dot
dot
เว็บภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ยินดีต้อนรับผู้สนใจทุกท่าน
dot
dot
สมาชิก Webboard/Blog
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
bulletข้อตกลงการเป็นสมาชิก
bulletเว็บบอร์ด-คุยกันหลังฉาก
bulletเว็บบอร์ด-Games ย้อนยุค
bulletเว็บบอร์ด-ชุดจำลองประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-หนังสือประวัติศาสตร์
bulletเว็บบอร์ด-เพลงประวัติศาสตร์
bulletคำถาม/คำตอบ ล่าสุด
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
dot
สงครามโลกครั้งที่ 2
dot
bulletสมรภูมิยุโรป (สัมพันธมิตรVSเยอรมัน-อิตาลี)
bulletสมรภูมิแปซิฟิก-เอเชีย (สัมพันธมิตรVSญี่ปุ่น)
dot
ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อื่นๆ
dot
bulletสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
bulletประวัติศาสตร์ไทย
bulletประวัติศาสตร์อเมริกันยุคเริ่มแรก
bulletสงครามเวียดนามและอินโดจีน
bulletตะวันตกโบราณ (กรีก โรมัน ฯลฯ)
bulletประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
bulletเอเชียโบราณ
bulletประวัติศาสตร์อื่นๆ (ยังไม่แยกหมวดหมู่)
bulletคลิปความรู้จาก YouTube
dot
บทความโดย วิวันดา
dot
bulletฮิตเล่อร์...และเหล่าขุนพลแห่งอาณาจักรไรค์ซที่สาม
bulletลอดลายรั้ว.....วินด์เซอร์
bulletเลิศเลอวงศา...โรมานอฟ
bulletเชลย
bulletซูคอฟ...ยอดขุนพลผู้ดับฝันของฮิตเล่อร์
dot
บทความโดย สัมพันธ์
dot
bulletคนไทยในกองทัพพระราชอาณาจักรลาว
bulletประวัติศาสตร์สงคราม กรีก
bulletกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา
bulletอยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา
bulletฮานนิบาล
bulletพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
bulletไทยกับมหาสงคราม
bulletสงครามเวียดนาม
bulletห้วยโก๋น ๒๕๑๘
bulletการทัพในมลายา
bulletประวัติศาสตร์อื่น ๆ
dot
เรื่องอื่นๆ
dot
bulletบทความเสริมความรู้ทั่วไป
bulletเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
bulletผู้จัดทำ
bulletผังเว็บไซต์ (Site Map)
bulletแนวทางการร่วมเขียนบทความ
bulletถาม-ตอบ (FAQs) (โปรดอ่านก่อนตั้งกระทู้หรือสมัครสมาชิก)
bulletร้านค้าออนไลน์
bulletแบ่งปัน Album
dot
ลิงค์ต่างๆ
dot
bulletHistory on Film
bulletกองบิน 21 กองพลบิน 2
bulletIELTS British Council
bulletIELTS IDP
bulletMUIC




โหราศาสตร์ยุคไอที



สงครามมหาเอเซียบูรพา - ก่อนจะถึงวันวีรไทย
วันที่ 16/02/2020   21:15:29

 *  *  *

 ก่อนจะถึงวันวีรไทย

 

  สถานการณ์เดิม

สถานการณ์ของไทย

ด้ามขวานทอง   ภาคใต้  . . . แม้ชาติขาดทหารเกรียงไกร    ประชาไทยจะสุขได้ดังฤา

แม้หวังตั้งสงบ    จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ์ . . .


 
          จากสถานการณ์ชองโลกที่พัฒนาไป    รัฐบาลไทย  โดยกระทรวงกลาโหมพิจารณาเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีกำลังทหารไว้รักษาเอกราช และอธิปไตยทางภาคใต้    จึงได้จัดหาที่ดินสำหรับจัดตั้งหน่วยทหารที่บริเวณเชิงเขาคอหงส์  อำเภอหาดใหญ่  จังหวัดสงขลา  เมื่อวันที่  ๑๗  มกราคม  ๒๔๘๒

 

๑๘  กุมภาพันธ์  ๒๔๘๒   ทหารหน่วยแรกในภาคใต้ตอนล่าง . . . กองพันทหารราบที่  ๕   เขาคอหงส์

          กองทัพบกได้เคลื่อนย้ายกองพันทหารราบที่  ๕  จากบางซื่อ  ไปเข้าที่ตั้งแห่งใหม่  ณ  บริเวณเชิงเขาคอหงส์  อำเภอหาดใหญ่    นับเป็นทหารหน่วยแรกในภาคใต้   เป็นหน่วยขึ้นตรงมณฑลทหารบกที่  ๕  (นครศรีธรรมราช)   

 

          และใน พ.ศ.๒๔๘๓  นี้  กองทัพบกได้ขอเช่าที่ดินจากสำนักงานพระคลังข้างที่  บริเวณ  สวนวัฒทีวัน  หรือสวนตูล  ตำบลเขารูปช้าง   อำเภอเมืองสงขลา    และจัดตั้งจังหวัดทหารบกสงขลา  กองพันทหารราบที่  ๔๑  และกองพันทหารปืนใหญ่ที่  ๑๓     โดยรวบรวมกำลังพลและเคลื่อนย้ายจากกรุงเทพฯ เข้าที่ตั้ง  ณ  บริเวณสวนตูล นี้  เมื่อ  วันที่  ๑๓  กันยายน  ๒๔๘๓     จังหวัดทหารบกสงขลา เป็นหน่วยขึ้นตรงมณฑลทหารบกที่  ๕ 

              จังหวัดทหารบกสงขลา   มีหน้าที่รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง  ๕  จังหวัด คือ  สงขลา  ปัตตานี  ยะลา  นราธิวาส  และสตูล     และมีหน่วยทหารในบังคับบัญชาคือ 

               กองพันทหารราบที่  ๔๑  และ  กองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๑๓  ที่สวนตูล    อำเภอเมืองสงขลา

               กองพันทหารราบที่  ๔๒  ที่อำเภอหนองจิก    ปัตตานี

               กองพันทหารราบที่ ๕  ที่ เชิงเขาคอหงส์   อำเภอหาดใหญ่    สงขลา

          กล่าวโดยสรุป   กองทัพบกได้เพิ่มกำลังทหารทางภาคใต้ ขึ้นอีก   ๖  กองพันทหารราบ  และ  ๑  กองพันทหารปืนใหญ่   คือ

            ร.พัน ๓๘  ที่ จว.ชุมพร  ( 1 ) 

            ร.พัน ๓๙  ที่ จว.นครศรีธรรมราช  ( 3 )

            ร.พัน ๔๐  ที่ จว.ตรัง  ( 13 ) 

            ร.พัน ๔๑  และป.พัน ๑๓  ที่  ต.สวนตูล อ.เมืองสงขลา, ร.พัน  ๕  ที่บริเวณเชิงเขาคอหงส์  อ. หาดใหญ่   จว.สงขลา   ( 11 )      และ

            ร.พัน ๔๒  ที่ จว.ปัตตานี  ( 5 ) 

 

 

 

ตัวขวานทอง

          จากกรณิพิพาทระหว่าง ไทย - อินโดจีนฝรั่งเศส  หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า  กรณีพิพาทอินโดจีน  จนกลายเป็น  "สงครามฝรั่งเศส - ไทย" หรือ "French - Thai War" แต่ชาวเราคุ้นเคย และติดปากกันว่า  "สงครามอินโดจีน" นั้น  เป็นที่มาของ   "อนุสัญญาสันติภาพโตเกียว" (Tokyo Convention) ซึ่งไทยกับฝรั่งเศสได้ลงนามกันที่กรุงโตเกียว  เมื่อ  ๙  พฤษภาคม   ๒๔๘๔       ทำให้ประเทศไทย ได้ดินแดนบางส่วนจากฝรั่งเศสกลับคืนมา และจัดตั้งจังหวัดใหม่ขึ้น  ๔ จังหวัด  คือ    จังหวัดพระตะบอง   จังหวัดพิบูลสงคราม  จังหวัดนครจำปาศักดิ์   และ จังหวัดลานช้าง  

 

 

 

สถานการณ์โลก   

๑๔  มิถุนายน   ๒๔๘๔        สหรัฐอเมริกา ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้เข้าสงคราม    สั่งกักเงิน และทรัพย์สินของฝ่ายอักษะที่ฝากอยู่ในสหรัฐอเมริกา

๒๒  มิถุนายน   ๒๔๘๔          เยอรมันนีเข้าโจมตีโซเวียต ทั้งๆ ที่มีสนธิสัญญาไม่รุกรานกัน    เป็นเหตุให้สหรัฐอเมริกาต้องให้ความช่วยเหลือจำนวนมากแก่อังกฤษและโซเวียต  

 

ในเอเซีย    . . .  คงจำกันได้ว่า  . . .

         ญี่ปุ่น มีแนวความคิดที่จะสถาปนา "วงไพบูลย์มหาเอเซียบูรพา" (Greater East Asia Co - prosperity spuere)   ซึ่งประกอบด้วย  ญี่ปุ่น  แมนจูกัว  จีน  และเอเซียตะวันออกเฉียงใต้      วงไพบูลย์มหาเอเซียบูรพา จะบูรณาการในทางการเมือง  และเศรษฐกิจ โดยญี่ปุ่นเป็นผู้นำ

         ญี่ปุ่นได้เคลื่อนพลเข้าสู่ดินแดนอินโดจีน  ตั้งแต่เดือน กันยายน  ๒๔๘๓     และในปลายเดือนเดียวกันนี้ญี่ปุ่น   ก็ได้ทำสนธิสัญญาไตรภาคีกับ  เยอรมันนี  และ  อิตาลี  (Tripartite Pact)

          เมื่อ เยอรมันนีเข้าโจมตีโซเวียต ในเดือนมิถุนายน  ๒๔๘๔  นั้น    รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น  นายมะสึโอกะได้เสนอคณะรัฐมนตรีว่า เมื่อเยอรมันนีขยายตัวไปทางตะวันออก  ญึ่ปุ่นก็ควรเลื่อนการบุกในเขตหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ออกไปก่อน และหันมาบุกโจมตีสหภาพโซเวียต    แต่คณะรัฐมนตรี และคณะเสนาธิการทหาร* ไม่เห็นด้วย    ในที่สุด  ก็ได้วาง "โครงร่างนโยบายแห่งชาติตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป" 

*คณะเสนาธิการทหาร  (General  Staff)   ของญึ่ปุ่นในยุคนั้น    โดยปรกติเป็นผู้ถวายคำปรึกษาแด่พระจักรพรรดิในเรื่องที่เกี่ยวกับกิจกรรมทางการทหาร    คณะเสนาธิการทหารนี้ เป็นอิสระจากรัฐมนตรีกระทรวงทหารบก และกระทรวงทหารเรือ      

     ดังนั้น    ฝ่ายพลเรือนจึงไม่สามารถเข้าไปแทรกแซง หรือควบคุมกิจกรรมทางการทหารได้     มิหนำซ้ำ  คณะเสนาธิการทหารนี้ยังมีอำนาจเหนือรัฐมนตรีทั้งสองในกิจกรรมทางการทหาร และความมั่นคงของประเทศอีกด้วย   เช่น  ในนโยบายการป้องกันประเทศ  การระดมพล  และ การเกณฑ์ทหาร  เป็นต้น

  ๒  กรกฎาคม  ๒๔๘๔    พระจักรพรรดิฮิโรฮิโตได้ทรงอนุมัติให้ดำเนินการตามนโยบายใหม่นี้ได้ 

 

 

 

 สมเด็จพระจักรพรรดิโชวะ  พระนามเดิม ฮิโรฮิโต 

 


          เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบาย   ญี่ปุ่นสั่งระดมพลทั่วประเทศ  และสั่งเรือสินค้าในมหาสมุทรแอตแลนติคให้กลับประเทศ

  

๕  กรกฎาคม   ๒๔๘๔    ได้มีการลงนามในพิธีสารภาคผนวกของอนุสัญญาสันติภาพโตเกียว  ซึ่งกำหนดให้จัดตั้งคณะกรรมการปักปันดินแดนขึ้น  เพื่อดำเนินงานให้เสร็จสิ้นภายในเวลา  ๑ ปี   กรรมการดังกล่าวประกอบด้วยฝ่ายไทย  ฝ่ายฝรั่งเศส  และฝ่ายญี่ปุ่น  โดยมีฝ่ายญี่ปุ่นเป็นประธานกรรมการ

 

ญี่ปุ่น   . . .  เสริมกำลังในอินโดจีน               

                   ญี่ปุ่นพยายามกดดันรัฐบาลวีชีให้ยินยอมให้ญี่ปุ่นมีฐานทัพแห่งใหม่ในอินโดจีน  และในปลายเดือน  กรกฎาคม   ๒๔๘๔   ญี่ปุ่นก็ส่งทหารเข้าไปในอินโดจีนตอนใต้อีกห้าหมื่นคน    ซึ่งเป็นการแสดงออกอย่างชัดเจนว่า  ญี่ปุ่นเตรียมการขยายอำนาจเข้าไปในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

          ความเคลื่อนไหวของญี่ปุ่นเหล่านี้    ทำให้สหรัฐอเมริกาติดตามดูด้วยความกังวลใจเป็นอย่างยิ่ง    ในที่สุด  สหรัฐฯ ก็ได้ยกเลิกสนธิสัญญาพานิชย์ซึ่งได้ทำมาช้านาน   และจำกัดการส่งสินค้าอุปโภคที่สำคัญจากสหรัฐอเมริกามายังญี่ปุ่น   ด้วยหวังว่าจะทำให้ญี่ปุ่นขาดแคลน และหยุดการแผ่ขยายอำนาจในเอเซีย  แต่กลับทำให้ญี่ปุ่นต้องพยายามมากขึ้นที่จะขยายอำนาจต่อไป    และญี่ปุ่นนั้นมีความคิดเป็นปฏิปักษ์ต่อสหรัฐอเมริกามาช้านานแล้ว  และปรารถนาที่จะชนะสงครามอยู่ด้วย    

          ขณะที่วางแผนทำสงครามกับสหรัฐอเมริกาอย่างจริงจัง  ญี่ปุ่นก็ดำเนินการทางการฑูตไปพร้อมกัน   โดยหวังว่าจะตกลงกันได้ (ตามความต้องการของญี่ปุ่น)  อย่างสันติวิธีด้วยการเจรจา 

          นอกจากนี้    สหรัฐอเมริกาก็ยังไม่สบายใจ  เกี่ยวกับบทบาทของญี่ปุ่นในสนธิสัญญาไตรภาคี    มีการเรียกร้องให้ญี่ปุ่นถอนกำลังจากจีน และเอเซียตะวันออกเฉียงใต้    รวมทั้งขอให้ญี่ปุ่นไม่รับรองรัฐบาลใดๆ ของจีน นอกจากรัฐบาลที่ เชียงไคเช็ค เป็นผู้นำ    และให้ญี่ปุ่นถอนตัวจากไตรภาคี

          ญี่ปุ่น  โต้ตอบว่าญี่ปุ่นจะไม่ใช้กำลัง  หากสหรัฐอเมริกาไม่โจมตีเยอรมันนี และอิตาลี    และเรียกร้องไม่ให้สหรัฐอเมริกาแทรกแซงการตั้งถิ่นฐานของชาวญี่ปุ่นในจีน   และญี่ปุ่นยอมรับไม่ได้กับข้อเรียกร้องของสหรัฐอเมริกา    นายพลโตโจ  ฮิเดอิ  (Tojo Hidei) รัฐมนตรีกระทรวงทหารบก ประกาศว่า  ญี่ปุ่นควรจะต่อสู้  มากกว่าปล่อยให้สหรัฐฯ เข้าแทรกแซงเจตจำนงของประเทศ

 

ไทย  . . . ไม่อยากเข้าพัวพันกับฝ่ายใด

 

 

 

 (ซ้าย)  นายพันเอกหลวงพิบูลสงคราม    นายกรัฐมนตรี     ๒๐  ธันวาคม  ๒๔๘๑ - ๗  มีนาคม  ๒๔๘๕

(ได้รับพระราชทานยศ  นายพลตรี  นายพลเรือตรี  และนายพลอากาศตรี ใน พ.ศ.๒๔๘๒    และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพลตรีหลวงพิบูลสงคราม เป็นจอมพล แปลก พิบูลสงคราม  เมื่อ   ๒๘  กรกฎาคม  ๒๔๘๔  เพื่อความเหมาะสมกับตำแหน่งทางการเมือง  และในการติดต่อประสานงานกับต่างประเทศ)

(ขวา)  นายดิเรก  ชัยนาม    รัฐมนตรี   ๒๐  ธันวาคม  ๒๔๘๑   และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ  ๒๒  สิงหาคม  ๒๔๘๔ - ๒๐  ธันวาคม  ๒๔๘๔

 

  

 

 

        ทางการไทยได้ให้ฑูตอังกฤษ และฑูตอเมริกันทราบเป็นหลายครั้งว่า  ได้ทราบมาแน่ว่า ญี่ปุ่นจะเข้าใช้ประโยชน์จากเมืองไทยเป็นแหล่งทำสงครามกับอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา    ประเทศไทยเป็นประเทศเล็กไม่อยากเข้าพัวพันกับฝ่ายใด     รัฐบาลทั้งสองประเทศควรประกาศว่า  ถ้าญี่ปุ่นบุกเข้าเมืองไทย  ทั้งสองประเทศจะถือว่าเป็นการรุกรานอังกฤษและสหรัฐอเมริกา    ทั้งนี้  เพื่อให้ญี่ปุ่นยับยั้งชั่งใจให้ดี     และ

          กับฑูตญี่ปุ่น  ไทยก็แจ้งว่าหากญี่ปุ่นจำเป็นต้องทำสงครามกับอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา  ญี่ปุ่นก็ไม่จำเป็นต้องเข้าประเทศไทย   ทิ้งไทยไว้ให้เป็นกลาง    ญี่ปุ่นกลับจะได้ประโยชน์อย่างจริงจังด้วยซ้ำ 

                ทางอังกฤษเห็นด้วย   ประมาณต้นเดือนสิงหาคม  รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษได้แถลงในสภาสามัญว่า  การกระทำใดๆ ซึ่งเป็นการคุกคามความมั่นคงและบูรณภาพของประเทศไทยแล้ว  จะถือว่ากระทบถึงประโยชน์ของอังกฤษทันที

           และใน  ๒๙  สิงหาคม  ๒๔๘๔   รัฐบาลอังกฤษเสนอร่างต่อรัฐบาลอเมริกัน  ว่านโยบายของญี่ปุ่นเป็นการคุกคามต่อความมั่นคงของดินแดนบริติช    อังกฤษจึงมีความเป็นกังวลร่วมกับรัฐบาลอเมริกันต่อนโยบายนี้  และชักชวนให้แสดงให้รัฐบาลญี่ปุ่นทราบว่า    ถ้าญี่ปุ่นก้าวลงมาในอาณาบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงใต้แล้ว   จะเป็นการบังคับใหัรัฐบาลอังกฤษ และรัฐบาลอเมริกันดำเนินมาตรการโต้ตอบ  แม้จะนำมาซึ่งสงคราม    

          ทางรัฐบาลอเมริกันว่าร่างนี้รุนแรงเกินไป  อาจทำให้ญี่ปุ่นเข้าใจว่าเป็นการท้าทาย  จึงขอให้ทางอังกฤษแก้ไขถ้อยคำในร่างให้เบาลง  และไม่ขัดข้องที่อังกฤษจะยื่นต่อญี่ปุ่น

          ส่วนทางสหรัฐอเมริกานั้น  มีคำตอบที่สรุปได้ว่า  สหรัฐอเมริกาจะช่วยไทยอย่างที่ช่วยประเทศจีน

          ราวกลางเดือนตุลาคม  ๒๔๘๔    ทางไทยทราบมาว่า  ญี่ปุ่นจะบุกประเทศไทยในอีก ราว  ๒  สัปดาห์    จึงได้ติดต่อฑูตอังกฤษ  เล่าให้ฟังว่า  ถ้าจำเป็นอาจจะต้องประกาศกรุงเทพฯ เป็นเมืองเปิด  เพื่อไม่ให้ญึ่ปุ่นอ้างได้   มิฉะนั้น  กรุงเทพจะถูกทำลาย    ไทยต้องการเครื่องบินรบ  และยุทธปัจจัยอื่นๆ  ขอให้อังกฤษช่วยด่วน    ก่อนที่จะสายเกินไป    ซึ่งฑูตอังกฤษรับจะรีบรายงานรัฐบาลของตน  แต่ยอมรับว่าอาวุธยุทธภัณฑ์นั้น  อังกฤษไม่มีจริงๆ  แต่จะพูดกับอเมริกันให้

          กับฑูตอเมริกัน  ไทยได้ขอซื้อเครื่องบินรบ  ๒๔ เครื่อง    และว่า  ไทยจะเป็นกลางอย่างเคร่งครัด  แต่การที่จะเป็นกลางได้ก็ต้องมีเขี้ยวเล็บไว้ป้องกันตัว   ซึ่งฑูตก็รับจะรายงานรัฐบาลของตนโดยด่วนต่อไป

 

ญี่ปุ่นเดินหมาก  . . .  ถึงเวลาที่จะต้องลงมือได้แล้ว

 

๑๕  ตุลาคม  ๒๔๘๔    นายพลโตโจ  ฮิเดอิ   ก็ประกาศให้ยุติการเจรจา    และต่อมา    ในการประชุมคณะรัฐมนตรี  นายพลโตโจ  ได้ยืนยันว่า ถึงเวลาที่จะต้องลงมือได้แล้ว    นายกรัฐมนตรีโคโนเอะจึงลาออก    และ . . .

๑๗  ตุลาคม  ๒๔๘๔    นายพลโตโจ   ก็ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น   และเป็นรัฐมนตรีกลาโหม  และรัฐมนตรีมหาดไทยด้วย

 

 

 

 

                  นายพลโตโจ  ฮิเดอิ  (Tojo Hidei)     

 

 

 

          ถึงกระนี้กระนั้นกระไรก็ตาม    พระจักรพรรดิทรงพยายามที่จะหลีกเลี่ยงการเป็นศัตรูกับสหรัฐฯ  ทรงขอให้พิจารณาการตัดสินใจทำสงครามกับสหรัฐฯ อีกครั้ง      ทั้งนี้  ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับขีดความสามารถเปรียบเทียบ ทางเศรษฐกิจ และทางยุทธศาสตร์  และ การประมาณการในเรื่องชัยชนะ    แต่คณะเสนาธิการทหาร  เห็นว่า  ถ้าหากไม่ทำสงคราม  ญี่ปุ่นจะต้องถูกบีบให้ตาย   และหากเลื่อนการสู้รบออกไป  โอกาสมีชัยชนะก็จะลดลงไปด้วย    แต่คณะเสนาธิการทหารก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่า ญี่ปุ่นจะชนะสงคราม

          ญี่ปุ่นตระหนักดีว่าโอกาสที่ญี่ปุ่นจะเอาชนะ  และให้ฝ่ายพันธมิตรยอมเจรจาด้วยนั้น  จะต้องรีบเผด็จศึกให้ได้อย่างรวดเร็ว  และการที่จะเผด็จศึกให้ได้อย่างรวดเร็วนั้น   ก็ต้องโจมตีก่อน  อย่างจู่โจม

           คณะเสนาธิการทหารพิจารณาในทางยุทธศาสตร์ว่า     การสงครามในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ขึ้นอยู่กับ การทำลายกองเรือสหรัฐฯ ที่ฐานทัพเพิร์ลฮาเบอร์    หมู่เกาะฮาวาย    ว่าสามารถทำลายได้มากเพียงไร    ยิ่งทำลายได้มาก  โอกาสได้รับชัยชนะก็มาก  และ การสถาปนา "วงไพบูลย์มหาเอเซียบูรพา"  ก็จะดำเนินไปได้อย่างสะดวก    และ

การที่จะทำลายกองเรือสหรัฐฯ ตามแนวความคิดได้นั้น  ญึ่ปุ่นก็ต้องมีแสนยานุภาพทางทะเลให้พอแก่การ

 

๕  พฤศจิกายน  ๒๔๘๔    ที่ประชุมสภาจักรวรรดิได้ตกลงกันว่า  

ญี่ปุ่นจะต้องเตรียมพร้อมอย่างแข็งขัน เพื่อการสงคราม    แต่ส่วนการเจรจาก็ยังคงดำเนินต่อไป

 

 

 

ยุทธบริเวณ

          สภาทางยุทธศาสตร์ญี่ปุ่นกำหนดยุทธบริเวณเป็น  ๒  พื้นที่  คือ

          ๑. ประเทศจีนและแหลมอินโดจีน

              พื้นที่นี้มีที่ราบเป็นแห่งๆ  แบ่งเป็นห้องภูมิประเทศด้วย  แม่น้ำ  ป่าดงดิบ  และภูเขา  เป็นส่วนมาก    มีถนนหนทางน้อย    ถนนสายสำคัญ  คือ  ถนนสายพม่า    ถึงจุงกิง    กับเส้นชีวิตทางทะเลของอังกฤษ  คือ  สิงคโปร์ - พม่า - อินเดีย - สุเอซ - อฟริกา - เกาะอังกฤษ   ซึ่งอังกฤษยังสามารถครองทะเล  และรักษาเส้นชีวิตทางทะเลนี้ไว้ได้

 

 

 

 

 

 

          ๒. พื้นที่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิคตอนใต้

              พื้นที่นี้  เป็นเกาะจำนวนมากยาวเป็นพืดไปทางตะวันออกสู่ทวีปออสเตรเลีย    เป็นแนวป้องกันชั้นนองของสหรัฐอเมริกา    มีการเตรียมการต้านทานค่อนข้างแข็งแรงที่  ฮ่องกง  สิงคโปร์  ฟิลิปปินส์  เกาะเวก  และเกาะกวม    นอกนั้นไม่แข็งแรงนัก

          เนื่องจากเป็นพื้นที่กว้างมาก    การจะรักษาพื้นที่ต้องอาศัยกำลังทางอากาศเป็นเครื่องมือสำคัญ   

 

แนวความคิดของอังกฤษในการป้องกันมะลายู

          เดิม  อังกฤษคิดว่า  ญี่ปุ่นไม่สามารถโจมตีมะลายูได้ด้วยกองกำลังขนาดใหญ่  และข้อจำกัดของกำลังทางอากาศ  ส่วนทางทะเลนั้น  ก็มั่นใจในอำนาจทางทะเล  และสามารถส่งกองเรือรบจากเกาะอังกฤษมาช่วยได้ภายใน  ๗๐ วัน    แต่การที่ญี่ปุ่นรุกเข้าไปในจีน  แล้วเคลื่อนเข้ายึดอินโดจีน  เป็นสิ่งบอกเหตุว่า  ญี่ปุ่นอาจจะเคลื่อนเข้าประเทศไทยแล้วเข้าโจมตีมะลายู  ต่อไป

          ดังนั้น  อังกฤษจึงเปลี่ยนแนวความคิดในการป้องกันมะลายูเสียใหม่  คือ

          ๑. เพิ่มกำลังป้องกันมะลายูจาก  ๙ กองพัน    เป็น  ๒๖ กองพัน

          ๒. ส่งกำลังจาก  เซี่ยงไฮ้  ออสเตรเลีย  และอินเดีย มาเพิ่มเติม

          ๓. เข้ายึดเมืองท่าทางภาคใต้ของประเทศไทยเพื่อป้องกันการยกพลขึ้นบกของฝ่ายญี่ปุ่น    โดยรุกเข้าประเทศไทยด้วยการเคลื่อนย้ายทางถนน  และทางรถไฟเข้ายึดสงขลา  และตั้งรับเหนือชุมทางหาดใหญ่    แต่แนวความคิดนี้ต้องล้มเลิกไป  เพราะอังกฤษขาดแคลนยานพาหนะ  ไม่มีกำลังมากพอ    และที่สำคัญคือ  ไม่มั่นใจว่า ไทยจะเข้าข้างอังกฤษ หรือเป็นกลางอย่างแท้จริง

 

กำลังทางบก

๖  พฤศจิกายน   ๒๔๘๔  

          ญี่ปุ่นได้ตั้ง หมู่กองทัพภาคใต้  (Southern Army Command)  กองบัญชาการกองทัพอยู่ที่กรุงไซ่ง่อน  จอมพล  เคานท์ ฮิเซอิชิ  เทราอุชิ  (Hisaichi Terauchi)  เป็นแม่ทัพ    ประกอบด้วย  ๔ กองทัพ   คือ

          กองทัพที่  ๑๔    นายพลฮอนมา (Honma)  เป็นแม่ทัพ    ประกอบด้วย  กองพลที่ ๑๖, กองพลที่ ๔๘, กองพลน้อยที่ ๖๕ และ กรมทหารราบที่ ๕๖   มีภารกิจ  ในพื้นที่ประเทศฟิลิปปินส์

          กองทัพที่  ๑๕    นายพลอีอิดะ  (Iida)  เป็นแม่ทัพ     ประกอบด้วย  กองพลที่ ๓๓  และ กองพลที่ ๕๕    มีภารกิจ  ในพื้นที่ประเทศไทย และประเทศพม่า 

          กองทัพที่  ๑๖    นายพลอินามูระ  (Inamura)  เป็นแม่ทัพ     ประกอบด้วย  กองพลที่ ๒, กองพลที่ ๓๘, กองพลที่ ๔๘ (เมื่อยึดฮ่องกงได้แล้ว), กรมทหารราบที่ ๕๖ (เมื่อยึดฟิลิปปินส์ได้แล้ว)  และหน่วยแยกนาวิกโยธิน     มีภารกิจ  ในพื้นที่เกาะบอร์เนียว, ซีลีบิส, แอมบอน, ติมอร์  และชวา

 

 

 

 ผังการจัดหมู่กองทัพภาคใต้  (Southern Army Command)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

   Lieutenant General Shojiro Iida  แม่ทัพกองทัพที่ ๑๕  และ  Lieutenant GeneralTomoyuki Yamashita  แม่ทัพกองทัพที่ ๒๕

 

 

กำลังทางเรือ

         ญี่ปุ่นจัดตั้งกองเรือเฉพาะกิจ  ขึ้นที่ฐานทัพเรือคิวเร (Kure) เมืองฮิโรชิมา (Hiroshima)  พลเรือเอก ชูอิชิ นากูโม  (Admiral Chuichi Nagumo)  เป็นผู้บัญชาการ  และพลเรือโท  ชินโสะ  โอนิชิ   (Vice-Admiral Shinzo Onishi)  เป็นเสนาธิการ 

 

 พลเรือเอก ชูอิชิ นากูโม   >

 

 

 กองเรือญี่ปุ่น   ประกอบด้วย

 

          เรือบรรทุกเครื่องบิน    ๖  ลำ

            เครื่องบิน    ๔๒๓  เครื่อง    ใช้โจมตี    ๓๖๐  เครื่อง

            เครื่องบินทิ้งระเบิดระยะสูง    ๑๐๔  เครื่อง 

             เครื่องบินทิ้งระเบิดระยะต่ำ    ๑๓๕   เครื่อง 

            เครื่องบินทิ้งระเบิดตอร์ปิโด    ๔๐  เครื่อง 

            เครื่องบินขับไล่    ๘๑  เครื่อง 

 

    Akagi  and  Nagato                     

                  

          เรือคุ้มกัน    ๒  ลำ

          เรือลาดตระเวน  (Cruiser)    ๓  ลำ

          เรือพิฆาต  (Destruyer)   ๙  ลำ

          เรือดำน้ำ    ๓  ลำ

          เรือดำน้ำขนาดจิ๋ว  (Midget submarine)    ๕  ลำ

          เรือบรรทุกน้ำมัน    ๘  ลำ

 

 

  Hiryu                                  

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 Shokaku                                                                                                                                                      Soryu

 

 

แผนการสงครามของญี่ปุ่น

          ญี่ปุ่นคิดที่จะบุกเข้ายึดฟิลิปปินส์ก่อน   เป็นการล่อให้สหรัฐอเมริกาส่งกองทัพเข้ามากอบกู้ฟิลิปปินส์   แล้วจึงรวบรวมแสนยานุภาพของตนเข้าทำลายกองทัพสหรัฐฯ ให้พินาศย่อยับไป   โดยกำหนดการปฏิบัติตามแผนการทัพเป็น  ๓  ขั้น  คือ

          ขั้นที่  ๑    ยึดฟิลิปปินส์ภายใน  ๕๐  วัน

          ขั้นที่  ๒    ยึดมลายูภายใน  ๑๐๐  วัน

          ขั้นที่  ๓    ยึดหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ภายใน  ๑๕๐  วัน

 

๑๐  พฤศจิกายน  ๒๔๘๔    ญี่ปุ่นตอบสหรัฐฯ ว่าไม่ถอนตัวจากไตรภาคี
 

          กลางเดือน พฤศจิกายน  ๒๔๘๔   หลังจากการที่เครื่องบินได้ฝึกการ ขึ้น - ลงกับเรือบรรทุกเครื่องบินจนชำนาญดีแล้ว  กองเรือญี่ปุ่นก็ไปรวมกันที่หมู่เกาะคูริล  (Kurile)  ทางตอนเหนือของญี่ปุ่น    เรือทุกลำได้รับคำสั่งให้ทาสีดำเพื่อป้องกันการตรวจการณ์ของฝ่ายสหรัฐฯ 

 ๑๙  พฤศจิกายน  ๒๔๘๔   

          ญี่ปุ่นส่งกองเรือดำน้ำ  พร้อมเรือดำน้ำจิ๋ว  อีก  ๕  ลำออกจากฐานทัพเรือคิวเร     ญี่ปุ่นมีแผนที่จะโจมตีกองเรือสหรัฐฯ ในอ่าวเพิร์ล ด้วยเรือดำน้ำจิ๋วพร้อมกับการโจมตีทางอากาศ  ซึ่งจะทำให้ฝ่ายสหรัฐฯ สับสน  อลหม่าน

 

แผนการช่วยเหลือไทยของอังกฤษ

. . . พวกนี้ก็ . . .

๒๐  พฤศจิกายน  ๒๔๘๔ 

          ฑูตอังกฤษ แจ้งว่าอังกฤษพร้อมที่จะช่วยในเรื่องปืนใหญ่สนาม ปืนครก  (คือ เครื่องยิงลูกระเบิด - ผู้เขียน) และกระสุน  โดยลำเลียงมาจากมลายู    ส่วนเรื่องการป้องกันโดยทั่วๆ ไป  อังกฤษจะให้คำแนะนำโดยส่งผู้ช่วยฑูตทหารเข้ามาให้  ๓  นาย    ซึ่งทำให้นายกรัฐมนตรีไทย   ได้แจ้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ  ให้ทราบนโยบายว่า  ต้องหลีกเลี่ยงสงครามกับญี่ปุ่น  . . . จะรบจริงๆ ก็ต่อเมื่อจำเป็น    และในที่สุดก็ปรารภว่า . . . พวกนี้ก็จะให้เราสู้คนเดียว

 

๒๒  พฤศจิกายน  ๒๔๘๔    กองเรือเฉพาะกิจฯ ของญี่ปุ่นเข้าไปรวมพลในอ่าว  (Tankan) ในหมู่เกาะคูริล  (วงสีแดงในแผนที่)

 

๒๓  พฤศจิกายน  ๒๔๘๔    ฑูตอเมริกันแจ้งให้รัฐบาลไทยทราบว่า  ได้แจ้งกับฑูตไทยเกี่ยวกับนโยบายการช่วยเหลือประเทศที่ต่อต้านการรุกรานว่า    ถ้าถูกรุกราน และป้องกันตัวจริงๆ   จะถือว่าไทยมีฐานะอย่างจีน  และจะช่วยเหลืออย่างที่ช่วยจีน    ส่วนเรื่องเครื่องบินนั้น  ไม่สามารถปลีกเอามาช่วยไทยได้  เรื่องน้ำมันพอช่วยได้    ฝ่ายไทยก็ ตอบ ขอบ อก ขอบ ใจ กันตามวิธีการของฑูต   และชี้แจงถึงข้อแตกต่างระหว่างจึนกับไทย และว่า 

ไทยอยู่ในภูมิภาคที่ถูกรุกรานง่าย  กำลังก็แทบไม่มี  ได้แต่สู้ด้วยกำลังใจ  มานะ  และเลือดแห่งความเป็นไทยเท่านั้น

 

๒๔  พฤศจิกายน  ๒๔๘๔    ฑูตญี่ปุ่นยืนยันกับกระทรวงการต่างประเทศไทยว่า    ญี่ปุ่นจะไม่เข้าประเทศไทย  แต่ถ้าจำเป็นก็จะใช้เป็นทางผ่านเพื่อไปตีอังกฤษเท่านั้น

 

ยาตรากระบวนเรือ

          และ  เวลาเช้าตรู่ ของวันที่  ๒๖  พฤศจิกายน  ๒๔๘๔  (แต่ในหมู่เกาะฮาวาย และในสหรัฐอเมริกายังคงเป็นวันที่ ๒๕  อยู่)   กองเรือเฉพาะกิจ ของนายพลเรือนากูโม   เริ่มยาตรากระบวนเรือจากหมู่เกาะคูริล  ประกอบด้วย  เรือบรรทุกเครื่องบิน  ๖  ลำ  เครื่องบิน  ๔๒๓  เครื่อง  เรือประจันบาน    ๒  ลำ  เรือพิฆาต  ๑๑  ลำ    เรื่อลาดตระเวน  ๒  ลำ   และเรือดำน้ำ  ๒๘  ลำ  ด้วยความเร็ว  ๑๓  ไมล์ทะเลต่อชั่วโมง   และ  ยังไม่ทราบกำหนดวัน ว. (D - Day)   . . .หากการเจรจากับสหรัฐฯ ประสบผลสำเร็จ   กองเรือเฉพาะกิจนี้จะกลับคืนสู่มาตุภูมิทันที  . . .และในวันนี้

๒๖  พฤศจิกายน  ๒๔๘๔    สหรัฐอเมริกาได้ยื่นบันทึกต่อญี่ปุ่น  ยืนยันข้อเสนอเดิมที่เคยให้ไว้ต่อญี่ปุ่น  ต้องถอนทหารจากอินโดจีจ  และจีน     และตระหนักดีว่า การดำเนินการทางการฑูตได้ยุติแล้ว
 

๒๗  พฤศจิกายน  ๒๔๘๔     สหรัฐอเมริกาแจ้งเตือนหน่วยในภาคพื้นแปซิฟิก ให้ระวังการก่อวินาศกรรมที่อ่าวเพิร์ล   ไม่ได้ติดตั้งตาข่ายกันตอร์ปิโด  และไม่ได้เพิ่มเติมกระสุนปืนต่อสู้อากาศยาน
 
 

๑  ธันวาคม  ๒๔๘๔  . . . ที่ประชุมสภาจักรวรรดิของญี่ปุ่น  (Imperial Conference)

         ญี่ปุ่นจัดการประชุมสภาจักรวรรดิของญี่ปุ่น    ซึ่งพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตทรงร่วมประชุมด้วย  ที่ประชุมได้ตกลงเป็นเอกฉันท์ปฏิเสธบันทึกของสหรัฐฯ   และทรงอนุมัติให้ทำสงครามกับสหรัฐอเมริกา "เพื่อป้องกัน และเพื่อความอยู่รอดของตนเอง"

 

 

          วันต่อมา   (๒  ธันวาคม  ๒๔๘๔)  คณะเสนาธิการทหารประกาศว่า  "X day will be December 8" (แต่ในหมู่เกาะฮาวาย และในสหรัฐอเมริกายัคงเป็นวันที่  ๗  ธันวาคม  อยู่)    เหตุที่เลือกวันอาทิตย์เนื่องจากฝ่ายญี่ปุ่นต้องการให้เรือรบกลับเข้าสู่ฐานทัพ  หลังจากการฝึกในทะเล   

 

๒  ธันวาคม  ๒๔๘๔  . . .  "สงครามมหาเอเซียบูรพา" - "สงครามภาคพื้นแปซิฟิก"  

          เวลา  ๑๗๓๐    พลเรือเอก  อิโซโรกุ   ยามาโมโต  ผู้บัญชาการกองเรือผสมจักรพรรดินาวาญี่ปุ่น  ได้รับรหัสกำหนดวัน ว.  ขณะที่ประจำอยู่บนเรือประจันบานนางาโต  ซึ่งเป็นเรือธงของกองเรือผสมจักรพรรดินาวาญี่ปุ่น   จอดอยู่ในอ่าวเมืองฮิโรชิมา ว่า

          "นิอิคะยะมะ  นิโนโบเร  ๑๒๐๘"    แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า

          "จงปีนขึ้นภูเขาใหม่  ๑๒๐๘"    เมื่อถอดรหัสแล้วเป็นความว่า 

          "กำหนดการประกาศสงคราม    วันที่  ๘  ธันวาคม  ๒๔๘๔    ดำเนินการตามแผนได้"

 

 

พลเรือเอก  อิโซโรกุ   ยามาโมโต       >  

 

 

 

ญี่ปุ่นเรียกสงครามนี้ว่า "สงครามมหาเอเซียบูรพา"   ส่วนสหรัฐอเมริกาเรียก "สงครามภาคพื้นแปซิฟิก"

 

 ๓  ธันวาคม  ๒๔๘๔   

          ฑูตอเมริกันส่งข่าวถึงรัฐบาลของตน  ขอวิงวอนให้รัฐบาลอังกฤษ และอเมริกัน แจ้งให้รัฐบาลไทยทราบโดยเร็วว่า กรณีถูกโจมตีจะช่วยเหลือไทยในทันทีอย่างไรบ้าง    และระยะยาวจะช่วยอย่างไรบ้าง เพื่อรัฐบาลไทยจะได้วางแผนต่อสู้ได้  แลว่าฑูตอังกฤษก็รายงานเร่งเช่นนี้ไปยังรัฐบาลของตนเหมือนกัน

 

๔  ธันวาคม  ๒๔๘๔

     ในมหาสมุทรแปซิฟิก

           กองเรือเฉพาะกิจฯ ของนายพลเรือนากูโม  เติมน้ำมัน    และเพิ่มความเร็วเป็น  ๒๕  ไมล์ทะเลต่อชั่วโมง

 

     ในทะเลจีนใต้

         เวลา  ๐๖๐๐    กองเรือยกพลขึ้นบกขบวนแรกลำเลียง   กองทัพที่  ๑๕  ของนายพลอิอิดะ  (บางส่วน) และ  กองทัพที่  ๒๕  ของนายพลยามาชิตะ  เริ่มออกจากอ่าวซามาห์ เกาะไหหลำ   ในอ่าวตังเกี๋ย

          กองเรือฯ นี้  มีกองเรือนำ  ประกอบด้วยเรือพิฆาต  ๔  ลำ  และเรือปราบเรือดำน้ำ  ๑  ลำ    นอกจากกองเรือนำแล้ว  ก็ยังมีกองเรือคุ้มกันอย่างครบครัน  แบ่งเป็นกองเรือคุ้มกันที่ ๑  และที่ ๒    นอกจากกองเรือคุ้มกันนี้แล้ว  ก็ยังมี  กองเรือลาดตระเวนที่ ๗   หมวดเรือพิฆาต   กองเรือกวาดทุ่นระเบิด   หมวดเรือปราบเรือดำน้ำ   สนับสนุนกองเรือยกพลขึ้นบกอย่างเต็มที่   

          ข้างหน้ากองเรือนำออกไป  ก็ยังมีเรือลาดตระเวนหนัก  ๔  ลำ  และเรือเรือพิฆาตอีก  ๓  ลำ  อยู่ทางซ้าย      ส่วนทางขวามีเรือพิฆาตชะงิริ  และเรือโจ้ไก  ซึ่งเป็นเรือธงของผู้บัญชาการกองเรือยกพลขึ้นบกนี้  พลเรือโท  จิซาบุโร  โอซาวา  (Jisaburo  Ozawa)

 

Vice Admiral  Jisaburō Ozawa     >  

  

      ในประเทศไทย

๔ - ๕  ธันวาคม  ๒๔๘๔   

          ทั้งฑูตญี่ปุ่น  และฑูตอเมริกัน ต่างก็เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย 

          ฑุตญี่ปุ่น ยืนยันว่า  ญี่ปุ่นจะไม่ใช้กำลังทหารซึ่งอยู่ในอินโดจีนบุกไทยเป็นอันขาด  จะใช้ชุมนุมทางด้านถนนสายพม่า  ฉะนั้น  ไทยไม่ต้องเป็นห่วง    

          ทางไทยแจ้งให้ฑูตอเมริกันว่า  ได้ข่าวว่าญี่ปุ่นจะโจมตีทางบก และทางอากาศในวันสองวันนี้  กำลังขอให้ฑูตอังกฤษช่วยสืบข้อเท็จจริง    ฑูตอเมริกันได้กลับไปสอบถามฑูตอังกฤษ แล้วว่า . . . จนบัดนี้ยังไม่ได้ข่าวอย่างรัฐมนตรีว่า  

 

  

 

๖  ธันวาคม  ๒๔๘๔

 

ในมหาสมุทรแปซิฟิก

           กงศุลญี่ปุ่นประจำฮาวายแจ้งข่าวให้กองเรือฯ ว่า 

          ไม่พบเรือบรรทุกเครื่องบินที่  เพิร์ลฮาเบอร์  มีแต่เรือประจันบานของสหรัฐฯ  ๘  ลำ    และไม่มีตาข่ายป้องกันตอร์ปิโด

          กองเรือเฉพาะกิจฯ ของนายพลเรือนากูโม  เดินทางค่อไป . . .

 

 

 

                    

 

 

 

 


 

 

     ที่สงขลา

          ตอนหนึ่งในคำปราศรัยของ นายคะสุโนะ กงศุลญี่ปุ่นประจำจังหวัดสงขลา

          . . . วันนี้เรามาเลี้ยงกันให้เต็มที่   เพราะพรุ่งนี้ท่านจะต้องต้อนรับแขกญี่ปุ่นอีกมากมาย . . .

 

 

          . . .  สถานึวิทยุ บี.บี.ซี.  ของอังกฤษออกข่าวว่า  กองเรือญี่ปุ่นราว  ๒๐๐  ลำ  กำลังเคลื่อนที่ลงมาในทะเลจีนใต้

 

๗  ธันวาคม  ๒๔๘๔    

     ในมหาสมุทรแปซิฟิก 

          กองเรือเฉพาะกิจ ฯ ได้รับข่าวจากกรุงโตเกียวว่า  "ไม่มีบอลลูน  ไม่มีตาข่ายป้องกันตอร์ปิโด รอบๆ เพิร์ลฮาเบอร์  เรือทุกลำจอดเทียบท่า   จากการดักฟังวิทยุของฝ่ายข้าศึก ไม่มีการบินลาดตระเวนตรวจตรามหาสมุทรในพื้นที่ฮาวาย    เรือเล็กซิงตัน (Lexington)  ออกจากท่าไปเมื่อวาน   ส่วนเรือเอ็นเทอร์ไพรซ์ (Enterprise)  ยังคงออกทะเล"

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 USS. Lexington                                                                                                                                                                 USS. Enterprise 

 

 ชักธงรบ

          ก่อนอรุณรุ่งเล็กน้อย   กองเรือฯ อยู่ทางเหนือของเกาะโออาฮู (Oahu) เป็นระยะประมาณ  ๒๓๐  ไมล์   เรือบรรทุกเครื่องบินเลี้ยวหันหัวเรือเข้าทวนลมเหนือ  และ  . . .  ชักธงรบ  . . .  

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 หมู่เกาะฮาวาย สีแดงคือเกาะโออาฮู                                                                           เกาะโออาฮู

 

 

         คลื่นสูง พอที่จะเป็นเหตุให้ชลอการนำเครื่องขึ้นในความมืดได้  . . .

          นาวาเอก  มิตสุโอะ  ฟูจิดะ  ผู้นำฝูงบินในการโจมตีครั้งนี้เห็นว่า เป็นไปได้   และไฟเขียวในวงกลมก็ให้สัญญาณ  "Take  off !"  เครื่องบินแต่ละลำบินขึ้นอย่างปลอดภัยท่ามกลางเสียงเชียร์ 

  

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 Zero lesves Akagi for Pearl Harbour                                                                                                                                  "Banzai"

 

 

 

 

 

 

Akagi 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Zero  Model  21  A6 M2  on  the  Shokaku                                                          Nakajima B5N2 "Kate" leaves the Shokaku for Pearl Harbor

 

 

 

 Shokaku

 

 

       ภายใน  ๑๕  นาที  เครื่องบินขับไล่  เครื่องบินทิ้งระเบิดและ  เครื่องบินทิ้งระเบิดตอร์ปิโด ระลอกแรก  รวม   ๑๘๓  เครื่อง ก็ขึ้นจากเรือบรรทุกเครื่องบินทั้งหก   และปรับรูปขบวนในท้องฟ้าที่ยังมืดอยู่นั้น   โดยมีไฟนำทางจากเครื่องนำฝูงเท่านั้น (ห้ามใช้วิทยุติดต่อระหว่างการบิน  เพื่อรักษาความปลอดภัย)  หลังจากที่ฝูงบินได้บินวนกองเรือฯ ฝูงบินก็บ่ายหน้าลงใต้ . . . สู่ . . . เพิร์ลฮาเบอร์   ซึ่งเป็นเวลา  ๐๖๑๕  (๗   ธันวาคม  ๒๔๘๔  เนื่องจากกองเรือญี่ปุ่นเดินทางข้ามเส้นแบ่งวันไปทางตะวันออก   แต่ทางตะวันตกของเส้นฯ เป็นวันที่  ๘  ธันวาคม  แล้ว)

 

     หมู่เกาะฮาวาย  ๗  ธันวาคม  ๒๔๘๔

          เวลาประมาณ  ๐๖๑๕    ฝ่ายสหรัฐฯ  ตรวจพบเรือดำน้ำญี่ปุ่น

          เวลา  ๐๖๕๑    เรือพิฆาตสหรัฐฯ สามารถทำลายเรือดำน้ำญี่ปุ่น ได้  ๑  ลำ    และเครื่องบินสหรัฐฯ ก็ทำลายได้อีก  ๑  ลำ  ในเวลาต่อมา  

 

 

to ra . . . to ra . . . to ra      

           นาวาเอก  มิตสุโอะ  ฟูชิดะ  ควบคุมโดยตรงต่อ  เครื่องบินทิ้งระเบิดระยะสูง    ๔๙  เครื่อง    ด้านขวาต่ำลงไปเล็กน้อย  เป็นฝูงบินทิ้งระเบิดตอร์ปิโด   ๔๐  เครื่อง  ทางซ้าย  ประมาณ  ๒๐๐  เมตร  สูงขึ้นไป  เป็นฝูงบินทิ้งระเบิดระยะต่ำ   ๕๑   เครื่อง    นอกจากนี้ยังมี ฝูงบินขับไล่คุ้มกันอีก   ๔๓  เครื่อง    (ข้อมูลนี้อาจจะคลาดเคลื่อนกับข้อมูลของสหรัฐฯ บ้าง)   

          เวลา  ๐๗๐๐   นาวาเอก  มิตสุโอะ  ฟูชิดะ   ประมาณว่าจะถึงเกาะโออาฮู ภายในเวลาไม่เกินชั่วโมง   เครื่องบินอยู่เหนือเมฆหนา  ไม่สามารถมองเห็นพื้นน้ำ  และไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าบินเยื้องออกไปเท่าใด    จึงเปิดเครื่องรับวิทยุรับฟังวิทยุกระจายเสียงจากโฮโนลูลู  แล้วปรับเสาอากาศ  จึงทราบว่า  บินเยื้องไป  ๕  องศา   และได้รับฟังรายงานอากาศ ว่า  "มีเมฆเป็นบางส่วน   และเมฆมากบริเวณภูเขา    ทัศนวิสัย ดี    ลมเหนือ  ๑๐  นอต"  

          . . . เวลา  ๐๗๐๒   สถานีเรดาร์ โอปานา  (Opana Radar Station)  ของสหรัฐฯ  ทางตอนเหนือของหมู่เกาะฮาวาย  ก็ตรวจพบฝูงบินจำนวนร้อยๆ เครื่อง  ที่ระยะ  ๒๑๐  กิโลเมตร  (๑๓๒ ไมล์)  ทางตะวันออกเฉียงเหนือ มุ่งสู่ . . . เพิร์ล ฮาร์เบอร์    จึงรายงาน  แต่ผู้พบรายงานเป็นนายทหารชั้นผู้น้อย  มิได้เฉลียวใจ  กลับคิดว่าเป็รเครื่องบินทิ้งระเบิด แบบ    ของสหรัฐฯ ซึ่งบินมาจากฝั่งตะวันตก (ของสหรัฐอเมริกา)

 

 

 

         ๐๗๑๕     ฝูงบินโจมตีระลอกที่สอง  จำนวน  ๑๖๗  เครื่องขึ้นจากเรือบรรทุกเครื่องบิน   มุ่งสู่ . . . เพิร์ล ฮาร์เบอร์  

 

           สถานการณ์ต่อจากนี้ไม่สามารถใช้จินตนาการได้    เวลา  ๐๗๓๐  เมฆกระจาย  หาดสีขาวปรากฏเป็นแนวยาว  นาวาเอก  มิตสุโอะ  ฟูจิดะ  บินอยู่เหนือ ด้านเหนือของเกาะโออาฮู  . . . ถึงเวลาใช้กำลังของญี่ปุ่น แล้ว

          รายงานจากเครื่องบินลาดตระเวนนำ  แจ้งที่ตั้งของเรือประจันบาน  ๑๐  ลำ  เรือลาดตระเวนหนัก  ๑  ลำ    เรือลาดตระเวนเบา  ๑๐  ลำ    ท้องฟ้าแจ่มใส  

         นาวาเอก  มิตสุโอะ  ฟูชิดะ  ใช้กล้องส่องสองตาสำรวจเรือรบของสหรัฐฯ   และสั่งพนักงานวิทยุ "แจ้งเครื่องบินทุกลำ  เริ่มโจมตี" . . . พนักงานวิทยุ ส่งข่าวทางวิทยุถึงเครื่องบินทั้ง  ๑๘๓  เครื่อง   เมื่อเวลา  ๐๗๓๐    ของวันที่  ๗   ธันวาคม  ๒๔๘๔ . . .

 

". . . to ra ! . . . to ra ! . . . to ra ! . . ." 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

     ในทะเลจีนใต้     ๗   ธันวาคม  ๒๔๘๔ 

           กองเรือยกพลขึ้นบก  ผ่านแหลมญวน  (Cape Ca Mau)  ในตอนเช้า    ใกล้พื้นที่ปฏิบัติการเข้าไปทุกขณะ

          เวลาประมาณ  ๐๙๕๐    เครื่องบินลาดตระเวนตรวจการณ์ของญี่ปุ่นพบกับเครื่องบินลาดตระเวนของอังกฤษ  ที่บริเวณ  ๓๐  กิโลเมตร  ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะบันจัง     ฝ่ายญี่ปุ่นเข้าโจมตี  และมีเครื่องบินขับไล่ของกองทัพบกมาช่วย  เครื่องบินลาดตระเวนอังกฤษถูกยิงตก ในอ่าวไทย

         เวลา  ๑๐๓๐    เรือทุกลำในกองเรือยกพลขึ้นบกญี่ปุ่นถึงที่นัดพบ      ผู้บัญชาการกองเรือยกพลขึ้นบกส่งสัญญาณให้ยกพลขึ้นบกตามแผน        เรือทุกลำต่างแปรขบวนไปยังที่หมายตามแผน

          ในตอนบ่าย วันที่  ๗   ธันวาคม  ๒๔๘๔  คลื่นลมแรงขึ้นทุกที     ทหารญี่ปุ่นตื่นเต้น และเป็นที่วิตกว่า การยกพลขึ้นบกในคืนนี้  (คืนวันที่ ๗ - ๘ ธันวาคม)   น่าจะเป็นไปอย่างยากลำบาก แน่นอน

 

 

 

          ญี่ปุ่นใช้เรือลำเลียงยกพลขึ้นบกตามตำบลต่างๆ   ตามหลักฐานที่ปรากฏ  ดังนี้

            - ประจวบคีรีขันธ์    จำนวน  ๑  ลำ    (กองทัพที่ ๑๕)

            - ชุมพร และสุราษฎร์ธานี    จำนวน  ๓  ลำ     (กองทัพที่ ๑๕)

            - นครศรีธรรมราช    จำนวน  ๓  ลำ    กองพันอุโนะ    (กองทัพที่ ๑๕)

            - สงขลา และปัตตานี    จำนวน  ๑๗  ลำ    เป็นส่วนกำลังหลักของ กองทัพที่  ๒๕

            - โกตาบารู สหพันธรัฐมลายู    จำนวน  ๓  ลำ    กองพันตะคุมิ    (กองทัพที่  ๒๕)

          นอกจากนี้  ที่จังหวัดสมุทรปราการ   ใช้เรือสินค้าญี่ปุ่นชื่อ ซิดนีย์ มารู ลำเลียงทหาร  กองทัพที่ ๑๕  จำนวน  ๑ กองพัน (เพิ่มเติมกำลัง)

 

     

 

 

 

 

 

     ทางบก 

          กองทัพที่ ๑๕  บางส่วน    เคลื่อนที่เป็นสองแนวทางคือ

           ทางใต้ทะเลสาบเขมร  มีทางรถไฟเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนที่    จากเมืองโพธิสัตว์ - ตำบลสวายดอนแก้ว  อำเภออธึกเทวเดช (ระสือ เดิม)  จังหวัดพระตะบอง      

          อีกเส้นทางหนึ่งทางเหนือทะเลสาบฯ   ทาง อำเภอไพรีระย่อเดช  จังหวัดพิบูลสงคราม  (บ้านพวก / เสียมราฐ เดิม)  แล้วรวมกันผ่านอำเภอศรีโสภณ - อรัญประเทศ ปราจีนบุรี - กรุงเทพฯ 

 

 

 

 

       กรุงเทพฯ    ทำเนียบรัฐบาล  วังสวนกุหลาบ    ๗  ธันวาคม  ๒๔๘๔

          เวลาย่ำค่ำกว่า    อัครราชฑูตอังกฤษ พบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ  เล่าให้ฟังว่า  ได้รับข่าวว่าเครื่องบินตรวจการณ์อังกฤษเห็นกองเรือรบญี่ปุ่นมาจากแหลมญวน  กำลังอยู่ในบริเวณใกล้อ่าวไทย   

 

          ประมาณ ทุ่มครึ่ง     เอกอัครราชฑูตญี่ปุ่น และคณะ  คือผู้ช่วยฑูตทหารบก  ผู้ช่วยฑูตทหารเรือ  ที่ปรึกษา  เลขานุการ  และล่าม   ขอพบนายกรัฐมนตรี  ที่ทำเนียบรัฐบาล  (วังสวนกุหลาบ)  แต่นายกรัฐมนตรีไปตรวจราชการต่างจังหวัด   จึงต้องพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ   แจ้งให้ทราบว่า    สหรัฐอเมริกา และอังกฤษได้บีบคั้นญี่ปุ่นตลอดมา    บัดนี้  ญี่ปุ่นทนต่อไปไม่ได้แล้ว  จึงประกาศสงครามกับ สหรัฐอเมริกา และอังกฤษแล้ว   และได้รับคำสั่งจากรัฐบาลให้มาแจ้งต่อนายกรัฐมนตรีว่า   เนื่องด้วยเหตุจำเป็น  กองทัพญี่ปุ่นจำต้องขอเดินผ่านประเทศไทยเพื่อไปโจมตีประเทศทั้งสองซึ่งเป็นศัตรูของญี่ปุ่น    จึงขอแจ้งอย่างเป็นทางการ 

 

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แจ้งว่า  ไม่มีอำนาจอนุญาต หรือไม่อนุญาต  แต่นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้มีประกาศเป็นคำสั่งประจำไว้แล้วว่า  ไม่ว่ากองทหารประเทศใด  ถ้าเข้ามาในดินแดนไทย  ให้ต่อต้านเต็มที่  ฯลฯ  อย่างไรก็ดีจะรายงานรองนายกรัฐมนตรีให้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเดี๋ยวนี้    แล้วจะได้แจ้งผลการประชุมให้ทราบ

 

          คณะฑูต ฯ  เข้าใจ  และ รอผลการประชุม

          ๒๐๐๐    สถานีวิทยุ บี.บี.ซี.  ก็ออกข่าวอีกว่า   เครื่องบินลาดตระเวนของอังกฤษตรวจพบเรือรบญี่ปุ่นเคลื่อนเข้ามาในอ่าวไทย

          ๒๓๐๐    ประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นการด่วน    ที่ประชุมเห็นว่า  . . . ทำอะไรไม่ได้    นอกจากต้องรอนายกรัฐมนตรีกลับ

          คณะฑูต ฯ  รอนายกรัฐมนตรีกลับ

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ  . . . ข้าพเจ้าไม่ทราบว่านายกรัฐมนตรีอยู่ที่ใด  ฯลฯ  เพียงแต่ทราบว่า  นายกรัฐมนตรีจะกลับมาเข้าประชุมประมาณย่ำรุ่ง

          คณะฑูตญี่ปุ่นตกลงกลับไปสถานฑูต    และเวลาราว  ๕  นาฬิกา  ( ๘  ธันวาคม )   ได้กลับมาอีก

 

          ครับ . . . ก่อนจะถึงวันวีรไทย    ๘  ธันวาคม  ๒๔๘๔    ประเทศไทยพยายามดำเนินวิเทโศบายกับทุกฝ่ายอย่างละมุนละม่อมเพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจและช่วยเหลือเวลาจำเป็น   

          ฑูตญี่ปุ่น ยืนยันว่า  ญี่ปุ่นจะไม่ใช้กำลังทหารซึ่งอยู่ในอินโดจีนบุกไทยเป็นอันขาด        

          ฑูตอังกฤษและฑูตอเมริกัน  ก็เป็นห่วงกังวลใจยิ่ง  (View this with great concern)  และพยายามอย่างยิ่ง   แต่รัฐบาลทั้งสอง ก็ไม่ได้ประกาศช่วยไทย  ถ้าถูกญี่ปุ่นรุกราน   

 

ในที่สุด  . . .  เรา . . . ก็ต้องสู้ . . . คนเดียว . . .

 

         สถานการณ์ ต่อไป   .  .  .

๘  ธันวาคม  ๒๔๘๔     มีการรบหลั่งเลือดทาแผ่นดินกันหลายจุด

แต่ละจุดมีเหตุการณ์ล้วนแล้วแต่ประทับใจทั้งนั้น   

ผมจะได้นำเสนอเป็นพื้นที่ๆ  ต่อไป . . . นะ . . . ขอรับ

 

 

 

*   *   *   *   *   *   *   *   *   *   *   *   *   *   *

 บรรณานุกรม

          - ไทยกับสงครามโลกครั้งที่  ๒  โดย    ศาสตราจารย์   ดิเรก  ชัยนาม      แพร่พิทยา  กรุงเทพฯ  ๒๕๐๙

          - ประวัติกองทัพไทย  ในรอบ  ๒๐๐  ปี  พ.ศ.๒๓๒๕ - ๒๕๒๕      กรมแผนที่ทหาร  กรุงเทพฯ  ๒๕๒๕

          - วีระบุรุษทหารไทย    พ.ต. ม.ร.ว. ประพีพันธ์  สุบรรณ      องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก  กรุงเทพฯ    พ.ศ.๒๕๐๒

          - ๕๐ ปี  วีรไทย    กองทัพภาคที่ ๔  จัดพิมพ์เนื่องในวาระครบ  ๕๐ ปี  แห่งสงครามมหารเอเซียบูรพา  ๘  ธันวาคม  ๒๕๓๔   

          - เว็บไซต์ ของกองบัญชาการกองทัพไทย  กองทัพบก  กองทัพเรือ  กองทัพอากาศ  และเว็บไซต์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง  ซึ่งขอขอบคุณไว้  ณ  ที่นี้ 

 

 




บทความจากสมาชิก




1

ความคิดเห็นที่ 1 (387)
avatar
อุ้ม

ดีค่ะ

ผู้แสดงความคิดเห็น อุ้ม (Aum_-at-usa-dot-com)วันที่ตอบ 2009-09-11 13:41:28


ความคิดเห็นที่ 2 (401)
avatar
สัมพันธ์
เหรอคะ  .  .  .  ขอบคุณค่ะ
ผู้แสดงความคิดเห็น สัมพันธ์ (samphan_chaeng-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2009-09-25 22:36:42


ความคิดเห็นที่ 3 (600)
avatar
moszika
สนุกมากคับ
ผู้แสดงความคิดเห็น moszika (mostoo022-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-08-05 10:56:00


ความคิดเห็นที่ 4 (601)
avatar
mosziaka

ผมชอบเรื่องนี้มากเลน

ขอบคุนมากคร้าฟๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

ผู้แสดงความคิดเห็น mosziaka (mostoo022-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-08-05 10:58:17


ความคิดเห็นที่ 5 (6022)
avatar
สัมพันธ์
ครับ    
ผู้แสดงความคิดเห็น สัมพันธ์ (samphan_chaeng-at-hotmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-08-05 18:23:33



1


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
| WW II Europe | WW II Asia | WW I | Vietnam War | ประวัติศาสตร์ไทย | บทความจากสมาชิก | คุยกันหลังฉาก | บทความทั้งหมด |

สนใจร่วมเขียนบทความในเว็บไซต์ เชิญอ่าน แนวทางการร่วมเขียนบทความ ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Custom Search



eXTReMe Tracker