ผ่านมาหลายตอนแล้วสำหรับสารคดี "100 ปี ไกลบ้าน ตามเสด็จพระพุทธเจ้าหลวง" ที่ฉายทางสถานี "ทีวีไทย ทีวีสาธารณะ" (Thai PBS) ซึ่งนอกจากจะพาเราไปชมยังสถานที่จริงในยุโรปที่สมเด็จพระปิยมหาราชได้เสด็จไปในครั้งนั้นแล้ว ยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มากหน้าหลายตามาร่วมแสดงความเห็น โดยส่วนใหญ่ท่านเหล่านั้นจะเป็นอาจารย์ที่มีตำแหน่งทางวิชาการนำหน้า หรือไม่ก็เป็นผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งหน้าที่การงานสูงๆ แต่จะมีอยู่อย่างน้อย 1 ท่านที่ปรากฏเพียงชื่อและนามสกุลเฉยๆ ว่า "ไกรฤกษ์ นานา" และมีคำอธิบายข้างล่างเพียงว่า "นักวิชาการอิสระ"
น่าแปลกใจไหมครับว่า "นักวิชาการอิสระ" นี้หมายถึงอะไร ทำไมผู้ที่ดูเหมือนเป็นสามัญชนจึงได้มาผู้หนึ่งที่มีบทบาทต่อสารคดีเรื่องยิ่งใหญ่นี้ได้?
คำตอบเท่าที่พอได้ยินจากในภาพยนตร์สารคดีและจากที่ผมค้นได้เพิ่มเติมนิดหน่อย โดยการศึกษาและอาชีพการงานของท่านนั้น ท่านเป็นมัคคุเทศก์ที่ทำงานด้านการท่องเที่ยวยุโรปมากว่า 20 ปี โดยเฉพาะที่ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นแหล่งเอกสารเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย จีงเป็นแรงบันดาลใจให้ท่านได้มีผลงานทางด้านนี้เรื่อยมา
คงจะพอเป็นตัวอย่างให้เห็นได้ว่าความรู้ด้านประวัติศาสตร์นั้นเปิดกว้างสำหรับผู้สนใจใฝ่รู้โดยไม่จำกัดพื้นฐานทางการศึกษาว่าจะต้องเรียนทางนี้มาโดยตรง ผมเชื่อว่าเกือบจะทุกท่านทุกอาชีพได้เคยพบเห็นสิ่งเก่าๆ หรือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์อยู่ตลอด แต่เราเคยฉุกใจคิดที่จะหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้นหรือไม่?
ประวัติของท่านที่ผมพบจากเว็บไซต์ของสำนักพิมพ์ประพันธสาส์น หน้า http://www.praphansarn.com/new/c_writer/detail.asp?ID=6 มีดังนี้ครับ
-----
ประวัตินักเขียน ชื่อ : ไกรฤกษ์ นานา
ประวัติย่อ
ไกรฤกษ์ นานา เป็นคนกรุงเทพโดยกำเนิด เกิดเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2500 เรียนชั้นประถมถึงชั้น ม.ศ.4 ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก หลังจากนั้นได้ติดตามพี่ชายไปเรียนต่อที่สถาบัน Thurrock Technical College ประเทศ อังกฤษ จนได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพการท่องเที่ยว จึงเดินทางกลับประเทศไทย เริ่มทำงานเป็นมัคคุเทศก์ที่บริษัท เอ็มดีทัวร์ แอนด์ ทราแวล และทำอาชีพนี้อยู่ตลอด 20ปี จนเชี่ยวชาญและชำนาญการท่องเที่ยวประเทศในแถบยุโรป โดยเฉพาะที่ฝรั่งเศสซึ่งเป็นขุมทรัพย์เอกสารเก่าของสยามประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่จุดประกายให้เขาเขียน “พระพุทธเจ้าหลวงในโลกตะวันตก” อย่างจริงจัง ซึ่งเป็นที่กล่าวขานฮือฮากันมากตั้งแต่ครั้งตีพิมพ์ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม รายเดือน สำหรับรูปภาพสมัยรัชกาลที่ 5 อายุนับร้อยปี ผู้ เขียนได้ได้พลิกแพลงกลยุทธ์การสืบสวนประวัติศาสตร์ใหม่โดยเริ่มจากอ่านรูป แล้วจึงนำไปค้นเรื่อง จนได้ผลที่แปลกแหวกแนวต่างจากเรื่องที่เคยผ่านมา
งานเขียนครั้งแรก
หนังสือ ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษในชื่อว่า ประวัติศาสตร์นอกพงศาวดารรัชกาลที่ 5 พระพุทธเจ้าหลวงในโลกตะวันตก และหนังสือเรื่องอื่นๆอีกมากมาย
ผลงานรวมเล่ม
- การเมืองนอกพงศาวดารรัชกาลที่ 5 (เสด็จประพาสยุโรป)
- สยามที่ไม่ทันได้เห็น (พิมพ์กระดาษอาร์ตมัน 4 สี)
- พระมหากษัตริย์โลกไม่ลืม เล่ม 1
- พระมหากษัตริย์โลกไม่ลืม เล่ม 2
- สยามกู้อิสรภาพตนเอง
- กรณีประชวรจนถึงสวรรรคตและพระราชหัตถเลขาฉบับสุดท้ายในรัชกาลที่ 5 [บทความ]
- ปิยมหาราชานุสรณ์ (ปกแข็งปกอ่อน)
หมายเหตุ : เปิดให้แสดงความคิดเห็นเฉพาะสมาชิกเว็บไซต์ที่ด้านล่างสุด หรือสมาชิก Facebook แสดงความเห็นได้ในกรอบข้างล่างนี้ครับ