โดย จ่ากองร้อย

1 ปีกับ 2 เดือนนับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ระเบิดขึ้นเมื่อเยอรมันนีโจมตีโปแลนด์ สงครามทางแปซิฟิคก็เกิดขึ้นเมื่อญี่ปุ่นโจมตีฐานทัพเรือสหรัฐฯที่อ่าวเพิร์ลทำให้สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นสงครามโลกอย่างแท้จริง
ชัยชนะของญี่ปุ่นที่อ่าวเพิร์ลเป็นชัยชนะเพียงครึ่งเดียว เพราะไม่มีเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯสูญเสียแม้แต่ลำเดียว การโจมตีทั้งสองระลอกทางอากาศทำให้สหรัฐฯเสียเรือประจัญบานไป 8 ลำและเครื่องบินรบอีกจำนวน 188 เครื่อง เสียหายอีก159 เครื่อง เมื่อเทียบกำลังทางแปซิฟิคของสหรัฐฯยังมีเรือประจัญบานเหลืออยู่อีก 9 ลำ เรือลาดตระเวน 24 ลำ เรือพิฆาต 80 ลำที่ยังไม่บุบสลายเลยแม้แต่น้อย นายพลเรือยามาโมโต (Isoroku Yamamoto) แม่ทัพเรือญี่ปุ่นที่ใช้ยุทธวิธีเด็ดขาดของเขา คือการโจมตีฉับพลันรุนแรงไม่ให้ข้าศึกรู้ตัวโดยอำนาจการรบที่สูงกว่า แต่สิ่งหนึ่งที่ยามาโมโตกังวลมาตลอดคือความสามารถอันยิ่งใหญ่ทางอุตสาหกรรมของสหรัฐฯที่สามารถสร้างกำลังรบขึ้นมาทดแทนได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเขาเองเคยพยากรณ์ล่วงหน้าไว้ว่าญี่ปุ่นจะชนะเด็ดขาดก็ต้องเร่งภายใน 6 เดือนแรก หลังจากนั้นสหรัฐฯจะตั้งตัวได้ และไม่รับประกันผลการสู้รบหลังจากนั้น คำพยากรณ์ของเขาถูกต้องเพราะอีก 6 เดือนต่อมา เขาต้องพ่ายแพ้ทั้งทางยุทธวิธีและยุทธศาสตร์ในยุทธนาวีทางอากาศที่มิดเวย์
หลังเพิร์ลฮาเบอร์กองเรือญี่ปุ่นเก็บกวาดชัยชนะไปทั่วแปซิฟิค อย่างไรก็ตาม ปัญหาอันสำคัญของญี่ปุ่นคือกองเรือแปซิฟิคของสหรัฐฯโดยเฉพาะกองเรือบรรทุกเครื่องบินยังอยู่ในฐานะที่จะต่อต้านและรบกวนการบุกของญี่ปุ่นได้ ยามาโมโตกำลังคิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะดึงกองเรือสหรัฐฯออกมาทำลายเสียให้หมดขวากหนาม ยามาโมโตทราบดีว่าทุกชั่วโมงที่สูญเสียไปในการเข้ายึดหมู่เกาะต่างๆ เรือบรรทุกเครื่องบิน เรือรบและอากาศยานของสหรัฐฯ กำลังทยอยออกจากอู่ต่อเรือและโรงงานอุตสาหกรรมหนักมากขึ้นทุกที โดยเฉพาะการปรากฏตัวของเรือบรรทุกเครื่องบินลำใหม่คือเรือฮอร์เนตที่นำเครื่องบิน บี 25 จำนวน 15 เครื่องมาโจมตีโตเกียวเมื่อ 18 เมษายน 1942 แม้ญี่ปุ่นจะไม่เสียหายอะไรนัก แต่เป็นการตอกย้ำความกังวลของยามาโมโตที่ว่าภายใน3 เดือนเศษหลังเพิร์ลฮาเบอร์สหรัฐฯสามารถผลิตเรือบรรทุกเครื่องบินและเรือรบอื่นๆขึ้นมาทดแทนการสูญเสียได้แล้วและยังอยู่ในฐานะที่จะทำการรุกรานแผ่นดินแม่ของญี่ปุ่นได้อีกด้วย
ยามาโมโตต้องเสียเวลาให้กับแผนการของกองทัพบกที่เตรียมการบุกออสเตรเลียทำให้เขาต้องส่งกำลังทางเรือกระจายออกไปเพื่อเข้าสนับสนุนการยึดพอร์ตเมอร์เรสบี้ แต่ยามาโมโตก็ไม่ทิ้งแนวคิดที่จะโจมตีทางเรืออย่างฉับพลันอีกครั้งและ หาทางเอากองเรือสหรัฐฯออกมาสู้และทำลายเสีย เสนาธิการของเขาร่างแผนอย่างเร่งด่วน ขณะที่การบุกพอร์ตเมอร์เรสบี้ยังกำลังอยู่ในขั้นเตรียมการ ยุทธการโจมตีและยึดเกาะมิดเวย์ก็ได้ถูกร่างขึ้นแล้ว
ญี่ปุ่นได้เปรียบสหรัฐฯในด้านกำลังรบโดยเฉพาะเรือบรรทุกเครื่องบินที่มีถึง 11 ลำในขณะที่สหรัฐฯมีเพียง 5 ลำ คือ เรือซาราโตกา,ยอร์คทาวน์,เล็กซิงตัน,เอนเตอร์ไพรส์,และฮอร์เนต ก่อนหน้านี้สหรัฐฯได้เสียเรือแลงค์ลีไปแล้วในการถอยร่นจากการรบในเกาะชวามิหนำซ้ำเรือซาราโตกาถูกเรือดำน้ำญี่ปุ่นโจมตีเสียหายหนักจนต้องเข้าอู่ซ่อมเมื่อ11มกราคม 1942 นักบินญี่ปุ่นทั้งกองทัพบกและกองทัพเรือก็มีความชำนาญในการรบมีประสบการณ์สูงจากการรบในจีนและแปซิฟิค เครื่องบินซีโร่ของญี่ปุ่นก็พิสูจน์แล้วว่ามีสมรรถนะสูงกว่าเครื่องบินทุกแบบของสหรัฐฯ นอกจากนี้สหรัฐฯยังมีภาระที่ต้องแบ่งกำลังของตนไปช่วยอังกฤษในสมรถูมิยุโรปอีกด้วย
สหรัฐฯมีข้อชดเชยการเสียเปรียบนี้อย่างสำคัญคือสหรัฐฯสามารถถอดรหัสลับของญี่ปุ่นได้โดยที่ญี่ปุ่นไม่รู้ตัว สหรัฐฯสามารถดักจับความเคลื่อนไหวของญี่ปุ่นได้ตลอด อีกด้านคือการสื่อสารเครื่องบินญี่ปุ่นที่ประสบชัยชนะครั้งแล้วครั้งเล่าปรากฏว่าไม่มีวิทยุติดต่อระหว่างเครื่องบินฝ่ายเดียวกันมีแต่วิทยุที่ใช้ส่งข่าวติดต่อกับฐานบินเท่านั้นซึ่งได้เปรียบนี้สหรัฐฯจะใช้ประโยชน์ในการโจมตีชดเชยการที่ญี่ปุ่นมีกำลังมากกว่าได้และสามารถกลายเป็นฝ่ายรุกกลับ นายพลยามาโมโตเองก็เสียชีวิตเพราะสหรัฐสามารถถอดรหัสจับข่าวได้รู้ว่ายามาโมโตจะไปตรวจแนวรบที่ใด ทำให้สหรัฐฯส่งฝูงบินไปดักโจมตีได้ถูกต้อง ยามาโมโตเสียชีวิตเพราะเครื่องบินที่เขาโดยสารมาถูกยิงตก
แผนการของกองทัพบกในการยึดพอร์ตเมอร์เรสบี้เริ่มในวันที่ 5 พฤษภาคม กองทัพเรือญี่ปุ่นส่งกำลังอันประกอบด้วยเรือบรรทุกเครื่องบินโซกากุและซุยกากุเป็นเรือหลักมีพลเรือโทตากางิเป็นผู้บัญชาการ ฝ่ายสหรัฐฯซึ่งรู้ข่าวสารของข้าศึกดี จัดส่งเรือบรรทุกเครื่องบินเล็กซิงตันของพลเรือโทฟิตต์และเรือยอร์คทาวน์ของพลเรือโทเเฟลตเชอร์ (Frank J. Fletcher) เข้าขัดขวาง เวลา 8.00 น.วันที่ 7 พฤษภาคม 1942 เล็กซิงตันและยอร์ค ทาวน์ส่งเครื่องบิน 84 เครื่องขึ้นโจมตีเป็นการเปิดฉากยุทธนาวีทางอากาศเป็นครั้งแรกที่ต่อมาเรียกว่ายุทธนาวีที่ทะเลคอรัล
ผลการรบเรือโซกากุเสียหายหนักและเรือซุยกากุเสียหายเล็กน้อย เวลา 11.18 น.ฝ่ายญี่ปุ่นตอบโต้โดยส่งเครื่องบิน 69 เครื่องเข้าโจมตี การโจมตีแสดงให้เห็นว่านักบินญี่ปุ่นมีประสบการณ์สูงกว่า เรือเล็กซิงตันโดนทั้งตอร์ปิโดและลูกระเบิดเสียหายหนัก เล็กซิงตันลอยลำอยู่อยู่ได้จน 17.00 น. ก็ต้องสละเรือ เวลา 20.00 น. เรือพิฆาตสหรัฐฯต้องยิงตอร์ปิโดเพื่อให้เล็กซิงตันจมลง เรือยอร์คทาวน์ก็เสียหายเกิดไฟไหม้หลายแห่งแต่ดับได้ในที่สุดต้องเดินทางกลับเข้าอู่ซ่อมที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ ประสิทธิภาพในการซ่อมแซมของสหรัฐฯสูงมากเรือยอร์คทาวน์ที่ต้องซ่อมนานสามเดือนกลับสามารถซ่อมได้ภายใน 3 สัปดาห์และสามารถร่วมรบในยุทธนาวีที่มิดเวย์
การรบที่ทะเลคอรัลฝ่ายสหรัฐฯสูญเสียเรือบรรทุกเครื่องบินไป 1 ลำเสียหายหนัก 1 ลำฝ่ายญี่ปุ่นเสียหาย 2 ลำ ในแง่ยุทธศาสตร์สหรัฐฯสามารถต้านทานญี่ปุ่นไว้ได้แม้จะเสียหายมากกว่า กองทัพบกญี่ปุ่นต้องล้มเลิกการเข้ายึดพอร์ตเมอร์เรสบี้ ส่วนกองทัพเรือยามาโมโตขุ่นเคืองมากที่เรือบรรทุกเครื่องบินที่ดีที่สุดของเขาต้องออกจากการรบกลับไปซ่อมถึง 2 ลำ
ยุทธนาวีที่ทะเลคอรัล (Battle of the Coral Sea) ซึ่งในสายตาของฝ่ายเสนาธิการญี่ปุ่นเห็นว่าเป็นการแสดงสลับฉากเท่านั้น พวกเขามองข้ามหลักยุทธศาสตร์ที่ว่าการรุกทางบกจะไม่มีทางสำเร็จถ้าปราศจากการกองเรือบรรทุกเครื่องบินที่เข้มแข็งให้การคุ้มกันและไม่สงสัยเลยว่าเหตุใดกองเรือสหรัฐฯจึงปรากฏตัวได้ถูกที่ถูกจุดถูกเวลาราวกับนัดพบกันเช่นนี้ ทั้งนี้เพราะขณะการยุทธที่ทะเลคอรัลกำลังดำเนินไปนั้น แผนการโจมตียึดมิดเวย์ก็ได้สำเร็จลงแล้ว ยามาโมโตพร้อมที่จะปฏิบัติภารกิจหลักคือเปิดยุทธนาวีที่มิดเวย์ แผนการคือหลอกล่อเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯอออกมาสู้กันอีกและจะทำลายเสียให้สิ้นเช่นที่ทะเลคอรัล ความหลงในชัยชนะที่ทำลายเรือบรรทุกเครื่องบินข้าศึกได้ทำให้ฝ่ายเสนาธิการไม่สนใจในการที่เรือบรรทุกเครื่องบินที่ดีที่สุดของตนออกจากการรบไปไม่สามารถรบได้อีกนานถึง 2 ลำโดยแลกมาด้วยการจมเรือบรรทุกเครื่องบินข้าศึกขนาดเล็กได้ 1 ลำ เสียหาย 1 ลำ ซึ่งทางฝ่ายทหารเรือเห็นว่าไม่คุ้มค่าพอเลย ยิ่งกว่านั้นฝ่ายญี่ปุ่นยังไม่ได้คิดไปถึงว่าเหตุใดจึงถูกฝ่ายสหรัฐฯโจมตีก่อนราวกับรู้ว่ากองเรือญี่ปุ่นอยู่ที่ไหน ความผิดพลาดครั้งนี้จะเป็นการผิดซ้ำสองในยุทธนาวีที่มิดเวย์ในอีก 1 เดือนต่อมา
กองทัพญี่ปุ่นมีพื้นฐานขวัญกำลังใจดีเยี่ยม การรบชนะรัสเซียมหาจักรวรรดิของพระเจ้าซาร์ในปี 1900 การเข้าข้างพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้ญี่ปุ่นเก็บกวาดผลประโยชน์ของเยอรมันด้านแปซิฟิคมาเป็นของตน การยึดแมนจูเรียในปี 1931 และการบุกประเทศจีนในปี 1938 ทำไห้ญี่ปุ่นคุ้นเคยกับชัยชนะทหารญี่ปุ่นได้ชื่อว่ารบเก่ง กล้าหาญวินัยสูงขวัญกำลังใจดีเยี่ยม ญี่ปุ่นวางแผนเปิดสงครามกับสหรัฐฯก่อนเพิร์ลฮาร์เบอร์เป็นปีๆ หลังเพิร์ลฮาร์เบอร์การรุกลงใต้ของญี่ปุ่นก็เป็นความสำเร็จที่น่าทึ่งพอๆกับการบุกสายฟ้าแลบของเยอรมันในยุโรป กองทัพญี่ปุ่นใช้เวลาเพียง 1 วัน ก็กันประเทศไทยออกไปจากการเดินหน้าสำเร็จการศึกในมลายูก็ใช้เวลาอันสั้น 15 กุมภาพันธ์ 1942 69 วันหลังเพิร์ลฮาร์เบอร์สิงคโปร์ฐานทัพใหญ่ของอังกฤษก็ตกอยู่ในมือของนายพลยามาชิตะ ทั้งที่ญี่ปุ่นยกกำลังมาแสนไกลทั้งยังมีกำลังทหารน้อยกว่า ยามาชิตะเสียทหารไปเพียง 3,507 คนโดยสามารถสังหารทหารพันธมิตรไป 9,000 คน และได้เชลยศึกอีก 130,000 คน นับว่าจ่ายราคาถูกมากในการลงทุนที่นำไข่มุกแห่งเอเซียแห่งนี้ถวายให้พระเจ้าจักรพรรดิ์
อีก 1 เดือนต่อมา 27 มีนาคม 1942 ญี่ปุ่นก็ยึดครองหมู่เกาะอินดีสตะวันออก อันอุดมไปด้วยทรัพยากรมหาศาลได้สำเร็จ เดือนเมษายน 1942 เสนาธิการของยามาโมโตก็วางแผนโจมตีมิดเวย์เสร็จลงแล้วและขณะที่การยุทธที่ทะเลคอรัลกำลังดำเนินไปอย่างดุเดือด ระหว่าง 4-8 พฤษภาคม 1942 ก็มีข่าวดี ข่าวอันยิ่งใหญ่แพร่สะพัดไปทั่วกองทัพญี่ปุ่น เมื่อนายพลเวนไรซ์ ผู้บัญชาการทหารสหรัฐฯในฟิลิปินส์ประกาศยอมจำนนเมื่อ 7 พฤษภาคม 1942 นั่นเอง นับเป็นรางวัล 2 ต่อสำหรับญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้
สิ่งหนึ่งที่ฝ่ายญี่ปุ่นไม่รู้คือในเดือนแห่งชัยชนะนั้นเอง 28 พฤษภาคม 1942 ฝ่ายข่าวกรองของกองทัพเรือสหรัฐฯก็สามารถถอดรหัสลับญี่ปุ่นในยุทธการมิดเวย์ได้หมดสิ้น กองเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯ 2 ลำคือเอนเตอร์ไพรส์และฮอร์เนต ได้เคลื่อนพลจากเพิร์ลฮาร์เบอร์เข้าประจำจุดป้องกันมิดเวย์ อีก 3 วันต่อมาเรือยอร์คทาวน์ก็ซ่อมเสร็จและเดินทางตามไป การถอดรหัสได้นับเป็นความสำเร็จของสหรัฐฯอย่างน่าทึ่ง ฝ่ายข่าวกรองทหารเรือสหรัฐฯให้ความสำคัญกับรหัส AF มานานแล้ว เมื่อดักจับสัญญานวิทยุญี่ปุ่นว่าเครื่องบิน บินผ่านบริเวณ AF ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าบริเวณนั้นคือเกาะมิดเวย์ เพื่อความแน่ใจสหรัฐฯได้ส่งข่าวลวงไปว่า มิดเวย์เครื่องกรองน้ำจืดเสีย ไม่กี่วันต่อมาสหรัฐฯก็ดักจับวิทยุญี่ปุ่นได้ว่าฝ่ายญี่ปุ่นรายงานการดักฟังของตนส่งต่อหน่วยเหนือว่า AF เครื่องกรองน้ำจืดเสีย ดังนั้นสหรัฐฯจึงแน่ใจว่า AF คือมิดเวย์ และเป้าหมายของญี่ปุ่นคือการโจมตีมิดเวย์
พลเรือเอกนิมิตซ์ (Chester W. Nimitz) แม่ทัพเรือสหรัฐฯได้สั่งให้จัดกองเรือในศึกมิดเวย์ครั้งนี้ประกอบด้วยเรือบรรทุกเครื่องบิน 3 ลำคือ เอนเตอร์ไพรส์, ฮอร์เนต,ยอร์คทาวน์ เรือลาดตระเวนหนัก 7 ลำ เรือพิฆาต 14 ลำ เรือดำน้ำ 18 ลำออกเดินทางไป นอกจากนี้ฐานทัพสหรัฐฯที่เกาะมิดเวย์ยังมีเขี้ยวเล็บป้องกันตัวอย่างดี ทั้งปืนใหญ่รักษาฝั่ง ปืนต่อสู้อากาศยาน และเครื่องบินรบแบบ P-40 และเครื่องบินทิ้งระเบิด B 17 อีกจำนวนหนึ่งรอรับมือ
ขณะที่ฝ่ายหรัฐฯกำลังเดินทางเข้าประจำจุดรับมือ ยามาโมโตและเสนาธิการของเขาก็กำลังดำเนินตามแผนยุทธการของเขากล่าวคือจัดกองเรือเป็น 3 กองกำลัง กองกำลังโจมตีลวงภายใต้การบัญชาการของนายพลเรือโอโวซายานำกำลังเรือบรรทุกเครื่องบิน 2 ลำ เรือบรรทุกเครื่องบินเบา 1 ลำ เรือประจัญบาน 3 ลำ และกองเรือคุ้มกันจำนวนหนึ่ง เข้าทำการโจมตีลวงที่หมู่เกาะอาลิวเชียน รัฐอลาสกาโดยเฉพาะฐานทัพในดัช ฮาร์เบอร์ ของสหรัฐฯ ที่มีหน้าที่รักษาทะเลแบริ่งและกดดันหมู่เกาะคูริลทางเหนือของญี่ปุ่น
กองเรือโจมตีหลักภายใต้การบัญชาการของนายพลเรือนากูโม (Chuichi Nagumo) ผู้นำการโจมตีเพิลฮาร์เบอร์เมื่อ 6 เดือนก่อนมีกำลังหลักคือเรือบรรทุกเครื่องบิน 4 ลำคือเรืออะกากิซึ่งเป็นเรือธงของนากูโม เรือคากะเรือฮีโรยุและเรือโซริยุ นากูโมมีกองกองเรือคุ้มกันเข้มแข็งนอกจากนี้กองเรือที่ 3 ที่เป็นกำลังหนุนบัญชาการโดย ยามาโมโตเองจะแล่นตามหลังมาห่างประมาณ 300 ไมล์เป็นกองกำลังหลักในการยึดครองมิดเวย์ ดังนั้นกองเรือญี่ปุ่นจึงประกอบด้วยเรือบรรทุกเครื่องบิน 8 ลำเรือประจัญบาน 11 ลำเรือลาดตระเวน 15 ลำ เรือพิฆาต 50 ลำ เรือลำเลียงทหารที่จะยึดเกาะ 12 ลำ เมื่อเทียบกับกองเรือสหรัฐฯแล้วญี่ปุ่นมีกำลังมากกว่า 4 ต่อ 1 เฉพาะเรือบรรทุกเครื่องบินอันเป็นอาวุธหลักก็เป็นต่อ 2 ต่อ 1
1 มิถุนายน 1942 กองกำลังโจมตีหลักของนากูโมกำลังเข้าจุดโจมตีโดยไม่รู้ว่าขณะนั้นกองเรือแปซิฟิคของสหรัฐฯได้รออยู่แล้วทางตะวันออกเฉียงเหนือของมิดเวย์ ดังนั้นผู้ที่จะเข้าต่อสู้ในยุทธนาวีที่มิดเวย์ ซึ่งจะเริ่มในตอนฟ้าสางของวันที่ 4 มิถุนายน 1942 จึงเป็นการประฝีมือกันระหว่างนากูโมกับพลเรือโทสปรูแอนซ์ (Raymond A. Spruance)
นากูโมจัดกำลังเรือบรรทุกเครื่องบินไว้ส่วนหน้า 3 ลำคือเรือคากะ, อะกากิและโซริยุ เขาเองอยู่บนเรือธงอะกากิและปิดท้ายไว้ 1 ลำคือเรือฮิโรยุซึ่งมีพลเรือตรี ยามากุจิเป็นผู้บังคับการเรือ ส่วนกองเรือแปซิฟิคของสหรัฐฯก็จัดเป็น 2 กองเรือเฉพาะกิจคือกองเรือเฉพาะกิจที่ 17 มีพลเรือโท สปรูแอนซ์เป็นผู้บัญชาการ มีเรือเอนเตอร์ไพรส์และฮอร์เนต กองเรือเฉพาะกิจที่ 16 พลเรือโทแฟลตเชอร์เป็นผู้บัญชาการ มีเรือยอร์คทาวน์(ซึ่งออกทะเลตามมาทัน)
แผนยุทธการของยามาโมโตนั้นขึ้นอยู่กับวิธีการเดียวกับครั้งเพิร์ล ฮาร์เบอร์ คือการโจมตีโดยไม่ให้ข้าศึกรู้ตัวและเมื่อการโจมตีเริ่มขึ้น ยามาโมโตต้องการดึงกำลังกองเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯให้ออกมาจากเพิร์ลฮาร์เบอร์และทำลายเสียด้วยกำลังที่มากกว่าอย่างท่วมท้น แผนดังกล่าวล้มเหลวมาแต่ต้นฝ่ายสหรัฐฯรู้ตัวก่อนเป็นเดือนและกองเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯก็ไม่ได้อยู่ที่เพิร์ล ฮาร์เบอร์ แต่มาที่มิดเวย์แล้ว ดังนั้นในยุทธนาวีที่มิดเวย์การต่อสู้จริงๆฝ่ายสหรัฐฯจึงไม่เสียเปรียบ เพราะนากูโมมีเรือบรรทุกเครื่องบิน 4 ลำส่วนสปูแอ๊นซ์มี 3 ลำและการรบครั้งนี้เป็นการรบทางอากาศ ถ้านับรวมกำลังทางอากาศของสหรัฐฯที่มีบนเรือบรรทุกเครื่องบินรวมกับกำลังทางอากาศที่มิดเวย์ด้วย ทั้งนากูโมและสปรูแอ๊นซ์ก็ไม่เสียเปรียบได้เปรียบกันอย่างใด สหรัฐฯมีแต้มต่อในเรื่องข่าวกรอง ส่วนญี่ปุ่นก็มีแต้มต่อตรงที่นักบินนาวีของญี่ปุ่นมีความชำนาญในการรบสูงกว่าและเครื่องบินแบบซีโรของญี่ปุ่นก็มีสมรรถนะสูงกว่าเครื่องบินรบของสหรัฐฯทุกแบบที่มีอยู่ในขณะนั้น
สิ่งที่ยามาโมโตกังวลใจตลอดแผนยุทธการมิดเวย์คือข่าวกรอง เขาไม่รู้ว่าในวันปฏิบัติการนั้นกองเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯอยู่ที่ไหน? เสนาธิการของยามาโมโตเชื่อว่ากองเรือข้าศึกยังอยู่ที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ สหรัฐฯเพิ่งสูญเสียเรือเล็คซิงตันในยุทธนาวีที่ทะเลคอรัล เรือยอร์คทาวน์ก็ได้รับความเสียหายหนักในการรบครั้งนั้น ส่วนเรือซาราโตกาก็ไม่สามารถปฏิบัติการรบได้อีกนาน ดังนั้นสหรัฐฯจึงมีเพียงเอนเตอร์ไพรส์ และฮอร์เนต 2 ลำเท่านั้น ฝ่ายเสนาธิการของยามาโมโตเชื่อว่าด้วยกำลังเพียงเท่านั้นฝ่ายสหรัฐฯจำเป็นต้องสงวนกำลังไว้ป้องกันฮาวายมากกว่า ถึงกระนั้นยามาโมโตก็ไม่วางจุดประสงค์ของเขาคือการทำลายเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯที่เหลือ 2 ลำนั้นให้ได้ เขาต้องการรู้แน่ชัดว่ากองเรือบรรทุกเครื่องบินข้าศึกอยู่ที่ไหนในขณะการปฏิบัติการโจมตีมิดเวย์และฝ่ายสหรัฐฯจะเสี่ยงออกทะเลมาติดกับเขาหรือไม่? ดังนั้น ฝ่ายเสนาธิการของเขาจึงเสนอยุทธการ K ขึ้นมาโดยใช้เรือดำน้ำลาดตระเวนหา กองเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯให้พบและรายงานให้ทราบความหวังของยามาโมโตต่อความกังวลของเขาจึงขึ้นอยู่กับความสำเร็จของยุทธการ K นี้
28 พฤษภาคม 1942 ก่อนยุทธนาวีที่มิดเวย์ 8 วัน ฝ่ายสหรัฐฯซึ่งรู้แล้วว่ากองเรือข้าศึกกำลังเดินทางมา สหรัฐฯจึงส่งเครื่องบินลาดตระเวนทางทะเลแบบคาตาลินาใช้รหัสว่าสตอบอรี่จำนวน 22 เครื่องขึ้นลาดตระเวนค้นหาญี่ปุ่นเป็น 180 องศาจากมิดเวย์มีในรัศมี 1,700 ไมล์เพื่อค้นหากองเรือข้าศึก คาตาลินา 3 เครื่องคือสตอบอรี่5สตอบอรี่ 9 และสตอบอรี่ 12 จะตรวจพบกองเรือญี่ปุ่นในเวลาต่อมาหลังจากบินไปมาหลายเที่ยวตลอดสัปดาห์
ยุทธนาวีมิดเวย์ที่จะเปิดฉากในตอนฟ้าสางของวันที่ 4 มิถุนายน 1942 นั้น บทบาทสำคัญในการตัดสินแพ้ชนะมิได้อยู่ที่กำลังรบและความกล้าหาญของฝูงบินเท่านั้น นักบินลาดตระเวนก็มีบทบาทสำคัญในฐานะ "ตา"ของฝ่ายตน
ในท้องทะเลที่ปั่นป่วนอากาศปิด นากูโมกำลังนำกำลังกองเรือของตนฝ่าพายุคืบคลานเข้าหามิดเวย์อย่างเงียบเชียบ ด้วยพลังของเขาเรือบรรทุกเครื่องบิน อะกากิ ระวางขับน้ำ 36,500 ตันบรรทุกเครื่องบินมา 63 เครื่อง เรือคากะระวางขับน้ำ 38,200 ตัน มีเครื่องบินรบ 63 เครื่องตามมาด้วยเรือฮิโรยุระวางขับน้ำ17,300 ตันเครื่องบินรบ 54 เครื่องและปิดท้ายด้วยเรือโซริยุระวางขับน้ำ15,900 ตันเครื่องบิน 54 เครื่อง แวดล้อมด้วยเรือคุ้มกันด้วยเรือประจัญบาน เรือลาดตระเวน เรือพิฆาตพร้อมรบ เรือบรรทุกเครื่องบินยักษ์ 4 ลำ และฝูงบินรบ 234 เครื่อง พร้อมที่จะปฏิบัติการแล้ว
ขณะที่กองเรือนากูโมเดินทางใกล้มิดเวย์ยิ่งขึ้นทุกทีนั้น โชคร้ายก็เกิดขึ้นกับฝ่ายญี่ปุ่น ยุทธการ K ด้วยการส่งเรือดำน้ำลาดตระเวนหากองเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐล้มเหลวลงเหตุจากบริเวณนัดพบกองเรือดำน้ำในยุทธการKนั้นมีเรือรบสหรัฐลาดตระเวนอยู่ เรือดำน้ำญี่ปุ่นไม่อาจเปิดเผยตัวเองได้ เวลาล่วงไปในที่สุดก็ยกเลิกยุทธการ K สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญยิ่งสำหรับยามาโมโตเพราะเมื่อเริ่มยุทธการมิดเวย์นั้นเขาต้องรู้ให้ได้ว่ากองเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯอยู่ที่เพิร์ลฮาร์เบอร์หรือไม่และจะหลอกล่อออกมาทำลายได้หรือไม่?อย่างไร? ข่าวการยกเลิกยุทธการKส่งมาถึงยามาโมโตเมื่อกองเรือของเขาออกทะเลมาครึ่งทางแล้ว ข่าวนั้นทำให้แผนของยามาโมโตเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นถ้าเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯเกิดโผล่มาอย่างไม่รู้ตัวกองเรือของนากูโมก็จะเกิดอันตราย ยามาโมโตไม่สามารถที่จะส่งข่าวเตือนนากูโมในกองหน้าได้เพราะการส่งข่าวในแดนต่อข้าศึกเสี่ยงต่อการถูกดักฟังมากที่สุด เป็นคำสั่งของเขาเองที่ให้ระงับการใช้วิทยุติดต่อกันของกองเรือทั้งสามทั้งนี้เพื่อปกปิดการบุกมิดเวย์เอาไว้ให้นานที่สุดจะได้เข้าโจมตีมิดเวย์อย่างไม่รู้ตัวเช่นเดียวกับ6เดือนก่อนที่เขาทำสำเร็จที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ ดังนั้นกองเรือของนากูโมที่จะเข้าโจมตีมิดเวย์จึงเดินทางไปโดยไม่รู้ว่ายุทธการKได้ล้มเลิกไปแล้ว นากูโมกำลังเดินทางไปสู่กับดักเพราะฝ่ายสหรัฐฯรู้ตัวมานานแล้วและกำลังรอรับมืออยู่อย่างเต็มที่ ฐานทัพสหรัฐฯที่มิดเวย์ก็รู้สปรูแอนซ์และแฟลตเชอร์ก็รู้ คนที่ไม่รู้เรื่องเลยคือนากูโมเอง ผู้นำในการโจมตีเพิร์ล ฮาร์เบอร์เมื่อ 6 เดือนก่อนกำลังนำตนเองและผู้ใต้บังคับบัญชาไปสู่ความหายนะ
3 มิถุนายน 1942 กองเรือโจมตีลวงของโอโวซาย่าก็ลงมือ โอโวซาย่าเข้าโจมตีหมู่เกาะอัลลูเชียนตามแผนการโจมตีลวงเขาส่งเครื่องบินเข้าทิ้งระเบิดดัชท์ฮาร์เบอร์อย่างหนักทุกอย่างเป็นไปตามแผน เขาส่งทหารขึ้นบกและเข้ายึดอัตตู และกัสเมาได้ในวันที่ 7 มิถุนายน 1942 แต่การปฏิบัติการ5วันของเขาก็แทบไม่มีประโยชน์อะไร เพราะทางฝ่ายสหรัฐฯไม่ได้หลงกลออกมาป้องกันหมู่เกาะอัลลูเชียนแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม ฝ่ายสหรัฐฯบนเกาะมิดเวย์รับข่าวการโจมตีดัชท์ฮาร์เบอร์ส่งข่าวแจ้งสปรูแอนซ์และเฟลตเชอร์ทันทีเป็นการตอกย้ำว่าญี่ปุ่นจะเข้าโจมตีมิดเวย์แน่นอน ในทันทีที่ได้รับข่าวการโจมตีดัชท์ฮาร์เบอร์สหรัฐฯส่งเครื่องบินขึ้นลาดตระเวนค้นหากองเรือญี่ปุ่นทันทีเครื่องบินลาดตระเวนรหัสสตอบอรี่5 ตรวจพบกองเรือของนากูโมอยู่ห่างมิดเวย์ 250 ไมล์แล้วแจ้งให้ทราบโดยทันที ส่วนสตอบอรี่ 9ตรวจพบกองเรือของยามาโมโตอยู่ห่างจากมิดเวย์ 800 ไมล์และยังพบกองเรือยกพลขึ้นบกของนายพลคอนโดที่ตามมาด้วย รายงานจากสตอบอรี่ 5 และ 9 สปรูแอนซ์และเฟลตเชอร์ได้รับชัดเจนเช่นเดียวกับฐานบนเกาะมิดเวย์และยังแจ้งให้แม่ทัพ พลเรือเอกนิมิตซ์ที่พิร์ลฮาร์เบอร์ทราบด้วย ความหวังในการโจมตีโดยไม่รู้ตัวของญี่ปุ่นสูญสลายไปโดยสิ้นเชิง
ตอนบ่ายของวันที่ 3 มิถุนายน 1942 มิดเวย์ส่งเครื่องบินเข้าโจมตีกองเรือยกพลขึ้นบกของนายพลคอนโดระลอกแล้วระลอกเล่า การโจมตีของนักบินทหารบกจากฐานบินบนเกาะมิดเวย์ได้แสดงให้เห็นถึงความอ่อนหัดด้อยประสบการณ์และสมรรถนะเครื่องบินที่อ่อนด้อยกว่า เครื่องบินจากมิดเวย์หลงทางหาเป้าหมายไม่เจอก็มี ที่พลัดหลงจากฝูงต้องบินกลับก็มี ที่หาเป้าหมายเจอคือกองเรือของนายพลคอนโดพบและได้เข้าโจมตีก็ไม่ได้ผลถูกเครื่องบินญี่ปุ่นที่คล่องตัวมากกว่าและนักบินที่มากประสบการณ์ไล่ต้อนยิงตกเป็นว่าเล่น ที่ได้เข้าใกล้เรือก็ถูกปืนต่อสู้อากาศยานยิงตก การโจมตีตลอดบ่ายไร้ผลโดยสิ้นเชิง เครื่องบินสหรัฐฯที่รอดมาบินกลับมิดเวย์ได้จำนวนหนึ่ง มีหลายเครื่องที่น้ำมันหมดต้องลงจอดฉุกเฉินในทะเล น่าแปลกที่การโจมตีกองเรือของคอนโดตลอดบ่าย 800ไมล์จากมิดเวย์ นากูโมซึ่งร่นระยะเข้าใกล้มิดเวย์ 180 ไมล์กลับไม่รู้เรื่อง วิทยุกองเรือของเขาปิดสนิท ในช่วงนี้เองที่สตอบอรี่ 5 ตรวจพบกองเรือของนากูโมและรายงานระบุจำนวนเรือบรรทุกเครื่องบินญี่ปุ่นได้ชัดเจนว่ามี 4 ลำ ทางมิดเวย์ส่ง F 4 F จำนวน 12 เครื่องขึ้นลาดตระเวนหาตำแหน่งนากูโมตามรายงานแต่ไม่พบ ทางด้านกองเรือเฉพาะกิจที่ 16 และ 17 ของสหรัฐฯก็เคลื่อนเข้าสู่จุดที่จะโจมตีนากูโมได้ ในคืนวันที่ 3 มิถุนายน 1942 กองเรือทั้งสองฝ่ายอยู่ห่างกัน 248 ไมล์โดยที่นากูโมไม่รู้เลยว่ากองเรือสหรัฐฯอยู่ใกล้เพียงนั้น นากูโมยังคิดว่าการเข้าสู่จุดของตนยังเป็นความลับ อีกครั้งที่การสื่อสารของญี่ปุ่นทำพิษ
เช้าตรู่วันที่ 4 มิถุนายน 1942 เวลา 04.30 น.นากูโมเริ่มเปิดยุทธการมิดเวย์ เขาสั่งให้เรือบรรทุกเครื่องบินทั้ง 4 ลำ ส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดและเครื่องขับไล่คุ้มกัน 108 เครื่องไปโจมตีมิดเวย์ นากูโมเก็บเครื่องซีโรบนเรือคากะไว้ 90 เครื่อง เพื่อป้องกันการตอบโต้จากมิดเวย์ ฝูงเครื่องบินญี่ปุ่นจัดกระบวนมุ่งหน้าไปมิดเวย์เต็มท้องฟ้าไปหมดล้วนแต่ใช้นักบินฝีมือดีประสบการณ์สูงนั้น เมื่อฝูงบินลับตาไปแล้ว นากูโมนำกองเรือของเขาย้ายจุดไปที่ระยะ 207 ไมล์จากมิดเวย์
ฝูงบิน 108 เครื่องของนากูโมถูกตรวจพบโดยสตอบอรี่ 12 ซึ่งรายงานไปยังมิดเวย์ทันที ทางมิดเวย์ขณะนั้นได้สูญเสียไปมากจากการโจมตีกองเรือของคอนโด ตอนบ่ายวันที่ 3 มิถุนายน 1942 พันโทพาร์ค ผู้บังคับการกองบินทหารบกบนเกาะมิดเวย์ สามารถจัดส่งเครื่องP 40 ของเขาขึ้นไปสกัดกั้นได้เพียง 23 เครื่องเท่านั้น เครื่องที่พอจะใช้ใช้ได้อีก 40 เครื่องก็ต้องเสียเวลาในการเตรียมเครื่องที่จะตามไปเป็นระลอกที่ 2 แต่ไม่ทันการ อีกครั้งที่อเมริกันแสดงออกถึงการด้อยประสบการณ์ในการรบ P40 ทั้ง 23 เครื่องของพันโทพาร์คเข้าต่อสู้กับศัตรูที่มากกว่าและเหนือชั้นกว่า เครื่องซีโรที่คุ้มกันเข้าขัดขวาง เข้าต่อตี P 40 อย่างดุเดือดไล่กวาดต้อนและส่งเครื่องบินอเมริกันลงทะเลอย่างง่ายดาย
ทางมิดเวย์ติดตามการต่อสู้ทางวิทยุได้ยินแต่เสียงร้องเตือนและโวยวายให้เพื่อนช่วยของนักบินอเมริกันจนเสียงค่อยๆเงียบหายไป เครื่องบินกองบินทหารบกจากมิดเวย์ถูกยิงตกหมดทุกเครื่อง
สัญญาณเตือนภัยทางอากาศดังทั่วฐานทัพมิดเวย์ ฝูงบินญี่ปุ่นฝ่าด่านเข้ามาได้
อย่างสะดวก เข้าถึงตัวฐานทัพท่ามกลางการยิงต่อสู้ของปืนต่อสู้อากาศยานทุกขนาดที่มิดเวย์มีอยู่ ฝูงบินญี่ปุ่นแยกย้ายกันเข้าโจมตีทิ้งระเบิดทำลายสนามบิน ป้อมปืนชายฝั่ง สถานีสื่อสารและเป้าหมายสำคัญ เครื่องซีโรโฉบลงยิงกราดลานจอดเครื่องบินสหรัฐฯทั้งเครื่องขับไล่ P40 และ B17 ถูกทำลายบนลานจอดนั้นเอง ฐานทัพมิดเวย์เสียหายอย่างหนักแต่เครื่องตรวจการของญี่ปุ่นตรวจพบว่าสนามบินมิดเวย์แม้จะถูกทำลายมากแต่ยังสามารถใช้การได้ เครื่องบินส่วนหนึ่งถูกทำลายมากเท่าที่ตรวจพบแต่ญี่ปุ่นไม่ทราบว่าเครื่องบินที่เหลืออยู่ที่ใดอีกบ้าง มิดเวย์แม้จะเสียหายแต่ก็อยู่ในฐานะที่ยังเป็นอันตรายต่อกองเรือญี่ปุ่นจึงจำเป็นต้องโจมตีอีกครั้ง
นากูโมได้รับรายงานถึงชัยชนะฝูงบิน 108 เครื่องที่โจมตีมิดเวย์สูญเสียไปเพียง 7 เครื่องเท่านั้น นับเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ในการเปิดยุทธการมิดเวย์
ทางฝ่ายสหรัฐฯตั้งแต่ก่อนสว่าง พลเรือโทแฟลตเชอร์บนเรือยอร์คทาวน์ ได้ส่งเครื่องบินลาดตระเวนดอร์นเลส 10 เครื่องออกค้นหาที่ตั้งของนากูโม ต่อมาเวลา 06.02 น.เครื่องสตอบอรี่12เป็นฝ่ายค้นพบกองเรือของนากูโมที่ 207 ไมล์ทางตะวันออกเฉียงเหนือ

ทันทีที่ได้รับข่าวแฟลตเชอร์ส่งเครื่องบินขึ้นจากยอร์คทาวน์ภายใน 5 นาที ยอร์คทาวน์ส่งเครื่องบิน57เครื่อง ส่วนสปรูแอนซ์เมื่อได้รับข่าวก็ส่งเครื่องบินจากเอนเตอร์ไพรส์และฮอร์เนตขึ้นโจมตีเช่นกัน ดังนั้นขณะที่นากูโมกำลังติดตามผลและเครื่องบินของญี่ปุ่นกำลังโจมตีมิดเวย์อย่างมันมือนั้น นากูโมไม่รู้ตัวเลยว่าเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯ3ลำกำลังส่งเครื่องบินเข้าโจมตีกองเรือของเขา ขณะนั้นกองเรือสหรัฐฯร่นระยะเข้ามาที่ 175 ไมล์ สหรัฐฯได้เข้าโจมตีกองเรือนากูโมก่อนนับว่าได้เปรียบ แต่ข้อได้เปรียบครั้งนี้กลับไม่ได้ผลอย่างใด นักบินนาวีสหรัฐฯก็เช่นเดียวกับนักบินทหารบกคือขาดประสบการณ์ในการรบ การบินเดินทางระยะไกล การนัดหมายที่จุดนัดพบทางอากาศเหนือท้องทะเลอันเวิ้งว้าง ทำให้เกิดการพลัดหลง แม้เครื่องบินสหรัฐฯจะมีวิทยุติดต่อกันก็เกิดความสับสนต่างไม่รู้ว่าตนเองอยู่ที่ไหนแน่และเป้าหมายอยู่ที่ไหน ฝูงบินขับไล่และฝูงทิ้งตอร์ปิโดพลาดจุดนัดพบ แตกฝูงกับฝูงบินทิ้งระเบิด บ้างต้องบินไปลงฐานมิดเวย์ บางเครื่องต้องบินกลับเรือเพราะหาที่หมายไม่พบ อย่างไรก็ตามมีเครื่องบินดำทิ้งระเบิด4เครื่องเครื่องบินปล่อยตอร์ปิโด6เครื่องได้มีโอกาสเข้โจมตี เครื่องบินซีโรลาดตระเวนคุ้มกันกองเรือนากูโมเข้าสกัดกั้นอย่างรุนแรง เครื่องบินนาวีสหรัฐฯพยายามเข้าโจมตีเรืออะกากิและฮิโรยุก็ถูกยิงตกไป 7 ครื่อง ในเวลาเดียวกันฝูงบินตอร์ปิโดที่ 8 จากเรือฮอร์เนตเดินทางมาถึงฝูงบินนี้มีนาวาโทจอห์น แวลรอนเป็นผู้บังคับฝูง เครื่องบินนาวีเข้าโจมตีฮิโรยุซึ่งมีนายพลยามากุจิเป็นผู้บังคับการเรือ อีกครั้งที่เกิดการต่อสู้ปะทะกันทางอากาศ ฝูงบินตอร์ปิโดที่8ต้องเข้าโจมตีโดยปราศจากการคุ้มกันของเครื่องบินขับไล่ การโจมตีถูกสกัดกั้นและแตกฝูงต้องเข้าโจมตีอิสระไม่เป็นกลุ่มก้อนทำให้ถูกยิงตกอย่างง่ายดายการโจมตีล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ฝูงบินตอร์ปิโดที่ 8 จากฮอร์เนตถูกยิงตกทั้งฝูง 15 เครื่องโดยเครื่องบินญี่ปุ่นเสียหายเพียงเครื่องเดียว ไม่มีเรือลำใดเสียหายแม้แต่นิดเดียว
การโจมตีครั้งนี้ล้มเหลว ฝ่ายสหรัฐฯเสียเครื่องบินไปมากโดยการโจมตีก่อนไม่ได้ก่อความเสียหายให้กับกองเรือญี่ปุ่นเลย สปรูแอนซ์ตระหนักถึงการขาดประสบการณ์ของนักบินอเมริกันแต่เขายังมีข้อได้เปรียบอีกปะการคือฝ่ายญี่ปุ่นไม่รู้ว่าการโจมตีนั้นมาจากเรือบรรทุกเครื่องบินกลับเข้าใจว่ามาจากมิดเวย์
เสนาธิการของนากูโมลงความเห็นตามรายงานของเครื่องบินตรวจการของเรืออะกากิว่ามิดเวย์ยังเป็นอันตรายอยู่ นากูโมก็เห็นด้วยเขาจึงสั่งให้โจมตีมิดเวย์อีกครั้ง ดังนั้นในขณะที่เครื่องบินที่โจมตีมิดเวย์ระลอกแรกกำลังเดินทางกลับเรือ นากูโมสั่งให้เอาเครื่องบินสำรองที่เตรียมไว้ออกโจมตี แต่เครื่องบินสำรองที่เขาเตรียมไว้นั้นได้ติดตั้งตอร์ปิโดไว้แล้วเพื่อเตรียมการโจมตีเรือบรรทุกเครื่องบินอเมริกันที่อาจโผล่มาซึ่งเขาไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน เป็นความรอบคอบที่ยามาโมโตได้สั่งการเขาไว้ แผนเดิมนั้นญี่ปุ่นคิดว่าฝ่ายสหรัฐฯจะต้องส่งกองเรืออกมาตีโต้และช่วยป้องกันมิดเวย์ จึงมีการเตรียมเครื่องบินตอร์ปิโดไว้ ด้วยความเสี่ยงอย่างยิ่งนากูโมได้ออกคำสั่งให้ปลดตอร์ปิโดออกและติดตั้งระเบิดแทนซึ่งต้องใช้เวลามากพอสมควร การเสี่ยงอย่างยิ่งในครั้งนี้จะนำหายนะมาสู่เขาและกองเรือ
อย่างไรก็ตามนากูโมไม่ใช่นายพลเรือที่ขาดประสบการณ์ด้วยความรอบคอบขณะที่การโจมตีมิดเวย์ระลอกแรกเริ่มขึ้นนั้นเขาได้ส่งเครื่องบินตรวจการลาดตระเวน 4 เครื่องเพื่อตรวจทะเลและอาจพบกองเรือสหรัฐฯเครื่องดังกล่าวกลับมาแล้ว 3 เครื่อง ไม่พบสิ่งใดเหลือเครื่องที่4ยังไม่กลับมาเนื่องจากออกเดินทางล่าช้ากว่าเครื่องอื่นและเครื่องที่ 4 นี้เองที่จะตรวจพบกองเรือเฉพาะกิจที่ 16 ของแฟลตเชอร์ที่มีเรือยอร์คทาวน์เป็นเรือบรรทุกเครื่องบิน การพบกองเรือได้มีการรายงานเมื่อเวลา 7.28 น.แต่รายงานเลื่อนลอยไม่ชัดเจนว่ามีเรือบรรทุกเครื่องบินหรือไม่ นากูโมตกใจและเริ่มวิตกเขาสั่งให้พิสูจน์ทราบและรายงานมาให้ชัดเจนใหม่ ขณะนั้นเรืออะกากิกำลังเปลี่ยนตอร์ปิโดเป็นลูกระเบิด ถ้ากองเรือที่เพิ่งตรวจพบมีเรือบรรทุกเครื่องบินเขาก็ต้องสั่งเปลี่ยนลูกระเบิดเป็นตอร์ปิโดอีกปัญหานี้ยังไม่พอเครื่องบินที่โจมตีมิดเวย์ระลอกแรกกำลังเดินทางกลับมาและน้ำมันใกล้จะหมดแล้วเรือบรรทุกเครื่องบินทั้ง 4 ลำของนากูโมต้องเคลียร์ดาดฟ้าให้เครื่องบินเหล่านี้ลงหรือจะส่งเครื่องบินไปโจมตีเรือรบสหรัฐฯที่ข่าวสารยังเลื่อนลอยแต่ถ้ามันเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินจริงๆ เขาก็อาจถูกโจมตีได้ ขณะที่ฝ่ายญี่ปุ่นต้องเปลี่ยนอาวุธกลับไปกลับมาและเครื่องที่กำลังกลับมาจากมิดเวย์ก็ขอคำสั่งบินลงเรือ นากูโมกำลังจะกลายเป็นเป้านิ่ง
เพื่อแก้ปัญหา นากูโมร่นระยะให้กองเรือเข้าไปใกล้มิดเวย์มากยิ่งขึ้น เพื่อรับเครื่องที่กำลังกลับมา ในระหว่างนั้นเองมิดเวย์ก็ยังเป็นภัยอยู่จริงๆ มิดเวย์ยังมีเครื่องบินทหารบกเหลืออยู่และบินติดตามฝ่ายญี่ปุ่นมาติดๆ ขณะที่เครื่องบินญี่ปุ่นบินประหยัดน้ำมันเดินทางกลับช้าๆเครื่องบินทหารบกจากมิดเวย์ตามมาทันและเห็นกองเรือญี่ปุ่นจึงเร่งความเร็วเข้าโจมตีทันที มิดเวย์ส่งเครื่องเข้าโจมตีถึง 3 ระลอก ระลอกแรกเข้าโจมตีเมื่อเวลา 7.55 น.ของวันที่4 มิถุนายน 1942 เข้าโจมตีเรือฮีโรยุและเรือโซริยุ อีก 15 นาทีต่อมาเข้าโจมตีระลอกที่ 2 เวลา 8.10 น.และระลอกที่ 3 อีก 20 นาทีถัดมา เมื่อเวลา 8.30 น. โชคยังเข้าข้างนากูโมเพราะความไร้ฝีมือของนักบินอเมริกันการโจมตีจากกองบินทหารบกที่มาจากมิดเวย์ทั้ง3ระลอกนั้น ไม่ได้ผลเลย กองเรือญี่ปุ่นไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด แต่โชคร้ายไปตกอยู่กับนักบินญี่ปุ่นซึ่งเดินทางกลับมาลงเรือเวลา 8.30 น.พอดีกับความชุลมุนของการโจมตีระลอกที่3จากมิดเวย์จึงต้องบินออกไปให้พ้นรัศมีการรบไม่สามารถลงเรือได้และในขณะที่ชุลมุนอยู่นั้นข่าวร้ายก็มาถึงนากูโม เป็นรายงานจากเครื่องลาดตระเวนหมายเลข 4 ยืนยันการพบกองเรือสหรัฐฯโดยระบุชัดแจ้งว่ามีเรือบรรทุกเครื่องบินแน่นอน
เมื่อการโจมตีระลอก3สิ้นสุดลงเครื่องบินญี่ปุ่นจึงทยอยลงเรือบรรทุกเครื่องบินของตนอย่างทุลักทุเล เครื่องสุดท้ายลงเมื่อเวลา9.17น.แต่โชคร้ายที่เครื่องบินอีก3 เครื่องรอไม่ได้เพราะน้ำมันหมดเสียก่อนต้องร่อนลงฉุกเฉินในทะเล นับเป็นการสูญเสียอย่างมากเพราะเท่ากับนากูโมได้เสียเครื่องบินอันมีค่าไปในเช้าวันนั้นรวมทั้งหมด44 เครื่อง หรือ 30 %ของเครื่องบินทั้งหมดในเรือบรรทุกเครื่องบินของเขาทั้ง 4 ลำ แต่ที่สูญเสียที่ร้ายแรงกว่าคือนักบินฝีมือดีของฝ่ายญี่ปุ่นที่เมื่อสูญเสียไปแล้วไม่ทดแทน
ขณะนี้นากูโมรู้ว่าเขาต้องสู้ศึก2ด้าน เขาทราบตำแหน่งกองเรือเฉพาะกิจที่ 16 ของแฟลตเชอร์จึงสั่งเรือให้หันไปที่ 90 องศาเหนือเพื่อส่งเครื่องบินขึ้นเป็นเวลเดียวกับที่ฝูงบินจากเอ็นเตอร์ไพรส์,ฮอเนตและยอร์คทาวน์มาถึง เวลาขณะนั้น 9.25 น.เพียง 8 นาที หลังจากเครื่องบินญี่ปุ่นเครื่องสุดท้ายลงเรือ แต่ฝ่ายนักบินนาวีอเมริกันก็ยังคงเส้นคงวาในการขาดประสบการณ์การรบ นับแต่การเริ่มโจมตีตั้งแต่บ่ายวันที่ 3 มิถุนายน 1942 และตลอดเช้าของวันที่ 4 มิถุนายน 1942 กองบินทั้งทหารบก และนาวี ไม่ได้ก่อความเสียหายแก่กองเรือญี่ปุ่นได้เลย ครั้งนี้ก็เช่นกัน ฝูงบิน ทิ้งระเบิดที่ 3 จากเรือยอร์ค ทาวน์ซึ่งมีนาวาโท แมคเทลลี่เป็นผู้บังคับฝูง ฝูงบินตอร์ปิโดที่ 3 จากเรือยอร์คทาวน์ มีนาวาโท แลนซ์ แมคเวสลี เป็นผู้บังคับฝูง โดยการคุ้มกันโดยฝูงบินขับไล่ที่ 3 จากเรือฮอร์เนต มีนาวาโท จอห์นแท็ค เป็นฝู้บังคับฝูง ทั้ง 3 ฝูงขาดการประสานงานกัน ทำอะไรกองเรือญี่ปุ่นไม่ได้เลย การโจมตีไร้ผล อเมริกันกลับไปด้วยความสูญเสียหนัก แต่เหมือนโชคชะตาจะบันดาล การโจมตีที่ญี่ปุ่นคิดว่ายุติลงแล้ว ปรากฏว่าฝูงบินทิ้งระเบิดที่ 6 จากเอ็นเตอร์ไพรส์ เพิ่งเดินทางมาถึง นาวาโท แวค แมคคาธี กำลังหลงทางและพยายามติดต่อฝูงต่างๆที่กระจัดกระจายกันมารวมกันเพื่อหาทางกลับเรือ เขารวบรวมเครื่องดอนเลสได้ถึง 59 เครื่อง และบินเลยกองเรือไปแล้ว กำลังหาทางกลับเอ็นเตอร์ไพรส์ ด้วยความบังเอิญอย่างเหลือเชื่อเขาตรวจพบเรือพิฆาตญี่ปุ่นกำลังเดินทาง เขาสงสัยว่ามันกำลังจะตามไปสมทบกองเรือญี่ปุ่น จึงบินระยะสูงสะกดรอยตามไป และจริงดังคาดเขาพบกองเรือของนากูโมที่กำลังระเกะระกะไปด้วยเครื่องบินที่กำลังจะขึ้นเต็มดาดฟ้า
ขณะนั้นเวลา 10.05 น. นักบินนาวีอเมริกันจะได้โอกาสทองแสดงฝีมือบ้างเพราะฝ่ายญี่ปุ่นไม่ได้ระวังตัวเลย ซีแวค แมคคาธีจะกลายเป็นผู้ทำลายฝันหวานของญี่ปุ่นและนำฝันร้ายมาให้แทน และจะทำให้ยุทธการมิดเวย์ถูกทำลายแล้วกลายเป็นจุดเปลี่ยนของสงครามแปซิฟิค
ฝูงบินนาวีสหรัฐฯนำโดยนาวาโท ซีแวค แมคคาธี ดำดิ่งเข้าโจมตีจากระดับสูง 12 เครื่องเข้าโจมตีเรือคากะ อีกชุดหนึ่งเข้าโจมตีเรืออะกากิซึ่งเป็นเรือธงของนากูโม ชุดที่ 3เข้าโจมตีเรือโซริยุ เรือธงอะกากิถูกระเบิดลูกแรกแล้วทะลุลงไประเบิดในโรงเก็บใต้ดาดฟ้าซึ่งเต็มไปด้วยน้ำมัน ลูกระเบิดชุดที่ 2 ตกระเบิดบนดาดฟ้าซึ่งเต็มไปด้วยเครื่องบินติดอาวุธที่กำลังเตรียมขึ้นบิน เกิดระเบิดต่อเนื่องรุนแรงไฟลุกไหม้ไปทั้งลำ นากูโมได้รับบาดเจ็บสาหัส เพียง 5 นาทีแม่ทัพหน้าของญี่ปุ่นที่ถล่มเพิร์ลฮาร์เบอร์เมื่อ 6 เดือนก่อนก็ต้องออกจากการรบ เรือคากะโดนระเบิดเป็นลำที่สอง โดนระเบิดขนาดหนักถึง 4 ลูก ลูกหนึ่งระเบิดบนดาดฟ้าซึ่งเต็มไปด้วยเครื่องบิน อีก 3 ลูกทะลุลงไประเบิดในโรงเก็บ เกิดการระบิดอย่างรุนแรงยิ่งกว่าอะกากิ ลูกที่ตกใกล้หอบังคับการสะพานเดินเรือทำให้ผู้บังคับการเรือและนายทหารบนสะพานเดินเรือเสียชีวิตเกือบหมด มีนายทหารฝ่ายยุทธการทางอากาศรอดมาได้เพียงคนเดียว เรือโซริยูก็โดนระเบิดไฟไหม้ทั้งลำเรือตั้งแต่หัวถึงท้ายเรือ ลูกเรือโซริยุเสียชีวิตไปถึง 700 คน นอกจากนี้เรือลาดตระเวนหนักที่คุ้มกันเรือบรรทุกเครื่องบินก็ถูกระเบิดจมไปด้วย การโจมตีฉับพลันของฝูงบินนาวีสหรัฐฯครั้งนี้ถูกยิงตกและร่อนฉุกเฉินลงทะเลเพียง 18 เครื่องเท่านั้น
สถานการณ์พลิกผันอย่างไม่น่าเชื่อ ญี่ปุ่นพยายามดับไฟแต่ไม่สำเร็จ เวลา 13.10 น.เรือคากะก็จมลงสู่ก้นทะเล เรือโซริยุไฟไหม้ พอถึงเวลา 10.40 น.ก็บังคับหางเสือไม่ได้ ไฟไหม้อยู่นาน 8 ชั่วโมงไม่อาจดับได้ ตอนค่ำเวลา 18.00 น. ก็จมลงสู่ก้นทะเล ส่วนเรืออะกากิเรือธงของนากูโมก็ไฟไหม้ตลอดลำ เรือพิฆาตมาช่วยลำเลียงผู้รอดชีวิต นากูโมซึ่งดีรับบาดเจ็บต้องย้ายเรือธงไปอยู่บนเรือพิฆาตและได้รับการรักษาพยาบาลทันที มีคำสั่งสละเรือเมื่อเวลา 11.30 น. เรือธงอะกากิเรือที่จะนำชัยของยุทธการมิดเวย์ค่อยๆจมลงเมื่อเวลา 19.15 น.พร้อมกับการสละชีพของผู้บังคับการเรือที่ยอมจมพร้อมกับเรือตามประเพณีทหารเรือญี่ปุ่น
นี่คือการช็อคของกองเรือญี่ปุ่น และคือความพ่ายแพ้ครั้งแรกแต่เสียหายจนทำให้ยุทธการมิดเวย์พินาศลง ญี่ปุ่นเสียเรือบรรทุกเครื่องบินชั้นดีรวดเดียว 3 ลำ และเรือลาดตระเวนหนัก 1 ลำแลกกับเครื่องบินนาวีสหรัฐฯเพียง 18 เครื่อง ชะตากรรมเปลี่ยนข้างในชั่วแค่ 20 นาทีเท่านั้น ตลอดบ่ายของวันที่ 4 มิถุนายน 1942 เป็นฝันร้ายของกองทัพเรือพระเจ้าจักรพรรดิ์
การพลิกผันยุทธนาวีทางอากาศ นาวาโท ซีแวค แมคคาธีนำฝูงบินกลับเอ็นเตอร์ไพรส์ เขารายงานให้สปรูแอนซ์ทราบว่าสามารถทิ้งระเบิดจมเรือบรรทุกเครื่องบินญี่ปุ่นได้ 3 ลำ สปรูแอนซ์และแฟลตเชอร์ได้รับข่าวชัยชนะและรายงานไปยังพลเรือเอกนิมิตซ์ เป็นชัยชนะที่สามารถหยุดการุกของญี่ปุ่นลงได้แล้ว แต่นิมิตซ์รู้ว่าญี่ปุ่นยังเหลือเรือฮิโรยุอีก 1 ลำ เขาแจ้งแก่สปรูแอนซ์ว่าเขาต้องการจมเรือลำที่ 4
เรือฮิโรยุมีนายพลยามากูจิเป็นผู้บัญชาการ ยังมีเครื่องบินเหลืออยู่พอที่จะแก้แค้นได้ ในวันที่ 5 มิถุนายน 1942 ยามากูจิส่งเครื่องบินออกค้นหากองเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯ เครื่องบินลาดตระเวนญี่ปุ่นได้สะกดรอยเครื่องบินสหรัฐฯในที่สุดก็ตรวจพบกองเรือเฉพาะกิจที่ 16 ของแฟลตเชอร์คือเรือยอร์ค ทาวน์ ยามากุจิส่งฝูงบินจากฮิโรยุโจมตีทันที แต่แฟลตเชอร์ก็ไม่เคยประมาท เขาส่งดอนต์เลส 10 เครื่องขึ้นลาดตระเวนป้องกันกองเรือ เวลา 11.30 น. ก็ตรวจพบฝูงบินจากฮิโรยุและตรวจพบตำแหน่งของเรือฮิโรยุด้วย แฟลตเชอร์ส่งเครื่องบินขับไล่ไวด์แคต F 4 F ขึ้นสกัดกั้นที่ระยะ 20 ไมล์จากเรือ และสั่งจัดระบบป้องกันภัยทุกด้าน การฟาดฟันทางอากาศเกิดขึ้นอย่างดุเดือด F 4 F สกัดกั้นเครื่องซีโรของญี่ปุ่นไว้ไม่อยู่ เพราะซีโรมีสมรรถนะดีกว่า แม้อำนาจการยิงของ F 4 F จะรุนแรงกว่าก็ตาม ขณะเครื่องบินขับไล่กำลังต่อสู้กันอยู่ เครื่องบินโจมตีทิ้งระเบิดแบบ D 3 A วาสป์ของญี่ปุ่นก็หลบออกไปพุ่งใส่เรือยอร์ค ทาวน์ ฝ่ากระสุนปืนต่อสู้อากาศยานเข้ามาและถูกยิงตกไป 6 เครื่อง แต่ที่สามารถฝ่าเข้ามาทิ้งระเบิดได้ก็สามารถทิ้งระเบิดถูกเรือยอร์ค ทาวน์ถึง 3 ลูก ลูกแรกระเบิดบนดาดฟ้าทำให้เกิดไฟไหม้และเครื่องบินเสียหาย ลูกที่ 2 ตกระเบิดใกล้ปล่องไฟแรงระเบิดทำให้หม้อน้ำเสียหาย 6 หม้อ ลูกที่ 3 ทะลุดาดฟ้าลงไปสามชั้นแล้วระเบิด ลูกเรืออเมริกันทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง ในการดับไฟ โชคดีของการออกแบบเรือของสหรัฐฯมีระบบป้องกันภัยเป็นอย่างดี เมื่อเปิดน้ำท่วมคลังกระสุนและเปิดก๊าซคาร์บอนออกควบคุมถังน้ำมันเชื้อเพลิง ไฟก็ไม่ลามออกไป ยอร์ค ทาวน์ได้รับความเสียหายที่หม้อน้ำทำให้เรือเสียกำลัง เมื่อสามารถดับไฟได้แล้วกำลังเรือก็หยุดต้องลอยลำซ่อมเมื่อเวลา 12.20 น. รายงานจากฝูงบินญี่ปุ่นได้แจ้งไปยังยามากุจิว่าสามารถจมเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯได้ 1 ลำ ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะเวลา 13.20 น.หม้อน้ำ 3 ลูกก็ทำงานได้ เรือยอร์ค ทาวน์เดินทางได้ความเร็ว 20 น้อต เครื่องบินที่มีอยู่บนยอร์ค ทาวน์ได้บินไปลงยังเอ็นเตอร์ ไพรส์และฮอร์เนต เหลือไว้แต่เครื่องบินขับไล่ไว้ป้องกันเรือที่ตอนนี้เครื่องเติมเชื้อเพลิงใช้การได้แล้ว จึงเติมเชื้อเพลิงและอาวุธ สปรูแอนซ์แบ่งกำลังจากกองเรือเฉพาะกิจที่ 17 มาช่วยคุ้มกันยอร์ค ทาวน์โดยส่งเรือลาดตระเวน 2 ลำและเรือพิฆาต 2 ลำ
ยามากุจิเข้าใจว่าเขาจมเรือบรรทุกเครื่องบินอเมริกาได้ 1 ลำแล้ว จึงคิดว่าอเมริกาเหลือเรือบรรทุกเครื่องบินอีกเพียงลำเดียว จึงคิดว่ายังอาจพลิกสถานการณ์ได้ ขณะนี้ความคิดของฝ่ายญี่ปุ่นคือเหลือ 1 ต่อ 1 เท่ากัน และกองเรือของยามาโมโตก็กำลังตามมา เขาน่าจะทำลายเรือบรรทุกเครื่องบินลำสุดท้ายของสหรัฐฯลงได้ก่อน เขาส่งเครื่องบินปล่อยตอร์ปิโด B 5 N ขึ้น 10 เครื่องโดยมีเรื่องซีโรคุ้มกัน 6 เครื่อง ไปโจมตีที่จุดเดิมเมื่อเวลา 13.30 น. โดยคาดว่าเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯลำที่ 2 อยู่ที่นั่น แต่ความจริงฝูงบินของยามากุจิกำลังไปโจมตีเรือยอร์ค ทาวน์ลำเดิม แทนที่จะไปโจมตีเรือเอ็นเตอร์ ไพรส์ หรือฮอร์เนต เมื่อเรือยอร์ค ทาวน์ตรวจจับฝูงบินญี่ปุ่นได้ ก็รายงานให้แฟลตเชอร์ทราบ แฟลตเชอร์ส่งเรือลาดตระเวนคุ้มกันไปป้องกันด้านหน้า และส่งเครื่องบินขับไล่ขึ้นสกัดกั้น 8 เครื่อง ทันทีที่ได้รับรายงาน ในขณะที่เครื่องอื่นๆต้องใช้เวลากว่าจะขึ้นบินได้ เครื่อง F 4 F จึงต้องรับงานหนัก อีกครั้งที่การพันตูกันกลางอากาศเกิดขึ้น F 4 F ไวด์แคต สามารถยิงเครื่องบินปล่อยตอร์ปิโดแบบ คาเตะของญี่ปุ่นตก 2 เครื่องเท่านั้น ที่เหลือผ่านการสกัดกั้นเข้ามาได้ F 4 F ต้องใช้วิธีไล่จี้คาเตะไปทางม่านการยิงของปืนต่อสู้กากาศยานของกองเรือเฉพาะกิจที่ 16 ไม่ให้เข้าถึงเรือยอร์ค ทาวน์ คาเตะถูกยิงตกอีก 3 เครื่อง แต่ทะลุม่านการยิงเข้าถึงเรือยอร์ค ทาวน์ได้ 5 เครื่อง และปล่อยตอร์ปิโด 5 ลูก 3 ลูกพลาดเป้า แต่อีก 2 ลูกชนเรือยอร์ค ทาวน์ทางกราบซ้ายและระเบิดขึ้น ซีโร่เครื่องหนึ่งถูกยิงเสียหายเสียการบังคับเข้าชนบริเวณสะพานเดินเรือมีนายทหารบาดเจ็บและเสียชีวิต โชคดีที่แฟลตเชอร์ปลอดภัย ซีโร่อีกเครื่องถูกยิงตกลงบริเวณปล่องไฟแผลเก่า เรือยอร์ค ทาวน์ที่พิการเสียหายอย่างหนัก ซีโร่อีก 4 เครื่องก็ถูกยิงตก จึงมีคาเตะเพียง 5 เครื่องเท่านั้นที่รอดกลับเรือฮิโรยุได้และรายงานว่าสามารถจมเรือบรรทุกเครื่องบินข้าศึกได้อีก 1 ลำ ยามากูจิต่างกับนากูโม เขาเชื่อว่าเรือยอร์ค ทาวน์ยังอยู่ในอู่ซ่อม ดังนั้นเขาจึงเชื่อว่าเขาจมเอ็นเตอร์ ไพรส์และฮอร์เนตได้ และเขาได้ชัยชนะแล้ว
การสรุปของยามากุจิและเสนาธิการของเขาเชื่อว่าสามารถจมเรือบรรทุกเครืองบินสหรัฐฯได้ทั้ง 2 ลำ เพราะเขาไม่เข้าใจถึงขีดความสามารถในการสร้างระบบป้องกันภัยของเรือรบสหรัฐฯมีสูงมาก อีกทั้งจากรายงานของนักบินญี่ปุ่นที่ผ่านการรบอันสับสนมา ญี่ปุ่นแยกประเภทเรืออเมริกาไม่ออก เพราะเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯที่มีอยู่ในกองเรือเฉพาะกิจที่ 16 และ 17 นั้นเป็นเรือชั้นเดียวกันรูปร่างเหมือนกัน
เรือยอร์ค ทาวน์โดนโจมตีซ้ำกันถึงสองครั้ง เสียหายอย่างหนักเครื่องยนต์ เสียหายต้องลอยลำอยู่กับที่ ได้มีความพยายามที่จะดับไฟแต่ไม่สำเร็จ แฟลตเชอร์ส่งเครื่องบินที่เหลือไปเรือเอ็นเตอร์ ไพรส์ การสูบน้ำออกจากท้องเรือก็ไม่สำเร็จ เขาจึงสั่งสละเรือเมื่อเวลา 15.00 น. เรือยอร์ค ทาวน์ค่อยๆเอียงลงและจมลงสู่ท้องทะเล
ยอร์ค ทาวน์จมไปแล้ว แต่พิษสงของมันยังไม่หมด เครื่องบินลาดตระเวนจากยอร์ค ทาวน์ยังคงค้นหาเรือฮิโรยุอยู่และตรวจพบจึงรายงานไปให้สปรูแอนซ์ทราบ เมื่อเวลา 15.00 น. ในขณะนั้นทั้งเอ็นเตอร์ ไพรส์ และ ฮอร์เนตมี ดิวาสเตเตอร์ 4 เครื่อง เครื่องดอนเลสอีก 46 เครื่อง และมีเครื่องขับไล่ไวด์แคตอยู่อีก 50 เครื่อง สปรูแอนซ์ส่งดอนเลสขึ้นจากเอ็นเตอร์ ไพรส์ขึ้นโจมตี 24 เครื่องเมื่อเวลา 15.30 น.และเวลา 16.00 น.ก็ส่งดอนเลสอีก 16 เครื่องขึ้นจากฮอร์เนต รวม 40 เครื่องเป็น 2 ฝูง สปรูแอนซ์ที่ระแวดระวังเก็บไวด์แคต 50 เครื่องไว้ เผื่อฝ่ายญี่ปุ่นจะมาโจมตี การตัดสินใจของสปรูแอนซ์นับว่าเสี่ยง เพราะฝูงบินทิ้งระเบิดของเขาไปโจมตีโดยไม่มีเครื่องขับไล่คุ้มกันเลย การคาดการระแวดระวังของสปรูแอนซ์นับว่าเดาใจยามากุจิได้แม่น เพราะในเวลาเดียวกันนั้นเอง ประมาณ 16.30 น. ยามากุจิแม้เชื่อว่าได้ชัยชนะเด็ดขาดไปแล้วก็กำลังเตรียมการโจมตีอีกครั้งอย่างใจเย็นเพื่อเก็บกวาดดอกผลจากชัยชนะ การขึ้นโจมตีครั้งนี้เป็นศึกเล็ก ยามากุจิจึงใจเย็นไม่รีบร้อนเพราะไม่มีภัยคุกคามทางอากาศอีกแล้ว เรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯจมแล้วทั้ง 2 ลำ (ซึ่งในความจริงสหรัฐฯมีเรือบรรทุกเครื่องบิน 3 ลำ จมไปเพียงลำเดียว) เขาให้นักบินของเขาได้มีโอกาสพักผ่อนหลังการรบตลอดวัน นักบินญี่ปุ่นเพิ่งมีโอกาสได้กินอาหาร ยามากุจิเตรียมเครื่องบินไว้บนดาดฟ้า และจะส่งสัญญาณโจมตีเมื่อเวลา 18.00 น. ซึ่งเป็นเวลาพอดีกับคลื่นการโจมตีจากเอ็นเตอร์ ไพรส์มาถึงโดยไม่มีการระวังตนไม่มีแม้โอกาสจะได้รับการแจ้งเหตุเตือนภัย เครื่องบินนาวีสหรัฐฯชุดแรก 13 เครื่อง ดำดิ่งมาจากมุมสูงย้อนแสงอาทิตย์ยามเย็นเข้าโจมตีเรือฮิโรยุ เครื่องอื่นๆเข้าโจมตีเรือคุ้มกัน นักบินนาวีสหรัฐฯทิ้งระเบิดลงมา 13 ลูก 6 ลูกพลาดเป้าตกทะเล อีก 3 ลูกตกเฉียดเรือส่งนำกระฉูดขึ้นจากข้างเรือ แต่อีก 4 ลูกถูกเป้าอย่างจัง 2 ลูกตกกลางดาดฟ้าเรือที่เต็มไปด้วยเครื่องบินที่ติดอาวุธแล้วที่กำหนดจะขึ้นบิน เกิดการระเบิดอย่างมหาศาล อีก 2 ลูกตกที่หน้าหอบังคับการและระเบิดสังหารนายทหารทุกคนในหอบังคับการสะพานเดินเรือทุกคน ลูกระเบิดยังทะลุลงไปในโรงเก็บเครื่องบิน ลูกระเบิดที่เตรียมไว้แตกออกระเบิดซ้ำ คลังแสงของเรือฮิโรยุเกิดระเบิดอย่างรุนแรง อุปกรณ์การดับไฟถูกทำลายหมด ไฟไหม้ทั้งลำเรือ เรือฮิโรยุยังแล่นไปช้าๆ ลูกเรือได้รับคำสั่งให้สละเรือเวลาตี 2 ครึ่ง ไฟไหม้ตลอดทั้งคืน จนรุ่งเช้า วันที่ 7 มิถุนายน 1942 เวลา 9.00 น. เรือบรรทุกเครื่องบินลำสุดท้ายในกองเรือโจมตีมิดเวย์ก็จมสู่ท้องทะเล
300 ไมล์ จากจุดหายนะของกองเรือนากูโม ยามาโมโตยังไม่ยอมแพ้เพราะเขาคิดว่า ฝ่ายสหรัฐฯไม่มีเรือบรรทุกเครื่องบินเหลืออยู่แล้ว การยึดเกาะมิดเวย์ยังทำต่อไปได้เพราะเท่ากับว่าทะเลเปิดโล่งสำหรับกองเรือของเขาแล้ว แม้จะสูญเสียเรือบรรทุกเครื่องบินชั้นดีไปถึง 4 ลำ การได้เกาะมิดเวย์ก็ถือว่าคุ้มค่า ยามาโมโตเรียกกองเรือโจมตีลวงของโอโวซาย่ามาจากอัลลูเชียนซึ่งมีเรือบรรทุกเครื่องบินเบา 2 ลำมาสมทบ และเรียกกองเรือยกพลขึ้นบกของนายพลคอนโดซึ่งมีเรือบรรทุกเครื่องบินอีก 2 ลำมาเพื่อรวมกำลังกันยึดเกาะมิดเวย์ทางตะวันตกเฉียงเหนือให้ได้ภายใน 24 ชั่วโมง ยามาโมโตรวมกำลังไม่สำเร็จ มีเรือประจัญบาน 2 ลำจากกองเรือของคอนโดเท่านั้นที่มาถึง นอกนั้นติดต่อกันไม่ได้ยามาโมโตพยายามค้นหากองเรือสหรัฐฯแต่ไม่พบ ทั้งนี้เพราะสปรูแอนซ์เมื่อจมเรือลำที่ 4 แล้วก็ถอนกองกำลังไปทางตะวันออกทันที
7 มิถุนายน 1942 จะด้วยข้อเท็จจริงอย่างไรไม่อาจพิสูจน์ได้ เครื่องตรวจการของยามาโมโตรายงานเมาว่าพบเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯ 4 ลำ เท่ากับที่ยามาโมโตจะมีอยู่ถ้ารวมกำลังได้สำเร็จ ยามาโมโตไม่เชื่อรายงานนี้ แต่ฝ่ายเสนาธิการของเขาเสนอว่าถ้าความเป็นไปไม่ได้เกิดเป็นไปได้อย่างเหตุการณ์ ระหว่างวันที่ 3-6 มิถุนายน 1942 ที่เพิ่งผ่านมา ก็จะเป็นการเสี่ยงที่น่ากลัว หลังจากการประชุมฝ่ายเสนาธิการก็มีการลงความเห็นว่าควรถอนกำลังกลับ ล้มเลิกยุทธการมิดเวย์ เป็นความพ่ายแพ้อย่างอัปยศของฝ่ายญี่ปุ่น
เมื่อแน่ใจว่าฝ่ายญี่ปุ่นกำลังถอย สปรูแอนซ์ก็ตามโจมตี แต่ช้าไป ฝ่ายญี่ปุ่นถอยทัพไปไกลเกินรัศมีการโจมตีทางอากาศแล้ว ยุทธนาวีทางอากาศที่มิดเวย์ได้สิ้นสุดลงแล้ว ในด้านความเสียหายญี่ปุ่นสูญเสียเรือบรรทุกเครื่องบินชั้นดีไปถึง 4 ลำ คือ อะกากิ คากะ ฮิโรยุ โซริยุ และเรือลาดตระเวนหนักอีก 1 ลำ เครื่องบินรบถูกทำลาย 322 เครื่อง ทหารเรือของนากูโมเสียชีวิตถึง 3,500 คน และที่สูญเสียไปอย่างไม่อาจทดแทนคือนักบินประสบการณ์สูงอันทางคุณค่า เปรียบเทียบกับฝ่ายสหรัฐฯที่เสียเรือบรรทุกเครื่องบินพิการไป1 ลำ คือเรือยอร์ค ทาวน์ เสียเครื่องบินทั้งที่ถูกทำลายบนพื้นดิน บนอากาศ และร่อนลงฉุกเฉินลงทะเลไป 150 เครื่อง ฝ่ายสหรัฐฯเสียทหารไปน้อยอย่างไม่น่าเชื่อคือเสียทหารไปเพียง 307 คน ส่วนใหญ่คือลูกเรือยอร์ค ทาวน์และนักบินนาวีอ่อนประสบการณ์
ในด้านยุทธศาสตร์ ฝ่ายสหรัฐฯได้ชัยชนะอย่างยิ่งใหญ่และเด็ดขาด สามารถป้องกันเกาะมิดเวย์ไส้ได้ เป็นการทำลายจุดประสงค์ทางยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่นที่ต้องการเกาะมิดเวย์เป็นกระดานกระโดดเข้าคุกคามถึงบ้านสหรัฐฯ และครอบครองแปซิฟิคไว้เป็นของตน เป็นชัยชนะที่สหรัฐฯด้อยกำลังกว่าถึง 4 ต่อ 1 และด้อยประสบการณ์กว่า ญี่ปุ่นเข้าทำสงครามในแมนจูเรียมาแต่ปี 1931 และกับจีนในปี 1938 ฝ่ายสหรัฐฯเพิ่งมีประสบการณ์ทางการรบเพียง 6 เดือนเท่านั้น ยุทธนาวีทางอากาศระหว่างวันที่ 3-6 มิถุนายน 1942 เป็นจุดแตกหักของสงครามแปซิฟิค กองทัพเรือญี่ปุ่นสูญเสียอำนาจการบุกทางทะเลลงไปอย่างสิ้นเชิง หลังยุทธนาวีที่มิดเวย์แล้ว กองทัพเรือญีปุ่นลดบทบาทเป็นเพียงฝ่ายสนับสนุนกองทัพบกเท่านั้น การบุกของญี่ปุ่นหยุดชะงักลง การโจมตีออสเตรเลียเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป กำลังทางเรือของญี่ปุ่นต้องรับบทบาทในการกระจายกำลังทางเรือและอากาศคุ้มครองเกาะใหญ่น้อยที่ยึดครองอยู่ นั่นคือหลัง 6 เดือนของการบุกอย่างดุเดือด ต่อไปนี้ฝ่ายญี่ปุ่นต้องตกเป็นฝ่ายตั้งรับ การยุทธที่มิดเวย์ยังเป็นการพิสูจน์อีกว่าการใช้กำลังทางอากาศเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของการตัดสินผลของการสู้รบ ยุคสมัยของเรือประจันบานขนาดยักษ์ติดปืนใหญ่หนักได้ผ่านพ้นไปแล้วโดยสิ้นเชิง

หลังมิดเวย์ กองทัพเรือของทั้งสองฝ่ายได้กระทำยุทธนาวีทางอากาศอีกสองครั้ง ในโซโลมอนตะวันออกและซานตาครูส ญี่ปุ่นเสียบรรทุกเครื่องบินเรียวโจ เรือซุยโฮและโชกากุได้รับความเสียหาย ทำให้จำนวนเรือบรรทุกเครื่องบินลดลงไปอีก 3 ลำ ฝ่ายสหรัฐฯเสียเรือบรรทุกเครื่องบินวาสป์ และฮอร์เนต รวม 2 ลำ แต่เรือบรรทุกเครื่องบินชั้นเอสเทคกำลังทยอยออกจากอู่ต่อเรือ ในขณะที่ญี่ปุ่นไม่มีการทดแทน ที่สำคัญการยุทธ 2 ครั้งนี้ญี่ปุ่นต้องเสียเครื่องบินชั้นแนวหน้าไปถึง 1,000 เครื่อง และนักบินฝีมือดีเกือบทั้งหมด หลังการรบในฟิลิปินส์ ยุทธนาวีที่ช่องแคบซูริเกาและอ่าวเลเตย์ กองทัพเรือญี่ปุ่นสูญเสียกำลังทางเรือไปเกือบหมด ปฏิบัติการแบบฆ่าตัวตายของนักบินญี่ปุ่นก็กลายเป็นอาวุธใหม่ที่ต้องการเพียงนักบินที่ขับเครื่องบินได้เท่านั้น
ยุทธนาวีทางอากาศที่มิดเสย์จึงถือเป็นจุดเปลี่ยนโฉมหน้าของสงคราม แต่ฝีมือในการรบของทั้งสองฝ่ายยังเป็นที่น่าสงสัย ดังที่พลเรือเอกนิมิตซ์แม่ทัพเรือของสหรัฐฯกล่าวว่า "เราชนะเพราะเก่งกว่าญี่ปุ่นหรือโชคดีกว่าญี่ปุ่นกันแน่?"
เขียนเมื่อ 2540 ลงในนิตยสารแทงโก
เนื่องจากบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์อัน ชอบธรรมของผู้เขียน และอาจะมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลบ้างตามความเหมาะสม ในการนำบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่นๆ จึงขอความร่วมมือให้ใช้วิธีการคัดลอกเฉพาะ Link หรือ URL Address แทนการคัดลอกบทความทั้งหมด หากมีการคัดลอกไปในลักษณะแอบอ้างเป็นผู้เขียน หรือมีเจตนาอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทางเว็บ iseehistory.com แล้ว จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย