ท่านที่สนใจ สามารถติดตามได้ที่ http://widetalks.multiply.com ด้วย

พระพุทธศักราช ๒๔๘๔ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
รัชกาลที่ ๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ประเทศไทยได้ทำสงครามกับฟรั่งเศส ในกรณีพิพาทอินโดจีน ภาษาอังกฤษ รู้จักกันในชื่อ "สงครามฝรั่งเศส - ไทย" หรือ "French - Thai War" เป็นการรบกันระหว่างประเทศไทยกับรัฐบาลฝรั่งเศสวิชี ช่วง วันที่ ๖ - ๒๘ มกราคม ๒๔๘๔ จากเหตุความขัดแย้งในการอ้างสิทธิเหนือดินแดนอินโดจีนฝรั่งเศสบางส่วน คือ ลาว และกัมพูชา ซึ่งเคยเป็นประเทศราชของไทยมาก่อน มีเหตุการณ์สำคัญเช่น วีรกรรมของ นาวาอากาศตรี ศานิต นวลมณี ยุทธนาวีเกาะช้าง วีรกรรมของกองทัพบูรพา เป็นต้น
เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับ ณ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ รัฐบาลจึงได้ตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประกอบด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ทรงเป็นประธาน เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) และ นายพลเอก เจ้าพระยาพิชเยนทร์โยธิน
ประเทศไทยจำตัองสละประเทศราชให้จักรวรรดินิยมอังกฤษ และฝรั่งเศส ในยุคการล่าอาณานิคมของชาติยุโรป โดยเฉพาะฝรั่งเศสได้บีบบังคับไทยด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งทางการฑูต และทางการทหาร จนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องทรงยอมสละดินแดน เพื่อรักษาเอกราช ดังนี้
เลือดเนื้อเชื้อเผ่าถูกเขายื้อแย่งไป
ครั้งที่ ๑ พ.ศ.๒๔๑๐ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ เสียเขมรส่วนนอกและเกาะอีก ๖ เกาะ
ไทยเสียเขมรส่วนนอกและเกาะอีก ๖ เกาะ ให้แก่ฝรั่งเศส นับเป็นการเสียดินแดนครั้งแรกในรัชกาลของพระองค์
ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๔๓๑ เสียลาว สิบสองจุไทยและหัวพันทั้งห้าทั้งหก
ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๔๓๖ (ร.ศ.๑๑๒) เสียดินแดนลาว ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ตลอดทั้งเกาะต่าง ๆ ในแม่น้ำโขง
ครั้งที่ ๔ พ.ศ.๒๔๔๖ เสียเมืองจำปาศักดิ์ มโนไพร และ ดินแดนลาวฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงข้ามเมืองหลวงพระบาง
ครั้งที่ ๕ พ.ศ.๒๔๔๙ เสียเขมรส่วนใน คือเมืองเสียมราฐ พระตะบอง และศรีโสภณ เป็นพื้นที่ ๕๑,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร เพื่อแลกกับ เมืองตราด เกาะกง และเมืองด่านซ้าย พร้อมทั้งอำนาจศาลไทย ต่อคนในบังคับฝรั่งเศส
ซึ่งยังความชอกช้ำให้ชนชาวไทยเสมอมา ดังสะท้อนออกมาในเพลง "มณฑลบูรพา" ตอนหนึ่งที่ว่า
" มณฑลบูรพา เคยได้เป็นของเรา เสียมราฐ พระตะบอง บ้านพี่เมืองน้องมาช้านานแต่ครั้งโบราณก่อนเก่า
ไทย ชาติไทยใจเศร้า เลือดเนื้อเชื้อเผ่าถูกเขายื้อแย่งไป คอย ไทยเราเฝ้าคอย แต่กำลังเราน้อยสู้เขาไม่ไหว
ร่วมสามสิบปี ทัพไทยก็มีสมรรถภาพ และเข้มแข็งยิ่งใหญ่ . . ."
และสถานการณ์โลกก็เอื้ออำนวย เนื่องจากเกิดสงครามขึ้นในทวีปยุโรป
ก่อนหน้าที่ จะเกิดสงครามโลก ครั้งที่ ๒ ประมาณหนึ่งเดือน ทางรัฐบาลฝรั่งเศสมีความกังวลเกี่ยวกับ ความปลอดภัย และบูรณภาพของอินโดจีนซึ่งเป็นอาณานิคมของตน โดยเกรงว่า ไทยจะส่งกองทหารเข้าไปยึดดินแดนที่เคยเสียให้ฝรั่งเศสกลับคืน จึงเสนอทำสัญญาไม่รุกรานกับประเทศไทย
๑ กันยายน ๒๔๘๒ เยอรมันนีส่งกองทัพอากาศและกองทัพรถถังเข้าโจมตีประเทศโปแลนด์อย่างสายฟ้าแลบ
.jpg)

ในวันเดียวกันนี้ ฝรั่งเศส และอังกฤษ ยื่นคำขาดให้เยอรมนี ถอยจากโปแลนด์ มิฉะนั้น จะประกาศสงคราม ผู้นำเยอรมันปฏิเสธ
๓ กันยายน ๒๔๘๒ ฝรั่งเศส และอังกฤษ ประกาศสงครามต่อ เยอรมันนี
จากนั้น การรบก็ขยายตัวกลายเป็นสงครามไปทั่วยุโรป และอาฟริกา
หลังจากที่อังกฤษ และฝรั่งเศส ประกาศสงครามกับเยอรมันนี ในวันที่ ๓ กันยายน ๒๔๘๒ แล้ว รัฐบาลไทย ได้พิจารณาเห็นว่า ไทยเป็นประเทศเล็ก ไม่ควรที่จะเข้าไปร่วมในสงครามที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ทั้งยังควรแสดงให้ประเทศคู่สงคราม เห็นว่าไทยไม่ต้องการที่จะฝักใฝ่ฝ่ายใด ดังนั้น
๕ กันยายน ๒๔๘๒ รัฐบาลไทยประกาศความเป็นกลาง และได้ปฏิบัติตามคำประกาศอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ประเทศคู่สงครามทั้งสองฝ่าย ต่างมีหนังสือยืนยันว่าจะเคารพความเป็นกลาง ของประเทศไทยอย่างบริบูรณ์ เมื่อฝรั่งเศสต้องเข้าสู่สงคราม จึงเสนอต่อรัฐบาลไทยทำสัญญาไม่รุกรานกัน
คณะรัฐมนตรีของไทยในครั้งนั้น มีนายพันเอกหลวงพิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี มีจำนวนกว่าครึ่งหนึ่งที่ได้เคยไปศึกษาที่ฝรั่งเศส แทนที่จะถือเป็นโอกาสที่ดีของไทยกลับเห็นอกเห็นใจฝรั่งเศสที่ถูกรุกราน (เลยลืมว่าฝรั่งเศสเคยรุกรานและทำร้ายไทยอย่างไรบ้าง) จึงได้ตอบสนองการทำสัญญานั้นด้วยดี แต่ก็ยังได้เสนอให้ฝรั่งเศสปรับปรุงดินแดนฝั่งลำน้ำโขง ที่ล้ำเข้ามาในประเทศไทยเสียใหม่ ให้เป็นการถูกต้องตามหลักสากล ได้มีการต่อรองประวิงเวลากันมาหลายเดือน
แม้หวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ์ . . .
จากสถานการณ์ชองโลกที่พัฒนาไป รัฐบาลไทย โดยกระทรวงกลาโหมพิจารณาเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีกำลังทหารไว้รักษาเอกราช และอธิปไตยทางภาคใค้ จึงได้จัดหาที่ดินสำหรับจัดตั้งหน่วยทหารที่บริเวณเชิงเขาคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๔๘๒
๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๒ ทหารหน่วยแรกในภาคใต้ . . . กองพันทหารราบที่ ๕
กองทัพบกได้เคลื่อนย้ายกองพันทหารราบที่ ๕ จากบางซื่อ ไปเข้าที่ตั้งแห่งใหม่ ณ บริเวณเชิงเขาคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ นับเป็นทหารหน่วยแรกในภาคใต้ เป็นหน่วยขึ้นตรงมณฑลทหารบกที่ ๕ (นครศรีธรรมราช)
ส่วนสถานการณ์ของโลกก็หมุนไป . . .
๑๒ พฤษภาคม ๒๔๘๓ กองทัพเยอรมันนีรุกเข้าประเทศฝรั่งเศส
๑๐ มิถุนายน ๒๔๘๓ อิตาลีประกาศสงครามกับ อังกฤษ และฝรั่งเศส และบุกเข้าฝรั่งเศส
๑๒ มิถุนายน ๒๔๘๓ รัฐบาลไทย ได้ลงนาม ในกติกาสัญญา ไม่รุกรานกัน กับอังกฤษ และฝรั่งเศส ที่วังสวนกุหลาบ กรุงเทพฯ (ทำเนียบรัฐบาลขณะนั้น)
และในวันเดียวกันนี้ ไทยก็ได้ลงนาม ในสนธิสัญญา ว่าด้วย การเจริญสัมพันธไมตรีและเคารพต่อบูรณภาพแห่งกัน ระหว่าง ไทยกับญี่ปุ่น ณ กรุงโตเกียว ด้วย
. . . หลังจาก ที่ลงนาม ในสนธิสัญญาไม่รุกรานกัน กับอังกฤษ และฝรั่งเศส ได้เพียง ๒ วัน . . .
๑๔ มิถุนายน ๒๔๘๓ กองทัพเยอรมันนีเข้ากรุงปารีส และจากนั้น อีก ๘ วัน . . .
๒๒ มิถุนายน ๒๔๘๓ ฝรั่งเศสยอมลงนามในสัญญาสงบศึกกับเยอรมันนีที่ป่าเมืองคอมเปียน
รัฐบาลฝรั่งเศส ต้องย้ายจาก กรุงปารีส ไปอยู่ที่เมืองวิชี
. . . ป้องกันมิใช่รุก- รานใคร . . .
ใน พ.ศ.๒๔๘๓ กองทัพบกได้ขอเช่าที่ดินจากสำนักงานพระคลังข้างที่ บริเวณ สวนวัฒทีวัน หรือสวนตูล ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมืองสงขลา และจัดตั้งจังหวัดทหารบกสงขลา กองพันทหารราบที่ ๔๑ และกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๑๓ โดยรวบรวมกำลังพลและเคลื่อนย้ายจากกรุงเทพฯ เข้าที่ตั้ง ณ บริเวณสวนตูล นี้ เมื่อ วันที่ ๑๓ กันยายน ๒๔๘๓ เป็นหน่วยขึ้นตรงมณฑลทหารบกที่ ๕ (นครศรีธรรมราช)
จังหวัดทหารบกสงขลา มีหน้าที่รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ๕ จังหวัด คือ สงขลา ปัคคานี ยะลา นราธิวาส และสตูล และมีหน่วยทหารในบังคับบัญชาคือ
กองพันทหารราบที่ ๔๑ และ กองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๑๓ ที่สวนตูล
กองพันทหารราบที่ ๔๒ ที่อำเภอหนองจิก ปัตตานี
กองพันทหารราบที่ ๔๓ ที่ เชิงเขาคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ สงขลา
ฝรั่งเศส . . . เอาแต่ได้ถ่ายเดียว
สนธิสัญญาไม่รุกรานกันดังกล่าวยังไม่มีผลใช้บังคับ เนื่องจากยังไม่ได้มีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันซึ่งกันและกัน ต่อมาฝรั่งเศสได้ขอให้สนธิสัญญามีผลใช้บังคับ โดยไม่ต้องมีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันเพื่อที่จะรักษาผลประโยชน์ของตนในอาณานิคมอินโดจีน เนื่องจากการสงครามในทวีปยุโรป ฝรั่งเศสพ่ายแพ้เยอรมัน และในทวีปเอเซียดินแดนส่วนใหญ่ กำลังถูกคุกคามจากญี่ปุ่น รัฐบาลไทยได้ตอบฝรั่งเศสไปว่ายินดีตกลงปฏิบัติตามสนธิสัญญา ถ้าฝรั่งเศสยอมรับข้อเสนอของไทย ๓ ประการ คือ
๑. ขอให้มีการวางแนวเส้นเขตแดนตามลำน้ำโขงให้เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่งประเทศ โดยให้ถือร่องน้ำลึกเป็นเส้นเขตแดน
๒. ขอให้ปรับปรุงเส้นเขตแดนให้เป็นไปตามธรรมชาติ คือถือแม่น้ำโขงเป็นเส้นเขตแดนระหว่าง ไทยกับอินโดจีนตั้งแต่ทิศเหนือจรดทิศใต้ จนถึงเขตกัมพูชา โดยให้ฝ่ายไทยได้รับดินแดนทางฝั่งแม่น้ำโขงตรงข้ามกับหลวงพระบาง และตรงข้ามกับปากเซคืนมา
๓. ขอให้ฝรั่งเศสรับรองว่าถ้าไม่ได้ปกครองอินโดจีนแล้ว ฝรั่งเศสจะคืนลาวและกัมพูชาให้กับไทย
๑๗ กันยายน ๒๔๘๓ รัฐบาลฝรั่งเศสก็ได้ตอบปฏิเสธคำร้องของไทยอย่างสิ้นเชิง ทั้งยังส่งกองทหาร ในอินโดจีนเข้าประชิดชายแดนไทย และ ล่วงล้ำอธิปไตยของไทย ทั้งทางพื้นดิน และอากาศ หลายครั้ง (อุตส่าห์เห็นใจเขา แล้วนา นี่แหละที่ท่านว่า "เอ็นดูเขา - เอ็นเราขาด")
ฝรั่งเศสปฏิเสธ สู้ตาย ให้ญี่ปุ่นดีกว่าคืนให้ไทย
แต่ความจริงคือ การที่ไทยยอมลงนามในสนธิสัญญาไม่รุกรานกันกับฝรั่งเศสทั้งๆ ที่ฝรั่งเศสกำลังจะแพ้อยู่แล้ว และยอมให้สัญญาฉบับนี้ มีผลใช้บังคับทันที โดยไม่ต้องรอการแลกเปลี่ยนสัตยาบัน นั้น เป็นการรักษาคำพูดของไทย มากกว่า
ดังนั้น การที่ฝ่ายฝรั่งเศสประนามว่าไทยแทงข้างหลังเมื่อตนเพลี่ยงพล้ำนั้น จึงไม่เป็นความจริง
หนังสือพิมพ์ของทั้งสองฝ่ายต่างโจมตีกันอย่างหนัก ฝ่ายฝรั่งเศสได้ระดมทหาร เข้ารักษาพื้นที่ตามชายแดน และได้ยิงปืนข้ามแม่น้ำโขงมายังฝั่งไทย พร้อมทั้งส่งเครื่องบินข้ามแดนเข้ามา เป็นทำนองท้าทายอยู่ตลอดเวลา สถานการณ์ตึงเครียดขึ้นตามลำดับ รัฐบาลจึงเตรียมพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับฝรั่งเศส เพื่อแก้ปัญหาเรื่องดินแดนให้เด็ดขาด
๒๒ กันยายน ๒๔๘๓ กองทหารญี่ปุ่นได้เคลื่อนพลเข้าสู่ดินแดนอินโดจีนเพื่อใช้เป็นหัวหาดพุ่งเข้าสู่พม่า โดยฝ่ายญี่ปุ่นมิได้ทำลายอธิปไตยของอินโดจีนเพราะ รัฐบาลวิซีก็อยู่ใต้อิทธิพลของเยอรมัน
๒๓ กันยายน ๒๔๘๓ รัฐบาลไทยได้จัดคณะฑูตพิเศษ เดินทางไปเยี่ยมเยียน และเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศในเครือจักรภพย่าน เอเซีย คือ พม่า อินเดีย มลายู สิงคโปร์ รวมทั้งออสเตรเลีย ปัตตาเวีย
๒๗ กันยายน ๒๔๘๓ เยอรมันนี อิตาลี และญี่ปุ่น ทำสนธิสัญญาไตรภาคี
ในที่สุดนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองซึ่งเป็นยุวชนนายทหาร ได้ตั้งผู้แทนไปพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ขอร้องเดินขบวนเรียกร้องดินแดนคืน ซึ่งทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้วางหลักไว้เป็นบรรทัดฐานที่จะไม่ให้พระสงฆ์องค์เจ้า และนักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่อยู่ในวัยศึกษา เข้าเกี่ยวข้องกับการเมืองเรื่องลัทธิและเรื่องพรรค ฯลฯ แต่ในกรณีนี้เห็นว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรักชาติอันเป็นสิทธิและหน้าที่ของประชาชน จึงไม่มีอำนาจที่จะห้ามได้ เมื่อได้ปรึกษากับอธิบดีกรมตำรวจแล้ว มีความเห็นสอดคล้องกัน จึงได้รับทราบไว้ และตักเตือนไม่ให้ล่วงเกินสถานทูต หรือคนสัญชาติฝรั่งเศส ส่วนข้อความบนแผ่นป้ายต่าง ๆ ก็ไม่ให้ใช้คำพูดที่หยาบคายก้าวร้าว


๘ ตุลาคม ๒๔๘๓ การเดินขบวนได้เริ่มขึ้น ประชาชนนับหมื่นทุกเพศทุกวัย พากันมาจากทุกสารทิศ คนเฒ่าคนแก่ อุ้มลูกจูงหลาน ร้องไห้ฟูมฟายด้วยความเคียดแค้นที่ไทยต้องเสียดินแดนไป ความรู้สึกนี้ได้แผ่ขยายไปทั่วประเทศ เป็นการแสดงมติมหาชนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทั้งชาติ

ขบวนการเรียกร้องดินแดนคืนของยุวชนนายทหาร ไหลหลากมาเต็มหน้าพระลานและท้องสนามหลวง และได้มาหยุดชุมนุมกันหน้ากระทรวงกลาโหม
พลตรี หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พันเอก หลวงเกรียงศักดิ์พิชิต รองผู้บัญชาการทหารบก เจ้ากรมยุวชนทหาร และรองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มาต้อนรับที่หน้ากระทรวงกลาโหม ผู้แทนของมหาวิทยาลัยทั้งสองในเครื่องแบบยุวชนทหาร ได้เรียนเสนอการเรียกร้องดินแดนคืนต่อ พลตรี หลวงพิบูลสงคราม ขอให้เป็นผู้นำกองทัพของชาติ เข้ายึดเอาดินแดนของไทยกลับคืนมา ให้พี่น้องชาวไทยที่อยู่ในดินแดนดังกล่าวได้กลับมาร่วมเป็นบ้านพี่เมืองน้องของไทยตามเดิม และยุวชนนายทหาร ทั้งสองมหาวิทยาลัย จะมอบชีวิตไว้เป็นชาติพลี
พลตรี หลวงพิบูลสงคราม ได้กล่าวปราศรัยต้อนรับ และสรรเสริญสดุดีในความรักชาติ ความสามัคคี และความเสียสละ เพื่อประเทศชาติของชาวไทยทั้งมวล และได้ร่วมกันกล่าวปฏิญาณตน หน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จบแล้วได้กล่าวอวยชัยให้พร ไชโยสามครั้ง เป็นภาพประวัติศาสตร์ที่ซาบซึ้งตรึงใจเป็นที่สุด
ทางการฑูต ก็ดำเนินต่อไป
๑๑ ตุลาคม ๒๔๘๓ รัฐบาลวีซี ของฝรั่งเศส ได้ตอบปฏิเสธรัฐบาลไทยในการที่ไทยขอดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงคืน และขอให้ใช้ลำน้ำโขงเป็นเส้นเขตแดนตามธรรมชาติ
การเจรจากับรัฐบาลเยอรมัน
๑๔ ตุลาคม ๒๔๘๓ รัฐบาลไทยได้ส่งทูตไปเจรจากับรัฐบาลเยอรมัน เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง และความจำเป็น ที่ประเทศไทยต้องทำสงครามกับฝรั่งเศส ซึ่งในขณะนั้นอยู่ในความยึดครองของประเทศเยอรมัน โดยคณะทูตที่ไปเป็นนายทหารบก ๒ นาย กับนายทหารเรือ ๑ นาย คณะทูตได้เข้าพบ จอมพล เกอริง โดยการประสานงานของพระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งเป็นนักเรียนร่วมรุ่นกับ จอมพล เกอริง ในโรงเรียนนายร้อยเยอรมัน จึงได้รับความสะดวก และความร่วมมืออย่างดีทุกประการ
จอมพล เกอริง มีความกังวลว่า การพิพาทกับฝรั่งเศสในอินโดจีน จะบานปลาย เป็นการเปิดแนวรบที่สองขึ้นในตะวันออก และรับรองยินดีสนับสนุน การเรียกร้องดินแดนคืนของประเทศไทย แต่ขอให้เป็นดินแดนเดิมของไทย จะได้ไม่เป็นปัญหาสู้รบกันต่อไปไม่จบสิ้น จากนั้น ได้ติดต่อให้ไปเจรจากับรัฐมนตรีต่างประเทศ การเจรจาเป็นไปด้วยดี โดยทางเยอรมัน ยินดีช่วยเหลือเรื่องการคืนดินแดนที่สูญเสียไปโดยไม่เป็นธรรม ไม่เฉพาะแต่ด้านอินโดจีนฝรั่งเศส แม้ทางด้านพม่า และมลายู ของอังกฤษ มีเมืองมะริด ทวาย ก็ยินดีสนับสนุน
อย่างไรก็ตามฝ่ายไทยกับฝรั่งเศสยังคงมีการเจรจากัน แต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้ดังนั้น
๒๐ ตุลาคม ๒๔๘๓ พลตรี หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศมติของชาติไทยทางวิทยุกระจายเสียง มีใจความว่า ชาติไทยต้องการปรับปรุงเส้นเขตแดน กับอินโดจีนฝรั่งเศสให้เป็นไปด้วยความยุติธรรม ให้เป็นผลสำเร็จโดยไม่ยอมถอยหลัง พร้อมทั้ง ประกาศยับยั้งการให้สัตยาบันสัญญาไม่รุกรานกับฝรั่งเศส
การเตรียมกำลังตามแผนยุทธศาสตร์ ได้ดำเนินไปตามลำดับ
ฝ่ายฝรั่งเศสได้เคลื่อนกำลังเข้าประชิดแดนไทย ส่งเครื่องบินบินล้ำเข้ามาในพระราชอาณาจักรเป็นหลายครั้งดังนี้
๒๒ ตุลาคม ๒๔๘๓ ช่วงเช้า เครื่องบินปีกชั้นเดียวของฝรั่งเศสบินข้ามแม่น้ำโขง เข้ามาเหนือ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย
ช่วงบ่าย มีการส่งเครื่องบินทิ้งระเบิด จำนวน ๔ เครื่องบินเข้ามาทาง บ้านห้วยทราย บ้านพร้าว และศรีเชียงใหม่ ทั้งหมดบินกลับไปลงที่เวียงจันทน์
๒๓ ตุลาคม ๒๔๘๓ เครื่องบินทิ้งระเบิดของฝรั่งเศสบินเข้ามาเหนือ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย เครื่องบินของไทยขึ้นสกัดกั้น ๓ เครื่อง แต่มาไม่ทัน เครื่องบินฝรั่งเศสบินหนีไปลงเวียงจันทน์ก่อน
๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๘๓ ไทยได้แต่งตั้ง ผู้บัญชาการทหารสูงสุด แม่ทัพบก แม่ทัพเรือ และแม่ทัพอากาศ
๑. กองทัพบก ได้จัดกองทัพบกสนาม โดยมีนายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดและเป็นแม่ทัพบก ประกอบด้วย กองพลผสมปักษ์ใต้ กองพลพายัพ กองทัพบูรพา กองทัพอีสาน และกองพลผสมกรุงเทพ ฯ มีการประกอบกำลัง ดังนี้
๑.๑ กองทัพบูรพา นายพันเอก หลวงพรหมโยธี เป็นแม่ทัพ
มีภารกิจ เข้าตีด้านประเทศเขมร เพื่อเข้ายึดกรุงพนมเปญ บรรจบกับกองทัพอิสานที่พนมเปญ แล้วทั้งสองกองทัพกวาดล้างข้าศึกขึ้นไปทางเหนือ ตามแนวแม่น้ำโขง เพื่อบรรจบกับกองพลพายัพท่กวาดล้างลงมาทางใต้
ประกอบด้วย กองพลพระนคร กองพลลพบุรี กองพลปราจีณบุรี กองพลวัฒนานคร กองพลจันทบุรี โดยตั้งกองบัญชาการอยู่ที่จังหวัดปราจีณบุรี
๑.๒ กองทัพอีสาน นายพันเอก หลวงเกรียงศักดิ์พิชิต เป็นแม่ทัพ
มีภารกิจ เข้าตีตามแนวชายแดนด้านเขมรตั้งแต่เขตจังหวัดสุรินทร์ ไปถึงด้านลาว ตั้งแต่เขต
จำปาศักดิ์ ไปถึงด้านเหนือ คือเวียงจันทน์ ด้านเหนือ ให้ทำการบรรจบกับกองพลพายัพที่เวียงจันทน์ แล้วให้รุกลงมาทางใต้ตามแนวลำน้ำโขง
ประกอบด้วย กองพลอุดร กองพลอุบล กองพลสุรินทร์ กองพลธนบุรี กองพลนครราชสีมา หน่วยขึ้นตรงกองทัพฝ่ายกิจการพิเศษ กองหนุนกองทัพ และหน่วยปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน
๑.๓ กองพลผสมปักษ์ใต้ นายพันเอก หลวงเสนาณรงค์ เป็นผู้บัญชาการกองพล
ประกอบด้วย กองพลสงขลา และกองพลนครศรีธรรมราช
๑.๔ กองพลพายัพ นายพันโท หลวงหาญสงคราม เป็นผู้บัญชาการกองพล
มีภารกิจ เข้าตีเพื่อยึด หลวงพระบาง เวียงจันทน์ แล้วกวาดล้างข้าศึกลงมาทางใต้
ตามแนวลำน้ำโขง เพื่อทำการยุทธบรรจบกับกองทัพอิสาน
ประกอบด้วย กองพันทหารราบที่ ๓๐,๓๑,๒๘ (หนุน) ๓๐ (หนุน) และกองทหารสื่อสาร
๑.๕ กองพลผสมกรุงเทพ ฯ ประกอบด้วย กองพันทหารม้าที่ ๑ กองพันทหารช่างที่ ๗ กองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๑๖ กองสื่อสาร และกองรถรบ
๒. กองทัพอากาศ กองทัพอากาศได้จัดตั้งกองทัพอากาศสนามขึ้น มีนายนาวาเอก หลวงอธึกเทวเดช เป็นแม่ทัพ ประกอบด้วย
๒.๑ กองบินใหญ่ภาคเหนือ ประกอบด้วย กองบินน้อยผสมที่ ๗๓ อุบลราชธานี และกองบินน้อยผสมที่ ๓๕ จังหวัดอุดรธานี มีนายนาวาโท หลวงเชิดวุฒากาศ เป็นผู้บังคับการ
๒.๑.๑ กองบินน้อยผสมที่ ๗๓ อุบลราชธานี มี ๑ ฝูงบินตรวจการณ์ และ ๑ ฝูงบินทิ้งระเบิด และ
๒.๑.๒ กองบินน้อยผสมที่ ๓๕ อุดร มี ๑ ฝูงบินตรวจการณ์ และ ๑ ฝูงบินขับไล่
๒.๒ กองบินใหญ่ภาคใต้ ประกอบด้วย กองบินน้อยที่ ๖๖ ดอนเมือง กองบินน้อยผสมที่ ๗๕ จันทบุรี และฝูงบินร่วมกับกองทัพเรือจันทบุรี มี นายนาวาโท ขุนรณนภากาศ เป็นผู้บังคับการ
๒.๒.๑ กองบินน้อยที่ ๖๖ ดอนเมือง มี ๒ ฝูงบินโจมตีทิ้งระเบิด และ ๑ ฝูงบินขับไล่
๒.๒.๒ กองบินน้อยผสมที่ ๗๕ จันทบุรี มี ๒ ฝูงบินขับไล่ ๑ ฝูงบินตรวจการณ์ และ ๑ หมู่บินลาดตระเวณ
๒.๒.๓ ฝูงบินร่วมกับกองทัพเรือ จันทบุรี มี ๑ ฝูงบินขับไล่ และ ๑ หมู่บินลาดตระเวณ
๒.๒.๔ กองบินน้อยผสมที่ ๗๕ จันทบุรี ประกอบด้วยฝูงบินขับไล่ที่ ๗๓ ศรีษะเกษ ฝูงบินขับไล่ที่ ๘๐ ปราจีนบุรี และฝูงบินโจมตีที่ ๓๕ ปราจีนบุรี กองบินนี้เป็นกองบินประจำกองทัพภาคที่ ๑
๒.๒.๕ กองบินน้อยผสมที่ ๔๐ นครราชสีมา ประกอบด้วย ฝูงบินโจมตีที่ ๔๑ อุบลราชธานี และอุดรธานี ฝูงบินโจมตรีที่ ๔๓ นครราชสีมา และฝูงบินตรวจการณ์ที่ ๔๒ สุรินทร์ กองบินนี้เป็นกองบินประจำกองทัพภาคที่ ๒
๒.๒.๖ กองบินหนุนดอนเมือง ประกอบด้วยฝูงฝึกขั้นต้น ฝูงฝึกขั้นกลาง ฝูงฝึกขั้นปลาย ฝูงสื่อสาร และหมู่ถ่ายรูป
ต่อมากองทัพอากาศสนาม ได้จัดตั้งกองบินผสม และกองกำลังเพิ่มเติมอีก คือกองบินน้อยผสมพิเศษจันทบุรี และกองกำลังภาคบูรพา เพื่อให้สามารถปฏิบัติการได้ครอบคลุมพื้นที่ ทั้งด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ด้านตะวันออก และด้านทะเล ดังนี้
กองบินน้อยผสมพิเศษจันทบุรี ประกอบด้วย ๑ ฝูงบินขับไล่ และ ๑ ฝูงบินตรวจการณ์
กองกำลังภาคบูรพา ประกอบด้วย ๑ ฝูงบินขับไล่ และ ๑ ฝูงบินตรวจการณ์
แผนการรบ
ขั้นที่ ๑ กองทัพบูรพาเคลื่อนที่เข้ายึดพนมเปญ ร่วมกับกองทัพอีสาน
กองพลพายัพเข้ายึดด้านหลวงพระบาง แล้วเคลื่อนลงมารวมกับกองทัพอีสาน
ขั้นที่ ๒ เมื่อยึดพนมเปญได้แล้ว รุกขยายผลไปทางทิศตะวันออก
ฝรั่งเศสเตรียมกองเรือ
๑๕ พฤศจิกายน ๒๔๘๓ ฝ่ายฝรั่งเศสได้นำ "หมวดเรือชั่วคราวที่ ๗" ออกจากไซ่ง่อน เพื่อฝึกยิงปืนร่วมกับ ฝึกแปรกระบวน ฝึกสัญญาณแบบปกปิด และฝึกยิงตอร์ปิโด บริเวณหน้าอ่าวคัมรานห์ (Cam - ranh) หลังจากนั้น จึงนำหมวดเรือกลับเข้าไซ่ง่อนใน ๒๓ พฤศจิกายน ๒๔๘๓
"หมวดเรือชั่วคราวที่ ๗" นี้ ประกอบด้วย เรือลาดตระเวนเบาลามอตต์ ปิค์เกต์ (La Motte Picquet) เรือปืนดูมองต์ ดูร์วิลล์ (Dumont d'Urville) เรือปืนอามิราล ชาร์เนร์ (Amiral Charuer) เรือปืนตาอูร์ (Tahure) และ เรือปืนมาร์น (Marne)
สงครามเริ่ม - ฝรั่งเศสบินล้ำน่านฟ้าทิ้งระเบิดไทย ทางบกปะทะ - การรบทางอากาศครั้งแรก
. . . คือปกป้องคุ้มครองอธิปไตย น่านฟ้าไทยจะมิให้ใครย่ำยี
๒๓ พฤศจิกายน ๒๔๘๓ ในกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส เครื่องบินฝรั่งเศสจำนวน ๘ เครื่อง บินล้ำเขตแดนไทยทางด้านจังหวัดนครพนม ฝ่ายไทยส่งเครื่องบินขับไล่ขึ้นสะกัดกั้น
๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๘๓ ฝรั่งเศสส่งเครื่องบินเข้ามาทิ้งระเบิด จังหวัดนครพนม และได้มีการรบทางบกบริเวณแนวชายแดน ไทย - อินโดจีนฝรั่งเศสบางแห่ง
๒๗ พฤศจิกายน ๒๔๘๓ ฝรั่งเศสส่งเครื่องบินแบบ โปเตส ๒๕ จำนวน ๑ เครื่อง บินเข้ามาถ่ายภาพที่นครพนม ฝ่ายไทยส่งเครื่องบินขับไล่แบบฮอว์ค - ๓ ขึ้นสกัดกั้นและทำการยิงด้วยปืนกลอากาศ แต่เครื่องบินข้าศึกไม่ทำการต่อสู้ด้วยกลับบินหนีไปได้สำเร็จ

๒๘ พฤศจิกายน ๒๔๘๓ เวลา ๐๘๐๐ เครื่องบินโปเตส ๒๕ ของฝรั่งเศส บินมาด้วยความสูง ๖๐๐ เมตร ทางทิศใต้ของนครพนม
< Potez 25 Reconnaissance and bomber

ร.ต.ศานิต นวลมณี ผู้บังคับหมวดบินที่ ๑ ฝูงบินตรวจการณ์ที่ ๔๒ สุรินทร์ของกองบินน้อยผสมจังหวัดอุดร ประจำการอยู่ที่สนามบินหนองขอนขว้าง อุดรธานี ได้รับมอบหน้าที่ให้เป็นผู้บังคับหมู่ยามอากาศประจำจังหวัดนครพนม ได้นำเครื่องบินขับไล่รวม ๓ เครื่อง ขึ้นบินต่อสู้จนสามารถขับไล่ให้เครื่องบินข้าศึกหลบหนีไป
เครื่องบินขับไล่แบบ ๑๐ ฮอร์ค ๓ Hawk 3 >
ส่วนทางบกใช้ปืนใหญ่ซึ่งตั้งอยู่เมืองท่าแขก ยิงข้ามแม่น้ำโขงมาตกหลังตลาดนครพนม
รัฐบาลไทยตัดสินใจใช้กำลังทหารเพื่อป้องกันประเทศ โดยทันที
กองทัพไทยได้ออกคำสั่ง ให้กองพลลพบุรี เคลื่อนย้าย ไปเข้าที่รวมพล ที่จังหวัดปราจีนบุรี
๒๘ พฤศจิกายน ๒๔๘๓ เคลื่อนกำลังเข้าสู่ดินแดนเดิมของเรา ทางด้านอำเภออรัญประเทศ ขณะเดียวกัน ได้สั่งให้ กำลังทางอากาศไปโจมตีเป็นการโต้ตอบด้วย
๒๘ พฤศจิกายน ๒๔๘๓ ตั้งหน่วยตำรวจสนามในกองทัพบกสนาม โดยมี พลตำรวจตรี หลวงอดุลเดชจรัส เป็นผู้บังคับตำรวจสนาม และพันตำรวจตรี หลวงวิทิตกลชัย เป็นรองผู้บังคับตำรวจสนาม ขึ้นตรงต่อกองบัญชาการทหารสูงสุด หน่วยงานนี้ประกอบด้วย กองตำรวจสนาม ๑๓ จังหวัด
๒๙ พฤศจิกายน ๒๔๘๓
รัฐบาลจึงตั้งกองเรือพิเศษ ขึ้นเป็นหน่วย "ทัพเรือ" โดยมี พลเรือตรี หลวงสินธุสงครามชัย เป็นแม่ทัพเรือ
ส่วนในสนาม เมื่อเวลา ๐๗๓๐ ขณะที่เครื่องบินฝ่ายเราบินลาดตระเวนอยู่เหนืออำเภอมุกดาหาร ถูกปืนต่อสู้อากาศยานฝ่ายฝรั่งเศสซึ่งตั้งอยู่ที่ บ้านเรลิดังค์ เขตสุวรรณเขตยิงขึ้นมา ๓ นัด แต่ไม่ถูก
ครั้นเวลา ๑๕๐๐ เครื่องบินฝรั่งเศสก็บินล้ำเข้ามาถึงจังหวัดนครพนมอีก ฝ่ายเราต้องส่งเครื่องบินขึ้นขับไล่ จึงกลับไป
๓๐ พฤศจิกายน ๒๔๘๓ เวลาประมาณ ๐๘๓๐ เครื่องบินฝรั่งเศสได้บินล้ำเข้ามาที่บริเวณ บ้านศรีเชียงใหม่ และอำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ฝ่ายไทยได้ส่งเครื่องบินออกไปทิ้งระเบิดบ้าง ได้ทิ้งระเบิด จำนวน ๑๐ ลูก ถูกที่ตั้งปืนของข้าศึกที่ริมฝั่งโขง และค่ายทหารที่ท่าแขก ตรงข้ามจังหวัดนครพนม ได้รับความเสียหาย
กองพลลพบุรี ประกอบด้วย ร.พัน ๔ ร.พัน ๖ (จากลพบุรี) ร.พัน ๘ (จากสระบุรี) และ ป.พัน ๔ (จากลพบุรี) เคลื่อนย้ายเข้าที่รวมพลขั้นต้น ที่จังหวัดปราจีนบุรี โดยเคลื่อนย้ายทั้งทางรถยนตร์ และรถไฟ เข้าที่รวมพลขั้นต้น ได้เกือบเวลา ๒๔๐๐
๑ ธันวาคม ๒๔๘๔ ด้านจันทบุรี - ตราด
ทางจังหวัดตราดโทรศัพท์แจ้งให้ทาง หน่วยบินที่สนามบินเนินพลอยแหวน จันทบุรี ทราบว่า มีเรือรบฝรั่งเศสลำลียงกำลังทหารมาขึ้นบกที่ บ้านอบยาม จว.ตราด ๒ วันแล้ว และวันนี้ก็มาอีก ๓ ลำ ขอให้ส่งเครื่องบินไปโจมตีเสีย
ร.อ. หม่อมหลวง ประวาศ ชุมสาย ผู้บังคับฝูง ส่งเตรื่องบินไปโจมตี แบ่งเป็น ๓ หมู่ หมู่ละ ๓ เครื่อง ได้เข้าโจมตีเรือรบข้าศึกจนต้องหนีออกจากน่านน้ำไทย และในคืนนี้ สถานีวิทยุกระจายเสียงไซ่ง่อนได้ออกอากาศเป็นภาษาไทยชมเชยผู้บังคับหมู่เรือที่สามารถนำเรือกลับไปถึงไซ่ง่อนได้ ทั้งๆ ที่เสียหายอย่างหนัก
ทางด้านนครพนม
ขณะที่ ร.ท.ไชย สุนทรสิงห์บินลาดตระเวณด้วยเครื่อง ฮอว์ค ๓ ที่จังหวัดนครพนม ถูกปืนกลฝ่ายข้าศึกยิงมาจากท่าแขก และเวลาประมาณ ๐๙๐๐ ก็เผชิญกับเครื่องบินขับไล่ของข้าศึก ๒ เครื่อง จึงเข้าต่อสู้กัน ต่อมาเครื่องบินฝ่ายเราซึ่งกลับจากบินรักษาเขตแดนในแนว ท่าอุเทน - ธาตุพนม ได้มาพบ จึงเข้าร่วมสู้รบด้วย จนข้าศึกต้องบินกลับไป ลำหนึ่งไปตกหลังเขาทางทิศใต้ของเมืองท่าแขก ส่วนฝ่ายเราปลอดภัย
กองทัพอากาศสนามจึงส่งเตรื่องบิน ฮอว์ค ๗๕ มาประจำที่สนามบินอุดร ๑ หมู่ (๓ เครื่อง) ร.ต.ผัน สุวรรณรักษ์ เป็นผู้บังคับหมู่บิน


เครื่องบินขับไล่แบบที่ ๑๑ (บ.ข. ๑๑) ฮอร์ค ๗๕ ( Hawk - 75 ) ในอากาศ (ซ้าย) และในพิพิธภัณฑ์ของกองทัพอากาศ (ขวา)
กองพลจันทบุรี - นาวิกโยธิน เริ่มแล้ว
เนื่องจากกองพลจันทบุรี เป็นกองพลที่มีกำลังหลักเป็นหน่วยนาวิกโยธิน ซึ่งจะต้องปฏิบัติการในกรอบของกองทัพบูรพา ซึ่งมีภารกิจเข้ายึดกรุงพนมเปญ แต่มีที่ตั้งปรกติอยู่ที่ อำเภอสัตหีบ ดังนั้น จึงต้องเคลื่อนย้ายกำลังไปเข้าที่รวมพลเสียก่อน
๓ ธันวาคม ๒๔๘๓ เริ่มลำเลียงกำลังนาวิกโยธินดังกล่าว โดย เรือหลวงอ่างทอง เรือหลวงช้าง เรือหลวงเจ้าพระยา เรือหลวงพงัน และเรือหลวงคราม จาก สถานีทหารเรือสัตหีบ เข้าที่รวมพล ที่กองพันทหารม้าที่ ๔ (ม.พัน.๔) จังหวัดจันทบุรี (ค่ายตากสิน ในปัจจุบัน)
กองพลจันทบุรี ประกอบกำลังดังนี้
กองพันนาวิกโยธินที่ ๑ มี นายนาวาตรี หลวงอธึกโยธิน เป็นผู้บังคับกองพัน
กองพันนาวิกโยธินที่ ๒ มี นายนาวาตรี สันต์ สันติวาสะ เป็นผู้บังคับกองพัน
กองพันนาวิกโยธินที่ ๓ มี นายนาวาตรี เที่ยง เสถียรไทย เป็นผู้บังคับกองพัน
กองพันทหารม้าที่ ๔ (ม.พัน ๔ ) มี นายพันตรี ประพันธ์ กุลพิจิตร เป็นผู้บังคับกองพัน
กองพันทหารปืนใหญ่นาวิกโยธิน มี นายเรือเอก ประดิษฐ์ พูลเกษ เป็นผู้บังคับกองพัน
กองทหารช่าง (ทบ.) มี นายร้อยโท ประเสริฐ รอดวรรณะ เป็นผู้บังคับบัญชา
กองทหารสื่อสาร (ทบ.) มี นายร้อยโท สุระ สุระวรรธนะ เป็นผู้บังคับบัญชา
๕ ธันวาคม ๒๔๘๓ กรมตำรวจออกคำสั่งตั้งหน่วย ตำรวจสนาม ขึ้นใน กก.ภ. จังหวัดชายแดนภาคตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อทำการรบร่วมกับทหาร โดยขึ้นควบคุมทางยุทธการกับหน่วยทหารในพื้นที่ (ได้ยุบเลิกหน่วยตำรวจสนาม เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๔๘๔)
เมื่อกำลังของกองพลจันทบุรีได้เข้าประจำที่ตามแนวชายแดนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้ส่งหมู่ลาดตระเวน เส้นทางตรวจตราพื้นที่ และหาข่าว ได้เกิด การปะทะ กับข้าศึก ที่ล่วงล้ำ เข้ามาในเขตแดนไทย กล่าวคือ
๖ ธันวาคม ๒๔๘๓ ขณะออกลาดตระเวณ เส้นทางระหว่าง บ้านโอลำเจียก ไปยังประเทศเขมร ได้ปะทะกับ ข้าศึก ประมาณ ๓๐ คน มี นายทหารฝรั่งเศส เป็น ผู้บังคับบัญชา และทหารญวน เป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ได้ปะทะกัน อย่างรุนแรง และมีการต่อสู้ ในระยะเผาขน ประมาณ ๓๐ นาที ฝ่ายข้าศึก หลบหนีไป ผลการปะทะ ฝ่ายข้าศึก เสียชีวิต ๓ คน บาดเจ็บสาหัส ๑ คน
๗ ธันวาคม ๒๔๘๓ ได้ออกคำชี้แจงทหาร เรื่องการเรียกชื่อชนเชื้อชาติไทยในอินโดจีน ให้เรียก ญวน เขมร ลาว ว่า พี่น้องไทยในประเทศญวน พี่น้องไทยในประเทศลาว และพี่น้องไทยในแคว้นกัมพูชา
๘ ธันวาคม ๒๔๘๓ ฝ่ายไทยได้ประกาศระดมพล และ สั่งเคลื่อนกำลังเข้าประจำชายแดน
เริ่มโจมตีกรุงเวียงจันทน์บ้าง
ร.ท.ศานิต นวลมณี ได้รับคำสั่งให้นำเครื่องบินแบบ ๒๓ คอร์แซร์ ไปทิ้งระเบิดท่หมายทางทหารบริเวณริมฝั่งโขง บริเวณกรุงเวียงจันทน์ โดย ร.ต.ผัน สุวรรณรักษ์ ผู้บังคับหมู่บิน ฮอว์ค ๗๕ ที่มาประจำที่สนามบินอุดร บินคุ้มกันให้
ร.ท.ศานิต นวลมณี นำเครื่องเข้าทิ้งระเบิดในระยะต่ำเพียง ๒๐๐ เมตร ข้าศึกก็ได้ยิงต่อสู้อย่างหนาแน่น
ผลการปฏิบัติ สามารถทิ้งระเบิดถูกที่หมายไฟไหม้ ฝ่ายเรากลับถึงสนามบินอุดรได้อย่างปลอดภัย เมื่อสำรวจดู ปรากฏว่า เครื่องของ ร.ท.ศานิต นวลมณี ถูกกระสุนปืนกล ประมาณ ๒๐ แห่ง ปลายปีกซ้ายขาดกระจุย
๙ ธันวาคม ๒๔๘๔ เวลา ๐๕๐๐ เครื่องบินฝรั่งเศส ๔ เครื่อง มาทิ้งระเบิดที่จังหวัดนครพนม อีก ๑๐ ลูก มี ๒ ลูก ตกห่างศาลากลางจังหวัดเพียง ห้าสิบเมตร นอกนั้นตกในพื้นที่ว่างใกล้เคียง
และในขณะเดียวกัน ข้าศึกฝั่งท่าแขกซึ่งตรงข้ามตัวเมืองนครพนม ได้ใช้ปืนยิงเข้ามาในตัวเมืองนครพนมด้วย
เวลา ๐๖๒๐ เครื่องบินฝรั่งเศส ๓ เครื่องได้บินเข้ามาที่นครพนมอีกครั้ง ฝ่ายเราส่งเครื่องบินตรวจการณ์คอร์แซร์ จำนวน ๒ เครื่อง ได้ขึ้นต่อสู้ทางอากาศนาน ๒๐ นาที เครื่องบินฝ่ายข้าศึกบินหนีข้ามแม่น้ำโขงและตกบริเวณหลังท่าแขก ๑ เครื่อง ส่วนเครื่องบินฝ่ายเรา ของ ร.ต.ทองใบ พันธุ์สบาย ถูกยิงถูกยิง ๑๑ นัด และตนเองถูกยิงที่เท้า แต่นักบินและพลปืนหลังปลอดภัยสามารถนำเครื่องบินกลับมาได้
เวลา ๐๗๓๕ ฝรั่งเศสส่งเครื่องบินมาที่จังหวัดนครพนมอีก ๒ เครื่อง คราวนี้ ฝ่ายไทยส่งเครื่องบินแบบ ๑๗ มี จ.อ.รังสรรค์ อ่อนรักษา เป็นผู้นำหมู่ขึ้นต่อสู้ ปรากฏว่า ฝ่ายฝรั่งเศส ต้องบินหนีไปอีก แต่ฝ่ายเรา เครื่องของ จ.อ.รังสรรค์ ก็ถูกยิงสิบกว่าแห่ง และตนเองถูกยิงที่เท้า แต่สามารถนำเครื่องกลับมาได้ อย่างปลอดภัย
และเพื่อเป็นการตอบแทนแก่ฝรั่งเศส ฝ่ายเราจึงได้จัดเครื่องบินไปเยี่ยมเยียนฝ่ายฝรั่งเศสบ้าง สามารถโจมตีที่ตั้งยิงปืนใหญ่ของฝรั่งเศสที่สุวรรณเขต ทิ้งระเบิดทำลายสนามบิน และเครื่องบิน ที่สนามบินบ้านธาติ ทางทิศตะวนออกของสุวรรณเขตประมาณ ๒๐ กิโลเมตร และได้ไปโจมตีที่ตั้งทหารที่บ้านนาแพะ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของท่าแขก ประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร
๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๓ เวลา ๐๕๐๐ เครื่องบินฝรั่งเศส ๑ เครื่องได้บินเข้ามาทิ้งระเบิดที่จังหวัดอุดรธานีเป็นเหตุให้ราษฎรเสียชีวิต ๒ คน บาดเจ็บสาหัส ๑ คน และบาดเจ็บอีก ๕ คน เพื่อเป็นการตอบโต้และตอบแทนความโหดร้ายทารุณอย่างไม่สิ้นสุดของฝรั่งเศส ทหารบกใช้ปืนใหญ่ ปืนเล็ก และปืนกลยิงไปยังท่าแขก และกองทัพอากาศได้ส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดครั้งใหญ่หลายแห่ง
เวลา ๐๗๕๐ กองทัพอากาศได้ส่งเครื่องบินฝูงใหญ่ ไปทำการโจมตีทิ้งระเบิดที่ตั้งทางทหารที่นครเวียงจันทน์อย่างหนัก ในการปฏิบัติการครั้งนี้เครื่องบิน คอร์แซร์ ซึ่งมี ร.ท.ศานิต นวลมณี เป็นนักบินและ จ.อ.เฉลิม ดำสัมฤทธิ์ นักบินผู้ทำหน้าที่พลปืนหลัง ได้ทำการโจมตีกองกำลังฝ่ายข้าศึกในระยะต่ำ ฝ่ายข้าศึกซึ่งตั้งปืนกลต่อสู้อยู่บนถังน้ำประปาริมแม่น้ำโขง ทำการยิงต่อสู้อย่างหนาแน่น กระสุนถูก จ.อ.เฉลิมฯ ที่ทำหน้าที่พลปืนหลังเสียชีวิต เครื่องบินถูกยิงถังน้ำมันที่ปีกทะลุไฟไหม้ ตัวนักบินถูกยิงได้รับบาดเจ็บที่หัวเข่า ได้พยายามนำเครื่องบินกลับฝั่งไทย และโดดร่มลงทั้งเครื่องบินและนักบินตกลงที่หนองน้ำบ้านพรานพร้าว อ.ท่าบ่อ จว.หนองคาย ร.ท.ศานิต ฯ บาดเจ็บสาหัสต้องส่งเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลทหารในกรุงเทพฯ ทันที . . .
นักบินท่านแรกที่สู้รบอย่างกล้าหาญ - เด็ดเดี่ยว จนบาดเจ็บสาหัส
๑๑ ธันวาคม ๒๔๘๓ เวลา ๐๑๐๐ เครื่องบินฝรั่งเศสเข้ามาถึงจังหวัดหนองคาย แต่ถูกเครื่องบินฝ่ายเราขึ้นบินขับไล่กลับไป
เวลา ๐๕๔๕ เครื่องบินฝรั่งเศส ๑ เครื่อง ได้เข้ามาทิ้งระเบิดที่ อ.มุกดาหาร ๑๔ ลูก
เวลา ๐๙๐๐ ฝ่ายฝรั่งเศสใช้ปืนใหญ่ ปตอ. และปืนกล ยิงเข้ามาที่บ้านศรีเชียงใหม่ ฝ่ายเราจึงส่งเครื่อง คอร์แซร์ จำนวน ๓ เครื่อง ไปทำลายที่ตั้งอาวุธของข้าศึก ซึ่งสามารถโจมตีได้ถูกเป้าหมาย คาดว่าทำลายเป้าหมายได้ เพราะ ปตอ.นั้นหยุดยิง และเครื่องบินฝ่ายเรา ไปทิ้งระเบิดสนามบินข้าศึกอีกด้วย
๑๒ ธันวาคม ๒๔๘๓ เวลา ๐๑๐๐ เครื่องบินฝรั่งเศสบินล้ำเข้ามาอีก ๑ เครื่อง ทางด้านจังหวัดนครพนม ร.ต.จวน สุขเสริม ซึ่งเป็นนักบินเตรียมพร้อมได้นำเครื่องขึ้นสู้รบ ถูกข้าศึกยิงตกที่บริเวณ บ้านตาด ถึงแก่ความตาย
เวลา ๐๕๐๐ เครื่องบินฝรั่งเศส ๑ เครื่อง ได้เข้ามาทิ้งระเบิดที่จังหวัดสกลนคร และเวลา ๐๕๔๐ ก็เข้ามาทิ้งระเบิดเพลิงอีก ๙ ลูก แต่ไม่เกิดอันตราย เพราะลูกระเบิดเก่ามาก
๑๖ ธันวาคม ๒๔๘๓ เคลื่อนที่เข้าพื้นที่การรบด้านอรัญประเทศ ร.พัน ๔ อยู่ที่ อ.วัฒนานคร ร.พัน ๘ อยู่ที่ อ.สระแก้ว ร.พัน ๖ รักษา บ้านโคกสูง และบ้านโนนหมากมุ่น
"หมวดเรือชั่วคราวที่ ๗" ฝึกซ้ำ
๑๘ ธันวาคม ๒๔๘๓ "หมวดเรือชั่วคราวที่ ๗" ออกฝึกยิงปืนร่วมกับ ฝึกแปรกระบวน ฝึกสัญญาณแบบปกปิด และฝึกยิงตอร์ปิโด บริเวณหน้าอ่าวคัมรานห์ อีก เป็นเวลา ๓ วัน จนถึงวันที่ ๒๑ ธันวาคม
๒๑ ธันวาคม ๒๔๘๓ กองพลลพบุรี ผลัดเปลี่ยนกองพลวัฒนานคร
กองพลพระนคร
๒๒ ธันวาคม ๒๔๘๓ กองพลพระนครเริ่มเคลื่อนย้ายทางรถไฟจากที่ตั้งปรกติจังหวัดพระนคร ไปสถานีอรัญญประเทศ เข้าที่รวมพลขั้นต้น เพื่อเตรียมเข้าพื้นที่การรบด้านตะวันออก ในบังคับบัญชาของกองทัพบูรพา
กองพันทหารราบที่ ๓ (ร.พัน ๓) กองพลพระนคร เคลื่อนที่ต่อไปเข้าที่ตั้ง บ้านโนนหมากมุ่น สุดชายแดนไทยต่อกับเขมร
๒๓ ธันวาคม ๒๔๘๓
ร.ท.ศานิต นวลมณี ซึ่งบาดเจ็บสาหัสจากการรบ และรักษาตัวที่โรงพยาบาลทหารในกรุงเทพฯ ได้ถึงแก่กรรม
เครื่องบินโจมตีทิ้งระเบิด แบบ บ.จ. ๑ คอร์แซร์
.jpg)
.jpg)
ในสนาม ในพิพิธภัณฑ์ของกองทัพอากาศ

เครื่องบินโจมตีทิ้งระเบิด แบบ บ.จ. ๑ คอร์แซร์
เข้าประจำการในกองทัพไทยเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๗ เป็นเครื่องบินแบบ คอร์แซร์ วี ๙๓ เอส (แบบ ๒๓) ปีก ๒ ขั้น ๒ ที่นั่ง
สร้างโดย บริษัท CHANWAS AIRCRAFT จากสหรัฐอเมริกา เครื่องยนต์ PRATT - WHITHEY ขนาด ๗๔๕ แรงม้า
ความเร็ว ๓๐๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ติดปืนกลอากาศ ขนาด ๘ มิลลิเมตร จำนวน ๔ กระบอก ลูกระเบิดขนาด ๕๐ กิโลกรัม จำนวน ๔ ลูก
ลำตัวยาวประมาณ ๙ เมตร ปีกยาวประมาณ ๑๓ เมตรเศษ
เข้าประจำการในปี พ.ศ.๒๔๗๗ ถึง ปี พ.ศ.๒๔๙๓
เนื่องในโอกาส ครบรอบวันถึงแก่กรรมของท่าน ใน ๒๓ ธันวาคมนี้
เพื่อเป็นการคารวะ และระลึกถึงความกล้าหาญ - เสียสละของท่าน และเพื่อนร่วมในการรบทางอากาศกับท่าน
จึงใคร่ขอเสนอวีรกรรม และชีวประวัติของท่านโดยย่อ ดังนี้
วีรกรรม นาวาอากาศตรี ศานิต นวลมณี
ในคราวเกิดกรณีพิพาทกับอินโดจีนฝรั่งเศส กองบินน้อยที่ ๒ ( กองบิน ๒ ในปัจจุบัน ) ในสมัยนั้นมี ฝูง ๑ , ฝูง ๒ และ ฝูง ๓ โดยเฉพาะฝูง ๓ ตามอัตราสนามเป็นฝูงบินที่ ๒๓ ได้จัดกำลังส่วนหนึ่งเข้าไปประจำ กองบินน้อยผสมที่ ๘๐ ณ สนามบินจังหวัดอุดรธานี มีเครื่องบินโจมตีทิ้งระเบิด แบบ บจ.๑ คอร์แซร์ ปฏิบัติหน้าที่จนกระทั่งได้สร้างวีรกรรมในการปฏิบัติการรบดีเด่น ดังต่อไปนี้
รายงานการปฏิบัติการรบ ของ น.ต.ศานิต นวลมณี
๑. เมื่อ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๔๘๓ เวลา ๐๘๐๐ เครื่องบินขับไล่ฝรั่งเศส ๕ เครื่อง เครื่องบินตรวจการณ์ ๑ เครื่อง ได้เข้ามา โจมตีจังหวัด นครพนม
น.ต.ศานิต นวลมณี ได้ทำการรบขัดขวางกับเครื่องบินข้าศึก ซึ่งมีจำนวนมากกว่าหลายเท่า ทั้งมีความเร็วสูงกว่าด้วย จนกระทั่ง ว่าที่ ร.ต.ทองใบ พันธุ์สบาย ได้เข้าช่วยรบ ข้าศึกจึงได้หนีไป
การที่ น.ต.ศานิต นวลมณี ปฏิบัติการไปนี้ ได้แสดงความองอาจกล้าหาญอย่างยอดยิ่ง เอาชีวิตเข้าแลกเพื่อให้ลุผลสำเร็จตามหน้าที่ แม้ตนทราบดีแล้วว่าข้าศึกมีกำลังมากกว่า และความเร็วมากกว่าก็ตาม หามีความย่อท้อต่ออันตรายไม่ นับว่า น.ต.ศานิต นวลมณี ได้ปฏิบัติหน้าที่สมควรเป็นผู้ป้องกันประเทศชาติ
๒. น.ต.ศานิต นวลมณี ได้รับคำสั่งให้ไปโจมตีสนามบินเวียงจันทน์ เมื่อ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๓ เวลา ๐๖๐๐ บินออกจากสนามบินอุดรธานี ไปยังที่หมาย และทำการโจมตีตามคำสั่ง ในขณะลงทำการโจมตีนั้น ปืนกลข้าศึกได้ทำการยิงมาอย่างรุนแรง แต่ น.ต.ศานิต นวลมณี ก็หาได้ย่อท้อต่ออันตรายแต่อย่างใดไม่ ได้ปฏิบัติการตามหน้าที่ด้วยความองอาจจนเป็นผลสำเร็จ และนำเครื่องบินกลับสู่สนามบินโดยสวัสดิภาพ แต่กระสุนปืนถูกเครื่องบินประมาณ ๒๐ แห่ง นับว่า น.ต.ศานิต นวลมณี ได้ฝ่าอันตรายด้วยความกล้าหาญ โดยไม่คิดแก่ชีวิต มุ่งแต่จะปฏิบัติกิจในหน้าที่ให้ลุผลสำเร็จเท่านั้น สมควรได้รับการยกย่อง
๓. ได้รับคำสั่งให้ไปโจมตีสนามบินเวียงจันทน์ เมื่อ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๓ เวลา ๐๗๕๐ ได้ออกจากสนามบินอุดรธานีไปปฏิบัติการตามคำสั่ง ขณะที่เข้าโจมตี ถูกปืนกลจากพื้นดินทำการยิงต่อต้านอย่างรุนแรง แต่ น.ต.ศานิต นวลมณี ก็มิได้ย่อท้อต่ออันตรายอันจะพึงมีแก่ตน ได้พยายามปฏิบัติหน้าที่ด้วยความองอาจกล้าหาญ จนบรรลุผลสำเร็จแก่ราชการ
ในการปฏิบัติหน้าที่ในครั้งนี้ เครื่องบินของ น.ต.ศานิต นวลมณี ถูกยิงถังน้ำมันทะลุไฟไหม้ นักบินถูกไฟลวกและถูกกระสุนที่เข่า ต้องกระโดดร่มชูชีพ ได้รับบาดเจ็บสาหัส และถึงแก่กรรมเมื่อ ๒๓ ธันวาคม ๒๔๘๓ ส่วนพลปืนหลัง (ร.ท.เฉลิม ดำสัมฤทธิ์) ถูกไฟลวกและตกลงพร้อมกับเครื่องบิน ถึงแก่กรรมทันที
ชื่อของ น.ต.ศานิต นวลมณี ได้รับการยกย่อง นำมาตั้งชื่อฝูงบินว่า
"ฝูงบินศานิต"
และฝูงบินนี้ ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี
เป็นฝูงบินแรกที่ได้รับประดับสายยงยศไหมสีเขียว


ชื่อ นาวาอากาศตรี ศานิต นวลมณี
หมายเลขนักบินกองทัพอากาศ ๖๒๑
วันเดือนปีเกิด ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๑
สถานที่เกิด ต.หมากแข้ง อ.เมือง จว.อุดรธานี
บิดา - มารดา นายสีดอน และ นางบุญมี นวลมณี
การศึกษา มัธยมศึกษา - โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล อุดรธานี
เตรียมอุดม - โรงเรียนเทพศิรินทร์ กรุงเทพฯ
ศิษย์การบินรุ่น น.๗ - ๘๑ - ๑ เลขประจำตัว รร.การบิน ๗๖
รับราชการ - พ.ศ.๒๔๘๑ เริ่มรับราชการในตำแหน่งสำรองราชการ กรมเสนาธิการทหารอากาศ (เดิม รร.การบิน ทอ.สังกัด กรมเสนาธิการทหารอากาศ ) ยศ เรืออากาศตรี
- พ.ศ.๒๔๘๓ เป็นผู้บังคับหมวดบิน ๑ กองบินน้อยผสมอุดรธานี
- ๓๐ พฤศจิกายน ๒๔๘๓ ปฎิบัติการรบดีเด่น เลื่อนยศเป็น เรืออากาศโท
- ๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๓ ปฎิบัติการรบดีเด่น เลื่อนยศเป็น เรืออากาศเอก
- ๑๗ ธันวาคม ๒๔๘๓ ปฎิบัติการรบดีเด่น เลื่อนยศเป็น นาวาอากาศตรี และ
ได้รับพระราชทานเหรียญกล้าหาญ ดุษฎีมาลา เข็มกล้าหาญ
- ๒๓ ธันวาคม ๒๔๘๓ ถึงแก่กรรม
รวมอายุ ๒๓ ปี

.jpg)

.jpg)
เหตุการณ์ต่อไป . . . ยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เหตุการณ์ต่อไป . . . ยุทธนาวีที่เกาะช้าง
เหตุการณ์ต่อไป . . . ยุทธนาวีที่เกาะช้าง
บรรณานุกรม
- ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดย ศาสตราจารย์ ดิเรก ชัยนาม แพร่พิทยา กรุงเทพฯ ๒๕๐๙
- ประวัติกองทัพไทย ในรอบ ๒๐๐ ปี พ.ศ.๒๓๒๕ - ๒๕๒๕ กรมแผนที่ทหาร กรุงเทพฯ ๒๕๒๕
- กรณีพิพาทระหว่างไทย - อินโดจีนฝรั่งเศส โดย พันเอก โอภาส โพธิแพทย์ ในหนังสือ วิวัฒนาการทหารปืนใหญ่ ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๒๒ ศูนย์การทหารปืนใหญ่ ค่ายพหลโยธิน ลพบุรี
- เว็บไซต์ ของกองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และเว็บไซต์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้