dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



กรณีพิพาทอินโดจีน - ยุทธนาวีที่เกาะช้าง

ท่านที่สนใจ  สามารถติดตามได้ที่   http://widetalks.multiply.com    ด้วย 

 

 สถานการณ์เดิม

          สถานการณ์สงครามระหว่าง ไทย - ฝรั่งเศส ได้เกิดขึ้นนับแต่  วันที่   ๒๖  พฤศจิกายน  ๒๔๘๓   เมื่อฝรั่งเศสส่งเครื่องบินเข้ามาทิ้งระเบิดจังหวัดนครพนม  และได้มีการรบทางบกบริเวณแนวชายแดน ไทย - อินโดจีนฝรั่งเศสบางแห่ง  และได้สู้รบกันทางบก และทางอากาศ เรื่อยมา      จนเกิดวีรกรรมของทหารกล้าหลายท่าน  โดยเฉพาะ  น.ต.ศานิต  นวลมณ๊  แล้วนั้น   ครานี้  เรามาติดตามเหตุการณ์ต่อไป    ซึ่งสถานการณ์รุนแรงขึ้น  ทั้ง  การรบในอากาศ   วีรกรรมของหน่วยทหารบก  และ  การรบทางทะเล  . . .  ครับ . . .  เชิญครับ   

          ผมได้พบบทความเรื่อง  กรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส  ซึ่ง ท่านพลเรือโท  ชาญ  วีระประจักษ์  ได้เขียนไว้ในวารสารนาวิกศาสตร์  ฉบับ ปีที่  ๘๗   เล่มที่  ๑  มกราคม  ๒๕๔๗    เห็นว่าละเอียดสมบูรณ์ดีมาก  จึงเรียนขออนุญาตท่านใช้เป็นแนวทางในเรื่องนี้    ส่วนตอนที่ยกข้อความของท่าน  จะแสดงชื่อของท่านไว้ในวงเล็บ  และขอขอบพระคุณท่านไว้  ณ  โอกาสนี้     และหากท่านได้พบข้อความส่วนใดแตกต่างไปจากข้อมูลที่ท่านมีอยู่  กรุณาแจ้งให้ทราบด้วย  เพื่อจะได้นำมาพิจารณาต่อไป 
          
          ถึงแม้ว่า    ทางทะเลนั้นยังไม่มีการรบ  แต่ต่างฝ่ายก็เตรียมการของตน   

 

ฝ่ายฝรั่งเศส   มีกำลังทางเรือในอินโดจีนดังนี้   

           พลเรือตรีเตอร์โรซ์ (Terraux) เป็นผู้บัญชาการทหารเรือประจำอินโดจีน มีเมืองหลวงและฐานทัพเรืออยู่ที่ไซ่ง่อน   

          กองกำลังทางเรือของ อินโดจีน ประกอบด้วย เรือลาดตระเวนเบาลามอตต์ ปิค์เกต์ (La Motte Picquet)  เรือปืนดูมองต์ ดูร์วิลล์ (Dumont  d'Urville)  เรือปืนอามิราล ชาร์เนร์ (Amiral Charuer)  เรือปืนตาอูร์ (Tahure)  เรือปืนมาร์น (Marne)  เรือตรวจเบอริล (Beryl) และเรือตรวจอาร์มังค์ รุซโซ (Armand Rousseau)  มีเครื่องบินทะเล ๘ เครื่อง ประจำอยู่ที่ ฐานทัพที่คัทลาย  (Cat-Lai)   สำหรับเรือตรวจเบอริล   และอาร์มังค์รุซโซนั้นมักประจำอยู่ที่ เรียม  

           ฝรั่งเศสมักส่งเครื่องบินเข้ามาลาดตระเวนในอาณาเขตของไทยเสมอ   นอกจาก นั้นฝรั่งเศสยังได้วางปืน ๑๓๘ มิลลิเมตร ๔ กระบอกไว้ที่แหลมเคป (Kep) และปืน  ๙๐ มิลลิ เมตร ๔ กระบอก  ไว้ที่ฮาเตียน   เพื่อป้องกันการยกพลขึ้นบกของไทย 

 

ฝ่ายไทย          ๒๙  พฤศจิกายน   ๒๔๘๓   รัฐบาลจึงตั้งกองเรือพิเศษขึ้นเป็นหน่วย "ทัพเรือ"  โดยมีพลเรือตรีหลวงสินธุสงครามชัย  เป็นแม่ทัพเรือ

 

การวางแผนยุทธศาสตร์ของฝรั่งเศส     (พลเรือโท ชาญ  วีระประจักษ์)

      ฝรั่งเศสจับจุดอ่อนกองกำลังทหารเรือของไทยได้ว่าไม่มีแผนการรุก เพราะเครื่องบินบินมาลาดตระเวนคราวใดก็ไม่เห็นกองเรือของไทยดำเนินการรุกสักครั้งเดียว  ซ้ำยังแยกกำลังออก เป็น ๒ หน่วย   ฝ่ายฝรั่งเศสซึ่งมีกำลังทางเรือน้อยกว่าไทยจึงวางแผนการรุกได้อย่างสะดวกโดย มีแนวคิดในการปฏิบัติดังนี้ คือ

        ๑. ต้องทำการรุกโดยฉาบฉวยอย่างมิให้ข้าศึกรู้ตัว (Surprise)

        ๒. ใช้กำลังทั้งหมด ต่อจุดอ่อนแอจุดใดจุดหนึ่งของไทย

        ๓. กองเรือใหญ่ต้องพยายามดำเนินการห่างไกลจากเรือตอร์ปิโด เรือดำน้ำและเครื่อง บินของไทย

        ๔. การยุทธ์ต้องรุนแรง และใช้เวลาอันสั้น

           จะเห็นได้ว่าฝ่ายฝรั่งเศสวางแผนการรุก ส่วนฝ่ายไทยวางแผนการรับดังนั้น จึงนับว่าฝ่ายฝรั่งเศสได้เปรียบไทย  แต่ถ้าหากฝรั่งเศสรุกเข้ามาอย่างพลาดท่าก็อาจจะต้องได้รับโศกนาฏกรรมมากกว่านี้ก็ได้   มันเป็นเรื่องของการเสี่ยง  แต่การรบที่เกาะช้างนับว่าฝรั่งเศสเสี่ยงถูกหลัก

 

แผนการรุกทางเรือของฝรั่งเศส     (พลเรือโท ชาญ  วีระประจักษ์)

          พลเรือตรี เตอร์โรซ์ ได้มอบหมายให้ นาวาเอกเบรังเยร์ (Berenger) ผู้บังคับการเรือลา มอตต์ ปิค์เกต์ เป็นผู้ดำเนินการโดยใช้เรือลามอตต์ ปิค์เกต์  เรือดูมองต์ ดูร์วิลล์  เรืออามิราลชาร์เนร์  เรือตาอูร์  และเรือมาร์น ดำเนินการรุก   แต่จะรุก  ณ ที่ใด  สุดแต่เบรังเยร์จะตัดสินใจเอาเอง   

          เบรังเยร์เรียกหมวดเรือของตนว่า "หมวดเรือชั่วคราวที่ ๗"   เบรังเยร์ได้นำหมวดเรือออกจากไซ่ง่อน  เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน  พ.ศ.๒๔๘๓  เพื่อฝึกยิงปืนร่วมกับ ฝึกแปรกระบวน  ฝึกสัญญาณแบบปกปิด  และฝึกยิงตอร์ปิโด บริเวณหน้าอ่าวคัมรานห์ (Cam - ranh)   หลังจากนั้น  จึงนำหมวดเรือกลับเข้าไซ่ง่อนในวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๓

          ต่อมา วันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๓ ก็นำหมวดเรือออกไปใหม่อีก   ได้ฝึกเช่นเดียวกับคราวที่แล้วจนถึง วันที่  ๒๑  ธันวาคม  ก็นำหมวดเรือกลับเข้าไซ่ง่อน
 
           จะเห็นได้ว่าฝ่ายข้าศึกนั้น เตรียมการ และ  ฝึกซ้อม กันอยู่เสมอ    

 

 

          ครับ . . . ระหว่างนี้  มาดูเหตุการณ์ทางบกกันบ้าง   นะครับ   ครับ
 

 

สถานการณ์ด้านจันทบุรี - ตราด

๒๐  ธันวาคม   ๒๔๘๓   กองพลจันทบุรีได้ปะทะ กับข้าศึก ประมาณ ๔๐ คน ที่บ้าน บึงชนัง กม. ๕๘ - ๕๙ ผลการปะทะ   ฝ่ายข้าศึก เสียชีวิต ๕ คน     ฝ่ายเรา ไม่มีผู้ใดได้รับอันตราย

๒๓ ธันวาคม ๒๔๘๓     ประกาศสนธิสัญญาระหว่างไทย - ญี่ปุ่น  เรื่องสัมพันธไมตรีและบูรณภาพอาณาเขตของกันและกัน

สถานการณ์ด้านตะวันออก  

          กองพันทหารราบที่ ๓   (ร.พัน ๓)  กองพลพระนคร  เคลื่อนที่เข้าที่ตั้ง บ้านโนนหมากมุ่น  ชายแดน ไทย - เขมร  ใน  ๒๕  ธันวาคม  ๒๔๘๓   ระหว่างการเคลื่อนที่เข้าที่มั่นได้ปะทะกับหน่วยลาดตระเวนของฝรั่งเศส   ฝ่ายฝรั่งเศสถอนตัวกลับไป  ตรวจพบรอยเลือดตามเส้นทางถอนตัว    ฝ่ายเราปลอดภัย

๒๘  ธันวาคม  ๒๔๘๓    หน่วยลาดตระเวนฝรั่งเศสได้เข้ามาปะทะฝ่ายเราซึ่งอยู่ในที่มั่นบริเวณหลักเขตที่  ๔๔   และถอนตัวกลับไป          ร.พัน ๓  จึงแลื่อนที่มั่นออกไปข้างหน้าอีกประมาณ  ๑  กิโลเมตร

 

สวัสดีปีใหม่     ๑  มกราคม  ๒๔๘๔  เป็นครั้งแรก

             รัฐบาลไทยโดยมี จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ออกประกาศกำหนดให้ใช้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๔ เป็นต้นไป   เพื่อให้เป็นไปตามสากลนิยมเหมือนกับนานาประเทศ 

          ดังนั้น  ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ จึงมีเพียง ๙ เดือน (เดิมใช้วันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่) คือนับตั้งแต่ ๑  เมษายน  ๒๔๘๓   สิ้นปี ๓๑  ธันวาคม  ๒๔๘๓   (พ.ศ.๒๔๘๓  จึงไม่มีเดือน  มกราคม - กุมภาพันธ์ และ มีนาคม)

๓   มกราคม   ๒๔๘๔  

          กองพลจันทบุรีได้จัดกำลัง ออกลาดตระเวน หาข่าวที่ตั้ง ของข้าศึก ซึ่งทราบจาก ชาวบ้านว่า ข้าศึกคัดแปลง ภูมิประเทศ อยู่ที่ บ้านพุมเรียงล่าง มีกำลัง ไม่น้อยกว่า ๑ กองพัน ห่างจาก แนวฝ่ายเรา ประมาณ ๔ กิโลเมตร   เมื่อเคลื่อนที่ยึดบ้านพุมเรียงบน และ คุมชาวบ้าน ไว้ได้หมดแล้ว ขณะเคลื่อนที่ไปบ้านพุมเรียงล่าง ได้ปะทะ กับข้าศึก อย่างหนัก จึงได้ถอนตัวกลับ บ้านบึงชนังล่าง

          ผลการปะทะ ครั้งนี้  ฝ่ายเราเสียชีวิต ๒ คน   บาดเจ็บสาหัส ๑ คน

                                    ฝ่ายข้าศึก นายทหารฝรั่งเศส เสียชีวิต   ๑ นาย   ทหารญวน บาดเจ็บนับสิบ 

          ร.พัน ๓    จู่โจมต่อหมวดลาดตระเวนฝรั่งเศส    ทำให้  ฝ่ายฝรั่งเศส   เสียชีวิต  ๗  นาย    ฝ่ายเราปลอดภัย    สามารถจับนายสิบฝรั่งเศส และทหารมอรอคโคเป็นเชลยศึกได้  ๒  คน

           ชุดตำรวจสนามที่ช่องจันทบเพชร กิ่ง อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์  ถูกหน่วยทหารของฝรั่งเศสประมาณ ๖๐ คนบุกเข้าโจมตี   ทำให้ตำรวจสนามเสียชีวิต ๔ นาย 

          และ ทหารของฝรั่งเศส อีกประมาณ ๒๐ นาย โจมตีชุดตำรวจที่สนามที่ช่องโอบก   ตำรวจสนามบาดเจ็บ ๑ นาย

๔  มกราคม   ๒๔๘๔    ฝรั่งเศสส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดที่อำเภอเขมราฐ  และกิ่ง อำเภอชานุมาน  อุบลราชธานี   ถึง  ๖  เครื่อง  ทิ้งระเบิด  ๑๔  ลูก   แต่ไปตกเสียในป่า    เครื่องบินฝ่ายเราติดตามไป  พบจอดซุกซ่อนอยู่ที่ หนองสะพัง (เข้าในว่าอยู่ในเขตของฝรั่งเศส)  จึงโจมตี    ทำลายได้  ๖  เครื่อง

 

๕  มกราคม   ๒๔๘๔  

ด้านจันทบุรี - ตราด

          เวลาประมาณ ๑๐๐๐  ข้าศึกประมาณ ๑๐๐ คน   ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้าม คลองบ้านโป่งสลา ได้นำกำลังเข้าตีที่มั่นของกองพลจันทบุรีที่บ้านโป่งสลา ได้ต่อสู้กัน จนถึง ๑๒๐๐    ปรากฏว่า นายทหารฝรั่งเศส ซึ่งคุมส่วนหน้า ถูกกระสุนปืนของฝ่ายเราตาย    ข้าศึกจึงเป่าแตร สัญญาณถอย

          ผลการสู้รบ     ฝ่ายเรา เสียชีวิต ๔ นาย

                             ฝ่ายข้าศึก ส่วนมากเป็นทหารญวน ตายในพื้นที่ฝั่งเรา   ๘ นาย   นายทหารฝรั่งเศส   ๑ นาย    ถูกฝ่ายเรา จับเชลยได้  ๑ นาย  

          เมื่อข้าศึกทราบว่า ฝ่ายเรา คือ กองพลจันทบุรีจะเข้าปฏิบัติการ ด้านจังหวัดจันทบุรี  จึงเคลื่อนย้าย กำลังจาก ด้านอื่น เข้ามาเสริม   และวางกำลังตั้งรับ ไว้ดังนี้ 

                    บ้านไพลิน ไม่น้อยกว่า ๑ กองพัน 

                    บ้านเดลิเก ไม่น้อยกว่า ๔๐๐ คน 

                    บ้านศาลานอก ไม่น้อยกว่า ๔๐๐ คน 

                    บ้านศาลากันทัก ไม่น้อยกว่า ๕๐๐ คน 

                    ข้าศึกส่วนใหญ่ เป็นชาวญวน และ เขมร ซึ่งฝรั่งเศสเรียกระดมพลมาทำการรบ   เฉพาะผู้บังคับบัญชา ชั้นผู้บังคับกองพัน หรือ กองร้อยอิสระ เท่านั้นที่เป็นทหารฝรั่งเศส  

          กองพลจันทบุรี   กำหนดที่หมายในการเข้าตี คือ 

                                ขั้นที่ ๑  เข้ายึดบ้านไพลิน 

                                ขั้นที่ ๒  เข้ายึด เมืองพระตะบอง เพื่อทำการยุทธบรรจบกับ กองพลลพบุรีที่ เมืองพระตะบองเพื่อเข้าตี กรุงพนมเปญ ต่อไป    (กองพลลพบุรี  รุกมาจากด้านอรัญประเทศ)

 

ด้านตะวันออก  -  ฝรั่งเศสระดมยิงปืนใหญ่มายังประตูชัย  ตั้งแต่เช้าตรู่

          กองพลลพบุรี  สั่งการให้  ร.พัน ๖     เข้าตีเพื่อยึดปอยเปต 

                                             ร.พัน ๔   จากวัฒนานคร ไปที่อรัญประเทศ

                                             ร.พัน ๘    เป็นกองหนุนของกองพล  ที่ ร.พัน ๔ คือที่วัฒนานคร

การเข้าตีปอยเปต

          ๕ ม.ค. ๒๔๘๔,๐๙๐๐   ร.พัน ๖  ผ่านแนวออกตีที่ประตูชัย   ฝรั่งเศสดัดแปลงที่มั่นและวางกำลังตั้งรับ แข็งแรงมาก มีทั้งลวดหนาม และดงระเบิด     การสู้รบเป็นไปอย่างดุเดือด ถึงขั้นรบประชิด คือต้องใช้ดาบปลายปืนเข้าตะลุมบอนกัน    ฝ่ายฝรั่งเศสเผาหญ้าแห้ง เป็นเครื่องกีดขวาง   ฝ่ายเราใช้ความพยายาม ถึงสองวัน  จึงสามารถยึดปอยเปตได้    แต่ก็สูญเสียมาก

 

๖  มกราคม  ๒๔๘๔    ฝ่ายไทยส่งเครื่องบินไปโจมตี จำนวน  ๑๐  เครื่อง  นับว่ามากกว่าทุกคราว  และได้โจมตี และทำลายสถานที่สำคัญทางทหาร ในอินโดจีนอีกหลายแห่งเช่น

          ที่ปากเซ      ทิ้งระเบิดถูกคลังเก็บระเบิดพัง   ๒  หลัง

          ที่หนองสะพัง      ทำลายสถานีวิทยุได้

          ที่ไพลิน      ทำลายที่ทำการไปรษณีย์ และบ้านเดลิเก   กับโรงทหาร

          ที่สวายจิก เขตศรีโสภณ   ข้าศึกถูกฝ่ายเราเข้าตีที่ปอยเปตกำลังถอยไปตามเส้นทางปอยเปต - ศรีโสภณ  ทางรถยนตร์  จึงได้โจมตีขบวนยายยนตร์ และยังได้โจมตีที่ตั้งยิงปืนใหญ่ และค่ายทหารข้าศึกด้วย

          ที่สตึงเตร็ง    โจมตีคลังน้ำมัน  ไฟไหม้อยู่นาน  แม้บินกลับแล้วยังเห็นไฟลุกไฟม้อยู่    ปตอ.ข้าศึกยิงต่อสู้การโจมตีของฝ่ายเราอย่างหนาแน่น    แต่ฝ่ายเราก็   ปลอดภัยทุกเครื่อง 

๗   มกราคม   ๒๔๘๔   ไทยได้ประกาศสถานสงครามกับอินโดจีน 

ร.พัน ๖  กองพลลพบุรี    ยึดปอยเปตได้          กองพลลพบุรีเตรียมเข้าตีศรีโสภณต่อไป

ทางทะเล

"หมวดเรือชั่วคราวที่ ๗"  ไม่ได้หายไปไหน    ฝึก   ฝึก   และฝึก  

        เบรังเยร์ ก็นำหมวดเรือออกไปฝึกยิงปืนใหญ่ที่ชายฝั่ง แล้วก็กลับเข้าจอดในอ่าวคัมรานห์ หลังจากนั้นเขาสั่งให้ทาสีเรือ โดยแจ้งให้คนทั้งหลายทราบว่าเอาไว้ต้อนรับผู้สำเร็จราชการ   (พลเรือโท เดอคูซ์    Decoux   เป็นผู้สำเร็จราชการอินโดจีน)

          ครับ . . . นอกจากการฝึกซ้อมทั้งทางยุทธวิธี และเรื่องอื่นๆ แล้ว   ยังออกข่าวเพื่อต่อต้านข่าวกรองอีกด้วย  ทั้งๆ ที่กองเรือฝ่ายเรา ไม่ได้ทำอะไรเลย

             ในช่วงนี้  พลเรือตรี เตอร์โรซ์ ได้โทรเลขถึงรัฐบาลวิซี เพื่อขออนุมัติส่งกำลังทางเรือเข้าโจมตีกองกำลังทางเรือที่สัตหีบ

 

ด้านตะวันออก   บุก  -  บุก  -  บุก

๘  มกราคม  ๒๔๘๔    เครื่องบินของกองทัพอากาศได้ไปทิ้งระเบิดที่ เมืองเสียมราฐ พระตะบอง เป็นครั้งแรก ในกรณีพิพาทไทยกับอินโดจีนของฝรั่งเศส   

 

       ฝ่ายไทยส่งฝูงบินทิ้งระเบิดแบบ ๒๖  นาโกยา  จำนวน  ๙  เครื่อง จากดอนเมือง  ไปทำลายที่หมายทางทหารที่พระตะบอง  และเสียมราฐ  โดยจัดเครื่องบินแบบ ๑๖  หรือ ฮอว์ค ๗๕  จากอุดร ทำหน้าที่คุ้มกัน   ร.ต.ผัน  สุวรรณรักษ์  นำหมู่บิน  จำนวน  ๓  เครื่องไปคุ้มกัน

 

 

 

  

 

 

 

 

 

 

เครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ ๒๖  นาโกยา                                 เครื่องบินแบบ ๑๖  หรือ ฮอว์ค ๗๕ 

 

          เมื่อฝูงบินทิ้งระเบิดจบภารกิจ กำลังบินกลับ  ขณะผ่านนครวัด  ร.ต.ผัน ฯ  สังเกตุเห็นเครื่องบินข้าศึกกำลังขึ้นจากสนามบินเสียมราฐ จึงรีบดำลงไปจะโจมตี  แต่ถูก ปตอ. ระดมยิงหนาแน่นมาก  ต้องดึงเครื่องหลบขึ้น  เลยไม่ได้ทำลายเครื่องที่กำลังบินขึ้นนั้น    แต่ลูกหมู่ทำสัญญาณให้ดูข้างหลัง  เห็นเครื่องโมราน ของข้าศึกตามมา  ๔ เครื่อง    ร.ต.ผัน ฯ  จึงให้ลูกหมู่คุ้มกันฝูงทิ้งระเบิดต่อไป  ส่วนตนเองหันไปสู้กับโมราน  ๔  เครื่องนั้น   สู้กันอยู่นานจนถึงศรีโสภณ  โมราน จึงจากไป   ร.ต.ผัน ฯ  กลับสนามบินอุดรได้  แต่ยางล้อซ้าย และล้อหลังถูกยิงแตก . . . เรียบโร้ย

 

 ๙  มกราคม  ๒๔๘๔  

          กองพลลพบุรีเข้าตีเมืองศรีโสภณ  ตามแนว อรัญประเทศ - ศรีโสภณ  โดยให้

          ร.พัน ๘  เคลื่อนที่ทางเหนือของถนนสายอรัญประเทศ - ศรีโสภณ

          ร.พัน ๔  เคลื่อนที่ทางใต้ของถนน

          ร.พัน ๖  เป็นกองหนุน   เคลื่อนที่ตาม ร.พัน ๘     

          ฝ่ายฝรั่งเศสดัดแปลงภูมิประเทศ และวางกำลังตั้งรับอย่างแข็งแรงมาก   ฝ่ายเราเข้าตีด้วยความยากลำบาก
 
๑๐  มกราคม  ๒๔๘๔
 

          เวลาประมาณ  ๐๔๐๐    ฝ่ายฝรั่งเศสเข้าตีปีกซ้ายของกองพลลพบุรี คือ ร.พัน ๘  บางส่วนถูกปิดล้อมอยู่ที่ทางตะวันตกของเมืองศรีโสภณ    กองพลฯ ต้องใช้กองหนุน คือ ร.พัน ๖  ขึ้นไปช่วยแก้ไขสถานการณ์  โดยมีเครื่องบินฝ่ายเราสนับสนุน  แต่ก็เกือบเกิดความผิดพลาดเพราะความเข้าใจผิด และไม่มีการติดต่อประสานงานที่ดีระหว่างกำลังทางพื้นดินและกำลังสนับสนุนทางอากาศ

          การรบในวันนี้  ร.พัน ๘  สูญเสียกำลังพลมาก  กว่า  ๓๐  นาย  และบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก   แต่ ร.พัน ๖  ก็กู้สถานการณ์ผลักดันข้าศึกออกไป  แลสามารถยึดยุทโธปกรณ์ไว้ได้เป็นจำนวนมาก     

การโจมตีทางอากาศ

               และในวันที่  ๑๐  มกราคม  ๒๔๘๔ นี้   ฝ่ายไทยส่งฝูงบินทิ้งระเบิดแบบ ๒๖  นาโกยา จากดอนเมือง  ไปทำลายที่หมายทางทหารอีก  คราวนี้ไปถึง  ๔  หมู่   และจัดเครื่องแบบ ๑๖   หรือ ฮอว์ค ๗๕  คุ้มกันไปด้วย  ๒  เครื่อง  มีเครื่องบินจอดที่นครวัด อยู่  ๔  เครื่อง   สามารถทำลายได้  ๒  เครื่อง  

             ข้าศึกส่งเครื่องบินขับไล่ขึ้นมา  ๔  เครื่อง   ปรากฏว่า  ถูกพลปืนหลังของเครื่องทิ้งระเบิดยิงตก  ๑ เครื่อง  และต่อสู้กับเครื่องบินคุ้มกันถูกยิงตก  ๒  เครื่อง  เหลือรอดกลับไปเพียงเครื่องเดียว  ส่วนฝ่ายเรา เครื่องบินคุ้มกันถูกยิงตก  ๑  เครื่อง  เสียชีวิตทั้งนักบิน และพลปืนหลัง คือ  พันจ่าอากาศโท  บุญเยี่ยม  ปั้นสุขสวัสดิ์  และ   พันจ่าอากาศตรี  บุญ  สุขสบาย

๑๑  มกราคม  ๒๔๘๔     ทหารเมืองหลวง กองพลพระนครบุกต่อไป

       กองพลพระนคร บุกต่อไป 

          ร.พัน ๑  อยู่ทางเหนือ  เข้ายึด บ้านยา

          ร.พัน ๓  อยู่ทางใต้  เข้ายึด บ้านพร้าว     ได้ปะทะกับหน่วยลาดตระเวนของฝรั่งเศส  และสามารถผลักดันออกไปได้  

          ร.พัน ๙  เป็นกองหนุน

๑๓  มกราคม  ๒๔๘๔    ร.พัน ๓   ยึดแนวห้วยหนองยาง  ซึ่งห่างจากบ้านพร้าวไปทางตะวันออก  ประมาณ  ๔  กิโลเมตร   เป็นแนวตั้งรับ

 

ยุทธนาวีที่เกาะช้าง      กองเรือฝรั่งเศส "เข้า . . . ที่"             

๑๓  มกราคม   ๒๔๘๔   เบรังเยร์สั่งให้เรือตาอูร์และเรือมาร์นซึ่งมีรัศมีทำการน้อยที่สุดให้มารับน้ำมันที่ไซ่ง่อนแล้วสั่งให้ไปรอบริเวณเกาะคอนโดร์  และในวันนี้พลเรือตรี เตอร์โรซ์ มาหาเบรังเยร์ที่คัมรานห์แจ้งให้ทราบว่า พลเรือโทเดอคูซ์   ผู้สำเร็จราชการอินโดจีน  จะมาตรวจหมวดเรือ   วันรุ่งขึ้นคือวันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๔  เวลา ๑๘๐๐ พลเรือตรี เตอโรซ์ได้มาพบกับเบรัง เยร์อีกครั้ง ที่บางลมก้นอ่าวคัมรานห์  แม้ว่าขณะนี้จะยังไม่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลวิซี  แต่เตอร์โรซ์ ก็อนุญาตให้เบรังเยร์ดำเนินการได้ตามแผน  เพราะตนได้รับความเห็นชอบจากพลเรือโทเดอคูซ์ แล้ว

       อย่างไรก็ตามเตอร์โรซ์ก็กลัวจะผิดเหมือนกันจึงได้เขียนคำสั่งยุทธการให้ไว้ ๔ แผนด้วย กันซึ่งในช่วงที่เบรังเยร์เดินทางมาเกาะคอนโดร์ เขาสามารถระงับการต่อตีได้ โดยแผนการรุก ทั้ง ๔ แผน มีดังนี้ คือ

       ๑. จู่โจมระดมยิงที่หมายบนบกและพื้นน้ำ ในเวลากลางวันที่สัตหีบ แล้วทำการค้นหาทาง ตะวันออกเฉียงใต้ และทำลายกำลังทางเรือของไทยที่พบตามชายฝั่งไทย

       ๒. ค้นหาและทำลายกำลังทางเรือของไทย ตั้งแต่สัตหีบจนถึงเขตกัมพูชา

       ๓. แสดงกำลังกองเรือเฉพาะกาลหน้าจันทบุรีเกาะช้างและเกาะกูดโดยให้ยิงข้าศึกที่เป็น ภัย

       ๔. ยกเลิกภารกิจ ให้กองเรือกลับไซ่ง่อน คงปล่อยให้เรือฮาร์มังค์รุซโซลำหนึ่งอยู่ในทะเล ทำการตรวจด่านระหว่างแหลมซังต์ยักซ์ ถึงเกาะคอนโดร์
 
  . . .  "ระวัง"

      ในวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๔ เดอคูซ์อนุญาตให้เตอร์โรซ์ปฏิบัติการตามแผน ๒ ได้ ซึ่งหมายความว่าอนุญาตให้ต่อตีกำลังของไทยที่สัตหีบจนถึงเกาะช้างได้นั่นเอง  ทั้งนี้ เตอร์โรซ์ ได้โทรเลขไปยังเบรังเยร์ ที่คอยฟังคำสั่ง  ณ  เกาะคอนโดร์ว่า  "ทร.ไซ่ง่อน  ถึง ผบ.หมวดที่ ๗ ฉบับ ๒๐๖ ปฏิบัติทันที หนทางปฏิบัติ ๒    ข้าพเจ้า  หมายถึง ๒  ตามที่ระบุไว้ในคำสั่งของข้าพเจ้า   ลงวันที่ ๑๓ มกราคม ๑๐๔๓/๑๕๑๐"  หลังจากนั้นเบรังเยร์ได้เชิญผู้บังคับการเรือทั้ง ๔ คน มา ประชุมบนเรือลามอตต์  ปิค์เกต์  และสั่งการให้เข้าต่อตีทำลายเรือรบฝ่ายไทยที่บริเวณเกาะช้าง โดยส่งเครื่องบินไปลาดตระเวนในวันที่  ๑๖ มกราคมพ.ศ.๒๔๘๔    ถ้าหมู่เรือไทยออกทะเลให้ไปค้นหา    ถ้าหมู่เรือไทยไปอยู่สัตหีบ เรือลามอตต์ ปิค์เกต์  จะไปต่อตีเดี่ยวและให้เรืออื่นอีก ๙ ลำ ตามไปทีหลัง

      จะเห็นได้ว่าตามที่หนังสือ   Marine Indochine เขียนไว้เช่นนี้เป็นการอวดศักดาว่าแม้เรือ ลามอตต์ ปิค์เกต์ ลำเดียวก็สามารถเอาชนะเรือไทยได้    ความจริงนั้นในยามสงคราม  เรือรบทุกลำต้องพยายามรวมหมู่กันให้มากที่สุด เพื่อทำลายส่วนย่อยของข้าศึก    ดังนั้น  การที่กองกำลังทาง เรือของไทยแยกหมวดเรือออกจากกัน  จึงผิดหลักยุทธวิธี และทำให้ฝรั่งเศสคุยโตได้ 

          ที่ประชุมฝ่ายฝรั่งเศสตกลงกันว่าจะไม่แยกกำลัง เพราะเรือปืนหนักของไทยก็มีอานุภาพไม่ใช่น้อย   ผลที่สุดเบรังเยร์มีคำสั่งให้เรือทุกลำงดส่งวิทยุ  และดับไฟมืด

 

๑๖  มกราคม   ๒๔๘๔  

ทางพื้นดิน  . . . วีรกรรม  ร.พัน ๓ 

บ้านพร้าว . . . ๑๖  ม.ค.๘๔  

          ร.พัน ๓  กองพลพระนคร  เข้ายึดแนวห้วยหนองยาง และดัดแปลงภูมิประเทศ เป็นที่มั่นตั้งรับ  ทางขวา หรือทิศใต้เป็นที่มั่นตั้งรับของ ร.พัน ๖  กองพลลพบุรี

         ก่อนรุ่งสว่าง   ฝรั่งเศสเริ่มเข้าตีด้าน ร.พัน ๖ ก่อน   แล้วเข้าตี  ร.พัน ๓   ฝ่ายเรารอจนข้าศึกเข้ามาใกล้จนเกือบถึงแนวที่ตั้งปืน  จึงให้สัญญาณยิงฉาก     เมื่อยิงฉากตลอดแนวกว้างด้านหน้าสักครู่หนึ่ง    จึงสั่งให้ยิงต่อเป้าหมายที่ตรวจเห็น     มีเสียงปืนโต้ตอบ  ห่างออกไปอย่างประปราย   แสดงว่าข้าศึกถอยห่างออกไป     

          เมื่อฟ้าสางสามารถตรวจการณ์ได้ชัดเจน    จึงออกสำรวจ  ปรากฏว่า พบทหารข้าศึกเสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนมาก  เรียงรายตามเส้นทางในรูปขบวนเดิน     และยังได้ธงประจำหน่วยทหารฝรั่งเศส ตกอยู่ห่างจากแนวฝ่ายเราพียง  ๒๐  เมตร     ข้าศึกที่เหลืออยู่ยังคงยิงมาเป็นระยะๆ

         ทางด้าน ร.พัน ๖  ไม่มีการปะทะ  พิจารณาได้ว่า  น่าจะเป็นการเข้าตีลวงของฝ่ายฝรั่งเศส

          เวลาประมาณ  ๑๒๐๐    ฝ่ายฝรั่งเศสส่งรถถัง  จำนวน  ๕  คัน  มาสนับสนุนการเข้าตีของทหารราบ และยิงลูกระเบิดใส่ฝ่ายเรา    ฝ่ายเราส่งรถถัง แบบ ๗๖  จำนวน   ๒  คัน ไปเมื่อเวลา  ประมาณ ๑๔๐๐     รถถังสองคันนี้มาจากกรมรถรบ  พ.ต.สนิท  หงส์ประสงค์  ผู้บังคับกองร้อย นำมาเอง  ได้บุกเข้าปฏิบัติการในแนวข้าศึกอย่าง รวดเร็ว  รุนแรง  เด็ดขาด  โดยไม่มีทหารราบติดตามไป  ใช้เพียงการยิง และการเคลื่อนที่ของรถถัง     แต่ก็ทำให้ทหารข้าศึกเสียขวัญแตกกระเจิงไป  

 

 

ภาพหุ่นจำลองวีรกรรม  ร.พัน ๓  ที่บ้านพร้าว   จัดแสดงไว้  ณ  อนุสรณ์สถานแห่งชาติ 

 

          และเมื่อเวลาประมาณ  ๑๗๐๐    ทหารฝ่ายฝรั่งเศสก็ถอยออกไปหมด    การรบก็ยุติ

          ผลการสู้รบ    ฝ่ายเรา   

                              - ยึดธงประจำหน่วยกรมทหารราบที่  ๕   กองพันที่ ๓  ของข้าศึกได้

                              - เสียชีวิตเพราะถูกสะเก็ดระเบิด    ๓  นาย    บาดเจ็บ  ๕  นาย

                             ฝ่ายข้าศึก    สูญเสีย  ตาย  บาดเจ็บ  และถูกจับเป็นเชลยศึก  ไม่น้อยกว่า  ๔๐๐  นาย  (ข้อมูลของฝ่ายเรา)

 

          ธงประจำหน่วยกรมทหารราบที่ ๕  กองพันที่ ๓   นี้ เป็นธงที่มีความสำคัญและมีเกียรติของหน่วย เช่นเดียวกับธงชัยเฉลิมพลของเรา  (คำว่า"ธงชัยเฉลิมพล" เป็นชื่อเฉพาะ จึงไม่ควรนำไปใช้เป็นคำสามานยนาม)   ลักษณะ   เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส  ด้านละประมาณ  ๙๐ เซนติเมตร  พื้นสีเทาอ่อน  มีขลิบโดยรอบ     ด้านหนึ่ง มีรูปหน้าเสือ   อีกด้านหนึ่งเป็นอักษร บอกนามหน่วย     มีเหรียญครัวเดอ แกร์   กับเพรียญตรามังกร  และเหรียญอื่น  ประดับอยู่ที่ยอดเสาธง  รวม  ๓  เหรียญ     

          การที่ฝ่ายเราได้ธงนี้    ขณะที่ธงยังม้วนอยู่ในถุง  ตกอยู่ห่างจากแนวฝ่ายเราพียง  ๒๐  เมตร    สันนิษฐานว่า  ข้าศึกคงเตรียมธงนี้มาใช้ในการฉลองชันชนะ  แต่ผู้ถือธง  คงเสียชีวิตเสียก่อน    และหน่วยพยายามแก้สถานการณ์เพื่อช่วงชิงธงนี้กลับไปให้ได้    - ธงนี้ฝ่ายฝรั่งเศสได้เจรจาขอคืน เมื่อมีการเจรจาสงบศึก  และฝ่ายเราก็ยอมคืนให้เพราะเข้าใจในความจิตใจของทหารด้วยกัน 

                จากวีรกรรมครั้งนี้กองพันทหารราบที่ ๓ ได้รับพระราชทานเหรียญกล้าหาญประดับธงชัยเฉลิมพล เมื่อวันที่   ๒๕   เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๔ และ   ผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้มีหนังสือชมเชยความกล้าหาญของกองพันทหารราบที่ ๓   ซึ่งถือว่า เป็นเกียรติประวัติที่อยู่ในความทรงจำของกองทัพไทยตลอดมา

 

 ทางเรือ

ฝ่ายฝรั่งเศส . . . "หมวดเรือชั่วคราวที่ ๗" . . .  กำลังเดินทาง

ฝ่ายไทย  . . . "ขึ้นไปตรวจหาที่ตั้งไม้บรรทัดวัดระดับน้ำบนเกาะง่าม"

           เวลา ๑๒๑๑   เรือธนบุรีได้รับโทรเลขจาก ทัพเรือ  มีใจความว่า   ทัพเรือต้องการทราบอัตราน้ำขึ้นสูงที่สุดและต่ำที่สุดเป็นระยะเวลาประมาณ ๑ สัปดาห์   และถ้าจะตั้งไม้บรรทัดน้ำขึ้นที่บริเวณเกาะง่ามก็จะเป็นการดี    

          เวลา ๑๓๐๐   หลวงพร้อม ฯ จึงขึ้นไปตรวจหาที่ตั้งไม้บรรทัดวัดระดับน้ำบนเกาะง่าม   ครั้นเวลาเย็น  จึงได้ส่งจ่า ๒ คน  พลทหาร ๒ คน ที่ไม่ได้เข้ายามขึ้นไปประจำบนเกาะง่ามชั่วคราวเพื่อจดระดับน้ำ   และเป็นการบังเอิญที่สุดที่จ่าคนหนึ่งนั้นเป็นพลหันป้อมปืนท้าย     ดังนั้น  ในเวลารบ นายป้อมท้าย จึงต้องทำหน้าที่แทนพลหันป้อมปืน

 

          สำหรับเรือธนบุรีนั้นได้มีการเตรียมการโดยม้วนผ้าเพดานและล้มหลักต่างๆที่ไม่จำเป็นออก พร้อมทั้งเก็บสิ่งกีดขวางต่าง ๆ เพื่อความสะดวก ในเวลาฉุกเฉิน

           เวลา ๑๔๔๕     เครื่องบินจากเรียมส่งข่าวไปให้เตอร์โรซ์ที่ไซ่ง่อนทราบว่า  ที่เกาะช้างมีเรือรบไทยจอดอยู่ ๔ ลำ ในลักษณะสงบ  ผ้าเพดานและผ้าบังข้างกางเรียบร้อย    ลำหนึ่งนั้น เป็นเรือปืนหุ้มเกราะอย่างแน่นอน   ส่วนลำอื่นเป็นเรือตอร์ปิโด  สำหรับเครื่องบินที่ส่งไปลาดตระ เวนที่สัตหีบ ได้รายงานให้เตอร์โรซ์ทราบเช่นกัน    หลังจากนั้น  เตอร์โรซ์ได้รีบส่งข่าวเหล่านี้ไป ให้เบรังเยร์ทราบทันที

         จึงเป็นอันว่าวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๔ เวลา ๑๕๐๐ - ๑๖๐๐   เบรังเยร์ทราบตำบลที่แน่นอนของหมู่เรือไทย ทั้งที่เกาะช้าง และสัตหีบ พร้อมด้วยจำนวนเรือ   (และความพร้อมรบของเรือ - ผู้เขียน)

          ครั้นเวลา ๑๙๑๕   เรือธนบุรีก็ได้ออกเรือจากเกาะง่ามพร้อมกับเรือหนองสาหร่าย และเรือเทียวอุทก ไปจอดบริเวณอ่าวสลักคอก  โดยเรือเทียวอุทกและเรือยนต์ขวาของเรือธนบุรี ผูกอยู่ที่ท้ายเรือ    ส่วนบันไดขวาเอาขึ้น บันไดซ้ายห้อยไว้กับหลักเดวิท

          ฝ่ายฝรั่งเศสนั้นไม่กล้ามาโจมตีหมู่เรือที่สัตหีบ   เพราะถ้ามาสัตหีบจะต้องใช้เวลามากกว่าการเข้าโจมตีหมู่เรือที่เกาะช้าง  และเวลาถอยกลับอาจจะลำบากเพราะมีหมู่เรือที่เกาะช้าง สกัดอยู่   ดังนั้น  จึงเลือกเอาหมู่เรือที่เกาะช้างเป็นจุดโจมตี    เมื่อตีแล้วจะได้มีเวลารีบถอนตัวกลับได้ทันท่วงที

       เบรังเยร์มิได้ส่งคำสั่งของตนไปทางวิทยุ เพราะกลัวไทยจะดักฟังเสียงวิทยุเอาไว้  เขาส่งคำสั่งยุทธการทางสัญญาณไฟ "ปฏิบัติตามแผน C ต่อตีกลางวัน - เรือข้าศึก  ๔ ลำ ซึ่งจอดอยู่ ที่เกาะช้าง กำหนดให้หมู่เรือตาอูร์ และมาร์น เข้าระหว่างเกาะช้าง เกาะคลุ้ม เกาะหวาย    ส่วน เรือลามอตต์ ปิค์เกต์จะเข้าระหว่างเกาะหวาย เกาะจาน ให้เริ่มยิงเมื่อทัศนวิสัยชัดพอ     เมื่อถึง สนามยุทธ์จะส่งกำหนดการแบ่งเป้าไปให้   ให้รบไปจนกว่าจะสั่งเลิก  เวลาถอนตัวให้ถอนออก ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ขอให้ระวัง การส่งสัญญาณ"

          การที่เบรังเยร์กำหนดแผนนี้เพราะนึกว่าเรือไทย  ๔ - ๕  ลำต้องรวมหมู่กันอยู่ที่เกาะง่าม เป็นกลุ่มใหญ่ ซึ่งเป็นเป้านิ่ง และเหมาะแก่การโจมตี  ทั้งนี้ฝ่ายฝรั่งเศสมีการวางแผนกำหนด เวลายิงไว้ในแต่ละหมู่ หมายความว่าไม่ให้ยิงพร้อมกันทุกหมู่  ถ้ายิงพร้อมกัน จะตรวจกระสุน ตกลำบากหรือตรวจไม่ได้เลย

 

๑๗  มกราคม  ๒๔๘๔

 . . .  เกาะช้าง  . . .  สยามเป็นชาติของเรา  อย่าให้เขามาย่ำมายี . . .

          ๐๒๐๐    เรือลามอตต์ ปิค์เกต์เห็นเรือประมงเล็กลำหนึ่งใกล้เส้นทางเรือเดิน  แต่เรือประมงไทยลำนั้นก็ไม่สามารถสื่อข่าวอะไรให้แก่หมู่เรือไทยเสียแล้ว

          ๐๕๓๐    เรือฝรั่งเศส  ๕ ลำ  ประจำสถานีรบและ เตรียมปืนใหญ่ไว้พร้อม   หมวดเรือแล่นเรียงหนึ่งตามกัน โดยใช้ความเร็ว ๑๓ นอต   แล่นเข็ม ๐๔๓ องศา ตรงมายังเกาะคลุ้ม    จะเห็นได้ว่าตามเข็มที่ฝรั่งเศสแล่นมานี้จะบังสายตาของหมู่เรือไทย   เพราะมีเกาะคลุ้มเป็นฉากบังไว้   เวลานี้เรือไทยก็จอดอยู่  ณ เกาะง่าม  เพียง  ๒ ลำ   คือ เรือสงขลา และเรือชลบุรี

         ๐๕๔๕    เรือลามอตต์ ปิค์เกต์ ส่งสัญญาณให้เรือในหมวดของตนว่า  "นำเรือโดยอิสระเพื่อปฏิบัติตามคำสั่ง"   ดังนั้น  เรือฝรั่งเศสจึงได้แยกออกเป็น ๓ หมู่ คือ 

             หมู่ที่ ๑  เรือลามอตต์ปิค์เกต์ ลำเดียวแล่นเข็มตรงไปเกาะหวาย  เข้ามาทางช่องด้านใต้เกาะหวาย และ  เกาะใบตั้ง

 

 

             หมู่ที่ ๒   เรือดูมองต์ ดูร์วิลล์ กับอามิราล ชาร์เนร์ แล่นเข็ม ๐๕๐ อง ศา   เข้ามาทางช่องด้านใต้ระหว่างเกาะคลุ้มกับเกาะหวาย ตรงไปเกาะง่าม

 

 

 

            หมู่ที่ ๓  เรือตาอูร์ กับมาร์น แล่นเข็ม ๐๒๐  องศา  เข้ามาทางช่องด้านตะวันตกระหว่างเกาะคลุ้มกับแหลมบางเบ้า  ตรงไปแหลมบางเบ้า ของเกาะช้าง

 

 

 

           ส่วนเรือดำน้ำ และเรือสิ้นค้าติดอาวุธคงรออยู่ด้านนอกในทะเล  ไม่ได้เข้าทำการรบ
 
          ลักษณะทางอุตุนิยมวิทยาในเวลา ๐๖๐๐ คือ มีเมฆตามขอบฟ้า  พื้นทะเลมีหมอกบาง ๆ  ลมตะวันตกเฉียงใต้ มีกำลัง ๑ โบฟอร์ด  คลื่นไม่มี  ทัศนวิสัย ๖ ไมล์ทะเล อากาศค่อนข้างหนาว อุณหภูมิ ๒๗ องศาเซลเซียส

 

การรบระหว่างเรือตอร์ปิโดไทย  ๒ ลำ  กับ  หมวดเรือฝรั่งเศส  ๕ ลำ    (เกาะง่าม)

         แม้เครื่องบินลัวร์ ๑๓๐ จะรายงานที่เรือของเรือไทยไปให้เตอร์โรซ์ ที่ไซ่ง่อนทราบ แล้วก็ตาม    แต่ไม่ปรากฏว่าเบรังเยร์ทราบว่าเรือธนบุรีจอดอยู่ที่ไหนยังคงนึกว่าจอดอยู่ ณ เกาะ ง่ามนั่นเอง    เพราะฉะนั้น    เวลา  ๐๖๑๐ เบรังเยร์ จึงส่ายตามองหาเรือปืนหนักของไทยแต่ก็หาไม่พบ  คงพบแต่เรือตอร์ปิโด

          กำลังทางเรือฝ่ายไทยที่เข้าทำการรบมี ๓ ลำ  เรือหลวงธนบุรี ระวางขับน้ำ   ๒,๒๐๐ ตัน   ลอยลำอยู่ที่บริเวณเกาะลิ่ม    ส่วนเรือหลวงสงขลา  และเรือหลวงชลบุรี   ซึ่งมีระวางขับน้ำลำละ ๔๗๐ ตัน   ลอยลำอยู่ที่อ่าวสลักเพ็ชร  

          ๐๖๑๐    เรือสงขลาเห็นเรือลามอตต์ ปิค์เกต์ขณะที่โผล่ออกมาจากเกาะหวาย   คะเนว่าแล่นราว ๒๐ นอต วัดระยะทางได้ ๑๐,๐๐๐ เมตร   ขณะนี้ทัศนวิสัยเลว   ทีแรกเข้าใจว่าเป็นเรือธนบุรี    เมื่อพิเคราะห์ว่าเป็นเรือฝรั่งเศสแน่ ต้นปืนจึงสั่งยิงปืนใหญ่ไปยังข้าศึก ตั้งระยะศูนย์ ๑๐,๐๐๐ เมตร

          เรือชลบุรีจอดหันหัวเรือไปทางทิศ  ๐๒๒  องศา โดยประมาณ      ส่วนเรือสงขลาหันไปทิศ  ๐๔๕  องศา ห่างกันประมาณ   ๓๐๐ เมตร

               เมื่อเรือสงขลายิงเรือลามอตต์ ปิค์เกต์ ไปแล้ว ๑ ตับ เรือลามอตต์ ปิค์เกต์ จึงยิงตอบ   แต่กระสุนไปถูกเกาะง่ามเสีย 

               เรือชลบุรีจึงร่วมยิงเรือลามอตต์ ปิค์เกต์ ด้วย โดยตั้งศูนย์ ๑๒,๐๐๐ เมตร

               ครั้นยิงตับแรกไปแล้วจึงเห็นเรือดูมองต์ ดูร์วิลล์ และเรืออามิราล ชาร์เนร์ โผล่มาระหว่าง เกาะหวายและเกาะคลุ้ม ในเวลาติดกันก็แลเห็นเรือตาอูร์และเรือมาร์น  โผล่มาทางแหลมบาง เบ้าอีก

               เรือชลบุรีจึงเปลี่ยนเป้าใหม่ให้ปืน ๑  และ ปืน ๒ มายังข้าศึกแหลมบางเบ้า  โดยตั้งศูนย์ ๘,๐๐๐ เมตร     ส่วนปืนท้ายให้ยิงเรือดูมองต์ ดูร์วิลล์ โดยตั้งศูนย์  ๘,๐๐๐ เมตร

              เรือสงขลาทำการยิงกับเรือลามอตต์ ปิค์เกต์ ปรากฏว่ากระสุนตกต่ำมากจึงแก้ศูนย์ระยะ เป็น ๑๔,๐๐๐ เมตร ปรากฏว่ากระสุนตกสูง จึงแก้ระยะเป็น ๑๒,๐๐๐ เมตร  เรือสงขลาบอกว่า ถูกเป้า   แต่ฝรั่งเศสบอกว่าไม่มีรอยกระสุนเลย

 

การรบระหว่างเรือธนบุรี  กับ  เรือลามอตต์ ปิค์เกต์

 

 

 

            ประมาณ ๐๖๑๒    ขณะที่ทหารเรือหลวงธนบุรีกำลังฝึกกายบริหารตามปกติ   ยามสะพานเดินเรือ  ได้เห็นเครื่องบินข้าศึก ๑ เครื่อง บินมาทางเกาะกูด  ผ่านเกาะกระดาษมาตรงหัวเรือ    จึงได้ประจำสถานีรบ  แต่ยังมิได้ทำการยิง เนื่องจากว่าเครื่องบินข้าศึกได้บินเลี้ยวพ้นไปทางเกาะง่าม   ตรงบริเวณที่เรือตอร์ปิโดทั้ง  ๒ ลำ   ลอยลำอยู่

               ทางเรือจึงสั่งรื้อเพดาน  แล้วออกคำสั่งทางไมโครโฟนให้ห้องเครื่องติดเครื่องจักรใหญ่    แล้วสั่งให้ต้นหนส่งวิทยุแจ้งไปยังกองบินบกที่จันทบุรี   แต่ปรากฏว่าส่งไม่ได้เพราะทางจันทบุรีไม่ได้รับ   

            ๐๖๑๕    เรือดูมองต์ ดูร์วิลล์ได้เล็งยิงไปยังเปลวไฟปากกระบอกปืนของเรือตอร์ปิโดไทย  และทันใดนั้น   ทหารทุกคนก็ได้ยินเสียงปืนจากเรือตอร์ปิโด  คือ  เรือหลวงสงขลา  และเรือหลวงชลบุรีทำการยิงสกัดกั้นเครื่องบินข้าศึก โดยทุกคนได้เห็นกลุ่มกระสุนระเบิดในอากาศใกล้เครื่องบินและเครื่องบิน บินลับตาไป  

           ๐๖๒๐    สมอขึ้นพ้นน้ำ    เรือธนบุรีเริ่มออกเดิน    ขณะนี้เรือลามอตต์ ปิค์เกต์กำลังแล่นลับ เกาะไม้ซี้ใหญ่    เรือธนบุรีใช้เข็ม ๑๓๕ องศา เมื่อสอบศูนย์จากศูนย์รวบเพื่อสับไฟใช้ยิงที่ศูนย์รวบ   จึงปรากฏว่าป้อมท้ายยังไม่พร้อม   (เพราะพลหันป้อมไม่อยู่ ไปวัดระดับน้ำบนเกาะง่ามตั้งแต่เมื่อวาน) หลวงพร้อม ฯ จึงสั่งหยุดเครื่องหางเสือซ้ายหมด เพื่อให้เรือบังเกาะไม้ซี้ใหญ่อยู่ก่อน

          ๐๖๒๓    เรืออามิราล ชาร์เนร์ เริ่มยิง  โดยใช้เปลวไฟปากกระบอกเรือตอร์ปิโดเป็นเป้า

          ๐๖๒๕    เรือตาอูร์  และเรือมาร์นเริ่ม

          เรือไทยเสียเปรียบมาก เพราะเป็นเป้านิ่ง  และมิหนำซ้ำยังอยู่รวมกันเป็นกระจุกกระสุนข้าศึกมีโอกาสพลาดเป้าอื่นมาถูกเข้าได้

          เรือดูมองต์ ดูร์วิลล์ รายงานว่าพอยิงตับที่ ๓ ถูกเป้า และเรือหมู่นี้ได้ร่นระยะเข้าไปจนถึง ๕,๐๐๐ เมตร เรือหมู่นี้ระดมยิงเรือชลบุรีจนไฟไหม้

          ๐๖๒๙    ขณะการรบติดพันกันอยู่เรือลามอตต์ ปิค์เกต์เกือบยิงเรือตาอูร์และ เรือมาร์น เพราะหลงเข้าใจผิดว่าเป็นเรือรบไทย  เคราะห์ดีที่เรือเอก เรอมิญองส่องกล้องใหญ่แล้วจำเรือของพวกตนได้

          ด้วยเหตุที่เบรังเยร์คิดว่าเรือธนบุรีต้องจอดอยู่ที่เกาะง่าม    เวลานั้นทัศนวิสัยเลวนึกว่าเกาะง่ามเป็นเรือธนบุรี    เบรังเยร์จึงสั่งยิงตอร์ปิโด  ๑ ตับ ๓ ลูก  ในเวลา ๐๖๓๐  ตอร์ปิโดเหล่านี้ฝรั่งเศส   บอกว่าลูกหนึ่งต้องถูกเป้า (คือเรือ) แต่ผลปรากฏว่าไประเบิดที่เกาะง่าม   ไม่มีลูกใดเลยที่ถูกเรือ
 
          เวลาต่อมาได้ยินเสียงปืนทางเกาะง่ามถี่ขึ้น และไม่ได้เห็นกระสุนระเบิดในอากาศจึงสันนิษฐานว่าคงมีเหตุทางเกาะง่าม      เรือธนบุรีจึงออกเรือ    ขณะเดียวกันกับที่ยามบนสะพานเดินเรือ รายงานว่าเห็นเรือข้าศึกทางใต้ของเกาะช้าง   โดยที่ยามมองตรงช่องระหว่างเกาะช้างกับเกาะ ไม้ซี้ใหญ่ เรือนี้คือเรือลามอตต์ ปิค์เกต์ กำลังแล่นเข็ม  ๐๒๕ องศา   และเห็นแสงไฟแลบจากเรือด้วย เพราะเวลานี้เรือลามอตต์ ปิค์เกต์ กำลังระดมยิงเรือสงขลาและเรือชลบุรี  

          เรือลามอตต์ ปิค์เกต์ แล่นยิงเรือตอร์ปิโดเสร็จแล้วก็คงแล่นเข็ม ๐๗๕ องศาเรื่อยไป

          ครั้นเวลา ๐๖๓๔    จึงเลี้ยวซ้ายไปถือเข็ม ๐๕๐ องศา ด้วยความเร็ว ๒๐ นอต  ดวงอาทิตย์โผล่ขึ้นมา ทางกราบขวา    เบรังเยร์จึงเห็นเรือธนบุรีโผล่มาระหว่างเกาะไม้ซี้ใหญ่กับเกาะไม้ซี้เล็ก   เขาเกิดสงสัยทันทีว่าเรืออะไรแน่    ครั้นแล้วจึงเกิดความคิดว่า เรือ  (ความจริงไม่ใช่เรือ) ที่เขายิงด้วย ตอร์ปิโด ๓ นัด เมื่อเวลา ๐๖๓๐ นั้น  คงเป็นเรือศรีอยุธยานั่นเอง แต่แท้จริงนั้นเขายิงเกาะง่าม เพราะตาฝาดนึกไปว่าเป็นเรือปืนหนัก

          ๐๖๔๐    ปืนพร้อมทั้ง  ๒ ป้อม    เรือธนบุรีเดินหน้าเต็มตัวโดยใช้เข็ม  ๑๓๕ องศาและ สั่งเตรียมรบกราบขวา ที่หมายเรือลาดตระเวนข้าศึก

          ๐๖๔๕    เรือลามอตต์ ปิค์เกต์  โผล่ทางด้านตะวันออกของเกาะไม้ซี้ใหญ่ และเริ่มยิงเรือธนบุรีทันที เวลานี้ระยะ ๑๒,๑๐๐ เมตร (ไทยว่า ๑๓,๐๐๐ เมตร)   ส่วนปืนเบากราบขวาของเรือธนบุรี ซึ่งผู้ช่วยต้นปืนเป็นผู้ควบคุมการยิงนั้นรุกรนเกินไป   ลืมตั้งศูนย์ใหม่ (ได้ตั้งศูนย์ เก่าไว้เพียง ๔,๐๐๐ เมตร)   พลประจำปืนเบากราบขวานี้ได้ยินคำสั่งผิด   คิดว่าสั่งให้เริ่มยิง  จึงได้ยิง เป็นเหตุให้เสียกระสุนไปเปล่า ๆ ๒๖ นัด (คือปืน ๑  ยิง ๑๕ นัด ส่วนปืน ๓ ยิง ๑๑ นัด)

          หลวงพร้อม ฯ สั่งย้ายที่ถือท้ายเรือมาอยู่ในหอรบ

          เวลานี้วิทยุยังส่งไม่ได้ เนื่องจากไม่มีหน่วยใดได้รับวิทยุของเรือธนบุรีเลย นับว่าไทยยังประมาทในเรื่องการติดต่อสื่อสาร แม้จะอยู่ในช่วงที่บ้านเมืองไม่ปกติเช่นนี้

          กระสุนตับแรก (๔ นัด) ของฝรั่งเศส  ตกสูง ห่างจากเรือ  ๓๐๐ เมตร   

          ตับที่ ๒   ยิงตรงแต่ต่ำ โดยห่างจากเรือเพียงฝอยน้ำสูงเสมอหัวเรือ (กระสุนที่ระเบิดในน้ำมีสีต่าง ๆ
 กัน บางนัดก็เป็น สีเขียว  บางนัดก็สีขาว  บางนัดก็สีใบไม้แกมเขียว )   

           เมื่อเรือฝรั่งเศสยิงมาแล้ว ๒ ตับ เรือธนบุรีจึงได้เริ่มยิงตับแรก โดยยิงจากป้อมปืน หัวและป้อมปืนท้าย  โดยตั้งระยะ ๑๓,๐๐๐ เมตร ทางฝรั่งเศสบอกว่ากระสุนปืนของไทยตกต่ำ ไปตั้ง ๒,๐๐๐ เมตร

          ตับที่ ๓   บางนัดตกต่ำ ห่างจากเรือธนบุรี  ๑๕๐ เมตร    

          ๐๖๔๘    เรือฝรั่งเศส ตรวจกระสุนตกได้ว่า คร่อมเป้า    (สร้างห้วงควบได้แล้ว)

          ตับที่ ๔    ของฝรั่งเศสมีนัดหนึ่งยิงโดนผนังห้องรับแขกนายพล บริเวณมุมห้องกราบขวา กระสุนทะลุเข้าไปภายในห้องรับแขกแล้วระเบิดขึ้นกลางห้อง อำนาจระเบิดนี้เองทำให้ทะลุขึ้นข้างบนตรงพื้นของหอบังคับการเดินเรือ   ทำให้หลวงพร้อม ฯ และทหารในหอบังคับการเสีย ชีวิตและบาดเจ็บ นอกจากนั้นยังมีไฟไหม้  เครื่องสื่อสารสั่งการไปยังปืน และเครื่องถือท้ายในหอบังคับการใช้การไม่ได้   ทำให้เรือซึ่งกำลังเดินหน้าด้วยความเร็ว ๑๔ นอต   ต้องหมุนซ้ายเป็นวงกลมอยู่ถึง ๔ รอบ     ในขณะนี้เอง   เรือลามอตต์ ปิเกต์ได้ระดมยิงเรือหลวงธนบุรีอย่างหนัก  ป้อมปืนทั้งสองของเรือหลวงธนบุรีต้องทำการยิงอิสระ โดยอาศัยศูนย์ข้างและศูนย์ระยะที่หอกลาง   

          เมื่อเรือลามอตต์ ปิค์เกต์มองไปตรงช่องระหว่างเกาะไม้ซี้ใหญ่กับไม้ซี้เล็กก็เห็นเรือธนบุรีไฟไหม้  และเอียงทางกราบขวา    แต่ปืนเรือธนบุรียังคงยิงมายังเรือลามอตต์ ปิค์เกต์  ได้อยู่ตลอด

          ปรากฎว่า   เรือลามอตต์ ปิเกต์ได้ถูกกระสุนปืนจากเรือหลวงธนบุรี โดยมีแสงไฟจากเปลวระเบิด และควันเพลิงพุ่งขึ้นบริเวณตอนกลางลำ จำต้องล่าถอย    

          เรือลามอตต์ ปิค์เกต์ แล่นมาจนถึง เกาะจาน จึงหันขวา  แล้วใช้เข็ม  ๒๖๐ องศา   ครั้นถึงเกาะใบดั้ง จึงหันขวาไปใช้เข็ม ๐๑๐ องศา   แล้วหันขวาอีกครั้งหนึ่งเข้าช่องระหว่างเกาะจานกับเกาะใบดั้ง   เมื่อผ่านเกาะจานไปแล้ว  จึงหันซ้ายไปใช้เข็ม ๐๔๕ องศา    แล้วส่งสัญญาณแจ้งไปยังเรืออีก ๔ ลำ ให้ติดตามมา  แต่ปรากฏว่าเรือเหล่านั้นไม่สามารถตามเรือลามอตต์ ปิค์เกต์ ทัน จึงได้สั่งให้แยกกระบวนเรือออกไป โดยเรือทั้งสี่ใช้เข็ม ๒๓๐ องศา  ไปรออยู่นอกระยะปืน   ทางตะวันตกของเกาะเหลาใน

 

. . . ถึงเรือจะจมในน้ำ ธงไม่ต่ำลงมา . . . 

          ๐๖๔๕    เรือสงขลาสละเรือใหญ่  เพราะเรือเริ่มเอียงทางกราบซ้าย และคว่ำในเวลา ๐๖๕๓ 

          ๐๖๕๐    เรือชลบุรีสละเรือใหญ่  เพราะท้ายเรือเริ่มจม  และจมมิดลำในเวลา ๐๖๕๕

          ๐๗๕๑    เรือลามอตต์ ปิค์เกต์ ได้ระดมยิงทางกราบซ้ายและปล่อยตอร์ปิโด ๑ ตับ ๓ ลูก ปรากฏว่าตอร์ปิโดไม่ถูกเรือธนบุรีเลย

                          เบรังเยร์ตัดสินใจเดินทางกลับ เพราะเห็นว่าเรือธนบุรีต้องจมแน่    

          ๐๘๐๐    จึงเลี้ยวขวาไปใช้เข็ม ๒๓๐ องศา รวมทั้งส่งสัญญาณให้เรืออีก ๔ ลำ  แล่นเข้ากระบวน  และเมื่อเรือผ่านเกาะใบดั้งแล้ว จึงเปลี่ยนไปใช้เข็ม ๒๗๐ องศา  แล่นออกทะเลไป

          ๐๘๓๐    เรือธนบุรีแล่นไปทางแหลมน้ำ ไฟกำลังโหมไหม้อยู่บริเวณสะพานเดินเรือ  และในห้องครัว จากระเบิดที่ถูกทิ้งจากเครื่องบินฝ่ายเดียวกัน    ไฟลุกทั่วไปในช่องทางเดิน แม้จะพยายามดับไฟแล้ว  แต่ก็ไม่สามารถทำได้  เรือธนบุรีลดความเร็วลง เพื่อไม่ให้กระแสลมเข้าช่วยกระพือโหมเปลวเพลิงมากนัก   เรือเอก ทองอยู่  สว่างเนตร  ต้นเรือ จึงตัดสินใจนำเรือไปทางแหลมงอบ แต่ยิ่งแล่นไฟยิ่งลุกใหญ่ และต่อมาก็หยุดแล่น 

           ๐๙๕๐    ร.ล. ช้าง เข้าเทียบกราบขวา ร.ล. ธนบุรี เพื่อช่วยดับไฟ แต่สายสูบน้ำดับเพลิงก็ไม่ยาวพอที่จะดับไฟที่ลุกไหม้อยู่ใต้ดาดฟ้า    อาการของเรือธนบุรี ทรุดลงเรื่อยๆ จากน้ำที่เข้าเรือจนท้ายเรือทรุดต่ำลง  เรือเอก ทองอยู่  สว่างเนตร  ขอให้ ร.ล.ช้าง จูงไปเกยตื้นที่บริเวณแหลมงอบ   เมื่อเรือแล่นใกล้ที่ตื้นบริเวณแหลมน้ำ   ท้ายเรือก็เริ่มแปล้น้ำลงทุกทีและเอียงทางกราบขวาเล็กน้อย            

 

 

 

 

           ๑๑๓๐    หลังจากที่จูงพลางดับไฟพลาง เรือธนบุรีถูกจูงมาเกยตื้นบริเวณแหลมงอบ ต้นเรือสั่งให้ลำเลียงผู้บาดเจ็บลงสู่ ร.ล.ช้าง  ชาวบ้านและทหารได้ช่วยกันดับไฟอย่างสุดความสามารถ แต่อาการของ ร.ล. ธนบุรีทรุดหนักสุดจะเยียวยา  เรือเอียงลงทางกราบขวา จนกราบเรือเกือบจะตักน้ำ ไม่สามารถที่จะแต่งระดับเรือต่อไปได้อีก

          ต้นเรือจึงสั่งให้สละเรือ    ท่ามกลางความอาลัยของเหล่าทหาร

          ประมาณเวลา ๑๖๔๐   กราบเรือทางขวาก็เริ่มจมน้ำมากขึ้นตามลำดับ   เสาทั้งสองเอนจมลงไป   กราบซ้ายและกระดูกงูกันโครงโผล่อยู่พ้นน้ำ

 

 

ภาพสุดท้ายของเรือหลวงธนบุรี

 

แผนที่แสดงแนวเส้นทางเดินเรือ   ตลอดระยะเวลาต่าง ๆ ที่เรือรบของฝ่ายไทยได้ต่อสู้กับเรือรบฝรั่งเศส ในการรบที่เกาะช้าง

 แผนที่นี้ พลเรือโท พัน   รักษ์แก้ว   ได้สรุปขึ้นจากแผนที่แสดงการรบของทั้งสองฝ่ายหลังเปรียบเทียบกับเพื่อหาความเป็นจริงที่น่าจะเป็นไปในขณะนั้น

 

เครื่องบินไทยไล่เรือรบฝรั่งเศส  (พลเรือโท ชาญ  วีระประจักษ์)

       ทัพเรือที่สัตหีบแจ้งให้กองบินที่จันทบุรีทราบว่าเกิดการรบทางเรือขึ้นที่เกาะช้าง  เครื่องบินจากจันทบุรีจึงบินออกหาข้าศึกในอ่าวไทย  จนพบเรือฝรั่งเศสทั้ง ๕ ลำ  (เอกสารบางฉบับ ของฝ่ายไทยว่าส่งเครื่องบินออกล่า ๑๘ เครื่อง)

        ๐๘๕๔  เครื่องบินได้โจมตีเรือลามอตต์ ปิค์เกต์มีลูกหนึ่งตกห่างเรือเพียง  ๕ เมตร อีกลูกหนึ่งตกห่างท้ายเรือเล็กน้อย แต่ไม่ถูกเรือฝรั่งเศสเลย

       อย่างไรก็ตาม หลังจากยุทธนาวีที่เกาะช้างแล้ว  ฝ่ายไทยได้ส่งเรือมัจฉาณุ และเรือสินสมุทรไปลาดตระเวนนอกเกาะช้าง   เพื่อป้องกันมิให้ฝรั่งเศสแอบมายกพลขึ้นบกแถวจังหวัดตราด

 

บทเรียนจากการรบในสายตาของผู้ไม่ได้เป็นทหารเรือ

          ฝ่ายฝรั่งเศส

            - ปฏิบัติเช่นในยามสงตราม คือมีการลาดตระเวนทางอากาศ และรวบรวมข่าวสารอยู่เสมอ

            - มีการฝึกทั้งทางยุทธวิธี และเรื่องที่เกี่ยวข้องอื่นๆ  ทั้งยังมีการซักซ้อมแผนอีกด้วย

            - มีการต่อต้านข่าวกรอง  เช่น  การทาสีเรือใหม่  และออกข่าวว่าเตรียมรับผู้สำเร็จราชการ

            - มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และต่อเนื่อง เช่น  สั่งให้เครื่องบินที่เรียมทำการลาดตระเวนดูการเคลื่อนไหวของเรือรบไทย แล้วส่งข่าวให้ผู้บังคับหมวดเรือชั่วคราวที่ ๗  ทราบทุกระยะ

            - มีการระวังป้องกัน และรักษาความลับในการส่งข่าว และระหว่างการเดินทาง

          ฝ่ายไทย        ก็มีบทเรียนหลายประการเช่นกัน    ซึ่ง พลเรือโท ชาญ  วีระประจักษ์ ท่านได้ว่าไว้ดังนี้ 

          ข้อบกพร่องของไทย     (พลเรือโท ชาญ  วีระประจักษ์)

       ๑. เรือระยองลาดตระเวนไม่พบข้าศึก

       ๒. การปืนเรือธนบุรีหลังจากยิงเป้าจริงที่แหลมบางเบ้าแล้ว ก็มิได้ทำการยิงจริง ๆ อีกเลย  การฝึกต่าง ๆ คงกระทำโดยวิธีสมมุติกันตลอดมา ทำให้การยิงปืนอ่อนไป ปรากฏว่ายิงไม่ถูกเรือลามอตต์ ปิค์เกต์ เลยสักนัดเดียว

       ๓. ขาดพลหันป้อมท้าย จึงทำให้ปืนท้ายพร้อมช้าไป เท่ากับหมดสมรรถภาพไปตั้งครึ่ง

       ๔. คนนาฬิกาไม่ได้เปลี่ยนระยะเมื่อต้นปืนสั่งเปลี่ยนศูนย์ยิงตับแรกทั้งนี้เพราะไม่ได้ฝึก หัดให้ชำนาญ และตื่นเต้นเนื่องจากเป็นการรบครั้งแรก

       ๕. ปืนบางกระบอก ปิดลูกเลื่อนไม่เข้าที่ เพราะปืนร้อนจัดเกินไป

       ๖. การยิงของเรือธนบุรีช้ามาก เพราะบังเอิญมีเหตุขัดข้องที่มาขัดขวางหลายอย่าง

       ๗. การตรวจกระสุนตกตรวจไม่ได้  เพราะควันบังกล้อง  ซึ่งอุปสรรคเกิดจากโชคร้ายที่เรือไม่สามารถใช้หางเสือได้

       ๘. ในการยิงอิสระ (ขณะที่เรือหมุนอยู่นี้) พลเล็งยิงเล็งลำบากมากเพราะต้องหันปืนตามเป้าอยู่ตลอดเวลา ทำให้หมดมุมยิง ต้องหันปืนมายิงทางกราบตรงข้ามอีก

       ๙. เครื่องบินไทยยังไม่สามารถจำลักษณะเรือไทยเมื่อมองจากมุมสูงได้

     ๑๐. ผู้บังคับบัญชาไม่กวดขันให้พนักงานวิทยุ อยู่เข้าเวรตลอดเวลา แม้ในยามวิกฤติ

 

. . . วันไหนร่วงโรย  ดอกโปรยตกพรู   ทหารเรือเราจงดู  ตายเป็นหมู่เพื่อชาติไทย . . .

จำนวนคนตายและบาดเจ็บในการรบทางเรือ     (พลเรือโท ชาญ  วีระประจักษ์)

       เรือสงขลา ตาย ๑๔ คน ประกอบด้วยจ่า ๓ คน พลทหาร ๑๐ คน และพลเรือน ๑ คน

       บาดเจ็บสาหัส ๘ คน ประกอบด้วย นายทหาร ๒ คน พันจ่า ๑ คน จ่าและพลทหาร ๕คน บาดเจ็บเล็กน้อย ๒๕ คน

       เรือชลบุรี ตาย  ๒ คน ประกอบด้วย จ่า ๑ คน และพลทหาร ๑ คน

       บาดเจ็บ  ๑๔ คน ประกอบด้วย จ่า ๓ คน และ พลทหาร ๑๑ คน

       เรือธนบุรี   ตาย  ๒๐ คนประกอบด้วยนายทหาร ๒ คนพันจ่า ๑ คน จ่า  ๔ คนและพลทหาร ๑๓ คน
       บาดเจ็บ  ๓๙ คน  ประกอบด้วยนายทหาร ๒ คน  พันจ่า  ๒ คน จ่า  ๘ คน และพลทหาร  ๒๗ คน

       ฝ่ายฝรั่งเศส 

          ฝรั่งเศสแจ้งว่าไม่ถูกกระสุนฝ่ายไทยเลย ที่ต้องเอาเรือลามอตต์ ปิค์เกต์ ไปซ่อมที่ญี่ปุ่นก็เพราะความเสียหายที่เกิดจากความกระเทือนของปืนใหญ่ของตน

           สรุปผลการรบจะเห็นว่าฝรั่งเศสเอากำลังส่วนใหญ่เข้าต่อตีกำลังส่วนย่อยของไทย ในอัตราส่วน ๔ ต่อ ๒   ไทยจึงแพ้อย่างราบคาบฝรั่งเศสบอกว่าฝ่ายเขาไม่ถูกกระสุนเลย   แต่ไทยเรายืนยันว่า ฝรั่งเศสถูกกระสุนบ้าง

      และนับจากได้เกิดการรบที่เกาะช้างแล้ว  ก็ไม่ปรากฏว่ามีเรือรบของข้าศึกเข้ามาในอ่าวไทยอีกเลย

          การรบทางเรือที่เกาะช้างในครั้งนี้ แม้จะไม่จัดว่าเป็นการยุทธใหญ่ก็ตาม แต่ก็นับว่าเป็นการรบทางเรือตามแบบอย่างยุทธวิธีสมัยใหม่ กำลังทางเรือของไทยเข้าทำการสู้รบกับกำลังทางเรือของข้าศึก ซึ่งเป็นชาติมหาอำนาจทางเรือ และมีจำนวนเรือที่มากกว่า จนข้าศึกต้องล่าถอย  ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจการระดมยิงหัวเมืองชายทะเลทางภาคตะวันออกของประเทศได้สำเร็จ จึงนับเป็นเกียรติประวัติอันน่าภาคภูมิใจอย่างยิ่ง ซึ่งจะบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ของชาติไทย และ ทหารเรือสืบไป

 

. . . ส่วนตัวเราตายไว้ยืน ไว้ยืนแต่ชื่อ    ให้โลกทั้งหลายเขาลือ  ว่าตัวเราคือ  ทหารเรือไทย

          ชาวตราดจึงได้ร่วมกับกองทัพเรือ จัดสร้างอนุสรณ์สถานยุทธนาวีขึ้น  บริเวณบ้านแหลมงอบ ต.แหลมงอบ อ.แหลมงอบ  จว.ตราด  โดยมีพระอนุสาวรีย์ พลเรือเอก  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ผู้ทรงมีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานให้กองทัพเรือไทย  ประดิษฐานบนอาคารที่สร้างเป็นเรือรบจำลอง  หันพระพักตร์ไปยังบริเวณยุทธนาวีเกาะช้าง  เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน และเหตุการณ์ในครั้งนั้น

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 การลอยพวงมาลา ณ บริเวณที่เกิดเหตุการณ์ยุทธนาวีที่เกาะช้าง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เหตุการณ์ต่อไป  -  มณฑลบูรพา ... เคยได้เป็นของเรา

เหตุการณ์ต่อไป  -  มณฑลบูรพา ... เคยได้เป็นของเรา

เหตุการณ์ต่อไป  -  มณฑลบูรพา ... เคยได้เป็นของเรา

 

 

บรรณานุกรม

          - ไทยกับสงครามโลกครั้งที่  ๒  โดย    ศาสตราจารย์   ดิเรก  ชัยนาม      แพร่พิทยา  กรุงเทพฯ  ๒๕๐๙

          - ประวัติกองทัพไทย  ในรอบ  ๒๐๐  ปี  พ.ศ.๒๓๒๕ - ๒๕๒๕      กรมแผนที่ทหาร  กรุงเทพฯ  ๒๕๒๕

          - กรณีพิพาทระหว่างไทย - อินโดจีนฝรั่งเศส    โดย  พันเอก  โอภาส  โพธิแพทย์ *   "วิวัฒนาการทหารปืนใหญ่"    ปีที่  ๒    ฉบับที่  ๓    มิถุนายน  ๒๕๒๒    ศูนย์การทหารปืนใหญ่    ค่ายพหลโยธิน  ลพบุรี       *(ปัจจุบันท่านได้รับพระราชยศ "พลเอก")

          -  กรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส  โดย  พลเรือโท  ชาญ  วีระประจักษ์  ได้เขียนไว้ในวารสารนาวิกศาสตร์  ฉบับ ปีที่  ๘๗   เล่มที่  ๑  มกราคม  ๒๕๔๗ 

          - เว็บไซต์ ของกองบัญชาการกองทัพไทย  กองทัพบก  กองทัพเรือ  กองทัพอากาศ  และเว็บไซต์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง  ซึ่งขอขอบคุณไว้  ณ  ที่นี้ 

 

 




ประวัติศาสตร์สงคราม กรีก โดย สัมพันธ์

อเล็กซานเดอร์มหาราช : สู่ตะวันออก
อเล็กซานเดอร์มหาราช : เริ่มลมเหนือ
สงคราม กรีก - กรีก
สงคราม กรีก - เปอร์เซีย



1

ความคิดเห็นที่ 1 (714)
avatar
กระติก
กระผมขอสดุดีวีรกรรมทหารไทยทุกท่านที่ได้สละเลือดเนื้อและชีวิตเพื่อปกป้องพื้นปฐพีนี้ไว้ให้แก่ชนรุ่นหลัง ขอให้ดวงวิญญาญทหารหาญทุกท่าน จงมีความสุขในสรวงสวรรค์ กระผมขอน้อมรำลึกถึงพระคุณของท่านทั้้งหลายมา ณ ที่นี้ด้วย
ผู้แสดงความคิดเห็น กระติก วันที่ตอบ 2010-12-26 07:28:12 IP : 124.122.132.65


ความคิดเห็นที่ 2 (102190)
avatar
เรือดำน้ำจิ๋ว

      วันพรุ่งนี้ วันที่ 17 มกราคม เป็นวันสดุดีวีรชนยุทธนาวีที่เกาะช้าง เมื่ออ่านพบในบทความที่เขียนว่า เราแพ้สงครามในครั้งนี้ รู้สึกเศร้าแทนวีรชนผู้สละชีวิตในยุทธนาวีที่เกาะช้างเป็นอย่างยิ่ง เพราะยิ่งวิเคราะห์ผลลัพท์ (outcome) ร่วมกับหลักการ การรบร่วมแบบการสนับสนุนทางปีกของกำลังทางบกโดยกำลังทางเรือ (support of army flank) พบว่า วัตถุประสงค์ที่ฝรั่งเศษจะยึดจังหวัดจันทบุรีและตราด ไม่ประสบผลสำเร็จ เหตุผลสำคัญเหตุผลหนึ่งมาจากกำลังทางเรือของฝรั่งเศษถูกขัดขวางโดยกำลังทางเรือของไทย ไม่ให้เข้ามายิงทำลายปีกกำลังทางบกของไทย  มิฉะนั้นจะเป็นการเปิดช่องทางปีกให้กำลังทางบกของฝรั่งเศษบุกใช้พื้นที่นั้นตีโอบหลังกำลังทางบกของไทย อาจเป็นเหตุให้เสียดินแดนให้กับฝรั่งเศษได้ อย่างนั้นไม่น่าจะเรียกว่าเป็นการแพ้สงครามแต่อย่างใด เยาวชนรุ่นหลังน่าจะได้ระลึกถึง และเข้าใจให้ถ่องแท้ ถึงผลลัพท์ของการเสียสละชีวิตในครั้งนี้ว่ามีคุณค่าต่อประเทศชาติอย่างไร โดยใช้โอกาสวันที่ 17 มกราคม วันสดุดีวีรชนยุทธนาวีที่เกาะช้างระลึกถึงท่านในการทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติ แม้ชีวิตก็ยังสละได้

     ประกอบกับ การเลื่อนวันกองทัพไทยจากวันที่ 25 มกราคม มาเป็นวันที่ 18 มกราคม คนรุ่นหลังจะระลึกถึงวันที่ 18 มกราคม จนลืมเลือน วันที่ 17  วันสดุดีวีรชนยุทธนาวีที่เกาะช้างเข้าทุกที ยิ่งถ้ามีการบันทึกว่าเป็นวันที่เราแพ้สงคราม จะเหลือคุณค่าให้เยาวชนจดจำวีรชนเหล่านี้ และนำมาเป็นแรงบันดาล ให้เยาวชนดำเนินรอยตามทำหน้าที่เพื่อชาติได้อย่างไร

     

     

ผู้แสดงความคิดเห็น เรือดำน้ำจิ๋ว (eawthailand-at-gmail-dot-com)วันที่ตอบ 2016-01-16 13:16:37 IP : 175.142.235.188



1


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker