dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



สงคราม กรีก - เปอร์เซีย

 

ท่านที่สนใจโปรดติดตามได้จาก    http://widetalks.multiply.com    ด้วย

          สงครามเป็นสมบัติของมนุษยชาติ  เป็นสิ่งคู่กับอารยธรรม ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์จวบจนปัจจุบัน และสู่อนาคต ไม่มีจบสิ้น    อุบายการทำสงครามจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย  ก็คือ เปลี่ยนแปลงไปตามอาวุธยุทโธปกรณ์  และอาวุธยุทโธปกรณ์นั้นก็วิวัฒน์ไปตามอารยธรรมและเทคโนโลยีของมนุษยชาติ  ซึ่งจะพิจารณาได้จากสงครามหรือการรบตามภูมิภาคต่างๆ ในอายุของเรา

          ถึงแม้ว่า ยุคสมัย อารยธรรมและเทคโนโลยี จะเปลี่ยนแปลงไปเพียงใดก็ตาม  แต่หลักการทำสงครามไม่เคยเปลี่ยน  ดังที่  จอมพล  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ  กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ  ได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือพงศาวดารยุทธศิลปะ ว่า  

" . . .ข้าพเจ้าต้องขอยืนยันซ้ำว่าหลักนั้นคงเดิมแน่นอน  แต่วิธีใช้หลักให้เหมาะกับเหตุการณ์นั้นแหละ เปลี่ยนแปลงไปเสมอ ไม่คงที่เลย

ตัวหลักเองกับวิธีใช้หลักเป็นของต่างกัน  จะเอาไปปนกันไม่ได้

 เช่นหลักยุทธศาสตร์ และยุทธวิธีที่สำคัญอันหนึ่งมีอยู่ว่า "ให้รวมกำลังอันมากเข้า ณ ที่ที่เหมาะในเวลาที่เหมาะ . . ."   

          ดังนี้     ซึ่งถ้าเราจะพิจารณาศึกษาให้ดีแล้วจะเห็นจริงตามพระนิพนธ์นั้น

          ดังนั้น  การศึกษาพงศาวดารยุทธศิลปะหรือประวัศาสตร์การสงคราม ในระดับต่างๆ  ก็เพื่อศึกษา วิเคราะห์การรบ หรือการสงครามแต่ละครั้ง ว่ามีการปฏิบัติใดเป็นบทเรียนสมควรนำมาศึกษา หรือปรับเป็นอุบายใช้ในสถานการณ์ หรือเหตุการณ์ต่างๆ ให้เหมาะสมต่อไป

วิธีการจัดกองทัพในยุคคลาสสิค

          เพื่อที่จะเข้าใจการรบในแต่ละสมัย  หากได้ทราบวิธีการจัดกองทัพเสียก่อน น่าจะเข้าใจยุทธวิธีได้แจ่มแจ้งยิ่งขึ้น  
          ครั้งโบราณกาลจริงๆ ท่านว่าใช้วิธีแบ่งหน้าที่ประชาชนเป็นพวกๆ   แต่ต่อมาวิธีการนี้คงไม่ได้ผล เช่น ต้องการทหารมาก จนพวกทหารมีไม่พอ ก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเป็นการเกณฑ์    ครั้นต่อมาอีกการเกณฑ์ก็ใช้ไม่ได้ผลอีก   ก็มีวิธีการใหม่เกิดขึ้น คือ การจ้างคนมาเป็นทหาร การจ้างนี้หมายรวมถึงการจ้างคนชาติอื่นมาเป็นทหารของชาติตนด้วย   

 ". . . การที่ชาติเหล่านี้ต้องใช้วิธีจ้างทหารนั้น  เห็นได้ว่าถึงซึ่งความเสื่อมทราม   แปลว่า

ไม่มีคนที่รักบ้านเมืองพอที่จะยินดีต่อสู้กับข้าศึก    สำหรับป้องกันบ้านเมือง  จึงต้องใช้วิธีเอาเงินล่อ" 

กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ  ได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือเล่มเดิม

 

ยุทธศาสตร์และยุทธวิธี

          ชนชาติโบราณน่าจะมีความเข้าใจในยุทธศาสตร์เป็นอย่างดี เพราะปรากฏว่าได้มีการกรีธายกทัพใหญ่ไปทำสงครามกัน  ดังนั้น  การที่จะรวบรวมกองทหารให้ได้มากตามที่ต้องการ  การให้ทหารทั้งหมดไปสู่สนามรบ และเข้าทำการรบ  การล้อมเมือง  การโจมตีเมือง  การส่งเสบียงอาหาร  การรักษาพยาบาล  ฯลฯ ล้วนเป็นเรื่องที่ต้องมีการจัดการและยุทธศาสตร์ที่ดี 

          ส่วนทางยุทธวิธีนั้น  เป็นไปตามอาวุธที่ใช้   ในสมัยนั้น อาวุธฟัน และแทงย่อมเป็นอาวุธหลักและสำคัญยิ่ง  ส่วนอาวุธยิง (คือ ธนู และเครื่องยิงก้อนหิน) ยังไม่เจริญ และใช้การไม่ได้ดี    และจัดว่าทหารม้าสำคัญกว่าทหารเดินเท้าและพยายามจัดให้มีมากที่สุดเท่าที่จะจัดได้    รถศึก (Chariot) ๒ ล้อ  เทียมม้า  ๑ , ๒, ๔ หรือ ๘ ม้า ใช้วิ่งเข้าไปในแถวทหารข้าศึก เพื่อให้ตื่นตกใจ ทำลายความเป็นปึกแผ่น แล้วจึงส่งทหารม้า หรือทหารเดินเท้าเข้าเข้ารบประชิดต่อไป

          ทหารเดินเท้า หรือ ทหารราบ  นั้นเป็นกำลังรบหลัก มีจำนวนมากที่สุด  แบ่งออกเป็น  ๓  ชนิด ตามเครื่องแต่งกาย (เกราะ) และอาวุธ  คือ

                ทหารราบหนัก   (Hoplite)  สวมเกราะเหล็กเต็มตัว  ถือดาบยาว หรือหอก

               ทหารราบกลาง   (Peltast)  สวมเกราะอย่างเบาสำหรับวิ่งและเดินได้เร็วขึ้น  เพื่อใช้เข้าตลุมบอนพร้อมกับทหารม้า  ถือหอกอย่างเบาสำหรับซัดไปยังข้าศึก (ไม่ใช่วิ่งเข้าไปแทง)

               ทหารราบเบา  (Psiloi)  ไม่สวมเกราะ  ใช้อาวุธยิง คือธนู

 

 

 

 <  ทหารราบหนัก   (Hoplite)

ทหารราบเบา  (Psiloi)  >

 

 

          ระเบียบในการเดิน และการพักนั้นจะจัดหมู่คอยเหตุออกไปสืบเหคุการณ์ทางฝ่ายข้าศึก  และตามหลังสำหรับหนุนอีกชั้นหนึ่ง    ทั้งยังมีหมู่ทหารม้าไปสืบเหตุการณ์ไกลๆ ด้วย

           การจัดขบวนรบ

               ทหารราบเบา กับรถ ตั้งแถวอยู่หน้าสุด  จัดเป็นแถวขยาย   ถัดลงมาเป็นทหารราบชนิดหนัก และชนิดกลาง  ยืนเป็นแถวชิด และซ้อนกันหลายชั้น เป็นแนวลึกมากและในแนวนี้  ถ้าทหารในกองทัพต่างชาคิต่างภาษากัน  ก็จะจัดให้เข้าอยู่รวมกันเป็นพวกๆ ไม่ปะปนกัน

                ทหารม้า    จัดแถวเป็นแนวชิดและลึก  อยู่ทาง  ๒ ปีกของทหารราบ

          แนวทหารเดินเท้า กับทหารม้าที่ว่ามาแล้วนี้  บางทีก็จัดให้มีหลายแนว  ซ้อนกันลงมา      บางทีก็มีอีกกองหนึ่ง  เป็นกองหนุนใหญ่ต่างหาก    และพยายามจัดแนวรบให้ยาวกว่าแนวรบของข้าศึกเพื่อโอบปีกข้าศึกได้ง่าย

          วิธีรบ   

               เมื่อกองทัพใกล้จะปะทะกัน    เริ่มด้วยทหารราบเบาโจมตีด้วยการยิงธนู   แล้วรถศึกจึงวิ่งเข้าโจมตีทำลายแนวข้าศึกให้ระส่ำระสาย    เมื่อเห็นว่าแนวข้าศึกเสียขบวนที่ไหน  ทหารราบหนัก ก็เข้าโจมตีซ้ำให้ข้าศึกระส่ำระสายยิ่งขึ้น    ส่วนทหารราบเบา ก็จะใช้หิน หรือหอก ซัดข้ามหัวทหารฝ่ายเดียวกันไปยังแนวข้าศึกที่อยู่ข้างหลัง    และทหารม้าจะเข้าตีปีกทั้งสองข้าง  แล้วเลยโอบปีกไปตีตลบหลัง    หากข้าศึกเริ่มจะถอยย่อมจะรุกไล่ หรือไล่ติดตามตีให้แตกย่อยยับ หรือไล่ไปเสียให้พ้นสนามรบ

           ว่าวิธีรบเสียยืดยาว  แต่ในสนามรบจริงย่อมไม่เป็นไปตามที่แม่ทัพคาดหวังเสมอไม่งั้นก็ไม่มีการแพ้ การชนะ มาให้เราได้ศึกษากัน  ดูเหตุการณ์จริงจากประวัติศาสตร์กันดีกว่า

 

          การศึกษาวิชาการต่างๆ  มักจะมีห้องทดลอง  หรือ สามารถทดลอง ทดสอบ ว่าจะเป็นไปตามคิดคาดหวัง กี่ครั้งกี่คราวก็ได้   แต่ในการศึกษาวิชาทหาร หรือ วิชายุทธวิธี นั้น  ไม่สามารถทดสอบ ทดลองในห้องทดลอง แม้การซ้อมรบ   แม้ในปัจจุบันจะมีเครื่องมือทางไฟฟ้ามาใช้ในการฝึกจำลองยุทะ แต่ก็ไมสามารถใช้ทดลองได้สมบูรณ์   เพราะไม่สามารถใส่ข้อมูลที่เป็นนามธรรมลงไปได้  เช่น  ความกล้าหาญ เสียสละ ขวัญ กำลังใจ การฝึก  ฯลฯ  และในการปฏิบัติดังกล่าวนั้น จะสมมติอย่างไรก็ได้เพราะ ไม่ได้ตายจริง  

          แต่การปฏิบัติจริงในสนามรบ   ชนะจริง  แพ้จริง  ตายจริง  บางครั้ง  การแพ้ หรือ ชนะ อาจจะหมายถึงอนาคตของชาติ หรือของเผ่าพันธุ์ก็ได้  บรรพชนตั้งแต่บรรพกาลที่ได้สละเลือด เนื้อ แม้ชีวิต เปรียบเสมือนเป็นการทดลอง ทดสอบ ยุทธวิธีต่างๆ เป็นบทเรียนให้อนุชนได้ศึกษากันสืบมา

 

ขอน้อมคารวะแด่วิญญาณบรรพชนผู้เสียสละทุกยุค ทุกสมัยทุกสนามรบ  ทุกฝ่าย  ทุกเผ่าพันธุ์  เหล่านั้น 

ขอนับถือ และยกย่องท่านเหล่านั้นเป็นครูตลอดไป

  กรีก

          ในสมัยที่กล่าวถึงกันนี้  (ประมาณครั้งพุทธกาล หรือก่อนคริสตศักราชราวๆ ๖๐๐ - ๕๐๐ ปี)   กรีกยังไม่ได้รวมกันเป็นประเทศ หรือชาติรัฐ (Nation State)  แต่แยกกัน เป็น นครรัฐ    (City  State)    ต่างเป็นอิสระแก่กัน  ในคาบสมุทรกรีก  แต่ละรัฐมีคุณลักษณะ ความสามารถโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์แตกต่างกันไป   เช่น    รัฐเอเธนส์   มีความคิดหลักแหลม เป็นนักปราชฌ์  มีจิตใจเสียสละเพื่อส่วนรวม  เป็นนักเดินเรือ     รัฐสปาร์ตา   รักการต่อสู้  สนใจการฝึกฝนร่างกายให้แข็งแรง ว่องไว อดทนฝึกฝนตั้งแต่ยังเป็นเด็ก อายุ  ๗  ปี   เข้มงวดกวดขันในการฝึก และการดำรงชีวิตมาก    รัฐธีบส์   ไม่มีคุณสมบัติโดดเด่นเช่น รัฐเอเธนส์ หรือรัฐสปาร์ตาร์  แต่บางคราว บางสมัยก็เจริญรุ่งเรืองได้ดวยความสามารถของผู้ปกครองรัฐ     รัฐมาซีโดเนีย    เป็นรัฐทางเหนือ  ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขา  จึงมีความอดทน และความเพียรพยายามสูง   เป็นต้น

 

 

 

           นอกจากนี้    ชาวกรีก ยังได้ขยับขยายทางบกผ่านช่องเฮเลสปอนท์  ซึ่งปัจจุบันเรียกช่องดาดะแนลส์ (Hellespont - Dadanalles)  และทางทะเลข้ามทะเลเอเจียน (Agean Sea)  ออกไปตั้งหลักแหล่ง  ในดินแดนที่เรียกว่า เอเซียไมเนอร์   ซึ่งได้ขยายตัวเป็นเมืองใหญ่  เช่น  ทรอย  (Troy)   มิเลตุส (Miletus) เป็นต้น   และเมืองเหล่านี้เป็นเมืองกรีก     เมืองเหล่านี้จึงเป็นเสมือนดังอาณานิคมของรัฐแม่ในคาบสมุทรกรีก

 

 อาณานิคมกรีกในทะเลเอเจียน และในเอเซียไมเนอร์

 

          ในราวศตวรรษที่  ๗  ก่อนคริสตกาล  อาณาจักรลิเดีย ได้ยึดเอาเมืองกรีกในเอเซียไมเนอร์เข้าไวในอาณาเขตแต่ยังยอมให้ปกครองกันเอง  เพียงแต่ไม่มีอิสระสมบูรณ์

 

เปอร์เซีย

          อาณาจักรเปอร์เซียยุคนั้น มีแสนยานุภาพ และยิ่งใหญ่มาก  สามารถปราบปรามและยึดครองอาณาจักรต่างๆ ไว้ในอำนาจ  เป็นที่ครั่นคร้ามยำเกรงแก่กลุ่มชาติต่างๆ ในย่านนั้น  ยุคนั้น  โดยทั่วไป    มีอาณาเขตกว้างขวาง

               ทิศเหนือจดทะเลดำ  เทือกเขาคอเคซัส  ทะเลสาปแคสเปียน        ทิศใต้  จดอ่าวเปอร์เซีย และทะเลอาระเบียน   

               ทิศตะวันออก  จดแม่น้ำสินธุ และเทือกเขฮินดูกูชในอินเดีย         ทิศตะวันตก  จดทะเลเอเจียน  ข้ามแม่น้ำไนล์เข้าไปในอียิปต์   

     

 

              ในปี  ๕๔๖  ก่อนคริสตศักราช  กษัตริย์ไซรัส (Cyrus) แห่งเปอร์เซียพิชิตอาณาจักรลิเดียได้  จึงได้ครอบครองเหล่าเมืองกรีกในเอเซียไมเนอร์ด้วย   แต่ไม่ยินยอมให้อาณานิคมเหล่านั้นปกครองตนเองเช่นเดิม  และได้จัดระเบียบอาณานิคมกรีกในเอเซียไมเนอร์เป็นมณฑล  และส่งข้าหลวงไปปกครอง      มณฑลเหล่านี้ต้องเสียภาษี และจัดส่งคนสนับสนุนกองทัพเปอร์เซียด้วย    ทำให้อาณานิคมเหล่านี้ไม่พอใจ  แต่ก็ต้องจำยอมอยู่ในอำนาจของเปอร์เซีย

 

 

 

 

 

King of Persia 

<  Cyrus the Great    Darius I the Great  >

 

 

         ประมาณ  ๕๐๐ ปีก่อนคริสตศักราช    เมืองมิเลตุสซึ่งเป็นอาณานิคมที่ร่ำรวยได้เป็นผู้นำอาณานิคมกรีกเป็นกบฏต่อเปอร์เซีย   ฝ่ายเปอร์เซียต้องใช้เวลาปราบปรามอาณานิคมเหล่านี้อยู่ถึง  ๕  ปี  จึงสงบเรียบร้อย  รวมทั้งได้เผาทำลายเมืองมิเลตุสเสียด้วย    และทางเปอร์เซียยังมีความเชื่อและมั่นใจว่า  อาณานิคมที่เป็นกบฏเหล่านี้ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐแม่ในคาบสมุทรกรีก   ซึ่งก็เป็นความจริง   เพราะรัฐเอเธนส์ส่งทหารลงเรือไปช่วยจำนวน  ๕๐ ลำ  และ รัฐเอรีเตรีย บนเกาะยูบัว  (Eretria - Euboea)  ส่งไป  ๕  ลำ

 

          ทางฝ่ายเปอร์เซีย  เมื่อปราบอาณานิคมกรีกในเอเซียไมเนอร์ได้เรียบร้อยแล้ว  กษัตริย์ดาริอุสที่ ๑  (Darius I) แห่งเปอร์เซีย  จึงสรุปว่า   เพื่อเป็นการป้องกันอาณานิคมกรีกเกิดกบฏ หรือท้าทายอำนาจของพระองค์อีก    จำเป็นต้องพิชิตรัฐอิสระของกรีกในทะเลเอเจียน และบนคาบสมุทรกรีกเสียให้สิ้น

 

  สงครามกรีก - เปอร์เซีย    ครั้งที่  ๑   (พ.ศ.๕๐    492 B.C.)

 

        ในปี  ๔๙๒  ก่อนคริสตศักราช  (ประมาณ พ.ศ.๕๐)  กษัตริย์ดาริอุสที่ ๑ แห่งเปอร์เซีย  ให้มาร์โดนิอุส (Mardonius)  เป็นแม่ทัพ  ยกกองทัพข้ามช่องเฮเลสปอนต์ผ่านแคว้นเทรซ (Thrace) ซึ่งเป็นชายฝั่งด้านเหนือทะเลเอเจียน  และเดินทัพทางเรือต่อไปยังคาบสมุทรกรีก    แต่กองทัพที่ยกไปทางเรือถูกพายุใหญ่  เรือส่วนใหญ่ต้องอัปปางที่บริเวณภูเขาแอทโทส (Athos)  จึงต้องเลิกทัพกลับ

สงครามกรีก - เปอร์เซีย    ครั้งที่  ๑  นี้   จึงผ่านไปโดยไม่มีการรบ 

           เมื่อไม่สามารถพิชิตรัฐกรีกได้ด้วยกองทัพ  กษัตริย์ดาริอุสที่ ๑  จึงส่งคณะฑูตไปยังรัฐต่างๆ ของกรีกเจรจาให้ยอมส่งส่วยดิน และน้ำ  ซึ่งเป็นสัญญลักษณ์ของการยอมแพ้และอยู่ใต้อำนาจของเปอร์เซีย    รัฐกรีกหลายรัฐยอมส่งส่วยดังกล่าว  แต่มีบางรัฐไม่ยอม  เช่น  รัฐเอเธนส์  และรัฐสปาร์ตาร์  เป็นต้น

 

 

 สงครามกรีก - เปอร์เซีย    ครั้งที่  ๒    (พ.ศ.๕๒    490 B.C.) หรือ 

สงครามมาราธอน 

          เมื่อการณ์เป็นไปดังว่า   กษัตริย์ดาริอุสที่ ๑ แห่งเปอร์เซียจึงมีดำริที่จะกำหราบรัฐกรีกที่ไม่ยอมเสียให้ราบคาบปราศจากเสี้ยนหนาม 

การเตรียมการของเปอร์เซีย

          กษัตริย์เปอร์เซียจึงสั่งรัฐในอำนาจให้รวบรวมรี้พลสกนธ์ไกรเตรียมการทำสงครามกับรัฐกรีก     ซึ่งรัฐต่างๆ รวบรวมทหารราบได้ถึงสองแสนห้าหมื่น    ทหารม้า   หนึ่งพัน    และเรือมากกว่า  ๖๐๐  ลำ

          กองทัพขนาดมหึมาของเปอร์เซีย  ประกอบด้วยกองทหารเชื้อชาติต่างๆ  เท่าที่พอจะทราบได้ก็มี  ทหารราบจากลุ่มแม่น้ำต่างฟ  ตั้งแต่ แม่น้ำสินธุ ในอินเดีย แม่น้ำโอซุส  แม่น้ำยูเฟรติส  ตลอดถึงจากแม่น้ำไนล์ในอาฟริกา    ชาวเขาจาก ไฮร์คาเนีย และอาฟกานิสถาน    พลธนูผิวดำจากเอธิโอเปีย  ในอาฟริกา  และทหารม้าจากโคราซาน  ในทุ่งสเต็ปป์  ซึ่งทหารม้าเหล่านี้มีกิตติศัพท์เป็นที่เลื่องลือ ในความเก่งกล้าจนเป็นที่ครั่นคร้ามแก่ข้าศึกยิ่งนัก

 

 เปอร์เซียยาตราทัพ 

            ในฤดูร้อน   พ.ศ.๕๒  หรือ  ๔๙๐  ก่อนคริสตศักราช  กษัตริย์ดาริอุสที่ ๑ จึงให้ดาติส  และ อาร์ตาเฟอร์เนส (Datis  Artaphernes) ซึ่งเป็นหลาน  เป็นแม่ทัพยกทัพโยธาไปปราบรัฐกรีกในคาบสมุทรกรีกและมีฮิปปิอัส  (Hippius) ชาวเอเธนส์ ซึ่งถูกขับไล่จากบ้านเกิดเมืองนอนด้วยเหตุผลทางการเมืองร่วมไปในกองทัพเปอร์เซียด้วย

            เพื่อหลีกเลี่ยงภัยธรรมชาติที่เคยประสบเมื่อสองปีก่อน  จึงให้เดินทัพเลียบฝั่งทะเลเมดิเตอเรเนียนเข้าสู่ทะเลเอเจียน   บุกยึดเมืองของกรีกบนเกาะต่างๆ  ส่วนกำลังหลักมุ่งสู่เมืองเอริเตรียบนเกาะยูบัว   เมื่อยึดได้แล้วกองทัพเปอร์เซียก็ใช้เมืองบนเกาะต่างๆ ที่ยึดได้เป็นฐานที่มั่น และส่งกำลังสู่คาบสมุทรกรีกต่อไป

            ฮิปปิอัสแนะนำดาตีสให้นำกองทัพขึ้นบกในแคว้นอัตติกา (Attica) ที่อ่าวมาราธอน (Marathon)    ด้วยเหตุที่ว่า  เมื่อ  ๔๗  ปีก่อนนี้  ตนได้เคยติดตามพิซิสเตรตุส (Pisistratus) ผู้บิดานำกองทัพจากเอรีเตรียมาขึ้นบกที่นี่ และได้รบชนะกองทัพเอเธนส์อย่างง่ายดาย (แคว้นต่างๆ ของกรีกทำสงครามกันเอง)     แต่ฮิปปิอัสหารู้ไม่ว่า  แม้จะเป็นสถานที่เดิม  แต่กาลเวลา  บุคคล  และปัจจัยอื่นๆ ได้แตกต่างไป  คราวนี้กองทัพเอเธนส์จะต้องต่อสู้กับการรุกรานของกองทัพชนต่างเชื้อชาติ ต่างเผ่าพันธุ์และที่สำคัญ  จิตวิญญาณของชาวเอเธนส์ก็เปลี่ยนแปลงไป

 

การเตรียมการของรัฐเอเธนส์

          โดยปรกติแล้ว  รัฐต่างๆ ของกรีกมักจะรบพุ่งกันตามเขตแดนอยู่เสมอ    ดังนั้น  แต่ละรัฐจึงต้องมีกำลังทหารของตนเองเพิ่อป้องกันอาณาเขตของตน    ตามบัญชีรายชื่อของรัฐเอเธนส์ปีนั้น  สามารถเรียกคนเข้าเป็นทหารได้ไม่เกิน  ๓  หมื่นคน    แต่ที่มีอยู่จริงไม่เกิน  ๒  หมื่น    ทั้งนี้ รวมถึงผู้ที่ยังไม่ได้รับการฝึกสำหรับปฏิบัติการรบตามปรกติ และผู้ที่ไม่มีอาวุธด้วย      นอกจากนี้  จะต้องจัดหน่วยที่มีอาวุธดีที่สุดไว้รักษาเมือง และประจำป้อมต่างๆ อีกด้วย

          ดังนั้น    จึงคาดกันว่า  เมื่อได้รับข่าวศึกนั้น รัฐเอเธนส์น่าจะสามารถรวบรวมทหารและจัดเป็นกองทัพที่สามารถทำการรบได้ไม่เกิน  หนึ่งหมื่น  คน

 

Miltiades    แม่ทัพกรีก   >    

 

 ความช่วยเหลือจากรัฐอื่น

          สปาร์ตา    ได้เคยสัญญาว่าจะช่วยรัฐเอเธนส์สู้รบ  แต่เมื่อกองทัพเปอร์เซียขึ้นฝั่งที่อ่าวมาราธอนนั้น  เป็นวันขึ้น  ๖  ค่ำ  ซึ่งตามความเชื่อของชนชาวกรีกยุคนั้น  ต้องรอให้พระจันทร์เต็มดวงเสียก่อน  จึงจะเดินทัพได้    สปาร์ตาจึงยังไม่สามารถส่งกองทหารไปช่วยได้

          พลาตาเอ (Plataea)   รัฐเล็กๆ ในแคว้นโบเอเตีย (Boeatia)  เคยถูกรัฐธีบส์ ซึ่งเป็นรัฐเพื่อนบ้านที่เข้มแข็งกว่าเข้ารุกราน    และได้ขอให้รัฐเอเธนส์ส่งกองทัพไปช่วยเหลือคุ้มครอง    บัดนี้  ได้ข่าวว่ารัฐเอเธนส์กำลังเผชิญกับภัยคุกคามอย่างร้ายแรงที่สุด   รัฐพลาตาเอจึงจัดส่งกองทหารที่มีอยู่ไปช่วยรัฐเอเธนส์  โดยเดินทางไปตามสันเขาด้านใต้ของเทือกเขาไซเรธอน(Mt.Cithaeron) ข้ามแคว้นอัตติกา มุ่งสู่ทุ่งมาราธอนร่วมกับกองทัพเอเธนส์ได้ทันท่วงที ก่อนมีการรบ   (ชาวพลาตาเอ ไม่มีความเชื่อเรื่องว่าต้องรอพระจันทร์เต็มดวงเช่นชาวสปาร์ตา)  กำลังทหารของรัฐพลาตาเอที่ส่งไปช่วยรบที่ทุ่งมาราธอนนี้  มีจำนวน  ๑,๐๐๐ (หนึ่ง พัน)  คน                     

          ถึงแม้ว่ากำลังทหารจากพลาตาเอจะมีจำนวนเพียงน้อยนิด เทียบไม่ได้กับกองทัพมหาศาลของฝ่ายรุกราน    แต่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่น และจิตวิญญาณที่จะมาช่วยเหลือในยามคับขัน    ทำให้ชาวเอเธนส์รู้สึกว่า  ไม่ต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว  ไร้มิตร    นับว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่งสำหรับกองทัพเอเธนส์ 

 

ทุ่งมาราธอน

          อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของแคว้นอัตติกา   เหนืออ่าวมาราธอน    ห่างจากกรุงเอเธนส์ประมาณ  ๒๕  ไมล์   มีลักษณะเป็นครึ่งวงกลม  จากชายฝั่งเป็นที่ราบไปถึงเชิงเขาระยะประมาณ  ๖  ไมล์   กว้างประมาณณ  ๒  ไมล์    สองข้างกระหนาบด้วย  ลำน้ำ  ภูเขา  และหนองน้ำ    รอบทุ่งราบนี้เป็นป่าสน  มะกอก  ซีดาร์  และไม้พุ่มเตี้ยมีกลิ่นหอม

          ความมุ่งหมายของกองทัพทั้งสองที่เผชิญหน้ากันอยู่นั้น    ฝ่ายหนึ่ง  ต้องการชัยชนะเพื่อแผ่ขยายอำนาจ    ส่วนอีกฝ่ายหนึ่ง  ต่อสู้เพื่อความอยู่รอด      เมื่อกาลเวลาผ่านไป   ปรากฏว่า   ผลของการรบคราวนี้  ไม่ได้เป็นแต่เพียงการพ่ายแพ้ หรือชัยชนะของกองทัพ  เท่านั้น    แต่มีผลไปถึงความเจริญก้าวหน้า  และอารยธรรมของมนุษยชาติมาตราบปัจจุบัน 

   Marathon  today              

                 

  การวางกำลังก่อนการรบ

           กรีก    กองทัพเล็กๆ  มีทหารราบจำนวนไม่เกิน  ๑๑,๐๐๐    ไม่มีพลธนู  ไม่มีทหารม้า   ตั้งค่ายอยู่บนเนินเขา  สามารถมองเห็นการเคลื่อนไหวของข้าศึกได้ทุกระยะ

          เปอร์เซีย    กองทัพมีรี้พลมากมายมหาศาล ถึง ๒๕๐,๐๐๐    หลากหลายเชื้อชาติ  ในเครื่องแต่งกายหลากหลายสีสัน  กางเต๊นท์เรียงรายกันอยู่รอบอ่าวมาราธอน

               กองทัพเปอร์เซียนอกจากจะแตกต่างกันในเรื่องดังกล่าวแล้ว  ยังแตกต่างกันในเรื่อง  ภาษา  วัฒนธรรม   ศรัทธา ความเชื่อ  และหลักนิยมในทางทหาร    แต่  กองทัพเปอร์เซีนนั้นคุ้นเคยกับชัยชนะมาครั้งแล้ว ครั้งเล่า แทบกล่าวได้ว่าเป็น กองทัพที่ไม่รู้จักแพ้

 

แผนการรบของทั้งสองฝ่าย

          ฝ่ายกรีกน่าจะต้องพิจารณาวางแผนอย่างมาก เพราะกำลังพลน้อยกว่ายี่สิบห้าเท่า    ในกลุ่มแม่ทัพนายกองกรีกมีความเห็นเป็นสองหนทาง  กลุ่มหนึ่ง  เห็นว่าการตั้งค่ายอยู่บนที่สูงกว่าเป็นการได้ภูมิประเทศที่ได้เปรียบอยู่แล้ว  ควรดัดแปลงภูมิประเทศให้แข็งแรง  และต้านทานการบุกโจมตีอยู่ในที่มั่น รอกองทัพจากสปาร์ตามาเสริมกำลัง  เมื่อฝ่าย
เปอร์เซียเข้าตีไม่สำเร็จและเริ่มอ่อนแรงจึงจะเข้าตีโต้ตอบ      แต่อีกกลุ่มหนึ่งเห็นว่า  ควรรีบเข้าโจมตีเสียก่อนที่ฝ่ายเปอร์เซียจะจัดระเบียบกองทัพและพร้อมรบเต็มที่ 

          แต่การที่จะเป็นฝ่ายเข้าโจมตีก่อน  เป็นการปฏิบัติที่มีความเสี่ยงสูงยิ่ง  เพราะนอกจากกองทัพเปอร์เซียจะมีจำนวนมากกว่าถึง ประมาณ  ๒๕ เท่าแล้ว   ยังมีพลธนู  ซึ่งสามารถยิงโจมตี แถวหลังๆ   และทหารม้า ซึ่งสามารถโอบปีกเข้าโจมตีด้านหลังของกองทัพกรีกได้ 

          ดังนั้น    ฝ่ายกรีกจึงต้องพยายามเอาชนะทางปีกให้ได้ก่อน  ก่อนที่ส่วนกลางจะปราชัยเสียก่อน  หรือ  ก่อนที่จะถูกทหารม้าเปอร์เซียโอบหลังและ ทำลายกองทัพกรีกเสีย    เมื่อเอาชนะด้านปีกได้แล้ว  รีบโอบเข้าด้านหลังกองทัพเปอร์เซีย  อย่างรวดเร็ว  

แต่ในความเสี่ยงนี้ต้องอาศัยอำนาจกำลังรบที่ไม่มีตัวตน  คือ  ขวัญ กำลังใจ  ความเสียสละ  ความกล้าหาญอย่างยิ่งยวด 

          ส่วนทางฝ่ายเปอร์เซียนั้น     เนื่องจากมีกำลังมากกว่ามาก  และเคยชินต่อชัยชนะ  ทำให้พิจารณาได้ว่า  แม่ทัพเปอร์เซีย แทบจะไม่ต้องวางแผนเป็นพิเศษเลย  นอกจากรอให้กองทัพกรีกเป็นฝ่ายเข้าตีก่อน และแตกสลายไปเอง

 

การรบ

          แม่ทัพกรีกสั่งการให้จัดกองทัพเพื่อทำการรบดังนี้         

               ขยายแนวออกไปทั้งสองปีก  และวางน้ำหนักให้ปีกทั้งสองข้าง   กำลังจากพลาตาเออยู่ซ้ายสุด

               จัดกำลังตอนกลางอย่างเบาบาง เนื่องจาก เป็นส่วนที่ล่อแหลม  เสี่ยง และสำคัญที่สุด  จึงจัดให้นายทัพผู้เข้มแข็งอยู่ควบคุม     แต่แนวรบของกรีกประกอบด้วยทหารราบหนักเท่านั้น

          ทันทีที่จัดรูปขบวนรบเสร็จ    แม่ทัพกรีกสั่งการให้เริ่มโจมตีทันที  (หลักฐานบางแห่งว่าฝ่ายเปอร์เซียยังไม่พร้อม)   

 

          การรุกเข้าหาข้าศึกในขั้นต้นเป็นไปอย่างช้าๆ  จากที่ตั้งซึ่งห่างกันประมาณ  ๑  ไมล์    เมื่อเคลื่อนที่เข้าถึงระยะธนูของฝ่ายเปอร์เซีย  (ประมาณ  ๒๐๐  หลา)    ฝ่ายกรีกเริ่มเร่งความเร็ว  จนเป็น วิ่งเข้าหาข้าศึก  (เพื่อลดอันตรายจากธนูของฝ่ายเปอร์เซีย)

 

 

 

 

            ทางฝ่ายเปอร์เซียประหลาดใจที่เห็นฝ่าย กรีกพยายามวิ่งเข้าตี   จึงรีบจัดแนวรบอย่างรีบด่วน   วางทหารราบไว้ย่านกลาง   และวาง ทหารม้า  และพลธนู  ไว้ทางปีกทั้งสอง

          เมื่อใกล้จะปะทะกัน    แนวฝ่ายกรีกเริ่มโค้ง  เพราะตอนกลางต้องต้องผ่านภูมิประเทศที่ยากลำบากกว่าด้านปีก  จึงไม่สามารถรักษาแนวให้เสมอกับปีกทั้งสองได้

          ฝ่ายเปอร์เซียจึงให้ทหารม้าจากปีกทั้งสองด้านเข้ามาป้องกันหน้าแนวทหารราบตอนกลาง   และพยายามยัน และผลักดันตอนกลางของกรีกให้ถอยไปได้  และพยายามเร่งที่จะให้ได้ชัยชนะและขยายผลต่อไปให้ได้

          แต่ปีกทั้งสองข้างของฝ่ายกรีกก็มั่นคง  และสามารถเอาชนะปีกของฝ่ายเปอร์เซีย  และโอบเข้าตีด้านหลังของเปอร์เซียได้ในเวลาที่เหมาะเจาะ  ในขณะที่ตอนกลางของฝ่ายกรีกก็สามารถยันฝ่ายเปอร์เซียไวได้อย่างเหนียวแน่น  ไม่แตกพ่าย   จึงทำให้พื้นที่การรบแคบลงไปอีก

 

การสูญเสีย

            ฝ่ายเปอร์เซียถูกจู่โจมด้วยการเข้าตีในรูปแบบที่ไม่เคยประสบมาก่อน    กองทัพอันใหญ่โตถูกจำกัดให้อยู่ในพื้นที่แคบ  ไม่สามารถใช้กำลังรบให้เป็นประโยชน์ได้อย่างเต็มที่  จึงปราชัยอย่างง่ายดาย    ตามหลักฐานว่าต้องสูญเสียทหารเป็นจำนวน  ๖,๔๐๐  คน  ส่วนที่เหลือสามารถถอยลงเรือกลับไปได้   

          ฝ่ายกรีก  สูญเสีย  ๑๙๒  คน

 

 

 แต่สิ่งที่กรีกได้รับจากทุ่งมาราธอนในวันนั้น    มิใช่เพียงแต่ชัยชนะทางยุทธวิธี และรอดพ้นภัยจากกองทัพเปอร์เซียเท่านั้น

แต่ยังทำให้ชาวกรีกทั้งมวลมั่นใจ  และเลิกเข็ดขยาดหวาดกลัวกองทัพเปอร์เซียอีกต่อไป

ในด้านการทหาร แม่ทัพกรีกยังได้รับบทเรียนจากการโอบสองปีกอีกด้วย 

 

 

สงครามกรีก - เปอร์เซีย    ครั้งที่  ๓    (พ.ศ.๖๒   481 B.C.)

           หลังจากการศึกที่ทุ่งมาราธอน    แผ่นดินกรีกอยู่อย่างปลอดภัยในช่วงหนึ่ง เพราะ กษัตริย์ดาริอุสที่ ๑  แห่งเปอร์เซีย ต้องยุ่งอยู่กับการกบฏในอียิปต์    แต่ พระองค์สิ้นพระชนม์  ปี ๔๘๖ ก่อนคริสตศักราช   เจ้าชายเซอร์เซส  พระโอรส  ได้สืบราชสมบัติเป็นกษัตริย์เซอร์เซส ที่  ๑  (Xerxes I)  ซึ่งได้สืบทอดดำริของพระบิดา  เตรียมการศึกกับรัฐกรีกต่อไป     กษัตริย์เซอร์เซส ที่  ๑  ได้จัดการรวบรวมกองทัพอยู่ถึง  ๔  ปี    และดำริจะเดินทัพไปทางบก ขึ้นเหนือ  ทำสะพานข้ามช่องเฮเลสปอนท์  แล้วเดินทัพอ้อมมาตามชายฝั่งทะเลเข้าสู่คาบสมุทรกรีก   มีกองเรือเพื่อป้องกันตามชายฝั่งด้วย    กองทัพเปอร์เซียครั้งนี้ กล่าวกันว่ามีจำนวนถึง  ๒  ล้าน  ๓  แสน  เศษ

 

 

         ในระหว่างนี้     เธมิสโตคลีส  (Themistocles) รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของเอเธนส์  ได้แสดงเหตุผลให้เห็นว่า  อนาคตของเอเธนส์ขึ้นอยู่กับอำนาจทางทะเล และสามารถโน้มน้าวให้ประชาชนในรัฐเอเธนส์เห็นชอบในการที่นำเงินจากเหมืองที่พบใหม่ในลอเรียน  (Laurion)  ใช้ในการเสริมสร้างกองทัพเรือให้แข็งแกร่ง     เอเธนส์อยู่ในที่ตั้งเหมาะกว่ารัฐกรีกอื่นๆ ที่จะต่อต้านการรุกราน     ทางรัฐสปาร์ตา  เริ่มมีชื่อเสียงลือในด้านการทหาร

            อย่างไรก็ตาม    การเตรียมการของกษัตริย์เซอร์เซส ที่  ๑ ไม่สามารถปกปิดไว้ได้    และยิ่งกว่านั้น เป็นไปได้อย่างสูงว่าเปอร์เซียก็หวังผลในการโฆษณาความเกรียงไกร เข้มแข็ง ยิ่งใหญ่ของกองทัพตนเพื่อผลในทางจิตวิทยา เป็นการข่มขวัญข้าศึกด้วย

 

  <  เธมิสโตคลีส                            กษัตริย์เซอร์เซส ที่  ๑  > 

 

 

 

          ใน ปี ๔๘๑  ก่อนคริสตศักราช  กองทัพเปอร์เซีย  เริ่มเคลื่อนทัพจากเอเซียไมเนอร์   ด้วยกำลังอย่างน้อยที่สุด  ๑๘๐,๐๐๐   เรือรบ  ๖๐๐  ลำ   สนับสนุนด้วยเรืออื่นๆ อีก   ๓,๐๐๐ ลำ    ในการทัพครั้งแรก  กองทัพเปอร์เซียเคลื่อนทัพทางบก    ครั้งที่สอง  ใช้ทางทะเลเป็นหลัก    ซึ่งให้มีเหตุขัดข้องต้องปราชัยเสียทั้งสองครั้งสองครา    ในคราวนี้  เพื่อป้องกันความผิดพลาดมิให้เกิดขึ้นอีก   กษัตริย์เซอร์เซส ที่  ๑  จึงใช้การดินทัพทั้งสองทาง คือทั้งทางบก  และทางน้ำเพื่อเอาชนะรัฐกรีกไว้ในอุ้งมือให้จงได้ 

 

           ฝ่ายรัฐกรีกทั้งหลายเมื่อได้รับทราบข่าวศึก  ต่างทิ้งความบาดหมางระหว่างกัน  ร่วมมือกันจัดตั้งสหพันธรัฐกรีก (League  of  the  Greeks) เพื่อรวมพลังเตรียมต่อสู้กับกองทัพเปอร์เซีย      จะรวมกำลังไว้ที่ใดจึงจะเหมาะ ?    ขั้นแรกมีการเสนอให้รวมกำลังไว้ที่คอคอดคอรินท์  (Isthmus of Corinth)    แต่แผนนี้ไม่เหมาะสม  เนื่องจากเป็นการละทิ้งคาบสมุทรกรีกตอนกลาง และตอนเหนือ      ทางเลือกอื่นที่ได้ตกลงเลือกกันคือ   เคลื่อนที่ไปข้างหน้า (ทางทิศเหนือ)  และสกัดกั้นกองทัพเปอร์เซียทางบก ที่ช่องทางผ่านเทิอกเขาทางเหนือ    ในขณะที่  กำลังทางเรือผสมของกรีกต้องพยายามดึงกองเรือของเปอร์เซียเข้ามาในพื้นที่จำกัด

 

 

  

 

 

 

 

 

 

 

   

 

 

 

          ลีโอนิดัส (Leonidas)  ผู้นำสปาร์ตา นำกำลังทหารสปาร์ตา   ๓๐๐ คน  ขึ้นเหนือไปยึดช่องเขาเทอร์โมพิเล (Thermopylae) โดยรัฐต่างๆ ส่งกำลังมาร่วมด้วยอีก  ๖,๐๐๐  

             ส่วนกองเรือพันธมิตรกรีก  เลือกใช้น่านน้ำอาร์ทีมิซีอุม  (Artemisium)  เป็นพื้นน้ำทำการรบ

             แผนของกรีกได้ผลดีในตอนแรก  ฝ่ายเปอร์เซียไม่สามารถทำอะไรต่อที่มั่นที่เทอร์โมพิเลได้    ฝ่ายเปอร์เซียจึงพยายามใช้กองเรือล้อมเกาะยูบัว  เพื่อเป็นการสกัดกองเรือฝ่ายกรีกให้อยู่ในช่องยูบัว   แต่ก็โชคร้ายกองเรือเปอร์เซียถูกพายุทำลายอีก 

 

 

 

 

 

 

 

  การรบที่ช่องเขาเทอร์โมพิเล        

          ท่านว่า    ลีโอนีดัสได้ต่อสู้ต้านทานกองทัพเปอร์เซียอยู่ได้เป็นหลายวัน  เพราะภูมิประเทศเกื้อกูลแก่ฝ่ายตั้งรับ

           ทางฝ่ายเปอร์เซียส่งคนออกหาเส้นทางบนเขาได้    จึงส่งกองทหารไปตามทางบนเขานั้น    สามารถอ้อมไปล้อมฝ่ายกรีกได้

          ลีโอนีดัสเห็นว่าหากจะถูกล้อมดังนี้  ต้องเป็นอันตรายอย่างแน่แท้   จึงให้ทหารจากเมืองอื่นที่ยังมาไม่ถึงให้กลับไป  คงเหลือแต่ทหารสปาร์ตา เท่านั้น

           ลีโอนีดัส และทหารสปาร์ตาทั้ง  ๓๐๐  ท่าน สู้รบกับทหารเปอร์เซียอย่างกล้าหาญยิ่งยวด ว่ากันว่าขนาดดาบหลุดจากมือแล้ว ท่านยังคงสู้ด้วยมือเปล่า   แต่ . . . ในที่สุดลีโอนีดัส และทหารสปาร์ตาทั้ง  ๓๐๐   ก็ได้พลีชึพที่ช่องเขาเทอร์โมปิเลนั้น  ทั้งสามร้อย     และ  กองทัพเปอร์เซียก็ มุ่งสู่ . . . เอเธนส์ 

 

 

 

  การรบทางเรือที่ซาลามิส 

            เธมิสโตคลีส   มีแนวคิดที่จะทำการรบทางทะเลและบังคับให้ข้าศึกต้องล่าทัพไปทางบก   โดยมีแผนที่จะล่อให้กองเรือเปอร์เซียเข้ามาในน่านน้ำซาลามิส แล้วปิดล้อมซึ่งกองเรือกรีกจะได้เปรียบเพราะเป็นการรบในช่องแคบ  จะใช้ความสามารถในการรบชดเชยในเรื่องจำนวนที่น้อยกว่าได้     เพื่อให้แผนนี้สำเร็จ  เธมิสโตคลีสเสี่ยงปล่อยด้านหลังช่องโดยไม่มีการระวังป้องกัน    ขณะเดียวกันก็ส่งทาสซึ่งไว้ใจได้ให้แสร้งเข้าข้างเปอร์เซีย ให้ข่าวสารว่า กองเรือพันธมิตรกรีกหวาดกลัว และไม่ลงรอยกันเอง ทั้งยังเตรียมการออกจากการสู้รบด้วย     กษัตริย์เซอร์เซสซึ่งมุ่งมั่นที่จะทำลายกองเรือกรีกอยู่แล้ว  เมื่อได้ข่าวสารนี้ก็มั่นใจยิ่งขึ้น       จึง  . . .  เป็นไปดังที่ เธมิสโตคลีสได้คาดหวังไว้    กองเรือเปอร์เซียรีบติดตามกองเรือกรีกอย่างมั่นใจ . . . อย่างมั่นใจ . . . ตามเข้าไป  อย่างมั่นใจ   แต่ . . . เข้าไปในพื้นที่อันจำกัด    

         กษัตริย์เซอร์เซสให้เรือจากอียิปต์จำนวน ๒๐๐ ลำ อ้อมเกาะซาลามิส เพื่อสกัดด้านตะวันตกของช่องแคบ  ขณะที่กองเรือที่เหลือจัดรูปขบวนข้ามปากทางด้านตะวันออกทั้งสองช่องและเข้าไปสู่พื้นน้ำแคบๆ  (ภาพ   4c)    กองเรือเปอร์เซียซึ่งจำนวนมากกว่ากองเรือกรีกมากนัก แต่อยู่ในที่จำกัด  ไม่สามารถใช้ตวามสามารถในการรบได้เต็มที่   จึงเหมือนกับถูกตรึงติดอยู่กับที่ในพื้นน้ำอันจำกัดนี้      แต่ด้านกองเรือกรีก ซึ่งใช้เรือขนาดใหญ่กว่า  แต่จำนวนเรือน้อยกว่า จึงสามารถดำเนินกลยุทธได้ง่ายกว่า   เรือเอเธนส์  (Trireme)  พายชิดเรือเปอร์เซียเบียดทำลายพายของเรือเปอร์เซียเสียด้านหนึ่งทำให้ควบคุมเรือไม่ได้ แล้วก็พุ่งเข้าชนกลางลำเรือเปอร์เซียนั้น    ทรีรีมกรีกเคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็วในหมู่เรือข้าศึก     

 

 

 

 

 

  หลังจากผ่านไป  ๗ - ๘ ชั่วโมง  การรบก็ยุติ

ท้องน้ำเต็มไปด้วยทรากเรือ     ชายฝั่งเต็มไปด้วยทรากศพ 

กองเรือของกษัตริย์เซอร์เซสกลายเป็นเศษไม้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Greek  Trireme                                                                                                    Greek  Fleet

 

การรบทางเรือที่ซาลามิสเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของกรีก   และมีผลสรุปที่สำคัญยิ่ง  คือ 

               ในทางยุทธวิธี    แสดงให้เห็นคุณค่าของการจู่โจม และความสำคัญของการดำเนินกลยุทธ

               ในทางยุทธศาสตร์    ไม่เพียงแต่ทำลายอำนาจทางทะเลของเปอร์เซียเท่านั้น  แต่ยังเป็นสิ่งที่ปลุกขวัญกำลังใจที่ดีมากแก่ชาวกรีก   ทำให้ชาวกรีกหายหวาดหวั่นครั่นคร้ามเปอร์เซียอีกต่อไป     ส่วนเอเธนส์นั้นมีบทบาท และอำนาจทางทหารอย่างโดดเด่น

 

          เมื่อกองเรือปราชัยเสียแล้ว  กษัตริย์เซอร์เซสก็ไม่สามารถพิชิตรัฐกรีกได้ด้วยกำลังผสม    ยิ่งไปกว่านั้น   อาณาจักรเปอร์เซียอันกว้างใหญ่แต่ไม่เหนียวแน่นก็อาจเกิดกบฏ และแตกสลาย    พระองค์รวบรวมเรือที่เหลืออยู่ ปรับขนาดกำลังทางบกเสียใหม่    พิจารณาพิเคราะห์การปฏิบัติต่อไปอย่างรอบคอบ   ทั้งยังต้องคอยระวังการกบฏ    ในที่สุด    ได้วางกำลังไว้ในคาบสมุทรกรีกจำนวนหนึ่งแสนสองหมื่น   และมอบให้มาร์โดนิอุส  (Mardonius)  บุตรเขย เป็นแม่ทัพต่อไป 

 

Plataea  -  The  final  major  battle  of  the  Greco - Persian  Wars

          มาร์โดนิอุสเลือกการถอยเข้าไปในแคว้นเทสซาลี (Thessaly)   ในฤดูหนาว    เมื่อหมดฤดูหนาวแล้วมาร์โดนิอุสก็จะนำทัพมุ่งลงใต้เตรียมทำศึกกับกรีกต่อไปอีก

          ทางฝ่ายกรีก    หลังจากได้พิจารณาถกแถลงกันอย่างกว้างขวาง  สรุปได้ว่า  จะต้องเข้ารุกต่อกองทัพเปอร์เซียของมาร์โดนิอุสนี้เสียบ้าง    ปรากฏว่า  รัฐกรีกรวบรวมรี้พลสกลไกรได้  ๘  หมื่น  เป็นทหารราบล้วนๆ  ไม่มีทหารม้า  ให้ปัวซานิอัส (Pausanias)  แม่ทัพสปาร์ตาเป็นแม่ทัพ   นำกองทัพกรีกขึ้นเหนือ . . . สู่   พลาตาเอ  ( Plataea)

 

 

  

         กองทัพทั้งสองเผชิญหน้ากัน  ได้  ๘  วัน  กองทัพกรีกต้องการได้อยู่ในภูมิประเทศที่ได้เปรียบ    และฝ่ายเปอร์เซียก็หวังที่จะใช้ทหารม้าตีโต้ตอบ       แต่ในสนามรบสิ่งที่ไม่คาดคิดอาจจะเกิดขึ้นได้เสมอ    มาร์โดนิอุสได้รับรู้การย้ายที่ตั้งของฝ่ายกรีก   จึงสั่งให้เข้าโจมตี      ทหารกรีกสู้รบอย่างกล้าหาญยิ่ง    ปัวซานิอัส ส่งกำลังเข้าตีโต้ตอบ    ผลของการรบคงต้องเป็นเรื่องที่ต้องสงสัยอยู่นาน    จนกระทั่งมาร์โดนิอุสถูกสังหารในการรบ    กองทัพเปอร์เซียส่วนใหญ่ขาดการควบคุม และบังคับบัญชาที่มีประสิทธิภาพ  จึง พ่ายแพ้อย่างราบคาบ     กำลังส่วนที่รอดชีวิตต้องล่าถอยขึ้นไปทางเหนืออย่างรวดเร็ว

 <   Pausanias                                                       Mardonius   >

 

 หากจะกล่าวว่า       ซาลามิสเป็นจุดเปลี่ยนของสงคราม 

พลาตาเอ  ก็เป็นชัยชนะ   และ 

ปี ๔๘๐ - ๔๗๙ ก่อนคริสตศักราช ก็เป็นปีแห่งการพิพากษาสงครามกรีก - เปอร์เซีย   เป็น

 The  final  major  battle  of  the  Greco - Persian  Wars

 

การที่พระเจ้ากรุงเปอร์เซียได้กรีธาทัพไปแคว้นกรีก  หมายจะแผ่อำนาจรวบรวมแคว้นต่างๆ ของชาวกรีกบนคาบสมุทรกรีกไว้ในอาณาเขต  โดยเริ่มยกทัพโยธาไปเป็นครั้งแรก ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ.๕๐   หรือ  ๔๙๒ ปีก่อนคริสตศักราช        จนกระทั่ง พ.ศ.๖๓ - ๖๔   หรือ  ๔๘๐ - ๔๗๙  ปี ก่อนคริสตศักราช  สิ้นทรัพย์สินในท้องพระคลังไปมากมาย  นำผู้คนทั้งชาวเปอร์เซีย และชนชาติต่างๆ ที่อยู่ใต้อำนาจไปบาดเจ็บล้มตายเสียก็มาก   แต่ก็ไม่สมประสงค์

          ในช่วงเวลาสิบกว่าปีที่เกิดสงครามดังว่ามาแล้ว    หากได้ศึกษาพิจารณาวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนแล้ว   จะเห็นว่า  

          การที่กรีก สามารถมีชัยชนะได้เนื่องจากมีการใช้กลยุทธต่างๆ พลิกแพลง  อย่างที่ข้าศึกคาดไม่ถึง  คือ การจู่โจม  ประกอบกับ การมีขวัญ และกำลังใจในการรุกรบ    การอุทิศตนในการรบ  คือความกล้าหาญ และเสียสละ   ซึ่งเป็นพลัง หรืออำนาจกำลังรบที่ไม่มีตัวตน  สามารถชดเชยจำนวนทหารหรือเครื่องมือรบอื่นๆ  ซึ่งเป็นอำนาจกำลังรบที่มีตัวตนได้และการที่กองทัพกรีกมีคุณสมบัติเช่นนี้ก็เพราะเป็นกองทัพทหารกรีกล้วนๆ ต่างรบเพื่อปกป้องบ้านเกิดเมืองนอนของตน

           ส่วนทางเปอร์เซีย นั้น   เป็นกองทัพใหญ่มีรี้พลสกลไกรมากมายมหาศาลเพียงใดก็ตาม  แต่ไม่มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน  เพราะจัดมาจากชนเชื้อชาติต่างๆ  ไม่มีความมุ่งมั่นที่จะรบเพื่อชัยชนะ   และอีกประการหนึ่ง    กองทัพเปอร์เซียออกไปรบห่างไกลจากอู่ข้าวอู่น้ำของตน การสนับสนุนเป็นไปอย่างยากลำบาก   และ อาณาจักรเปอร์เซียเจริญแล้วอย่างมาก  . . .  มากจนน่าจะถึงที่สุด . . .  จึงถึงกาลเวลาที่จะเปลี่ยนแปลง  

          ผลจากการที่กรีกสามารถยืนหยัดเอาชนะเปอร์เซียได้นี้  เป็นโอกาสให้ชนชาวกรีก เกิดความมุ่งมั่น  ความริเริ่ม สร้างสรรค์ในศิลปวิทยาการต่างๆ   จนเป็นรากฐานของยุโรปในกาลต่อมา   และเมื่อกรีกไม่มีภัยสงครามจากรัฐอื่นแล้ว  รัฐกรีกต่างๆ ก็แข่งขันกันเอง ในด้านต่างๆ   จน  ถึงขั้น . . . รบกันเอง

        

 . . . ครับ . . .  ผมจะหาโอกาสมาเล่าตอนที่กรีกรบกันเองบ้าง   ตอนนี้เสร็จศึก  กรีก - เปอร์เซีย แล้ว  ครับ

 

 

 

 

บรรณานุกรม :

          -  พงษาวดารยุทธศิลปะ    นายพลเอก  สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ  เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ  กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ    พิมพ์ครั้งที่ ๑   ในพระพุทธศักราช  ๒๔๕๙

          - เอกสารอัดสำเนาวิชาประวัติศาสตร์การสงคราม  กองวิชาสรรพาวุธและประวัติศาสตร์การสงคราม  โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า    พ.ศ.๒๕๐๔

               - ANCIENT  AND  MEDIEVAL  WARFARE     USMA    DEPARTMENT  OF  HISTORY    1973

               - ส่วนข้อมูล และรูปภาพ ส่วนหนึ่งได้นำมาจาก เว็ปไซต์ ต่างๆ ทำให้เรื่องสมบูรณ์และน่าอ่านยิ่งขึ้น  จึงขอขอบคุณไว้  ณ  ที่นี้   แลหากท่านที่มีข้อมูลที่แตกต่าง  หรือมีข้อคิดเห็น คำแนะนำ ขอโปรดแจ้งให้ทราบเพื่อจะได้ตรวจสอบ และดำเนินการ เพื่อประโยชน์แก่ผู้สนใจโดยทั่วไป
 




ประวัติศาสตร์สงคราม กรีก โดย สัมพันธ์

อเล็กซานเดอร์มหาราช : สู่ตะวันออก
อเล็กซานเดอร์มหาราช : เริ่มลมเหนือ
สงคราม กรีก - กรีก



1

ความคิดเห็นที่ 1 (276)
avatar
โรจน์ จินตมาศ
เป็นบทความที่สมบูรณ์ทั้งเนื้อหาและภาพประกอบ ถ้ายังไงขอเชิญชวนคุณ samphan ช่วยใส่ข้อมูลใน Profile ไว้สักนิดนะครับ ขอบคุณมาก
ผู้แสดงความคิดเห็น โรจน์ จินตมาศ (webmaster-at-iseehistory-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2008-10-02 16:19:30 IP : 61.7.253.227


ความคิดเห็นที่ 2 (277)
avatar
samphan
ขอบคุณครับ    ผมเป็น ลูกแม่รำเพย ๘๙๓๑  รุ่น  ๐๔ - ๐๖  อ.สายสวาท  รัตนทัศนีย์  บรรณารักษ์ ให้ช่วยงานท่านอยู่ปีหนึ่งได้เห็นหนังสือ พงศาวดารยุทธศิลปะ ของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ เลยไปหาซื้อจากท้องนสามหลวงมาได้เล่มหนึ่ง  ก็พอได้อ่านเล่นๆ น่ะครับ  หากคุณโรจน์  เห็นอะไร ควรแนะนำก็ช่วยแนะนำด้วย นะครับ  ขอบคุณไว้ล่วงหน้า  ด้วย
ผู้แสดงความคิดเห็น samphan (samphan_chaeng-at-hotmail-dot-com) ตอบโดยสมาชิกวันที่ตอบ 2008-10-03 01:23:05 IP : 125.25.147.58


ความคิดเห็นที่ 3 (296)
avatar
Pack
เป็นผลงานที่ผมอายุ 13 ปี ชอบ มานานโดยเฉพาะ ชาว กรีก เราสู้กันเป็นกลุ่มไม่มีใครตีแตก  ข้าคือนักรบ Sparta
ผู้แสดงความคิดเห็น Pack (Pack_clupza-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2009-04-01 10:33:49 IP : 222.123.51.25


ความคิดเห็นที่ 4 (297)
avatar
สัมพันธ์

ดีครับ  ทีชอบประวัติศาสตร์  แต่ก็ต้องไม่ทิ้งวิชาอื่น  ชั่งน้ำหนักให้ดี  ระหว่าง  วิชาที่ชอบ  กับวิชาสำคัญที่จำเป็น  ผู้ปกครอง และ ครู จะมีคำแนะนำที่ดี

กรีก เป็นผู้นำอารยธรรมตะวันตก  และแผ่เข้ามาในซีกโลกตะวันออกของเราด้วย  เช่น การสร้างพระพุทธรูป  เป็นต้น  

ตะวันออกเราก็มีอารยธรรม และเทคโนโลยีไม่แพ้เขา  แต่สัญชาตญาณในการทำลายล้างต่ำ  จึงมักจะเอามาใช้ในการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่นประทัด  แต่ทางตะวันตกเอาดินระเบิดไปใช้เป็นอาวุธ  ฯลฯ

ความเจริญของกรีก ก็ต้องเสื่อมไปเป็นธรรมคาของโลก  และมีหลายอาณาจักรที่ล่มสลายไปจากโลกนี้  น่าสนใจครับ    ผม รู้ประวัติศาสตร์โลกเท่าที่เรียนคามความจำเป็น   เท่านั้น   แต่หากอยากรู้เรื่องอะไร  ก็บอกไป  หากรู้ก็พอจะเล่าสู่กันได้บ้าง   

ขอให้คิดดี และทำอย่างที่คิด   มีความสุขในการเรียน ประสบความสำเร็จดังปรารถนา  และโชคดี ด้วย 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น สัมพันธ์ วันที่ตอบ 2009-04-02 20:58:47 IP : 125.25.149.141


ความคิดเห็นที่ 5 (300)
avatar
~"~พริกหวาน

อยากได้เรื่องของตำนานดาบ คิง อาเธอร์ ค่ะ

เนื้อเรื่องย่อ  สมัยที่เกิดเหตุการณ์  แผนที่  สถานที่เกิดเหตุ 

ผู้แสดงความคิดเห็น ~"~พริกหวาน (oil_mickeyjung-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2009-04-26 12:44:51 IP : 125.26.127.188


ความคิดเห็นที่ 6 (301)
avatar
samphan
ครับ  จะดูให้ครับ
ผู้แสดงความคิดเห็น samphan (samphan_chaeng-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2009-04-28 04:25:03 IP : 125.25.139.113


ความคิดเห็นที่ 7 (318)
avatar
yaos

นี่ก๊อ..........สุดยอด........... อีกแล้วค่ะ  ...........ชอบมากๆๆๆๆๆๆๆๆ  ............ใช้คำว่า .........สุดยอด.........ไม่มากไปหรอกค่ะ

เพราะว่า............ทั้งเนื้อหาเข้มข้น  รายละเอียดเยอะมาก   ขยันหาข้อมูลจริงๆ เลยนะคะ  ยอมรับว่าเก่งจริง ๆ.......ผู้เชี่ยวชาญโดยแท้........     แถมยังมีรูปภาพสวย ๆ   และมีแผนที่อีกต่างหาก  ทำให้ประวัติศาสตร์น่าอ่านและเข้าใจง่ายยิ่งขึ้น   ...........ขอบอกว่า........ตั้งแต่อ่านบอร์ดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์โบราณมา ........  อ่านจนตาแฉะแล้วแฉะอีก  เห็นมีอยู่แค่  2-3  บอร์ดเท่านั้นแหละค่ะ  ที่มีเนื้อหาสาระ  ไม่ผิดหวังที่เข้ามาอ่านเลยจริง ๆ   ......อย่างเช่นบอร์ดนี้........นับถือค่ะ  นับถือ...........ชอบแนวนี้มั่ก ๆๆ  โดยเฉพาะ.........อียิปต์   เปอร์เซีย   บาบิโลเนีย อัสซีเรีย  ฮิตไทต์.........ไปนู่นนน.......(แฮะๆๆ  แบบว่า  ของไทยน่ะ  เรียนมาตั้งแต่เด็กแย้ว  เลยอยากเปลี่ยนบรรยากาศมั่งง่ะ......แต่ขอบอก....อีกที.......รักประเทศไทย  สุด ๆ ค่ะ)........ตอนนี้กำลังบ้าสะสมหนังสือแนวนี้อยู่  มีหนังสืออะไรที่น่าสนใจ  มาแนะนำบ้างนะคะ......หรือถ้าออกหนังสือก็บอกกันบ้างนะ  จะรีบไปอุดหนุนค่ะ...........

ขอบคุณสำหรับความกรุณาที่สร้างสรรค์บอร์ดดีเยี่ยมแบบนี้  ไว้สำหรับคนที่อยากหาความรู้ (เพราะความรู้น้อย)อย่างเรา  สู้ ๆ ต่อไปค่ะ        ขอโทษนะคะที่ใช้พื้นที่บอร์ดไปเยอะ    ปรกติไม่ชอบเม้นหรอกค่ะ  เพราะเน็ตล่มบ่อย  นี่ก็พยายามส่งมาหลายรอบแล้วตั้งแต่เมื่อคืนแน่ะ   (บอร์ดดีๆ แบบนี้ไม่เม้นไม่ได้แล้วค่ะ)........ คนทำจะได้มีกำลังใจ  และได้รู้ว่ามีคนสนใจและชื่นชมบอร์ดของท่านอยู่......บันทึกไว้เป็น   favorites  เลยนะเนี่ย  (อิ อิ ......กลัวหาไม่เจอน่ะ) ............   อ้อ ! เกือบลืมแน่ะ  เรื่อง..... ตับ ..... ที่แนะนำจะหาเวลาว่างเข้าไปอ่านนะคะ   ขอบคุณค่า   ขอบคุณ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น yaos วันที่ตอบ 2009-06-07 00:05:10 IP : 202.139.223.18


ความคิดเห็นที่ 8 (330)
avatar
สัมพันธ์

          ขอบคุณมากครับ  แต่ขออย่าให้สุดยอดเลย  เพราะทั้งสุด และ ยอดนั้น  มันไม่มีที่ไปอีกแล้ว     ปัจจุบันดูเหมือนหนังสือประเภทที่ว่าจะมีมาก   

          ขอบคุณอีกครั้งครับ  จะพยายามหาเรื่องเอามาลง  ตอนนี้กำลังทำ ตับ"อยุธยายศล่มแล้ว    ลอยสวรรค์  ลงฤๅ" อยู่  (ขาดตอนไปนานแล้ว)  จบตับนี้แล้ว  จะดูประวัติศาสตร์โบราณนะครับ

          อย่านอนดึกนักนะครับ    รักษาสุขภาพไว้ก่อน

                                                                                                       

ผู้แสดงความคิดเห็น สัมพันธ์ (samphan_chaeng-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2009-06-17 21:47:20 IP : 125.25.118.225


ความคิดเห็นที่ 9 (339)
avatar
Hedgehog

สวัสดีค่ะ ชอบเรื่องราวที่เอามาฝากมากๆเลยค่ะ เลยจะนำไปทำรายงาน อยากจะขอชื่อ-นามสกุลพี่หน่อยได้มั้ยคะ แล้วก็ขอ E-mail ด้วยนะคะ เผื่อมีเรื่องข้องใจเกี่ยวกับประวัติกรีกนะค่ะ

 

ขอบคุณค่ะ

ผู้แสดงความคิดเห็น Hedgehog (Au-dot-2533-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2009-06-28 23:30:51 IP : 58.9.20.223


ความคิดเห็นที่ 10 (344)
avatar
สัมพันธ์ แจ้งเจนเวทย์

ขอบคุณมากครับ  และดีใจที่เป็นประโยชน์  ขาดตกบกพร่อง  หรือต้องการให้เพิ่มเติมอะไรบอกได้เลยครับ   หากรู้ก็ว่ากันไป  ถ้าไม่ทราบก็ว่ากันไปนะครับ

อี - เมล์  นะครับ   samphan_chaeng@hotmail.com

 

                                                                                  สวัสดีครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น สัมพันธ์ แจ้งเจนเวทย์ (samphan_chaeng-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2009-07-05 21:21:08 IP : 125.25.101.115


ความคิดเห็นที่ 11 (353)
avatar
บิ๊ก
ขอบคุณมากคร้าฟสำหรับข้อมูลในการเรียนวิชาสังคมศึกษาของผมในระดับ ม.6 ซึ่งอ่านเข้าใจง่าย เนื้อหากระชับไม่วุ่นวาย ขอขอบคุนอีกครั้งขอบคุนมากๆๆคร้าฟ
ผู้แสดงความคิดเห็น บิ๊ก (big_panot-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2009-07-22 19:32:21 IP : 118.173.11.63


ความคิดเห็นที่ 12 (359)
avatar
This is Sparta.

ยอดเยี่ยมคับๆ ยอดเยี่ยมมากๆ กว่าจะหาประวัติศาสตร์กรีก-เปอร์เซียเจอ ยากมากกกกก พอมาเจออันนี้ เข้าใจท่องแท้เลยคับ ว่างๆก้อช่วยหารัฐโบราณต่างๆในช่วงสมัยกรุงโรม หลังเปอเซียล่มสลายนะคับ จนถึงช่วงที่โรมันรวบรวมอาณาจักได้นะคับ รบกวนด้วยนะคับ ขอเปนแผนที่และรายชื่ออาณาจักรทั้งไทยอังกฤษเลยนนะคับ รบกวนมากไปหน่อย ขอโทดด้วยละกันนะคับ แต่ถ้าได้ก้อจะดีมากๆเลย ถ้าว่างๆช่วยแอดเมล์มาคุยกับผมได้นะคับ (ที่นี่คือสปาร์ต้า พลัก!! แว้กกกกกก - -*)

ผู้แสดงความคิดเห็น This is Sparta. (nutlove_15707-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2009-08-09 16:00:18 IP : 115.67.85.55


ความคิดเห็นที่ 13 (360)
avatar
This is Sparta.

ลืมบอกไปคับ อาณาจักรโบราณ แถวๆยูโรปาร์ อียิป กับกรีค และเอเชียไมเนอร์ นะคับนี่เมล์ผมคับ   nutlove_15707@hotmail.com   แหะๆ ^^

ผู้แสดงความคิดเห็น This is Sparta. (nutlove_15707-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2009-08-09 16:04:55 IP : 115.67.85.55


ความคิดเห็นที่ 14 (365)
avatar
สัมพันธ์

    ยินดีมากที่เป็นประโยชน์  จะดูให้  แต่คงอีกสักระยะหนึ่ง  ตอนนี้กำลังทำตับ "อยุธยายศล่มแล้ว  ลอยสวรรค์ ลงฤๅ" อยู่  ถึงตอนสงครามเก้าทัพ และสงครามท่าดินแดง  กำลังทำภาพประกอบ (ส่วนข้อความเสร็จแล้ว) ตับนี้ คงจบใน "ครั้งที่สุดไทยรบพม่า" คือไทยตีเชียงตุงในสมัยรัชกาลที่ ๔   จากนั้นจะเป็นเรื่อง  ฮานนิบาล ครับ   หรือหากมีเสียงเรียกร้องอย่างไร ก็จะปรับเปลี่ยนให้ได้ 

                                                  ขอบคุณ และสวัสดีครับ

           

ผู้แสดงความคิดเห็น สัมพันธ์ (samphan_chaeng-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2009-08-13 06:06:34 IP : 125.25.136.24


ความคิดเห็นที่ 15 (102170)
avatar
สมชัย

ตวามสามัคคี กับมีความรู้ ตั้งรับ เพื่อแผ่นดินเกิด

ผู้แสดงความคิดเห็น สมชัย (somchaitot-at-gmail-dot-com)วันที่ตอบ 2015-02-12 20:31:32 IP : 171.96.241.250



1


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker