dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



อเล็กซานเดอร์มหาราช : สู่ตะวันออก

 

ท่านที่สนใจ  สามารถติดตามได้ที่   http://widetalks.multiply.com     ด้วย

 

กษัตริย์หนุ่มแห่งมาเซโดเนีย   พ.ศ.๒๐๗ - ๒๑๙  (๓๓๖ - ๓๒๓  ปี ก่อนคริสตศักราช)

          พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ ที่ ๓  มหาราช  แห่งมาเซโดเนีย    ซึ่งโลกยกย่องว่าเป็นอมตอัจฉริยะกษัตริย์นักรบ   ทรงเป็นแรงบันดาลใจให้แก่    ฮานนิบาลแห่งคาร์เธจ  ปอมเปย์ และซีซาร์ แห่งโรมัน  ตลอดจนนะโปเลียน  ในการพิชิตโลก  ในกาลต่อๆ มา

         เมื่อได้เป็นกษัตริย์หนุ่มแห่งมาเซโดเนีย เมื่อ พ.ศ.๒๐๗  (๓๓๖  ปีก่อนคริสตศักราช)   พระองค์ทรงใช้กองทัพอันเกรียงไกรที่พระบิดาสร้างไว้พิชิตอาณาจักรเปอร์เซีย และอาฟริกา  พระดำริของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ น่าจะเห็นว่าอาณาจักรเปอร์เซียนั้นร่ำรวยมั่งคั่งยิ่งนัก  ทั้งกองทัพเปอร์เซียก็เคยมาย่ำยีรัฐกรีกมาช้านาน    บัดนี้  สามารถรวมรัฐกรีก และสร้างกองทัพให้เกรียงไกรแล้ว ก็ชอบที่จะไปแสดงแสนยานุภาพให้ปรากฏแก่ชาวเปอร์เซียนเสียบ้าง   อีกประการหนึ่ง  รัฐกรีกที่มาเซโดเนียได้รวบรวมไว้ตั้งแต่สมัยพระบิดานั้น ก็มิได้เป็นไปอย่างเต็มใจ  แต่โดยยำเกรงแสนยานุภาพของกองทัพมาเซโดเนีย รัฐกรีกที่เข้มแข็งก็ไม่ยอมอยู่ในอิทธิพล เช่นรัฐสปาร์ตา    และหาโอกาสขจัดอิทธิพลมาเซโดเนียอยู่เสมอ

          ดังนั้น    หากจะไปทำศึกกับเปอร์เซียน่าจะเป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างสามัคคีในรัฐกรีก และสร้างความมั่งคั่ง ได้  อีกทั้งอาณาจักรเปอร์เซียก็เคยปราชัยรัฐกรีกมาครั้งแล้วครั้งเล่า

 

 

 

           หลังจากจัดระเบียบภายในรัฐกรีกเรียบร้อยแล้ว  ในปีต่อมา คือ พ.ศ.๒๐๘  หรือ  ๓๓๕  ปี ก่อนคริสตศักราช  กษัตริย์หนุ่มก็เตรียมกรีธาทัพออกจากมาเซโดเนียเพื่อสานฝันของพระเจ้าฟิลิป ที่ ๒  ให้เป็นจริง -- พิชิตเปอร์เซีย  ด้วยกองทัพจำนวน  ๓๒,๕๐๐   (ทหารราบ  ๒๙,๐๐๐ และ ทหารม้า  ๓,๕๐๐)  ยกเข้าเอเซียไมเนอร์โดยข้ามช่องเฮเลสปอนต์ (Hellespont)  (ช่องดาร์ดะแนลส์ในปัจจุบัน)  จากเมืองเซสโตส (Sestos)  ขึ้นที่เมืองอบิโดส  (Abydos)   แคว้นฟรีเกีย  (Phrygia)  

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ช่องเฮเลสปอนท์  หรือ  ดาแนลส์ ในปัจจุบัน   

 

 

          กองทัพนี้ดูน้อยที่จะไปทำศึกต่างแดน  แต่เป็นทหารที่ชำนาญศึกมาตั้งแต่แผ่นดินก่อน   นอกจากกองทหารบกแล้ว  มาเซโดเนียยังจัดกองเรือรบจำนวน  ๑๖๐ ลำ  คุ้มกันทางทะเลกับเรือบรรทุกเสบียงและสัมภาระไปด้วย    และเพื่อให้มั่นใจว่ารัฐกรีกทั้งหลายจะราบคาบเป็นปรกติ กับเพื่อป้องกันด้านหลังและฐานทัพ  จึงจัดทหารไว้จำนวน  ๓,๐๐๐

อาณาจักรเปอร์เซีย  มั่งคั่งบริบูรณ์ด้วยทรัพย์ศฤงคารก็จริง  แต่ในอาณาจักรที่กว้างใหญ่นั้นประกอบด้วยประเทศราชมากมาย ซึ่งทั้งเจ้าเมืองและพลเมืองในประเทศราชก็ไม่ได้จงรักภักดีต่ออาณาจักรเปอร์เซีย  แม้ไม่ต่อต้านแต่ก็ไม่ร่วมมือร่วมใจเป็นหนึ่งเดียว

 

 

          กองทัพเปอร์เซีย  มีทหารเป็นจำนวนมากมายมหาศาลก็จริง    แต่ส่วนใหญ่เป็นทหารที่ประเทศราชต้องส่งมาช่วยในยามศึกสงคราม   นอกจากจะไม่รบอย่างกล้าหาญ และเสียสละ เพราะไม่ได้รบเพื่อบ้านเมืองของตนแล้ว   มาตรฐานการฝีกก็แตกต่างกัน  และ ยังขาดการประสานงานที่ดีระหว่างกองทหารต่างประเทศราชอีกด้วย       

          ดังนั้น  ทหารที่นับว่าเป็นทหารชั้นดีของอาณาจักรเปอร์เซีย ก็มีเพียงทหารเปอร์เซียน เท่านั้น    ที่รองลงไปก็น่าจะเป็นทหารชาวกรีกที่มารับจ้างเป็นทหารในกองทัพเปอร์เซีย

 

 ประเดิมชัยในเอเซียไมเนอร์

แม่น้ำกรานิคุส    พฤษภาคม  พุทธศักราช ๒๐๘  (๓๓๔  ปีก่อนคริสตศักราช)

 

          แม่น้ำกรานิคุส  ไหลขึ้นทางตะวันออกเฉียงเหนือ ลงทะเลแมร์มอรา  (Marmora)  เป็นลำน้ำสายตื้นๆ  สามารถลุยข้ามได้หลายแห่ง

 

          แม่ทัพเปอร์เซียรู้ดีว่ากองทัพของตนด้อยกว่ากองทัพมาเซโดเนีย  จึงวางแผนรบด้วยการตั้งรับโดยใช้แม่น้ำกรานิคุสเป็นเครื่องกีดขวาง  และเตรียมที่มั่นไว้  ทางฝั่งขวา  (ตะวันออก) ของแม่น้ำ   วางกำลังทหารม้าไว้ข้างหน้า   หลังแนวแม่น้ำ   ส่วนทหารรับจ้างชาวกรีกนั้นจัดไว้หลังสุด

          กองทัพมาเซโดเนียรู้ข่าวจึงจัดรูปขบวนเดินเข้าสู่สนามรบดังนี้     กองระวังหน้า    ทหารม้าเบา และทหารราบเบา  รวม  ๔  กอง        กองหลวง    จัดเป็น  ๔ ขบวน  ขบวนทางขวาสุด และซ้ายสุด  เป็นทหารม้า และพลธนู  ขบวนกลางทั้งสองขบวนเป็นทหารราบล้วนๆ    ทั้ง ๔ ขบวนเดินเสมอกัน  

           เมื่อถึงสนามรบ และตรวจภูมิประเทศแล้ว  พระเจ้าอเล็กซานเดอร์จึงตัดสินใจฉกฉวยโอกาสจากความผิดพลาดของฝ่ายเปอร์เซีย    ด้วยการสั่งให้เข้าตีอย่างจู่โจมทันที    พาร์เมเนียน (Parmenion)  แม่ทัพชั้นรองทักท้วงให้เพิ่มความระมัดระวังในการปฏิบัติการ   เพราะการเข้าตีจะต้องลุยข้ามลำน้ำซึ่งเป็นเครื่องกีดขวางหน่วงการเคลื่อนที่ให้ช้าลง   อาจจะทำให้สูญเสียมาก   เสนอว่าควรข้ามลำน้ำตอนเหนือน้ำขึ้นไปเสียก่อน  แล้วค่อยโจมตีในเช้าตรู่วันรุ่งขึ้น    คำทักท้วงนี้ดูเป็นเรื่องธรรมดา  

          แต่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ต้องการเอาชัยชนะในเอเซียไมเนอร์เป็นการประเดิมให้เป็นที่โด่งดังกึกก้องไปทั่ว  และ  การวางกำลังอย่างผิดพลาดของฝ่ายเปอร์เซีย ก็ดูเหมือนเชิญชวนเป็นอย่างยิ่ง    จึงคิดเข้าตีอย่างจู่โจม โดยใช้รูปขบวนขั้นบรรไดเฉียงจากขวาลงมาทางซ้าย  

 

           พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ให้กองระวังหน้าเข้าตีก่อน   แต่กองระวังหน้ากลับเสียทีแก่ข้าศึก    เข้าตีไม่สำเร็จ

          จึงทรงนำทหารม้าหนักวิ่งข้ามแม่น้ำเข้าตีปีกซ้ายของเปอร์เซีย  โดยมีทหารม้าเบากำบังทางซ้าย  และพลธนูอยู่ทางขวา    ส่วนกองระวังหน้าที่เข้าตีไม่สำเร็จนั้น  ได้อ้อมโอบปีกซ้าย และสามารถเลยโอบหลังฝ่ายเปอร์เซียได้ด้วย    ก็พอดีทหารราบกองหลวงมาเซโดเนียก็เดินมาถึง    จึงได้เข้ารบอย่างแข็งแรง  จนกองทัพเปอร์เซียระส่ำระสาย   โดยเฉพาะ ทหารรับจ้างชาวกรีกถูกทำลายเป็นจำนวนมาก

การสูญเสีย 

          ฝ่ายเปอร์เซียสูญเสียทหารราบราว  ๑ หมื่น  และทหารม้า  ๒ พัน 

          ฝ่ายมาเซโดเนียสูญเสียน้อยมาก บางแห่งว่า  ๓๐๐ - ๔๐๐     ทหารรับจ้างชาวกรีกเข้ามาสวามิภักดิ์ต่อฝ่ายมาเซโดเนีย  จำนวน ๒  พัน   พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ให้จัดส่งกลับไปรัฐกรีกตามเดิม

           แต่ในหลักฐานของมาเซโดเนีย ว่า   ฝ่ายมาเซโดเนีย สูญเสีย  ทหารม้า  ๘๕  และทหารราบ  ๖๐    จอมพล  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ  กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถทรงพระนิพนธ์ไว้ในพงษาวดารยุทธศิลปะ  ว่า  แต่เห็นจะไม่จริงแน่  คงเสียทหารมากกว่านั้น  แต่แกล้งจดไว้ให้น้อยดูให้วิเศษยิ่งขึ้น

 

บทเรียนจากการรบ       

          ในทางยุทธวิธีกองทัพเปอร์เซียผิดพลาดทางยุทธวิธีอย่างโจ่งแจ้งชัดเจน   คือการวางกำลังทหารม้า ไว้หลังแนวลำน้ำ    ทหารม้าจึงไม่สามารถใช้ขีดความสามารถในเรื่องความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่บุกเข้าโจมตีฝ่ายมาเซโดเนียได้ก่อน  (ซึ่งทหารม้าเปอร์เซียควรต้องทำเป็นอย่างยิ่ง)    และการวางกำลังทหารราบไว้ ในแนวที่สอง  ก็ไร้ประโยชน์

ภาพการรบที่แม่น้ำกรานิคุส

         

ครับ . . . ก็มีเรื่องน่าตื่นเต้นปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ราวกับผู้เห็นเหตุการณ์ได้บันทึกเอาไว้ทีเดียว  , , , ลองดูนะครับ

          ด้วยเมื่อ สัญญาณรบดัง และ การรบก็ได้เริ่มขึ้น    พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ก็อยู่ในความชุลมุนนั้น    ปรากฏว่า หอกของพระองค์ชำรุด  เมื่อได้เปลี่ยนหอกใหม่แล้ว     มิธริดาเตส (Mithridates)  บุตรเขยพระเจ้าดาริอุสแห่งเปอร์เซียเข้ามาทางด้านหลัง     พระเจ้าอเล็กซานเดอร์หันกลับมายันด้วยหอกเข้าที่ใบหน้าของมิธริดาเตส    ก็พอดีกับ โรซาเซส (Rhoesaces) ขุนพลคนหนึ่งของเปอร์เซีย ตีพระเจ้าอเล็กซานเดอร์เข้าที่ศีรษะด้วยขวาน  ถูกหมวกเหล็กอย่างเฉียดๆ      พระเจ้าอเล็กซานเดอร์พุ่งออกไปข้างหน้าด้วยสัญชาตญาณกระแทกโรซาเซส ลงไปที่พื้น  และพุ่งหอกเข้าใส่ที่หน้าอก    และเมื่อเหตุการณ์ผ่านไป สปิธริดาเตส  (Spithridates) ขุนพลเปอร์เซียอีกคนหนึ่งเงื้อดาบวงเดือน (Scimitar) เข้ามาข้างหลัง แต่เคลอิตุส (Cleitus)  ทหารมาเซโดเนียตีเข้าที่ไหล่จนแขนขาด

          เหตุการณ์รอบๆ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์นี้น่าจะเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความรุนแรงเข้มข้นของการรบได้ดี    หลังจากนั้น  ทหารม้า ทหารราบกีปาสปิสต์ และฟาลังซ์ทหารราบหนักเปเซแตร์ก็ข้ามแม่น้ำได้สำเร็จ    ในที่สุด  กองทัพเปอร์เซียก็ถูกล้อม  และในไม่ช้าก็พ่ายแพ้อย่างราบคาบ    ทหารม้าเปอร์เซียถูกสังหารถึง  ๑,๐๐๐  (บางหลักฐานว่า ๒,๐๐๐)  ที่สำคัญต้องสูญเสียระดับผู้บังคับบัญชาถึง  ๙ นาย    กองทหารรับจ้างชาวกรีกถูกทำลายสิ้น  (๘,๐๐๐)   เหลือเพียง  ๒,๐๐๐  

 

สถาปนาความปลอดภัยชายฝั่งทะเลเอเจียน 

           เมื่อพ่ายแพ้แล้วฝ่ายเปอร์เซียก็ไม่ได้จัดกองทัพอีก  เป็นแต่ตั้งมั่นอยู่ในป้อมในเมืองต่างๆ 

          ฝ่ายมาเซโดเนีย เมื่อประเดิมชัยชนะในเอเซียไมเนอร์  และทางบกไม่มีกองทัพเปอร์เซียต้านทานแล้วก็จริง   แต่ทางทะเล  ยังมีกองเรือเปอร์เซียเป็นภัยคุกคามอยู่   แต่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ก็ทรงดำรงความมุ่งหมายที่จะสถาปนาความปลอดภัยในเขตหลังให้มั่นคงโดยตลอดเสียก่อน  แล้วจึงเดินทัพเข้าไปในแผ่นดินใจกลางอาณาจักรเปอร์เซียต่อไป    แต่เนื่องจากไม่สามารถทำลายกองเรือเปอร์เซียได้ด้วยการรบ  จึงตัดสินใจตอบโต้ด้วยการเข้ายึดรักษาเมืองท่าริมฝั่งทะเลเมดิเตอเรเนียน   ได้เข้ายึดเอาเมืองฮาลิคาร์นัสซุส  (Halicarnassus) และเมืองมิเลตุส  (Miletus) เป็นฐานทัพต่อไป    เมื่อยึดได้แล้วก็ส่งกองเรือกลับไปป้องกันรัฐกรีก   แล้วนำทัพไปยังเมืองกอร์ดิอุม (Gordium) และพักอยู่ตลอดฤดูหนาว 

 

 

 

 

 

     

 

 

 

 

 

 

Alexander cuts the Gordian Knot    by  Jean - Simon Berthe'lemy,1664

 

           ในระหว่างนี้ได้เสริมสร้างด้านการสนับสนุน  เช่นตกแต่งฐานทัพ เตรียมเสบียงอาหาร  และจัดทหารไว้รักษาฐานส่งกำลังบำรุงนี้จำนวน  ๗,๐๐๐    จัดการให้รัฐกรีกจัดทหารมาเพิ่มเติม  และบำรุงขวัญทหาร ด้วยการให้กลับไปเยี่ยมบ้าน  ๒,๐๐๐  คน  (น่าจะเป็นการให้รางวัลทหารที่มีความดีความชอบในการรบ  เพื่อเป็นตัวอย่างให้ผู้อื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่างต่อไป)  และกลับมาพร้อมทหารที่จัดมาเพิ่มนั้น     ดังนั้น  ในต้นปี พ.ศ.๒๐๙  หรือ  ๓๓๓  ปีก่อนคริสตศักราช   กองทัพมาเซโดเนีย  ได้ทหารราบมาเพิ่ม  อีก  ๓,๐๐๐   และทหารม้า   ๗๐๐   และ  เพื่อเป็นการให้สำเร็จตามยุทธศาสตร์นี้  จึงวางแผนเดินทัพมุ่งสู่อียิปต์ เพื่อปลดปล่อยประเทศราชของเปอร์เซีย

          ระหว่างนี้  พระเจ้ากรุงเปอร์เซียระดมพลจากทางตะวันออกของอาณาจักร   และเตรียมทำการรบเพื่อทำลายกองทัพมาเซโดเนีย

 

 อิซซัส       ประตูสู่เปอร์เซีย

          การรบเกิดขึ้นบนที่ราบชายฝั่งในแคว้นซีเรีย (Syria)  ใกล้เมืองอิซซัส  (Issus)  เมื่อเดือน  พฤศจิกายน  พุทธศักราช   ๒๐๙  ( ๓๓๓  ปี ก่อนคริสตศักราช)
 
         เหตุการณ์ที่ทำให้กองทัพทั้งสองมาเผชิญกันนับว่าเป็นเรื่องเฉพาะ    กองทัพทั้งสองต่างเดินกันคนละเส้นทาง   และต่างเดินผ่านกันจนกองทัพพระเจ้าดาริอุสมาอยู่หลังกองทัพพระเจ้าอเล็กซานเดอร์    เมื่อไปถึงเมืองอิซซัส  กษัตริย์ดาริอุสได้พบ และสังหารทหารมาเซโดเนียที่บาดเจ็บ และป่วย แล้วจึงเดินทัพตามกองทัพมาเซโดเนียต่อไป  ด้วยความหวังว่าจะผ่านช่องบายลาน (Beilan Pass) ออกไปสู่ที่ราบซีเรียอันกว้างใหญ่ก่อน  แล้วจึงทำการรบ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่กองทัพตนซึ่งมีกำลังมากกว่ามาก ทำลายกองทัพมาเซโดเนียเสียได้   

          พระเจ้าอเล็กซานเดอร์เดินทัพลงใต้ผ่านช่องบายลานแล้ว ได้ข่าวว่ากองทัพเปอร์เซียยกมาถึงอิซซัส ซึ่งเป็นการตัดเส้นทางการส่งกำลังบำรุง    นับว่าสถานการณ์เลวร้ายถึงขั้นที่จะทำให้ตกใจอย่างกว้างขวางในหมู่ทหารทั่วไปได้ที่ถูกตัดเส้นทางถอย    พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ส่งกำลังไปยืนยันข่าว  และส่งทหารม้าไปยึดช่องโจนาฮ์ (Jonah Pass)  ซึ่งต้องเคลื่อนที่ผ่านเข้าไปพบกองทัพเปอร์เซียน    ขณะที่รอการยืนยันข่าว  พระเจ้าอเล็กซานเดอร์วางแผนตามข้อสมมติที่เป็นไปได้ด้วยหวังว่าจะทำการรบในพื้นที่จำกัด       อันตรายของกองทัพมาเซโดเนียก็คือ การถูกกองทัพเปอร์เซียซึ่งมีจำนวนมากกว่ามากล้อม      ดังนั้น   พระเจ้าอเล็กซานเดอร์จึงให้กองทัพเดินกลับผ่านช่องบายลาน และช่องโจนาฮ์เข้าไปในพื้นที่เขาอมานุส (Amanus Mts.) ซึ่งเป็นพื้นที่จำกัดอีก    ฝ่ายพระเจ้าดาริอุส ทราบข่าวว่ากองทัพมาเซโดเนียเดินกลับมา  จึงนำทัพเลี้ยวไปตามแม่น้ำพินารุส (Pinarus)   เพื่อรอกองทัพมาเซโดเนีย    ภูมิประเทศเป็นภูเขาเกือบจดทะเล  มีที่ราบน้อยอย่างยิ่ง  ไม่สะดวกสำหรับการใช้กองทัพขนาดใหญ่  (ภาพ 2a)

          แม่น้ำพินารุส (Pinarus) เป็นลำน้ำสายเล็กๆ ลุยข้ามได้โดยง่าย  ในเทือกเขาอมานุส ไหลไปทางตะวันตกเฉียงใต้  ลงสู่อ่าวอิซซัส  ทะเลเมดิเตอเรเนียน 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 การเดินทัพสู่สมรภูมิ                                                                                                                                         แม่น้ำพินารุส  (ปัจจุบัน)

 

อิซซัส      พฤศจิกายน  พุทธศักราช   ๒๑๐  (๓๓๓  ปี ก่อนคริสตศักราช)

           กองทัพเปอร์เซียมีจำนวนมากกว่ากองทัพมาเซโดเนีย เป็นสัดส่วน  ๕ ต่อ ๑ หรือมากกว่า   มีทหารม้าถึง  ๓๐,๐๐๐  และทหารรับจ้างชาวกรีก  ๓๐,๐๐๐    พระเจ้าดาริอุสเชื่อว่า ฟาลังซ์คือส่วนที่เป็นกำลังหลักของฝ่ายมาเซโดเนีย  จึงวางแผนใช้ทหารม้าเจาะแนวทางปีกซ้ายของมาเซโดเนีย     จัดการฟาลังซ์ทางปีกและหลัง    ในที่สุด ก็จะผลักดันให้ขึ้นไปบนเนิน

 

          วิธีการรบของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มีอิทธิพลอย่างมากต่อการรบ   สิ่งที่สำคัญคือ พระองค์สามารถปรับการปฏิบัติที่แม่น้ำกรานิคุส   มีความแตกต่างคือ ได้พบว่า ฝ่ายเปอร์เซียจัดส่วนแยกไว้ทางขวาของปีกขวามาเซโดเนีย   

          พระเจ้าอเล็กซานเดอร์คุมกองทัพด้านขวา   พาร์เมเนียน คุมทางซ้าย    วางแผนให้กดดันทางซ้ายของเปอร์เซีย  -- 

          ฝ่ายดาริอุสก็มีแผนเอาชนะจากด้านซ้ายของมาเซโดเนียเหมือนกัน    พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ตระหนักดี  จึงสั่งทางด้านซ้ายไม่ให้ปะทะ   แต่สั่งส่วนกลาง และด้านซ้าย ให้รุกหน้าอย่างช้าๆ  และถ่วงเวลาการปะทะเอาไว้จนกว่าทางปีกขวาจะผลักดันปีกซ้ายเปอร์เซียได้แล้ว 

           ขณะเมื่อนำทหารม้าข้ามลำน้ำ   พระเจ้าอเล็กซานเดอร์เห็นว่า  ถ้าทำให้ตอนกลางของเปอร์เซียหมดความสามารถเสียแล้ว ทางด้านขวาของเปอร์เซียก็จะไม่มีโอกาสสำเร็จภารกิจได้

             ปัญหามีอยู่ว่า  ทำอย่างไรจึงจะทำลายตอนกลางของกองทัพเปอร์เซียเสียได้   จึงจะดำเนินกลยุทธ  โดยใช้ปีกขวาโจมตีเปอร์เซีย  และพิชิตตอนกลางของปีกซ้ายเปอร์เซีย  แต่พาร์เมเนียนต้องรักษาด้านปีกซ้ายของมาเซโดเนียไว้ให้ได้จนกว่าทางขวาจะได้ผลคืบหน้า

 

 

การรบ

           การรบเริ่มด้วยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทรงนำทหารม้าหนักข้ามแม่น้ำไปโจมตีปีกซ้ายเปอร์เซียอย่างรุนแรง    ทำให้แนวรบของเปอร์เซียรวนเร   แต่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ต้องบาดเจ็บที่ต้นขา     ฟาลังซ์มาเซโดเนียเมื่อไปถึงแม่น้ำ และข้ามไปฝั่งตรงข้ามก็ถูกทหารรับจ้างชาวกรีกซึ่งอยู่ในตอนกลางแนวรบเปอร์เซียโจมตี 

                   การโจมตีของทหารม้ามาเซโดเนียทางขวาได้ผลดีสามารถเจาะทะลุทหารเปอร์เซียทั้งสองแนวได้  ส่วนอื่นของแนวมาเซโดเนียยังอยู่เป็นปรกติ  และเมื่อตอนกลางยังไม่ได้ปะทะ  ฟาลังซ์จึงแยกเป็นสองส่วน    ทหารรับจ้างชาวกรีกต่อสู้อย่างรุนแรง ผลักดันทหารมาเซโดเนียถอยไปยังแม่น้ำอีก    

          พระเจ้าอเล็กซานเดอร์  สามารถจัดการปีกซ้ายเปอร์เซีย  และทหารม้าซึ่งทะลุไปหลังแนวทหารเปอร์เซีย ก็กลับมาโจมตีทหารรับจ้างชาวกรีกจนแพ้ราบคาบ     

 

 

 

 

 

 

 

 

  การรบที่อิซซัส   ภาพโมเสคพบที่เมืองปอมเปอี

พระเจ้าอเล็กซานเดอร์บนหลังม้า  V                                                                                                     V  พระเจ้าดาริอุสในรถศึก

 

 

 

 

 

 

          

 

 

 

          พระเจ้าดาริอุสเมื่อเห็นปีกซ้ายของตนแพ้อย่างแตกตื่น  จึงผละจากการรบด้วยรถศึกขนาดเบา 

ก็แลเมื่อไพร่พลผละจากการรบ  ไหนเลยจะมีจิตใจสู้รบต่อไป

 

           ส่วนทางด้านใกล้ทะเลทหารม้าเปอร์เซียทำได้ดีที่สุด คือ ข้ามแม่น้ำพุ่งเข้าใส่กำลังของพาร์เมเนียนจนต้องถอยไป  แต่เมื่อรู้ข่าวว่าดาริอุสหนีออกจากสนามรบ  ก็ร่วมทหารเปอร์เซียส่วนที่เหลือหนีอย่างรวดเร็ว   . . .  กองทัพเปอร์เซียจึงถูกทำลายอย่างย่อยยับ

          อเล็กซานเดอร์ไม่สามารถไล่ติดตามได้ในทันที   เพราะรอให้มั่นใจในสถานการณ์ด้านกลาง และด้านซ้าย   ประกอบกับใกล้เวลามืด จึงช่วยให้ดาริอุสหนีรอดไปได้  . . .  ค่ายและสมบัติเงินทองของเจ้าแผ่นดินเปร์เซียที่อยู่ในค่าย    ก็ตกมาอยู่ในมือกองทัพกรีกทั้งสิ้น

 

 

พระเจ้าดาริอุส ผละจากการรบที่อิซซัสด้วยรถศึกขนาดเบา

 

การสูญเสีย

           ฝ่ายเปอร์เซีย    เป็นการรบที่สูญเสียมากอีกครั้งหนึ่ง เพราะแตกยับเยิน  รวมทั้งสิ้นอาจจะถึง  ๑๐๐,๐๐๐    ฝ่ายมาเซโดเนีย   สูญเสีย ประมาณ  ๔,๕๐๐

 

ประตูเปิดแล้ว  แต่ยังคงดำรงความมุ่งหมาย

          เมื่อได้ชัยชนะในการรบที่อิซซัสแล้ว  พระเจ้าอเล็กซานเดอร์คิดถึงการเข้าพิชิตอาณาจักรเปอร์เซียอันกว้างใหญ่ไพศาลทั้งหมด  และชัยชนะก็ดูเหมือนกับเป็นการแสดงว่าพระองค์ได้สิทธิในการพิชิตแล้ว    ที่ปรึกษาเห็นว่าพระองค์ควรหยุด  และรักษาเอเซียไมเนอร์ ก็เป็นการพอเพียงแล้ว  แต่พระองค์เห็นว่า นั่นคือการตั้งรับ  และจะต้องรุกต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  (เพราะอาณาจักรเปอร์เซียยังคงอยู่  อาจจะฟื้นตัวและรุกรานรัฐกรีกได้อีก   การจะให้รัฐกรีกปลอดภัยจำต้องพิชิตเปอร์เซียเสียให้ราพนาสูร)  และการที่พระเจ้าดาริอุสหนีจากการรบนั้น ก็เป็นเครื่องล่อใจให้ติดตาม และเข้าครอบครองอาณาจักรนี้    แต่เปอร์เซียยังคงมีอำนาจทางทะเลเมดิเตอเรเนียนตอนล่างอยู่ และจะสามารถตัดทางหรือรบกวนเส้นทางคมนาคมจากรัฐกรีกได้    ดังนั้น   จึงยังคงดำรงความมุ่งหมายที่จะสถาปนาความมั่นคงตามชายฝั่งให้ได้เสียก่อน      

          พระเจ้าอเล็กซานเดอร์เดินทัพลงใต้ไปตามชายทะเล  ผ่านฟินีเซีย   (Phoenicia) ซีเรีย (Syria) ไปสู่อียิปต์ (Egypt)  และในการเดินทัพช่วงนี้ ก็ได้เกิดการยึดเมืองไทร์  (Tyre)  ที่เป็นแบบฉบับขึ้น

 

ไทร์   ไม่ยึดไว้  ไม่ได้แล้ว

                  ในการสถาปนาความมั่นคงตามชายฝั่งเมดิเตอเรเนียน นี้   เมืองต่างๆ ต่างยอมแพ้แก่กองทัพมาเซโดเนีย  อย่างง่ายดาย  เว้นเมืองไทร์  ทั้งนี้เป็นเพราะประชาชนยังภักดีและเชื่อมั่นในพระราชาแห่งเปอร์เซีย และมั่นใจว่าป้อมปราการของเมืองว่าจะต้านทานกองทัพมาเซโดเนียได้    พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ก็ไม่อาจปล่อยเมืองไทร์นี้ไว้ได้เพราะขวางเส้นทางส่งกำลังบำรุงอยู่  จึงต้องพิชิตให้ได้   

          เมืองบนเกาะนี้ประกอบด้วยเกาะเล็ก สองเกาะห่างจากฝั่ง  ๒.๕ กิโลเมตร   มีกำแพงแข็งแรง  มีที่ทำน้ำจืดใช้เอง   และท่าเรืออย่างดี สองแห่ง    มีประชากร ประมาณ  ๔๐,๐๐๐    เมื่อเกิดศึก  ได้อพยพผู้หญิงและเด็กไปอยู่ที่กรุงคาร์เธจ (Carthage) ซึ่งเป็นอาณานิคมของโฟนิเชียนในอาฟริกา  และคาร์เธจก็สัญญาว่าจะส่งกองเรือมาช่วยไทร์ด้วย   (ปัจจุบัน เมืองไทร์ อยู่ตอนใต้ในประเทศเลบานอน)       พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ต้องจองถนนจากแผ่นดินใหญ่เข้าไปถึงเกาะ และใช้เครื่องมือทำลายกำแพงเมืองทุกชนิด  ผสมผสานกำลังทางเรือ ในการยึดเมือง   

 

 

 

 

 ในที่สุด กองทัพมาเซโดเนียก็พิชิตเมืองไทร์ได้   โดยใช้เวลาถึง  ๗  เดือน     เมื่อพิชิตได้แล้ว   ไทร์  สูญเสีย ๘,๐๐๐  มาเซโดเนีย  สูญเสีย  ๔๐๐   ชาวเมืองถูกนำไปขายเป็นทาส จำนวน  ๓๐,๐๐๐

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 <  การยึดเมืองไทร  ภาพโดย  

Andre   Castaigne   1888 - 1889                                                                                    

 ประตูชัยเมืองไทร์  (มรดกโลก)  >

 

 

สู่อียิปต์

          จากเมืองไทร์  กองทัพมาเซโดเนียยกต่อไปเมือง กาซา (Gaza) ซึ่งพระเจ้าดาริอุสตั้งชาวอาหรับเป็นข้าหลวงรักษาเมืองอยู่    จากนั้นเดินทัพเข้าสู่อียิปต์ ซึ่งเป็นประเทศราช แต่ไม่พอใจการปกครองของเปอร์เซียอยู่แล้ว  เพราะเปอร์เซียกดขี่ และห้ามอียิปต์นับถือศาสนา (เทพเจ้า) ที่เคยนับถืออยู่เดิม  จึงยอมสวามิภักดิ์ต่อกองทัพมาเซโดเนียโดยง่าย    พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ได้จัดการปกครองให้อียิปต์ให้เป็นเหมือนอย่างก่อนเก่าครั้งยังเป็นอิสรภาพ  ให้นับถือศาสนาเดิมของตนได้   และสร้างเมืองใหม่ขึ้นที่ปากแม่น้ำไนล์ ตั้งชื่อเมืองอเล็กซานเดรีย  จึงเป็นที่ชื่นชอบแก่ชาวอียิปต์มาก 

 ฐานมั่นคง 

          กาลเวลาล่วงจนถึงฤดูร้อน พุทธศักราช ๒๑๒  (๓๓๑  ปีก่อนคริสตศักราช)  พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ก็นำทัพย้อนกลับไปเมืองไทร์  จัดเตรียมรี้พลสกลไกร แลเสบียงอาหาร เพื่อเข้าสู่อาณาจักรเปอร์เซียตามเจตนารมณ์เดิม เพราะจัดการฐานทัพในพื้นที่ส่วนหลังให้ปลอดภัยมั่นคงเรียบร้อยแล้ว   เมื่อการทุกสิ่งได้พร้อมสรรพแล้ว  ลุเดือน  สิงหาคม ปีเดียวกัน   จึงได้ยกทัพโยธาทหารราบ จำนวน  ๔  หมื่น  และทหารม้าอีก  ๗  พัน     ตรงไปเมืองธัปซาคุส  ริมฝั่งแม่น้ำยูเฟรติส (Euphrates)

           ข้างฝ่ายกรุงเปอร์เซีย ก็ถือโอกาสในช่วงที่กองทัพมาเซโดเนียสาละวนอยู่กับการสถาปนาความมั่นคงอยู่นั้น  รวบรวมทหารจากประเทศราชทุกชาติ ทุกภาษา เตรียมสู้ศึกมาเซโดเนียให้แตกหัก    คราวนี้ท่านว่ารวบรวมได้  ๔ แสน ถึง  ๑ ล้าน    ในจำนวนนี้เป็นทหารม้าถึง  ๔๐,๐๐๐   ถึงแม้ว่าจะระดมพลได้มากมายมหาศาลจริง  แต่ก็เป็นปริมาณมาก แต่คุณภาพน้อย  ทหารที่ถือว่าไว้ใจได้จริง ก็น่าจะเป็นทหารเปอร์เซียนแท้ เพียง ๑๕,๐๐๐  และทหารรับจ้างชาวกรีกอีก  ๒๐,๐๐๐  เท่านั้น   (ถูกทำลายไปในการรบที่แม่น้ำกรานิคุส และที่อิซซัส แล้ว คงหาจ้างมาใหม่ได้อีก)

 

 

 

เกากาเมลา 

          สมรภูมินี้พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ไม่เร่งรีบเข้าทำการรบ เช่นที่แม่น้ำกรานิคุส  และที่อิซซัส  หยุดทัพเพื่อเตรียมการห่างจากสนามรบ     ปีนี้ กองทัพมาเซโดเนีย  มีทหารราบ   ถึง  ๔๐,๐๐๐   และทหารม้า  ๗,๐๐๐  นับว่าเป็นกองทัพใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา

          สนามรบเป็นทุ่งกว้าง  กองทัพเปอร์เซียมีโอกาสใช้ทหารม้า และรถศึกได้อย่างมีประสิทธิภาพ   พระเจ้าดาริอุสให้ปราบพื้นที่ข้างหน้าปีกทั้งสองข้างให้ราบเรียบเพื่อให้ทหารม้าจะได้รบพุ่งได้สะดวก   แต่พื้นที่หน้าแถวตอนกลางทำหลุมพรางไว้เป็นที่ขัดขวาง

          เมื่อเตรียมการพร้อมแล้ว พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ก็นำทัพมาตั้งค่ายอยู่ในระยะสายตาของกองทัพเปอร์เซีย

 

         พระเจ้าดาริอุสวางแผนการรบตามหน่วยทหารที่มี และภูมิประเทศ คือมีทหารม้ามาก  และมีรถศึกด้วย  และเนื่องจากภูมิประเทศเป็นที่ราบกว้าง  จึงวางแผนจะโอบสองปีก  ล้อมกองทัพมาเซโดเนีย และทำลายเสีย    จึงตั้งแนวรบยาวมาก ยาวถึง   ๑๐  กิโลเมตร และจัดเป็นสองแนว เพราะมีทหารจำนวนมาก     เมื่อเห็นกองทัพมาเซโดเนียตั้งค่ายก็ตั้งแนวรบ 

           แนวแรก    ส่วนใหญ่เป็นทหารม้า  มีพลธนูบ้าง    ตอนกลางเป็นทหารรักษาพระองค์เปอร์เซียน  และทหารรับจ้างชาวกรีก

               ข้างหน้าแนวแรก    ทางซ้ายมี   ทหารม้าหนัก  ๒,๐๐๐   และ รถศึก  ๑๐๐    ตอนกลางมีรถศึก   ๕๐    ทางขวา    มีทหารม้าอีก  ๒,๐๐๐  และรถศึก  ๕๐       

          แนวที่สอง   เป็นทหารราบจากประเทศราช                  

          พระเจ้าดาริอุส เชื่อว่าฝ่ายมาเซโดเนียจะไม่เข้าตีในวันนี้   แต่ก็กลัวว่าจะถูกโจมตีในเวลากลางคืน   จึงให้ทหารทั้งกองทัพพักคอยทหารมาเซโดเนียอยู่ในแนวรบ

 

เกากาเมลา    ๑   ตุลาคม  พ.ศ.๒๑๒  (๓๓๑  ปีก่อนคริสตศักราช)

                กองทัพมาเซโดเนียตั้งแนวรบตอนเข้าตรู่      แต่ทหารเปอร์เซียซึ่งพักคอยอยู่ในแนวรบ ก็อิดโรย และอ่อนเพลีย เสียแล้ว

          เมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์เห็นแนวรบเปอร์เซียยาวมาก   และ พื้นที่ข้างหน้าปีกเปอร์เซียราบเรียบเช่นนี้   พิจารณาเห็นว่า ทหารม้าย่อมจะเดินได้เร็ว  ทหารราบจะไม่สามารถตามได้ทัน   และต้องเกิดช่องว่างขึ้นเป็นแน่     หากเป็นเช่นนี้  ก็เป็นโอกาสที่จะรุกทางปีกซึ่งเกิดช่องว่างขึ้น  โดยใช้รูปขบวนขั้นบรรได ปีกขวานำ     และจัดแนวรบดังนี้

          แนวที่  ๑   สำหรับเข้าตี     

               ด้านขวามีทหารราบ  ๑,๕๐๐  อยู่ขวาสุด   ถัดมาทางซ้ายเป็นทหารม้าหนัก  ๑,๘๐๐   และทหารราบกลางกีปาสปีสต์  ๕,๐๐๐  พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ควบคุมเอง      

               ด้านกลาง และด้านซ้าย    ในความควบคุมของพาร์มาเนโอน  มีทหารราบหนักเปเซแตร์  ๖  ฟาลังซ์   ถัดไปเป็นทหารราบเบา และทหารม้าเบา         

          แนวที่  ๒  สำหรับป้องกัน  ปีก และด้านหลัง    มีทหารราบกลาง และทหารม้า

          นอกจากนี้  ได้จัดทหารไว้รักษาค่ายอีก  ๓,๐๐๐

 

           พระเจ้าอเล็กซานเดอร์นำทัพเข้าหากองทัพเปอร์เซีย  เนื่องจากแนวกองทัพเปอร์เซียยาวมาก    ปีกขวามาเซโดเนียอยู่ตรงกับส่วนกลางกองทัพเปอร์เซีย     พระเจ้าอเล็กซานเดอร์จึงนำทัพเดินเฉียงขวา  เข้าหาปีกซ้ายเปอร์เซีย  และให้ทหารในตอนกลาง และด้านซ้าย เดินเฉียงไปทางขวาตามลำดับ 
 
           พระเจ้าดาริอุสให้ส่งทหารม้าเข้าตีปีกขวามาเซโดเนีย     ทหารในแนวที่สองของมาเซโดเนียออกต้านทานทหารม้าเปอร์เซียไว้ได้    ฝ่ายเปอร์เซียใช้รถศึกเข้าประจันบาน แต่ถูกทหารราบมาเซโดเนียทำลายเสียเป็นส่วนมาก    จึงให้ปีกซ้ายเข้าตีปีกขวามาเซโดเนีย   ก็เมื่อทหารม้าออกปฏิบัติการนั้น  ทหารราบก็เดินตามไม่ทัน  จึงเกิดช่องว่างขึ้นในแนวรบอีกตามปรกติ    พระเจ้าอเล็กซานเดอร์จึงนำทหารม้าจู่โจมเข้าระหว่างช่องว่างนั้น และทหารราบมาเซโดเนียก็ตามเข้าไปประจันบานกันเป็นสามารถ

            พระเจ้าดาริอุสเห็นฝ่ายมาเซโดเนียบุกเข้ามาอย่างรุนแรง เกรงจะเป็นอันตรายก็หันรถศึกออกจากสนามรบไป  ทหารที่อยู่ใกล้ชิดก็ตามออกไปด้วย  ก็แลเมื่อ . . . ทัพไม่มี คนบัญชา จึงปราชัย . . .   จอมพล  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ  กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ ทรงพระนิพนธ์ไว้ในพงษาวดารยุทธศิลปะว่า 

 

 

".  .  .  ตั้งแต่ขณะนั้นก็นับได้ว่ากองทัพเปร์เซียถึงแก่ความปราไชยเสียแล้ว   ทหารในด้านซ้ายและด้านกลางที่ติดต่อกันไม่มีใจจะรบต่อไปก็ถอยหนี   พวกกองทัพกรีกได้ติดตามโดยแข็งแรง"

 

           ส่วนทางปีกซ้ายมาเซโดเนีย  ต้องต้านทานฝ่ายเปอร์เซียอย่างฉวดเฉียดเหมือนกัน  เพราะเมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์นำด้านขวามาเซโดเนียเข้าไปตีฝ่ายเปอร์เซียนั้นก็ทำให้แนวรบขาดจากกันเช่นกัน    ทหารม้าเปอร์เซียที่อยู่ตอนกลางก็เข้าโจมตีช่องว่างนั้นด้วย และสามารถผ่าแนวมาเซโดเนีย ปัดเอาด้านกลางมาเซโดเนียไปทางซ้าย   แล้ววิ่งเลยแนวรบไปถึงค่ายมาเซโดเนีย  ได้รบกับทหารที่รักษาค่าย     แต่ทหารแนวที่สองทางปีกซ้ายมาเซโดเนียไปช่วยทหารที่รักษาค่ายได้ทัน     ปีกซ้ายมาเซโดเนียเริ่มกระจัดกระจายบ้างแล้ว  และปีกขวาเปอร์เซียก็โจมตีซ้ำเข้ามาอีก    พาร์มาเนโอนต้องรายงานขอความช่วยเหลือ     ขณะนั้นพระเจ้าอเล็กซานเดอร์กำลังเตรียมติดตามฝ่ายเปอร์เซีย จึงต้องนำทหารม้ากลับมาช่วยทางปีกซ้าย   ก็ปะทะกับทหารม้าเปอร์เซียที่กลับมาจากค่ายมาเซโดเนีย  ท่านว่า เกิดต่อสู้กันอย่างอุกฤษฐ์  จึงไม่ได้ไปช่วยทางปีกซ้ายอย่างรวดเร็ว    แต่ทางปีกซ้ายก็สามารถต้านทานเปอร์เซียเอาไว้ได้ไม่เป็นอันตราย    พระเจ้าอเล็กซานเดอร์จึงนำทหารม้ากองนี้กลับไปติดตามพระเจ้าดาริอุสต่อไป 

 

 

 

 

 

 

   

 

 

 

       พาร์มาเนโอนนำกำลังเข้ายึดค่ายพระเจ้ากรุงเปอร์เซียได้ ช้าง  อูฐ  และเกวียนพาหนะของกองทัพเปอร์เซียทั้งหมด

          ส่วนพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ติดตามพระเจ้ากรุงเปอร์เซียนั้น  ได้พักเวลากลางคืนชั่วขณะ  และติดตามต่อไปจนเข้าเมืองอาร์เบลา (Arbela)  ได้สมบัติ  เครื่องศาสตราวุธ  และรถศึกพระเจ้ากรุงเปอร์เซีย ที่เก็บไว้ในเมืองนั้นเป็นอันมาก      พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ไล่ติดตามทหารเปอร์เซียไปราว  ๑๐๐  กิโลเมตร   ว่ากันว่า  ทหารเปอร์เซียถูกอาวุธบาดเจ็บล้มตายในเวลาหนีนี้  มากกว่าในสนามรบเสียอีก 

การสูญเสีย

               กองทัพเปอร์เซียสูญเสีย  ๔๐,๐๐๐ - ๙๐,๐๐๐    ส่วนกองทัพมาเซโดเนีย  ว่าสูญเสีย  ๑,๒๐๐

 

 บทเรียนจากเกากาเมลา   เข้าถึง เข้าใจ และปฏิบัติตามศิลปะการสงคราม

          หากจะศึกษาพิจารณาเปรียบเทียบการรบของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทั้งสามสมรภูมิ  จะเห็นเหมือนกับว่า   การรบมีความคล้ายกันเป็นอันมาก  แต่หากจะพิจารณาให้ลึกซึ้งแล้ว   การดำเนินกลยุทธขั้นแตกหักของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์จะผันแปรไปในแต่ละสมรภูมิ  ซึ่งเป็นหลักฐานอย่างดีว่า     พระองค์มิได้นำระบบของพระบิดามาใช้อย่างไม่ลืมหูลืมตา  หากแต่ได้เข้าถึงและปฏิบัติตามศิลปะการสงครามอย่างแท้จริง    เสมือนกับพระองค์สาธิตให้เห็นปรีชาสามารถในการจำแนกสถานการณ์ที่จำเป็นเพื่อชัยชนะที่เด็ดขาด  พระองค์จะปรับเปลี่ยนรูปขบวนอย่างรวดเร็วเพื่อรักษาสถานการณ์แห่งชัยชนะ    หากการเข้าตี หรือการปรับเปลี่ยนเป็นความเสี่ยง  จะไม่ยอมรับ    ในแต่ละกรณี จะเป็นการเสี่ยงที่ได้คิดคำนวณแล้วไม่ใช่การเสี่ยงโชคอย่างปราศจากความระมัดระวัง

 

 

 

The  Master  General  and  ruler  of  the  vast  Persian  Empire

          จากเกากาเมลาพระเจ้าอเล็กซานเดอร์เดินทัพเข้าสู่กรุงบาบิโลน  (Babylon)  เมืองซูซา  (Susa)  และเพอร์ซีโพลิส (Persepolis) เมืองหลวงอันมหัศจรรย์  ร่ำรวย  เป็นระเบียบพิธีการ แห่งอาณาจักรเปอร์เซีย    การจัดการทางการเมืองต่ออาณาจักรที่พิชิตได้ใหม่นี้ มีความสำคัญและเร่งด่วนกว่าการติดตามกองทัพซึ่งแตกกระจัดกระจายไปหมดแล้ว ตามภูมิประเทศซึ่งเต็มไปด้วยภูเขา ซึ่งทำให้พระเจ้าดาริอุสสามารถหนีได้ง่าย     และท้องพระคลังของพระเจ้ากรุงเปอร์เซียก็มีความสำคัญเกินกว่าที่จะเลื่อนการยึดครองออกไปได้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 Entrance  into  Babylon

 

           ในฤดูใบไม้ผลิ  พ.ศ.๒๑๓  (๓๓๐  ปีก่อนคริสตศักราช) จึงเริ่มติดตามกษัตริย์ดาริอุส   ได้พบที่ชายฝั่งด้านทิศใต้ของทะเลแคสเปียน  (Caspian)   และ . . . ถูกสังหาร

          เมื่อได้ยืนเหนือร่างของกษัตริย์ดาริอุส       พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ . . .

แม่ทัพผู้ยิ่งใหญ่และผู้ปกครองอาณาจักรเปอร์เซียอันไพศาลและมโหฬาร

 

 การรวมอาณาจักร    ทหารการเมือง  -- สู่ชมภูทวีป

          บทบาทใหม่ของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์  - พระเจ้ากรุงเปอร์เซีย - มุ่งหน้าไปทางตะวันออกเพื่อจัดการครอบครองอาณาเขตเปอร์เซียที่ยังหลงเหลืออยู่  ในปี พ.ศ.๓๑๕ (๒๒๘  ปีก่อนคริสตศักราช)  ได้ปราบบัคเทรีย (Bactria) และ โซกเดียนา (Sogdiana)  จึงเป็นอันว่าพระองค์ได้ครอบครองดินแดนที่เคยเป็นของกษัตริย์ดาริอุสมาก่อนทั้งหมดแล้ว

          และต่อแต่นี้ไป  พระองค์ได้แสดงความสามารถในการปรับยุทธวิธีของพระองค์ให้เข้ากับภูมิประเทศที่ยากลำบาก และวิธีที่คล้ายกับการรบแบบกองโจรของฝ่ายตรงข้าม    พระองค์เห็นว่า  จะไม่สามารถรักษาอาณาจักรไว้ได้หากไม่จัดระเบียบการปกครอง และเพื่อให้การปกครองเกิดประสิทธิภาพจะต้องผสมผสานให้เข้ากับ "โลกของกรีก" โดยไม่ทำลายวัฒนธรรมเดิมอย่างรุนแรง    พระองค์จะพิสูจน์ให้เห็นว่า มี ศิลปะในการปกครอง ดุจเดียวกับการทหาร


          เมื่อชายแดนด้านตะวันออกเฉียงเหนือปลอดภัยแล้ว  ก็เตรียมแผ่อาณาเขตไปทางตะวันออก --  สู่ชมภูทวีป

 

 

          บัดนี้ กองทัพพระเจ้าอเล็กซานเดอร์เหลือทหารราบไม่เกิน  ๒๒,๐๐๐   และทหารม้า  ไม่เกิน  ๖,๕๐๐   รวมทั้งทหารรับจ้างจำนวนน้อยด้วย    ทหารเหล่านี้เป็นทหารมาเซโดเนียนที่ร่วมศึกมาแต่เริ่มแรกที่ได้เคยสู้รบอย่างมีประสิทธิภาพมาแล้ว    ทหารเหล่านี้มีประสบการณ์  แข็งกระด้าง  และถือได้ว่ามีอิทธิพล  แต่พวกเขาเหนื่อยและเบื่อมาก   ตั้งแต่เริ่มการยุทธในเอเซียไมเนอร์นับเวลาได้ ๙ ปี

          ในฤดูใบไม้ร่วง พ.ศ.๓๑๖ (๒๒๗   ปีก่อนคริสตศักราช) พระองค์นำทัพจากทิวเขาฮินดูกูช (Hindu Kush Mountains) ลงสู่ลุ่มน้ำสินธุ  (Indus River) และในฤดูร้อน ก็ได้มาถึงฝั่งเหนือของแม่น้ำไฮดาสเปส หรือแม่น้ำจเฮลุม  (Hydaspes/Jhelum River)  เผชิญกับกองทัพพระเจ้าโพรุส (Porus)  พระราชาองค์หนึ่งในชมภูทวีป   การรบที่ดุเดือดที่สุดจะเกิดขึ้นในไม่ช้า

 

การข้ามแม่น้ำไฮดาสเปส

          การรบที่แม่น้ำไฮดาสเปสค่อนข้างจะแตกต่างไปจากการรบที่ผ่านมาทั้ง  ๓ ครั้ง  ซึ่งใช้รูปขบวนขั้นบรรไดในการรบ    คราวนี้พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ใช้แนวคิดทางยุทธวิธีใหม่   การตกลงใจขึ้นอยู่กับสถานการณ์แวดล้อมในแต่ละกรณี    ปัญหาของพระองค์คือ  "ต้องข้ามลำน้ำกว้างต่อหน้าข้าศึกและทำลายข้าศึกในการรบ"   พระเจ้าโพรุสมีกองทัพที่เป็นเอกภาพ  ทหารราบ   ๓๐,๐๐๐   ทหารม้า  ๔,๐๐๐    รถศึก  ๓๐๐  นอกจากนั้นยังมี ช้าง อีก  ๒๐๐ เชือก 

          พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ไม่สามารถข้ามลำน้ำโดยตรงที่หน้าค่ายได้ เนื่องจากพระเจ้าโพรุสจัดการระวังป้องกันที่ลุยข้ามอย่างแข็งขัน    จึงต้องคิดใหม่   

               ประการแรก    ทำให้พระเจ้าโพรุสเชื่อว่า พระองค์ตั้งใจรอให้ถึงฤดูน้ำลดเสียก่อนจึงคิดข้ามด้วยการปล่อยข่าวลือ   และเพื่อให้ดูสมจริง  จึงให้ทหารในค่ายรวบรวมทัพสัมภาระ    พระเจ้าโพรุสได้รับข่าว แต่ก็ไม่ลดระดับการระวังป้องกัน

               ประการต่อมา  พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ดำเนินการต่อไปเพื่อให้พระเจ้าโพรุสสับสนด้วยการแสดงลวง และการแจ้งเตือน    เช่น สร้างเรือจำนวนมากแล้วกระจายไปทั้งทางต้นน้ำและท้ายน้ำของค่าย   ทำท่าว่าจะข้ามในเวลากลางคืนซ้ำๆ ซากๆ  แต่ไม่ข้าม   ในไม่ช้า  กองทัพพระเจ้าโพรุสก็เริ่มเหนื่อยหน่ายต่อการระวังป้องกันอันไม่รู้จบนี้  และเริ่มผ่อนคลาย  และ . . . นี่คือสิ่งที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์รอคอย

          เมื่อพระเจ้าโพรุสลดการระวังป้องกัน  พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ก็แสวงประโยชน์ต่อไป    จากการลาดตระเวนก่อนหน้านี้ได้กำหนดท่าข้ามไว้เหนือจากค่ายขึ้นไปประมาณ  ๒๗  กิโลเมตร   ในบริเวณค่ายมาเซโดเนียยังคงดำเนินการลวงต่อไป    แต่ในคืนเดือนมืด ที่ฝนตกและฟ้าคะนองกำลังหลักของมาเซโดเนียก็เคลื่อนย้ายไปสู่ท่าข้าม  โดยที่สภาพอากาศเป็นเครื่องกำบังการเตรียมการนี้  และเส้นทางการเคลื่อนที่ก็ห่างจากแม่น้ำจนหน่วย ลาดตระเวนสอดแนมของอินเดีย "ไม่เห็นและไม่ได้ยิน"

          แผนการของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์เป็นรูปแบบของการข้ามลำน้ำที่มีการป้องกันอย่างแข็งแรง    เพื่อให้เป็นการจู่โจม    กำลังที่ข้ามในระลอกแรกต้องให้มีขนาดเล็กที่จะข้ามไปได้หมด (ด้วยเครื่องมือข้ามอันจำกัด) ในเที่ยวเดียว  แต่ก็ต้องมากพอที่จะไม่ให้ถูกทำลายเสียก่อน     อย่างไรก็ตาม พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ให้คราเทรุส (Craterus) คุมทหารจำนวนหนึ่งรักษาค่าย  มีภารกิจคอยข้ามลำน้ำเมื่อเห็นพระเจ้าโพรุสเคลื่อนพลไปต่อต้านพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ หรือออกหนี

            กำลังหลักที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์นำไปมี  ทหารราบ  ๑๐,๐๐๐  ทหารม้า  ๕,๐๐๐    แบ่งออกเป็นสองส่วน   พระองค์นำส่วนนำข้ามไปก่อน  ส่วนที่สองรออยู่ที่ลุยข้ามใต้ลงมา  ส่วนนี้จะเริ่มข้ามเมื่อส่วนนำได้ขับไล่หรือผลักดันกำลังฝ่ายอินเดียที่ท่าข้าม (ถ้ามี) แล้ว    การปฏิบัติเป็นไปตามแผน   ถึงแม้ว่า  กำลังส่วนนำจะจะประสบสถานการณ์ที่ยากลำบากบ้าง    เมื่อข้ามถึงแผ่นดินคิดว่าเป็นฝั่งไกล  กลับเป็นเกาะซึ่งห่างจากฝั่ง    แต่ก็ยังโชคดีที่มีที่ลุยข้ามในบริเวณใกล้ๆ นั้น    เมื่อข้ามไปได้แล้ว ก็รีบรวบรวมส่วนนำเข้าปะทะกำลังหลักของอินเดียต่อไป    ระหว่างทางได้ปะทะและเอาชนะกองกำลังลาดตระเวนของโอรสพระเจ้าโพรุส ซึ่งมีจำนวน  ๒,๐๐๐

          เป็นความประทับใจในการวางแผนระยะยาวซึ่งทำให้การข้ามลำน้ำครั้งนี้สำเร็จผล    การกระทำที่เห็นว่าไม่มีเป้าหมายดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและไม่สิ้นสุดในค่ายมาเซโดเนียทั้งหมดทั้งมวลมุ่งไปสู่จุดหมายที่กำหนดไว้แล้ว  คือ การสร้างความสับสนขึ้นในใจผู้นำฝ่ายตรงข้าม  เหมือนแสดงให้เห็นเพื่อไม่ให้ปฏิบัติได้ถูก   

          แผนนี้  รวมความอ่อนตัวและจู่โจมเข้าด้วยกัน  ใช้ภูมิประเทศช่วยเพิ่มในเรื่องการรักษาความลับ และความปลอดภัย     การข้ามมากกว่าหนึ่งแห่งก็ช่วยให้กำลังมาเซโดเนียข้ามได้เร็วขึ้นและปลอดภัยมากขึ้นด้วย

 

 ไฮดาสเปส  พ.ศ.๒๑๗  (๓๒๖  ปีก่อนคริสตศักราช)

          พระเจ้าโพรุสจัดกำลังส่วนน้อยไว้ป้องกันการข้ามลำน้ำของคราเทรุส ขยายกองทัพเป็นมุมฉากไปทางแม่น้ำ  แต่ไม่ให้ถึงถึงฝั่งแม่น้ำ  จัดช้างไว้ตอนกลาง และจัดทหาราบไว้ระหว่างและข้างหลังช้าง     และมีทหารม้าอยู่ทั้งสองปีก

ข้อสำคัญ    พระเจ้าโพรุส  ตั้ ง ใ จ  ตั้ ง รั บ

          ยุทธวิธีของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์แตกต่างไปจากการรบครั้งก่อน    เพราะว่า  ไม่สามารถใช้ทหารม้าเอาชนะได้  และก็ ไม่สามารถให้ช่วยเหลือทหารราบได้ เนื่องจากม้าไม่สามารถเข้าถึงช้างได้   พระองค์เพียงแต่หวังว่าป้องกันทหารม้าอินเดียซึ่งคุ้นเคยกับการทำงานร่วมกับช้าง ไม่ให้เข้ามาทำอันตรายทหารราบมาเซโดเนียได้    เพื่อที่จะให้เป็นดังนี้   ต้องแยกทหารม้าอินเดียออกจากช้างให้ได้    การรบครั้งนี้ขึ้นอยู่กับทหารราบ  แต่ก็ต้องกันทหารม้าอินเดียให้ออกไปจากปีก      การเข้าตีตามความคิดอันบรรเจิดนี้  พระองค์ต้องนำเพียงทหารม้าเข้าปะทะก่อนที่ทหารราบมาเซโดเนียจะมาถึง       จึงให้โคอินุส  (Coenus) ขุนพลที่ไว้ใจได้คนหนึ่งนำทหารม้าออกไปตามเส้นทางที่ซ่อนพราง   และให้เข้าตีทหารม้าอินเดียที่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน ทางปีก และด้านหลัง   พระองค์จะเข้าตีด้านหน้า    เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เป็นที่หวังว่าฝ่ายอินเดียจะเรียกรวมทหารม้าทั้งหมดมาช่วยทางด้านนี้เพื่อเอาชนะการเข้าตีของฝ่ายมาเซโดเนียเสียตั้แต่ต้นมือ

          การโจมตีของฝ่ายมาเซโดเนียทางปีกขวาเป็นเครื่องล่อให้ฝ่ายอินเดียรวมกำลังทหารม้ามาทางปีกนี้ (ปีกซ้ายของอินเดีย) 

          เหตุการณ์เริ่มเมื่อโคอินุสนำทหารม้าเข้าตีด้านปีก และด้านหลังทหารม้าอินเดีย    ก็แลเมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์นำทหารม้าอีกส่วนหนึ่งเข้าตีทางด้านหน้า  จึงเป็นการต่อสู้กันอย่างโหดเหี้ยม    ทางด้านซ้ายของแนวรบอินเดียควายช้างก็ไสช้างของตนเข้าต่อตีทหารม้ามาเซโดเนีย    และเมื่อฟาลังซ์มาเซโดเนียมาถึงการรบก็เป็นไปอย่างเต็ม

 

                              ตอนกลางของอินเดียก็สับสนอลหม่านเนื่องจากทหารม้าที่หนีมาจากทางปีกซ้าย    และยิ่งเลวร้ายยิ่งไปอีก  เมื่อช้างถูกยิงด้วยธนู และถูกหอก บาดเจ็บ   ควานควบคุมไม่ได้ วิ่งกลับเข้าทำลายทหารอินเดียเสียมากกว่า    ด้วยความกล้าหาญของกองทัพพระเจ้าโพรุส     การรบยุติ และแพ้อย่างสมบูรณ์   

          คราเทรุส  ซึ่งข้ามแม่น้ำตามที่ได้กำหนดไว้แล้ว ออกไล่ติดตาม  แต่กองทัพอินเดียได้แตกกระจัดกระจายไปหมดแล้ว

           เป็นอีกครั้งหนึ่งที่กองทัพมาเซโดเนียได้ชัยชนะด้วยการรบผสมเหล่า   แต่ในสมรภูมินี้ต้องยกย่องทหารในฟาลังซ์ซึ่งได้สู้รบอย่างดุเดือด

  ความสูญเสีย

          ฝ่ายอินเดีย    ทหาร เสียชีวิต  ๑๒,๐๐๐     ถูกจับ  ๙,๐๐๐   

                             ช้างถูกทำลาย และถูกจับได้ทั้งสิ้น

          ฝ่ายมาเซโดเนีย    ทหารราบเสียชีวิต  ๗๐๐   ทหารม้า  ๒๘๐    เป็นการสูญเสียหนักที่สุดของกองทัพมาเซโดเนีย   ทำให้พระเจ้าอเล็กซานเดอร์เป็นทุกข์มาก

  

 

 

 

 

Alexander    and    Porus

 

 

 

 

ฯลฯ

 . . . แท้จริงอาเล็กซานเดร์  คิดจะตีเมืองต่างๆ ในประเทศอินเดียต่อไป    และจะไปให้ถึงแม่น้ำคงคาซึ่งล่ำลือกันนักว่ามีเมืองใหญ่โตสมบูรณ์มั่งคั่งอยู่ริมแม่น้ำนั้นมาก    แต่พเอินทหารเกิดเดือดร้อนหนักขึ้น  และไม่หยากเดินทัพต่อไป    อาเล็กซานเดร์จึงต้องงด  กลับมาบาบิโลนเสียคราวหนึ่ง  ในปี พุทธศักราช ๓๑๙    อาเล็กซานเดร์มหาราชสิ้นพระชนม์  มีพระชนมายุเพียง  ๓๓  ปีเท่านั้น 

            ครั้นอาเล็กซานเดร์สิ้นพระชนม์แล้ว  บ้านเมืองต่างๆ ที่ได้ปราบปรามรวบรวมกันเข้าเป็นแผ่นดินใหญ่แผ่ไพศาล    ตั้งแต่ประเทศกรีกทางทิศตวันตกไปจนจดประเทศอืนเดียทางทิศตวันออกนั้น  ก็ต่างแตกแยกกันออกไปไม่คงรวมกันอยู่ได้  เพราะขาดผู้มีอำนาจและกำลังแรงกล้า  ซึ่งอาจยึดชาติต่างๆ  ให้รวมกันอยู่ในมือเดียวได้นั้น    ข้าหลวงต่างพระองค์ในมณฑลต่างๆ  ต่างตั้งตนเป็นเจ้าแผ่นดิน   เลยเกิดแยกกันเป็นประเทศต่างๆ มากมาย

ฯลฯ

พงษาวดารยุทธศิลปะ

 

 

 Alexander's  Funeral  Procession

 

 

ประเทศต่างๆที่เกิดขึ้นตามพระนิพนธ์ นั้นได้แก่

          - พโตเลมี   (Ptolemy)  สหายตั้งแต่วัยเยาว์ และขุนทหารใหญ่  ครอบครองอียิปต์ เป็นราชวงศ์พโตเลมี 

          - เซเลียวคุส   (Seleucus)  ขุนทหารใหญ่ได้เมโสโปเตเมีย (Mesopotamia)  เปอร์เซีย  และซีเรีย

          - แอนติโกนุส   (Antigonus)  เป็นพระราชาครองมาเซโดเนียสืบไป

 

 

 

 

อาณาจักรของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชที่แยกออกเป็นประเทศต่างๆ

 

 

          การพิชิตของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ก็ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนอารยธรรมโบราณ     อารยธรรมเฮเลนิค ไม่ว่าทางเศรษฐกิจ  การเมือง  และวัฒนธรรม อื่นๆ  ติดตามกองทัพและแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวาง   และรับอารยธรรมเอเซียกลับไปสู่กรีซ 

 


 

 

 

 

The  torch  Alexander  lit  for  long  only  smouldered;

perhaps  it  still  only  smoulders  today;

but  it  never  has  been  and  never  can  be,  quite  put  out.

ANCIENT  AND  MEDIEVAL  WARFARE

 

 

 

 

 

 *      *      *      *      *      *      *      *      *      *      *      *      *      *      *

 

 

 บรรณานุกรม :

          -  พงษาวดารยุทธศิลปะ    นายพลเอก  สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ  เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ  กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ    พิมพ์ครั้งที่ ๑   ในพระพุทธศักราช  ๒๔๕๙

          - เอกสารอัดสำเนาวิชาประวัติศาสตร์การสงคราม  กองวิชาสรรพาวุธและประวัติศาสตร์การสงคราม  โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า    พ.ศ.๒๕๐๔

               - ANCIENT  AND  MEDIEVAL  WARFARE     USMA    DEPARTMENT  OF  HISTORY    1973

               - ส่วนข้อมูล และรูปภาพ ส่วนหนึ่งได้นำมาจาก เว็ปไซต์ ต่างๆ ทำให้เรื่องสมบูรณ์และน่าอ่านยิ่งขึ้น  จึงขอขอบคุณไว้  ณ  ที่นี้   แลหากท่านที่มีข้อมูลที่แตกต่าง  หรือมีข้อคิดเห็น คำแนะนำ ขอโปรดแจ้งให้ทราบเพื่อจะได้ตรวจสอบ และดำเนินการ เพื่อประโยชน์แก่ผู้สนใจโดยทั่วไป




ประวัติศาสตร์สงคราม กรีก โดย สัมพันธ์

อเล็กซานเดอร์มหาราช : เริ่มลมเหนือ
สงคราม กรีก - กรีก
สงคราม กรีก - เปอร์เซีย



1

ความคิดเห็นที่ 1 (304)
avatar
yaos

สุดยอดจริงๆเลยค่ะท่าน    ..................ชอบมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

ผู้แสดงความคิดเห็น yaos วันที่ตอบ 2009-05-09 08:02:57 IP : 202.139.223.18


ความคิดเห็นที่ 2 (306)
avatar
สัมพันธ์

 ขอบคุณครับ แต่ดูเหมือนจะชมเกินไปแล้ว  เชิญอ่านเรื่อง หรือ "ตับ"(เรียกแบบเพลงไทย)อื่นๆ ด้วย  ตอนนี้กำลังทำตับ อยุธยายศล่มแล้ว    ลอยสวรรค์  ลงฤๅ อยู่  จบแล้วคิดว่าจะเป็นเรื่อง "ฮานนิบาล"    ขอบคุณอีกครั้งครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น สัมพันธ์ วันที่ตอบ 2009-05-13 17:26:44 IP : 125.25.147.210


ความคิดเห็นที่ 3 (321)
avatar
pop
ขอบคุณครับ
ผู้แสดงความคิดเห็น pop วันที่ตอบ 2009-06-08 11:36:37 IP : 222.123.170.174


ความคิดเห็นที่ 4 (538)
avatar
eak
ขอบคุณครับ สำหรับความรู้ เเต่ผมยกย่อง กองทัพ ....โรมัน.... มากกว่าครับ
ผู้แสดงความคิดเห็น eak (ake_mn-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-04-23 20:10:10 IP : 58.8.91.193


ความคิดเห็นที่ 5 (539)
avatar
สัมพันธ์

กองทัพคือผลผลิตของสังคม  (หมายถึงกองทัพของชาติ ที่ชนชาตินั้นเป็นทหารของชาติ  ไม่ใช่กองทัพที่จ้างชนชาติอื่นมาเป็นทหารอย่างคาร์เธจ)  คือ  คนในชาติเป็นอย่างไร  กองทัพก็เป็นอย่างนั้น  เพราะกองทัพมาจากคนในชาติ  ในสังคม

          สังคมกล้าหาญมีวินัย  กองทัพก็กล้าหาญมีวินัย  ฯลฯ  อย่างนี้น่ะครับ   ซึ่ง  ความกล้าหาญ  และวินัยนี้  ท่านว่าเป็นอำนาจกำลังรบด้วย  คือเป็นกำลังรบที่ไม่มีตัวตน     เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ กองทัพกรีกเอเธนส์ชนะกองทัพเปอร์เซียได้ที่ทุ่งมาราธอน  นะครับ

ผู้แสดงความคิดเห็น สัมพันธ์ (samphan_chaeng-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-04-23 21:45:44 IP : 124.121.37.185



1


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker