

เมื่อเย็นวานนี้ ทางญาติๆ ฝ่ายคุณพ่อผมได้มีการนัดพบปะทานอาหารกันที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง มาวันนี้เลยนึกได้ว่าคุณพ่อได้เคยเขียนประวัติความเป็นมาของตระกูลไว้ จึงคิดว่าตอนนี้คงได้ฤกษ์ที่จะนำบทความนี้มานำเสนอกันซะที ทั้งนี้ไม่ใช่ต้องการจะอวดอ้างอะไรเกี่ยวกับตระกูลของตนเองนะครับ แต่อยากชี้ให้เห็นว่าประวัติของตระกูลแต่ละตระกูลย่อมแฝงไว้ซึ่งบางส่วนของประวัติศาสตร์มากบ้างน้อยบ้าง อ่านประวัติตระกูลผมแล้วลองกลับไปคิดนะครับ ว่าตระกูลของคุณมีความเป็นมาอย่างไร เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์มากน้อยแค่ไหน
-----
“ตระกูลจินตมาศ”
ประวัติ ด้วยความสำนึกเคารพคิดถึงบรรพบุรุษ แด่ผู้ให้กำเนิดโดยเฉพาะพ่อยาน ชีวิตท่านได้จุติขึ้น ณ ท้องที่บริเวณสวนสมรมผลไม้บ้านน้ำฉ้อง ตำบลนาทราย อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อประมาณหนึ่งร้อยกว่าปีมานี้ (พ.ศ.2431) ท่านเป็นบุตรชายหัวปีของ “ย่าเอียด” มีน้องชายหญิงร่วมบิดา, มารดาเดียวกันอีก 4 คน คือ น้านิ่ม ใช้สกุล “สำนักการ” (ด้วยเหตุผลเฉพาะตัว) น้าเหมะ และน้าหีดเป็นคนสุดท้อง ตามภาษาถิ่นเรียกขานใช้สรรพนามนำหน้าบุคคลผู้ที่เป็นน้องของทั้งพ่อและแม่ด้วยคำว่า “น้า” เหมือนกัน
ในระหว่างช่วงระยะเวลาที่พ่อยานเข้ามาใช้ชีวิตคู่กับแม่แจ่มที่บ้านบ่ออ่าง ตำบลคลัง อำเภอเมืองนั้น พ่อยานเคยทำหน้าที่เป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 8 ตำบลคลังมาก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองท้องถิ่นมาเป็นเทศบาลเมืองแทน ต่อมาในภายหลังเพื่อนบ้านรอบข้างท่านยังคงเรียกขานชื่อพ่อยานว่า “ผู้ใหญ่ยาน” หรือ “ใหญ่ยาน” ให้ผู้เขียนได้ยินอยู่เสมอมา นอกจากท่านประกอบอาชีพส่วนตัวในการทำนาเป็นอาชีพหลักแล้ว ยังมีความขยันขันแข็งในการประกอบอาชีพเสริมนอกฤดูกาลทำนาอีกด้วย เช่น เป็นช่างปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัย, ทำน้ำตาลโตนดที่มีอยู่บนคันนาตามธรรมชาติ ท่านเป็นผู้หนึ่งที่มีฝีมืออันอาจจะกล่าวอ้างได้ว่าเป็นสารพัดช่าง เพราะท่านประดิษฐ์เครื่องจักสานด้วยไม้ไผ่ทุกชนิดไว้ใช้สอยภายในครัวเรือนของตนเอง สุดท้ายแม้แต่การผลิตเครื่องสีข้าวเปลือกเป็นข้าวกล้อง (มีข้าวเปลือกปนข้าวสารประมาณอย่างละครึ่งต่อครึ่ง) ก่อนที่จะนำไปตำเป็นข้าวสารด้วยครกกระเดื่องหรือตำด้วยครกสากซ้อมมือหรือตะลุมพุกเป็นขั้นตอนสุดท้าย ได้ผลิตผลเป็นรำข้าว ปลายข้าวนำไปใช้เลี้ยงสัตว์กับข้าวสารเพื่อใช้บริโภคในครัวเรือน
พ่อยานท่านเป็นบุคคลที่จัดได้ว่ามีอัธยาศัยและมีมนุษยสัมพันธ์ต่อบุคคลรอบข้างมากผู้หนึ่ง ซึ่งจะพิจารณาได้จากชีวประวัติในอดีตและพฤติกรรมข้างต้นเพียงบางส่วนประกอบกับคำบอกเล่าของท่านเองเพียงบางตอน ผู้เขียนจึงสรุปสันนิษฐานว่าเป็นบุคคลแรกที่ใช้นามสกุล “จินตมาศ” อนึ่ง ในบั้นปลายแห่งชีวิตพ่อยานที่มีอายุยืนนานถึง 104 ปี เพราะท่านไม่เคยแตะต้องอบายมุข สิ่งเสพติด เช่น เหล้าและบุหรี่เลย แต่ในที่สุดท่านก็ต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาติ คือถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา ณ บ้านเลขที่ 1246 บ้านบ่ออ่าง เมื่อปี พ.ศ. 2535 บรรดาลูกหลานได้นำร่างที่ไร้วิญญาณกลับไปทำพิธีตามประเพณี ตลอดจนบรรจุอัฐิของท่านไว้ ณ วัดน้ำฉง (ชื่อเป็นทางการว่า “วัดน้ำสรง”) อันเป็นถิ่นกำเนิดของท่านตามสัจจะธรรมที่ว่า “เกิดจากดินแล้วก็ต้องกลับคืนไปสู่ดิน” ณ ที่เดิม
ส่วนฝ่ายทางแม่แจ่มเป็นบุตรคนรองจากป้าแสงของ “แม่เฒ่าปุกกับพ่อเฒ่าราช ศรีโสธร” ซึ่งเป็นคำเรียกขานภาษาถิ่นแทน “ยายกับตา” มีน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันอีก 4 คน คือ น้าใจ, น้าจับ เก็บสมบัติ, น้าเจิม (มาลา โชติกเสถียร) และน้าจิตร เป็นคนสุดท้อง
ตัวแม่แจ่มนอกจากจะทำนาร่วมกันกับพ่อยานแล้ว ท่านยังประกอบอาชีพช่วยพ่อยานในการทำมาหากิน คือ ทำขนมหวานต่างๆ โดยเฉพาะมีฝีมือผัดหมี่กะทิตามแบบท้องถิ่นและเมื่อถึงฤดูเทศกาลงานเดือนสิบ ท่านยังทำขนมลาโดยใช้น้ำผึ้งที่เก็บสำรองไว้จากการทำตาลโตนดของพ่อยาน
ต่อมาเมื่อลูกทั้ง 9 คนต่างทยอยแยกย้ายกันไปประกอบอาชีพและมีครอบครัวของตนเองแล้ว ท่านได้ล้มป่วยลงด้วยโรคเบาหวาน และถึงแก่กรรมที่โรงพยาบาลราชวิถีเมื่อปี พ.ศ.2532 ก่อนพ่อยานประมาณ 3 ปี และหลังบุตรชายลำดับที่ 7 นายวันชนะประมาณ 7 ปี
เพื่อความครบถ้วนสมบูรณ์ในชีวประวัติของพ่อยาน แม่แจ่ม ที่ท่านต้องมีภาระเลี้ยงดูบุตรตลอดมานั้น ท่านมีแต่จะบอกเล่ากล่าวขานแก่บุคคลภายนอกด้วยความภาคภูมิใจที่บรรดาบุตรหญิงชายมีหน้าที่การงานที่มั่นคงพอสมควรแล้ว มิหนำซ้ำยังแบ่งปันเงินทองที่ได้มาเพียงเล็กน้อยแก่บุตรทุกคนเท่าเทียมกัน บุตรชาย-หญิงทั้ง 9 คน ตามลำดับดังนี้
1.นางเปรม พรหมคีรี ถึงแก่กรรม ปีพ.ศ.2545
2.นางเปรย นิยมราษฎร์
3.นายรัตน์ จินตมาศ
4.นายเรียง จินตมาศ
5.นางจุรีย์ สุวรรณนิตย์ (เริ่ม)
6.นางเรียม แมนเนอร์ (พำนักอยู่สหรัฐฯ)
7.นายวันชนะ จินตมาศ (ถึงแก่กรรม พ.ศ.2525)
8.นายวันยุทธ จินตมาศ
9.นางโสภา จันทร์จำปา
ในอดีตกาลที่ผ่านมาบรรดาบุตรหลานของพ่อยาน-แม่แจ่ม ได้มีการติดต่อสื่อสารโอภาปราศรัยสัมพันธ์กันอยู่สม่ำเสมอด้วยดีตลอดมา ไม่ว่าจะเป็นในช่วงระหว่างเวลาที่ท่านมีชีวิตอยู่หรือเป็นช่วงต่อมาในภายหลัง ซึ่งผู้เขียนบันทึกขอยืนยันด้วยความสัตย์จริงว่า พวกเราไม่เคยมีปัญหาขัดแย้งหมองใจกันถึงขนาดต่อว่าต่อขานกันด้วยวาจารุนแรงเลย แม้แต่สักครั้งเดียวก็ไม่เคยปรากฏ แต่อาจจะมีบ้างบางครั้งบางคราวที่มีปัญหาขุ่นเคืองใจซึ่งกันและกันบ้างตามธรรมดาวิสัยของปุถุชน แต่ต่างฝ่ายต่างก็ไม่ต่อความยาวสาวความยืด หรืออาจจะสรุปสั้นๆ ว่าคงจะปล่อยให้เวลาเป็นเครื่องสลายสถานการณ์นั่นเอง
ในส่วนตัวผู้เขียนบันทึก ที่เขียนขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ คือ
1.ให้บุตรหลานผู้เป็นเครือญาติหรือที่อาจจะเข้ามีมีความสัมพันธ์เกี่ยวดองด้วย ได้รับทราบประวัติความเป็นมาที่แท้จริงของ ชื่อสกุล “จินตมาศ”
2.มิใช่จะต้องการให้ทายาทบุตรหลานมีความรักสมัครสมานสามัคคีกลมเกลียวกันและกัน อันเป็นจินตนาการที่เป็นไปไม่ได้ในชีวิตจริงของสังคมญาติพี่น้อง แต่อย่างน้อยก็ต้องมีความประนีประนอมซึ่งกันและกัน ตลอดจนอภัยแก่กันบ้าง โดยการแสดงออกด้วยคำพูดหรือท่าทีด้วยดีก็จะเป็นการดียิ่งแล้ว
3.เพื่อเป็นอุทาหรณ์สอนใจและสำนึกด้วยว่ามีจำนวนบุคคลที่ใช้ร่วมสกุลเดียวกันเพียงจำนวนน้อยนิดเท่านั้นเอง อีกทั้งชื่อสกุลนี้มิได้ซ้ำซ้อนหรือลอกเลียนสกุลอื่นใดเลย
4.ในประการสุดท้ายในส่วนตัวของผู้เขียนบันทึก ขอถือโอกาสบอกกล่าวแก่ทายาทบุตรหลานรุ่นหลังหรือเครือญาติว่า ในการดำเนินชีวิตร่วมสังคมเดียวกันนั้น ควรต้องยึดหลักหรืออิงหลักธรรมที่สำคัญมากอยู่ 3 หมวด คือ
4.1 หลักธรรมซึ่งจะนำมาแห่งความสำเร็จในการเรียนรู้และประกอบอาชีพ 4 อย่าง ได้แก่ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ และวิมังสา
4.2 พรหมวิหาร 4 ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา
4.3 กตัญญูรู้บุญคุณคน ต้องทำมาก่อน แล้วกะตะเวทีจะมีตามมาควบคู่กันด้วยหรือไม่ก็สุดแท้แต่จังหวะ โอกาส ฐานะของตนเอง และผู้มีพระคุณเป็นองค์ประกอบด้วย
หลักธรรมทั้ง 3 หมวดดังกล่าว 4.1, 4.2 และ 4.3 ผู้เขียนบันทึกทราบดีกว่า ทายาท, บุตรหลานทุกคนได้ผ่านการเรียนรู้มาแล้วอย่างน้อยต้องมากกว่าหนึ่งครั้งขึ้นไป เว้นเสียแต่ว่าจะสนใจและจำได้หรือไม่ หรือนำมาใช้สอดแทรกในการดำเนินชีวิตร่วมในสังคมกับผู้อื่นหรือไม่เท่านั้น
ข้อความที่เขียนโดยย่อพอสังเขปนี้ ขอให้ทุกคนเมื่ออ่านและพิจารณาแล้ว จะมีความคิดเห็นด้วยหรือไม่ประการใดก็สุดแท้แต่การใช้สติสัมปชัญญะของแต่ละคนเองก็แล้วกัน ที่เขียนมาทั้งหมดก็ด้วยความรักและหวังดีต่อคนรอบข้างทุกคนเสมอมา มิได้จงใจด่าว่าผู้ใดผู้หนึ่ง แถมท้ายด้วยการย้ำเจตนาปณิธานเดิมว่า ต้องการให้ทายาท บุตรหลานและคนรอบข้างทุกคนอยู่ร่วมกันด้วยความสงบราบรื่นเท่าที่ควร หากจะมีปัญหากระทบกระทั่งกันบ้างบางครั้งบางคราวก็ขอให้ทำความเข้าใจกันเสียภายในเวลาที่ควรจะทำได้ มิใช่จะยึดมั่นถือมั่นว่าใครถูก ผิด เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ค้างคาอยู่ภายในใจของตนเอง เมื่อถึงที่สุดแล้วมันจะมีความสุขในสังคมญาติพี่น้องได้อย่างไร แม้แต่ตัวของตัวเอง
หมายเหตุ
1. บันทึกข้อความเกี่ยวกับสกุล “จินตมาศ” นี้มิอาจจะครบถ้วนได้ถ้าหากละเว้นมิได้กล่าวถึงบุคคลที่ต่างมารดาอีก 2 ท่าน คือ พี่พวง ซึ่งได้ทราบว่ายังคงมีชีวิตอยู่ อายุประมาณ 85 ปี กับพี่เณรแก้ว จินตมาศ แต่ได้ถึงแก่กรรมไปแล้วก่อนพ่อยานประมาณกว่า 30 ปีเศษ (เณร เป็นสรรพนามภาษาถิ่นแทนคำว่า ทิด ในภาษาภาคกลาง)
2. กรณีอื่นๆ ถ้ามีเวลาและอารมณ์ที่จะเขียนต่อไป
รัตน์ จินตมาศ
พฤษภาคม 2549
หมายเหตุ : เปิดให้แสดงความคิดเห็นเฉพาะสมาชิกเว็บไซต์ที่ด้านล่างสุด หรือสมาชิก Facebook แสดงความเห็นได้ในกรอบข้างล่างนี้ครับ