เมื่อวาน (15 ธ.ค. 2551) หลังจากได้เขียนบทความเชิญชวนให้ท่านทั้งหลายแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทยกันแล้ว ก่อนนอนก็เกิดความคิดว่าน่าจะต้องลองเขียนบทความเป็นตัวอย่างประกอบด้วย ในฐานะคนกรุงก็ต้องแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ เป็นอันดับแรก และที่ที่ผมพอจะมีความคุ้นเคยมากสักหน่อย คือ วัดโพธิ์ หรือในชื่อที่เต็มๆ เป็นทางการว่า “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร” ครับ
เหตุที่ค่อนข้างจะคุ้นกับวัดนี้เป็นพิเศษก็ด้วยเหตุว่า ทางเครือญาติฝ่ายคุณแม่ผมได้นำอัฐิบรรพบุรุษมาบรรจุในพระพุทธรูปในวัดแห่งนี้ และทุกๆ ปีประมาณช่วงสงกรานต์หรือหลังจากนั้นเล็กน้อย บรรดาเครือญาติทั้งหลายก็จะนัดกันมาทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว เพื่อเป็นศิริมงคลแก่วงศ์ตระกูลและเป็นวันรวมญาติวันหนึ่งเลยทีเดียว

ยักษ์วัดโพธิ์ที่ต้องใช้ท่อน้ำมาซ่อมแทนด้ามง้าวของเดิมซะแล้ว
ก็ถือว่าผมพอจะรู้จักวัดนี้เท่าที่คนๆ หนึ่งที่มาทำบุญปีละครั้งจะพอรู้จักได้ แล้วก็พึ่งจะลงทุนซื้อกล้องดิจิตอลมาเมื่อไม่กี่ปีมานี้ อาจจะรู้จักน้อยกว่าอีกหลายๆ ท่านหรือในแง่มุมที่ต่างจากอีกหลายๆ ท่าน ทั้งที่ได้ศึกษาค้นคว้าทางวิชาการ เคยบวชเรียน หรือเป็นไก๊ด์ เป็นหมอนวดแผนไทย อยู่ในบริเวณนั้นเป็นอาทิ
ก็ขอถ่ายทอดเท่าที่เคยไปวัดนี้ปีละครั้งกับพอมีความรู้ประวัติศาสตร์อีกสักหน่อยจะพอเล่าสู่กันฟังได้ครับ
ในส่วนของประวัติความเป็นมานั้น เนื่องจากในวิกิพีเดียภาษาไทยเขาเขียนบางส่วนไว้ได้กระชับดีแล้ว ก็ขออนุญาตใช้วิธี "ลอก" มาในส่วนที่จำเป็นเลยนะครับ
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือ วัดโพธิ์ เป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย จัดเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร และเป็นวัดประจำรัชกาลในรัชกาลที่ 1 ทั้งยังเปรียบเสมือนเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศด้วย เนื่องจากเป็นที่รวมจารึกสรรพวิชาหลายแขนง และทางยูเนสโก ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำโลกเมื่อ มีนาคม พ.ศ. 2551
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหารถือได้ว่าเป็นวัดที่มีพระเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทย โดยมีจำนวนประมาณ 99 องค์ พระเจดีย์ที่สำคัญ คือ พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล ซึ่งเป็นพระมหาเจดีย์ประจำพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในแง่ของการท่องเที่ยวแล้ว วัดโพธิ์ได้รับความนิยมเที่ยวเป็นลำดับที่ 24 ของโลก ในปี พ.ศ. 2549 โดยมีนักท่องเที่ยวมาเยือนในปีนั้นถึง 8,155,000 คน

ส่วนหนึ่งของเจดีย์ที่มีอยู่มากมายในบริเวณวัด
ประวัติ
วัดพระเชตุพนในประวัติการสร้างตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่ไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับการสร้าง เดิมเรียกว่า "วัดโพธาราม" หรือ "วัดโพธิ์" ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงในสมัยกรุงธนบุรี ครั้งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาวัดนี้ใหม่ใน พ.ศ. 2331 โดยทรงสร้างพระอุโบสถ พระระเบียง พระวิหาร ตลอดจนบูรณะของเดิม เมื่อแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2344 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาส” เป็นวัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
นับจากนั้นวัดพระเชตุพนได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้โปรดเกล้าฯ ให้จารึกสรรพตำราต่าง ๆ ลงบนแผ่นหินอ่อนประดิษฐ์ไว้ตามศาลารายต่าง ๆ ครั้งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แก้สร้อยนามพระอารามว่า “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร”
ในส่วนของการจารึกสรรพตำราต่างๆ นั้น นักประวัติศาสตร์รุ่นเก่าๆ รวมถึงผู้เขียนบทความใน วิกิพีเดียภาษาไทย เองถึงกับกล่าวขานเปรียบเปรยว่า วัดพระเชตุพนฯ นี้ เป็น "มหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย" เลย แต่ครูบาอาจารย์ของผมบางท่านได้มีความเห็นแย้งว่า แม้วัดพระเชตุพนฯ จะได้มีการรวมรวบวิชาการต่างๆ เป็นหมวดหมู่ไว้ก็จริง แต่ก็เป็นเพียงจารึกและรูปปั้นฤษีดัดตน แต่ยังขาดองค์ประกอบที่จะเป็นมหาวิทยาลัยโดยสมบูรณ์ คือ ไม่ได้มีอาจารย์ประจำและระบบการรับนักศึกษาและการบริหารจัดการในลักษณะที่จะเทียบเคียงว่าเป็น "มหาวิทยาลัย" ได้ ที่ถูกควรจะเรียกว่าเป็น "ห้องสมุดประชาชนแห่งแรกของประเทศไทย" น่าจะถูกต้องกว่า

จารึกกลอนกลบทแผ่นหนึ่งที่ปรากฏในบริเวณวัด
และในความเห็นส่วนตัวของผมนั้น หากเข้าใจไม่ผิด อาจจะเรียกว่าเป็นการบริหารจัดการองค์ความรู้ (KM - Knowledge Management) ในระดับชาติเป็นครั้งแรกด้วยซ้ำ ผิดถูกประการใด ใครที่รู้เรื่อง KM ช่วยออกความเห็นที
ส่วนนักเรียนนักศึกษาท่านใดหากไปเจอข้อสอบถามว่า "มหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทยตั้งอยู่ที่ใด?" ละก็ ต้องเดาใจอาจารย์ผู้ออกข้อสอบเอาเองนะครับว่าท่านหมายถึง วัดพระเชตุพนฯ หรือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กันแน่ สำหรับผมแล้วผมยืนยันตามอาจารย์ว่าไม่ใช่วัดพระเชตุพนฯ เป็นอันขาด

ศิลปะจีนและไทยที่อยู่ปะปนกันอย่างงดงาม
พูดถึงความประทับใจส่วนตัวแล้ว แม้จะได้ไปวัดนี้เพียงปีละครั้งก็รู้สึกผูกพัน ในการไปเยือนในแต่ละครั้ง ระหว่างรอให้ญาติมาพร้อมกันและรอพระมาทำพิธี มักจะได้เดินสำรวจรอบๆ บริเวณวัดที่เต็มไปด้วยศิลปะอัดงดงามทั้งไทยและจีนที่ประสมประสานกันอย่างลงตัว แม้มีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศเดินผ่านเข้าออกเป็นระยะ ก็ไม่รู้สึกพลุกพล่านจนเสียบรรยากาศความสงบร่มรื่น บางปีมีไก๊ด์พาฝรั่งมาหยุดดูสำรับอาหารที่เตรียมเลี้ยงพระเลี้ยงคนแล้วบรรยายให้ฟังกันเพลินไป บางปีมีชาวต่างชาติเข้าใจว่าเป็นการให้ทานแบบโรงเจจะมาคว้าจานตักกินบ้าง ก็ห้ามปรามชี้แจงกันไป เป็นสีสันบรรยากาศไปอีกแบบ ฯลฯ

พระพุทธรูปที่บรรจุอัฐิบรรพบุรุษญาติข้างมารดาผม
การไปเยือนวัดเก่าหรือสถานที่โบราณที่งดงามเช่นนี้แต่ละครั้งมีความรู้สึกได้ผ่อนคลายจากความวุ่นวายในโลกสมัยใหม่ วันนี้ได้มาเขียนแนะนำท่านแล้วก็อดถามตัวเองไม่ได้ว่าทำไมเราเองไม่หาโอกาสไปเที่ยวที่เช่นนี้บ่อยๆ หากใครสนใจชมภาพถ่ายของผมเพิ่มเติม เชิญได้ที่ http://picasaweb.google.co.th/rojnchin/25480424# หรือในช่วงวันหยุดยาวที่กำลังจะมาถึงนี้ ลองหาโอกาสไปเยี่ยมชมด้วยตนเองนะครับ
หมายเหตุ : เปิดให้แสดงความคิดเห็นเฉพาะสมาชิกเว็บไซต์ที่ด้านล่างสุด หรือสมาชิก Facebook แสดงความเห็นได้ในกรอบข้างล่างนี้ครับ