่งที่ทหารอเมริกันยึดได้ ก็มาเจอกับมิคกี้เข้าพอดี ท่านนายพลไม่พอใจอย่างมาก สั่งให้สารวัตรทหารจับมิคกี้ส่งตัวกลับทันที (แต่เขาก็ยังไม่ได้ถูกส่งกลับจริงๆ ด้วยเหตุอะไรก็ไม่ทราบ ดังจะได้เห็นบทบาทของเขาในสงครามโลกอีกครั้งในตอนต่อไป) กลับมายังช่วงที่จะต้องเดินทางไปปาเลสไตน์ มิคกี้ไปพบกับนายพลแรนดอล์ฟที่เพนตากอน ท่านนายพลไม่ได้สนับสนุนหรือห้ามมิคกี้ แต่ทางกองทัพได้ขอไม่ให้มิคกี้ไปในฐานะนายทหารของกองทัพสหรัฐฯ และไม่ให้ใช้ชื่อและยศจริงในการปฏิบัติหน้าที่

ที่สนามบิน เจ้าหน้าที่ยอมปล่อยผ่านทั้งที่รู้ว่าเขาเป็นใคร และเป็นที่ที่เขาพบกับแมคดาเป็นครั้งแรก

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 1948 มิคกี้มาถึงสนามบิน Lydda ในปาเลสไตน์ในชื่อปลอมว่า ไมเคิล สโตน ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองชาวอังกฤษทราบดีว่าเขาเป็นใคร แต่ก็แกล้งปล่อยผ่าน ณ ที่นี้เขาได้เริ่มรู้จักกับสตรีนามว่า แมคดา ซีมอน ที่ทางฝ่ายยิวส่งมาอุปโลกน์ว่าเป็นน้องสาวของเขาที่เดินทางมารับ แมคดา พามิคกี้และซาเฟียขึ้นรถบัสที่มีการเสริมเกราะเพื่อเดินทางเข้าเมือง รถแล่นไปได้ไม่เท่าไหร่ ก็ได้หยุดแวะรับชายหญิงในเครื่องแบบกลุ่มหนึ่งด้วย พอขึ้นมาได้ก็เริ่มเอาชิ้นส่วนปืนสะเต็นมาประกอบกันเป็นการใหญ่ พอรถเข้ามาในเขตเมือง คราวนี้ได้เกิดการยิงต่อสู้กันระหว่างคนในรถกับพวกอาหรับที่ซุ่มยิงจากอาคารต่างๆ  มิคกี้รู้สึกไม่ค่อยดีกับการที่มีผู้หญิงมาร่วมรบด้วย โดยเฉพาะเมื่อผู้หญิงชื่อโรน่าได้รับบาดเจ็บ เขาจะขอยิงต่อสู้แทนเธอ แต่กลับโดนดุเอาว่า "ไปลงนรกซะ" ทำเอามิคกี้จ๋อยไปเหมือนกัน

มาวันแรกก็ได้เห็นสงครามในเมือง

เมื่อถึงกองบัญชาการ มิคกี้ได้รู้จักผู้นำทางทหารของยิวอีกคนคือแอชเชอร์ มิคกี้พยายามเสนอให้ชาวยิวรวมกันเป็นองค์กรและวางแผนทำสงครามร่วมกัน ระหว่างที่ยังคุยกันไม่จบพอดีมีคนมาส่งข่าวว่ามีชาวยิวกลุ่มหนึ่งกำลังจะขึ้นบก และมีทหารอังกฤษหน่วยหนึ่งจะไปสกัดกั้น ทั้งหมดจึงรีบเดินทางไปยังชายฝั่งที่เกิดเหตุ ณ ที่นี้ อังเดรสามีของแมคดาเป็นผู้นำชาวยิวมาถึงยังชายหาด พอดีกับจังหวะที่ทหารอังกฤษก็มาถึงเช่นกัน และพยายามผลักดันชาวยิวที่มาใหม่ให้กลับไป  แต่ก็มีชาวยิวอีกกลุ่มหนึ่งจากชายฝั่งเข้ามาสมทบและวิ่งเข้าไปปะปนกับกลุ่มที่พึ่งขึ้นฝั่ง มีการแลกเปลี่ยนเสื้อผ้ากันจนทหารอังกฤษไม่สามารถแยกแยะได้ว่าใครเป็นใคร แม้การยิงขึ้นฟ้าขู่ก็ไม่เป็นผล ในที่สุด ทหารอังกฤษก็ต้องปล่อยกลุ่มชาวยิวที่ปนกันจนมั่วแล้วเข้าสู่เขตแดนปาเลสไตน์

ทหารอังกฤษพยายามสกัดผู้อพยพชาวยิว แต่ก็ต้องยอมปล่อย

ถัดมา แมคดาพามิคกี้ขึ้นรถไปยังหน่วยทหารชาวยิวกลุ่มพัลมัค ระหว่างทางแมคดาว่าเสียดสีมิคกี้ว่าเคยรบแต่ในกองทัพสหรัฐฯ ที่รบแบบคนรวย มิคกี้ไม่ได้โต้ตอบอะไร แต่ในใจนึกย้อนไปถึงตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อเขาพานายพลแลนดอล์ฟไปยังค่ายกักกันชาวยิวที่พึ่งได้รับการปลดปล่อย ตรงนี้ผมเดาว่ามิคกี้คิดว่าตอนที่ฉันรบอย่างคนรวยพวกเธอไม่ได้สู้อะไรเลยปล่อยให้พวกนาซีรังแกเอาด้วยซ้ำ ผิดถูกอย่างไรลองดูแล้วแลกเปลี่ยนกันได้นะครับ เมื่อถึงที่หมาย ทั้งสองได้พบกับอังเดร และ ราม โอเรน (Ram Oren) ผู้บังคับการกองพลน้อยยิบแถ็ก ตกกลางคืนบรรดาทหารชายหญิงต่างเต้นรำรอบกองไฟกันอย่างสนุกสนาน ในจำนวนนี้มีทั้งพวกที่ทำหน้าที่ปลอมเป็นชาวอาหรับไปแทรกซึมข้าศึกรวมอยู่ด้วย สักพักหนึ่ง ราม โอเรน ได้รับเชิญจากผู้เฒ่าชาวอาหรับนามว่า Abou Ibn Kader ให้ไปพบ ณ ที่พัก มิคกี้ตามไปด้วย อาบูบอกว่าต้องส่งคนเข้าร่วมรบกับฝ่ายอาหรับเพราะได้ข่าวว่าชาวยิวจะทำลายดินแดนและทำร้ายชาวอาหรับ มิคกี้ปฏิเสธข่าวดังกล่าว อาบูกล่าวว่าตนยินดีจะช่วยฝ่ายยิวถ้าพิสูจน์ความสามารถได้ และแจ้งข่าวว่าฝ่ายอาหรับได้เตรียมกำลังอาวุธและน้ำมันไว้ ณ ที่แห่งหนึ่งนอกเขตแดน มิคกี้จึงสนับสนุนให้ราม โอเรน ตัดสินใจเข้าโจมตีคลังอาวุธดังกล่าว ผลคือสามารถทำลายคลังอาวุธดังกล่าวได้สำเร็จ แต่อังเดรถูกยิงตาย และราม โอเรน ได้รับบาดเจ็บ

ไปพบกับ Abou Ibn Kader พร้อมกับราม โอเรน

ถล่มคลังอาวุธฝ่ายอาหรับ

มิคกี้ได้พบกับเดวิดเบงกูเรียน ขอให้เร่งหาเสบียงอาวุธและหาทางรวบรวมกองกำลังกลุ่มต่างๆ ที่ยังแตกแยกกันอยู่เข้าด้วยกัน วันถัดมาเขาได้เข้าร่วมขบวนรถที่ขนเสบียงไปยังกรุงเยรูซาเลมแล้วถูกฝ่ายอาหรับซุ่มโจมตี (หนังจบแผ่นที่ 1 ตรงนี้ขณะที่แมคดากำลังอยู่ในอันตราย แล้วข้ามไปแผ่นสองโดยไม่ทราบว่าเธอรอดมาได้อย่างไร) หลังจากปฏิบัติการครั้งนั้น มิคกี้ได้กลับไปสหรัฐฯ เนื่องจากได้ข่าวว่าเอมม่าแท้งลูก สองสามีภรรยาได้มีการแง่งอนกันนิดหน่อย เนื่องจากลึกๆ มิคกี้ไม่อยากทิ้งงานมา ขณะที่ทางภรรยาก็ระแคะระคายเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมิคกี้กับแมคดา นอกจากไปเยี่ยมภรรยาแล้ว มิคกี้ยังได้รับเชิญจากสถานทูตอังกฤษให้ไปรับเหรียญกล้าหาญจากวีรกรรมของเขาในสงครามโลก ระหว่างงานเลี้ยง ทั้งเอกอัครราชทูตอังกฤษและนายพลแลนดอล์ฟได้พยายามขอให้เขาถอนตัวจากปาเลสไตน์ แต่ไม่เป็นผล

มิคกี้กลับมาปาเลสไตน์โดยเครื่องบินที่ขนอาวุธมาด้วยเป็นจำนวนหนึ่ง หลังจากนั้นไม่นาน เดวิด เบงกูเรียน ก็ประกาศก่อตั้งประเทศอิสราเอลทันทีที่อังกฤษถอนตัวจากการยึดครอง (ตามตำราบอกว่าเป็นตอนเที่ยงคืนระหว่างวันที่ 14 และ 15 พฤษภาคม 1948 แต่ผมยังไม่แน่ใจว่าเป็นเวลาของท้องถิ่น หรือ Time Zone ไหน) โดยได้รับการรับรองจากสหรัฐอเมริกาเป็นชาติแรก และขณะที่ชาวอิสราเอลกำลังฉลองกันในตอนกลางคืนนั้น ฝ่ายอาหรับก็ส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดทันทีครับ ไม่ปรากฏว่าเสียหายอะไรแค่ไหน นอกจากพระเอกของเรากับแมคดาได้หลบระเบิดเข้าไปจู๋จี๋กันในตึกแห่งหนึ่ง

(ในภาพยนตร์เหมือนกับว่า ฝ่ายอาหรับจองล้างจองผลาญประเทศอิสราเอลแต่ฝ่ายเดียว อย่างไรก็ตาม ในหนังสือ "เหตุการณ์สำคัญในศตวรรษที่ 20" ของ ธนู แก้วโอภาส หน้า 609 อ้างว่า เมื่อมีการประกาศอิสรภาพแล้ว พวกยิวหัวรุนแรงได้ถือโอกาสแก้แค้นชาวอาหรับในเขตแดนของตนอย่างโหดเหี้ยม จนชาวปาเลสไตน์ส่วนหนึ่งต้องกลายเป็นผู้อพยพในประเทศเพื่อนบ้าน และเป็นเหตุให้ชาติอาหรับอื่นๆ ถือเป็นข้ออ้างในการเข้ามารุกราน ตรงนี้เป็นข้อสังเกตว่าภาพยนตร์ยังให้ข้อมูลเพียงด้านเดียว)

สกัดรถถังอิยิปต์เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 1948/พ.ศ.2491

และแล้วศึกใหญ่ก็มาถึง เมื่อรถถังอิยิปต์เคลื่อนกำลังข้ามทะเลทรายเข้ามา ขณะที่กองกำลังอาหรับอีก 5 ชาติก็เข้ามาสมทบ ทีแรกเบงกูเรียนต้องการถ่วงเวลาจนกว่าจะได้รับอาวุธในอีกหนึ่งสัปดาห์ แต่มิคกี้ได้เสนอให้โจมตีข้าศึกก่อนด้วยอาวุธเท่าที่มีอยู่ คือใช้รถจี๊ปติดปืนกลเข้าไปล่อให้รถถังฝ่ายอิยิปต์เข้ามาเป็นเป้าของปืนปตอ. แผนการของเขาประสบความสำเร็จอย่างงดงาม แต่ก็ต้องสูญเสีย Vince Talmadge เพื่อนรักผู้ทำหน้าที่นักบินที่พึ่งหอบหิ้วกันตอนกลับมาครั้งที่สอง นอกจากนี้ปัญหาก็ยังไม่จบเมื่อฝ่ายอาหรับหรือที่ในหนังเรียกว่า "สหายสงคราม" ได้ยึดป้อมลาทูนไว้คอยสกัดขบวนรถที่จะส่งเสบียงไปยังกรุงเยรูซาเล็ม แม้ว่าสหประชาชาติจะสั่งมีการหยุดยิงในอีก 2 สัปดาห์ แต่ในกรุงเยรูซาเล็มกำลังอดอยาก เบงกูเรียนจึงแต่งตั้งให้มิคกี้ เป็น "Aluf" หรือนายพลคนแรกของกองทัพอิสราเอล เพื่อทำหน้าที่บัญชาการตีป้อมในครั้งนี้

การโจมตีป้อมลาทูนที่ประสบความล้มเหลว

มิคกี้หรืออะลูฟสโตนมาถึงสนามรบและพยายามทำหน้าที่อย่างสุดความสามารถ แต่กองทัพอิสราเอล ณ เวลานั้นก็ยังเป็นกองทัพอนาถา ไม่มีแม้กระทั่งเครื่องหมายยศที่จะบอกให้ทราบว่าใครเป็นผู้บังคับบัญชา ต้องติดโบว์แทน นายทหารบางคนยังไม่มีนาฬิกา ทหารที่ได้มาก็เป็นพวกที่พึ่งออกจากค่ายกักกันในยุโรปได้ไม่นาน ยังไม่ได้รับการฝึกที่ดีพอ ต้องออกคำสั่งกันถึง 7 ภาษา แม้กระนั้นก็ยังมีบางคนไม่เข้าใจคำสั่ง ฯลฯ จึงทำได้ดีที่สุดแค่ส่งรถรบจำนวนหนึ่งเข้าไปเผาทำลายบางส่วนของป้อม แต่ที่สุดก็ยังพ่ายแพ้ล่าถอยออกมา หนึ่งในจำนวนผู้เสียชีวิตมีโรน่า ผู้หญิงที่มิคกี้พบในรถบัสตอนมาถึงครั้งแรกด้วย

เมื่อยังไม่สามารถรวมกำลังเข้าตีป้อมได้อีก มิคกี้จึงหันมาหาเส้นทางที่จะขนส่งเสบียงไปโดยไม่ต้องผ่านป้อม คราวนี้ได้รับความช่วยเหลือจาก Abou Ibn Kader ในการสำรวจเส้นทาง และวิศวกรชาวสก็อตชื่อผู้กองแมคแคฟฟี (James MacAfee นามสกุลเหมือนโปรแกรมแอนตี้ไวรัสนั่นแหละครับ) ในการอำนวยการสร้างทาง ระดมคนงานกันมาสร้างทางข้ามหน้าผาที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ ไหนจะถูกพวกอาหรับโจมตี ไหนจะต้องรับข่าวร้ายว่าเอมม่าขอหย่า ในเวลาชั่วข้ามคืนก็สามารถสร้างถนนได้สำเร็จ วันรุ่งขึ้นตอนให้รถบรรทุกทดลองวิ่งให้ทหารสหประชาชาติดู มิคกี้ลงทุนนั่งข้างคนขับ แล้วรถก็วิ่งในสภาพทุลักทุเล แต่ก็ผ่านไปได้ด้วยดี

สร้างถนนข้ามภูเขาเพื่อขนเสบียงไปเยรูซาเลม

ขณะที่อะไรๆ กำลังไปได้สวย มิคกี้ หรือ อะลูฟสโตน กลับต้องมาพบจุดจบอย่างไม่คาดคิดและน่าเสียดายยิ่ง ในคืนวันสุดท้ายก่อนที่จะถึงเวลาหยุดยิงตามมติสหประชาชาติ ณ ที่พักบนเขาในเส้นทางไปสู่เยรูซาเลม มิคกี้นอนไม่หลับและออกไปเดินเล่น ในภาพยนตร์เขาได้พบกับแมคดา และกล่าวกับเธอว่าเขากำลังจะ "กลับบ้าน" เนื่องจากพบว่าเขายังรักเอมม่าอยู่ เมื่อกลับมาที่พัก เกิดปัญหาในการสื่อสารกับทหารยามเนื่องจากตัวเขาเองไม่เคยเรียนรู้ภาษาฮีบรูเลย ทางฝ่ายยามซึ่งก็ไม่รู้ภาษาอังกฤษพยายามบอกให้หยุด มิคกี้ก็ไม่หยุดจึงถูกยามยิงเสียชีวิต ซึ่งในหนังจะเห็นมิคกี้แต่งเครื่องแบบตามธรรมดา แต่ในบทความของวิกิพีเดียอธิบายว่า เขามีผ้าปูที่นอนพันตัวซึ่งดูแล้วคล้ายกับคนอาหรับด้วย ไม่ว่าอย่างไร บทสรุปคือเขาต้องเสียชีวิตลงด้วยวัยเพียง 47 ปีเท่านั้น ทั้งที่น่าจะทำประโยชน์ได้อีกมากโดยเฉพาะกับอิสราเอลที่พึ่งก่อตั้งและยังต้องผจญศึกสงครามอีกหลายครั้ง

รถจี๊ปขนโลงศพของมิคกี้มาท่ามกลางความเศร้าของบรรดาทหารยิว

ภาพยนตร์เรื่องนี้ผมเจอในสภาพที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า "หนังซอง" คือเป็น VCD ที่มีแต่แผ่นกับหน้าปกใส่ในซองพลาสติคขายเลหลัง ป้ายราคาเป็นของร้านมีเดียเน็ตเวิร์คราคา 39 บาท ซึ่งคงเป็นที่ถูกใจสำหรับคนชอบหนังราคาถูก แต่สำหรับคนรักคุณค่าหนังแล้วน่าเสียดาย ด้วยคุณค่าต่างๆ ของภาพยนตร์ ได้แก่

  • เป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในส่วนที่ยังมีผู้สร้างค่อนข้างน้อยแต่มีผลกระทบกับปัจจุบันมาก คือเรื่องความขัดแย้งในตะวันออกกลาง แม้จะเป็นมุมมองจากทางอิสราเอลด้านเดียวก็ตาม
  • เป็นเรื่องของวีรบุรุษที่น่าจะถือเป็นอัจฉริยะทางการรบคนหนึ่งที่มีส่วนช่วยให้ประเทศอิสราเอลลงหลักปักฐานได้ จากประวัติและจากภาพยนตร์นั้น ผมเดาว่าเขาน่าจะได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากนายพลแพตตันอยู่บ้าง จากหลายๆ ตอนที่เขากล่าวกับบรรดาผู้นำของอิสราเอลในเชิงปลุกใจให้สู้ และคิดในเชิงรุกเสมอ แม้จะดูเหมือนเป็นฝ่ายเสียเปรียบก็ตาม
  • เป็นตัวอย่างของการต่อสู้เพื่อการสร้างชาติให้เห็นว่า ทำไมชนชาติที่เคยถูกเขาต้อนเข้าโรงฆ่าเหมือนฝูงสัตว์จึงกลับมาผงาดขึ้นในสังคมโลกได้

ข้อด้อยของภาพยนตร์เท่าที่เห็น น่าจะเป็นเรื่องของบรรยากาศของแดนทะเลทรายที่ยากจะถ่ายทำให้ดูสวยงามเหมือนใน Lawrence of Arabia โดยเฉพาะเวอร์ชัน VCD ที่ใช้ประกอบการเขียน อาวุธยุทธภัณฑ์ของกองทัพอิสราเอลในเวลานั้นก็ค่อนข้างจะอนาถา มีแต่รถบัสหุ้มเกราะที่ดูเหมือนกระป๋อง กับอาวุธปืนที่รับมรดกมาจากสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ก็สอดคล้องกับสภาพในเวลานั้นจริงๆ ทำให้ภาพในหนังดูลดความสวยงามลงไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้ถึงขั้นเลวร้าย หากหาฉบับ DVD ได้ ภาพคงจะสวยงามกว่านี้

ส่วนกรณีที่มิคกี้แอบมีกิ๊กกับแมคดาทหารหญิงม่ายชาวยิวนั้น ยังหาข้อเท็จจริงไม่ได้ หากเป็นเรื่องที่แต่งเสริมขึ้นมาก็นับว่าใส่ได้แนบเนียนจริงๆ และทำให้เนื้อเรื่องมีรสชาติโดยไม่เสียประเด็นหลักแต่อย่างใด

ลองหา VCD เรื่องนี้จากร้านมีเดียเน็ตเวิร์คสาขาต่างๆ หรือในกระบะหนังซองตามร้านทั่วๆ ไปนะครับ โอกาสที่จะได้ดูฉบับ DVD อาจจะยากสักนิด

คำคมชวนคิด

  • "เมื่อไม่นานมานี้คนของเราถูกฆ่าไป 600 คน ผู้การมาร์คัส คุณอยากให้จำนวนเราเพิ่มเป็น 7 ล้านหรือ"  ซาเฟียกล่าวกับ มิคกี้ มาร์คัส
  • "ผมรู้ว่าหัวหน้าพวกอาหรับต่างเกลียดชังกันและกันมากกว่าพวกคุณ" มิคกี้ มาร์คัส กล่าวกับ แอชเชอร์
  • "ไม่มีใครชนะสงครามได้ด้วยการแก้ตัวหรือว่าขอโทษ" และ "โลกไม่เคยสงสารการสังหารหมู่ พวกเขาเลื่อมใสคนที่ต่อสู้" มิคกี้ มาร์คัส กล่าวกับ เดวิด เบงกูเรียน
  • "อย่าเกลียดที่ฉันรักคุณมากเกินไป" เอมม่าพูดกับมิคกี้
  • "เพื่อนของคุณอาจจะมีคัมภีร์ไบเบิล แต่พวกอาหรับน่ะมีน้ำมัน คุณคิดว่าพวกรัฐบาลของเราควรจะเลือกถือหางฝ่ายไหน" นายพลแรนดอล์ฟ กล่าวกับ มิคกี้ มาร์คัส
  • "คุณแพ้สงครามแน่ถ้าใช้คำว่า 'บางที' " มิคกี้พูดกับแอชเชอร์

เนื่องจากบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์อัน ชอบธรรมของผู้เขียน และอาจะมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลบ้างตามความเหมาะสม ในการนำบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่นๆ จึงขอความร่วมมือให้ใช้วิธีการคัดลอกเฉพาะ Link หรือ URL Address แทนการคัดลอกบทความทั้งหมด  หากมีการคัดลอกไปในลักษณะแอบอ้างเป็นผู้เขียน หรือมีเจตนาอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทางเว็บ iseehistory.com แล้ว จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย

ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ : Cast  A Giant Shadow

ชื่อภาษาไทย :  ยุทธภูมิชาตินักรบ

เรื่องเดิม :  ชีวประวัติของพันเอก Micky Marcus เขียนโดย Ted Berkman

ผู้กำกำกับ : Melville Shavelson

ผู้สร้าง : Melville Shavelson

ผู้เขียนบท :  Melville Shavelson

ผู้แสดง :

  • Kirk Douglas  ... Col. David 'Mickey' Marcus
  • Senta Berger  ... Magda Simon
  • Angie Dickinson  ... Emma Marcus
  • James Donald  ... Maj. Safir
  • Stathis Giallelis  ... Ram Oren
  • Luther Adler  ... Jacob Zion
  • Topol  ... Abou Ibn Kader
  • Ruth White  ... Mrs. Chaison
  • Gordon Jackson  ... James MacAfee
  • Michael Hordern  ... British ambassador
  • Michael Shillo  ... Andre Simon
  • Rina Ganor  ... Rona
  • Roland Bartrop  ... Bert Harrison
  • Robert Gardett  ... Gen. Walsh
  • Frank Sinatra  ... Vince Talmadge
  • Yul Brynner  ... Asher Gonen
  • John Wayne  ... Gen. Mike Randolph

ควรอ่านเพิ่มเติม

กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

  • (ยังไม่มี)

  

 
เรียนเชิญสมาชิกร่วมแสดงความคิดเห็นที่ด้านล่างสุดของหน้าเว็บ (ต้องสมัครและ Login ก่อน) ผู้ชมทั่วไปหรือสมาชิกที่ต้องการโพสต์รูป เชิญร่วมแสดงความเห็นได้ที่เว็บบอร์ด "คุยกันหลังฉาก" ในกระทู้ที่มีอยู่แล้ว หรือ สร้างกระทู้ใหม่ (คลิกที่นี่) ครับ

หากเป็นสมาชิก Facebook แสดงความเห็นได้ในฟอร์มข้างล่างนี้ครับ

Bookmark and Share

สำหรับเรื่องนี้ ไม่สามารถหาภาพยนตร์ตัวอย่าง (Trailer) จาก www.youtube.com ได้ จึงขอนำเสนอคลิปของสถานีวิทยุแห่งชาติอิสราเอลนี้แทนครับ

 

ทางเว็บไม่มีนโยบายนำภาพยนตร์ฉบับ เต็มมาให้ดูออนไลน์หรือให้ดาวน์โหลดเนื่องจากเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และไม่ มีพื้นที่สำหรับเก็บไฟล์ภาพยนตร์

 



ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ

1911 ใหญ่ผ่าใหญ่ การปฏิวัติซินไฮ่อันนำมาซึ่งการสิ้นสุดของระบอบศักดินา 3,000 ปีของจีน วันที่ 19/05/2013   18:35:25
สะดุดเลิฟ ที่เมืองรัก (Letters to Juliet) วันที่ 19/05/2013   18:36:43
เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ 1980 (คลาสสิค) วันที่ 19/05/2013   18:40:30
5 พยัคฆ์พิทักษ์ซุนยัดเซ็น เมื่อการปฏิวัติ คือ การหลั่งเลือด วันที่ 19/05/2013   18:39:13
Kingdom of Heaven มหาศึกกู้แผ่นดิน วันที่ 19/05/2013   18:41:31
Chariots of Fire เกียรติยศแห่งชัยชนะ ชัยชนะแห่งไฟในหัวใจอันลุกโชน วันที่ 19/05/2013   18:43:04
Master and Commander วันที่ 19/05/2013   18:43:58
FIRST KNIGHT (สุภาพบุรุษยอดอัศวิน) วันที่ 19/05/2013   18:45:00
Legionnaire คนอึดเดือดไม่ใช่คน วันที่ 19/05/2013   18:46:18
ไททานิค ภาพยนตร์ที่ลงตัวทั้งประวัติศาสตร์และนิยายโรแมนติก วันที่ 19/05/2013   18:47:27
Napoleon ศึกรบ ศึกรัก และศึกการเมือง ในชีวิตนโปเลียน วันที่ 19/05/2013   18:48:31
Waterloo ความมโหฬารของสงครามปราบจักรพรรดิ์นโปเลียน วันที่ 19/05/2013   18:49:19
เอลซิด (El Cid) : ประวัติศาสตร์ หรือ ตำนาน วันที่ 19/05/2013   18:50:07
Fearless -> Truthless? วันที่ 19/05/2013   18:50:53
Veer จอมวีรอหังการ์ (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   18:51:25 article
The Last Samurai (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   18:52:09 article
Nomad: The Warrior (ยังไม่มีบทวิจารณ์) วันที่ 19/05/2013   18:52:53 article



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker