
เมื่อคืนวันเสาร์ที่ผ่านมา (14 กุมภาพันธ์ 2552) สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส หรือที่เดี๋ยวนี้เรียกตัวเองว่า "ทีวีไทย" ได้นำภาพยนตร์เรื่อง "ศึกบางระจัน" ที่สร้างตั้งแต่พ.ศ.2509 โดยดัดแปลงจากบทประพันธ์ของ "ไม้ เมืองเดิม" มาฉายเมื่อประมาณ 22.05 น. โดยก่อนฉายยังได้เชิญคุณทนงศักดิ์ สุขทวี ไวยาวัจกร วัดโพธิเก้าต้น อำเภอค่ายบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี มาให้ความรู้ประกอบภาพยนตร์อีกด้วย ประเด็นน่าสนใจที่คุณทนงศักดิ์กล่าวถึงได้แก่

- บรรดาหัวหน้าชาวบ้านบางระจันนอกจากที่ที่มีชื่อในประวัติศาสตร์ที่เราทราบกันมานั้น ยังมีหัวหน้าที่เป็นสตรีอีก 3 ท่าน นามว่า ปล้อง แฟง และเฟื่อง อีกด้วย ซึ่งก็บังเอิญว่าตัวละครเอกในนวนิยายของ ไม้ เมืองเดิม นั้น ก็มีชื่อ แฟง กับ เฟื่อง ด้วย
- หากใครเคยอ่านพงศาวดารตอนค่ายบางระจันแตกที่กล่าวถึงทำนองว่าชาวค่ายในระยะหลังมีความสำส่อน ไม่เชื่อในวิชาอาคมของพระอาจารย์ธรรมโชตินั้น คุณทนงศักดิ์ อธิบายว่า มีตำนานเล่าว่า พระอาจารย์ท่านได้สอนวิชาคงกระพันโดยมีข้อห้ามประการหนึ่งว่า อย่าเอาบอนกับปลาไหลมาแกงด้วยกัน ซึ่งในระยะแรกเมื่อชาวบ้านยังอยู่กันน้อยก็เชื่อฟังด้วยดี แต่ระยะหลังเมื่อคนมาอยู่มากขึ้น ได้มีบางคนลองดีเข้า
- ในประวัติศาสตร์ที่เหมือนกับว่าพระอาจารย์ธรรมโชติหายไปเฉยๆ นั้น ตำนานพื้นบ้านเล่าว่าท่านได้เร้นกายออกจากค่ายไปเมื่อตอนค่ายใกล้จะแตก และได้กลับมาเก็บศพชาวบ้านในภายหลัง
- ในค่ายบางระจันมีแต่ความสามัคคีกัน ไม่ได้มีไส้ศึกดังที่ปรากฏในภาพยนตร์หรือนวนิยายบางเรื่อง
- ฯลฯ

ตามความเห็นผม ภาพยนตร์เรื่องนี้ในหลายๆ แง่อาจจะดูเหมือนเชยดังเช่นภาพยนตร์ไทยรุ่นเก่าอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ไทยรุ่นหลังๆ ใน "ศึกบางระจัน" ทหารพม่ายังใช้ผ้าโพกหัวกับนุ่งโสร่ง ส่วนทหารไทยก็ยังแต่งชุดเหมือนพวกฝีพายอยู่เลย ตอนจบแทนที่จะให้ไอ้ทัพกับอีแฟงตายเหมือนในเรื่องเดิม กลับเป็นว่าสองคนนี้ถูกส่งให้ไปหาพระยาตากสินที่พึ่งฝ่าวงล้อมพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยา และก็ช่างบังเอิญที่ไปเจอกับกองทัพของท่านเข้าจนได้ แล้วพากันมายังค่ายบางระจันที่แตกพ่ายไปแล้ว ซึ่งในประวัติศาสตร์จริงพระยาตากสินท่านออกจากกรุงศรีอยุธยาหลังจากค่ายบางระจันแตก และในเมื่อจะไปจันทบุรีท่านย่อมไม่เดินทัพอ้อมขึ้นเหนือไปจนผ่านบางระจันแน่นอน แต่มองในแง่ดีว่าผู้สร้างท่านคงอยากสร้างสีสันความรักชาติเข้าไปในหนังนะ ทางพม่าเขานอกจากจะมีปืนใหญ่แล้ว ยังมีจรวดรางคล้ายๆ ที่ติดตั้งบนรถจรวด Katyusha ของรัสเซียในสงครามโลก ซึ่งสร้างความปั่นป่วนให้ทางพี่ไทยเราไม่น้อย และที่สำคัญคือ ชาวบางระจันในเรื่องนี้มึความสามัคคีกันตลอด ไม่ได้มีเรื่องทะเลาะกันง๊องแง้งอย่าง "บางระจัน" ที่คุณ ธนิต จิตนุกูล สร้างในภายหลัง ก็เป็นเรื่องวิธีคิดของผู้สร้างแต่ละยุคที่มีข้อเด่นข้อด้อยแตกต่างกันไป แต่โดยรวมผมเห็นว่า "ศึกบางระจัน" เวอร์ชันนี้ดูสนุกกว่าครับ
หมายเหตุ : เปิดให้แสดงความคิดเห็นเฉพาะสมาชิกเว็บไซต์ที่ด้านล่างสุด หรือสมาชิก Facebook แสดงความเห็นได้ในกรอบข้างล่างนี้ครับ